A Page of Madness (1926) : Teinosuke Kinugasa ♥♥♥♥
ในโรงพยาบาลบ้าแห่งหนึ่ง ภรรยาถูกคุมขังเพราะพยายามฆ่าทารกของตัวเอง สามีเป็นอดีตทหารเรือแอบทำงานเป็นภารโรง พยายามแอบหาทางช่วยเหลือเธอให้หนีออกมา, เอิ่ม… ใครกันแน่ที่บ้ากว่ากันเนี่ย!
หนังเงียบในยุคแรกๆของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ได้สูญหายไปหมดสิ้น ต้องขอบคุณแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ (Great Kantō) เมื่อปี 1923 และสงครามโลกครั้งที่ 2 หายนะจากระเบิดนิวเคลียร์ปี 1943, กระนั้นก็มีหนังเงียบเรื่องหนึ่ง Kurutta Ippēji ของผู้กำกับ Teinosuke Kinugasa จะว่าด้วยโชคชะตาคงใช่ ค้นพบอยู่ในห้องเก็บของเมื่อปี 1971 หลังคาดคิดว่าสูญหายไปกว่า 45 ปี
Teinosuke Kinugasa (1896 – 1982) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kameyama, Mie Prefecture เริ่มต้นจากการเป็น Onnagata นักแสดงภาพยนตร์ รับบทตัวละครเพศหญิง [ในช่วงแรกๆของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น จะไม่อนุญาติให้ผู้หญิงแสดง ผู้ชายจึงต้องรับบทเป็นผู้หญิง] แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง เมื่อผู้หญิงได้รับอนุญาตให้แสดงภาพยนตร์ได้แล้ว Kinugasa เลยผันตัวทำงานเบื้องหลัง กลายเป็นตากล้องให้กับผู้กำกับ Shozo Makino เมื่อเก็บเงินได้เอาไปซื้อกล้องภาพยนตร์ เปิดห้องแลปล้างฟีล์ม และกลายเป็นผู้กำกับหนัง Indy คนแรกๆของญี่ปุ่น
ผลงานเด่นของ Kinugasa ประกอบด้วย Kurutta Ippēji (1926) [A Page of Madness], Jujiro (1928) [Crossways], Jigokumon (1953) [Gate of Hell] เรื่องหลังสุดรางวัล Grand Prix (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
ช่วงต้นทศวรรษ 20s ในญี่ปุ่นเกิดการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาที่มีความชื่นชอบในวงการภาพยนตร์ เรียกตัวเองว่า Shinkankakuha (School of New Perceptions) ถ้าเทียบก็คงเหมือน French Surrealist ของ Luis Buñuel, Salvador Dalí หรือ Soviet Montage ของ Vsevolod Pudovkin, Alexander Dovzhenko โดยเป้าหมายของกลุ่มคือ ต้องการเอาชนะ Naturalistic หลักธรรมชาติของวงการภาพยนตร์ แต่เพราะไม่ได้มีบัญญัติคำเรียกแบบ Japan Surrealist จึงมีชื่อแค่ Avant-Garde
ซึ่งหนังเรื่องนี้ประกอบด้วยกลุ่มนักเขียนของ Shinkankakuha ถึง 4 คน ประกอบด้วยผู้กำกับ Teinosuke Kinugasa, Yasunari Kawabata** (น่าจะเป็นผู้คิด Original Story), Banko Sawada และ Minoru Inuzuka
เกร็ด**: Yasunari Kawabata คือนักเขียนญี่ปุ่นคนแรกที่คว้ารางวัล Nobel Prize for Literature เมื่อปี 1968
นำแสดงโดย Masao Inoue (1881 – 1950) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ehime Prefecture เริ่มต้นเป็นนักแสดงละครเวทีตั้งแต่อายุ 17 จากนั้นออกทัวร์ทั่วญี่ปุ่น จนได้รับโอกาสแสดงที่โตเกียว ไม่นานก็ได้เป็นเจ้าของโรงละคร ก่อตั้งโรงเรียนสอนการแสดง และได้รับเลือกเป็นประธาน Japan Art Academy, สำหรับวงการภาพยนตร์ Inoue ถือเป็นผู้สนับสนุนสื่อประเภทนี้กลุ่มแรกๆ เริ่มจากเป็นผู้กำกับ นำแสดงในหนังของ Shinkankakuha มีชื่อเสียงที่สุดก็ A Page of Madness (1926)
รับบทภารโรง/สามี/พ่อ ที่คงรักภรรยามากถึงขนาดพยายามหาทางช่วยเหลือ แอบทำงานเป็นภารโรงถือกุญแจห้องขัง พร้อมไขประตูพาหนีออกได้ทุุกเมื่อ แต่สาเหตุที่เธอปฏิเสธไม่ยอมรับการช่วยเหลือ เหมือนว่าในอดีตเคยถูกเขาทุบตีทำร้ายแสนสาหัส (Abuse) จึงไม่ต้องการหวนคืนกลับออกไปใช้ชีวิตคู่ด้วยกันอีก ราวกับจานแตกที่มิอาจรอยร้าวประสานได้
Yoshie Nakagawa (1886–1953) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ได้ร่วมงานกับ Kinugasa อีกใน Jujiro (1928) และรับเชิญเล็กๆในหนังของผู้กำกับ Kenji Mizoguchi เรื่อง The Story of the Last Chrysanthemum (1939)
รับบทภรรยา/แม่ ความผิดปกติคือมองเห็นภาพหลอน ไม่รู้เป็นความผิดปกติทางจิตหรือการมองเห็นหรือการประมวลผลของสมอง แต่มีแนวโน้มผลกระทบจากการถูกสามีทุบตีทำร้ายแสนสาหัส, สาเหตุที่นำทารกชาย (ก็ไม่รู้ลูกของตนเองหรือเปล่านะ) ไปถ่วงทิ้งน้ำ คงเพราะมองเห็นเขาเป็นตัวอะไรสักอย่าง เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกระดุมเป็นแก้ว ฯ ด้วยเหตุนี้จึงถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลบ้าโดยพลัน
Ayako Iijima รับบทลูกสาวคนสวย ที่บังเอิญวันนั้นเดินทางมาเยี่ยมแม่ของตนพอดี คงเพราะไม่ได้พบเจอพ่อมานาน เห็นมาทำงานเป็นภารโรงก็ตกใจ เหมือนว่าเธอจะแต่งงานแล้ว/หรือกำลังจะแต่งงานไม่รู้ แต่มีท่าทางผิดหวังเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสามี/คนรัก ราวกับถูกทุบตีมา (นี่คงเป็นเรื่องราวสะท้อนชีวิตคู่ของ พ่อ-แม่ ว่าสาเหตุที่ทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลบ้า จับทารกถ่วงน้ำ เพราะอะไร)
คือเราไม่รู้ว่านับจากวันที่แม่เอาทารกไปถ่วงน้ำ จนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง ผ่านมาเป็นระยะเวลาเท่าไหร่แล้ว แต่รับรู้ว่าเด็กหญิงสาวที่เห็นในฉากย้อนอดีตนั้น ปัจจุบันเติบโตขึ้นกลายเป็นสาวแล้ว ส่วนเด็กชายอีกคน ก็ไม่รู้ว่าเขาคือทารกที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้นหรือเปล่า อาจใช่หรือไม่ก็เป็นได้ทั้งนั้น
แถมให้กับนักแสดงอีกคน Eiko Minami รับบทหญิงสาวที่มีความเพ้อฝันทะเยอทะยานอยากเป็นนักเต้น แต่ความบ้าระห่ำของเธอคือต้องการซ้อม ซ้อม ซ้อม ตัดภาพสลับไปมากับเครื่องดนตรี ราวกับได้ยินเสียงเพลงดังกึกก้องตลอดเวลา ไม่มีวันเหน็ดเหนื่อยหยุดพัก ขนาดขาเลือดออกไหลเป็นทางก็ไม่ยอมหยุด, ภาพการเต้นขณะสวมหน้ากาก Noh ของเธอ เห็นแล้วหลอนเข้ากระดูกดำเลยละ นี่น่าจะเป็นภาพ Iconic ของหนังเรื่องนี้ได้เลย
(เส้นตรงสีขาวๆที่เห็นเบลอๆ นั่นคือภาพซ้อนของกรงขังนะครับ ซึ่งเฉพาะส่วนใบหน้าสวมหน้ากาก เหมือนว่าจะออกมานอกกรง สื่อนัยยะอะไรตามอ่านต่อช่วงท้าย)
ถ่ายภาพโดย Kôhei Sugiyama ใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 1 เดือน ถือว่ายาวนานมากในสมัยนั้น และด้วยทุนสร้างที่มีค่อนข้างจำกัด ต้องให้เหล่านักแสดงหลับนอนอยู่ในออฟฟิสหรือฉากที่สร้างขึ้น
อิทธิพลงานภาพของหนัง ค่อนข้างชัดว่าได้แรงบันดาลใจจาก The Cabinet of Dr. Caligari (1920) ที่ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นในโรงพยาบาลบ้าเช่นกัน แต่จะไม่ออกแนว Expression เป็นแนวทดลอง Avant-Garde หรือ Surrealist เสียมากกว่า พบเห็นบ่อยครั้งกับกรงขัง (จิตใจ) และแสงเงาสป็อตไลท์ (โฟกัส ตัวตนแท้จริง)
มีหลายเทคนิคที่ใช้ในการถ่ายภาพ เด่นๆคือการซ้อนภาพ ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาของการคิด จินตนาการ, ภาพบิดเบี้ยวด้วยเลนส์นูน เลนส์เว้าแหว่งขาดหาย นี่เป็นตอน POV (Point of View) มุมมองของตัวละครภรรยา ที่ทำให้รับรู้ว่าเธอมีปัญหาด้านการมองเห็น, Whip Pan เคลื่อนกล้องไปด้านข้างเร็วๆ เพื่อทำการเปลี่ยนฉาก ฯ
ผมสังเกตเห็นฉากที่เหมือนจะถ่ายในสวน หลายช็อตจะมีพื้นหลัง/ตัวละครเบลอๆภาพไม่ชัด สงสัยใช้การฉายภาพขึ้นฉากภายในสตูดิโอ แล้วให้นักแสดงปรากฎตัวด้านหน้า ไม่รู้นี่คือ Rear Projection หรือเปล่านะครับ แต่ด้วยคอนเซ็ปน่าจะประมาณนี้
ตัดต่อโดย -ไม่มีเครดิต- เห็นว่ามีประมาณ 800 ช็อต จาก 78 นาที (ต้นฉบับความยาว 108 นาที ฟุตเทจที่หายคงไม่มีวันหาพบแล้วละ) ถือว่าเยอะมากทีเดียวกับหนังสมัยนั้น เพราะมีการแทรกใส่ภาพเชิงสัญลักษณ์เข้ามามากมาย อาทิ ดอกไม้, จานแตก, ล้อหมุน ฯ
ใช้มุมมองของภารโรงเป็นหลัก จะมีทั้งภาพปัจจุบันที่เขามองเห็น, ความทรงจำในอดีต (Flashback), และความคิดเพ้อฝัน จินตนาการ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาพาเธอหนี (ช่วงนี้จะใช้เทคนิคซ้อนภาพทั้ง Sequence เลย)
หนังไม่มี Title Card ข้อความขึ้นคั่นสักประโยคเดียวนะครับ สืบเนื่องจากในญี่ปุ่นยุคนั้นมีนักพากย์หน้าโรงที่เรียกว่า Benshi จึงไม่แปลกที่ผู้สร้างจะไม่สนใจใส่ข้อความคั่นหนังให้เป็นที่ขัดอกขัดใจผู้ชม คาดหวังให้เป็นหน้าที่ของ Banshi ในการให้เสียงบรรยายประกอบ, นี่อาจทำให้ผู้ชมต่างประเทศอย่างเราๆดูหนังยากขึ้นนิดนึง เพราะไม่มีการบรรยายคำพูดใดๆของตัวละคร แต่ก็ไม่ถือว่ายากเกินความสามารถ ถ้าคุณเข้าใจภาษาภาพยนตร์ได้อย่างลึกซึ้ง
ในญี่ปุ่น ว่ากันว่าหนังจากประเทศรัสเซียไม่เคยถูกนำเข้ามาฉายเลยจนกระทั่งปี 1927 นั่นทำให้บรรดาผู้กำกับทั้งหลาย ไม่มีใครรู้จัก Soviet Montage มาก่อน แต่โดยไม่รู้ตัว หนังเรื่องนี้กลับมีลักษณะการตัดต่อที่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วม สลับไปมาของสองสิ่งอย่างรวดเร็วและทรงพลัง, โดยไฮไลท์อยู่ที่ประมาณ 10 นาทีแรก ขณะฝนกำลังตก เพราะผู้ชมจะไม่ได้ยินเสียงฝน แต่การตัดภาพสลับไปมาระหว่างฝน แสงไฟกระพริบ ผู้ป่วยหญิงสาวในห้องขังที่กำลังเต้น ฯ ความรวดเร็วในการตัดต่อสลับไปมา ทำให้เกิดสัมผัสรับรู้สึกได้ตลอดเวลา ว่าขณะนี้ฝนกำลังตก และมีความบ้าคลั่งอยู่เต็มไปหมด ในโรงพยาบาลบ้าแห่งนี้
อะไรกันเป็นสิ่งตัดสินความบ้าคลั่ง อาการเสียสติของมนุษย์?
– การกระทำบางอย่างที่คนปกติทั่วไปจะไม่หมกมุ่นทุ่มเทขนาดนั้น
– มุมมองการเห็นรับรู้สัมผัส (ประสาทสัมผัสทั้ง 5 + Sixth Sense) ที่แตกต่างไปจากคนปกติ
– บุคคลที่คิดกระทำไม่เหมือนคนปกติ
ฯลฯ
ตอนท้ายของหนังที่ทุกคนในโรงพยาบาลต่างได้รับสวมหน้ากาก Noh (เป็นหน้ากากการแสดงในละครพื้นบ้านของญี่ปุ่น) นี่มีนัยยะถึงการสวมหน้ากากจริงๆในชีวิตประจำวันเลยนะครับ ไม่มีใครรู้หรอกว่าจิตใจผู้อื่นดีชั่ว ปกติผิดเพี้ยนประการใด เพราะทุกคนต่างสวมหน้ากากที่ทำให้แลเหมือนคนปกติ หลบซ่อนตัวตนแท้จริงไว้ภายใต้, จนกว่าหน้ากากนั้นจะหลุดออก ธาตุแท้ตัวตนภายในปรากฎเห็น เมื่อนั้นถึงสามารถรับรู้พิจารณาได้ว่า ใครปกติ ใครเป็นบ้าเสียสติ
ในหนังสือชีวประวัติของ Kinugasa เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะการได้พบกับสุภาพบุรุษชั้นสูงคนหนึ่ง (the entourage of a certain noble gentleman) ผู้ซึ่ง -เสียงกระซิบบอกว่า- ได้กลายเป็นองค์จักรพรรดิ Taishō (ครองราชย์ 1912 – 1926) นี่แปลว่าหนังมีนัยยะเชิงการเมืองที่ … ไม่ขอวิเคราะห์ดีกว่า
ช่วงทศวรรษนั้น โรงหนังในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักฉายเฉพาะหนังที่สร้างในประเทศเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างแปลกประหลาดพิศดารของหนังเรื่องนี้ ทำให้ถูกจัดส่งไปฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์ต่างประเทศ นี่ทำให้คอหนังสมัยนั้นเกิดความพิศวงงงงวยแปลกประหลาดใจจนกลายเป็นกระแสปากต่อปาก ได้รับความนิยมประสบความสำเร็จโดยไม่รู้ตัว
แอบแปลกใจเล็กน้อยที่โดยส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ คงเพราะความบ้าคลั่ง หลอนๆบางอย่างตราตรึงประทับ ท้าทายโสตประสาทและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ถ้าสามารถเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้ ก็จะพบเห็นความสวยงามที่ลึกล้ำ แฝงแนวคิดที่งดงามดูชมทีเดียว
แนะนำกับคอหนังเงียบ ชื่นชอบแนว Horror หลอนๆสั่นประสาท ดำเนินเรื่องในโรงพยาบาลบ้าเต็มไปด้วยผู้ป่วยจิตเวช, คลั่งไคล้งานศิลปะแนว Avant-Garde (Surrealist) ท้าทายการคิดวิเคราะห์ และรู้จักผู้กำกับ Teinosuke Kinugasa ไม่ควรพลาด
สำหรับหมอพยาบาล จิตแพทย์ นักจิตวิทยาทั้งหลาย แนะนำสำหรับศึกษาประวัติศาสตร์โรงพยาบาลบ้า (Asylum/Bedlam) ของสมัยก่อน มันราวกับคุกดีๆนี่เอง ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน
จัดเรต 15+ กับความบ้าคลั่งในโรงพยาบาลบ้า
งงตรงที่นี่น่าจะเป็นหนึ่งในหนังที่ล้ำหน้าทางด้านเทคนิคที่สุดในยุคนั้น ถึงพึ่งจะถูกพบได้ไม่นานก็ควรถูกยกย่องมากกว่านี้ ผมว่าเรื่องนี้มันล้ำยิ่งกว่า an chien andalou อีกนะ เพราะเหตุใดถึงไม่ค่อยมีใครมายกย่องครับแอด
ช่วงทศวรรษนั้นญี่ปุ่นยังปิดประเทศอยู่นะครับ กว่าจะเปิดก็หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อิทธิพลของหนังในระดับนานาชาติจึงแทบไม่มี
แล้วมันมีช่วงที่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ (มั้งนะ) ไฟไหม้คลังเก็บภาพยนตร์ ทำลายฟีล์มหนังเงียบแทบหมดสิ้น เรื่องที่หลงเหลืออยู่ก็ของพวกนักสะสม ออกฉายต่างประเทศ มันกลายเป็นของหายาก จนถึงปัจจุบันก็เลยยังไม่ค่อยแพร่หลายสักเท่าไหร่