A Little Princess

A Little Princess (1995) hollywood : Alfonso Cuarón ♥♥♥♡

ผลงานโกอินเตอร์ Hollywood เรื่องแรกของ Alfonso Cuarón ก้าวออกจากเส้นกรอบวงกลม มุ่งสู่โลกกว้างแห่งอิสรภาพ จินตนาการไร้ขอบเขต, งานภาพอันสุดมหัศจรรย์ของ Emmanuel Lubezki ทำให้ได้เข้าชิง Oscar: Cinematography หนแรก

ผมค่อนข้างสนใจการเลือก A Little Princess เป็นผลงาน Debut Hollywood ของผู้กำกับ Alfonso Cuarón เพราะอะไร? ทำไม? มีความน่าสนใจตรงไหน? หลายคนอาจครุ่นคิดว่า Cuarón คงชื่นชอบวรรณกรรมเยาวชน เพราะผลงานถัดๆมา Great Expectations (1998), Harry Potter and the Prisoner of Azkaban (2004) ล้วนเกี่ยวกับการเติบโต ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลยนะ

“As a cineast, you can only make personal films”.

– Alfonso Cuarón

Alfonso Cuarón Orozco (เกิด 1961) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City โตขึ้นเข้าเรียนสาขาปรัชญา National Autonomous University of Mexico ตามด้วยสร้างภาพยนตร์จาก Centro Universitario de Estudios Cinematográficos รุ่นเดียวกับ Carlos Marcovich และตากล้องคู่ใจ Emmanuel Lubezki สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Vengeance Is Mine, เริ่มต้นอาชีพในวงการ ฝ่ายเทคนิครายการโทรทัศน์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับบางตอน ช่วยงานภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Sólo con Tu Pareja (1991) ได้รับความนิยมอย่างสูงใน Mexico จึงถูกรับการเรียกตัวจาก Sydney Pollack กำกับตอนหนึ่งของซีรีย์ Fallen Angels (1993-95) ชื่อ Murder, Obliquely

ทั้งสองผลงานแรกของ Cuarón เรียกได้ว่า ‘Dark’ สุดๆเลยละ วันหนึ่งสตูดิโอ Warner Bros. เรียกไปคุย

“When I went to meet with the studio, they asked me if I wanted to do a dark piece. And I said, ‘No, I want to do a movie for my 10-year-old son”.

Emmanuel Lubezki คือบุคคลที่มอบบทร่างหนังของ Richard LaGravenese (The Fisher King, Behind the Candelabra, Unbroken) ให้กับ Cuarón ที่ไม่เคยอ่าน A Little Princess มาก่อนในชีวิต

“I was twenty pages into the script and I called my agent and said I found a film I want to do. The pages were vibrating in my hands”.

ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชน A Little Princess (1905) ของ Frances Hodgson Burnett (1849 – 1924) นักเขียนหญิง สัญชาติอังกฤษ ซึ่งมีอีกผลงานเด่นคือ The Secret Garden (1911) ทั้งสองเรื่องต่างติดอันดับ
– Teachers’ Top 100 Books for Children จัดอันดับโดย U.S. National Education Association เมื่อปี 2007
– Top 100 Chapter Book Poll จัดอันดับโดย School Library Journal เมื่อปี 2012

ก่อนหน้านี้ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ Hollywood มาแล้วถึงสองครั้ง
– A Little Princess (1917) นำแสดงโดย Mary Pickford
– The Little Princess (1939) กำกับโดย Walter Lang นำแสดงโดย Shirley Temple, Richard Greene, Anita Louise

พื้นหลังปี 1914, Sara Crewe (รับบทโดย Liesel Matthews) ลูกสาวสุดที่รักของ Captain Richard Crewe (รับบทโดย Liam Cunningham) ขุนนางชาวอังกฤษ ฐานะร่ำรวย ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ British Raj (อินเดีย) การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้พ่อสมัครทหารอาสาเข้าร่วมต่อสู้รบ ฝากฝังลูกสาวไว้ยังโรงเรียนประจำ New York City, สหรัฐอเมริกา ครูใหญ่คือ Miss Maria Minchin (รับบทโดย Eleanor Bron) เป็นคนเข้มงวดกวดขัน จริงจัง เผด็จการ เกิดความขัดแย้งต่อ Sara อยู่เรื่อยๆ แต่ที่ยังอดรนทนฝืนไว้ เพราะคือตัวเงินตัวทอง ทำรายได้มหาศาลให้โรงเรียน

Liesel Pritzker Simmons (เกิดปี 1954) นักแสดงเด็ก สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois เป็นทายาทของตระกูลมหาเศรษฐี Pritzker ติดอันดับต้นๆ ‘America’s Richest Families’ ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการแสดง ใช้ชื่อในวงการ Liesel Matthews มีผลงานละครเวที แสดงภาพยนตร์สองเรื่อง A Little Princess (1995) และ Air Force One (1997) ปัจจุบันทำงานการกุศล ปักหลังอาศัยให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสยังประเทศอินเดีย

รับบท Sara Crewe เด็กหญิงเกิดในครอบครัวชนชั้นสูง ฐานะมั่งมี เพราะไม่มีแม่ พ่อจึงเลี้ยงดูราวกับเจ้าหญิง ทะนุถนอมดั่งไข่ในหิน แต่ก็มอบอิสระทางความคิดอ่านกระทำ เพ้อฝันจินตนาการ ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นเหตุให้ต้องไปนำพาเธอหลบลี้หนีภัยยังสหรัฐอเมริกา อาศัย ร่ำเรียน ศึกษายังโรงเรียนประจำแห่งหนึ่ง ด้วยความร่าเริง สนุกสนาน ไม่นานนักก็ได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ แต่กลับถูกครูใหญ่จงเกลียดจงชัง กระทั่งว่าเมื่อมีโอกาส ผลักไส ถีบส่งรับเลี้ยงดูไว้กลายเป็นคนใช้ ชีวิตประสบพบความตกต่ำ โอ้ละหนอ…โลกความจริงช่างโหดร้าย ไฉนกลับทำไมยังทำตัวหัวสูง เย่อหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของตนเองอยู่ได้

ภาพลักษณ์ลูกคุณหนูของ Liesel Matthews เป็นประโยชน์ต่อหนังอย่างมาก ผู้ชมจะสังเกตรู้ได้ถึงความแตกต่างจากเด็กหญิงอื่นๆ การแสดงก็มีความเป็นธรรมชาติลื่นไหล ดวงตาบริสุทธิ์จากภายใน ต่อให้รอบข้างเต็มไปด้วยสิ่งชั่วร้าย ก็ยังพบเห็นประสายแสงแห่งความหวัง ต่อสู้ขัดขืนไม่ยินยอมแพ้ต่ออุปสรรคขวากหนามโดยง่าย

Eleanor Bron (เกิดปี 1938) นักแสดงหญิง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Stanmore, Middlesex โตขึ้นเข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงที่ Cambridge Footlights, ภพยนตร์เรื่องแรก Help! (1965) หนังของวง The Beatles ซึ่งชื่อเธอเป็นแรงบันดาลใจให้ Paul McCartney แต่งเพลง Eleanor Rigby, ผลงานเด่นๆ อาทิ Alfie (1966), A Little Princess (1995) ฯ

รับบท Miss Maria Minchin ครูใหญ่จอมอิจฉาริษยา คงเพราะตนเองไม่ได้เกิดในตระกูลชนชั้นสูง ฐานะการเงินไม่ค่อยดี แถมมีน้องสาว Amelia (รับบทโดย Rusty Schwimmer) อ้วนท้วนสมบูรณ์ พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้เมื่อพบเห็นเจ้าหญิง Sara Crewe เกิดความหมั่นไส้ใจจะขาด แต่ทำยังไงได้ตัวเงินตัวทองของโรงเรียน จัดงานเลี้ยงวันเกิดใหญ่โตเกินหน้าเกินตา ซึ่งพอรับรู้ว่าพ่อของเธอถูกเข่นฆ่าตายในสงคราม ทรัพย์สมบัติถูกทางการยึดครองไว้ ก็จัดแจงแสดงความโฉดชั่วร้าย ถีบผลักไสส่งยัยนี่ให้ไปอยู่ใต้ห้องหลังคา คาดหวังจะทำลายเกียรติ ศักดิ์ศรี สุดท้ายกลับกลายเป็นตนเองที่ต้องสูญเสียสิ้นทุกอย่าง

หนังไม่ได้กล่าวเอ่ยถึงเบื้องหลังของตัวละครนี้นัก ทำให้ผู้ชมมิอาจรับรู้เหตุผลที่มา ทำไมเธอถึงพัฒนากลายมาเป็นครูใหญ่นิสัยแบบนี้ การแสดงของ Bron ถือว่ารุนแรงได้ใจ เด็กๆพบเห็นคงโกรธเกลียด แต่สำหรับผู้ใหญ่ครั้งหนึ่งเมื่อเห็นแสดงสีหน้ารวดร้าวทุกข์ทรมาน ก็อาจสงสารเห็นใจเล็กๆ มันต้องมีอะไรบางสิ่งเคลือบแฝงเกิดขึ้นแน่ๆ

เกร็ด: Jonás Cuarón ลูกชายวัยกระเปี๊ยกของผู้กำกับ Cuarón รับเชิญบทเล็กๆ คนกวาดป่องไฟ (Chimney Sweeper)

ถ่ายภาพโดย Emmanuel Lubezki หรือ Chivo ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ Mexican เพื่อนสนิทร่วมรุ่นเดียวกับ Cuarón เจ้าของสามรางวัลติด Oscar: Best Cinematography ประกอบด้วย Gravity (2013), Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) (2014), The Revenant (2015)

ทุกช็อตของหนังสามารถเรียกได้ว่า ‘Perfect Shot’ มีความสวยงาม ลงตัว จัดวางองค์ประกอบ เคลื่อนกล้อง ตำแหน่งทิศทาง ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเรื่องหนึ่ง ผลลัพท์ออกมาช่างมีความมหัศจรรย์อย่างมาก และภาษาภาพยนตร์แฝงนัยยะที่เรียบง่าย เบสิค อ่านออกเข้าใจ (คือสะท้อนเข้ากับหนังที่เป็นเรื่องของเด็กๆ จึงไม่ได้มีภาษาอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไร)

ก็ตั้งแต่ช็อตแรกของหนัง จินตนาการเรื่องเล่า รามเกียรติ ของเด็กหญิง Sara ภาพวงกลมค่อยๆเคลื่อนเข้าไป นัยยะเดียวกับเส้นกรอบที่ขีดล้อมรอบตัวละคร โลกในกะลาใบนี้ปลอดภัยที่สุดถ้าไม่ออกมา แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถจำกัดตนเองอยู่แต่เฉพาะภายในนั้นได้จริงๆนะหรือ?

เป็นซีนที่ผมเห็นแล้วอุทานออกมาว่า เวรกรรม! พวกชาวตะวันคงครุ่นคิดถึงแต่ผลงานศิลปะ ไม่ใคร่สนใจถึงความเหมาะสม มารยาทที่ควรมีต่อวัฒนธรรมชาวตะวันออก สะท้อนถึงโลกทัศน์อันคับแคบ เห็นแก่ตัว สนเพียงผลประโยชน์ของตนเอง … ทีแรกผมก็ครุ่นคิดว่า Cuarón น่าจะเป็นผู้กำกับที่เปิดรับ เข้าใจอะไรๆมากกว่านี้ แต่ก็นะ!

ซึ่งนัยยะของการปีนป่ายขึ้นนั่งบนเศียรพระพุทธรูป คงต้องการสะท้อนถึงการหลุดออก ก้าวพ้น ข้ามขอบเขตจำกัดของตนเอง/มนุษยชาติ ไปสู่สิ่งสูงส่งเหนือกว่าของโลกใบนี้ (ก็เลยต้องขึ้นไปอยู่บนเศียร)

การจัดแสงฟุ้งๆ มอบสัมผัสนุ่มๆ ในช่วงขณะที่พ่อกำลังร่ำราแยกจากลูกสาวสุดที่รัก นั่งบนตักว่าไปดูเหมือนหนุ่ม-สาว (มากกว่าพ่อ-ลูก), ผมก็ไม่อยากจินตนาการให้มันเกินเลยเถิด แต่ภาษาของภาพที่นำเสนอมานี้ สะท้อนสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่มีมากล้นเกินกว่าปกติไปเยอะทีเดียว

ผมชอบช็อตนี้มากเลยนะ ถ่ายภาพพื้นผิวน้ำอันเจ่อนอง สะท้อนโรงเรียนประจำในมุมกลับหัวตารปัตร นัยยะสื่อถึง เบื้องหน้า-เบื้องหลัง อาจไม่ใช่สิ่งที่ใครๆพบเห็นรับรู้ (ประมาณว่า มีความชั่วร้ายแอบแฝงอยู่ภายใน)

การเลือกใช้สีเขียว สัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย (สีจาก The Wizard of Oz) ทั้งตึกโรงเรียน และชุดนักเรียน (ที่ดูเหมือนนางฟ้า/เทพธิดา) สื่อได้ถึงบางสิ่งอย่างแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ภายในเช่นกัน

มันมีสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า burst someone’s bubble หมายถึง การทำลายความคาดหวังของใครสักคน ซึ่งในบริบทนี้เมื่อตอน Sara รับรู้บางสิ่งจากครูใหญ่ เธอหันมองลูกโป่งสีดำแล้ว โพล๊ะแตก! สามารถสื่อความหมายได้ประมาณนี้ละ หัวอกจิตใจแทบจะระเบิดออก

ความหวาดกลัว คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ขีดเส้นแบ่งกั้นห้อมล้อมตนเอง, นี่ถือเป็นฉากอันเศร้าสลดหดหู่ ‘Dark’ ที่สุดในหนังแล้วกระมัง เมื่อ Sara จากเจ้าหญิงมีชีวิตหรูหรา ตกต่ำต้อยกลายเป็นนางซิน/คนใช้ อาศัยอยู่ห้องใต้หลังคา หนาวเหน็บเย็นยะเยือก โลกความจริงมันช่างโหดร้ายเสียกระไร

ฉากที่ถือว่าทรงพลัง มีนัยยะความหมายสุดของหนัง เมื่อตอนที่ Sara โต้เถียงย้อนแย้งกับครูใหญ่
– ภาพในมุมของหญิงสาว จากมุมต่ำค่อยๆเลื่อนขึ้นสูง
– ขณะที่ครูใหญ่ จากตำแหน่งสูงค่อยๆเลื่อนต่ำลง

คำพูดแทงใจดำของ Sara ถือเป็นการยกระดับตนเอง แม้ชีวิตจะมีความตกต่ำ แต่คุณค่าทางจิตใจนั้นสูงส่ง ขณะที่ครูใหญ่ พยายามอวดอ้างยกตนข่มท่าน แต่แท้จริงแล้วก็ภายในกลับตกต่ำทราม หาคุณความดีปรากฎพบไม่

ตัดต่อโดย Steven Weisberg สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ A Little Princess (1995), Men in Black II (2002), The Producers (2005) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตา จินตนาการของเด็กหญิง Sara Crewe ซึ่งจะมีการแทรกเรื่องเล่า รามเกียรติ์ สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง

เรื่องราวของ รามเกียรติ์ น่าจะเริ่มตอนทศกัณฐ์ลักพาตัวนางสีดา เป็นเหตุให้พระรามต้องออกเดินทางไปช่วยเหลือ ระหว่างทางได้หนุมานเป็นผู้ช่วย แต่รู้สึกว่าเนื้อหาไม่ค่อยตรงกับมหากาพย์นี้สักเท่าไหร่ (คงแค่อ้างอิงตัวละคร พื้นหลัง แล้วแต่งขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับเรื่องราวของหนัง)

เพลงประกอบโดย Patrick Doyle สัญชาติ Scottish ขาประจำของ Kenneth Branagh ผลงานเด่นๆ อาทิ Henry V (1989), Sense and Sensibility (1995), Hamlet (1996), Gosford Park (2001), Harry Potter and the Goblet of Fire (2005), Rise of the Planet of the Apes (2011), Thor (2011) ฯ

เลือกใช้บทเพลงคลาสสิกบรรเลงประกอบคลอพื้นหลัง มีความกลมกลืน ลื่นไหล สะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกตัวละครออกมาเบาๆ ซึ่งทุกครั้งที่มีการเอ่ยถึงอินเดีย หรือเล่าเรื่อง รามเกียรติ์ ก็จะได้ยิน Sitra เครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดีย ให้สัมผัสโลกอีกใบที่แตกต่าง จินตนาการกว้างไกลไร้ขอบเขต

A Little Princess คือก้าวเล็กๆของเด็กหญิง ผู้ได้รับการเสี้ยมสอนปลูกฝัง จนเกิดความยึดถือเชื่อมั่น สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตนั้นอยู่ภายในจิตใจ

“All women are princesses, it is our right”.

– Maya (มายา แปลว่า ภาพลวงตา)

จินตนาการ ไม่ใช่สิ่งที่สมควรถูกครอบงำ บีบบังคับ เก็บกดซ่อนเร้นไว้ภายใน ดั่งกบในกะลาครอบ เรียนรู้ที่จักก้าวข้ามเส้น ปีนป่ายบันได เปิดประตูเดินออกสู่ภายนอก โลกกว้าง ผืนแผ่นดินแดนที่เต็มไปด้วยอิสรภาพไร้ขอบเขตจำกัด

ใครก็ตามที่พยายามเสี้ยมสอนออกคำสั่ง บีบบังคับทำโน่นนี่นั่น ห้ามแตกแถวนอกลู่นอกรอย โดยไร้ซึ่งเหตุผลเหมาะสมควร ล้วนคือการแสดงออกซึ่งความเห็นแก่ตัว ชั่วร้าย เผด็จการ จอมมารที่เราต้องต่อต้านขับไสไล่ ตราบใดยังไม่พบเจอความเป็นเจ้าหญิงในตนเอง ก็ไม่สมควรได้รับการยินยอมต้อนรับอย่างเด็ดขาด

ผู้กำกับ Cuarón เรียก A Little Princess ว่าคือผลงานที่ทำให้จิตวิญญาณของตนเอง ‘spiritual awakening’ ตื่นขึ้นจากโลกทัศน์อันคับแคบ กบในกะลาครอบ ขีดจำกัดของความเป็นไปได้

“Life is showing me things that I’ve not seen before, that I’ve been skeptical of before. I don’t believe in coincidences anymore. They’re hidden messages that are given to you”.

– Alfonso Cuarón

ซึ่งเรื่องราวของหนัง สะท้อนการเดินทางมุ่งสู่ Hollywood ครั้งแรกของ Cuarón ตัวเขาเปรียบเหมือนเด็กสาว พบเจอเพื่อนใหม่ ครูใหญ่ (สตูดิโอใน Hollywood) ที่พยายามควบคุม ครอบงำ บีบบังคับ จงทำตามสิ่งที่ฉันสั่ง … มันเรื่องอะไร จำเป็นไหม เอ็งเป็นใคร? สหรัฐอเมริกาคือดินแดนแห่งอิสรภาพ เสรีชน ฉันไม่มีวันยอมจำนน ก้มหัว ตกอยู่ภายใต้อำนาจชั่วร้าย เห็นแก่ตัวของใครบางคนอย่างเด็ดขาด!

ด้วยทุนสร้างสูงถึง $17 ล้านเหรียญ แต่ Warner Bros. กลับทำการตลาดผิดพลาด ไม่ได้โปรโมทหนังมากเท่าที่ควร ผลลัพท์ทำเงินได้เพียง $10 ล้านเหรียญ แต่ก็ได้เข้าชิง Oscar ถึงสองสาขาปลอบใจ
– Best Cinematography
– Best Art Direction

อาจเพราะผมโตเกินวัยไปแล้วกระมัง เลยไม่รู้สึกอินกับเรื่องราว หลงใหลคลั่งไคล้หนังเท่าไหร่ แต่ก็ดื่มด่ำไปกับงานสร้าง ถ่ายภาพของ Chivo และไดเรคชั่นของ Cuarón กำลังค่อยๆได้รับการพัฒนา สะสมประสบการณ์ มีความสมบูรณ์ลงตัวอย่างยิ่งเลยละ

แนะนำให้ผู้ใหญ่หามารับชมกับลูกๆหลานๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ก้าวออกมาจากกรอบความคิด ไม่ยึดติดความมักง่ายสะดวกสบาย เปิดอกรับคำท้าทาย สู่โลกกว้างใหญ่ จินตนาการไร้ขอบเขต

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศทุกวัย

คำโปรย | “A Little Princess คือปาฏิหารย์แรกของผู้กำกับ Alfonso Cuarón ด้วยความมหัศจรรย์ในงานภาพของ Emmanuel Lubezki”
คุณภาพ | มหัศจรรย์
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: