La Strada

La Strada (1954) Italian : Federico Fellini ♥♥♥♥♡

(1/1/2018) La Strada แปลว่า The Road, ถนนสายนี้ที่ Zampanò กับ Gelsomina เลือกเดินทาง แม้มิได้ราบรื่นสุขสมหวังนัก แต่พวกเขากลับขาดกันไม่ได้ เติมเต็มตั้งฉากอยู่ตลอดเวลา, นี่คือภาพยนตร์เรื่องที่ต่อยอดจากยุคสมัย Italian NeoRealism จุดเริ่มต้นสไตล์ Felliniesque คว้ารางวัล Silver Lion: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Venice และ Oscar: Best Foreign Language Film เป็นเรื่องแรก “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ปกติแล้วผมมักจะใช้ชื่อนักแสดงในย่อหน้าแรกของบทความ แต่เฉพาะครานี้เลือกใช้ชื่อของตัวละครแทน เพราะทั้ง Anthony Quinn กับ Giulietta Masina ในชีวิตจริงไม่สามารถสลัดภาพ Zampanò กับ Gelsomina ออกจากตัวเองได้ พวกเขากลายเป็นตัวละคร หรือตัวละครกลายเป็นพวกเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน!

La Strada เป็นภาพยนตร์ที่ผมรับชมมาแล้วประมาณ 2-3 รอบ ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะมีความเข้าใจอะไรมากเท่าไหร่ ถือเป็นหนังดูยากพอสมควร แต่เมืื่อย้อนกลับไปอ่านบทความนี้ที่เคยเขียนถึงเมื่อปีก่อนๆ เว้ยเห้ย! ก็ไม่เลวนะ ครอบคลุมใจความสำคัญพอสมควร แต่ไหนๆก็ตั้งใจจะเขียนถึงอีกรอบ บทความนี้จะเน้นนำเสนอมุมมอง สิ่งใหม่ๆที่ค้นพบเจอเพิ่มเติม ให้ไว้เป็นข้อสังเกตสำหรับผู้ชื่นชอบ ตกหลุมรักหลงใหล จะได้คลั่งไคล้หนังมากๆยิ่งขึ้นไป

Federico Fellini (1920 – 1993) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน หนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลสุดในวงการภาพยนตร์ เกิดที่ Rimini, Italy ในครอบครัวชนชั้นกลาง อาศัยอยู่บ้านติดทะเล Adriatic Sea ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบวาดรูป อ่านการ์ตูน เล่นหุ่นเชิด ตอนอายุ 6 ขวบ ได้รู้จักเปิดโลกทัศน์กับ Grand Guignol (โรงละครเวที) พบเห็นการแสดงของตัวตลกคณะละครสัตว์, รับชมภาพยนตร์, การแสดงละครเวที ฯ ในช่วงผู้นำเผด็จการ Benito Mussolini ร่วมกับน้องชาย Riccardo สมัครเป็นสมาชิก Avanguardista (Fascist Youth)

พออายุ 17 เปิดร้านเล็กๆที่ Rimini รับจ้างวาดภาพ Portrait ทำโปสการ์ด เขียน Gag Writer ช่วงหนึ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ สมัครเข้าโรงเรียนกฎหมายที่ University of Rome แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง เอาเวลาไปเขียนบททความ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Marc’Aurelio, มีชื่อขึ้นเครดิตเขียนบทครั้งแรก Il pirata sono io (1943) ของผู้กำกับ Mario Mattoli, พบเจอ Giulietta Masino ปี 1942 แต่งงานกันปีถัดมา ลูกคนแรกแท้งเพราะตกบันได ลูกคนที่สองเกิดปี 1945 อายุเพียงเดือนเดียวเสียชีวิตจากโรคสมองอักเสบ (Encephalitis) พวกเขาจึงพอแล้ว อาศัยอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า

หลังสงครามโลกจับพลัดจับพลูพบเจอร่วมงานกับ Roberto Rossellini เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Rome, Open City (1945) เปิดประตูสู่ Italian Neorealism ตามด้วย Paisà (1946), ร่วมกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกกับ Alberto Lattuada เรื่อง Variety Lights (1951), ฉายเดี่ยว The White Sheik (1952), ตามด้วย I Vitelloni (1953) คว้ารางวัล Silver Lion: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Venice

สำหรับจุดเริ่มต้นของ La Strada มาจากอารมณ์ ‘a kind of tone’ ความรู้สึกบางอย่างที่เก็บสะสม ซ่อนฝังไว้อยู่ในเบื้องลึกของจิตใจตนเองมาแสนนาน

“A kind of tone that lurked, which made me melancholy and gave me a diffused sense of guilt, like a shadow hanging over me. This feeling suggested two people who stay together, although it will be fatal, and they don’t know why.”

เจ้าอารมณ์นี้ก่อให้เกิดภาพในจินตนาการ หิมะค่อยๆตกลงสู่ท้องทะเล ก้อนเมฆเปลี่ยนรูปทรง เสียงขับร้องของนกไนติงเกล เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Fellini เริ่มต้นวาดภาพร่างนามธรรมดังกล่าว ซึ่งวินาทีที่หนังกลายเป็นรูปธรรมขึ้นมา คือขณะวาดวงกลมแล้วจินตนการเห็นใบหน้า Gelsomina (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Jasmine, ดอกมะลิ) ในคราบของภรรยา Masina

“I utilized the real Giulietta, but as I saw her. I was influenced by her childhood photographs, so elements of Gelsomina reflect a ten-year-old Giulietta.”

สำหรับตัวละคร Zampanò ได้แรงบันดาลใจจากชายคนหนึ่งที่ Fellini พบเจอเมื่อครั้นยังเด็ก เสือผู้หญิงที่ชอบหลอกล่อหญิงสาวทุกคนในหมู่บ้านไปหลับนอนร่วมรัก แล้วมีคนหนึ่งดันท้องขึ้นมาแต่กลับถูกทิ้งขว้างหนีหายตัวไปเลย

เกร็ด: คำว่า Zampanò เป็นส่วนผสมจากชื่อของสองคณะละครสัตว์ในกรุงโรม Zamperla กับ Saltano

“This man took all the girls in town to bed with him; once he left a poor idiot girl pregnant and everyone said the baby was the devil’s child.”

ร่วมงานกับสองเพื่อนสนิทขาประจำ Ennio Flaiano กับ Tullio Pinelli พัฒนาบทภาพยนตร์ ได้ความยาวประมาณ 600 หน้ากระดาษ ที่เยอะขนาดนี้เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ มุมกล้อง ทิศทาง ตำแหน่งการเคลื่อนไหว ข้อสังเกตเสนอแนะ ฯ เรียกว่าอ่านแล้วเห็นภาพตามทุกช็อต

แต่ปัญหาใหญ่ของหนังเรื่องนี้คือการจัดหาทุนสร้าง ในตอนแรกนำไปให้ Luigi Rovere โปรดิวเซอร์ที่เคยร่วมงานตอน The White Sheik (1952) อ่านแล้วถึงขนาดน้ำตาคลอ บอกว่านี่เป็นวรรณกรรมเรื่องยิ่งใหญ่ แต่ดูยังไงก็ไม่เหมือนภาพยนตร์, ยื่นบทหนังให้กับโปรดิวเซอร์ Lorenzo Pegoraro ก็ชื่นชอบมากๆ ยื่นเงินสดล่วงหน้าให้ก่อนเลย แต่ภายหลังเมื่อ Fellini ยืนกรานต้องให้ Masina เล่นบท Gelsomina เท่านั้น ก็ไม่โอเคถอนการสนับสนุนออกไป,

โชคยังดีทีี่ Fellini มีโอกาสพบเจอ Dino De Laurentiis กับ Carlo Ponti สองโปรดิวเซอร์สัญชาติอิตาเลี่ยน ที่ให้ความสนใจโปรเจคนี้แต่พวกเขาไม่ค่อบชอบ Masina ให้รับบท Gelsomina สักเท่าไหร่ ตอนแรกยื่นข้อเสนอให้ Silvana Mangano (ภรรยาของ De Laurentiis) รับบท Gelsomina และ Burt Lancaster เล่นเป็น Zampanò แต่ผู้กำกับยืนกรานปฏิเสธเสียงแข็ง ครั้งหนึ่งตอนที่ Masina เข่าหลุดต้องหยุดกองถ่ายเป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์ Laurentiis พยายามหาเรื่องให้เปลี่ยนตัวนักแสดง แต่ผู้บริหารสตูดิโอ Paramount คนหนึ่งบังเอิญมีโอกาสรับชมฟุตเทจของหนัง คงทำการโน้มน้าว Laurentiis ไม่ให้เปลี่ยนตัวนักแสดง สุดท้ายเลยยินยอมปล่อยอิสระไป

หนึ่งในข้อตกลงที่ Fellini ทำสัญญาร่วมกับเหล่าโปรดิวเซอร์ คือถ้าใช้งบประมาณเกินที่วางไว้จะต้องควักกระเป๋าจ่ายส่วนต่างเอง ซึ่งความล่าช้าของโปรเจคก็พาลให้เกิดปัญหานี้ ทำเอาผู้กำกับเครียดหนักถึงขั้นต้องพึ่งจิตแพทย์ในช่วงท้ายของการถ่ายทำ ทำเอาสองโปรดิวเซอร์ใจอ่อนนัดทานข้าวกลางวันแล้วบอกว่า

“Let’s pretend they were a joke. Buy us a coffee and we’ll forget about them.”

เรื่องราวของ Gelsomina (รับบท Giulietta Masina) หญิงสาวในครอบครัวฐานะยากจน ถูกแม่ขายให้กับ Zampanò (รับบทโดย Anthony Quinn) นักแสดงเร่ข้างถนน ในราคา 10,000 Lire พวกเขาออกเดินทางไปทั่วอิตาลี พบเจอสิ่งต่างๆมากมาย งานเลี้ยงแต่งงาน, พาเรดเทศกาล, เข้าร่วมคณะละครสัตว์, ได้รับการอนุเคราะห์จากโบสถ์ ฯ รู้จักกับ The Fool (รับบทโดย Richard Basehart) นักกายกรรมหนุ่มที่ชอบกลั่นแกล้ง Zampanò พยายามชักชวน Gelsomina ให้ไปอยู่ด้วย จะมาจมปลักกับชายบ้าพลังไร้สมองเช่นนี้ทำไม แต่เธอกลับตัดสินใจเลือกอยู่กับชายคนรักจนกระทั่ง…

Antonio Rodolfo Quinn Oaxaca (1915 – 2001) นักแสดงสัญชาติ Mexican เกิดที่ Chihuahua, Mexico ตอนเด็กมีความตั้งใจเป็นนักบวช เข้าร่วมวงดนตรีของโบสถ์ แต่เมื่อได้พบเจอนักแสดงสาวสวยมากมายที่แวะเวียนมา เลยเปลี่ยนความสนใจเป็นอย่างอื่นดีกว่า เล่นกีฬาเบสบอล ต่อยมวย วาดรูป สถาปัตยกรรม ไปมาๆแสดงละครเวที เล่นหนังเรื่องแรก The Plainsman (1936) มักได้รับบทตัวร้าย/ตัวประกอบ โดดเด่นในบทตัวละครถึกๆ อาทิ High Noon (1952), La Strada (1954), Wild Is the Wind (1957), The Guns of Navarone (1961), Zorba the Greek (1964) ฯ คว้า Oscar: Best Supporting Actor สองครั้งจาก Viva Zapata! (1952) กับ Lust for Life (1956)

รับบท Zampanò ชายหนุ่มร่างใหญ่บ้าพลังไร้สมอง นักแสดงเร่ข้างถนน ความสามารถพิเศษคือ มนุษย์จอมพลัง สามารถกระชากโซ่รัดอกให้ขาดออกจากกันได้

สันดานนิสัยเสียของ Zampanò ประกอบด้วย
5. ชื่นชอบดื่มเหล้าเมามาย
4. แม้จะไม่ชอบการโกหก แต่ก็ไม่ค่อยพูดบอกความจริงสักเท่าไหร่
3. ทั้งๆมีภรรยา Gelsomina อยู่แล้ว แต่กลับให้ความสนใจร่วมรักกับหญิงอื่น
2. ลักขโมยของผู้อื่น (หนังไม่นำเสนอตรงๆ แต่มองได้ว่าขโมยมีค่าของจากโบสถ์แน่นอน)
1. ฆ่าคนตาย

จะเห็นว่า Zampanò เป็นคนไม่มีอะไรดีในชีวิต แต่หลังจากซื้อ Gelsomina มาจากครอบครัว โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักหญิงสาว แม้จะชอบบันดาลโทสะใช้ความรุนแรง แต่ก็โศกเศร้าเสียใจอยากยิ่งเมื่อเธอจากไป

ในตอนแรก Fellini ต้องการเลือกนักแสดงโนเนมมารับบทนี้ แต่ก็หาไม่ได้เลยเล็ง Anthony Quinn ที่ขณะนั้นอยู่อิตาลีถ่ายทำหนังเรื่อง Donne Proibite (1954) ของผู้กำกับ Giuseppe Amato ซึ่งภรรยา Masina ร่วมแสดงอยู่ด้วย จึงมีโอกาสแนะนำให้รู้จักกัน, Fellini ทำการตื้ออย่างต่อเนื่องอยู่เป็นสัปดาห์ จน Quinn เริ่มรำคาญ เพราะไม่ต้องการร่วมงานผู้กำกับโนเนม แต่แล้วเมื่อเขามีโอกาสไปร่วมรับประทานอาหารเย็นกับ Ingrid Bergman และ Roberto Rossellini พวกเขาเปิด I Vitelloni (1953) ให้รับชม ราวกับฟ้าผ่าลงกลางใจ รีบโทรศัพท์หาตอบตกลงโดยทันที

“I was thunderstruck by it. I told them the film was a masterpiece, and that the same director was the man who had been chasing me for weeks.”

นี่ทำให้ตอนโปรเจคพบกับความล่าช้า กระทบต่อเวลาถ่ายทำหนังอีกเรื่อง Attila (1954) ของผู้กำกับ Pietro Francisci ที่ได้เซ็นสัญญาไว้ก่อนแล้ว แต่ Quinn กลับเลือกจะแสดงพร้อมกันทั้งสองเรื่อง ตอนเช้าถ่ายทำ La Strada และตอนเย็นๆค่ำๆเข้ากรุงโรมถ่ายทำ Attila

“This schedule accounted for the haggard look I had in both films, a look that was perfect for Zampanò but scarcely OK for Attila the Hun.”

การแสดงของ Quinn ในหนังเรื่องนี้ ผมว่าโดดเด่นกว่าสองผลงานที่คว้า Oscar เสียอีกนะ นั่นเพราะสีหน้าท่าทางสายตา มันตรงกับภาพลักษณ์ตัวละครถึกๆ ดื้อด้าน หัวรั้น เห็นแก่ตัว เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อตอนแสดงด้านอ่อนไหวออกมา ผู้ชมจะรับรู้สึกเข้าใจว่าเขาเป็นคนที่โหยหาความรักเข้าใจยิ่งกว่าสิ่งใด

Quinn ยกย่องการร่วมงานครั้งนี้กับ Fellini ว่ามีความล้ำค่าอย่างมาก แค่เพียงสามเดือนแต่กลับได้รู้ทุกสิ่งอย่างของการแสดง ผลงานอื่นๆก่อนหน้านี้แทบไม่รู้เรื่องอะไรเลย

“He drove me mercilessly, making me do scene after scene over and over again until he got what he wanted. I learned more about film acting in three months with Fellini than I’d learned in all the movies I’d made before then.”

เมื่อปี 1990, Quinn ส่งโน้ตเล็กๆขอบคุณเพื่อนเก่าทั้งสอง

“The two of you are the highest point in my life
— Antonio.”

Giulietta Masina ชื่อเต็ม Giulia Anna Masina (1921 – 1994) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ San Giorgio di Piano, Bologna พ่อเป็นนักไวโอลินสอนดนตรี แต่ตัวเธออาศัยอยู่ย่าที่กรุงโรม ตั้งแต่เด็กมีความสนใจร้องเพลง เต้น และเล่นเปียโน (ไม่ได้คิดจะเป็นนักแสดง) เรียนจบสาขาวรรณกรรมจาก Sapienza University of Rome ครั้งหนึ่ง Federico Fellini เลือกเธอจากภาพถ่าย มาให้เสียงละครวิทยุเรื่อง Terziglio (1943) ไม่นานตกหลุมรักแต่งงาน ระหว่างนั้นเธอก็เริ่มสนใจการแสดง มีผลงานละครเวทีร่วมกับ Marcello Mastroianni สำหรับภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นตัวประกอบไร้เครดิต Paisà (1946) มีชื่อครั้งแรก Without Pity (1948) โด่งดังกับ La Strada (1954) และกลายเป็นตำนาน Nights of Cabiria (1957) คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

รับบท Gelsomina หญิงสาวในครอบครัวฐานะยากจน ถูกแม่ขายให้กับ Zampanò ตัวเธอมีความบริสุทธิ์สดใส ร่าเริงไร้เดียงสาเหมือนเด็กสิบขวบ ไม่ค่อยเฉลียวฉลาดทำอะไรเป็นสักเท่าไหร่ แต่มีจิตใจซื่อตรงดีงาม แม้หลายครั้งจะไม่เป็นสุขเพราะถูกคนรักใช้ความรุนแรง แต่เมื่อได้เข้าใจแนวคิดปรัชญาชีวิตจาก The Fool ทำให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นทีเดียว

ด้วยรูปร่างตัวเล็ก อ้วนป้อม หน้ากลม ตาโตเหมือนตัวตลก Masina ไม่ใช่นักแสดงที่มีความสวยน่ารักประการใด แต่เพราะนี่คือบทบาทจากตัวเองในชีวิตจริง ยินยอมให้สามีจับแต่งตัดผมสั้น ทาหน้าขาวโพลน ทำอะไรก็ได้มิขัดขืนว่ากล่าว แต่ก็บ่นเล็กๆ

“You’re so nice and sweet to the others in the cast. Why are you so hard on me?”

ท่าทางการเคลื่อนไหวของ Masina คงรับอิทธิพลจาก Charlie Chaplin ขณะเดินจะเก้งๆก้างๆ เวลายิ้มแย้มมักโยกตัวพร้อมไปมา แสดงถึงความ Innocent ไร้เดียงสาของตัวละคร พอถึงเวลาโกรธก็จะหน้านิ่วคิ้วขมวด แสดงออกอย่างชัดเจน

ก็ไม่รู้นะว่า Masina รับบท Gelsomina หรือ Gelsomina คือ Masina เรียกว่ากลายเป็นภาพลักษณ์ตราติดตัวจนวันตายของทั้งคู่ แม้แต่ Night of Cabiria ก็ไม่สามารถลบเลือนภาพนี้ออกได้ แค่เรื่องนั้นจะเป็นมุมตรงกันข้ามกับตัวละครนี้ (ก้าวร้าว ปากจัด หัวรุนแรง)

John Richard Basehart (1914 – 1984) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Zanesville, Ohio เริ่มต้นเป็นนักแสดง Broadway กรุยทางสู่ Hollywood เมื่อปี 1947 ผลงานเด่นอาทิ He Walked by Night (1948), Fourteen Hours (1951), La Strada (1954), Moby Dick (1956) ฯ

รับบท Il Matto หรือ The Fool นักกายกรรมห้อยโหน เอาชีวิตแขวนอยู่บนเส้นลวด เป็นคนเร่ร่อนเรื่อยเปื่อย (Carefree) แต่มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ พูดจาลื่นไหลโน้มน้าวผู้อื่นเก่งมาก แต่อดรนทนไม่ได้ทุกครั้งเมื่อพบเจอ Zampanò ต้องแกล้งแหย่แซวเล่น เพราะความที่เป็นบุคคลตรงกันข้ามกับตนเองโดยสิ้นเชิง

ความที่ภรรยาของ Basehart ขณะนั้น Valentina Cortese อยู่ในกองถ่ายหนัง Donne Proibite (1954) เรื่องเดียวกับที่ Quinn และ Masina ร่วมสมทบ ได้ไปเยี่ยมหาบ่อยๆจึงมีโอกาสพบเจอกับ Fellini (ที่กำลังตื้อ Quinn อยู่) ครั้งหนึ่งได้รับการชักชวนมารับประทานอาหารกลางวัน แล้วเสนอบทบาทนี้ สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่ง ซักถามด้วยเหตุผลอะไร?

“Because, if you did what you did in Fourteen Hours you can do anything.”

ในตอนแรก Basehart มีความลังเลใจมากทีเดียว แต่พอได้รับชม I Vitelloni ก็อดได้ ยินยอมตอบรับแม้ค่าตัวจะแสนต่ำ และมีความชื่นชอบบุคลิกของ Fellini เป็นอย่างยิ่ง

“It was his zest for living, and his humor.”

การแสดงของ Basehart ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงนัก นอกจากใบหน้าอันยียวนกวนประสาท รอยยิ้มหยอกหลอกเล่น ที่ใครๆก็ดูรู้ว่ามิได้คิดเครียดจริงจัง เว้นแต่ Zampanò ที่อดรนทนไม่ได้สักครั้ง น่าหมั่นไส้จนต้องการทำอะไรสักอย่างกับไอ้หมอนี่ให้หลากจำ

ไดเรคชั่นการกำกับของ Fellini นิยมที่จะไม่บันทึกเสียง Sound-On-Film (เป็นเรื่องปกติหนังหนังอิตาเลี่ยนสมัยนั้น) ใช้การพากย์เสียงทับภายหลัง นักแสดงจะพูดตามภาษาปากของตนเอง Quinn กับ Basehart ภาษาอังกฤษ ที่เหลือจะพูดอิตาเลี่ยน แต่พวกเขาก็ไม่ได้เสียเวลาท่องบทสนทนาให้วุ่นวาย

มีคำเรียกเทคนิคนี้ว่า ‘Number System’ หรือ ‘Numerological Diction’ ถ้าบทสนทนานั้นความยาว 15 คำ นักแสดงจะพูดนับเลข 1-2-3 ไปจนถึง 30 ซึ่งเวลาแสดงอารมณ์ หันหน้าหรือเคลื่อนไหว ผู้กำกับจะส่งเสียงกำกับให้คำแนะนำออกมาเลย เช่น ‘ตอนนับถึงเลข 27 ให้หันมายิ้มเข้ากล้อง’

ผู้กำกับ Elia Kazan ที่เคยเห็นการทำงานเบื้องหลังของ Fellini เล่าให้ฟังจนเห็นภาพ

“He talked through each take, in fact yelled at the actors. ‘No, there, stop, turn, look at her, look at her. See how sad she is, see her tears? Oh, the poor wretch! You want to comfort her? Don’t turn away; go to her. Ah, she doesn’t want you, does she? What? Go to her anyway!’

… That’s how he’s able … to use performers from many countries. He does part of the acting for the actors.”

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ Fellini สามารถร่วมงานกับนักแสดงหลากหลายประเทศได้ โดยไม่ต้องสนใจความแตกต่างทางภาษาการแสดง เพราะตัวเขาถือว่าได้กำกับอารมณ์แทนนักแสดงแล้ว

กระนั้นนี่ก็มีข้อเสียใหญ่ๆสำหรับผู้ที่คุ้นเคยภาพยนตร์ Hollywood มากเกินไป มักคาดหวังให้ปากนักแสดงขยับเคลื่อนตรงกับคำพูดที่ได้ยิน พอเห็นมันไม่ตรงก็เกิดอาการหงุดหงิดหัวเสียอย่างรุนแรง

La Strada ถือเป็นครั้งแรกกับไดเรคชั่น สไตล์การกำกับนี้ของ Fellini ที่กำลังค่อยๆได้รับการปรับปรุงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถมองเห็นแนวโน้มความยิ่งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นถัดไป

สำหรับตากล้องถ่ายภาพ ในตอนแรกคือ Carlo Carlini ที่เคยร่วมงานกับ Fellini เรื่อง I Vitelloni แต่เพราะความล่าช้าของโปรเจค และตอบรับหนังเรื่องอื่นไปแล้ว จึงถูกแทนที่ด้วย Otello Martelli ผู้กลายเป็นขาประจำคนใหม่ของผู้กำกับไปโดยทันที

Fellini เป็นผู้กำกับที่ชื่นชอบเหลี่ยมมุมความสมมาตรอย่างยิ่ง ฉากแรกกับฉากสุดท้ายของหนังมักจะสะท้อนตรงข้ามกันเสมอ

มุมเอียงซ้ายแช่กล้อง ถ่ายตอนกลางวัน Gelsomina เดินตรงสู่ชายหาดยามริมทะเล

มุมเอียงขวากล้องค่อยๆถอยห่าง Zampanò ถ่ายตอนกลางวัน ตอนแรกเขาเดินละห้อยเข้าหากล้อง แต่แล้วก็ทรุดตัวลงนอนหมดเรี่ยวแรงบนพื้นทราย

สังเกตว่า Zampanò กับ Gelsomina มักอยู่ในมุมที่มีความตั้งฉากกันทั้งเรื่อง

ฉากสอนตีกลอง Zampanò นั่งอยู่ Gelsomina ยืนซ้อม หันเอียงหากันในมุมที่ตั้งฉาก 90 องศาเปะๆเลยนะ, มันจะมีขณะหนึ่งที่ Zampanò เดินไปด้านซ้ายของภาพเพื่อหยิบหาไม้เรียว เมื่อ Gelsomina เล่นไม่ได้ดั่งใจถูกตี เธอจะไถลไปด้านขวาของภาพ

คำคืนหนึ่งในโรงนา Zampanò กับ Gelsomina มีทิศทางการนอนที่ตั้งฉาก 90 องศาเช่นกัน ช็อตนี้เป็นช่วงขณะกำลังสนทนา ชายหนุ่มยังคงนอนอยู่ หญิงสาวลุกขึ้นนั่งด้านหลังมีความคมชัด ใช้เทคนิค Deep-Focus แทบไม่เห็นมิติความลึกที่แตกต่าง

ช็อตที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง ไม่รู้ถ่ายจากสถานที่จริงหรือสร้างเศษซากบ้านปรักหักพังนี้ขึ้นมา (เป็นสถานที่สะท้อนผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่ๆ) ไม่ใช่แค่ Zampanò กับ Gelsomina ที่นั่ง-นอน ในทิศทางตั้งฉากกัน แต่ยังกำแพงพิงด้านหลังของทั้งสอง และระหว่างพวกเขากั้นขวางด้วยกองเพลิงที่มี 3 เสา

บรรยากาศ พื้นหลังของหนังให้สัมผัสเหมือนกับ Italian Neorealism เป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือความเป็นส่วนตัว เรื่องราวรักโรแมนติก ไม่ยึดติดอยู่กับบริบทของสังคม การเมือง หรืออุดมการต่อต้าน Fascist นี่ทำให้นักวิจารณ์แบ่งกันแทบจะครึ่งๆ ส่วนหนึ่งมองว่าหนังยังคงเป็น Neorealist ขณะที่อีกฝั่งบอกว่าไม่ใช่แล้ว นี่คือการพัฒนาต่อยอด นำเสนอแนวคิดใหม่ที่ไม่จำกัดยึดติดอยู่ในกรอบรูปแบบเดิม, ซึ่งในความเห็นของ Fellini เหมือนเขามองว่าหนังยังคือ Neorealism อยู่นะ

“Certain people still think neorealism is fit to show only certain kinds of reality, and they insist that this is social reality. It is a program, to show only certain aspects of life”.

 

ตัดต่อโดย Leo Catozzo หนึ่งในขาประจำของ Fellini ผลงานเด่นอาทิ War and Peace (1956), Nights of Cabiria (1957), La Dolce Vita (1960), 8½ (1963) ฯ

หนังเกือบทั้งเรื่องใช้มุมมองของ Gelsomina เริ่มจากเดินเล่นอยู่ริมทะเล ก่อนไปสิ้นสุดที่ถูก Zampanò ทอดทิ้งไว้ยังซากปรักหักพังแห่งหนึ่ง จากนั้นเปลี่ยนไปใช้มุมมองของเขาดำเนินเป็น Epilogue จนจบ

เวลาไม่ใช่สิ่งสำคัญในหนังของ Fellini แม้เรื่องนี้จะยังไม่มีความซับซ้อนอะไร แต่ใช้การ Time Skip/Time Jump กระโดดข้ามเวลาไปเรื่อยๆ ผู้ชมแทบจะไม่สามารถรับรู้ได้เลยเหมือนตัวละคร นี่ที่ไหน เมื่อไหร่กี่โมงกี่ยามแล้ว ดำเนินไปเรื่อยๆ ล่องลอยคล้ายกับความฝัน

ถ้าคุณรับชมหนังของ Fellini มาพอสมควร น่าจะเริ่มคุ้นเคยกับ Recurring ฉากซ้ำๆที่มักหวนปรากฎอยู่ในหนัง อาทิ บ้านริมทะเล, งานเลี้ยงแต่งงาน, ขบวนพาเรดเทศกาล, โบสถ์คริสต์ ฯ เพราะทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ในความทรงจำของผู้กำกับ อะไรที่มันตราตรึงฝังใจมากๆ ก็มักจะไม่ค่อยลืมเลือนสักเท่าไหร่

เพลงประกอบโดย Nino Rota อัจฉริยะนักแต่งเพลงสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Fellini ตั้งแต่ The White Sheik (1952)

ในตอนแรก Fellini เลือกใช้บทเพลงของ Arcangelo Corelli เปิดเป็นพื้นหลังให้นักแสดงเล่นไวโอลิน เป่าทรัมเป็ตตาม แต่ Rota กลับไม่ชื่นชอบแผนการนี้เท่าไหร่ แต่งเพลงขึ้นใหม่หลังการถ่ายทำเสร็จสิ้น นำแรงบันดาลใจจาก Antonín Dvořák: Serenade For Strings in E major Op.22 เลือกท่อน Movement 4. Larghetto ซึ่งมีความใกล้เคียงกับท่วงทำนองของ Corelli เป็นอย่างยิ่ง

เสียงทรัมเป็ตอันโหยหวนล่องลอย สะท้อนเรื่องราวของ Zampanò กับ Gelsomina ได้อย่างลงตัว พวกเขาออกเดินทางเรื่อยเปื่อยไร้เป้าหมาย ใช้ชีวิตตามมีตามเกิดแล้วแต่โชคชะตาฟ้ากำหนัด เช่นนั้นแล้วพวกเขาเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร? ช่วงท้ายของหนังหรือบทเพลงก็ให้คำตอบไม่ได้เช่นกัน แต่ทิ้งสัมผัสของ ‘ความหวัง’ ก็ไม่ผิดอะไรที่จะค้นหาไม่พบเจอ รับรู้แค่ว่ามันต้องมีก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ

จากท่วงทำนองเศร้าสร้อย อยู่ดีๆก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ ให้สัมผัสของบทเพลงในสวนสนุก คณะละครสัตว์ มีนัยยะเป็นการบอกว่า ชีวิตจะไปซีเรียสเครียดครุ่นคิดมากอยู่ทำไม ไม่ลองใช้มันให้เต็มที่คุ้มค่ากับที่เกิดมาดูละ

เรื่องราวของ Zampanò กับ Gelsomina เปรียบชีวิตกับการเดินทาง พบเจอสุขทุกข์สิ่งต่างๆมากมาย การกระทำของพวกเขาแต่ละอย่าง แม้เต็มเปี่ยมด้วยอิสรภาพเสรี แต่ล้วนคือสิ่งที่สังคมตีตราว่าเป็นความชั่วร้ายนิสัยไม่ดี เบียดเบียนสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น แถมไร้ซึ่งความรับผิดชอบและศีลธรรม

ความเลวร้ายชั่วช้าบัดซบไร้สำนึกของ Zampanò สร้างความแปดเปื้อนให้กับ Gelsomina ที่ยังสดใสบริสุทธิ์ ครั้งหนึ่งเคยพยายามที่จะหลบหนีแต่ก็ไปไหนไม่พ้น กระนั้นเมื่อได้รับคำชักชวนโอกาสมาเยือนกลับเลือกปฏิเสธ เพราะได้รับแนวคิดทัศนคติมองโลกในแง่จาก The Fool ถ้าฉันยังอยู่ใกล้ๆเขา อย่างน้อยที่สุดคงได้ทำอะไรที่มีประโยชน์บ้าง

แต่น่าเสียดายที่โอกาสนั้นไม่บังเกิดกับ Gelsomina ขณะยังมีชีวิตอยู่ ความตายของ The Fool ทำให้เธอจมปลักอยู่กับความทุกข์โศก รับไม่ได้เศร้าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถูกคนรักทอดทิ้ง ใช้ชีวิตดิ้นรนทรมานอยู่หลายปีสุดท้ายก็เอาตัวไม่รอด ซึ่งเมื่อ Zampanò บังเอิญเดินทางผ่านมาได้รับทราบความจริง ทำให้เขาได้เรียนรู้จักสำนึก เข้าใจความต้องการของตัวเองสักที

นี่แปลว่าเหตุผลการมีตัวตนของ Gelsomina คือได้พบเจอโศกนาฎกรรมอันเป็นข้อคิดเตือนสติให้กับผู้อื่น, ตอนยังมีชีวิตอยู่เป็นได้เพียงตัวตลกหน้าใสซื่อบริสุทธิ์ไร้ค่าใดๆ แต่เมื่อเสียชีวิตจากไป ทำให้ Zampanò ค้นพบเข้าใจความต้องการแท้จริงในหัวใจของตนเอง นี่อาจรวมถึงกับผู้ชมหลายๆคนด้วยนะ

ผู้กำกับ Fellini ให้คำนิยาม La Strada ว่าคือสรุปประมวลผลเรื่องราวชีวิต ‘ตัวตน’ ความทรงจำของตนเอง

“a complete catalogue of my entire mythological world, a dangerous representation of my identity that was undertaken with no precedent whatsoever.”

เพื่อชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถาม ‘ชีวิตคืออะไร?’ ผู้กำกับ Fellini ผลักดันเรื่องราว/ตัวละคร ให้ไปถึงจุดไร้ค่าที่สุดของชีวิต ขยะสังคม ชั่วช้าเลวร้ายไม่มีอะไรดี เกิดมาทำไม? แต่เช่นนั้นแล้ว เรื่องราวของพวกเขาทั้งสองสามคนกลับให้ข้อคิดคติสอนใจอะไรหลายๆอย่าง แม้สุดท้ายจะมิอาจได้พบเจอคำตอบแท้จริงของคำถามนี้ แต่ก็จงรับรู้เถิดว่ามันต้องมีความหมายบางอย่าง

The Fool: You won’t believe it, everything is useful… this pebble for instance.

Gelsomina: Which one?

The Fool: Anyone. It is useful.

Gelsomina: What for?

The Fool: For… I don’t know. If I knew I’d be the Almighty, who knows all. When you are born and when you die… Who knows? I don’t know for what this pebble is useful but it must be useful. For if its useless, everything is useless. So are the stars!

ตอนออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice สร้างเสียงฮือฮา ข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิจารณ์ บ้างเรียกว่า ‘an unfinished poem’ คำชมดีสุดก็ ‘a master story-teller’ ตอนประกาศรางวัล คณะกรรมการมอบ Silver Lion: Best Director ให้ Fellini เป็นตัวที่สองถัดจาก I vitelloni (1953) สร้างความฉุนเฉียวรุนแรงให้เกิดขึ้น เพราะตัวเต็งปีนั้นคือผู้กำกับ Luchino Visconti จากเรื่อง Senso (1954) ขนาดว่าตอนขึ้นรับรางวัล มีชายคนหนึ่ง (ว่าที่ผู้กำกับดัง Franco Zeffirelli) เป่าปากส่งเสียงรบกวน [ทำตัวแบบ The Fool ไม่มีผิด] ทำเอาสีหน้าของ Fellini ซีดเผือก Masina หลั่งน้ำตา

“We don’t say, nor have we ever said, that La Strada is a badly directed and acted film. We have declared, and do declare, that it is wrong; its perspective is wrong.”

แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่าในปีนั้นคือ Golden Lion ตกเป็นของ Romeo and Juliet (1954) ของผู้กำกับ Renato Castellani เอาชนะทั้ง On the Waterfront, Rear Window, Sansho the Bailiff, Seven Samurai อย่างน่าคับข้องใจ

หนังได้เข้าชิง Oscar 2 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Foreign Language Film ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Best Screenplay – Original

ถือเป็นครั้งแรกสำหรับสาขา Best Foreign Language Film ที่มีการมอบรางวัลอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ Honorary Award ที่มีมาตั้งแต่ปี 1947

การรับชม La Strada เมื่อ 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ส่วนตัวแค่ชื่นชอบประทับใจ ไม่ได้หลงใหลคลั่งไคล้หนังสักเท่าไหร่ แต่สำหรับครั้งนี้เมื่อเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง พบเห็นไดเรคชั่น การแสดง และความสวยงามของเนื้อเรื่อง มันช่างตราตรึงเกินคำบรรยาย เข้าใจเหตุผลการมีตัวตนของผู้กำกับ Federico Fellini ได้อย่างซาบซึ้งกินใจที่สุดแล้ว

เกร็ด: นาย Walt Disney ชื่นชอบหนังเรื่องนี้มาก มีความต้องการสร้างอนิเมชั่นที่มีเรื่องราวของ Gelsomina แต่จนสุดท้ายก็ไม่มีโอกาสสักที

เกร็ด 2: สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) องค์ปัจจุบัน [2013 – ] เคยบอกว่านี่คือหนังพระองค์ชื่นชอบที่สุด ‘La Strada is the movie that perhaps I loved the most’

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แม้หนังจะค่อนข้างดูยากสักนิด แต่เรื่องราวการเดินทางของ Zampanò กับ Gelsomina เต็มไปด้วยสาระแฝงข้อคิดมากมาย ‘ทุกชีวิตเกิดมา แม้แต่ก้อนหินก็ยังมีเป้าหมาย’ ให้กำลังใจชีวิตได้ดีนักแล

พลาดไม่ได้กับแฟนๆผู้กำกับ Federico Fellini ชื่นชอบเรื่องราวดราม่าแฝงแนวคิด ปรัชญาชีวิต หลงใหลในคณะละครสัตว์ ประเทศอิตาลีในทศวรรษ 50s (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ภาพทิวทัศน์สวยๆ และเพลงประกอบเพราะๆของ Nino Rota

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคนที่มองว่าชีวิตตนเองเกิดมาไร้ค่า กำลังอกหักแฟนทิ้งฟ้องหย่า หรือคนในครอบครัวเพิ่งเสียชีวิตจากไป รับชมหนังเรื่องนี้ในช่วงเวลาแห่งความท้อแท้สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก จะช่วยให้กลับมามีเรี่ยวแรงเต็มเปี่ยม เอ่อล้นด้วยน้ำตาแต่มีความอิ่มเอมเต็มหัวใจ

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมชั่วร้ายทั้งหลายของตัวละคร โลภ-โกรธ-หลง

TAGLINE | “La Strada คือเหตุผลการมีตัวตนของผู้กำกับ Federico Fellini มี Anthony Quinn กับ Giulietta Masina เป็นตัวตายตัวแทนได้อย่างซาบซึ้งกินใจที่สุดแล้ว”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE


La Strada

La Strada (1954)

(26/1/2016) Federico Fellini เขาเป็นผู้กำกับที่ผมชอบเป็นอันดับ 2 ผมชอบแนวคิดและการทดลองหลายๆอย่างที่เขาใส่มาในหนัง สำหรับ La Strada หนังรางวัล Best Foreign Language Film จาก Academy Award เป็นหนังที่มีความสำคัญต่อ Fellini มากๆและเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสไตล์ Fellini (Felliniesque) ที่มีอิทธิพลต่อหนังเรื่องต่อๆมา

หนังเริ่มต้นจากแนวคิดกว้างๆว่าเป็น “a kind of tone” เขามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการที่คนสองคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เพราะอะไร ทำไม ตอนนั้น Fellini แต่งงานกับ Giulietta Masina แล้ว คงเป็นความนึกสนุกที่เขาได้ลองวาดภาพกลมๆลงในรูปถ่ายของเธอ และเห็นว่านี่แหละใช่เลย ตัวละครที่เขาต้องการสร้างขึ้น จึงได้ใช้เธอนี่แหละเป็นต้นแบบของตัวละคร Gelsomina และให้เธอรับบทเป็นตัวละครนี้ด้วย

เบื้องหลังของ Gelsomina มีพื้นฐานมาจาก Giulietta Masina จริงๆ และเรื่องราวส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวจริงๆของ Federico Fellini ในวัยเด็กที่เขาอาศัยอยู่กับแม่จนๆริมทะเล หนีออกจากบ้านไปเข้าร่วมคณะละครสัตว์ แบบในหนังเลย Fellini เอาไอเดียนี้ไปคุยกับ Tullio Pinelli และ Ennio Flaiano นักเขียนบทขาประจำไปพัฒนาต่อ รู้สึกว่าบทหนังเรื่องนี้จะได้เข้าชิง Oscar ด้วย แต่พลาดรางวัลไป

ในหนังมี 3 ตัวละครที่เป็นที่จดจำมากๆ ตัวแรกเลยคือ Gelsomina ผมยังไม่ได้ดูหนังเรื่องอื่นที่ Giulietta Masina เล่นนะครับ แต่มีคนบอกว่า Masina เธอไม่สามารถสลัดภาพ Gelsomina ออกจากความทรงจำของคนดูได้ มันเหมือนเธอเกิดมาเป็นตัวละครนี้โดยเฉพาะเลย ก็แน่ละนะ หน้ากลมๆ ตลกๆ เป็นหน้าที่แปลกมากๆ หน้าแบบนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของตัวตลกในคณะละครสัตว์เลย นิสัยของเธอก็แปลกๆด้วย ผมไม่แน่ใจตอนท้ายๆว่าสรุปแล้วเธอเป็นอะไร ทำไมเธอถึงก้าวผ่านความรู้สึกนั้นไปไม่ได้ หนังไม่ให้คำตอบที่น่าพึงพอใจเท่าไหร่กับบทสรุปของตัวละครนี้ แต่กระนั้นนี่เป็นตัวละครที่ผมไม่เคยเจอมาก่อนในหนังเรื่องไหน

Anthony Quinn ที่เล่นเป็น Zampanò ยังหาเจอได้บ่อยๆในหนังทั่วไป คนที่ใช้กำลังมากกว่าสมอง เขาเป็นนักแสดงชาวอเมริกันนะครับ มาเล่นหนัง Italian แล้วจริงๆพี่แกพูด Italian ไม่ได้ด้วยซ้ำ (ในหนังใช้การพากย์ทับเอา) การออกแบบตัวละครนี้มันชัดเจนมากๆ เราจะเห็นเลยว่าถึงภายนอกเขาแข็งแกร่งแค่ไหน แต่ภายใน sensitive สุดๆ

อีกตัวละครหนึ่งที่เรียกว่า The Fool คือ Richard Basehart เขาเป็นชาวอเมริกันเช่นกัน นี่เหมือนตัวละครที่มาแย่งซีน 2ตัวละครหลัก แต่ผมว่าตัวละครนี้สำคัญมากๆ เพราะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในครึ่งหลัง เป็นตัวละครที่มีอิทธิพลต่อคนรอบข้าง การกระทำของเขาอาจจะดูไร้สาระไม่มีเหตุผล แต่ผมคิดว่าเหตุผลของเขาคืออิสระที่จะได้ทำ

ผมดูครั้งแรก ก็เปรียบ 3 ตัวละครนี้เหมือนไพ่ 3 ใบ The Joker, The Strength และ The Fool ผมไม่ได้เล่นไพ่ทาโร่นะครับ แต่รู้สึกว่ามันน่าจะมีความหมายอะไรบางอย่างแน่ๆ

ถ่ายภาพโดย Otello Martelli และ Carlo Carlini ก็ขาประจำอีกนะแหละ เริ่มต้นที่ทะเลตอนกลางวัน จบที่ทะเลตอนกลางคืน ความสมมาตรนี้ยังคงเป็นสไตล์ที่ Fellini ชอบใช้ ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าหนังถ่ายทำยังไง ผมดูเวอร์ชั่นที่มีขนาดภาพเป็น 4:3 หนังยุคนั้นจริงๆถ่าย Widescreen กันแล้ว เพราะความที่เป็น 4:3 ผมรู้สึกภาพมันจะดูไม่ค่อยสมส่วนเท่าไหร่ คือเหมือนตัวละครมันหลุดโฟกัสหลายครั้ง ไม่รู้ว่าจงใจหรือเปล่า ผมสังเกตเห็นฉากการแสดงในคณะละครสัตว์ จะพบว่าผู้ชมและผู้แสดงจะหันหน้าเข้าหากล้อง ทั้งๆที่ในเต้นท์เป็นทรงกลม ผู้ชมจะนั่งอยู่รอบๆ ฉากนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเราเป็นหนึ่งในคนดูที่นั่งอยู่ในเต้นท์นั้น แต่ผมรู้สึกแปลกๆนะ เพราะผมมองเห็นมันเหมือน stage play ที่มีคนดูนั่งข้างหลัง มากกว่านั่งอยู่ในคณะละครสัตว์

ตัดต่อโดย Leo Catozzo ผมรู้สึกนี่เป็นหนังที่ตัดง่ายมากๆ ไม่หวือหวาเท่าไหร่ คงเพราะ Fellini ยังไม่มีลูกเล่นมากมายนัก เกือบทั้งเรื่องจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ Gelsomina จนกระทั่งตอนท้ายที่เล่าผ่าน Zampanò คงเพราะมันถึงจุดที่หนังไม่สามารถเล่าผ่าน Gelsomina ได้แล้ว และการเล่าผ่าน Zampanò ตอนจบนั้น มันทำให้เราเห็นความรู้สึกที่แท้จริงต่อ Gelsomina ได้

เพลงประกอบโดย Nino Rota ให้ความรู้สึกหลากหลายมาก ตอนต้นเรื่องเต็มไปด้วยความหวัง กลางเรื่องคือความสนุก ท้ายเรื่องคือความเศร้าหมอง ทั้งๆที่ใช้โน๊ตตัวเดียวกัน แต่กลับสร้างอารมณ์ต่างกันมาก ผมเชื่อว่าทำนอง Trumpet ในหนัง ได้ยินบ่อยจนน่าจะฮัมตามได้ ดูหนังจบแล้วมาฟังเพลงนี้กลายเป็นรู้สึกเศร้าๆเสียอีกครับ ลองฟังเวอร์ชั่นเต็มเล่นพร้อมกับ Orchestra ดูนะครับ

ไอเดียของหนังเรื่องนี้ คล้ายๆกับ L’ Atlante มากๆ (ผมเพิ่งดู L’ Atlante เมื่อวานนี้เองเลยรู้สึกข้องใจนิดหน่อย) ความคล้ายกันคือการตั้งคำถามว่า ทำไมคนเราถึงใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น มีหลายอย่างที่ L’ Atlante ทำได้ดีกว่าคือความรู้สึก และจบแบบ happy end แต่กับ La Strada มีตัวละครที่น่าสนใจกว่า แต่จะจบแบบ sad end ไว้ผมจะมาเล่าตอน L’ Atlante อีกทีนะครับ

ตอนต้นเรื่อง ผมมอง Zampanò เป็นเหมือนผู้นำเผด็จการ และ Gelsomina คือผู้ตามในระบอบที่ยอมก้มหัวให้กับระบบ และเมื่อถึงกลางเรื่อง ตัวละคร The Fool เปรียบเหมือนประชาธิปไตย ที่มีอิสระเสรีมากกว่า แต่หนังมีจุดหนึ่ง คำพูดหนึ่งที่ทำให้ผมคิดว่าไอเดียนี้ไม่น่าใช่แล้ว คือที่ The Fool พูดกับ Gelsomina ประมาณว่า โชคชะตาคงกำหนดให้เธออยู่กับ Zampanò ถ้าไม่มีเธอเขาคงอยู่ไม่ได้ คำพูดประโยคนี้เปลี่ยนชะตากรรมของหนังเลยนะครับ ณ จุดนั้นผมมองว่านี่อาจจะเป็นหนังรักของคนที่ต้องการความเข้าใจมากเป็นพิเศษ เหตุผลที่ The Fool จะกลั่นแกล้ง Zampanò อยู่เสมอ ผมคิดว่าเป็นเพราะการแสดงของ Zmapanò เป็นอะไรที่โง่เง่ามากๆ ขนาดว่าตัวเองที่เดินบนเส้นลวดที่ว่าโง่ๆแล้ว เจอการแสดงนี้ไปนี่โง่ยิ่งกว่า ซึ่งพอ Zampanò ได้ยินแบบนั้นเขาก็กลั้นความโกรธไม่อยู่ คนโง่มักจะไม่ยอมรับว่าตัวเองโง่ คนโง่ที่เห็นคนอื่นโง่กว่า ก็ไม่คิดว่าจะมีคนที่โง่กว่าตน… อ่านแล้วงงๆ หนังมันก็งงๆอย่างนี้แหละครับ ประโยคสุดท้ายของ Gelsomina ที่ว่า You kill The Fool นี่ก็สับสนไม่แพ้กันเลย เราอาจมองมุมหนึ่งได้ว่า Gelsomina ถึงจุดที่รับ Zampanò ไม่ได้แล้ว ตอนที่เขากินเหล้า ม่อหญิงอื่น โกหกหลอกลวง ขโมยของ ยังเป็นอะไรที่เธอรับได้ แต่การฆ่าคน เป็นฟางเส้นสุดท้ายจริงๆ (ว่าไป 5 สิ่งที่ Zampanò ทำ มันเหมือน ศีล 5 เลยนะ) ผมมองต่างจากนี้นิดนึง ตรงที่เธอกลายเป็นแบบนี้เพราะเธอสับสนใจคำพูดของ The Fool เธอมอง The Fool เหมือน Idol ของเธอ (ตั้งแต่ที่เห็นการแสดงของเขา) เมื่อ Idol ตายไป ก็เหมือนสิ่งที่เธอคิดมาทั้งหมดนั้นมันไม่ถูกต้อง เธอจึงเกิดความสับสนและกลายเป็นอย่างนั้นไป

ช่วงท้ายๆ หนังวกกลับมาเรื่องความรักอีกครั้ง ชะตากรรมของ Zampanò เป็นอะไรที่คาดคิดไม่ยาก แต่เห็นแล้วก็ใจหวิวๆ นี่เป็นตัวละครที่เห็นชัดมากๆว่าต่อให้เขาเข้มแข็งภายนอกมากแค่ไหน แต่ข้างในมันช่างเปราะบางเหลือเกิน นี่เป็นที่มาของหนังที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่แรกๆ ว่าหนังเรื่องนี้ตั้งคำถามว่า ทำไมคนเราถึงต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น คำตอบในหนังชัดเจนครับ เพราะเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ กว่าจะได้บทสรุปนี้ ก็เล่นเอาเหนื่อยทีเดียว

ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้คนดูทั่วไปน่าจะดูได้อยู่ จะมองมันเป็นหนัง Romance ธรรมดาๆ แต่มีเนื้อเรื่องที่กินใจ มีตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ เพลงเพราะๆ ดูง่าย และเข้าใจได้ แต่ถ้าดูแล้ววิเคราะห์ตามก็จะเห็นอะไรสวยงามแบบแปลกๆ มีคำตอบบางอย่างที่ยังค้างคาไม่สุดและไม่มีคำตอบ มีนักวิจารณ์บางคนพูดว่านี่เป็นหนังที่ไม่สมบูรณ์ของ Fellini ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ความยอดเยี่ยมของหนัง ผมก็ถือว่าไม่ธรรมดาแล้ว ไม่แน่ว่าถ้าคุณเริ่มต้นดูหนังเรื่องนี้ของ Fellini เป็นเรื่องแรก คุณอาจจะติดใจสไตล์การกำกับและหาหนังเรื่องอื่นของเขามาดูก็เป็นได้

คำโปรย : “La Strada จุดเริ่มต้น Felliniesque ของ Federico Fellini คุณจะหลงรักตัวละคร Gelsomina และ Zampanò เพลงประกอบ เสียง Trumpet ที่ดังติดหู เนื้อเรื่องอาจจะดูแปลกประหลาดสักหน่อย แต่มีเสน่ห์ที่ไม่มีหนังเรื่องไหนสามารถทำได้”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
trackback

[…] La Strada (1954)  : Federico Fellini ♥♥♥♡ […]

%d bloggers like this: