A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence

A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014) Swedish : Roy Andersson ♥♥♥♡

นกพิราบเกาะอยู่บนกิ่งไม้เฝ้ามองดูมนุษย์ เกิดข้อสงสัย ‘พวกแกทำบ้าอะไรกันอยู่’ เออนั่นสิใครที่ไหนจะไปรู้  ข้าก็ไม่รู้ เอ็งรู้เหรอ? เหมือนผู้กำกับ Roy Andersson ก็คงไม่รู้ตัวเช่นกัน, หนังรางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice

ผมละโคตรชอบโปสเตอร์หนังอันนี้เลย ชายหน้าตาเหลอหลา ยืนมองนกพิราบสตาฟ (Stuff) ด้วยความเอ๋อเหรอ นี่คือภาพจากฉากแรกของหนัง ที่ชวนให้เราเกิดความพิศวงสงสัยในการมองของชายคนนี้ พี่แกมองทำไม? กำลังจะทำอะไร? จนได้ข้อสรุปเป็นใจความของหนังว่า ‘มนุษย์เรากำลังทำอะไร?’

เรื่องสุดท้ายของไตรภาค ‘Living Trilogy’ ประกอบด้วย
– Songs from the Second Floor (2000) หนังรางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– You, the Living (2007)
– A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014) หนังรางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice

ไม่จำเป็นต้องรับชมเรียงลำดับตามปีที่สร้างนะครับ ทั้งสามเรื่องไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน แต่การดูไล่เรียงปีจะทำให้คุณมีประสบการณ์ เข้าใจเทคนิควิธีการคิดวิเคราะห์ และมองเห็นความตั้งใจ แนวคิดของผู้กำกับ Roy Andersson มากขึ้น ดูหนังเรื่องนี้จะง่ายขึ้นเยอะ

ผมรับชมหนังเรื่องนี้ด้วยความคาดหวังสูงมากๆ เพราะหลังจากได้รับชม 2 เรื่องแรกของไตรภาคเกิดความประทับใจสูงสุด เตรียมตัวพร้อมรับมือกับความท้าทายครั้งสุดท้าย แต่จะบอกว่าค่อนข้างน่าผิดหวังทีเดียว A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence เริ่มต้นมาได้น่าสนใจมากๆ แต่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนตามไม่ทัน เกิดความมึนจนสงสัยว่าผู้กำกับแกรู้ตัวหรือเปล่า ว่ากำลังทำบ้าอะไรอยู่

ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด The Hunters in the Snow (1565) ของจิตรกรเอก Pieter Bruegel the Elder (1525 – 1569) ชาว Dutch ในยุคสมัยจิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาแบบดัตช์และเฟลมิช (Dutch and Flemish Renaissance) มีชื่อเสียงในการเขียนจิตรกรรมภูมิทัศน์และภาพชีวิตประจำวันโดยเฉพาะของเกษตรกร ทำให้ได้รับสมญาว่า ‘Peasant Bruegel’, ผลงานชิ้นเอก ที่หลายคนอาจรู้จัก อาทิ ภูมิทัศน์และอิคารัสปีกหัก (Landscape with the Fall of Icarus), หอบาเบล (The Tower of Babel), งานแต่งงานของชาวนา (The Peasant Wedding) ฯ

คนล่าสัตว์ในหิมะ (The Hunters in the Snow) หรือการกลับบ้านของคนล่าสัตว์ (The Return of the Hunters) เป็นหนึ่งในผลงานของ Pieter Bruegel เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนกระดานไม้ มีทั้งหมด 6 ภาพ คงเหลือถึงปัจจุบันเพียง 5 ภาพ นำเสนอตามช่วงเวลาต่างๆของปี โดยภาพนี้เป็นขณะฤดูหนาว นักล่าสัตว์สามคนกำลังเดินเท้ากลับบ้านพร้อมกับสุนัขฝูงหนึ่ง ท่าทางอิดโรยอ่อนล้า ไม่มีอะไรติดตัวกลับมา ดูแล้วคงจะไม่ประสบความสำเร็จในการล่าหาอาหาร, ปัจจุบันภาพนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

เกร็ด: ภาพนี้มักเป็นหนึ่งในโปสการ์ดขายดีที่สุด ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

ผู้กำกับ Roy Andersson มองภาพนี้เห็นนกเกาะอยู่บนกิ่งไม้ จินตนาการตัวเอง(เป็นนก)เฝ้าดูมนุษย์เหล่านี้ที่ดิ้นรน สับสนวุ่นวาย ลำบากยากเข็น ทุกข์ทรมาน เกิดความใคร่สงสัย ‘พวกแกทำบ้าอะไรกันอยู่’ ฉันมีชีวิตไม่เห็นจะเดือดร้อนวุ่นวายอะไรเลย

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจ มาจากหนังอิตาเลี่ยนเรื่อง Bicycle Thieves (1948) ของผู้กำกับ Vittorio De Sica ที่คงเป็นการกระทำของพ่อหลังจากรถจักรยานหาย เขาออกตามหาพร้อมกับลูกชาย จนแล้วจนรอดจนในที่สุดก็คิดทำอะไรบางอย่าง ที่พอหลังเหตุการณ์นั้นเมื่อย้อนกลับไปคิดทบทวนดู ‘นี่ฉันทำบ้าอะไรลงไปเนี่ย’

ช่วงต้นเรื่องหนังนำเสนอความตาย 3 ฉาก
1. ตายแบบไร้ค่า: ชายคนหนึ่งในบ้านของตนเอง (บ้าน=ตนเอง) เสียชีวิตขณะพยายามเปิดจุกไม้ก๊อก แต่แรงไม่พอดึงไม่ออกค้างคาอยู่แบบนั้น, ผมเปรียบการเปิดจุกก็อกไวน์ไม่สำเร็จ ดั่งชีวิตที่เกิดมาไร้ค่า เขาคงไม่เคยทำอะไรประสบความสำเร็จมาก่อน ขนาดแค่เปิดขวดไวน์ยังทำไม่ได้
2. ตายแบบเพ้อ: หญิงชรานอนรอวันตายในโรงพยาบาล (โรงพยาบาล=สถานที่เกิด/ตาย) มือกำกระเป๋าที่เต็มไปด้วยของมีค่าไว้แน่น ยื้อรั้งไม่ยินยอมให้ใครพรากของรักของหวงของตนไป คิดว่าสามารถเอาของมีค่าที่ตนสร้างสะสมเก็บไว้ เอาติดตัวตามไปด้วย
3. ตายแบบมีค่า: ชายคนหนึ่งที่สนามบิน (สนามบิน=สถานที่แห่งการเดินทาง สู่สวรรค์) จ่ายเงินซื้ออาหารกับเบียร์แล้วล้มลงเสียชีวิต สิ่งที่เขาซื้อไว้เปรียบได้กับการทิ้งบางอย่างไว้เบื้องหลัง ซึ่งอาจมีประโยชน์กับคนที่มีชีวิตอยู่ เช่น เบียร์ มีคนรับน้ำใจเดินไปหยิบดื่ม

ความตายคือจุดสิ้นสุดของชีวิต จะเรียกว่า’เป้าหมาย’ปลายทางก็ยังได้ หลังจากได้ค้นหา (ใน Songs from the Second Floor) มีชีวิต (ใน You, the Living) คราวนี้ก็ถึงจุดจบ แต่การจะนำเสนอคนกำลังจะตายมันมีอะไรน่าสนใจ? ผู้กำกับเลยเล่าเรื่องในมุมมองของบุคคลที่ 3 จากสิ่งมีชีวิตอื่น (เช่น นกพิราบ) มองลงมาเห็นชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดถึงตาย พวกแกทำอะไรเพื่อมุ่งสู่ความเป้าหมายปลายทาง/ความตายบ้าง ก็พบว่า… เออนั่นสิ ‘พวกแกทำบ้าอะไรกันอยู่’

โดยปกติแล้ว ‘โลกของ Andersson’ จะไม่มีพล็อตหลัก นำเสนอเป็น trivia เรื่องราวเล็กๆต่างๆนานาไม่มีความต่อเนื่อง เรียงร้อยคล้ายลูกปัดสร้อยคอสร้อยข้อมือ แต่จะมีเส้นเชือก/จุดมุ่งหมายใจความสำคัญดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน, กับหนังเรื่องนี้ก็ยังสามารถมองแบบนั้นได้ แต่จะมีสิ่งเรียกว่า Recurring บางเรื่องราวบางตัวละคร กลับมาปรากฎย้อนซ้ำให้เราเห็นอีก (เรื่องราวสิ่งต่างๆที่วนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำอีก มีนัยยะถึงวงจรวัฏจักรของชีวิต เหมือนบทเพลงที่เปิดซ้ำฟังได้เรื่อยๆ แต่มันต้องมีสักวันสิที่เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นบ้างสิ!)

แนะนำให้สังเกตเรื่องราวที่เกิดขึ้นพื้นหลังด้วยนะครับ บางครั้งน่าสนใจกว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเสียอีก โดยเฉพาะเรื่อง ครูสาวสอนเต้นกับชายหนุ่ม เราจะเห็นฉากทั้งสองเต้นลีลาศ ออกลีลายั่วเต็มที่แต่ชายหนุ่มไม่สนใจ ฉากต่อๆมาหน้าร้านอาหาร (ที่ชายคนหนึ่งโทรศัพท์ไปถามเรื่องจำวันผิด) ทั้งสองกำลังนั่งกินอาหารอยู่ในร้านและน่าจะบอกเลิก ฉากต่อมาจะเห็นครูสาวร้องไห้โฮ … ใครไม่ทันสังเกต พอถึงฉากนี้ได้งงเป็นไก่ตาแตกแน่

ตัวละคร Sam (รับบทโดย Nils Westblom) กับ Jonathan (รับบทโดย Holger Andersson) พวกเขามีอาชีพพนักงานขายของแปลก (Novelty Salesmen) ที่ต้อง’เดินทาง’ถือกระเป๋า ติดต่อลูกค้า ขายสินค้า ทวงเงิน และถูกตามทวงหนี้, แทบจะทุกฉาก จะแนะนำตัวด้วยของเล่น 3 อย่าง ประกอบด้วย
1. ฟันแวมไพร์ (Vampire Teeth)
2. กล่องหัวเราะ (Laughing Bag)
3. หน้ากากสัตว์ประหลาด (One Tooth Uncle)

ของเล่น 3 อย่างนี้วิเคราะห์ได้หลากหลายมาก ที่ผมรู้สึกใกล้เคียงสุด คือสัญลักษณ์ของ ‘สิ่งที่จะทำให้มนุษย์เอาตัวรอดในปัจจุบัน’ (ซึ่งหนังทำการประชดล้อเลียน ด้วยการทำให้พวกเขาเอาตัวไม่รอด ทั้งๆที่มีของครบทั้งสามอย่าง)
1. ฟันแวมไพร์มีไว้ดูดสูบเลือดเนื้อ กอบโกยกินจากผู้อื่น, กล่าวคือคุณต้องเป็นคนเห็นแก่ได้ สนแต่ผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น
2. จะหัวเราะยังต้องใช้เครื่องมือช่วยอีกเหรอ? กล่องหัวเราะเป็นตัวแทนของความ’สำเร็จรูป’ และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ลดงานทดแทนตัวเอง, กล่าวคือ คุณต้องเป็นคนตามโลกให้ทันเทรนด์ ใช้ของแฟชั่นที่ใครๆต่างใช้กัน เพื่อจะสามารถเข้ากับผู้อื่นได้
3. สวมใส่หน้ากากเพื่อปกปิดตัวตนแท้จริงของตนเอง, นี่ก็ตรงๆเลย โลกยุคนี้ผู้คนต่างสวมใส่หน้ากากเข้าหากัน อย่าให้คนอื่นเห็นความอัปลักษณ์’สัตว์ประหลาด’ ที่แอบซ่อนอยู่ข้างในจิตใจ

ครั้งหนึ่งในบาร์ ขณะที่ Sam และ Jonathan กำลังแนะนำของเล่นทั้งสาม อยู่ดีๆนายทหารม้าบุกเข้ามา ขับไล่ผู้หญิงออกจากร้าน ลงโทษชายผู้ไม่สนอะไร จากนั้นสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลที่ 12 แห่งสวีเดน (ใครว่ะ!) เข้ามาขอดื่มน้ำแร่ ชักชวนชายหนุ่มหน้าหล่อไปที่เต้นท์ (เกย์แน่ๆ) จากนั้นไปสงครามสู้กับรัสเซีย กลับมาพ่ายแพ้ย่อยยับขอเข้าห้องน้ำ (ไปขี้=Shit) ฉากถัดมาตัดไปที่ชายหญิงนอนอยู่ตรงชายหาด กำลังเล้าโลมลูบไล้ (Fuck) เจ้าหมามองอย่างเอือมละอา ถ้าพูดได้คงบอกว่า ‘พวกแกทำบ้าอะไรกันอยู่!’

ให้ตายเถอะ ไม่คิดว่าผู้กำกับ Andersson กล้าทำอะไรได้บ้าคลั่งขนาดนี้ การที่อยู่ดีๆขัดจังหวะด้วยการแทรกเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์เข้ามาในหนัง เป็นความเว่อของ Surrealist ที่โดดเด่นมาก คงต้องการสะท้อนเปรียบเทียบการกระทำของ Sam กับ Jonathan ว่าไม่ต่างจากการรบของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ล ต่อให้ฝีมือเก่งกาจเกรียงไกรขนาดไหนก็อาจไร้ค่า สามารถพ่ายแพ้ย่อยยับหมดรูปไม่เป็นท่า, การไปทำสงครามนี้ ยังสะท้อนเรื่องราวของภาพวาด ‘คนล่าสัตว์ในหิมะ’ ด้วยนะครับ กลับมาพ่ายแพ้หมดรูป

เกร็ด: สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลที่ 12 แห่งสวีเดน (Konung Karl XII) [1682 – 1718] ประมุขแห่งราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา มีพระปรีชาสามารถในเรื่องการทหารและการเมือง นำทัพสวีเดนเข้ารบโจมตีเอาชนะกองทัพของรัสเซีย นำโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) ในยุทธการนาร์วา (Battle of Narva) เมื่อปี 1700 แต่อีก 9 ปีถัดมา ทรงพ่ายแพ้ย่อยยับให้กับรัสเซียในยุทธการโปลตาวา (Battle of Poltava) [นี่น่าจะคือเหตุการณ์ที่อยู่ในหนัง], บุคลิกของพระองค์ค่อนข้างซับซ้อน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเป็นผู้ที่ไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรค์ใดๆ นิยมวิถีเรียบง่ายไม่ฟู่ฟ่า ไม่หลงสุราเมรัยและอิสตรี และทรงโปรดปรานวิถีการใช้ชีวิตบนหลังม้า

หนังมีบทเพลงที่ก็ถือว่าเป็น Recurring ได้ยินซ้ำอยู่หลายรอบ และในฉากหนึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์เลยคือ Halta Lottas Krog (ชื่อเพลงภาษาอังกฤษ Ten cents for a shot of liquor) เป็นบทเพลงร้องตาม Tavern ได้รับความนิยมอย่างสูงในเมือง Gothenburg, เห็นว่าผู้กำกับ Andersson ได้แรงบันดาลใจฉากนี้จากชีวิตจริงของเขาตอนเด็ก ณ บาร์แห่งหนึ่ง เคยร่วมร้องเพลงนี้ จูบสาวเสิร์ฟเพื่อแลกกับเหล้าฟรี 1 เป๊ก

นี่เป็นฉากหวนระลึกย้อนอดีตของหนัง ที่มีนัยยะเหมือนเป็นการบอกว่า ชีวิตมนุษย์ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้ไร้ค่าเสมอไป แม้มันอาจเป็นการกระทำที่ดูไร้สาระ ไร้ค่า แต่กับบางคน บางสถานที่ บางสถานการณ์ มันอาจเป็นสิ่งประทับใจไม่รู้ลืม

การมีบทเพลง Recurring ทำให้ส่วน Comedy ของหนังมีชีวิตชีวาขึ้นมากทีเดียว ด้วยทำนองที่คุ้นเคย พอดังขึ้นปุ๊ปทำให้ผมอมยิ้มก่อนเลย ได้ยินแล้วก็จะรีบครุ่นคิดตาม ค้นหาว่ามันตลกยังไง ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าคิดได้ก็จะฮาจริงครับ เป็นการเสียดสีแบบเจ็บๆแสบๆ แต่ไม่ค่อยมีแบบจุกอกแน่นแบบเรื่องก่อนเท่าไหร่

อีกฉากไฮไลท์ช่วงท้าย กลุ่มคนถูกบังคับให้เข้าไปใน … อะไรก็ไม่รู้ … เป็นทรงกระบอกขนาดใหญ่ทำด้วยทองแดง แล้วมีการหมุนเผาไฟให้ตายทั้งเป็น คล้ายกับกิจกรรมที่ชาว Nazi นิยมทำกับเชลยสงคราม, ฉากนี้ถ้าคุณไม่ใช่ชาวสวีเดน ให้ตายก็ไม่มีวันรู้ ต้องการเสียดสีถึงบริษัทถลุงเหล็กทำเหมืองแร่สัญชาติสวีเดนชื่อ Boliden ที่ไปลงทุนในประเทศชิลีเมื่อทศวรรษ 1980s ปรากฎว่ามีผู้ใช้แรงงานและเด็กๆหลายร้อยคน ป่วยหนักจากสารพิษตกค้างที่ไม่ได้รับการควบคุมจัดการดูแลอย่างดี … นัยยะของฉากนี้ก็คือใจความหนัง ‘พวกแกทำบ้าอะไรกัน!’ แต่ถึงพูดไปก็เท่านั้น ฉากต่อมาผู้คนก็ได้แค่มองดูแต่ไม่สามารถทำอะไรได้

ฉากสุดท้ายของหนัง ที่ป้ายรถเมล์ (=การเดินทาง) ด้านหลังเป็นร้านจักรยาน เจ้าของกำลังเปิดร้านแล้วรำพันว่า ‘วันนี้วันพุธสินะ’ แล้วผู้รอรถเมล์ทั้งหลายก็สนทนากัน ‘วันนี้ไม่ใช่พฤหัสเหรอ?’ เมื่อเคลียร์ความเข้าใจกันแล้ว ชายอีกคนหนึ่งเดินเข้ามาสูบลมล้อจักรยาน ‘วันพุธผ่านไปแล้วสินะ’, นัยยะฉากนี้ก็คือ ชีวิตที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ยังต้องดำเนินต่อไป… [นี่น่าจะเป็นฉากเดียวของหนังกระมัง ที่ผมไม่รู้สึกว่ามีใจความ ‘พวกแกทำบ้าอะไรกันอยู่’]

กับหนังเรื่องนี้จะเห็นว่าผมเขียนประโยค ‘พวกแกทำบ้าอะไรกันอยู่’ ซ้ำไม่รู้กี่ครั้งนะครับ ก็เพราะนี่คือหัวใจของหนัง และใจความสะท้อนอยู่ในทุกๆเรื่องราว ถ้าสามารถครุ่นคิดตามได้หมดก็อาจรู้สึก’เจ๋งว่ะ’ แต่ผมกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นเลยนะครับ, ทั้งหมดที่ผมเขียนในบทความนี้เกิดจากการครุ่นคิดหัวแทบแตก ไม่ได้บางทีเกิดโดยสันชาติญาณแบบสองเรื่องก่อนหน้า ทำให้ผมเลยไม่สามารถบอกได้ว่า หนังยอดเยี่ยมจริงหรือเปล่า มันอาจลึกล้ำเกินกาลเวลาหรือซับซ้อนเกินไป ปัจจุบันตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ถ้าอีกสัก 20-30 ปีกลับมาดู ผู้ชมรุ่นใหม่ถ้าสามารถร้องอ๋อเข้าใจได้ทันที นั่นแปลว่าหนังมีความยอดเยี่ยมล้ำกาลเวลา แต่ถ้าไม่ยังรู้สึกสับสนไม่เข้าใจ นี่แปลว่าหนังมีความยากเกินกว่าที่จะกลายเป็นสากลได้

ผมคิดว่าผู้กำกับ Andersson รู้ตัวกับหนังเรื่องนี้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ คือสามารถเล่าวน ขยี้ปม จับโน่นใส่นี่ ให้เข้ากับประเด็น ‘พวกแกทำบ้าอะไรกันอยู่’ ได้อย่างลึกล้ำมากๆ แต่ในชีวิตจริงเขาจะเข้าใจตัวเองไหม ว่ากำลังทำบ้าอะไรอยู่ … นี่ผมค่อนข้างเชื่อว่า Andersson ต้องไม่รู้แน่ๆ เพราะถ้าเขารู้ตัวก็คงไม่ทิ้งเป็นประเด็นเปิดแบบหนังเรื่องนี้แน่ (ปลายเปิดคือ ทำบ้าอะไรไม่ให้ถูกมองว่าเป็นบ้า) คือแทนตัวเองด้วยนกพิราบ แต่ไม่ได้มองย้อนกลับ ‘เจ้านกพิราบ แกทำบ้าอะไรกันอยู่?’

สรุปแล้วไตรภาคใน ‘โลกของ Andersson’ คืออะไร?
– Songs from the Second Floor (2000) ตั้งคำถามถึงเป้าหมายชีวิตมนุษย์
– You, the Living (2007) เรามีชีวิตด้วยการทำอะไร พึงพอใจแค่ไหน
– A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014) มองย้อนกลับไป นี่พวกเรากำลังทำอะไรอยู่  [ราวกับมุมมองบุคคลที่ 3]

หนังสามเรื่องถือว่ามีความต่อเนื่องกันอย่างชัดเจน เรื่องแรก:เริ่มต้นจากการค้นหาเป้าหมาย –> เรื่องสอง: ระหว่างการเดินทาง –> เรื่องสาม: ถึงเป้าหมายมองย้อนกลับไป, ผู้กำกับรวมเรียกทั้งสามเรื่องราวนี้ว่า ‘Living Trilogy’ มุมมองของชีวิตในความคิด/เห็นของเขาเอง นำจากประสบการณ์ตรง และ/หรือ ครุ่นคิดได้ ถ่ายทอด ตีแผ่ สะท้อน เสียดสี ออกมาได้อย่างเจ็บแสบ จุกอก, ผมขอให้คำนิยามไตรภาคนี้ว่า ‘ประมวลวิถีของมนุษย์ในช่วงต้นสหัสวรรษ 2000’

ส่วนตัวก็ชอบหนังเรื่องนี้นะครับ หลงใหลในโปรดักชั่นยิ่งกว่า 2 เรื่องก่อนอีก แต่แนวคิด เนื้อเรื่อง ใจความสำคัญ รู้สึกว่าลึกล้ำซับซ้อนเกินไปเสียนิด หนังที่คิดมากเกินไปบางทีก็ไม่สนุกนะครับ แต่ไม่แน่กลับมาดูในอนาคตอาจจะหลงรักเลยก็ได้

ลำดับความชอบส่วนตัว Songs from the Second Floor (2000) > You, the Living (2007) > A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014)

แนะนำกับคอหนัง Art-House ศิลปิน Surrealist ชื่นชอบการคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจ, นักสังคมนิยม นักปรัชญาค้นหาเป้าหมายชีวิต, นักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ ศึกษาไว้ได้ประโยชน์แน่

จัดเรต 13+ กับความ absurd บ้าบอคอแตกของหนัง เด็กเล็กที่ยังคิดวิเคราะห์ไม่เป็นดูไม่เข้าใจแน่

TAGLINE | “A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence ไม่รู้ผู้กำกับ Roy Andersson ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำบ้าอะไรอยู่ หรือหนังมีความลึกล้ำเกินกว่าที่ใครยุคสมัยนี้จะสามารถทำความเข้าใจได้”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: