A Man and a Woman (1966)
: Claude Lelouch ♥♥♥♥
จะมีหนังสักกี่เรื่องที่ได้ทั้ง Palme d’Or และ Oscar: Best Foreign Language Film โดยผู้กำกับสุดติสต์ชาวฝรั่งเศส Claude Lelouch ถ่ายทำด้วยฟีล์ม 3 แบบ ขาว-ดำ, ซีเปีย, ภาพสี ตามอารมณ์ฉัน (และตามทุนสร้างที่มี) เรื่องราวของพ่อหม้ายลูกชายติด กับแม่หม้ายลูกสาวติด ที่บังเอิญมาพบกันเพราะลูกของทั้งสองอยู่โรงเรียนเดียวกัน นำแสดงโดย Anouk Aimée (La Dolce Vita, 8 1/2), Jean-Louis Trintignant (The Man Who Lies, Z, Amour) และเพลงประกอบเพราะๆของ Francis Lai
คำตอบคือมี 5 เรื่องนะครับ ที่ได้ Palme d’Or และ Oscar: Best Foreign Language Film
– Black Orpheus (1959) หนังสัญชาติ French ของผู้กำกับ Marcel Camus
– A Man and a Woman (1966)
– The Tin Drum (1979) หนังสัญชาติ German ของผู้กำกับ Volker Schlöndorff
– Pelle the Conqueror (1987) หนังสัญชาติ Danish ของผู้กำกับ Bille August
– Amour (2012) หนังสัญชาติ French ของผู้กำกับ Michael Haneke
Claude Lelouch (1937-ยังมีชีวิตอยู่) เป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักเขียนบท ตากล้อง และนักแสดงชาวฝรั่งเศส, ผมอยากดูหนังของปู่แกมาสักพักแล้ว ทั้งๆที่ก็ไม่ได้เคยรู้จักอะไรหรอกนะ (เหตุผลก็คือ Lelouch มันทำให้ผมนึกถึงอนิเมะซีรีย์เรื่อง Code Geass) เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นตากล้อง แล้วได้โอกาสกำกับหนังเรื่องแรก Le propre de l’homme (1960) ที่ล้มเหลวทั้งคำวิจารณ์และรายได้ ถึงขนาด Lelouch ทำลายฟีล์มหนังเรื่องนี้ทุก Copy ไม่มีหลงเหลือถึงปัจจุบัน, กับเรื่องที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังที่สุดก็คือ Un homme et une femme หรือ A Man and a Woman เรื่องนี้นะครับ จากที่ไม่มีใครออกทุนสร้างให้ ค่อยๆเก็บเล็กผสมน้อย ถ่ายหนังแบบตามมีตามเกิด จนพอเข้าฉายได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึง กวาดรางวัลใหญ่นับไม่ถ้วน จนชื่อของ Lelouch กลายเป็นที่รู้จักของคอหนังทั่วโลก
เขียนบทโดย Claude Lelouch ร่วมกับ Pierre Uytterhoeven, จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นขณะที่เขากำลังมีปัญหาในการหาผู้จัดจำหน่ายหนังเรื่อง Les Grands Moments (1965) ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เวลาทำตัวไม่ถูกก็จะขับรถไปเรื่อยๆ ซึ่งครานี้ไปหยุดอยู่ที่ชายฝั่ง Deauville ตอนตี 2 หลังจากผลอยหลับตื่นขึ้นมาตอนรุ่งเช้า ได้พบเห็นหญิงสาวเดินอยู่บนหาด พร้อมลูกสาวและสุนัขตัวหนึ่งวิ่งเล่น … นี่ทำให้เขาเกิดไอเดียหนังเรื่องนี้ขึ้น
เรื่องราวของหญิงหม้ายลูกสาวติด Anne Gauthier (รับบทโดย Anouk Aimée) และชายหม้ายลูกชายติด Jean-Louis (รับบทโดย Jean-Louis Trintignant) ที่บังเอิญมาพบกันเพราะลูกของทั้งสองอยู่โรงเรียนเดียวกัน ความเหงาทำให้ทั้งสองใกล้ชิดตกหลุมรักกัน แต่ก็ทำให้ทั้งสองแยกจากกัน
Anouk Aimée (1932- ยังมีชีวิตอยู่) เธอเป็นนักแสดงสัญชาติฝรั่งเศสนะครับ แต่มีผลงานดังจากการเล่นหนัง Italian ของ Federico Fellini เรื่อง La Dolce Vita (1960) และ 8 1/2 (1963) ซึ่งทำให้เธอได้รับการยกย่องว่า เป็น ‘ดาวดวงใหม่ที่เจิดจรัสจ้า (rising star who exploded), กับหนังเรื่องนี้ ต้องถือว่า Aimée เจิดจรัสแสงอย่างที่สุด กับตัวละครผู้หญิงที่มีความอ่อนไหว แต่เก็บซ่อนอารมณ์ความรู้สึกไว้มิดชิด (a woman of sensitivity whose emotions are often kept secret.) มีการยกย่องกันว่าเธอได้สร้างรูปแบบใหม่ของการแสดงประเภท Femme Fatale (สวยสังหาร)
เกร็ด: Femme Fatale เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ผู้หญิงที่มีความสวยดึงดูด ยั่วยวน ล่อตาล่อใจ แต่มักจะนำอันตราย ความเสียหายมาสู่ผู้ชายที่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเธอ (an attractive and seductive woman, especially one who will ultimately bring disaster to a man who becomes involved with her.)
สวยสังหาร (Femme Fatale) มีมานานแล้วนะครับ หนังดังก่อนหน้านี้ก็อย่าง The Maltese Falcon (1941), Double Indemnity (1944), The Lady from Shanghai (1947) ฯ แต่สิ่งที่ Aimée สร้างขึ้นใหม่กับหนังเรื่องนี้ เธอไม่ได้ฆ่าใครหรือทำให้ใครตาย แต่ผู้ชายที่ตกหลุมรักเธอ ยอมศิโรราบทุกสิ่งอย่าง ขนาดว่าขับรถ 3,000 กิโล มาหาโดยไม่หยุดพัก เพราะเธอส่งโทรเลขบอกแค่ ‘I love you’
คำพูดในหนัง ‘ฉันขับรถ 2,000 ไมล์ 3,000 กิโลเมตร มาหาเธอ’ นี่จริงๆนะครับ
– วันที่แข่งจาก Oslo, Norway มาถึง Monte Carlo, Monaco, Italy นี่ประมาณ 2,200 กิโลเมตร (1,400 ไมล์)
– และจาก Monte Carlo ถึง Montmartre, Paris อีกประมาณ 1,000 กิโลเมตร (600 ไมล์)
รวมแล้ว 3,200 กิโลเมตร (เกือบๆ 2,000 ไมล์)
Jean-Louis Trintignant (1930-ยังมีชีวิตอยู่) นักแสดงชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ที่ปัจจุบันก็ยังเล่นหนังอยู่นะครับ ล่าสุดเห็นในหนังรางวัล Palme d’Or และ Oscar: Best Foreign Language Film อีกเรื่อง Amour (2012) ของผู้กำกับ Michael Haneke ประกบ Emmanuelle Riva ที่ถือว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้กัน (น่าเสียดายมากที่ไม่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor จากหนังเรื่องนี้)
Trintignant มาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย เป็นหลายชายของนักแข่งรถชื่อดัง Louis Trintignant ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อปี 1933 และลุง Maurice Trintignant ก็เป็นนักแข่งรถ Formula One ที่ได้แชมป์ 2 สมัยใน Monaco Grand Prix และแข่ง 24 ชั่วโมงใน Le Mans (24 hours of Lemans), ด้วยเหตุผลนี้ Trintignant จึงถือเป็นตัวเลือกแรกของ Lelouch ให้มารับบทนี้เลย และฉากที่ถ่ายภายในรถแข่ง ก็เป็น Trintignant นี่แหละที่ขับเอง
การแสดงของ Trintignant เน้นถ่ายทอดออกมาทางกายภาพเสียมาก ความอดทน เหน็ดเหนื่อย ทุ่มเท ตรงข้ามกับ Aimée ที่เน้นการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายในออกมา เจ็บปวด อัดอั้น ทุกข์ทรมาน, ไม่รู้เพราะผมเป็นผู้ชายหรือเปล่า จึงไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลของนางเอกเสียเท่าไหร่ คือเธอลืมแฟนเก่าไม่ได้ แต่คบเขาเพราะต้องการลืมแฟนเก่า สุดท้ายก็ลืมไม่ได้ … wtf, กับผู้ชายด้วยกันเราเข้าใจดี คือชีวิตมันต้องเดินต่อไป บางสิ่งเราไม่ลืมหรอก แต่เลือกที่จะเก็บไว้ลึกๆ นานๆนึกถึงทีก็พอ, เหตุนี้ละมั้งครั้งที่โลกสร้าง ผู้ชาย (Un Homme) และผู้หญิง (Une Femme)
เกร็ด: นักแสดงนำทั้งสองของเรื่องนี้ ต่างเคยได้รางวัลสาขาการแสดงจากเทศกาลหนังเมือง Cannes มาแล้วทั้งสิ้น
– Anouk Aimée ได้ Best Actress จากหนังเรื่อง A Leap in the Dark (1980)
– Jean-Louis Trintignant ได้ Best Actor จากหนังเรื่อง Z (1969)
ถ่ายภาพโดย Claude Lelouch, กับผู้กำกับที่ถ่ายภาพเองหรือเคยเป็นตากล้องมาก่อน จะมีวิสัยทัศน์ต่องานภาพที่ชัดเจนมากๆ คือรู้ว่าตนต้องการอะไร ใช้เทคนิคอะไรถึงมีความเหมาะสม, กับหนังเรื่องนี้ด้วยทุนสร้างที่ไม่ค่อยมี ความตั้งใจแรกคือถ่ายหนังด้วยฟีล์มขาว-ดำล้วนๆ (เพราะราคาถูกกว่าฟีล์มสี) แต่พอหนังได้ผู้จัดจำหน่ายฝั่งอเมริกา ที่ให้ทุนเพิ่ม $40,000 แลกกับการถ่ายภาพสี เขาจึงใถ่ายภายนอก (Outdoor) ใช้ฟีล์มสี ส่วนถ่ายภายใน (Indoor) ใช้ฟีล์มขาว-ดำ, ทีแรกผมก็พยายามสังเกตนะครับ ว่ามันมีเหตุผลอะไรหรือเปล่ากับการใช้ภาพสี/ซีเปีย/ขาว-ดำ หนึ่งในความคิดที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ ภาพสีกับเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวละครเหมือนรู้สึกมีชีวิตชีวา จับต้องได้ ไม่ใช่น่าเบื่อ อึดอัดเหมือนปัจจุบัน (ที่ใช้ภาพขาว-ดำ) … แต่ไปๆมาๆรู้สึกไม่น่าใช่ ข้อสรุปที่ใครๆก็ว่ากัน คือมันแล้วแต่อารมณ์ผู้กำกับล้วนๆนะครับ ตามงบที่เขามีนะแหละ ไม่ได้มีเหตุผลหรือความหมายเชิงสัญลักษณ์อะไร
เกร็ด: Lelouch ถือเป็น pioneer ผู้ที่บุกเบิกการใช้ฟีล์มหลากหลายประเภทในภาพยนตร์ อาทิ ฟีล์มขาว-ดำ/ฟีล์มสี จากกล้อง 35mm, 16mm และ Super 8
หนังมีช็อตถ่ายภาพเจ๋งๆ อยู่เยอะเลยละ อาทิ การใช้ Telescope Lens เพื่อถ่ายภาพระยะไกล ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ใกล้จับต้องได้, กับภาพ Long Shot ที่ตัวละครทั้งหลายเดินทอดน่อง วิ่งเล่นอยู่บนชายหาด ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายได้ชิล บรรยากาศผ่อนคลาย สวยงามที่สุดแล้ว (เห็นฝูงนกบินด้านหลัง ให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากๆ)
มีหลายช็อตทีเดียวที่ใช้การเคลื่อนกล้องเร็ว (Rapid Montages) นี่เพื่อสะท้อนภาพการแข่งรถที่มีความรวดเร็ว นี่เปรียบได้กับชีวิต ที่อะไรๆมันก็ผ่านไปเร็วเหลือเกิน แปบๆก็… ผ่านไปหนึ่งวัน หนึ่งเดือน หนึ่งปีแล้ว
การถ่ายภาพของหนัง จะสะท้อนถึงความรู้สึกที่อยู่ในใจของตัวละคร มีคนเรียกสไตล์หนังลักษณะนี้ว่า Impressionist เหมือนภาพวาดของ Vincent Van Gogh, Claude Monet, Pierre-Auguste Renoir ฯ เห็นแล้วเกิดความประทับใจ พึงพอใจ หลงใหล ชื่นชม, กับตัวละครในหนังก็เช่นกัน ทั้งพระเอก-นางเอก สาเหตุที่ตกหลุมรัก เพราะความ Impression ต่อกันและกัน ไม่มีเหตุผลอะไรอื่นซ่อนอยู่เลยนะครับ
ตัดต่อโดย Claude Barrois, รวดเร็ว ฉับไว สามารถใช้อธิบายเรื่องราว ทุกสิ่งทุกอย่างของหนังได้โดยไม่ต้องใช้คำบรรยายประกอบใดๆ ว่ากันว่าความยาวหนัง 102 นาที แต่มีภาพทั้งหมด 4,000 กว่าช็อต (นี่เยอะมากๆนะครับ), หนังมี 2 มุมมองที่ใช้การตัดต่อสลับไปมา ระหว่างนางเอกและพระเอก บางครั้งเล่าเรื่องไปข้างหน้า บางครั้งเล่าย้อนอดีตเป็น Flashback บางครั้งตัดไปอนาคตก่อนแล้วค่อยย้อนกลับมาเล่าจุดเริ่มต้น นี่ถือว่าหนังไม่มีความแน่นอนหรือคาดเดาไม่ได้ว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นยังไง (Unorthodox), ลีลาการตัดต่อของหนัง ถือว่าน่าประทับใจมาก ผมชอบช่วง ช็อตต่อช็อตตัดสลับกันระหว่าง 2 เหตุการณ์ของ 2 ตัวละคร ที่ไม่ได้มีความสอดคล้องอะไรกันเลย เป็นเอกเทศน์ของใครของมัน แต่มีความต่อเนื่อง เข้ากันได้อย่างประหลาด
ไฮไลท์การตัดต่ออยู่ที่ช่วงท้าย ระหว่าง Sex Scene หนังใช้ภาพย้อนอดีตอธิบายว่า เกิดอะไรขึ้นในจิตใจของหญิงสาว ซึ่งหลังจากจบฉากนี้ เธอได้ตัดสินใจบางสิ่งบางอย่าง และกำลังขึ้นรถไฟแยกจากกัน แต่แทนที่จะจบลงที่จุดนี้ หนังกลับตัดต่อถอยย้อนไปจุดที่พวกเขาพบกันก่อนเริ่ม Sex Scene นี่เป็นอะไรที่น่าพิศวงดีแท้ เหมือนเป็นการประมวลภาพความทรงจำ ความประทับใจสุดท้ายก่อนแยกจากกัน นี่สร้างความตราตรึงมากกว่าตอนจบแบบแยกกันอีกนะครับ
นี่ทำให้ผมระทึกได้ว่า วันที่ชาย-หญิง เลิกกัน สิ่งแรกที่พวกเขาหวนนึกถึงคือ ความประทับใจเมื่อแรกพบเจอ
เพลงประกอบโดย Francis Lai ชาวฝรั่งเศส นี่ถือเป็นผลงานประกอบภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา และกลายเป็นขาประจำของ Lelouch ที่ทำหนังร่วมกันหลายสิบเรื่อง, เห็นว่า Lai แต่งเพลงประกอบหนังเสร็จก่อนที่จะเริ่มต้นเปิดกองถ่ายทำเสียอีก นี่ทำให้ขณะถ่ายทำ Lelouch ใช้การเปิดเพลงประกอบในกองถ่าย เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับนักแสดง, เพลงประกอบของ Lai ต้องถือว่าเสียงดังกลบทุกสิ่งอย่างในหนัง เพลง A Man and a Woman (Un homme et une femme) ร้องโดย Nicole Croisille และ Pierre Barouh ได้เข้าชิง Best Original Score จาก BAFTA Awards และ Golden Globe Awards น่าเสียดายไม่ได้เข้าชิง Oscar เพลงออกจะไพเราะขนาดนี้
นี่เป็นหนังที่ไม่มีเงียบเสียงเลยนะครับ ถ้าไม่ใช่เพลงประกอบ ก็จะมี Sound Effect ที่แสนหนวกหู (บางทีเพลงประกอบก็หนวกหูเช่นักัน) อาทิ เสียงเครื่องยนต์, เสียงคลื่น ฯ ผมรู้สึกการเล่นกับเสียงที่มีความชัดเจนขนาดนี้ ได้สร้างโลกส่วนตัวของหนังขึ้นมา ที่มีพระเอก-นางเอก แค่พวกเขาสองคนเท่านั้นอาศัยอยู่, ความรู้สึกล่องลอย เบาหวิวที่เกิดขึ้น คือบรรยากาศของโลกใบนี้ ที่ทำให้พวกเขาอิ่มเอิม เป็นสุข ทั้งกายและใจ
นี่เป็นหนังที่มีโปรดักชั่นเร็วมาก บทหนังเสร็จภายใน 1 เดือน เตรียมการถ่ายทำ 1 เดือน ถ่ายหนัง 3 สัปดาห์ และตัดต่ออีก 3 สัปดาห์ รวมแล้ว 3 เดือนกว่าๆก็เสร็จสมบูรณ์
ใจความของหนังที่แสนเรียบงานเรื่องนี้ ชายหญิงพบกัน ตกหลุมรัก และแยกจาก แค่นี้เองนะครับ ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อนมากมาย ตรงไปตรงมา แต่ความสวยงามของหนังเรื่องนี้ มันซับซ้อนเกินจะหาคำมาบรรยายได้ ผมไม่ขอบรรยายอะไรมากแล้วกัน อยากรู้ว่าสวยงามน่าประทับใจยังไง หาหนังมาดูเองดีกว่า
การขับรถมาหาสาว 3,000 กิโลเมตร นี่มันโคตรจะโรแมนติกเลยนะครับ ผมเองก็เคยทำอะไรลักษณะนี้ ที่เป็นการเซอร์ไพรส์หญิงสาวแบบคาดไม่ถึง (แต่ไม่ใช่ขับรถมาหา 3,000 กิโลนะ) ตอนเธอได้รับ ปากก็บอกดีใจ ประทับใจ รู้สึกดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป… แล้วไง สิ่งที่ทำวันนั้นไม่ได้มีค่าอะไรเลยใช่ไหม, ผมเคยพยายามทำความเข้าใจนะ คือเราอาจจะไม่ใช่คนที่ใช่สำหรับเธอ นั่นทำให้ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้ สวยงามยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไร้ค่าเปล่าประโยชน์ แต่ใครมันจะไปเข้าใจ อ่านใจ เรียนรู้ความต้องการของหญิงสาวกันได้ละ เหตุนี้ผมเลยตั้งข้อสรุปว่า จิตใจของผู้หญิงซับซ้อนเกินกว่าที่จะเข้าใจได้, ดูหนังเรื่องนี้ระลึกได้ว่า 3,000 กิโลเมตร สุดท้ายมันก็ไม่มีค่าอะไร
ด้วยทุนสร้าง ที่คิดว่าน่าจะประมาณ $40,000 เหรียญ มียอดจำหน่ายตั๋วเฉพาะในฝรั่งเศส 4,272,000 ใบ ในอเมริกาทำเงิน $14 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลามเมื่อเทียบกับทุนสร้างที่น้อยนิด, นอกจาก Palme d’Or แล้ว เข้าชิง Oscar 4 สาขา ได้มา 2 รางวัล
– Best Director
– Best Actress in a Leading Role (Anouk Aimée)
– Best Writing, Original Screenplay **ได้รางวัล
– Best Foreign Language Film **ได้รางวัล
ผมชอบหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่เห็นความติสต์ของการถ่ายภาพใน 2-3 ฉากแรก แต่สิ่งที่ทำให้ผมหลงรักหนังคือการแสดงของ Anouk Aimée และลีลาการตัดต่อที่อธิบายเรื่องราวของหนังให้เข้าใจ โดยไม่ต้องใช้คำบรรยายใดๆ นี่ถือว่าเป็นหนังที่มีลีลา สไตล์ของผู้กำกับที่ใส่ลายเซ็นต์ไว้โดดเด่นมาก, ถึงเรื่องราวของหนังจะมีความเรียบง่าย ดูธรรมดา แต่มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่องมีความโดดเด่นมาก (ถึงขนาดได้ Oscar สาขาบทดั้งเดิมนี่ ไม่น่าเชื่อเลย), และเพลงประกอบโดย Francis Lai ที่ได้สร้างโลกอีกใบหนึ่งขึ้นมา (และเสียง Sound Effect ด้วยที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้กับโลกใบนี้) รวมๆกันหลายๆองค์ประกอบ ก็แทบจะทุกสิ่งอย่างของหนังที่ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ จะไม่ให้ตกหลุมรักแล้วหลงใหลได้ยังไง
ติดอย่างเดียวในความรู้สึกของผมคือ มันธรรมดาเกินไป นี่อาจจะคือจุดเด่นของหนัง แต่ขณะเดียวกันก็คือจุดด้วย, ผมดูหนังเรื่องนี้เมื่อประมาณสัปดาห์ก่อน แต่เพิ่งมีโอกาสได้เขียนรีวิว กลายเป็นว่าผมจำเรื่องราวของหนังไม่ได้เลย (นี่แค่สัปดาห์เดียวนะ) คือมันไม่ได้มีความพิเศษอะไรเลย แต่ยังจำรสสัมผัสที่หอมหวาน ไออุ่นที่หอมกรุ่นได้เป็นอย่างดี นี่ทำให้ผมคิดว่า เมื่อเวลาผ่านไป เราจะจดจำได้แค่ว่า นี่เป็นหนังที่สวยงามเรื่องหนึ่ง แต่จะจดจำไม่ได้ว่างดงามยังไง
หนังมีภาคต่อด้วยนะครับ สร้าง 20 ปีถัดมาในชื่อ A Man and a Woman: 20 Years Later (Un Homme et une Femme, 20 Ans Déjà) ออกฉายปี 1986 โดยทีมงานนักแสดงชุดเดิม แต่ผลลัพท์เห็นว่าเทียบไม่ได้เลย กับคนที่ชอบหนังเรื่องนี้แนะนำว่าอย่าเสียเวลาไปหาดูนะครับ จะทำให้ความชอบต่อหนังเสียไปเปล่าๆ
แนะนำกับคอหนังฝรั่งเศส แนว Romantic, คนที่ชื่นชอบแนว Visual Style งานภาพสวยเลิศ ลีลาตัดต่อแหลมคม ฉับไว นักแสดงยอดฝีมือ, แฟนหนังของ Anouk Aimée, Jean-Louis Trintignant และเพลงประกอบเพราะๆของ Francis Lai ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับเลิฟซีน และอุบัติเหตุที่รุนแรง
Leave a Reply