2001: A Space Odyssey (1968)
ถ้าจะให้พูดความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ มันคงยาวมากแน่ๆ ผมจะเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในการผจญภัยร่วมกับหนังเรื่องนี้ และวิเคราะห์เฉพาะจุดที่น่าสนใจ ในความเข้าใจของผมเอง หนังเรื่องนี้สามารถตีความได้หลากหลายมากๆ หลายๆอย่างไม่มีข้อสรุป ผมมองหนังเรื่องนี้แค่คือ “การสำรวจอวกาศ” และ “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ชาติกับจักรวาล” เท่านั้น
Stanley Kubrick หลังจากทำ Dr.Stangelove เสร็จ เขาก็มองหาโปรเจคต่อไป ขณะนั้นเขามีความสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้สิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ extraterrestrial life นี่เป็นเหตุให้เขาได้พบกับนักเขียนนิยายไซไฟแห่งยุค Arthur C. Clarke ซึ่งกว่าที่ Kubrick จะเกลี้ยกล่อมให้ Clarke ร่วมงานกับเขาได้ก็ไม่ง่ายเลย เขาให้คำนิยามถึง Clarke ว่าเป็น “a recluse, a nut who lives in a tree” ส่วน Clarke ก็โต้กลับว่าการจะให้เขาร่วมงานกับ Kubrick เป็นเหมือน “frightfully interested in working with enfant terrible” (enfant terrible เป็นคำภาษาฝรั่งเศส แปลว่า เด็กที่โตเกินกว่าวัย ชอบเถียงพ่อแม่ เป็นคำยกย่องเด็กอัจฉริยะในเชิงหยาบๆ) กระนั้นทั้งคู่ก็ร่วมงานกันนะครับ
Kubrick บอก Clarke ว่าเขาต้องการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล “Man’s relationship to the universe” ซึ่ง Clarke ส่งเรื่องสั้นที่เขาแต่งหลายเรื่องให้ Kubrick อ่านเพื่อให้เขาหาจุดเริ่มต้น และ Kubrick ได้เลือกเรื่อง The Sentinal เรื่องย่อสั้นๆเกี่ยวกับ The Sentinal คือ สิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งบนโลกที่ถูกทิ้งไว้โดยเอเลี่ยน artifact on Earth’s Moon left behind eons ago by ancient aliens. นี่คือจุดเริ่มต้นของ 2001 A Space Odyssey
ผมขอเล่าประสบการณ์การดูหนังเรื่องนี้สักหน่อย ผมดู 2001 ครั้งแรกตอนยังเรียนมัธยมอยู่ ด้วยความที่เริ่มชื่นชอบหนังไซไฟ ติด Star Wars และ Star Trek ผมก็ไปเจอมาว่า หนังไซไฟที่ยิ่งใหญ่ ยอดเยี่ยมสุดในโลก คือ 2001 A Space Odyssey สมัยนั้นจะหาดูนี่ไม่ง่ายเลย ร้านขาย cd/dvd มันไม่ได้แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน ที่พึ่งผมคือแผ่นก็อป MBK ก็ไปยืนหาจนเจอ กลับบ้านมาตั้งใจว่า เอาว่ะ เรากำลังจะได้ดูหนังไซไฟที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก เล่นแผ่นภาพในทีวีเป็นสีดำ…เงียบสนิท…ไม่มีอะไรเกิดขึ้น 30 วินาทีผ่านไป 1 นาที เอะ… 2 นาที เห้ย! ตอนนั้นผมคิดว่าไม่เครื่องเล่นพังก็แผ่นพัง ทดสอบเครื่องเล่นกับแผ่นอื่นไม่มีปัญหา เวร! โดยแผ่นผีหลอกขาย สัปดาห์ต่อมาผมก็เอาแผ่นไปที่ร้าน ต่อว่าคนขายว่าขายแผ่นเสีย เขาก็เปลี่ยนแผ่นให้ผม กลับมาบ้าน มาเปิดดูครั้งที่สอง เห็นแบบเดิมเปะๆ เห้ย! อะไรมันจะซวยซ้ำซ้อนขนาดนั้น แต่ตอนนั้นก็เริ่มเอะใจ ลอง Fast Forward ดู ผ่านไปกี่นาทีไม่รู้มีภาพขึ้น เห้ย! จริงดิ
ประสบการณ์การดู 2001 ครั้งแรกของผม ดูไม่จบ ปิดทิ้ง ไม่เข้าใจ เปิดเรื่องมาเห็นโลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เพลงอลังการมาก ชื่อหนังขึ้น ขนลุก ความคาดหวังสูงมาก ชื่อตอนขึ้น Dawn of men เริ่มเกาหัว นี่ตรูกำลังดู National Geographic หรืออะไรอยู่นี่ สารคดีสัตว์โลก ผิดเรื่องหรือเปล่านิ ชื่อหนังมัน Space Odyssey ทำไมมีแต่ลิง! ความคาดหวังผมเริ่มลดลง พอเจ้าลิงโยนกระดูก ตัดมาที่สถานีอวกาศ เห้ย! อะไรเนี่ย ผมยังคงทนดูอยู่นะครับ เพราะคิดว่าช่วงลิงมันคงเป็นการเกริ่มเรื่องอะไรสักอย่าง เรื่องที่สอง เห็นภาพสถานีอวกาศ มันสวยงามมากๆ ไม่คิดเลยว่านี่จะเป็นหนังปี 1968 แต่กระนั้น หนังมันมีเรื่องราวอะไรหรือเปล่าว่ะ! มันช้าๆ เนิบๆ เริ่มง่วง แล้วมันเกี่ยวกับลิงยังไง! สมัยนั้นผมยังไม่เข้าใจความรู้สึกพวกนี้นะครับ สนใจแต่เนื้อเรื่องของหนังเท่านั้น ดูไปเรื่อยๆ ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ ไอ้แท่งสีดำนี่ไฉนมันมาอยู่บนดวงจันทร์ อันเดียวกับที่พวกลิงเจอหรือเปล่า? จากนั้นตัด ฉับ ควับ! 3 เดือนหลังจากนั้น เห้ย! wtf ยานอวกาศมันวาปได้หรือยังไงเนี่ย จบกันครับ ทนดูต่อไม่ไหวแล้วปิดทิ้ง หนังห่าไรนี่ หนังไซไฟที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก มันจะเป็นได้ยังไงว่ะเนี่ย
กี่ปีผ่านไปก็ไม่รู้สิครับ ได้ดูหนังมากขึ้น และได้เจอกับนิยาย 2001 A Space Odyssey แปลไทย ชั่งใจอยู่นานครับว่าจะซื้อไหม เพราะผมขยาดหนังเรื่องนี้มากๆ ดูไม่เห็นมันจะเข้าใจอะไรเลย แตก็ตัดสินใจลองเสี่ยงซื้อมา ตอนนั้นผมจำได้แต่ลิง รายละเอียดอื่นๆก็จำไม่ค่อยได้แล้ว พออ่านนิยายแค่หน้าแรกของเรื่อง Dawn of Men เท่านั้นแหละก็เข้าใจเลย เห้ย! หรือว่า ไอ้สารคดีลิงที่ว่า มันจะมีเรื่องราวบางอย่างเกิดขึ้น ในหนังสือมีการบรรยายที่ทำให้ผมเห็นภาพ แล้วหนังมันจะเป็นแบบนี้จริงหรือเปล่า กลับไปพิสูจน์! พบว่า จริง! ฉากดำๆต้นเรื่อง ในหนังสือเขียนบรรยายว่าเล่าถึงจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่ง ผ่านไปหลายนาที สารคดีลิงฉาย สังเกตดีๆก็พบว่ามันมีเรื่องราวเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่ถ่ายวิวสวยๆ แต่การกระทำของลิงมีเรื่องราวอยู่ในนั้น (ผมมารู้ทีหลังว่าใช้คนสวมชุดลิงถ่าย สมัยนั้นมันจะบังคับให้ลิงแสดงอย่างที่เราต้องการได้ยังไง) มันไม่เหมือนในหนังสือเปะๆ แต่ดูแล้วรู้เรื่อง ณ วินาทีนั้นมันสุดยอดมากๆครับ เหมือนเราได้เข้าใจสัจธรรมบางอย่าง และผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมหนังเรื่องนี้คนถึงยกให้มันเป็นสุดยอดหนังไซไฟ แต่เื่องถัดๆมาก็ทำเอาผมหน่ายมากๆ ถึงจะเข้าใจจากการอ่านหนังสือแล้ว แต่หนังอืดยืดยาดมากๆ แต่ก็ทึ่งว่า สมัยนั้นทำได้ขนาดนี้ ไม่บอกไม่รู้นึกว่าหนังสร้างตอนปี 2001 ไม่ใช่ 1968 ในนิยายแต่ละเรื่องมันสั้นมาก หนังใช้การเล่าเรื่องเนิบๆ ประกอบเพลง Orchrestra เพราะๆ … อืมนี่แหละมั้งที่เขาเรียกว่า classic (สมัยนั้นผมเริ่มดูหนังเก่าๆหลายเรื่อง และเริ่มเข้าใจว่า หนังดีๆมันต้องทำให้ยืดๆแบบนี้แหละ) รอบนี้ดูจนถึงเรื่องที่ 4 พอฉาก Star Gate ขึ้น ก็คิดว่าหนังจบแล้ว ในหนังสือมันคือ Beyond Solar System เห็นแบบนั้นนึกถึงหน้าจอ Saver Screen ของ Windows 95 ที่เป็นโลโก Windows วิ่งออกมาจากจุดกลางจอ (เหมือน Warp) โอเค คงไม่มีอะไรต่อจากนี้แล้ว รู้สึก Beyond ตามที่หนังบอกแล้ว มันคงเป็นฉากล้อตอนแรก เริ่มต้นและสิ้นสุด เลยปิดแผ่นจบ! แล้วสรุปในใจว่านี่แหละหนังที่มีเรื่องราวของมวลมนุษย์ชาติ ที่ยิ่งใหญ่ สวยงาม เพลงเพราะ
อีกกี่ปีผ่านมาก็ไม่รู้ เมื่อผมเริ่มศึกษาปรัชญา เริ่มเห็นและสนใจองค์ประกอบของหนังมากกว่าแค่การเล่าเรื่อง เริ่มดูหนังที่ต้องใช้การตีความเพื่อเข้าใจ ก่อนหน้านี้ผมไม่เข้าใจนะครับว่า หนังมันจะมีอะไรมากไปกว่าเรื่องเล่าได้ แค่ดูแล้วหนังสนุกก็พอ ผมคิดว่าเมื่อใดที่เราเริ่มมองหาสิ่งที่มากกว่าที่เป็นอยู่ มันคือวิวัฒนาการ evolution นะครับ ผมจำได้ไม่ลืมหนังที่ทำให้ผมเปลี่ยนจากคนดูหนังทั่วๆไป กลายมาเป็นคนที่สนใจองค์ประกอบอื่นๆ หนังเรื่องนั้นคือ “สัตว์ประหลาด Monster ของอภิชาติพงศ์” มันหนัง art-house เรื่องแรกที่ผมได้ดู ตั้งใจมากๆ ดูจบแล้วคิดว่าตัวเองเข้าใจมากกว่า 60% และที่จุดนั้นเอง ผมได้มีโอกาสกลับไปดู 2001 อีกครั้ง คราวนี้ ผมจึงเห็นความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง เริ่มตั้งคำถาม ไอ้แท่งสีดำนั่นมันคืออะไร? ทำไมผู้กำกับถึงต้องเล่า 4-5 เรื่องนี้ออกมา มันมีความสำคัญยังไง ทำไมต้องทำให้มันช้าๆ ต้องการอารมณ์อะไร HAL คืออะไร? Star Gate คืออะไร? ฉากสุดท้าย เด็กทารก???? ในหัวมีแต่คำถามเต็มไปหมด ผมจำข้อสรุปจากการดูครั้งนั้นไม่ได้เลยนะครับ แปลกมาก หรือเพราะผมไม่ได้ข้อสรุปก็ไม่รู้นะ แต่เป็นครั้งแรกที่เริ่มเห็นว่า หนังเรื่องนี้มีอะไรที่มากกว่าเนื้อเรื่องที่ใส่เข้ามา ถ้าคุณสามารถเข้าใจหนังได้ถึงจุดนี้ ใกล้แล้วนะครับที่คุณจะถึงจุดที่เห็นความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้
ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ช่วงนี้รู้สึกผมได้ดูหนังแนวอัตชีวประวัติหลายเรื่อง Steve Jobs มา Andrei Rublev ทั้งสองแทนที่จะเล่าชีวประวัติอย่างธรรมดาทั่วๆไป กลับเลือกเอา “ผลงาน” ของศิลปินที่เด่นที่สุดออกมานำเสนอ ตอนผมดู 2001 รอบนี้ผมจึงเกิดแนวคิดหนึ่งขึ้นมา เอะ! หรือว่า นี่เป็นหนังที่เล่าถึง “ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของจักรวาลและมนุษยชาติ” ใช่เลยครับ! คิดแบบนี้ได้เลย ตอบคำถามที่ว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงแบ่งออกเป็น 5 เรื่อง ได้ทันที
– Black Screen เป็นจุดเริ่มต้นของจักรวาลที่ไม่มีอะไรเลย
– Dawn of Human เป็นเรื่องราวก่อนที่ลิง (ซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษแรกของมนุษย์) จะแสดงถึงหลักฐานการมีความคิดที่เป็นอารยธรรมแรกของมนุษย์ คือการใช้อาวุธ (จุดนี้ผมคิดนะ ทำไมไม่เลือก ครั้งแรกที่มนุษย์ใช้ไฟได้ หรือพูดได้ คำตอบที่ผมคิดได้คือ มันยังสำคัญไม่เท่าความรุนแรงที่สุดครั้งแรกของมนุษย์ในประวัติศาสตร์นะครับ)
– Moon Station เป็นเรื่องราวของมนุษย์ ที่ได้มีการค้นพบครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ คือค้นพบหลักฐานที่ดูเหมือนว่า มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวในจักรวาล (ทำไมไม่เลือกครั้งแรกที่มนุษย์สามารถส่งคนหรือยานอวกาศออกนอกโลกได้/เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก คำตอบคือ เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่ว่ามา มันแค่สำคัญที่สุดต่อมนุษย์ชาติ แต่การได้พบหลักฐานที่ยืนยันว่า มีสิ่งมีชีวิตอื่นนอกเหนือจากมนุษย์ มันคือจุดเชื่อมสำคัญระหว่างมนุษย์กับจักรวาล)
– Jupiter ในหนังสือจะใช้ Saturn ตามความเข้าใจของผม Saturn ถือเป็นดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายของระบบสุริยะวงใน นี่เป็นเรื่องราวการเดินทางออกนอกระบบสุริยะ(วงใน)ครั้งแรกของมนุษย์ชาติ (ระหว่างดาวเสาร์กับดาวพฤหัส จริงๆใช้ดาวเสาร์น่าจะเข้าใจถูกที่สุดนะครับ แต่ที่ต้องเปลี่ยนเป็นดาวพฤหัส เพราะทีม visual effect ตอนนั้นสร้างวงแหวนดาวเสาร์ไม่ได้จริงๆ จุดนี้ต้องเข้าใจขีดจำกัดสมัยนั้นนะครับ แต่ผมคิดว่ามันคือ ณ ขณะการเดินทางทางนอกระบบสุริยะครั้งแรกของมนุษย์ชาติ)
– Beyond เป็นเรื่องราวหลังจากนั้นอีก ในมุมมองของผมคือ หลังจากที่มนุษย์ไปถึงสุดขอบจักรวาล และกำลังจะไปต่อ
นี่คือ 5 เรื่อง 5 ขณะที่สำคัญที่สุด ระหว่าง “มนุษย์ กับ จักรวาล” มีจุดเชื่อมกันก็คือ แท่งสีดำ ที่อยู่ดีๆก็โผล่มาและหายไป มันคืออะไรกัน? บทวิเคราะห์เกี่ยวกับไอ้แท่งสีดำนี่มีหลากหลายมากๆ ไม่มีอันไหนผิดเลยนะครับ แต่ข้อสรุปของผม จะอ้างอิงจากจุดเริ่มต้นของหนังที่ผมได้เกริ่นไปตั้งแต่แรกแล้วว่า Kubrick ได้เลือกเรื่องสั้น The Sentinel ของ Clark ซึ่งเป็นเรื่องของ artifact ที่เอเลี่ยนทิ้งไว้บนโลกมนุษย์ เจ้าแท่งสีดำ จึงคืออะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่ของมนุษย์ เป็น”สิ่งของ” บางอย่างที่สิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ทิ้งไว้ เอาจริงๆคิดแค่นี้ก็พอครับ มันเคลียร์ทุกปริศนาในหนังกระจ่างหมดแล้ว แต่ก็จะมีบางคนที่ไม่พอ อยากได้มากกว่า สงสัยว่า แล้วไอ้แท่งนี้มันทำอะไรได้ หนังไม่มีคำอธิบายและเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจด้วยว่ามันทำอะไรได้ การมีอยู่ของมันแสดงถึงสิ่งที่มนุษย์ไม่มีทางเข้าใจ มันคือ Unknown บางคนก็คิดเชิงสัญลักษณ์ แท่งสีดำ เปรียบเสมือนด้านมืดของมนุษย์ Black Hole, The End of Humanity เชิญตามสบายนะครับ คิดมากไปก็ปวดหัว
ผมเปลี่ยนคำพูดใหม่ เหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้ คือเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด ที่มนุษย์และจักรวาลได้มีความสัมพันธ์บางอย่างด้วยกันเป็นครั้งแรก แบบนี้อาจจะเคลียร์มากขึ้นสำหรับบางคน จุดหนึ่งในหนังที่สนับสนุนแนวคิดนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะมีข้อสังเกต 3 เหตุการณ์ที่มีมนุษย์อยู่ มันจะต้องมี happy birth day ใครสักคน นี่คือความจงใจที่ใช้วันเกิดเทียบเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบทั้ง 5 นี้ กับช่วงอายุไขของมนุษย์นะครับ
– Moon Station จะเป็นการ happy birthday ลูกสาวของพระเอก อายุ 4 ขวบ (มั้ง)
– Jupiter จะเป็นแฟนสาวกับญาติ(มั้ง) ของพระเอก อวยพรวันเกิดให้กับพระเอก อายุ 20-30 (มั้ง)
– Beyond ช่วงนี้เราจะเห็นพระเอกอายุเปลี่ยนไปมา ณ จังหวะที่เขาเป่าเค้ก อายุ 60-70-80-90 เท่าไหร่ไม่รู้แต่รู้ว่าแก่
มนุษย์ที่เพิ่งจะเริ่มสำรวจอวกาศ เปรียบเหมือนกับเด็กน้อยที่เพิ่งโต ความรู้ของมนุษย์ต่อจักรวาลยังน้อยนิดนัก พอพ้นระบบสุริยะก็โตขึ้นมีอายุขึ้นมาหน่อย Beyond เปรียบเมื่อสำรวจทั่วหมดจักรวาลก็เริ่มแก่ ตอนจบของหนังเรื่องนี้ตีความได้ 2 อย่าง
1.เหมือนว่า Kubrick หรือไม่ก็ Clark เคยศึกษาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เขาจึงเลือกนำเสนอภาพเด็กทารกที่เพิ่งเกิดขึ้นมองดูโลก คือทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิด-แก่-ตาย และกลับมาเกิดใหม่ เป็นวัฎจักรวนเวียน ภาพเด็กทารกมองดูโลกคือการกลับมาเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรที่ Beyond ไปกว่านี้
2.แต่อีกอย่าง ผมนึกถึง Interstellar เพราะ เรื่อง Beyond เมื่อมนุษย์ไปถึงสุดของจักรวาล ปลายสุดของจักรวาล 4 มิติ เราอาจยังสามารถไปต่อยังจักรวาล มิติที่ 5 ได้และกำลังเริ่มต้นสำรวจมิติที่ 5 ใหม่ ณ จุดนั้นมนุษย์ชาติก็จะกลับกลายเป็นเปรียบเสมือนเป็นเด็กทารกที่ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับมิติใหม่เลย และกำลังเริ่มต้นออกสำรวจอีกครั้ง
นี่เป็นภาพกว้างๆที่ผมมองหนังเรื่องนี้นะครับ แต่ละคนคงจะมีแนวคิดหลายๆอย่างที่ต่างจากผม บางอย่างอาจจะรู้สึกว่าใช่ หรือไม่ใช่ หนังไม่มีคำตอบเปะๆเฉลยให้เรา ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครถูกหรือผิด นี่ต่างหากที่ถือเป็นความยิ่งใหญ่ของ 2001 A Space Odyssey ไม่ใช่แค่ฉาก visual effect ที่สุด stunting หรือเพลงประกอบที่ยิ่งใหญ่อลังการ หรือเรื่องราวที่ซับซ้อนลึกซึ้ง แต่จากหนังแค่ 1 เรื่อง เราสามารถตีความได้นับร้อยนับพันไม่ซ้ำกัน มีหนังไม่กี่เรื่องเท่านั้นในโลกที่ทำแบบนี้ได้ นี่แหละคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง และเป็นที่สุดของหนังไซไฟ
ผมไม่แน่ใจว่าหนังเรื่องนี้จะนับเป็น hollywood ดีหรือ british ดีนะครับ เพราะหนังได้รับทุนสร้างจากสตูดิโอ MGM ของ hollywood แต่หนังทั้งเรื่องสร้างที่อังกฤษ (ผมเลือก hollywood นะครับ) หนังเรื่องนี้ไม่ได้ดัดแปลงมาจากนิยายนะครับ มันพัฒนาไปคู่กัน นิยาย 2001 ของ Arthur C.Clark วางขายหลังหนังฉายเป็นปีได้ (เชื่อว่าต้องมีคนเข้าใจผิดแน่ ผมละก็คนหนึ่ง) ส่วนนิยายภาคต่อนั้นเป็นงานเขียนของ Clark ล้วนๆ Kubrick ไม่ได้ร่วมอะไรแล้ว
นักแสดงในหนังเรื่องนี้ ผมสังเกตเห็นแค่ 2 สัญชาติเท่านั้น คือ อเมริกากับรัสเซีย นี่คงเป็นจุดที่ Kubrick แฝงมาในรายละเอียดปลีกย่อยของหนังนะครับ ซึ่งตัวเอกที่เป็นมนุษย์มีแต่อเมริกาเท่านั้น คนแรกคือ William Sylvester ที่เล่นเป็น Doctor ที่มากับยานอวกาศในเรื่องที่ 3 นี่เป็นตัวละครที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงอะไร ผมมองว่าเขาเป็นหนึ่งในตัวละครหลักเลย ผมชอบการแสดงของเขาตรงที่แสดงออกถึงความไม่รู้ แบบตีหน้าเซ่อ ตอนที่นักวิจัยชาวรัสเซียถามเขาว่า รู้อะไรที่เกิดขึ้นบนดวงจันทร์ไหม ดวงตาเขาใสซื่อมาก ไม่รู้ …. แต่ไม่รู้หรือไม่บอก หรือจริงๆแล้วไม่เข้าใจ หนังบอกว่าเขารู้แต่ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ตัวละครที่ถือเป็นตัวหลักในเรื่องที่ 3 Keir Dullea เล่นเป็น Dr. David Bowman ชายคนสุดท้ายที่สามารถไปถึงดาวพฤหัส และ Beyond ความกลัวแสดงออกมาทางแววตา แต่เขาไม่ยอมแพ้ แม้ศัตรูของเขาจะคือความอวกาศ (ความว่างเปล่า) และสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน (HAL)
HAL เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกออกแบบมาให้พูดได้เหมือนคน พูดถึงปัญญาประดิษฐ์ เชื่อว่าคนสมัยนี้อาจจะคุ้นเคยกับคำนี้บ้าง แต่สมัยก่อนนี่เป็นของใหม่เลย คงต้องขอบคุณหนังอย่าง Short Circus, AI (Artifial Intelligent) หรือแม้แต่ Blade Runner ที่สร้างทีหลัง และให้คำนิยามปัญญาประดิษฐ์ให้คนสมัยใหม่เข้าใจได้ แต่จุดเริ่มต้นเกิดจากหนังเรื่องนี้ครับ ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความคิดความอ่านเทียบเท่ากับมนุษย์ ออกจะสมบูรณ์ Perfect กว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ เราสามารถมองว่า HAL คือตัวแทนของมนุษย์ชาติ หรือเป็นผลลัพท์ที่มนุษย์ชาติสร้างขึ้นมา เชื่อว่าใครๆคงจดจำได้ ขนาดหนังเรื่อง Steve Jobs ยังพูดถึงตัวละครนี้เลย น้ำเสียงของ HAL ฟังดูก็จะรู้ว่ามันเต็มเปี่ยมไปด้วย Pride มองได้ว่าเป็นความหยิ่ง ยโส โอหัง อวดรู้ อวดดี อวดเก่ง ถึง HAL จะเป็นคอมพิวเตอร์ ถูกสร้างมาโดยมนุษย์ แต่มันมองตัวเองเหนือกว่านั้น เรื่องนี้จะมองเหมือน พระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ และมนุษย์ต้องการเอาชนะพระเจ้า แต่เมื่อหนังมันเป็นไซไฟ ผมเลยมองว่า HAL คือภาพสะท้อนของสิ่งประดิษฐ์ทางปัญญาและอารมณ์ที่มนุษย์คิดว่าสมบูรณ์แบบที่สุดที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ แต่เอาจริงๆมันกลับไม่สมบูรณ์แบบ Perfect อย่างที่คาดหวังไว้ ให้เสียงโดย Douglas Rain งานประจำของเขาคือ Stage Actor ถ้ามีโอกาสก็มาเล่นหนังบ้าง ลองค้นรูปดูนะครับ หน้าพี่แกกับ HAL นี่มีส่วนคล้ายกันอยู่ (ตรงไหน) ผลตอบรับของตัวละครนี้ต่อคนยุคนั้นทำให้คนหวาดกลัวโลกยุคคอมพิวเตอร์กันเลยนะครับ เพราะเหตุนี้มันเลยมีหนังอย่าง Terminator ออกมา ยิ่งตอนที่ HAL ร้องเพลงก่อนที่จะตาย เป็นฉากที่หลอนและน่ากลัวมากๆ การตายของ HAL ให้ความรู้สึกกับผมเหมือนมนุษย์ชาติกำลังสิ้นสุดเลย
การออกแบบฉาก เครื่องแต่งกาย และเฟอร์นิเจอร์ของหนังเรื่องนี้ ถือว่าล้ำยุคสมัยมากๆ 3 อย่างนี้ในหนังของ Kubrick ถือว่าจัดเต็มอยู่แล้ว เทคโนโลยีต่างๆในสมัยนั้นก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในหนังโดยเฉพาะ เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้นะครับ ว่าสมัยนั้นมันยังไม่มี “คอมพิวเตอร์” HAL ถือเป็นต้นแบบแนวคิดแรกๆว่าคอมพิวเตอร์ควรจะเป็นยังไงเลยละ (สมัยนั้น คอมพิวเตอร์ ถูกคิดค้นขึ้นมาแล้วนะครับ แต่จะมีลักษณะเป็นตู้ขนาดใหญ่ๆเหมือน Mainframe ในปัจจุบัน ยังไม่ได้เล็กกระทัดรัดใช้งานตามบ้านเหมือนสมัยนี้) สำหรับฉากออกแบบที่เด่นที่สุด จะอยู่ท้ายเรื่อง ในห้องที่ขาวสว่างทั้งพื้นและเพดาน เรียกการออกแบบนั้นว่า neoclassical style ใครที่ชมชอบงานด้านสถาปัตยกรรมคงจะเคยได้ยิน นี่เป็นรูปแบบที่เป็นที่นิยมมากๆในยุค mid-18 ที่ Rome-Italy ก่อนแพร่หลายไปทั่วยุโรป มีคนเรียกยุคนี้ว่าเป็นตัวแทนของ Age of Enlightenment หนทางแห่งแสงสว่าง คำว่า Enlightenment แปลว่า บรรลุหรือตรัสรู้ ความหมายของฉากนี้ก็ถือว่าตรงมากๆ เป็นการบอกว่าตัวละครมาถึงจุดสุดท้าย ปลายทาง หรือทุกสิ่งทุกอย่าง
เห็นว่าตอนแรกหนังจะถูกถ่ายทำด้วยฟีล์ม 3 แบบ ตามแต่ละช่วงเวลา (คล้ายๆกับ Steve Jobs ที่เลือกใช้ฟีล์ม 3 แบบตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้น) แต่ไอเดียนี้ก็ยกเลิกไปเพราะงบไม่พอ หนังทุ่มงบจำนวนมากไปกับการสร้างสถานีอวกาศ ฉากวิ่งในสถานีอวกาศ Kubrick สร้างฉากทั้งฉากให้หมุนได้ Geoffrey Unsworth ตากล้องหนังเรื่องนี้ ต้องรับบทหนักในการถ่ายทอดให้คนดูรู้สึกว่า พวกเขาอยู่ในอวกาศกันจริงๆ ฉาก Zero Gravity แท้จริงแล้วมันคือกายกรรมลอยได้บนเส้นเชือก ไม่ได้ลอยอยู่ในห้องสุญญากาศจริงๆ นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่ทำแบบนี้นะครับ ผลลัพท์ออกมา เราจะรู้สึกเหมือนตัวละครลอยอยู่ในอวกาศจริงๆ (ถ้าใครเคยเห็น Sandra Bullock ใน Gravity ก็ใช้วิธีการเดียวกันนะครับ)
ฉาก Star Gate เป็นอะไรที่สวยงามมากๆ สมัยนี้มันคงทำไม่ยาก แค่มีคอม มีโปรแกรมวาดรูปและเคลื่อนไหวก็อาจจะทำได้แล้ว แต่สมัยนั้นไม่บอกก็ไม่รู้เลยว่าทำได้ยังไง ที่ผมเข้าใจคือ ฉากนี้ใช้สถานที่ที่มีอยู่จริงถ่ายทำ แล้วนำเอาไป post-production ในห้องอัด ล้างด้วยสารเคมีบางอย่างที่ทำให้ภาพออกมามีความเข้มของเฉดสีที่สูงมากๆ และใช้ filler เลือกเฉพาะสีที่ต้องการออกมา ทำให้เหลือภาพแค่เป็นเหมือนดวงดาว หรือเป็นการเคลื่อนไหวของสี ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของภาพ ตอนดู 2001 ทุกครั้งยังไงผมก็ข้ามฉากนี้ครับ ไม่ใช่ไม่ชอบ แต่มันนาน ถ้าทนนั่งดูจนจบ sequence ท่าจะได้เห็นภาพหลอนแน่ๆ แต่ผมเข้าใจความหมายของมัน คือการเดินทาง แต่ละจุดหรือเฉดสีเปรียบเหมือนดาวเคราะห์ต่างๆมากมาย มันคล้ายๆกับการ Warp นะครับ จุดจบของ Star Gate คือสุดขอบของจักรวาลพอดี
ตัดต่อโดย Ray Lovejoy เชื่อว่าคนสมัยใหม่ที่ดูหนังเรื่องนี้ ทุกคนจะต่อว่าการตัดต่อที่ช้า เนิบ ชวนหลับ ผมดูกี่รอบๆก็ได้หาวตลอด แต่ชั้นเชิง ลูกเล่นการตัดต่อนี่ต้องยอมรับเลยว่าไม่ธรรมดา เด่นมากก็เรื่องที่ 4 ที่ตัดสลับระหว่างภายในสถานีอวกาศและข้างนอกสถานี เริ่มต้นจาก Orchrestra เพราะๆ ให้เห็นภาพสวยๆนอกยาน จากนั้นตัดไปในยาน มีบทสนทนาเล็กๆ บทสนทนาจบตัดไปข้างนอก ให้ฟังเพลงเพราะๆ เห็นภาพสวยๆสักแปป แล้วกลับมาดำเนินเรื่องต่อ เวลาดูหนังเรื่องนี้ เอาจริงๆหลับตาฟังเพลงประกอบไม่ต้องลืมตามา ยังได้อรรถรสของหนังครบถ้วน ผมยังคงเรียกการตัดต่อช้าๆเนิบๆแบบนี้ว่า classic ระหว่างที่หนังตระเวนฉายตามที่ต่างๆ Kubrick และ Lovejoy ยังตัดต่อกันไม่เสร็จดีเลย เขาจำต้องเอาเวอร์ชั่นที่ยังไม่เสร็จดีออกฉาก พอไปที่ต่อไปตัดฉากไหนเสร็จก็ใส่เข้าไป เห็นว่าเวอร์ชั่นสุดท้าย(ตอนนั้น)มีบางฉากหายไปด้วย ซึ่งก็ถูกค้นพบภายหลังและใส่เข้าไปใหม่แล้ว เวอร์ชั่นที่เราดูกันอยู่นี้ก็น่าจะถือว่าสมบูรณ์ที่สุดแล้ว
เพลงประกอบเดินทีจะให้ Alex North ขาประจำของ Kubrick ช่วยแต่งเพลงให้ แต่ไปๆมาๆ เขากลับเลือกใช้เพลงประกอบที่เป็นเพลง classic แทน โดยให้ Frank Cordell ช่วงจัดเรียงให้ใหม่ เพลงทุกเพลงในหนังเป็นเพลง classic ที่เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง ที่เด่นและดังที่สุด และคนส่วนมากคิดว่านี่เป็นเพลงที่แต่งเพื่อ 2001 ก็คือ Also sprach Zarathustra ผู้ประพันธ์คือ Richard Strauss เรียบเรียงขึ้นตั้งแต่ปี 1896 ผมได้ยินเพลงนี้ทีไร ขนหัวลุกทุกที ในหนังจะบรรเลงขึ้นมาในจังหวะที่ “มันคือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” อีกเพลงหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือ The Blue Danube แต่งโดย “The Waltz King” Johann Strauss II ตั้งแต่ปี 1867 ใครจะไปเชื่อว่าเพลงที่แต่งมาเมื่อศตวรรษก่อน จะดันเข้ากับหนังศตวรรษนี้ได้อย่างลงตัว และยิ่งใหญ่ขนาดนี้
ผมเชื่อว่ามีเพลงหนึ่งในหนังที่อาจจะติดหูคนดู มันออกจะหลอนๆหน่อย เพลง Daisy ใช่ว่าทุกเวอร์ชั่นของหนังเรื่องนี้จะร้องว่า Daisy นะครับ จริงๆแล้วเพลงมาจากเพลงชื่อ “Daisy Bell” ในภาษาฝรั่งเศษ ใช้เพลง “Au Clair de la Lune” ภาษาเยอรมัน เปลี่ยนเพลงนี้เป็น “Hänschen klein” (“Johnny Little”) อิตาลีเปลี่ยนเป็น “Giro giro tondo” (Ring a Ring o’ Roses) ซึ่งถือว่าเพี้ยนไปจากต้นฉบับเยอะทีเดียว (เปลี่ยนทำไมไม่รู้เหมือนกันนะครับ)
Odyssey คำนี้จริงๆมันไปล้อกับ Homer Odyssey เป็นการเดินทางของเทพเจ้านิยายกรีกไปในท้องทะเล พบเจออะไรต่างๆมากมาย ซึ่ง Kubrick เอาคำนี้มาใช้กับหนัง กลายเป็น Space Adyssey ส่วน 2001 คือปีที่เขาคาดหวังว่าน่าจะใช้เป็นปีพื้นดำเนินเรื่องได้ ซึ่งโลกเราก็ผ่าน 2001 มาเป็นทศวรรษแล้ว ยังไม่สามารถไปได้ใกล้เคียงกับจินตนาการของ Kubrick และ Clark เลย มันเร็วไปเสียหน่อย ถ้าอีกสัก 2-3 ร้อยปีก็อาจจะเป็นไปได้อยู่ แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครอยู่ถึงแล้ว
ผมคงจะไม่ลงรายละเอียดของหนังทีละประเด็น ว่าหนังแฝงอะไรบ้างนะครับ เพราะผมไม่เห็นประโยชน์ของมันที่จะต้องวิเคราะห์ลงไปขนาดนั้น ผมชื่นชอบการมองภาพกว้างๆของหนังมากกว่า รู้ว่าหนังต้องการเล่าอะไร และเล่าได้ตรงตามเป้าหมายหรือเปล่า ประเด็นเล็กๆน้อยๆที่หนังใส่เข้ามา มันก็อยู่ที่อรรถรสของคนดู ผมไปอ่านเจอเกร็ดเล็กๆที่มีคนวิเคราะห์กัน อย่างมนุษย์ 3 คนที่นอนอยู่ในแคปซูล และถูก HAL ฆ่า เปรียบเหมือนกับคนประเทศที่ 3 ที่ไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อเจอกับภัยคุกคามที่ใหญ่กว่าตน ก็น่าสนใจดีนะครับ ประเด็นพวกนี้ถ้าพูดกันเอ็นทรี่นี้คงไม่จบแน่ๆ
ผมรู้สึกช่วงหลังๆดูหนังเรื่องนี้สนุกขึ้น (ก็แน่ละผ่านอะไรมาเยอะแล้ว) วิธีการนำเสนอของ Kubrick นั้นเหนือชั้นมากๆ ภาพถ่ายสวยๆ การตัดต่ออย่างมีชั้นเชิง เพลงประกอบเพราะมากๆ บทพูดที่ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ ยังมีอีกหลายฉากในหนังที่ชวนฉงนฉงนว่า สมัยนั้นทำแบบนี้ได้ยังไง
ผมแนะนำให้กับคนที่อยากดู “หนังไซไฟที่ดีที่สุดในโลก” ผมการันตีว่าคำพูดนี้จริงไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่คุณจะสามารถรับรู้ เข้าใจได้ในจุดนั้นไหม ถ้ายังไปไม่ถึงก็อย่าเพิ่งรีบนะครับ ค่อยๆศึกษาหนังไป ดูหนังให้เยอะๆคุณจะเริ่มเข้าใจความหมายของ ภาพยนตร์ มากขึ้น และเมื่อถึงจุดนั้นกลับมาดูหนังเรื่องนี้ เชื่อว่าคุณจะมีมุมองที่เปลี่ยนไปต่อหนังไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
คำโปรย : “2001 A Space Odyssey หนัง Sci-fi แห่งมวลมนุษย์ชาติ ที่ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE
[…] 2001: A Space Odyssey (1968) : Stanley Kubrick ♥♥♥♥♡ […]
[…] 2001: A Space Odyssey (1968) : Stanley Kubrick ♥♥♥♥♡ […]