28 Weeks Later (2007)
: Juan Carlos Fresnadillo ♥♥♥♡
เมื่อไม่หลงเหลือมนุษย์ให้แพร่ระบาด ฝูงซอมบี้จาก ‘rage virus’ ก็ค่อยๆหมดสิ้นเรี่ยวแรงตายจาก 28 สัปดาห์ผ่านไป สหรัฐอเมริกาได้ส่งกองกำลังทหารเข้ามา ‘ควบคุม’ ‘แทรกแซง’ ฟื้นฟูเกาะอังกฤษนี้เสียใหม่ แต่ไวรัสมันสูญพันธุ์ไปแล้วจริงๆนะหรือ?, หลังจากที่ภาคแรกเป็นแนว Horror แฝงปรัชญา มาภาคนี้โดยผู้กำกับคนใหม่ เพิ่มการเสียดสีการเมืองได้อย่างเจ็บแสบ
เท่าที่สังเกตเห็น นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะชื่นชอบประทับใจ 28 Days Later (2002) มากกว่า 28 Weeks Later (2007) เหตุผลประมาณว่า
– เพราะภาคแรกได้ทำการเปิดประตูสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ตีความซอมบี้ในรูปแบบเชื้อโรคไวรัสแพร่ระบาด และแฝงแนวคิดเชิงปรัชญา ค้นหาคำตอบเป้าหมายชีวิตในโลกยุค Post-Apocalyptic
– ขณะที่ภาคนี้ ซอมบี้เหมือนจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ได้วิวัฒนาการกลายเป็นพาหะ (Carrier) และใส่ประเด็นครอบครัว สะท้อนเสียดสีกับการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเด็นเสียดสีการเมืองฤาจะไปเทียบกับปรัชญาชีวิตที่ยิ่งใหญ่ แต่จะบอกว่าส่วนตัวผมกลับชื่นชอบ 28 Weeks Later มากกว่าในส่วนของนัยยะแฝง ขณะที่คะแนนฝั่ง Quality จะให้เท่ากัน
หลังจากความสำเร็จแบบ ‘sleeper hit’ ของ 28 Days Later ในอเมริกาเมื่อปี 2003 ได้เปิดทางการสร้างภาคต่อของหนังขึ้นทันที ผู้กำกับ Danny Boyle และนักเขียน Alex Garland จึงได้เริ่มครุ่นคิดเตรียมการวางแผนสร้างภาคต่อ
“We were quite taken aback by the phenomenal success of the first film, particularly in America. We saw an opportunity to make a second film that already had a built in audience. We thought it would be a great idea to try and satisfy that audience again.”
— Danny Boyle
โดยแผนแรกสุดตั้งชื่อหนังว่า 29 Days Later ตั้งใจนำตัวละครในภาคแรกกลับมา แต่เพราะพวกเขาชอบเลข 28 กันมาก เลยตัดสินใจเปลี่ยนสร้อยจาก Days เป็น Weeks แทน, สำหรับพล็อตเรื่อง วางแผนให้อเมริกาส่ง SAS (Special Air Service) เข้ามาช่วยเหลือนายกรัฐมนตรีและสมเด็จพระราชินี ที่ติดอยู่ในกรุง London
แต่หลังจาก Boyle เสร็จงานสร้างหนังเรื่อง Millions (2004) ก็ตัดใจหนีไปกำกับ Sunshine (2007) ร่วมกับ Garland ที่เป็นผู้เขียนบท ประกาศว่าจะไม่กำกับภาคต่อนี้แต่จะขออยู่ในตำแหน่ง Executive Producer และมอบหมายให้ Juan Carlos Fresnadillo (เกิดปี 1967) ผู้กำกับสัญชาติสเปน ที่เพิ่งมีผลงานหนัง debut เรื่อง Intacto (2001) ให้เข้ามาคุมบังเหียรแทน
Fresnadillo เป็นผู้กำกับตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียวขณะนั้น เพราะเคยได้เข้าชิง Oscar: Best Live-Action Short Film จากผลงานหนังสั้น Esposados (1996) ตามด้วยหนังยาวเรื่องแรก Intacto (2001) นำแสดงโดย Max von Sydow เป็นชื่นชอบของ Boyle อย่างมาก เห็นพ้องกับเหล่าโปรดิวเซอร์ จึงชักชวนให้มาสร้างหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรก
เรื่องราวของ Don (รับบทโดย Robert Carlyle) เพราะความหวาดกลัวจะติดเชื้อไวรัส วิ่งหนีสุดชีวิตทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง รวมถึงภรรยา Alice (รับบทโดย Catherine McCormack) เพราะคิดเข้าใจว่าเธอคงเสียชีวิตไปแล้ว, หลายสัปดาห์ผ่านไป เมื่อฝูงซอมบี้สูญพันธุ์เพราะขาดแหล่งอาหาร NATO และสหรัฐอเมริกาส่งหน่วยทหารเข้ามาช่วยฟื้นฟูกรุง London ที่ Isle of Dogs ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า District One ลูกสาว Tammy และลูกชาย Andy เดินทางกลับมาหาพ่อ Don ที่ได้ทำงานเป็นช่างเทคนิค แต่พวกเขากลับลอบแอบหนีออกจาก Safe Zone ไปยังบ้านหลังเก่าชานเมือง พบเจอแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เหมือนบางสิ่งอย่างได้เกิดขึ้นกับเธอ
สำหรับนักแสดง เนื่องจาก Cillian Murphy และ Naomie Harris ต่างประสบความสำเร็จก้าวหน้า มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติแล้ว ไม่สามารถที่จะหาคิวมาร่วมงานหนังภาคต่อได้ จึงตัดสินใจเดินหน้ากับนักแสดงชุดใหม่ ประกอบด้วย
Robert Carlyle (เกิดปี 1961) นักแสดงสัญชาติ Scottish เกิดที่ Maryhill, Glasgow, อาศัยอยู่กับพ่อที่ทำงานเป็นนักวาดภาพ/ตกแต่งบ้าน โตขึ้นหลังจากได้อ่านนิยาย The Crucible ของ Arthur Miller ตัดสินใจสมัครเรียนการแสดงที่ Glasgow Arts Centre ร่วมกับเพื่อนๆเปิดบริษัท Raindog theatre company ได้รับการชักชวนจาก Boyle หนึ่งในชุดนักแสดง Trainspotting (1996) ทำให้กลายเป็นที่รู้จัก ผลงานอื่นๆอาทิ The World Is Not Enough (1999), The Beach (2000), Eragon (2006) ฯ
รับบท Don พ่อที่มีความอ่อนแอ ขลาดเขลา หวาดกลัวตาย พยายามดิ้นรนทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้รอดชีวิต สร้างภาพปั้นเรื่องขึ้นหลอกตัวเองและลูกๆ แต่เมื่อพอพบว่าภรรยายังมีชีวิตอยู่ ก็รีบตรงไปขอโทษขอโพย ไม่ได้คาดหวังจะได้รับคำให้อภัย แค่ต้องการเผชิญหน้ายอมรับด้านมืดของตัวเอง
ภาพลักษณ์ของ Carlyle เหมาะสมกับตัวละครนี้มาก สีหน้าแห่งความหวาดกลัวขี้เยี่ยวเร็ดราด ขณะร้องไห้พูดขอโทษแสดงความเจ็บปวดรวดร้าวออกมาภายใน พอกลายเป็นซอมบี้หลอกมาก มีเป้าหมายหนึ่งเดียวที่ต้องทำให้ได้ ติดตามหาลูกๆของตนให้พบ แต่ก็ไม่รู้พบแล้วจะยังไงต่อ สันชาตญาณเลยนำทางสั่งให้เขาวิ่งเข้าไปฆ่าล้างผลาญ ถือเป็นการสะท้อนตัวตน ความบ้าคลั่งที่เก็บซ่อนไว้ส่วนลึกในจิตใจออกมา
Catherine McCormack (เกิดปี 1972) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Epsom, Surrey มีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าเรียนที่ Oxford School of Drama เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง Braveheart (1995), Spy Game (2001) ระหว่างเล่นหนังเรื่องนี้งานยุ่งมาก รับเล่นละครเวทีเรื่อง The 39 Steps พร้อมกันไปด้วยที่ Tricycle Theatre, London
รับบท Alice ภรรยาที่ถูกสามีทอดทิ้ง แต่เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันบางอย่าง สามารถสกัดกั้นเชื้อไวรัส รอดชีวิตจากการถูกซอมบี้กัด คงด้วยสันชาติญาณหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านหลังเก่า เฝ้ารอคอยวันเวลาและโอกาสที่จะได้พบเจอหน้าลูกและคนรักอีกครั้ง
McCormack สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมาทางสีหน้า สายตา ร่างกายที่สั่นเทิ้มขณะถูกจับตรวจเช็คร่างกาย หลายคนคงคาดเดาได้อยู่แล้วว่าเธอคือพาหะ (Carrier) ถึงไม่แสดงอาการแต่สามารถติดต่อผู้อื่นได้ และวินาทีที่สามีโน้มตัวลงมาจุมพิต OMG!
Jeremy Lee Renner (เกิดปี 1971) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Modesto, California มีพี่น้องถึง 7 คน โตขึ้นเข้าเรียน Modesto Junior College สนใจวิทยาการคอมพิวเตอร์ และอาชญากรรม ภายหลังเปลี่ยนไปสนใจการแสดง เริ่มต้นมีผลงานเป็นตัวประกอบในหนัง Indy อาทิ Dahmer (2002), Neo Ned (2005) ก่อนกลายเป็นตำรวจ/นักแม่นปืนใน S.W.A.T. (2003) and 28 Weeks Later (2007) เข้าชิง Oscar: Best Actor จาก The Hurt Locker (2008) ทำให้ได้รับบท Hawkeye ในจักรวาล Marvel ผลงานอื่นๆ อาทิ Mission: Impossible ภาค 4-5, The Bourne Legacy (2012), American Hustle (2013), Arrival (2016) ฯ
รับบท Doyle นักแม่นปืน ตอนแรกมีหน้าที่ปฏิบัติตามตามอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อได้รับคำสั่ง Red Code ให้สังหารทุกคนที่ขวางหน้า ด้วยมโนธรรมส่วนตัวทำให้เขาตัดสินใจละทิ้งหน้าที่ นำทางผู้รอดชีวิตกลุ่มเล็กๆให้สามารถหนีเอาตัวรอดก่อนถูกระเบิดปูพรม District One
เกร็ด: ชื่อตัวละคร Doyle เป็นส่วนผสมของชื่อผู้กำกับ Danny Boyle
Rose Byrne (เกิดปี 1979) นักแสดงสัญชาติ Australian เกิดที่ Balmain, Sydney, ตอนอายุ 15 ได้เล่นหนังเรื่องแรก Dallas Doll (1994), คว้า Volpi Cup for Best Actress จาก The Goddess of 1967 (2000), รับบท Dormé ใน Star Wars: Episode II – Attack of the Clones (2002), Troy (2004), Insidious (2010), Bridesmaids (2011), X-Men: First Class (2011) ฯ
รับบท Major Scarlet มีหน้าที่ตรวจร่างกายของคนเข้าเมือง ได้พบเจอความหวังของมวลมนุษย์ชาติในการตรวจเลือดของ Alice แต่กลับถูก General Stone (รับบทโดย Idris Elba) มองข้ามไม่สนใจ จึงพยายามให้การช่วยเหลือ Andy และ Tammy คาดหวังว่ายีนพันธุกรรมของพวกเขา อาจมีโอกาสพบเจอทางออกในการรักษาผู้ติดเชื้อนี้
ใน Storyboard เหมือนว่า Major Scarlet จะเสียชีวิตก่อนถูกไฟครอกตาย ส่วน Doyle ถูกกัดเสียชีวิตในอุโมงค์ใต้ดิน แต่ผู้กำกับตัดสินใจสลับกัน เพราะการให้ผู้ชายเสียสละตายก่อน เป็นการแสดงความสุภาพบุรุษที่เหมาะสมกับเรื่องราวมากกว่า
ถ่ายภาพโดย Enrique Chediak ตากล้องสัญชาติ Ecuadorian ที่ได้มีโอกาสรู้จักกับ Anthony Dod Mantle ตากล้องขาประจำของ Boyle ชักชวนให้มาถ่ายทำหนังเรื่องนี้ มีผลงานอย่าง 127 Hours (2010), The Maze Runner (2014) ฯ
ผ่านไปเพียง 5 ปีจากภาคแรก เทคโนโลยีกล้อง Digital ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถเก็บรายละเอียดได้คมชัด สวยงามกว่าเดิม (น่าจะถึงจุดที่ความละเอียดสูงกว่ากล้องฟีล์มแล้ว) มีความสวยสด ไม่เบลอๆ ภาพแตกๆ หรือเขย่าแล้วดูไม่รู้เรื่อง เหมือนกับภาคแรก นี่ทำให้สัมผัสของหนังเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ดูดีมีระดับมากขึ้น และเทคโนโลยี Computer Graphic ที่ก็พัฒนาไปมากเช่นกัน ฉากกรุง London จากเฮลิคอปเตอร์ถ่ายทำวันเวลาปกติ ไล่ลบรถราการเคลื่อนไหวตอนกลางวัน แสงสว่างยามค่ำคืนได้อย่างแนบเนียน และใส่ Visual Effect ระเบิดปูพรม ตึกถล่ม มีความสมจริงสวยงาม
เกร็ด: สนามฟุตบอลที่เห็นในฉากจบนั้นคือ Wembley Stadium ถ่ายทำตอนยังสร้างไม่เสร็จ จึงใช้ CG ช่วยเติมเต็มส่วนขาดหาย,
ผมค่อนข้างชอบงานภาพฉาก Night Vision ในอุโมงค์ใต้ดิน (ถ่ายทำที่ Millennium Stadium เมือง Cardiff ประเทศ Wales) พอถ่ายทำในความมืดด้วยกล้อง Digital มีความคมชัด สมจริง เห็นแสงอินฟราเรดสีเขียว สะท้อนดวงตาสีขาว เด็กๆหน้าเหมือนซอมบี้อย่างมาก, คือถ้าเป็นกล้องฟีล์มจะทำได้เพียงใส่ฟิลเลอร์ Day for Night ไม่แน่ใจมีกล้องที่สามารถถ่าย Night Vision ได้คมชัดขนาดนี้หรือเปล่านะ
ตัดต่อโดย Chris Gill ขาประจำของผู้กำกับ Danny Boyle ที่เข้ามาช่วยสานงานภาคต่อ, นอกจาก Prologue หนังจะใช้มุมมองของสองพี่น้อง Andy กับ Tammy ในการเล่าเรื่อง ผจญภัยสู่ District One ออกค้นหาแม่ และหาทางหนีเอาตัวรอดออกนอกเกาะอังกฤษ
เฉพาะ Prologue กำกับโดย Danny Boyle ที่เข้ามาช่วยงาน Second Unit เป็นฉากเล็กๆที่มีความบ้าคลั่ง ด้วยงานภาพ ตัดต่อและเพลงประกอบ ประสานประกอบกันได้ทรงพลังถึงขีดสุด
สำหรับฉากจบเดิมของหนังจะมีเพียง บรรดาผู้รอดชีวิตเดินทางมาถึงสนามฟุตบอลและได้ขึ้นเครื่องบินจากไป แต่ผู้กำกับตัดสินใจเพิ่ม Coda ตบท้ายอีกนิด เดินทางไป Paris เห็นหอไอเฟล ใช้กล้อง DV (Digital Video) ถ่ายทำแบบ Guerrilla Style เมื่อเชื้อไวรัสแพร่กระจายออกมานอกเกาะอังกฤษ นี่ทิ้งประเด็นเปิดกว้างสร้างภาคต่อได้มหาศาล, คือเราสามารถครุ่นคิดเหตุผลของการแพร่กระจายได้มากมายหลากหลาย เพราะตอนนี้ Andy ได้กลายเป็นพาหะเต็มตัวแล้ว เขาอาจดื่มน้ำส่งให้พี่สาว คนขับเฮลิคอปเตอร์ แล้วก็ติดโรคไป ฯ หนังปล่อยอิสระให้ผู้ชมสามารถครุ่นคิดจินตนาการ เพ้อไปเองได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น
เพลงประกอบโดย John Murphy และได้ Hans Zimmer มาร่วมด้วยช่วยขัดเกลา, อารมณ์ของบทเพลงจะไม่กระจัดกระจายหลากหลายแบบภาคแรก เน้นสร้างบรรยากาศของความหวังและสิ้นหวัง ไปพร้อมๆกัน
หลายๆบทเพลงของหนัง ได้นำเอาทำนองของเพลงฮิตจากภาคแรก In The House – In A Heartbeat แทรกใส่เข้าไปด้วย นอกจากเพื่อให้เกิดความคุ้นเลยแล้ว จะสะท้อนสะท้านทรงพลัง ยิ่งใหญ่เหมือนเคย แค่ได้ยินก็จะรับรู้ได้ทันทีว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่บ้าคลั่งเกิดขึ้นแน่
บทเพลง London Deserted เริ่มจากตัวโน๊ตเสียงทุ้มต่ำ ค่อยๆไต่ไล่ระดับขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุด จากความว่างเปล่าไม่มี สู่ยุคสมัยอารยธรรมมนุษย์ ที่พอถึงจุดสูงสุดกลับคืนสู่ความว่างเปล่าอีกครั้ง, นี่เป็นบทเพลงที่เรียบง่ายแต่มีความทรงพลังยิ่ง ในฉากที่ Andy กับ Tammy ลักลอบหนีออกจาก District One สิ่งที่พวกเขาพบเห็นคือกรุง London ที่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า ตึกรามบ้านช่องยังคงเหมือนเดิม แต่ไร้ซึ่งผู้คนและสิ่งมีชีวิต หลอกหลอนราวกับเมืองผีสิง
กับซีนไฮไลท์ของหนัง Kiss of Death เมื่อ Don แอบลักลอบเข้าไปพบภรรยาที่ถูกมัดอยู่บนเตียง (แบบไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่) เขาเอ่ยปากขอโทษ ร้องไห้ออกจากใจ แล้วประทับรอยจุมพิตอันนุ่มนวล แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันกลับเกิดขึ้น มันทำให้ความบ้าคลั่งบางอย่าง ได้รับการถ่ายทอดส่งต่อ จุดสิ้นสุดของมวลมนุษย์ชาติเริ่มจากตรงนี้เอง
พ่อ Don เป็นคนขลาดเขลา อ่อนแอ แต่สร้างภาพให้กับตัวเองดูดี ใช้ความรักเป็นข้ออ้าง แต่พอติดเชื้อโรคระบาดจากแม่ กลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติ ฆ่าเมีย ต้องการฆ่าลูกในไส้แท้ๆของตนเอง, เปรียบเทียบกับภาพใหญ่ขึ้นของหนัง กองทัพทหารอเมริกาแท้จริงแล้วไม่ได้มีความเข้มแข็งแกร่งอะไร แต่สร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี ใช้ข้ออ้างสันติภาพ แต่พอควบคุมแทรกแซงต่อไปไม่ได้แล้ว ก็ใช้ปฏิบัติการ Code Red ทำลายทุกสิ่งอย่างที่ขวางหน้า
ทีแรกผมก็ไม่ได้เอะใจนัยยะการเมืองของหนังเท่าไหร่ เพราะมัวแต่ครุ่นคิดหาว่ามันเกี่ยวอะไรกับโรคระบาดทั่ว เชื้อไวรัสอีโบล่าที่เป็นนัยยะ ‘rage virus’ ของภาคแรก การหยุดแพร่กระจายของมันไม่ได้แปลว่าสูญพันธุ์ แต่คือกำลังค่อยๆพักฟื้น กลายพันธุ์ รอวันหวนคืนกลับมาระบาดซ้ำใหม่ เป็นวัฏจักรไม่รู้จบสิ้น, คือเราสามารถมองหนังด้วยนัยยะเดิมนี้ก็ได้เหมือนกันนะครับ แต่ใจความการเมืองมันจะเด่นชัดน่าสนใจกว่ามาก
NATO นำกำลังทหารอเมริกันเข้ามาฟื้นฟูสภาพเกาะอังกฤษให้น่าอยู่อาศัย มีนัยยะถึงการเข้าไปแทรกแซง ควบคุม ชาติตะวันออกกลาง อาทิ อิรัก, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน ฯ ของอเมริกาในยุคหลัง 9/11 (เพื่อผลประโยชน์น้ำมัน และตามล่าผู้ก่อการร้าย) แต่เมื่อใดที่ซอมบี้กลับมาแพร่ระบาด หรือประชาชน/ผู้ก่อการร้าย ลุกฮือขึ้นต่อต้าน วิธีการที่ชาติอเมริกันใช้ตอบโต้คือ ระเบิดปูพรม อาวุธชีวภาพ กวาดฆ่าล้างทำลายทุกสิ่งอย่างไม่ให้เหลือซาก, นี่เป็นการเสียดสี ประชดประชัน กับชาติผู้นำโลกสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องบอกคงน่าจะรับรู้กันได้ ว่าเหล่านี้คือความจริงที่เกิดขึ้นมาก็ไม่รู้กี่ทศวรรษแล้ว
สำหรับซอมบี้ในหนังเรื่องนี้ สามารถเปรียบได้กับผู้ก่อการร้ายทั้งหลาย อัลกออิดะฮ์, ตาลีบัน, อาบูไซยาฟ ฯ ปัจจุบันก็คง ISIS ที่แพร่ระบาดไปทั่วอย่างรวดเร็วราวกับเชื้อโรคติดต่อ เป็นภัยคุกคาม/ภัยพิบัติ ที่ในความเชื่อของชาวอเมริกันจำเป็นต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก ไม่ให้หลงเหลือเป็นภัยต่อไปในอนาคต, แต่การแก้ปัญหาแบบในหนัง หลายคนน่าจะตระหนักรับรู้ได้ ว่ามันไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ขาดการคิดคำนึงผลกระทบรอบด้าน ไร้ความมีมนุษยธรรม เรียกว่าตัดตอนปัญหายุ่งยากวุ่นวาย สะท้อนถึงความขลาดเขลา อ่อนแอ หวาดกลัวเกรง ที่หลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจ จึงจำเป็นต้องแสดงความก้าวร้าว เด็ดขาด เผด็จการเบ็ดเสร็จ
ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ในอเมริกา $28.6 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $64.2 ล้านเหรียญ ไม่ฮิตเท่าภาคแรกแต่ยังได้กำไรพอสมควรอยู่
เหตุผลที่ผมค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ เพราะตัวละคร Don แสดงสันชาติญาณความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ออกมาได้โดนใจมากๆ มันไม่ใช่ความผิดของเขาที่เป็นคนขลาดเขลา ทิ้งคนรักที่เป็นภาระชักช้าไว้เบื้องหลัง โกหกกับลูกๆว่าแม่เสียชีวิตไปแล้ว ร้องขออภัยกับภรรยาให้เธอยกโทษให้ ฯ นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงหนังเรื่อง Force Majeure (2014) ตั้งคำถามในลักษณะคล้ายๆกัน ในสถานการณ์เป็นตายลักษณะนี้ เป็นคุณจะยังสามารถสนใจเรื่องคุณธรรม มโนธรรม เสียสละเพื่อผู้อื่น/ครอบครัว/มวลมนุษยชาติได้หรือเปล่า
แนะนำกับคอหนัง Horror, Sci-Fi, Zombie (ก็ไม่เชิงเป็นซอมบี้เท่าไหร่นะ เรียกว่าผู้ติดเชื้อไวรัสแล้วกัน), คอหนังการเมือง ชื่นชอบการเสียดสีสะท้อนชาติอเมริกัน, นักแสดงนำอย่าง Robert Carlyle, Jeremy Renner, Rose Byrne ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับการกระทำของทหาร ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
Leave a Reply