A Man for All Seasons

A Man for All Seasons (1966) British : Fred Zinnemann ♥♥♥♥

เรื่องราวของ Sir Thomas More ผู้ซึ่งไม่ว่าอะไรจะบังเกิดขึ้น ยังคงยึดถือเชื่อมั่นในศรัทธาคำสอนพระเจ้า แม้ต้องกลายเป็นปรปักษ์ขัดแย้ง King Henry VIII (1509 – 1547) ที่ต้องการหย่าร้างราชินี และต่อมาสมรสใหม่ถึง 6 ครั้งครา, คว้า 6 รางวัล Oscar และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ชื่อหนังได้แรงบันดาลใจจากข้อความในหนังสือ Vulgaria (1550) เขียนโดยนักไวยากรณ์ชาวอังกฤษ Robert Whittington (1480 – 1553) เอ่ยกล่าวถึง Sir Thomas More แม้มิเคยได้พานพบเจอ แต่เปรียบชายคนนี้ดั่ง A Man for All Seasons

“More is a man of an angel’s wit and singular learning; I know not his fellow. For where is the man of that gentleness, lowliness, and affability? And, as time requireth, a man of marvelous mirth and pastimes, and sometime of as sad gravity: a man for all seasons“.

– Robert Whittington

ถึงผมจะไม่ค่อยอินกับความขวาจัด อนุรักษ์นิยม คลั่งศาสนา แต่ก็อดไม่ได้จะชื่นชมบุคคลผู้ยึดถือมั่นคงในอุดมการณ์ (แม้จะแบบผิดๆก็เถอะ) ต่อสู้กับคอรัปชั่นที่แผ่อิทธิพลครอบงำทั่วทุกหย่อมหญ้า นั่นต้องใช้ความเชื่อมั่นศรัทธาแรงกล้าขนาดไหน ถึงสามารถเอาชีวิตเข้าแลกทุกสิ่งอย่าง

ซึ่งสิ่งตื่นตระการตาสุดของหนัง คือการออกแบบเสื้อผ้าตัวละครโดย Elizabeth Haffenden และ Joan Bridge [ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Ben-Hur (1959), Fiddler on the Roof (1971)] มีความเป็น Costume Period ที่อลังการงานสร้างมากๆ


A Man for All Seasons (1954) แรกเริ่มคือบทละครวิทยุ ออกอากาศสถานี BBC Radio แต่งเรื่องราวโดย Robert Bolt (1924 – 1995) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965) ฯ

เพราะได้เสียงตอบรับอย่างดีจึง Bolt จึงพัฒนาต่อยอดกลายเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ ความยาว 1 ชั่วโมง ออกฉายสถานี BBC เมื่อปี 1957 นำแสดงโดย Bernard Hepton

ตามต่อด้วยดัดแปลงเป็นละครเวที เริ่มจาก West End/London เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Globe Theatre (ปัจจุบันคือ Gielgud Theatre) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1960 ยืนยาวนาน 320 รอบการแสดง และยังได้ไปต่อ Broadway/New York ณ ANTA Playhouse รอบปฐมทัศน์ 22 พฤศจิกายน 1961 จำนวน 620 รอบการแสดง, ทั้งสองชุดนำแสดงโดย Paul Scofield

ด้วยความสำเร็จขนาดนี้ ไม่แปลกที่ Columbia Pictures จะขอลิขสิทธิ์สร้างภาพยนตร์ ได้รับข้อแม้คือ Bolt ทำการดัดแปลงบทหนังด้วยตนเอง และติดต่อได้ผู้กำกับ Fred Zinnemann

Alfred ‘Fred’ Zinnemann (1907 – 1997) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian เกิดที่ Rzeszów (ปัจจุบันคือประเทศ Poland) ในครอบครัวชาว Jews ตอนเด็กมีความฝันต้องการเป็นนักดนตรี กลับเรียนจบกฎหมายที่ University of Vienna แล้วเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ในภาพยนตร์ เข้าเรียนต่อ Ecole Technique de Photographie et Cinématographie ที่ Paris จบมาทำงานเป็นตากล้องทำงานใน Berlin และขอครอบครัวอพยพย้ายสู่ Hollywood ครั้งหนึ่งเป็นตัวประกอบใน All Quiet on the Western Front (1930) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Wave (1935) ถ่ายทำใน Mexico ใช้นักแสดงสมัครเล่น ถือเป็นหนังแนว Social Realism เรื่องแรกๆของโลก

พ่อ-แม่ ครอบครัวของ Zinnemann ถูกฆ่าล้างชาติพันธุ์โดย Nazi ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความเจ็บปวดชอกช้ำให้กับเขาเป็นอย่างมาก แต่เพราะติดสัญญาทาสกับสตูดิโอ MGM ทำให้สร้างหนังทิ้งๆขว้างๆอยู่ 2-3 เรื่อง จนกระทั่งได้รับอิสรภาพ มีโอกาสสร้างหนังเรื่อง Act of Violence (1949) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สะท้อนปัญหาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมของสงคราม (Ethics of Wars) ตามด้วย High Noon (1952), From Here to Eternity (1953), The Nun’s Story (1959), The Sundowners (1960), A Man for All Seasons (1966), Julia (1977) ฯ

พื้นหลังประเทศอังกฤษ ค.ศ. 1529-35, เรื่องราวของ Sir Thomas More (รับบทโดย Paul Scofield) เมื่อครั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรีและประธานฝ่ายตุลาการ มีความคิดเห็นต่อต้านการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ คัดค้านการแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก และไม่ยินยอมรับ King Henry VIII (รับบทโดย Robert Shaw) เป็นประมุขสูงสุดของคริสตจักรแห่งอังกฤษ อันเป็นเหตุให้ถูกจองจำคุกข้อหาการกบฏ และได้รับโทษตัดสินประหารชีวิตตัดศีรษะ วันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1535


นำแสดงโดย David Paul Scofield (1922 – 2008) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ หนึ่งใน Triple Crown of Acting (คว้า Oscar, Tony, Emmy) เกิดที่ Birmingham, Warwickshire แม่นับถือ Roman Catholic ส่วนพ่อเป็น Anglican ทำให้วัยเด็กขาดทิศทางศรัทธาความเชื่อศาสนา แต่หลังจากพบเจอ Shakespeare ลุ่มหลงใหลในการแสดง โตขึ้นฝึกหัดยัง Croydon Repertory Theatre ปีถัดมาขึ้นการแสดงได้รับการเปรียบเทียบทันทีกับ Laurence Olivier, ภาพยนตร์เรื่องแรก That Lady (1955), ผลงานเด่นๆ อาทิ A Man for All Seasons (1966), King Lear (1971), Henry V (1989), Quiz Show (1994), The Crucibble (1996) ฯ

รับบท Sir Thomas More (1478 – 1535) นักกฎหมาย นักปรัชญาสังคม รัฐบุรุษ องคมนตรีใน King Henry VIII เป็นผู้มีความเชื่อศรัทธาในหลักคำสอนศาสนาอย่างเคร่งครัดแรงกล้า ไม่โอนอ่อนผ่อนปรนแม้จะถูกบีบบังคับอับจนหนทาง ใช้สติปัญญาอันเฉียบคมคาย สามารถเพิกเฉยวางตัวเป็นกลางตลอดทุกการใส่ร้ายป้ายความผิด แต่เมื่อโชคชะตาไม่เข้าข้างดั่งครุ่นคิด คำพูดสุดท้ายจึงประกาศกร้าวถึงอุดมคติตั้งมั่น ใครจะตำหนิต่อว่าอะไรฉันก็ช่าง แล้วพบเจอกันยังโลกหลังความตาย

เกร็ด: Sir Thomas More ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดย Pope Pius XI เมื่อปี ค.ศ. 1935

แม้ว่าชื่อของ Scofield จะเลื่องลือนามในวงการละครเวที แต่ก่อนหน้านี้แสดงภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่อง ไร้ชื่อเสียงเรียงนามใดๆในความเชื่อโปรดิวเซอร์ แต่เป็นผู้กำกับ Zinnemann ย้ำยืนกรานต้องคนนี้เท่านั้น ประกอบกับ Richard Burton, Laurence Olivier, Alec Guinness ต่างบอกปัดปฏิเสธ เลยจำยินยอมเสี่ยง

แซว: Charlton Heston พยายามล็อบบี้ให้ตนเองได้รับบทนำ แต่เขาหาได้อยู่ในความสนใจของโปรดิวเซอร์แม้แต่น้อย

ภาพลักษณ์ของ Scofield เป็นคนที่มี Charisma สูงมากๆ ทุกถ้อยคำพูด ท่วงท่าทางการเคลื่อนไหว ล้วนดูดีมีสง่าราศี เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นในตนเองสูง แม้บางครั้งก้มหน้าเพราะความผิดคาดหวัง แต่ศรัทธาเชื่อมั่น/อุดมการณ์อันแรงกล้า ทำให้ไร้ซึ่งสีหน้าหวาดสะพรึงกลัวเกรงต่อสิ่งอันใด แม้ความตาย

สิ่งที่ตราตรึงมากๆในการแสดงของ Scofield คือวินาทีโต้ตอบกลับ เมื่อถูกใครพยายามชี้ชักนำพา อ้อมค้อมประโลมโลก จากก้มหัวสามารถเงยหน้าลุกขึ้นพูดเอ่ยถ้อยคำอธิบาย ย้อนแย้งด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นมั่นคง กลับตารปัตรพลิกสถานการณ์ ไร้ซึ่งจุดอ่อนให้ใครสามารถเจาะทำลายล้าง … นอกจากถ้อยคำพลิกลิ้น โป้ปดหลอกลวง ซึ่งนั่นนำมาสู่จุดจบสิ้นหวังโดยทันที


Robert Archibald Shaw (1927 – 1978) นักเขียน นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Westhoughton, Lancashire, โตขึ้นเคยเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่ Glenhow Preparatory School ก่อนหันเหความสนใจเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art กลับจากเป็นทหารอากาศมุ่งสู่ละครเวที West End ตามด้วยซีรีย์โทรทัศน์ โด่งดังกับ From Russian with Love (1963), Battle of the Bulge (1965), A Man for All Seasons (1966), Young Winston (1972), The Sting (1973), Jaws (1975) ฯ

รับบท King Henry VIII of England จากราชวงศ์ Tudor สมรสครั้งแรกกับ Catherine of Aragon แม้มีบุตรถึง 6 ครั้ง แต่ก็มีเหตุเป็นไปมากมายจนไม่หลงเหลือรัชทายาทชายสืบราชบัลลังก์ ซึ่งหลังจากคบชู้ Anne Boleyn ต้องการหย่าขาดราชินีเก่าแต่ถือว่าขัดต่อหลักศาสนา ทำให้ทรงริเริ่มการปฏิรูปอังกฤษเพื่อแยกคริสตจักรออกจากอำนาจของพระสันตะปาปา และแต่งตั้งพระองค์เองเป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรอังกฤษ

เลื่องลือชาในความเฉลียวฉลาดรอบรู้ นักประพันธ์ร้อยแก้ว/ร้อยกรอง ลุ่มหลงใหลในดนตรี การเต้นรำ ด้วยเหตุนี้จึงชอบใช้จ่ายราชทรัพย์อย่างสุรุยสุหร่าย หาเงินจากการปิดวัดวาอาราม จัดการผู้เห็นต่างด้วยอำนาจเผด็จการรุนแรง กลายเป็นคนอารมณ์ไม่มั่นคง อัตตาสูง และได้รับจดจำในฐานะกษัตริย์ตัณหากลับ (สมรสถึงหกครั้ง)

Peter O’Toole และ Richard Harris ต่างเป็นตัวเต็งในบทบาทนี้ แต่ Zinnemann หลงใหลในความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของ Shaw ตราตรึงกับ From Russian with Love (1963) เลยมอบบทนำนี้ให้

ความกวัดแกว่งทางอารมณ์ของ King Henry เป็นสิ่งไม่มีใครสามารถคาดเดาอะไรได้ ซึ่ง Shaw ก็ได้สร้างมิติให้ตัวละครได้อย่างสุดกู่เช่นกัน แรกเริ่มย่ำลงโคลนแสดงสีหน้าทำเอาใครๆต่างตื่นตระหนกตกใจ แล้วอยู่ดีๆพลันหัวเราะร่า โล่งอกไปทีไม่มีใครตาย … ต้องถือว่าเป็นความ ‘free spirit’ เต็มที่กับชีวิต ไม่มีอะไรต้องปกปิดบังซ่อนเร้นไว้ภายใน


Leo McKern ชื่อจริง Reginald McKern (1920 – 2002) นักแสดงสัญชาติ Australian เกิดที่ Sydney, New South Wales เมื่อตอนอายุ 15 สูญเสียตาขวา โตขึ้นฝึกงานเป็นวิศวกร ได้เป็นทหารขุดอุโมงค์ในสังกัด Royal Australian Engineers ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปลดประจำการออกมาตกหลุมรักนักแสดง Jane Holland ย้ายสู่ประเทศอังกฤษเพื่อแต่งงานกับเธอ และได้กลายเป็นนักแสดงละครเวที, ภาพยนตร์เรื่องแรก Murder in the Cathedral (1952), ผลงานเด่นๆ อาทิ Help! (1965), A Man for All Seasons (1966), Ryan’s Daughter (1970), The Blue Lagoon (1980), The French Lieutenant’s Woman (1981), Ladyhawke (1985) ฯ

รับบท Thomas Cromwell ทนายความ ที่ปรึกษารัฐ รัฐบุรุษชาวอังกฤษ และได้กลายเป็นหัวหน้ารัฐมนตรีให้ King Henry VIII มีนิสัยกลับกลอกปอกลอก ก็ไม่รู้ฟังคำจากกษัตริย์หรือโป้ปดหลอกลวง ใช้ข้ออ้างพระนามเพื่อให้ได้ทุกสิ่งอย่างตามใจปรารถนา มองมุมหนึ่งเหมือนต้องการเอาคืน Sir Thomas More ที่เคยพูดจาดูถูกตนเองไว้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะชายคนนี้ไร้ซึ่งจุดอ่อน ซึ่งเมื่อกระทำสำเร็จเลยเป็นเหตุให้ผลกรรมสุดท้าย ถูกประหารตัดคอไม่แตกต่างกัน

แค่รูปร่างภาพลักษณ์ McKern แลดูชั่วร้ายอันตราย เห็นใบหน้านิ่งๆแต่ถ้อยคำพูดและสิ่งซ่อนเร้นภายในเด่นชัดนัก พร้อมที่จะทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออำนาจชัยชนะ แต่ก็หมดสิ้นจนปัญญาถึงขนาดต้องเลี้ยวลดคดไม่ซื่อ ไม่ต่างอะไรกับอสรพิษ/งูเห่า พร้อมย้อนแย้งแว้งกันทุกผู้คนได้ตลอดเวลา


Sir John Vincent Hurt (1940 – 2017) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chesterfield, Derbyshire บ้านของเขาอยู่ตรงข้ามกับโรงหนัง แต่ครอบครัวไม่อนุญาติให้เขาเข้าไปรับชมหรือเป็นเพื่อนกับเด็กๆแถวบ้าน กระนั้นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นได้เข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art เริ่มจากเป็นตัวประกอบ The Wild and the Willing (1962) รับบทนำครั้งแรก A Man for All Seasons (1966) โด่งดังกับ 10 Rillington Place (1971), Midnight Express (1978), Alien (1979), The Elephant Man (1980) ฯ

รับบท Richard Rich (1946 – 1567) แม้ต้นกำเนิดไม่มีระบุไว้ แต่เป็นคนมากด้วยความทะเยอทะยานฝันใฝ่ เริ่มต้นขอความช่วยเหลือจาก Sir Thomas More กลับถูกกีดกันเลยหันเปลี่ยนไปเข้าข้าง Thomas Cromwell ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแลกมาด้วยตำแหน่ง กล้าพูดโกหกหลอกลวงไม่เกรงกลัวความผิดในชีวิตนี้หรือโลกหน้า … ได้ดิบได้ดีจนกระทั่งต่อมาไต่เต้าเป็นนายกรัฐมนตรี และเสียชีวิตแบบนอนตายตาหลับบนเตียง

เริ่มต้นดูเป็นบทบาทเล็กๆที่แทบไม่มีใครเห็นหัว ซึ่งภาพลักษณ์วัยละอ่อนของ Hurt ทำให้ตัวละครดูทึ่มทื่อ ซื่อบื้อ ไร้เดียงสาต่อโลก แต่ไปๆมาๆกลับกลายเป็นบุคคลสำคัญ ชี้ชะตากรรมตัวเอก กลายสภาพเป็นคนเย่อหยิ่งทะนงตน สนเพียงเป้าหมายความสำเร็จพึงพอใจส่วนตนเองเท่านั้น


ถ่ายภาพโดย Ted Moore (1914 – 1987) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ โด่งดังกับแฟนไชร์ James Bond ไล่ตั้งแต่ Dr. No (1962) จนถึง The Man with the Golden Gun (1974) แต่ได้รับการจดจำสูงสุดกับ A Man for All Seasons (1966) กวาดเรียบทุกสถาบัน Best Cinematographer

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง Oxfordshire, Hampshire, Surrey, แม่น้ำ Beaulieu River
– พระราชวัง King Henry VIII ถ่ายทำที่ Hampton Court Palace
– บ้านของ Sir Tomas More ยัง Studley Priory, Horton Hill
ฯลฯ

ความโดดเด่นด้านงานภาพ ประกอบด้วยสีสันสวยสดสอดคล้องรับเสื้อผ้าเครื่องประดับ ระยิบระยับแสงแดดสะท้อนผืนผิวน้ำ และความมืดมิดรายล้อม สิ่งชั่วร้ายปกคลุมทุกทิศทาง

Opening Credit พบเห็นความระยิบระยับของแสงอาทิตย์สาดส่องพื้นผิวน้ำ แรงกระเพื่อมทำให้ภาพสะท้อนมองไม่เห็นเป็นรูปร่าง หรือคือศีลธรรมจรรยา ความเชื่อศรัทธามนุษย์ กำลังถูกบางสิ่งอย่างทำให้พร่าเลือนลาง บิดพริ้วไหว ไร้ซึ่งความสงบราบเรียบเหมือนแต่เก่าก่อน

แทบทุกฉากที่ Sir Thomas More ต้องเข้าไปในกรุงลอนดอน/พระราชวัง จะพบเห็นรอบข้างรายล้อมปกคลุมด้วยความมืดมิด นั่นสะท้อนถึงสิ่งชั่วร้ายคอรัปชั่น ได้กลืนกลืนครอบงำสถานที่แห่งนี้ไว้หมดสิ้น

แซว: Orson Welles รับเชิญในบทบาท Cardinal Wolsey แค่เพียง 2 ฉาก กลับได้ค่าตัวสูงเท่านักแสดงนำ!

ฉากการสนทนาในสวนระหว่าง King Henry VIII กับ Sir Thomas More สังเกตว่าสีเขียวของต้นไม้ ตัดกับสีอิฐของคฤหาสถ์ และกลมกลืนเข้ากับเสื้อผ้าตัวละคร นี่เป็น Color Palette กลายเป็นโคตรอิทธิพลให้ภาพยนตร์แนว Period ของประเทศอังกฤษ ที่ผมพอรู้จักอาทิ Anne of the Thousand Days (1969), The Draughtsman’s Contract (1982), The Favourite (2018) ฯ

ไดเรคชั่นเจ๋งสุดในหนังต้องยกให้ฉากนี้ Sir Thomas More ขณะกำลังเดินออกจากห้องรับรองสู่โถงพิพากษาคดีความ กล้องจะเคลื่อนติดตามตัวละครผ่านประตู ทางเดิน ไปจนพบเห็นทุกสิ่งอย่างเบื้องนอก

ทิ้งท้ายกับมุมกล้องเมื่อ Sir Thomas More หมดสิ้นความจำเป็นต้องปกปิดบังข้อคิดเห็นตนเองอีกไป ถ่ายจากด้านหลังแท่นผู้พิพากษา ราวกับว่าคือมุมมองของพระคริสต์จับจ้องลงมา พบเห็นนักบุญผู้ยังเชื่อมั่นศรัทธา กำลังถูกกดขี่ กลั่นแกล้ง คำสอนพระองค์ได้รับการบิดเบือน แปดเปื้อน จุดเริ่มต้นของรอยแตกแยกคริสตจักร

ตัดต่อโดย Ralph Kemplen (1912 – 2004) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำของผู้กำกับ John Huston ผลงานเด่นๆ อาทิ The African Queen (1951), Moulin Rouge (1952), Oliver! (1968), The Day of the Jackal (1973) ฯ

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Sir Thomas More ได้รับจดหมายเรียกตัวให้เข้าพบ Cardinal Wolsey ซึ่งใช้การส่งไม้พลัด(จดหมาย) จากมือสู่มือ เบื้องบนสู่เบื้องล่าง ทางบกสู่ทางน้ำ ซึ่งโครงสร้างหนังทั้งเรื่องก็จะมีลักษณะนี้เช่นกัน กล่าวคือ เริ่มจากจุดสูงสุดของ More หลังจากความขัดแย้งไม่เห็นพ้องกับ King Henry VIII ชีวิตพานพบความตกต่ำลงเรื่อยๆ สูญสิ้นพันธมิตร ถูกจับติดคุก ไต่สวนแบบฟังความข้างเดียว และที่สุดโทษประหารชีวิตตัดคอ

ผมว่าลึกๆไดเรคชั่นการส่งไม้พลัด อาจได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากวิวัฒนาการของผู้เขียน Robert Bolt พัฒนาเรื่องราวนี้เริ่มจาก รายการวิทยุ, ภาพยนตร์โทรทัศน์, ละครเวที, ภาพยนตร์ … ไต่เต้าความสำเร็จตามลำดันขั้นตอนเปะๆ


เพลงประกอบโดย Georges Delerue (1925 – 1992) นักแต่งเพลงยอดฝีมือสัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของผู้กำกับรุ่น French New Wave โกอินเตอร์กับผลงานเด่นๆ Anne of the Thousand Days (1969), Julia (1977), A Little Romance (1980), The Last Metro (1981), Sword of Gideon (1987) ฯ

ผมละโคตรไม่เข้าใจ ทำไม Delerue ถึงพลาดโอกาสเข้าชิง Oscar: Best Original Score จากบทเพลงกลิ่นอาย Renaissance ที่มีความไพเราะงดงามขนาดนี้ จริงอยู่มันอาจไม่ได้มีลูกเล่นในท่วงทำนองอะไร แต่ถือว่ากลมกลืนเข้ากับบรรยากาศยุคสมัยได้อย่างเหมาะสมลงตัว

ไม่ใช่แค่คริสตจักรที่เกิดการแบ่งแยกโรมันคาทอลิก โปรเตสแตนต์ ออร์ทอดอกซ์ ฯ ศาสนาพุทธก็ไม่แตกต่าง วิวัฒนาการกลายเป็นเถรวาท มหายาน วัชรยาน ฯ สาเหตุเพราะความคอรัปชั่นภายในจิตใจมนุษย์ ต้องการปรับเปลี่ยนวิถีความเชื่อศรัทธาให้เข้าหาตนเอง

ฟังดูพิลึกพิลั่นแปลกพิศดาร แต่จากบริบทภาพยนตร์เรื่องนี้ King Henry VIII ต้องการให้ตนเองสามารถเลิกราหย่าร้างราชินีแล้วแต่งงานใหม่ได้ ในเมื่อทั้งๆที่ศาสนาไม่มีบทบัญญัติยินยอมอนุญาต เลยสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้นำคริสตจักร จักสามารถเป็นออกกฎระเบียบการปกครองใหม่ สนองความต้องการพึงพอใจส่วนตนเอง

เหตุการณ์ลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเมื่อความเชื่อศรัทธาอยู่ในสภาวะวิกฤตตกต่ำ ผู้มีอำนาจ/ขุนนาง/กษัตริย์ เต็มไปด้วยความคอรัปชั่นภายในจิตใจ สนเพียงกอบโกยแสวงผลประโยชน์พึงพอใจส่วนตน หาได้ใคร่แยแสต่อศีลธรรมถูกผิด หรือสนหัวข้าราษฎร คนรับใช้ ถูกมองข้ามแทบไม่ได้รับการกล่าวพูดถึง

จะว่าไป Sir Thomas More และ Richard Rich ต่างเป็นขั้วตรงข้ามที่มีอุดมการณ์/ทิศทางชีวิตสวนทางกัน
– Sir Thomas More เพราะความยึดถือเชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้า ไม่มีอะไรใต้หล้าจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเขาได้ ทำให้จากสูงสุดค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ
– Richard Rich มากล้นด้วยความทะเยอทะยาน พร้อมทำทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าจากดินขึ้นสู่ดาว ได้ดิบดีมีเงินทอง ชื่อเสียง หน้าตาทางสังคม โดยไม่สนถูกผิดชอบดีชั่วหรือพระเจ้าองค์ใด

หลายคนอาจมองว่า ตัวละครของ Richard Rich คือบุคคลผู้มีความน่าหวาดสะพรึงกลัว ปลิ้นปล้อนกลับกลอก ตัวอันตรายที่สุดในหนัง แต่ผมมองว่า Sir Thomas More ก็เฉกเช่นกัน เพราะความยึดถือเชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้า ทำให้ไม่สามารถประณีประณอมอ่อนข้อให้ใครอื่น จริงอยู่บุคคลลักษณะนี้ดูน่ายกย่องสรรเสริญ แต่ถ้าออกตัวแรงแล้วค้นพบว่ามันไม่ใช่ ตายไปพบเจอความสูญว่างเปล่า ก็เท่ากับทั้งหมดนี้คือการหลงผิด หลอกตนเอง อะไรจะเกิดขึ้นกับเขาต่อไปกัน

ความสนใจของผู้กำกับ Fred Zinnemann ต่อ A Man for All Seasons (1966) ผมรู้สึกคล้ายๆ High Noon (1952) คือเรื่องราวของบุคคลที่ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อเป้าหมาย อุดมการณ์สูงสุด แม้จะถูกสังคมรอบข้างและครอบครัวกีดกัน ครุ่นคิดเห็นต่าง ชัยชนะอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่เมื่อมองจากภายนอก แต่สามารถยกระดับความทรงคุณค่าทางจิตใจให้สูงส่งขึ้นไป

แซว: John Wayen เคยบอกว่าโคตรเกลียด High Noon (1952) เลยร่วมกับ Howard Hawks สร้าง Rio Bravo (1959) เป็นการโต้ตอบ แต่พอมาถึง A Man for All Seasons (1966) เห็นว่ากลายเป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดของพี่แกเลย!


ด้วยทุนสร้าง $2 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $28.3 ล้านเหรียญ น่าเสียดายไม่มีรายงานรายรับทั่วโลก คาดว่าคงจะประสบความสำเร็จล้นหลามเฉกเช่นเดียวกัน

เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามา 6 รางวัล
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Paul Scofield) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Robert Shaw)
– Best Supporting Actress (Wendy Hiller)
– Best Adapted Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography – Color ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design – Color ** คว้ารางวัล

เกร็ด:
– หนึ่งในสี่เรื่องที่สามารถคว้า Tony Award: Best Play และ Oscar: Best Picture ประกอบด้วย My Fair Lady (1964), The Sound of Music (1965) และ Amadeus (1984)
– ขณะที่ Paul Scofield เป็นหนึ่งในหกที่สามารถคว้า Tony Award และ Oscar สาขา Best Actor ประกอบด้วย Cyrano de Bergerac (1950), The King and I (1956), My Fair Lady (1964) The Subject Was Roses (1968), Cabaret (1972)
– Robert Shaw เป็นนักแสดงคนที่สองจากสาม เข้าชิง Oscar จากบทบาท King Henry VIII ถัดจาก Charles Laughton เรื่อง The Private Life of Henry VIII. (1933) และ Richard Burton เรื่อง Anne of the Thousand Days (1969)
– เพียงสองครั้งเท่านั้นขึ้นต้นด้วยตัวอักษร -A- และคว้า Oscar: Best Picture อีกเรื่องคือ A Beautiful Mind (2001)

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนัง ประทับใจการแสดง ตระการตากับเสื้อผ้าหน้าผม ถ่ายภาพ เพลงประกอบ ทุกองค์ประกอบมีความครบเครื่องลงตัว แค่เสพงานโปรดักชั่นก็อิ่มหนำมากๆแล้ว

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงการกระทำของ Sir Thomas More จะดูสุดโต่งหลุดและหลงผิด แต่ทำไมไม่มองมุมศรัทธาอันแรงกล้า เป็นคุณถ้ามีความเชื่อมั่นในบางสิ่งอย่าง จะกล้าแสดงออกได้ถึงระดับนั้นหรือเปล่า หรืออาจเห็นเป็นข้อคิดคติเตือนใจ การหมกมุ่นอะไรมากไปจนไม่สามารถโอนอ่อนผ่อนตาม วางตัวเป็นกลาง สุดท้ายรังแต่จะพานพบเจอหายนะจุดจบสิ้น

จัดเรต 13+ กับความสวยงามฟุ้งเฟ้อที่รายล้อมรอบไปด้วยความคอรัปชั่น

คำโปรย | A Man for All Seasons ของผู้กำกับ Fred Zinnemann ตระการตาไปด้วยสีสัน โปรดักชั่น การแสดง แต่รายล้อมรอบไปด้วยความคอรัปชั่น
คุณภาพ |
ส่วนตัว | ค่อนข้างชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: