A Man Escaped

A Man Escaped (1956) French : Robert Bresson ♥♥♥♥

ด้วย ‘สไตล์ Bresson’ นำเสนอวิธีการหลบหนีออกจากค่ายกักกันนาซี (ที่ไม่ใช่ขุดอุโมงค์) ได้อย่างประณีต ละมุ่นไม สมบูรณ์แบบ, คว้ารางวัล Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

ถึงไดเรคชั่น ‘สไตล์ Bresson’ หรือ Bressonian จะมีความโคตรเจ๋ง ด้วยเทคนิค ‘actor-model’ ทรมานนักแสดงให้เล่นฉากเดิมซ้ำๆหลักสิบถึงร้อยรอบ จนกว่าร่างกายเหน็ดเหนื่อยหมดสิ้นเรี่ยวแรง เหลือสภาพกลายเป็น’หุ่น’ เคลื่อนไหวโดยไร้ซึ่งจิตวิญญาณหรือการแสดงใดๆ แต่ส่วนตัวบอกเลยว่าไม่ชอบผู้กำกับ Robert Bresson สักเท่าไหร่ จัดว่าเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย และใจความในภาพยนตร์สื่อสะท้อนออกมาว่า อาณาจักรของพระเจ้าผู้สร้างคือหนทางออกเดียวเท่านั้นของทุกสิ่งอย่าง

แต่การรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ทำให้ผมเข้าใจเหตุผลของ Robert Bresson บางสิ่งอย่างได้ทำให้เขากลายเป็นคน/ผู้กำกับ ที่มีแนวทางเป้าหมายของตนเองชัดเจนขนาดนี้ เลยลดอคติลงไปได้นิดหน่อย แต่ก็ยังไม่ชอบวิธีการและตัวตนของเขาอยู่ดีนะ

Robert Bresson (1901 – 1999) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bromont-Lamothe หลังเรียนจบมัธยมมุ่งสู่ Paris เป็นจิตรกรขายภาพวาด ตามด้วยทำงานตากล้อง ถ่ายรูป เขียนบท กำกับหนังสั้นเรื่องแรก Public Affairs (1934), ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมกลุ่ม French Resistance ถูกจับได้กลายเป็นนักโทษสงคราม Prisoner-of-Wars ไม่รู้ถูกปล่อยตัวหรือหนีเอาตัวรอดสำเร็จ สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Angels of Sin (1943), ค่อยๆพัฒนาสไตล์ของตนเองจนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง Diary of a Country Priest (1951), สมบูรณ์แบบกับ A Man Escaped (1956), ผลงานเด่นอื่นๆ Pickpocket (1959), Au Hasard Balthazar (1966), Mouchette (1967), L’argent (1983) ฯ

มีสามสิ่งที่คืออิทธิพลความสนใจของผู้กำกับ คาทอลิก, งานศิลปะ และประสบการณ์จากค่ายกักกันนาซี เหล่านี้หลอมรวมให้เขามีมุมมองต่อโลกในทางโหดร้าย อันตราย ราวกับนรกบนดิน สร้างภาพยนตร์ที่นักแสดงมีลักษณะไร้ซึ่งจิตวิญญาณตัวตน เรื่องราวเต็มไปด้วยความสิ้นหวังหดหู่ จะมีก็เพียงศาสนาที่เป็นหนทางออก(จากโลกใบนี้ของ Bresson)

Bresson ถือเป็นผู้กำกับทรงอิทธิพลอย่างมากต่อวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะกับกลุ่ม French New Wave ได้รับการยกย่องเป็น ‘ศิลปิน’ แม้แต่ Jean-Luc Godard ยังเชิดชูระดับที่ว่า

“Robert Bresson is French cinema, as Dostoyevsky is the Russian novel and Mozart is German music”.

ในระดับโลก Andrei Tarkovsky บอกว่ามีเพียงสองผู้กำกับ Ingmar Bergman และ Robert Bresson เท่านั้นที่เขาให้ความสนใจ และให้คำนิยมว่า

“perhaps the only artist in cinema, who achieved the perfect fusion of the finished work with a concept theoretically formulated beforehand”.

A Man Escaped or: The Wind Bloweth Where It Listeth หรือชื่อฝรั่งเศส Un condamné à mort s’est échappé ou Le vent souffle où il veut เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 4 ของผู้กำกับ Bresson สามผลงานก่อนหน้านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับศาสนา จนถูกมองว่าเป็น ‘religious director’ จึงต้องการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตนเองสักหน่อย เลือกดัดแปลงเรื่องเล่าของ André Devigny (1916 – 1999) ทหารยศร้อยโทที่สามารถหลบหนีเอาตัวรอดจากค่ายกักกัน Fort Montluc, Lyon เมื่อปี 1943 จนได้ประดับเหรียญเชิดชู Cross of the Liberation จาก Charles de Gaulle ภายหลังสงครามโลกสิ้นสุด

เกร็ด: ชื่อหนังท่อนหลังที่มักไม่ค่อยมีใครจดจำเรียก คัทลอกจากคัมภีร์ไบเบิ้ลของนักบุญ St. John (3:8) ฉบับของ King James Version (KJV)

The wind bloweth where it listeth, and thou hearest the sound thereof, but canst not tell whence it cometh, and whither it goeth: so is every one that is born of the Spirit.

Devigny ตีพิมพ์เรื่องราวของตนเองนี้ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน Le figaro เมื่อปี 1954 ตั้งชื่อว่า Un condamné à mort s’est échappé (แปลว่า A Man Condemned to Death Has Escaped) ซึ่งหลังได้รับการติดต่อจาก Bresson ก็ยินดีให้การช่วยเหลืออะไรหลายๆอย่าง แต่วิสัยทัศน์ความต้องการของพวกเขาแทบไม่มีอะไรตรงกัน สุดท้ายเลยแค่ให้คำแนะนำด้านเทคนิควิธีการที่ตนเองใช้จริงขณะหลบหนีเท่านั้น

เกร็ด: Devigny รวมเล่มตีพิมพ์เป็น Memoir (ใช้ชื่อเดียวกัน) เมื่อปี 1956 พร้อมๆกับตอนหนังฉายพอดี

เรื่องราวของชายชื่อ Fontaine สมาชิกของกลุ่ม French Resistance ถูกจับหลังจากความสำเร็จในการระเบิดสะพาน เริ่มต้นพยายามหลบหนีลงจากรถ แต่ก็ไปไม่ได้ไกล จับได้ถูกทรมานเลือดอาบ นำส่งตัวเข้าค่ายกักกันขังเดี่ยว ครุ่นคิดหาหนทางหนีเอาตัวรอดจากอุปกรณ์ทุกสิ่งอย่างรอบตัว สร้างตะขอเกี่ยวจากฐานตะเกียง ฉีกเสื้อผ้าคลุมเตียงทำเป็นเชือกสำหรับปีนป่าย หลังจากได้รับการตัดสินโทษประหารชีวิต จะสามารถมีโอกาสหนีเอาตัวรอดออกมาได้ทันหรือไม่?

นักแสดงทั้งหมดของหนังคือมือสมัครเล่น ที่สามารถยินยอมให้ผู้กำกับปู้ยี้ปู้ยำทำอะไรก็ได้กับพวกเขา สำหรับนักแสดงหลักที่รับบทเป็น Fontaine ไม่ได้มีหน้าตารูปร่างคล้าย André Devigny แม้แต่น้อย (นี่คือความขัดแย้งแรกๆของทั้งสอง ที่ทำให้ Devigny ไม่ค่อยอยากช่วยงานอะไร Bresson) François Leterrier เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สาขาปรัชญา สีหน้าอมทุกข์ไม่เคยยิ้ม แต่ดวงตามีประกายของความหวังอยู่ตลอดเวลา

เนื่องจากหนังเน้นการกระทำมากกว่าคำพูด และนักแสดงล้วนเป็นมือสมัครเล่น วิธีการของ Bresson ก็มิได้ให้พวกเขาเสียเวลาจดจำท่องบท เขาจะอ่านประโยคนั้นออกมา แล้วให้นักแสดงพูดตามต่อหน้ากล้องด้วยน้ำเสียงเดียวกัน ห้ามปั้นแต่งสร้างสำเนียงใดๆ ก็คงหลายสิบถึงร้อยเทคจนหน้าบูดบึ้งไร้อารมณ์แบบที่เห็นในหนัง

ถ่ายภาพโดย Léonce-Henri Burel จากเคยเป็นผู้ช่วยตากล้องของ Abel Gance เรื่องดังๆอย่าง J’accuse (1919), Napoléon (1927) ฯ ร่วมงานกับ Bresson ตั้งแต่ Diary of a Country Priest (1951) ไปจนถึง The Trial of Joan of Arc (1962)

เกร็ด: ว่าที่ผู้กำกับดัง Louis Malle ทำงานเป็นผู้ช่วยในกองถ่ายหนังเรื่องนี้ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดเตรียมอุปกรณ์ประกอบฉาก ช้อน เชือก ตะขอ ฯ

“Since you come from documentary, you take care of the props”.
//มันเกี่ยวอะไรกันไหมเนี่ย!

ส่วนใหญ่ของภาพเป็นช็อต Close-Up ติดตามการเคลื่อนไหวของมือ/เท้า หยิบจับเขียนหนังสือ เคลื่อนเดินปีนป่าย กระทำโน่นนี่นั่นสารพัด เห็นว่าทั้งเรื่องใช้กล้องเลนส์ 50mm Fixed Focal Length เพราะเป็นระยะภาพที่ใกล้เคียงกับสายตามนุษย์สุดแล้ว

สถานที่ถ่ายทำมีเพียงในสตูดิโอ Studios de Saint-Maurice (ประมาณ 70% ถ่ายทำในห้องขังของ Fontaine) กับค่ายกักกัน Prison de Montluc (สถานที่จริงซึ่ง Devigny จองจำอยู่ประมาณ 5 เดือน) ซึ่งฉากการหลบหนีช่วงท้าย แทบจะช็อตต่อช็อตตัดต่อสลับไปมาระหว่างนักแสดง(ในสตูดิโอ) กับภาพภายในค่ายกักกัน (สถานที่จริง)

แม้ฉบับที่ผมได้รับชมจะมีการบูรณะคุณภาพคมชัดกริบ แต่ฉากไคลน์แม็กซ์การหลบหนีช่วงท้าย ยังค่อนข้างมืดมิดมองอะไรไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ นี่แสดงถึงการใช้เงาหลบซ่อนตัวในการหลบหนีได้อย่างเลิศล้ำเป็นประโยชน์มากๆ ซึ่งจะมีช็อตที่ใบหน้าของตัวละครยื่นออกมาสู่แสงสว่าง (เพื่อจับจ้องมองผู้คุม) แล้วค่อยๆถอยกลับเพื่อครุ่นคิดวางแผนแก้ปัญหาจะเอายังไงดี … เจ๋งว่ะ!

ช็อตสุดท้ายของหนัง พอจะเห็นเค้าลางๆว่าคือเดินข้ามทางรถไฟ นั่นคือเส้นทางจริงๆที่ Devigny หลบหนีหลังออกจากค่ายกักกัน ซึ่งสามารถมองเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ (นี่แปลว่า หวูดรถไฟที่ได้ยินตลอดทั้งเรื่อง นั่นคือเสียงแห่งความหวัง)

ตัดต่อโดย Raymond Lamy เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับ Bresson ขาประจำไปจนถึง Four Nights of a Dreamer (1971)

สิ่งที่ผลงานก่อนหน้า Diary of a Country Priest (1951) ยังขาดหายใน ‘สไตล์ของ Bresson’ คือลีลาการตัดต่อที่ยังคงความคลาสสิก เอื่อยเฉื่อยเชื่องช้าไขมันเยอะ แต่พอเรื่องนี้ได้ร่วมงานกับ Lamy ที่ได้รีดไขมันส่วนเกินออกหมด จนมีความกระชับรวบรัดต่อเนื่อง กลายเป็นความโมเดิร์นล้ำยุคสมัยขึ้นมาโดยทันที

ดำเนินเรื่องในมุมมองของ Fontaine ประกอบเสียงบรรยายความคิดอ่านรู้สึก ซึ่งเรื่องราวจะมีลักษณะเป็นตอนๆ ถ้าเหตุการณ์ยังมีความต่อเนื่องจะใช้การ Cross-Cutting แต่เมื่อไหร่จบ Sequence นั้นๆ จะใช้การ Fade-Out Black สู่ภาพสีดำ

เนื่องจากภาพหนังนำเสนอจำกัดในมุมมองของ Fontaine เท่านั้น สิ่งที่อยู่ไกลกว่านั้นจะมาในรูปแบบ Sound Effect อาทิ เสียงฝีเท้า, ไขกุญแจ, หวูดรถไฟ, ปืนกล (ยิงคนตาย) ฯ และจะมีเสียงพิศวงหนึ่งช่วงท้ายขณะหลบหนี ตัวละครพูดออกมาว่าจินตนาการไม่ออกว่าคืออะไร ซึ่งพอพบจริงๆก็ทำเอาผมหัวเราะร่า ใครกันจะเดาออก

สำหรับเพลงประกอบ เลือกใช้บทเพลงคลาสสิกของ Wolfgang Amadeus Mozart อีกหนึ่งเพลงที่แต่งไม่เสร็จชื่อ Great Mass in C Minor, No.16 (K.427) ประพันธ์ขึ้นระหว่างปี 1782 – 83 มีทั้งหมด 4 ท่อน (Kyrie, Gloria, Credo*แต่งไม่เสร็จ, Sanctus, ขาดหายท่อน Agnus Dei) หนังนำมาใช้เพียง Kyrie ดังขึ้นตอนต้น-ท้ายเรื่อง และระหว่างกลางมีบ้างประปราย

คำว่า Kyrie แปลว่า Lord/พระผู้เจ้า, เหตุผลที่ Bresson เลือกเพลงนี้ประกอบหนัง คงเพราะคำร้องคอรัส/โซปราโน ที่จะนำพาจิตใจผู้ฟังล่องลองสูงขึ้น ราวกับสัมผัสได้ถึงการมีตัวตนของพระเจ้า หรือเรียกว่า ‘เสียงสวรรค์’

ไม่มีใครรู้แน่นอนว่าความเชื่อศรัทธาในคาทอลิกอย่างแรงกล้าของผู้กำกับ Robert Bresson เริ่มต้นเมื่อไหร่ (ไม่ได้มาจากครอบครัวของเขาแน่ๆ) ซึ่งผมค่อนข้างเชื่อว่า น่าจะตอนอยู่ในค่ายกักกันเป็นนักโทษเชลยสงคราม ซึ่งในหนังเรื่องนี้จะมีฉากที่เพื่อนนักโทษส่งกระดาษชิ้เล็กๆ คัทลอกข้อความจากคัมภีร์ไบเบิ้ลของนักบุญ St. John นั่นอาจคือจุดตั้งต้นที่ทำให้เขาสามารถมีชีวิตเอาตัวรอดผ่านช่วงเวลาอันแสนโหดร้ายดังกล่าวได้

ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Bresson ที่พยายามทำให้นักแสดงของเขาหลงเหลือสภาพเพียงหุ่น ‘actor-model’ มีตัวตนแต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ว่าไปก็มีสภาพไม่ต่างกับนักโทษเชลยสงครามในค่ายกักกัน (ก็อาจคือสภาพของตัวเขาเองตอนติดอยู่ด้วย) มีชีวิตไปวันๆไร้ซึ่งความหวัง เป้าหมาย อนาคต เป็นตายอยู่ที่โชคชะตาและประสงค์ของพระเป็นเจ้า โอ้ละหนอ! ทำไมโลกมันช่างทุกข์ทรมานโหดร้ายปานนี้

‘เสียงสวรรค์’ ที่ปรากฎอยู่ต้นเรื่องกับตอนจบ ย่อมเป็นการสื่อถึงอิสรภาพ โลกภายนอก ที่มีความสุขสบายกว่าชีวิตในค่ายกักกันนี้ ซึ่งนี่สะท้อนถึงความเชื่อศรัทธาในศาสนาของผู้กำกับ Bresson เปรียบได้กับชีวิตเมื่อสิ้นลมหายใจเสียชีวิต จักสามารถหลบลี้หนีออกจากโลกใบนี้ที่แสนโหดร้าย มุ่งสูความสุขสำราญในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าชั่วนิจนิรันดร์

สรุปแล้วหน้าหนังที่เกี่ยวกับการหลบหนีออกจากค่ายกักกันนาซี แท้จริงแล้วสะท้อนความเพ้อของผู้กำกับ Bresson จำลองเปรียบโลกความจริงที่โหดร้ายดั่งค่ายกักกันนาซี หลบหนีออกมาสำเร็จก็คือถึงขณะสิ้นลมหายใจ เป้าหมายอิสรภาพเทียบเท่าความสุขสำราญในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Best Director ในปีที่มีภาพยนตร์เด่นๆมากมาย อาทิ The Seventh Seal (1957), The Nights of Cabiria (1957) แต่เรื่องที่คว้า Palme d’Or ปีนั้น Friendly Persuasion (1957) ของผู้กำกับ William Wyler อาจไม่ค่อยมีใครจดจำได้สักเท่าไหร่

ภาพยนตร์เรื่องนี้คือมันต้อง ‘สไตล์ Bresson’ เท่านั้น ถึงสามารถนำเสนอรายละเอียด วิธีการออกมาได้อย่างลื่นไหลบรรจง ประณีตละมุ่นไม เป็นธรรมชาติ สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ผมไม่ค่อยชอบเลยคือความตั้งใจของผู้กำกับ หนังแทบไม่มีสาระอะไรอื่นนอกจากชี้ชักนำว่า โลกภายนอก/อาณาจักรของพระเจ้า คืออิสรภาพที่เราต้องขวนขวายแสวงหามาด้วยตนเอง ถึงจักพบเจอความสุขจริงแท้ชั่วนิจนิรันดร์

แนะนำกับคอหนังสงคราม แนวหลบหนีจากค่ายกักกันนาซี สงครามโลกครั้งที่ 2, รู้จักหลงใหลในไดเรคชั่นของผู้กำกับ Robert Bresson ไม่ควรพลาดเด็ดขาด

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศอันอึมครึม โลกที่ไร้จิตวิญญาณ

TAGLINE | “A Man Escaped ด้วยสไตล์ของผู้กำกับ Robert Bresson นำเสนอการหลบหนีออกจากค่ายกักกันนาซี ได้อย่างประณีต ละมุ่นไม สมบูรณ์แบบ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: