A Fantastic Woman (2017) : Sebastián Lelio ♥♥♥♥♡
ความมหัศจรรย์ของผู้หญิงข้ามเพศคนนี้ คือความอดกลั้นต่อทุกสิ่งอย่างเมื่อถูกสังคมรุมประณามหยามเหยียด ทนไปได้อย่างไรเมื่อมนุษย์ผู้ประเสริฐเรียกเธอว่าสัตว์เลื้อยคลานเดรัจฉาน แถมยังกระทำการชั่วช้าสามานย์อัปลักษณ์น่ารังเกียจน่าดูแคลนสิ้นดี ก็ไม่เข้าใจคนพวกนี้มันจะแย่งหมาเกิดมาทำไม
มนุษย์เกลียดเกย์ กระเทย เพศที่สาม เพราะอะไร? สืบค้นไปเรื่อยๆก็ได้ข้อสรุปของตนเองว่า มันเป็นจากอิทธิพลข้ออ้างจากความเชื่อทาง ‘ศาสนา’
กับอิสลามนี่ชัดเจน คัมภีร์อัลกุรอาน ประณามว่า ความรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ผิดวิสัยของมนุษย์ในการสมสู่ทางเพศ พระองค์ทรงสร้างเพศหญิงเพศชายขึ้นมาเพื่อการสืบพันธุ์ การสมสู่กับเพศเดียวกันเป็นการละทิ้งอีกเพศหนึ่ง ทำให้มนุษย์สูญพันธุ์, แต่การตีความเรื่องบทลงโทษเป็นเรื่องของประเทศนั้นๆ เช่นว่า อิหร่านถ้าถูกจับได้โทษร้ายแรงคือแขวนคอประหารชีวิต, อินโดนีเซีย บรูไน เฆี่ยนตีโบยด้วยไม้ต่อหน้าที่สาธารณะ ฯ
ศาสนาคริสต์ในยุคสมัยแรกๆก็ไม่แตกต่างกันนัก มีสองอิทธิพลจากยุคก่อนความเชื่อเรื่องพระเจ้าหนึ่งเดียว (เอกเทวนิยม) จะถือกำเนิดขึ้น บริเวณแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน
1) การร่วมเพศกับเด็กชาย โดยเกย์ในสมัยนั้นได้สร้างทัศนคติที่ว่า หากเด็กผู้ชายไม่หลับนอนกับผู้ชายที่โตกว่าจะไม่ถือว่ากลายเป็นผู้ใหญ่
2) ทาสเทวทาสี หรือโสเภณีเทพเจ้า เชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้เทพเจ้าพึงพอใจและเป็นการสังเวยบูชาเทพก็คือ การมีเพศสัมพันธ์ในวิหารของเทพองค์นั้นๆ โดยจะมีโสเภณีทั้งหญิงและชาย จัดคอยให้บริการสำหรับผู้มาขอพร เมื่อมีเด็กเกิดมาไม่ว่าชายหญิง จะต้องกลายเป็นทาสรับใช้เทพเจ้าอยู่ในวิหารต่อไป ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นไทโดยเด็ดขาด
เมื่อศาสนาคริสต์ถือกำเนิดขึ้น ต้องการสอนมนุษย์ให้มีศีลธรรมจรรยา ป้องกันการผิดพระบัญญัติล่วง ละเมิดต่อผู้เยาว์ การผิดประเวณี และการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถึงได้สั่งสอนให้รักร่วมเพศถือว่าเป็นบาป, แต่ปัจจุบันประเด็นนี้ได้แปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม กำลังค่อยๆได้รับการยอมรับในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
คงมีแต่พุทธศาสนาเท่านั้นกระมัง ที่สั่งสอนมาตั้งแต่ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน ให้รู้จักความเท่าเทียมของทุกสิ่งมีชีวิต (ไม่ใช่แค่เฉพาะมนุษย์ แต่สัตว์ร่วมโลกทุกสรรพสิ่ง) รักร่วมเพศเดียวกันไม่ถือเป็นสิ่งผิด เว้นเสียแต่ละเมิดศีลข้อ ๓ ร่วมประเวณีกับคนมีเจ้าของ ลักลอบเป็นชู้ หรือใช้กำลังข่มขืนโดยไม่สมยอม (กับโสเภณีบางครั้งก็ไม่ผิดศีลนะครับ ถ้ามิใช่คนที่เจ้าของอยู่แล้ว)
Sebastián Lelio (เกิดปี 1974) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Chilean เกิดที่ Mendoza, Argentina ทุกสองสามปีแม่จะพาย้ายที่ทำงานไปเรื่อยๆ เคยอาศัยอยู่ ชิลี, อเมริกา, อาร์เจนติน่า ฯ โตขึ้นเข้าเรียน Chilean Film School จบออกมากำกับหนังสั้น Music Video สารดคี ภาพยนตร์เรื่องแรก La Sagrada Famillia (2006), ตามด้วย Navidad (2009) ได้ฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Cannes, The Year of the Tiger (2011), Gloria (2013) คว้ารางวัล Silver Bear for Actress และเป็นตัวแทนประเทศเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film (แต่ไม่เข้ารอบใดๆ)
ผลงานก่อนหน้าของ Lelio เรื่อง Gloria (2013) เป็นเรื่องราวของหญิงสูงวัย (58 ปี) ที่หลังจากหย่าขาดสามีเก่ามาเกือบสิบปี มีชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ตัดสินใจมองหาคู่ครองร่วมชีวิตคนใหม่ แต่อายุปูนนี้แล้ว เพื่อนฝูงลูกๆหลานๆต่างไม่ค่อยอยากยอมรับส่งเสริมสนับสนุนการกระทำของเธอสักเท่าไหร่
กับคนที่รับชม A Fantastic Woman มาแล้ว น่าจะรู้สึกว่าพล็อตมีความใกล้เคียงคล้ายคลึงกันอยู่, เรื่องราวของ Marina (รับบทโดย Daniela Vega) หญิงสาว Transgender ครองคู่อยู่กับคนรักสูงวัย Orlando (รับบทโดย Francisco Reyes) ที่อยู่ดีๆทรุดลงด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ญาติๆและครอบครัวเก่าเมื่อทราบข่าวพยายามกีดกันไม่ยอมรับ Marina ให้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีศพ
Daniela Vega Hernández (เกิดปี 1989) นักร้อง Mezzo-Soprano นักแสดงสัญชาติ Chilean เกิดที่ San Miguel, Santiago ตั้งแต่เด็กมีความสนใจในการขับร้องโอเปร่า ร่ำเรียนจากคุณย่าตอนอายุ 8 ปี ไม่ชอบไปโรงเรียนเพราะถูกกลั่นแกล้งจากผู้ชาย โตขึ้นเลยรับรู้ว่าตัวเองเป็นกระเทย โชคดีได้รับการสนับสนุนจากพี่ชายและครอบครัว พ่อแนะนำให้เข้าเรียนโรงเรียนสอนการแสดง จนได้กลายเป็นนักแสดงละครเวที ระหว่างนั้นมีผลงาน Music Video และแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก La Visita (2014),
ในตอนแรก Vega ได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Lelio ให้มาเป็นที่ปรึกษาขณะกำลังพัฒนาเขียนบท แต่เพราะเธอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟังอย่างเยอะ เลยชักชวนให้รับบทนำแสดงด้วยเสียเลย กลายเป็นโอกาสทองที่หาได้ยากยิ่งเสียจริง
รับบท Marina สตรีข้ามเพศผู้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อคนรัก Orlando อยู่ดีๆก็เสียชีวิตจากไป ถูกกดดันจากสังคมและครอบครัวเก่า(ของเขา) ที่ไม่อนุญาตให้เข้าร่วมพิธีศพ แต่เธอกลับมองเห็นวิญญาณของเขาตามมาหลอกหลอนอยู่เรื่อยๆ (คงเพราะอยากให้ไปร่ำลาจากกันครั้งสุดท้ายกระมัง) พยายามอดทนกัดฟันก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานั้น และขณะเดียวกันเพื่อค้นหาคำตอบหนึ่งให้กับตนเอง ‘ฉันเป็นใครกันแน่?’
นอกจากเสียงร้องอันน่าทึ่งของ Vega ความทุกข์ทรมานเก็บกดที่อัดแน่นอยู่ภายใน คงสะท้อนจากประสบการณ์ตรงที่เจ้าตัวเคยพบเจอ ถ่ายทอดออกมามีความสมจริงทรงพลังมากๆ แม้หลายครั้งจะเป็นภาพในจินตนาการความฝัน แต่ยังสร้างอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างให้เกิดขึ้นกับผู้ชมได้
ถ้าเป็นคนปกติทั่วไป เมื่อได้ยินคำพูดหรือถูกกระทำแบบเดียวกับ Marina เชื่อว่าคงสวนกลับ วีนแตก เอาคืนแบบถึงพริกถึงขิงให้สาสม แต่เพราะที่นั่นคือประเทศชิลี (คนส่วนใหญ่ยังยินยอมรับกับเรื่องพรรค์นี้ไม่ได้) และอุปนิสัยส่วนตัวของเธอ ไม่ชอบทำให้เรื่องลุกลามวุ่นวายใหญ่โต มันเลยเต็มไปด้วยความอดกลั้น คับข้องแค้น ขณะเดียวกันถือว่าน่ายกย่องสรรเสริญ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทนยอมให้เรื่องพรรค์นี้เกิดขึ้นกับตนเองได้
เกร็ด: หลายประเทศแถบละตินอเมริกา ค่อนข้างจะหัวโบราณอนุรักษ์นิยมพอสมควร เช่นเดียวกับประเทศชิลี ซึ่งเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากประธานาธิบดีหญิง Michelle Bachelet ได้รับเลือกตั้งสมัยสองปี 2014 พยายามผลักดันร่างกฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกันผ่านรัฐสภา น่าจะสำเร็จลุล่วงแล้วกระมัง
ถ่ายภาพโดย Benjamín Echazarreta ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส พ่อเป็นจิตรกรที่ชอบพาครอบครัวย้ายไปอยู่เมืองต่างๆ (เพื่อหาแรงบันดาลใจ) อาทิ ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, อเมริกา ฯ ตอนอายุ 15 อพยพย้ายมาอยู่ชิลี รู้จักกลายเป็นเพื่อนสนิทร่วมงานผู้กำกับ Lelio ตั้งแต่สมัยเรียนภาพยนตร์
งานถ่ายภาพของหนังเต็มไปด้วยความน่าอัศจรรย์ใจ งดงาม แฝงความหมายลึกซึ้ง และหลายครั้งมีลักษณะ Surrealist สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมา (ส่วนมากถูกมองเป็นฉากในความฝัน)
ก่อนอื่นเลยภาพแรกของหนังคือน้ำตกอีกวาซู (Iguazu Falls) สถานที่ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเกย์กระเทย เพศที่สาม ใครเคยรับชม Happy Together (1999) น่าจะเกิดความเข้าใจนัยยะความหมายของมันได้ทันที, น้ำตกเป็นสถานที่ที่น้ำไหลจากสูงลงต่ำ เริ่มต้น-สิ้นสุด อดีต-อนาคต ทุกสิ่งอย่างบรรจบผสมผสานรวมตัวเข้าด้วยกัน ไม่สนความแตกต่าง เชื้อชาติ สีผิว วรรณะ หรือแม้แต่เพศสภาพ กลายเป็นสิ่งเดียวเคลื่อนไหลไปต่อ เบื้องล่างเสมือนโลกใบใหม่
เกร็ด: Iguazu แปลว่า สายน้ำอันยิ่งใหญ่, ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อพรมแดนระหว่างประเทศบราซิลกับประเทศอาร์เจนตินา ถือเป็นน้ำตกมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะสายน้ำไหลจากขอบที่ราบสูงขนาดใหญ่ลงสู่พื้นที่ราบต่ำกว่า ด้วยแนวยาวกว่า 4 กิโลเมตร สูงกว่า 269 ฟุต
เรื่องราวของหนัง มีความเกี่ยวข้องกับ Transgender ซึ่งวิธีร่วมรักของพวกเขาและเธอคือทวารหนัก/ประตูหลัง เลยไม่แปลกอะไรที่จะมีฉากเปิดกระโปรงท้ายรถยนต์ สื่อความหมายลักษณะคล้ายๆกัน, ช็อตนี้คือตอนที่ Orlando เปิดประตูหลังเพื่อค้นหาตั๋วเครื่องบิน ขวัญวันเกิดที่จะมอบให้คนรักเดินทางสู่น้ำตกอีกวาซู นี่ก็สื่อแอบสื่อตรงๆในรสนิยมความชื่นชอบของเขา
วันเกิดของ Marina คือวันตายของ Orlando แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ผมมีความสนเท่ห์ในสถานที่ Happy Birth Day เป่าเค้กของพวกเขา นั่นคือภัตราคารอาหารจีน ทำไมต้องที่นี้?
ถ้าใครเคยศึกษาประวัติศาสตร์ชาวตะวัน อเมริกัน/ละตินอเมริกัน ประเทศพวกนี้ถือว่าอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง White Supremacy คนสมัยนี้อาจคุ้นเคยแค่การเหยียดคนผิวสี แต่คนผิวเหลือง/ชาวจีน ก็ไม่ว่างเว้นนะครับ โดนเข้าร่างแหเข้าไปเต็มๆ
การเลือกใช้สถานที่ภัตราคารอาหารจีน คงต้องการสะท้อนถึงคนผิวเหลืองก็ได้รับการปฏิบัติแสดงออกไม่แตกต่างจากเพศที่สาม สังคมชาวตะวันตกยังไม่ค่อยยินยอมรับเข้าพวกเป็นส่วนหนึ่ง จัดว่าเป็นกลุ่มคนนอก ‘Foreign’ เหมือนกัน (ทั้งๆที่ก็เกิดในผืนแผ่นดินเดียวกันแท้ๆ)
Sex Scene ของ Marina กับ Orlando ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เพราะพวกเขา Make-Love กันบริเวณกระจกริมหน้าตาแบบโจ๋งครึ่มไม่อายใคร แต่นั่นมีนัยยะสื่อถึงพื้นหลังประเทศชิลี ที่ตอนนั้นยังค่อนข้างปิดกั้นไม่ให้การยอมรับเพศที่สามทั้งหลาย ซึ่งการร่วมรักของพวกเขาหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน [คุ้นๆมันคือท่าจับโจร (Policeman)] ไม่แยแสสิ่งที่สังคมหรือใครอื่นครุ่นคิดปฏิบัติต่อพวกเขาแม้แต่น้อย
หลังจากรับทราบการเสียชีวิตของคนรัก Orlando สิ่งที่ Marina แสดงออกคือเข้าห้องน้ำแล้วร้องไห้, ห้องน้ำโรงพยาบาลก็มักแบบนี้นะครับ ทำช่องว่างข้างล่างประตูให้สูงๆไว้ เวลาผู้ป่วยล้มทรุดหรือมีปัญหาอะไร คนอื่นจะมองเห็นสามารถเข้าช่วยเหลือได้ มันกลายเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับช็อตนี้ ถ่ายมุมต่ำเห็น Marina ทรุดคุกเข่านั่งลง สะท้อนถึงสภาวะทางอารมณ์ของเธอ ‘ตกต่ำ’ ถึงขีดสุด
ลุกขึ้นมาล้างหน้าล้างตาเรียกสติ เราจะเห็นภาพใบหน้าของ Marina สะท้อนกระจกนับครั้งไม่ถ้วนละเลยละ ซึ่งมักมีลักษณะเป็นการตั้งคำถามกับตนเอง อย่างช็อตนี้สื่อถึง แล้วฉันจะทำอย่างไรต่อไป? อะไรจะเกิดขึ้นถัดจากนี้?
ไดเรคชั่นของการติดต่อหาครอบครัวของ Orlando เลือกสถานที่ด้านนอกโรงพยาบาล Marina โทรศัพท์หา Gabo กล้องถ่ายจากด้านหลังเคลื่อนติดตามไปเรื่อยๆ พอหัวข้อสนทนาเปลี่ยนมาเป็น Gabo บอกจะติดต่อญาติคนอื่นๆให้เอง Marina จะหันหน้ากลับมา กล้องเคลื่อนติดตามถอยหลัง
ฉากนี้ตีความได้หลากหลาย ผมมองว่าเป็นการหันหลังกับเผชิญหน้า, ตอนแรกที่หันหลังให้กล้องคือความอึดอัดไม่รู้จะพูดบอกอะไร ยังไงกับญาติๆของ Orlando แต่พอ Gabo อาสาเป็นธุระให้ เธอจึงหันหน้าเข้าหากล้องด้วยความรู้สึกโล่งอกสบายใจ (แต่ที่ไหนได้ เปรตญาติทั้งหลายกำลังจะมารุมทึ้งเธอ)
การปรากฎตัวของผี Orlando มาในหลากหลายรูปแบบ แต่ผมผงะ หลายคนอาจสะดุ้ง คือภาพสะท้อนในแว่นตาดำของ Marina, สิ่งที่หญิงสาวมองเห็น สะท้อนถึงความคั่งค้างคาในใจ หรือไม่ก็วิญญาณจริงๆของคนรัก ต้องการชักจูงให้มาพบเจอกันครั้งสุดท้าย จูบลาก่อนจากไปชั่วนิรันดร์
Surrealist ช็อตนี้มีความตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง หญิงสาวตัวเล็กๆคนหนึ่ง มีหรือจะต้านทานแรงลมอันเชี่ยวกรากของสังคม สามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้โดยลำพัง ขนาดข้าวของประตูยังปลิวว่อยกระจาย นี่ถ้าไม่โน้มตัวไปข้างหน้าเข้าไว้ ก็คงม้วนกลิ้งย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นเป็นแน่
วิธีการต่อสู้ต้านทานแรงลมของช็อตนี้น่าสนใจทีเดียว คือการยืนให้มั่นคงแล้วโน้มตัวไปข้างหน้า แปลว่าถ้าต้องการจะเอาชนะสิ่งที่เป็นขนบวิถีดั้งเดิมของสังคม เราต้องมีรากฐานมั่นคงเป็นจุดยืน จากนั้นโน้มตัวมุ่งไปข้างหน้า อย่ามองหลังหรือก้าวถอยเป็นอันขาด
ฉากในไนท์คลับ คือ Masterpiece ด้านการถ่ายภาพเลยนะ โดยเฉพาะแสงเลเซอร์สีเขียวที่กวัดแกว่งไปมา เวลาถูกหน้าตัวละครมันจะทำให้ดูเหมือนแหว่งๆขาดๆ ไม่สมประกอบยังไงชอบกล นี่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและเพศสภาพของตัวละคร ที่ก็ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตนเองเป็นใครกันแน่
Surrealist ของการกลายร่างเป็นนักเต้น แต่งหน้าแต่งตา สวมชุดที่เหมือนขนนก สะท้อนแสงระยิบระยับ โบยบินล่องลอยไปมาอย่างอิสระเสรี, นี่สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ความต้องการของ Marina ‘ตัวฉันเป็นฉัน’ อยากแสดงออกในสิ่งที่เป็นตัวของตนเอง
เช้าวันใหม่หลังจากถูกขับไล่จากพิธีศพ กลายร่างเป็นสัตว์เดรัจฉาน (ถูกจับเอาสก็อตเทปพันหน้า) เข้าบาร์เกย์/ไนท์คลับ จับชายคนหนึ่งมาร่วมรัก เสร็จแล้วโบยบินเป็นอิสระในห้วงความคิด … เช้าวันนี้อะไรมันจะบังเอิญขนาดนั้น มีคนถือกระจกเดินผ่าน สะท้อนใบหน้าของ Marina (อีกแล้ว) ครานี้มันจะบิดๆบู้ๆสักหน่อย เห็นแล้วเกิดเป็นคำถาม หล่อยคือใครย่ะ? คิดได้แล้วจึงออกเดินทางมุ่งสู่…
Sequence ที่ผมชื่นชอบสุดในหนังคือ Sauna ที่ Marina เริ่มต้นจากห้องของผู้หญิง ตัดสินใจมัดผมเปลื้องผ้าท่อนบนออก ออกเดินมุ่งสู่ห้องเก็บของของผู้ชาย นี่เป็นวินาทีแห่งการค้นหาตัวตนของตนเอง เป้าหมายคือล็อกเกอร์ที่อาจมีตั๋วไปน้ำตกอีกวาซู (ของขวัญชิ้นสุดท้ายของ Orlando) แต่สิ่งที่เธอค้นพบใน MacGuffin นั้นไม่ว่าคืออะไร มันทำให้เกิดการตัดสินใจ ฉันต้องพบเจอร่างของ Orlando ครั้งสุดท้ายให้จงได้
สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดของฉากนี้คือการใช้เฉดโทนสีที่หลากหลาย ล้วนเป็น Monotone เพื่อสื่อสะท้อนความหมายบางสิ่งอย่าง
– สีม่วง สัญลักษณ์ของเพศที่สาม
– สีน้ำเงิน มีความยะเยือกเย็นชา เหี้ยมโหดร้าย
– สีเขียว แทนสิ่งที่อยู่ภายในล็อกเกอร์/จิตใจของบุรุษเพศ
เอาหมาของฉันคืนมา และ Orlando อยู่ไหน คงกลายเป็นคำติดปากในอนาคตต่อไป นี่เป็นการตอบโต้แสดงความเกรี้ยวกราด ถึงขนาดปีนขึ้นไปยืนบนรถ แต่ผมมองเห็นท่านี้เหมือน Woman On Top คือความต้องการเป็นผู้ควบคุมจังหวะท่วงหน้าของการร่วมรักขณะนั้นบ้าง
แสงสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของ Passion ทางเพศ ขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงเลือดและความตาย, นี่ถือสถานที่สุดท้ายของผี Orlando บรรจบกันระหว่างความจริงกับความฝัน ไม่น่าเชื่อว่า Marina จะถูกชี้ชักนำพามาถึงห้องเผาศพใต้ดินนี้ได้
ปกติแล้วชาวคริสต์จะนิยมฝังศพ แต่การเลือกเผาศพเป็นสิทธิ์ของผู้ตาย (และผู้สร้างภาพยนตร์) สื่อนัยยะถึงการมอดไหม้หมดสิ้น (ของอดีต) หลงเหลือเพียงเถ้าถ่านแห่งความทรงจำ
นี่คือช็อต Masterpiece ของหนัง Marina มองดูกระจกที่วางบนอวัยวะเพศของตนเอง เหมือนเป็นการตั้งคำถามว่า ฉันคือใคร? เพศสภาพคืออะไร? อวัยวะเพศเป็นสิ่งบ่งบอกเพศสภาพได้หรือ?
วินาทีที่เกิดความเข้าใจนั้น พาหมาออกไปวิ่งเล่น, สิ่งน่าสนใจของฉากนี้คือพื้นหลัง พบเห็นเมือง Santiago ยามเช้าวันใหม่ นี่สะท้อนกับฉาก Love-Scene ที่อยู่ในห้องบนตึกสูงยามค่ำคืนมืดมิด เป็นการบอกว่าสิ่งต่างๆกำลังมาถึงจุดเริ่มต้นอะไรใหม่ๆแล้ว
เสียงร้อง Mezzo-Soprano ของ Vega เต็มไปด้วยความโหยหวนล่องลอยตราตรึง ดั่งนกที่โบยบินเหินหาสู่อิสรภาพอันไร้สิ่งใดๆกีดกั้นขวาง แม้ตัวเธอจักไม่ได้ออกเดินทางมุ่งสู่น้ำตกอีกวาซู แต่ก็ได้ค้นพบตัวตน ความต้องการของตนเองที่อยู่ในประเทศชิลีแห่งนี้แหละ
ตัดต่อโดย Soledad Salfate, เรื่องราวเริ่มต้นจากมุมมองของ Orlando ไปจนกระทั่งพบเจอกับ Miranda จากนั้นก็ได้เปลี่ยนเป็นมุมมองของเธอเล่าเรื่องส่วนที่เหลือทั้งหมด (แต่เราสามารถมองว่าเป็นมุมมองของ Orlando ที่กลายเป็นผี แล้วยังเวียนวนอยู่ใกล้ๆ Miranda ก็ยังได้นะ)
หนังดำเนินไปในช่วงระยะเวลาต่อเนื่อง 3-4 วัน เริ่มจากวันสุดท้ายในชีวิตของ Orlando (=วันเกิดของ Miranda) จนถึงวันเผาศพ ขณะที่การแสดงคอนเสิร์ตขับร้อง Mezzo-Soprano มันอาจจะไม่ใช่วันที่ 4 ก็ได้นะ เป็นอนาคตข้างหน้าที่มิได้ระบุวัน ขณะที่น้ำตกอีกวาซู ก็อาจจะได้ไปเที่ยวมาแล้วเมื่อวันที่ 7 ก็ได้ (แต่แทรกใส่ฟุตเทจมาเฉพาะตอนแรกสุด)
เพลงประกอบโดย Matthew Herbert นักดนตรี/แต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ สไตล์ถนัดคือ Electronic, Techno Jazz แต่เรื่องนี้จัดเต็มด้วยดนตรีคลาสสิก
ความงดงามสุดมหัศจรรย์ของบทเพลง ประกอบด้วยเสียงพริ้วไหวไล่โน๊ดรัวเร็วของฟลุต ที่มีลักษณะเหมือนสายน้ำเคลื่อนไหลผสมผสานรวมตัว ตกลงจากเบื้องบนสู่ผืนพสุธาเบื้องล่าง ตามด้วยไวโอลินประสานเสียง คลอเคล้าด้วยเสียงพิณกรีดกราย สงบงามเหมือนอยู่บนสรวงสวรรค์
ใช่ว่า Matthew Herbert จะไม่นำสไตล์ถนัดเข้ามาใช้เป็นดนตรีประกอบภาพยนตร์นะครับ จัดเต็มไปเลยกับบทเพลง Queen น่าจะคือสไตล์ Techno Jazz ดังขึ้นในบาร์เกย์/ไนท์คลับ ให้สัมผัสที่ล้ำยุคสมัยมากๆ (นึกว่าเล่นเกม Mass Effect)
บทเพลงสัมผัสได้ถึงความหยาบกร้าน แข็งกระด้าง ล่องลอยโบยบิน แต่ไร้ซึ่งความรู้สึก จิตวิญญาณ นี่มันสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในของ Marina ขณะนั้นออกมาตรงมากๆเลยนะ ร่างกายไม่ได้มีความร่านบุรุษใด ใครก็ได้ Casual Sex เพื่อเรียกสติของตนเองให้กลับคืนมา (แต่ก็หาได้กลับคืนมาเสียที่ไหน)
Ombra Mai Fu (แปลว่า Never was a shade, ไม่เคยที่จะเป็นเพียงเงา) คือ Opera Serse (หรือ Serious Opera, Grand Opera) ประพันธ์โดย George Frideric Handel (1685 – 1759) เป็นภาษาอิตาเลี่ยน ขับร้องโดย Soprano Castrato (แต่สมัยนี้จะ Countertenor, Contralto หรือ Mezzo-Soprano ก็ได้เหมือนกัน) ซึ่งเรื่องราวในองก์นี้ ขับร้องโดยตัวละครหลัก Xerxes I of Persia ขณะกำลังชื่นชมต้น Plane Tree
ตอนที่โอเปร่าเรื่องนี้เปิดการแสดงเมื่อปี 1738 ในกรุง London ประสบความล้มเหลวเพียง 5 รอบการแสดงเท่านั้น แต่ภายหลังเมื่อได้รับการรื้อฟื้นค้นพบ กลายเป็นหนึ่งในผลงานของ Handel ที่โด่งดังมีชื่อเสียงที่สุด
Ombra mai fu
di vegetabile,
cara ed amabile,
soave più.Never was a shade
of any plant
dearer and more lovely,
or more sweet.
A Fantastic Woman คือเรื่องราวของหญิงสาวที่ต้องอดทนกลั้น ต่อความล้าหลังของสังคมในการปรับตัวเข้าสู่โลกยุคสมัยใหม่แห่งความเท่าเทียมกันทางเพศ แต่นั้นก็มิได้ทำให้เธอเกิดความเกรี้ยวกราดโกรธแค้น มีบ้างที่รวดร้าวทุกข์ทรมานใจ กระนั้นอนาคตรุ่งอรุณเช้าวันใหม่ย่อมต้องสดใสสว่างกว่าวันวาน จะมัวเก็บอดีตมาครุ่นคิดยึดติดหมกมุ่นไปใย
ผมมาคิดว่าการที่ Marina ไม่ค่อยพูดแสดงออกตอบโต้อะไร มันอาจไม่ใช่แค่เพราะเธอเป็นคนนิสัยเช่นนั้น แต่หนังต้องการสะท้อนคำถามที่ว่า มีอะไรให้ต้องให้พูดบอกกันอีกหรือ? โลกปัจจุบันได้มุ่งสู่ยุคสมัยแห่งความเสมอภาคเท่าเทียม เป็นสิ่งที่ใครๆน่าจะเข้าใจได้อยู่แล้ว แต่ทำไมประเทศชิลีของเขายังคงมีพวกเฉิ่มเชยล้าหลังหัวโบราณ ยินยอมรับไม่ได้กับเรื่องพรรค์นี้อยู่อีก พบเห็นมันก็น่าหงุดหงิดรำคาญใจ แล้วเมื่อไหร่ชาติเราจะทัดเท่าเทียมเทียบเท่ากับนานาอารยะประเทศอื่นได้
เพราะความที่ผู้กำกับ Lelio มองตนเองเป็นคนนอก ‘Foreign’ แม้ชาติบ้านเกิดจะคือชิลี แต่เพราะได้ไปอาศัยต่างแดนอยู่เรื่อยๆ ทำให้เกิดมุมมองโลกทัศนคติที่แตกต่างออกไป เรียกว่าหัวก้าวหน้าคงไม่ผิด สิ่งที่ประเทศอื่นมีแต่ชาติรายังล้าหลัง ใช้ภาพยนตร์นำเสนอ สะท้อน ปลูกฝังแนวคิดใหม่ๆ คาดหวังความเปลี่ยนแปลงที่คงค่อยๆเป็นไปตามกาลเวลา ทีละเล็กๆน้อยๆก็ยังดี
แต่ทัศนคติต่อวงการภาพยนตร์ในประเทศชิลี เห็นว่าก็ไม่ต่างจากประเทศไทยเราเท่าไหร่ มองเป็นสิ่งบันเทิงเริงรมย์ประเภทหนึ่ง ส่วนใหญ่หาได้สนใจในคุณค่าทางศิลปะมากนัก ซึ่งหนังขายดีทำเงินในประเทศนี้ Top 10 แทบทั้งหมดเป็นของสตูดิโอ Walt Disney เกินครึ่งคืออนิเมชั่น แต่คลื่นลูกใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว Sebastián Lelio และ Pablo Larraín (ผู้กำกับ Jackie) น่าจะคือศูนย์กลางตาพายุเลยละ
หนังออกฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ามา 3 รางวัล
– Prize of the Ecumenical Jury – Special Mention
– Silver Bear for Screenplay
– Teddy Award (รางวัลมอบให้หนัง LGBT)
ได้เป็นตัวแทนของประเทศชิลี เข้าชิง Best Foreign Language Film ของทั้ง Golden Globe และ Oscar แต่ก็ไม่ถือเป็นตัวเต็งใดๆ,
– Golden Globe พ่ายให้กับ In the Fade (2017) สัญชาติ German นำแสดงโดย Diane Kruger ที่คว้า Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– คว้ารางวัล Oscar คงเพราะตัวเต็งเรื่องอื่นๆไม่ผ่านเกณฑ์คัดเลือก และประเด็น LGBT กำลังเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆใน Hollywood เลยถือเป็นโอกาสอันมั่นเหมาะ
สถิติน่าสนใจของหนัง
– ภาพยนตร์สัญชาติ Chile เรื่องแรกที่คว้า Oscar
– เรื่องที่สามของ Latin America ถัดจาก The Official Story (1985) และ The Secret in Their Eyes (2009) สองเรื่องนี้จากประเทศ Argentina
– ครั้งแรกที่นักแสดงนำเป็น Transgender คว้า Oscar
– ครั้งแรกของนักแสดง Transgender (Daniela Vega) ได้รับโอกาสขึ้นเวที Oscar เป็นผู้แนะนำการแสดงของ Sufjan Stevens บทเพลง Mystery of Love จากหนังเรื่อง Call Me by Your Name (2017)
สิ่งที่ทำให้ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้มากๆ คือภาษาภาพยนตร์อันสุดแสนงดงาม ชักชวนให้ครุ่นคิดทำความเข้าใจตามไปเรื่อยๆ ภาพสวย เพลงเพราะ และการแสดงของ Daniela Vega แบบว่ารักเลย คนอะไรมหัศจรรย์ได้ขนาดนี้ (ทีแรกไม่เชื่อด้วยนะว่าเป็นคนร้อง Mezzo-Soprano แต่พอรู้ก็อึ้งทึ่งไปเลยละ)
แนะนำอย่างยิ่งกับ LGBT ทั้งหลาย หนังจะทำให้โลกทัศนคติต่อเพศสภาพของคุณเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง, นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ทำงานเกี่ยวกับเพศที่สามและการเหยียด Racism, คอหนัง Romance Tragedy รู้จักผู้กำกับ Sebastián Lelio หลงใหลในเสียงร้องของ Daniela Vega ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับความรุนแรง และพฤติกรรมในการเหยียดเพศ
Leave a Reply