A Matter of Life and Death

A Matter of Life and Death (1946) British : Michael Powell & Emeric Pressburger ♥♥♥♡

ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย สิ่งสามารถตัดสินโชคชะตาชีวิต สัมพันธ์หนุ่ม-สาว พันธมิตรใหม่ระหว่างสหราชอาณาจักร-สหรัฐอเมริกา (ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) คือความรักบริสุทธิ์ใจที่มีให้ต่อกัน งดงามตระการตา อลังการกับบันไดเลื่อนสู่สวรรค์ และจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล

เมื่อตอนเข้าฉายยังสหรัฐอเมริกา โปรดิวเซอร์มองชื่อหนังมีคำว่า ‘Death’ ดูไม่เป็นสิริมงคลสักเท่าไหร่ และส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลวไม่ทำเงิน [เว้นเสียแต่ Death Takes a Holiday (1934) ที่ Death ไปพักร้อนแถมเรื่องราวไม่มีใครตาย!] ด้วยเหตุนี้เลยปรับเปลี่ยน Stairway to Heaven เข้าฉายเทศกาลคริสต์มาสพร้อมๆกับ It’s a Wonderful Life (1946) ได้รับการจดจำเคียงคู่ระดับตำนาน ด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘โอกาสสอง’ เริ่มต้นชีวิตใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ขณะที่ It’s a Wonderful Life (1946) คือภาพยนตร์เรื่องโปรด แต่ส่วนตัวกลับไม่ค่อยชื่นชอบชอบ A Matter of Life and Death (1946) สักเท่าไหร่
– หนังมีความเป็น ‘pro-American’ ยกเยินยอปอปั้นพันธมิตรใหม่ของอังกฤษ จนน่าหงุดหงิดรำคาญใจ
– ความรักสามารถเอาชนะทุกสิ่งอย่าง ทั้งกฎจักรวาลและความตาย! แฟนตาซีของชาวตะวันตกช่างเพ้อเจ้อไปไกลมากๆ

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมหวนนึกถึง The Devil and Daniel Webster (1941) ที่ดัดแปลงจากตำนานเรื่องเล่าโศกนาฎกรรมเยอรมัน เฟาสต์ (Faust) เมื่อชายคนหนึ่งเซ็นสัญญาขายวิญญาณตนเองให้กับปีศาจ ค่อยๆลุ่มหลงใหลในลาภยศ เงินทอง ผู้หญิง จนทำให้ภรรยาและแม่ที่อยู่เบื้องหลังต้องพลอยตกระกำทุกข์ทรมาน ไฮไลท์อยู่ช่วงท้ายเมื่อครบกำหนดสัญญากำลังจะชดใช้หนีกรรมลงนรก โชคดีรู้จักทนาย Daniel Webster ท้าสู้กับปีศาจบนชั้นศาล อัญเชิญผู้พิพากษา ลูกขุนจากขุมนรก (ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางเลวร้ายแห่งประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา) เพื่อตัดสินความผิดของชายผู้นี้ ยังสมควรได้รับโอกาสสองมีชีวิตอยู่หรือเปล่า?

การได้รับโอกาสสองของ Peter Carter ใน A Matter of Life and Death มีเพียงความโรแมนติกที่เป็นสัญลักษณ์ของ High-Art ในทางปฏิบัติหนังไม่ทำให้ผู้ชมล่วงรับรู้สึกเลยว่า ตัวละครสมควรค่าที่จะมีชีวิตอยู่ ความรักบริสุทธิ์จริงใจเกิดขึ้นตอนไหนอย่างไร ทำไมกระโดดลงจากเครื่องบินไร้ร่มชูชีพถึงสามารถเอาตัวรอด เหล่านี้อยู่ที่ความ Fantasy ของผู้ชมจะจินตนาการเพ้อคลั่งด้วยตนเอง

เฉกเช่นเดียวกับ ‘สวรรค์’ ซึ่งจะไม่มีการพูดเอ่ยชื่อสถานที่ออกมาตรงๆ สามารถมองได้ทั้งโลกคู่ขนาน, หลังความตาย, มนุษยต่างดาวจากอีกจักรวาลหนึ่ง, หรือแม้แต่ภาพหลอนภายในจินตนาการของ Peter Carter ที่ได้รับการวิเคราะห์ว่าอาจคือ ภาวะความเครียดผิดปกติหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD)

Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา เรียนจบที่ Dulwich College ทำงานเป็นนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ตัวว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี 1925 เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926) ของผู้กำกับ Rex Ingram ต้วมเตี้ยมเป็นตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928) และ Blackmail (1929) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)

Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวะที่ Universities of Prague and Stuttgart ไม่ทันจบต้องออกมาเพราะพ่อเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German จากนั้นกลายเป็นนักเขียน อพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ แอบขึ้นเกาะอังกฤษปี 1935 โดยไม่มี Passport ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric เมื่อตัดสินใจปักหลักอยู่ London

Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger เป็นผู้พัฒนาบทภาพยนตร์, ด้วยความที่ทั้งสองมีนิสัยพื้นฐานตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิทเพราะทัศนคติ แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ถึงขนาดมองตาก็รับรู้อีกฝ่ายครุ่นคิดอะไร ปี 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers มีผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางตัวใครตัวมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์

เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งเขียนบทและกำกับ

จุดเริ่มต้นของ A Matter of Life and Death คือการได้รับใบสั่งจาก Jack Beddington (1893–1959) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและภาพยนตร์ นัดพบพูดคุยรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับ Michael Powell (1905 – 1990) และ Emeric Pressburger (1902 – 1988) หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดเพียงเล็กน้อย

“There’s a danger that the ordinary man and woman in the services will forget what they have learnt about each other. The old jealousies, misunderstandings, and distrusts will return”.

Pressburger ถามกลับด้วยความเหนื่อยหน่าย

“We have already said all this for you with 49th Parallel, One of Our Aircraft Is Missing, Colonel Blimp, and A Canterbury Tale. Are you suggesting that we make a fifth film to prove to the Americans and the British how much they love each other?”

คำตอบของ Beddington คือใช่แล้ว! “It’s a tall order!” กลายมาเป็นข้อสรุปของ Powell

“You wish us to write a story which will make the English and Americans love each other, with a mixed American and English cast, with one or two big names in it, and it obviously has to be a comedy, and spectacular, and imaginative, and you want it to be a success on both sides of the Atlantic, and you want it to go on playing to audiences for the next fifty years”.

ฉบับร่างแรกๆของ Pressburger พระเอกกลายเป็นผีล่องลอยไปหานางเอกหลังเครื่องบินตก, พัฒนาต่อมาคือจินตนาการของ Peter เกิดขึ้นในห้วงอวกาศ (ไม่ใช่ช่วงเวลาหยุดนิ่ง) ทางฝั่ง Powell ได้แรงบันดาลใจเพิ่มเติมจากพี่เขยเป็นหมอศัลยแพทย์ (ผ่าตัด) ให้คำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงอาการภาพหลอนผลกระทบจากสงครามที่ยังไม่มีชื่อเรียกขณะนั้น (PTSD)

เรื่องราวเกิดขึ้นวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945, Peter Carter (รับบทโดย David Niven) แห่ง Royal Air Force พยายามควบคุมเครื่องบินที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจทิ้งระเบิดยังเยอรมัน คาดคิดว่าตนเองคงไม่รอดชีวิตแน่ แต่ก่อนตายมีโอกาสสื่อสารวิทยุกับเจ้าหน้าที่สาวอเมริกัน June (รับบทโดย Kim Hunter) ที่มีฐานทัพอยู่บนเกาะอังกฤษ ฝากฝังคำพูดสุดท้ายต่อเธอแล้วเสี่ยงกระโดดลงจากเครื่องบินไร้ร่มชูชีพ ตื่นขึ้นมาเกยตื้นริมชายหาด เดินไปเรื่อยๆจับพลัดพลูพบเจอหญิงสาว ถึงตระหนักได้ว่าตนเองยังมีชีวิตอยู่ราวกับปาฏิหาริย์

แท้จริงแล้วไม่ใช่เลยสักนิด เหตุเกิดจากยมทูต Conductor 71 (รับบทโดย Marius Goring) เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติงาน เพราะสภาพอากาศอันย่ำแย่ หมอกหนาทึบที่ช่องแคบอังกฤษ ทำให้หาไม่พบเจอ Peter Carter ปล่อยเวลาล่วงเลยไปกว่า 20 ชั่วโมง เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อเขาตกหลุมรักหญิงสาวแปลกหน้า (และเธอก็ตกหลุมรักเขาเช่นกัน) ทำให้มิสามารถหลอกล่อนำพามาสู่สรวงสวรรค์/โลกหลังความตายนี้ได้อีก

ขณะที่บนโลก อาการเห็นภาพหลอนของ Peter Carter เข้าขั้นเลวร้ายอันตรายขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้ June นำความไปปรึกษา Dr. Frank Reeves (รับบทโดย Roger Livesey) ศัลยแพทย์ที่หลังจากทำการตรวจสอบโดยละเอียด ค้นพบความผิดปกติในสมอง ต้องเข้ารับการผ่าตัดปัจจุบันทันด่วน ตกอยู่ในสถานการณ์เป็น-ตาย, ส่วนบนสรวงสวรรค์ Conductor 71 นำความมาบอกเล่าว่าจะมีการพิพากษาตัดสิน จะให้ยังมีชีวิตอยู่ต่อหรือสูญสิ้นลมหายใจโดยทันที ซึ่งฝ่ายอัยการนำโดย Abraham Farlan (รับบทโดย Raymond Massey) ชาวอเมริกันที่เสียชีวิตจากกระสุนของชาวอังกฤษในสงครามกลางเมือง [ตัวละครสมมตินะครับ ไม่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์] ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆจะได้รับชัยชนะ

James David Graham Niven (1910 – 1983) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Belgravia, London โตขึ้นเข้าเรียนโรงเรียนทหาร Royal Military College, Sandhurst จบออกมาได้ยศรองผู้พัน สังกัดทหารบก ได้รับมอบหมายสังกัด Highland Light Infantry ประจำอยู่ Malta, Dover เบื่อหน่ายในความสงบลาออกมาเป็นอาจารย์ เซลล์แมนขายวิสกี้ มุ่งสู่อเมริกากลายเป็นตัวประกอบ เข้าตา MGM จับเซ็นสัญญา เริ่มีชื่อเสียงกับ Dodsworth (1936), The Prisoner of Zenda (1937), The Dawn Patrol (1938), Wuthering Heights (1939) ฯ พอสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น หวนกลับไปรับใช้ชาติ ขึ้นฝั่งร่วมกับพันธมิตรในวัน D-Day สุดท้ายได้ยศพันโท ก่อนกลับอเมริกามีผลงานสร้างชื่อคือ A Matter of Life and Death (1946), จากนั้นกลายเป็นตำนานกับ Around the World in 80 Days (1956), Separate Tables (1958) ** คว้า Oscar: Best Actor, The Guns of Navarone (1961), The Pink Panther (1963), รับบท James Bond เรื่อง Casino Royale (1967) ฯ

รับบท Peter ‘David’ Carter กัปตันยาน Lancaster Bomber สูญเสียทั้งลูกน้องและเครื่องบินกำลังจะตก กระโดดลงมาจากความสูงกว่า 10,000 ฟุต รอดตายยังไงไม่มีใครทราบได้ แต่จะขอใช้ชีวิตนี้ที่เหลืออยู่ทุ่มเทให้กับความรักต่อหญิงสาว แม้มิเคยพบหน้าได้ยินแค่เสียง(ไม่ใช่สเปกด้วย)กลับหลงใหลคลั่งไคล้จนโงหัวไม่ขึ้น

ความรักของ Peter เปรียบได้ดั่งพายุเฮริเคนที่ไม่มีอะไรหยุดอยู่ กับหญิงสาวสนทนาด้วยคนสุดท้าย แม้ไม่เคยพบเจอหน้าคาดตา แต่คือเสียงปลายสายคอยให้กำลังใจมอบความหวัง แบบนี้เรียกว่า ‘เพื่อนตาย’ ซึ่งพอสามารถเอาตัวรอดอย่างหวุดหวิด เกิดแรงผลักดันต้องเธอคนนี้เท่านั้น ชีวิตฉันไม่ต้องการอะไรอื่น!

แบบเดียวกับ James Stewart หวนกลับมาเล่นหนังครั้งแรกหลังสงครามโลกเรื่อง It’s a Wonderful Life (1946) ฝีมือถดถอยไปบ้างเพราะร้างราการแสดงมานาน แต่ตัวละครของ Niven มีเพียงมิติเดียวคือชายผู้ทุ่มเทให้ความรักบริสุทธิ์ ไม่พบเห็นด้านอื่นนอกจากนี้

Kim Hunter ชื่อเดิม Janet Cole (1922 – 2002) นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Detroit, Michigan เข้าสู่วงการจากหนังนัวร์เรื่อง The Seventh Victim (1943), รับบทนำครั้งแรก A Matter of Life and Death (1946), ได้รับการจดจำสูงสุดกับ A Streetcar Named Desire (1951) คว้า Oscar: Best Supporting Actress, และไตรภาคต้น Planet of the Apes

รับบท June สาวเดือนถัดไป สัญชาติอเมริกัน จับพลัดพลูอยู่เวรในช่วงเวลาที่เครื่องบินของ Peter กำลังจะตก คลุ้มคลั่งแทบเสียสติเมื่อได้ยินสิ่งที่เกิดขึ้นปลายสายสนทนา ทำได้แค่คอยให้กำลังใจและรับปากทำตามสัญญาให้ไว้ ระหว่างปั่นจักรยานกลับบ้านเย็นนั้น พบเจอตัวจริงรอดมาอย่างไรไม่ทราบได้ เอ่อล้นด้วยความสุขกายใจ ไม่รู้ทำไมตกหลุมรักเขาเข้าเสียแล้ว

สังเกต: หนังเริ่มต้นเดือนพฤษภาคม ขณะที่หญิงสาวชื่อเดือนมิถุนายน นี่อาจแฝงนัยยะเดือนใกล้เคียง ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเธอเป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกา พันธมิตรใหม่ของสหราชอาณาจักร

เพราะตนเองเป็นได้เพียงผู้ฟัง ไม่สามารถให้การช่วยเหลือกระทำอะไรได้ คงสร้างความรวดร้าวฉาน ทุกข์ทรมานให้กับหญิงสาวอย่างยิ่งยวด เป็นตายไม่รู้แต่ถ้าแลกได้ก็อยากให้เขามีชีวิตอยู่ เมื่อพบเจอรอดมาได้อย่างไรไม่รู้ ความรู้สึกยินดีปรีดาถาโถมเอ่อล้นแปรสภาพเป็นความรัก นี่ก็ดั่งพายุเฮริเคนเช่นกัน ครานี้ตั้งมั่นอย่างแน่วแน่ ต่อให้ยมทูตมาขอแลกเขากับชีวิตเธอ จะยินยอมเสียสละตายแทนวีรบุรุษของชาติ

Powell & Pressburger เดินทางสู่ Hollywood ช่วงปลายปี 1945 เพื่อค้นหานักแสดงหญิงเพื่อรับบทนำ ตอนแรกเล็ง Betty Field แต่เธอตอบปัดปฏิเสธ, เป็นผู้กำกับ Alfred Hitchcock (ชาวอังกฤษเหมือนกัน) ที่เพิ่งผ่านการคัดเลือกนักแสดง (ไม่แน่ใจว่า Spellbound หรือ Notorious) แนะนำ Kim Hunter ที่เป็นผู้ช่วยอ่านบทกับ Ingrid Bergman หลังจากพบเจอกันครั้งแรกต่างพึงพอใจอย่างมาก ตอบตกลงร่วมงานกันโดยทันที

ความที่ยังสาวสวย อายุน้อย หน้าใหม่ในวงการ ทำให้ดวงตาของ Hunter คงความบริสุทธิ์สดใสไร้เรียงสา ผู้ชมสามารถเชื่อได้อย่างสนิทใจถึงความรัก ไม่มีอะไรเคลือบแฝงซ่อนเร้นอยู่แม้แต่น้อย

Roger Livesey (1906 – 1976) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Barry, Wales สำเร็จการศึกษา Westminster City School, London โตขึ้นได้เป็น Understudy ของ Italia Conti จนมีโอกาสแสดงละครเวที West End ออกทัวร์แอฟริกา, New York, ขณะที่ภาพยนตร์สร้างชื่อคือ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946), The Master of Ballantrae (1953), The League of Gentlemen (1960) ฯ

รับบท Dr. Frank Reeves หมอศัลยแพทย์ เพื่อนสนิทของ June หลังจากศึกษาอาการของ Peter ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนถึงอาการป่วยของเขา ผลกระทบจาก PTSD สมองกระทบกระเทือนจนต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่กลับกลายเป็นว่ายังไม่ทันได้เริ่มประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปเสียก่อน

กระนั้นในโลกหลังความตาย Dr. Reeves แปรสภาพกลายเป็นทนายแก้ต่างให้ Peter ครุ่นคิดหาวิธีการต่อกรกับโจทก์ ผู้ไม่เชื่อว่าแค่เพียง 20 ชั่วโมง จำเลยจะสามารถตกหลุมรักกับหญิงสาวแปลกหน้าไม่เคยพบเจอ … Vice Versa

น้ำเสียงของ Livesey มีความแหบแห้งไร้พลัง แต่ผมว่านี่คือเสน่ห์อันน่าหลงใหล และคงเป็นความจงใจของ Powell & Pressburger เลือกนักแสดงที่ไม่ได้มีสุ้มเสียงใหญ่โต เกรี้ยวกราดน่าเกรงขาม แม้ต่ำต้อยแต่ภาพลักษณ์ Charisma ไม่เป็นสองรองใคร

Marius Goring (1912 – 1998) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Newport, Isle of Wight โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ออกทัวร์ยุโรปพูดฝรั่งเศส เยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อกลับอังกฤษขึ้นแสดง West End, ช่วงสงครามโลกรับใช้ชาติเป็นผู้จัดรายการวิทยุใช้ชื่อ Charles Richardson, สำหรับภาพยนตร์เริ่มมีชื่อเสียงจาก A Matter of Life and Death (1946), The Red Shoes (1948), The Barefoot Contessa (1954)

รับบท Conductor 71 ผู้นำพาคนตายสู่สวรรค์ หรือยมทูต การแสดงออกดูไม่ยี่หร่าต่ออะไร สนเพียงกฎแห่งจักรวาล หน้าที่การงาน และเกมหมากรุก ใช้ข้ออ้างไร้สาระสำหรับทำงานผิดพลาด (ค่อนข้างชัดว่าจงใจ) คงเพื่อว่าชีวิตจะได้มีสีสัน พบเจอสิ่งแปลกใหม่ ตื่นเต้นเร้าใจ

สัญชาติฝรั่งเศสของตัวละครนี้ แสดงออกถึงความกะล่อน ปลิ้นปล้อน เหมือนบุคคลเพศที่สาม/ไร้เพศ ชักชวนให้ผมนึกถึงพิธีกรเรื่อง Cabaret (1972) ชอบทำหน้าตาตลกๆ แสดงความบริสุทธิ์จากใจ แต่ลึกๆกลับเคลือบแฝงด้วยความชั่วร้าย

หลังจาก Goring ได้อ่านบทหนัง เจ้าตัวอยากแสดงนำ Peter แต่ผู้กำกับ Powell ยืนกรานเลือก Niven ตอบกลับว่าถ้าปฏิเสธไม่เล่นจะยื่นข้อเสนอให้ Peter Ustinov (เอาจริงๆผมจินตนาการไม่ออกเลยนะ ถ้า Ustinov รับบทนี้จะออกมาฝรั่งเศส จัดจ้านเช่นนี้ได้ยังไง?)

ผมละชื่นชอบความยียวนกวนบาทา มากด้วยลีลาของตัวละครนี้เสียจริง สร้างสีสัน Technicolor ให้หนังดูมีรอยยิ้ม สดชื่น ชีวิตชีวา ไม่รู้นี่ทำให้ Goring กลายเป็น Typecast เลยรึเปล่านะ เห็นกับ The Red Shoes (1948) ก็รับบทคล้ายๆกันนี้

เกร็ด: ไม่แน่ใจว่ามีการกล่าวถึงในหนังไหม แต่พบเจอในเกร็ดบอกว่า ตัวตนแท้จริงของ Conductor 71 ถูกประหารด้วย Guillotine เมื่อครั้งปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1790

แซว: Richard Attenborough รับบทสมทบเล็กๆในหนัง พบเห็นพูดประโยคเดียวทั้งเรื่อง “It’s Heaven, isn’t it?”

ถ่ายภาพโดย Jack Cardiff ตากล้องสัญชาติอังกฤษคนแรกที่ถ่าย Technicolor เรื่อง Wings of the Morning (1937) กลายเป็นขาประจำของ The Archers อาทิ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948), ผลงานอื่น อาทิ The African Queen (1951), The Barefoot Contessa (1954), War and Peace (1956) ฯ

ส่วนใหญ่ของหนังสร้างฉากถ่ายทำภายใน D&P Studios กับ Denham Studios ณ Denham, Buckinghamshire, สำหรับฉากภายนอก ชายหาดที่ Saunton Sands, Devon, และหมู่บ้าน Shere, Surrey

โปรดักชั่นของหนังมีความล่าช้าไปถึง 9 เดือน สาเหตุหลักๆไม่ใช่จากการสร้างฉากใหญ่ แต่คือรอคอยอุปกรณ์ กล้องถ่ายภาพ และฟีล์มสี three-strip Technicolor เพราะแม้เพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อะไรๆยังมิได้หวนกลับสู่สภาวะปกติ นั่นคือสาเหตุผลหนึ่งทำให้ Powell ตัดสินใจแบ่งหนังออกเป็น 2 โทนสี
– ภาพสี ถ่ายทำฉากบนโลก อะไรๆยังมีความสวยสดใส ดอกไม้ ความรักยังเบิกบาน
– ภาพขาว-ดำ กับฉากบนสรวงสวรรค์ที่แม้จะมีความ Modern ก้าวล้ำอนาคต แต่เพราะกาลเวลาหยุดนิ่ง สะท้อนว่าไม่มีอะไรสวยงามหลงเหลืออยู่แล้ว

“One is starved for Technicolor up there”.

– Conductor 71

การเลือกใช้สีดังกล่าว ถือว่าตรงกันข้ามกับ The Wizard of Oz (1939) ที่ฉากบนโลกคือภาพขาว-ดำ ส่วน Oz มีสีสันสวยสดใส, ซึ่งภาษาภาพยนตร์นี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Wings of Desire (1987) และภาคต่อ Faraway, So Close! (1993)

ถือเป็นครั้งแรกในวงการภาพยนตร์ที่มีภาพของอวกาศแบบสีสัน มันอาจดูเหมือนการ์ตูนไปเสียหน่อยเพราะละเลงพื้นหลังด้วยสีน้ำเงิน และการเลื่อนขึ้นของคำบรรยายตัวอักษร ผมว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อยให้กับ Title แฟนไชร์ Star Wars [แต่แรงบันดาลใจจริงๆ เห็นว่านำจาก Union Pacific (1939)]

“This is the universe. Big, isn’t it?”

– ผู้บรรยายให้เสียงโดย John Longden

ทั้งรู้ว่าฉากนี้ถ่ายทำยัง Saunton Sands, Devon แต่ให้สัมผัสหลอกตา ราวกับภาพวาด Matte Painting ถ่ายทำใน Denham Studios ซึ่งการเลือกริมชายหาดเป็นสถานที่เกยตื้นเอาตัวรอดของ Peter Carter ถือเป็นสัญลักษณ์คาบเกี่ยวผืนดิน-ผืนน้ำ ความเป็น-ตาย ซึ่งอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ The Seventh Seal (1957) ของผู้กำกับ Ingmar Bergman ได้เช่นกัน [รวมถึงยมทูตเล่นหมากรุกด้วยนะ]

ว่ากันว่าวิธีการทำให้ภาพออกมามัวๆ ดูเหมือนหมอกควัน คือ Jack Cardiff พ่นลมหายใจอุ่นๆใส่เลนส์จนเกิดฝ้า … เอิ่ม

ซีนเด็กเลี้ยงแพะชี้ทางให้ Peter นี่เหมือนเป็นการล้อเลียน ถอดความจากคัมภีร์ไบเบิ้ล พระเยซูคริสต์คือผู้เลี้ยงแกะที่ดี สามารถนำพามนุษย์ผู้เชื่อมั่นศรัทธาในพระองค์ ตายไปมุ่งสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

สวยสุดของหนังคือฉากนี้ งดงามกับดอกไม้สีชมพู ราวกับสรวงสวรรค์อีเดน, ฉากนี้สร้างขึ้นในสตูดิโออย่างแน่นอน เพราะแสงที่อาบลงบนใบไม้/ดอกไม้ ดูไม่ป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ ซึ่งจะสามารถควบคุมให้ทุกอย่างหยุดนิ่งค้างคาได้โดยปราศจากปัจจัยภายนอก สายลมและแสงแดด

การพบเจอกันครั้งแรกของ Peter กับ Conductor 71 ยังสถานที่แห่งนี้ คงเพื่อสะท้อนถึงโอกาสของการมียังชีวิต โลกใบนี้มันช่างงดงามสวยสดใส ตักตวงไขว่คว้ามันเอาไว้ เพราะตายไปโลกขาวดำ คงไม่มีอะไรให้น่าอภิรมณ์เริงใจอีก

ครั้งที่สองของการพบเจอระหว่าง Peter กับ Conductor 71 เหมือนว่าจะผ่านไปหลายเดือนแล้วกระมัง ขณะที่ Dr. Reeves กำลังตีปิงปองตอบโต้กับ June ทุกอย่างหยุดนิ่ง Freeze Frame คั่งค้างคาไว้แบบนี้ คาดคิดว่าคงเป็นการสร้างโมเดลหุ่นขนาดเท่าของจริงขึ้นมา ส่วนลูกปิงปองก็ใช้เชือกบางๆห้อยต่องแต่งไว้

การมาครั้งนี้ของ Conductor 71 เพื่อบ่งบอกว่ากำลังจะมีการไต่สวน ตอบโต้กันระหว่างอัยการ-จำเลย สะท้อนเข้ากับการตีปิงปองนี้พอดิบพอดี

เกร็ด: ฉากดวลปิงปอง ทั้ง Hunter และ Livesey ได้รับการฝึกสอนโดย Alan Brooke แชมป์ชาวอังกฤษ และ Victor Barna แชมป์ระดับนานาชาติ ทั้งสองหลวมตัวมาเยี่ยมชมงานที่ Denham Studios ประทับใจการการทำงานเลยอาสามาสอนให้ และเห็นว่า Hunter ยืมไม้ปิงปองของ Brooke มาใช้เล่นด้วย

หนังมี 2 ฉากที่ตื่นตระการตา อลังการยิ่งใหญ่โตสุ ประกอบด้วย
1) Stairway to Heaven
2) Hall of Judgement

เริ่มต้นที่บันไดสู่สวรรค์ มีการก่อสร้าง 2 ฉากใหญ่ๆขึ้นมา
1) บันไดเลื่อนขนาดเท่าของจริง ตั้งชื่อว่า Operation Ethel ก่อสร้างโดย London Passenger Transport Board ใช้เวลาสามเดือนเต็ม มูลค่าขณะนั้น £3,000 ปอนด์ (เทียบเท่า £119,000 ของปี 2016) มีทั้งหมด 106 ขั้น ความสูง 20 ฟุต (6.1 เมตร) ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ 12 แรงม้า
2) โมเดลจำลองที่ขนาดเล็กแต่ยาวกว่า ประกอบพื้นหลังและรูปปั้นบุคคลผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย อาทิ Alexander the Great, Ludwig van Beethoven, Frédéric Chopin, Confucius (ขงจื้อ), Benjamin Franklin, Julius Caesar, Abraham Lincoln, Michelangelo, Muhammad (เอ่ยถึง), Moses, Bartolomé Murillo, Plato, Rembrandt van Rijn, Cardinal Richelieu (เอ่ยถึง), William Shakespeare (เอ่ยถึง), King Solomon, Jonathan Swift

เกร็ด: ระหว่างการถ่ายทำ เครื่องยนต์ 12 แรงม้า มีเสียงดังกระห่ำลั่นโรงถ่าย ทำให้ไม่สามารถบันทึกเสียงพูดสด Sound-on-Film ทุกฉากที่ปรากฎบันไดเลื่อนล้วนใช้การพากย์เสียงทับภายหลังการถ่ายทำ

ส่วน Hall of Judgement ก็มี 2 ฉากเช่นกัน
1) ห้องโถงขนาดกว้าง-ยาว 350 ฟุต (110 เมตร), ความสูง 40 ฟุต (12 เมตร) บรรจุคนได้หลายร้อย ที่เหลือคือรูปปั้นจำลอง และพื้นหลังลิบๆคือภาพวาดบนกระจก Matte Painting

2) เมื่อทำการซูมออกไปเรื่อยๆ จะพบเห็น Cross-Cutting โมเดลจำลองขนาดใหญ่ ถอยออกไปเรื่อยๆ Cross-Cutting กลายเป็นภาพวาดแกแลคซี่ (แห่งหนไหนไม่ทราบได้)

ผมมาสังเกตว่า ด้านหลังแท่นปรัมพิธีของผู้พิพากษา จะคือช่องว่าง/อากาศธาตุ ไม่ให้ผู้รับชมหรือใครอื่นอยู่บริเวณนั้น (มีลักษณะออกไปทางสนามเบสบอล มากกว่าสนามฟุตบอล) นี่อาจแฝงนัยยะเล็กๆถึงอำนาจสูงสุด พระเจ้าหนึ่งเดียว ในที่นี้รับอวตารมาเป็นผู้ตัดสินพิพากษา ไม่สมควรมีใครอยู่สูงเหนือกว่าหรือด้านหลังไปได้

ไดเรคชั่นช่วงขณะให้การ มักตัดสลับไปมาระหว่าง อัยการ-จำเลย-ผู้พิพากษา-ผู้ชม สังเกตว่าระยะภาพจะมีความใกล้ชิดตัวละครสลับไปมา ส่วนใหญ่เป็นมุมเงย Long-Shot -> Medium-Long Shot -> Medium Shot -> Close-Up เพื่อสะท้อนความเข้มข้นรุนแรงของการโต้เถียง-ย้อนแย้ง สร้างอรรถรสในการรับชมให้มีความตื่นเต้นเร้าใจขึ้นเรื่อยๆ

จะมีครั้งหนึ่งระหว่างศาลจักรวาลนี้ ตัดกลับไปหาเหตุการณ์บนโลกมนุษย์ ขณะที่การผ่าตัดสมองของ Peter กำลังอยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม รอด-ไม่รอด 50-50 ซึ่งถือเป็นช่วงกึ่งกลาง/พักครึ่งพอดิบพอดี

ไคลน์แม็กซ์ของหนังคือขณะ #ทีมสวรรค์ ลงบันไดเลื่อนมารับชม/ไต่สวน ระหว่างการผ่าตัดของ Peter ฉากนี้ถ่ายทำตรงบันไดเลื่อน Operation Ethel พอดิบพอดี สังเกตการใช้แสง-สี จากที่บนสวรรค์ทุกอย่างคือขาว-ดำ มาบนโลกพวกเขาสวมชุดเต็มไปด้วยความหลากหลาย (พิเศษสำหรับผู้พิพากษา จะมีความสว่างเจิดจรัสจ้ากว่าใครอื่น) ผิดกับ #ทีมหมอ ทุกคนสวมใส่ชุดสีขาว อาบแสงสีน้ำน้ำเงิน รอบข้างมืดมิดสนิท

มุมกล้องของ Sequence นี้ ระหว่างเรียกตัว Peter และ June มาให้การ สังเกตว่าจะมีการใช้มุมเอียง Dutch Angle ร้อยเรียงสลับไปมาระหว่างอัยการ-จำเลย เอียงข้างซ้าย-ขวา นี่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเลือก/ชี้เป็นชี้ตาย มันเลยต้องตัดสินใจฝั่งใดฝั่งอย่างมีความแน่วแน่ ชัดเจน จะบิดเบี้ยวโอนเอนไปข้างหนึ่งใดมิได้

ตัดต่อโดย Reginald Mills (1912 – 1990) สัญชาติอังกฤษ จากเคยเป็นผู้ช่วยตัดต่อของ David Lean หลังสงครามเลื่อนขั้นร่วมงานกับ Powell & Pressburger เริ่มตั้งแต่ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), เข้าชิง Oscar: Best Edited เรื่อง The Red Shoes (1948)

หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Peter Carter แต่ให้ตัวละครคือจุดหมุน ผู้สร้างปัญหาให้กับเรื่องราว ส่งผลกระทบต่อสองโลก ผ่านเสียงบรรยายจากห้วงอวกาศของ John Longden

ความโดดเด่นเมามันส์ของการตัดต่อ คือมักสลับไปมาระหว่างสองฟากฝั่งตัวละคร อาทิ
– เริ่มต้นการสนทนาผ่านวิทยุสื่อสารระหว่าง Peter กับ June ช็อตต่อช็อตเวลาตัวละครพูดกับอีกฝ่าย (คงเพราะวิทยุสื่อสารได้ช่องทางเดียว คือต้องรอฝั่งหนึ่งพูดจบก่อน อีกฝั่งหนึ่งถึงสามารถพูดได้ ไม่สามารถโต้ตอบพร้อมกัน)
– เรื่องราวของหนังก็มักสลับฉากไปมาระหว่างโลก-สรวงสวรรค์ สังเกตได้ง่ายหน่อยจากสีสันของงานภาพ
– ช่วงของการพิพากษาคดีความ ร้อยเรียงสลับไปมาระหว่าง Dr. Frank Reeves กับ Abraham Farlan (จริงๆจะมีแทรกภาพผู้พิพากษา-ผู้ชม เข้าไปด้วยระหว่างกำลังโต้เถียง)

เพลงประกอบโดย Allan Gray ชื่อจริง Józef Żmigrod (1902 – 1973) สัญชาติ Polish อพยพย้ายสู่อังกฤษในช่วง Nazi เรืองอำนาจ กลายเป็นขาประจำของ The Archer ในช่วงแรกๆ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946) ฯ

พื้นที่อันเวิ้งว้างว่างเปล่า กว้างใหญ่ไพศาลไม่รู้จุดสิ้นสุด คงเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดไม่น้อยถ้าทั้งจักรวาลจะเพียงแค่โลกใบนี้ที่ดำรงด้วยสิ่งมีชีวิตมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ถ้าอยู่โดดเดี่ยวตัวตนเดียว แล้วยังตายแบบไร้คนรักเคียงคู่ มันคงเป็นโศกนาฎกรรมไม่มีใครอยากจดจำ แต่เมื่อก่อนสิ้นลมเขาบังเอิญพบเจอใครคนหนึ่ง แม้ไม่เคยเห็นหน้าแต่คือ ‘เพื่อนตาย’ มันเลยเป็นสิ่งทรงคุณค่า ความรักที่งอกเงยขึ้นมา งดงามยิ่งเสียกว่าชีวิตหรือความเป็น-ตาย

แถมให้กับบทเพลงที่ Conductor 71 เปิดให้ฟังในชั้นศาล Shoo Shoo Baby ขับร้องโดย The Andrews Sisters ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Three Cheers for the Boys (1943) ติดอันดับ 6 ชาร์ท Billboard Hot 100, ในหนังเป็นเสียงผู้ชายขับร้อง ไม่รู้ว่าใคร นำเอาต้นฉบับมาให้ฟังดีกว่า

เกร็ด: ชื่อบทเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Shoo Shoo Shoo Baby ชื่อเครื่องบินรบ Boeing B-17 Flying Fortress ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บินถึงเกาะอังกฤษเมื่อปี 1944

A Matter of Life and Death สารัตถะของชีวิตและความตาย คือการเกิดมาแล้วได้บรรลุทำตามวัตถุเป้าหมาย/ความต้องการของตนเองแล้วหรือยัง? การไปสงครามเพื่อประเทศชาติ ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น อาจทำให้เหล่าชายฉกรรจ์ทหารหาญหลงลืมตนเอง นี่ฉันเกิดมาเพื่ออะไร? ซึ่งตามวิถีปรัชญาตะวันตก สูงสุดคือตายแล้วกลับสู่สรวงสวรรค์ อาศัยอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้าผู้สร้าง และขณะอยู่บนโลกใบนี้ก็เรียนรู้จักเผื่อแผ่ความรัก เมตตา ศรัทธาให้คนรอบข้าง แต่งงานมีลูกหลานสืบทอดต่อวงศ์สกุลเผ่าพันธุ์มนุษย์

โลกทัศนคติของชาวตะวันตก ‘ความรัก’ คือทุกสิ่งอย่าง ยิ่งใหญ่สูงสุดคือน้ำพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า ไร้ซึ่งเหตุผลเงื่อนไขใดๆต่อลูกแกะที่เคารพเชื่อมั่นศรัทธา จักไม่มีวันถูกต้อนไปทิศทางอื่นนอกจากอาณาจักรของพระองค์ สู่ดินแดนอันไร้ซึ่งความแตกต่างขัดแย้ง ทุกสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขตราบชั่วนิจนิรันดร์

บอกตามตรงว่าผมก็ไม่รู้ตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่เริ่มเกิดความขัดแย้งเห็นต่างต่อโลกทัศนคติ ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ อาจเพราะวัยวุฒิเติบโตขึ้น และการเริ่มศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ก็พบว่าเจ้าสิ่งนี้คือกิเลสมารผจญตัวหนึ่ง ที่ทำให้มนุษย์หลงใหลยึดติดอยู่ในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส พระพุทธเจ้ากล่าวถึง ‘ความรัก’ ต่อนางวิสาขาไว้ใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

ดูก่อนนางวิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์๘๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒๐
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑
ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส.

reference: http://www.84000.org/tipitaka/_mcu/v.php?B=25&A=4307&Z=4352

ยุคสมัยปัจจุบันนี้ อิทธิพลแนวคิดจากชาติตะวันตกได้เข้าครอบงำและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของชาวตะวันออก หลายคนยึดถือมั่นตามคำกล่าว ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ แม้จะทำให้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความทุกข์ร้าวระทม อุปสรรคขวากหนามแหลมคม แต่ก็ไม่มีสุขอื่นใดในโลกหล้าจะยิ่งใหญ่กว่าหรือเทียบเคียง

นอกจากประเด็นเรื่องของความรัก ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง สหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา สองประเทศคนละฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ได้จับมือร่วมรบฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (ร่วมกับสหภาพโซเวียตอีกประเทศ กลายเป็น ‘สามผู้ยิ่งใหญ่’) ด้วยการแทนตัวละคร Peter Carter นายทหารหนุ่มสัญชาติอังกฤษ ตกหลุมรักกับ June หญิงสาวชาวอเมริกัน และช่วงขณะคำกล่าวสุนทรพจน์ของ Abraham Farlan

“There are great truths higher than mountains and broader than seas that people look for from the tops of our hills! America, sir, is the only place where man is full grown!”

ทั้งๆที่หนังสร้างขึ้นโดยชาวอังกฤษแท้ๆ กลับยกยอปอปั้นสหรัฐอเมริกาเสียจน… ผู้ชมชาวอังกฤษแทบไม่มีใครอยากปรบมือให้ ขนาดว่าฝั่งอัยการตายกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วยังลุ่มหลงระเริงตนขนาดนี้ ก็ไม่รู้สรวงสวรรค์ชั้นนั้นอยู่เป็นสุขกันได้เช่นไร

ผมว่า Powell & Pressburger คงกระดากปาก กระด้างใจตนเองอยู่ไม่น้อยเลยละ แต่ให้ทำไงได้เบื้องบนสั่งมา! (แต่ไม่เคยสนับสนุนงบประมาณทุนสร้างสักแดง) ถึงกระนั้นเป้าหมายปลายทางของพวกเขาคือการนำเสนอ ‘ความเสียสละ’ เมื่อหญิงสาวถูกท้าให้พิสูจน์ศรัทธาความรักของตนเอง ถ้าต้องเอาชีวิตเข้าแลกยังจะบริสุทธิ์จริงใจ ก้าวขึ้นบันไดเลื่อนแลกชีวิตกับความตายหรือเปล่า การกระทำของเธอสะท้อนทุกสิ่งอย่างในความเชื่อสองผู้กำกับและภาพยนตร์เรื่องนี้

เกร็ด: ในบรรดาผลงานกำกับของตนเอง Michael Powell เคยให้สัมภาษณ์ชื่นชอบ A Matter of Life and Death (1946) ที่สุดแล้ว

เกร็ด 2: J.K. Rowling นักเขียนชาวอังกฤษ เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สุด และใน Harry Potter เล่มสุดท้าย จะมีกล่าวเอ่ยถึงอยู่ด้วยกระมัง

ออกฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 1 พฤศจิกายน 1946 ที่ Empire Theatre, London ต่อหน้าพระพักตร์ King George VI และ Queen Elizabeth the Queen Mother (พระชนนีของ Queen Elizabeth องค์ปัจจุบัน) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์อังกฤษ ฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ต่อหน้าพระประมุขประเทศ

ทุนสร้างของหนังอยู่ระหว่าง £320,000 – £650,000 ปอนด์ ประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลามในประเทศอังกฤษ (แต่ไม่มีรายงานตัวเลขรายรับ) ขณะที่สหรัฐอเมริกาทำรายได้ประมาณ $1.75 ล้านเหรียญ

ถึงส่วนตัวจะไม่ชื่นชอบใจความสำคัญของหนังนัก แต่ก็อดไม่ได้ต้องยกย่องสรรเสริญในส่วนงานสร้าง สีสันสวยสดของภาพถ่าย และไดเรคชั่นผู้กำกับ Powell & Pressburger ส่งอิทธิพลระดับจักรวาลต่อวงการภาพยนตร์

แนะนำคอหนังแฟนตาซี ชื่นชอบเรื่องราว ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’, หลงใหลในงานสร้าง Special Effect สุดยิ่งใหญ่อลังการ ถ่ายภาพสีสันสวยสดใส, แฟนๆ The Archers และนักแสดงนำ David Niven, Kim Hunter ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG จากลักษณะของการ ‘ชวนเชื่อ’

TAGLINE | “A Matter of Life and Death ยิ่งใหญ่ระดับจักรวาล แต่ในโลกทัศน์ของชาวตะวันตก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: