A Night to Remember

A Night to Remember (1958) British : Roy Ward Baker ♥♥♥♥

แม้ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายรับ แต่ค่ำคืนนั้นได้รับการจดจำว่าสามารถจุดประกายภาพยนตร์แนวหายนะ (Disaster Films) เต็มไปด้วยรายละเอียดใกล้เคียงประวัติศาสตร์ และอาจยอดเยี่ยมยิ่งกว่าหนังเคยทำเงินสูงสุดในโลกเรื่องนั้น!

คนละค่ำคืนกับหนังตลกลึกลับ A Night to Remember (1942) กำกับโดย Richard Wallace, นำแสดงโดย Loretta Young และ Brian Aherne, A Night to Remember (1958) คือดึกดื่นแห่งหายนะของ RMS Titanic ที่ใครต่อใครอาจรับรู้จักแค่ Titanic (1997) ภาพยนตร์เคยทำเงินสูงสุดในโลกของ James Cameron แต่ยังมีผลงานอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับเรือลำนี้ที่สร้างขึ้นก่อนหน้า

ขณะที่ Titanic (1997) เล่าเรื่องราวความรักต่างชนชั้นที่อาจคือสาเหตุทำให้เรือล่ม! A Night to Remember (1958) นำเสนอในลักษณะ Docudrama อธิบายเหตุการณ์หายนะเกิดขึ้นจากความเย่อหยิ่ง หลงตัวเอง ไม่มีทางที่ RMS Titanic จะจมลง! ด้วยความคาดหวังให้เป็นบทเรียนสอนใจอะไรบางอย่าง

Every Britisher is proud of the unsinkable Titanic”.

จริงๆคือผมขี้เกียจเขียนถึง Titanic (1997) เพราะคิดว่าบทความต้องยาวมากแน่ๆ ก็เลยมองหาภาพยนตร์เรื่องอื่นที่เกี่ยวกับ RMS Titanic แล้วได้พบเจอฉบับบูรณะ A Night to Remember (1958) ในคอลเลคชั่นของ Criterion แสดงว่ามันต้องมีดี ดูจบบอกเลยว่าโคตรคลาสสิก ด้วยเทคนิคล้ำยุคสมัยนั้น แถมยังพบเห็นอะไรหลายๆสิ่งอย่างที่ James Cameron รีไซเคิลมาใช้กับผลงานตนเอง

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจฉงนสงสัย ไม่ใช่ว่า RMS Titanic มีการแตกหักสองท่อนระหว่างจมลงหรอกหรือ? คือเราต้องเข้าใจก่อนว่ายุคสมัยนั้น แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงทฤษฎี คำกล่าวอ้างของผู้รอดชีวิต ยังมีการถกเถียงว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่? ภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยข้อจำกัดด้านเทคนิคและงบประมาณ ก็เลยทำได้เท่านี้แหละ และเห็นว่าเพิ่งมีการค้นพบซากเรืออัปปางเมื่อปี ค.ศ. 1985 ถึงสามารถยืนยันว่าเรือมีการแตกหักสองท่อนจริง!


RMS Titanic ชื่อเต็ม เรือไปรษณีย์หลวงไททานิก (Royal Mail Ship Titanic) เคยเป็นสิ่งของเคลื่อนได้ขนาดใหญ่ที่สุด ดำเนินการโดย White Star Line สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1909-1911 ที่อู่ต่อเรือ Harland and Wolff, Belfast มูลค่า £1.5 million (เทียบเท่า £150 ล้านปอนด์ในปี 2019) ออกแบบโดยวิศวกรชาวอังกฤษ Thomas Andrews สามารถบรรทุกผู้โดยสาร 2,224 คน

เกร็ด: ชื่อเรือ Titanic มาจากปกรณัมกรีก Titans คำเรียกเทพสิบสององค์ที่เรืองอำนาจในช่วงยุคทอง (Golden Age หรือ pre-Olympian) ก่อนถูกล้มล้างอำนาจโดยเทพโอลิมปัส (Olympian) ประกอบด้วยหกชาย Oceanus, Coeus, Crius, Hyperion, Iapetus, Cronus และหกหญิง (มักเรียกว่าTitanides หรือ Titanesses) Theia, Rhea, Themis, Mnemosyne, Phoebe, Tethys

ออกเดินทางเที่ยวแรก (มีคำเรียกว่า Maiden Voyage) จากท่าเรือ Southampton วันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็งวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 เวลาประมาณ 11:40 PM จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร Atlantic ในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 40 นาที ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,514 ศพ นับเป็นภัยพิบัติทางทะเลในยามสงบครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

การจมลงของเรือที่ได้รับขนานนามว่า ‘unsinkable’ เป็นเหตุการณ์สร้างความตื่นตระหนก ตกตะลึง เกรี้ยวกราโกรธา โดยเฉพาะความล้มเหลวของกฎระเบียบและปฏิบัติการซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัตินั้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งพัฒนาหลักความปลอดภัยในทะเล จัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (Safety Of Life At Sea, SOLAS) เมื่อปี ค.ศ. 1914

เรื่องราวของ RMS Titanic ถือว่ามีมูลค่าทางศิลปะวัฒนธรรมอย่างมากๆ โดยเฉพาะสื่อภาพยนตร์ อาทิ

  • เริ่มจากหนังสั้น Saved from The Titanic (1912) ความยาว 10 นาที ออกฉาย 29 วันหลังหลังเหตุการณ์โศกนาฎรรม น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปกับกองเพลิง
  • La hantise (1912) กำกับโดย Louis Feuillade นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวได้รับการทักจากหมอดู อ่านลายมือว่าคนรักจะเสียชีวิต เธอจึงพยายามร่ำร้องขอสามีไม่ให้เดินทางไปกับเรือ RMS Titanic
  • In Nacht und Eis (1912) นำเสนอการเดินทางของเรือ RMS Titanic จนกระทั่งอับปางลง, ฟีล์มหนังเคยสูญหายไปหลายปี พอมีการค้นพบก็ได้รับการบูรณะโดยทันที
    • https://www.youtube.com/watch?v=Zb99GTTKzKM
  • Atlantic (1929) หนังพูดกำกับโดย E. A. Dupont แต่มีการเปลี่ยนจากชื่อเรือ RMS Titanic มาเป็น Atlantic และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการใช้บทเพลง Nearer, My God, to Thee ขับร้องโดยผู้โดยสารระหว่างกำลังจมลง
  • Titanic (1943) ภาพยนตร์ชวนเชื่อนาซี (Nazi Propaganda) เปลี่ยนตัวละครทั้งหมดเป็นชาวเยอรมัน (โดยใช้ชื่อเรือรบ Titanic) สู้รบทหารอังกฤษ และจมลงอย่างกล้าหาญ
  • Titanic (1953) หนังดราม่าสัญชาติอเมริกัน กำกับโดย Jean Negulesco, นำแสดงโดย Clifton Webb, Barbara Stanwyck, คว้ารางวัล Oscar: Best Original Screenplay และเข้าชิงสาขา Best Art Direction
  • A Night to Remember (1958) ดัดแปลงจากนวนิยาย A Night to Remember (1955) แต่งโดย Walter Lord นำเสนอในลักษณะ DocuDrama ด้วยทุนสร้างภาพยนตร์สูงสุดของประเทศอังกฤษยุคสมัยนั้น
  • The Unsinkable Molly Brown (1968) หนังเพลงเกี่ยวกับชีวิตของ Molly Brown (นำแสดงโดย Debbie Reynolds) ระหว่างโดยสารเรือ RMS Titanic
  • Raise the Titanic (1980) ภาพยนตร์แนวผจญภัย ดัดแปลงจากนวนิยายขายดี Raise the Titanic! (1976) แต่งโดย Clive Cussler ด้วยทุนสร้าง $40 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับเยิน!
  • Titanica (1992) สารคดี IMAX บันทึกภาพการค้นพบซากเรือ RMS Titanic ที่จมลง
  • Titanic (1997) ภาพยนตร์มหากาพย์แนวหายนะ กำกับโดย James Cameron, นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio และ Kate Winslet เคยเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาล คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมด 11 จาก 14 สาขา รวมถึง Best Picture
  • The Legend of The Titanic (1999) และ Titanic: The Legend Goes On (2000) ต่างคือภาพยนตร์อนิเมชั่นเกี่ยวกับเรือ RMS Titanic
  • The Six (2021) สารคดีเกี่ยวกับคนจีน 6 คนที่รอดชีวิตจากการอับปางของเรือ RMS Titanic

ปล. ผมยังไม่ได้รวมสารคดี มินิซีรีย์ ภาพยนตร์ที่ฉายทางโทรทัศน์อีกนับสิบๆเรื่องนะครับ แล้วเดี๋ยวนี้มีคลิปใน Youtube ที่พยายามอธิบายการจมลงของเรือ RMS Titanic อีกนับไม่ถ้วน (ใครอยากเห็นภาพจำลองสามมิติขณะเรืออับปาง ก็ลองค้นหาดูเองนะครับ)

สำหรับคลิปนำมานี้คือฟุตเทจ Newreel รายงานข่าว(การอับปาง)ของสตูดิโอ Gaumont บันทึกภาพจริงๆของ RMS Titanic ระหว่างออกจากท่าเรือ Southampton

แม้ภาพยนตร์เกี่ยวกับ RMS Titanic จะพบเห็นมากมายตั้งแต่ปีที่อับปางลง แต่กลับไม่มีนวนิยายเรื่องไหนเคยกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จนกระทั่ง A Night to Remember (1955) แต่งโดย Walter Lord (1917-2002) นักเขียนชาวอเมริกัน เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจำนวน 63 คน ตีพิมพ์ครั้งแรก 60,000 เล่ม ขายหมดเกลี้ยงในระยะเวลาเพียง 2 เดือน!

ปล. แม้ว่า Walter Lord จะเกิดไม่ทันโศกนาฎกรรมดังกล่าว แต่ช่วงวัยเด็กเคยมีโอกาสโดยสารเรือ RMS Olympic ซึ่งถือเป็น ‘sister ship’ ของ RMS Titanic เดินทางไป-กลับ New York สู่ทวีปยุโรป นั่นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาค้นคว้าหาข้อมูล เรียบเรียงเขียนหนังสือเล่มนี้

ปล2. สาเหตุที่ไม่มีใครเขียนถึงโศกนาฎกรรมดังกล่าว คาดเดาไม่ยากว่ายุคสมัยนั้นถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไหว ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำใจยินยอมรับ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน 3-4 ทศวรรษ ก็เริ่มหลงลืมเลือน เหลือเพียงตำนานเล่าขาน ที่ต้องรื้อฟื้นกันขึ้นมาเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม!

ความสำเร็จอย่างล้นหลามของภาพยนตร์ดราม่า Titanic (1953) ทำให้กระแสเกี่ยวกับเรือ RMS Titanic ได้รับความสนใจขึ้นอีกครั้ง นั่นรวมถึงหนังสือ A Night to Remember (1955) ขายดีระดับ Best-Selling ทำให้มีการแก่งแย่งซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงโดยทันที!

ครั้งแรกได้รับการสร้างเป็น TV Play โดยสถานีโทรทัศน์ NBC รวมอยู่ในซีรีย์ Kraft Television Theatre ซีซัน 9 ตอนที่ 25 ออกอากาศวันที่ 28 มีนาคม 1956, กำกับโดย George Roy Hill, ดัดแปลงบทโดย John Whedon (บิดาของผู้กำกับ Joss Whedon) ด้วยคำโปรโมทสุดอลังการ “the biggest, most lavish, most expensive thing of its kind” 31 ฉาก, 107 นักแสดง, ถังน้ำ 3,000 แกลอน, มีผู้ชมกว่า 28 ล้านคน, เข้าชิง Emmy Award ห้าสาขา และคว้ารางวัล Best Live Camera Work

สำหรับฉบับภาพยนตร์ มีจุดเริ่มต้นจากโปรดิวเซอร์ William MacQuitty เมื่อครั้นวัยเด็กเคยพบเห็น RMS Titanic ออกจากอู่สร้างที่ Belfast พอมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ (ได้รับจากภรรยา) จึงรีบติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงโดยทันที (ตัดหน้าสตูดิโอใหญ่ๆก่อนที่ TV Play จะออกฉาย) และมอบหมายหน้าที่กำกับให้ Roy Ward Baker (1916-2010) ซึ่งก็มีความสนใจไม่ต่างกัน

Roy Ward Baker ชื่อเดิม Roy Horace Baker (1916-2010) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London บิดาเป็นพ่อค้าปลา โตขึ้นจับพลัดจับพลูได้งานเด็กเสิร์ฟชาที่ Gainsborough Studios ไต่เต้าจนจนกลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อาสาสมัครทหารเข้าร่วม Army Kinematograph Unit, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The October Man (1947), โด่งดังกับ A Night to Remember (1958), หลังจากนั้นขยันสร้างหนัง Horror เกรดบี อาทิ The Vampire Lovers (1970), Scars of Dracula (1970), Asylum (1972), The Vault of Horror (1973) ฯลฯ

สำหรับบทภาพยนตร์ดัดแปลงโดย Eric Ambler (1909-98) นักเขียนนวนิยาย/ดัดแปลงบทภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้มีผลงาน อาทิ The October Man (1947), The Cruel Sea (1953), Yangtse Incident: The Story of H.M.S. Amethyst (1957) ฯลฯ


ถ่ายภาพโดย Geoffrey Unsworth (1914-78) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติอังกฤษ เริ่มต้นทำงานยัง Gaumont British ต่อด้วยเป็นผู้ช่วยตากล้องในหลายๆผลงานของ Powell and Pressburger จนกระทั่งได้รับเครดิตถ่ายภาพเมื่อย้ายมา Rank Organisation ผลงานเด่นๆ อาทิ A Night to Remember (1958), Becket (1964), 2001: A Space Odyssey (1968), Cabaret (1972), Murder on the Orient Express (1974), A Bridge Too Far (1977), Superman (1978), Tess (1979) ฯลฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียด Mise-en-scène แต่เต็มไปด้วยลูกเล่น Special Effect และผสมผสานระหว่างการเข้าฉากของนักแสดงยังฉากขนาดเท่าของจริง (เห็นว่ามีประมาณ 30 ฉากที่สร้างขึ้น) และโมเดลจำลอง (miniature) ถ่ายทำในแท้งค์น้ำที่สตูดิโอ Pinewood, London คลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างแนบเนียน

ทศวรรษ 50s เป็นช่วงเวลาของหนังมหากาพย์สุดยิ่งใหญ่ ‘Historical Epics’ อาทิ Quo Vadis (1951), Helen of Troy (1956), The Ten Commandments (1956), Ben-Hur (1959) ฯลฯ ซึ่งล้วนถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Eastmancolor หรือ Technicolor แต่แปลกที่ A Night to Remember (1958) กลับเลือกถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ … ผมคาดว่าเพราะหนังนำเสนอหายนะ เหตุการณ์โศกนาฎกรรม (เหมือนเป็นการไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิต) แถมเรื่องราวส่วนใหญ่ถ่ายทำตอนกลางคืน จึงไม่มีความจำเป็นในการถ่ายทำด้วยฟีล์มสีให้สิ้นเปลือง

ปล. ผมเห็นคลิปหนังใน Youtube มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์แปลงสี ‘Colorization’ แต่เท่าที่ดูผ่านๆรู้สึกว่ามันไม่ค่อยเวิร์คสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะความไม่สมจริงของโมเดลจำลอง (miniature) มีความชัดเจนขึ้นกว่าฉบับฟีล์มขาว-ดำ


ขอเริ่มจากโมเดลจำลองเรือ RMS Titanic ทำการว่าจ้างบริษัท Shawcraft Models ออกแบบโดย Bill Warrington ใช้โครงเหล็กเพื่อความแข็งแกร่งทนทาน ขนาดความยาว 35 ฟุต (=10.7 เมตร) ก่อสร้างนาน 6 สัปดาห์ แถมยังต้องติดตั้งหลอดไฟฟ้าภายในเรือ สามารถควบคุมติด-ดับได้จากภายนอก และความที่แท้งค์น้ำใน Pinewood Studios ไม่ได้มีความลึกสักเท่าไหร่ (ดูจากภาพจะเห็นคนยืนในแท้งค์น้ำ ความสูงระดับเอวเท่านั้น) เลยยังต้องออกแบบให้สามารถแบ่งแยกชิ้นส่วนหัว-ท้ายออกจากกัน

เกร็ด: ใครอยากรับชมเบื้องหลังการงานสร้าง ให้ลองหาสารคดี The Making of “A Night to Remember” (1993) มีอยู่ใน Special Feature ของค่าย Criterion Collection

นอกจากโมเดลจำลอง หนังยังต้องสร้างเรือขนาดเท่าของจริงสำหรับถ่ายทำร่วมกับนักแสดง แต่ก็ไม่ได้เริ่มต้นจากนับหนึ่งนะครับ สามารถติดต่อขอเรือที่สิ้นอายุใช้งาน RMS Asturias สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1925 พานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ปลดประจำการเมื่อปี 1957 กำลังรอคอยแยกชิ้นส่วนอยู่ที่ท่าเรือ His Majesty’s Naval Base, Clyde (HMNB Clyde) หรือ Faslane

เอาจริงๆภาพซ้าย RMS Asturias (ความยาวเรือ 630 ฟุต, 192.18 เมตร) มีขนาดเล็กกว่าภาพขวา RMS Titanic (882″9 ฟุต, 269.1 เมตร) แต่หนังไม่ได้ถ่ายทำทั้งลำนะครับ เพียงแค่ฉากภายนอกบางส่วน และบนดาดฟ้าเท่านั้นเอง (ส่วนภายในเรือ สร้างฉากถ่ายทำยังสตูดิโอ Pinewood)

เกร็ด: เพื่อความสมจริงในรายละเอียดถ่ายทำ หนังมีที่ปรึกษา (Technical Advisors) นับสิบๆคนจากทั้งผู้รอดชีวิต และผู้บัญชาการทหารเรืออังกฤษ บางคนเดินทางมาเยี่ยมเยือนกองถ่าย ร่วมแสดงรับเชิญ และเห็นว่ามีคนหนึ่งครุ่นคิดจะฆ่าตัวตายไปพร้อมกับเรือ

สำหรับฉากล่องลอยคอกลางมหาสมุทร Atlantic ใช้สถานที่อ่างเก็บน้ำ/ชายหาดเทียม Ruislip Lido อยู่ย่าน West London ถ่ายทำเวลาตีสอง ช่วงเดือนพฤศจิกายน อากาศกำลังหนาวเหน็บ ทีแรกไม่มีใครอยากกระโดดลงน้ำ แต่หลังจากนักแสดงนำ Kenneth More อาสาทำเป็นแบบอย่าง แค่เพียงสัมผัสความหนาวเย็นเข้ากระดูก ก็ตระหนักว่าคิดผิดอย่างรุนแรง!

I leaped. Never have I experienced such cold in all my life. It was like jumping into a deep freeze just like the people did on the actual Titanic. The shock of the cold water forced the breath out of my lungs. My heart seemed to stop beating. I felt crushed, unable to think. I had rigor mortis, without the mortis. And then I surfaced, spat out the dirty water and, gasping for breath, found my voice. ‘Stop!’ I shouted. ‘Don’t listen to me! It’s bloody awful! Stay where you are!’ But it was too late, as the extras followed suit.

Kenneth More

ภาพวาดที่อยู่ในห้องนั่งเล่นชั้น First Class มีชื่อว่า Approach to the New World มุ่งสู่ท่าเรือ New York ผลงานของ Norman Wilkinson (1878–1971) ซึ่งมีการอ้างอิงถึงในหนังสือของ Walter Lord แต่จริงๆแล้วเป็นภาพที่เขาเคยพบเห็นบนเรือ RMS Olympic ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Southampton City Museums

ส่วนภาพจริงๆที่อยู่บนเรือ RMS Titanic คือท่าเรือ Plymouth Harbour ซึ่งก็วาดโดย Norman Wilkinson ใครช่างสังเกตจะสามารถพบเห็นภาพนี้ใน Titanic (1997)

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกอึ้งทึ่ง อดไม่ได้จะพูดกล่าวถึง คือการถ่ายมุมกล้องเอียงๆ นี่ไม่ใช่แบบ Titanic (1997) ที่มีงบประมาณสำหรับสร้างฉากบนเครื่องไฮดรอลิก แล้วสามารถปรับระดับความลาดชัน ลื่นไถลเหมือนมีแรงโน้มถ่วง แต่สำหรับ A Night to Remember (1958) ทุกช็อตฉากที่พบเห็นความเฉียงๆ ล้วนเป็นการละเล่นกับมุมกล้อง และนักแสดงพยายามยืนอย่างเอียงๆ ได้ยังไงกัน!

หนังพยายามอย่างยิ่งจะนำเสนอความเพิกเฉยเฉื่อยชาของเรือ SS Californian เพราะจอดอยู่ไม่ห่างไกลจาก RMS Titanic ถูกตั้งคำถามว่าถ้าเดินทางมาช่วยเหลือได้ทันท่วงที จะสามารถหยุดยับยั้ง/ลดการสูญเสียจากเหตุโศกนาฎกรรม แต่หลังจากมีการสืบสวนสอบสวนของ Marine Accident Investigation Branch (MAIB) กลับแถลงข้อสรุปอย่างข้างๆคูๆ แถไถจนสีข้างถลอก ฟังไม่ขึ้นเลยสักนิด

the effect of Californian taking proper action would have been no more than to place on her the task actually carried out by Carpathia, that is the rescue of those who escaped … [no] reasonably probable action by Captain Lord could have led to a different outcome of the tragedy.

ตัดต่อโดย Sidney Hayers (1921-2000) ผู้กำกับ/นักตัดต่อสัญชาติอังกฤษ จากเคยทำงานแผนกเสียง เลื่อนมาเป็นนักตัดต่อ จากนั้นกลายเป็นผู้กำกับกองสอง A Night to Remember (1958), A Bridge Too Far (1977) และมีผลงานกำกับ อาทิ Rebound (1959) ฯลฯ

ด้วยความที่หนังใช้แนวคิดของ DocuDrama เลยไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองตัวละครหนึ่งใด แต่ใช้ RMS Titanic คือจุดศูนย์กลางเรื่องราว โดยทำการร้อยเรียงชุดภาพผู้คนจากหลากหลายระดับ/ชนชั้นฐานะ เมื่อต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ต่างๆ พวกเขาจะมีเรื่องราว ปฏิกิริยาแสดงออกเช่นไร

  • ก่อนการออกเดินทาง
    • ร้อยเรียงภาพผู้คนร่ำลาญาติมิตรสหาย เตรียมตัวเพื่อเดินทางขึ้นเรือ RMS Titanic
  • กิจวัตรของผู้คนบนเรือ RMS Titanic
    • ดินเนอร์ของผู้โดยสารชั้น 3, ชั้น 2 และ First Class
    • ภาพการทำงานของลูกเรือ จากแรงงานระดับล่าง แผนกสื่อสาร ต้นหน กัปตัน รวมถึงเรือลำอื่นๆที่อยู่บริเวณย่านน้ำนั้น
    • กัปตันได้รับคำเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งแต่กลับเพิกเฉยเฉื่อยชา เจ้าหน้าที่สื่อสารก็มัวยุ่งวุ่นวายอยู่กับการส่งโทรเลขส่วนตัว
  • การพุ่งชนภูเขาน้ำแข็ง
    • RMS Titanic พุ่งชนภูเขาน้ำแข็ง หลังตรวจสอบความเสียหายพบว่าเรือกำลังจะอับปาง
    • พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากเรือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
    • ทำการอพยพผู้โดยสารชั้นหนึ่งลงเรือชูชีพ
    • ความชุลมุนวุ่นวายเริ่มเกิดขึ้นเมื่อผู้โดยสารชั้นสอง-สาม ขึ้นมาถึงดาดฟ้า
    • ความพยายามครั้งสุดท้ายเมื่อเรือกำลังจมลง
  • ภายหลังการอับปางของ RMS Titanic
    • ผู้รอดชีวิตล่องลอยคออยู่บนผืนน้ำอันหนาวเหน็บ ก่อนได้รับความช่วยเหลือจาก RMS Carpathia

การร้อยเรียงชุดภาพผู้คนโดยไม่เจาะจงกลุ่มคนหนึ่งใด ถือเป็นการสร้างสัมผัสกวีภาพยนตร์ ให้ผู้ชมพบเห็นเรื่องราวจากหลากหลายมุมมอง คลอบคลุมเหตุการณ์ทั้งหมด แม้วิธีการนี้จะทำให้หนังดูวุ่นๆวายๆ ไม่รู้จะเชียร์ใครให้เอาตัวรอด แต่ถือว่าสอดคล้องแนวคิด DocuDrama กึ่งสารคดีผสมเหตุการณ์จริง!


เพลงประกอบโดย William Alwyn (1905-1985) คีตกวีสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Northampton วัยเด็กหลงใหลใน Flute และ Piccolo เข้าศึกษาต่อยัง Royal Academy of Music ณ กรุง London จากนั้นเป็น Flautist ให้กับ London Symphony Orchestra ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนทฤษฎีดนตรี แล้วมีโอกาสทำเพลงออร์เคสตรา Concerto, Piano Suite, Chamber Music, ละครเวที และประกอบภาพยนตร์ อาทิ The True Glory (1945), The October Man (1947), Odd Man Out (1947), The Crimson Pirate (1952), A Night to Remember (1958), The Running Man (1963)

อาจเพราะหนังต้องการสร้างบรรยากาศสมจริง บทเพลงส่วนใหญ่ที่ได้ยินจึงเป็นการบรรเลงของวงดนตรีในลักษณะ ‘diegetic music’ แต่ก็มีอยู่สองสามครั้งเพื่อเสริมเติมบรรยากาศความวุ่นๆวายๆ (ระหว่างการอพยพลงเรือชูชีพ และขณะ RMS Titanic กำลังจะจมลง) ถึงมีการแทรกใส่ Soundtrack ที่เต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน

Opening Theme เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองแสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการของเรือ RMS Titanic แล้วจะค่อยๆได้ยินเสียงที่มอบสัมผัสอันตราย สิ่งชั่วร้าย หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา นำเสนอในลักษณะของ ‘Impressionist’ ไม่ได้บีบเค้นคั้น หรือสร้างอารมณ์สิ้นหวังขนาดนั้น!

แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกของภาพยนตร์เกี่ยวกับ RMS Titanic ที่มีการใช้บทเพลง Nearer My God to Thee (แทบจะกลายเป็นชาติประจำเรือ Titanic) ได้ยินระหว่างเรือกำลังจมลงสู่ก้นเบื้อง Atlantic … ครั้งแรกคือ Atlantic (1929) ผู้โดยสารที่ตกค้างบนเรือ ร่วมกันขับร้องประสานเสียง

แต่ A Night to Remember (1958) คือครั้งแรกที่มีการนำวงดนตรีมาทำการแสดง รวมถึง ‘diegetic music’ บทเพลงอื่นๆ อาทิ Off to Philadelphia, Barbary Bell, The Blue Danube, Funeral March ฯลฯ

เกร็ด: James Cameron ชื่นชอบวงดนตรีนี้มากๆ ถึงขนาดรีไซเคิลแนวคิด (รวมถึงบทเพลง Nearer My God to Thee) รวมถึงเพิ่มเติมประโยคเด็ดใน Titanic (1997)

ภาพยนตร์แนวหายนะในยุคแรกๆ ไม่ได้มุ่งเน้นความน่าตื่นตาตื่นใจ อลังการงานสร้าง หรือทุ่มงบประมาณมหาศาลกับ Special/Visual Effect แต่มักนำเสนอปัญหาของการเอาตัวรอด มีบางสิ่งอย่างเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ อันเนื่องจากความเพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ถ้ามีมาตรการป้องกันที่ดีกว่านี้ ก็อาจไม่เกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมขึ้นก็เป็นได้

หายนะที่เกิดขึ้นกับ RMS Titanic ไม่ได้มีสาเหตุหลักจากการพุ่งชนภูเขาน้ำแข็ง แต่คือความประมาทเลินเล่อ เย่อหยิ่งทะนงตนของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่มีใครเชื่อว่าเรือขนาดใหญ่ลำนี้จะสามารถจมลง กัปตัน/พนักงานสื่อสารหลับสบาย ไม่ได้สนใจโทรเลขเตือนภัย ไร้มาตรการรองรับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ

What troubled people especially was not just the tragedy—or even its needlessness—but the element of fate in it all. If the Titanic had heeded any of the six ice messages on Sunday … if ice conditions had been normal … if the night had been rough or moonlit … if she had seen the berg fifteen seconds sooner—or fifteen seconds later … if she had hit the ice any other way … if her watertight bulkheads had been one deck higher … if she had carried enough boats … if the Californian [just 10 miles away] had only come. Had any one of these ‘ifs’ turned out right, every life might have been saved. But they all went against her—a classic Greek tragedy.

Walter Lord

A Night to Remember (1958) แค่ชื่อก็พยายามเรียกร้องขอให้ผู้ชม/ผู้อ่าน จดจำเหตุการณ์นี้ไว้ ไม่มีใครอยากให้โศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้น แต่เมื่อมีเหตุสุดวิสัย ภัยพิบัติ เราต้องรู้จักมีสติ ควบคุมตนเอง ไม่ตกอยู่ในความประมาท และทำตามกฎระเบียบ/มาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จาก A Night to Remember (1958) คือปฏิกิริยาแสดงออกเมื่อต้องเผชิญหน้าหายนะ ตระหนักว่าความตายใกล้เข้าเยือน บางคนยินยอมรับโชคชะตา บางคนเสียสละเพื่อเกียรติ/ศักดิ์ศรี บางคนพยายามต่อสู้ดิ้นรน ทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น … ไม่ใช่ทุกคนสามารถเผชิญหน้าความหวาดกลัว แล้วจะหลงเหลือความเป็นมนุษย์


ด้วยงบประมาณ £600,000 ปอนด์ (ประมาณ £13.1 ล้านปอนด์เมื่อเทียบค่าเงินปี 2019) น่าจะเป็นภาพยนตร์ทุนสร้างสูงสุดของประเทศอังกฤษขณะนั้น ไม่มีรายงานรายรับ เพียงบอกว่าทำรายได้ปานกลาง (เพราะใช้งบค่อนข้างเยอะ เลยไม่กำไรสักเท่าไหร่)

แต่หนังได้เสียงตอบรับดีมากๆจากนักวิจารณ์ สามารถคว้ารางวัล Golden Globe Award: Best English-Language Foreign Film (สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ) นอกจากนี้ยังได้รับคำชื่นชมจากนักประวัติศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวได้ใกล้เคียงเหตุการณ์จริง

และ A Night to Remember (1958) ยังถือเป็นภาพยนตร์ที่จุดประกายยุคสมัย “The Golden Age of the Disaster Film” เริ่มจาก Airport (1970), ติดตามด้วย The Poseidon Adventure (1972), Earthquake (1974), The Towering Inferno (1974) ฯลฯ

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ HD ตั้งแต่ปี 2012 โดย Criterion Collection ในแผ่น DVD/Blu-Ray ยังมีแถมสารคดีเกี่ยวกับ RMS Titanic อีกสามเรื่อง The Making of “A Night to Remember” (1993), En natt att minnas (1962) และ The Iceberg That Sank the “Titanic” (2006) สามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

เพราะความสำเร็จอย่างเว่อวังอลังการของ Titanic (1997) ทำให้ผมไม่ได้คาดหวังอะไรกับ A Night to Remember (1958) แต่ผลลัพท์ต้องบอกเลยว่าผิดคาด! แม้ด้วยข้อจำกัดยุคสมัยนั้น กลับสามารถสร้างแรงดึงดูด ยังดูมีความยิ่งใหญ่ ตื่นตระการตา แม้ไม่มีใครให้เชียร์ว่ารอดหรือไม่รอด แต่นำเสนอภาพรวมของหายนะ โศกนาฎกรรม ได้อย่างโคตรๆน่าจดจำ

เอาจริงๆการเปรียบเทียบระหว่าง A Night to Remember (1958) และ Titanic (1997) ไม่ใช่สิ่งถูกต้องสักเท่าไหร่ เพราะแม้ต่างเกี่ยวกับข้องกับการอัปปางของ RMS Titanic แต่นัยยะสาระของทั้งสองเรื่องมีความแตกต่างกันมากๆ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้จะชื่นชอบความสมจริงในลักษณะ DocuDrama หรือการ ‘romanticize’ ใส่ความโรแมนติกให้กับเหตุการณ์โศกนาฎกรรม

จัดเรต 13+ กับโศกนาฎกรรม

คำโปรย | A Night to Remember ค่ำคืนแห่งโศกนาฎกรรมที่สมควรได้รับการจดจำ
คุณภาพ | น่จำ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: