The bridge on the river kwai

The Bridge on the River Kwai (1957) British : David Lean ♥♥♥♥

สะพานเดือดเลือดเชลยศึก เป็นเรื่องแต่งของ Pierre Boulle อดีตทหารผ่านศึกชาวฝรั่งเศสที่ตกเป็นเชลยของกองทัพญี่ปุ่น แรงงานสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควและทางรถไฟสายมรณะ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กระนั้นหนังกลับไม่ได้ถ่ายทำในประเทศไทยเลยสักฉาก, คว้า 7 รางวัล Oscar รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

นี่คือสองความเข้าใจผิดของคนไทยต่อหนังเรื่องนี้ คิดว่า
– เรื่องราวของหนังคือเหตุการณ์จริง, หนัง/นิยาย เป็นเรื่องแต่งขึ้น แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่ผู้เขียนประสบพบเจอด้วยตนเอง
– หนังถ่ายทำในเมืองไทย, เห็นว่าทีมงานเคยเดินทางมาสำรวจแม่น้ำแคว แต่ไม่พึงพอใจกับสถานที่เพราะสายน้ำไหลเอื่อย ไม่เหมาะกับฉากไคลน์แม็กซ์ที่ต้องการกระแสน้ำไหลแรง และระดับน้ำขึ้นลงได้อีกด้วย สุดท้ายไปได้แม่น้ำ Kelani Ganga ที่เมือง Kitulgala ประเทศ Ceylon (ปัจจุบันคือ Sri Lanka)

แต่หนังก็มีนักแสดงไทยร่วมแสดง ประกอบด้วย พรานใหญ่ รับบทโดย หม่อมราชวงศ์พงษพรหม จักรพันธุ์, สาวๆนักหาบทั้ง 4 ประกอบด้วย วิไลวรรณ วัฒนพานิช, งามตา ศุภพงษ์, เยาวนารถ ปัญญโชติ และกรรณิการ์ ดาวคลี่

วิไลวรรณ วัฒนพานิช คือนักแสดงเจ้าของฉายา ‘ดาราเจ้าน้ำตา’ เป็นผู้คว้ารางวัลตุ๊กตาทอง นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม คนแรกของเมืองไทย จากเรื่อง สาวเครือฟ้า (พ.ศ. ๒๕๐๐), งามตา ศุภพงษ์ คือนักแสดงที่รับบทยุพดี หนังเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย (พ.ศ.๒๔๙๘), เยาวนารถ ปัญญโชติ ภายหลังผันตัวไปเล่นหนังแผ่น, กรรณิการ์ ดาวคลี่ มีผลงานดังคือ ดาวลี่ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ไม่นานนักก็ออกจากวงการ

Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนเพ้อฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคันมา ทำงานเป็นนักบัญชีผู้ช่วยพ่อแต่ก็ทนได้ไม่นานก็ออกไปสานฝันของตนเอง ที่เริ่มต้นจากของขวัญวันเกิดจากลุงตอนอายุ 10 ขวบ ที่ได้มอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) งานอดิเรกที่คลั่งไคล้ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์

เริ่มต้นจากเป็นเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี 1930 มีผลงานอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942) [สองเรื่องหลังของ Powell & Pressburger] และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942)

ก่อนที่ Lean จะกลายเป็นตำนานผู้กำกับหนังใหญ่ระดับ Epic อย่าง The Bridge on the River Kwai (1957), Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965) ฯ เริ่มต้นจากทำหนังขนาดเล็ก ประสบความสำเร็จมากมาย อาทิ Brief Encounter (1945), Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948) ฯ

Summertime (1955) คือครั้งแรกที่ได้สนับสนุนทุนสร้างจาก Hollywood ร่วมงานกับ Katharine Hepburn ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน, ซึ่ง Hepburn ก็ได้ช่วยแนะนำให้ Lean รู้จักกับโปรดิวเซอร์ Sam Spiegel ที่กำลังหาผู้กำกับทำหนังดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Le Pont de la Rivière Kwai (1952) ของ Pierre Boulle ได้รับการบอกปัดมาแล้วจาก John Ford, William Wyler, Howard Hawks, Fred Zinnemann, Carol Reed, Orson Welles (ชักชวนให้รับบทนำด้วย) แทบไม่ต้องคิดมาก Lean ตัดสินใจตอบรับงานโดยทันที (เห็นว่าเขากำลังมีปัญหาเรื่องเงิน จากการหย่าร้างกับภรรยาคนที่สามอยู่ด้วย)

หลังจาก Spiegel ครอบครองลิขสิทธิ์ของนิยาย ว่าจ้างให้ Carl Foreman ดัดแปลงบทภาพยนตร์ ซึ่งพอได้ Lean มาเป็นผู้กำกับ เขาไม่ชอบบทของ Foreman จึงว่าจ้าง Calder Willingham ให้มาเขียนใหม่ แต่ด้วยความล่าช้าและบทที่ได้เลวร้าวกว่าเดิม จึงตัดชื่อ Willingham ออกจากเครดิต แล้วหวนกลับมาใช้บทของ Foreman และติดต่อ Michael Wilson บินตรงสู่ประเทศศรีลังกา เพื่อปรับปรุงแก้ไขบทพร้อมๆกับการถ่ายทำ

บทภาพยนตร์ถือว่าค่อนข้างซื่อตรงต่อนิยาย แต่มี 3 จุดใหญ่ๆที่แตกต่างออกไป
– Shears ในนิยายเป็น British Commando Officer คล้ายกับ Major Warden แต่ในหนังเปลี่ยนมาเป็นกาลาสีสัญชาติอเมริกัน ที่หลบหนีออกจากค่ายกักกันได้สำเร็จ
– นิยายไม่มี แต่ในหนังเป็น Love Scene เล็กๆ ของ Shears กอดจูบกับนางพยาบาลสาว, เห็นว่า Harry Cohn เจ้าของ Columbia Pictures ผู้ให้ทุนสร้างหนังขณะนั้น หลังจากได้อ่านบทภาพยนตร์แล้วรู้สึกว่าหนังเครียดมาก สั่งการบังคับให้ผู้กำกับเพิ่มฉาก Love Scene เข้าไปในหนัง ผู้ชมเลยมีโอกาสได้ผ่อนคลายเล็กๆไปในตัวด้วย
– ตอนจบในนิยาย สะพานไม่ถูกทำลาย แต่รถไฟเสียหลักตกลงสู่แม่น้ำ และ Nicholson ตกลงไปในแม่น้ำ ไม่เคยระลึกได้ว่า ‘What have I done?’

เห็นว่าเจ้าของนิยาย Boulle ไม่ชอบตอนจบเท่าไหร่ แต่พึงพอใจกับภาพรวมของหนัง

แต่เพราะทั้ง Carl Foreman และ Michael Wilson ขณะนั้นติด Hollywood blacklist (มีชื่อเป็นผู้สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์) จึงถูกแบนไม่ให้ทำงานในอเมริกา ขณะนั้นพวกเขาลี้ภัยอาศัยอยู่ประเทศอังกฤษ ซึ่งช่วงเทศกาลประกาศรางวัล Oscar สาขา Best Adapt Screenplay ผู้สร้างตัดสินใจมอบเครดิตนี้ให้กับผู้แต่งนิยาย Pierre Boulle ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับโปรเจคเลย, เมื่อปี 1984 ถือเป็นกรณีพิเศษที่ทาง Academy ได้มีการมอบรางวัลย้อนหลังให้กับทั้ง Foreman และ Wilson แต่ทั้งคู่ต่างก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว (เหมือนว่าที่มอบให้ปีนั้นเพราะ Foreman เพิ่งเสียชีวิต ถือเป็นการให้เกียรติย้อนหลังกับทั้งคู่)

ช่วงประมาณปี 1943 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารนักโทษของประเทศอังกฤษ นั่งรถไฟมาถึงค่ายกักกันของญี่ปุ่น ผู้บัญชาการค่าย Colonel Saito (รับบทโดย Sessue Hayakawa) แจ้งถึงหน้าที่ของพวกเขาในการก่อสร้างทางรถไฟและสะพานข้ามแม่น้ำแคว แต่ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการไม่ยอมทำงานของเจ้าหน้าที่อาวุโส Lieutenant Colonel Nicholson (รับบทโดย Alec Guinness) ตามอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และการมีนักโทษคนหนึ่ง Commander Shears (รับบทโดย William Holden) สามารถหลบหนีได้สำเร็จ สุดท้ายแล้วสะพานจะสร้างสำเร็จหรือไม่ แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

เกร็ดความรู้: อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) คือสนธิสัญญาสี่ฉบับ และพิธีสารสามฉบับที่วางมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้เป็นเหยื่อของสงครามอย่างมีมนุษยธรรม ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1864 ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีเป้าหมายให้การสงเคราะห์ทหาร และพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงครั้งสำคัญเมื่อปี 1906, 1929 และ 1949 ปัจจุบันได้รับการลงนาม 194 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทยด้วย)

ในหนังมีการอ้างถึงอนุสัญญาเจนีวา หัวข้อ 27 ฉบับปี 1929

Belligerents may employ as workmen prisoners of war who are physically fit, other than officers and persons of equivalent statue, according to their rank and their ability.

Nevertheless, if officers or persons of equivalent status ask for suitable work, this shall be found for them as far as possible.

Non-commissioned officers who are prisoners of war may be compelled to undertake only supervisory work, unless they expressly request remunerative occupation.

แต่เหมือนว่าอนุสัญญาเจนีวา ฉบับปี 1949 หัวข้อนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ผมไม่มีเวลาศึกษาอ่านดูเลยบอกไม่ได้ว่ายังมีการห้ามเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officers) ทำงานแรงงานอยู่ไหมนะครับ

สำหรับทางรถไฟสายมรณะ เริ่มต้นฝั่งไทยจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ ปลายทางที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้แรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้าง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า, ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสุดปลายทางที่บ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตก การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเดินรถบนเส้นทางนี้ทุกวัน และจัดรถไฟขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ – น้ำตก ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ

เหตุที่ทางรถไฟสายนี้ได้ชื่อว่า ทางรถไฟสายมรณะ ก็เพราะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดาและนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คนและกรรมกรชาวชาวจีน ญวน ชวา มลายู พม่า อินเดีย อีกจำนวนมากมาก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งเส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัยตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกจำนวนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง, ใช้เวลาสร้าง 1 ปีเต็ม เสร็จสิ้นวันที่ 25 ตุลาคม 1943

เกร็ด: การสร้างทางรถไฟนี้ เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยืมเงินไทยลงทุน 4 ล้านบาท แต่หลังสิ้นสุดสงครามรัฐบาลไทยต้องจ่ายเงินจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อขอซื้อทางจากอังกฤษ (เพราะญี่ปุ่นแพ้สงคราม) แถมต้องทำการซ่อมบำรุงบางส่วนของเส้นทางดังกล่าวเองด้วย wtf!

อนุสรณ์สถานจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดมาก็กว่า 70 ปี เคยเป็นอย่างไรมาปัจจุบันปี 2017 ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องใช้สมองครุ่นคิดก็คงรู้ได้ว่าเกิดขึ้นอะไรขึ้น

สำหรับนักแสดงนำ Lean มีความต้องการให้ Charles Laughton ที่เคยร่วมงานกันจากหนังเรื่อง Hobson’s Choice (1954) มารับบท Colonel Nicholson แต่ขณะนั้นด้วยวัย 55+ ร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรง (ป่วยเป็นโรคมะเร็ง) แถมยังต้องลดน้ำหนักให้ผอมก่อนการถ่ายทำอีก จึงได้รับคำปฏิเสธโดยทันที (Laughton เสียชีวิตในอีก 5 ปีถัดมา) Lean เลยต้องหันไปหา Alec Guinness ที่ก็เคยร่วมงานกันหลายครั้ง ทีแรกกลัวว่าภาพลักษณ์ตัวละครนี้ที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงจะทำให้ผู้ชมยอมรับเขาไม่ได้ แต่สุดท้ายเมื่อตัวเลือกแรกไม่ได้ดั่งใจเลยต้องเลือกตัวสำรอง ความรู้เข้าถึงหูนักแสดง ก็เป็นเรื่องเลยละครับ

Sir Alec Guinness de Cuffe (1914 – 2000) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Paddington, London เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที มีชื่อเสียงจากการเล่นบทละคร Shakespeare ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องเป็นสามทหารเสือแห่งอังกฤษ ควบคู่กับ Laurence Olivier และ John Gielgud, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รับใช้ชาติเป็นทหารเรือ Royal Naval Reserve สิ้นสุดสงครามจึงเริ่มรับงานแสดงภาพยนตร์โดยคำชักชวนของ David Lean อาทิ Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948) ก่อนเริ่มเป็นที่รู้จักจากการรับบท 9 ตัวละครในหนังเรื่อง Kind Hearts and Coronets (1949)

Lieutenant Colonel Nicholson (ยศพันโท) เจ้าหน้าที่อาวุโสของหน่วยทหารอังกฤษ เหมือนว่าจะได้รับคำสั่งให้ยอมแพ้เป็นเชลยสงครามของญี่ปุ่น ทำให้ต้องเดินทางมาถึงค่ายกักกันในป่าลึก เพื่อสร้างทางรถไฟและสะพานข้ามแม่น้ำแคว แต่ตัวเขามีอุดมการณ์ ต้องการให้นายทหารชั้นผู้น้อยทั้งหลายยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของทหาร ไม่ให้รู้สึกว่าการตกเป็นเชลยครั้งนี้คือความพ่ายแพ้ ตรงกันข้ามถ้าสามารถพิสูจน์ให้พวกญี่ปุ่นรับรู้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของชาติเราได้ นี่ก็เหมือนดั่งชัยชนะในสนามรบแล้ว

Guinness ก่อนหน้านี้เคยบอกปัดหลายครั้งครา ครั้งแรกไม่ชอบบทหนังที่ตัวละครของเขา Nicholson มีสถานะเพียงพระรอง เช่นกันกับบทหนังถัดมา และพอรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ตัวเลือกแรกของ Lean ก็เกิดความกระอักกระอ่วนใจ แต่เพราะเดินทางถึง Ceylon แล้ว กลับคงเสียหน้า

“I felt like turning around and getting back on the plane and paying my own fare home!”

กระนั้น Guinness ก็ได้มอบการแสดงยอดเยี่ยมที่่สุดในชีวิต คว้ารางวัล Best Actor จากทุกสถาบัน Oscar, Golden Globe, BAFTA Award, ‘ไม่ใช่ตัวเลือกแรกใช่ไหม จะพิสูจน์ให้ดูเลยว่าฉันก็ทำได้’, ฉากไฮไลท์การแสดงของ Guinness ขณะที่เดินออกจากเตาอบ ทีแรกตุปัดตุเป๋ถูกหิ้วขนาบสองข้าง แต่พอเห็นบรรดานายทหารลูกน้องทั้งหลายตะเบะใส่ จำเป็นอย่างยิ่งต้องวางมาดผู้นำ สะบัดซ้ายขวาเดินตรงด้วยตนเอง

หลังจากหนังเรื่องนี้ ทั้งสองก็ยังคงร่วมงานเป็นขาประจำอีกหลายเรื่องไม่ได้ผิดใจอะไร อาทิ Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), A Passage to India (1984) แต่ผลงานโด่งดังที่สุดของ Guinness กลับเป็น Obi-Wan Kenobi จาก Star Wars (1977)

สำหรับบท Major Shears โปรดิวเซอร์มีความต้องการ Cary Grant แต่ผู้กำกับ Lean ได้เล็ง William Holden ที่เพิ่งคว้า Oscar: Best Actor จากหนังเรื่อง Stalag 17 (1953) ของผู้กำกับ Billy Wilder ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มทหารอากาศอเมริกัน ถูกจับตัวเป็นเชลยสงครามในค่ายกักกัน Nazi จะเห็นว่าพล็อตหนังมีความใกล้เคียงกันด้วย

William Franklin Beedle, Jr. (1918 – 1981) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เป็นดาราแม่เหล็กทำเงินถล่ม Box Office ช่วงทศวรรษ 50s – 70s, เกิดที่ O’Fallon, Illinois มีผลงานการแสดงเรื่องแรก Golden Boy (1939) ประกบ Barbara Stanwyck เธอมีความชื่นชอบ Holden เป็นอย่างมาก (คงในฐานะพี่น้อง) จึงได้ช่วยผลักดันจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง, ผลงานเด่น อาทิ Sunset Boulevard (1950), Sabrina (1954), The Wild Bunch (1969), Network (1976) ฯ จัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Stars ฝ่ายชาย William Holden ติดอันดับ 25

รับบท Commander Shears นาวาโทของกองทัพเรืออเมริกา จับพลัดพลูเรือแตก กลายมาเป็นเชลยในค่ายกักกัน หลบหนีออกมาบังเอิญสำเร็จ ก็นึกว่าปลอดภัยกำลังจะกลับบ้านแต่ที่ไหนได้ ถูกบังคับกึ่ง Blackmail ให้ต้องหวนกลับมายังค่ายกักกันแห่งนี้เพื่อระเบิดสะพาน (ทั้งๆที่ตัวเองก็มิได้ทำประโยชน์กับการเดินทางครั้งนี้แต่ประการใด)

ใบหน้ากวนๆของ Holden ทำให้หนังลดความตึงเครียดลงได้เยอะ อีกทั้งคำพูดน้ำเสียงประชดประชันเย้ายวนบาทา แต่ถ้าคิดตัดสินใจอะไรแล้ว ก็จะดื้อด้านหัวชวนฝาถึงที่สุด, ผมชอบคำพูดประโยคหนึ่งของตัวละครนี้ ไม่ได้มีสาระอะไร แค่นึกภาพก็ชวนให้หัวเราะอมยิ้มได้ทุกที

Warden: “The consensus is, the most sensible thing for Major Shears to do is to go ahead and jump and hope for the best.”
Shears: “With or without a parachute?”

ค่าตัวของ Holdan ว่ากันว่า $300,000 เหรียญ (เทียบกับปี 2016 ประมาณ $2.5 ล้านเหรียญ) แถมด้วย 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ซึ่งมากกว่าผู้กำกับ Lean เท่าตัว แต่ผู้กำกับก็ยินยอมให้ เพราะมองว่า Holdan คือจุดขายของหนังจริงๆ

ในยุคหนังเงียบ มีนักแสดงสัญชาติญี่ปุ่นคนหนึ่ง ว่ากันว่ามีชื่อเสียงไม่แพ้ Charlie Chaplin, Douglas Fairbanks ชายผู้นั้นคือ Sessue Hayakawa ชื่อเดิม Kintarō Hayakawa (1889 – 1973) เกิดที่ Minamibōsō, Chiba, เป็นลูกชายคนโตของผู้ว่าการเขต Chiba ครอบครัวคาดหวังให้โตขึ้นรับราชการทหารเรือ แต่ระหว่างเรียนดำน้ำเกิดอุบัติเหตุแก้วหูแตก ทำให้ไม่สามารถสอบเข้ากลายเป็นทหารเรือได้ คนญี่ปุ่นสมัยก่อนกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้าต่อตนเองและวงศ์ตระกูล ผลักดันให้ Hayakawa เคยพยายามฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้อง (Seppuku) แต่เพราะเจ้าหมาตัวหนึ่งที่เห่าเขาไม่หยุด ทำให้รอดชีวิตมาได้ จากนั้นครอบครัวจึงส่งเขาไปอเมริกา เรียนต่อที่ University of Chicago มีความตั้งใจใหม่ให้กลายเป็นนายธนาคาร แต่พอพ่อก็ด่วนเสียชีวิตไปก่อน จึงตัดสินใจเลิกเรียนกลางคัน เดินทางสู่ Los Angeles ระหว่างยืนรอเรือกลับบ้าน พบเห็นโรงละครญี่ปุ่นเล็กๆใน Little Tokyo เกิดความสนใจเป็นนักแสดง ไปๆมาๆได้มีโอกาสเล่นหนังเงียบ ค่อยๆมีชื่อเสียงขึ้นจนได้รับบทในหนังเรื่อง The Cheat (1915) ของ Cecil B. DeMille ซึ่งเขาได้มีสัมพันธ์โรแมนติกกับนักแสดงสาว Fannie Ward เรื่องลามไปถึงหูสื่อก็กลายเป็นข่าวใหญ่ ทำให้กลายเป็นคนมีชื่อเสียงขึ้นทันที และด้วยความหล่อเหลาเอาการ ได้รับการยกย่องว่าคือ ‘Sex Symbols คนแรกของ Hollywood’

แต่ความสำเร็จของ Hayakawa ก็ยิ่งใหญ่ได้แค่ยุคสมัยนั้น เพราะเมื่อการมาถึงของยุคหนังพูด ประกอบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาวญี่ปุ่นในอเมริกาถูกต่อต้านเหยียดสัญชาติ ผลงานการแสดงน้อยลง เหมือนจะรีไทร์ไปแล้วตอนที่ผู้กำกับ Lean ติดต่อชักชวนให้มาแสดงในหนังเรื่องนี้

รับบท Colonel Saito พันเอกผู้บังคับบัญชาทหารญี่ปุ่นค่ายกักกันเชลยสงคราม ในป่าที่ไร้ซึ่งหนทางออก ภารกิจต้องสร้างสะพานให้เสร็จสิ้นตามกำหนด (วันที่ 12 พฤษภาคม 1943) เพื่อให้การก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ดำเนินต่อไปได้ แต่ด้วยความเข้มงวด จริงจัง ไม่ประณีประณอม ทำให้การก่อสร้างล่าช้า โดยเฉพาะความขัดแย้งกับ Lieutenant Colonel Nicholson ซึ่งถ้าการก่อสร้างไม่สำเร็จลุล่วงตามแผน ก็จะเป็นเหตุให้ตัวเขาต้องคว้านท้องตัวตายรับผิดชอบ

ในประวัติศาสตร์จริงๆ ใครๆก็ต่างบอกว่าไม่มีหรอกครับ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นที่ประณีประณอมแบบนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ ไม่เช่นนั้นจะชื่อ ทางรถไฟสายมรณะ ได้เช่นไร, แต่เพราะหนัง/นิยาย คือเรื่องแต่ง ก็ต้องชมว่า Hayakawa สลัดภาพหล่อๆของตัวเอง กลายเป็นพันเอกที่มีความเข้มแข็งและอ่อนไหว ทั้งสองอารมณ์ในตัวคนเดียว นี่ถือเป็นการแสดงที่สมควรได้รับการยกย่องอย่างยิ่ง โดยเฉพาะขณะร้องไห้ออกมา เชื่อว่าหลายคนคงคาดไม่ถึงเป็นแน่ สมแล้วกันที่เข้าชิง Oscar: Best Support Actor (แต่เพราะเป็นชาวต่างชาติ จึงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะคว้ารางวัล)

แนะนำผลงานที่ดังๆของ Hayakawa แต่ผมก็ยังไม่เคยรับชมดูสักเรื่อง อาทิ The Typhoon (1914), The Dragon Painter (1919), The Beggar Prince (1920), Daughter of the Dragon (1931), The Daughter of the Samurai (1937), Tokyo Joe (1949), Three Came Home (1950) ฯ

สำหรับนักแสดงอื่นที่ต้องพูดถึง
– Jack Hawkins (1910 – 1973) นักแสดงสัญชาติอังกฤษยอดฝีมือ ที่มักได้รับบทเกี่ยวกับทหาร อาทิ Angels One Five (1951), The Cruel Sea (1953), Ben Hur (1959), Lawrence of Arabia (1962) ฯ รับบท Major Warden ผู้พัน Macho ร่างใหญ่บึกบึนที่ชอบเล่นกับระเบิด เป็นผู้ชักชวนกึ่งบังคับ Shears ให้เป็นผู้นำทางสู่ค่ายกักกันที่เขาอุตส่าห์หลบลี้หนีออกมา ตลกคือระหว่างทางตัวละครนี้ถูกยิงที่เท้า เดินกระเผกๆไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำแคว คนบ้าทั้งหลายต่างสูญสิ้นเสียชีวิต แต่หมอนี่กลับรอดตาย เป็นไปได้ยังไง!

– James Donald (1917 – 1993) นักแสดงสัญชาติ Scottish รับบท Major Clipton แพทย์ทหารเจ้าของคำพูดสุดคลาสสิก ‘Madness!, Madness!’ กับตัวละครหลักๆของหนัง ต่างมีอีโก้สูง เห็นแก่ตัว ไม่ฟังคำใคร จากการวินิจฉัยได้ข้อสรุปว่า พวกเขาเหล่านี้เสียสติกันจริงๆ

ถ่ายภาพโดย Jack Hildyard ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เป็นช่างภาพสีคนแรกๆของอังกฤษ มีผลงานดังอาทิ Henry V (1944), Caesar and Cleopatra (1945), Anastasia (1956), Casino Royale (1967), The Wild Geese (1978) ฯ เหมือนว่านี่จะคือการร่วมงานครั้งสุดท้ายกับ Lean, หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Eastman ขนาด 35 mm เชื่อว่าต้องมีคนหลงคิดเป็นฟีล์ม 70 mm เป็นแน่ ต้องถัดจากเรื่องนี้นะครับ ที่หนังของ Lean จะมีความ Epic แท้จริงกับฟีล์ม 70mm ร่วมกับตากล้องในตำนาน Freddie Young

แต่ใช่ว่างานภาพจะไม่มีดี Hildyard คว้า Oscar: Best Cinematography ก็จากเรื่องนี้แหละ, ความโดดเด่นคือความยากลำบากในการถ่ายทำ ที่ต้องเดินทางเข้าไปในป่าลึก สิ่งความสะดวก ไฟฟ้าก็ยังเข้าไม่ถึง ฉากกลางคืนที่เห็น น่าจะถ่ายกลางวันแล้วใช้ฟิลเตอร์ถ่ายกลางคืน (Day for Night) ซึ่งผลลัพท์ที่ออกมา งดงามตราตะลึงในแทบทุกช็อต ขุนเขาพงไพร ต้นไม้ลำธาร แสงอาทิตย์สาดส่องลอดกิ่งก้านใบ นี่คงเป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกคนเมือง ยากนักจะได้พบเห็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ขนาดนี้

ในฉากค่ายกักกัน แทบทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นโทนสีน้ำตาล(และเขียว) ชุดทหาร, กระท่อม, พื้นดินลูกรัง ฯ นี่อาจเพราะแสงอาทิตย์เข้าร่วมด้วย ทำให้ล้างฟีล์มออกมาได้โทนสีนี้, แสงธรรมชาติมีผลต่อสีของฟีล์มในยุคนั้นเป็นอย่างมากนะครับ อันเนี่องจากข้อจำกัดที่มาจากประสิทธิภาพของกล้องเอง โดยเฉพาะแสงอาทิตย์แถบเอเชียบ้านเรา จะมีความเข้มสูงสว่างจร้ากว่าปกติ (หน้าร้อนบ้านเรา แดดแรง แสงจ้ามากๆ ผิดกับยุโรป/อเมริกาโดยสิ้นเชิง) ด้วยเหตุนี้มันเลยจะมีปฏิกิริยาต่อฟีล์มภาพยนตร์สมัยนั้น ให้สัมผัสที่ต่างออกไป

‎Anamorphic Widescreen ยังถือว่าเป็นขนาดภาพของเล่นใหม่ในยุคสมัยนั้น ซึ่งหนังมีการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากๆเรื่องหนึ่ง ช่วยขยายขอบเขตการมองเห็น โดยเฉพาะความกว้างด้านยาว ทำให้เห็นสะพานข้ามแม่น้ำแควแบบเต็มๆในช็อตเดียว หรืออย่างช็อตเรียงแถวเจ้าหน้าที่ทหารอาวุโส ครอบคลุมได้ทั้งหมดในระยะที่ไม่ต้องถอยไปไกลมาก แต่นี่เป็นสิ่งไม่ค่อยมีใครสมัยนี้พูดถึงเท่าไหร่แล้ว เพราะหลังจาก Ben-Hur (1959) และ Lawrence of Arabia (1962) แทบทั้งนั้นก็จะลืมหนังเรื่องนี้โดยปริยาย

สำหรับฉากระเบิดสะพาน ตอนโปรโมทหนังโปรดิวเซอร์อ้างว่าใช้ทุนสร้างเฉพาะสะพานนี้สูงถึง $250,000 เหรียญ แต่ผู้ออกแบบสะพานตัวจริง ให้สัมภาษณ์บอกภายหลังว่าใช้งบประมาณเพียง $52,085 เหรียญ เพราะการก่อสร้างใช้ชาวบ้านและช้างจากคนในพื้นที่ ตัดไม้ก็บริเวณใกล้เคียง มันจะไปสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอะไร, การถ่ายทำฉากนี้ เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องสร้างสะพานใหม่ถ้าเกิดความผิดพลาด จึงใช้กล้องหลายตัวถ่ายจากหลายทิศทาง … แต่ผมว่ามันก็ผิดคิวอยู่นะ คือแทนที่เสาทั้งสองฝั่งจะระเบิดพร้อมกัน แต่ฐานฝั่งหนึ่งกลับระเบิดก่อน แล้วรถไฟพุ่งลงตกรางไปเรียบร้อยแล้ว อีกฝั่งหนึ่งค่อยระเบิดหลังผ่านไปหลายวินาที นี่ดูยังไงก็ผิดคิวนะครับ แต่ตอนนั้นคงแค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว อย่างน้อยผู้ชมก็รับรู้ได้ นั่นคือสะพานจริงๆ รถไฟจริงๆ ไม่ใช่โมเดลจำลอง

เกร็ด: วันที่ถ่ายทำฉากนี้คือ 10 มีนาคม 1957 เห็นว่านายกรัฐมนตรีประเทศ Ceylon และคณะทำงาน ได้เดินทางมาร่วมชมการถ่ายทำด้วย แต่ปรากฎว่าเกิดเหตุขัดข้อง เพราะทีมงานคนหนึ่งวิ่งหนีออกจากพื้นที่ระยะระเบิดไม่ทัน ทำให้ต้องยุติการถ่ายทำ (ยังไม่ได้ระเบิดสะพาน) รถไฟ (ที่ไม่มีคนบังคับหยุด) พุ่งเข้าชนเครื่องปั่นไฟที่อยู่อีกด้านหนึ่งของสะพาน เกิดความชำรุดเสียหาย โชคดีที่ทีมงานสามารถแก้ไขซ่อมแซมเพื่อถ่ายทำใหม่ได้ทันในเช้าวันถัดไป

หลังถ่ายทำที่ Ceylon เสร็จสิ้น แผนการขนย้ายฟีล์มกลับคือทางเรือจากอินเดียสู่อังกฤษ แต่เกิดเหตุวิกฤตการณ์สุเอซ (Suez Crisis) จึงทำให้ต้องขนส่งทางอากาศ แล้วพัสดุส่งไม่ถึงปลายทาง เกิดความวุ่นวายค้นหากันทั่วโลก สัปดาห์ถัดมาโชคดีค้นพบเจอตกค้างอยู่ที่กรุง Cairo ประเทศอิยิปต์ แม้ฟีล์มจะไม่ถูกแสงแดดทำให้สิ้นสภาพ แต่ความร้อนก็ส่งผลต่อสีของภาพพอสมควร โชคดีที่ล้างออกมาแล้วยังมีคุณภาพพอใช้งานได้อยู่

เกร็ดความรู้: วิกฤตการณ์สุเอซ (29 ตุลาคม 1956 – 7 พฤศจิกายน 1956) เป็นความขัดแย้งในช่วงสงครามเย็น ที่เป็นชนวนเกือบทำให้เกิดสงครามระหว่าง อียิปต์ ต่อประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส และอิสราเอล มีมูลเหตุมาจากที่อียิปต์ต้องการให้คลองสุเอซ (ที่ขุดโดยเงินทุนของอียิปต์ กับฝรั่งเศส) กลายเป็นของประเทศตนเอง แต่คลองนี้มีความสำคัญต่ออังกฤษเพราะเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญ มายังประเทศอาณานิคมอินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และตะวันออกไกล ดังนั้นอังกฤษจึงซื้อหุ้นส่วนของอียิปต์ในคลองนี้มา ทำให้ตัวเองมีอำนาจเหนือคลองดังกล่าวและคานอำนาจกับฝรั่งเศส

ตัดต่อโดย Peter Taylor ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ที่คว้า Oscar: Best Edited ได้จากหนังเรื่องนี้, ความน่าสนใจอยู่ที่การดำเนินไปของหนัง เพราะสองตัวละครหลักประกอบด้วย Commander Shears และ Lieutenant Colonel Nicholson ประมาณกลางเรื่องพวกเขาจะแยกกันอยู่คนละสถานที่ เพื่อให้เรื่องราวมีความต่อเนื่อง หนังจึงต้องพยายามเล่าแต่ละส่วนไปพร้อมๆกัน ซึ่งทั้งสองเส้นทางจะกลับมาบรรจบอีกครั้งช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์

แต่ผมรู้สึกเสียดายกับประเด็นหลายอย่างที่หนังตัดทิ้งไป คงด้วยเรื่องเวลาเป็นปัจจัยหลัก อาทิ
– กระบวนการสร้างสะพาน จะมีให้เห็นแค่ความคืบหน้าเปลี่ยนแปลง โผล่มาอีกทีก็สร้างเสร็จแล้ว ไม่เห็นการตัดไม้ (อุตส่าห์พูดถึงนะ) เชื่อมต่อสองฝั่งสะพาน ฯ
– มันน่าจะมีความขัดแย้งเล็กๆระหว่างนายทหารกับ Nicholson เพราะแทนที่ผู้บังคับบัญชาของตนออกจากเตาอบแล้ว พวกเขาจะสบายขึ้น กลับต้องแบกรับภาระทำงานหนักกว่าเดิม ฯ

ส่วนตัวไม่คิดว่าการตัดต่อนี้มีความโดดเด่นระดับคว้า Oscar ได้เลย เพราะเรื่องราวทั้งสองฝั่งไร้ความสมดุลโดยสิ้นเชิง กล่าวคือครึ่งแรกเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับ Nicholson ส่วนครึ่งหลังก็มีแต่เรื่องของ Shears แถมช่วงท้ายก็เหมือนว่า จะใช้มุมมองของ Warden/Clipton ที่มองลงมาเห็นเหล่าคนบ้าสู้กันมากกว่า, แต่คงด้วยปริมาณฟีล์มฟุตเทจถ่ายทำที่คงมีมากโขอยู่ และวิธีการทำงานของ Peter Taylor ที่เป็นผู้รวบรวมปะติดปะต่อ ปั้นประกอบให้หนังเห็นเป็นเค้าโครงรูปร่างขึ้นมา ก่อนที่ผู้กำกับ Lean จะเข้ามาช่วยตบแต่งขัดเกลาขั้นตอนสุดท้าย อาจเป็นกระบวนการทำงานนี้ที่ทำให้ Taylor คว้า Oscar ก็เป็นได้

เพลงประกอบโดย Sir Malcolm Henry Arnold คีตกวีสัญชาติอังกฤษ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีหลากหลายแขนงมาก ไม่ใช่แค่เพลงประกอบภาพยนตร์ แต่ยังรวมถึงดนตรีคลาสสิก ประพันธ์ Symphony Orchestral ถึงเบอร์ 9 จนได้ประดับยศอัศวินเมื่อปี 1993

สำหรับหนังเรื่องนี้ Arnold มีเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น ในการแต่งเพลงบันทึกเสียง ‘worst job I ever had in my life’ แต่การคว้า Oscar: Best Score น่าจะทำให้เขาชื้นใจได้บ้าง

สำหรับบทเพลง The River Kwai March เป็นการเรียบเรียงคำร้องและประพันธ์ทำนอง Orchestra ให้กับบทเพลง Colonel Bogey March เจ้าของทำนองดั้งเดิมคือ Lieutenant F. J. Ricketts แต่งไว้เมื่อปี 1914 ไม่มีคำร้อง แต่ต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Tony O’Brien นักแต่งเพลงที่ทำงานให้กับรัฐสภาของอังกฤษ เขียนทำนองเพลงนี้เพื่อเป็นแนวชวนเชื่อ (Propaganda) ปลุกใจให้กับทหารอังกฤษ ขับร้อง/ผิวปาก ขณะกรีธาเท้าเดินทัพเข้าสู่รบ คำร้องต้นฉบับมีว่า

Hitler has only got one ball,
Göring has two but very small,
Himmler is somewhat sim’lar,
But poor Goebbels has no balls at all!

เดิมนั้น Lean ตั้งใจแค่ให้มีเสียงผิวปากขณะที่ทหารอังกฤษเดินเท้าเข้าสู่ค่ายกักกัน แต่ Arnold ได้นำทำนองเพลงพัฒนาจนต่อกลายเป็น Main Theme ที่เราจะได้ยินอยู่เรื่อยๆหลายครั้งในหนัง

นอกจากบทเพลงนี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่ง Soundtrack เพราะๆ ชื่อเพลง Sunset (พระอาทิตย์ตกดิน) ด้วยเสียงของฟลุต คาริเน็ต และฮาร์ป ทำให้เกิดความสุขล้น อิ่มเอิบ พึงพอใจ, บทเพลงนี้ดังขึ้นขณะที่สะพานสร้างเสร็จแล้ว Nicholson และ Saito กำลังชื่นชมผลงานของตัวเองครั้งสุดท้าย หยุดยืนมองพระอาทิตย์กำลังลับขอบต้นไม้สูง ‘It’s beautiful.’

The Bridge on the River Kwai คงจะคือความคิดฝันต้องการของผู้เขียนนิยาย Pierre Boulle (1912 – 1994) ที่นำความคับข้องใจจากประสบการณ์จริงของตนเองขณะถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกัน คุณภาพชีวิตของพวกเขาคงค่อยข้างย่ำแย่สิ้นหวัง ส่วนเจ้าหน้าที่อาวุโสก็ปอดแหกไม่กล้าเรียกร้องท้าทายอะไรทั้งนั้นต่อผู้คุมญี่ปุ่น ถ้าตอนนั้นฉันเป็น… (แบบตัวละคร Nicholson) … ต้องการอย่างยิ่งที่จะแสดงเช่นนี้ออกมา

(แต่การันตีได้เลยว่า ถ้าทำเช่นนั้นย่อมต้องถูกยิงเสียชีวิตแน่นอน)

Pierre Boulle ยังเป็นผู้เขียนนิยายไซไฟเรื่อง Planet of the Apes (1963) ด้วยนะครับ นี่แปลว่าเขามองเหตุการณ์ความโชคร้ายของตนเองนี้ คือจุดตกต่ำสุดของโลกมนุษย์ ความรุนแรงป่าเถื่อนไร้อารยธรรม เกิดใหม่เป็นลิงยังจะดีเสียกว่า!

ใจความหนังเรื่องนี้สามารถมองได้คือ ความพยายามของชาติตะวันตกนำเอาสิ่งที่เรียกว่า ‘อารยธรรม’ บุกเบิกเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนชาติตะวันออกที่ยังไร้ซึ่งความอารยะ, หน่วยทหารของ Nicholson แม้เป็นผู้ยกธงขาวพ่ายแพ้แก่ทหารญี่ปุ่น แต่เมื่อต้องตกเป็นเชลยยังคงมีความพยายามรักษาระเบียบของทหารเอาไว้ เพราะมีทัศนะอุดมการณ์ว่า เมื่อใดมนุษย์ละทิ้งกฎเกณฑ์ทางสังคมที่สร้างขึ้นมา ก็จะตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง หดหู่ ไร้เรี่ยวแรง รอวันตาย สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ แน่นอนชนชาติป่าเถื่อนอย่างญี่ปุ่น แรกๆย่อมต้องไม่มีทางยินยอมรับ แต่ด้วยเพราะความจำเป็นบางอย่าง จำต้องลดทิฐิของตนเองลง เปิดรับความอารยธรรมใหม่ของชาติตะวันตกเข้ามา

นี่มันแนวคิด Colonialism (ยุคล่าอาณานิคม) เลยนะครับ? ชนชาติตะวันตกยกตนเองว่าเป็นผู้มี ‘อารยะ’ เหนือชนชาติตะวันออกผู้ไร้อารยะ จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการแนะนำสั่งสอนขัดเกลาจากพวกเขา นี่ฟังเหมือนเป็นอุดมการณ์น่ายกย่องอย่างยิ่ง แต่กับคนที่ตั้งใจเรียนวิชาสังคมศาสตร์จะรู้ว่า มันคือเรื่องโป้ปดหลอกลวงทั้งเพ, ความต้องการแท้จริงของชาวตะวันตกคือ ‘ทรัพยากรธรรมชาติ’ เข้ามาขุดทอง สูบเลือดเนื้อ นำทุกสิ่งที่เป็นประโยชน์ส่งกลับไปประเทศตนเอง (เพราะประเทศของพวกเขาไม่หลงเหลือทรัพยากรธรรมชาติอะไรแล้ว) ซึ่งวันใดที่ดินแดนแห่งนั้นไม่หลงเหลืออะไรอีกต่อไปแล้ว ก็ถึงเวลา say goodbye บ้าบายลาจากกันเสียที

ถ้าหนังจบแค่นี้ผมคงได้เขวี้ยงคอมทิ้งไม่พอใจมากแน่ๆ เพราะมองได้เป็นการชวนเชื่อค่านิยมแฝงทัศนคติ’เหยียด’ชนชาติเอเชีย แต่เพราะการใส่ตัวละคร Shears ที่เป็นการตบหัวแล้วลูบหลัง เมื่อกลุ่มของผู้อารยธรรมย้อนกลับมาทำลายตัวเอง อันมีสาเหตุจากความเย่อหยิ่งยโส หลงตัวเองของชาติตะวันตก สุดท้ายเลยไม่ได้อะไรกลับไปทั้งนั้น ทุกอย่างกลับสู่ศูนย์ ตอนจบได้เปลี่ยนทัศนะมุมมองของหนังไปโดยสิ้นเชิง

สำหรับประเด็นสงครามคือความบ้าคลั่ง กับวลีเด็ดของหนัง ‘Madness!, Madness!’ ไม่รู้นี่เป็นคำจากนิยายหรือฉบับภาพยนตร์เขียนขึ้นมาใหม่ แต่ต้องถือว่าอธิบายทุกสิ่งอย่างเหตุการณ์ของหนังได้ลงตัวมากๆ ทุกตัวละครในเรื่องนี้ต่างเสียสติกันทั้งนั้น
– Nicholson คือคนบ้าที่ต้องการนำ ‘อารยธรรม’ สู่ดินแดนไร้อารยธรรม
– Saito คือคนบ้าที่ปกครองดินแดนไร้อารยธรรม
– Shears เกือบจะเป็นคนปกติแล้วที่แสวงหาดินแดนอารยธรรม แต่กลายเป็นคนบ้าทันทีเมื่อต้องหาทางกลับสู่ดินแดนไร้อารยธรรม
– Warden หมอนี่บ้าแน่นอน อยู่โลกอารยธรรมแท้ๆ กลับแสวงหาเดินทางสู่ดินแดนไร้อารยธรรม
– Clipton ปกติแล้วหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยคนบ้า แต่เมื่อทุกคนรอบข้างกลายเป็นคนบ้า … เขาเลยกลายเป็นคนบ้าที่พึมพัม ‘Madness!, Madness!’

คำพูดสุดท้ายของ Nicholson ที่ว่า ‘What have I done?’ เป็นการตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองทำ แทนที่การมอบอารยธรรมให้ชนชาติป่าเถื่อนจะทำให้ชนชาติตัวเองมีความยิ่งใหญ่น่างเกรงขามขึ้นกว่าเดิม แต่กลับกลายเป็นพวกเขาเองที่สูญสิ้นความมีอารยะไป กล่าวคือ คิดทำลายอารยะธรรมที่สร้างขึ้นกับมือเองได้ลงคอ นี่คือคำพูดเชิงตัดพ้อต่อความบ้าคลั่งของการมีอารยธรรม (ไม่ใช่สำนึกที่ตัวเองสร้างสะพานขึ้นนะครับ)

ตัวละคร Nicholson ถือว่ามีความน่าสนใจมากๆทีเดียว คนส่วนใหญ่คงมองเขาว่าเป็นคนบ้า แต่ผมเรียกว่าผู้มากด้วยอุดมการณ์ สิ่งที่เขาสร้างขึ้นนี้คือ ‘สะพาน’ เปรียบได้กับจุดเชื่อม รอยต่อระหว่างสองชนชาติเผ่าพันธุ์/อารยธรรม มันคือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เมื่อสร้างเสร็จ ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจเป็นที่สุด, แต่การถูกระเบิดทำลาย โดยพรรคพวกฝั่งเดียวกันเอง นี่เป็นสิ่งที่เขาไม่เข้าใจเอาเสียเลย มันควรเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ยืนยงคงกระพันนานกว่า 200 ปีไม่ใช่หรือ! … ถ้าเรามองว่า หนังมีใจความสื่อถึง Colonialism ประเทศที่เป็นเจ้าของอาณานิคม (เช่น อังกฤษ ฯ) เป็นผู้มาถ่ายทอดอารยะให้กับชนชาติอาณานิคมนั้นๆ และสุดท้ายก่อนจากไป ก็จะเป็นผู้ทำลายทิ้งขว้างทุกสิ่งอย่างเสียเอง

“สิ่งใดที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ย่อมกลายเป็นผู้ทำลายมันเอง”

เราสามารถมองได้ว่านี่คือการให้นิยามความหมายของการเกิด’สงคราม’ ของผู้เขียน เพื่อยึดครอง ครอบงำ แสวงหาผลประโยชน์ อันมีจุดเริ่มต้นจากความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน อันไร้จุดสิ้นสุดของมนุษย์ แต่ไม่ว่าใครหรือประเทศใดที่เชื่อมั่นในเป้าหมายนี้ สุดท้ายก็จะต้องพบจุดจบด้วยน้ำมือของตนเอง … เข้าสักวันหนึ่ง

ด้วยทุนสร้าง $2 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอเมริกาสูงสุดแห่งปี $18 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลก $30.6 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามาได้ 7 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Alec Guinness)
– Best Supporting Actor (Sessue Hayakawa) **สาขาเดียวที่ไม่ได้รางวัล
– Best Adapted Screenplay
– Best Film Editing
– Best Cinematography
– Best Music, Scoring

เกร็ด: Alec Guinness ในปีนั้นไม่ได้เข้าร่วมงานประกาศรางวัล เป็น Jean Simmons ขึ้นรับรางวัลแทน

ส่วน Golden Globe Award เข้าชิง 4 สาขา ได้มา 3 รางวัล
– Best Motion Picture – Drama
– Best Director
– Best Actor – Drama (Alec Guinness)
– Best Supporting Actor (Sessue Hayakawa) **สาขาเดียวที่ไม่ได้รางวัล

ผมรับชม The Bridge on the River Kwai มาก็หลายรอบ บอกตามตรงไม่เคยเกิดความรู้สึกหลงใหลคลั่งไคล้หนังเสียเท่าไหร่ คงเพราะความยาวที่มากเกินไป และหนังมีลักษณะชวนเชื่ออุดมการณ์อารยธรรมชาตินิยม อันทำให้ผมเกิดความรู้สึกคับข้องขัดแย้งในใจ และชีวิตจริงเรื่องราวแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่เพราะความยิ่งใหญ่อลังการ Epic สวยงามตระการจิต รับชมกี่ครั้งก็ยังตื่นตาประทับใจมิรู้ลืม

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ตัดความสมเหตุสมผลออก หนังแฝงแนวคิดเกี่ยวกับการมีอยู่ของอารยธรรมที่น่าสนใจ จริงอยู่สงครามทำให้คนเป็นบ้า ในป่าลึกก็มีแต่คนทราม แต่อะไรคือเส้นบางๆแบ่งไว้ มนุษย์-สัตว์ ทำเพื่อตนเอง-ผู้อื่น อารยธรรม-ป่าเถื่อน ไม่มีใครถูกผิดในหนังเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกข้างปฏิบัติตามได้ นี่เป็นสิ่งมีคุณประโยชน์แน่นอน

จัดเรต 13+ กับภาพความรุนแรง ทั้งการกระทำและแนวคิด

TAGLINE | “The Bridge on the River Kwai สะพานเชื่อมความฝัน จุดเริ่มต้นความอลังการ Epic ของ David Lean แม้มีความทุลักทุเลบ้าง แต่ก็ยากจะลืมเลือน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: