Novecento

1900 (1976) Italian : Bernardo Bertolucci ♥♥♥

ประสบชะตากรรมเดียวกับ Ryan’s Daughter (1970) ของผู้กำกับ David Lean นำเสนอประเด็นใหญ่ๆด้วยการเปรียบเปรยกับสิ่งเล็กๆ แล้วพยายามขยายงานสร้างให้มีความเว่อวังอลังการ แบบนี้ผลลัพท์ภาพที่ได้ย่อมแตกละเอียดหยาบกร้าน จนแทบมองอะไรไม่เห็น หมดสิ้นคุณค่าความหมายใดๆ

จริงๆผมชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆเลยนะ เป็นผลงานเอ่อล้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพ้อฝันทะเยอทะยาน แฝงนัยยะ สื่อความหมายอันลุ่มลึกล้ำ เกือบๆเรียกได้ว่า ‘High Art’ แต่ทั้งนี้ทั้งสำหรับผู้ชมทั่วไป เชื่อว่าส่วนใหญ่คงหงุดหงิด หัวเสีย แม้งอะไรว่ะ! พบเห็นเพียงความมึนเบลอๆ ประติดประต่ออะไรๆไม่ได้สักเท่าไหร่ ถ้าคุณสามารถถอยห่างออกมาไกลระยะหนึ่ง เชื่อว่าก็น่าจะสามารถพบเห็นภาพรวมของหนังชัดขึ้นนะครับ

ซึ่งปัญหาใหญ่สุดของหนังคือระยะเวลา 317 นาที ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ความยาวที่สุดในโลก ทั้งๆไม่ใช่ความตั้งใจของ Bertolucci แต่แรกเริ่ม

“At first we planned it as six episodes for television. But in elaborating the scenario, we began to feel that for political, social, and narrative reasons, it belonged on the large screen”.

– Bernardo Bertolucci

Bernardo Bertolucci (1940 – 2018) ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Parma แม่เป็นครูสอนหนังสือ ส่วนพ่อ Attilio Bertolucci เป็นนักกวี นักประวัติศาสตร์งานศิลปะ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์, เติบโตขึ้นในครอบครัวศิลปิน เขียนหนังสือเล่มแรกตอนอายุ 15 คว้ารางวัลมากมาย วาดฝันโตขึ้นจะกลายเป็นนักกวีเหมือนพ่อ เลือกเรียนสาขาวรรณกรรมยุคใหม่ที่ University of Rome จับพลัดพลูกลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini ในกองถ่าย Accattone (1961) เกิดความสนใจในภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก La commare secca (1962), ผลงานเด่น อาทิ The Conformist (1970), Last Tango in Paris (1972), 1900 (1976), The Last Emperor (1987) ฯ

Bertolucci ประกาศตัวว่าเป็น Marxist (คล้ายๆ Luchino Visconti) ต่อต้าน Fascist หนังของเขาจึงมักมีองค์ประกอบด้านการเมือง ในเชิงแสดงทัศนะความคิดเห็น และด้วยความเป็นศิลปิน ยังแทรกใส่เรื่องราวอัตชีวประวัติ ตัวตน ความสนใจ รสนิยมทางเพศลงไปอีกด้วย

ความสำเร็จอันล้นหลามของ Last Tango in Paris (1972) ทำให้โปรดิวเซอร์ Alberto Grimaldi เกิดความเชื่อมั่นในตัว Bertolucci ทีแรกติดต่อให้สร้าง Mini-Series ฉายโทรทัศน์ อาสาหาทุนให้ $6 ล้านเหรียญ แต่พอร่วมพัฒนาบทกับน้องชาย Giuseppe Bertolucci และ Franco Arcalli (The Conformist, Last Tango in Paris) ทุกอย่างก็เบิ้ลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็นสี่ฤดูกาล
– ฤดูร้อน, เริ่มจากวันเสียชีวิตของคีตกวีชื่อดัง Giuseppe Verdi วันที่ 27 มกราคม 1901 ทารกสองคนถือกำเนิดขึ้นพร้อมกัน Alfredo Berlinghieri และ Olmo Dalcò ตรงกันข้ามในเชื้อสายวงศ์ตระกูล ฐานะสูง-ต่ำ รวย-จน Fascist-Socialist เด็กทั้งสองเติบโตขึ้นกลายเป็นเพื่อนเล่น ตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน
– ฤดูใบไม้ร่วง, เด็กชายทั้งสองเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ Olmo (รับบทโดย Gérard Depardieu) สมัครเป็นทหารเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปี 1917, ขณะที่ Alfredo (รับบทโดย Alfredo Berlinghieri) กำลังเรียนรู้กิจการงานของครอบครัว ซึ่งก็ได้มีหัวหน้าคนงานใหม่ Attila Mellanchini (รับบทโดย Donald Sutherland) แสดงความฝักใฝ่ Fascism อย่างออกนอกหน้า เด็ดขาดรุนแรงในหน้าที่การงาน/ใครเห็นต่างจักถูกทำร้าย เข่นฆ่า
– ฤดูหนาว, Alfredo แต่งงานกับ Ada Chiostri Polan (รับบทโดย Dominique Sanda) แต่ก็ไปไม่รอด หญิงสาวจมปลักอยู่ในความสิ้นหวังเมามาย, ขณะที่ Olmo แต่งงานกับ Anita Foschi (รับบทโดย Stefania Sandrelli) ผู้มีความหาญกล้า เข้มแข็งแกร่ง เรียกร้องสิทธิ แต่กลับเสียชีวิตขณะคลอดลูก นั่นทำให้เขาลุกขึ้นท้าสู้กับ Attila ที่เหมือนจะเข้ายึดครองดินแดนแห่งนี้เป็นของตนเองแล้ว
– ฤดูใบไม้ผลิ, หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด Attila กับภรรยาพยายามหลบหนีแต่ถูกชาวบ้านใช้คราดทิ่มแทงทำร้าย จับขังคุก ทรมาน ได้รับการปล่อยตัวแต่ไม่รู้จักสำนึก, Alfredo ก็ถูกจับกุมตัว ได้รับโทษประหารชีวิตเพราะความเพิกเฉยไม่ยอมสนใจทำอะไร แต่ Olmo เข้ามาขัดขวางให้ความช่วยเหลือ ขณะนั้นเองรัฐบาลใหม่ของอิตาลี พรรคคอมมิวนิสต์ เข้ามาถึงและขอให้ทุกคนยินยอมจำนน

สำหรับคนที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์/การเมือง ของประเทศอิตาลี ในช่วงครึ่งแรกศตวรรษ 20 น่าจะสามารถทำความเข้าใจนัยยะแฝงของหนังได้ไม่ยาก เริ่มต้นสถานที่ดินแดนแห่งนี้ เปรียบได้ตรงๆกับประเทศอิตาลี จากนั้นทำความเข้าใจตัวละครสื่อแทนถึง
– Alfredo Berlinghieri ชนชั้นสูง ฐานะร่ำรวย ทายาทและกลายเป็นเจ้าของที่ดินแห่งนี้ เปรียบได้กับระบอบกษัตริย์แห่ง Kingdom of Italy
– Olmo Dalcò ชนชั้นล่าง ฐานะยากจน กรรมกรแรงงาน ตัวแทนของประชาชนชาวอิตาลี
– Attila Mellanchini หัวหน้าคนงานใหม่ โอบอุ้มเอาแนวคิดของ Fascism ไม่แตกต่างอะไรจาก Benito Mussolini

ฤดูร้อน, ราชอาณาจักรอิตาลี (Regno d’Italia) ได้รับการสถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1861 โดย King Victor Emmanuel II of Sardinia (ครองราชย์ 1861 – 1878) ปกครองด้วยวิถีลัทธิเสรีนิยม ประชาชนได้รับอิสรภาพในการดำรงชีวิตอย่างเต็มที่ สืบสานต่อมายังกษัตริย์องค์ที่สอง Umberto I (ครองราชย์ 1878 – 1900) ถูกลอบปลงพระชมน์ โดยกลุ่มลัทธิอนาธิปไตย

ฤดูใบไม้ร่วง, จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศชาติตกอยู่ในสภาวะวิกฤตนานับประการ ลัทธิฟาสซิสต์ทะยานขึ้นสู่อำนาจ ค.ศ 1922 (โดยท่านผู้นำ Benito Mussolini) ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากกษัตริย์ Victor Emmanuel III (ครองราชย์ 1900 – 1946) แต่ก็มีสถานะเสมือนหุ่นเชิด ทำได้เพียงเพิกเฉยไร้ซึ่งอำนาจต่อสู้ขัดขืนใดๆ

ฤดูหนาว, ประชาชนในช่วงฟาสซิสต์เรืองอำนาจ ใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยาก ตกระกำลำบาก ใครขัดแย้งเห็นต่างจักถูกจับทำร้าย ใช้ความรุนแรง ลงโทษทัณฑ์ เป็นเหตุให้สะสมเก็บกดอัดอั้น เคียดแค้นแสนสาหัส แต่ชีวิตก็จำต้องดำเนินเดินทางไป

ฤดูใบไม้ผลิ, การถูกนาซี ทรยศหักหลังในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ประชาชนล่วงรับรู้ธาตุแท้จริงของลัทธิ Fascist หลังสงครามสิ้นสุด จึงกล้าลุกฮือขึ้นทำลาย เอาคืน โค่นล้นระบอบกษัตริย์ (ที่ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือประชาชน) และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสู่ Italian Republic ประกอบด้วยสามพรรคการเมืองสำคัญ Christian Democracy (DC), Italian Socialist Party (PSI) และ Italian Communist Party (PCI)

นักแสดงหลักๆประกอบด้วย
– Robert De Niro ทรงผมพี่แกแบบว่า … ผู้กำกับ Bertolucci ประทับใจจากบทบาทแจ้งเกิดเรื่อง Mean Streets (1973) เจ้าตัวยินยอมแสดงนำเพราะคาดหวังคงสร้างชื่อระดับนานาชาติ แต่ก็ไม่คิดว่าตนเองจะเหมาะสมกับบทผู้ดีชาวอิตาเลี่ยนสักเท่าไหร่ (ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะบทบาทนี้ทำให้ De Niro ได้แสดงใน The Godfather Part II)
– Gérard Depardieu อีกหนึ่งนักแสดง ‘High Profile’ สัญชาติฝรั่งเศส แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีชื่อเสียงเท่าไหร่ เข้าตาผู้กำกับ Bertolucci จากการแสดงเรื่อง Les Valseuses (1974), ขณะที่ผลงานแจ้งเกิดคือ The Last Metro (1980) ของผู้กำกับ François Truffaut, ได้รับการจดจำสูงสุดจาก Cyrano de Bergerac (1990) เข้าชิง Oscar: Best Actor เสียด้วยนะ!
– Donald Sutherland ในบทบาท คลุ้มคลั่งพอๆกับ MAS*H (1970) แต่เกินเลยไปถึงขั้นซาดิสต์กว่ามาก เจ้าตัวถึงขนาดทนดูตนเองในหนังไม่ได้ ปฏิเสธไม่ยอมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอันขาด

เชื่อว่าหลายคนคงมีความหงุดหงิดกับการพากย์เสียงอิตาเลี่ยน ของนักแสดงที่ทั้งรู้ว่าพูดภาษาอังกฤษได้แน่ๆ แต่ก็ทำใจไปนะครับเพราะหนังไม่มีฉบับพากย์อังกฤษ นี่ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ภาพยนตร์ของประเทศอิตาลี (ยุคหนึ่งของหนังไทยก็เป็นแบบนี้นะครับ)

สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนังคือ Emilia-Romagna, Italy ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชาวเมือง/ตัวประกอบ รวมแล้วกว่า 12,000 คน ในระยะเวลาถึง 15 เดือน

ถ่ายภาพโดย Vittorio Storaro ปรมาจารย์ตากล้องในตำนานสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Bernardo Bertolucci มีผลงานอมตะอย่าง The Bird with the Crystal Plumage (1970), Last Tango in Paris (1972), Apocalypse Now (1979), The Last Emperor (1987) ฯ

แทบไม่มีวินาทีไหนของหนังที่กล้องหยุดอยู่สงบนิ่ง เพราะเวลาก็เคลื่อนดำเนินไปเรื่อยๆไม่มีจุดสิ้นสุด ซึ่งหลายครั้งทีเดียวเหมือนว่ากล้องขยับก่อนนักแสดง/ตัวละครเคลื่อนไหว ไม่รู้เป็นความจงใจของผู้กำกับหรืออย่างไร

แนวคิดความ Epic จะแตกต่างจากไดเรคชั่นของ David Lean/F.A. Young อยู่พอสมควร รายนั้นเน้นความกว้างใหญ่ ห่างไกล ไพศาล ขณะที่ Storaro โดดเด่นกับแสง-สี Magic Hour/Blue Hour มอบสัมผัสอันนุ่มนวล/เยือกเย็นชา แต่ไม่ได้คลุ้มคลั่งระดับ Days of Heaven (1978) ของ Terrence Malick ที่ถ่ายทำแต่ในช่วงเวลา Golden Hour

โทนสีของหนัง ได้แรงบันดาลจากภาพวาดสีน้ำมันปรากฎขึ้นแรกสุดของหนัง The Fourth Estate (1901) ผลงานโด่งดังที่สุดของ Giuseppe Pellizza da Volpedo (1868 – 1907) จิตรกรสัญชาติอิตาเลี่ยน แห่งยุคสมัย Divisionist, ภาพวาดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศตวรรษ 20 นำเสนอการประท้วงของคนงาน เรียกร้องสิทธิ ผลประโยชน์ และโอกาสความก้าวหน้าในชีวิต

เกร็ด: ฐานันดรที่สี่ (Fourth Estate หรือ Fourth Power) คือคำเรียกของผู้สื่อข่าว นักหนังสือพิมพ์ (Press) ลำดับศักดินาของบุคคล ที่ดำรงความสำคัญเกี่ยวกับการปกครองประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีเพียงสามฐานันดร
– ฐานันดรที่ 1 ประกอบด้วยสภาขุนนางอันมี พวกขุนนางสืบตระกูล
– ฐานันดรที่ 2 ประกอบด้วยบรรพชิต พระราชาคณะ
– ฐานันดรที่ 3 ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคนธรรมดาได้เลือกตั้งให้เป็นแทนตนเข้าไป

ตรงกันข้ามกับโทนอบอุ่น อีกครึ่งหนึ่งของหนังจะใช้สีน้ำเงิน-เทา-ดำ (จะทำให้สีแดง/เลือด โดดเด่นขึ้นมา) บางครั้งในช่วงเวลา Blue Hour ปรับโทนภาพให้สัมผัสอันยะเยือกเย็นชา ช่วงเวลาแห่งความชั่วร้ายกาจ บรรยากาศแห่งความตายแผ่ปกคลุมไปทั่วทุกสารทิศ

นอกจากนี้หนังยังเต็มไปด้วยสิ่งสัญลักษณ แฝงนัยยะความหมายซ่อนเร้นมากมาย กับคนสามารถครุ่นคิดตามย่อมสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับมัน แต่สำหรับผู้ชมทั่วไป เหล่านี้คือปัญหาดูยากไม่เข้าใจ แต่ผมขอนำเสนอแค่ 2-3 อย่างที่น่าสนใจพอนะครับ เพราะมันมีเยอะจนขี้เกียจเขียนให้หมด

‘Screwing the Earth.’ เป็นการกระทำที่แฝงนัยยะถึง ความต้องการเอาชนะธรรมชาติ ครอบครองเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินนี้ ราวกับเป็นผัวเมียของตนเอง

รถไฟ คือสัญลักษณ์ของการเดินทาง ซึ่งในบริบทนี้สื่อถึงกาลเวลาเคลื่อนแล่นผ่านตัวเราไปอย่าง นอนอยู่ตรงกึ่งกลางรางจะทำให้สามารถเอาตัวรอดพ้นรถไฟที่กำลังวิ่งแล่น ไม่มีอันตรายใดๆถ้าไม่แสดงอาการตื่นตระหนกรุกรี้ร้อนรน เพราะชีวิตก็ดำเนินไปเฉกเช่นนี้เอง

ฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง ความพยายามของทวด Alfredo Berlinghieri the Elder (รับบทโดย Burt Lancaster) ต้องการเกี้ยวพาหลานสาวคนหนึ่งไปในโรงเลี้ยงสัตว์ ขอให้เธอรีดนมวัว แล้วทำการร่วมรักมี Sex แต่ปรากฎว่าทำอย่างไรนกเขาก็ไม่ขัน เหยียบย่ำกองมูลสัตว์ ‘Life is shit!’ สุดท้ายแขวนคอฆ่าตัวตาย

ความเจ๋งเป้งของฉากนี้คือการเลือกใช้บทเพลงจาก Ocarina ได้ยินแว่วๆห่างไกลจากงานเลี้ยงเต้นรำ โลกดำเนินหมุนไปเรื่อยๆ แต่ตัวเราเองเท่านั้นนี่แหละที่เปลี่ยนแปลงไป

ตัดต่อโดย Franco Arcalli ขาประจำของ Bertolucci และ Michelangelo Antonioni, ถือว่าผืนแผ่นดินนี้คือจุดหมุนของหนัง ร้อยเรียงด้วยเรื่องราวของ Alfredo Berlinghieri, Olmo Dalcò และ Attila Mellanchini ดำเนินผ่านครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ในสี่ฤดูกาล

ต้นฉบับแรกสุดของหนัง Original Director’s Cut ความยาว 317 นาที (5 ชั่วโมง 17 นาที) ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ตัดแบ่งครึ่งรอบเช้า-บ่าย พอเสียงตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไหร่ โปรดิวเซอร์ Grimaldi จึงเข้ามาควบคุมการตัดต่อเอง เล็มโน่นนี่นั่นออกไปได้ 180 นาที สร้างความ ‘Horror’ ให้กับ Bertolucci เป็นอย่างมาก จึงร่ำร้องขอตัดต่อใหม่เอง ลดทอนลงได้ชั่วโมงหนึ่งเหลือ 247 นาที (4 ชั่วโมง 7 นาที) ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice และถูกตัดแบ่งครึ่งสองพาร์ท ออกฉายห่างกับสองสัปดาห์

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะสู่ความยาวดั้งเดิม 317 นาที แต่ยังต้องแบ่งออกเป็นสองพาร์ทเช่นกัน เพราะต้องใช้ Blu-Ray ถึงสองแผ่น

เพลงประกอบโดย Ennio Morricone นักแต่งเพลง วาทยกร เล่นทรัมเป็ต อัจฉริยะยอดฝีมือของประเทศอิตาลี ขาประจำหนัง Western ของผู้กำกับ Sergio Leone, คว้า Oscar: Best Original Score จากเรื่อง The Hateful Eight (2015)

ผมมาครุ่นคิดถึงช่วงแรกของหนัง อยู่ดีๆตัวละครเอ่ยขึ้นว่า “Verdi is dead!” นี่อาจเป็นการสร้างโทนของบทเพลงประกอบ ให้ออกไปทาง…มีสัมผัสของ Giuseppe Verdi (1813 – 1901) คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน แห่งยุค Romanticism ผู้ชื่นชอบแต่งโอเปร่าเป็นชีวิตจิตใจ

สิ่งที่ Morricone ถ่ายทอดออกมากับเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ คือความทรงจำของอดีตที่พ้นเลยผ่านมาแล้ว มีทั้งสุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก หลากหลายอารมณ์ปะปนเป ผสมผสานคลุกเคล้า หวนหาโหยระลึก เรียนรู้จดจำมันไว้เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่สุขสดใส

Bertolucci แม้จะเกิดทันยุคสมัยท่านผู้นำ Benito Mussolini แต่ก็ยังแบเบาะไร้เดียงสาเกินกว่าจดจำอะไรได้ พอเติบโตขึ้นเลยถูกผู้ใหญ่รอบข้างเสี้ยมสั่งสอน จงจดจำ เกลียดชัง Fascist (และระบอบกษัตริย์) ที่ได้สรรค์สร้างยุคสมัยแห่งความมืดมิดสนิทของประเทศอิตาลี ขออย่าให้มันหวนกลับคืนมาอีกเลย Marxist/Communist แนวคิดของความเสมอภาคเท่าเทียมคือสิ่งสำคัญ ถูกต้องที่สุดของมวลมนุษยชาติ

ด้วยเหตุนี้ตัวละคร Attila Mellanchini จึงถูกรังสรรค์สร้างให้เต็มไปด้วยความโฉดชั่วร้าย อัปลักษณ์เลวทราม ผิดมนุษย์มนา และช่วงท้ายการมาถึงของทหาร Communist ชี้ชักนำให้ตัวละคร Olmo Dalcò (สัญลักษณ์ของประชาชนคนทั่วไป) เลือกข้างฝั่งนี้

และคำกล่าวของ Alfredo

“The padrone is alive”.

นี่ไม่ได้ถึงตัวเขาที่เคยเป็น Padrone/ผู้ปกครอง/เจ้าของที่ดิน แต่คือ Olmo ผู้นำคนใหม่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากใครคนหนึ่งใด แต่คือประชาชนทุกคน ต่างมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกันในระบอบ Communist

ปัจฉิมบท, ผมว่าเป็นอะไรที่ติ๊งต้องไร้สาระมากๆ คงต้องการสื่อถึง Alfredo และ Olmo ต่างเข้าสู่วัยชราที่มองย้อนระลึกถึงอดีตที่หวาน-ขม สุข-ทุกข์ กลายมาเป็นปัจจุบันที่… ไม่มีใครบ่งบอกได้นอกจากตัวเราเอง

อดีต เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถเลือกหรือหวนกลับไปแก้ไขอะไรได้ ปัจจุบันจึงถือเป็นสิ่งสำคัญสุด เพื่ออนาคตข้างหน้าลูกหลานคนรุ่นถัดๆไปเมื่อมองย้อนกลับมา จักได้ไม่แล้วจงเกลียดจงชังบรรพบุรุษของตนเอง แบกเอาตราบาปแห่งชีวิตดำเนินต่อไปไม่มีจุดจักจบสิ้น

จากแผนเดิม $6 ล้านเหรียญ หนังใช้ทุนสร้างเกินไป $9-10 ล้านเหรียญ ไม่มีรายงานรายรับ แต่เชื่อเถอะว่าคงขาดทุนย่อยยับ ต่อให้แบ่งฉายแยกเป็นสองภาคก็ตามที

ผมค่อนข้างเพลิดเพลินกับการครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความหนังระหว่างรับชมไปเรื่อยๆ แต่ด้วยปริมาณและความยาว เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเริ่มออกอาการขี้เกียจคร้าน … คือหนังมันยาวเกินไปจริงๆนะแหละ เป็นเหตุผลให้ไม่อยากเขียนบทความนี้แบบอธิบายทุกสิ่งอย่าง (ประเมินว่า ถ้าทำอย่างนั้น 3 วัน คงไม่เสร็จแน่)

ด้วยเหตุนี้เลยเหมาะกับคอหนังประเภทเดนตาย ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความ นัยยะเชิงสัญลักษณ์/ภาษาภาพยนตร์, สนใจประวัติศาสตร์ประเทศอิตาลีช่วงครึ่งแรกของศตวรรตที่ 20, ชื่นชอบงานภาพสวยๆ เพลงไพเราะ, แฟนๆผู้กำกับ Bernardo Bertolucci นักแสดงนำ Robert De Niro, Gérard Depardieu Donald Sutherland ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับสิ่งต่างๆอันบ้าคลั่ง เสียสติแตก

คำโปรย | “1900 คือความทะเยอทะยานใฝ่สูงที่มากเกินไปของผู้กำกับ Bernardo Bertolucci โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งเล็กๆให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ๆ”
คุณภาพ | ยาวไปหน่อย
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: