A City of Sadness (1989) : Taiwan – Hou Hsiao-Hsien
หนังรางวัล Golden Lion ของประเทศจีน-Taiwan โดยผู้กำกับ Hou Hsian-Hsien (The Puppetmaster – 1991, The Assassin – 2015) เรื่องราวของ A City of Sadness เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ออกตัวจาก Taiwan ไปถึง การสังหารหมู่ 228 (White Terror) อันนำไปสู่การประกาศอัยการศึกถึง 38 ปีของก๊กมินตั๋ง พรรคชาตินิยมจีน นำแสดงโดย Tony Leung Chiu-Wai, Jack Kao และ Sung Young Chen
Hou Hsian-Hsien ถือว่าเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ผู้กำกับหนังคนสำคัญคนหนึ่งของเอเชีย เขาเป็นผู้กำกับคนที่ 3 ของจีน และคนที่ 2 ของ Taiwan ที่ได้ Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Cannes (คนแรกคือ Wong Kar-Wai – 1997, คนที่สอง Edward Yang – 2000) สำหรับหนังที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ก็คือ A City of Sadness ที่ได้รางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของ Taiwan ที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังนานาชาติ ได้รับการจัดอันดับ 117 จากนิตยสาร Sight & Sound และอันดับ 5 ของ Asian Cinema 100 Ranking จากเทศกาลหนังเมือง Busan
หลังจากที่ Emperor Hirohito ประกาศญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1945 เป็นเวลา 51 ปีที่ญี่ปุ่นปกครอง Taiwan จากความมืดสู่แสงสว่าง เด็กเกิดใหม่ ท้องฟ้ายามเช้า หนังเริ่มต้นด้วยภาพแห่งความหวังของ Taiwan เมื่อญี่ปุ่นจากไป ผู้นำใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่ก็เข้ามา ก๊กมินตั๋ง (Kuomintang of China-KMT) หรือ พรรคชาตินิยมจีน นำโดยเจียง ไคเชก (Chiang Kai-shek) ผู้แพ้ในสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ที่นำโดยเหมา เจ๋อตุง Mao Zedong) ได้ถอยหนีมาไต้หวันและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น ทั้งๆที่ KMT ยึดในระบบประชาธิปไตย แต่การปกครอง Taiwan ของ KMT เต็มไปด้วยความรุนแรง เล่นพรรคเล่นพวก และมีความหวาดระแวงต่อคนจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่ ประชาชนชาว Taiwan เกิดความไม่พอใจ เรื่องรุนแรงบานปลายจนเกิดเหตุการณ์ ‘การสังหารหมู่ 228’ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 1947 (ตัวเลข 228 หมายถึง วันที่การสังหารหมู่เริ่มขึ้น m-dd) จุดเริ่มต้นของ White Terror มีผู้คนหลายพันคนถูกเนรเทศ เสียชีวิต บ้างถูกจองจำ กฎอัยการศึก (martial law) ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 1949 เพื่อควบคุมประเทศให้อยู่ในความสงบ และได้ทำการยกเลิกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1987 รวมเวลาประกาศใช้ 38 ปี 57 วัน นับว่าเป็นประเทศที่มีการออกกฎอัยการศึกนานที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น ก่อนถูกประเทศ Syrian ทำลายสถิติ ด้วยเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ นับจากปี 1963 ถึงปี 2011
ดูจากประวัติศาสตร์ Taiwan แล้วไม่แปลกที่หนังจะใช้ชื่อว่า City of Sadness เพราะถือเป็นเมืองที่น่าเศร้ามากๆ หลังจากญี่ปุ่นออกไปแล้วก็ใช่ว่าจะเกิดความสงบสุข ดันมาเจอปัญหาภายในอีก เจียง ไคเช็ก หลังจากแพ้สงครามมา พี่แกก็ไม่ยอมหยุด ขณะเป็นปธน. ปกครอง Taiwan เขายังพยายามหาทางต่อสู้กับจีนแผ่นดินใหญ่อยู่เรื่อยๆ ด้วยความตั้งใจรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว (อุดมการณ์สูงมากๆ) ทำให้พี่แกปกครอง Taiwan ด้วยความรุนแรงโดยไม่สนใจความรู้สึกของคนใต้ปกครองทั้งนั้น เพราะถือว่าปัญหาภายในไม่สำคัญเท่ากับการรวมประเทศ ผมไม่รู้ทำไมอุดมการณ์ของไคเช็กถึงแรงขนาดนั้นนะครับ คงเพราะเขาเป็นเพื่อนสนิทของเหมา เจ๋อตุง ด้วยกระมัง เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด! มันเลยเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ประชาชนที่ไม่พอใจการปกครองของไคเช็ก พยายามลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐ รวมตัวเป็นคณะปฏิวัติ แต่ก็ไม่สามารถสู้กับทหารอาวุธครบมือได้ ด้วยระยะเวลาเกือบ 40 ปี ไม่เหลือใครอีกแล้วที่จะสามารถต่อต้านรัฐบาลได้อีก ถือว่าเป็นความพ่ายแพ้โดยสิ้นรูปของกลุ่มคณะปฏิวัติในประเทศ Taiwan ผู้คนเอือมระอาต่อการปกครอง กระนั้นเพราะ KMT นี่แหละที่ทำให้ Taiwan มีความเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม จนครั้งหนึ่งได้รับฉายาว่า 4 เสือแห่งเอเชีย (ประกอบด้วย Hong Kong, South Korea, Singapore, Taiwan) ปัจจุบันการปกครองของ Taiwan กลายเป็นประชาธิปไตยที่ดีไปแล้วนะครับ ใครไปเที่ยวไม่ต้องห่วงว่าจะยังมีการต่อสู้หรือปฏิวัติล้มรัฐบาล อะไรแบบนี้ไม่เหลือแล้ว KMT ก็กลายเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่ชนะบ้างแพ้บ้าง อุดมการณ์ไม่เข้มข้นเหมือนสมัยไคเช็คแล้วนะครับ
มีสิ่งหนึ่งที่สับสนชีวิตมากๆ คือ Taiwan เป็นประเทศหรือเปล่า? หรือเป็นเมืองพิเศษของจีนแบบเดียวกับ Hong Kong … องค์ประกอบของการเป็นประเทศประกอบด้วย 1.มีดินแดน 2.มีประชาชน 3.มีรัฐบาล4.มีอำนาจอธิปไตย Taiwan ถือว่ามี 4 อย่างนี้ครบ โดยไม่ต้องพึ่งพิงกับจีนแม้แต่น้อย มีวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งตามหลักแล้วสามารถนับเป็นประเทศได้เลย แต่เพราะ UN ไม่ให้การยอมรับ … สมัยนี้การจะเป็นประเทศได้ จะเพิ่มอีก 1 องค์ประกอบ คือ การยอมรับของ UN ซึ่งมีกฎเพิ่มอีกว่าต้องมีประเทศที่สนับสนุนอย่างน้อย 1 ประเทศ Taiwan ว่าไปก็มีหลายประเทศที่ให้การสนับสนุน แต่จีนแผ่นดินใหญ่ใช้อำนาจบีบบังคับ UN ไม่ให้ยอมรับสิทธิ์การเป็นประเทศของ Taiwan ด้วยวิธีกดดันและจะ blacklist ประเทศที่ให้การยอมรับ Taiwan ทั้งหมดด้วยเหตุนี้ปัจจุบัน UN จำต้องยอมฟังจีนมากกว่า เลยไม่สามารถยอมรับให้ Taiwan เป็นประเทศได้ จัดว่าเป็นเพียงรัฐหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ … มีข้อสังเกตหนึ่ง Taiwan เรียกตัวเองเป็นสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่เรียกตัวเองว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ … มันก็จีน China เหมือนกันนิ! ฝั่งหนึ่งจีนฟ้า อีกฝั่งหนึ่งจีนแดง ผมไม่เคยมีเพื่อนชาว Taiwan นะครับ แต่เคยอ่านเจอว่าคน Taiwan จะไม่ชอบให้ใครเรียกเขาว่าชาวจีน แต่จะชอบให้เรียกว่าชาว Taiwan นี่น่าจะแสดงถึงความต้องการของคนประเทศ Taiwan นะครับ … เอาว่าผมจัดหนังของ Taiwan ให้เป็นหนังสัญชาติ chinese นะครับ
ใน Taiwan นั้น เรื่องราวจากเหตุการณ์ 228 Incident ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะมีความละเอียดอ่อนต่อผู้คนมาก A City of Sadness ถือว่าเป็นหนังเรื่องแรกที่นำเสนอเรื่องราวจากเหตุการณ์นี้ เขียนบทโดย Chu Tien-wen และ Wu Nien-jen ซึ่งพวกเขาก็พยายามหลีกเลี่ยงฉากที่มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งเกิดความรุนแรง (มีให้เห็นบ้างแต่ก็ถือว่าน้อย) ผมคิดว่าคน Taiwan ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้คงบ่อน้ำตาแตกแน่นอน เพราะเรื่องราวให้ความรู้สึกสมจริงมากๆ ส่วนคนดูที่ไม่ใช่ Taiwan หนังมีความสากลอยู่คือ ถึงคนดูจะไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่หนังได้สร้างบรรยากาศที่ทำให้สัมผัสได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้หนังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเลยนะครับ
นำแสดงโดย Tony Leung Chiu-Wai นี่คือหนังเรื่องแรกของพี่ Leung ที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ (เพราะหนังได้ไปฉายที่เทศกาลหนังเมือง Venice) บทน้องคนเล็กที่พูดไม่ได้ จริงๆเห็นว่าเพราะพี่ Leung แกพูด Taiwan และ Japanese ไม่ได้นะครับ และไม่พยายามฝืนพูดด้วยก็เลยให้เป็นใบ้ไปเลย … แต่ไม่น่าเชื่อว่าบทนี้กลับทรงพลังมากๆ มันมีเหตุผลอื่นของการเป็นใบ้แฝงอยู่ด้วยนะครับ คือเป็นตัวแทนของคน Taiwan ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆในสังคม และการที่เขาไม่สามารถออกเสียงอะไรได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าอาจเป็นสายลับหรือผู้ต่อต้านรัฐบาล และมันแสดงถึงคนที่ไม่ออกเสียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย
Xin Shufen เล่นเป็น Hinomi ในเครดิตผมเจอแต่กับหนังที่เธอแสดงกับ Hou Hsiao-Hsien ในยุคแรกๆเท่านั้น ไม่รู้ว่าเธอหายไปไหน อาจจะ retire ไปแล้วมั้ง ผมค่อนข้างชอบ Hinomi นะ การแสดงของเธอเรียบง่าย สงบ เยือกเย็น และหน้าเหมือนคนญี่ปุ่นมากๆ ไม่รู้มีเชื้อสายญี่ปุ่นด้วยหรือเปล่า ช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครอง Taiwan เห็นว่ามีชาวญี่ปุ่นที่อพยพมาอาศัยอยู่เป็นแสนๆคนเลย จึงถือว่าไม่แปลกที่จะมีลูกครึ่ง Taiwan/Japan อยู่นะครับ
ถ่ายภาพโดย Chen Huai-en ปกติแล้ว Hou Hsiao-Hsien จะใช้บริการของ Mark Lee Ping-Bin นะครับ สงสัยพี่แกจะไม่ว่าง งานภาพของหนังเรื่องนี้มีการเคลื่อนไหวกล้องน้อยมาก หลายฉากจะตั้งกล้องไว้เฉยๆ อย่างฉากกินข้าว (ผมรู้สึกหนังเรื่องนี้มันกินข้าวกันทั้งเรื่องเลย!) กล้องไม่ขยับ ไม่มีการตัดต่อใดๆ วางกล้องทิ้งไว้แบบนั้น ความรู้สึกที่ได้เหมือนเราเห็น ภาพนิ่งที่มีการเคลื่อนไหว องค์ประกอบของภาพก็มีการจัดวางได้น่าสนใจ หลายฉากมีการตั้งกล้องถ่ายจากห้องหนึ่ง ผ่านประตู ช่องว่าง เห็นตัวละครอยู่อีกห้องหนึ่ง ที่ทำแบบนี้เหมือนเป็นการสร้างระยะห่างระหว่างกับตัวละครไม่ให้ใกล้กันเกินไป ผมคิดว่าที่เป็นแบบนี้เพราะผู้กำกับต้องการให้เห็นภาพกว้างๆ ของ Taiwan มากกว่าจะเจาะจงลงไปที่ใครสักคน
เกือบๆ 40% ของหนังจะเป็นช่วงเวลาที่ตัวละครของพี่ Leung เขียนข้อความใส่กระดาษคุยกับคนอื่น และเพื่อให้เราเข้าใจว่าเขาเขียนอะไร หนังทำการตัดสลับขึ้นคำพูด (คล้ายๆกับหนังเงียบสมัยก่อน) นี่เป็นการสร้างจังหวะการเล่าเรื่องที่คลาสสิคมากๆ ผมไม่เห็นอะไรแบบนี้กับหนังสมัยใหม่เท่าไหร่ ช่วงแรกๆข้อความที่ขึ้นมาจะมีลักษณะเหมือน End Note เป็นคำพูดข้อความทิ้งท้ายเพื่อจบเรื่องราวในฉากนั้น ช่วงหลังๆจะเน้นเป็นข้อความสนทนามากกว่า แต่ก็มีการตัดสลับ Flashback ด้วย 2-3 ครั้ง การตัดต่อแบบนี้ถือว่ามีสไตล์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีชั้นเชิงและเป็นศิลปะมากๆ แม้มันจะทำให้หนังยาวขึ้นเยอะก็เถอะ แต่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ ใครชอบดูหนังตัดต่อเจ๋งๆ แนะนำให้สังเกตจากหนังเรื่องนี้ได้เลย ตัดต่อโดย Liao Ching-song ขาประจำของ Hou Hsiao-Hsien นะครับ
เสียงเพลงประกอบในหนังจะค่อนข้างเบา เป็นเสียงคลอประกอบหนังเพื่อสร้างบรรยากาศมากกว่าสร้างอารมณ์ แต่งโดย S.E.N.S. เป็นวงดนตรีสไตล์ New Age ชื่อ S.E.N.S. ย่อมาจาก Sound, Earth, Nature, and Spirit ฟังแล้วรู้สึกถึงธรรมชาติ เข้าถึงจิตวิญญาณของเหตุการณ์ได้เลย
ส่วนตัวผมไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่นะครับ ดูได้เรื่อยๆ มีที่ประทับใจสุดก็คือการตัดต่อและการแสดงของพี่ Leung ที่ถึงไม่ได้แสดงความสามารถอะไรสักเท่าไหร่ แต่พี่แกมีความดึงดูดสูงมาก เวลามีพี่แกในแต่ละฉาก มันจะดึงสายตาเราให้มองพี่แกอยู่ตลอดเวลา (สงสัยเพราะความหล่อ) ผมคิดไปว่า สงสัยพี่จะแกเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง แต่ไม่ใช่แหะ หนังเรื่องนี้เล่าผ่านสายตาของแฟนพี่ Leung นะครับ เพราะเธอคือคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่, ตัวละครของพี่ Leung ก็ไม่รู้ยังมีชีวิตอยู่ตอนจบหรือเปล่า หนังไม่ยอมบอก คิดว่าคงไม่น่ารอดนะครับ มีอีกจุดที่ผมชอบก็คือหนังไม่ได้แสดงให้เราเห็นเลยว่าพี่ Leung กับแฟนไปตกหลุมรักกันตอนไหน แต่เรากลับรู้สึกได้ว่าทั้งสองรักกันมากๆ มองตาไม่ใช้คำพูดก็สามารถเข้าใจได้
เกิด-แก่-ตาย เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดเลย ตอนต้นเรื่องที่ผมบอกไปแล้ว เกิดคือการความหวัง ช่วงกลางเรื่องมีการตาย ซึ่งถือเป็นจุดจบ เทียบได้กับเหตุการณ์สังหารหมู่ 228 และการแต่งงานคือการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ใหม่ มีลูกอีกครั้งคือการเติบโตขึ้นของความสัมพันธ์ วิธีการเปรียบเทียบแบบนี้ทำให้ผมนึกถึง 2001 A Space Odyssey ที่ใช้วันเกิดในช่วงอายุต่างๆแทนด้วยพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล ที่ A City of Sadness ใช้คือ วัฎจักรชีวิต เปรียบกับความสัมพันธ์ของการปกครอง Taiwan ยุคใหม่กับประชาชน
‘อะไรที่เคยผิดพลาดมาครั้งหนึ่งแล้ว อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก’ นี่คือใจความที่ผมได้จากหนัง ไม่ใช่จากบริบทของหนังนะครับ แต่คือสิ่งที่ใจความที่ผู้กำกับ Hou Hsiao-Hsien เล่าเรื่องนี้ออกมา เขาใช้วิธีการนำเสนอภาพที่เป็นผลกระทบต่อตัวละคร ต่อผู้คนในยุคนั้นแทนที่จะเล่าว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง จะว่าเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องความอ่อนไหวก็ได้ แต่วิธีนี้มันทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของผู้คนต่อเหตุการณ์ในหนัง ที่มองได้ว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องจดจำว่า มันไม่ควรเกิดขึ้นอีก และจากเหตุการณ์ในหนัง ทำให้ผมเข้าใจเรื่องราวของหนังเรื่อง A Brighter Summer Day มากขึ้นด้วบนะครับ ทำไมคน Taiwan ยุค 80s-90s ถึงเต็มไปด้วย gangster, การต่อสู้, ความรุนแรง อธิบายได้จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ใน A City of Sadness
เมื่อปี 1995 ปธน. ลี เต็ง ฮุย (Lee Teng-hui) ได้ออกมาพูดขอโทษถึงเหตุการณ์ สังหารหมู่ 228 ต่อหน้าสาธารณะเป็นครั้งแรก ด้วยความหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นอีกในประวัติศาสตร์
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคนชอบประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจีน-Taiwan ชอบเรื่องราวการต่อสู้ของคณะปฏิวัติ สงครามภายใน ทหารฆ่าประชาชน ช่วงรัฐประหารในเมืองไทย ผมเคยเห็นมีคนเปรียบเทียบเหตุการณ์บ้านเรากับหนังเรื่องนี้ แต่ไม่คิดว่าเมืองไทยเราจะแรงเท่ากับ Taiwan นะครับ หนังดูยากหน่อย แต่มีเทคนิคเจ๋งๆ ใครชอบหนังดีๆ บรรยากาศเครียดๆ ห้ามพลาด จัดเรต 15+ สำหรับเรื่องราวความรุนแรง
คำโปรย : “Hou Hsiao-Hsien สามารถถ่ายทอดบรรยากาศ ความรู้สึกของผู้คนในช่วง การสังหารหมู่ 228 ออกมาใน A City of Sadness ได้สมจริงและเหนือชั้นมากๆ”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบ : SO-SO
Leave a Reply