8 1/2 (1963)
: Federico Fellini ♠♠♠♠♠
(20/2/2018) ผู้กำกับชื่อดังตกอยู่ในสภาวะ ‘Director’s Block’ ครุ่นคิดไม่ออกว่าภาพยนตร์เรื่องถัดไปจะสร้างอะไรดี ติดอยู่ในรถ กึ่งกลางระหว่างความจริง-เพ้อฝัน อดีต-ปัจจุบัน ภรรยา-ชู้สาว ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยเชือกไม่ให้หลุดลอยไปไกล สร้างสถานีอวกาศเอาไว้หนีออกนอกโลก แต่เสร็จแค่โครงเหล็กครึ่งทาง เหมือนชื่อหนังเรื่องที่ 8 ติ่งด้วย ½
Otto e mezzo (หรือ 8½) คือภาพยนตร์ที่คนเกินครึ่งโลกดูไม่รู้เรื่อง ถ้าคุณยังอยู่ในซีกโลกนั้นแนะนำให้เลื่อนลงไปอ่านบทความเก่าที่ผมเคยเขียนไว้ เหมือนจะมีแนะนำวิธีการสำหรับรับชมที่อาจทำให้สัมผัสเข้าใจอะไรบางอย่างเบื้องต้นได้ ขณะที่บทความนี้ตั้งอยู่ในสมมติฐาน ทุกคนสามารถดูหนังรู้เรื่อง เน้นการต่อยอดแนวคิด ชี้จุดให้เห็นความยิ่งใหญ่ และสรุปใจความสำคัญ
ปกติแล้วผมเป็นคนไม่ชอบรู้เรื่องราวอะไรล่วงหน้าเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆก่อนการรับชม เต็มที่คือตัวอย่างหนัง (Trailer) พบเห็นเครดิตผู้กำกับ/นักแสดง หรือไม่ก็เสียงวิจารณ์ดีล้นหลาม คว้ารางวัลติดไม้ติดมือ ฯ แต่สำหรับ 8½ เป็นหนังที่ผมมาครุ่นคิดว่า ถ้าเรามี ‘ตัวแปรต้น’ เกิดความเข้าใจบางสิ่งอย่างขึ้นก่อนแล้ว ขณะรับชมนำสิ่งนั้นเป็นที่ตั้ง จะสามารถพบเห็นจุดสังเกตเล็กๆน้อยๆ ทำความเข้าใจทุกสิ่งอย่างได้โดยง่าย
แต่การจะได้มาซึ่ง ‘ตัวแปรต้น’ มันอาจดูเป็นการมักง่ายไปเสียนิด เพราะย่อหน้าถัดๆไปผมก็จะเฉลยแล้วว่าคืออะไร สำหรับคนชอบความท้าทาย แนะนำให้ค้นหาพบด้วยตนเองจะเกิดความภาคภูมิใจกว่ามาก วิธีการก็คือฝืนทนดูหนังไปให้จนจบก่อนเลย ถึงไม่รู้เรื่องก็จับ ‘ใจความสำคัญ’ แล้วนำสิ่งนั้นตั้งต้นใหม่ในการรับชมครั้งถัดไป เท่านี้แหละก็น่าจะสามารถดูหนังเกิดความเข้าใจได้อย่างสบายๆ พอรอบสามสี่จะเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ และถ้าคุณเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ อาจกลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจให้ผลงานของตนเองโดยไม่รู้ตัว
จริงๆผมแอบสปอย ‘ตัวแปรต้น’ ไปตั้งแต่ย่อหน้าแรกแล้ว ใจความสำคัญของหนังเรื่องนี้ คือสภาวะหนึ่งของผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ จริงๆคำเรียกเริ่มต้นมาจาก Writer’s Block หรือ Creative Block ซึ่งถูกต่อยอดสู่ Director’s Block, Musician’s Block, Artisan’s Block ฯ อะไรก็ตามที่ลงท้ายด้วย -Block คืออาการสมองตัน ครุ่นคิดอะไรไม่ออก ขาดแรงบันดาลใจ มักเกิดจากความเครียด โหมงานหนักไป ไม่ก็ความขี้เกียจคร้าน, นี่คือสิ่งที่เป็นหัวใจของหนัง ระลึกไว้ขณะรับชมครั้งถัดๆไปหรืออ่านบทความนี้ ก็จักเกิดความเข้าใจตามมาแทบทุกสิ่งอย่าง
ว่าไปผมเองก็ประสบปัญหา Writer’s Block บ่อยครั้งในการเขียนบทความวิจารณ์ ตื้อตันคิดไม่ออก ไม่รู้จะเขียนสรุปอะไรดี แต่พอลุกไปเข้าห้องน้ำ เดินเล่น กินข้าว ปั่นจักรยาน ระหว่างสมาธิกำลังจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่น แม้งเอ้ย! บางทีชอบครุ่นคิดอะไรออกในช่วงขณะไม่สามารถจดบันทึกอะไรได้ ต้องท่องไว้ให้ขึ้นใจ สุดท้ายกำลังจะพิมพ์ดันลืมสนิท T_T
ผู้กำกับ Federico Fellini หลังเสร็จจาก La Dolce Vita (1960) ได้รับจดหมายจากเพื่อนร่วมงาน Brunello Rondi ทำให้เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับตัวละครที่ประสบปัญหา ‘creative block’ แต่ตอนนั้นยังไม่มีรายละเอียดลงลึก จะให้ทำอาชีพอะไร? เรื่องราวเป็นอย่างไร? แค่รู้ว่าต้องเป็นผู้ชายชื่อ Guido Anselmi
“Well then – a guy (a writer? any kind of professional man? a theatrical producer?) has to interrupt the usual rhythm of his life for two weeks because of a not-too-serious disease. It’s a warning bell: something is blocking up his system.”
ใช้เวลาเวลาออกเดินทางสำรวจสถานที่ถ่ายทำโดยรอบอิตาลี เพื่อสรรหาแรงบันดาลใจ ‘looking for the film’ ติดต่อโปรดิวเซอร์ขาประจำ Angelo Rizzoli ได้กำหนดวันฉาย เริ่มต้นก่อสร้างฉาก เซ็นสัญญานักแสดง Marcello Mastroianni, Anouk Aimée, Sandra Milo ฯ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาข้อสรุปอะไรเกี่ยวกับเรื่องราวของหนังไม่ได้ วินาทีนั้น Fellini เขียนจดหมายถึงโปรดิวเซอร์
“I lost my film”.
กลายเป็นตัวเขาเองที่ประสบสภาวะ ‘Director’s Block’ สมองตื้อตันไปไหนต่อไม่ถูก เคยมีความคิดจะล้มเลิกโปรเจค แต่ถูกใครสักคนลากพาตัวไปงานเลี้ยงเปิดกล้อง ผู้สื่อข่าวมากมายเต็มไปหมด ด้วยความละอายขายขี้หน้า หมดสิ้นหวังไร้ทางออก วินาทีนั้นบังเกิดความเข้าใจตัวเอง สัมผัสถึงจิตวิญญาณของหนัง
“I felt overwhelmed by shame… I was in a no exit situation. I was a director who wanted to make a film he no longer remembers. And lo and behold, at that very moment everything fell into place. I got straight to the heart of the film”.
คงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า นี่คืออัตชีวประวัติของผู้กำกับ Federico Fellini นำทุกสิ่งอย่างที่ประสบพบเจอเข้ากับตนเองในช่วงเวลาดังกล่าว ถ่ายทอดลงมาสู่ภาพยนตร์เรื่องนี้
“I would narrate everything that had been happening to me. I would make a film telling the story of a director who no longer knows what film he wanted to make
เกร็ด: ก็แน่นอนว่า 8½ คือหนังเรื่องโปรดที่สุดของ Fellini ในบรรดาผลงานการสร้างของตนเอง
สำหรับตัวตายตัวแทนของผู้กำกับ Fellini ก็คือ Marcello Mastroianni ที่หลังจากร่วมงานกันเรื่อง La Dolce Vita (1960) พวกเขาจะกลายเป็นเพื่อนสนิท หรือถ้าตามคำอธิบายของ Mastroianni คือ ‘Confessor’ ที่ปรึกษาพูดคุยพึงพาได้ทุกเรื่อง
ภาพลักษณ์ของ Mastroianni คือชายที่มีความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า สะท้อนออกมาผ่านดวงตาที่แสนเศร้า (คงด้วยวัยเด็กที่ชีวิตมิได้มีความสุขสำราญนัก) กับตัวละครที่พบเจอทางตัน ติดอยู่กึ่งกลางระหว่างสองสิ่ง สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถือเป็นบทบาทแนวถนัดเลยก็ว่าได้
สังเกตว่าตัวละคร Guido Anselmi แทบจะไม่เคยตอบคำถามอะไรใครเลย มักแน่นิ่งเงียบสงบเสงี่ยม ชอบหาข้ออ้าง เบี่ยงเบนการสนทนา เดินหนี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะเบือนหน้าไปมองอย่างอื่น ครุ่นคิดถึงอดีต หรือจินตนาการเพ้อฝันกลางวัน
เกร็ด: Guido น่าจะมาจากคำว่า Guide, นำทางไปไหนสักแห่ง
ตัวตนของ Guido ไม่ได้มีความน่าสงสารเห็นใจแม้แต่น้อย มีนิสัยโคตรเอาแต่ใจเห็นแก่ตัว เย่อหยิ่งจองหอง โกหกหลอกลวง กะล่อนปลิ้นปล้อน กับสาวๆสนแต่จะพาขึ้นเตียง (พบเจอหญิงสาวทุกคนในจินตนาการ Harem) อยากถนอมน้ำใจทั้งภรรยาและชู้รัก แต่เมื่อจนปัญญาคิดอะไรไม่ออกก็นำเรื่องของพวกเขาถ่ายทอดสู่มาในภาพยนตร์
เรื่องราวทั้งหมดของ Guido ถือว่าเป็นอัตชีวประวัติของผู้กำกับ Fellini จากความทรงจำวัยเด็ก จินตนาการแฟนตาซี และที่ประสบพานพบเจอในช่วงเวลาก่อนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ นี่รวมถึงพฤติกรรมนิสัยของตัวละครโกหกหลอกลวง กระล่อนปลิ้นปล้อน (สะท้อนความรู้สึกของตนเองออกมา) แต่อาจยกเว้น Harem ไว้อย่างหนึ่งกระมัง
Fellini เป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน (และมีรสนิยมเกย์ ) แต่ใช้ชีวิตครองคู่ใจเดียวกับภรรยา Giulietta Masina ลูกคนแรกแท้ง คนที่สองตั้งชื่อว่า Federico เสียชีวิตหนึ่งเดือนหลังจากนั้น เลยตัดสินใจไม่ต้องการมีลูกกันอีก, การที่ตัวละคร Guido เป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน ถือว่าสะท้อนตัวตนของ Fellini ออกมาเต็มๆเลยละ อยากมีหญิงสาวคนรักมากมาย ลูกหลานเต็มบ้าน ภรรยาเต็มเมือง แต่โชคชะตา ฟ้าลิขิต และศีลธรรมประจำใจ สุดท้ายก็ได้แค่เพ้อฝันจินตนาการ แฟนตาซีของตนเอง
รอบตัว Guido รายล้อมด้วยสาวๆ เริ่มจากภรรยาผู้เก็บกดพูดน้อย Luisa Anselmi (ถือเป็นตัวตายตัวแทนของ Giulietta Masina) คงเคยรักกันมากถึงยอมแต่งงาน แต่เธอเป็นพวกหึงหวงขี้อิจฉาริษยา รับไม่ค่อยได้กับความกระล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวงของสามี จับผิดได้ซึ่งๆหน้าแต่ยังด้านชาก็ไม่รู้จะทำยังดี
รับบทโดย Anouk Aimée นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส หลังจากได้ร่วมงานกับ Fellini เรื่อง La Dolce Vita (1960) แจ้งเกิดโด่งดังไปทั่วโลก ‘rising star who exploded’ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Lola (1961), A Man and a Woman (1966) ฯ
ภาพลักษณ์ของ Aimée คือสาวไฮโซลูกคุณหนู แต่พอสวมแว่นตัดผมสั้น กลายเป็นสาวเนิร์ดสุดหล่อ มีเสน่ห์น่าหลงใหล เฉลียวฉลาดหลักแหลม เข้มแข็งเหมือนผู้ชาย เน้นแสดงออกทางสีหน้าท่าทางมากกว่าคำพูด อยู่ด้วยกับ Guido ทีไร มีแต่หน้านิ่วคิ้วขมวด ดูไม่มีความสุขสักเท่าไหร่
Sandra Milo นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Tunis, Tunisia เริ่มมีชื่อเสียงจาก General della Rovere (1959) ร่วมงานกับ Fellini สองครั้งคือ 8½ และ Juliet of the Spirits (1965)
รับบท Carla ชู้รักของ Guido ที่เธอก็แต่งงานมีสามีแล้ว เดินทางมาหาชู้แบบไม่แคร์สายตาใคร ชอบแต่งตัวหรูหร่าฟู่ฟ่า ฐานะสามีคงร่ำรวยไม่น้อย ชอบเดินโยกย้ายสะบัดส่าย นิสัยขี้เล่นสนุกสนานร่าเริงแจ่มใส ขั้วตรงข้ามกับ Luisa เลยก็ว่าได้
ผมมองเห็นกับตัวละครนี้ มีเพียงเสื้อผ้าหน้าขนที่ขนลากมาหลายกระเป๋า สะท้อนถึงรสนิยมไฮโซ ร่ำรวย ขณะที่ตัวตนภายในก็มิได้มีอะไรน่าใคร่มองเห็นนัก สดใสซื่อบริสุทธิ์เหมือนเด็กอายุ 10 ขวบ ท้าให้ลองอะไรก็พร้อมรับข้อเสนอทุกสิ่งอย่าง ดูแล้วคงมอง Guido เหมือนของเล่นชิ้นหนึ่งที่น่าหลงไหล สักวันหนึ่งเมื่อเบื่อหน่ายคงพร้อมทิ้งขว้างแยกจากกันไปคนละทางอย่างแน่
ถึงจะเป็นตัวละครที่มีภาพลักษณ์ขี้เล่นสนุกสนาน แต่ก็มีมุมเล็กๆเมื่อเธอเป็นไข้ตัวร้อนเหงื่อท่วม ก็ไม่รู้ป่วยเป็นโรคอะไร (โรคเรียกร้องความสนใจกระมัง) เช้าวันใหม่เดี๋ยวก็หาย กลายเป็นภาระของ Guido ไม่ใคร่อยากคบค้าสมาคมด้วยสักเท่าไหร่
เกร็ด: ว่ากันว่า Milo คือหนึ่งในชู้รักของ Fellini จริงๆนะ
ใช่ว่าชีวิตของ Guido จะไม่มี ‘เพื่อน’ ที่เป็นผู้หญิงเลยสักคน
Rossella Falk นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน โด่งดับกับการแสดงละครเวที รับงานภาพยนตร์บ้างประปราย, รับบท Rossella เพื่อนสนิทของ Luisa เป็นสาวรักสนุก ขี้เล่น แก่นแก้ว ในช่วง Harem แม้มิได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็เอ่ยปากขอแจม เพราะคิดว่าคงสนุกดีไม่น้อย
น่าจะเป็นจิตสำนึกของ Guido ที่ไม่คิดอยากจะเกินเลยเสียมากกว่า เพราะ Rossella เป็นเพื่อนสนิทของภรรยา Luisa แต่งตัวเหมือนทอมบอย ละไว้ในฐานที่เข้าใจ
ผู้หญิงแต่ละคนในชีวิตของ Guido ภรรยา, ชู้รัก, ความทรงจำวัยเด็ก, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนสนิท ฯ เหมือนว่าไม่มีใครได้ดั่งใจสักคน เว้นแต่ดาราดัง Claudia นักแสดงที่ติดต่อเลือกมาเพื่อรับบทในภาพยนตร์ของเขาเอง ที่คือหญิงสาวในอุดมคติเพ้อฝันจินตนาการโดยแท้
Claudia Cardinale นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ La Goulette, Tunis, ผู้ชนะการประกวด ‘Most Beautiful Italian Girl in Tunisia’ เมื่อปี 1957 ได้รางวัลเป็นการเซ็นสัญญาสู่วงการภาพยนตร์อิตาเลี่ยน มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Rocco and His Brothers (1960), Girl with a Suitcase (1961), The Leopard (1963), 8½ (1963), The Pink Panther (1963), Fitzcarraldo (1982) ฯ
กระนั้นเพราะเธอเป็น ‘Ideal Woman’ ผู้หญิงในอุดมคติ มีหรือจะมาสนใจหมาวัดอย่าง Guido แค่ได้มีโอกาสพบเจอ พาไปขับรถกินลมชมวิว ช่วงเวลานี้ก็ล้ำค่ามากเกินพอแล้ว, การมาถึงของ Claudia เหมือนทำให้ Guido ได้พบเจอกระจกสะท้อนตนเอง เธอก็ไม่เคยตอบคำถามเขาสักข้อ (ก็เหมือนที่ Guido ไม่เคยตอบคำถามใครเช่นกัน)
แถมให้อีกหนึ่งกับนักแสดงที่ผมชื่นชอบมากๆ เธอไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก แต่ท่าเต้น La Rumba! มันแบบว่า … Sexซี่ สุดๆไปเลย
Eddra Gale (1921 – 2001) นักร้อง/นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน สืบเชื้อสายจาก Czech ก็ไม่รู้ Fellini ไปพบเจอจากที่ไหน ชักชวนให้มารับบท Saraghina แปลว่า ‘Devil Woman’ พบเจอในฉากหวนระลึกความทรงจำในอดีตของ Guildo ขณะที่พูดคุยอยู่กับพระราชาคณะ Cardinal เสียด้วยนะ!
นอกจากฉากนั้นแล้ว Saraghina ยังปรากฎตัวอีกสามครั้ง(มั้งนะ)
– ใน Harem ของ Guildo
– ปรากฎตัวในภาพยนตร์ที่ฉาย (ไม่แน่ใจว่าเป็น Gale รึเปล่านะครับ อาจจะคนอื่น)
– และตอนจบเต้นวนรอบฐานปล่อยยานอวกาศ
ไดเรคชั่นการกำกับของ Fellini ไม่ได้ใช้การบันทึกเสียง Sound-On-Film แต่ตามค่านิยมยุคสมัยนั้นของวงการภาพยนตร์อิตาเลี่ยน พากย์เสียงช่วงหลังการถ่ายทำ Post-Production นั่นทำให้ไม่มีความจำเป็นว่า นักแสดงต้องท่องบทปากเปียกปากแฉะ ผู้กำกับสามารถพูดบอกให้คำแนะนำได้โดยทันที
นึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร มีฉากหนึ่งของหนังที่ทำการทดลองฉาย Audition เราจะได้ยินเสียงของ Mastroianni กำกับนักแสดง บอกให้เดินเข้ามา หันซ้ายขวา ยิ้มแย้ม เชิดหน้า … นั่นแหละครับไดเรคชั่นการทำงานของ Fellini
นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ Fellini นิยมทำในกองถ่าย คือการเปิดบทเพลง(น่าจะคลาสสิก) เพื่อสร้างบรรยากาศให้การทำงาน และนักแสดง/ตัวประกอบสามารถใช้เป็นจังหวะในการเดิน/เต้น แบบมีจังหวะพร้อมเพรียง
ถ่ายภาพโดย Gianni Di Venanzo (1920 – 1966) ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Michelangelo Antonioni ผลงานเด่นอาทิ La Notte (1961), L’Eclisse (1962) ฯ ร่วมงานกับ Fellini สองครั้ง 8½ และ Juliet of the Spirits (1965) น่าเสียดายอายุสั้นไปสักหน่อย
เกร็ด: ผู้กำกับ Fellini เขียนโต๊ะติดไว้ข้างกล้องถ่ายรูปส่วนตัว “Ricordati che è un film comico” (แปลว่า Remember that this is a comic film.)
หนังถ่ายทำด้วยเลนส์ Spherical ที่ไม่มีการบีบภาพ ลงบนฟีล์ม 35mm ขนาด Widescreen (1.85:1) นั่นจะทำให้ภาพมีลักษณะแบนราบสองมิติ แต่ด้วยการเคลื่อนไหวไปมาของทั้งกล้องและตัวละครที่มีอยู่แทบตลอดเวลา จะทำให้ผู้ชมไม่ทันสังเกตเห็นความแตกต่างนี้เลย
สำหรับคนที่จินตนาการไม่ออกว่าเลนส์ Spherical แตกต่างจากเลนส์ Widescreen ปกทั่วไปอย่างไร ดูสองภาพนี้เปรียบเทียบเอาเองแล้วกัน
เริ่มต้นของหนังคือฉากขณะกำลังหลับในความฝันของ Guido เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ Surrealist มากมาย
– ติดอยู่ในรถหาทางออกไม่ได้ นี่สะท้อนกับใจความของหนัง ติดอยู่กึ่งกลางระหว่างบางสิ่ง
– โบยบินลอยขึ้น คือความโหยหายอิสระภาพ
– แต่ถูกเชือกผูกมัดเหนี่ยวรั้งไว้ ดึงให้ตกหวนกลับมาสู่โลก ตื่นขึ้น
หลายคนอาจเกิดความพิศวงกับช็อตนี้ว่าถ่ายทำอย่างไร? ผมก็หาคำตอบจริงๆให้ไม่ได้ แต่คิดว่าคงเป็นการใช้บอลลูนลอยขึ้นไปแล้วถ่ายภาพลงมา ขานี่น่าจะเป็นหุ่นไม่ใช่คนจริงๆ และตอนตกลงมาคงไม่มีใครก็เสี่ยงเอานักแสดงกระโดดลงมาแน่
ความเพ้อฝันที่สองของ Guildo จินตนาการเห็น Claudia (นักแสดงหญิงที่เป็น Ideal Woman) เดินเข้ามาตักน้ำแร่บริสุทธิ์ยื่นเสิร์ฟให้, นี่ถือเป็นความจริง-จินตนาการ ซ้อนทับกันอย่างเนียนๆ
ฝันที่สาม หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการร่วมรักกับชู้ Carla ผลอยหลับเหมือนเด็กน้อย ฝันถึงสถานที่คล้ายกับสุสาน พบเจอพ่อ (รับบทโดย Annibale Ninchi คนเดียวกับที่แสดงเป็นพ่อพระเอกใน La Dolce Vita) พูดคุยสนทนา แซวว่าไม่ไปผุดไปเกิดสักที ก่อนการพาเขาลงหลุม
จบฉากนี้ด้วยแม่จูบปาก Guildo ถอนออกมากลายเป็นภรรยาของเขา Luisa ถามว่าทำไมไม่กลับบ้าน, นี่คงเป็นการสะท้อนจิตใต้สำนึกของตนเอง แต่งงานมีภรรยาแล้วแต่ยังมาหลับนอนกับชู้ เมียเลยง้อถามเมื่อไหร่จะกลับบ้าน
Asa Nisi Masa ถือเป็น MacGuffin (คล้ายๆกับ Rosebud) มีแค่ย้อนอดีต Flashback เล่าถึงที่มาที่ไป ไม่มีใครล่วงรู้ความหมายแท้จริง ซึ่งผู้กำกับ Fellini ก็ไม่เคยเฉลยออกมา แต่มีคนทำการวิเคราะห์ค้นหา น่าจะมาจากเกมเล่นคำของเด็กๆชื่อว่า Pig Latin คือการเพิ่มสร้อย ‘si’ กับ ‘sa’ เข้าไปในประโยค ซึ่งถ้าตัดออกจะหลงเหลือเพียงคำว่า ‘anima’ ภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า Soul (จิตวิญญาณ)
สิ่งที่น่าสนใจของการย้อนอดีตตอนเป็นเด็กนี้ของ Guildo คือการนำเสนอช่วงเวลาอาบน้ำ ซึ่งจะไปสะท้อนกับช่วงอาบน้ำในปัจจุบัน และจินตนาการ Harem ของเขา เข้าสูตรสามของการเล่าเรื่อง อดีต-ปัจจุบัน-จินตนาการ
ขณะกำลังฟัง Cardinal พูดชมนกชมไม้ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของ Guido แม้แต่น้อย หวนระลึกถึงช่วงเวลาวัยเด็ก ขณะเต้นรำร่านสวาทกับ Saraghina ถูกบาทหลวงจับได้ เดินผ่านภาพของบาทหลวง/นักบุญทั้งหลาย จับจ้องมองเด็กชาย (ภาพวาดขนาดใหญ่กว่าตัวเขาอีกนะ) นี่ไม่ให้รู้สึกผิดก็กระไรอยู่ แต่สำนึกไหมเหมือนจะไม่นะ
แม้ไม่ใช่ฉากในจินตนาการ แต่ราวกับ ‘เหมือนฝัน’ ระหว่างอาบน้ำ Cardinal เชิญให้ Guido มาพูดคุยสนทนากันเล็กน้อย แต่พวกเขาครานี้ก็มิได้เผชิญหน้ากันตรงๆ ครั้งหนึ่งเห็นเพียงเงาสะท้อน หัวข้อสนทนาคือการตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความสุข’ ซึ่งพระราชาคณะก็ได้ตอบเป็นภาษาละติน
“Extra Ecclesiam nulla salus”
แปลว่า There is no salvation outside the church.
ฉากความฝัน Harem เกิดขึ้นเมื่อ Guido พบเห็นภรรยากับชู้รัก กำลังพูดคุยใส่หน้ากากทำเหมือนเป็นเพื่อนสนิท แต่แท้จริงภายในคงอยากเข่นฆ่าให้ตายกันไปข้างหนึ่ง, นี่เป็นฉากแฟนตาซีที่สะท้อนความต้องการภายในจิตใจของ Guido ถ้าผู้หญิงทุกคนที่ฉันรู้จักพบเจอ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ Harem แล้วละก็ ชีวิตคงมีความสุขสบายผ่อนคลายอย่างยิ่งเลยละ
สถานที่แห่งนี้ สาวๆอยู่ร่วมกันได้โดยไร้ความอิจฉาริษยา ไม่มีแก่งแย่งตบตีกัน เพราะต่างคนก็ได้ครอบครอง Guido เหมือนกันหมด แต่มีกฎเหล็กข้อหนึ่ง คือถ้าอายุเกิน (ก็ไม่รู้เท่าไหร่) ต้องขึ้นข้างบน (ขึ้นไปทำไมก็ไม่รู้เช่นกัน) คงเพราะเป็นโลกแห่งความสวยสาวเยาว์วัย เมื่อใครคนหนึ่งปฏิเสธไม่ยอมไป ทำให้หลายคนเริ่มครุ่นคิดได้ เกิดการปฏิวัติเรียกร้องสิทธิสตรี สร้างความวุ่นวายอลม่านได้ชั่วขณะหนึ่ง
เกร็ด: Harem ในประเทศโลกที่สามยังคงมีอยู่นะครับ เคยอ่านข่าวเจออยู่เรื่อยๆ มหาเศรษฐีหนุ่ม ไม่ก็เจ้าชายประเทศขายน้ำมัน ฯ
Carini Daumier (รับบทโดย Carini Daumier) คือนักวิจารณ์ ที่ให้ข้อเสนอแนะต่อบทที่ Guido ต้องการสร้างภาพยนตร์ เราจะพบเห็นเขาปรากฎตัวเคียงข้างตั้งแต่ฉากแรกๆ ทิ้งโน๊ตความเห็นไว้ให้ก็แค่ยังขยำโยนทิ้ง แต่ในโรงฉายภาพยนตร์ สงสัยจะม่วนจัด พี่แกเลยถูกผ้าดำคลอบหัว จับแขวนคอ … ไอ้นักวิจารณ์เฮงซวย จงไปตายเสีย!
ตัวละครไม่ได้ตายจริงนะครับ เป็นแค่จินตนาการเพ้อฝันของพระเอกเท่านั้น
การมาถึงของ Claudia หญิงสาวในอุดมคติของ Guido ราวกับฝันที่กลายเป็นจริง ได้มีโอกาสพาเธอขับรถเล่นมาจนถึงสถานที่แห่งนี้ แต่กำแพงสูงล้อมรอบมีลักษณะคล้ายกับ ‘คุก’ ที่ห้อมกรอบ ขังความคิดของเขาให้พบเจอทางตันไร้ทางออก
สำหรับสถานีปล่อยยานอวกาศ นี่เป็นฉากที่สร้างขึ้นมาจริงๆด้วยโครงสร้างเหล็ก แม้การถ่ายทำภาพยนตร์จะสามารถใช้เทคนิค Schüfftan process หรือซ้อนภาพเข้ากับสถานที่จริงได้ แต่ถ้าจะให้เห็นมนุษย์ยืนเดินเคลื่อนไหวในฉากนั้น ก็มีความจำเป็นต้องจำลองสร้างขนาดเท่าของจริงขึ้นมา
นัยยะของสถานีนี้ คือการปลดปล่อยทางความคิด/ความต้องการ/น้ำอสุจิ ให้ล่องลอยออกสู่ห้วงอวกาศที่ไร้แรงโน้มถ่วงใดๆฉุดดึงเหนี่ยวไว้
กระนั้นฉากนี้ดูยังไงก็เหมือนสถานีปล่อยยานอวกาศที่สร้างไม่เสร็จ แต่ถือว่าเข้ากับใจความครึ่งๆกลางๆของหนังเป็นอย่างดี ซึ่งวินาทีที่กำลังถูกรื้อถอนโยนทิ้ง นั่นมีนัยยะถึงจุดจบ ทางตัน หมดสิ้นหวัง ความฝันที่พังทลาย
ฉากจบเดิมของหนัง Guido กับ Luisa ตกลงคืนดีกัน โดยสารขึ้นรถไฟ ในตู้เสบียงกำลังเหม่อลอยครุ่นคิดอะไรเรื่อยเปื่อย ตัดจบที่ภาพรถไฟวิ่งเข้าผ่านอุโมงค์, เห็นว่ามีการถ่ายทำฉากนี้ไว้แล้วด้วย แต่ Tullio Pinelli หนึ่งในทีมนักเขียน เกลี้ยกล่อม Fellini ให้ทำการปรับเปลี่ยนแปลงแก้ไขเสียใหม่ เพราะนัยยะของการจบแบบนี้คือการมุ่งสู่หายนะสิ้นหวัง หรือความตายได้เลย
สำหรับฉากจบแบบใหม่ ราวกับพิธีกรรมชาบูรำวง จับมือทุกคนเต้นล้อมรอบซากปรักหักพังของสถานีอวกาศ ผมเคยตีความไว้ว่ามีคงเป็นการสื่อถึงวัฏจักรเวียนวนของชีวิตและความฝัน ก็ยังคิดอะไรไม่ออกเพิ่มเติม ยืนกรานแนวคิดเดิมไว้แล้วกัน
มีเทคนิคหนึ่งของการถ่ายภาพที่เจ๋งมากๆ นั่นคือการเลื่อนเคลื่อนกล้อง (แพนนิ่ง+Tracking) ตัวละครจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาปรากฎตัว บางคนผุดลุกขึ้นยืนจากด้านล่าง พอพูดหรือทำอะไรเสร็จก็จะเดินจากไป ตัวละครถัดไปก็จะโผล่หน้ามาทักทายผู้ชมต่อ นี่เป็นการสร้างความต่อเนื่องลื่นไหลให้กับหนังอย่างมาก เหมือนการเต้น Waltz ที่จะต้องโยกหมุนตัวเปลี่ยนทิศทางไปเรื่อยๆโดยรอบ มีคำเรียกเป็นทางการว่า Felliniesque
เกร็ด: เนื่องจากขณะนั้นกำลังมีการประท้วงหยุดงานที่สตูดิโอ Cinecittà ทำให้ Fellini มิอาจตรวจเช็คงานภาพขณะถ่ายทำได้ ต้องรอจนถึงช่วง Post-Production ถึงได้เห็นภาพจากหนัง
ตัดต่อโดย Leo Catozzo ขาประจำของ Fellini ที่ในเครดิตเหมือนว่านี่จะเป็นผลงานเรื่องสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า, หนังใช้มุมมองการเล่าเรื่องของ Guido Anselmi โดยมีสามสิ่งที่ผสมรวมอยู่ในมิติจักรวาลแห่งนี้
– การย้อนอดีต Flashback (ความทรงจำ)
– เรื่องราวในปัจจุบัน
– ความเพ้อฝันแฟนตาซี
กระนั้นก็มีหลายหลายครั้งที่จินตนาการซ้อนทับกับความจริงในปัจจุบัน หรือไม่ก็มีลักษณะ ‘เหมือนฝัน’ (ที่ไม่มีองค์ประกอบของแฟนตาซี)
การเดินทางเข้าสู่โลกมิติอื่นของหนัง (ย้อนอดีต กับเพ้อฝันแฟนตาซี) มักจะมีบางสิ่งอย่างที่เป็นปัจจัยหรือตัวแปรตาม ให้เกิดการหวนระลึก หรือจินตนาการเพ้อฝันถึง แล้วใช้การ Cross-Cutting ขณะเปลี่ยนฉากทุกครั้ง อาทิ
– นักอ่านใจเขียนข้อความ Asa Nisi Masa แล้วถาม Guido แปลว่าอะไร ตัวเขาไม่ตอบแต่หนังแทรกใส่ภาพย้อนอดีตในความทรงจำมาเลย
– พบเจอ Cardinal และเห็นหญิงร่างใหญ่คนหนึ่งเดินเข้ามา ชวนให้หวนระลึกถึงวัยเด็กที่ถูกลงโทษจากการพบเจอ Saraghina, ก่อนที่จะย้อนอดีตฉากนี้ Guido เลื่อนแว่นลงแล้วยิ้มแฉ่ง
– เห็น Luisa กับ Carla เหมือนจะพูดคุยดีต่อกัน Guido ยิ้มแย่ง จินตนาการถึงโลก Harem แห่งความสุขของตนเอง
ฯลฯ
เพลงประกอบโดย Nino Rota อัจฉริยะนักแต่งเพลงสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Fellini ตั้งแต่ The White Sheik (1952), เห็นว่าหนึ่งในบทเพลงที่ Fellini นำมาเปิดให้นักแสดงรับฟังระหว่างการถ่ายทำคือ ว่าที่ The Godfather Theme ซึ่งตอนนั้น Rota นำมาใช้ประกอบหนังเรื่อง Fortunella (1958) [Rota ขึ้นชื่อเรื่องการนำบทเพลงเก่าๆของตนเองมา Reuse เรียบเรียงทำนองใหม่อยู่แล้วนะครับ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงเกิดขึ้น]
แต่การทำงานของ Rota เรียบเรียงแต่งเพลงประกอบหลังหนังถ่ายทำเสร็จสิ้นเข้าสู่กระบวนการ Post-Production แล้วนะครับ ไม่เหมือน Ennio Morricorne ที่ชอบการแต่งเพลงขึ้นก่อน แล้วผู้กำกับ Sergio Leone มักนำไปใช้เปิดเป็น Soundtrack ระหว่างการถ่ายทำจริงๆ
หนังมีส่วนผสมของทั้งเพลงแต่งใหม่ และนำโคตรเพลงคลาสสิกคุ้นหูอย่าง Wagner: Ride Of The Valkyries, Rossini: The Barber of Seville – Overture, Tchaikovsky: The Nutcracker Suite – Dance of the Reed Flutes, ประกอบฉากบ่อน้ำพุ ขณะดื่มน้ำแร่บริสุทธิ์
บทเพลง La passerella di ‘Otto e Mezzo’ (แปลว่า การเดินพาเรดของ 8½) ด้วยจังหวะสนุกสนาน ให้สัมผัสบรรยากาศเหมือนกำลังอยู่ในสวนสนุก คณะละครสัตว์ เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย แต่ในความอลม่านบ้าคลั่งนั้น กลับมีความไพเราะเสนาะติดหู ฟังเพลินไม่มีเบื่อ
เสียงแซ็กโซโฟนอันล่องลอยของ E poi (แปลว่า And Then) ตามด้วยท่วงทำนองอันโหยหวน ออกเดินมองไปทางไหนก็พบเจอแต่ทางตัน แล้วจะยังไงต่อกันละหนอชีวิต
ดนตรีของ L’Harem ใช้เสียงเครื่องเป่า ฟลุต คาริเน็ต โอโบ แซ็กโซโฟน เพื่อสร้างสัมผัสราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์ ทั้งๆที่ Guido โตกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่สามารถทำตัวเหมือนเด็กน้อย ให้สาวๆอาบน้ำ ยกผ้าเช็ดตัว ราวกับกลายเป็นพระเจ้าในโลกใบนี้
นอกจาก Ghibli Collection ของ Joe Hisaishi ก็มีบทเพลงประกอบ Nino Rota ในหนังของ Fellini นี่แหละ ที่ผมชื่นชอบเปิดฟังขณะเขียนบทความวิจารณ์ภาพยนตร์ เพราะมันมีบรรยากาศที่ทำให้การทำงานมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่เครียด หนวกหูเสียงดัง หรือรบกวนสมาธิการทำงาน
Writer’s Block หรือ Creative Block เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับใครทุกคน ไม่จำเป็นต้องคือศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเท่านั้น คนธรรมดาๆทั่วไปก็สามารถประสบพบเจอปัญหาง่ายๆนี้ได้ อาทิ หิวข้าวแต่ไม่รู้จะกินอะไรดี (นี่ปัญหาโลกแตกเลยนะ!)
สิ่งที่ผู้กำกับ Federico Fellini นำเสนอออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากอัตชีวประวัติของตัวเขาเอง ทั้งจากอดีต-ปัจจุบัน ภาพลักษณ์ภายนอก-จิตใจภายใน ความรู้สึกนึกคิด-จินตนาการเพ้อฝัน ถือว่ามีความบริสุทธิ์แท้ไร้สิ่งเจือปน หรือจะมองว่าคือการถอดวิญญาณ สวมใส่นักแสดง Marcello Mastroianni และสร้างทั้งจักรวาลแห่งชีวิตขึ้นมา
สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา รับชมในยุคสมัยไหนย่อมไม่มีวันเก่า รู้สึกเฉิ่มเฉย นั่นเพราะความที่ทุกสิ่งอย่างอยู่ในโลกส่วนตัว มิติจักรวาลของผู้กำกับเอง ไม่มีการอ้างอิงเชื่อมโยง หรือยุ่งเกี่ยวใดๆกับโลกความเป็นจริงแม้แต่น้อย
การละทิ้ง Italian Neorealism ของ Fellini แล้วสร้างโลก/จักรวาลของตนเองขึ้นมา ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ผู้ชม/นักวิจารณ์ ต่างยกย่องชื่นชมสรรเสริญในวิสัยทัศน์และไดเรคชั่นของผู้กำกับ แต่ทั้งๆที่ 8½ ควรจะเป็นตำแหน่งกึ่งกลางพอดีของจุดเปลี่ยน กลับคือไฮไลท์สูงสุดของสไตล์ Felliniesque เพราะหลังจากนี้ก็จะเริ่มถดถอยหลังลงคลอง เป็นความมากเกินไปของฝั่งจินตนาการแฟนตาซีที่เข้ามาปกคลุมครอบงำจนสูญเสียสมดุลกับโลกความเป็นจริง ผู้ชม/นักวิจารณ์เริ่มจับต้องไม่ได้ (แต่ก็มียกเว้นบางผลงาน อาทิ Amarcord ที่ใช้อารมณ์ Nostalgia สัมผัสเข้าใจได้)
ผมพยายามมองหาข้อคิดสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ บอกตามตรงเลยว่า หาไม่ได้! หนังไร้ซึ่งมโนธรรมที่จะสามารถยกย่องสรรเสริญ ซ้ำร้ายตัวละครมีความน่าหมั่นไส้สมน้ำหน้าถีบส่ง คือมันแนะนำสั่งสอนอะไรชีวิตไม่ได้สักอย่าง หรือคนประสบปัญหา ‘Writer’s Block’ พบเจอแต่ทางตัน แล้วไหนละทางออก? จินตนาการ Harem ทำสิ่งน่าอับอายขายขี้หน้า เต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน จนสุดท้ายแล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปก็อยู่ที่ผู้ชมจะครุ่นคิดเอาเอง … WTF!
แต่สิ่งยิ่งใหญ่สุดของ 8½ ก็น่าจะชัดเจนว่าไม่ใช่เรื่องของจิตสำนึก คติข้อคิดมโนธรรม หรือคุณค่าทางจิตใจ แต่คือไดเรคชั่น เทคนิค ภาษาภาพยนตร์ เรียกว่าศิลปะชั้นสูง (High Art) ที่ต้องไต่ปืนขึ้นไปให้ถึงจักรวาลผู้สร้าง ถึงจะมีโอกาสรับล่วงรู้ ทำความเข้าใจ ตรัสรู้มรรคผลกันได้
เกร็ด: ชื่อหนัง Working Title แรกสุด La Bella Confusione (แปลว่า The Beautiful Confusion) แนะนำโดย Ennio Flaiano หนึ่งในทีมนักเขียนบท แต่สุดท้าย Fellini เลือกชื่อที่ 8½ เป็นการเล่นกับปริมาณหนังทั้งหมดที่ตนเคยสร้าง ประกอบด้วย
– หนังยาว 6 เรื่อง Lo sceicco bianco (1952), I Vitelloni (1953), La strada (1954), Il bidone (1955), Night of Cabiria (1957), La Dolce Vita (1960)
– กำกับตอนหนึ่งของภาพยนตร์สองเรื่อง (นับรวมเป็นเรื่องเดียวที่ 7) L’amore in città (1953), Boccaccio ’70 (1962)
– และร่วมกำกับ Alberto Lattuada (นับ ½) เรื่อง Luci del varietà (1950)
8½ เป็นภาพยนตร์ที่เมื่อครั้นออกฉาย ‘almost universal acclaim’ แทบทั้งจักรวาลแซ่ซ้อง นักวิจารณ์/ผู้สร้างภาพยนตร์ ต่างคลั่งไคล้หลงใหล (ขณะที่ผู้ชมส่วนใหญ่มึนตึบ) ได้รับการยกย่องในด้านเทคนิคยิ่งใหญ่ไม่แพ้ Citizen Kane (1941) หรือ À bout de souffle (1960) ราวกับการได้ค้นพบดินแดนใหม่ ที่เปลี่ยนมุมมองทัศนคติของโลกภาพยนตร์ไปโดยสิ้นเชิง
ผู้กำกับ François Truffaut พูดถึงหนังตอนรับชมว่า
“Fellini’s film is complete, simple, beautiful, honest, like the one Guido wants to make in 8½”.
Alfred Hitchcock ให้สัมภาษณ์ลงในหนังสือชีวประวัติ ยกย่องผู้กำกับ Fellini ร่วมกับ Michelangelo Antonioni
“Those Italian fellows are a hundred years ahead of us. Blow-Up and 8½ are bloody masterpieces.”
นี่เป็นภาพยนตร์ที่ ‘เจ๋งมากๆ’ ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งทะลุปรุโปร่ง กระนั้นโดยส่วนตัวจากการรับชมครั้งนี้ เริ่มรู้สึกว่าหนังมีชะตากรรมไม่ต่างจาก Citizen Kane และ À bout de souffle ค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นตำราหนังสือเรียน Encyclopedia คู่มือสำหรับอ้างอิง หาสาระอื่นจับต้องไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่
เมื่อเทียบกับผลงานอื่นๆของ Fellini ที่มีทั้งความสวยงาม ซาบซึ้งกินใจอย่าง I Vitelloni (1953), La Strada (1954), Nights of Cabiria (1957) หรือแม้แต่ La Dolce Vita (1960) หนังเรื่องนี้มีเพียงความเจ๋งเป้งในด้านภาษาเทคนิค อิทธิพลต่อวงการ และความบันเทิงของงานศิลปะชั้นสูงเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ในบรรดาหนังของ Fellini ลำดับความชื่นชอบในปัจจุบันกลายเป็น
La Dolce Vita >= La Strada >= Nights of Cabiria >>> 8½
แนะนำกับคอหนัง Art House ชื่นชอบความท้าทายในการครุ่นคิดทำความเข้าใจ, นักเรียน/ผู้สร้างภาพยนตร์ ศึกษาเป็นบทเรียนอิทธิพล, แฟนๆผู้กำกับ Federico Fellini บทเพลงเพราะๆของ Nino Rota และนักแสดงนำ Marcello Mastroianni, Anouk Aimée, Claudia Cardinale ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความสับสนวุ่นวายอลม่าน เด็กๆคงดูไม่รู้เรื่องแน่
TAGLINE | “8½ คือการออกเดินทางสู่จักรวาลอันไร้ขอบเขตพรมแดน ของผู้กำกับ Federico Fellini”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE
8 1/2 (1963)
(19/12/2015) ถ้าคุณดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่เข้าใจ ถือว่าเป็นคนปกตินะครับ ผมดูมา 3 รอบแล้ว ก็ยังแทบจะไม่เข้าใจอะไรเลย เพียงแต่รอบที่ 3 ที่ผมเพิ่งดูไม่นานนี้เริ่มจับจุดอะไรบางอย่างได้ เลยไปลองเปิดหาบทวิเคราะห์อ่านดูก็พบว่า ใช่เลย หนังมันไม่ได้ซับซ้อนในระดับตีความเหมือนหนังของ Jean Renoir แต่เราต้องสังเกตุให้ออก ว่าเหตุการณ์ในเรื่องมันคืออะไรก็จะเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้
8 1/2 คือจำนวนหนังที่ Federico Fellini กำกับ 1/2 คือกำกับร่วมกับผู้กำกับอีกคนหนึ่ง วันเปิดกล้องหนัง Fellini เขียนประโยคหนึ่งในกระดาษติดไว้ที่กล้องถ่ายหนังว่า “จำไว้ว่านี่เป็นหนังตลก” สงสัยเหมือนกันว่าจะมีกี่คนที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วบอกว่านี่เป็นหนังตลก เห็นว่า Working Title ชื่อหนังในช่วงแรกๆคือ La bella confusione (The Beautiful Confusion) แต่สุดท้ายแล้วก็ใช้ 8 1/2 เป็นชื่อหนังที่กวนพอสมควรนะครับ ใครไม่เคยรู้มาก่อนสมัยนี้คงคิดว่ามันเกี่ยวอะไรกับ Harry Potter แน่ๆ
Federico Fellini เป็นผู้กำกับชาวอิตาเลียนที่กลายมาเป็นคนที่มีอิทธิพลมากต่อหนังยุคปัจจุบัน ด้วยความที่เขาได้ทดลองผสมผสานแนวคิด Reality กับ Fantasy ผสมเข้าไปในหนัง สำหรับ 8 1/2 มันก็ออก Fantasy พอสมควรนะครับ มีเรื่องราวทั้งในฝัน และจินตนาการ แต่คนดูจะแยกออกหรือเปล่าว่าฉากนั้นมันคือเรื่องจริง หรือจินตนาการที่พระเอกวาดฝันขึ้น
ผมเคยดู La Dolce Vita อีกหนึ่งผลงานของ Fellini ที่ได้ Palme d’Or ตอนนั้นก็ชอบมากกว่า 8 1/2 เยอะครับ เพราะหนังดูง่ายกว่ามาก ตอนนี้กำลังหามาดูอยู่ จะมาลองเปรียบเทียบกันอีกครั้งว่าเรื่องไหนดีกว่ากันแล้วจะมาเล่าให้ฟังนะครับ
ในช่วงยุคนั้น เป็นยุคที่วงการหนังอิตาลียังไม่ใช้การอัดเสียงสดตอนถ่ายจริง จะไปใช้การ dub ในสตูดิโอเอาอีกที ซึ่งถ้าใครสังเกตหน่อยจะเห็นว่า เสียงพูดไม่ตรงกับปากหลายฉากมาก และบางประโยคเหมือนว่าตัวละครไม่ได้ขยับปาก แต่มีเสียงออกมา ก็ทำเอาผมมึนมาก เพราะผมดูเวอร์ชั่นภาษาอิตาลีแท้ๆ แต่ปากขยับไม่ตรงเสียง แถมหนังมันเกี่ยวกับความฝัน แฟนตาซีด้วย เลยสับสนว่านี่มันเสียงพูดของตัวละคร หรือเสียงที่เกิดขึ้นในหัว ผมมาค้นพบความจริงนี่เอาหลังดูจบ รู้สึกเหมือนโดนแกล้งเลย แต่จะตีความแบบไหนก็ไม่มีผลมากต่อเนื้อเรื่อง ไม่รู้ความจริงนี้ก็ตีความไปอีกอย่างหนึ่งได้
ผมเชื่อว่ากลุ่มคนเขียนบทหนังเรื่องนี้ ไม่ได้เขียนเรื่องราวที่มีความซับซ้อนมากมาย มันอยู่ที่วิธีการกำกับและดำเนินเรื่องล้วนๆ ที่ทำให้คนทั่วไปดูหนังเรื่องนี้ไม่เข้าใจ มันเริ่มตั้งแต่ต้นเรื่องเลย อะไรกันคนอยู่ในรถหาทางออกมาได้ คนในรถคันอื่นๆก็ได้แต่มองแต่ไม่มีใครยอมช่วย แล้วไปๆมาๆ หมอนี่มันกับลอยอยู่บนอากาศ มีคนดึงกลับมา… ผมเชื่อความความประทับใจแรกของทุกคนที่มีต่อหนังเรื่องนี้คือ มันอะไรว่ะ นี่คือความฝัน จินตนาการ เหตุการณ์จริง หรืออะไร หนังสร้างปริศนาตั้งแต่เปิดเรื่องเลย ฉากต่อมามันอาจจะคลายความสงสัยไปได้ระดับหนึ่ง ที่หมอสั่งยาให้ โอ้ แสดงว่าต้องเกิดอะไรขึ้นกับหมอนี่แน่ๆ … เรื่องดำเนินต่อไป ทำให้เรารู้ว่าพระเอกเป็นผู้กำกับหนัง กำลังจะสร้างหนังเรื่องต่อไปแต่ไม่มีไอเดียว่าจะสร้างอะไร เขาเลยทำการผสมผสานเรื่องราว จากเหตุการณ์ในชีวิตของเขา ตั้งแต่วัยเด็กจนโตแต่งงานมีคนรัก ผสมกับจินตนาการบางอย่างที่เขาคิดขึ้น ณ จุดนี้เชื่อว่าหลายคนจะหลุดไปแล้ว ไม่เข้าว่าแต่ละฉากมันคืออะไร เพื่ออะไร อย่างที่ผมบอกในย่อหน้าที่ 3 นะครับ Fellini ได้ทำการผสมผสาน Reality กับ Fantasy เข้าด้วยกัน ถ้าเราไม่สามารถแยกออกได้ว่า ฉากไหนเป็น Reality ฉากไหนเป็น Fantasy ก็จบครับ ดูหนังเรื่องนี้ไม่เข้าใจแน่นอน จริงๆมันมีจุดสังเกตอยู่ในหนังนะ การดูรอบที่ 3 ของผมสังเกตเห็นจุดนี้ เลยทำให้เกิดความเอะใจว่า เห้ย นี่มันเหมือนฉาก Flashback วัยเด็ก, เห้ย harem นี่มันเหมือนฉากในจินตนาการ, เห้ยเรื่องราวในโรงฉายหนังมันเหมือนชีวิตจริงเลยนี่หว่า, ณ จังหวะที่จะมีการตัดสลับระหว่าง Reality กับ Fantasy จะมีโมเมนต์ที่ Close-up หน้าพระเอก แล้วเสียงค่อยๆเฟดเงียบลง ทั้งๆที่ขณะนั้นพระเอกกำลังมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างกับอีกตัวละครหนึ่งอยู่ เหมือนกับว่า ความสนใจต่อเหตุการณ์ตรงนั้นของเขาเปลี่ยนไป และเขากำลังเข้าสู่โลกแห่งความฝัน Fantasy หรือนึกถึงอดีตอยู่
โอ้มายก๊อดเลยละครับ เมื่อเข้าใจจุดนี้ จากหนังที่แม้งดูไม่รู้เรื่องว่ะ พอเข้าใจสิ่งที่ผู้กำกับนำเสนอแล้ว เรื่องนี้มันก็แทบไม่มีอะไรเลย รู้เลยว่าบทหนังเรื่องนี้มันไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไรมากมาย ความตลกของมันคือ มีตัวละครหนึ่งที่เป็นนักเขียน จะคอยช่วยเราวิเคราะห์ฉากในความฝัน แฟนตาซี นั้นให้เราด้วย เออมันฮาจริงๆนะครับ เพราะเหมือนหนังคิดให้เราเองเสร็จสรรพเลย บอกว่าคุณไม่ต้องคิดนะว่าตรงนี้หมายความว่าอะไร ผมวิเคราะห์ให้คุณฟังตรงๆเลย … เพราะความที่เรื่องในจินตนาการของพระเอก ได้กลายมาเป็นบทหนัง คนดูอาจจะคิดว่า พวกฉาก Flashback แฟนตาซีทั้งหลายนั้น เป็นการตัดสลับระหว่างหนังของพระเอกที่เสร็จแล้วก็ได้ (ผมจะได้ว่าตอนดูครั้งแรกๆคิดแบบนี้เลย แต่เพราะคิดแบบนี้มันทำให้ตอนท้ายๆของหนัง มึนหนักกว่าเดิม เพราะหนังมันดันนำเสนอฉากที่ เห้ย สรุปว่าหนังเรื่องนี้มันได้ถ่ายหรือเปล่า แล้วสถานีอวกาศ เพื่ออะไรฟร่ะ!)
แล้วสถานีอวกาศ มันเพื่ออะไร ผมนึกถึงฉากเปิดเรื่องที่พระเอกลอยอยู่นะครับ ฉันอยากหลุดออกไป ออกไปนอกโลกเลยก็ดี ถ้าแค่ลอยขึ้นไปมันก็มีคนดึงกลับมา แล้วถ้าเป็นสถานีอวกาศ เป็นจรวดเลยละ แบบนี้คงไม่ได้กลับมาแน่ๆ … อันนี้ผมคิดเองนะครับไม่ได้ไปหาอ่านเจอที่ไหน พอผมคิดแบบนี้ ฉากจบมันก็เลยเข้าท่า เพราะมีฉากที่สถานีอวกาศถูกทำลาย เหมือนฝันที่ถูกทำลาย และตอนจบที่เต้นกันรอบๆสถานีอวกาศ ก็คือวังวนของความฝันเป็นตอนจบที่น่าส่ายหัวมากๆ คือถ้าไม่เข้าใจทั้งเรื่อง ก็ไม่เข้าใจครับว่าทำไมจบแบบนี้
เห็นว่าเดิมที Fellini ไม่ได้จะจบแบบนี้ ฉากจบเดิมคือ พระเอกกับเมียพระเอกอยู่ในโบกี้รถไฟที่วิ่งอยู่ ในตู้เสบียง กำลังนั่งคิดอะไรเรื่อยเปื่อย ตัดจบที่รถไฟวิ่งเข้าอุโมงค์ เครดิตขึ้นทันที เห็นว่าถ่ายฉากนี้ไว้ด้วย แต่ Tullio Pinelli หนึ่งในคนเขียนบทพยายามกล่อม Fellini ให้เปลี่ยนฉากจบ ซึ่งสุดท้าย Fellini ก็เห็นด้วยไม่ได้ใช้ฉากนี้ ผมจินตนาการไม่ออกเหมือนกันนะถ้า Fellini ใช้ฉากบทรถไฟเป็นฉากจบ เพราะหนังอาจจะตีความได้อีกแบบหนึ่งไปเลยที่ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่เป็นอยู่
แนะนำนักแสดงหน่อยนะครับ Marcello Mastroianni ที่เป็นพระเอกของเรื่อง ผมชอบสีหน้าแกมาก แถมตัวละครนี้มันคล้ายๆ Orson Welles ใน Citizen Kane ตรงที่เขาอยากให้คนอื่นรัก แต่ตนกลับรักคนอื่นไม่เป็น ลุงแกชิง Oscar ด้วยนะครับ 3 ครั้งไม่ได้เลย ได้ 2 Golden Globe และได้ Best Actor จาก Cannes เอาว่าการันตีฝีมือการแสดง ไม่ธรรมดาแน่นอน
ถ่ายภาพโดย Gianni Di Venanzo นี่คือหนังปี 1963 ถือเป็นยุคที่หนังขาวดำเริ่มจืดจางแล้วนะครับ แต่หนังเรื่องนี้ใช้ฟีล์มขาวดำ แถมยังเป็นฟีล์ม 35-mm แบบ Widescreen ซึ่งผิดแปลกจากหนังขาวดำทั่วไป ผมสังเกตว่างานภาพของหนังเรื่องนี้จะค่อนข้างสว่าง การจัดแสงและฉากจะออกโทนขาวๆ แบบมีระดับ และการเคลื่อนไหวของกล้องทำให้หนังมีชีวิตชีวามาก ว่ากันว่านักแสดงในหนังเรื่องนี้ ถ้าจะต้องอยู่ในเฟรม เขาจะต้องเคลื่อนไหว มีคนให้คำนิยามการแสดงในหนังของ Fellini ว่าต้องเหมือนการ “เต้น” เข้าฉาก เราจะเห็นตัวละครที่อยู่ดีๆ โผล่ขึ้นมาจากด้านล่าง ตัวละครที่เดินไปเดินมา เดินผ่านหน้ากล้อง มันดูเหมือนจะวุ่นวายพอสมควร ส่วนหนึ่งคงมาจากหนังของ Jean Renoir โดย Fellini ได้ปรับเทคนิคนี้ให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง มันทำให้รู้สึกว่าหนังมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดูแล้วไม่เบื่อ (แค่จะเข้าใจมันหรือเปล่า)
การตัดต่อนี่คงไม่พูดถึงไม่ได้ Leo Catozzo นักตัดต่อขาประจำของ Fellini ความยอดเยี่ยม หรือจะเรียกว่าพิลึกพิลั่นของหนังเรื่องนี้ เกิดจากการตัดต่อที่ ถ้าไม่ตั้งใจดูจริงๆ ดูไม่รู้เรื่องแน่ๆ ซึ่งจังหวะเปลี่ยน ระหว่าง Reality กับ Fantasy นั้น กับคนที่สังเกตได้ก็จะรู้ว่ามี Hint บางอย่างจากการตัดต่อ มันคล้ายๆ Tokyo Story นะที่จะมีการ Pause เล็กน้อย เพื่อให้รู้ว่าเป็นการจบฉาก เช่นกันกับ 8 1/2 มันก็จะมีจังหวะเล็กๆนี่แหละที่เราต้องสังเกตและหาให้เจอ ก็จะรู้ว่าหนังมีการสลับระหว่าง Reality กับ Fantasy ฉากไหนบ้าง ซึ่งถ้าเห็นตรงนี้ก็น่าจะทำให้เข้าใจหนังมากขึ้นกว่า 50% เลยละ
เพลงโดย Nino Rota ใครไม่รู้จักนายคนนี้นี่พลาดแล้วครับ เขาได้ Oscar สาขา Best Original Score จากหนังเรื่อง The Godfather Part II ภาคแรกเขาก็ทำเพลงให้นะครับ ได้แค่เข้าชิง Oscar ด้วยแต่ถอนตัว (ไม่ทราบสาเหตุ) แต่ก็ยังได้ Golden Globe และ Grammy ถ้าพูดแบบนี้ เพลงประกอบ 8 1/2 ย่อมต้องอลังการแน่นอน ไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว สำหรับ 8 1/2 Nino ใช้การดัดแปลงเพลงที่คุ้นหู มาประกอบเป็นเพลงในสไตล์ของหนัง ถ้าฟังหลายๆเพลงจะรู้ว่าดนตรีออกแนวตลก แต่ถ้าดูกับหนังอาจจะไม่คิดแบบนั้นนะครับ ลองฟังเพลงนี้ดู
เพลงนี้คุ้นหูกันไหมเอ่ย ดนตรีมันออกตลกๆนะครับ ต้นฉบับประพันธ์โดย Tchaikovsky คีตกวีชาวรัสเซียที่ดังมากๆคนหนึ่งในยุค Classic เพลงนี้ออกแนวตลกๆ สนุกสนาน นึกออกรึเปล่าว่าอยู่ในฉากไหน แล้วฉากนั้นมันตลกไหม?
ผมลืมบอกไปว่าหนังเรื่องนี้ได้ Oscar ด้วยนะครับ เข้าชิงถึง 11 แต่ได้มาแค่ 2 คือ Best Foreign Language Film และ Best Costume Design ที่ชิงเยอะก็เป็นสาขาเทคนิค ที่สมัยนั้นเป็นช่วงท้ายๆแล้วที่มีการแยกรางวัล Color กับ Black/White สำหรับ Fellini ก็ได้เข้าชิง Best Director และ Best Screenplay ด้วยแต่ก็ไม่ได้ไป ซึ่งปีนั้นหนังที่ได้รางวัลใหญ่คือ Tom Jones ใครรู้จักหนังเรื่องนี้บ้างเอ่ย (ผมไม่รู้จัก และไม่เคยดูด้วย)
ใครจะดูหนังเรื่องนี้ เตรียมใจ ตั้งสติให้ดีๆ ทนดูให้จนจบ ถ้าคุณเข้าใจตั้งแต่รอบแรกที่ดู แนะนำให้ไปเป็นนักวิเคราะห์หนังเลยนะครับ ถ้าไม่เข้าใจก็ถือว่าเป็นปกติ ผมค่อนข้างข้องใจว่าทำไมคนยุโรป อเมริกาหลายคนดูหนังเรื่องนี้แล้วสามารถเข้าใจกันได้ง่าย คงเพราะหลักสูตรการเรียนของเขา ที่สอนให้วิเคราะห์วรรณกรรม เป็นวิชาหนึ่งที่ต้องเรียน วิชาภาษาไทยในเมืองไทยเรา ไม่มีแบบนี้นะครับ เรื่องวรรณกรรมของไทยเรานี่ชาตินิยมมาก มีวรรณกรรมระดับโลกในหนังสือเรียนไม่กี่เรื่องเท่านั้น แบบนี้โอกาสที่เราจะดูหนังที่เต็มไปด้วยภาษา สัญลักษณ์แบบนี้แล้วจะวิเคราะห์ให้เข้าใจถึงแก่นมันอย่างยากเลย แต่ผมก็เชื่อว่าดูสัก 3-4 รอบขึ้นไป คนทั่วไปก็น่าจะจับทางหนังได้บ้าง ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราสามารถเข้าใจหนังได้จริงๆ นี่ก็จะกลายเป็นหนังเรื่องโปรดของใครหลายๆคนเลยละ
คำโปรย : “Federico Fellini 8 1/2 เป็นหนังที่ผสมผสานระหว่าง Reality กับ Fantasy ได้อย่างลงตัวและน่าพิศวง ที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าใจได้ เรียกได้ว่าเป็นหนังที่มีอิสระภาพมากที่สุดในโลก”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LIKE
[…] 8 1/2 (1963) : Federico Fellini ♥♥♥♥ […]
[…] 8 1/2 (1963) : Federico Fellini ♥♥♥♥ […]