Apur Sansar (1959) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥♥

(18/8/2019) ชีวิตไร้ซึ่งพันธนาการเหนี่ยวรั้ง มักขาดบางสิ่งอย่างที่เป็นเป้าหมาย แรงผลักดันจูงใจ จนกว่าจะครุ่นคิดตระหนักขึ้นได้เองว่าพลาดอะไรไป มันอาจต้องแลกมาด้วยสูญเสียอิสรภาพ แต่นั่นคือการค้นพบจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อตนเอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เริ่มต้นที่ Pather Panchali (1955) แจ้งเกิดโลกจดจำชื่อผู้กำกับ Satyajit Ray ติดตามมาด้วย Aparajito (1956) ตอกย้ำความสำเร็จคว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice นั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญจับพลัดจับพลูแน่ๆ และ Apur Sansar (1959) คือผลงาน Masterpiece ปิดไตรภาค The Apu Trilogy ถือว่ามีความงดงามทรงคุณค่าที่สุดแห่งมวลมนุษยชาติ

โดยปกติแล้วภาพยนตร์เรื่องโปรดของผมเอง มักมีลักษณะสะท้อนปรัชญา อุดมการณ์ แนวความคิด ทัศนคติส่วนตน แต่สำหรับ Apur Sansar พิเศษตรงที่ประมาณ 80% ของหนัง มีความคล้ายคลึงชีวิตผมมากๆ ในเชิงรูปธรรม-นามธรรม ด้วยเหตุนี้ระหว่างรับชมมันเลยตอกย้ำ จี้แทงใจดำหลายๆอย่าง ทำไมแต่กาลก่อนนั้นถึงครุ่นคิดแสดงออกด้วยความขลาดเขลาขนาดนี้


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

แม้ว่า Aparajito (1956) จะคว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice แต่เสียงตอบรับอันย่ำแย่ของผู้ชมชาวอินเดีย ผู้กำกับ Ray เลยยังไม่สามารถสร้างภาคสุดท้ายจากเนื้อหานวนิยายส่วนที่เหลือได้ทันที ตัดสินใจเริ่มต้นอะไรใหม่ๆกับผลงาน Parash Pathar (1958) และ Jalsaghar (1958) สร้างความเชื่อมั่นใจให้นายทุน ยินยอมให้งบประมาณ Apur Sansar เพื่อปิดไตรภาค The Apu Trilogy ลงสักที

เนื้อหานวนิยาย Aparajito ภาคต่อ Pather Panchali ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay ที่ได้ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์ Aparajito (1956) มีเพียงหนึ่งในสาม จบลงที่ชายหนุ่ม Apu ได้สูญเสียพ่อและแม่ ไม่หลงเหลือญาติพี่น้องใดๆอีก

เรื่องราวเริ่มต้นที่ Apu (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) หลังจากเรียนจบออกมาหางานทำ (เพราะไม่มีเงินทุนการศึกษาต่อ) แต่ไปสมัครที่ไหนก็ไม่มีใครรับ จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนสนิท Pulu (รับบทโดย Swapan Mukherjee) มาชักชวนไปงานแต่งงานญาติที่ต่างจังหวัด เพราะว่างๆเลยตัดสินใจไป แต่เจ้าบ่าวรายนั้นกลับถูกวินิจฉัยว่าเป็นบ้า คลุ้มคลั่งจากสภาพอากาศอันร้อนระอุ Pulu จึงโน้มน้าว Apu ให้แต่งงานกับ Aparna (รับบทโดย Sharmila Tagore) ทีแรกทำเป็นยื้อยัก สุดท้ายยินยอมตบปากรับคำ นำพาเธอมาอาศัยอยู่ด้วยกันยัง Calcatta แต่แล้วสิ่งไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น


Soumitra Chatterjee (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency มีปู่เคยเป็นนักแสดงละครเวที ตั้งแต่เด็กเลยชื่นชอบด้านการแสดง โตขึ้นเรียนจบสาขาวรรณกรรม Bengali จาก University of Calcutta เริ่มต้นทำงานผู้ประกาศรายกาศวิทยุ All India Radio ระหว่างนั้นไปคัดเลือกนักแสดง Aparajito (1956) เพราะอายุมากเกินวัยไปหน่อยเลยถูกปฏิเสธ แต่ภาพลักษณ์เป็นที่ถูกใจผู้กำกับ Ray หมายหมั้นปั้นมือถ้ายังมีภาคต่อก็จะเลือกชายหนุ่มคนนี้รับบทนำ

เป็นความบังเอิญในวันที่ Chatterjee เดินทางไปเยี่ยมเยียนกองถ่าย Jalsaghar (1958) โดยไม่รู้ตัวถูกผู้กำกับ Ray เรียกเข้ามาแนะนำตัวกับนักแสดงนำ Chhabi Biswas บอกว่า

“This is Soumitra Chattopadhyay; he’s playing Apu in my next film Apur Sansar”.

– Satyajit Ray

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Chatterjee กลายเป็นนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Ray มีผลงานร่วมกันถึง 14 เรื่อง

รับบท Apurba Kumar Roy แม้ฐานะยากจน ตกงาน แต่ดื่มด่ำไปกับอิสรภาพชีวิต ไม่ครุ่นคิดเร่งรีบร้อนทำอะไร หรือจะคบหาแต่งงานกับใคร จนกระทั่งถูกเพื่อนสนิท Pulu ชักจูงจมูกไปร่วมงานแต่งงานญาติ จับพลัดจับพลูแต่งงานเจ้าสาวเพิ่งเคยพานพบหน้า ค่อยๆตระหนักว่าสิ่งสวยงามเลอค่ายิ่งกว่าของชีวิตคือการเสียสละ ความรับผิดชอบ และพบเห็นรอยยิ้มภรรยา แต่แล้วโลกที่อุตส่าห์สร้างขึ้นมาได้พังทลายลงเพราะการสูญเสีย จิตใจเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ครุ่นคิดสั้นกลับถูกโชคชะตาหยุดยับยั้งไว้ เลยออกเดินทางไปดินแดนสุดปลายฟ้า ถ้าไม่ได้เพื่อนเก่าหวนกลับมาฉุดลาก คงไม่อาจยินยอมรับ เผชิญหน้าความจริงโดยแน่แท้

เพราะเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของ Chatterjee พอสังเกตได้ถึงความสั่นๆ เกร็งๆ ไม่เป็นธรรมชาติ ขาดความเชื่อมั่นใจในตนเอง แต่นั่นถือว่าเข้ากับตัวละครเปะๆ เพราะทุกสิ่งอย่างที่ Apu ได้พานพบเจอ ล้วนคือเหตุการณ์มิอาจคาดเดา เกิดขึ้นราวกับโชคชะตาฟ้าลิขิต ต้องเลือกระหว่างเผชิญหน้าหรือหลบลี้หนี ไม่มีหนทางประณีประณอมอื่น

ความประดิษฐ์ปั้นแต่งในการแสดง อาทิ เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม โกรธสั่นๆ ฯลฯ ผมว่าเป็นความจงใจของผู้กำกับ Ray เพื่อให้ตัวละครสะท้อนความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาออกมาจากภายใน


Sharmila Tagore (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Hyderabad เป็นญาติห่างๆของนักเขียนชื่อดัง Rabindranath Tagore, บิดาเป็นผู้จัดการ British India Corporation มีพี่น้องสามคน เพราะความที่น้องสาวคนกลาง Oindrila Kunda ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง Kabuliwala (1957) ทำให้เธออยากเข้าวงการบ้าง เมื่อตอนอายุ 14 ปี ขณะกำลังแสดงการเต้นยัง Children’s Little Theatre ค้นพบโดยผู้กำกับ Satyajit Ray คัดเลือกมามาเป็นเจ้าสาวผู้อาภัพใน Apur Sansar (1959)

รับบท Aparna จับพลัดจับพลูแต่งงานกับ Apu แม้มิได้ด้วยความสมัครใจแต่ก็ยินยอมรับโชคชะตา การแสดงออกหลายๆครั้งชัดเจนว่าไม่ชอบชีวิตจนๆของเขาสักเท่าไหร่ แต่ใช้มารยาหญิงเอาตัวรอดไปได้เรื่อยๆ จนน่าจะค้นพบความสุขจากความพอเพียง

แม้เป็นบทบาทเล็กๆไม่มีอะไรมาก ขายความสวยใส ขี้เล่น ไร้เดียงสา แต่ต้องถือว่ามีความตราตรึงไม่น้อยเลยละ หลายๆคนคงอยากแต่งงานกับเจ้าสาวน่ารักๆ ซุกซนแบบนี้ และเมื่อตัวละครประสบโศกนาฎกรรม ก็คงทำให้ใครๆ จิตใจแตกรวดร้าวโดยพลัน

หลังจากแจ้งเกิดกับภาพยนตร์เรื่องนี้ Tagore ก็มีผลงานต่อเนื่องทั้งภาษา Bengali และ Hindi ประสบความสำเร็จโด่งดัง หนึ่งในนักแสดงค่าตัวสูงสุดช่วงทศวรรษ 70s


ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra (1930 – 2001) ขาประจำของผู้กำกับ Ray ลองผิดลองถูกกันมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955) จนเรื่องนี้ถือว่าประสบการณ์โชกโชนเลยทีเดียว

Apur Sansar มีความเป็น Standalone จาก Pather Panchali (1955) และ Aparajito (1956) พอสมควร ผู้ชมไม่จำเป็นต้องย้อนดู ก็สามารถเริ่มต้นรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้โดยทันที

นาย Apu พักอาศัยอยู่ชั้นบนสุด (เรียกได้ว่าชั้นแห่งอิสรภาพ) ตื่นเช้าไม่ใช่ด้วยนาฬิกาปลุกหรือฝนตก แต่จากเสียงหวูดรถไฟที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี พบเห็นน้ำหมึกซึมผ้าปูที่นอน รีบนำออกมาซักรองน้ำฝนหน้าห้อง แต่กลับมองไม่เห็นด้านหลังเปลอะเปลื้อนอยู่ นั่นเพราะเขาไร้คนช่วยเหลือดูแล้ว ไม่มีญาติมิตรหลงเหลือ สามารถออกกำลังกายท่ามกลางสายฝน (ท่าเดียวกันนักเล่นเวทภาค Aparajito)

ปัญหาของบุคคลผู้ดื่มด่ำในอิสรภาพมากจนเกินไป มักขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง ค่าห้องไม่สามารถสรรหามาจ่าย ซึ่งฉากนี้กำลังโกนหนวดขณะเจ้าของอพาร์ทเม้นท์มาทวงค่าห้อง กล่าวคือ ต้องการปรับปรุงตัวใหม่ แต่โชคชะตาก็ไม่เข้าข้างเขาเสียเลย

สองอาชีพที่ Apu ออกเดินทางไปสมัครงาน
– ครูสอนโรงเรียนอนุบาล เอาวุฒิปริญญาไปยื่นแต่ถูกถามกลับ จบสูงขนาดนั้นมารับเงินเดือนแค่นี้มันคุ้มหรือ?
– อีกสถานที่คือพนักงานติดฉลาก ซึ่งคงไม่ได้ใช้ความรู้ใดๆที่เรียนสูงมาอย่างแน่นอน จะฝืนทำได้อย่างไร?

คงเพราะยุคสมัยนั้น อาชีพเฉพาะทาง/รองรับเด็กจบใหม่ การศึกษาสูงๆนั้นยังค่อนข้างน้อย ถ้าไม่มีกิจการครอบครัว/ญาติพี่น้อง หรือเส้นสายใดๆแบบ Apu การหางานที่เหมาะสมคงเป็นเรื่องยากมากๆ

ผู้กำกับ Ray ยังคงสรรหาวิธีที่จะใส่สรรพสัตว์เข้ามาในหนัง อย่างช็อตนี้ขณะ Apu เดินทางกลับห้อง (พระอาทิตย์ในมุมที่สวยมากๆ) ฝูงหมูเดินตัดหน้า ซึ่งก็เปรียบได้กับตัวเขาเองนะแหละที่กำลังขี้เกียจสันหลังยาว ไม่ค่อยกระตือรือร้น ขวนขวายไขว่คว้าทำอะไรด้วยตนเอง

แม้มีหญิงสาวอยู่ห้องเช่าฝั่งตรงข้าม พยายามแอบจับจ้องมอง Apu อยู่เรื่อยๆ แต่เขากลับไม่สนใจเรื่องความรัก ไม่ใช่ไม่ยาก แต่ใครจะมายอมจมปลักกับคนจนๆเช่นเขา ใช้ขลุ่ยเป่าพรรณาความรู้สึก ไม่ได้สุขไม่ได้ทุกข์ เป็นอยู่อย่างนี้คืออิสรภาพเสรี

แล้วเพื่อนสนิท Pulu มาจากไหนก็ไม่รู้ฉุดลาก Apu ให้ออกจากหลุม หลังจากรับประทานอาหาร ชักชวนไปชมละคร (มั้งนะ) ระหว่างเดินทางกลับเลียบทางรถไฟ พร่ำพรรณาบทกวีภาษา Bengali น่าจะไพเราะอยู่ละ

แม้ว่าทั้งสองเดินเลียบทางรถไฟท่ามกลางความมืดมิด แต่ระหว่างที่ Apu เล่าเรื่องราวที่เขากำลังจะเขียนเป็นนวนิยาย แสงสว่างจากไหนไม่รู้สาดส่องเข้ามาที่ใบหน้า ซึ่งถ้าใครๆเคยรับชม Pather Panchali (1955) และ Aparajito (1956) ย่อมตระหนักได้ว่านั่นมันอัตชีวประวัติเขาเองทั้งหมดนี่หว่า ดวงตา สีหน้า อารมณ์ พูดเล่าอออกมาขณะนี้ มันคือการหวนระลึก ‘Nostalgia’ ถึงความทรงจำอันมีค่า งดงามยิ่งสำหรับเขา … แต่ก็ถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด พูดติดตลก ตกมุข ตระหนักรับรู้ได้ทันทีว่านั่นคือชีวประวัติของ Apu เองเลย!

Rangoli ศิลปะการวาดภาพตกแต่งที่นิยมในประเทศอินเดีย ด้วยทราย ผงสี หรือน้ำแป้งสาลี ลงบนพื้นขาวหรือพื้นสี มักใช้ตกแต่งหน้าบ้านตามงานเทศกาลต่างๆ หมายถึงการต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่นจากเจ้าบ้าน หรือเจ้าภาพต่อแขกที่มาเยี่ยมเยือน

ซึ่งในหนังเป็นการนำเข้าพิธีแต่งงาน/การมาถึงบ้านญาติของ Apu และ Pulu

ผมคิดว่าน่าจะเป็นอาการเมาแดด กอปรความเครียด กดดัน (ดูแล้วอาจจะไม่อยากแต่งงานสักเท่าไหร่ด้วยกระมัง) เลยอยู่ๆควบคุมสติอารมณ์ตนเองไม่ได้ เมื่อญาติฝ่ายเจ้าสาวพบเห็นแบบนั้น เรื่องอะไรจะยินยอมรับกัน

ไดเรคชั่นของ Sequence นี้เจ๋งมากๆ กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหาแม่(และเจ้าสาว) เป็นการบ่งบอกว่ายินยอมรับไม่ได้ จากนั้นเธอเดินเข้าหา กล้องเคลื่อนถอยหลัง ผลักพ่อออกไปจากนอกห้อง

มุมกล้องเงยขึ้นจนเห็นเพดาน สะท้อนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวราวกับฟ้าประทาน ให้พิธีแต่งงานไม่ได้บังเกิดขึ้นไปตามกำหนดการ

Pulu ก็เป็นเพื่อนที่แสนดิบดี อาสา Apu ให้กลายมาเป็นเจ้าบ่าวแทน วินาทีที่เขาเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น (ช่วงแรกๆเพิ่งตื่น จะสะลึมสะลืออยู่สักพัก) ช็อตนี้จะเห็นว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ถ่ายติดท้องฟ้า กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยออกมา นั่นมันเป็นเรื่องยินยอมรับกันได้อย่างไร

แต่ก็เพราะลิขิตฟ้านะแหละที่ทำให้ Apu ยินยอมตอบตกลงกับ Pulu ซึ่งจะเดินเข้ามาด้านหลัง เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนผู้คอยส่งเสริมสนับสนุนผลักดัน … Apu ได้ดีเพราะเพือนแท้ๆ

เมื่อ Apu ขึ้นห้องหอกับ Aparna ช่วงแรกเขาจะเดินไปเดินมาทางฝั่งซ้ายของภาพ พูดซักถามด้วยความกระวนกระวายใจ

ซึ่งเมื่อ Aparna ตบปากรับคำว่าจะอยู่เคียงข้างสามี เขาเดินมาทางด้านขวาของภาพด้วยรอยยิ้ม ความโล่งอกโล่งใจ แต่สมัยนั้นก็หนังอินเดียได้มากสุดก็เท่านี้นะครับ จะไม่มีเลิฟซีน โอบรัด หรือกอดจูบ เพราะจะถือว่าเป็นอนาจาร

เห็นว่าผู้กำกับ Ray จงใจไม่ให้คำแนะนำใดๆกับ Sharmila Tagore ขณะเดินเข้ามาในอพาร์ทเมนท์ของ Apu ปฏิกิริยาของเธอเลยเป็นความรู้สึกแท้ๆ ‘First Impression’ อึ้งทึ่ง คาดไม่ถึง นี่มันรูหนูชัดๆ

สังเกตว่าเดินเข้ามาภายในห้องช็อตนี้ รอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิด จากนั้น Apu ถึงค่อยเดินไปเปิดหน้าต่าง แสงสว่างจึงสาดส่องเข้ามา สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาเริ่มต้นโดยไม่รับล่วงรู้ว่าใครเป็นใคร แต่ก็ค่อยๆเรียนรู้จักกันไปเองในอีกไม่ช้า

ผมว่าแค่ช็อตนี้ก็แสดงถึงความผิดหวังที่ Aparna มีต่อ Apu ราวกับตนเองตกอยู่ในคุกแห่งความจนชั่วนิรันดร์ พบเห็นแมลงสาปก็ตบให้ตาย แค่จุดไฟทำอาหารเช้ายังควันขโมงโฉงเฉง ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง … แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ค่อยๆเรียนรู้ที่จะเอาใจสามี และเพียงพอดีกับความสุขที่ตนเองได้รับมา

ควันขโมงที่ Aparna จุดเพื่อเตรียมอาหารเช้า ปกคลุมใบหน้า Apu ให้จมอยู่กับความมัวหม่น พร้อมเสียงรถไฟดังขึ้นอย่างหูดับตับแลบ ทำให้เขาครุ่นคิดและตระหนักถึงความรับผิดชอบของตน นี่ฉันนำมาเธอมาลำบาก จะทำอย่างไรให้ศรีภรรยาได้รับความสุขสบาย (เหมือนอย่างที่พ่อ-แม่เธอเลี้ยงดูมา)

มันอาจจะคือมารยาหญิงที่ Aparna เล่นลิ้นกับ Apu เธอทำเป็นยินยอมรับเขา แต่จริงๆต้องการเรียกร้องโน่นนี่นั่น ด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ของชายหนุ่ม จึงพยายามสรรหาทุกสิ่งอย่างเพื่อปรนเปลอบำเรอ สนองกามคุณอิ่มอุ่นที่ได้รับมา

ฉากคลาสสิกของหนังอินเดีย คู่พระ-นาง มักจะร่ำลาจาก ณ ขบวนรถไฟ ซึ่งฉากนี้ถ่ายทำยามค่ำคืนมืดมิด บอกเป็นนัยถึงครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้พบเจอกัน

แม้ว่าจะอยู่ห่างภรรยา แต่จิตใจของ Apu ก็เต็มไปด้วยความอิ่มเอิบสุขสำราญ ช็อตเล็กๆนี้ให้ความช่วยเหลือเด็กน้อยนั่งอยู่ริมทางรถไฟ สะท้อนถึงภรรยาที่กำลังคลอดลูกอยู่พอดี และเรื่องราวต่อจากนี้เขาจะทอดทิ้งบุตรชายไว้เบื้องหลัง

ผมว่าใครๆน่าจะมองออกว่า อาการตื่นตระหนก ตกใจ สั่นกลัวของ Apu เมื่อได้รับรู้ความตายของ Aparna ช่างดูปั้นแต่งเกินจริง ไม่เป็นธรรมชาติเลยสักนิด แต่นั่นคงคือความตั้งใจผู้กำกับ Ray เพื่อสะท้อนความใสซื่อบริสุทธิ์ของตัวละคร แสดงอารมณ์ความรู้สึกนั้นออกมาตรงๆ

สภาพของ Apu หลังจากนั้น นอนซมอยู่ในห้องที่มืดมิด (จิตใจก็เช่นกัน) ลุกขึ้นมาจับจ้องมองกระจก เสียงนาฬิกาติกๆอยู่ดีๆเงียบสงัด (เวลาชีวิตหมดสิ้นไป) และพอเสียงหวูดรถไฟดังขึ้น…

ตัดสินใจที่จะอัตนิวิบาตด้วยการให้รถไฟชนตาย พบเห็นยืนอยู่ข้างๆราง ควันหัวรถจักรโพยพุ่งกำลังเคลื่อนเข้าใกล้มาเรื่อยๆ วินาทีนั้นเอง … เจ้าหมูผู้โชคร้ายถูกรถไฟชนตายไปก่อนหน้า (เทียบได้กับจิตใจของ Apu ที่ถูกรถไฟชนตาย) นั่นทำให้ปลุกตื่นฟื้นคืนสติ ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง และออกเดินทางจากสถานที่แห่งนี้ไปให้แสนไกล

การเดินทางของ Apu ถือว่าไร้จุดหมายปลายทาง มาถึงผืนทะเล ข้ามผ่านป่าดง และมาถึงยอดขุนเขา พระอาทิตย์กำลังตกดินช็อตนี้ งดงามจับใจ และตัดสินใจทอดทิ้งต้นฉบับนวนิยายที่เขียนไว้ ให้ล่องลอยไปกับสายลม

เด็กชาย Kajal สวมหน้ากากที่เป็นสัญลักษณ์ถึงการไม่รับรู้ชาติกำเนิด พ่อของตนเองเป็นใคร? เลยใช้ชีวิตอย่างเกเร เสเพล ยิงนกตกไม้ กลั่นแกล้งผู้คนอื่นไปทั่วเพื่อ ‘เรียกร้องความสนใจ’

เพื่อนแท้อย่าง Pulu หายากยิ่งๆเลยนะ ออกติดตาม Apu มาจนพบเจอทำงานเหมือง (เรียกว่าพยายามทำให้ตนเองอยู่ในสถานะตกต่ำสุดในชีวิต) สถานที่สวนทางกันนี้คือริมธารน้ำ เลื้อยเลาะไปตามโขดหิน ถ้านายยังพอมีจิตสำนึก ความเป็นคนหลงเหลืออยู่บ้าง ก็กลับไปหาลูกชายตนเองเสียเถอะ

ครั้งสุดท้ายในการโน้มน้าวของ Pulu พื้นหลังพบเห็นต้นไม้ที่มีเพียงกิ่งก้าน (นั่นเทียบได้กับจิตใจของ Apu) แต่ลิบๆไกลโพ้นคือโลกกว้าง เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจีขึ้นเต็มไปหมด … มันช่างเป็นความโง่เขลาโดยแท้ที่ทรมานตนเองอยู่อย่างนี้ (Pulu พูดผ่านสายตาตนเอง)

Apu แม้ยินยอมกลับมาหาลูกแต่ขณะนี้ยังไม่ได้ติดสินใจว่าจะยังไงต่อไป, พบเห็นเขานอนอยู่บนเตียง (ที่เคยร่วมรักภรรยาเมื่อค่ำคืนวันแต่งงาน) ถอยมานั่งริมหน้าต่าง เหล็กดัดมีลักษณะไม่ต่างจากกรงขังคุก ภายนอกพบเห็นเรือกำลังโลดแล่นบนสายน้ำ ซึ่งคือสัญลักษณ์ของอิสรภาพที่จะสูญเสียไป ถ้าตัดสินใจรับเลี้ยงดูแลลูกชายคนนี้

แน่นอนว่าเด็กชาย เมื่ออยู่ดีๆมีใครบอกว่าตนเองเป็นพ่อของตน ย่อมไม่สามารถยินยอมรับได้โดยทันที หยิบก้อนหินขึ้นมาเขวี้ยงขว้างขับไล่ เต็มไปด้วยความโกรธเกลียดชังที่ไม่สามารถบ่งบอกได้ นั่นเองทำให้ปู่เรียกมาจะลงโทษเฆี่ยนตี Apu เข้ามาหยุดยับยั้งไว้ กอปรเสียงฉาบสร้างความระทึกใจ … ในมุมของเด็กชาย ผมว่าคงเกิดความประทับใจ Apu ขึ้นมาเล็กๆ

แซว: ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกชาย ละม้ายคล้าย Paris, Texas (1984) อยู่ไม่น้อย

Apu ซื้อขบวนรถไฟของเล่น ปล่อยให้พุ่งชน Kajal เพื่อบ่งบอกว่าเด็กชายคือเป้าหมายชีวิตของเขาต่อจากนี้ … แต่มือของเด็กชายนั้นถือว่าว ซึ่งสะท้อนความเพ้อฝัน(ถึงพ่อ)ที่ยังคงล่องลอย โหยหาจักได้พบเจอ เลยได้รับการบอกปัดปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย

สำหรับ Apu ทอดถอนหายใจว่าตนเองคงไม่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์กับ Kajal เลยตัดสินใจร่ำลากลับ แต่กลายเป็นว่าเด็กชายแอบติดตามมา เรียกร้องขอ เริ่มต้นด้วยการเป็น ‘เพื่อน’ แค่นั้นก็น้ำตาคลอเบ้าแล้ว

อุ้มลูกชายขึ้นขี่คอ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า เขาคือบุคคลสำคัญสูงสุด เคียงข้างเรือใบกำลังแล่นเคียงคู่ขนาน นั่นคือการออกเดินทางของชีวิต มุ่งสู่อนาคตที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเป็นเช่นไร

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองตัวละคร Apurba Kumar Roy ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกเป็นตอนๆ สังเกตได้จากการ Fade-into-Black บ่งบอกจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด
– อารัมบท, Apu ตัดสินใจไม่เรียนต่อ
– แนะนำวิถีคนจน ตกงาน ถูกทวงค่าห้องพัก ไม่อาจหลีสาวตรงข้ามห้อง
– การมาถึงของเพื่อนสนิท Pulu ชักชวนไปร่วมงานแต่งงาน จับพลัดจับพลูแต่งงาน
– พาเจ้าสาวกลับมาอพาร์ทเม้นท์หลังซ่อมซ่อ แต่ชีวิตก็มีความสุขสำราญ
– แต่ความสุขนั้นก็เกิดขึ้นไม่นาน เมื่อภรรยาจากไป ความทุกข์ในใจเข้าปกคลุม ตัดสินใจหลบลี้หนีไปให้ไกล
– การกลับมาอีกครั้งของเพื่อนสนิท Pulu ติดตามมาพบเจอ ทำให้ Apu ยินยอมเผชิญหน้ารับความจริง

เพลงประกอบโดย Ravi Shankar (1920 – 2012) นักเล่น Sitra ที่หวนกลับมาร่วมงานผู้กำกับ Ray เพื่อปิดไตรภาค The Apu Trilogy,

พัฒนาขึ้นไปอีกจาก Pather Panchali (1955) ที่มุ่งเน้นบรรเลง Sitra, ตามมาด้วย Aparajito (1956) เพิ่มเติมขลุ่ยไม่ไห้, และ Apur Sansar ก็ได้ใส่เครื่องดนตรีอื่นๆอีกหลายชิ้น(ที่ผมไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่) เพราะชีวิตเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เผชิญหน้าโลกความเป็นจริง จะมัววิ่งเล่นสนุกสนาน เพลิดเพลินสำเริงราญเหมือนแต่ก่อนได้อย่างไร

แม้มีความไพเราะงดงาม แต่แฝงความเจ็บปวดรวดร้าวถึงที่สุด คือขณะ Apu หลังจากสูญเสียภรรยา ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ก้าวผ่านท้องทะเล เดินเข้าป่าพงไพร จนมาถึงยอดดอยขุนเขา หยิบเอานวนิยายที่เคยเขียนไว้ โยนมันทิ้งให้ล่องลอยไปตามสายลม

คงไม่มีบทเพลงไหนงดงามตราตรึง ซาบซึ้งหลั่งน้ำตาเท่าตอนจบ น่าจะเป็นเสียง Harmonium ประสานเสียง Sitra ไม่ใช่เสียงแห่งความสุขหรือทุกข์ แต่คือความเบิกบานจากการได้เริ่มต้นใหม่ ดำเนินไปข้างหน้าด้วยกัน(ของสองพ่อลูก) อดีตที่เต็มไปด้วยความชอกช้ำ สู่อนาคตวันข้างหน้าแม้ไม่รู้จะเป็นเช่นไร แต่ตราบใดความหวังยังมี ชีวิตย่อมสามารถก้าวต่อไป

ความยากจนข้นแค้นของครอบครัว ทำให้ Apu พยายามดิ้นรนให้หลุดพ้นพันธนาการแห่งความทุกข์ยากลำบาก เลือกตั้งใจเรียนหนังสือแทนที่จะเป็นพราหมณ์ตามรอยเท้าพ่อ ทอดทิ้งแม่ให้ตรอมใจตายจากไป ในที่สุดตัวเขาก็ได้ดื่มด่ำสำราญไปกับอิสรภาพแห่งชีวิต

อิสรภาพของ Apu คือการได้ทำทุกสิ่งอย่างตามใจ ไม่มีอะไรให้ท้อแท้หมดสิ้นหวัง ไร้ซึ่งการงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง ก็เอาหนังสือไปจดจำนอง เดี๋ยวก็หาหนทางเอาตัวรอดเองได้ เรียกว่าปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามลิขิตฟ้า … แต่อิสรภาพดังกล่าวก็ต้องแลกมาด้วยการไม่สามารถผูกมัด ตกหลุมรักใคร ใช้ชีวิตเพียงลำพัง ไร้อนาคตเป้าหมาย ความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง (เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรใคร)

โชคชะตานำพา Apu จับพลัดจับพลูให้ต้องแต่งงานหญิงสาว แม้ไม่ใช่ความต้องการแต่นั่นคือลิขิตฟ้า เมื่อนำพาเธอมาอยู่ด้วยเลยถูกจิตสำนึกบอกให้ ‘รับผิดชอบ’ ต่อการตัดสินใจ เหน็ดเหนื่อยเพิ่มขึ้นไม่เท่าไหร่ แต่การได้ค้นพบเป้าหมายและกำลังใจ ทำให้ชีวิตของชายหนุ่มมีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางดีขึ้นกว่าเก่าก่อน

คนที่เคยมีชีวิตอย่าง ‘อิสรภาพ’ ย่อมไม่มีใครอยากหวนกลับมาอยู่ในกรงขัง แต่ถ้านั่นเป็นความยินยอมพร้อมใจ ถือได้ว่าคือการเสียสละอันยิ่งใหญ่ Aparna กลายเป็นความเพ้อฝันของ Apu ต้องการทำทุกสิ่งอย่างให้ชีวิตคู่ ได้รับการพัฒนาดีขึ้นกว่าเก่าก่อน

แต่โชคชะตาฟ้ากำหนดอีกเช่นกัน พลัดพรากจากพวกเขาทั้งสองไปชั่วนิรันดร์ ทำให้จิตใจของชายหนุ่มแตกสลายย่อยยับเยิน มิอาจเผชิญหน้า รับผิดชอบอะไรใครได้อีก ปลดปล่อยตนเองสู่อิสรภาพ แต่แท้จริงนั้นนั่นคือการยึดติดกับความผิดพลาด ทัณฑ์ทรมานตนเองให้เจ็บปวดรวดร้าว เพราะคือสัมผัสเดียวที่ยังพอรู้สึกได้ถึงความเป็นมนุษย์

ผมมองความตายของ Aparna เป็นกรรมสนองของ Apu จากเคยทอดทิ้งแม่ให้ตรอมใจตาย (คือถ้าฉบับนวนิยาย Aparajito การเสียชีวิตของแม่จะอยู่หนึ่งในสามแรก, Aparna จากไปสองในสามของเรื่องราว) ย้อนแย้งความเจ็บปวดรวดร้าว(ของแม่) เข้าสู่ตนเองอย่างสาสมควร

กาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน ความทรงจำอันเลวร้ายเริ่มเลือนลาง การได้รับคำเตือนสติจากเพื่อนผู้หวังดี เป็นประกายความหวังเล็กๆให้ Apu ปลุกตื่นขึ้นจากฝันร้าย แม้นั่นไม่ใช่ความต้องการของเขาอีกเช่นกันที่จะรับเลี้ยงดูแลบุตรชาย แต่’จิตสำนึก’อันดีพยายามชี้ชักนำ นายจำเป็นต้อง’รับผิดชอบ’ต่ออดีตของตนเเอง

ผู้กำกับ Satyajit Ray จะว่าไปหวนกลับมาสร้างภาคจบ Apur Sansar ก็เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อนวนิยายของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay ปิดฉากภาพยนตร์สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้ตนเอง (ตอบสนองแฟนๆอีกส่วนหนึ่ง) ด้วยเรื่องราวสะท้อน ‘จิตสำนึก’ และต้องการบอกว่าไม่มีอะไรสายเกินที่จะเผชิญหน้ากับอดีต


หนังได้เสียงตอบรับดีเยี่ยมจากผู้ชมทั่วโลก ตระเวรออกฉายตามเทศกาลหนังก็กวาดรางวัลมากมาย หนึ่งในนั้นคือ London Film Festival เพิ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง สามารถคว้ารางวัลใหญ่ Sutherland Trophy (ผู้ชนะปีแรกคือ Tokyo Story)

สิ่งที่ Apur Sansar จี้แทงใจดำของผมอย่างยิ่ง มีสามเหตุการณ์ใหญ่ๆซึ่งตรงกับชีวิตจริง แต่ในเชิงรูปธรรม-นามธรรม
– การแต่งงานที่ไม่มีใครคาดคิดถึง (รูปธรรม)
– การสูญเสีย/จากไปของภรรยา (รูปธรรมและนามธรรม)
– และการหวนกลับมารับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง (นามธรรม)

ความบังเอิญที่เรื่องราวในภาพยนตร์ตรงกับชีวิตจริง หลายๆคนคงเคยประสบพบอยู่บ่อยครั้ง แต่เชื่อว่าคงไม่มากถึงขนาดหนังเกือบทั้งเรื่องอย่างแน่แท้! ครั้งแรกขณะผมรับชม Apur Sansar ไม่เพียงอ้าปากค้างแต่ยังน้ำตาคลอ บางสิ่งอย่างมันพรูพรั่งออกมา บดขยี้หัวจิตหัวใจอย่างรุนแรงจนแทบหายใจไม่ออก ต้องหยุดดูเป็นพักๆเพื่อสงบสติอารมณ์ … เอาจริงๆมันไม่ใช่สิ่งที่น่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่หรอก แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งสามารถยินยอมรับ เปิดใจ กล้าเผชิญหน้าตนเอง ไม่อับอายความผิดพลาดหลายๆอย่างเคยกระทำไว้ ภายในจักเกิดความสงบ ปัญญาเริ่มบังเกิด ทำให้เรียนรู้อะไรมากมายจากภาพยนตร์เรื่องนี้

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อิสรภาพเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความรับผิดชอบ ถ้าเราต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องสูญเสียอีกอย่างหนึ่ง แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จิตใจโล้โลเล ผันแปรเปลี่ยนไปมา
– คนที่มีความรับผิดชอบมากมาย เลือกทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อโหยหาอิสรภาพ
– คนที่มีอิสรภาพเสรี แล้วหวนกลับมาทำหน้าที่ รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

ให้ลองครุ่นคิดกันเอาเองนะครับว่า บุคคลประเภทไหนสมควรยกย่อง น่านับถือ หรือถ้าตัวคุณเองเลือกได้อยากเป็นแบบไหน คำตอบไม่มีผิด-ถูก แค่สะท้อนจิตสำนึก และค่านิยมตะวันตก-ตะวันออก ออกมาเท่านั้นเอง

จัดเรต PG กับโศกนาฎกรรมมาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว

คำโปรย | Apur Sansar ของ Satyajit Ray คือภาพยนตร์ที่เป็น ‘จิตสำนึก’ แห่งมวลมนุษยชาติ
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว |


Apur Sansar (1959) : Satyajit Ray

(10/3/2016) ภาคสุดท้ายของ The Apu Trilogy โดยผู้กำกับ Satyajit Ray นี่คือเรื่องที่ผมชอบที่สุดในไตรภาค กับบทสรุปชีวิตของ Apu หลังเรียนจบแล้วเขามีชีวิตอย่างไร อะไรคือเป้าหมายชีวิต และเขาสามารถได้ดำเนินชีวิตตามที่คิดหรือไม่

หลังจากที่ Satyajit Ray กำกับเรื่องราวเกี่ยวกับ Apu ไปแล้ว 2 ภาค เขาเปลี่ยนไปกำกับเรื่องราวอื่นที่สนใจ แต่กยังมีความสนใจที่จะสร้างเรื่องราวของ Apu ต่ออีกเรื่อง โดยใช้เนื้อเรื่องจากครึ่งหลังของนิยาย Aparajito เขียนโดย Bibhutibhushan Bandopadhyay นิยายภาษา Bengali ที่เขียนตั้งแต่ปี 1932

Satyajit เลือกนักแสดงหน้าใหม่ในหนังอีกครั้ง สำหรับบท Apu เขาได้เจอกับ Soumitra Chatterjee มาตั้งแต่ตอนทำ Aparajito ตอนนั้น Soumitra ทำงานเป็นผู้ประกาศใน All India Radio และ Satyajit ตั้งใจให้ Soumitra มาเล่นเป็น Apu ตอนโต แต่ตอนนั้น Soumitra อายุ 20 กว่าๆแล้ว ถือว่าเกินอายุ Apu เสียหน่อย จึงเลือกนักแสดงอีกคนตอนทำ Aparajito หลังจากนั้น 2 ปี เมื่อเขาได้ตัดสินใจทำต่ออีกภาค Satyajit ก็เลือก Soumitra มารับบท Apu แทบจะทันที กว่าที่ Soumitra จะรู้ตัวว่าถูกเลือกมาให้แสดงหนัง ก็เมื่อเขามาเยี่ยมกองถ่ายเรื่อง Jalsaghar ซึ่งถือว่าเขาเซอร์ไพรส์มาก ไม่คิดว่าตัวเองจะเหมาะสมกับบทด้วย แต่ Satyajit บอกเขานี่แหละเหมาะสมที่สุด นี่คือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างยาวนานของทั้งสอง ที่กลายเป็นผู้กำกับและนักแสดงคู่บุญในตำนานแห่ง bollywood เหมือนกับ Toshiro Mifune กับ Akira Kurosawa, Max von Sydow กับ Ingmar Bergman, Robert De Niro & Leonardo DiCaprio กับ Martin Scorsese

สำหรับนักแสดงหญิง Satyajit ไปเห็นการแสดงของ Sharmila Tagore ใน Children’s Little Theatre ที่เมือง Kolkata เป็นที่เข้าตา เรียกเธอมาทดสอบหน้ากล้อง และได้รับคัดเลือกให้แสดงนำ หลังจาก Apur Sansar เห็นว่า Sharmila เป็นผู้หญิงคนแรกที่ใส่ bikini ในหนังเรื่อง An Evening in Paris (1967) นั่นทำให้เธอกลายเป็น Sex Symbol แห่งยุคนั้น และทำให้กระแสแฟชั่น bikini ในอินเดียเป็นที่แพร่หลาย คงด้วยเหตุนี้ทำให้เธอเป็นนักแสดงค่าตัวสูงที่สุดในช่วง 1970-1976 ประกบกับนักแสดงดังๆ อาทิ Sanjeev Kumar (Mausam-1975), Amitabh Bachchan (Faraar-1975), Naseeruddin Shah (Mangaldeep, 1991) เมื่อปี 2009 เธอได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินของเทศกาลหนังเมือง Cannes ด้วย (ปีนั้น The White Ribbon ได้ Palme d’Or)

สองนักแสดงนำของ Apur Sansar ณ ตอนนั้นถือว่าเป็นนักแสดงหน้าใหม่ในวงการ ไม่เคยมีผลงานการแสดงมาก่อน แต่ทั้งคู่ก็กลายเป็นนักแสดงคนสำคัญในวงการภาพยนตร์ bollywood Soumitra Chatterjee ได้ National Film Award Best Actor 1 ครั้ง ได้ Special Jury Award 2 ครั้ง ส่วน Sharmila Tagore ได้ National Film Award Best Actress และ Best Support Actress อย่างละครั้ง ปัจจุบัน (2016) ทั้งคู่ยังมีชีวิตอยู่นะครับ และยังรับงานแสดงอยู่ด้วย (ขณะที่ Satyajit Ray เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1992)

ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra ตัดต่อโดย Dulal Dutta เพลงประกอบโดย Ravi Shankar ทีมงานชุดเดิม บรรยากาศเดิมๆแต่คงอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ ผมสังเกตหนังเล่นกับแสงและควันมากขึ้น เพลงประกอบมีเสียงเครื่องดนตรีอื่นนอกจาก Sitra ด้วย แต่ยังคงบรรยากาศกลิ่นไอเดิมๆจากภาค 1 และ ภาค 2 ไว้ไม่เปลี่ยน หลายฉากในหนังไม่มีคำพูด แต่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่เด่นมากๆ เช่น ฉากที่ Apu ท้อแท้หมดอาลัยชีวิต ดวงตาที่ล่องอย เขาวิ่งไป ภาพเคลื่อนไหวเร็วขึ้น ตัดต่อเร็วมาก เพลงประกอบเร้าอารมณ์ รถไฟกำลังวิ่งมา แต่ได้ยินเสียงหมูร้อง ตัวละครหยุด ฉุกคิดได้ทันที ฉากนี้แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ในการเล่นกับเทคนิคมากขึ้นของ Satyajit Ray ที่ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องธรรมดา แต่ใส่เทคนิคที่ทำให้คนดูสามารถรับรู้อารมณ์ของตัวละครเข้าไปด้วย

เราจะได้เห็น Apu แสดงโดย Soumitra Chatterjee ขับร้องบทกวีเพราะๆหลายบทเลย ผมไม่แน่ใจว่าเขาแต่งเองหรือเปล่า หรืออ้างอิงมาจากในนิยาย ในประวัติตัวจริงเขาเป็น Recitator, Poet นักขับกวีและแต่งกลอนด้วยนะครับ ถือว่าไม่ธรรมดาเลย

เรื่องราวที่สะสมมาตั้งแต่ภาค 1 และ 2 เป็นรากฐานให้เราเข้าใจตัวละคร Apu อย่างมาก เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า การที่เราติดตามชีวิต Apu มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เราเข้าใจพื้นฐานตัวละคร เข้าใจวิธีคิด รู้ว่าเขาอยากมีชีวิตอย่างไร ช่วงแรกของหนังมันชัดเจนมากว่า Apu อยากมีชีวิตเหมือนพ่อ เขามีพ่อเป็นต้นแบบ ชอบขับกวี ชอบเขียนหนังสือ มีชีวิตที่อิสระ เขาไม่จีบหญิงเพราะไม่ชอบแม่ เพศหญิงทำให้เขาขาดความอิสระในการมีชีวิต ไม่ชอบความจู้จี้จุกจิก แต่กระนั้นหนังก็นำพาเขาไปในสถานการณ์ที่ทำให้เขาสูญเสียอิสระภาพไป จริงๆเขาสามารถเลือกที่จะไม่แต่งงานก็ได้ แต่ที่เลือกเพราะเขามีความไม่แน่ใจในตัวเอง ใจหนึ่งเขาอยากอยู่เป็นอิสระ อีกใจหนึ่งเขายังต้องการที่พึ่งบางอย่าง ฉากในห้องนอนคืนวันแต่งงานเป็นฉากที่ผมชอบมากๆ ชายหญิงที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่หลังจากนี้ต้องใช้ชีวิตด้วยกัน Apu พูดเปิดอกถึงความไม่แน่ใจของตัวเอง ไม่รู้ว่าจะทำให้เธอมีความสุขได้หรือเปล่า กระนั้นเธอก็มิได้มีท่าทีขัดขืน แต่มองชีวิตเหมือนการผจญภัย เปิดรับทุกสิ่งทุกอย่าง ใครจะไปคิดว่าหลังจากฉากนี้ เราจะเห็นว่านี่เป็นคู่รักที่น่ารักที่สุดคู่หนึ่งในโลกภาพยนตร์ นั่นเป็นเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิต Apu จนทำให้เราลืมไปว่า The Apu Trilogy เป็นหนัง Tragedy ฉากที่ Apu รู้ข่าวว่าเธอเสียชีวิตตอนคลอดลูก มันเป็นช่วงเวลาที่ช็อคมากๆ (อารมณ์ช็อคเท่ากับตอน Stark ถูกฆ่าใน Game of Throne seasons แรก) หนังไม่มีฉากที่ทำให้เราน้ำตาท่วมจอ แต่ข้างใจจิตใจมันเจ็บปวดรวดร้าว อยากร้องออกมาดังๆแต่ทำไม่ได้ ชีวิต Apu ช่วงที่เหลือ เขาต้องการหนีไปให้ไกลที่สุด ในที่ที่เขาไม่ต้องเจอใคร ไม่มีใครรู้จักเขา มันคือความผิดของเขาที่หลงรักเธอ ถ้าไม่แต่งงาน มีลูก เธอคงไม่ตาย กับคนที่รักภรรยามากขนาดนี้ เขาไม่สามารถให้ความรักกับคนอื่นได้อีกแล้ว แม้แต่ลูกชายของตนเอง … โชคดีที่ Apu มีเพื่อนแท้คนหนึ่ง แค่คำพูดเตือนสติไม่กี่คำ เขาแค่พูดความจริงออกมา … ที่ Apu ยอมไปพบลูก รู้สึกหนังไม่ได้บอกเรานะครับว่าทำไมนะครับ ตามสไตล์ของ Satyajit เลย คือเล่าเรื่องเท่านั้น ให้คนดูไปคิดเองว่าทำไมตัวละครทำแบบนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะเขาทำใจได้กับการสูญเสียภรรยา แต่เพราะ Apu นึกถึงพ่อและแม่ของตน ตอนที่พ่อเสียแม่ไม่เคยทิ้งเขา ถ้าเกิดเหตุการณ์กลับกันแม่เสียพ่อก็คงไม่ทิ้งเขาเช่นกัน Apu เลยให้โอกาสตัวเองได้พบลูก ซึ่งเมื่อกำลังจะเจอ เขาก็ไม่แน่ใจอีกว่าลูกจะยอมรับเขาได้หรือเปล่า ตอนจบไปดูเอาเองนะครับ มันสวยงามมากๆ การเจอกันระหว่างพ่อลูก มันจะทำให้คุณน้ำตาคลอเบ้า รู้สึกอิ่มเอิบ นี่แหละคือชีวิต ถ้ายังไม่ตายก็สู้ต่อไป

รถไฟ ถือเป็นสัญลักษณ์ของ The Apu Trilogy เลยก็ได้ เห็นมันทุกภาค ภาคแรกเห็นแค่ครั้งเดียว มีความหมายแสดงถึงความหวัง การเริ่มต้นใหม่ ภาคสอง ผมไม่ได้วิเคราะห์ความหมายตอนเขียนรีวิว สรุปสั้นๆ เสียงหวูดรถไฟเป็นสัญลักษณ์ของการกลับมาและลาจาก เราจะเห็นว่า แทบทุกครั้งในภาคนี้ที่ได้ยินเสียงหวูดรถไฟ จะเป็นแม่กำลังรอ Apu กลับบ้าน หรือ Apu กำลังจากไป ส่วนภาค 3 จะหมายถึงทั้งการเดินทาง ควันจากปล่องแสดงถึงความหมองมัว และเสียงหวูดที่แสดงความเจ็บปวดของหัวใจ รถไฟมีความหมายเชิญสัญลักษณ์ที่หมายถึงการมีชีวิต เปรียบการเดินทางที่มีต้นทางปลายทาง ต้นทางคือการเกิด ปลายทางคือการตาย ณ จุดที่มีการตายจะมีการเกิดใหม่เสมอ

ที่ผมชอบ Apur Sansar มากๆจนกลายเป็นหนังเรื่องโปรด บอกตามตรงว่าก็แปลกใจตัวเองไม่น้อย เพราะผมไม่ได้ถึงกับชอบ ภาค 1 กับ 2 เท่าไหร่ แต่มันดูไล่มาเพราะมันคือความต่อเนื่อง สิ่งแรกที่ผมชอบคือความต่อเนื่องของตัวละคร เราเห็นพัฒนาการของ Apu ตั้งแต่เกิด โต ย่าตาย พี่ตาย พ่อตาย แม่ตาย ไม่มีใครเหลือแล้วในชีวิต กระนั้นชีวิตยังต้องดำเนินต่อ ความใคร่รู้ ใครสงสัยนี้ยังไม่พอให้นี่กลายเป็นหนังเรื่องโปรดได้ แต่เมื่อถึงฉากที่ Apu ได้แต่งงานแบบไม่ทันรู้ตัว และเรื่องราวในห้องหอคืนวันแต่งงาน นั้นเป็นฉากที่ทำเอาผมทึ่งสุดๆไปเลย ความไม่แน่ใจของ Apu ที่เล่าให้ภรรยาฟังแบบเปิดอกในคืนวันแต่ง นี่เป็นขณะที่ทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันจะมีคนที่เขาไม่เคยรู้จักเรา แต่กลับรักเราและยอมใช้ชีวิตอยู่กับเราไปจนวันตายด้วยเหรอ … ผมเคยเห็นแนวจับพลัดจับผลูแต่งงานคล้ายๆกันนี้ในหนัง bollywood มาก็เยอะ แต่ไม่มีเรื่องไหนที่ทำให้ผมประทับใจได้ขนาดนี้มาก่อน หนังไม่มีฉากกอดจูบกันของสองหนุ่มสาวแม้แต่ฉากเดียว แต่แววตา การแสดง มันสัมผัสได้ Apu ที่ค่อยๆหลงรักภรรยามากขึ้นเรื่อยๆ คนดูก็จะรู้สึกไปกับเขา และวินาทีที่พอรู้ว่าเธอตาย มันเหมือนจากสวรรค์ตรงดิ่งสู่นรก! คนเขียนบทแม้งทำกับ Apu แบบนี้ได้ยังไงว่ะ! .. ไม่ใช่แค่ตัวละครที่ช็อค แต่คนดูจะตะลึงเลย หัวใจผมเต้นไม่หยุด ทำไม ทำไม หนังยังดำเนินต่อไปเรื่อย จนถึงฉากตอนจบ ผมถึงตอบคำถาม ทำไม นี้ได้ และอาการหลังจากนั้น … เห้ย! จบแล้วจริงๆเหรอ ไม่มีภาคต่อแล้วได้ยังไง ตอนดูภาค 1 กับ 2 ผมไม่ได้มีความกระตือรือร้นที่จะดูภาคต่อไปทันที พักวันหนึ่งค่อยดูภาคตัดไป แต่ตอนดูจบภาค 3 อยากดูภาค 4 ต่อทันที แต่มันไม่มี T_T เศร้าสลด!

ผมแนะนำหนังทั้ง 3 เรื่องนี้กับทุกคนนะครับ และดูต่อเนื่องไป ภาค 3 คือการปิดฉากเรื่องราวของ Apu ที่สวยงามมากๆ ผมถือว่าหนังเรื่องนี้มีสีสันมากกว่า 2 ภาคก่อน เพราะเป็นเรื่องราวของความรัก การสูญเสีย และจบด้วยความเข้าใจในชีวิต ปิดฉากไตรภาคได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

คำโปรย : “Apur Sansar ปิดไตรภาค The Apu Trilogy ของ Satyajit Ray ได้อย่างสวยงามที่สุดในโลก”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบ : FAVORI

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: