The Tree of Life

The Tree of Life (2011) hollywood : Terrence Malick ♥♥♥♥♡

ความสวยงามของหนังรางวัล Palme d’Or เรื่องนี้ คือการพรรณาถึงชีวิต ความคิด และศรัทธาในพระเจ้า นำเสนอด้วยภาพเศษเสี้ยวความทรงจำที่แฝงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน บางครั้งโหยหาย บางครั้งหวนคิดคำนึงถึง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เริ่มต้น-สิ้นสุด ถือได้ว่า The Tree of Life คือการค้นหาทางจิตวิญญาณของผู้กำกับ Terrence Malick

ผมคิดว่ามี 2 ความจำเป็น (requirement) ที่คุณต้องรับรู้เข้าใจ ถึงสามารถชมหนังเรื่องนี้ได้พอรู้เรื่อง แต่จะเห็นถึงแก่นสาระไหมนั่นอีกประเด็นหนึ่ง
1. ความสามารถในการเข้าใจภาษาภาพยนตร์ระดับสูง อาทิ รู้จักว่าทิศทาง-การเคลื่อน-มุมกล้อง มีนัยยะสำคัญ สื่อความหมายว่าอะไร?, Jump Cut/Non-linear คืออะไร?, ฟังเพลงคลาสสิกเป็น สามารถทำความเข้าใจ รับรู้อารมณ์ของบทเพลงได้, และวิเคราะห์ความหมาย หาความสัมพันธ์ของสิ่งสัญลักษณ์ต่างๆ อาทิ พระอาทิตย์, ภูเขาไฟ, ดอกทานตะวัน, หาดทราย, ตึกสูง ฯ

2. เทคนิควิธี แนวคิดการถ่ายทำภาพยนตร์ของผู้กำกับ Terrence Malick ดังที่ผมจะอธิบายต่อไป

ถือว่าเป็นความฝันของบรรดาเหล่านักแสดงมีชื่อทั้งหลายใน Hollywood สักครั้งหนึ่งในชีวิตล้วนอยากทำงานกับปรมาจารย์ผู้กำกับ Terrence Malick นี่ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าเพราะอะไร คงเพราะแนวทาง direction ที่ขึ้นชื่อลือชาเสียเหลือเกิน ว่าจะทำให้ความคิด ทัศนคติ ความเชื่อของคุณเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง, ราวกับหลุดหลงเข้าไปสู่โลกใบหนึ่ง Unknown ทุกคนมีอิสระเสรี คิดทำอะไรก็ได้ตามใจ ล่องลอยเรื่อยเปื่อย เวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว เสร็จสรรพได้หนังออกมาเรื่องหนึ่ง จดจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าฉันเคยทำอะไรแบบนี้ให้เกิดขึ้นด้วย

Terrence Frederick Malick ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา, เกิดปี 1943 ที่ Ottawa, Illinois พ่อแม่เป็นนักธรณีวิทยา (geologist) สำรวจหาน้ำมัน ปู่ทวดเป็นชาว Lebanese/Assyrian อพยพจาก Urmia (ปัจจุบันคือ Iran) นับถือคริสเตียนเคร่งครัด เข้าเรียนที่ St. Stephen’s Episcopal School ที่ Austin, Texas มีน้องชาย 2 คนคือ Chris กับ Larry
– คนรอง Larry Malick เป็นนักกีตาร์ชื่อดัง (เห็นว่าเคยเล่นคู่กับ Ravi Shankar ออกรายการโทรทัศน์) ตัดสินใจไปเป็นลูกศิษย์เรียนกับ Andrés Segovia ถึงประเทศสเปน แต่เพราะความเครียดหนัก ตัดสินใจหักแขนตนเอง แล้วต่อมาฆ่าตัวตาย ตอนอายุ 25 ปี,
– คนสุดท้อง Chris Malick ปัจจุบันน่าจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ครั้งหนึ่งประสบอุบัติเหตุทางรถ ภรรยาเสียชีวิต ส่วนตนเองบาดเจ็บสาหัสรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด

จะเห็นว่า The Tree of Life คือภาพยนตร์อัตชีวประวัติ (Autobiographical) ของผู้กำกับเลยนะครับ แค่เรื่องราวมีแค่พี่น้องสองคน Jack กับ R.L.

Malick เรียนจบปริญญาตรี สาขาปรัชญา (philosophy) จากวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College), ทำงานและเรียนต่อโทที่ Magdalen College, Oxford แต่เพราะความขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ จึงลาออกกลับอเมริกา มาเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่ Massachusetts Institute of Technology รับงาน Freelance เป็นนักข่าว (journalist) เขียนบทความลงนิตยสารรายสัปดาห์ The New Yorker และ Life

ระหว่างนั้นก็เข้าเรียน Master of Fine Arts (MFA) ที่ AFI Conservatory, Los Angeles (ไม่แน่ใจว่ารุ่นแรกของสถาบันนี้เลยหรือเปล่า) ทำให้มีโอกาสกำกับหนังสั้นเรื่องแรก Lanton Mills (1969) รู้จักว่าที่นักแสดงดังอย่าง Jack Nicholson เพื่อนโปรดิวเซอร์ผู้ร่วมงาน Jack Fisk, Mike Medavoy ฯ เรียนจบเคยเป็น Ghost-Writing ไม่ได้เครดิตจากบทหนัง Dirty Harry (1971), Drive, He Said (1971) ส่วนที่ได้เครดิตอาทิ Pocket Money (1972), The Gravy Train (1974) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ขึ้นมากำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Badlands (1973) นำแสดงโดย Martin Sheen และ Sissy Spacek

ช่วงทศวรรษ 70s วงการภาพยนตร์ Hollywood ได้มีการเปลี่ยนโฉมครั้งใหม่ ด้วยการมาของ American New Wave หรือที่เรียกว่า New Hollywood อาทิ Steven Spielberg, Martin Scorsese, Francis Ford Coppola, Woody Allen, Ridley Scott ฯ ก็ถือว่า Malick เป็นหนึ่งในผู้กำกับคลื่นรุ่นใหม่ที่ได้รับการจับตามองอย่างสูง

สไตล์ความสนใจของ Malick ชื่นชอบการสำรวจตัวตน ธรรมชาติ ความขัดแย้งระหว่างเหตุผลกับสัญชาติญาณ แฝงปรัชญา แนวคิดของจิตวิญญาณ และความเชื่อทางศาสนา/พระเจ้า, ราวกับการทำสมาธิแล้วมีเสียงพูดบรรยายความคิดของแต่ละตัวละคร มีงานภาพที่สวยงามเว่อ การทดลอง post-production เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ รวบรวมสร้างขึ้นเป็นเรื่องราว

วิธีการทำงานของ Malick คงมีการตระเตรียม คิดวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าวันนี้จะถ่ายทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ใช้อะไรประกอบฉากบ้าง อย่างคร่าวๆหยาบๆ จะไม่มีรายละเอียดพวกบทพูดสนทนา อาจแค่การ์ดใบเล็กๆเขียนข้อความแรงบันดาลใจบางอย่างไว้ นักแสดง/ตากล้อง/ทีมงาน มาถึงพร้อมก็เริ่มถ่ายทำกันเลย ไม่มีตะโกนแอ็คชั่นคัท อยากเริ่มก็เริ่มอยากหยุดก็หยุด ทั้งวันตากล้องเดินไปรอบๆ ถ่ายนักแสดงอยากพูดทำอะไรก็เชิญตามสะดวก Malick แค่ด้อมๆยืนป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น พยายามเก็บทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้น มันอาจมีอะไรน่าสนใจ หรือไม่เลยก็ได้ แต่เรื่องนั้นไว้ค่อยว่ากันตอน Post-Production

reference: https://thitikom.wordpress.com/2016/03/18/thomas-lennon-terrance-malick-knight-of-cups/

ไม่คิดมาก่อนว่าจะมีผู้กำกับคนไหนในโลก ถ่ายทำภาพยนตร์โดยวิธีตามมีตามเกิดขนาดนี้ คือปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นเป็นไปธรรมชาติของมัน แค่จัดเตรียมการสภาพแวดล้อม บรรยากาศไว้ให้พร้อม แล้วทุกสิ่งอย่างเคลื่อนไหลผ่าน อารมณ์ ความรู้สึก ล่องลอยเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน

ชีวิตของมนุษย์ก็เช่นกันดั่งนี้ ไร้เป้าหมาย ล่องลอย เรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน เคลื่อนไหลผ่านไปตามกาลเวลาหยุดนิ่งไม่ได้, ผมคิดว่านิยาม ‘ภาพยนตร์’ ของ Terrence Malick คือประมวลภาพความทรงจำ ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นใน’ภาพ’ยนตร์ของเขา คือการสรุปรวมเรื่องราวต่างๆ(ที่มีความน่าสนใจ) ในช่วงเวลา สถานที่ สภาพแวดล้อม บรรยากาศที่ได้กำหนดควบคุมไว้ หรือเรียกว่า ‘ประมวลภาพของชีวิต’

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ ย้อนไปตั้งแต่ช่วงระหว่างที่ Malick หายหน้าจากวงการภาพยนตร์ รอยต่อ 20 ปีจาก Days of Heaven (1978) ถึง The Thin Red Line (1998) ครุ่นคิดโปรเจคหนึ่งในใจตั้งชื่อว่า ‘Q’ ด้วยคอนเซ็ปที่ว่า ‘origins of life’ กับคนที่เคยรับชม The Thin Red Line อาจเคยมีความสงสัย prologue ของหนังที่อะไรก็ไม่รู้ จุดเริ่มต้นของชีวิต (ที่แทบจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังเลย) ก็มาจากความสนใจนี้แต่ขณะนั้นยังไม่สามารถแปรสภาพให้กลายเป็นเรื่องราวจับได้ขึ้นมา

นิตยสาร Total Film ฉบับเดือนมกราคม 2006 ได้ลงบทความหนึ่งชื่อว่า ‘Who the Hell is Terrence Malick?’ เนื้อหาแซว Charles Bludhorn ที่ขณะนั้นเป็นประธานของ Gulf + Western ได้ตัดสินใจมอบเงิน $1 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นทุนตั้งต้นสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ Malick แต่มันคุ้มแล้วหรือกับโปรเจคที่มีรายละเอียดเพียง 30 หน้ากระดาษ เนื้อหาอะไรก็ไม่รู้เขียนเป็นบทกวีพรรณาธรรมชาติและชีวิต ซึ่งผู้กำกับละลายทรัพย์ด้วยการส่งตากล้องไป Great Barrier Reef ถ่ายแมงกะพรุน, ภูเขา Mount Edna ถ่ายลาวากำลังปะทุ, Antarctica ธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย ฯ เขากำลังทำบ้าอะไร?

Terrence Malick นำคอนเซ็ป The Tree of Life ไปพูดคุยกับ Bill Pohlad เจ้าของ River Road Entertainment ที่เคยร่วมงานระหว่างเตรียมงานสร้าง Che (ที่ภายหลังเปลี่ยนมือไปเป็นผู้กำกับ Steven Soderbergh) เคยให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นต่อโปรเจคนี้ว่า ‘Crazy’ แต่กลับมีความสนเท่ห์หลงใหลจึงมอบทุนสร้างเพิ่มให้พอสมควร

ตอนแรกวางแผนให้ Mel Gibson, Colin Farrel และ Heath Ledger เป็นนักแสดงรับบทนำ แต่ก็เกิดเรื่องวุ่นๆขึ้นมากมาย ทำให้นักแสดงถอนตัว เงินทุนไม่พอ ทำให้ต้องหาสตูดิโอแนวร่วมเพิ่ม, พอดีได้พบกับ Brad Pitt ทำให้ Plan B Entertainment เข้าร่วมเป็น partner และเขาตัดสินใจร่วมนำแสดง (คงเพื่อการันตีว่า หน้าหนังจะมีความน่าสนใจมากขึ้น)

Pitt ให้สัมภาษณ์ถึงความลังเลไม่แน่ใจตอนแรก เพราะไม่อยากรับบทพ่อที่มีความเข้มงวดแข็งขืนดุดันเกินไป แต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจ มองถึงอนาคตเมื่อลูกๆของเขาได้เห็นพ่อแสดงหนังเรื่องนี้ คงจะคิดได้และเข้าใจ (ชมตนเอง) ‘ว่าฉันเป็นนักแสดงที่โคตรดีเลย’

“I was a little hesitant about playing the oppressive father, but I felt the story was so important and for me it was really about the kids’ journey, and I think about everything I do now, my kids are going to see when they grow up, and (I think) about how they are going to feel. They know me as a dad and I hope they’ll just think I’m a pretty damn good actor.”

พ่อ Mr. O’Brien เป็นคนที่เคร่งครัด เข้มงวด จริงจัง วางอำนาจสูงสุดในบ้าน คำพูดคือประกาศิต แต่ก็มีมุมอ่อนไหวเหมือนกันคือ ชอบเล่นเปียโน ฟังดนตรีคลาสสิก และคาดหวังให้ลูกๆโตขึ้นเป็นเจ้านายตัวเอง อย่าเป็นเหมือนพ่อที่ต้องก้มหัวยินยอม เป็นลูกน้องคนหนึ่ง (เหมือนว่าเขาก็ถูกเจ้านายเข้มงวด สั่งใช้งานโน่นนี่นั่นมาอีกที), การแสดงของ Pitt ทำปากยื่นๆ คิ้วหยัดแปลกๆ หน้าเข้ม ดูไปไม่ค่อยเหมือนตัวจริงสักเท่าไหร่ แต่ความหนักแน่นเวลาเกรี้ยวกราด ดูจริงจัง ดุดัน เด็กๆเห็นแล้วเกิดความหวาดหวั่นกลัว ต้องการจะต่อต้านขัดขืนแต่ใจไม่กล้าทำได้

ผมมองตัวละครนี้ เปรียบเทียบเป็นตัวแทนของ’พระเจ้า’ (ในบ้าน)เลยนะครับ สถานที่แห่งนี้ตามกฎของเขา ตัวเองทำอะไรไม่เคยผิด แต่ถ้าผู้อยู่ภายใต้ทั้งหลายแหกคอกนอกกฎ ก็จะถูกลงโทษทำร้ายอย่างรุนแรงเด็ดขาด, มันอาจจะดูเว่อไปนิดกับการเปรียบเทียบตัวละครระดับนี้ เพราะมุมมอง ‘พระเจ้า’ ของหลายๆคนคงแตกต่างกัน ดูแล้วคงเหมือน Mr. O’Brien เป็นแน่ แต่ที่ผมกล้าเปรียบเทียบเพราะมันคือในทัศนะของ Terrence Malick ไม่จำเป็นว่าต้องเหมือนใคร และหนังสะท้อนกึกก้องมากกับคำว่า ‘father’ ที่แปลได้ทั้ง ชื่อเรียกของพระเจ้าผู้สร้าง, ชื่อเรียกของบาทหลวง และชื่อเรียกของพ่อผู้ให้กำเนิด

Jessica Michelle Chastain นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดปี 1977 ที่ Sonoma, California เติบโตขึ้นที่ Sacramento มีความสนใจทางการแสดงตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที Shakespeare ก่อนจะมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Jolene (2008) กลายเป็นที่รู้จัก โด่งดังจาก The Tree of Life (2011), The Help (2011), Zero Dark Thirty (2012), Interstellar (2014), The Martian (2015) ฯ

ไม่รู้เหมือนกันว่า Chastain ไปเข้าตาใครที่ไหนถึงได้ถูกชักชวนให้มาแสดงในหนังเรื่องนี้ คงเพราะความที่ยังเป็นหน้าใหม่ในวงการ ทำให้สูญเสียทุ่มเวลาได้มาก และมีเคมีเข้ากับ Pitt พอสมควร (แต่ส่วนใหญ่จะเห็นทะเลาะกันตลอดทั้งเรื่องนะ)

แม่ Mrs. O’Brien เป็นคนที่อบอุ่น นุ่มนวล โอนอ่อนผ่อนตามได้ง่าย มุมเข้มแข็งของเธอคือ กล้าที่จะยืนหยัดทะเลาะโต้เถียงกับพ่อ ถึงความที่เขาเข้มงวดกับลูกๆมากเกินไป จนครอบครัวไม่ค่อยมีช่วงเวลาแห่งความสุขเท่าไหร่, นอกจากรอยยิ้มอันอ่อนหวาน น้ำตาอันทุกข์เศร้าของ Chastain ได้สร้างมิติให้ตัวละครนี้อย่างลึกล้ำ การสูญเสียลูกแท้ๆในไส้ คือความเจ็บปวดของพ่อ-แม่ผู้ให้กำเนิด แทบต้องทรุดลงเมื่อเห็นเลือดเนื้อของตนสูญสิ้นสลาย หายไปกับตา

ในบริบทของหนัง แม่ เปรียบเทียบเป็นตัวแทนของ พระแม่มารีย์ ผู้ให้กำเนิดพระบุตรของพระเจ้า หรือบางครั้งจะเรียกว่า พระมารดาพระเจ้า, ตอนต้นเรื่องเธอได้มีคำพูด สอนการใช้ชีวิตมีด้วยกัน 2 วิธี ด้วยวิถีตามธรรมชาติ และวิถีตามคำสอน

The nuns taught us there are two ways through life.
– The way of nature.
– And the way of grace.

วิถีธรรมชาติ คือการใช้ชีวิตเพื่อตอบสนองสัญชาติญาณความต้องการของตนเอง, ส่วนวิถีตามคำสอน คือการรับเอาแนวคิด ความเชื่อ ศรัทธา ตามหลักศาสนาเป็นหลักปฏิบัติในการใช้ชีวิต (ผมแปลอาจจะไม่ตรงนะครับ แต่อธิบายในความเข้าใจคือ grace=สง่างาม, คุณความดี) นี่ทำให้คำพูดประโยคถัดๆมา คนที่ยึดมั่นปฏิบัติในวิถีตามคำสอน ไม่มีทางกลายเป็นคนเลว ”They taught us that no one who loves the way of grace, ever comes to a bad end.”

Sean Justin Penn นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เจ้าของ 2 รางวัล Oscar: Best Actor จากเรื่อง Mystic River (2003) และ Milk (2008), เกิดปี 1960 ที่ Los Angeles County, California ในครอบครัวที่ทั้งบ้านทำงานวงการบันเทิง พ่อเป็นนักแสดง/ผู้กำกัย แม่เป็นนักแสดง พี่เป็นนักดนตรี น้องเป็นนักแสดง (เสียชีวิตปี 2006) ปู่ทวดเป็นชาว Jews อพยพมาจาก Lithuania แม่เป็น Catholic ที่เคร่งครัด ส่ง Penn ไปเรียน Santa Monica High School ที่ก็เน้นสอนศาสนาเป็นสำคัญ

นี่ไม่รู้บังเอิญหรือกระไร ชีวิตของ Penn คล้ายกับตัวละคร Jack (ตอนโต) ที่เขารับบทพอสมควร นี่กระมังที่ทำให้สามารถถ่ายทอดความรู้สึกซึมเศร้าหมอง หดหู่ เครียดเก็บกดดัน อึดอัดอั้น ได้อย่างลึกล้ำ แทบไม่เห็นรอยยิ้มแย้มเป็นสุข แต่ก็ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นเท่าไหร่

Jack วัยเด็ก เพราะเติบโตในครอบครัวที่เคร่งขัด เข้มงวด ทำให้เขามีความเก็บกดดัน อึดอัดอั้น สุมอยู่เต็มอกไม่ได้รับการระบายออก (ครั้งหนึ่งเลยต้องลงกับการฆ่าสัตว์) นี่ทำให้ตัวเขากลายเป็นเด็กเกเรก้าวร้าว ต้องการทำอะไรบางสิ่งอย่าง … ผมมองว่ามันชัดมากเลยนะ ที่ตัวละครนี้เป็นตัวแทนของมนุษย์/บุตรของพระเจ้า มีความต้องการเอาชนะ ค้นหาทางออก ต้องการเป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่า, แน่นอนตอนเด็กไม่สามารถทำอะไรได้ แต่พอโตขึ้นถึงได้หวนคิดระลึก เริ่มครุ่นคิดต่อสิ่งที่พ่อพูดกระทำมาทั้งหลาย ว่าไปก็มิได้ผิดหมดเสียทีเดียว (ตอนโตก็เลยโทรศัพท์ไปขอโทษทุกสิ่งอย่างกับพ่อ)

ตัวละคร Jack ถือว่าก็คือร่างอวตารของผู้กำกับ Terrence Malick ตัวเขาในปัจจุบันหวนระลึกมองย้อนกลับไป ทวทวนต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ครุ่นคิดสงสัย ตั้งคำถามค้นหาคำตอบ พระเจ้าอยู่ที่ไหน? ฉันคือใคร? และชีวิตเริ่มต้น/จุดจบอย่างไร? หนังทั้งเรื่องสามารถมองได้ว่าคือมุมมองของตัวละคร Jack และ/หรือ มุมมองของผู้กำกับ ต่อการมีชีวิต ‘Life’

ถ่ายภาพโดย Emmanuel Lubezki หรือ Chivo ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ Mexican เจ้าของสามรางวัลติด Oscar: Best Cinematography ประกอบด้วย Gravity (2013), Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) (2014), The Revenant (2015) และเคยมีผลงานก่อนหน้าร่วมกับ Malick จากเรื่อง The New World (2005)

ใครก็ตามที่จะเป็นตากล้องในหนังของ Terrence Malick ต้องแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะทั้งวันต้องแบกกล้องย่อเข่าเดินไปมาไม่มีหยุดพักผ่อน (หนังไม่มีคัทด้วย) แถมนักแสดงยังต้องลีลาเล่นท่ายาก ตามคำร้องขอของผู้กำกับ (เพื่อกลั่นแกล้งผู้กำกับภาพ ให้ทำงานยากที่สุด) จึงจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ลีลาความสามารถ รู้จักทิศทางของแสง (หนังไม่มีจัดแสงนะครับ ใช้แสงธรรมชาติทั้งหมด) อารมณ์การเคลื่อนไหว และเลือกมุมกล้องสวยงามได้ทันทีโดยสันชาติญาณ

ถ้าคุณสังเกตเป็นจะรู้สึกว่าหนังใช้กล้อง/ฟีล์ม หลากหลายมาก มีทั้ง IMAX (จะเป็นพวกฉากธรรมชาติ และ Visual Effect ตระการตา), Arricam, Arriflex, Panavision, Red One ฯ ผมดูไม่ออกนะครับว่าฉากไหนใช้ฟีล์มอะไร แค่พอได้ความรู้สึกว่ามีความแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลาของหนัง

ไม่มีเกิน 1-2 วินาทีต่อช็อตที่ภาพจะแช่ทิ้งหยุดนิ่ง ต้องมีการเลื่อนเคลื่อนไหวขยับซ้าย-ขวา เข้า-ออก อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลายครั้งจะเป็นการเดินตามตัวละคร ทำให้เห็นด้านหลัง/ต้นคอของนักแสดง และบางครั้งถ่ายด้านหน้าพวกเขาจะยื่นหน้าเข้ามาหากล้อง (ราวกับจะแสดงความคิดเห็น) เหล่านี้สามารถเปรียบเทียบเรียกตรงๆได้ว่า เป็นการบันทึกภาพของ’ชีวิต’ ที่ทุกวินาทีล้วนดำเนินไปตลอดเวลาไม่มีหยุดนิ่ง

มีสิ่งสัญลักษณ์มากมายแทรกอยู่ใน อาทิ ต้นไม้ (ตรงตามชื่อหนัง) มีนัยยะถึงชีวิต, พระอาทิตย์หรือแสงสว่าง คือเป้าหมายปลายทางสุดท้าย, ชายหาด/ท้องทะเล คือรอยต่อระหว่างชีวิต, ดอกทานตะวัน หันหน้ารับเข้าหาแสงอาทิตย์, ตึกสูง อาชีพสถาปนิกก่อสร้าง คือการออกแบบ(สร้างโลก) ฯ

สำหรับภาพธรรมชาติในหนัง นอกจากบางส่วนที่ไปถ่ายยังสถานที่จริงแล้ว สำหรับภาพจักรวาล Supernova เนบิวล่า ดาวเคราะห์ต่างๆ ฯ ใช้ทีมงาน Special Effect (ไม่ใช่ Visual Effect นะครับ) ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพขึ้นมา แต่ใช้เทคนิคสมัยเก่าก่อนแบบ 2001: A Space Odyssey (1968) บันทึกภาพการทดลองทางเคมี ของเหลวทำปฏิกิริยา ภาพวาดย้อมสี ควัน หลอดไฟ ฯ เพราะไม่มีใครรู้ว่าภาพเหล่านี้ในอวกาศมองเห็นเป็นเช่นไร การจำลองด้วยเทคนิคคลาสิก ถือเป็นการทบทวน สำรวจ ค้นหาแนวคิดอะไรใหม่ๆต่อวงการ Visual Effect เลยละ, โดยฝ่ายเทคนิคผู้ควบคุมงานส่วนนี้ ก็ไม่ใช่ใครอื่น Douglas Trumbull คือคนที่ทำ 2001: A Space Odyssey

สำหรับไดโนเสาร์ (นี่คงใช้ CG สร้างขึ้นมา) มันมีเรื่องราวหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือความเมตตาปราณี แม้แต่สิ่งมีชีวิตที่ใช้สันชาติญาณดำรงชีพ ไดโนเสาร์กินเนื้อเมื่อพบเหยื่อได้รับบาดเจ็บ เอาเท้าย่ำหน้าบอกว่าข้าเหนือกว่า แต่มันจะมีคุณค่าศักดิ์ศรีอะไรกับของที่ได้มาฟรีๆ เลือกที่จะปล่อยมันไป ค้นหาเหยื่อ/คู่ต่อสู้รายใหม่ ที่สมน้ำสมเนื้อ, นัยยะของฉากนี้เป็นการบอกว่า เมตตาธรรม เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล ก่อนกำเนิดอารยธรรมของมนุษย์เสียอีก

คิดถึงฉากนี้ทีไรผมขนลุกทุกที การแทรกใส่ช่วงเวลายุคก่อนหน้าอารยธรรมมนุษย์ เทียบเท่ากับ 2001: A Space Odyssey ฉาก Prologue ตอนที่เจ้าลิงตัวหนึ่งหยิบจับอาวุธชิ้นแรกขึ้นมาทุบตี เพียงแต่ Tree of Life ไม่มีบทเพลงขนหัวลุกแทรกเข้ามา แต่วินาทีนั้นมีความหมายสะท้อนหนังทั้งเรื่อง

และสำหรับภาพลำแสงเคลื่อนไหว โผล่มาแวบๆช็อตแรกสุด กลางเรื่องครั้งสองครั้ง และช็อตจบ ออกแบบโดย Peter กับ Chris Parks ที่เคยมีผลงาน The Fountain (2006) ผมรู้สึก(ด้วยสันชาติญาณ)ว่านั่นอาจคือรูปลักษณ์ตัวแทนของ’พระเจ้า’ มีตัวตน ไร้ตัวตน สสาร อสสาร เหมือนดวงวิญญาณ จุดเริ่มต้น/สิ้นสุด ของทุกสิ่งอย่าง

สำหรับทีมตัดต่อประกอบด้วย Hank Corwin, Jay Rabinowitz, Daniel Rezende, Billy Weber, Mark Yoshikawa ใครบ้างก็ไม่รู้เหมือนกัน ถือเป็นกลุ่มคนที่น่าจะทำงานหนักที่สุดของหนัง เพราะต้องนั่งดูทุกฟุตเทจทุกสิ่งอย่าง ไม่รู้ความยาวเท่าไหร่กี่วันกี่คืน จากนั้นคัดแยกแบ่งประเภท ใช้ได้ใช้ไม่ได้ ฉากไหนคล้ายกันจัดไว้ร่วมกัน แยกตามวันเวลาสถานที่ ฯ

ฉบับตัดต่อแรกของหนังความยาว 5 ชั่วโมง ผมว่ายังน้อยไปด้วยซ้ำนะ ค่อยๆตัดโน่นตัดนี่ออก ทำแบบเดียวกับ Jean-Luc Godard ไม่ต้องการตัดทิ้งสักเรื่องราวก็เล็มช็อตนี้ออกนิด จากเคยต่อเนื่องกลายเป็น jump-cut กระโดดไปมา นี่ช่วยสร้างจังหวะให้กับหนังด้วยนะครับ แถมมีนัยยะสื่อถึงความทรงจำของมนุษย์ ที่ใช่ว่าเราจะหวนระลึกถึงอดีตได้ถึงทุกวินาที เป็นเศษเสี้ยวๆของเรื่องราวที่กระโดดไปมา แค่ช่วงเวลาที่สวยงามมีความสำคัญเท่านั้นถึงจดจำได้ทุกรายละเอียด

การแบ่งองก์ของหนังถือว่าค่อนข้างยากทีเดียว ได้หลากหลายด้วย เพราะการเล่าเรื่องแบบ Non-linear ตามใจฉันของผู้กำกับ คือถ้าจะยึดตามเสียงบรรยายของตัวละครคงไม่ได้แน่ เพราะมีหลายคนหลายช่วงเวลาสลับไปมา ผมจะขอแบ่งตามลำดับเรื่องราวของหนังนะครับ
– องก์ 1 Prologue/Death เริ่มต้นจากการตายของ R.L. ขณะอายุ 19 ที่ทำให้ทั้งครอบครัวนี้เกิดคำถามชีวิต? แม่ตั้งคำถามการมีตัวตนของพระเจ้า, พ่อรู้สึกเสียใจที่มิได้กระทำอะไรบางอย่าง, Jack ตอนโตหวนระลึกถึงช่วงเวลาตอนอยู่กับน้อง (จะมองว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พ่อ-แม่ รับรู้ข่าวการตายของ R.L. ก็ยังได้)
– องก์ 2 Universe/Beginning ออกค้นหาพระเจ้าอยู่ที่ไหน ไล่ตั้งแต่จุดกำเนิดเริ่มต้นของโลก จักรวาล สรรพสิ่ง จนค้นพบการมีอารยธรรมแรกของสิ่งมีชีวิต (เมตตาธรรม)
– องก์ 3 Life เริ่มต้นจากการเกิดของ Jack เป็นทารก มีน้อง R.L. เติบโตกลายเป็นเด็กวัยรุ่น ค่อยๆมีชีวิต ความคิดอ่านเป็นของตนเอง (ค้นพบความต้องการตัวเอง) จบที่การย้ายงานของพ่อ ออกเดินทาง ทุกสิ่งในบ้านกลับสู่ความว่างเปล่า
– องก์ 4 Epilogue/After Life/Eternity, Jack ตอนโตกำลังขึ้นลิฟท์ (ขึ้นสวรรค์/จินตนาการภาพการเดินทาง ชีวิตหลังความตาย ท้ายสุดของชีวิต), ตัดไปเห็นภาพการเดินทาง บนทะเลชายหาด พบเจอพ่อ-แม่ ตัวเอง-น้องชายตอนเด็ก คนอื่นๆมากมายกำลังเดินสู่แสงสว่าง ตัดภาพสู่ผืนน้ำแข็งอันกว้างไกล ยังคงเดินอยู่สู่แสงสว่าง (นิรันดร์), จบองก์ที่ Jack ตอนโตกำลังลงลิฟท์ เพราะตอนนี้ตัวเขายังไม่ตาย เลยยังต้องหวนกลับมามีชีวิตอยู่บนโลกต่อไป …. จนกว่าจะถึงจุดจบ

ด้วยฟุตเทจทั้งหมดที่มี คงไม่แปลกอะไรถ้าจะทำหนังออกมาได้อีกสัก 10 เรื่องที่มีเรื่องราวใจความแตกต่างโดยสิ้นเชิง แต่การเลือกฉบับที่สวยงาม น่าประทับใจ ตรงกับความต้องการของผู้กำกับที่สุด นี่คงไม่ง่ายแน่ๆ, ไม่มีใครระบุได้ว่าหนังใช้เวลา Post-Production ส่วนนี้เท่าไหร่ แต่จากที่ Brad Pitt บอกว่า เขาถ่ายหนังเสร็จตั้งแต่ประมาณกลางปี 2008 คงใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีกว่าจะตัดต่อเสร็จ ก็เห็นว่าหนังเคยมีโปรแกรมฉายตอนแรกอยู่ที่ ธันวาคมปี 2009 สุดท้ายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อเดือนพฤษภาคม 2011

เพลงประกอบโดย Alexandre Desplat, ทั้งหมดทุกบทเพลงจะเป็นการรวบรวมเรียบเรียงบทเพลงคลาสสิก นำมาจากคีตกวีชื่อดังสมัยก่อน อาทิ Johannes Brahms, Johann Sebastian Bach, Robert Schumann, Bedrich Smetana, Gustav Holst ฯ ต้องยอมเลยว่ารสนิยมการฟังเพลงคลาสสิกของ Malick หลากหลาย มากด้วยรสนิยม สงสัยคงเป็นอิทธิพลจากพ่อของเขาเป็นแน่

คงเป็นความท้าทาย Stanley Kubrick ที่สร้าง 2001: A Space Odyssey ด้วยโคตรอมตะของสองบทเพลง Richard Strauss: Also Sprach Zarathustra กับ Johann Strauss: The Blue Danube (แต่ก็มีเพลงอื่นด้วยนะ) ซึ่งไฮไลท์ของ The Tree of Life ผมก็ถือว่ามี 2 บทเพลงเช่นกัน

บทเพลง Má vlast (My Homeland) ประพันธ์โดย Bedrich Smetana (1824 – 1884) คีตกวีสัญชาติ Czech มีลักษณะเป็นบทกลอนพรรณา กล่าวถึงดินแดนบ้านเกิด ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ของชาว Bohemia. มีทั้งหมด 6 ท่อน
1. Vyšehrad (ชื่อปราสาท)
2. Vltava หรือชื่ Die Moldau (ชื่อแม่น้ำ)
3. Šárka (ชื่อของหญิงสาวนักรบ)
4. Z českých luhů a hájů (From Bohemia’s woods and fields, ชื่อท้องทุ่งและป่า)
5. Tábor (ชื่อเมือง)
6. Blaník (ชื่อภูเขา)

สำหรับท่อนที่ใช้ในหนัง และได้รับความนิยมสูงสุดคือ Vltava บทเพลงที่เปรียบได้กับสายน้ำไหลผ่าน ด้วยเสียงของคาริเน็ตที่พริ้วไหวไหลล่องลอย นำพาความชุ่มชื้น เขียวฉอุ่ม หรือ’ชีวิต’ (เสียงไวโอลินประสานเสียงดังขึ้น) สู่ดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของเรา, สำหรับฉากที่ใช้คือขณะ Jack ตั้งแต่ทารกกำลังค่อยๆก้าวย่าง วิวัฒนาการ เติบโต ‘ชีวิตก็เหมือนสายน้ำที่ไหลไปไม่มีหยุด’

สำหรับอีกบทเพลง Lacrimosa 2 (ภาษาละติน แปลว่า weeping, น้ำตาไหลพราก) ประพันธ์โดย Zbigniew Preisner คีตกวีสัญชาติ Polish เกิดปี 1962 ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ เป็นท่อนหนึ่งจากออเครสต้า Requiem for My Friend (1998) เดิมนั้นบทเพลงนี้ตั้งใจใช้ประกอบภาพยนตร์ที่จะสร้างโดย Krzysztof Kieslowski แต่ผู้กำกับด่วนเสียชีวิตจากไปก่อน เพลงนี้จึงอุทิศ Requiem ถึงเพื่อนรัก

บทเพลงนี้ประกอบในองก์ 2 จุดกำเนิดของโลก จักรวาล และสรรพสิ่ง แม้นี่จะเป็นบทเพลงอุทิศแด่คนตาย ด้วยเสียงโซปราโนแหลมสูง แต่สำหรับวิญญาณผู้ล่วงลับนั่นคือการจุติ เริ่มต้นโลกใบใหม่ ซึ่งก็เปรียบเทียบได้กับจุดกำเนิดของทุกสิ่งอย่าง

ผมขนลุกทุกครั้งที่ได้ยินเสียงคำร้อง Lacrimosa ราวกับทุกอนูรูขุมขน จิตวิญญาณในร่างการเกิดการสั่นสะเทือนท้าน มันคือช่วงเวลาแห่งความมหัศจรรย์ล้นพ้น จุดสิ้นสุด/จุดเริ่มต้น เกิด/ตาย คือสิ่งเดียวกัน

เกร็ด: Mozart ก็มีเพลง Lacrimosa แต่อย่าสับสนกันนะครับ คนละบทเพลงกันเลย

ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล พระเจ้าผู้สร้างอาศัยสิงสถิตอยู่ ณ สถานที่แห่งหนใด? จักรวาลอื่นอันไกลโพ้น? ในตัวเรา? หรือรอบข้างทุกหนแห่ง? หนังเรื่องนี้มีแค่คำถาม บลาบลาบลา กอปรด้วยบทบรรยายที่ชักชวนให้เกิดข้อสงสัย แต่ล้วนไม่มีคำตอบใดปรากฎแทรกอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครในโลกหล้าสามารถไขแก้ปริศนาได้

สิ่งที่ผู้กำกับตัวเล็กๆคนหนึ่งสามารถทำได้ มีเพียงนำเสนอ’ภาพ’ของทุกสรรพสิ่งอย่าง เล็กสุด-ใหญ่สุด มากเท่าที่จะมากได้ เปรียบเทียบมนุษย์=จักรวาล,
– พ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิด = พระเจ้าเป็นผู้สร้าง
– ชีวิตดำเนินไป = สากลจักรวาล
– แต่ความตาย/จุดสิ้นสุด เป็นสิ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้ (แม้แต่พระเจ้าเอง)

การค้นหาจุดเริ่มต้นของชีวิต จุดเริ่มต้นของจักรวาล เป็นสิ่งที่มนุษย์นับตั้งแต่โบราณกาล เริ่มต้นมีสติปัญญา-อารยะ-ปชัญญะ แสวงหาต้องการคำตอบ สาเหตุไม่ใช่เพื่อย้อนกลับคืนแต่คือการดำเนินต่อไปข้างหน้า รับรู้เป้าหมายปลายทางของตนเอง ดังคำพูดที่ว่า ‘ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นด้วยมีเหตุผล’ การค้นพบคำตอบของการเกิด ก็จะรับรู้เหตุผลของการมีชีวิต

พุทธศาสนาของเราให้ 2 เหตุผลของการเกิดคือ ‘การชดใช้และสร้างบุญกรรม’ นี่ทำให้เป้าหมายชีวิตของชาวพุทธเรา ปลายทางคือนิพพานหลุดพ้น ไม่กลับมาเกิดลำบากทุกข์ยากในวัฎฎะสังสาร, แต่สำหรับคนนอกศาสนา (เว้นไว้กับฮินดู/พราหมณ์ ที่คิดเชื่อเหมือนกัน) ปลายทางของคริสต์ที่เชื่อในเรื่องพระเจ้า คือการได้อาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์ร่วมกับพระผู้สร้าง ตลกคือรับเรียนรู้เข้าใจมา แต่จะเชื่อไหมนั่นอีกเรื่อง (นี่ก็คงเหมือนพุทธเรา ที่สอนกันปากเปียกปากแฉะ กรรมเวรมีจริงแต่ก็ยังขยันทำกรรมกันนัก)

ถ้าสมัยก่อนคงใช่ แต่สมัยนี้ไม่เสมอไปแล้วที่จะมองชาวคริสต์ผู้ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้ามีจริงเป็นคนนอกคอก ไร้จารีตอารยะ เพราะมีอีกนัยยะหนึ่งคือการพิสูจน์ศรัทธาของตนเอง, Malick สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ด้วยความลบหลู่ความเชื่อประการใด แต่เป็นการพิสูจน์ศรัทธาของตนเอง กับเรื่องราวสิ่งต่างๆ ในความเจ็บปวด สูญเสีย ทุกข์ทรมานทั้งหลายที่เกิดขึ้น โอก็อดช่างไม่มีความปราณีต่อพวกเราเลย ขณะเดียวกันยังเต็มเปี่ยมสามารถศรัทธาความเชื่อว่า พระเจ้ามีจริงอยู่ทุกหนแห่ง

‘ศาสนาคือสิ่งก่อกำเนิดอารยะของมนุษย์’ ครุ่นคิดดูก็น่าจะใช่นะครับ เพราะคำสอนของไม่ว่าจะศาสนาใด ล้วนมีแนวทางเพื่อให้มนุษย์สามารถควบคุมตัวเอง ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจแก่ผู้อื่น นั่นคือสามารถอยู่ร่วมกันแล้วเป็นสุขสันติได้ เมื่อไม่ได้ต้องต่อสู้ขัดแย้งแก่งแย่ง มีความยึดมั่นถือมั่นเชื่อในอะไรบางอย่าง มนุษย์ก็จะรู้จักพัฒนาตัวเอง/สิ่งอื่น กลายเป็นชนที่มีอารยธรรมเกิดขึ้นได้, ซึ่งสิ่งที่ Malick ใส่เข้ามาในฉากไดโนเสาร์ นั่นอาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นของศาสนาหรืออารยธรรม แต่คือเศษเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่จะพัฒนาต่อไปกลายเป็นศาสนาและอารยะ (แต่คงเป็นร้อยพันหมื่น ล้านล้านปีทีเดียวกว่าจะวิวัฒนาการมาถึงจุดนี้ได้)

ถึงนี่จะเป็นหนังกึ่งศาสนาคำสองคำก็พระเจ้า แต่ความน่าหลงใหลมิได้อยู่การครุ่นคิดค้นหา พบหรือไม่เจอคำตอบ แต่คือเรื่องราวระหว่างการเดินทางดำเนินไปของชีวิตและจักรวาล ที่มีความทรงพลังยิ่งใหญ่อย่างที่สุด ใครที่ไหนจะไปบังอาจหาญกล้าเปรียบมนุษย์เทียบเท่าพระเจ้าหรือจักรวาล มองการเกิด-ตายของทุกสรรพคือสิ่งเดียวกัน และธรรมชาติคือชีวิตที่ดำเนินไป แค่คิดก็เหมือนคนบ้าแล้ว แต่ Malick ที่สร้างหนังสำเร็จมีความลึกล้ำไม่ย่อหย่อนไปกว่าพระเจ้าในความคิดของเขาเลย

สำหรับคนที่คับข้องใจ หัวรั้น ไม่เชื่อไม่ยอมรับเรื่อง ‘พระเจ้า’ ผมแนะนำให้แปรเปลี่ยนคำพูดนี้ในหัวเป็นคำว่า ‘ธรรมชาติ’ เสียนะครับ การันตีว่าทุกอย่างจะลงตัวไร้ข้อสงสัย ตามแนวคิดความเชื่อของเหล่านักวิทยาศาสตร์คนหัวรุ่นใหม่แน่นอน อาทิ
– พระเจ้าผู้สร้างโลกและจักรวาล ก็จะกลายเป็น ธรรมชาติคือสิ่งที่สร้างโลกและจักรวาล,
– พระเจ้ามีตัวตนไหม?=ธรรมชาติเกิดขึ้นได้อย่างไร? (ก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติยังไงละ),
– พระเจ้าอยู่อาศัยอยู่แห่งหนไหน=ธรรมชาติอยู่ทุกหนแห่ง
ฯลฯ

มันไม่ใช่ว่าพระเจ้ากับธรรมชาติ คือสิ่งเดียวกันหรือยังไง แต่คือวิธีคิดที่ทำให้ผมเลิกสงสัยในจุดเริ่มต้นของโลก จักรวาล สรรพสิ่ง เพราะนี่เป็นการคิดที่ไร้สาระประโยชน์ ครุ่นทำไมให้เสียเวลา ยังไงก็ไม่พบคำตอบอยู่แล้ว

และสำหรับคนที่ครุ่นจนคิดมากหยุดไม่ได้ ต้องการหาคำตอบให้เจอ ลองเอาเวลาไปเปิดหาพระไตรปิฏกอ่านดูนะครับ พระอานนท์เคยเอ่ยถามพระพุทธเจ้าเรื่องขนาดของโลกและจักรวาล ท่านได้อธิบายตอบ

ดูกรอานนท์ จักรวาลหนึ่ง มีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุ มหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้น ดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง

ท่านพระอุทายีที่ได้ฟังคำของพระพุทธเจ้านี้ กล่าวกับพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร?” พระพุทธเจ้ากลับเป็นผู้ตรัสตอบ “ดูกรอุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป”

หนังออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ปีที่ Robert De Niro เป็นประธานกรรมการ คว้ารางวัล Palme d’Or และได้เข้าชิง Oscar 3 สาขา แบบไม่มีใครคาดคิด แต่หนังไม่ได้สักรางวัลกลับไป
– Best Picture
– Best Director
– Best Cinematography

ตอนที่ตัวอย่าง Trailer แรกของหนังออกมา นี่เป็นเรื่องที่ผมเชื่อว่าใครๆถ้าได้เห็นคงต้องเกิดความกระสัน อยากที่จะหามารับชมครั้งหนึ่งในชีวิตเป็นแน่, ตอนที่ผมได้รับชมหนังครั้งแรก แม้จะไม่เข้าใจเรื่องราวอะไรเลยแม้แต่น้อย แต่มีความเต็มอิ่มเอิบอย่างมาก เข้าใจสัมผัสบรรยากาศ เหมือนการได้ท่องไปอีกโลกที่มีสวยงามราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์

รับชมครานี้มองเห็นความสวยงามในระดับที่คงจะน้อยคนจริงๆสามารถรับรู้เข้าใจได้ คงคล้ายกับ 8½ (1963), Persona (1966), 2001: A Space Odyssey (1968), Solaris (1972) ฯ ผู้คน ณ ขณะนั้นเห็นพ้องตรงกันว่า นี่มันหนังบ้าอะไรไม่เห็นรู้เรื่องเข้าใจ … กาลเวลาจะเป็นสิ่งพิสูจน์คุณค่าของหนังเองสำหรับคนที่ยังมองไม่เห็น แต่สำหรับผู้ที่เห็นแล้วต่างเรียกว่า Masterpiece สมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต

แนะนำกับคอหนัง Art House นักปรัชญา นักคิดทั้งหลาย ที่ชื่นชอบการครุ่นวิเคราะห์หาคำตอบของชีวิต, ผู้สร้างภาพยนตร์ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ผู้กำกับ ตากล้อง นักตัดต่อ นักทำ Visual Effect, นักดนตรี คอเพลงคลาสสิก สวยงามอลังการ

แนะนำอย่างยิ่งผู้มีศรัทธาในพระเจ้าทั้งหลาย กับการตั้งคำถามชีวิต พระเจ้าอยู่ที่ไหน? ฉันคือใคร? และชีวิตเริ่มต้น/จุดจบอย่างไร?

จัดเรต 13+ กับความเข้มงวดของพ่อ และความเกเรของลูก

TAGLINE | “Tree of Life คือการค้นหาทางจิตวิญญาณของ Terrence Malick เฉพาะผู้ถูกเลือกเท่านั้นที่จะพบเห็นความสวยงามของชีวิต”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: