A Brighter Summer Day (1991)
: Edward Yang ♥♥♥♥♡
(14/1/2018) เหตุผลของการเกิดโศกนาฎกรรมในภาพยนตร์เรื่องนี้ คืออิทธิพลจากทุกสิ่งอย่างในจักรวาลชีวิตของเด็กชายหนุ่ม ตั้งแต่พ่อ-แม่ ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน สังคม ประเทศชาติ สถานการณ์โลก ต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน อนาคตมันช่างหมดสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ด้วยความยาวระดับ Epic เกือบๆ 4 ชั่วโมง ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยอ่อนล้าในการรับชม ที่ค่อยๆสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนความอึดอัดอั้นทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในจิตใจของเด็กชายหนุ่ม หงุดหงิด หัวเสีย อยากปลดปล่อย อะไรบางอย่างที่มีความรุนแรงออกมา เมื่อถึงฉากไคลน์แม็กซ์ การกระทำนั้นจะทำให้คุณอึ้งทึ่งช็อค อ้าปากค้าง พูดไม่ออกกับความบ้าคลั่งที่บังเกิดขึ้น
เรื่องราวของหนังได้รับการเปรียบเทียบคือส่วนผสมระหว่าง Rebel Without a Cause (1955) กับ The Godfather Trilogy ที่มีพื้นหลังคือ Taipei ในช่วงทศวรรษ 60s เป็นเวลาสิบปีเต็ม หลังจากพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ก พ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตุง หลบหนีหัวซุกหัวซุนมาพึ่งใบบุญยังเกาะ Taiwan เบื้องนอกดูดีได้รับการสนับสนุนหลังจากอเมริกาและสหประชาชาติ แต่ก็ไม่วายให้พบเจอความขัดแย้งภายใน ความคอรัปชั่นแผ่ขยายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ผู้ใหญ่ขัดแย้งกันเอง มีหรือเด็กๆวัยรุ่นจะไม่เลียนแบบอย่าง
ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อเกือบๆสองปีก่อน ทำเอาแทบทรุด หมดสิ้นเรี่ยวแรง ความหวัง และอนาคตของมนุษยชาติ รู้สึกโชคดีมากๆไม่ได้มีชีวิตผ่านทศวรรษนั้นหรือเกิดในประเทศไต้หวัน ทั้งๆที่เบื้องหน้ามีอะไรเจ๋งๆมากมายอย่าง อาทิ บทเพลงของ Elvis Presley, ภาพยนตร์ Cowboy โคตรเท่ห์ของ John Wayne ฯ แต่เบื้องลึกภายในจิตใจของผู้คนเต็มไปด้วยความอัดอั้นทุกข์ทรมาน จากการคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ, ความไม่แน่นอนทางการเมือง, สถานการณ์สงครามเย็น ฯ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้คุณรับรู้สัมผัสได้ทุกสิ่งอย่าง
เกร็ด: มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้ยินแค่เสียงไม่เห็นภาพ หลายคนอาจคุ้นๆจดจำได้ว่าคือ John Wayne แต่เพราะผมเพิ่งรับชมมาเมื่อไม่กี่วันก่อนเลยระลึกได้ว่าจากหนังเรื่อง Rio Bravo (1959) ฉากกำลังยิงกันตอนไคลน์แม็กซ์
A Brighter Summer Day มาจากการฟังเพี้ยนของตัวละครขณะแกะบทเพลง Are You Lonesome Tonight ฉบับขับร้องโดย Elvis Presley เมื่อปี 1960 ซึ่งจริงๆคำร้องท่อนนั้นคือ ‘a brighter sunny day’ แต่ก็ชวนให้ฟังเพี้ยนแถมผิดแกรมม่าอีกนะ
แรกสุดของบทเพลงนี้ แต่งโดย Roy Turk กับ Lou Handman ตั้งแต่ปี 1926 บันทึกเสียงครั้งแรกโดย Charles Hart แต่ฉบับโด่งดังที่สุดเป็นของ Elvis Presley สามารถขึ้นถึงอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100 ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์, นำมาให้ฟังกันก่อนเลย เพื่อประกอบอารมณ์และการอ่านบทความนี้
เกร็ด: ชื่อหนังภาษาจีนคือ 牯嶺街少年殺人事件 (อ่านว่า Gu ling jie shao nian sha ren shi jian) แปลว่า The Youth Killing Incident on Guling Street
Edward Yang (1947 – 2007) วิศวกร ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Taiwanese รุ่นเดียวกับ Hou Hsiao-hsien และ Tsai Ming-liang บุกเบิก Taiwanese New Wave เกิดที่ Shanghai อายุ 2 ขวบ อพยพตามครอบครัวมาเติบโตขึ้นที่ Taipei ภายหลังความพ่ายแพ้ของเจียงไคเช็ก ตั้งแต่เด็กมีความสนใจอ่านหนังสือ มังงะ แต่เพราะไม่เห็นช่องทางเอาตัวรอดด้านนี้ เลยเลือกเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่ National Chiao Tung University บินไปเรียนต่อปริญญาโทที่ University of Forida จบมาทำงานเป็นนักวิจัยเครื่องคอมพิวเตอร์ปักหลักอยู่ที่เมือง Seattle
“I realized I didn’t have any talent at all. I didn’t have what it takes to get into the film business, so I dropped out. I recognized that I better not dream this dream because I didn’t have what it takes.”
แต่หลังจากมีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่อง Aguirre, the Wrath of God (1972) ของผู้กำกับ Werner Herzog เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ เปิดโลกทัศน์ตัวเองในศาสตร์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน โดยเฉพาะผลงานของ Michelangelo Antonioni ตัดสินใจเดินทางกลับ Taiwan เริ่มต้นเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ กำกับซีรีย์บางตอน ร่วมสร้างหนังสั้น Expectation ตอนหนึ่งใน In Our Time (1982), ฉายเดี่ยวครั้งแรก That Day, on the Beach (1983) ทั้งชีวิตมีผลงานภาพยนตร์ขนายาว 7 เรื่อง คว้ารางวัล Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Cannes จากเรื่อง Yi Yi (2000) เสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขณะอายุ 59 ปี
คงเพราะอาศัยอยู่อเมริกาหลายปี ผลงานของ Yang จึงมักนำเสนอความสัมพันธ์/ขัดแย้ง ระหว่างมนุษย์ ครอบครัว กับสังคมเมือง เรื่องราวมักเป็นกึ่งๆอัตชีวประวัติตัวเองที่เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของประเทศไต้หวัน นี่ตรงข้ามสไตล์ผู้กำกับ Hou Hsiao-hsien ที่มีความสนใจเรื่องราวพื้นบ้าน ชนบทของประเทศ Taiwan แต่ผลงานของทั้งคู่ถือว่าไดเรคชั่นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับภาพยนตร์เรื่องที่สี่ A Brighter Summer Day ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง จดจำได้เมื่อตอนตัวเองอายุ 13 ปี พบเห็นพาดหัวข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ครั้งแรกของประเทศกับ ‘คดีเยาวชน’ วัยรุ่นหนุ่มอายุ 14 ปี ฆาตกรรมแฟนสาวที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้นำกลุ่มอันธพาลใต้ดิน หลังจากสงครามความขัดแย้งของเหล่าวัยรุ่น ระหว่างพวกอพยพจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ กับลูกหลานชาวไต้หวันโดยกำเนิด แม้เบื้องหลังแรงจูงใจจะคลุมเคลือไม่ได้รับการเปิดเผย แต่ Yang ก็ได้ข้อสรุปในมุมมองทัศนคติของตัวเอง
Xiao Si’r (รับบทโดย Chang Chen) ลูกชายคนที่สี่ของครอบครัว แม้คะแนนเต็มในวิชาอื่นยกเว้นวรรณกรรมภาษาจีน ทำให้ถูกส่งเข้าโรงเรียนมัธยมภาคค่ำ พบเจอตกหลุมรัก Ming แฟนสาวของ Honey (รับบทโดย Lin Hong-ming) หัวหน้ากลุ่มอันธพาล The Little Park Boys (กลุ่มลูกหลานของคนที่อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่) ที่ขณะนั้นหายหน้าหายตา อยู่ระหว่างลี้ภัยจากการฆาตกรรมหัวหน้ากลุ่ม 217s (กลุ่มลูกหลานชาวไต้หวันโดยกำเนิด) นั่นทำให้เด็กชายหนุ่มมีโอกาสพบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย ที่เกิดขึ้นระหว่างการปะทะกันของทั้งสองฝ่าย
Ming (รับบทโดย Lisa Yang) เพราะแม่ล้มป่วยไม่สบายอาการหนัก เธอจึงทุ่มเทเสียสละ ยินยอมพลีกาย ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อที่พึ่งพิงเดียวในชีวิต นี่ทำให้การแสดงออกภายนอกไม่ตรงกับตัวตนภายใน สวมหมวกใส่หน้ากากหลายชั้น มิได้คิดหวังความรักจริงจังกับใคร,
ในตอนแรก Xiao Si’r ไม่ได้ใคร่สนใจ Ming เพราะรับรู้ประวัติเบื้องหลังของเธอ แต่ก็ถูกมารยาหญิงยั่วหยอกหลอกจนหลงติดกับ คราวนี้ก็โงหัวไม่ขึ้นปลดปล่อยวางไม่ได้ ต้องเป็นคนรักของฉันเท่านั้น ซึ่งการที่หญิงสาวปฏิเสธชายหนุ่มตอนท้าย ได้ทำให้โลกทั้งใบของเขาล่มสลายลง จึงถูก …
ครอบครัวของ Xiao Si’r ประกอบด้วย
พ่อ (รับบทโดย Chang Kuo-chu) ทำงานเป็นข้าราชการพลเรือน วันหนึ่งถูกตำรวจลับจับกุมในข้อหาคอรัปชั่น พยายามซักทอดให้รับสารภาพ แม้สุดท้ายจะไม่พบเจอหลักฐานอะไร แต่ก็ทำให้เสียชื่อเสียงศักดิ์ศรี อาชีพการงานตกต่ำถดถอยลงเรื่อยๆ
แม่ (รับบทโดย Elaine Jin) เป็นครูสอนหนังสือ แต่ดันลืมใบประกอบวิชาชีพไว้ที่ประเทศจีน ทำให้ไร้โอกาสก้าวหน้าทางอาชีพการงาน เป็นคนจุ้นจ้านปากจัดขี้บ่น ชอบแสดงความคิดเห็นส่วนตัว แต่มักไร้กาลเทศะ หลายครั้งไม่เข้าหูสามี มีเรื่องต้องทะเลาะเบาะแว้งเศร้าเสียใจอยู่เรื่อยๆ
พี่สาวคนโต (รับบทโดย Wang Chuan) สวยเซ็กซี่โตเต็มวัย ครั้งหนึ่งแต่งตัวชุดแฟชั่น ขอยืมนาฬิกาแม่ไปใช้แต่กลับถูกน้องๆแอบขโมยไปจำนำ
พี่สาวคนรอง (รับบทโดย Chiang Hsiu-chiung) คงเพราะพบเห็นแนวโน้มของครอบครัวต้องเกิดอะไรขึ้นแน่ จึงเปลี่ยนความเชื่อศาสนา (น่าจะจากพุทธชินโต) ไปเป็นคริสเตียน พยายามชักชวน Xiao Si’r ให้เปลี่ยนตามแต่มีหรือเขาจะสนใจ, ช่วงท้ายขณะร่วมวงคอรัสร้องเพลงในโบสถ์ เป็นคนเดียวที่ก้มหน้าร้องไห้ (สังเกตพบเห็นกันหรือเปล่า)
พี่ชายคนโต Lao Er (รับบทโดย Chang Han) ตอนแรกขโมยนาฬิกาของแม่ไปจำนำ นำเงินมาให้ Xiao Si’r ซื้อไม้เบสบอลชดใช้เพื่อน ต่อมากลายเป็นนักสนุกเกอร์ฝีมือเยี่ยม หาเงินมาไถ่ถอนสำเร็จ ภายหลังเกิดเหตุการณ์นาฬิกาหายอีกครั้ง แต่เขาไม่ได้ขโมย รู้ว่าน่าจะเป็นฝีมือน้องชาย แทงสนุกชนะพนัน แต่กลับบ้านมาถูกจับได้ โดนพ่อเฆี่ยนตีอย่างรุนแรงสาหัส
น้องสาวคนเล็ก (รับบทโดย Lai Fan-yun) ด้วยความที่ยังเป็นเด็กตัวเล็ก ชอบงอแงเรียกร้องความสนใจ ไปงานเลี้ยงรวมญาติไร้เพื่อนอ้อนแม่อยากกลับบ้าน ต่อมาขอให้ซื้อหมากฝรั่งให้ ภายหลังแอบได้ยินว่าใครขโมยนาฬิกานำไปกระซิบบอก กลายเป็นเรื่องใหญ่โตฟูมฟายร้องไห้ขี้มูกโป่ง
เพื่อนๆของ Xiao Si’r ประกอบด้วย
Cat/Wang Mao (รับบทโดย Wang Chi-tsan) เด็กหนุ่มร่างเล็ก ชื่นชอบร้องเพลง หลงใหลในเสียงของ Elvis Presley พยายามเลียนแบบตามแต่ก็ทำได้แค่เหมือนเป็ดร้อง, Cat เป็นคนรักเพื่อน ใจนักเลง เวลามีปัญหาก็ต้องการร่วมด้วยช่วยเหลือ ตอนไต่ขึ้นบนหลังคาพบเจอดาบสั้น และรูปของหญิงสาวชาวญี่ปุ่นน่ารักๆ ที่ Xiao Si’r ขอมาเคลิบเคลิ้มหลงใหล
Airplane (รับบทโดย Lawrence Ko) จอมหื่นที่สุดในกลุ่ม ครั้งหนึ่งแอบเห็นซื้อหนังสือโป๊ พอไปถึงบ้าน Ma ก็ตาไม่กระพริบ, เป็นเพื่อนรักหัวใจนักเลงของ Cat และ Xiao Si’r ไปไหนไปด้วยเสมอ
Ma (รับบทโดย Tan Chih-kang) เด็กใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาโรงเรียนภาคค่ำ ลูกชายของนายพล เคยให้การช่วยเหลือ Xiao Si’r จากกลุ่มอันธพาล 217s เลยกลายเป็นเพื่อนสนิทสนม ชักชวนไปเที่ยวเล่นที่บ้าน บนห้องใต้หลังคาพบเจอปืน ดาบคาตานะ เครื่องบันทึกเสียง ฯ แนะนำให้รู้จักกับสนามเทนนิสใช้พรอดรัก ภายหลังครอบครัวจุนเจือแม่และ Ming ทำให้ถูกเข้าใจผิด สร้างความอิจฉาตาร้อนให้กับ Xiao Si’r จนต้องพกดาบไปโรงเรียน
สำหรับกลุ่มอันธพาลใต้ดิน เนื่องจากมีตัวละครเยอะมาก ขอนำเสนอเฉพาะสามตัวละครสำคัญ
Honey (รับบทโดย Lin Hong-ming) หัวหน้ากลุ่ม The Little Park Boys ช่วงแรกเป็นตัวละครปริศนาหายตัวไป แต่สักกลางเรื่องจะโผล่เข้ามาแต่งชุดกะลาสี ภาพลักษณ์เหมือนเป็นคนไม่ชอบความรุนแรง แต่ไม่เคยก้มหัวยอมให้ใคร สุดท้ายไม่ทันไรก็ถูก…
Sly/Huatou (รับบทโดย Chen Hung-Yu) เพราะหัวหน้ากลุ่ม Honey หายตัวไป เลยสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำ ครั้งหนึ่งถูก Xiao Si’r พบเห็นกำลังกอดจูบกับ Jade (รับบทโดย Chiang Ming-Ying) เอาคืนด้วยการนั่งข้างๆลอกข้อสอบจนถูกจับ ช่วงหนึ่งเป็นผู้ขอสงบศึกกับกลุ่ม 217s ส่งอันธพาลมาจัดการกับ Tiger แต่ภายหลังจากเหตุการณ์สงครามใหญ่ ต้องหลบหนีซ่อนตัว ต่อมาคงเริ่มคิดได้ ต้องการคืนดีเป็นเพื่อนกับ Xiao Si’r แต่ถูกตบหน้าปฏิเสธอย่างไม่สนใจใยดี
Shandong (รับบทโดย Alex Yang) หัวหน้ากลุ่ม 217s อดีตเคยเป็นสมาชิกกลุ่ม The Little Park Boys พอปีกกล้าขาแข็งก็แยกตัวออกมา หากินด้วยการเปิดร้านสนุกเกอร์รับเล่นพนัน ครั้งหนึ่งสงบศึกกับ Sly เข้าร่วมชมคอนเสิร์ต แต่เพราะการเข้ามาขัดจังหวะของ Honey ทำให้… ภายหลังจึงถูกล้างแค้นโดย …
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ให้ตายเถอะรายละเอียดยิบย่อยเยอะมากๆ ที่ผมไล่ๆมานี่ก็แค่เฉพาะตัวละครเด่นๆพอจดจำชื่อและใบหน้าได้บ้าง ส่วนใหญ่เป็นนักแสดงสมัครเล่น แต่ก็พอมีชื่อเสียงอยู่หลายคน อาทิ
Chang Chen (เกิดปี 1976) นักแสดงสัญชาติ Taiwanese เกิดที่ Taipei แม้ก่อนหน้านี้จะมีบทสมทบเล็กๆ แต่หลังจากรับบท Xiao Si’r ใน A Brighter Summer Day (1991) เข้าชิง Golden Horse: Best Actor ทำให้ได้รับการจับตามองอย่างสู มีผลงานเด่นๆอาทิ Happy Together (1997), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), The Go Master (2006), Red Cliff (2008-2009), The Assassin (2015) ฯ
Chang Kuo-Chu (เกิดปี 1948) นักแสดงสัญชาติ Taiwanese พ่อแท้ๆของ Chang Chen เกิดที่ Zhejiang, จีนแผ่นดินใหญ่ อพยพย้ายสู่ Hong Kong ตามด้วย Taiwan ภายหลังความพ่ายแพ้ของเจียงไคเช็ก, บทบาทที่ได้รับเป็นพ่อของ Xiao Si’r ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาอย่างสมจริงมากๆ (จากประสบการณ์ส่วนตัวล้วนๆ) ทำให้ได้เข้าชิง Golden Horse: Best Actor พร้อมกับลูกชาย ปรากฎว่าไม่ได้ทั้งคู่
Lisa Yang ที่รับบท Ming เป็นผลงานเดียวในเครดิต แม้จะได้เข้าชิง Golden Horse: Best Actress แต่คงไม่ค่อยประทับใจวงการภาพยนตร์สักเท่าไหร่
Elaine Jin (เกิดปี 1954) นักแสดงหญิงสัญชาติ Taiwanses โดยกำเนิด มีผลงานภาพยนตร์ทั้งใน Hong Kong กับ Taiwan โด่งดังกับ Love Unto Waste (1986), People’s Hero (1987), Port of Call (2015) ฯ รับบทแม่ ที่พอถูกพ่อตำหนิต่อว่า ร้องไห้โศกเศร้าเสียใจได้อย่างรวดร้าวทุกข์ระทม, เข้าชิง Golden Horse: Best Supporting Actress
ถ่ายภาพโดย Chang Hui-kung กับ Li Long-yu, ด้วยไดเรคชั่นของ Yang ที่พยายามถ่ายทำ ‘หนึ่งซีนต่อหนึ่งช็อต’ มุมกล้องเดียว Long-Take เห็นครอบคลุมครบทุกสิ่งอย่างที่ต้องการนำเสนอ
ถ่ายมุมกล้องมองจากด้านบน เห็นกองถ่ายทำภาพยนตร์ ช็อตเดียวครบทุกองค์ประกอบ
โต๊ะสนุกเกอร์ก็เช่นกัน มักเลือกมุมกล้องที่ช็อตเดียวพบเห็นทุกสิ่งอย่าง, นัยยะของสนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่ใช้ลูกกลมๆสีขาว (จิตใจบริสุทธิ์) เริ่มต้นกระแทกให้กระจัดกระจาย แล้วค่อยสอยลูกสีทีละลูกให้ลงหลุม (เหมือนการค่อยๆกระแทกทำลายความชั่วร้ายในจิตใจ ให้สูญหายไป) แต่ถ้าเปรียบเรื่องราวกับลักษณะการแทงของ Xiao Si’r คงจะทำยังไงก็สอยลูกสีไม่ลงหลุม กลายเป็นลูกขาวหล่นไปแทน
ฉากที่พ่อลงโทษ Lao Er ช็อตเดียวเห็นครบทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น (ในสายตาของ Xiao Si’r นั่งมองอยู่บนกำแพงนอกบ้าน)
กระนั้นก็มีหลายครั้งทีเดียว เป็นความจงใจถ่ายให้เห็นแค่บางส่วน มีอะไรบดบัง ด้านใดด้านหนึ่งของเรื่องราว/ตัวละคร เป็นการชักชวนให้ผู้ชมจินตนาการถึงส่วนขาดหายไปเอง
ช็อตแรกของหนัง พ่อนั่งอยู่ในห้องของครูใหญ่ ถ่ายจากด้านนอกห้องตรงประตู กำแพงปกปิดบังบุคคลที่อยู่กำลังสนทนาอยู่ (จริงๆช็อตนี้เป็นมุมมองจากสายตาของ Xiao Si’r), ตัวละครที่ถูกปกปิด เปรียบได้กับอำนาจมืดลึกลับ ที่ไม่จำเป็นต้องทองเห็นใบหน้าแต่สามารถรับรู้ได้ว่ามีอยู่
หลายคนอาจสงสัยว่าช็อตนี้มันอะไร? คือเงาสะท้อนรางๆการพบกันของ Xiao Si’r กับ Ming ที่ห้องพยาบาล (น่าจะครั้งที่สองกระมัง) ส่วนตัวชื่นชอบไดเรคชั่นฉากนี้ที่สุดแล้ว ทึ่งมากว่าคิดได้ยังไง! ความหมายสะท้อนการมีตัวตนของพวกเขาในสายตาของผู้อื่น เลือนๆลางๆแบบนี้แหละ
ช็อตนี้ใช้มุ้งเพื่อบดบังการโต้เถียงของพ่อ-แม่ ลดอารมณ์ความรุนแรงได้มาก ผู้ชมจะเห็นลางๆแค่การเคลื่อนไหวของพวกเขาเท่านั้น แต่จินตนาการของคุณจะบรรเจิดไปเองคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร
ช็อตช่วงท้ายที่ Xiao Si’r เดินทางไปหา Ma ที่บ้าน รับรู้เรื่องราวว่า Ming ย้ายมาอาศัยอยู่บ้านหลังนี้, เหตุที่ต้องหลบซ่อนปกปิดใบหน้าของ Xiao Si’r น่าจะด้วยเหตุผลนัยยะเดียวกับช็อตข้างบน แทนด้วยอำนาจมืดชั่วร้ายกำลังครอบงำตัวละครอยู่ ฟังจากน้ำเสียงก็น่าจะรับรู้ได้ว่า มีความเกรี้ยวกราดรุนแรงซ่อนอยู่มากแค่ไหน
เราจะไม่เห็นช็อต Close-Up ใบหน้าของนักแสดง เพราะส่วนใหญ่เป็นมือสมัครเล่น ยิ่งจับจ้องมากๆผู้ชมจะรับรู้ถึงความไม่สมจริง ส่วนใหญ่จึงเป็น Long Shot ไปจนถึง Medium Shot (ครึ่งตัว)
ช็อต Opening Credit ก็ไม่ถึงขั้น Extreme-Long Shot แค่แช่ภาพทิ้งไว้ พบเห็นสองพ่อลูกปั่นจักรยานตรงเข้ามาใกล้เรื่อยๆ สะท้อนระยะทางของหนังเรื่องนี้ที่แสนยาวไกลเสียเหลือเกิน
ประมาณนี้น่าจะใกล้สุดของหนังแล้วนะ Medium Shot คือมองเห็นใบหน้าลีลาท่าทาง (สังเกตว่าช็อตเดียว ถ่ายครบทั้งวงดนตรี)
ฉากสงครามใหญ่ เลือกถ่ายทำตอนกลางคืนเพื่อลดความรุนแรงลง ใช้เพียงแสงจากไฟฉายสาดส่องเห็นแค่รางๆ และเสียงต่อสู้ ตูมตาม โครมคราม, แม้มองไม่รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อารมณ์ของฉากนี้ถือว่าพุ่งกระฉูดจัดเต็มทีเดียว
มีช็อตความมืดหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากๆ, ในงานเลี้ยงรวมญาติ เพื่อนพ่อพยายามสนทนาชักจูงโน้มน้าวสู่ความคอรัปชั่น สังเกตว่าพวกเขาพูดคุยกันลับๆหลบมุมมืด ขณะที่ด้านหลังครอบครัวอยู่ในกรอบ/บานประตู ห้องที่เปิดไฟมีแสงสว่าง
สำหรับช็อตที่ถือเป็น Masterpiece ของหนัง ไม่ได้นำเสนอภาพความรุนแรงใดๆออกมาให้เห็น (หลอดไฟถูกตีแตกนั่นไม่ได้มีความรุนแรงอะไรเลยนะ นัยยะนอกจากหัวกบาลของครูใหญ่แล้ว ยังสื่อได้ถึงแสงสว่างของชาติจบสิ้นลงแล้ว) แต่จินตนาการของผู้ชมจะสามารถตีความ ครุ่นคิด จินตนาการไปเองได้อึ้งทึ่งแบบ Re-Action Shot ภาพนี้เลยละ
ฉากสุดท้ายของหนังเป็นอะไรที่เจ๋งและแปลกประหลาดมากๆ ไม่ใช่แค่ภาพแม่สวมกอดเสื้อของ Xiao Si’r ด้วยความเศร้าโศกคิดถึง แต่ยังคือเสียงประกาศรายชื่อผู้สอบเข้าโรงเรียนต่างๆได้สำเร็จ เป็นการตั้งคำถามที่เจ็บแสบ บุคคลเหล่านี้ที่คือคืออนาคตของชาติ มีความ ‘brighter summer’ จริงๆนะหรือ?
ตัดต่อโดย Bowen Chen, ส่วนใหญ่ของหนังดำเนินเรื่องในมุมมองของ Xiao Si’r แต่หลายครั้งก็เปลี่ยนไปเล่าเรื่องของพ่อ, พี่ชาย, เพื่อนๆ ฯ รวมๆแล้วเพื่อประมวลเหตุการณ์ทุกสิ่งอย่างที่สะสมอัดแน่นเข้าไปในตัวของ Xiao Si’r รอคอยวันปะทุออก
เรื่องราวของหนังดำเนินไปในระยะเวลา 2 ปีเต็ม เริ่มจากฤดูร้อนปี 1959 ตอนที่ Xiao Si’r สอบเข้ามัธยมโรงเรียนภาคกลางวันไม่ติด (ขณะนั้นน่าจะ ป.6) ทำให้ต้องเข้าเรียนภาคค่ำ ดำเนินเรื่องไปฤดูร้อนปี 1961 ที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี เวลาดำเนินผ่านไปโดยแทบโดยไม่รู้ตัว
ลักษณะ Sub-Plot ของหนัง เมื่อมีการพูดเอ่ยถึงอะไรบางอย่างขึ้น ซีนถัดๆไปตัวละครก็มักแสดงออกซึ่งสิ่งนั้นเลย อาทิ หลังจาก Ma โชว์ดาบคาตานะอวด Cat บอกว่าพบเจอจากบนเพดาน ฉากถัดมาเราจะเห็น Cat ปีนขึ้นไปด้านบนโดยทันที แต่กว่าผู้ชมจะรับรู้ว่าสิ่งที่เขาพบเจอคืออะไรก็อีกหลายฉากถัดมา (ประกอบด้วยมีดสั้น หนังสือ และรูปภาพหญิงสาว)
บางครั้งจะเริ่มมาจากเสียงก่อน ในโรงหนังได้ยินเสียงปืน ปัง ปัง -> Xiao Si’r สวมหมวกเลียนแบบ ทำท่าทางคาวบอยยิงปืนอากาศ -> หลายซีนต่อจากนั้น Ming ยิงปืนใส่ Xiao Si’r จริงๆ
หลายครั้งจะมีการเล่นเกมกับผู้ชม ท้าทายว่าสามารถอ่านภาษาภาพยนตร์ออกหรือเปล่า? อาทิ ช็อตที่ Tiger เล่นบาสเกตบอลกับ Ming ก็ดูปกติดีไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ฉากถัดมาตัดไปที่ห้องพยาบาล เด็กหญิงสาวกำลังทำแผลเดินกระโผลกกระเผลก มันมีสาเหตุจากอะไร? ผู้ชมทั่วไปย่อมเกิดข้อสงสัยอย่างแรงกล้า แต่ถ้าใครอ่านหนังออกก็น่าจะคาดเดาได้อยู่แล้ว ซึ่งฉากถัดๆไปถึงค่อยมีการพูดเฉลยออกมาให้คลายข้อสงสัย (ว่าเกิดจากอุบัติเหตุตอนเล่นบาสเกตบอลนะแหละ)
นัยยะของบาสเกตบอล: ชู้ตให้ลงแป้นได้คะแนน (คล้ายๆกับสนุกเกอร์) เมื่อไหร่ที่จิตใจวุ่นวายอลม่าน Tiger ถูก Ming บอกเลิก เลยเล่นไม่ออก ชู้ตไม่ลง ชีวิตไร้เป้าหมาย
สิ่งของหลายๆอย่างของหนัง จะมีวัฏจักร เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ราวกับตัวละครหนึ่ง ที่มีเรื่องราวชีวิตของตนเอง
– วิทยุ: ตอนแรกก็เปิดปกติดี ฟังข่าว ฟังรายชื่อผู้สอบติด -> Cat นำมาแกะเล่น เกือบพัง -> พ่อเอาหนังสือการ์ตูนของลูกคนเล็กมาวางตั้ง เพื่อให้ใช้งานได้ -> เพื่อนพ่อมาหาเปิดวิทยุไม่ติด อยู่ดีๆก็เล่าต้นกำเนิดของมัน ไปซื้อด้วยกันจาก … -> ฉากสุดท้าย น้องคนเล็กเตะหล่น เลยต้องถือแบกไว้เพื่อฟังรายชื่อผู้สอบติด
นัยยะ: วิทยุเป็นอุปกรณ์ที่ใช้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอกทั่วโลก ข่าวคราวการเลือกตั้งของอเมริกา, พยากรณ์อากาศ, ประกาศรายชื่อนักเรียนสอบเข้า
- ไม้เบสบอล: ถูกประกาศห้ามใช้ -> Xiao Si’r ดึงจากมือเพื่อนเตรียมตีหัว Sly เลยถูกยึด -> หาเงินมาซื้อใช้คืนให้เพื่อน -> ฉากไคลน์แม็กซ์อยู่ใกล้มือ เลยหยิบมาใช้
นัยยะ: คือความรุนแรง ครูใหญ่ที่ประกาศออกกฎบังคับห้าม สุดท้ายกรรมสนองตนเอง (นี่สะท้อนเสียดสีแรงมากๆ กับประเทศที่ออกกฎหมายอะไรมากมายมารองรับ มันจะยิ่งเป็นการบีบบังคับผู้คนมาเกินไปให้ดิ้นรนหาช่องว่างข้ออ้างทางออก สุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร หวนคืนกลับมาเกิดกับตนเอง) -
นาฬิกาแม่: สวมใส่ไปงานรวมญาติ ถูกทักหวนระลึกถึงตอนซื้อมาครั้งแรก -> ให้พี่สาวยืม แต่ Lao Er ขโมยไปจำนำ -> แม่จะใส่ หายไปอีก แต่เป็น Xiao Si’r ขโมยไปจำนำ -> พ่อรับรู้หัวเสียกลับลงโทษ Lao Er (อันนี้คนอื่นรับกรรมแทน)
นัยยะ: เวลาที่ใกล้หมดไปของ Xiao Si’r -
หมวก: Xiao Si’r คงเห็นชื่นชอบจากในภาพยนตร์ Western -> ตอนแรกหยิบมาสวมใส่เล่นเอง ภายหลังสวมให้ Ming -> ตอนหลัง Ming หยิบขึ้นมาสวมใส่ด้วยตนเอง
นัยยะ: การสวมหมวก หรือสวมหัวโขน คือการแสดงออกตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ ไม่ใช่ตัวของตนเอง -
ไฟฉาย: ขโมยจากโรงถ่ายหนัง -> สาดส่องเพื่อนๆในความมืด -> เล่นอยู่ในตู้นอนของ Xiao Si’r -> เอาไปฉายตอนสงคราม -> สุดท้ายหวนกลับคืนไปวางลืมอยู่ที่โรงถ่ายหนัง
นัยยะ: ส่องแสงสว่างนำทางออกสู่ความมืดมิด แต่เมื่อหลงลืมทิ้งไว้ก็ถึงคราหลงทางแล้วสินะ -
ดาบ: เริ่มจาก Ma อวดดาบคาตานะ -> Cat ค้นเจอดาบสั้น -> Xiao Si’r เอามาใช้ในสงคราม -> Cat เอาไปซ่อนไว้หลังตู้ -> Xiao Si’r ขโมยมาใช้กับ Ming -> Ma ถูกไต่สวนในโรงพักข้อหาพกดาบไปโรงเรียน
นัยยะ: อาวุธที่ใช้ทำลายล้างเข่นฆ่า มักมีสองคม หนึ่งเพื่อป้องกันตัว สองคือเข่นฆ่าทำลายล้าง
ฯลฯ
สำหรับเพลงประกอบถือว่าไม่มีนะครับ แต่ทุกบทเพลงที่ได้ยินล้วนมาจากศิลปินชื่อดังในทศวรรษนั้นทั้งหมด ประกอบด้วย
– Don’t Be Cruel (1956) ของ Elvis Presley
– Are You Lonesome Tonight (1960) ของ Elvis Presley
– Never Be Anyone Else But You (1958) ของ Ricky Nelson
– Poor Little Fool (1958) ของ Ricky Nelson
– Why (1959) ของ Frankie Avalon
– Angel Baby (1960 ของ Rosie & The Originals
– เพลงคอรัสที่พี่สาวคนกลางขับร้องช่วงท้ายชื่อ Near to the Heart of God
ผมชื่นชอบเสียงร้องของ Wang Chi-tsan ในบทเพลง Angel Baby มากๆเลยละ ลองมาเทียบกับต้นฉบับที่ Rosie Hamlin ตอนอายุ 15 ขับร้องดูนะครับ แล้วคุณอาจขนลุกซู่ เพราะมันคล้ายคลึงกันมาก
เช่นกันกับบทเพลง Why เพลงฮิตติดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100 ของ Frankie Avalon จะมีอยู่สองสามท่อนที่เป็นผู้หญิงร้อง ซึ่งในฉบับหนัง Bosen Wang ร้องเสียง Avalon และ Wang Chi-tsan เสียงผู้หญิงได้ … เพอร์เฟ็กมาก
บทเพลงต่างๆ ไม่ได้หลับหูหลับตาใส่มาเพื่ออารมณ์ Nostalgia ของผู้ชมนะครับ แต่มีนัยยะสื่อถึงสถานะระหว่าง Xiao Si’r กับ Ming ขณะนั้นๆอยู่ด้วย แต่ผมเริ่มขี้เกียจวิเคราะห์เลยขอยั่วแค่นี้แล้วกัน
กระนั้นขณะที่พี่สาวคนโตกำลังแกะคำร้องบทเพลง Are You Lonesome Tonight ของ Elvis Presley ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เพราะฉากก่อนหน้านั้นคือสงครามใหญ่ ไล่ล่าฆ่าฟันคนตายเป็นเบือ พี่สาวดันเปิดวนซ้ำๆท่อน ‘a brighter sunny day’ อยู่หลายรอบ ถามน้องชายคนโต นั่นมัน ‘a brighter summer day’ หรือเปล่า? ความเข้าใจผิดนี้ประชดประชันเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาได้อย่างเจ็บแสบ โลกมันช่างสว่างสดใสเสียเหลือเกิน!, ขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถัดมา พ่อถูกตำรวจลับจับกุม นำตัวไปให้เขียนคำรับสารภาพจากความคอรัปชั่นที่ตนเองไม่ได้กระทำ นี่ก็ถือเป็นการเข้าใจผิดอีกเช่นกัน
แซว: ‘a brighter sunny day’ ถือเป็นประโยคโคตรซวยของหนังโดยแท้
อิทธิพลจากทุกสิ่งอย่างในจักรวาลชีวิตของเด็กชายหนุ่ม ประกอบด้วย
– สถาบันครอบครัว: พ่อ ถูกทำให้อับอายขายหน้า จนแทบสูญเสียความเป็นตัวของตนเอง
– เพื่อน/คนรัก: ถูกหักหลังทรยศ เลิกคบหา
– โรงเรียน: ถูกขับไล่ออก
– สังคม: พบเห็นการต่อสู้ขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มอันธพาล และความตายอันไร้ค่า
– ประเทศชาติ: รถถังวิ่งผ่าน เต็มไปด้วยความตึงเครียดไม่แน่ไม่นอน
– สถานการณ์โลก: สงครามเย็น อเมริกาvsรัสเซีย
ให้ไล่เรียงคงไม่หมด ถึงเหตุผลของเด็กชายหนุ่ม จากที่เคยเฉลียวฉลาดระดับอัจฉริยะ สอบได้คะแนนเต็มแทบทุกวิชา อนาคตสดใส ‘brighter summer’ กลับกลายเป็นคนรังเกียจต่อต้านทุกสิ่งอย่างในชีวิต และกระทำการฆาตกรรมหญิงสาวคนรัก
“You’re just like all the rest.I’m like the world, I’ll never change.”
มนุษย์ทุกคนในช่วงวัยรุ่น ต่างต้องการค้นหา ‘อัตลักษณ์’ ความเป็นตัวของตนเองที่แตกต่างจากผู้อื่น แม้จะมีหลายสิ่งอย่างโคตรเท่ห์ให้ลอกเลียนแบบ รับวัฒนธรรมชาติตะวันตกเข้ามา แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็หาได้กลายเป็นตัวตนของเขาไม่ ซึ่งเมื่อกาลเวลาเริ่มทำให้สูญเสียสิ่งต่างๆจากที่ผมว่ากล่าวมา จนถึงวินาทีสุดท้ายคำพูดของหญิงสาวคนรักนี้ ได้สะท้อนว่าบอกว่า ‘นายก็แค่เหมือนคนอื่นๆ’ ทำให้ตัวเขาไม่หลงเหลืออะไรในชีวิตให้เป็นทีี่ยึดเหนี่ยวเกาะแก่ง กลายเป็นคนไร้ซึ่งตัวตน เช่นนั้นชีวิตก็หมดสิ้นคุณค่าความหมายลงโดยทันที
แต่การจะไปโทษว่ากล่าวความผิดนี้ต่อใครสักคน หรือหน่วยงานใดหนึ่ง ย่อมไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะมันคือมวลรวมทุกสิ่งอย่างที่สะสมอัดอั้น บังเอิญรวมตัวกันที่เด็กชายคนนี้โดยไม่มีใครพบเห็นรับรู้ ซึ่งเมื่อถึงจุดแตกหักอดรนทนต่อไม่ไหวแล้ว จึงจำต้องระเบิดออกมา ซึ่งนั่นก็เป็นผลลัพท์ที่ -ว่ากันตามตรง- ไม่มีใครในโลกสามารถเข้าใจได้แน่ กฎหมายตัดสินไปตามเนื้อผ้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นรวมอยู่ในจิตใจของเขา ไม่ว่ายังไงใครก็มิอาจรับรู้ได้
นี่ต้องยกย่องชายผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์เรื่องนี้ Edward Yang น่าจะเรียกว่า ‘อัจฉริยะ’ ได้เลยกระมัง สามารถนำเอาอารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำของตนเองเมื่อครั้นวัยเด็ก ประมวลผลถ่ายทอดออกมากลายเป็นภาพยนตร์ Masterpiece เรื่องนี้
ส่วนของหนังที่อ้างอิงจากชีวประวัติของผู้กำกับ Yang ตรงๆเลย คือเรื่องของพ่อ ครั้งหนึ่งถูกตำรวจลับจับกุม เจ้าตัวยืนยันกรานว่าไม่เคยกระทำการคอรัปชั่นใดๆ ได้รับการปล่อยตัวเพราะไร้หลักฐาน แต่นั่นทำให้เขาสูญเสียชื่อเสียง หน้าตา จุดยืนในสังคมไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งในความเป็นจริงหลังจากพ่อได้รับการปล่อยตัวครั้งนั้น เขาหนีออกนอกประเทศไม่หวนกลับมาหาครอบครัวอีกเลย (Yang ได้ปรับเปลี่ยนตรงนี้ ด้วยการสอดแทรกความต้องการของตนเอง อยากให้พ่อยอมรับความผิดพลาดแล้วก้าวเดินต่อไป ไม่ใช่ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง)
Yang สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในช่วงเวลาที่ อนาคตของไต้หวันยังมีความคลุมเครือ เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลังจากอเมริกาและสหประชาชาติ เลิกสนับสนุนหันหลังให้สาธารณรัฐจีน หันไปเข้าข้างสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) ตั้งแต่ปี 1971, ตามด้วยนายพล เจียงไคเช็ก ถึงแก่อสัญกรรมปี 1975, ความขัดแย้งภายในเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั้งการมาถึงของ ปธน. คนใหม่ของไต้หวัน Lee Tenghui ขึ้นบริหารประเทศเมื่อปี 1988 ตัวเขาเป็นผู้เคลื่อนไหวสนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน แต่การเมืองของประเทศกลับแตกแยกออกเป็น 3 ฝ่ายคือ
1) สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง ที่ต้องการกลับไปรวมประเทศกับจีนแผ่นดินใหญ่ (รวมจีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐจีน)
2) พวกที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระไม่เกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่
3) พวกที่ต้องการดำรงฐานะของประเทศไว้ดังเดิมต่อไป
ปัญหานี้ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ปี 2018 ก็ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ สถานะของไต้หวัน ยังคงไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศจากสหประชาชาติ แต่ถูกมองเป็น ‘รัฐ’ ที่มีอำนาจบริหารปกครองตนเอง ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมได้แต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง เพราะประเทศใดก็ตามที่สนับสนุนก็จะถูกตัดขาดสัมพันธ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทันที (ก็พี่เล่นแบบนี้ใครจะไปกล้าหือ)
แนวโน้มอีก 50 ปี หลังจากที่ Hong Kong กลับคืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเต็มตัวแล้ว ไต้หวันก็คงยังไม่มีวันได้สถานะกลายเป็นประเทศอย่างแน่นอน ชาวต่างชาติอย่างเราๆคงได้แค่เป็นกำลังใจให้ ก็ไม่รู้กรรมอะไรของพวกเขากัน มีประชากร ดินแดน อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล ครบองค์ประกอบของ ‘รัฐ’ แต่กลับมิได้ยอมรับให้เป็นประเทศมีเอกราชของตนเอง
ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงคือข้อสรุป -ในแนวคิดของผู้กำกับ Yang- ต่อเหตุการณ์ คดีฆาตกรรมเยาวชนบนถนน Guling (The Youth Killing Incident on Guling Street) คุณอาจพยายามมองหาเหตุผลคำตอบ แรงจูงใจ ‘หนึ่งเดียว’ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรม แต่นั่นมันไม่ใช่สิ่งถูกต้องเลยสักนิด เพราะ ‘ทุกสิ่งอย่าง’ คืออิทธิพลผลักดันให้เด็กชายหนุ่มแสดงพฤติกรรมอันบ้าคลั่งนี้ออกมา
รับชมครั้งก่อนแค่ชื่นชอบ มาครานี้บอกเลยว่าหลงใหลคลั่งไคล้อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะไดเรคชั่นของผู้กำกับ Edward Yang เต็มไปด้วยความลึกล้ำเฉลียวฉลาด สิ่งของสัญลักษณ์ที่มักจะ Recurring หวนกลับมามีบทบาทสำคัญอยู่เรื่อยๆ สะท้อนถึง ‘วัฏจักร’ ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบ
จริงๆก็เกือบถึงระดับเรื่องโปรดแล้วนะ แค่ว่ามันเยอะและยาวเกินไป จนผมเก็บรายละเอียดได้ไม่ครบหมด เลยยังมีบางสิ่งอย่างคับข้องคาใจอยู่ ไว้ถ้ามีโอกาสหวนกลับมารับชมอีกสักสองสามครั้ง เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งก็มีแนวโน้มแปรสภาพเป็นหนังโปรดเรื่องถัดไปก็ยังได้
ความยืดยาวของหนัง ถือเป็นความท้าทายในการรับชมที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมพอสมควร จัดความยากระดับ Professional สำหรับผู้ชมสมัยนี้ที่มีสมาธิค่อนข้างต่ำ แนะนำให้ซื้อขนมป๊อปคอร์นมานั่งกินแก้ง่วงไปนะครับ ผมซัดหมดโตโร่ไปสี่ซอง –
แต่ถ้าสามารถอดทนผ่านครึ่งทางสองชั่วโมงแรกไปได้ เชื่อว่าน่าจะแนวโน้มรับชมต่อเนื่องจนจบไม่ยาก เพราะคงสามารถปรับตัว เริ่มคุ้นเคยแนวทางไดเรคชั่นของหนัง ความหวือหวาของเรื่องราวก็จะเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ชักชวนให้เกิดความใคร่สนใจตามติด จะมีอะไรบ้าๆเกิดขึ้นอีก จนกระทั่งสุดท้าย…
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แนะนำกับวัยรุ่น ที่ฮอร์โมนกำลังพลุกพร่าน ถึงพวกผู้ใหญ่จะไม่เข้าใจเรา แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะกลายเป็นศาสนา ลัทธิ อธิบายทุกสิ่งอย่างให้กับพวกเขา
สำหรับผู้ใหญ่ ผมคงต้องท้าให้ครุ่นคิดหาคำตอบให้พบ อะไรคือเห็นผลของการเกิดโศกนาฎกรรมครั้งนี้? รับชมจนจบถ้าตอบไม่ได้ก็ขอให้รู้ตัวเอง ผู้ใหญ่อย่างคุณนะแหละคือตัวการสำคัญ!
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคอหนัง Drama สะท้อนปัญหาวัยรุ่น ครอบครัว, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ทำงานสถานรับเลี้ยง ค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น, ตำรวจ นักสืบ ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก/วัยรุ่น, ครู-อาจารย์ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง, ผู้หลงใหลทศวรรษ 60s และแฟนๆผู้กำกับ Edward Yang ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับการใช้กำลัง ความรุนแรง และโศกนาฎกรรม
TAGLINE | “A Brighter Summer Day คือจักรวาลชีวิตของผู้กำกับ Edward Yang”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
A Brighter Summer Day (1991)
(21/2/2016) กับหนังความยาวเกือบ 4 ชั่วโมงเรื่องนี้ Edward Yang สามารถทำให้คุณไม่รู้สึกเบื่อเลย กับเรื่องราวที่ทำให้คุณหวนระลึกถึงช่วงเวลาวัยเด็ก รักครั้งแรก เพลงเพราะๆ หนังเก่าๆ ถึงคุณจะไม่ได้เกิดที่ Taiwan แต่ก็สามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้นได้ และตอนจบ… ที่ทำเอาคุณคาดไม่ถึง
หลังๆมานี่ ถ้าไม่เพราะได้ดูหนัง bollywood ที่มีความยาวเกิน 3 ชั่วโมงมาหลายเรื่อง ก็ไม่คิดว่าผมจะกล้าดูหนังเรื่องนี้ เพราะแค่เพียงเห็นระยะเวลาหนังเกือบ 4 ชั่วโมงก็ท้อมากๆ การที่เราจะเสียเวลาเกือบครึ่งวันเพื่อดูหนังเรื่องเดียวมันไม่คุ้มเลย เอาเวลาไปดูหนังได้ตั้งหลายเรื่อง แต่เมื่อได้ดูจนจบ ก็ดีใจที่ได้ดูนะครับ นี่เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมากๆเรื่องหนึ่ง กระนั้นผมก็ยังคิดว่าหนังยาวเกินไป ถ้าตัดหลายๆประเด็นทิ้งไป หนังคงจะกระชับและดึงดูดให้คนดูมากกว่านี้ เชื่อว่าต้องมีเยอะแน่ๆคนที่เห็นความยาวของหนังแล้วเบือหน้าหนี ผมละก็คนหนึ่ง
Edward Yang น่าเสียดายจริงๆ เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อ 2007 รวมอายุได้ 59 ปี เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับ New Wave ของ Taiwan ทั้งชีวิตกำกับหนังทั้งหมด 7 เรื่อง A Brighter Summer Day คือเรื่องที่ 4 นี่เป็นหนังที่เหมือนเล่าเรื่องราว ความประทับใจ เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตอนที่เขาเป็นเด็ก สังคมของ Taiwan ตอนนั้นที่ดูสับสนวุ่นวาย การเมืองที่สั่นคลอนไม่แน่นอน อิทธิพลของชาติตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทต่อวัยรุ่น เหตุการณ์เล็กน้อยสามารถชักนำคนให้เข้าสู่ด้านมืดได้ ไม่ใช่แค่เด็กวัยรุ่น แต่รวมถึงผู้ใหญ่ที่ถูกชี้นำผิดๆ ทำให้กลายเป็นคอรัปชั่น ไม่รู้เหมือนกันว่า Edward Yang สามารถเอาตัวรอดจากสังคมยุคนั้นมาได้อย่างไร นี่เป็นสไตล์ของ Yang ในการนำเสนอเรื่องราวรอบตัวจากประสบการณ์ในช่วงชีวิตหนึ่งของเขา ถ้าเขาอายุยืนกว่านี้คงจะก้าวไปสู่การเป็นผู้กำกับแนวหน้าของเอเชียได้อย่างแน่
มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ Yang ทำหนังเรื่องนี้ คือ “การฆาตกรรมหญิงสาวของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง” มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนจบ ชื่อหนังภาษาจีนจะแปลได้ว่า “The Murder Incident of the Boy on Guling Street” นี่ถือว่าเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง เพราะผมไม่ได้ศึกษาอะไรเกี่ยวกับหนังก่อนดู ทำให้พอเห็นฉากนี้ถึงกับพูดไม่ออกเลย เรื่องราวยาวๆที่เล่ามาทั้งเรื่อง ก็เพื่อเหตุการณ์นี้ ความอึดอัด สับสน วุ่นวายในจิตใจของเด็กชายคนนี้ ทำให้เขาตัดสินใจทำอะไรแบบนั้น ถ้าให้ผมสรุปใจความหลักของหนัง คงประมาณว่า “นี่เป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งในยุคแห่งความสับสนวุ่นวายของ Taiwan ที่ทำให้เขาตัดสินใจทำบางอย่างกับความรักครั้งแรก”
ถ่ายภาพโดย Huigong Li และ Longyu Zhang หนังมีฉากกลางคืนเยอะกว่าฉากกลางวัน เรื่องราวส่วนใหญก็อยู่ตอนกลางคืน มีเด่นๆหลายฉากเลย ผมชอบฉากสู้กันในความมืด ถึงจะมองไม่ค่อยเห็นก็เถอะ แต่หนังใช้ไฟฉายส่ายไปส่ายมา แค่นั้นมันก็เพียงพอแล้วที่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น หนังไม่เน้น close-up หน้าตัวละครเท่าไหร่ (ยกเว้นฉากอารมณ์) เน้นเล่าเรื่องด้วยภาพ บางครั้งไปเฉลยตอนหลังว่าภาพที่เห็นคืออะไร บางครั้งก็ไม่เฉลย ปล่อยให้เราตั้งคำถามว่ามันคืออะไร
ตัดต่อโดย Bo-Wen Chen ถึงหนังยาว ผมก็ยอมรับว่าตัดต่อได้เยี่ยมครับ ดูไม่เบื่อ แต่กระนั้นมันก็ยังยาวไป มีหลายประเด็นในหนังที่ผมคิดว่าตัดออกได้ แต่เมื่อมันอยู่ในหนังก็ถือว่ามันเป็นส่วนเติมเต็มไปแล้วกัน
ว่าไปหนังเรื่องนี้ไม่มีเพลงประกอบนะครับ เป็นหนังที่ realistic มากๆ เพลงในหนังมักเป็นเพลงที่เปิดจากเทป หรือตัวละครกำลังร้องเพลงอยู่
คำว่า A Brighter Summer Day คำนี้ดูดีๆมันผิดหลักไวยากรณ์นะครับ ในหนังก็พูดอยู่ ประโยคนี้มันเป็นการได้ยินเพี้ยนๆจากเพลง Are You Lonesome Tonight? ของ Elvis Presley ในเพลงร้องว่า a brighter sunny day เพี้ยนไปไกลเลยนะครับ
ระหว่างดูหนังผมคิดตามนะครับ ชื่อหนังกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ความหมายของชื่อมันดูประชดประชันอย่างมาก ไม่มีฉากไหนเลยที่แสดงว่าเป็น Brighter Summer ถ้าบอกว่าเพราะรักครั้งแรกเลยทำให้ Summer มัน Brighter ผมไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย นักเลงตีกันเพื่อแสดงอำนาจ แย่งหญิง เด็กเอาไม้เบสบอลตีหัวอาจารย์เพราะทำอะไรให้ไม่พอใจ เหตุการณ์พวกนี้มันไม่มีทาง Brighter แน่ๆ และยิ่งตอนจบ ชื่อหนังคงประมาณว่า นี่แหละอนาคตของชาติ
การได้ดูหนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกโชคดีมากๆ ที่ไม่ได้ไปเกิดที่ Taiwan ในยุคนั้น บรรยากาศมันช่างอึดอัด ตึงเครียด การถ่ายภาพที่เน้นโทนเข้มๆมันทำให้ความรู้สึกเหมือนเราจับต้องเหตุการณ์พวกนั้นได้ มีเรื่องราวบ้าๆบอๆเกิดขึ้นมากมาย ผมเปรียบเทียบเรื่องราว gangster ของกลุ่มเด็กวัยรุ่นนี้ มีความยอดเยี่ยมใกล้เคียงกับเจ้าพ่อมาเฟียใน The Godfather เลย มีหักเหลี่ยม เฉือนมุม แก้แค้น หักหลัง แต่เหตุผลของการเป็นเจ้าพ่อนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง คงด้วยวัยวุฒิและสาเหตุจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน นี่เป็นเรื่องราวช่วงเวลาหนึ่งของวัยรุ่น ที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง และเมื่อเจอกับสิ่งรอบข้างที่ไม่มีความแน่นอน มันจึงเกิดเรื่องราวต่างๆขึ้น
ถ้าคุณสามารถมองข้ามเรื่องความยาวของหนังเรื่องนี้ และเริ่มดูมัน ผ่านครึ่งชั่วโมงแรกไปแล้วเชื่อว่าจะหยุดดูไม่ได้แน่ อยากรู้ว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร จะมีจุดจบอะไร และที่เล่ามาทั้งหมดมันคืออะไร คำตอบคือเพื่อเรื่องราวในตอนจบทั้งนั้นครับ บางทีเพราะความที่หนังยาวๆ อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการให้คนดูอึดอัดจนถึงขีดสุดก็เป็นได้ และเมื่อถึงจุดนั้นทั้งตัวละครและคนดูก็จะระเบิดออกมา
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ให้กับคนที่ชอบดูหนังดีๆ ผู้กำกับ Edward Yang นี่การันตีด้วย Best Director จาก Cannes เลยนะครับ ว่ากันว่านี่คือผลงานที่ดีที่สุดของเขา ได้ Best Film รางวัลใหญ่จาก Golden Horse Film Festival และ Asia Pacific Film Festival หลายสำนักบอกว่านี่คือหนังที่ดีที่สุดของ Taiwan จริงไหมลองไปพิสูจน์เองนะครับ จัดเรต 15+ สำหรับความรุนแรงที่เห็นแบบจริงจัง และเนื้อเรื่องที่อาจชักนำเด็กวัยรุ่นไปในทางที่ผิดได้
คำโปรย : “A Brighter Summer Day กำกับโดย Edward Yang คุณจะรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศและเรื่องราวของหนัง ด้วยความยาวเกือบ 4 ชั่วโมง คุณและตัวละครพร้อมที่จะระเบิดออกมา และนั่นคือตอนจบที่ถือว่าเป็นสุดยอดหนังของจีนและ taiwan”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LIKE
Leave a Reply