The Wind

The Wind (1928) hollywood : Victor Sjöström ♥♥♥♥♡

หนังเงียบในกระแสหลักเรื่องสุดท้ายของสตูดิโอ MGM นำแสดงโดยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของวงการภาพยนตร์ Lillian Gish และปรมาจารย์ผู้กำกับ Victor Sjöström, ทุกอย่างในภาพยนตร์ Masterpiece เรื่องนี้รวมทั้งผู้ชม จะถูกกระแสลมพายุพัดปลิวกระเด็นกระดอน จิตใจไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้

ปกติแล้วหนังที่มักทำให้ผมอ้าปากค้าง ไม่งานภาพสวยโคตรๆ ก็ Visual Effect อลังการตระการตา แต่กับ The Wind หนังเงียบไร้เสียงเรื่องนี้ ได้ทำให้ผมอึ้งอ้าปากค้างกับ Special Effect ที่ในสมัยนั้น-มันทำได้ยังไงกัน-มองไปทางไหนรอบข้างทุกทิศทางก็เจอแต่สายลม แต่ฝุ่น แต่ทราย พัดปลิวว่อนไปทั่ว มันทำให้ทั้งกายใจรู้สึกเหมือนจะปลิวพร้อมกันไปด้วยกับทุกสิ่งอย่างในหนัง

มันอาจจะมีจริงนะครับ สถานที่เว่อๆแบบในหนังที่ลมพัดแรงตลอดเวลา แต่คงไม่มีใครโง่บรมไปอาศัยอยู่แบบตัวละครในหนังเป็นแน่, สถานที่ใช้ถ่ายทำเห็นว่าคือ Mojave Desert ทะเลทรายที่แห้งแล้งสุดของอเมริกา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐ California, Nevada, Utah, Arizona กินพื้นที่ 124,000 ตารางกิโลเมตร

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Wind เขียนโดย Dorothy Scarborough ตีพิมพ์เมื่อปี 1925 เป็นแนว Supernatural เรื่องเหนือธรรมชาติ นำเสนอความโดดเดี่ยวอ้างว้างของผู้คนที่อาศัยอยู่ใน Texas ในช่วงยุค 1880s เปรียบเทียบการต่อสู้ระหว่าง มนุษย์ vs ธรรมชาติ ที่ตอนจบจะมีนัยยะบอกว่า สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็ไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติไปได้

ตัวตั้งตัวตีของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Lillian Gish นำแนวคิดดัดแปลงนิยายมาเสนอกับ Irving Thalberg ที่ตอนนั้นยังเป็นเด็กฝึกงานใน MGM เสนอต่อผู้บริหารสตูดิโอไม่นานก็ได้รับการอนุมัติ (Thalberg คนนี้คือว่าที่ผู้บริหารสตูดิโอ MGM ในเวลาต่อมา) เธอยังเป็นคนเลือกผู้กำกับ Victor Sjöström และนักแสดงนำ Lars Hanson ที่เคยร่วมงานกันมาจาก The Scarlet Letter (1926) อีกด้วย

Victor David Sjöström (1979 – 1960) ผู้กำกับ, นักเขียนบท และนักแสดงสัญชาติ Swedish ในอเมริกาบางครั้งจะเรียก Victor Seastrom เป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ของประเทศ Sweden ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ และเป็นหนึ่งในผู้กำกับยุค Golden Age of Silent Era, ผลงานที่ได้รับการยกย่องพูดถึง ประกอบด้วย The Phantom Carriage (1921), He Who Gets Slapped (1924), The Wind (1928) ฯ และผลงานที่หลายคนอาจรู้จัก คือเป็นนักแสดงในภาพยนตร์ของ Ingmar Bergman เรื่อง Wild Strawberries (1957)

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่เชิงเป็น Sjöström ที่เข้าหาโปรเจค แต่ได้รับคำชักชวนจาก Lillian Gish ที่รู้สึกว่าชายผู้นี้เหมาะสมที่สุดแล้ว ซึ่งเขาก็ได้นำเอาประสบการณ์ สไตล์ และความต้องการของตนเอง ประยุกต์ดัดแปลงใส่ลงไปในหนัง ตอนออกฉายได้รับเสียงชื่นชมล้นหลามตราตะลึง จนมีหลายคนยกย่องว่าคือ Masterpiece เรื่องสุดท้ายของยุคหนังเงียบ

Lillian Gish รับบท Letty Mason หญิงสาวร่างเล็กบอบบาง เดินทางโดยรถไฟมาที่ Texas ตามคำชักชวนของพี่ชาย(ไม่แท้) แต่เมื่อได้พบกับสภาพอากาศที่โหดร้าย และจิตใจของภรรยาพี่ชายที่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา ทำให้เธอต้องเหาะระเหินตามแต่สายลมจะพัดพา

ผมรับชมหนังของ Gish สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของวงการภาพยนตร์ (First Lady of American Cinema) มาก็หลายเรื่องนะ อาทิ The Birth of Nation (1915), Duel in the Sun (1946), The Night of the Hunter (1955) ฯ ต้องบอกว่าการแสดงของเธอใน The Wind นี้ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว มีความเป็นธรรมชาติสมจริงมากๆ (แม้ตัวหนังจะเต็มไปด้วยความไม่สมจริง เรื่องเหนือธรรมชาติก็เถอะ) เรือนร่างอันเล็กน่ารัก ดูแล้วไม่น่าจะต้านทานสายลมได้เลย, สายตาความหวาดกลัวของเธอ ทำให้ผู้ชมรู้สึกอกสั่นขวัญหาย สะท้านขนลุกชูชันไปพร้อมกับเธอด้วย นี่คืออารมณ์ปลิวที่ผมว่ามานะครับ เริ่มจากจิตใจมันล่องลอยเบาหวิวทำให้ร่างกายรู้สึกไร้น้ำหนัก เมื่อพบเห็นภาพลมพัดแรงๆก็พร้อมจะปลิวไปได้ทุกเมื่อ

ใครที่ทำงานสายจิตแพทย์หรือนักแสดง ลองศึกษาพฤติกรรม จิตใจ จิตวิทยา/ท่วงท่า การแสดงออกของตัวละครนี้ดูนะครับ มีลักษณะเป็น Expressionist ชัดเจนมาก ต้องถือว่า Gish สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้มีความหวาดหวั่นวิตกกลัว ออกมาจนกลายเป็นภาษาการแสดงสากลเลยก็ว่าได้

Lars Hanson นักแสดงสุดหล่อสัญชาติ Swedish เป็นทั้งนักแสดงละครเวที มีผลงานภาพยนตร์เฉพาะยุคหนังเงียบ ที่พอจะมีชื่อเสียง อาทิ The Scarlet Letter (1926), The Divine Woman (1928), The Wind (1928) ฯ

รับบท Lige Hightower หนุ่มบ้านนอกคอกนาที่จับพลัดจับพลูได้แต่งงานกับ Mason แต่ใช่ว่าโชคชะตาวาสนาจะเข้าข้างทำให้ได้สมหวัง เพราะในจิตใจของหญิงสาวเต็มไปด้วยบาดแผลที่เกิดจากสายลม นั่นทำให้สุภาพบุรุษเช่นเขาหาญกล้าที่จะทำทุกสิ่งอย่าง เพื่อส่งเธอคืนกลับไปสู่โลกใบเดิม

Montagu Love นักแสดงสัญชาติอังกฤษมากฝีมือ ข้ามน้ำข้ามเรือสู่อเมริกาปี 1913 พอจะเริ่มมีชื่อเสียงจาก Don Juan (1926) ที่ทำให้ได้รับบทตัวร้ายของหนังเรื่องนี้ ผลงานภาพยนตร์อื่นๆ ส่วนมากเป็นตัวประกอบ อาทิ The Life of Emile Zola (1937), A Damsel in Distress (1937), The Adventures of Robin Hood (1938) ฯ

รับบท Wirt Roddy ชายเจ้าเล่ห์ผู้สนใจจะแอ้มสาวอย่างเดียว พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อลวงล่อหลอก โน้มน้าว Mason ให้หลงในกลของตนเอง แต่เธอไม่เคยยินยอม จนในที่สุดใช้กำลังเข้าแลก นั่นทำให้หญิงสาวตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

ถ่ายภาพโดย John Arnold ที่มีผลงานอย่าง The Big Parade (1925), Show People (1928), The Broadway Melody (1929) ฯ แม้งานภาพส่วนใหญ่จะแค่ตั้งกล้องไว้เฉยๆ แต่มีการเลือกตำแหน่ง มุมกล้องได้อย่างน่าสนเท่ห์มากๆ และแทบทุกช็อตมันต้องมีอะไรสักอย่างที่พัดเคลื่อนไหวให้เกิดความรู้สึกดั่งชื่อหนัง ‘สายลม’

ลมพวกนี้สร้างขึ้นได้อย่างไง? คำตอบคือ ใช้ใบพัดขนาดใหญ่ของเครื่องบิน เห็นว่าจำนวน 8 ลำเดินเครื่องพร้อมกัน เยอะขนาดนี้ไม่มีอะไรหยุดกระแสลมพัดได้แน่นอน (นึกถึงหนังของ Buster Keaton เรื่อง Steamboat Bill Jr ที่ก็ใช้เทคนิคเดียวกับสำหรับฉากลมพายุพัด)

การซ้อนภาพ มีหลายช็อตที่น่าสนเท่ห์ทีเดียว โดยเฉพาะพายุหมุนงวงช้าง ผมก็ไม่รู้หนังทำยังไงนะเห็นเป็นแค่เงาดำๆ อาจนำมาจากฟุตเทจที่เป็นพายุหมุนจริงๆ แล้วใส่ filler เพื่อลบรายละเอียดพื้นหลังออก แล้วนำมาซ้อนใส่ภาพฟุตเทจจากหนัง คือมันเห็นแค่รูปลักษณะว่าเป็นพายุก็เท่านั้น

ตัดต่อโดย Conrad A. Nervig เขาคือชายคนแรกที่ได้รางวัล Oscar สาขาตัดต่อจากหนังเรื่อง Eskimo (1934) [สาขานี้เพิ่งมีครั้งแรกตอนปี 1934] ด้วยความยาวเพียง 75 นาที หนังถือว่าค่อนข้างสั้น แต่ใจความครบถ้วนและไม่มีช่วงน่าเบื่อเลย ใช้มุมมองของหญิงสาว Mason ทั้งหมด เปรียบเธอได้ดั่งสายลมที่พัดพาไปพบเจอโน่นนี่นั่นมากมาย เรียนรู้ ค้นหาและเข้าใจชีวิต

ตอนจบของหนังเห็นว่าไม่เหมือนกับต้นฉบับนิยาย ในหนังเรียกได้ว่า’happy end’ ส่วนนิยายเป็น ‘sad ending’

ในนิยายเมื่อหญิงสาวมองออกไปนอกบ้าน เห็น(ภาพหลอน)ร่างของชายคนที่เธอกลบฝัง ถูกกระแสลมพัดดินที่กลบอยู่ออก ประมาณว่าตายแล้วยังมาหลอกหลอนติดตา วินาทีนั้นเธอได้กลายเป็นบ้า ออกเดินหายลับไปท่ามกลางพายุทราย เป็นตายร้ายดีไม่มีรู้

เหตุผลที่ตัดออกเพราะผู้บริหาร MGM ต้องการให้จบแบบ happy ending ไม่เช่นนั้นหนังจะหดหู่เกินไปเสียหน่อย, ถ้าลองคิดตามจบแบบต้นฉบับนิยาย ผมว่าน่าจะทำให้หนังทรงพลังยิ่งๆขึ้นไปอีก เพราะประเด็น มนุษย์ vs ธรรมชาติ จบแบบนั้นจะมีนัยยะว่า มนุษย์ไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติได้อย่างแน่นอน, แต่จบแบบในฉบับหนัง แปลได้ว่า ถึงมนุษย์จะสู้กับธรรมชาติไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถมีชีวิตร่วม ยอมรับ เข้าใจในสิ่งที่มีอยู่เป็นไปได้

ใจความของหนังเรื่องนี้ที่ใครๆคงคิดกัน คือการต่อสู้ระหว่าง มนุษย์ vs ธรรมชาติ แต่สายลมที่มีมากเว่อในหนังจนเหมือนตัวละครหนึ่ง สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้นะครับ, ธรรมชาติคือสภาพแวดล้อม นี่ไม่จำเป็นต้องทะเลทราย ป่าไม้ มหาสมุทร ฯ แต่คือสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่ อาทิ ครอบครัว หมู่บ้าน ชนบท เมืองใหญ่ ประเทศ โลก เหล่านี้ก็ล้วนตีความได้คือสภาพแวดล้อมเช่นกัน

สายลมที่พัดต่อเนื่อง เปรียบได้กับ ความยากลำบากของการใช้ชีวิต ที่ต้องต่อสู้กับเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆที่ถาโถมเข้ามา, อุปสรรคที่คอยขัดขวางไม่ให้มนุษย์ทำการบางอย่างได้สำเร็จ ฯ

แต่ความหมายที่ผมชอบที่สุดคือ ‘เวลา’ ที่เคลื่อนไหวโดยไม่รู้จักหยุดนิ่ง มันอาจไม่มีแรงกระแทกอะไรกับร่างกายภายนอกเหมือนสายลม แต่ทุกวินาทีที่เคลื่อนผ่านไป สิ่งที่มันกระทบคือจิตใจ นาฬิกาชีวิตที่ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ (โดยไม่รู้ตัว)

มันไม่ใช่แค่สายลมเท่านั้นที่หญิงสาวได้พบเจอ มนุษย์รอบข้างทั้งหลายต่างก็เปรียบได้กับพายุหมุน ที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ความต้องการอะไรบางอย่าง (ที่ปั่นป่วนอยู่ในใจ) พวกเขาน่ากลัวกว่าพายุงวงช้างจริงๆเสียอีก
– ภรรยาของพี่ชาย ต้องการให้เธอจากไป เพราะคิดว่าจะมาแย่งสามีของตน
– Wirt Roddy ชายผู้ความคลั่งไคล้หลงใหล ต้องการได้เธอมาครอบ ไม่สนว่าต้องแลกกับอะไร
ฯลฯ

และสิ่งที่สายลมส่งผลกระทบมากสุดไม่ใช่ใครอื่น คือจิตใจของหญิงสาวเอง มันทำให้เธอปั่นป่วนวุ่นวาย ยากที่จะหาความสงบในจิตใจ, มันชัดว่าเธอรังเกียจสายลมพวกนี้ หลายครั้งมองออกไปนอกหน้าต่าง พายุ ฝุ่นลมที่โหมกระหน่ำ กระแทกกระทั้นกระจกอย่างรุนแรง ไม่รู้เหมือนกันสถานที่แห่งนี้จะมีความสามารถทนทานได้อีกนานแค่ไหน

ถ้าเปรียบบ้านเสมือนจิตใจของมนุษย์ กระแสลมพายุที่โหมกระหน่ำ ก็เปรียบเสมือนเรื่องราวที่เข้ามากระทบกระแทกกระทั้นจิตใจอยู่ทุกวี่ทุกวัน ใช่ว่าบ้านของทุกคนจะแข็งแกร่งทนทาน พัดร้อยวันพันปีไม่มีวันถล่มทลาย, สังเกตบ้านของหญิงสาว (ที่อยู่กับ Lige Hightower) ช่วงที่ Wirt Roddy บุกเข้ามา บ้านแทบจะพังเป็นเสี่ยงๆ ประตูปิดไม่ได้ต้องเอาพลั่วรั้งไว้ นี่แสดงถึงจิตใจของหญิงสาวได้ถูกบังคับให้เปิดออก แล้วไม่สามารถปิดกลับคืนได้ ต้องยอมให้ลมพายุ/ความเจ็บปวดพัดเข้ามาภายใน/จิตใจ

รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง Woman in the Dunes (1964) ภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นที่ได้สร้างโลกในบ่อทะเลทราย เพื่อค้นหาแนวคิด ปรัชญา เป้าหมายชีวิต ในสภาพแวดล้อมที่แสนจะทุกข์ยากทรมาน ทำไมเราต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมลักษณะนี้? เลือกไม่ได้? เพื่ออะไร? ซึ่งเมื่อเราเปรียบเทียบโลกสมมตินี้กับชีวิตจริงแล้ว จะพบว่าใช่ครับ มันเลือกไม่ได้ คือการตีความ/สร้างมุมมองของสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตจริงกับสภาพแวดล้อมที่จำกัด (โลกปิด) แล้วท้าทายให้ผู้ชมหาคำตอบว่าจะมี ทัศนคติ/ความคิด เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิมแค่ไหน

คำตอบของผมจากหนังเรื่องนี้คือ ไม่ขอตกอยู่ในสถานการณ์นี้ตั้งแต่แรก, ผมเคยเป็นพนักงานบริษัท ทำงานกินเงินเดือนในกรุงเทพฯ ชีวิตเต็มไปด้วยการแข่งขัน เดินทางรถติด เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด จนถึงวันๆหนึ่งก็ตัดสินใจพอแล้วออกมาดีกว่าอยู่ต่างจังหวัด เลิกทำงานที่ต้องแข่งขันรุนแรง ก็พบว่าชีวิตสบายขึ้นมากทั้งกายและใจ ไม่ต้องวุ่นวายอะไรมากให้ปวดหัว อยากทำอะไรก็ทำ นั่งเขียนบทความวิจารณ์ไปวันๆ งานการไม่ทำก็ไม่ใครดุด่าว่า … นี่ก็ไม่ต่างอะไรกับหนังเลยนะครับ ซึ่งคำตอบที่ผมบอกไป จะทนไปทำเบือกอะไรกับเมืองที่มีแต่ความทรมานแบบในหนัง มันมีสถานที่อื่นมากมาย อาศัยอยู่สุขสบาย … แต่ผมเข้าใจว่าชีวิตบางคนเลือกไม่ได้ ก็คงให้ได้แต่กำลังใจ สู้ต่อไป และหวังว่าสักวันคุณจะเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามพูดถึง

คงเพราะกระแสความสำเร็จของ The Jazz Singer (1927) ทำให้ MGM มีความลังเลที่จะฉายหนังเรื่องนี้ (คงคิดว่าจะใส่เสียงเพิ่มเข้าไปดีไหม) แผนแรกคือฉายตอน Summer ปี 2017 แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจออกฉายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1928 ล่าช้าไปปีกว่า ไม่มีรายงานตัวเลขรายรับ แต่มีบอกว่าหนังขาดทุนประมาณ $87,000 เหรียญ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ามีความลึกซึ้ง ลึกล้ำมากนะครับ แม้เหมือนจะดูไม่มีอะไร แต่สามารถนำไปคิดเปรียบเทียบอะไรได้เยอะแยะมากมาย รวมถึงใช้เป็นโจทย์ค้นหาปรัชญาของชีวิตได้ด้วย แต่อธิบายเล่าแค่นี้น่าจะพอเห็นภาพไปต่อยอดเองได้แล้วละ นี่คือเหตุผลที่ผมหลงใหลจนรักหนังเรื่องนี้, และก็ Lillian Gish สวยจรัสมากๆ (เธอคือนักแสดงหนังเงียบที่ผมชื่นชอบที่สุดด้วย) การแสดงของเธอทำให้จิตใจสั่นไหวระริกรัวประมาณ 10 ริคเตอร์ได้

แนะนำกับคอหนังเงียบทั้งหลาย ที่ชื่นชอบเรื่องราวเหนือธรรมชาติ Special Effect สุดอลังการ อาจทำให้คุณอ้าปากค้างได้, นักคิด นักปรัชญา ชื่นชอบการคิดวิเคราะห์ ค้นหาเป้าหมายชีวิต, จิตแพทย์/นักแสดงทั้งหลาย ลองศึกษาจิตวิทยาการแสดงของ Lillian Gish ดูนะครับ สมจริงมากๆ, และผู้กำกับ Victor Sjöström ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับความเลวร้ายของธรรมชาติ และผู้คน

TAGLINE | “The Wind คือผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Victor Sjöström นำแสดงโดย Lillian Gish ที่ทุกสิ่งอย่างของยุคสมัยหนังเงียบ จะพัดผ่านไปกับภาพยนตร์เรื่องนี้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: