A Canterbury Tale (1944) : Michael Powell & Emeric Pressburger ♥♥♥♥♡
ตำนานแคนเตอร์บรี (The Canterbury Tales) เล่าถึงนักแสวงบุญเดินทางจาก London มุ่งสู่ Canterbury Cathedral แต่เปลี่ยนพื้นหลังจากยุคกลาง (Middle Ages) มาเป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจ่าทหารอเมริกัน, จ่าทหารอังกฤษ และหญิงสาวคนหนึ่ง จับพลัดพลูพบเจอกันระหว่างทางที่เมืองสมมติ Chillingbourne, Kent ร่วมกันไขปริศนาบางอย่าง และร่วมเดินทางมุ่งสู่ Canterbury เพื่อเติมเต็มหน้าที่/ความใฝ่ฝันของตนเอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
หลังจากมีโอกาสรับชม The Canterbury Tales (1972) ของผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยน Pier Paolo Pasolini ทำให้ผมมีโอกาสรู้จักหนังเรื่องนี้ (เพราะชื่อเดียวกัน) ใคร่สนใจอย่างมากเพราะผู้สร้างคือ The Archers คาดหวังคงได้พบเห็นพื้นหลังยุคกลาง โปรดักชั่นจัดเต็มอลังการ เสื้อผ้าหน้าผมย้อนยุค แต่ที่ไหนได้…
ถึงกระนั้นผมก็ไม่ผิดหวังกับหนังเลยนะ ตกหลุมรักคลั่งไคล้ครึ่งชั่วโมงสุดท้าย เมื่อสามนักบุญยุคปัจจุบัน(นั้น)เดินทางถึง Canterbury ขนลุกขนพองกับไดเรคชั่น งานภาพ และบทเพลงประกอบ แอบผิดหวังเล็กๆที่ไม่ใช่ภาพสี แต่เพราะถ่ายทำช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองด้วย ได้เท่านี้ถือว่างดงาม ทรงคุณค่ามากๆ
ก่อนอื่นขอเล่าถึงถึง ตำนานแคนเตอร์บรี (The Canterbury Tales) มหาวรรณกรรมของประเทศอังกฤษ ประพันธ์โดย Geoffrey Chaucer (1343 – 1400) นักเขียนผู้ได้รับฉายาว่า ‘Father of English Literature’ ประมาณการปีที่เขียน 1387 – 1400 (เหมือนว่าจะยังไม่เสร็จสิ้นดี ก็พลันด่วนเสียชีวิตจากไปก่อน) มีลักษณะเป็นเรื่องย่อยที่รวมกันเป็นหนังสือ (สองเล่มเป็นร้อยแก้ว อีกยี่สิบสองเล่มเป็นร้อยกรอง) เล่าถึงนักแสวงบุญผู้เดินทางจาก London มุ่งสู่ Canterbury Cathedral เพื่อเคารพพระศพของ Saint Thomas Becket ระหว่างทางที่ Tabard Inn, Southwark เจ้าของโรงเตี๊้ยม Harry Bailey ชักชวนให้นักเดินทางทั้งหลายเล่าเรื่องราวของตนเอง ผู้ชนะน่าสนใจสุดจะได้รับมื้ออาหารฟรีเมื่อตอนขากลับ
สังเกตว่า: ชื่อหนังขึ้นต้น -A- แต่ตำนาน Canterbury ใช้ -The- นี่ก็แปลว่า เรื่องราวมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งก็แค่รับอิทธิพลแนวคิดโครงสร้างมา ไม่ได้อ้างอิงจากเรื่องเล่าใดๆ
Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา เรียนจบที่ Dulwich College ทำงานเป็นนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ตัวว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี 1925 เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926) ของผู้กำกับ Rex Ingram ต้วมเตี้ยมเป็นตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928) และ Blackmail (1929) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)
Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวะที่ Universities of Prague and Stuttgart ไม่ทันจบต้องออกมาเพราะพ่อเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German จากนั้นกลายเป็นนักเขียน อพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ แอบขึ้นเกาะอังกฤษปี 1935 โดยไม่มี Passport ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric เมื่อตัดสินใจปักหลักอยู่ London
Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger เป็นผู้พัฒนาบทภาพยนตร์, ด้วยความที่ทั้งสองมีนิสัยพื้นฐานตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิทเพราะทัศนคติ แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ถึงขนาดมองตาก็รับรู้อีกฝ่ายครุ่นคิดอะไร ปี 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers มีผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางตัวใครตัวมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์
เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งเขียนบทและกำกับ
ผลงานช่วงแรกๆระหว่าง Powell & Pressburger เนื่องจากคาบเกี่ยวอยู่กับยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมักมีใจความรักชาตินิยม ภาคภูมิในผืนแผ่นดิน สำนึกรักบ้านเกิด จริงๆก็คือแนวชวนเชื่อนะแหละ แต่จะไม่โดดเด่นชัดเจนแบบพวก Triumph of the Will (1935) หรือ Why We Fight (1942-45)
สำหรับ A Canterbury Tale ความตั้งใจของ Powell & Pressburger เริ่มต้นด้วยแนวคิด ‘อดีตที่ยังคงหลอกหลอนถึงปัจจุบัน’ (the past always haunts the present) ประวัติศาสตร์มักเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมแต่ในรูปแบบวิธีการเปลี่ยนแปลงไป และด้วยความตั้งใจเล็กๆของ Powell ต้องการบันทึกภาพชนบทบ้านเกิดของตนเอง ที่เมือง Kent นำเสนอวิถีชีวิตของผู้คน ผลกระทบในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
แม้ในเครดิตจะถือร่วมกัน แต่ Pressburger คือผู้พัฒนาบทภาพยนตร์ นำแรงบันดาลใจจากตำนานแคนเตอร์บรี ที่ถึงจะเป็นเรื่องแต่ง แต่คือเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงในอดีต ผู้คนยังจดจำเล่าขาน ใครมาถึงเมือง Canterbury แล้วไม่ได้เข้าเยี่ยมชม Canterbury Cathedral ถือว่ามาไม่ถึง! แม้กาลเวลาอาจทำให้ผู้คนหลงลืมเลือนประวัติศาสตร์ แต่นั่นคือข้อเท็จจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไป การได้รับเรียนรู้จักทำให้บุคคลผู้นั้นเกิดจิตสำนึก ความรู้สึกภาคภูมิใจ รักถิ่นฐานบ้านเกิด ทุกก้าวย่างเหยียบย้อนรอยบรรพบุรุษ เมื่อหลายสิบร้อยพันปีก่อนเคยมีผู้คนมากมายฝากรอยเท้าไว้ แค่ครุ่นคิดก็ชวนขนหัวลุกขนพองเสียแล้ว
เรื่องราวเกิดขึ้นค่ำคืนวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1943 เมื่อสามบุคคลเดินทางมาถึงสถานีรถไฟ Chillingbourne, Kent ประกอบด้วย
– จ่าทหารอเมริกัน Bob Johnson (รับบทโดย Sergeant John Sweet, คือทหารอเมริกันจริงๆที่มาเข้าร่วมสงครามขณะนั้น) ตั้งใจไปลง Canterbury แต่กลับเกิดความสับสนจนลงผิดสถานี
– จ่าทหารอังกฤษ Peter Gibbs (รับบทโดย Dennis Price) ลงสถานีนี้เพื่อเดินทางต่อไปยังแคมป์ทหารบริเวณใกล้เคียง
– หญิงสาว ‘Land Girl’ ชื่อ Miss Alison Smith (รับบทโดย Sheila Sim) ได้รับการส่งตัวมาทำงานเกษตรกรรม เพื่อเป็นลูกจ้างของ Thomas Colpeper (รับบทโดย Eric Portman)
ค่ำคืนนั้นทั้งสามได้พบเจอกับเหตุการณ์พิลึกพิลั่น เมื่อหญิงสาว Alison Smith ถูกจู่โจมตีโดยมนุษย์กาว (Glue Man) ทำให้ทรงผมของเธอเหนียวหนึบหนับ ล้างออกอย่างลำบากยากเข็น เกิดความขุ่นเคืองแค้นใจ ต้องการติดตามค้นหาตัวการให้พบเจอ โน้มน้าวชักจูงจ่าทหารทั้งสองให้ร่วมกันช่วยเหลือสืบเสาะ หลังจากพบเจอก็พร้อมกันออกเดินทางต่อไปยัง Canterbury
Sergeant John Sweet (1916 – 2001) เกิดที่ Minneapolis, Minnesota ขณะนั้นยศจ่าทหาร ประจำการอยู่ประเทศอังกฤษช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับการคัดเลือกโดย Powell & Pressburger แทนที่ Burgess Meredith เมื่อกลับอเมริการับงานแสดงละครเวทีอยู่สักพักหนึ่ง ก่อนตัดสินใจหวนกลับหาอาชีพเก่า ครูสอนหนังสือ
รับบท Sergeant Bob Johnson มาจาก Three Sisters Falls, Oregon ขณะนั้นกำลังเดินทางสู่ Canterbury เพื่อพบเจอเพื่อนและเติมเต็มสัญญาของแม่ที่อยากให้เขาเห็น Canterbury Cathedral แต่ดันลงผิดสถานีที่ Chillingbourne จับพลัดจับพลู ยอมรับคำขอของ Alison Smith ร่วมสืบเสาะค้นหาตัวมนุษย์กาว ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับผู้คนมากมาย จนมีโลกทัศน์หลายๆอย่างเปลี่ยนแปลงไป
ผมชื่นชอบสำเนียง ลีลาการพูด และความไม่หยี่ร่าของตัวละครอย่างมาก เพราะสะท้อน ‘อเมริกันชน’ ออกมาอย่างตรงไปตรงมา ตื่นเช้าฉันอยากดื่มกาแฟแต่กลับเสิร์ฟชา ขอเปลี่ยนก็ไม่เคยได้ แล้วนี่ต้องทำอย่างไรถึงจะได้สมหวัง! (เหมือนทั้งเรื่อง พี่แกจะไม่ได้ดื่มกาแฟสักอึก)
เมื่อปี 2000 ทางโบสถ์ Canterbury Cathedral ได้จัดงานระดมทุนพร้อมฉายหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็เชิญ Sweet มาร่วมงาน ให้สัมภาษณ์ความยาว 20 นาทีในสารคดี A Pilgrim’s Return (2001) เล่าถึงการทำงาน ความสัมพันธ์ สิ่งประทับใจ
“The few months I spent making the film were the most profound and influential of my life”.
เกร็ด: Sweet ได้ค่าตัว $2,000 เหรียญ บริจาคทั้งหมดให้กับ National Association for the Advancement of Colored People
Dennis Price ชื่อเกิด Dennistoun Franklyn John Rose-Price (1915 – 1973) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Twyford, Berkshire, โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Embassy Theatre School of Acting เริ่มจากมีผลงานละครเวที ช่วงสงครามโลกสมัครเป็นทหารอยู่สองปี ปลดประจำการออกมาหวนกลับทำงานเดิม เข้าตา Powell & Pressburger ชักนำพาให้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก A Canterbury Tale (1944), ผลงานเด่นๆ อาทิ Kind Hearts and Coronets (1949), I’ll Never Forget You (1951), Call Me Genius (1961), Ten Little Indians (1965) ฯ
รับบท Peter Gibbs ก่อนสมัครทหาร เป็นนัก Organist ประจำโรงละคร/ภาพยนตร์ มีความเพ้อใฝ่ฝันอยากเล่นออร์แกนในโบสถ์/วิหารใหญ่ๆสักครั้ง ได้รับการส่งตัวมาประจำการยัง Chillingbourne เพื่อซักซ้อมเตรียมตัวก่อนออกรบ ร่วมกับ Bob Johnson และ Alison Smith สืบสวนค้นหามนุษย์กาวจนพบ ตั้งใจแน่วแน่เข้าแจ้งความต่อตำรวจที่ Canterbury แต่แล้วจับพลัดจับพลูได้เล่น Organ ในโบสถ์หลังใหญ่ สงสัยจะลืมสนิทเลยว่าตั้งใจมาทำอะไร?
ถึงเป็นตัวละครบทบาทไม่เยอะเท่าไหร่ แต่มีความสุดโต่งทางความคิด ไม่ค่อยอยากประณีประณอม แต่ก็มีความเพ้อฝันอย่างชัดเจน และเมื่อต้องเลือกระหว่างตนเองกับความถูกต้อง ใครกันจะเลือกแบบหลัง
Sheila Sim (1922 – 2016) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Liverpool, Lancashire, โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที หลังจากแจ้งเกิดกับ A Canterbury Tale (1944) ได้พบเจอว่าที่สามี Richard Attenborough แสดงร่วมกันเรื่อง The Guinea Pig (1948) พอแต่งงานก็ออกจากวงการไปทำงานการกุศล ไม่หวนกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกเลย
รับบท Alison Smith อดีตพนักงานขายห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ด้วยความเบื่อหน่ายในเมืองหลวง ตัดสินใจเข้าร่วม Women’s Land Army อาสาทำงานเกษตรกรรมใช้แรงงานแทนผู้ชายที่ไปเข้าร่วมรบสงคราม ได้รับการส่งตัวมาประจำฟาร์มของ Thomas Colpeper ที่ Chillingbourne แต่เขากลับไม่ยินยอมรับในตัวเธอ (เพราะต้องการผู้ชายมากกว่า)
อดีตก่อนหน้านี้ Alison Smith เคยเข้าร่วมคณะคาราวานของแฟนหนุ่มนักโบราณคดี และได้ตั้งแคมป์อยู่ใกล้ๆ Chillingbourne แต่เหมือนเขาจะสูญเสียชีวิตจากการสงคราม เธอเลยใคร่ปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ยังดินแดนแห่งความเพ้อฝันนี้ แต่แค่ค่ำคืนแรกก็โดนดีจากมนุษย์กาว ร้องขอความช่วยเหลือจากสองจ่าทหารหนุ่มให้ช่วยสืบเสาะติดตามหาตัวการ
ภาพลักษณ์ของ Sim คือสาวชาวเมือง ไม่ต่างจากตัวละครที่ใครๆพบเห็นย่อมไม่คิดว่าจะสามารถทนความเหน็ดเหนื่อยยากลำบากในชีวิตชนบท ทำงานเกษตรกรรมได้แน่ แต่ด้วยความมุ่งตั้งมั่น ไม่ย่อท้อแท้ ลึกๆคงเบื่อหน่ายต่อสังคมเมือง ตื่นเช้ามามองไม่เห็นอะไรนอกจากตึกรามบ้านช่อง ต้องการเติมเต็มความฝันใฝ่ของตนเอง(และคู่หมั้น) ขอมาปักหลักอาศัยอยู่ Chillingbourne ไม่ห่างจาก Canterbury มากนัก สามารถพบเห็น Canterbury Cathedral ลิบๆในสายตา
Eric Harold Portman (1901 – 1969) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Halifax, West Riding of Yorkshire โตขึ้นทำงานเป็นเซลล์ขายชุดชั้นในชายที่ Marshall & Snelgrove ระหว่างนั้นรับงานแสดงสมัครเล่นที่ Halifax Light Opera Society ขึ้นเวทีครั้งแรกปี 1924 ร่วมกับ Henry Baynton, สู่วงการภาพยนตร์เรื่อง The Girl from Maxim’s (1933), ผลงานเด่นๆ อาทิ 49th Parallel (1941), A Canterbury Tale (1944), The Whisperers (1967) ฯ
รับบท Thomas Colpeper เจ้าของกิจการฟาร์ม และผู้พิพากษาประจำ Chillingbourne อาศัยเป็นโสดอยู่กับแม่ งานอดิเรกปืนเขา มีความลุ่มหลงใหลในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต้องการนำเสนอเผยแพร่ความรู้สู่ทุกๆคน แต่ในช่วงก่อนหน้าสงครามไม่เคยมีใครใคร่สนใจ แต่ตอนนี้ทหารหาญมากมายเดินเท้าผ่านไป จัดอบรมเพื่อแนะนำสถานที่ ล่วงรับรู้แล้วจะได้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาวอังกฤษ
คงเพราะความที่ Thomas Colpeper เป็นคนเคร่งครัดยึดถือมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมปฏิบัติ หมกมุ่นอยู่กับประวัติศาสตร์มากเกิน นั่นทำให้ไม่มีสาวไหนให้ความสนใจครองคู่อยู่กิน กระทั่งได้มีโอกาสพบเจอ Alison Smith ที่ได้ทำให้ตกหลุมประทับใจ ลึกๆแอบคาดหวังให้เธอหันมองดูเขาบ้าง โผล่ปรากฎตัวยัง Canterbury ต้องการเป็นบ่าซบน้ำตาหลั่งไหลริน แต่เมื่อได้ยินว่าคู่หมั่นยังมีชีวิตอยู่ ร่ำลาจากไปไม่บอกกล่าว น่าเสียหายมิอาจครองคู่อยู่ร่วม
ด้วยภาพลักษณ์เปี่ยมด้วยวิทยฐานะ ทรงภูมิ คล้ายชนชั้นสูง ไม่แปลกสำหรับบทบาทตัวละครมีตำแหน่ง ลาภยศ ได้รับการเคารพนับถือในชุมชน/สังคม ธำรงไว้ซึ่งกฎระเบียบ สามัญสำนึกอย่างถูกต้องเหมาะสมและเคร่งครัด
สำหรับตัวประกอบสมทบทั้งหลาย ล้วนคัดเลือกจากคนในท้องถิ่น Fordwich, Chilham และ Canterbury เมือง Kent, ทางตะวันออกของประเทศอังกฤษ ภายหลังการถูกโจมตีทางอากาศ Baedeker Blitz เมื่อเดือนมีนาคม 1942
ถ่ายภาพโดย Erwin Hillier (1911 – 2005) ตากล้องสัญชาติเยอรมันเชื้อสาย Jews อพยพมาทำงานยังประเทศอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silver Fleet (1943), A Canterbury Tale (1944), Sammy Going South (1963) ฯ
ทีแรกผู้กำกับ Powell ต้องการถ่ายทำหนังด้วยฟีล์มสี แต่ติดที่ช่วงสงครามหาได้ยากมีปริมาณจำกัด เลยจำต้องหวนกลับมาใช้ฟีล์มขาว-ดำ เกิดความประทับใจ Hillier จากผลงาน The Silver Fleet (1943) สร้างส่วนผสมระหว่าง British Realism กับ German Expressionist จัดจ้านเรื่องการใช้แสง-ความมืดมิด และก้อนเมฆมีความงดงามเป็นพิเศษ
แรกเริ่มมาก็ชวนให้หลงนึกว่า บรรดานักแสวงบุญกลุ่มนี้จะเดินทางถึงโรงเตี๊ยมแล้วมีเรื่องเล่าตำนานแคนเตอร์บรี แต่ที่ไหนได้! หลังจากปลดปล่อยนกอินทรีให้ทะยานโบยบินสู่ฟากฟ้า อยู่ดีๆ Time Skip กระโดดข้ามจากยุคกลาง (ศตวรรษที่ 14) มาถึงปัจจุบันปี ค.ศ. 1943 พบเห็นเครื่องบินรบแล่นอยู่บนฟากฟ้า, ฉากนี้เหมือนจะไม่มีอะไรเท่าไหร่ แต่เมื่อการมาถึงของ 2001: A Space Odyssey (1968) ฉากที่เจ้าวานรตัวแรก หยิบโครงกระดูกโยนขึ้นบนฟากฟ้าแล้ว Time Skip เป็นล้านๆปีมาปัจจุบัน มีคนให้ข้อสังเกตเหมือนจะได้แรงบันดาลใจจากฉากนี้ เท่านั้นแหละทำให้หนังหวนกลับมาได้รับความสนใจขึ้นทันที!
ผมค่อนข้างทึ่งกับการจัดแสง-ความมืดมิด ของหนังเป็นอย่างมาก เริ่มต้นมามองอะไรแทบไม่เห็น จดจำได้แต่เสียงของตัวละคร นี่ไม่เพียงสะท้อนลักษณะของ German Expressionist แต่คือความจำเป็น สมจริง British Realism ในช่วงขณะนั้น เพราะความหวาดกลัวการถูกโจมตีทางอากาศยามค่ำคืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนต้องปิดไฟไม่ให้มีแสงสว่างลอดเล็ด (นักบินของศัตรูจะได้มองไม่เห็นว่ามีหมู่บ้าน/ชุมชนอยู่เบื้องล่าง)
เป็นไดเรคชั่นที่ชวนให้ฉงนสงสัยทีเดียว กับการปรากฎตัวครั้งแรกของ Thomas Colpeper เริ่มจากมุมเงยถ่ายใต้แท่นไม้ แสดงถึงความสูงศักดิ์ ยศฐา เป็นถึงผู้พิพากษาประจำ Chillingbourne แต่ต่อมากล้องยกขึ้นสูงถ่ายมุมก้มลงมา นี่อาจสะท้อนตัวตนแท้จริงของบุคคลผู้นี้ เกษตรกรคนธรรมดา และยังเป็น … กระทำตัวต่ำทราม พฤติกรรมอยู่นอกกฎหมาย
ฉากนี้สร้างขึ้นในสตูดิโออย่างแน่นอน ออกแบบเตียงได้อย่างประณีตละเอียดอ่อน (นี่น่าจะเป็นเตียงสมัยยุคกลางโน่นเลยนะ) แสงสว่างยามเช้าเมื่อเปิดผ้าม่านออก สาดส่องเห็นลำแสงงดงามมากๆ และที่ประเทศอังกฤษ มื้อเช้าเค้าไม่เสิร์ฟกาแฟกันนะครับ
ช็อตแบบนี้ที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่นำเสนอวิถีชีวิตชาวชนบท ได้กลิ่นไอดิน โคลนเลน ฟางแห้ง ฯ กลายเป็นภาพหาดูได้ยากในปัจจุบัน
การบรรยายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของ Thomas Colpeper ในห้องมืดที่มีเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ส่องแสงสว่างเป็นวงกลมบนฉากพื้นหลัง มีความงดงามประหนึ่งดวงจันทรายามค่ำคืน, ช็อตลักษณะนี้คงเพื่อให้ผู้ชม/ตัวละคร จับจ้องมอง โฟกัสอยู่กับสิ่งปรากฎตรงกึ่งกลางภาพ เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมเลือน น้อยคนนักจะให้ความสนใจใคร่ศึกษาเรียนรู้
การละเล่นลอกเลียนแบบสงครามของเด็กๆ ช่างดูเป็นเรื่องสนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้เสียจริง พวกเขาคงอยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยไว จะได้ไปร่วมสู้รบเข้าสู่สนามสงคราม แต่ใครๆย่อมสามารถบ่งบอกได้ มันช่างเป็นเรื่องโง่เขลาเบาปัญญาไร้สาระเสียจริง
ว่าไปถ้ามองในมุมย้อนแย้ง กลับตารปัตร สิ่งที่ผู้ใหญ่กระทำกับสงครามจริงๆอยู่นั้น ไม่ต่างอะไรกับเด็กตัวกระเปี๊ยกพวกนี้ที่ละเล่นเกมอย่างสนุกสนาน เต็มไปด้วยความไร้สาระ โง่เขลาเบาปัญญาเสียจริง!
หนังมีสี่ตัวละครหลัก แต่สามารถแบ่งได้ออกเป็นสองกลุ่ม
– สองจ่าทหาร ผู้มีความเข้าใจอะไรๆในทิศทางใกล้เคียงกัน พวกเขาแค่ผ่านทางมา และกำลังจะเข้าร่วมสู้รบในสงครามชีวิตเป็นตาย
– สองพลเรือน ชาย-หญิง นอนแผ่หลบซ่อนอยู่ในพงหญ้า เฝ้ารอคอยให้พวกเขาพบเจอหรือเดินทางลับหายไป แอบซุ่มรับฟังคำสนทนา แล้วนำไปครุ่นคิดจับใจความของตนเอง
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ทั้งสี่ จับพลัดจับพลูต้องเดินมาถึงเนินเขาแห่งนี้ พบเห็น Canterbury Cathedral ลิบๆในสายตา? ผมว่ามันคืออารมณ์ของการปีนเขา เพ้อใฝ่ฝันต้องการกระทำบางสิ่งอย่างให้สำเร็จสมหวังดั่งใจ ซึ่งทั้งสี่ต่างมี
– Thomas Colpeper อยากให้ใครๆล่วงรับรู้ถึงความสำคัญของประวัติศาตร์
– Bob Johnson ต้องการพบเห็น Canterbury Cathedral เติมเต็มคำสัญญาของแม่
– Peter Gibbs ต้องการเล่นออร์แกนในวิหาร/โบสถ์ขนาดใหญ่สักครั้งหนึ่ง
– Alison Smith เพ้อฝันร่วมกับคู่หมั้นหนุ่ม ต้องการใช้ชีวิตเรียบง่ายยังชนบทห่างไกล
รถไฟคือสัญลักษณ์แทนการเดินทาง ทั้งสี่มากระจุกรวมในตู้โดยสาร พร้อมสนทนาสิบนาทีแห่งการตั้งคำถาม? ถึงตอนนี้ทุกคนล่วงรับรู้กันแล้วว่าใครคือมนุษย์กาว แต่สาเหตุผล เพราะอะไร ทำทำไม นั่นต่างหากคือประเด็น
ในความเข้าใจของผม การกระทำของมนุษย์กาว เพื่อเรียกร้องความสนใจ สร้างความหวาดหวั่นวิตกต่อสาวๆในเมือง Chillingbourne ให้รู้จักรักนวลสงวนตัว ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องแว้งกับนายทหารที่เดินทางผ่านมาปักหลักตั้งค่ายพักแรมอยู่บริเวณใกล้เคียง นั่นเพราะเดี๋ยวไม่นานพวกเขาก็ร่ำลาแยกย้ายจากไป แต่ถ้าพลาดพลั้งเผลออ่อยเหยื่อเสียตัวตั้งครรภ์ ใครไหนจะมาดูแลรับภาระผิดชอบ, นี่ถือเป็นความตั้งใจดีแต่อาจมองว่ารุนแรงไปเสียหน่อย กระนั้นก็ได้สร้างความหลากจำจนไม่มีหญิงสาวไหนยุ่งเกี่ยวข้องแว้งกับนายทหาร ปัญหาวุ่นวายอื่นๆเลยไม่เกิดขึ้นตามมา
มาถึงไฮไลท์ของหนัง การค่อยๆปรากฎขึ้นของ Canterbury Cathedral ทำให้ผมขนลุกขนพองมากๆ ตัวละครกำลังเดินออกจากอุโมงค์หรืออะไรสักอย่าง และบทเพลงประกอบเร่งเร้าทรงพลังขึ้นเรื่อยๆ
เหตุผลที่ Canterbury Cathedral ไม่อนุญาตให้ทีมงานถ่ายทำภายใน เพราะขณะนั้นทางวิหารได้ถอดกระจกออกทั้งหมด (เพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหายรุนแรง ถ้าเมืองถูกทิ้งระเบิดทางอากาศ) ซึ่งทีมงานก็ได้สร้างสรรค์ฉากภายใน คัดลอกเลียนแบบโบสถ์หลังนี้ขึ้นที่สตูดิโอ Denham Studio ด้วยเทคนิค Matte Painting สมจริงมากจนเชื่อว่าหลายคนดูไม่ออกแน่ๆ
กระนั้นมีช็อตหนึ่งที่ทีมงานแอบเข้าไปถ่ายทำยังสถานที่จริง น่าจะคือภาพนี้ หลังจาก Peter Gibbs เดินเข้าไปในวิหาร เงยหน้าขึ้นมองเพดานอันสูงใหญ่โต
สำหรับออร์แกน เนื่องจากทาง Canterbury Cathedral ได้ถูกยกนำออกไปเช่นกัน (เหตุผลเดียวกับกระจก) ด้วยเหตุนี้เลยเลือกสถานที่ถ่ายทำยัง St Albans Cathedral อาสนวิหารนักบุญออลบัน ตั้งอยู่ที่เมือง St Albans, ทางตะวันตกเฉียงเหนือของลอนดอน
เกร็ด: อาสนวิหารนักบุญออลบัน ตั้งตามชื่อของ St Albans นักบุญผู้พลีชีพองค์แรกของอังกฤษ ก่อสร้างเสร็จสิ้นเมื่อ ค.ศ. 1089 ด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบ Norman/Romanesque/Gothic
นี่คือลักษณะ British Realist สภาพจริงๆของเมือง Canterbury หลังจากถูกโจมตีทางอากาศ พบเห็นแล้วค่อนข้างน่าเศร้าสลดเสียเหลือเกิน ไม่รู้เจ้าของปรักหักพังเหล่านี้สูญเสียชีวิตไปด้วยหรือเปล่า กระนั้นข้อดีมุกตลกไม่ขำเท่าไหร่ คือทำให้มองเห็น Canterbury Cathedral ในมุมสวยมากขึ้นกว่าเดิม
สังเกตก้อนเมฆในหนังให้ดีๆนะครับ เห็นว่าผู้กำกับ Powell ให้ความสนใจหมกมุ่นกับมันมากๆ (พอๆกับ John Ford เลยกระมัง!) คือถ้าถ่ายออกมาไม่สวยก็จะรอคอยให้ฟ้าเปลี่ยนเสียก่อน และไม่มีติดก้อนเมฆดำเลยสักครั้งเดียว
ตัดต่อโดย John Seabourne สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่น อาทิ Sweeney Todd (1936), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), A King in New York (1957) ฯ
ดำเนินเรื่องโดยใช้สามมุมมองของ Bob Johnson, Peter Gibbs และ Alison Smith ร้อยเรียงสลับไปมาและพบเห็นอยู่ด้วยกัน ในระยะเวลา 3 วัน (เริ่มต้นค่ำคืนวันศุกร์ จบสิ้นวันจันทร์ตอนสายๆ)
เพลงประกอบโดย Allan Gray ชื่อจริง Józef Żmigrod (1902 – 1973) สัญชาติ Polish อพยพย้ายสู่อังกฤษในช่วง Nazi เรืองอำนาจ กลายเป็นขาประจำของ The Archer ในช่วงแรกๆ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946) ฯ
บทเพลงมอบสัมผัสแห่งจิตวิญญาณ แรงดึงดูด พลังเหนือธรรมชาติ เสียงระฆังดังกึกก้องกังวาลย์ ส่งเสียงกู่ร้องเรียกให้ผู้คนออกเดินทางค้นหาเป้าหมายแห่งชีวิต สัจธรรมความจริง และวินาทีได้พบเห็น หวนระลึกถึงประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดความฮึกเหิม ภาคภูมิใจ สำนึกรักผืนแผ่นดิน
หลายๆบทเพลงคือ Tradition Song, Folksong ที่ชาวชนบทพื้นบ้าน ขับร้องเล่นสนุกสนานครึกครื้นเครง แต่ที่คุ้นๆหู อาทิ
– บทเพลง Opening คือฉบับออเครสต้าของ Angelus ad virginem
– Henry Purcell: Hear my prayer, O Lord บทเพลงคอรัสที่ Peter Gibbs ได้ยินใน Canterbury Cathedral
– J. S. Bach: Toccata and Fugue in D minor, BWV 565 มีทั้งเดี่ยวล่ออร์แกน และเต็มวงออเครสต้า (เมื่ออยู่นอกวิหาร)
– Onward, Christian Soldiers บทเพลง Hymn ของประเทศอังกฤษ แต่งคำร้องโดย Sabine Baring-Gould เมื่อปี 1865
A Canterbury Tale ตำนานแคนเตอร์บรี เรื่องเล่าจากนักเดินทางแสวงบุญ กำลังมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อจักได้มีโอกาสสัมผัสบารมีของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ ต้องเป็นบุคคลเปี่ยมล้นด้วยศรัทธาเท่านั้นถึงสามารถไปถึง แถวยาวเท่าไหร่ก็จักรอคอยโอกาส แค่เพียงได้พบเห็น กราบไหว้ หรือสัมผัสบูชา ก็ทำให้จิตวิญญาณได้พบความสงบสุขแล้วเอย
มนุษย์ออกเดินทางมุ่งสู่สงครามสนามรบเพื่ออะไร? ต่อสู้ศัตรูให้ได้รับชัยชนะ ปกป้องผืนแผ่นดินบ้านเกิด ครอบครัวญาติพี่น้องเบื้องหลังจักได้อยู่รอดเป็นสุขปลอดภัย จิตวิญญาณของเขาจะได้พบความสงบสุขเฉกเช่นเดียวกัน
ทหาร=นักบุญ เชื่อว่าหลายคนคงไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เหมือนกันยังไง? ทหารฆ่าคนตายในสนามรบ พระสอนศรัทธาศาสนาให้กับผู้คน แต่ถึงกระนั้นวัตถุประสงค์เป้าหมายปลายทางของทั้งคู่ล้วนคือสิ่งๆเดียวกัน นำพาความสงบสันติสุขให้เกิดขึ้นกับ ประเทศชาติและร่างกายจิตใจ
เรื่องราวการกระทำของมนุษย์กาว สะท้อนแนวคิดของ ทหาร=นักบุญ ที่ลักษณะภายนอก วิธีการปฏิบัติ แสดงออก แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่วัตถุประสงค์เป้าหมายปลายทางกลับคือสิ่งๆเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสงบสันติสุขขึ้นใน Chillingbourne
นี่คือโลกทัศนคติ ‘ชวนเชื่อ’ ค่อนข้างเด่นชัดเจนมากๆในหนัง เพื่อเป็นการชี้ชักนำ ครอบงำทางความคิด สงครามคือสิ่งจำเป็น ทหารเปรียบดั่งนักบุญผู้จักนำพาความสงบสันติสุข เติมเต็มความฝันให้หวนกลับมาเกิดขึ้นกับผืนแผ่นดิน ประเทศชาติ ขนาดเด็กๆยังซ้อมรบเล่นเป็นทหาร แล้วผู้ใหญ่จะยังนั่งนิ่งเฉยไม่ทำทองไม่รู้ร้อนอยู่ได้อย่างไร
การเดินทางถึง Canterbury Cathedral ได้เติมเต็มเป้าหมาย ความเพ้อใฝ่ฝันของสามตัวละครหลัก ราวกับว่าพวกเขาได้รับการอำนวยอวยพร ‘Blessing’ จากทวยเทพเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถานที่แห่งนี้ ก่อนจะก้าวสู่ท้องสนามรบ ร่วมกันขับร้องบทเพลง Onward, Christian Soldiers และพบเจอความโชคดี ‘Good Luck’ นำชัยชนะกลับสู่ผืนแผ่นดินบ้านเกิด
เมื่อกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน ได้ทำให้มุมมองของหนังเปลี่ยนแปลงไป เพราะสงครามได้แปรสภาพเป็นอดีต/ประวัติศาสตร์ มันเลยถูกลบลืมเลือนในสายตาผู้ชมรุ่นใหม่ พอถูกมองข้ามไปจักหลงเหลือแค่การตั้งคำถามศีลธรรม ระหว่างวิธีการกับผลลัพท์ อะไรคือสิ่งสำคัญกว่า?
เรื่องราวของมนุษย์กาว ได้แปรสภาพสู่การตั้งคำถามเช่นกัน การกระทำของเขาเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือ? ถึงผลลัพท์จะทำให้สาวๆในหมู่บ้าน Chillingbourne ไม่หลงใหลในทหารหนุ่มหล่อ แต่วิธีการที่ค่อนข้างรุนแรง อันตราย สมควรได้รับการยกโทษให้อภัยรึเปล่า
ย้อนกลับขึ้นไปอีกชั้นก็คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับสงคราม มันได้แก้ปัญหา ก่อให้เกิดความสงบสันติสุขขึ้นบนโลกแล้วจริงๆหรือเปล่า? ชายหนุ่มจำนวนมากที่ต้องร่ำลาจากบ้านไปตายในสนามรบ คุ้มค่ากันไหมกับผลลัพท์หลังจากนั้น
รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้มุมมองของผมต่อ Powell & Pressburger เปลี่ยนแปลงไปพอสมควรเลยนะ เพิ่งรู้ว่าทั้งคู่คือผู้กำกับ ‘Pro Wars’ เคยส่งเสริมสนับสนุนการสงคราม สร้างภาพยนตร์ในเชิงชักชวนเชื่อให้ผู้ชมเห็นพ้องถึงความจำเป็นของการเสียสละเพื่อชาติ แต่มันอาจเพราะพวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็เป็นได้นะ ทำหนังช่วงสงครามก็ต้องลักษณะเช่นนี้ถึงขายได้ แต่…
ตอนที่หนังออกฉาย ได้รับเสียงตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไหร่เลยจึงถูกจำกัดโรงฉาย กลายเป็นหนังเรื่องแรกของ The Archers ที่ไม่ทำกำไร ทำให้ Powell ต้องตัดทอนหนังออกกว่า 20 นาที เพื่อฉายต่างประเทศ
หนังเริ่มได้รับการฟื้นฟูชื่อเสียงประมาณทศวรรษ 70s เมื่อการมาถึงของ 2001: A Space Odyssey (1968) มีการพูดถึงฉากนั้นอย่างกว้างขวางจนใครๆเริ่มขวนขวายอยากรับชม และนักวิจารณ์เริ่มสัมผัสได้ถึงความทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา
จริงๆผมเกิดอคติกับหนังไปประมาณครึ่งเรื่อง เพราะหงุดหงิดใจที่ไม่ได้พบเห็นตำนานแคนเตอร์บรีในรูปแบบที่อยากดู แต่การมาถึงของฉากเด็กๆทำสงครามสู้รบก็ค่อยๆรู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ และมาตกหลุมรักก็ตอนภาพของ Canterbury Cathedral เกิดความต้องการไปแสวงบุญ ณ สถานที่แห่งนี้ขึ้นมาทันที! [ตอนรับชม The Canterbury Tales (1972) ยังไม่รู้สึกแบบนี้เลยนะ]
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” มองข้ามผ่านยุคสมัยสงคราม หนังเรื่องนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจ การเรียนรู้จักประวัติศาสตร์มีประโยชน์เช่นไร? และชักชวนให้ครุ่นคิดต่ออีกสักนิดถึงตัวละครมนุษย์กาว ตอนจบเป็นคุณยังจะเข้าแจ้งความจับกุมบุคคลผู้นี้อยู่อีกหรือเปล่า?
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักประวัติศาสตร์ ชื่นชอบทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆ และหลงใหลในตำนานแคนเตอร์บรี
จัดเรต PG กับลีลาคำพูดยียวนกวนประสาท
เป็นหนังที่ให้สไตล์ กลิ่นอาย รสสัมผัสเหมือนหนังของ Jean Renoir
แต่คงต่างกันเรื่องความ Pro- กับ Anti-War