42nd Street (1933)
: Lloyd Bacon, Busby Berkeley ♥♥♥♥
ความตระการตาแรกของหนังเพลง hollywood คือการนำเอาสาวๆจำนวนมากมาจัดเรียง ขยับเต้นเคลื่อนไหว เหมือนกำลังส่องดูกล้องสลับลาย (kaleidoscope) ที่จะทำให้คุณเกิดความสงสัยว่า กำลังดูหนังเพลงหรืออะไรอยู่นิ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผมเอาช็อตตัวอย่างของหญิงสาว ที่มีลักษณะเหมือนกับภาพ kaleidoscope มาให้ตัดสินใจก่อน สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับชมหนังเรื่องนี้ ถ้าเกิดความสนใจลองไปหามารับชมก่อนเลยนะครับ
จริงๆหนังมีภาพแบบนี้ไม่เยอะนะครับ แค่ช่วงท้ายๆไคลน์แม็กซ์ของหนังเท่านั้น ดูแล้วไม่มึนหัวแน่นอน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบสิ้นลง วงการละครเพลง Broadway ได้รับความซบเซาลงมากในช่วง Depression Era (คือผู้ชมไม่มีกะจิตกะใจรับชมอะไรที่สนุกสนาน) ทำให้ผู้สร้างละครเพลงหลายคนต้องดิ้นรนหาตัวรอด กอปรกับช่วงนั้น Hollywood มีของเล่นใหม่คือหนังพูด (Talkie) ทำให้ผู้กำกับ นักแต่งเพลง นักออกแบบท่าเต้น หลายคนอพยพสู่ Los Angeles หนึ่งในนั้นคือ Busby Berkeley
วิสัยทัศน์ที่ Berkeley นำมาด้วย คือความตระการตาในการออกแบบท่าเต้น เขามีความเชื่อเรื่องการ human-prop ใช้นักแสดงเคลื่อนไหวประกอบฉากให้มีลักษณะเหมือนกล้องสลับลาย หลอกตาผู้ชม นี่ถือเป็นสิ่งทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ ไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อน น้อยคนจะคิดว่าภาพยนตร์ก็สามารถทำแบบนี้ได้
ร่วมกับ Lloyd Bacon ที่เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงหนังสั้น/ละครเวที ต่อมากลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เซ็นสัญญาประจำกับ Warner Bros. ซึ่งหนังเรื่องนี้ Bacon เป็นผู้กำกับส่วนดราม่า ส่วน Berkeley กำกับส่วนของการแสดงละครเพลง
ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง 42nd Street ตีพิมพ์ปี 1932 เขียนโดย Bradford Ropes ที่เคยเป็นนักเต้นตัวประกอบละครเพลง Broadway (แน่ละ ถ้าไม่เคยทำงาน รับรู้เรื่องราววงในของ Broadway จะเขียนนิยายออกมาละเอียดขนาดนี้ได้อย่างไร) นี่ถือเป็นนิยายเรื่องแรก และเป็นใบเบิกทางสู่การเป็นนักเขียนบทหนังใน hollywood
เรื่องราวของผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ ละครเพลง Broadway ชื่อดัง Julian Marsh (รับบทโดย Warner Baxter) [ในฉบับนิยาย มีการเปิดเผยว่า Marsh เป็นเกย์] ที่กำลังรวบรวมทีมงานเพื่อสร้างละครเพลงเรื่องใหม่ Pretty Lady ที่จะนำแสดงโดย Dorothy Brock (รับบทโดย Bebe Daniels) และมีนักแสดงตัวประกอบกว่า 40 ชีวิต
หนังนำเสนอเบื้องหลังการสร้างละครเพลง Broadway ตั้งแต่เริ่มเตรียมการ หาผู้สนับสนุน คัดเลือกนักแสดง ซักซ้อม แก้ปัญหาเล็กๆน้อยๆมากมายที่เกิดขึ้นในการทำงาน และไคลน์แม็กซ์ช่วงท้าย นำเสนอการแสดงละครเพลง, นี่คือเหตุผลที่ผมยกหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จะได้เห็นว่า กว่าจะมามาเป็นละครเพลงเรื่องหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เห็นอะไรๆจากหนังเรื่องนี้ อาจทำให้คุณหลงรักภาพยนตร์ ศาสตร์แห่งการแสดงมากขึ้นหลายเท่าเลย
นำแสดงโดย Warner Baxter หนึ่งในนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่แห่งทศวรรษ มีผลงานการแสดงตั้งแต่หนังเงียบ แต่โด่งดังสุดๆกับยุคหนังพูด ได้รับ Oscar: Best Actor จากหนังเรื่อง In Old Arizona (1928) ผลงานอื่นที่ดังๆอาทิ The Great Gatsby (1926), The Awful Truth (1925), Slave Ship (1937), Kidnapped (1938)
รับบทผู้กำกับ Julian Marsh ชายผู้เคร่งเครียดจริงจังกับชีวิตตลอดเวลา โมโหหงุดหงิดง่าย มักได้ยินตะโกนขึ้นเสียงไม่พอใจตลอดเวลา มีแนวโน้มสูงมากว่าตัวละครนี้ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัย Depression Era ที่สร้างความกดดัน หวาดกลัวความล้มเหลว หมอวินิจฉัยว่าถ้ายังฝีนทำแบบนี้ต่อไป อาจได้สติแตก เส้นเลือดในสมองระเบิดแน่
สำหรับสาวๆในหนัง มีมากมายเต็มไปหมด บ้างพอจะมีชื่อเสียง บ้างเป็นหนัง debut และบ้างเป็นแค่ทางผ่าน
– Bebe Daniels รับบท Dorothy Brock นักแสดงสาวสวยที่หมายมั้นปั้นมือเป็นนักแสดงนำ แต่โชคชะตาเล่นตลกทำให้สุดท้ายพลาดโอกาส, Daniels เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เคยได้ร่วมงานกับทั้ง Harold Lloyd, Cecil B. DeMille ฯ ในยุคหนังเงียบมีผลงานอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถปรับตัวรอดได้ในสมัยนี้ จนค่อยๆจางหายไปจากวงการ
– Ruby Keeler รับบท Peggy Sawyer ที่ช่วงหลังกลายเป็นตัวตายตัวแทนของ Dorothy Brock, นี่เป็นผลงานเรื่องแรกของ Keeler ที่ตั้งใจให้เป็นจุดขายเลย แต่เธอก็อยู่ในวงการได้ไม่นาน หลังแต่งงานกับ Al Jolson ก็รีไทร์จากการแสดงหายตัวไปเลย
– Ginger Rogers รับบท Ann Lowell ตัวประกอบ…, จริงๆ Rogers ไม่ได้อยากแสดงหนังเรื่องนี้ แต่เพราะเธอเดทกับ Mervyn LeRoy ผู้กำกับคนแรกของหนังอยู่ ที่ขอให้เธอมารับบท ซึ่งไปๆมาๆ LeRoy ป่วยหนักจนต้องถอนตัว แต่ Rogers ถอนตัวไม่ได้แล้ว
รับชมหนังเรื่องนี้ บอกตามตรงผมมองหาแต่ Ginger Rogers เพราะเธอเป็นนักแสดงคนเดียวที่จดจำหน้าได้ (คือรู้สึกสาวๆในหนังหน้าตาเหมือนกันหมด แยกไม่ค่อยออกเท่าไหร่) และเป็นคนเดียวที่มีชื่อเสียงโด่งดังคับฟ้า หลังจากหนังเรื่องนี้
ถ่ายภาพโดย Sol Polito ที่มีผลงานดังเข้าชิง Oscar อย่าง The Private Lives of Elizabeth and Essex (1939), Sergeant York (1941) และ Captains of the Clouds (1942)
ความโดดเด่นที่สุดคือการเคลื่อนกล้อง และตำแหน่งภาพ ที่สอดคล้องรับกับ Music Direction ของหนังได้ลงตัว, ในฉากการแสดงละครเพลง ให้ความรู้สึกเหมือนหนังดึงดูดผู้ชมเข้าไปในโลกของการแสดง (คือจะไม่ใช่แค่ถ่ายด้านหน้า เห็นฉากแล้วนักแสดงเต้นๆ แต่จะดึงดูดเราเข้าไปในมิติของโลกละครเพลง) กับฉากที่มีลักษณะของกล้องสลับลาย (kaleidoscope) ถ่ายจากมุมด้านบน Bird Eye View ถ้าสังเกตพื้นหลังรอบด้านจะใช้ผ้าดำปกคลุม ให้เห็นความสว่างจากเสื้อผ้านักแสดงเท่านั้น
สำหรับไฮไลท์ของงานภาพ คือการเคลื่อนกล้องผ่านระหว่างขาของหญิงสาว, มีนัยยะเปรียบถึงเส้นทาง(ขาอ่อน)แห่งความฝัน ในการเป็นดาราดัง มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ
ตัดต่อโดย Thomas Pratt กับ Frank Ware, หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ เล่าเรื่องผ่านหลายๆตัวละครที่นำแสดงในละครเพลงเรื่องนี้ บ้างช่วงการฝึกซ้อม, บ้างช่วงชีวิตส่วนตัว ฯ
เริ่มต้นหนัง ตัดต่อภาพป้ายนำทาง 42nd Street เข้าสู่ถนนสายนี้ (เผื่อคนไม่รู้ 42nd Street คือชื่อถนนสายหนึ่งใน New York ที่เต็มไปด้วยโรงละครเวที มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในนาม Broadway)
ไฮไลท์คือช่วงประมาณ 20 นาทีสุดท้าย จัดเต็มกับการแสดงที่มีการตัดต่อเนียนมากๆ จนเผลอคิดไปว่าหลายครั้งเป็น long-take ไม่ได้ใช้การตัดต่อ (แต่ถ้าสังเกตก็จะพบว่ามีการตัดต่อเปลี่ยนภาพอยู่หลายครั้ง)
เพลงประกอบ แต่งทำนองโดย Harry Warren เนื้อร้องโดย Al Dubin, ทั้งสองเป็นคู่หูนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จอย่างมาก เคยได้ Oscar ร่วมกันจากหนังเรื่อง Gold Diggers of 1935 (1935) น่าเสียดาย Dubin ด่วนจากไปก่อน ทำให้ Warren ต้องจับคู่กับนักแต่งเพลงคนอื่น แต่ก็ยังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
กับบทเพลงที่โด่งดังสุด 42nd Street ขับร้องและเต้นโดย Ruby Keeler กับ Dick Powell จะได้ยินอยู่หลายครั้งในหนัง แต่การแสดงจัดเต็มในช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ เป็นหนึ่งในการแสดงละครเวทีที่มีความอลังการมาก, เพื่อไม่ให้เป็นการสปอยภาพหนัง ผมเลือกเอาฉบับที่บันทึกลงแผ่นเสียง บรรเลงโดย Don Bestor (และวงของเขา) ขับร้องโดย Dudley Mecum มาให้ฟังนะครับ ให้อารมณ์คลาสสิกมากๆ
Forty-Second Street เพลงนี้ติดอันดับ 97 การจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs มีการนำมาใช้ในฉบับละครเพลง Broadway ทุกฉบับเป็นของคู่กันขาดไม่ได้ ถือว่าเป็นบทเพลงอมตะเลยละ
แต่เพลงที่ผมชอบสุดคือ Shuffle Off to Buffalo ขับร้องโดย Ruby Keeler และ Clarence Nordstrom, มี Ginger Rogers, Una Merkel และสาวๆร้องคลอรัสประกอบ, เหตุผลที่ผมชอบเพลงนี้ ไม่ต้องบอกก็น่าจะเดากันได้มั้ง เพราะมี Ginger Rogers กินแอปเปิ้ลอยู่ด้วย
Ginger Rogers กินแอปเปิ้ล และ Una Merkel กินกล้วย โอ้แม่เจ้า! นี่เป็นสัญลักษณ์ทางเพศที่ชัดมากๆ (กล้วย=dick/ผู้ชาย, apple = eve/ผู้หญิง/เสียความบริสุทธิ์)
มองภาพรวม ใจความของหนังเรื่องนี้ เป็นการเติมเต็มความต้องการ/ความฝัน ของแต่ละตัวละคร
– Julian Marsh ผู้กำกับ ต้องการทำหนังเรื่องสุดท้ายประสบความสำเร็จ จะได้รีไทร์ไปใช้เงินอย่างสบายใจไร้ปัญหา
– Dorothy Brock เป็นดาราดังแต่ยังขาดบางสิ่งอย่าง ตอนจบรับรู้ได้ว่าตนต้องการอะไรแท้จริง
– Peggy Sawyer ฝันเป็นดาราดัง หน้าตาสวยสะคราง ฝีมือการแสดงใช้ได้ ตอนจบได้กลายเป็นดาราสมใจ
เรื่องราวของละครเพลง Pretty Lady และบทเพลงสุดท้ายของหนัง 42nd Street ต่างก็มีใจความถึงความเพ้อฝัน อยากเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังประสบความสำเร็จใน Broadway
เริ่มต้นจากการแสดงที่เหมือนภาพในกล้องสลับลาย (kaleidoscope) มีความสวยงามตระการตา นั่นคือการวาดฝัน เพ้อฝันของวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่ต้องการมีชื่อเสียง เงินทอง ประสบความสำเร็จ, กล้องเคลื่อนผ่านขาอ่อนของสาวๆ ที่ผมเปรียบเทียบไปแล้ว คือการเส้นทางแห่งความฝัน, ตามมาด้วยการเดินทางขึ้นรถไฟ สถานีปลายทางคือ New York City ผู้คนมากมายหลากหลายเต็มไปหมด, แล้วการแสดงตัดข้ามไปที่หญิงสาวทำตามความฝันสำเร็จ ยืนอยู่บนตึกสูงเปรียบเทียบได้กับจุดสูงสุดในชีวิต
เกร็ด: ตัวอักษรที่อยู่บนผ้าม่านปิดตอนจบการแสดง Asbestos ในพจนานุกรมจะแปลว่า แร่ใยหิน ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับหนังเลย, ในโรงละครยุคก่อน คำนี้จะเป็นที่รู้กัน แปลว่า hot ร้อนแรง … การที่หนุ่มสาวกระซิบกระซาบกันก่อนดึงผ้าม่านปิดลง ไม่ว่าจะคืออะไร แต่การันตีได้ว่าต้องเร้าร้อนแรงแน่นอน!
ผมดูหนังเรื่องนี้ เห็นสัญลักษณ์ นัยยะมากมายที่สื่อถึงเรื่องเพศ, การแสดงที่ต้องโชว์เนื้อหนังมังสา ขาอ่อน รวมถึงเรื่องราวที่มีลักษณะของการความทะเยอทะยาน การมี Sex และจุดไคลน์แม็กซ์, ในมุมหนึ่งมองว่า ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการถูกบังคับให้กระทำทำตามสั่ง (ของผู้ชาย) เพื่อบำบัดจินตนาการ ความต้องการทางเพศ [คือเป็นฮาเร็มที่ถูกบังคับให้แสดง ร้องเล่นเต้น ตามแบบที่ผู้กำกับต้องการ เพื่อความพึงพอใจส่วนตน]
ประเด็นเรื่องเกย์ที่ถูกตัดออกไปในฉบับภาพยนตร์ คือระหว่างตัวละคร Julian Marsh (ผู้กำกับ) กับ Billy Lawler (นักแสดงนำ) ซึ่งหนังเปลี่ยนให้ Billy ตกหลุมรัก Peggy แทน แล้วแอบใส่ประเด็นเล็กๆระหว่าง Julian กับผู้ช่วย Andy Lee ในประโยคที่พูดว่า ‘Come on home with me, will you? I’m lonesome.’ ผู้ชายคนไหนพูดกับคุณแบบนี้ ระวังตัวให้ดีเลยนะครับ
ด้วยทุนสร้าง $439,000 เหรียญ หนังทำเงิน $2.25 ล้านเหรียญ กำไรเน้นๆ, เข้าชิง Oscar 2 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Outstanding Production (Best Picture)
– Best Sound, Recording
ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มาก แต่ไม่ถึงขั้นตกหลุมรัก ประทับใจในความสวยงามที่ตระการตราตรึง (แต่คิดว่าถ้าดูซ้ำบ่อยๆ คงไม่มีอะไรให้น่าจดจำแล้ว) มีบทเพลงเพราะๆหลายเพลง แนวทางการกำกับก็น่าสนใจ, ชอบสุดคือ Ginger Rogers ถึงจะไม่ได้เด่นอะไร แต่เพราะผมจำเธอได้คนเดียว เลยไม่ยอมคลาดสายตา
แนะนำกับคอหนังเพลง ชื่นชอบ Broadway ภาพถ่ายสวยๆ (ที่คงหาจากหนังสมัยนี้ไม่ได้แล้ว) คนโรคจิตชอบมองขาอ่อนสาวๆ เห็นกันให้เบื่อไปเลย, แฟนหนัง Ginger Rogers ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 13+ กับขาอ่อน และประเด็นแฝงเรื่อง Sex
Leave a Reply