28 Days Later

28 Days Later … (2002) British : Danny Boyle ♥♥♥

ผมเข้าใจผิดมาตลอด คิดว่า ‘rage virus’ ของหนังเรื่องคือสัญลักษณ์แทนโรคเอดส์ (AIDS) เพราะฉากแรกของหนัง การเริ่มแพร่เชื้อมีต้นกำเนิดจากลิง แต่ผู้กำกับ Danny Boyle ให้สัมภาษณ์บอกว่า นำแรงบันดาลใจจากโรคไวรัสอีโบลา (Ebola) ที่มีพื้นหลังจุดเริ่มต้นถิ่นกำเนิดเดียวกัน แต่ความรุนแรงอันตรายกว่ามาก โชคดีที่เมืองไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้

“You can’t help thinking of that. Obviously, it’s not based on AIDS; it’s more like Ebola. And the manifestation of the disease in the film, the sickness, is all based on Ebola with a bit of rabies, so there is a bit of medical background there. But you can’t help thinking about it—ever since AIDS appeared, people have had this sensitivity about the smallest drop of blood.”

– Danny Boyle ให้สัมภาษณ์ที่ Sundance Film Festival ปี 2003

โรคระบาดทั่ว (Pandemic) หมายถึง การระบาดของโรคติดเชื้อที่แพร่กระจายในประชากรมนุษย์ในบริเวณกว้าง หลายประเทศ ทวีปหรือทั่วโลก ในประวัติศาสตร์มีการเกิดขึ้นของโรคระบาดทั่วนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ โรคห่า/อหิวาตกโรค (Cholera), ไข้หวัดใหญ่ (Influenza), ไข้รากสาด (Typhus), ฝีดาษ/ไข้ทรพิษ (Smallpox), โรคหัด (Measles), วัณโรค (Tuberculosis), โรคเรื้อน (Leprosy), มาลาเรีย (Malaria), อีโบลา (Ebola), ไข้เหลือง (Yellow fever), ไวรัสซิกา (Zika), ไข้หวัดนก (Avian influenza) ฯ ถือเป็นภัยพิบัติประเภทหนึ่งของมวลมนุษย์ชาติ เฉกเช่นเดียวกับน้ำท่วม สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฯ แต่โรคระบาดเป็นภัยที่คร่าชีวิตผู้คนจากภายในร่างกายของเราเอง

โรคไวรัสอีโบลา (Ebola Virus Disease) หรือไข้เลือดออกอีโบลา (Ebola Hemorrhagic Fever) เป็นโรคของมนุษย์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา แพร่ระบาดมาจากสัตว์ที่ติดเชื้อ อาทิ ลิงชิมแปนซี, ค้างคาวผลไม้ ฯ จากการกินดิบ สัมผัสเลือด/อุจจาระ ฯ ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1976 (พ.ศ. ๒๕๑๙) ที่บริเวณแม่น้ำอีโบลา (Ebola River) ทางเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และประเทศซูดาน, หลังติดเชื้อประมาณ 2-3 วันจะเริ่มแสดงอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะกล้ามเนื้อ ข้อกระดูก เจ็บคอ อ่อนเพลีย ท้องร่วง เมื่ออาการหนักจะตาแดงกล่ำ ถ่ายเป็นเลือด เจ็บแน่นหน้าอก เลือดออกในกระเพาะอาหาร จมูก ปาก ทวาร หู ตา บวมอวัยวะเพศ ฯ ไม่มีการรักษาไวรัสอย่างจำเพาะ ความพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยมีการบำบัดคืนน้ำ (Rehydration Therapy) ทางปากหรือหลอดเลือดดำ อัตราตายสูงระหว่าง 50% ถึง 90%

การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 (พ.ศ. ๒๕๕๗) ไม่นานมานี้เองแถบแอฟริกาตะวันตก ประเทศกินี เซียร์ราลีโอนและไลบีเรีย ใช้เวลาถึง 6 เดือนกว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ มีรายงานผู้ป่วย 28,638 คน เสียชีวิต 11,315 คน,

มีนักวิทยาศาสตร์ความพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้อยู่ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สำเร็จลุล่วงไปได้

Danny Boyle (เกิดปี 1956) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เจ้าของรางวัล Oscar จาก Slumdog Millionaire (2008) เกิดที่ Radcliffe, Lancashire ในครอบครัว Irish Catholic ที่เคร่งครัด เคยเป็นเด็ก altar boy ครอบครัวคาดหวังให้โตขึ้นกลายเป็นบาทหลวง แต่พออายุ 14 หลวงพ่อแนะนำว่าอย่างเป็นพระเลย

“Whether he was saving me from the priesthood or the priesthood from me, I don’t know. But quite soon after, I started doing drama. And there’s a real connection, I think. All these directors – Martin Scorsese, John Woo, M. Night Shyamalan – they were all meant to be priests. There’s something very theatrical about it. It’s basically the same job – poncing around, telling people what to think.”

เข้าเรียน Thornleigh Salesian College ที่ Bolton ตามด้วย Bangor University สาขาภาษาอังกฤษและการแสดง จบมาเริ่มต้นจากทำงานละครเวที Joint Stock Theatre Company ก่อนย้ายไป Royal Court Theatre จากนั้นเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ เริ่มมีความสนใจภาพยนตร์จากการรับชม Apocalypse Now (1979) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Shallow Grave (1955) ประสบความสำเร็จทำเงินสูงสุดแห่งปีในเกาะอังกฤษ ตามด้วย Trainspotting (1996) และ The Beach (2000) นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio

จากการดัดแปลงนิยาย The Beach ทำให้ได้รู้จักกับ Alexander ‘Alex’ Medawar Garland (เกิดปี 1970) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ที่มีความสนใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ นำแนวคิดเกี่ยวกับ Horror/Zombie Project มาเสนอกับ Boyle ได้อย่างน่าสนใจ จึงได้ร่วมกันพัฒนา 28 Days Later ขึ้นมา

เกร็ด: Alex Garland จากนักเขียนบท ต่อมาได้กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Ex Machina (2015)

สี่สัปดาห์หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสลึกลับทั่วเกาะอังกฤษ ชายหนุ่มคนหนึ่ง Jim (รับบทโดย Cillian Murphy) ตื่นขึ้นในโรงพยาบาล St Thomas’ Hospital หลังจากอาการโคม่า ราวกับความฝัน พบว่าทุกสิ่งอย่างรอบตัวไร้ซึ่งผู้คน กลายเป็นเมืองร้าง เดินไปเรื่อยๆจนได้พบกับซอมบี้กลุ่มหนึ่ง อยู่ดีๆวิ่งจู่โจมเข้าหาอย่างบ้าคลั่ง ได้รับการช่วยเหลือจาก Selena (รับบทโดย Naomie Harris) และ Mark (Noah Huntley) ถึงได้รู้ว่ามีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นในระหว่างที่เขาหลับอยู่

Cillian Murphy (เกิดปี 1976) นักแสดงสัญชาติ Irish เกิดที่ Douglas, County Cork ทั้งพ่อแม่เป็นครูสอนหนังสือ แต่ตัวเขากลับเรียนไม่เก่งเท่าไหร่ ชื่นชอบการแสดงและเล่นดนตรี เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที แสดงในภาพยนตร์อินดี้หลายเรื่อง อาทิ Sunburn (1999), The Trench (1999), On the Edge (2001), หลังจากได้รับชม Disco Pigs (2001) ผู้กำกับ Danny Boyle จึงเลือกให้มารับบทนำในหนังเรื่องนี้

รับบท Jim ชายหนุ่มผู้ฟื้นคืนชีพ ตื่นขึ้นจากการหลับใหล ตื่นตะหนกกับโลกที่เปลี่ยนไป คิดไม่ออกบอกไม่ถูกจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร, ด้วยความที่มีจิตใจดีงามเป็นพื้นฐาน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัวสู่โลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย แต่ก็ไม่เคยท้อแท้สิ้นหวังหมดอาลัย คงเพราะได้เพื่อนร่วมทางที่แสนดี สามารถช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันได้

ฟังดูเป็นเรื่องตลก แต่เหตุผลที่ Murphy ได้รับบทนี้ เพราะ Boyle ชื่นชอบในหุ่นเปลือยของเขา (Boyle นี่รสนิยมเกย์มากเลยนะ ตั้งแต่ Trainspotting แล้ว นักแสดงแต่ละคนขี้ก้างทั้งนั้น) ช่วงท้ายของหนังจะเห็นว่าตัวละครนี้ไม่ใส่เสื้อ และหนังมีฉากที่ต้องเปลือยทั้งตัวอยู่ด้วย *-*

การแสดงของ Murphy เรื่องนี้ ถือว่าได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวเลยละ โดยเฉพาะสายตาที่มีความใสซื่อบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็ราวกับถูกหลอนหลอนด้วยอดีตอะไรบางอย่าง ด้วยเหตุนี้กระมังจึงเป็นที่ชื่นชอบของ Christopher Nolan มักนำพาให้มาแสดงในหนังของตนร่ำไป

Naomie Melanie Harris (เกิดปี 1976) นักแสดงหญิงผิวสีสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Islington, London พ่อเป็นชาว Trinidad ส่วนแม่สัญชาติ Jamaica ที่ทำงานเป็นนักเขียนบทละครที่ EastEnders ทำให้ Naomie ได้เป็นนักแสดงเด็กในละครซีรีย์เรื่อง Simon and the Witch (1987) หลังจบจาก Pembroke College, Cambridge สาขา Social and Political Sciences เรียนต่อการแสดงที่ Bristol Old Vic Theatre School ทำงานเป็นนักแสดงเวที รับบทนำในภาพยนตร์ครั้งแรกจาก 28 Days Later มีชื่อเสียงระดับนานาชาติกับบทบาท Tia Dalma เรื่อง Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest (2006), Miami Vice (2006), Eve Moneypenny ใน Skyfall (2012), Spectre (2016) ล่าสุดเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress จากเรื่อง Moonlight (2016)

รับบท Selena หญิงแกร่งที่สามารถเอาตัวรอดผ่านวันสิ้นโลกมาได้ ด้วยความเห็นแก่ตัว สนแต่ตัวเอง ฆ่าพ่อแม่พี่น้องที่กลายเป็นซอมบี้เพื่อตัวเองยังชีวิตอยู่ได้, ก็ไม่รู้จักพบเจอกับ Mark ได้อย่างไร แต่พอเพื่อนคนนี้ถูกกัดติดเชื้อ ก็ไม่ลังเลที่จะฆ่าสังหาร แต่หลังจากได้พบกับ Jim จิตใจของเธอค่อยๆอ่อนนุ่มนวลลง ตกหลุมรักเพราะความสุภาพมองโลกในแง่ดี นี่เป็นสิ่งที่หญิงสาวไม่คาดคิดมาก่อนจะพบผู้ชายแบบนี้ในวันสิ้นโลก

นี่เป็นการแสดงแจ้งเกิดของ Harris เช่นกัน แม้ผมจะรู้สึกเคมีและบทโรแมนติกของเธอจะไม่ค่อนเข้ากับ Murphy เสียเท่าไหร่ แต่ความกร้าวกระด้าง หยาบคาย แข็งนอกอ่อนใน นี่ถือเป็นจุดเด่นของ Harris เลยละ

ถ่ายภาพโดย Anthony Dod Mantle ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ที่หลังจากหนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นขาประจำของ Boyle และคว้า Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง Slumdog Millionaire (2008)

นี่เป็นหนัง Mainstream เรื่องแรกที่ใช้กล้อง Digital Photography (DP) รุ่น Canon XL1 ถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง คุณภาพไม่ถึงขั้นดีเลิศ แต่ให้สัมผัสดิบเถื่อน สมจริง เป็นธรรมชาติที่สับสนวุ่นวาย (อารมณ์ประมาณ Cloverfield) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการถ่ายทำฉากกรุง London ที่ว่างเปล่า มีความสะดวกรวดเร็ว เพราะต้องถ่ายทำอย่างเร่งรีบในช่วงเช้าตรู่ก่อนรถเริ่มติด

ความอิสระของกล้อง DP ทำให้หนังมีมุมกล้องแปลกๆ เขย่าสั่นๆ กวัดแกว่งไปมา (Whip) ได้รวดเร็วกว่าปกติ และความที่ภาพไม่ค่อยคมชัดมากนัก เมื่อใส่การกระพริบของแสงสี สายฝน มันจะยิ่งดูสับสนอลม่านบ้าคลั่ง และโทนสีของภาพให้สัมผัสราวกับโลกอีกใบ (เหมือนโลกในยุค Post-Apocalyptic)

แต่ข้อเสียที่ Boyle ค้นพบกับกล้อง DP คือการถ่ายวิวทิวทัศน์ระยะไกล (wide shots) มันจะความเบลอแตก ไม่คมชัด รายละเอียดไม่แนบเนียนเหมือนกับถ่ายด้วยฟีล์ม แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าเทคโนโลยีกล้องดิจิตอลสมัยนั้นอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ซึ่งกล้องดิจิตอลสมัยใหม่นี้ต้องบอกเลยว่าคมชัดละเอียดเกินไปด้วยซ้ำ!

จริงอยู่ที่ผลลัพท์ของหนังกับงานภาพลักษณะนี้ ให้สัมผัสที่สมจริงจับต้องได้ ราวกับโลก Post-Apocalyptic แต่ก็ทำให้คุณภาพโดยรวมของหนังลดลงมาก เทียบก็คล้ายหนังเกรด B ในยุคสมัยหนึ่ง ขาดความหรูรามีระดับ แบบนี้ยากนักจะคลาสสิกเหนือกาลเวลา คงได้เพียงกระแส Cult ตามมา

ตัดต่อโดย Chris Gill ขาประจำของ Boyle แต่กลับไม่ได้ร่วมงาน Slumdog Millionaire (2008) เสียอย่างนั้น, นอกจาก Prologue กับ Epilogue หนังใช้มุมมองของ Jim ตั้งแต่ฟื้นขึ้นจากโรงพยาบาล ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ มีครั้งหนึ่งที่เป็นภาพจากความฝัน และช่วงท้ายตัดสลับไปมากับสิ่งที่สองสาวได้พบเจอ

ถึงการดำเนินเรื่องจะเป็นไปอย่างเอื่อยๆไร้จุดหมาย แต่เมื่อใดที่พบเจอฝูงซอมบี้หรือผู้ติดเชื้อ ความสับสนวุ่นวายอลม่านจะเกิดขึ้นทันที นี่เป็นผลลัพท์จากงานภาพที่เขย่าๆไปมา และการตัดต่อเปลี่ยนมุมกล้องอย่างฉับไว ดูไปไม่ค่อยรู้เรื่องนี้แหละ สร้างความระทึก สะพรึง หวาดหวั่นใจ และเชื่อว่าหลายคนมักนับถอยหลัง 20 วินาทีไปด้วยในใจ

เพลงประกอบโดย John Murphy นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ ได้รับการจดจำจากการร่วมงานกับ Guy Ritchie เรื่อง Lock, Stock and Two Smoking Barrels (1998) กับ Snatch (2000) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Miami Vice (2006), Sunshine (2007), Kick-Ass (2010) ฯ

สำหรับ Soundtrack ของหนังมีหลากหลายทางอารมณ์เพลงมาก(เกินไปสักนิด) ตั้งแต่ Horror สยองขวัญสั่นประสาท, สนุกสนานผจญภัย (ใน Supermarket), แอ๊คชั่นตื่นเต้น, ช่วงท้าย Happy Ending เต็มไปด้วยความหวัง ฯ ซึ่งมีบทเพลงหนึ่งได้กลายเป็นไฮไลท์และตำนานไปแล้วคือ In The House – In A Heartbeat ในหนังจะได้ยินช่วงท้ายที่ Jim หวนกลับมาอาละวาด แก้แค้นเอาคืนกลุ่มทหารในบ้านหลังหนึ่ง เสียงหัวใจของเขามันค่อยๆทวีความรุนแรง บ้าคลั่ง พร้อมจะทำมันได้ทุกสิ่งอย่าง ไม่สนอีกแล้วความถูกผิด เพื่อทวงสิ่งที่เป็นของตนคืนมา

หลายครั้งจะมีการนำบทเพลงมีชื่อ ซิงเกิ้ลที่ได้รับความนิยมอย่างสูงประกอบเข้าไป อาทิ East Hastings (1997) ของวงดนตรี Rock สัญชาติแคนาเดียน Godspeed You! Black Emperor ความยาวจริงๆของเพลงนี้เกือบ 18 นาที ซึ่ง Murphy ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เหลือเพียง 4 นาทีกว่าๆเท่านั้น ก็แล้วแต่คนชอบนะครับ ผมชอบ Short Version นี้กว่ามาก

ในฉากที่ Jim ค้นพบว่าตัวเองตื่นขึ้นบนโลกที่ไม่มีใคร ไม่หลงเหลืออะไร เสียงดนตรีค่อยๆดังกระหึ่ม จังหวะเร่งรัดกระชับ เร้าอารมณ์ขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนความฉงนสงสัย ตื่นตระหนก หวาดสะพรึง ทวีความเร้าร้อนหวาดกลัว เสียงกรีดร้องที่อยู่ภายใน มันเกิดบ้าอะไรขึ้นเนี่ย! นี่ถ้าเขาไม่พบเจอกับใครสักคน อาจได้กลายเป็นบ้าเสียสติแน่

บทเพลง Ava Maria ขณะที่ Jim, Selena ออกเดินทางร่วมกับ Frank กับ Hannah สู่สถานที่แห่งความหวังที่เมือง Manchester, ขับร้องโดย Perri Alleyne น้ำเสียงของเธอช่างมีความทรงพลัง ให้สัมผัสที่หลอนๆ แต่สั่นสะท้าน เต็มเปี่ยมด้วยความหวังขับออกมาจากภายใน

บทเพลงช่วงท้าย/Ending Credit ชื่อว่า Season Song ของวงดนตรีสัญชาติอังกฤษ Blue States แต่งโดย Andy Dragazis กับ Tahita Bulmer เป็นเพลงที่เปลี่ยนอารมณ์หนังโดยสิ้นเชิง จากที่ค่อนข้างเครียดหดหู่ มาเป็นผ่อนคลาย ฟังสบาย ฤดูกาลเคลื่อนผ่าน

ซอมบี้ในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่คนตายฟื้นคืนชีพ แต่คือผู้ที่กลายสภาพจากการติดเชื้อในเวลา 20 วินาที ดวงตาแดงกล่ำ มีความกระหายเลือด เมื่อพบเห็นมนุษย์/สิ่งมีชีวิต ก็จะรีบวิ่งแจ้นตรงไปหา ถ้าเผลอสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำลาย ก็จะมีโอกาสติดเชื้อกลายร่างในทันที, กระนั้นซอมบี้ในหนังเรื่องนี้สามารถถูกยิง บาดเจ็บ เสียชีวิตได้ เพราะยังมีสถานะเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนมนุษย์อยู่ (มีโอกาสที่จะรักษาหายได้) ไม่ได้มีข้อแม้ว่าต้องยิงหัวแบบหนังของ George A. Romero เท่านั้น

เปรียบซอมบี้ได้กับโรคระบาด ที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น นัยยะแฝงถึงเชื้ออีโบล่า (ผสมโรคพิษสุนัขบ้า) นี่เป็นการสะท้อนความน่ากลัวของโรคระบาด ที่สามารถนำพามนุษยชาติไปสู่จุดจบวันโลกาวินาศ ถ้าไม่ได้รับการควบคุมรักษา แต่อย่างน้อยเชื้อโรคพวกนี้ มันก็ไม่ได้มีความเฉลียวฉลาดขนาดสามารถว่ายน้ำหรือออกจากเกาะอังกฤษได้ นี่จึงเป็นสถานที่กักกันโรคชั้นดี แต่ความสูญเสียคงประเมินค่ามิได้

โรคระบาดทั่ว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กัดกร่อนกิน ทำลายล้างมนุษย์จากภายในร่างกาย แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของวิวัฒนาการ ก็มักมีนักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นพบวัคซีน ยารักษา แต่ก็เช่นกันกับเชื้อโรคที่พัฒนากลายพันธุ์ผ่าเหล่า เฉลียวฉลาดขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น, กระนั้นยังมีสิ่งที่ร้ายแรงและน่ากลัวกว่าโรคระบาดทั่ว นั่นคือความเห็นแก่ตัวและความชั่วร้ายที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ด้วยกันเอง

ใจความของหนัง ได้ตั้งคำถามเชิงปรัชญาที่น่าสนใจ ‘โลกยุคหลังโลกาวินาศ Post-Apocalypse เมื่อทุกสิ่งอย่างแทบสิ้นสูญสลาย มนุษย์เราจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร?’ องก์ 3 ของหนังได้ให้คำตอบจากกลุ่มทหารชายล้วน ที่สะท้อนถึงสันดานดิบ สันชาติญาณ ความต้องการพื้นฐานที่ไม่ใช่แค่ปัจจัย 4 แต่คือการธำรงรักษาเผ่าพันธุ์ให้สืบทอดคงอยู่,

Selena ผู้หญิงคนเดียวของหนัง (จริงๆควรจะทำให้เธอเป็นจุดศูนย์กลางเสียด้วยซ้ำ) ได้พบเจอกับผู้ชาย 3-4 รูปแบบ
– Mark เพื่อนคนแรกที่สนแต่เอาชีวิตรอด (ดูแล้วคงไม่มีอะไรเกินเลย)
– Jim ชายผู้เปี่ยมด้วยมนุษยธรรม จิตใจดีงาม แม้จะไม่ได้เข้มแข็งแกร่ง แต่ก็สามารถแสดงความเป็นลูกผู้ชาย สุภาพบุรุษออกมาได้
– Frank ชายวัยกลางคนที่มีภาพลักษณ์ของพ่อ อบอุ่น เหมือนจะพึ่งพาได้
– Major Henry West และกลุ่มนายทหารช่วงท้าย คือสัตว์ที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์ ดำรงชีพด้วยสันชาติญาณ ไร้ซึ่งพื้นฐานทางมโนธรรม

มันก็ชัดเจนนะครับว่า Selena จะเลือกใคร หนังไม่ได้มีตัวเลือกมากมาย ซึ่งคำตอบของเธอเป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับ ต่อความเป็น’มนุษย์’ และเป้าหมายของชีวิต ที่ต่อให้ในยุคสมัยโลกาวินาศ ไม่มีอะไรหลงเหลือแล้วก็ตามเถอะ แต่ศีลธรรม มโนธรรม ยังคือสิ่งที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ธำรงอยู่ได้ ไม่ใช่แค่การสืบสายเลือดเผ่าพันธุ์และ Sex

หนังมี Alternate Ending ใส่ไว้ในฉบับ DVD Extra ขึ้นข้อความว่า “What if…” หลังจากที่ Jim ถูกยิง Selena และ Hannah พาเขาไปถึงโรงพยาบาลร้างแห่งหนึ่ง พยายามช่วยเหลือแต่ก็ไม่เป็นช้าไปเสียแล้ว ด้วยความสิ้นหวังหมดอาลัย ทั้งสองตัดสินใจไปต่อ หยิบปืนแล้วเดินออกจากโรงพยาบาล, นี่เป็นฉากจบที่ถ่ายทำไว้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อนำไปฉายรอบ Preview ปรากฎว่าผู้ชมเหมือนจะสิ้นหวังตามไปด้วย เพราะเข้าใจว่าคือความสิ้นหวัง จุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ ผู้กำกับ Boyld จึงตัดสินใจเปลี่ยนใหม่ให้กลายเป็น อย่างน้อยที่สุดคือมีความหวัง แต่เขาก็เรียกตอนจบนี้ของหนังว่า ‘true ending’s, “what if…”

ยังมีตอนจบอื่นอีกที่ Boyle บอกว่ามีในต้นฉบับบทภาพยนตร์ ใช้ชื่อว่า Hospital Dream เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในความฝันของ Jim ที่ไม่เคยตื่นขึ้นมาหลังจากถูกรถชน และเขาเสียชีวิตในขณะรับการผ่าตัด (รู้สึกว่าจะเป็นตอนจบที่ไร้สาระไปเสียหน่อย)

ตอนจบอีกแบบหนึ่งชื่อว่า Radical Alternative Ending มีการคิดวาดภาพร่าง Storyboard เอาไว้คร่าวๆ ปรากฎอยู่ใน DVD Extra เช่นกัน, หลังจากที่ Frank กลายร่างเป็นซอมบี้ โชคดีที่สามารถหาอะไรบางอย่างจับมัดตัวไว้ได้ ไม่มีหน่วยทหารเxยๆปรากฎตัวออกมา แต่ Jim ได้เดินเข้าไปสำรวจต่อในเมือง Manchester พบเจอหลุมหลบภัยและนักวิทยาศาสตร์ที่ยังเหลือชีวิตจากเหตุการณ์ต้นเรื่อง ในตอนแรกไม่ยินยอมให้เข้าภายใน แต่ก็โน้มน้าวจนสำเร็จ เพราะต้องการค้นหาวิธีการรักษา Frank ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่า มีวิธีการเดียวเท่านั้นคือเปลี่ยนถ่ายเลือดทั้งตัว ปรากฎว่าเพียง Jim เท่านั้นที่กรุ๊ปเลือดตรง เขาจึงตัดสินใจเสียสละชีวิตของตัวเอง, เหตุที่ Boyle ไม่เลือกเรื่องราวนี้ เพราะเขามองว่า ‘It didn’t make much sense.’

เพราะความที่อเมริกาเพิ่งเกิด 9/11 เมื่อปี 2001 ทำให้ Boyld ไม่รีบเร่งเข็นหนังออกมา ในอังกฤษออกฉายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2002 ส่วนอเมริกาต้องรอกว่าครึ่งปี วันที่ 27 มิถุนายน 2003

ด้วยทุนสร้าง £5 ล้านปอนด์ (ประมาณ $8 ล้านเหรียญ) ทำเงินในอังกฤษ £6.1 ล้านปอนด์ แต่กลับ ‘sleeper hit’ ในอเมริกา ทำเงินสูงถึง $45 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $84.7 ล้านเหรียญ กำไรหายห่วง นี่ส่งผลให้เกิดการต่อยอดตามมามากมาย อาทิ เกม, หนังสือการ์ตูน, นิยาย และภาคต่อ 28 Weeks Later (2007) กำกับโดย Juan Carlos Fresnadillo ดูแล้วอาจมีแนวโน้มภาค 3-4 (28 Months Later, 28 Years Later) ต่อไปได้แน่

เกร็ด: Stephen King เป็นแฟนตัวยงของหนังเรื่องนี้เลยละ

จำได้ว่าตอนรับชมในโรงภาพยนตร์ ผมค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนะ จดจำเหตุผลไม่ได้ว่าทำไม แต่กลับมาดูครั้งนี้เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นช่วงท้าย คือถ้าต้องการเล่นกับไฟ อนาคตของมวลมนุษยชาติ มันควรจะขยี้ความรู้สึกให้สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากไปเลย Ending แบบอื่นผมชอบหมดนะ ยกเว้นที่เลือกใส่มานี่แหละ ทั้งๆเป็นหนังจากประเทศอังกฤษแท้ๆ แต่ผู้กำกับ Boyle ดันเลือกสูตรสำเร็จ Happy Ending แบบ Hollywood ไปเสียอย่างนั้น

แนะนำกับคอหนัง Horror, Suspense, Zombie (ก็ไม่เชิงเป็นซอมบี้เท่าไหร่นะ เรียกว่าผู้ติดเชื้อไวรัสแล้วกัน), นักคิด นักปรัชญา ครุ่นคิดปริศนาปัญหาโลกแตก ในยุคหลังโลกาวินาศ Post-Apocalyptic, แฟนๆผู้กำกับ Danny Boyle นักแสดง Cillian Murphy และ Naomie Harris

จัดเรต 18+ เลือด ผู้ติดเชื้อ และความต้องการ Sex

TAGLINE | “28 Days Later หลังวันสิ้นโลก Danny Boyle ได้ทำให้ความรักเบ่งบานขึ้นอีกครั้งในสถานที่ไม่สมควรแม้แต่น้อย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: