A Night at the Opera (1935) : Sam Wood ♥♥♥♥
แม้หลงเหลือเพียงสามพี่น้อง Marx Brothers แต่ความตลกค่าตัวคูณสองเท่า! ยังคงไว้ด้วยคาแรคเตอร์ดั้งเดิม แต่ปรับลดช่วงเวลาไร้สาระ เสริมแต่งเรื่องราวให้มีเนื้อหนัง กลายเป็นจุดเริ่มต้นทิศทางใหม่ Giuseppe Verdi คงเกิดความภาคภูมิใจ
หลังจากหมดสัญญาทาส 5 เรื่องกับ Paramount Pictures พี่น้อง Marx Brothers เว้นเสียแต่ Zeppo ที่ขอเลิกลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัว ตัดสินใจข้ามน้ำ ข้ามทะเล ข้ามมหาสมุทร มาเซ็นสัญญากับ M-G-M (ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามใน Hollywood) ได้เจ้านายใหม่คือ Irving Thalberg ทีแรกเล่นตัวยึดยัก มาไม้เดียวกับตัวละคร Herman Gottlieb ไม่ผิดเพี้ยน!
สำหรับคนที่เคยรับชม A Night at the Opera (1935) ได้อ่านย่อหน้าด้านบน น่าจะพอเข้าใจความเป็น ‘ศิลปิน’ ของ Marx Brothers นำเอาเรื่องราวชีวิตของพวกเขา เรียบเรียง ล้อเลียน ดัดแปลง กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ เกือบจะสมบูรณ์แบบระดับ Masterpiece
ถือเป็นหนึ่งในสองผลงานชิ้นเอกของ Marx Brothers เคียงคู่ Duck Soup (1933) ที่ยังคงในสไตล์ เอกลักษณ์เฉพาะตัวของสี่พี่น้อง แต่ทั้งนั้น A Night at the Opera ถือเป็นจุดเปลี่ยนทิศทาง ค่อยๆรับเอาอิทธิพล/วัฒนธรรม Hollywood กำลังถูกระบบสตูดิโอกลืนกินทีละเล็กละน้อย มีเพียงอีกเรื่องถัดไป A Day at the Races (1937) คุณภาพยังพอทนรับไหว แต่หลังจากนั้นก็กลายเป็นหนังตลกคาเฟ่ทั่วไป หลงเหลือไว้เพียงคาแรกเตอร์นักแสดง เฝ้ารอคอยวันเจือจางหายไปกับกาลเวลา
ส่วนตัวบอกค่อนข้างก้ำกึ่งความชื่นชอบ ภาพรวมลุ่มหลงใหล Duck Soup แต่มีฉากหนึ่งใน A Night at the Opera อิ่มเอิบสุขใจจนแทบหลั่งน้ำตา เรียกได้ว่ามีดีกันละอย่าง ใครเป็นแฟนเดนตายของ Marx Brothers พลาดไปแล้วจะเสียดาย!
ก่อนอื่นเลยนำ Trailer ที่มีโลโก้ Marx Brothers แหกปากคำราม แทนราชสีห์มาสคอต Leo the Lion ของ M-G-M ตั้งชื่อว่า ‘Marx Gratia Marxes’ ทีแรกตั้งใจว่าจะรวมไปกับหนังด้วย แต่เจ้าของสตูดิโอ Louis B. Mayer มองว่าเป็นการลบหลู่เครื่องหมายการค้าของตนเอง เลยถูกตดออกไป
แม้จะมีผลงานทำเงินมาสี่เรื่องติดๆ รวมถึง Horse Feathers (1932) ทำรายได้ถล่มทลายสูงสุดแห่งปีให้กับ Paramount Pictures แต่สถานการณ์การเงินของสตูดิโอกลับไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แถมผลงานถัดมา Duck Soup (1933) ก็ไม่ประสบความสำเร็จทำเงินเท่าที่ควร ประจวบกับ Marx Brothers หมดสัญญาทาส 5 เรื่อง ก็เลยออกมองหานายจ้างใหม่
ได้รับคำชักชวนจากโปรดิวเซอร์ Irving Thalberg แห่ง M-G-M ที่ยังแนะนำให้ปรับเปลี่ยนสไตล์ เพิ่มเติมเนื้อเรื่องราว โต้ตอบสนองเสียงวิพากย์วิจารณ์ที่มักบ่นอุบว่าหนังไม่มีสาระอะไร ซึ่ง Groucho Marx แสดงความเห็นด้วยและอยากทดลองดู เลยยินยอมตกลงเซ็นสัญญาอีก 5 เรื่อง … แต่ก็ไร้ Zeppo ที่ยืนกรานพอแล้วกับการเล่นตลก
แซว: เมื่อตอน Thalberg รับรู้ว่า Zeppo จะไม่กลับมาแล้ว ต่อรองจะลดราคาค่าตัว แต่ก็ถูก Groucho สวนไปทันทีว่า
“Without Zeppo we’re worth twice as much”.
– Groucho Marx
ตอนอยู่กับ Paramount พี่น้อง Marx Brothers ไม่ค่อยที่จะมีเวลาออกโชว์ตัวแห่งหนไหน แต่พอมาอยู่กับ Thalberg ตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นโปรดักชั่นหนัง ส่งไปสัมภาษณ์ ถ่ายแบบลงนิตยสาร (Groucho เคยบอกว่า โคตรเกลียดการให้สัมภาษณ์! รู้สึกเหมือนตนเองถูกกล่าวหาเป็นฆาตกรโรคจิต กำลังต้องขึ้นศาลไต่สวนเพื่อรับโทษทัณฑ์ความผิด) และออกทัวร์ยัง Seattle, Salt Lake City, Portland, Santa Barbara ร่วมกับนักเขียนบท Al Boasberg และ Morrie Ryskind เพื่อทดลองหลายๆมุกที่พวกเขาครุ่นคิดขึ้นอยากใส่เข้าไปในหนัง ถ้าไม่มีใครขบขันก็ตัดออก คงไว้เฉพาะที่น่าสนใจเท่านั้น
สำหรับเนื้อเรื่องราว นำจากตำนานเบื้องหลัง ‘การแสดงโอเปร่า ครั้งที่ยอดแย่สุดในประวัติศาสตร์’ พล็อตดังกล่าวครุ่นคิดโดย James Kevin McGuinness ไปเสนอหาผู้สร้างละครเวที Broadway แต่แน่ละใครไหนจะให้ความสนใจ จนกระทั่งพานผ่านหู Groucho Marx นำมาเป็นแนวคิดหลักของหนัง
เกร็ด: พล็อตเรื่องราวคล้ายๆกันดังกล่าว ยังกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Producers (1967) โดยผู้กำกับ Mel Brooks
แต่เรื่องราวเพียงเท่านั้น ยังไม่สร้างความพึงพอใจให้โปรดิวเซอร์ Thalberg สักเท่าไหร่ ติดต่อให้ George S. Kaufman และ Morrie Ryskind เข้ามาร่วมขัดเกลาเพิ่มเติมบทหนัง และยังมี Ghost Writer ไม่ได้รับเครดิตอย่าง Al Boasberg, Buster Keaton และ George Oppenheimer เข้ามาช่วยตบมุก
มอบหมายหน้าที่กำกับให้ Samuel Grosvenor Wood (1883 – 1949) ชาวอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงหนังเงียบ ผู้ช่วย Cecil B. De Mille ไต่เต้าจนกำกับ/แสดงนำ ประกบคู่ Gloria Swanson และ Wallace Reid เป็นดาราทำเงินของ Paramount Pictures, กระทั่งปี 1927 ย้ายมาปักหลักแทบจะถาวรอยู่กับ M-G-M ผลงานเด่นๆ A Night at the Opera (1935), A Day at the Races (1937), Goodbye, Mr. Chips (1939), เคยแทนที่ Victor Fleming แต่ไม่รับเครดิต Gone with the Wind (1939), Kitty Foyle (1940), For Whom the Bell Tolls (1943) ฯ
เอาจริงๆ Wood ไม่ใช่ผู้กำกับแนวตลก แต่เขาค่อนข้างเชื่อมือ Marx Brothers และด้วยความเป็น Perfectionist ใส่ใจทุกๆรายละเอียด ความสมบูรณ์แบบในโปรดักชั่น ผลลัพท์ออกมาเลยประสบความสำเร็จในแง่ศาสตร์-ศิลป์ อย่างกลมกล่อมลงตัว
เรื่องราวเริ่มต้นที่ Milan, Italy ผู้จัดการธุรกิจ Otis B. Driftwood (รับบทโดย Groucho Marx) ได้รับคำร้องขอจากเศรษฐีนีหม้าย Mrs. Claypool (รับบทโดย Margaret Dumont) ต้องการมีหน้ามีหน้า มีชื่อเสียงในวงการสังคมไฮโซ เลยติดต่อ Herman Gottlieb (รับบทโดย Sig Ruman) ผู้อำนวยการแห่ง New York Opera Company เพื่อให้เธอลงทุนในโปรดักชั่นละครเวทีที่ Broadway ก่อนอื่นเลยนำพาไปพบเจอ/เซ็นสัญญา Rodolfo Lassparri (รับบทโดย Walter Woolf King) นักร้องผู้ได้รับฉายา ‘greatest tenor since Caruso’ แต่มีนิสัยเย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี และสนเพียงเงิน โดยเป็นคู่แข่งความรักกับนักร้องคอรัส Ricardo Baroni (รับบทโดย Allan Jones) ตกหลุมหญิงสาวคนเดียวกัน Rosa Castaldi (รับบทโดย Kitty Carlisle)
ความวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Mr. Driftwood จับพลัดจับพลูเซ็นสัญญากับ Ricardo ลักนำพาพร้อมกับผองเพื่อน Fiorello (รับบทโดย Chico Marx) และ Tomasso (รับบทโดย Harpo Marx) แอบขึ้นเรือสำราญข้ามมหาสมุทร เพื่อไปยังสหรัฐอเมริกาด้วยกัน จากนั้นวันเปิดรอบการแสดงปฐมทัศน์ พยายามก่อกวน ปั่นป่วน จนกลายเป็นค่ำคืนเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อุปรากร
Groucho Marx ในบทบาท Otis B. Driftwood ยังคงเป็นตัวละครที่มีลีลาคำพูดลื่นไหล กลับกลอก พลิกแพลง ตลบแตลง ชวนให้สับสนมึนงง แต่ก็เป็นครั้งแรกที่มีจุดประสงค์มุ่งหมายชัดเจน ไม่ใช่เรื่อยเปื่อยไร้สาระ เพื่อก่อกวน สร้างความปั่นป่วน จนการแสดงโอเปร่าครั้งนี้ แทบจะเละเทะดูไม่ได้
เกร็ด: ในบรรดาผลงานการแสดงทั้งหมด Groucho บอกว่าชื่นชอบ A Night at the Opera (1935) มากที่สุด รองลงมาก็ A Day at the Races (1937)
Harpo กับ Chico ยังคงเป็นสองคู่หู่ พูดมาก-ไม่พูด แต่สามารถเข้าใจอะไรๆกันได้อย่างดี ผู้จัดการ Fiorello ดูเหมือนจะมีสติปัญญาขึ้นกว่าเก่าก่อนหน่อย (แต่ก็ฉีกสัญญาเละเทะไปหมด) ขณะที่ Chico เมื่อถูกบีบบังคับให้ต้องพูดต่อหน้าสาธารณะ สีหน้าตื่นตระหนก เกร็งกดดัน จะรอดหรือไม่รอด! และไฮไลท์ของทั้งคู่คือขณะแสดงดนตรี Piano + Harp หลากหลายอารมณ์ โปกฮา ซาบซึ้ง และอาจน้ำตาไหลพรากๆ
สำหรับ ‘fifth Marx brother’ นั่นคือ Margaret Dumont รับบท Mrs. Claypool มหาเศรษฐินีหม้าย ผู้ต้องการมีหน้ามีตาในสังคม เพิ่งเริ่มรู้สึกตัวว่าคบคนพาลอย่าง Otis B. Driftwood แต่ก็ต้องยินยอมให้ เพราะตนเองมีโอกาสรับรู้จัก Herman Gottlieb ความฝันคงกำลังจะได้เติมเต็มในไม่ช้า!, การแสดงของ Dumot ก็สไตล์เดิมในฐานะ ‘Comic Foil’ น้ำเสียง ท่วงท่าทาง เต็มไปด้วยความเว่อวังอลังการ ลีลาประมาณว่าหลุดออกมาจากโลกแห่งความเพ้อฝัน พยายามชี้ชักนำทางตัวละครให้ได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายไม่มีใครตอบสนองความต้องการได้สักอย่าง
บทบาทที่ควรเป็นของ Chico ตกเป็นของ Allan Jones (1907 – 1992) นักร้อง Tenor/นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เชื้อสาย Welsh แม้ว่าบิดาและปู่จะทำงานเหมืองถ่านหิน แต่มีความโดดเด่นด้านการดนตรี สอนเขาขับร้องเพลง เล่นเปียโน ไวโอลิน จนกระทั่งมีโอกาสแสดง Broadway และแจ้งเกิดโด่งดังกับภาพยนตร์ A Night at the Opera (1935), A Day at the Races (1937), Show Boat (1936), The Firefly (1937), รับบท Ricardo Baroni หนุ่มหล่อ นักร้องคอรัสเสียงดีแต่ยังไม่มีโอกาส ตกหลุมรัก Rosa Castaldi ลักลอบติดตามมายังสหรัฐอเมริกา โชคชะตาและพรรคเพื่อนดี จึงนำพาให้เขามีโอกาสครองรับ ขึ้นเวที และได้รับเสียงปรบมือล้นหลาม
Walter Woolf King (1899 – 1984) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Francisco, California แรกเริ่มเป็นนักร้องคอรัสในโบสถ์ ความที่น้ำเสียงดีเลยมีโอกาสแสดงละครเวที Musical Comedy ตามด้วยภาพยนตร์ Golden Dawn (1930), โด่งดังสุดกับ A Night at the Opera (1935) และ Go West (1940), รับบท Rudolfo Lassparri เสียงร้องถือว่าดีเยี่ยม แต่นิสัยเย่อหยิ่ง หลงตนเอง ชอบใช้ความรุนแรงกับคนใช้ Tomasso พบเห็นโดย Rosa ทำให้เกี้ยวพา ออดอ้อนยังไงก็ไม่สำเร็จ แถมเมื่อตอนแฟนๆขอให้ร้องเพลง ฉันไม่ได้เงินจะเสียเวลาทำไม น่าหมั่นไส้ถีบตกลงมหาสมุทรแอตแลนติดเสียจริง!
Siegfried Carl Alban Rumann (1884 – 1967) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Hamburg, German Empire ศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้า แต่จบออกมาเลือกเป็นนักแสดง/นักดนตรี สมัครทหารสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากนั้นอพยพสู่สหรัฐอเมริกา สร้างชื่อให้ตนเองกับการแสดง Broadway และภาพยนตร์เด่นๆดังๆ A Night at the Opera (1935), A Day at the Races (1937),Ninotchka (1939), To Be or Not to Be (1942), Stalag 17 (1953), รับบท Herman Gottlieb ผู้อำนวยการแห่ง New York Opera Company ซึ่งก็ไม่ต่างจาก Rudolfo สักเท่าไหร่ สนเพียงเงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ ผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น พยายามกลั่นแกล้ง Mr. Driftwood ปฏิเสธ Ricardo แต่สุดท้ายก็โดนย้อนแย้งเข้าไปอย่างสาสมควร
เกร็ด: Kitty Carlisle และ Allan Jones ใช้เสียงร้องของตนเอง บันทึกสดๆระหว่างถ่ายทำ เว้นแต่ Walter Woolf King เพราะเจ้าตัวเป็นนักร้องเสียง Baritone แต่ตัวละครในบทได้แค่ Tenor เลยทำการพากย์ทับโดย Tandy MacKenzie
ถ่ายภาพโดย Merritt B. Gerstad,
Sam Wood เป็นผู้กำกับประเภท Perfectionist นิยมถ่ายทำหลายๆสิบเทคเพื่อความสมบูรณ์แบบ แต่นั่นสร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่าย เอือมละอาให้กับนักแสดงอยู่ไม่น้อย (ก็ลองคิดดูว่า เล่นมุกเดิมซ้ำๆ 10-20 ครั้ง ใครกันจะไปขำออก!) ประเด็นไม่ใช่ว่า Wood อยากถ่ายทำซ้ำๆหรอกนะ คือเจ้าตัวไม่ค่อยเข้าใจ Comedy สักเท่าไหร่ เลยหลายเทคไว้ก่อนค่อยมาเลือกเอาทีหลัง –”
การที่ Otis B. Driftwood นั่งหลบอยู่ด้านหลัง Mrs. Claypool ณ ภัตราคารแห่งหนึ่ง นี่ไม่ได้แฝงนัยยะว่าพวกเขาเกิดความเห็นต่าง/ขัดแย้ง แต่เพื่อเริ่มต้นการปรับเปลี่ยนมุมมอง จากหน้าเป็นหลัง ทุกสิ่งอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้จะกลับตารปัตรจากที่คุณเคยรับชมผลงานของ Marx Brothers เรื่องก่อนหน้า
Sig Ruman จริงๆแล้วเป็นชาวเยอรมัน แต่ไปแจ้งเกิดโด่งดังที่สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นช็อตนี้จัดว่าเป็น Steriotype ของชาวต่างชาติ ไม่รับล่วงรู้วิธีการกินสปาเก็ตตี้ที่ถูกต้อง ผลลัพท์ก็เลยอย่างที่เห็น ยกเส้นขึ้นมาปกปิดหน้า … นัยยะถึง การมีเส้นสาย และชายคนนี้สนเพียง เงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จเฉพาะหน้า หาได้ตระหนักถึงคุณค่าของคนสักเท่าไหร่
สำหรับ Harpo เริ่มต้นด้วยภาพสะท้อนในกระจกช็อตนี้ สะท้อนตัวตนแต่ไม่ใช่ของเขา คือเจ้านาย Rudolfo Lassparri ผู้พยายามสร้างภาพลักษณ์ ปกปิดบังตัวตนแท้จริงของตนเอง ซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่านเสื้อผ้าหลายชั้น ตัวตลก (คือตัวตลกจริงๆแหละ) ชุดทหารเรือ (สร้างภาพหล่อ เนี๊ยบ) และเดรสผู้หญิง (จิตใจลูกผู้หญิง)
ถึงผมจะไม่ค่อยชอบมุกเซ็นสัญญานี้สักเท่าไหร่ แต่มันสะท้อน ‘สัญญาทาส’ ของ Hollywood ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะข้อสุดท้าย Sanity Clause ซึ่งมันไม่มีจริงๆหรอกนะ เฉพาะคนสติไม่ดีเท่านั้นถึงมองเห็น ตอแหลมาจากคำว่า Santa Claus (ซานต้าครอส)
Driftwood: It’s all right. That’s, that’s in every contract. That’s, that’s what they call a sanity clause.
Fiorello: Ha-ha-ha-ha-ha! You can’t fool me. There ain’t no Sanity Clause!
มุกตลกที่กลายเป็นตำนานของหนัง ชื่อภาษาอังกฤษคือ ‘Stateroom scene’ ผมขอเรียกว่าฉากปลากระป๋อง อัดยัดแน่นประชากรทั้งหมด 15 คน เข้าไปอยู่กันได้ยังไง!
เกร็ด: ฉากนี้มีการเอ่ยถึงแม่แท้ๆของ Marx Brothers หญิงสาวคนหนึ่งสอบถามว่า “Is my Aunt Minnie in here?”
เกร็ด2: การลักลอบขึ้นเรือเดินสมุทรของ Marx Brothers ถือว่ารีไซเคิลจาก Monkey Business (1932) ใครเคยรับชมแล้วอาจมีความคุ้นเคยหลายๆมุกตลก
ฉากนี้จะมีขณะที่ Mr. Driftwood พูดภาษา ‘ต่างด้าว’ กับ Fiorello และ Ricardo แต่แท้จริงแล้วพวกเขาสนทนาภาษาอังกฤษนี่แหละ แค่ว่านำไปเล่นย้อนกลับ (Backward) เลยฟังไม่ได้สดับ (ล้อกับความตารปัตรของหนังอีกแล้วนะ!) ซึ่งข้อความจริงๆคือ
Driftwood: “Did you hear what he said? He said you were frauds and impostors!”
Fiorello: “How can he say a thing like that?”
Ricardo: “This is ridiculous,”
ฉากนี้แนวคิดคล้ายๆกับ The Cocoanuts (1929) เรียกว่าห้องปริศนา โยกย้ายสลับไปมา สร้างความชวนหัว สับสนวุ่นวายอลม่าน … จริงๆถือว่าเป็นการล้อภาพยนตร์เรื่องแรกในสังกัด Paramount เพราะนี่คือเรื่องแรกเช่นกันในสังกัด M-G-M เลยต้องมีฉากคัทลอกเลียนแบบมาเสักหน่อย
จะบอกว่านี่คือเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นระหว่าง Marx Brothers กับ Irving Thalberg!
Thalberg เป็นคนที่มีความยุ่งวุ่นวายในทุกๆแต่ละวัน ชอบนัดหมายผู้กำกับ/นักแสดง แล้วให้นั่งรอคอยเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ อ้างธุระ ติดประชุม คุยโทรศัพท์เยิ่นยาวนาน แต่ถึงขั้นเข็ดหลากเมื่อพานพบเจอ Marx Brothers
– ครั้งแรกอ้างติดธุระคุยโทรศัพท์อยู่ในห้องทำงาน นานเป็นชั่วโมงๆไม่จบสิ้นเสียที จนเลขาเลิกงานกลับบ้านไปแล้ว พวกเขาเลยเอาเก้าอี้ดามประตูไว้ กักขัง Thalberg เปิดออกไม่ได้
– แต่ก็ยังไม่หลากจำ อีกครั้งนัดหมายพวกเขาไว้แล้วหลบไปประชุมงาน หายตัวเป็นชั่วโมงๆ หวนกลับมาที่ห้องพบเห็นสามพี่น้อง ถอดเสื้อผ้าล่อนจ้อน สภาพมึนเมา นั่งปิ้งหัวมันอยู่ข้างเตาผิง เขานั่งลงกิน และจดจำชั่วนิรันดร์ว่าไม่ควรเบี้ยวนัดหรือปล่อยให้พวกเขาเสียเวลารออีกเป็นอันขาด
นัยยะของการปีนป่าย โลดโผน อย่างกับทาร์ซาน ฉากการแสดงสลับสับเปลี่ยนไปมา สะท้อนถึงมุกตลกของ Marx Brothers ที่ก็อารมณ์ประมาณอย่างนี้แหละ ขึ้นๆลงๆ เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ไร้ซึ่งกฎตายตัว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
เกร็ด: Harpo เล่นสตั๊นฉากนี้เองทั้งหมด แต่ภายหลังก็ให้สัมภาษณ์ว่า
“It was a silly thing for a 47-year-old non-stuntman to have done”.
– Harpo Marx
Il Trovatore (ภาษาอังกฤษ The Troubadour) เป็นอุปรากรภาษาอิตาลีความยาว 4 องก์ ประพันธ์โดย Giuseppe Verdi (1813 – 1901) คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน ดัดแปลงจากจากบทละครภาษาสเปนเรื่อง El Trovador ของ Antonio García Gutiérrez (1813 – 1884) เรื่องราวพื้นหลังประเทศสเปน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ระหว่างสงครามกลางเมือง ครั้งหนึ่งท่านเคาน์/เจ้าเมืองเกิดความเข้าใจผิดว่า ชาวยิปซีได้ร่ายมนต์ใส่ลูกชายจนป่วยหนัก จึงลงโทษทัณฑ์ด้วยการจับหัวหน้ามาเผาทั้งเป็น บุตรสาวของหัวหน้าเก็บเอาความโกรธเกลียดเคียดแค้น ลักขโมยทารกน้อยของท่านเคาน์แล้วโยนเข้าไปในเปลวเพลิง แต่เธอกลับเกิดความสับสนแล้วโยนผิดเป็นบุตรชายตนเอง … เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นหลายปีถัดมา เมื่อต่างฝ่ายต่างยังคงเคียดแค้นต่อกันไม่เจือจางหาย
แสดงรอบปฐมทัศน์ครั้งแรกวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1853 ที่ลานกลางแจ้ง Tor di Nona ใจกลางกรุงโรม ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับการจัดแสดงซ้ำถึงหลายร้อยรอบในหลายประเทศ ภายในระยะเวลา 3 ปี ทั้งยังได้นำไปจัดแสดงที่สหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ ค.ศ. 1855
ฉากสุดท้ายของหนัง ตลบมุกด้วยการกลับมาเซ็น/ฉีกสัญญา คราวนี้ถือว่ากับ M-G-M และลงท้ายด้วยตัวละครของ Harpo ฉีกสูทของ Herman Gottlieb คือลับหลัง ตลบแตลง ทุกสิ่งอย่างก็กลับตารปัตร พลิกแพลง เช่นนี้!
ตัดต่อโดย William LeVanway, เรื่องราวจะดำเนินไปพร้อมๆกับชุดตัวละคร โดยสามารถแบ่งองก์ได้ตามการเดินทาง
– องก์แรก, ในประเทศอิตาลี แนะนำตัวละคร อารัมบทเข้าเรื่องราว
– องก์สอง, การเดินทางข้ามสมุทรแอตแลนติด
– องก์สาม, ในประเทศสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งโอกาส ความหวัง และความเพ้อใฝ่ฝัน
สำหรับเพลงประกอบ นอกจากโอเปร่าของ Verdi แทบทั้งนั้นคือ Music Stock ของ M-G-M อาทิ
– Alone (1935) แต่งโดย Nacio Herb Brown, คำร้องโดย Arthur Freed, ขับร้องโดย Kitty Carlisle และ Allan Jones
– Cosi-Cosa (1935) แต่งโดย Bronislau Kaper กับ Walter Jurmann, คำร้องโดย Ned Washington, ขับร้องโดย Allan Jones
– Sing Ho for the Open Highway! Sing Ho for the Open Road! ขับร้อง Cappella โดย Groucho Marx
– Santa Lucia (1849) บทเพลงพื้นบ้าน Neapolitan Song
– The Prisoner’s Song (If I Had the Wings of an Angel) (1924)
– When the Moon Comes Over the Mountain (1931) แต่งโดย Kate Smith, Howard Johnson, Harry M. Woods, ขับร้องโดย Groucho Marx
สำหรับ Giuseppe Verdi: Il Trovatore บรรเลงโดย The MGM Symphony Orchestra นำมาทั้งหมด 3 ท่อน
– องก์ 2 ซีน 1, Coro di zingari (แปลว่า Gypsy Chorus) หรือที่รู้จักในชื่อภาษาอังกฤษ Anvil Chorus
– องก์ 3 ซีน 2, Di quella pira l’orrendo foco แปลว่า The horrid flames of that pyre
– องก์ 4 ซีน 1, Miserere/Lord, thy mercy on this soul
นอกจากนี้ยังมีอุปรากรสั้นๆตอนต้นเรื่อง Ruggero Leoncavallo: I Pagliacci: Strido lassu (1892) ขับร้องโดย Kitty Carlisle
แต่ไฮไลท์ของเพลงประกอบ ไม่ใช่ทั้ง Verdi และ Stothart แต่คือ Chico + Harpo เดี่ยวเปียโนและเดี่ยวฮาร์ป
– Chico เล่นบทเพลง All I Do Is Dream of You (1934) แต่งโดย Nacio Herb Brown
– Harpo เล่นบทเพลง Alone (1935) โดยมีเสียงผิวปากของ Enrico Ricardi
ด้วยลีลา ‘Piano Gymnastic’ ผสมความโปกฮา แล้วตบด้วยหวานแหววโรแมนติก ให้ตายเถอะ! ร้อยเรียงตัดสลับกับปฏิกิริยาผู้ชม มันช่างซาบซึ้งกินใจเสียจริง
สหรัฐอเมริกา คือดินแดนแห่งโอกาส ความหวัง และความฝัน ดั่งสโลแกน “American Dream” อะไรๆก็สามารถบังเกิดขึ้น ถ้าเรามีความพยายาม มุ่งมานะ ไม่ย่นย่อท้อแท้ พ่ายแพ้ต่ออุปสรรคขวากขนามโดยง่าย
A Night at the Opera เพียงค่ำคืนเดียวของ Ricardo Baroni และ Rosa Castaldi สามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ ขึ้นเวทีขับร้องโอเปร่า ทำมันออกมาให้ดีเลิศเท่าที่ศักยภาพสามารถ แล้วสุดท้ายปล่อยให้เป็นเรื่องโชคชะตา ทุกสิ่งอย่าง(อาจจะ)สำเร็จสมปรารถนาได้เอง!
ถึงอย่างนั้นหนังก็ได้สะท้อนเสียดสี สันดาน ตัวตน ชนชาวอเมริกันแท้ๆ ที่สนแต่เพียงเงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ ก็ดูอย่าง Rodolfo Lassparri ทำไมฉันต้องเปลืองลูกคอร้องเพลง เงินทองไม่ได้สักแดงเดียว และ Herman Gottlieb บอกกับ Ricardo ทั้งๆชมว่าเสียงดี แต่มีชื่อเสียงเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน
สำหรับ Marx Brothers ภาพยนตร์เรื่องนี้คือการออกเดินทางครั้งใหม่ จากเคยอาศัยอยู่ยุโรป (Paramount Pictures) ที่อะไรๆล้วนดั้งเดิม ตามขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี เมื่อหมดฤดูกาล ถูกอัดแน่นเหมือนปลากระป๋อง ขึ้นเรือข้ามมหาสมุทรมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา (M-G-M) ดินแดนเสรีที่สามารถริเริ่มลองสิ่งแปลกใหม่ ไม่เคยทำมาก่อน จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ปล่อยให้เป็นเรื่องแห่งโชคชะตา
ผมชอบการนัยยะเปรียบเทียบ Herman Gottlieb อวตารของโปรดิวเซอร์ Irving Thalberg ดูแล้วก็น่าจะสะท้อนตัวตน อะไรหลายๆของพี่แกออกมา … อยากรู้จริงๆว่าเจ้าตัวจะรู้สึกอย่างไร เห็นมุมมองตนเองต่อ Marx Brothers ถ่ายทอดออกมาแบบนี้ ขำดีขำร้ายหรือขำไม่ออกกันแน่!
ว่ากันว่าปฏิกิริยาผู้ชมรอบทดลองฉาย เป็นไปในทิศทาง ‘หายนะ’ แทบไม่มีใครหัวเราะ เข้าใจมุกตลกทั้งหลาย นั้นสร้างความหวาดหวั่นสั่นสะท้านให้ Groucho และโปรดิวเซอร์ Thalberg ขังตัวอยู่ในห้องตัดต่อเป็นวันๆ เล็มโน่นนี่นั่นออกไปเกือบๆ 9 นาที ออกฉายจริงทำเงินได้ $1.815 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง $1.057 ล้านเหรียญ แหล่งข่าวระบุว่าได้กำไร $90,000 เหรียญ โล่งอกไปที
การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้หนังต้องตั้งหั่นฉากเกี่ยวกับประเทศอิตาลีออกไปอย่างเยอะ (เพราะ Fascist Italy เข้าข้างฝ่ายอักษะ Nazi Germany) น่าเสียดายฟุตเทจเหล่านั้นสูญหายไปหมดแล้ว
หลังพานผ่านผลงานยุคแรกของ Marx Brothers ทำให้ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในช่วงแรกๆค่อนข้างหงุดหงิด เกิดอคติพอสมควร เพราะเนื้อเรื่องราว โดยเฉพาะส่วนโรแมนติกหวานเลี่ยน เข้ามาแก่งแย่งพื้นที่เล่นมุกตลกไปพอสมควร แต่พอถึงฉากที่ Chico และ Harpo แสดงความสามารถด้านดนตรี เริ่มจากลีลากวนๆ หยอกล่อหลอกผู้ชม จากนั้นไปจริงจังกับการเล่น Harp ว๊าว! มันช่างไพเราะ ตราตรึง ซาบซึ้ง งดงามเสียจริง (เป็นช่วงเวลาตราตรึงสุดที่ไม่ใช่ Comedy Routine ของ Marx Brothers เลยก็ว่าได้)
นั่นทำให้ภาพรวมผมชื่นชอบ Duck Soup (1933) มากกว่า ขณะที่ A Night at the Opera (1935) ดีบ้าง-เลวบ้าง คลุกเคล้ากันไป ก็อยู่ที่รสนิยมส่วนตัวแล้วละ ใครจะชอบเรื่องไหนมากกว่า
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ชื่นชอบหลงใหลโอเปร่า โดยเฉพาะ Giuseppe Verdi: Il Trovatore แม้ในหนังจะปรากฎแค่ไม่กี่ซีน แต่การันตีว่าคุ้มค่าสุดๆ
จัดเรต PG กับคำพูดไร้สาระ ยั่วหยอก กลับกลอก เล่นลิ้น แถมยังชอบละลานผู้อื่นไปทั่ว (แต่ถือว่าน้อยกว่าผลงานก่อนๆหน้าพอสมควร)
Leave a Reply