49th Parallel

49th Parallel (1941) British, Canadian : Michael Powell ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ชวนเชื่อรวมดารา ผลงานลำดับที่สามของ Powell & Pressburger, ถ่ายภาพโดย Freddie Young, ตัดต่อโดย David Lean, เมื่อกลุ่มทหารนาซีเยอรมันถูกปล่อยเกาะบนผืนแผ่นดินแคนาดา อุดมการณ์ที่ไม่ยอมแปรเปลี่ยน เมื่อต้องเผชิญหน้าแนวคิดเสรีภาพ มันช่างเป็นความคู่ขนานกันโดยสิ้นเชิง

49th Parallel คือเส้นรุ้ง (Latitude) ที่ 49 องศาเหนือ ซึ่งใช้เป็นเส้นแบ่งเขตพรมแดนระหว่างประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ระยะทาง 1,260 ไมล์ (=2,030 กิโลเมตร) แต่ในบริบทของหนังสามารถสื่อถึงอุดมการณ์ที่แตกต่างตรงกันข้าม (หรือจะมองว่าคู่ขนานก็ได้เช่นกัน) ระหว่างเผด็จการ vs. เสรีชน

เรื่องราวของ 49th Parallel (1941) ไม่ได้สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง! ทั้งหมดเป็นการครุ่นคิด ปรุงแต่ง ทำออกมาในลักษณะภาพยนตร์ชวนเชื่อ (Propaganda) โดยมีเป้าหมายคือสหรัฐอเมริกา ที่ขณะนั้นยังคงเพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะทหารนาซีเยอรมันยังเดินทางมาไม่ถึงทวีปแห่งนี้! … แต่หนังออกฉายหลังเหตุการณ์ Pearl Harbour เลยไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อชาวอเมริกันสักเท่าไหร่

ในบรรดาผลงานของคู่หู Power & Pressburger ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่เอ่อล้นด้วยอารมณ์เหมือน A Matter of Life or Death (1946), ดราม่าเข้มเข้นเทียบเท่า Black Narcissus (1947), หรืองดงามวิจิตรศิลป์แบบ The Red Shoes (1948) แต่ต้องเอ่ยปากชมเลยว่า 49 Parallel (1941) เต็มไปด้วยเล่ห์ เพทุบาย บทหนังมีความเฉียบคมคาย (คว้ารางวัล Oscar: Best Story) รวมทีมนักแสดงเก่งๆอย่าง Leslie Howard, Laurence Olivier, Anton Walbrook, Raymond Massey, โดยเฉพาะ Eric Portman, ภาพถ่ายสวยๆของ Freddie Young, ฝีมือตัดต่อโดยว่าที่ผู้กำกับดัง David Lean, และเพลงประกอบสุดอลังการของ Ralph Vaughan Williams


Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา สำเร็จการศึกษา Dulwich College แล้วทำงานนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 1925 เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926), ต่อด้วยตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928) และ Blackmail (1929) และได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)

Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ Universities of Prague and Stuttgart แต่ต้องลาออกเพราะบิดาเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German แล้วอพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ และลักลอบขึ้นเกาะอังกฤษปี ค.ศ. 1935 โดยไม่มีพาสปอร์ตทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric

Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี ค.ศ. 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger พัฒนาบทภาพยนตร์, แม้ทั้งสองมีอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิท เพราะทัศนคติ/แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์มีทิศทางเดียวกัน เพียงมองตาก็รับรู้ความต้องการอีกฝั่งฝ่าย, เมื่อปี ค.ศ. 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers สรรค์สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯลฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางใครทางมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์

เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งกำกับและเขียนบท


สำหรับ 49th Parallel (1941) มีจุดเริ่มต้นจากผู้อำนวยการกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) Kenneth Clark ติดต่อเข้าหาผู้กำกับ Powell ต้องการให้สรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อ เกี่ยวกับเรือกวาดทุ่นระเบิด (Minesweeper)

แต่ความสนใจของผู้กำกับ Powell ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่สามารถโน้มน้าวสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นยังวางตัวเป็นกลาง ทำทองไม่รู้ร้อนรู้หนาว ปฏิเสธเข้าร่วมสงครามในทวีปยุโรป ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับตนเอง

I hoped it might scare the pants off the Americans.

Michel Powell

Goebbels considered himself an expert on propaganda, but I thought I’d show him a thing or two.

Emeric Pressburger

ไม่แน่ใจว่าเป็นแนวคิดของผู้กำกับ Powell หรือนักเขียน Pressburger ในการเลือกสถานที่ถ่ายทำยังแคนาดา ประเทศที่มีพรมแดนติดกับสหรัฐอเมริกา (แบ่งแยกด้วยเส้นรุ้ง 49 องศาเหนือ) กำลังจะถูกรุกรานโดยกองทหารนาซีเยอรมัน แม้เพียงหน่วยเล็กๆไม่ถึงสิบคน กลับสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ!

Pressburger ยังผสมผสานแนวคิดที่ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย And Then There Were None (1939) หรือ Ten Little Indians ผลงานชิ้นเอกยอดขายกว่าร้อยล้านเล่มของ Agathe Christie นักเขียนแนวลึกลับ (Mystery) สัญชาติอังกฤษ เรื่องราวเกี่ยวกับการเสียชีวิตทีละคนของผู้เข้าพักในรีสอร์ทกลางทะเลแห่งหนึ่ง

เกร็ด: ต้นฉบับของ Ten Little Indians มาจากบทเพลงนับเลขสำหรับเด็ก (Nursery Rhyme) แต่งขึ้นตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1868 โดยคำว่า Indians สื่อถึงชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง

One little, two little, three little Indians,
Four little, five little, six little Indians,
Seven little, eight little, nine little Indians,
Ten little Indian boys.

Ten little, nine little, eight little Indians,
Seven little, six little, five little Indians,
Four little, three little, two little Indians,
One little Indian boy.


เรื่องราวเริ่มต้นที่ Gulf of St. Lawrence เมื่อเรือดำน้ำ U-37 ของนาซีเยอรมัน โจมตีเรือขนส่งสินค้าแคนาดา เลยกลายเป็นที่หมายหัวของ RCN (Royal Canadian Navy) และ RCAF (Royal Canadian Air Force) ระหว่างจอดเทียบท่าหาเสบียงยัง Hudson Bay ถูกเครื่องบินโจมตีจนอับปางลง หลงเหลือผู้รอดชีวิตจำนวน 6 คน นำโดย Lieutenant Hirth (รับบทโดย Eric Portman) ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อหาหนทางกลับบ้าน

สถานที่แห่งแรกที่สถานีการค้า (Trading Post) Cape Wolstenholme, Québec ทุกสัปดาห์จะมีเครื่องบินทะเล (Floatplane) ลงมาจอดเทียบท่าเพื่อค้าขายกับชาวพื้นเมือง Inuit นั่นเป็นโอกาสให้ทหารนาซีใช้กำลังเข้ายึดครอง เข่นฆ่านักบิน และทำร้าย Johnnie (รับบทโดย Laurence Olivier) ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ระหว่างขับเครื่องบินหลบหนี มีนายทหารคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต!

ระหว่างกำลังขับเครื่องบินลงใต้ เชื้อเพลิงหมด ลงจอดฉุกเฉินยังทะเลสาปที่ Manitoba ทำให้มีนายทหารอีกคนเสียชีวิต! จากนั้นพบเจอชุมชนเกษตรกรรม Hutterite ซึ่งเป็นชาวเยอรมันอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังแคนาดา Lieutenant Hirth พยายามกล่าวสุนทรพจน์โน้มน้าวอีกฝั่งฝ่าย แต่กลับถูกขับไล่โดยผู้นำกลุ่ม Peter (รับบทโดย Anton Walbrook) และนายทหาร Vogel ที่ไม่ต้องการร่วมออกเดินทางต่อ โดนตัดสินประหารชีวิตโทษฐานก่อกบฎ

สามทหารเยอรมันพอมาถึงเมือง Winnipeg วางแผนมุ่งสู่ตะวันตก Vancouver หวังขึ้นเรือรบญี่ปุ่นกลับประเทศ แต่ด้วยระยะทางเป็นพันๆไมล์ เลยทำการปล้นรถ-ฆ่า โดยสารรถไฟ ระหว่างจอดหยุดพักที่ Banff, Alberta นายทหารอีกคนถูกล้อมจับท่ามกลางฝูงชน

Lieutenant Hirth และ Lieutenant Kuhnecke หลบหนีสู่ Lake O’Hara, Yoho National Park (ทิวเขา Rocky Mountains) พบเจอนักเขียนชาวอังกฤษ Philip Armstrong Scott (รับบทโดย Leslie Howard) ตั้งแคมป์พักแรมริมทะเลสาป ระหว่างอวดอ้างสรรพคุณโน่นนี่นั่น สร้างความรำคาญแก่สองทหารนาซี จึงจับมัดอีกฝ่าย เผาทำลายภาพวาด งานเขียน ระหว่างกำลังหลบหนี Lieutenant Kuhnecke ถูกต้อนจนมุมในถ้ำแห่งหนึ่ง

หลงเหลือเพียง Lieutenant Hirth แอบขึ้นตู้สัมภาระบนรถไฟโดยสารข้ามประเทศ แต่บังเอิญพบเจอ Andy Brock (รับบทโดย Raymond Massey) นายทหาร Canadian ที่กำลังหลบหนีจากกองทัพ จับพลัดจับพลูข้ามผ่านพรมแดนถึงสหรัฐอเมริกา สุดท้ายจะสามารถผ่านด่านศุลกากร หลบหนีเอาตัวรอดสำเร็จหรือไม่?


Eric Harold Portman (1901-69) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Halifax, West Riding of Yorkshire โตขึ้นทำงานเป็นเซลล์ขายชุดชั้นในชายที่ Marshall & Snelgrove ระหว่างนั้นรับงานแสดงสมัครเล่นที่ Halifax Light Opera Society ขึ้นเวทีครั้งแรกปี ค.ศ. 1924 ร่วมกับ Henry Baynton, สู่วงการภาพยนตร์เรื่อง The Girl from Maxim’s (1933), ผลงานเด่นๆ อาทิ 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), A Canterbury Tale (1944), The Whisperers (1967) ฯลฯ

รับบท Lieutenant Hirth ทหารเยอรมันผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ยึดถือมั่นในอุดมการณ์พรรคนาซี และท่านผู้นำ Adolf Hiter โดยไม่ยินยอมโอนอ่อนผ่อนปรน ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด พร้อมจะต่อสู้จนตัวตาย ให้กลายเป็นวีรบุรุษเพื่อชาติ!

เพราะเป็นบทบาททหารนาซี มักทำให้ Portman ถูกมองข้ามจากผู้ชมสมัยนั้น (จริงๆรวมถึงโดนกลบเกลื่อนจากบรรดานักแสดงสมทบยอดฝีมือด้วยนะ!) ตีตราว่าชั่วร้าย อันตราย ต้องตีตนออกให้ห่างไกล แต่การที่เขาทำให้ใครต่อใครหลงเชื่อสนิทใจ นั่นคือความสามารถด้านการแสดง โคตรๆสมจริง ท่าทางเริดเชิดเย่อหยิ่ง โดยเฉพาะลีลาคำพูดระหว่างกล่าวสุนทรพจน์อุดมการณ์พรรคนาซี ทรงพลังไม่ด้อยไปกว่า Adolf Hitler เมื่อครั้น Triumph of the Will (1935)

แซว: จะว่าไปชื่อตัวละคร Hirth ดูละม้ายคล้าย Hitler อยู่ไม่น้อยเลยนะ!


สำหรับรวมดาราสมทบ (Ensemble Cast) ที่อาจเจ้าบทบาท/มีชื่อเสียงกว่านักแสดงนำด้วยซ้ำ! ขอกล่าวถึงเพียงคร่าวๆก็แล้วกัน

  • Laurence Olivier รับบท Johnnie พ่อหนุ่มลูกครึ่ง Canadian-French เป็นคนรักอิสระ ไม่ยี่หร่าอะไรใคร ชอบพูดอังกฤษคำ-ฝรั่งเศสคำ สงครามที่ยุโรปจะไปสนมันทำไม … แต่ไม่ทันไรก็ถูกห้อมล้อมโดยทหารนาซีเยอรมัน เกิดอาการอ้ำๆอึ้งๆ พูดไม่ออกบอกไม่ถูก แถมโดนลูกหลงเข้าอย่างจัง
    • ตัวละครนี้ชัดเจนมากๆว่าต้องการอ้างอิงถึงสหรัฐอเมริกา ประเทศแห่งเสรีชน แต่กลับทำตัวไม่ยี่หร่าอะไรใคร สงครามที่ยุโรปจะไปสนมันทำไม ต้องให้ถูกนาซีประชิดตัวก่อนหรือไง ค่อยตระหนักว่าความเพิกเฉยลอยชายนั้นไม่ถูกต้อง
  • Anton Walbrook รับบท Peter ผู้นำชุมชนเกษตรกรรม Hutterite ซึ่งเป็นชาวเยอรมันอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังแคนาดา แต่หลังจากรับฟังสุนทรพจน์ของ Lieutenant Hirth ก็โต้ตอบกลับด้วยอุดมคติเสรีชน ขับไล่อีกฝั่งฝ่ายให้กลับบ้านไป!
    • นี่เป็นตัวละครที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความตระหนักว่า ไม่ใช่ชาวเยอรมันทุกคน (หรือแม้แต่ทหารนาซี Vogel) จะเห็นพ้องอุดมการณ์ครองโลกของ Adolf Hitler อย่าตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก หรือเชื้อชาติพงศ์พันธุ์
  • Glynis Johns รับบท Anna เด็กสาววัย 15 ย่าง 16 ยังมีความบริสุทธิ์ ร่าเริงสดใส ให้เกียรติทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม จนกระทั่งรับรู้ว่าอีกฝั่งฝ่ายคือทหารนาซี แสดงอาการโกรธ รังเกียจ ไม่พึงพอใจ แม้ความรู้สึกของเธอขัดแย้งกับทุกสิ่งอย่างเคยเรียนรู้มา ก็ยังพยายามหาวิธีการยกโทษให้อภัย ไม่ต้องการให้สิ่งเลวร้ายติดค้างคาใจ
    • เราสามารถมอง Anna คือตัวแทนวัยรุ่นหนุ่มสาวชาวเยอรมัน หรือจะไม่จำเพาะเจาะจงสัญชาติ แค่เพียงเด็กรุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้ประสีประสาต่อวิถีทางของโลก เมื่อพวกเขารับเรียนรู้เกี่ยวกับสงคราม ความสูญเสีย มันก็หาใช่เรื่องน่าอภิรมณ์เริงใจสักเท่าไหร่
    • นี่เป็นบทบาทแจ้งเกิดของ Johns ได้รับคำสรรเสริญว่าจักกลายเป็นนักแสดงอนาคตไกล เคยเข้าชิง Oscar เรื่อง The Sundowners (1960) และกลายเป็นดาวดาราดวงท้ายๆ(ที่ยังมีชีวิตอยู่)จากยุคสมัย Golden Age of Hollywood
  • Leslie Howard รับบท Philip Armstrong Scott นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ ทั้งยังชื่นชอบสะสมผลงานศิลปะ เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนคลายยังทะเลสาป Lake O’Hara พยายามแสดงอัชฌาศัยอันดีต่อทหารนาซีทั้งสอง แต่กลับถูกอีกฝั่งฝ่ายกระทำร้าย ทำลายสิ่งของมีค่าของตนเอง เมื่อสามารถดิ้นหลุดพ้นพันธนาการ ตรงเข้าไปเผชิญหน้า ชกต่อย น็อคคาที่
    • Wars may come and wars may go but art goes on for ever.
    • ผมรู้สึกว่าตัวละครนี้คืออวตารของผู้กำกับ Powell (และ Pressburger) ใส่ความครุ่นคิดในฐานะศิลปิน ภาพยนตร์=งานศิลปะ แม้เป็นหนังชวนเชื่อก็สามารถสรรค์สร้างให้กลายเป็นอมตะนิรันดร์ได้เช่นกัน!
  • Raymond Massey รับบท Andy Brock นายทหาร Canadian ที่กำลังหลบหนีจากกองทัพ (Desertion) จับพลัดจับพลูระหว่างแอบอยู่ในตู้สัมภาระบนขบวนรถไฟ พบเจอกับทหารนาซีคนสุดท้าย Lieutenant Hirth เกิดการต่อสู้ แก่งแย่งชิงอาวุธ แม้ตอนแรกจะพ่ายแพ้ แต่หลังจากข้ามชายแดน พยายามโน้มน้าวศุลกากรสหรัฐอเมริกา ให้ส่งพัสดุต้องสงสัยกลับแคนาดาได้สำเร็จ!
    • ในบรรดาทีมนักแสดงชุดนี้ Massey มีการแสดงดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด (นักแสดงคนอื่นมักจะปรุงปั้นแต่ง ใส่แอ๊คติ้งพอสมควร) เพราะเป็นคนหนีทหาร ช่วงแรกๆจึงมีอาการขี้ขลาดตาขาว แต่พอตระหนักว่าอีกฝั่งฝ่ายคือทหารนาซีที่ถูกทางการหมายหัว ก็พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ เลิกหวาดกลัวความตาย
    • นัยยะของตัวละครนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน หลบหนีทหาร หรือคนขี้ขลาดตาขาว เมื่อต้องผชิญหน้าศัตรูผู้มารุกราน ควรเลือกทำในสิ่งถูกต้อง กำจัดคนชั่วให้พ้นภัยทาง
    • เกร็ด: Raymond Massey เป็นชาว Canadian แต่ไปแจ้งเกิดโด่งดังยังสหรัฐอเมริกา ทั้งชีวิตรับบทแต่ตัวละครสัญชาติอเมริกัน มีเพียงภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้เล่นตามเชื้อชาติของตนเอง

ด้วยความที่เป็นหนังรวมดาราอย่างคับคั่ง ถ้าจ่ายค่าตัวจริงๆของพวกเขา ทุนสร้างล้านปอนด์คงสู้ไม่ไหว แต่ทุกคนล้วนมาด้วยใจ เพราะเข้าใจเหตุผลการสรรค์สร้าง ต่างรับค่าจ้างแค่เพียงเศษเสี้ยว นักแสดงบางคนอย่าง Anton Walbrook เลือกบริจาคเงินที่ได้ให้กับ International Red Cross

One of the reasons for the movie’s high quality is the superb ensemble cast, most of them major British stars working for drastically reduced wages because they believed in the film.

นักวิจารณ์ Rob Nixon ให้ข้อสังเกตถึงคุณภาพหนัง 49th Parallel (1941)

ถ่ายภาพโดย Frederick A. Young (1902-98) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ มีผลงานเด่นๆ อาทิ Goodbye, Mr Chips (1939), 49th Parallel (1941), Ivanhoe (1952), Lust for Life (1956), You Only Live Twice (1967), Nicholas and Alexandra (1971) ฯ แต่โด่งดังสุดคือสามครั้งร่วมงานผู้กำกับ David Lean ประกอบด้วย Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965) และ Ryan’s Daughter (1970) ต่างคว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography

แม้หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ อัตราส่วน Academy Ratio (1.37:1) แต่ก็ไม่ได้ทำให้วิสัยทัศน์ของ Freddie Young ดูด้อยค่าลง เต็มไปด้วยทิวทัศน์สวยๆ ท้องฟ้า มหาสมุทร ป่าเขาลำเนาไพร นำเสนอภาพความยิ่งใหญ่ของผืนแผ่นดินแคนาดา ไม่มีทางที่ทหารเยอรมันตัวเล็กๆ 6 นาย จะสามารถบุกเข้ามาพิชิต ครอบครองเป็นเจ้าของ

หนังใช้เวลาโปรดักชั่นนานถึง 18 เดือน! กว่าสองในสามถ่ายทำยังสถานที่จริง ณ ประเทศแคนาดา (เสียเวลาอย่างมากกับการเดินทาง สำรวจหาสถานที่ถ่ายทำ) ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแคนาดาเป็นอย่างดี อำนวยความสะดวกในการใช้สถานที่ อุปกรณ์สิ่งข้าวของ งบประมาณส่วนเกิน รวมถึงทหาร-ตำรวจ ยกเว้นเพียงเรือดำน้ำให้หยิบยืมไม่ได้สักลำ

ผมลองวาดแผนที่การเดินทาง เริ่มต้นที่ Gulf of St. Lawrence (Corner Brook, Newfoundland) เมื่อเรือดำน้ำ U-37 ของนาซีเยอรมัน โจมตีเรือขนส่งสินค้าแคนาดา → แวะจอดเติมเสบียงกรังยัง Hudson Bay ออกเดินทางสู่สถานีการค้า Cape Wolstenholme, Québec → เครื่องบินตกทะเลสาป Manitoba พบเจอชุมชนเกษตรกรรม Hutterite → เดินทางมายังเมือง Winnipeg, Manitoba แล้วพยายามมุ่งสู่เป้าหมาย Vancouver → ลักขโมยรถ โดยสารรถไฟ หยุดพักยัง Banff, Alberta → หลบหนีมายัง Lake O’Hara, Yoho National Park (ทิวเขา Rocky Mountain) → แอบขึ้นตู้สัมภาระข้ามชายแดนสหรัฐอเมริกา (ในหนังพบเห็นภาพ Niagara Falls ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่าง Ontario และ New York)

สงครามที่กำลังปะทุอยู่ขณะนั้น RCN (Royal Canadian Navy) จึงไม่อนุญาตให้หยิบยืมใช้งานเรือดำน้ำจริงๆสักลำ ทีมงานจึงว่าจ้างบริษัทต่อเรือที่ Halifax, Nova Scotia เพื่อสร้างเรือดำน้ำจำลองที่ไม่สามารถดำลงใต้น้ำ (เพราะมันไม่จำเป็นต่อการถ่ายทำ) ความยาว 172 ฟุต น้ำหนัก 17.5 ตัน เสร็จสิ้นในระยะเวลา 10 วัน สามารถแยกชิ้นส่วนประกอบเพื่อขนส่งไปยัง Corner Brook, Newfoundland และบรรทุกไดนาไมต์ 1,000 ปอนด์ สำหรับฉากระเบิดทำลาย

แซว: ผู้กำกับ Powell ไม่ได้ตระหนักว่ายุคสมัยนั้น Corner Brook, Newfoundland เป็นส่วนหนึ่งของ Crown Colony (อาณานิคมของสหราชอาณาจักร) ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของแคนาดา เรือดำน้ำจำลองลำนี้เลยถูกยึดไว้ที่กรมศุลกากรเข้าเมือง จำต้องไปต่อรองกับผู้ว่าการ (Governor of Newfoundland) ว่าสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อการสงคราม เลยเอาตัวรอดเลี่ยงภาษีนำเข้าได้อย่างหวุดหวิด

เกร็ด: เรือดำน้ำ U-37 ลำจริงๆของนาซีเยอรมัน ไม่เคยแล่นเฉียดแคนาดา และถูกทำลาย (Scuttled) วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ณ Sonderburg Bay, Denmark

เผื่อเอาไว้สำหรับคนไม่รู้จัก รูปภาพที่ Johnnie แปะติดบนฝาผนังคือ King George VI (1895-1952, ครองราชย์ 1936-52) ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรขณะนั้น (รวมถึงแคนาดาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในเครือจักรภพ, British Commonwealth) ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระชายา Queen Elizabeth Bowes-Lyon (1900-2002)

เกร็ด: King George VI และ Queen Elizabeth ทรงเคยเสด็จมาเยี่ยมเยือนแคนาดาช่วงระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน ค.ศ. 1939

หมากรุก เกมกระดานที่ผู้เล่นสองฝ่ายเลือกเดินตัวหมากของตนเองในรูปแบบที่แตกต่างกัน เป้าหมายคือการรุกจนทำให้ตัวขุนของอีกฝ่ายไม่สามารถเดินต่อไปได้ … นี่สามารถเปรียบเทียบได้ตรงๆถึงการสงครามระหว่างเผด็จการ vs. เสรีชน และสังเกตว่าขณะเล่นเกมนี้ ทหารเยอรมันพยายามบีบบังคับให้อีกฝ่ายเดินหมากตามคำสั่งของตน (เพื่อให้ได้ผลแพ้-ชนะไวๆ เกมหมากรุกจักได้จบสิ้น)

หุ่นไล่กา เป็นสัญลักษณ์ที่น่าสนใจทีเดียว เกษตรกรมักใช้สำหรับล่อหลอกพวกนกกา ไม่ให้เข้ามาทำลายพืชผลผลิตทางการเกษตร โดยท่าทางปกติจะกางแขนสองข้าง (ท่าตรึงกางเขน) แต่เจ้าตัวนี้มันดันยื่นมือข้างหนึ่งขึ้นเหนือศีรษะ เหมือนกำลังตะเบะ Heil Hitler! … จะว่าไปช็อตจบของซีเควนซ์นี้ก็แช่ค้างภาพ (Freeze Frame) Lieutenant Kuhnecke กำลังทำท่าตะเบะเดียวกัน!

ดั้งเดิมนั้นนักแสดงที่รับบท Anna คือ Elisabeth Bergner เห็นว่าถ่ายทำไปแล้วหลายฉาก แต่หลังจากหญิงสาวในชุมชน Hutterite พบเห็นเธอทาเล็บ สูบบุหรี่ ตรงรี่เข้าไปตบหน้า พูดจาด่าทอ (เพราะชุมชนนี้เคร่งครัดศาสนา ไม่ยินยอมรับบุคคลมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัวเช่นนี้) ต่างฝ่ายต่างไม่พึงพอใจกันและกัน Bergner เลยขอถอนตัวออกจากโปรเจค ส้มหล่นใส่ Glynis Johns ปรับแก้ไขบทเล็กน้อย (ดั้งเดิมคือหญิงสาวสวยสะพรั่ง มาเป็นเด็กสาวแรกรุ่น) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที

Banff Indian Days เป็นกิจกรรมที่เคยจัดขึ้นที่ Banff National Park, Alberta ช่วงเดือนมีนาคมระหว่าง ค.ศ. 1910-72 จุดประสงค์เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสพบเจอ ชื่นชมหลงใหล ชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ซึ่งเหตุผลที่ล้มเลิกจัดงานเพราะถูกมองว่ามีความ Racism (และปริมาณชาวอินเดียนแดงที่ลดน้อยลงจนแทบไม่หลงเหลือให้รับชมอีกต่อไป)

ผมมองนัยยะซีเควนซ์นี้คือความพยายามเปรียบเทียบ นาซีเยอรมัน==ชาวอินเดียนแดง ต่างเป็นกลุ่มคนป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม ชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา และถือเป็นศัตรูของมนุษยชาติ

From the earliest age, their small boys were trained in the arts of war, which they considered the only pursuit worthy of a man. But they prefer to attack by night rather than by day, and wherever possible to shoot the enemy in the back. Their smaller neighbours lived in constant danger from them. They also believed in first terrorising their opponent by covering themselves in war paint and beating loudly on their tribal drums.

When a tribal leader really desired to drive a point home. he used that most terrible of all public speakers’ weapons – repetition. Constant and unutterably wearisome repetition.

Philip Armstrong Scott เปรียบเทียบชนพื้นเมืองอินเดียนแดง กับพฤติการณ์ของท่านผู้นำ Adolf Hitler

Wars may come and wars may go but art goes on for ever.

Philip Armstrong Scott

งานศิลปะที่เป็นของสะสมของ Philip Armstrong Scott ประกอบด้วย

  • Pablo Picasso: Mother and Child (1921-23) ภาพวาดภรรยาคนแรก Olga Khokhlova และบุตรชายคนโต Paulo ด้วยสไตล์ Neoclassicism
  • Henri Matisse: The Green Pumpkin (1916)
  • นวนิยาย Der Zauberberg (1924) แปลว่า The Magic Mountain แต่งโดยนักเขียนชาวเยอรมัน Thomas Mann (1875-1955) เจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม และอีกผลงานโด่งดังไม่แพ้กันคือ Death in Venice (1912)
    • นวนิยายเล่มนี้ยังเคยถูกกล่าวถึงในอนิเมชั่น The Wind Rises (2013)

Lieutenant Hirth พยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร มันควรเป็นสิทธิ เสรีภาพ ตามอุดมคติอเมริกันชน ตนเองย่อมมีสิทธิ์เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา! แต่ตอนจบของหนังกลับถูกส่งตัวกลับ (ด้วยข้ออ้างพัสดุนอกบัญชี) พบเห็นรถไฟกำลังเคลื่อนถอยหลัง ข้ามสะพาน แม่น้ำ Niagara River สามารถสื่อถึงการไม่ยินยอมรับอุดมการณ์นาซี(เข้ามาในสหรัฐอเมริกา)

แซว: ท่าตะเบะ Heil Hitler! ถูกล้อเลียนโดยพนักงานรถไฟ ให้กลายเป็นท่าโบกมือบ้ายบาย ร่ำลาจาก ส่งอาชญากรกลับไปรับโทษทัณฑ์

ตัดต่อโดย Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนช่างฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานเป็นนักบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานก็ออกไปดำเนินตามความฝันของตนเอง, เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงมอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์, เริ่มต้นจากเป็นเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี ค.ศ. 1930 มีผลงานดังๆอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Brief Encounter (1945), The Bridge on the River Kwai (1957), Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), A Passage to India (1984) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองกองทหารเยอรมัน นำโดย Lieutenant Hirth เริ่มตั้งแต่ระหว่างปฏิบัติภารกิจบนเรือดำน้ำ U-37 จากนั้นได้รับมอบหมายให้ขึ้นบกแสวงหาเสบียงกรัง แต่ระหว่างจอดเทียบ Hudson Bay เรือดำน้ำถูกโจมตีจนอับปาง เลยจำต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย ออกเดินทางข้ามฟากแคนาดา เพื่อหาหนทางกลับประเทศ

  • อารัมบท, ภารกิจบนเรือดำน้ำ U-37 จนกระทั่งอับปางระหว่างจอดเทียบ Hudson Bay
  • สถานีการค้า (Trading Post) Cape Wolstenholme, Québec
    • การกลับมาของ Johnnie ไม่รับรู้ร้อนหนาวเกี่ยวกับสงครามที่ยุโรป
    • แล้วจู่ๆทหารเยอรมันบุกเข้ามาในบ้าน จับพวกเขาเป็นตัวประกัน
    • การมาถึงของเครื่องบินทะเล ทำให้มีการยิงต่อสู้ และมีทหารเยอรมันนายหนึ่งเสียชีวิต
  • ชุมชนเกษตรกรรม Hutterite
    • เครื่องบินต้องลงจอดฉุกเฉิน ทำให้ทหารเยอรมันนายหนึ่งต้องเสียชีวิต
    • เดินทางมาถึง ชุมชนเกษตรกรรม Hutterite ทหารเยอรมันที่หลงเหลือทั้งสี่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
    • Lieutenant Hirth กล่าวสุนทรพจน์ชวนเชื่อให้ชาวเยอรมันในชุมชนแห่งนี้
    • แล้วถูกขับไล่โดยคำกล่าวโต้ตอบกลับของ Peter
    • Lieutenant Hirth ลงโทษประหารชีวิตนายทหาร Vogel เพราะต้องการปักหลักใช้ชีวิตยังชุมชนแห่งนี้
  • การเดินทางมุ่งสู่ Vancouver
    • ทหารเยอรมันทั้งสามมาถึงเมือง Winnipeg แล้วครุ่นคิดวางแผนเดินทางไป Vancouver เพื่อขึ้นเรือรบญี่ปุ่นกลับประเทศ
    • ลักขโมยรถ ขึ้นขบวนรถไฟ ระหว่างจอดพักยัง Banff, Alberta นายทหารคนหนึ่งถูกล้อมจับกุม
  • แคมป์พักแรมยัง Lake O’Hara, Yoho National Park (ทิวเขา Rocky Mountains)
    • Lieutenant Hirth และ Lieutenant Kuhnecke หลบหนีการไล่ล่ามาถึงทะเลสาป O’Hara
    • ได้รับคำชักชวนจากนักเขียน Philip Armstrong Scott ให้พักค้างแรม ชวนรับประทานอาหาร พูดคุยสนทนาเรื่องงานศิลปะ
    • แต่แล้วทหารเยอรมันทั้งสองก็แสดงสันดานธาตุแท้ จับมัด เผาทำลายภาพวาด ผลงานเขียน
    • ระหว่างหลบหนี Lieutenant Kuhnecke ถูกต้อนจนมุมในถ้ำแห่งหนึ่ง
  • บนตู้สัมภาระขบวนรถไฟ Canadian National Railway ข้ามชายแดนสหรัฐอเมริกา
    • Lieutenant Hirth แอบขึ้นตู้สัมภาระขบวนรถไฟ พบเจอกับ Andy Brock ที่กำลังหนีทหาร เกิดการต่อสู้ แก่งแย่งชิงอาวุธ
    • พอข้ามชายแดนสู่สหรัฐอเมริกาพบเจอกับนายด่านศุลกากร พยายามต่อรองร้องขอ ก่อนตัดสินใจ …

โครงสร้างการดำเนินเรื่อง อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย And Then There Were None (1939) หรือ Ten Little Indians จากเคยมีสมาชิก/ทหารเยอรมันอยู่ครบ กลับค่อยๆสูญเสียทีละคนสองคน นับถอยหลังจาก 6 → 5 → 4 → 3 → 2 จนไม่หลงเหลือใคร และสุดท้ายก็ไม่สามารถเอาตัวรอดถึงเป้าหมายปลายทาง

ลีลาการตัดต่อของ Lean เต็มไปด้วยลูกเล่น ‘montage’ ร้อยเรียงชุดภาพทิวทัศน์สวยๆ และโดดเด่นมากๆกับฉากแอ๊คชั่น สร้างความตื่นเต้นลุ้นระทึก ทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจ แต่ผมรู้สึกว่าหลายๆเรื่องราวมีความเยิ้นเย้อยืดยาว ให้ความสำคัญกับตัวประกอบรับเชิญมากเกินไป … ตัวละครหลักๆมีเพียง Lieutenant Hirth และนายทหาร Vogel ที่ผู้ชมน่าจะจดจำได้เท่านั้น

แต่มันอาจเป็นความจงใจ ไม่ต้องการให้ผู้ชมจดจำตัวละครรองๆฟากฝั่งทหารนาซี (Lieutenant Hirth คือตัวตายตัวแทน Hitler, นายทหาร Vogel คือบุคคลเดียวที่สามารถกลับตัวกลับใจ) เพราะนี่คือหนังชวนเชื่อประชาธิปไตย มันเลยต้องจดจ่ออยู่กับแนวคิดฟากฝั่งเสรีชน มีความคู่ขนานกับเผด็จการ


เพลงประกอบโดย Ralph Vaughan Williams (1872-58) คีตกวีชาวอังกฤษ เกิดที่ Down Ampney, Gloucestershire ร่ำเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ, โตขึ้นเข้าเรียน Royal College of Music (RCM) ชื่นชอบหลงใหลใน Tudor music และเพลงพื้นบ้านอังกฤษ (English Folk-Song) จากนั้นประพันธ์ซิมโฟนี อุปรากร บัลเล่ต์ Chamber Music เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ 49th Parallel (1941) ฯลฯ

Williams เคยอาสาสมัคร Royal Army Medical Corps ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประสบการณ์ขับรถรับส่งผู้ป่วย สร้างอิทธิพลต่อผลงานเพลงอย่างมากๆ เห็นได้ชัดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ 49th Parallel (1941) แม้ท่วงทำนองฟังดูยิ่งใหญ่อลังการ (สามารถสื่อถึงอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะฟากฝั่งเผด็จการหรือเสรีชน) แต่เต็มไปด้วยสัมผัสอันเจ็บปวดรวดร้าว (เพราะการมีอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่นั้น มักก่อให้เกิดความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่าง แล้วนำไปสู่การสู้รบสงคราม ผู้คนมากมายได้รับบาดเจ็บล้มตายมากมาย)

เอาจริงๆผมว่างานเพลงของ Williams มีแนวคิดที่ลึกล้ำกว่าหนังเสียอีกนะ! (มีเพียงงานภาพของ Freddie Young ที่สามารถเทียบเคียงความยิ่งใหญ่อลังการ) นั่นเพราะเรื่องราวนำเสนอความคู่ขนานระหว่างสองอุดมการณ์ แล้วพยายามชี้นำว่า เสรีชน/ประชาธิปไตย คือคำตอบที่ถูกต้อง! แต่บทเพลงนี้ให้ความรู้สึกว่าการมีอุดมการณ์ ไม่ว่าจะฝั่งฝ่ายไหน ล้วนนำพาโศกนาฎกรรมให้บังเกิดขึ้น (กับฝั่งฝ่ายที่อยู่ขั้วตรงกันข้าม)

นอกจาก Main Theme บทเพลงอื่นๆในหนังจะความสอดคล้องกับเรื่องราว เหตุการณ์ขณะนั้นๆ สำแดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่ามีการใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นลงเรื่อยๆ (เพื่อให้สอดคล้องแนวคิด Ten Little Indians) พอถึงแคมป์พักแรมยังทะเลสาป Lake O’Hara ได้ยินเพียงเสียงเปียโน (เพราะเหลือทหารเยอรมันแค่สองคน) และไคลน์แม็กซ์บนตู้สัมภาระขบวนรถไฟ เหมือนจะไม่มีเพลงประกอบใดๆ จนกระทั่ง Closing Credit

เมื่อกลุ่มทหารเยอรมันถูกปล่อยเกาะบนผืนแผ่นดินแคนาดา แทนที่พวกเขาจะแสดงความโอนอ่อนผ่อนปรน ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม’ กลับยังเย่อหยิ่งทะนงตน ยึดถือมั่นคงต่ออุดมการณ์นาซี ทำให้ไม่มีใครไหนอยากให้การช่วยเหลือ แถมชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ลักขโมย เข่นฆาตกรรม ฯ จึงค่อยๆสูญเสียสมาชิกทีละคนสองคน จนไม่หลงเหลือผู้ใดข้างกาย สุดท้ายก็ไม่สามารถเอาตัวรอดถึงเป้าหมายปลายทาง

49th Parallel (1941) พยายามนำเสนออุดมการณ์คู่ขนานระหว่าง เผด็จการ vs. เสรีชน ไม่มีทางที่สองฝั่งฝ่ายจะสามารถโอนอ่อนผ่อนปรน ยินยอมรับกันและกัน นั่นก่อให้เกิดความขัดแย้ง ชนวนเหตุสงคราม จนกว่าจะมีใครพ่ายแพ้ไปข้าง โลกถึงบังเกิดความสงบสันติสุข

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า เป้าหมายของผกก. Powell คือผู้ชมสหรัฐอเมริกา เพราะขณะนั้นยังเป็นประเทศ(เดียว)ที่ทำทองไม่รู้ร้อน เพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่ยี่หร่ากับสงครามปะทุขึ้นในยุโรป ถ้ามองในแง่มุมนี้ก็จักพบเห็นหลายๆเหตุการณ์จี้แทงใจดำไม่น้อยเลยละ โดยเฉพาะเรื่องราวของ Johnnie (รับบทโดย Laurence Olivier) ฉันไม่รู้ ฉันไม่สน ฉันเป็นคนรักอิสระ สงครามช่างอยู่ห่างไกล แต่การมาถึงของทหารเยอรมัน เพียงโดนกระสุนถากๆ ก็รับรู้สึกสาแก่ใจ

แต่ถึงแม้จะเข้าฉาย(ในสหรัฐอเมริกา)ภายหลังเหตุการณ์ Pearl Harbour ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังมีอีกหลากหลายใจความ เนื้อหาสาระที่เป็นมากกว่าแค่หนังชวนเชื่อ … ไม่ใช่ชาวเยอรมันทุกคนจะยึดถือมั่นอุดมการณ์ของนาซี อย่างเรื่องราว ณ ชุมชนเกษตรกรรม Hutterite ผู้อพยพหลายคนล้วนมีเชื้อชาติเยอรมัน หรือแม้แต่นายทหาร Vogel ที่พร้อมปักหลักตั้งถิ่นฐาน เริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสถานที่แห่งนี้

และที่เป็นไฮไลท์ก็คือ คำกล่าวของ Philip Armstrong Scott (รับบทโดย Leslie Howard) สงครามผ่านมาประเดี๋ยวก็ผ่านไป ศิลปะ/ภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างหากที่จักยั่งยืนยงกระพัน คงอยู่ตราบชั่วนิจนิรันดร์

Wars may come and wars may go but art goes on for ever.

ขณะที่ 49th Parallel (1941) นำเสนอเรื่องราวทหารนาซีเยอรมัน พยายามหาหนทางหลบหนีเอาตัวรอดในต่างแดน, One of Our Aircraft Is Missing (1942) ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Powell & Pressburger ภายใต้สตูดิโอใหม่ The Archers มีลักษณะ ‘reversal plot’ ทหารอังกฤษเครื่องบินตกในดินแดนเยอรมัน ได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนมากมายจนสามารถหลบหนีเอาตัวรอดสำเร็จ!


ด้วยงบประมาณตั้งต้น £68,000 ปอนด์ บานปลายไปถึง £132,000 ปอนด์ แต่เสียงตอบรับดีล้นหลามในประเทศอังกฤษ สามารถทำเงินสูงสุดแห่งปี ค.ศ. 1941 แม้ไม่มีรายงานตัวเลขรายรับ แต่จำนวนผู้ชมสูงถึง 9.3 ล้านคน! (จากประชากรทั้งหมด 44 ล้านคน)

สำหรับการเข้าฉายสหรัฐอเมริกา ในตอนแรก Universal Studios ตอบตกลงเป็นผู้จัดจำหน่าย แล้วจู่ๆขอถอนตัวออกไป ทำให้สูญเสียโอกาสในการเข้าฉายช่วงปลายปี ค.ศ. 1941 จึงจำต้องมองหาผู้จัดจำหน่ายใหม่ Columbia Picture จ่ายค่าลิขสิทธิ์ $200,000 เหรียญ เปลี่ยนชื่อหนังเป็น The Invaders แถมเซนเซอร์หลายๆฉากตัดทิ้งไปกว่า 19 นาที (ฉากคำกล่าวสุนทรพจน์นาซี, รวมถึงถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติ) เข้าฉาย 15 เมษายน ค.ศ. 1942 (ภายหลังญี่ปุ่นบุกโจมตี Pearl Harbour วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941) ยังทำเงินได้ประมาณ $5 ล้านเหรียญ!

ความสำเร็จล้นหลามของหนัง ยังรวมถึงการได้เข้าชิง Oscar ถึงสามสาขา และคว้ามาหนึ่งรางวัล

  • Best Picture พ่ายให้กับ Mrs. Miniver (1942)
  • Best Writing, Screenplay
  • Best Writing, Original Story ** คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ High-Definition สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Criterion Collection, Warner Home Vidéo (ของฝรั่งเศส), Carlotta Films (ของฝรั่งเศส) หรือรับชมออนไลน์จาก Criterion Channel, Amazon Prime, iTunes ฯลฯ

(ฉบับคุณภาพดีสุดในปัจจุบันเป็นของ Carlotta Film แต่เหมือนจะไม่มีซับอังกฤษนะครับ หรือถ้าใครชอบเบื้องหลัง Criterion Collection มีให้ชมอย่างจุใจ)

แม้หนังอาจดูยืดยาวและเยิ่นเย้ออยู่มาก แต่ต้องชมในเล่ห์เหลี่ยมเพทุบายของ Pressburger โดยเฉพาะแนวคิด ‘Ten Little Indians’ ไล่เก็บทหารนาซีทีละคนสองคน สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน เฝ้ารอคอยว่าใครจะเป็นคนต่อไป นำเสนออุดมการณ์อะไรที่ขัดแย้งตรงกันข้าม

นอกจากบทที่เฉียบคม ทีมนักแสดงชุดนี้ยังปล่อยของจัดเต็ม! Leslie Howard, Laurence Olivier, Anton Walbrook, Raymond Massey, โดยเฉพาะ Eric Portman, ภาพถ่ายสวยโคตรๆของ Freddie Young, ลีลาตัดต่อพอไปวัดไปวาของ David Lean และเพลงประกอบสุดอลังการของ Ralph Vaughan Williams รวมๆแล้วเกือบจะเป็นหนังชวนเชื่อที่สมบูรณ์แบบ

จัดเรต 13+ กับใจความชวนเชื่อ

คำโปรย | 49th Parallel ภาพยนตร์ชวนเชื่อของ Powell & Pressburger ที่มีความเจ้าเล่ห์เพทุบาย นำเสนออุดมการณ์คู่ขนาน เผด็จการ vs. เสรีชน ได้อย่างเฉียบคมคาย
คุณภาพ | ฉี
ส่วนตัว | เพทุบาย

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: