A Clockwork Orange (1971)
: Stanley Kubrick ♥♥♥♥♡
(9/7/2018) โลกอนาคตในจินตนาการของผู้กำกับ Stanley Kubrick มี Malcolm McDowell ถูกสังคมแปรสภาพด้วย Ludovico Technique ให้กลายเป็นเสมือนหุ่นจักรกล หลงเหลือเพียงรูปลักษณ์ภายนอกยังคงความเป็นมนุษย์ มิอาจครุ่นคิดตัดสินใจกระทำอะไรได้ด้วยตนเองอย่างอิสระเสรี
พฤติกรรมความรุนแรง ถือเป็นสันชาติญาณติดตัวทุกสิ่งมีชีิวิตตั้งแต่เกิด สาเหตุเพราะมันคือวิธีการดิ้นรนเอาตัวรอดเพื่อ ‘มีชีวิต’ เมื่อใดที่มนุษย์หรือสัตว์สูญเสียความสามารถในการมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งเร้าภายนอก คงเปรียบได้ดั่งต้นไม้ใบหญ้าผลส้ม มีรสชาติแห่งชีวิตแต่ไร้ซึ่งชีวา หรือจะเรียกว่าหุ่นจักรกล เคลื่อนไหวตามคำสั่งโปรแกรมป้อนเข้าไป
A Clockwork Orange เป็นภาพยนตร์ที่ครึ่งหนึ่งของผู้ชม/นักวิจารณ์ ยกย่องสรรเสริญเรียกว่า Masterpiece แต่อีกครึ่งกลับส่ายห้วรับไม่ได้ ปฏิเสธเสียงแข็งต่อความรุนแรงบ้าคลั่งที่มากล้นเกินไป ไม่ต่างอะไรกับทรมานบันเทิง (Torture Porn)
ส่วนตัวรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาประมาณ 4-5 รอบ เริ่มเฉื่อยชินชากับความรุนแรงจนแทบไม่รู้สึกอะไร นี่อาจไม่ใช่สิ่งดีนักแต่ก็ทำให้เกิดการครุ่นคิดถึงสาเหตุผล ทำไมต้องนำเสนอความรุนแรงขนาดนี้? ด้วยวัตถุประสงค์เพื่ออะไร? และเป้าหมายแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ตรงไหน?
เมื่อไหร่ที่คุณสามารถวางตัวเป็นกลาง ยินยอมรับเข้าใจว่าพฤติกรรมความรุนแรงคือปกติของทุกสิ่งมีชีวิต สติปัญญาตามด้วยวิจารณญาณจะบังเกิด มองภาพยนตร์เรื่องนี้ในเชิงนามธรรม พบเห็นความลึกล้ำของงานศิลปะ และอัจฉริยภาพของผู้กำกับ Stanley Kubrick ในระดับสูงสุด
ก่อนอื่นขอนำตัวอย่างหนัง Original Trailer อันสะกดจิตของผู้ชมมาให้รับชมกันก่อนเลย พร้อมบทเพลงประกอบ Gioachino Rossini: William Tell Overture ท่อน Finale: March of the Swiss Soldiers
หลังเสร็จจากร่วมงานกับ Arthur C. Clarke เรื่อง 2001: A Space Odyssey (1968) ความสนใจถัดไปของ Kubrick คือภาพยนตร์เกี่ยวกับ Napoléon Bonaparte ใฝ่ฝันอยากทำมานาน เตรียมพร้อมศึกษาค้นหาข้อมูล ออกสำรวจสถานที่ถ่ายทำยังแถบประเทศ Eastern Europe แต่เพราะความล้มเหลวขาดทุนย่อยยับเยินของ Waterloo (1970) ทำให้โปรดิวเซอร์ Dino De Laurentiis ขอถอนตัวออกไป ระหว่างรอนายทุนเลยต้องมองหาโปรเจคอื่นทำไปก่อน ซึ่งบังเอิญได้รับคำแนะนำจากเพื่อนเก่า Terry Southern (ที่เคยร่วมเขียนบท Dr. Strangelove) ส่งหนังสือ A Clockwork Orange มาให้ อ่านแล้วเกิดความประทับใจอย่างยิ่งยวด
“I was excited by everything about it: the plot, the ideas, the characters, and, of course, the language. The story functions, of course, on several levels: political, sociological, philosophical, and, what’s most important, on a dreamlike psychological-symbolic level”.
ขอพูดถึงผู้แต่งนิยายสักนิดกอนแล้วกัน Anthony Burgess ชื่อจริง John Anthony Burgess Wilson (1917 – 1993) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Harpurhey, Lancashire ในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง (Lower Middle-Class) นับถือคาทอลิก เติบโตขึ้นในทศวรรษ Great Depression มีความสนใจดนตรีตั้งแต่เด็ก แต่ทำเกรดไม่ดีเท่าไหร่เลยสอบเข้าได้เพียงวรรณกรรมภาษาอังกฤษ Victoria University of Manchester ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สมัครเป็นทหารสังกัด Royal Army Medical Corps ก่อนย้ายไป Army Educational Corps ระหว่างนั้นภรรยากำลังตั้งครรภ์ถูกข่มขืนจนแท้งลูก สร้างความจงเกลียดจงชังต่อต้านสงครามอย่างยิ่ง ลาออกมาสอนหนังสือ เข้าร่วม British Colonial Service เดินทางมาเป็นครูที่ Malaya ตามด้วย Brunei ระหว่างนั้นก็เริ่มเขียนนิยายจนมีชื่อเสียงกับ Malayan Trilogy (1956 – 1959) กลับอังกฤษปี 1959 ผันมาเป็นนักเขียนเต็มตัว ผลงานเด่นๆอาทิ A Clockwork Orange (1962), A Vision of Battlements (1965), Napoleon Symphony: A Novel in Four Movements (1974) ฯ
สำหรับผลงานชิ้นเอก A Clockwork Orange เป็นแนว Dystopian (โลกยุคล่มสลาย), Satire Black-Comedy (ล้อเลียน สะท้อนเสียดสี) เกิดแรงบันดาลใจขึ้นตอนที่ผู้เขียน Burgess เดินทางกลับประเทศอังกฤษ (หลังจากมาทำงานยัง Malaya, Brunei อยู่หลายปี) พบเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย วัฒนธรรมวัยรุ่นที่แตกต่าง ร้านกาแฟ เพลงป๊อป จับรวมกลุ่มแก๊งค์กลายเป็นอันธพาล เหล่านี้ทำให้เขานึกถึงภรรยาตอนถูกทหารอเมริกัน 4 นาย ข่มขืนจนแท้งลูกเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป้าหมายหลักๆของคือตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมความรุนแรง (Behaviourism) และสำรวจแนวคิดของอิสรภาพในการกระทำ ‘Free Will’
Burgess เขียนนิยายเรื่องนี้ใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน (ตั้งชื่อว่า Alex’s World, The Ludovico Technique, After Prison) ละ 7 ตอน รวมแล้วทั้งหมด 21 บท จงใจสะท้อนถึงอายุ 21 ที่ประเทศอังกฤษ(ขณะนั้น)ถือว่าบรรลุนิติภาวะ แต่เฉพาะฉบับวางขายอเมริกัน จะมีการตัดบทสุดท้ายออก เพราะเป็นเรื่องราวของการรู้สึกนึกผิดด้วยตนเองของ Alex ที่ต้องการหันไปใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาปกติสุข คงไม่ถูกจริตกับพวกเขาเสียเท่าไหร่, เห็นว่าผู้กำกับ Kubrick ก็อ่านแต่ฉบับอเมริกันตอนพัฒนาดัดแปลงบทภาพยนตร์ เลยมิได้มีโอกาสรับรู้ตอนจบที่แตกต่าง ซึ่งภายหลังเขาเรียกว่า ‘Extra Chapter’ และบอกด้วยว่ามันดูไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือเป็นไปได้สักเท่าไหร่
สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของฉบับนิยาย จนได้รับการจัดอันดับติด ‘100 best English-language novels written since 1923’ ของนิตยสาร TIME และหนึ่งใน ‘100 best English-language novels of the 20th century’ จากสำนักพิมพ์ Modern Library คือความโดดเด่นในการสร้างศัพท์แสลง/ภาษาพูดของวัยรุ่นขึ้นมา มีชื่อเรียกว่า Nadsat รับอิทธิพลเต็มๆจากภาษารัสเซีย อาทิ
– droog แปลว่า เพื่อนสนิท
– korova แปลว่า วัว
– moloko แปลว่า นม(วัว)
– gulliver แปลว่า ศีรษะ
– malchick หรือ malchickiwick แปลว่าเด็กชาย
– Bog คือ God
– khorosho หรือ horrorshow แปลว่า สิ่งดีๆ
– malenky แปลว่า สิ่งเล็กๆ
– in-out, in-out หรือ the old in-out หมายถึงการร่วมรัก (Sex IntercourseX
– cutter แปลว่า เงิน
– appypolly loggy มาจาก apology แปลว่า ขอโทษ
ฯลฯ
ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ Kubrick ดัดแปลงบทภาพยนตร์ด้วยความซื่อตรงต่อนิยายต้นฉบับมาก แตกต่างแค่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง ให้เหมาะกับสื่อภาพยนตร์เท่านั้น (และตัดบทจบที่ไม่เคยอ่านออกด้วย)
“I think whatever Burgess had to say about the story was said in the book, but I did invent a few useful narrative ideas and reshape some of the scenes”.
ส่วนที่แตกต่าง อาทิ
– นามสกุลของ Alex ไม่มีกล่างถึงในนิยาย แต่เขาเรียกตัวเองว่า ‘Alexander the Large’ กลายเป็นที่มาของ Alex DeLarge
– อายุของ Alex คือ 15 ปี แต่ภาพยนตร์ถือว่า 17-18 ขณะที่ Malcolm McDowell ขณะนั้นอายุ 27-28 ปี
– Alex ไม่มีงูเป็นสัตว์เลี้ยง หรือร้องเพลง Singin’ in the Rain
– รหัสนักโทษ 6655321 หนังตัดออกตัวหนึ่ง 655321
– ฉากที่ Alex พาหญิงสาวสองคนขึ้นห้อง ในนิยายคือมอมยาแล้วข่มขืนสองเด็กหญิงอายุ 10 ขวบ
– Alex ในนิยายได้รับข้อเสนอให้เข้ารักษาด้วยวิธี Ludovico Technique แต่ภาพยนตร์เหมือนจะขอเป็นอาสาสมัคร
– ปฏิกิริยาต่อต้านบทเพลงของ Alex คือทุกประเภทแนว แต่ในภาพยนตร์จะเฉพาะแค่ Beethoven: Symphony No. 9
พื้นหลังอนาคตอันใกล้ของประเทศอังกฤษ สังคมเต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม วัยรุ่นหนุ่ม Alex DeLarge (รับบทโดย Malcolm McDowell) ถูกจับกุมตัวข้อหาฆ่าคนตาย แม้อ้างว่าไม่เจตนาก็ถูกตัดสินโทษจำคุก 14 ปี แต่พออยู่ได้ 2 ปีกว่าๆ อยากที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง อาสาสมัครเข้ารับการรักษาด้วยวิธี Ludovico Technique จนร่างกายมิอาจโต้ตอบสนองกระทำความรุนแรงใดๆได้ กระนั้นเมื่อถูกปล่อยตัวออกมาใช้ชีวิตปกติ ครอบครัวยังไม่พร้อมพบหน้า เจอผองเพื่อนถูกทำให้หวนรำลึกอดีต และกรรมจากปางก่อนกำลังย้อนคืนสนอง ทุกสิ่งอย่างสำหรับ Alex ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิมแม้แต่น้อย
Malcolm McDowell ชื่อจริง Malcolm John Taylor (เกิดปี 1974) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Horsforth, West Riding of Yorkshire ในครอบครัวชนชั้นทำงาน (Working Class) เติบโตขึ้นที่ Liverpool (กลายเป็นแฟนฟุตบอลตัวยง) ถูกส่งเข้าเรียนประจำตั้งแต่อายุ 11 ที่นั่นโดนเพื่อนๆกลั่นแกล้งจนเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว โตขึ้นเข้าเรียนการแสดง London Academy of Music and Dramatic Art จนได้เป็นตัวประกอบของ Royal Shakespeare Company ไม่ทันไรไปเข้าตาผู้กำกับ Lindsay Anderson แจ้งเกิดกลายเป็นตำนานกับภาพยนตร์ If… (1968), ถูกใจ Stanley Kubrick เลือกมาเป็นนักแสดงนำ A Clockwork Orange (1971), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ O Lucky Man! (1973), Caligula (1979), Star Trek: Generations (1994) ฯ
รับบท Alex DeLarge วัยรุ่นหนุ่มผู้หลงใหลในบทเพลงของ Beethoven แต่กลับชื่นชอบความรุนแรงเป็นชีวิตจิตใจ เป็นหัวหน้ากลุ่มนักเลงหัวไม้ มีลูกน้องอีก 3 คน ยามรัตติกาลออกก่ออาชญากรรมทำลายทรัพย์สิน ปล้น ข่มขืน ไม่เคยคิดเข่นฆ่าใคร กระนั้นเมื่อความโชคร้ายถามหา ถูกจับตัดสินโทษคุมขังถึง 14 ปี อาสาสมัครเข้ารับการรักษาด้วยวิธี Ludovico Technique ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านกับความรุนแรง แต่จิตใจยังคงถวิลหาไม่เปลี่ยนแปลง
หนังไม่ได้นำเสนอถึงสาเหตุผล ทำไม Alex ถึงกลายเป็นเด็กชื่นชอบความรุนแรงขนาดนี้? นี่เป็นการชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตาม มันอาจเป็นธรรมชาติในสันดานของเขา หรือรับอิทธิพลจากครอบครัว เพื่อนฝูง สถาพแวดล้อมทางสังคม โรงเรียน ความคอรัปชั่นของผู้นำประเทศ โลกที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม ไม่แปลกที่จะทำให้จิตใจของคนเสื่อมทรามลง
ก่อนหน้าที่จะร่วมงานกัน McDowell ไม่รู้จักด้วยซ้ำ Stanley Kubrick คือใคร? หลงเข้าใจผิดคิดว่าคือ Stanley Kramer ที่กำกับ Judgment at Nuremberg (1961) และ It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963) แต่เพราะได้ Lindsay Anderson พาไปรับชม 2001: A Space Odyssey (1968) เลยได้รู้ตัวกำลังจะมีโอกาสร่วมงานกันยอดฝีมือระดับโลก!
เริ่มต้นตั้งแต่ช็อตแรกของหนัง Kubrick Stare (ช็อตที่ถือเป็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Kubrick มักถ่ายหน้าตรง นักแสดงก้มศีรษะลงเล็กน้อย ตาเหลือบขึ้นจ้องมองมาที่กล้อง นัยยะสื่อถึงมีการบางสิ่งอย่างคับข้องขัดแย้งภายในจิตใจ) McDowell ก็ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับตัวละคร ดวงตาที่จับจ้องมองเขม็งใส่ผู้ชม หมอนี่มันไม่ใช่คนปกตินิสัยดีแน่ๆ แถมขนตาขวาดูมีลับลมคมใน ราวกับหน้ากากที่สวมเพื่อปกปิดตัวตนแท้จริงของตนเอง
เกร็ด: McDowell เป็นผู้ออกแบบชุดทีมด้วยตนเอง โดยนำเสื้อผ้า/อุปกรณ์จากกีฬา Cricket ที่ตนชื่นชอบ รวมถึงหมวกและไม้เท้า ซึ่งพอ Kubrick พบเห็น Jockstrap หรือ Protective Cup (อุปกรณ์ป้องกันที่สวมตรงเป้า) สั่งให้นำออกมาสวมจากด้านนอก มันดูตลกๆหน่อยแต่นี่คืออวัยวะส่วนสำคัญ สาเหตุผลต้นตอที่ทำให้เกิดทุกสิ่งอย่างขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้
Kubrick เป็นผู้กำกับขึ้นชื่อเรื่องความสมบูรณ์แบบ Perfectionist บางครั้งก็เป็นร้อยๆเทคจนกว่าจะเกิดความพึงพอใจ นี่สร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่ายให้กับนักแสดงอย่างมาก ถึงกระนั้น A Clockwork Orange คือเรื่องที่สามารถถ่ายทำสำเร็จเสร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 7 เดือน ระหว่างกันยายน 1970 ถึงเมษายน 1971 (ระยะเวลาโปรดักชั่นโดยเฉลี่ยของ Kubrick คือ 1-2 ปีขั้นต่ำ)
“If Kubrick hadn’t been a film director he’d have been a General Chief of Staff of the US Forces. No matter what it is—even if it’s a question of buying a shampoo it goes through him. He just likes total control”.
– Malcolm McDowell
ถ่ายภาพโดย John Alcott (1931 – 1986) สัญชาติอังกฤษ จากเคยเป็นคนจัดแสงในกองถ่ายของ Kubrick ได้รับโอกาสเลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นตากล้อง 2001: A Space Odyssey (1968) และยังร่วมงานกันอีกสามครั้ง A Clockwork Orange (1971), Barry Lyndon (1975), The Shining (1980) น่าเสียดายพลันด่วนหัวใจล้มเหลวตอนอายุเพียง 55 ปี
หนังเรื่องนี้ถ่ายทำด้วยเลนส์ Extreme Wide-Angle ทำให้สัดส่วนของภาพมีความบิดเบี้ยวเวลาถ่ายระยะใกล้หรือช็อต Close-Up นี่เป็นความจงใจเพื่อนำเสนอโลกยุคล่มสลาย Dystopian ที่อะไรๆต่างดูพิลึกกึกกือ เดี๋ยวบวม เดี๋ยวแบน หาความเป็นปกติไม่ได้เลยสักนิด
ด้วยทุนสร้างที่ไม่สูงมากนัก เลยจัดเต็มเรื่องเทคนิคถ่ายทำ อาทิ ใช้แสงธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่, รถเข็นแทนเครนใน Dolly Shot ด้วยกล้อง Hand-Held, บันทึกเสียงสดในกองถ่าย ไม่มีพากย์ใหม่ตอนหลัง ฯ สำหรับภาษาภาพยนตร์ที่เด่นๆ อาทิ Fast Motion, Slow Motion, Zoom In-Out, มุมมองบุคคลที่หนึ่ง ฯ
ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำสถานที่จริง ยังประเทศอังกฤษ ก็ไม่รู้ทีมงานไปคัดสรรหาเลือกมาได้อย่างไร สถาปัตยกรรมแต่ละที่เหมือนมีความล้ำอนาคตอยู่มากเสียด้วย ถึงกระนั้นก็ยังมีหลายฉากภายในสร้างขึ้นในสตูดิโอ อาทิ Korova Milk Bar โดดเด่นด้วยรูปปั้นแกะสลักเลียนแบบผลงานของ Allen Jones นักออกแบบ Fashion Designer ของนิตยสาร AtomAge น้ำนมสามารถพ่นไหลออกจากหัวนมได้ เป็นประติมากรรมที่โคตรจะเสื่อมเลยละ
เกร็ด: AtomAge จัดเป็นนิตยสารแนว Fetish Magazine อยากรู้ว่ามันเสื่อมยังไงก็ลองค้นภาพใน Google ดูเองนะครับ
หลังจากทดลองถ่ายฉากนี้มา 4 วัน ไม่ได้เป็นที่พึงพอใจของ Kubrick เลยแนะนำให้ McDowell ทดลองร้อง-เล่น-เต้น ในหัวนึกออกแต่บทเพลง Singin’ in the Rain เลยตัดสินใจขับร้องออกมา กลายเป็นความอึ้งทึ่งคาดไม่ถึงอย่างรุนแรง รีบติดต่อขอลิขสิทธิ์ด้วยเงินสูงถึง $10,000 เหรียญ (เพลงเดียวเนี่ยนะ!)
ใครที่เคยรับชม Singin’ in the Rain (1952) น่าจะสามารถเข้าใจนัยยะของฉากนี้ได้ทันที เพราะคือบทเพลงสื่อแทนอารมณ์อันเป็นสุขเอ่อล้น ความพึงพอใจระดับสูงสุด หาอะไรอื่นมาเปรียบเทียบมิได้ นี่ก็แปลว่าการกระทำอันชั่วร้ายของ Alex ร้องเพลงไปเตะต่อยตีทำร้ายผู้อื่น คือสิ่งที่ทำให้เขาเกิดรอยยิ้มเบิกบานเสพสำราญ ราวกับได้ขึ้นสรวงสวรรค์ชั้นเจ็ด
หลายปีถัดมา McDowell มีโอกาสพบเจอ Gene Kelly ในงานเลี้ยงปาร์ตี้แห่งหนึ่ง แค่เพียงสบตาเห็นว่า Kelly รีบเผ่นเดินหนีโดยทันที รับไม่ได้ที่บทเพลงอมตะของตนนี้กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้น่ารังเกียจขยะแขยงใน A Clockwork Orange
พอผู้กำกับ Kubrick รับรู้ว่า McDowell มีความหวาดกลัวสัตว์เลื้อยคลานทุกประเภท เลยไปสรรหางูเหลือมตัวเขื่องๆมาใช้ประกอบฉาก สร้างความหัวเสียให้อย่างมากตอนพบเจอครั้งแรก แต่ก็ทำให้มีสีหน้าท่าทางแววตาแบบระวังตัวเองสุดๆ … มากลั่นแกล้งฉันทำไม!
งู มักใช้เป็นสัตว์สัญลักษณ์เกี่ยวกับตัณหา ราคะ แทนได้ด้วยลึงค์ อวัยวะเพศชาย เก็บไว้ใต้เสียงก็เหมือนซ่อนไว้ในกระเป๋ากางเกง และการไปด้อมๆดมๆช็อตนี้ ตรงภาพอวัยวะเพศหญิง สื่อแทนถึงรสนิยมความต้องการ Sex ของ Alex ได้อย่างตรงไปตรงมา
พูดคุยกันอยู่ดีๆไม่ว่า ทำไมต้องมาทุบเป้ากันดัวย? เพราะบริเวณนั้นคือแรงผลักดัน ‘Sex Drive’ เหตุผลที่ทำให้ Alex ออกท่องรัตติกาล ก่อกระทำอาชญากรรม ปล้นชิงทรัพย์ บุกรุกบ้าน ทำร้าย ข่มขืนผู้อื่น จุดเริ่มต้นของทุกปัญหาความรุนแรงวัยรุ่น
Orgy Sex Scene ฉากนี้คัดลอกเลียนแบบจากภาพยนตร์เรื่อง Funeral Parade of Roses (1969) ที่ทำการ Fast Motion/Fast Forward ถ่ายทำแบบสดๆไม่มีบทใดๆ McDowell ลากยาวไปกว่าคือ 28 นาที จน Kubrick ต้องตะโกนบอก “That’s enough Malcolm! That’s enough!”
ในนิยายฉากนี้จะคือมอมยาและข่มขืนเด็กสาวอายุ 10 ขวบ แต่ภาพยนตร์มันทำแบบนั้นก็ดูจะรุนแรงเกินไปมากๆเลยนะ และใช้บทเพลง Rossini: William Tell Overture ท่อน Finale: March of the Swiss Soldiers เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นเร่งเร้าใจ (แบบรวบรัด)
เหตุผลที่ต้องให้ฉากนี้เคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพื่อสะท้อนความสุขสำราญทางเพศด้วย Sex เป็นสิ่งประเดี๋ยวประด๋าว ขึ้นสวรรค์ชั้นเจ็ดอยู่ไม่กี่วินาทีก็ตกลงมาแล้ว *-*
สิ่งที่อยู่ในความสนใจของ Alex ก็มีเพียงสิ่งตุงๆในเป้ากางเกงนี้แหละ เพื่อโชว์พลังอำนาจศักยภาพของตนเอง ข้านี่แหละหัวหน้ากลุ่มนักเลง อยู่ดีๆแบบไม่ให้ใครตั้งตัว ใช้ไม้เท้าทุบตีบริเวณนั้นอย่างรุนแรงจนสะดุ้งโหยง อยากท้าทายดีใช่ไหมก็โดนไป ประกาศศักดิ์ดาอวัยวะเพศของข้ายิ่งใหญ่กว่าใครเพื่อน!
การ Slow-Motion ของช็อตนี้ ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เป็น Fast-Motion เพื่ออวดอ้างแสดงพลังทางเพศ ความเชื่องช้าจะค่อยๆเน้นย้ำให้รู้สึกถึงอำนาจที่เหนือกว่า ความสุขสำราญนี้มั่นคงยาวนานกว่าขณะมี Sex เป็นไหนๆ
รูปปั้นลึงค์ชิ้นนี้ชื่อว่า Rocking Machine เป็นผลงานของ Herman Makkink (1937 – 2013) ศิลปินแกะสลักเชื้อสาย Dutch ขณะที่เก้าภาพวาดรอบห้องเป็นผลงานของน้องชาย Cornelis Makkink ทั้งหมดเคยใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Dropout (1970)
ป้าแมว คงเป็นหญิงหม้ายผู้มีความหมกมุ่นยึดติด Sex อย่างรุนแรง ใช้แมวและโยคะเป็นเครื่องบำบัดความใคร่ของตนเอง การมาถึงของ Alex พบเห็นตัวตนแท้จริง ทำให้ปฏิเสธขัดขืนไม่ยินยอมรับ ทั้งๆที่เขาก็ใช้ Rocking Machine ค้ำยันทิ่มแทง แต่ก็ยังปากว่าตาขยิบ สุดท้ายโดนช็อตนี้เข้าไป ตัดสลับเห็นภาพวาดปากและอวัยวะเพศหญิง แปลว่า Fucking หรือ Sex Intercourse เกิดความพึงพอใจสูงสุดจนฝ่ายหนึ่งขึ้นสู่สรวงสวรรค์จริงๆ
มีฉากหนึ่งในคุก ก่อนที่ท่านรัฐมนตรีจะผ่านมาพบเจอ Alex นักโทษทั้งหลายถูกสั่งให้เดินวนเป็นวงกลม นี่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดสีน้ำมัน Prisoners Exercising (after Gustave Doré) ของ Vincent van Gogh เมื่อปี 1890
ช่วงเวลาที่อยู่ในคุกของ Alex ถูกควบคุมปกครองด้วยความเข้มงวดกวดขัน หนึ่งในผู้คุมชอบขึ้นเสียง พูดจาก้าวร้าวรุนแรง มองทุกคนชั่วช้าสามาลย์ไร้สิ้นดี, ลักษณะตัวละครเช่นนี้ พบเห็นได้ในหลายๆผลงานของ Kubrick สะท้อนถึงลักษณะผู้นำของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ บีบบังคับให้ต้องก้มหน้าทำตามคำสั่ง ไร้ซึ่งการแสดงความเห็น หรืออิสรภาพเสรี
Ludovico Technique ถือเป็น Fictional Treatment ที่ให้ผู้รับการรักษาลืมตาสองข้ามห้ามกระพริบ รับชมสิ่งที่เป็นความรุนแรงโหดชั่วร้ายของสังคม แล้วตราติดตรึงฝังลึกในใจไม่ให้ลบลืมเลือน จนร่างกายมิอาจโต้ตอบสนองเมื่อพบเจอเหตุการณ์ดังกล่าวในชีวิตจริง
ในโลกความเป็นจริง เทคนิคนี้ไม่เคยได้รับการทดลองหรือพิสูจน์ว่าสามารถใช้บำบัดรักษานักโทษอาชญากรรมได้จริงแบบในหนัง อย่าเอาไปทดลองเล่นกับเพื่อนนะครับ เห็นว่า McDowell เกือบตาบอด เพราะการลืมตานานสร้างความระคายเคืองให้มากๆ ขนาดว่าหมอต้องคอยประกบหยดน้ำยาหยอดตาอยู่ใกล้ๆแทบจะตลอดเวลา แถมเคยกลิ้งเกลือกจนกระจกตาไปถากเหล็กง้าง จนพร่ามืดบอดมองไม่เห็นไปชั่วขณะหนึ่งเลย (ยังดีนะที่ตาไม่บอด!)
เกร็ด: ฟุตเทจภาพยนตร์ที่ฉายในช่วงนี้ อาทิ Triumph of the Will (1935), Distant Journey (1950), Cat Ballou (1965)
การฉายไฟย้อนแสงในช็อตนี้ สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Alex หลังจากรักษาด้วยวิธี Ludovico Technique อาการหายดีของเขาก็เพียงแค่ ปฏิกิริยาโต้ตอบทางกายฉาบหน้าเท่านั้น จิตใจด้านหลังเงาจะเป็นอย่างไรไม่ใช่เรื่องที่สังคมจะสนใจ ผลสัมฤทธิ์วัดจากการกระทำแสดงออกของเขาเท่านั้น!
คำพูดโต้แย้งของบาทหลวงในฉากนี้ถือว่าคือใจความของหนังเลยนะ
“He ceases also to be a creature capable of moral choice”.
ภาพช็อตนี้ว่าไปคล้ายๆการแสดงโชว์บนละครเวที ผู้ชมคอยส่งเสียงปรบมือเจี๊ยวจ๊าว ราวกับนี่เป็นสิ่งที่ผู้กำกับ Kubrick ต้องการตอกย้ำว่า เป็นเรื่องโกหกตลกทั้งเพที่จะเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้กลายเป็นคนดี วัดผลด้วยการแสดงออกทางกายเท่านั้น!
ฉากความพยายามฆ่าตัวตายของ Alex นอกจากสตั๊นแมนที่เห็นจากภาพนี้แล้ว ยังมีมุมมองกล้องบุคคลที่ 1 ซึ่งทีมงานก็ได้สร้างกล้องขึ้นมาใส่กล่องพลาสติกใสแล้วโยนลงมา ทั้งหมด 6 ครั้งกว่าจะเล็งถูกเป้าหมาย ปรากฎว่าทำให้เลนส์แตก แต่ฟีล์มยังใช้ได้ (ผมว่าเอางบไปว่าจ้างรถยกเครนหรือสตั๊นแมน ยังอาจจะถูกกว่าราคาค่ากล้องพังอีกนะ!)
ฉากอ้าปากหวอนี่ก็ไม่มีในบทเช่นกัน เกิดขึ้นระหว่างความเหนื่อยหน่ายหลายสิบร้อยเทคของ Kubrick จนสมาธิเริ่มสูญเสีย เมื่อ McDowell เห็นเช่นนั้นเลยประชดประชันทำปากหวอเหมือนปลาบู่ รอคอยการป้อนอาหารเข้าปาก แต่ให้ตายเถอะ! นี่กลายเป็นการกระทำแฝงนัยยะได้อย่างลึกซึ้งมากๆ
นี่เป็นช่วงขณะที่ท่านรัฐมนตรีเข้ามาพูดคุยสนทนา ยื่นข้อเสนอต่อรองร้องขอ Alex เรียกว่าแทบจะประทานทุกสิ่งอย่างให้เพื่อแลกกับความร่วมมือ สมัยหน้าเลือกตั้งจะได้ไม่สูญเสียตำแหน่งสำคัญของตนเอง ซึ่งความที่ชายหนุ่มมิสามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทำอะไรได้ ปากของเขาจึงเปิดกว้างอ้ารับทุกสิ่งอย่างเข้ามา ยินยอมตามคำขอแบบไม่คับข้องขัดขืน จะป้อนอะไรมาก็บริโภครับหมด
และสำหรับช็อตจบ เสียงบรรยายดังขึ้นว่า
“I was cured, all right!”
ถึงร่างกายจะได้รับการรักษา มิอาจโต้ตอบสนองความรุนแรงนานับประการ แต่จิตใจจินตนาการของเขายังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เต็มไปด้วยความรุนแรง ฉุดคร่า ข่มขืน กระทำได้โดยไม่ผิดอะไร แถมมีผู้ชมมากมายปรบมือส่งเสริมสนับสนุน พร้อมท่อนจบบทเพลง Beethoven: Symphony No. 9, 4th Movement
เกร็ด: ฉากนี้ถ่ายทำทั้งหมด 74 เทค!
Kubrick ทำการตัดต่อฉบับแรกของหนังได้ความยาวกว่า 4 ชั่วโมง เลยจำเป็นต้องไปว่าจ้าง Bill Butler สัญชาติอังกฤษ ให้มาช่วยแทะเล็มโน่นนี่นั่นออกจนเหลือ 136 นาที ซึ่งฟุตเทจที่ถูกนำออกไป เห็นว่าโดนสั่งให้เผาทำลายทิ้ง ไม่หลงเหลือ Director’s Cut ใดๆทั้งสิ้น
เล่าเรื่องทั้งหมดในมุมมอง ความคิด พร้อมเสียงบรรยายของ Alex DeLarge ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 องก์ (ตามนิยายเลย)
– Alex’s World ดำเนินเรื่องใน 1-2 วัน ขณะเป็นหัวหน้ากลุ่มนักเลงหัวไม้ ออกก่ออาชญากรรมยามค่ำคืน แต่วันถัดมากลับถูกลูกน้องทรยศหักหลังจนต้องรับโทษจำคุก
– The Ludovico Technique สองปีผ่านไปในคุก อาสาสมัครเป็นหนูทดลองวิธีการรักษาใหม่ ผ่านไปกี่วันไม่รู้ จบที่ขึ้นเวทีแสดงให้ใครๆประจักษ์ว่ากลายเป็นคนปลอดความรุนแรงโดยสิ้นเชิง
– After Prison ออกจากคุกวันแรก กรรมต่างๆที่เคยทำไว้ตามทันคืนสนอง จนวันถัดมาตื่นขึ้นตัดสินใจกระโดดหน้าต่างฆ่าตัวตาย แต่ดันรอดนอนค้างในโรงพยาบาลจนจบเรื่อง
ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ Kubrick หลงใหลในผลงานของ Sergei Eisenstein และ Vsevolod Pudovkin สองปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติรัสเซีย ที่ได้เสี้ยมสอนแนวคิด
“editing makes film a unique art form, and it needs to be employed to manipulate the medium to its fullest”.
ครั้งหนึ่งของการตัดต่อ จากตำราของ Eisenstein มีคำเรียกว่า ‘Intellectual Montage’ การแทรกใส่ภาพที่แม้จะอาจไม่สอดคล้องใดๆกับเรื่องราว แต่มีความหมายนัยยะแฝงเร้นอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมักมีลักษณะเกี่ยวกับศาสนา สิ่งเหนือธรรมชาติ ที่ต้องใช้สติปัญญาครุ่นคิดทำความเข้าใจ
ช็อตนี้ร้อยเรียงภาพถ่ายรูปปั้นพระเยซูทั้งสี่กอดคอตรึงกางเขนในมุมมองทิศทางต่างๆกัน พร้อมบทเพลง Beethoven: Symphony No. 9, 2nd Movement สื่อสะท้อนถึงความรุนแรงภายในจิตใจของมนุษย์ คือสาเหตุผลที่ทำให้บุตรของพระเจ้าต้องเสียชีวิต แล้วฟื้นคืนชีพมาโปรดสัตว์โลก (ประมาณว่า ถ้ามนุษย์ไม่มีพฤติกรรมความรุนแรงเกิดขึ้นในใจ พระเยซูคริสต์คงไม่มีโอกาสจุติลงมาเสียสละชีวิต แบกรับความผิดของมวลมนุษย์)
เกร็ด: รูปปั้นพระเยซูนี้มีชื่อว่า Christ Unlimited ผลงานของ Herman Makkink อีกเช่นกัน
ด้วยรสนิยมเพลงคลาสสิกอันเป็นเลิศของผู้กำกับ Kubrick เลือกผลงานดังๆอย่าง
– Ludwig van Beethoven: Symphony No.9
– Gioachino Rossini: William Tell Overture กับ The Thieving Magpie
– Edward Elgar: Pomp and Circumstance
รวบรวมเรียบเรียงโดย Wendy Carlos ชื่อเดิม Walter Carlos นักดนตรี/แต่งเพลง ข้ามเพศ สัญชาติอเมริกัน ที่ก็ยังแต่งหลายเพลงแนว Electronic กลิ่นอาย Futuristic สุดล้ำอนาคต เพิ่มเติมเข้าไปในหนังด้วย
จริงๆบทเพลง Title Music from A Clockwork Orange ก็ไม่เชิง Original สักเท่าไหร่ เรียบเรียงใหม่เป็นแนว Electronic จาก Music for the Funeral of Queen Mary, Z. 860 (1695) ประพันธ์โดย Henry Purcell เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีเพลิงศพของ Queen Mary II of England (มีชีวิต 1662 – 1694, ครองราชย์ 1689 – 1964)
นำต้นฉบับ Music for the Funeral of Queen Mary มาให้รับฟังเทียบกันด้วย, ส่วนตัวมองว่าต้นฉบับไพเราะทรงพลังกว่ามาก แต่ฉบับดัดแปลงมีความล้ำอนาคต เต็มไปด้วยสัมผัสชั่วร้ายแห่งความตาย เข้ากับโลกอันเสื่อมโทรม Dystopian ได้อย่างกลมกลืน
ทำไมต้อง Symphony No.9 (1824) ผลงานโบว์แดงชิ้นสุดท้ายที่ Beethoven ประพันธ์เสร็จสิ้นสมบูรณ์? ส่วนตัวคิดว่าด้วยเหตุผลเดียวกับ Singin’ in the Rain นี่คือบทเพลงที่สื่อสะท้อนถึงอารมณ์ความสุขสำราญ ฟังแล้วเกิดความพักผ่อนคลายกาย-ใจ โดยเฉพาะท่อน 4th คำร้องคอรัสประสานเสียง นำจากโคลงภาษาเยอรมัน Ode to Joy (1785) ประพันธ์โดย Friedrich Schiller จัดเป็นบทเพลงเพื่อความสุขสันต์โดยแท้
ข้อความประโยคแรกที่อยู่ในนิยาย A Clockwork Orange เขียนว่า
“What’s it going to be then, eh?”
มันเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ แค่เพียงผ่านไปไม่กี่ปีเกิดความเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิงจนแทบจดจำไม่ได้!
จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดของมวลมนุษย์ชาติ คือหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะผู้ชนะสงครามคือฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดยสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจแห่งระบอบ ‘ทุนนิยม’ เผยแพร่ขยายอิทธิพลแนวคิดไปทั่วโลก สนแต่เพียงความเจริญทางวัตถุภายนอก ตึกสูงใหญ่ระฟ้าปรากฎขึ้นมากมาย แต่จิตใจมนุษย์กลับยังเดินย่ำอยู่บนพื้นถนนเลนดิน ไม่ได้รับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามโลกาภิวัฒน์แม้แต่น้อย
ความสนใจของผู้เขียนนิยาย Burgess พุ่งเป้าไปที่การตั้งคำถาม อะไรคือนิยามของคำว่า ‘goodness’ หลังจาก Alex กระทำความชั่วมามากจนติดคุกตาราง เขาต้องการปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนดี เข้ารับการรักษาด้วยวิธี Ludovico Technique ร่างกายมีปฏิกิริยาแสดงออกตามข้อกำหนดที่สังคมกำหนดไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกลับสูญเสียสิ้นความสามารถในการครุ่นคิดตัดสินใจทำอะไรต่างๆได้ด้วยตนเอง
นั่นไม่ต่างอะไรกับอุดมการณ์ของระบอบการปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ที่พยายามควบคุมครอบงำการแสดงออก พฤติกรรมทั้งหมดทุกสิ่งอย่องของประชาชนในสังกัด ให้เป็นไปตามกฎหมาย เงื่อนไขข้อบังคับที่รัฐกำหนดสร้างขึ้นเท่านั้น ไม่มีใครในประเทศนี้ที่จะได้รับอิสระเสรีภาพ (Free-Will) กระทำสิ่งอย่างได้ตามใจประสงค์
ซึ่งในความเป็นจริงของมนุษย์ ทั้งหมดล้วนเป็นแบบ Alex ต่อให้ร่างกายถูกกำหนดด้วยคำสั่ง มิสามารถตอบสนองมีปฏิกิริยาต่อการกระทำความชั่ว แต่ความคิดอ่านภายในจิตใจของเขา ยังคงเพ้อฝันหวาน จินตนาการถึง Sex ความรุนแรง เสียงปรบมือ และรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ ‘นี่ฉันหายดีเป็นปกติแล้ว!’ ก็แค่ในบริบทของสังคมเผด็จการนี้เท่านั้นแหละ
ในมุมมองของผู้กำกับ Kubrick แสดงทัศนะถึงเรื่องราวของ A Clockwork Orange
“A social satire dealing with the question of whether behavioral psychology and psychological conditioning are dangerous new weapons for a totalitarian government to use to impose vast controls on its citizens and turn them into little more than robots”.
เรื่องราวล้อเลียนเสียดสีสภาพทางสังคม วิธีการปกครองของรัฐบาลเผด็จการ/คอมมิวนิสต์ ที่พยายามควบคุมครอบงำประชาชน ให้มีพฤติกรรมเสมือนหุ่นจักรกล เคลื่อนไหวสนองทำตามตามคำสั่งของพวกผู้นำประเทศเท่านั้น
สังเกต: อะไรหลายๆอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ อาทิ ศัพท์แสลง/ภาษาพูดของวัยรุ่น Nadsat รับอิทธิพลเต็มๆจากภาษารัสเซีย นี่เป็นการสะท้อนถึงสหภาพโซเวียต ที่ขณะนั้นยังมากด้วยอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ แพร่ขยายปกคลุมไปทั่วทวีปยุโรป
และคงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า ไดเรคชั่นในการทำงานถ่ายทำภาพยนตร์ของผู้กำกับ Stanley Kubrick แทบไม่ต่างอะไรจากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทีมงาน/นักแสดง ต้องกระทำตามคำสั่งชี้แนะนำของเขาอย่างเคร่งครัดชัดเจน มีสภาพไม่ต่างจากหุ่นจักรกล ผิดพลาดสักนิดเล็กน้อยก็ยินยอมรับไม่ได้!
ผมคิดว่านี่น่าจะคือเหตุผลแท้จริงที่ Kubrick สนใจเรื่องราวของ A Clockwork Orange เพราะมันสะท้อนเข้ากับนิสัยตัวตนการทำงานของเขาเอง พลอยให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ ทำไมต้องเข้มงวดกวดขัน Perfectionist ถึงขนาดนี้? ด้วยวัตถุประสงค์เพื่ออะไร? และเป้าหมายแท้จริงอยู่ตรงไหน?
สำหรับชื่อ A Clockwork Orange ผู้เขียนนิยาย Burgess ให้คำอธิบายด้วยสองเหตุผล
– A Clockwork เป็นตัวแทนของเครื่องจักรกล หุ่นยนต์, ส่วน Orang ภาษา Malay (ที่ Burgess เคยไปเป็นครูสอนหนังสือ) แปลว่า Man, มนุษย์/ผู้ชาย รวมแล้วหมายถึง มนุษย์ที่กลายเป็นหุ่นจักรกล
– คำแสลงของภาษาอังกฤษสำเนียง Cockney อ้างว่าได้ยินจากวัยรุ่นที่ผับแห่งหนึ่งใน London เมื่อประมาณปี 1945
“as queer as a clockwork orange”
ให้ความหมายถึง บุคคลที่รูปลักษณ์ภายนอก มองผิวเผินดูเหมือนเป็นมนุษย์ปกติดี แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความวุ่นวายปั่นป่วน, คล้ายๆกับเกย์ (Queer) ภายนอกดูเป็นชายหญิงธรรมดาทั่วไป แต่จิตใจกลับรักร่วมเพศ
นอกจากนี้ยังมีคำนิยามเพิ่มเติมที่ Burgess เขียนลงในหนังสือ A Clockwork Orange: A Play with Music
“An organic entity, full of juice and sweetness and agreeable odour, being turned into a mechanism”.
จริงอยู่ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นคือการเปรียบเทียบล้อเลียน สะท้อนเสียดสีระบอบการปกครองเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ จะเรียก Ludovico Technique คือวิธีการล้างสมองก็ยังได้ ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลง สนใจเพียงแค่ผลลัพท์ภายนอก จิตใจแท้จริงภายในเป็นอย่างไรช่างหัวมัน ไม่ได้มีคุณค่าใดๆในโลกอนาคตใบนี้
ด้วยทุนสร้าง $2.2 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $26.6 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 4 สาขา ไม่ได้สักรางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Director
– Best Film Editing
– Best Adapted Screenplay
ผลรางวัลปีนั้น คณะกรรมการ Oscar ต่างเทใจให้ The French Connection (1971) ของผู้กำกับ William Friedkin ที่ก็ถือว่ามากด้วยความรุนแรง แค่ไม่เสียสติแตกบ้าคลั่งเท่า A Clockwork Orange, ขณะที่ Malcolm McDowell คงต้องถือว่าถูก SNUB อย่างน่าหงุดหงิดใจ
เกร็ด: A Clockwork Orange คือภาพยนตร์ได้รับเรตติ้ง X ที่เข้าชิง Oscar: Best Picture ในประวัติศาสตร์มีเพียงอีกเรื่องคือ Midnight Cowboy (1969)
ถ้าจำไม่ผิด A Clockwork Orange เคยเป็นหนังเรื่องโปรดของผมอยู่สักพักเมื่อรับชมครั้งแรก แต่หลังจากนั้นค่อยๆเสื่อมมนต์ขลังลง เพราะความรุนแรงบ้าคลั่งเสียสติแตกของมัน มากล้นเกินกว่าจริตจะทนรับไหว กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไปอีก หวนกลับมารับชมครานี้มองในเชิง ‘Subjective’ เห็นเหตุผลความตั้งใจของผู้กำกับ Kubrick จริงๆแล้วมันคือ Black Comedy (แทบไม่ต่างอะไรกับ Dr. Strangelove) สะท้อนเสียดสีล้อเลียนสังคม หัวเราะหึๆแบบขำไม่ออกเท่าไหร่ คงลึกล้ำเกินกว่าหลายคนจะเข้าใจได้อย่างแน่แท้
แนะนำคอหนังโลกอนาคต (Futuristic) ประเภท Dystopian แนวอาชญากรรม, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ทำงานเกี่ยวกับปัญหาวัยรุ่น, นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์, หลงใหลในเพลงคลาสสิกเพราะๆของ Beethoven, แฟนๆผู้กำกับ Stanley Kubrick และนักแสดงนำ Malcolm McDowell ไม่ควรพลาด
จัดเรต NC-17 ด้วยความรุนแรงระดับ ‘Ultra-Violence’ ต่อให้เป็นผู้ใหญ่ก็ควรมีวิจารณญาณอย่างสูงในการรับชม
TAGLINE | “โลกอนาคตในจินตนาการของ Stanley Kubrick มี Malcolm McDowell กลายร่างเป็น A Clockwork Orange รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนจักรกล แต่ภายในคลุ้มคลั่งด้วยความรุนแรง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
A Clockwork Orange (1971)
(13/1/2016) Stanley Kubrick กับอีกหนึ่ง Masterpiece นี่เป็นหนังเรต X ที่ได้เข้าชิง Oscar (แต่ไม่ได้) นี่เป็นหนังที่มีความรุนแรงมากๆ แต่ก็เต็มไปด้วยแนวคิดและสะท้อนปัญหาของสังคมออกมาในหลายระดับ ผมจัดหนังเรื่องนี้อยู่ใน british นะครับ เพราะหนังใช้นักแสดงอังกฤษ พูดสำเนียงอังกฤษ และถ่ายทำที่อังกฤษ ถึงตอนฉายจะถูกดึงออกจากโปรแกรมฉายที่อังกฤษเร็วมาก (ได้ยินวา Kubrick ถูกขู่ฆ่าถ้าฉายหนังเรื่องนี้)
หนังดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Anthony Burgess ซึ่ง Kubrick ได้อ่านนิยายของเขาโดยบังเอิญและดัดแปลงโดยเคารพต้นฉบับมาก ซึ่งเขาก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับนิยายว่ามีความลึกซึ้งในหลายระดับมากทั้ง Political, Sociological, Philosophical, and, what’s most important, on a dreamlike Psychological-symbolic level ผมคงไม่วิเคราะห์ไปให้ครบทุกระดับนะครับ จะเลือกเฉพาะที่ผมสนใจอยากจะพูดถึงเท่านั้น
Malcolm McDowell นักแสดงนำชายของเรื่อง เป็นตัวเลือกแรกและตัวเลือกเดียวเลยของ Kubrick เห็นว่าตอนแรก McDowell ไม่รู้จักว่า Kubrick เป็นใครด้วยซ้ำ ซึ่งผมทึ่งในความทุ่มเทของ McDowell มากๆ เฮียแกต้องทนนั่งไม่กระพริบตาแบบนั้นอยู่ได้ยังไง เห็นว่าตอนถ่ายฉากนั้นมีหมอจริงๆที่คอยหยอดน้ำใส่ตาให้ด้วย เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบังคับให้คนเราไม่กระพริบตาได้นานขนาดนั้น ผมชอบสายตาของเขานะ นี่คงเป็นเหตุผลที่ Kubrick เลือก McDowell เขาเป็นคนที่มีแววตาคมกริบ เห็นแล้วเข้าใจเลยว่าเขาคิดอะไรอยู่โดยเฉพาะครึ่งแรกที่สายตาของเขาทำให้คนดูรู้สึกว่า หมอนี่เลวลึกมากๆ ส่วนครึ่งหลังก็เปลี่ยนไปราวกับเป็นคนละคน
ฉากเซตโดย John Barry เครื่องแต่งกายโดย Milena Canonero นี่เป็นเครดิตที่ต้องพูดถึงเลยนะครับ ฉากนี่มีทั้งฉากที่ใช้สถานที่จริงและเซตฉากขึ้นมา เห็นว่าทีแรก Kubrick ตั้งใจจะสร้างหนังเรื่องนี้โดยใช้ทุนต่ำ เพราะต้องการพิสูจน์ให้ค่ายหนังเห็นว่าหนังทุนต่ำเขาก็ทำได้ แต่ไปๆมาๆนี่ก็กลายเป็นหนังทุนสูงเรื่องหนึ่ง(ในยุคนั้น) มีหลายฉากที่เซตขึ้น มีของเล่นมากมายในหนัง ซึ่งผมชอบมันมากๆเลยนะ คือมันชัดเจน ตรงตัวสุดๆ เห็นครั้งแรกก็อดหัวเราะไม่ได้ เช่น น้ำนมไหลจากรูปปั้นหน้าอกของผู้หญิง แต่ที่ฮาที่สุดคงหนีไม่พ้นเอา penis ทิ่มหัวหญิงผู้โชคร้ายคนหนึ่งจนตาย โอ้โห! ขนาดนั้นเลย ไม่ได้เรต X ก็ให้รู้ไปสิ
สำหรับเครื่องแต่งกาย ก็มีส่วนผสมแบบ fantasy-modern ที่แปลกมากๆ และเป็นความจงใจของ Kubrick ด้วยละมั้งที่เลือกให้พระเอกและลูกน้องใส่ชุดสีขาวตอนครึ่งแรก ส่วนครึ่งหลังเราจะเห็นแต่เสื้อสีเข้มๆ ชุดตำรวจ ชุดสูท ซึ่งความหมายมันก็ชัดเจน สีขาวแสดงถึงความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ส่วนสีเข้มๆ สีดำเป็นสีแห่งความแปดเปื้อน
ถ่ายภาพโดย John Alcott ผมเชื่อว่าคนดูคงรู้สึกนะครับ ว่าการถ่ายภาพของหนังเรื่องนี้แปลกมาก คือมันรู้สึกบิดเบี้ยว บางฉากภาพก็ดูนูนๆแปลกๆ หนังเรื่องนี้ใช้เทคนิคมากมายในการถ่ายนะครับ โดยเฉพาะการเลือกเลนส์ จะสังเกตว่าหลายฉากถ่ายในห้องแคบๆ แต่เพื่อให้รู้สึกถึงความอึดอัด จึงใช้เลนส์ที่ทำให้เห็นภาพกว้างขึ้น ภาพจึงรู้สึกนูน (เหมือนใช้เลนส์ Wide ถ่ายภาพ) นอกจากนี้ยังมีการถ่าย slow-motion ซึ่งเห็นหลายฉากมาก แต่ละฉากที่ Kubrick เลือกมาผมรู้สึกมันคลาสสิคมากๆ และส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับน้ำแทบทั้งนั้น แต่ที่ผมชอบสุดก็คงหนีไม้พ้น sex-scene orgy ตอนท้าย ที่พร้อมกับเพลงของ Beethoven โอ้แม่เจ้า! คิดได้ยังไงฉากนี้
ตัดต่อโดย Bill Butler การตัดต่อของฟีล์ม slow-motion นั้นใช้ความอดทนมากๆ เพราะเราไม่รู้ว่าจะให้ตัดที่ตรงไหนดี เพราะมันเหมือนคนดูกำลังอินกับฉากๆนั้น จังหวะเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ซึ่งผมว่านี่เป็นจุดที่จะบอกเลยว่านักตัดต่อเก่งแค่ไหน เอาจริงๆหนังมีหลายฉากที่ดูยาวๆและเวิ่นเว้อ ดูเหมือนไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเล่าให้ถึงขนาดนี้เลย แต่ผมรู้สึกว่าทุกวินาทีในหนังไม่มีอะไรที่ไม่มีความหมายเลยนะ เช่น ตอนพระเอกเข้าคุกและต้องเอาของทุกอย่างออกมาจากในกระเป๋า ไม่น่าเชื่อว่ากับฉากที่แทบจะไม่มีอะไรเลยนี้ ของแต่ละอย่างที่เอาออกมาก็มีความหมายของมัน คำพูด การแสดงของผู้คุม การกระทำของพระเอก มันก็มีความหมายและนัยยะแฝงในทุกระดับเลย ผมเลยมองว่าฉากที่เหมือนจะไม่จำเป็นนี้ มีความสมบูรณ์และความหมายในตัวเอง เอาจริงๆนักตัดต่อเจอแบบนี้ ไม่กล้าตัดครับ (โดยผู้กำกับด่าแน่นอน)
เพลงในหนังเรื่องนี้เป็นดนตรีที่ไม่คุ้นหูเลย Walter Carlos (หรือ Wendy Carlos เขา/เธอ ผ่าตัดแปลงเพศเมื่อปี 1972) ได้ทำการผสมเครื่องดนตรี electronic เข้าไปในเพลง classic โดยใช้เครื่อง Moog synthesizer ผมก็ไม่รู้จักหรอกนะครับ ลองค้นหาอ่านใน google เอาเองนะครับ เป็นการเลือกเพลงประกอบที่แปลกมากๆ มันให้บรรยากาศ Fantasy แบบแปลกๆ เป็นโลกสมมติที่ไร้กาลเวลา มีความหม่นหมอง เละเทะ หลอนๆ หลากหลายอารมณ์ผสมกัน ซึ่งมันดันเข้ากับหนังมากๆอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ในหนังยังมีเพลงของ Beethoven อีกสองสามเพลงที่น่าจะคุ้นหูกันอยู่ และเพลงฮัม Singing in the Rain อันเลื่องชื่อ ฉากที่พระเอกฮัมเพลงนี้เห็นว่าเป็นไอเดียของ McDowell ที่แสดงอารมณ์ของตัวละครที่เขาเล่นออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ (ใครเคยดู Singing in the Rain ก็น่าจะเข้าใจอารมณ์นั้นครับ) ตอนที่ผมดู A Clockwork Orange รอบแรก ตอนนั้นคุ้นๆว่าเพิ่งดู Singing in the Rain จบมาไม่กี่วันก่อนหน้านั้นด้วย พอได้ดู A Clockwork Orange แล้ว โอ้! ใช่เลย อารมณ์นี้แหละ
Clockwork คือนาฬิกาติกต๊อกที่หมุนไปมาเหมือนกลจักร ส่วน Orange นั้นเป็นสีที่เปรียบเหมือนกับสีของมนุษย์ Clockwork Orange เปรียบมนุษย์เหมือนเครื่องจักรที่หมุนติดตอกไปตามคำสั่ง เหมือนกับตัวละครในหนัง ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมีอิสระอยากทำอะไรก็ทำได้ แต่เมื่อเขาก้าวเข้าสู่สังคม ที่มันเหมือนอยู่ในคุก ที่เรายังมีอิสระทำอะไรก็ได้แต่ในขอบเขตที่จำกัด แต่ถ้าต้องการออกไปสู่โลกข้างนอก ก็จะถูกควบคุมทุกอย่างแม้แต่การกระทำของตนเอง
แนวคิดเรื่อง Ludovico Technique เป็นอะไรที่น่ากลัวมากๆนะครับ คือมันสมจริงสุดๆเลย ถ้าแบบว่าเราต้องถูกบังคับให้ทำอะไรแบบนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะกลายเป็นแบบตัวละครในหนัง นี่เป็นอะไรที่มีแต่ในนิยายนะครับ ในโลกเป็นจริงมันไม่มีใครหรอกที่จะกล้าทำแบบนี้ ผมได้ยินว่าเหตุผลที่ Kubrick เลือกใช้เพลงของ Beethoven ในหนังก็เพราะชื่อของ Ludwig นั้นคล้ายกับชื่อเทคนิค Ludovico นะครับ
ในหนังเราจะเห็นแนวคิดอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากคือ คนดี ดีที่จิตใจหรือการกระทำ หนังทำการสำรวจแบบครบทุกด้านจริงๆ นิสัยไม่ดี ทำไม่ดีได้ผลยังไง นิสัยดี ทำดี/ทำไม่ดีได้ผลอย่างไร ที่เด่นสุดในครึ่งหลังคือ นิสัยไม่ดี แต่ทำดีได้ผลอย่างไร ทั้งแบบถูกบังคับทางกายและไม่ถูกบังคับทางกาย แต่นี่เป็นแนวคิดระดับที่คนทั่วไปเห็นนะครับ หนังมันลึกซึ้งกว่านั้นมาก ผมชอบการนำเสนอในหลายระดับของหนังเรื่องนี้ อาทิ เพื่อน ครอบครัว สังคม และประเทศ ผมยกในระดับสังคมแล้วกัน พระเอกเป็นตัวละครที่เป็นตัวสะท้อนของสังคม เมื่อคนกระทำความผิดอะไร สังคมรับรู้ แต่สังคมไม่เคยยอมรับคนพวกนี้อีก ต่อให้เขาจะกลายเป็นคนดีแท้แน่นอน ก็ไม่อาจยอมรับได้ อาจจะมีก็แต่ครอบครัวเท่านั้นที่รับได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาหน่อย
สิ่งที่ผมชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือ การพยายามเข้ามาควบคุมและมีบทบาทของสังคมต่อคนๆหนึ่ง รัฐได้สร้างกรอบ ระเบียบ และกฎหมายขึ้นมาเพื่อควบคุมคนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่นั่นเป็นเพียงข้ออ้างของการสร้างมนุษย์เครื่องจักร (Clockwork Orange) เพราะมันหมายถึงถ้าคุณอยู่ในกรอบไม่ได้ คุณก็จะถูกสังคมต่อต้าน ทำร้ายและขับไล่ จุดนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ดูแล้วจะตีความได้นะครับ ผมรู้สึกแบบนี้ตอนดูครั้งล่าสุดนี่เอง Clockwork ในหนังมันชัดเจนมากๆนะครับ ต่อให้คุณถูกควบคุมทางกายได้ แต่ทางใจมันไม่มีทางเลย ประโยคตอนจบที่ว่า I’m cure! นี่เชื่อว่าใครๆก็น่าจะเข้าใจเองได้นะครับว่าพระเอกมัน cure จริงหรือเปล่า
ผมไม่แนะนำหนังเรื่องนี้กับคนอายุต่ำกว่า 18 นะครับ (NC-17) หนังมีความรุนแรงทั้งภาพและเสียงที่ชัดเจนมากๆ แต่อยากแนะนำให้กับคนที่ใช้ความรุนแรงในการใช้ชีวิตได้ดูหนังเรื่องนี้ ทัศนคติบางอย่างของเขาอาจจะเปลี่ยนไป นี่เป็นหนังที่ผมชอบมากๆ แต่ก็ไม่อยากดูบ่อย เพราะดูแล้วเครียดมาก แต่ก็เป็นความสมบูรณ์แบบตามสไตล์ของ Stanley Kubrick นะครับ ใครเป็นสาวกของผู้กำกับคนนี้ก็ห้ามพลาดทีเดียว
คำโปรย : “A Clockwork Orange มนุษย์ที่เปรียบเสมือนเครื่องจักร อีกหนึ่ง Masterpiece จาก Stanley Kubrick นำแสดงโดย Malcom McDowell นี่คือหนังเรต X ที่รุนแรงแต่ยอดเยี่ยมมากๆ”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE
Leave a Reply