The Nightmare Before Christmas

The Nightmare Before Christmas (1993) hollywood : Henry Selick ♥♥♥♥

ภาพยนตร์อนิเมชั่น Stop-Motion เรื่องที่น่าจะโด่งดังสุดในโลก มักออกฉายซ้ำทุกๆ Halloween ดัดแปลงจากบทกวีของ Tim Burton แต่เพราะติดสัญญาต้องกำกับ Batman Returns (1992) จึงมอบหมายให้เพื่อนสนิท Henry Selick สานต่องานแทน ด้วยสไตล์ German Expressionism เด็กๆอาจฝันร้าย ส่วนผู้ใหญ่จะอึ้งทึ่งกับความงามทางศิลปะ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เมื่อพูดถึงเทศกาล Halloween มักมีภาพยนตร์ 2 เรื่องที่ใครๆมักระลึกถึง
– Halloween (1978) ของผู้กำกับ John Carpenter เพราะชื่อหนังตรงกับชื่อเทศกาลที่สุดแล้ว แต่ขอยกไว้เขียนปีถัดๆไปแล้วกัน (ให้ช่วงเทศกาลนี้ปีอื่นมีอะไรให้เขียนถึงบ้าง),
– อีกหนึ่งคืออนิเมชั่น Stop-Motion ในตำนาน The Nightmare Before Christmas (1993) แม้ชื่อจะชวนให้สับสนกับวันคริสต์มาส แต่นี่คือภาพยนตร์แห่งเทศกาล Halloween แถมดูได้ทั้งครอบครัวในค่ำคืนแห่งการระลึกถึงความตาย

ขอเท้าความถึงต้นกำเนิดเทศกาลสักหน่อยก่อนแล้วกัน, Halloween ในคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก เพี้ยนมาจากคำ All Hallows Eves (Hallow + Eve = Halloween) โดยคำว่า Hallow แปลว่า ทำให้ศักดิ์สิทธิ์, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, ผู้ศักดิ์สิทธิ์, นักบุญ ฯ ดังนั้น All Hallow Eve จึงแปลว่า วัน(ก่อน)สมโภชนักบุญทั้งหลาย มักคู่กับ Christmas Eve ซึ่งแปลว่า วัน(ก่อน)สมโภชพระคริสต์ หรือค่ำคืน(ก่อน)คริสต์มาส

วันฮาโลวีนของทุกปี จะตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม เชื่อว่ามีที่มาจากวันฉลองปีใหม่ของชาวเซลท์ (Celt) ในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่เรียกว่า Samhain ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งความตาย ซึ่งวันที่ 31 ตุลาคม ถือเป็นวันที่มิติคนตายและคนเป็นจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมา จะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อสิงสู่ เพื่อที่จะได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เดือดร้อนถึงคนเป็น ต้องหาทุกวิถีทางที่จะไม่ให้วิญญาณมาสิงสู่ร่างตน ชาวเซลท์จึงปิดไฟทุกดวงในบ้าน ให้อากาศหนาวเย็น และไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาผีร้าย และยังพยายามแต่งกายให้แปลกประหลาด ปลอมตัวเป็นผีร้าย และส่งเสียงดัง เพื่อให้ผีตัวจริงตกใจหนีหายสาบสูญไป

ในสมัยต่อมา ชาวโรมันคาทอลิกต้องการกำจัดพิธีเฉลิมฉลองของกลุ่มชนนอกศาสนาคริสต์เหล่านี้ สันตะปาปา Gregory ที่ 4 จึงได้กำหนดวันที่ 1 พฤศจิกายนให้เป็นวันเฉลิมฉลอง All Saints Day หรือ All Hallows Day สำหรับชาวคริสต์เพื่อระลึกถึงนักบุญ และผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่การเฉลิมฉลองในคืนวันที่ 31 ตุลาคม หรือ Hallow´s Eve ก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่ชื่อเรียกได้เพี้ยนไปเป็น Halloween

แต่เดิมนั้น เทศกาลฮาโลวีนจัดขึ้นในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ และประเทศข้างเคียงเท่า แต่เมื่อชาวไอริช และชาวสก็อต อพยพไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1840 ก็นำเอาประเพณีนี้ไปปฏิบัติด้วย ปรากฏว่าถูกใจชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา กลายเป็นเทศกาลประจำชาติจนทุกวันนี้

กิจกรรมในวันฮาโลวีน เน้นเพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก
– เด็กๆ จะแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจพากันชักชวนเพื่อนฝูงออกไปงานฉลอง เรียกว่า การเล่น Trick or Treat (หลอกหรือเลี้ยง) เดินเคาะประตูขอขนมตามบ้าน,
– นอกจากนี้ยังมีการนำแอปเปิ้ล กับเหรียญชนิดหกเพนซ์ใส่ลงในอ่างน้ำ หากใครสามารถแยกแยะของสองอย่างนี้ออกจากกันได้ด้วยการใช้ปากคาบเหรียญขึ้นมา และใช้ส้อมจิ้มแอปเปิลให้ติดเพียงครั้งเดียว ถือว่าผู้นั้นจะโชคดีตลอดปีใหม่ที่กำลังมาถึง,
– ทางด้านสาวอังกฤษสมัยก่อนจะออกไปหว่านและไถกลบเมล็ดป่านชนิดหนึ่งในยามเที่ยงคืนของวันฮาโลวีน พร้อมกับเสี่ยงสัตย์อธิษฐานด้วยการท่องคาถาว่า ‘เจ้าเมล็ดป่านที่ข้าหว่านจงช่วยบันดาลให้ผู้ที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของข้าปรากฏตัวให้เห็น’ หลังจากนั้นลองเหลียวมองผ่านบ่าด้านซ้ายของตนเองดู ก็จะได้เห็นนิมิตเรือนร่างของผู้ที่จะมาเป็นสามีในอนาคตของตน

ตำนานที่เกี่ยวกับฟักทอง เป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวไอริช กล่าวถึง แจ๊กจอมตืด (Stingy Jack) ซึ่งเป็นนักเล่นกลขี้เมา วันหนึ่งหลอกล่อปีศาจขึ้นไปบนต้นไม้และเขียนกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้ ทำให้ปีศาจลงมาไม่ได้ จากนั้นเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจ ‘ห้ามนำสิ่งไม่ดีมาหลอกล่อเขาอีก’ แล้วเขาจะปล่อยปีศาจลงจากต้นไม้ เมื่อแจ๊กตายลง เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์ เพราะเขามีความคิดไปในทางของความชั่วร้าย ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะลงนรก เพราะเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจไว้ ปีศาจจึงให้ถ่านที่กำลังคุแก่เขา เพื่อให้เขาใช้นำทางไปในทางที่มืดมิด และหนาวเย็น และแจ๊กได้นำถ่านนี้ใส่ไว้ในหัวผักกาดเทอร์นิพที่ถูกเจาะให้กลวง เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วงได้นานขึ้น ชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาด (Turnip) และใส่ไฟในด้านใน อันเป็นอีกสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน เพื่อระลึกถึง ‘การหยุดยั้งความชั่ว’ เพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับ และพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญวันปีใหม่ แต่เมื่อมีการฉลองฮาโลวีนในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันพบว่าฟักทองหาง่ายกว่าหัวผักกาดมาก จึงเปลี่ยนมาใช้ฟักทองแทน

reference: https://hilight.kapook.com/view/30133

Timothy Walter Burton (เกิดปี 1958) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ นักเขียน/นักวาดสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Burbank, California ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการร้าน Gift Shop มีของเล่นมากมาย ทำให้ Burton นิยมชมชอบเล่นกล้องถ่ายภาพทำหนังสั้น สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นำมาทำเป็น Stop-Motion อนิเมชั่น โตขึ้นเข้าเรียน California Institute of the Arts ศึกษา Character Animation (CalArts) จบออกมาสมัครงานที่ Walt Disney ทำงานเป็น animator วาดภาพ storyboard ออกแบบ concept artist ให้กับอนิเมชั่นเรื่อง The Fox and the Hound (1981), Tron (1982), The Black Cauldron (1985) ฯ

ระหว่างอยู่ที่ Disney ยังมีโอกาสสร้างอนิเมชั่น/Stop-Motion ขนาดสั้น อาทิ Vincent (1982), Frankenweenie (1984) ฯ จนได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Pee-wee’s Big Adventure (1985)

นับตั้งแต่ความสำเร็จของ Vincent (1982) ทำให้ Tim Burton แต่งกวีความยาว 3 หน้ากระดาษตั้งชื่อว่า The Nightmare Before Christmas (1982) ได้แรงบันดาลใจจากช่วงชีวิตวัยเด็ก ที่พอถึงช่วงเทศกาลสิ้นปีทีไร ห้างสรรพสินค้ามักจำหน่ายวางขายของ Halloween ควบคู่กับ Christmas ไปพร้อมๆกัน แล้วถ้ามีคนหยิบสลับ ซื้อผิด มันคงน่าขบขันไม่น้อย,

ส่วนผสมของบทกวีนี้ ยังนำแรงบันดาลใจจาก Rudolph the Red-Nosed Reindeer, How the Grinch Stole Christmas! และบทกวีชื่อ A Visit from St. Nicholas, ใครมี DVD/Blu-ray จะมีคลิปเสียงอ่านประกอบภาพ Original Poem โดย Christopher Lee โชคดีมีใน Youtube นำมาให้รับชมฟังกัน

ด้วยความตั้งใจให้เป็นหนังสั้น หรือฉายรายการพิเศษทางโทรทัศน์ แต่พอ Disney นำไปพิจารณากลับขึ้นหิ้งไว้ เพราะรู้สึกว่า ‘too weird’ แปลกประหลาดเกินไป ไม่นานจากนั้น Burton ก็ถูกไล่ออก ทำให้เขาไปสร้าง Beetlejuice (1988) กับ Batman (1989) ให้ Warner Bros. จนประสบความสำเร็จล้นหลาม

เพราะความที่พัฒนาโปรเจคนี้ไว้กับ Disney ทำให้ลิขสิทธิ์มิอาจเปลี่ยนมือได้ Burton หลังจากสร้างชื่อให้กับตัวเอง จึงต้องการหวนกลับมาสานต่องาน ยื้อจนผู้บริหารยินยอมตกลง แต่นำไปฝากฝังกับ Touchstone Pictures (สตูดิโอลูกของ Disney) เพราะไม่อยากติดโลโก้ Disney หน้าหนัง กลัวว่าจะมืดหม่นน่ากลัวเกินไปสำหรับเด็ก ‘too dark and scary for kids’

แต่ความที่ Burton โด่งดังแล้วงานล้นมือ ยังมีสัญญาติดค้างกับ WB ต้องกำกับภาคต่อของ Batman มิอาจเสียเวลาเป็นปีๆเพื่อโปรดักชั่น Stop-Motion ทำให้ต้องไหว้วานฝากงานกับ Henry Selick เพื่อนสนิทนักอนิเมเตอร์ร่วมรุ่น ให้เข้ามาดูแลกำกับงานสร้างทั้งหมด

Henry Selick (เกิดปี 1952) ผู้กำกับอนิเมชั่น Stop-Motion ชื่อดัง เกิดที่ Glen Ridge, New Jersey ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบหลงใหลในผลงานของ Lotte Reiniger เรื่อง The Adventures of Prince Achmed (1926) และสัตว์ประหลาดใน The 7th Voyage of Sinbad (1958) โตขึ้นเลือกเข้าเรียนศิลปะที่ Syracuse University ตามด้วย Central Saint Martins College of Art and Design และ California Institute of the Arts ระหว่างเรียนได้ฝึกงาน ‘in-betweener’ กับ Walt Disney ทำอนิเมชั่นเรื่อง Pete’s Dragon (1977), The Small One (1978) จบออกมาได้กลายเป็นพนักงานเต็มตัวเรื่อง The Fox and the Hound (1981) ทำให้ได้รู้จักร่วมงานกับ Tim Burton

กลายเป็นส้มหล่นโดยไม่รู้ตัวสำหรับ Selick ไม่ได้มีความสนใจเป็นผู้กำกับอนิเมชั่นตั้งแต่แรก แต่เพราะเป็นคนเดียวที่มาด้วย passion และ Burton เชื่อมือให้สานต่อโปรเจคนี้ กลายเป็นผลงาน debut จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับโอกาสสร้างอนิเมชั่น Stop-Motion อีกหลายเรื่อง อาทิ James and the Giant Peach (1996), Coraline (2009) ฯ ปัจจุบันทำงานอยู่กับ Pixar หัวหน้าแผนก Stop-Motion โดยเฉพาะ

สำหรับบทหนัง Burton ตั้งใจมอบหมายให้ Michael McDowell นักเขียนที่เคยร่วมงานกันเรื่อง Beetlejuice (1988) แต่หลังจากคุยไปคุยมา ได้รับการเสนอแนะให้ทำเป็น Musical ร้องเล่นเต้นจะมีความน่าสนใจกว่า ผู้กำกับจึงได้ติดต่อกับ Danny Elfman นักแต่งเพลงขาประจำ ร่วมกันเริ่มต้นพัฒนาเพลงประกอบหนังขึ้นก่อน

“one of the easiest jobs I’ve ever had. I had a lot in common with Jack Skellington.”

– Danny Elfman พูดถึงการเขียนเพลงประกอบอนิเมชั่นเรื่องนี้

Elfman แต่งทั้งหมด 11 เพลงทั้งทำนองและคำร้องขึ้นก่อนจนเสร็จ จากนั้น Burton ไปว่าจ้างนักเขียนอีกคน Caroline Thompson ให้มาช่วยขัดเกลาบทหนังสอดคล้องรับกับบทเพลง แต่ก็เกิดความล่าช้าไปมาก เพราะโปรดักชั่นเริ่มแล้ว แต่บทหนังก็ยังเขียนไม่เสร็จ

เรื่องราวของ Jack Skellington เจ้าของฉายา ‘Pumpkin King’ แห่งเมือง Halloween Town เกิดความเบื่อหน่ายในอาชีพการงานของตนเอง วันหนึ่งได้ค้นพบประตูวิเศษนำพาเขาไปถึงเมือง Christmas Town เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ในโลกใบนั้น ต้องการเป็นผู้นำเริ่มต้นเทศกาลคริสต์มาสด้วยตนเอง เรื่องราววุ่นๆราวกับฝันร้าย (Nightmare) ในค่ำคืน Christmas Eve จึงเริ่มขึ้น

เกร็ด: ประตูวันหยุดทั้ง 7 บาน ประกอบด้วย
– รูปฟักทอง (Pumpkin) สำหรับ Halloween
– ต้นคริสต์มาส สำหรับ Christmas
– ไก่งวง (turkey) สำหรับ Thanksgiving
– ไข่ สำหรับ Easter
– ใบโคลเวอร์สีเขียว 4 แฉก สำหรับ St. Patrick’s Day
– หัวใจสีแดง สำหรับ Valentine
– และดอกไม้ไฟสีแดงขาว น่าจะคือ Independence day

การออกแบบ Jack Skellington มีลักษณะเป็นโครงกระดูกสีขาว สูงโปร่ง (เย่อหยิ่ง ทะนงตน เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน) หัวกลมเหมือนผักกาด ไร้ดวงตา (ไร้วิสัยทัศน์) สวมใส่ทักซิโด้สีขาวสลับดำ (ภายนอกเป็นสุภาพบุรุษ แต่ข้างใน…) ตรงคอผูกโบว์ค้างคาว (หากินกลางคืน), Danny Elfman ตัดสินใจเป็นเสียงร้องของตัวละครนี้ และได้เลือก Chris Sarandon ที่มีสไตล์การพูดคล้ายกันมาให้เสียงพากย์ปกติ

Jack เป็นตัวละครที่มี Expression การแสดงออกทางสีหน้ามากที่สุด (เพราะเป็นตัวละครหลัก) ทีมงานจึงต้องสร้างส่วนหัวที่มีการขับเคลื่อนไหวของปาก ดวงตา ยิ้ม หัวเราะ ทำหน้าเครียด ฯ รวมแล้วกว่า 400 ชิ้น

Sally (พากย์เสียงโดย Catherine O’Hara) สิ่งประดิษฐ์ของ Finklestein มีลักษณะเป็นหุ่นประกอบ มีรอยเย็บปะเต็มตัว ชุดทำมาจากเศษผ้า (แสดงถึงฐานะอันต้อยต่ำ) มีความชื่นชอบตกหลุมรัก Jack เชีี่ยวชาญด้านพิษวิทยา (toxicologist) พยายามหาทางหนีเป็นอิสระจากการคุมขังของ Finklestein

เพราะความรักที่มีต่อ Jack ไม่ต้องการให้เขาสูญเสียความมั่นใจ พยายามที่จะชี้แนะนำ แม้ไม่สำฤทธิ์ผลแต่ภายหลังก็ทำให้เขามองเห็นคุณค่าของเธอ

เกร็ด: ส่วนหัวของ Sally เห็นว่ามีเพียง 10 กว่าแบบเท่านั้น เพราะเดิมมีหน้ากากปิดปากสวมอยู่ แต่ภายหลังได้ตัดสินใจลบออก แล้วแทรก CG ขยับปากพูดเข้าไปแทน

Doctor Finklestein (พากย์เสียงโดย William Hickey) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ หรือ Mad Scientist (ได้เครดิตว่า Evil Scientist) เป็นบิดาผู้ให้กำเนิด Sally, ใบหน้ามีลักษณะเหมือนเป็ด สวมแว่นเดินไม่ได้ (เฉลียวฉลาดแต่พึ่งพาไม่ค่อยได้) สามารถเปิดกระโหลกศีรษะเห็นสมอง หยิบออกมาใส่หุ่นโคลนของตนเอง

นิสัยของคนเป็นพ่อมักจะหึงหวงลูกสาวของตน แต่ความรักของ Finklestein มากล้นเกินไป ถึงขนาดพยายามกักขังหน่วงเหนี่ยว มอง Sally ราวกับสิ่งของของตน ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้เชยชม

Oogie Boogie (พากย์เสียงโดย Ken Page) ปีศาจถุงกระสอบทราย ข้างในบรรจุไปด้วยแมลงหลากหลายสายพันธุ์ มีลักษณะเหมือนปลาดาว อาศัยอยู่ใต้ดิน มีความชื่นชอบการพนันเป็นชีวิตจิตใจ และใช้ความหวาดกลัวเป็นอาวุธ (แต่ไฉนกลับกลัว Jack เสียอย่างงั้น)

สำหรับตัวละครที่ผมชอบสุด คือ Mayor (พากย์เสียงโดย Glenn Shadix) นายกเทศมนตรีเมือง Halloween Town ผู้มีสองหน้าในคนเดียว Two-Faced คือหน้ายิ้ม (Happy) กับหน้าเศร้า (Sad) [แต่เหมือนหน้าโกรธมากกว่า] นี่เป็นการสะท้อนตัวตนของนักการเมือง/ผู้นำสังคม ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สวมหน้ากากไม่รู้หน้าไหนเป็นตัวจริง

แถมรูปร่างอ้วนป้อม ลงพุง (ท่าทางคงจะกินจุน่าดู) มีแมงมุมติดปกเสื้อ (มักคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง) เอาจริงๆไม่ได้มีความคิดอ่านอะไรเป็นของตัวเอง มักเออออคล้อยตาม Jack อยู่เสมอ

เดิมนั้นเสียงพากย์จะมี Prologue/Epilogue ของ Sir Patrick Stewart อยู่ด้วย แต่ถูกตัดออกไป กระนั้นในอัลบัมเพลงประกอบ ได้มีการใส่เสียงบรรยายนี้เข้ามาด้วย

ต้องบอกเลยว่าเสียงพากย์ของ Stewart ลีลาแบบว่าสุดๆเลย เล่นเสียงสูงต่ำ หนักเบา ได้จังหวะอย่างลงตัว ทรงพลัง

โปรดักชั่นเริ่มต้นกรกฎาคม 1992 ที่ San Francisco, California ด้วยทีมงาน 120 คน สร้างฉาก 20 Sound Stages ประกอบหุ่น 227 ตัว ด้วยความเร็วภาพที่ใช้คือ 24 fps (24 ภาพต่อวินาที) รวมๆแล้ว 76 นาที ต้องถ่ายภาพทั้งหมด 109,440 ช็อต

สไตล์ของการออกแบบ มีลักษณะคล้ายกับ German Expressionism รับอิทธิพลจากสองนักวาดการ์ตูนชื่อดัง Ronald Searle และ Edward Gorey สังเกตว่าพื้นดิน, ภูเขา, ต้นไม้ จะมีลวดลายผืนผิว Texture เป็นเส้นขีดต่อเนื่องยาวๆ นี่ให้สัมผัสคล้ายกับ Living Illustration

ตัวอย่างผลงานของ Ronald Searle (1920 – 2011) ศิลปิน นักวาดการ์ตูนล้อเลียนสัญชาติอังกฤษ

Edward Gorey (1925 – 2000) นักเขียนและนักวาด Illustrated Book โดดเด่นมากเรื่องภาพ pen-and-ink ราวกับเคลื่อนไหวได้

ฉากยากสุดในการถ่ายทำคือ ช็อตเปิดประตูตรงต้น Christmas มีการ Close-Up ไปที่ลูกบิดซึ่งดันเห็นภาพสะท้อนกับใบหน้าของ Jack, บอกตามตรงผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าช็อตนี้ถ่ายทำอย่างไร เห็นว่าไม่มีการใช้ CG ใดๆเข้าช่วยด้วยเป็นมุมกล้องล้วนๆ

สำหรับเพลงประกอบ This is Halloween คือไฮไลท์แรกของอนิเมชั่น นักพากย์ทุกคนจะร่วมกันขับร้องเพลงนี้  (ถ้าตั้งใจฟังดีๆ จะได้ยินเสียงของ Patrick Stewart ด้วยนะครับ) เพื่อทำการแนะนำเมือง Halloween Town และตัวละครทั้งหลาย

บทเพลงตัดพ้อรำพันของ Jack’s Lament ต่อความเบื่อหน่ายในชีวิต ไร้ซึ่งเป้าหมาย มีแต่อะไรซ้ำๆเกิดขึ้นเวียนวนไม่รู้จักจบจักสิ้น, นี่คือเสียงร้องของ Danny Elfman นะครับ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีลีลาราวกับนักแสดง Broadway

บทเพลงที่เป็นไฮไลท์ What’s This? ทำนองดนตรีนี้ใครเป็นแฟนของ Danny Elfman ย่อมคุ้นหูเป็นอย่างดี เป็นการแสดงความประหลาดใจของ Jack คาดคิดไม่ถึงกับสิ่งที่พบเห็น ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าจะมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดกิเลสโลภละโมบโหยหา แสดงความกระหายต้องการออกมา

Christmas จะวุ่นวายขนาดไหน ถ้าตัวละครจาก Halloween ไปปรากฎโผล่อยู่ บทเพลง Christmas Eve Montage เป็น Soundtrack ที่มีส่วนผสมของความสับสนวุ่นวายอลม่าน การเผชิญพบหน้าระหว่างสองเทศกาล Halloween vs Christmas นี่เป็นการผสานสองแนวดนตรีเข้ากันได้อย่างลงตัวมากๆ

และบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุด Poor Jack เมื่อราชาฟักทองได้พบเจอความผิดพลาด ไม่สมหวังจากการพยายามเป็นซานตาคลอส นี่คือวินาทีที่เขาเข้าใจตัวเอง ฉันเป็นใคร ทำอะไรได้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปลอมตัว กลายเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเอง

ต้องยกย่องเลยว่าบทเพลงของ Elfman คือไฮไลท์ที่ทำให้อนิเมชั่นเรื่องนี้ตราตรึง มีความไพเราะเสนาะหู คลาสสิกฟังง่าย ทรงพลัง สอดคล้องเข้ากับสไตล์การออกแบบ และเทศกาล Halloween vs Christmas เป็นที่สุด

เกร็ด: Elfman ได้เข้าชิง Golden Globe Award: Best Original Score จากอนิเมชั่นเรื่องนี้ แต่หลุดโผลไม่ได้เข้าชิง Oscar ปีนั้น

เรื่องราวของอนิเมชั่นเรื่องนี้ เป็นการค้นหาตัวเองของ Jack Skellington แม้เขาจะเป็นถึง ‘Pumpkin King’ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดใน Halloween Town แต่กลับไม่มีความเพียงพอดีในตนเอง ยังคงหลงใหลเพ้อฝันทะเยอทะยาน ไขว่คว้าค้นหาสิ่งที่เหนือกว่าขึ้นไปอีก การได้พบเจออะไรใหม่ๆใน Christmas Town ทำให้เกิดความอยากรู้อยากลอง แต่เมื่อหาทางเป็นไม่ได้จึงปลอมตัวแปลงกายลอกเลียนแบบ แล้วก็ได้พบเจอความล้มเหลวถึงได้เข้าใจตัวเอง “ทำไมฉันต้องฝืนเป็น ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง”

การตีความอนิเมชั่นเรื่องนี้มองได้สองแง่สองง่าม
– ในแง่ดี เรื่องราวพยายามสอนให้เรารู้จักเพียงพอกับสิ่งที่เป็นอยู่
– แง่ร้าย คือการกีดกันแนวคิดสิ่งใหม่ๆ สอนให้ยึดมั่นในกรอบกฎเกณฑ์ ข้อกำหนด ขนบธรรมเนียมประเพณีไม่ได้มีไว้ให้แหก

นี่ก็แล้วแต่ว่าคุณจะมองอนิเมชั่นเรื่องนี้ในมุมไหน ไม่มีถูกผิดทั้งนั้น เพราะชีวิตจำเป็นต้องมีเป้าหมาย ความท้าทาย หรืออะไรใหม่ๆเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย มันอาจเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่เหมาะสมบ้าง ดูยังไงก็ไม่น่าเป็นไปได้ได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่เคยทดลอง ก็อย่ารีบด่วนสรุปว่าไม่มีวัน มันอาจจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ให้พิจารณาจากผลลัพท์ที่เกิดขึ้น

สำหรับ Tim Burton พัฒนาเรื่องราวนี้ขึ้นคงเพื่อเป็นการสื่อสาร ค้นหาตัวเอง ฉันเป็นอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ชีวิตไม่จำเป็นต้องไปลอกเลียนแบบแนวทางของใคร ยึดมั่นในวิถีถนัดของตนเอง “เป็นตัวของตนเองนั่นแหละดีที่สุดแล้ว”

ถึงผู้ได้รับเครดิตกำกับ Stop-Motion อนิเมชั่นเรื่องนี้คือ Henry Selick แต่เขาก็แสดงความเห็นว่า

“It’s as though he [Burton] laid the egg, and I sat on it and hatched it. He wasn’t involved in a hands-on way, but his hand is in it. It was my job to make it look like ‘a Tim Burton film’, which is not so different from my own films.”

ในรอบ 2-3 ปีของโปรดักชั่น Burton ขึ้นมาหาที่ San Francisco เพียง 5 ครั้งเท่านั้น ใช้เวลาอาศัยอยู่ร่วมกันประมาณ 8-10 วัน แต่ก็ต้องถือว่าแทบทุกสิ่งอย่างของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ริเริ่มต้นมาจากชายผู้นี้ ซึ่งชื่อเรื่องในบางครั้งจะขึ้นว่า Tim Burton’s The Nightmare Before Christmas เป็นการคารวะให้เกียรติอย่างมาก เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจผิดคิดว่าผู้กำกับคือ Tim Burton อย่างแน่นอน

ด้วยทุนสร้าง $18 ล้านเหรียญ ทำรายรับในการเข้าฉายครั้งแรก $50 ล้านเหรียญ เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก ทำให้แฟนๆเรียกร้องให้นำกลับมาฉายทุกเทศกาลวัน Halloween ซึ่ง Disney ก็บ้าจี้ยินยอมตามตั้งแต่ปี 2006 ทำรายได้ถึงปัจจุบัน $76.2 ล้านเหรียญ

เนื่องจากปีนั้นยังไม่มีรางวัล Oscar สาขา Best Animated Feature แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ได้เข้าชิงสาขา Best Effects, Visual Effects พ่ายให้กับ Jurassic Park (1993) แบบไม่ต้องลุ้นเท่าไหร่

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้อย่างมาก ทุกๆ 2-3 ปี จะหยิบมาดูในช่วง Halloween อยู่เรื่อยๆ เพราะหลงใหลใน Stop-Motion การออกแบบตัวละคร/พื้นหลัง และเพลงประกอบอย่างยิ่งยวด

แนะนำกับคออนิเมชั่น Stop-Motion ชื่นชอบงานศิลปะสไตล์ German Expressionism, แนว Musical, Dark Fantasy, เกี่ยวกับเทศกาล Halloween และ Christmas, แฟนๆของ Tim Burton และนักแต่งเพลง Danny Elfman ไม่ควรพลาด

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ข้อคิดของอนิเมชั่นเรื่องนี้อาจมีความกำกวนอยู่บ้าง แต่มันมีสาสน์สาระต่อเด็กๆอย่างยิ่งเลยละ ไม่ใช่แค่ความหวาดสะพรึงกลัว แต่คือความบันเทิง เพลิดเพลิน เริงรมย์ ถึงบางคนดูจบอาจอยากเป็นแบบ Jack Skellington ผู้ใหญ่อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องเลวร้ายนะครับ ตรงกันข้ามตัวละครนี้เต็มเปี่ยมด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ไม่ยอมแพ้ง่ายๆจนกว่าจะเห็นผลลัพท์ มีอุดมการณ์ของ’นักวิทยาศาสตร์’โดยแท้

จัดเรต pg ผู้ใหญ่ควรรับชมกับเด็กเล็ก เพราะภาพและการออกแบบมีความน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง

TAGLINE | “The Nightmare Before Christmas อาจทำให้เด็กๆฝันร้าย ส่วนผู้ใหญ่จะอึ้งทึ่งกับความงามทางศิลปะ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: