A Place in the Sun (1951)
: George Stevens ♥♥♥♥
Montgomery Clift ต้องการไต่เต้าจากความมืดมิดสู่แสงสว่าง ค้นพบวิธีการเดียวเท่านั้นคือทอดทิ้งทำลายอดีต Shelly Winters แล้วครองรักแต่งงานกับ Elizabeth Taylor นั่นเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมควรแล้วหรือ?, คว้า Oscar 6 สาขา แต่พลาดภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้ An American in Paris อย่างน่าหงุดหงิดใจ! “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“The greatest movie ever made about America”.
– Charlie Chaplin
คำยกย่องของ Charlie Chaplin อาจฟังดูเว่อเกินตัวไปสักนิด แต่ถ้าสังเกตให้ดี คำว่า ‘about America’ อันนี้ผมเกือบๆเห็นด้วยเลยนะ
A Place in the Sun นำเสนอเรื่องราวของบุคคลที่พยายามทำทุกวิธีทาง ยกระดับตนเองจากความเป็นชนชั้นล่าง ฐานะยากจน ไร้ชื่อเสียงเรียงนาม ตะเกียกตะกายไต่เต้ามุ่งสู่หนทางความสำเร็จ โด่งดัง ร่ำรวยเงินทอง และกลายเป็นชนชั้นสูงในสังคม … นี่คืออุดมคติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่ใครๆเรียกกันว่า ‘American Dream’
วิธีการนำเสนอของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือใช้หญิงสาวสองคนเป็นตัวแทนชนชั้นฐานะ
– Shelly Winters รับบทหญิงสาวโรงงานจนๆ หน้าตาบ้านๆ หาอะไรดีแทบไม่ได้นอกจากความจริงใจ
– Elizabeth Taylor รับบทหญิงสาวไฮโซ ชนชั้นสูง ครอบครัวฐานะร่ำรวย วันๆเที่ยวเล่นสนุกสนานไม่เห็นทำการงานอะไร
หน้าหนังคือเรื่องราวความรักที่ต้องเลือกของ Montgomery Clift แปรสภาพเป็นโศกนาฎกรรม แต่เราสามารถเปรียบเทียบกับอุดมคติอเมริกันชน สิ่งที่ฉันโหยหาแสดงออกมามันผิดตรงไหน? นี่ไม่ถึงขั้น Anti-American แต่ชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามเกี่ยวกับความเพ้อฝัน การกระทำ มนุษยธรรม และศาสนาที่ถูกทอดทิ้งขว้างไว้เบื้องหลัง
เอาจริงๆผมว่าหนังเรื่องนี้ยังคงทรงพลังเหนือกาลเวลา โดดเด่นล้ำกับพลังของสามนักแสดง ถ่ายภาพติสต์ๆ ตัดต่อแนวๆ เพลงประกอบไพเราะ น่าจะคือ Masterpiece ของผู้กำกับ George Steves แต่นักวิจารณ์สมัยนี้โดยเฉพาะจากฝั่งอเมริกา คาดว่าคงค้นพบเนื้อในใจความดังกล่าว เลยถีบส่งไสหัวสับปะรด ไม่ค่อยพึงพอใจกันสักเท่าไหร่
ต้นฉบับของ A Place in the Sun คือนวนิยายขายดี An American Tragedy (1925) แต่งโดย Theodore Dreiser (1871 – 1945) นักข่าว/นักเขียน สัญชาติอเมริกัน, นิตยสาร Time ยกให้ติดอันดับ 100 Best Novels ตั้งแต่ปี 1923 – 2005
Dreiser ได้แรงบันดาลใจจากคดีอาญชากรรมเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1906 เจ้าของรีสอร์ทแห่งหนึ่ง พบเจอร่างของหญิงสาว Grace Brown จมน้ำเสียชีวิตที่ Big Moose Lake, Upstate New York สืบสวนสอบสวนผู้ต้องหาแฟนหนุ่ม Chester Gillette อ้างว่าเกิดอุบัติเหตุฆ่าตัวตาย แต่เขาได้รับคำตัดสินโทษประหารชีวิต เก้าอี้ไฟฟ้า วันที่ 30 มีนาคม 1908
ทั้งๆเรื่องราวดูไม่มีอะไรมาก แต่นวนิยายเล่มนี้ความยาวเกินกว่า 800 หน้า เห็นว่าผู้เขียนพยายามบอกเล่ารายละเอียด บรรยายความรู้สึกตัวละคร เต็มไปด้วยสัญลักษณ์สะท้อน ‘ภาพลวงตา’ ของชีวิต และที่สุดคือให้คำนิยามแฟนสาวไฮโซว่ามีความ ‘Electrifying’ พยากรณ์ตอนจบที่ถูกประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า
ถัดจากนวนิยาย กลายมาเป็นละครเวที Broadway ดัดแปลงโดย Patrick Kearney เปิดการแสดงยัง Longacre Theatre วันที่ 11 ตุลาคม 1926 ประสบความสำเร็จพอสมควร และได้รับการ Revival ปี 1931 ณ Waldorf Theatre
ต่อมาสตูดิโอ Paramount Picture ขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงมูลค่าสูงถึง $150,000 เหรียญ ว่ากันว่าตอนแรกติดต่อ Sergei Eisenstein ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติรัสเซีย ซึ่งก็ให้ความสนใจอย่างมาก แต่ภายหลังถอนตัวออกไปเพราะความเห็นไม่ลงรอย ด้วยเหตุนี้เลยส่งต่อให้ Josef von Sternbberg ออกฉายปี 1931 ประสบความล้มเหลวทั้งรายรับและเสียงวิจารณ์ ขนาดว่า Dreiser หลังจากรับชมยื่นฟ้องศาลเพื่อขอห้ามนำออกฉาย สุดท้ายพ่ายแพ้ย่อยยับอับอายขายขี้หน้า
แซว: ผมว่าไม่แปลกเลยนะที่หนังจะขาดทุนย่อยยับ แค่ชื่อ An American Tragedy ชาวอเมริกันที่ไหนจะให้ความสนใจ
หลายปีถัดไป George Stevens ให้ความสนใจสร้างใหม่ Remake ภาพยนตร์เรื่องนี้ ทีแรกสตูดิโอ Paramount จะไม่เอาด้วย แต่ถูกข่มขู่และฟ้องร้องขึ้นศาล ข้อหากีดกัน/ละเมิดข้อตกลงในสัญญา (ที่ว่าจะสร้างภาพยนตร์เรื่องอะไรก็ได้ให้กับสตูดิโอ) ด้วยเหตุนี้เลยต้องจำยอมคลอยตาม กระนั้นก็ขอให้หาชื่อใหม่แทน An American Tragedy กลายมาเป็น A Place in the Sun ครุ่นคิดโดย Ivan Moffat เพื่อนร่วมงานของ Stevens
George Cooper Stevens (1904 – 1975) ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักเขียนบท และตากล้องสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Oakland, California พ่อ-แม่เป็นนักแสดงละครเวที ทำให้เรียนรู้จักการแสดงตั้งแต่เด็ก เติบโตขึ้นตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นตากล้องถ่ายทำหนังสั้นหลายเรื่อง กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Kentucky Kernels (1934), มีชื่อเสียงจาก Alice Adams (1935) นำแสดงโดย Katharine Hepburn, ตามด้วย Swing Time (1936) ของ Fred Astaire กับ Ginger Rogers, ผลงานเด่นๆ อาทิ Gunga Din (1939), A Place in the Sun (1951), Shane (1953), Giant (1956), The Diary of Anne Frank (1959) ฯ
มอบหมายดัดแปลงบทให้ Harry Brown และ Michael Wilson รายหลังขณะนั้นกำลังถูกเพ่งเล็งไต่สวน แต่เหมือนจะโดน Blacklist เพราะยุ่งเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ ภายหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย (เลยยังได้รับเครดิต และสามารถขึ้นรับรางวัล Oscar)
เรื่องราวของ George Eastman (รับบทโดย Montgomery Clift) หลานชายของนักธุรกิจมหาเศรษฐี Charles Eastman (รับบทโดย Herbert Heyes) โบกรถเดินทางมาถึงเมือง California ตามคำชักชวนของลุง เริ่มต้นทำงานเป็นเด็กจัดเรียงของปลายสายพาน ตกหลุมรัก Alice Tripp (รับบทโดย Shelley Winters) แต่ต้องปกปิดบังความสัมพันธ์ไว้ เพราะไม่อยากถูกไล่ออกจากบริษัท
วันหนึ่ง George ได้รับอภิสิทธิ์เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแผนก ถูกเชิญมาร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ของลุง พบเจอตกหลุมรัก Angela Vickers (Elizabeth Taylor) หญิงสาวที่เขาเฝ้าใฝ่ฝันถึงมานมนาน ขณะเดียวกัน Alice กลับตั้งครรภ์ ทำให้เขาต้องครุ่นคิดตัดสินใจ จะหาทางออกยังไงให้กับชีวิตสองโลก
Edward Montgomery Clift (1920 – 1966) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Omaha, Nebraska, ด้วยความไม่ชื่นชอบโรงเรียน ตัดสินใจเลือกการแสดง เข้าสู่วงการ Broadway ตั้งแต่อายุ 15 ปี สิบปีต่อมาแม้ไม่ได้มีความสนใจมุ่งสู่ Hollywood แต่ก็ไม่ให้เสียโอกาสเข้าเรียน Actors Studio แจ้งเกิดกับ Red River (1948), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Heiress (1949), A Place in the Sun (1951), I Confess (1952), From Here to Eternity (1953), The Young Lions (1958), Judgment at Nuremberg (1961) ฯ
รับบท George Eastman แม้ด้อยการศึกษาแต่ไม่สิ้นความทะเยอทะยาน เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง จักได้พบเจอแต่งงานกับหญิงสาวที่ตนเพ้อใฝ่ฝัน, สาเหตุทำให้ George กลายเป็นคนแบบนี้ เพราะครอบครัวโดยเฉพาะแม่ของเขา มีความหมกมุ่นอยู่ยึดถือมั่นต่อศาสนา เสี้ยมสั่งสอนครอบงำความคิด พอเติบโตขึ้นเริ่มรู้สึกว่านั่นไม่ใช่โลกเหมาะสมกับตนเองเลยหลบหนีออกมา
เริ่มต้นน่าจะเพราะความเหงา สันชาตญาณ เลยทำให้ George ปล่อยตัวตกหลุมร่วมรักกับ Alice Tripp ไม่ได้ครุ่นคิดตระหนักว่าชีวิตจะเติบโตก้าวหน้าไปกว่านี้ นั่นทำให้เมื่อเขาพบเจอสาวงามในฝัน Angela Vickers มิอาจหักห้ามใจตนเองให้กลายเป็นคนสองโลก โป้ปดหลอกลวงพยายามปัดความรับผิดชอบ จนแล้วจนรอดจนปัญญาเลยหันเข้าหาอาชญากรรม เสี้ยววินาทีหนึ่งเหมือนจะรู้สำนึกขึ้นมาได้ แต่การปล่อยให้จมน้ำตาย มนุษย์ทั้งโลกย่อมเล็งเห็นว่านั่นคือการฆาตกรรม
Clift เป็นนักแสดงที่ตึงเครียด จริงจังกับชีวิตมากๆ สีหน้า ดวงตา ท่วงท่าเดิน ผู้ชมสามารถสัมผัสได้เลยว่ามีความหวาดหวั่นสั่นกลัวเกรง ตื่นเต้นตื่นตระหนก ราวกับล่วงรู้สถานะ ชนชั้น สถานที่ของตนเอง ถึงกระนั้นก็ยังมีความเพ้อใฝ่ฝัน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของไม่ว่าต้องแลกมาด้วยอะไร แต่เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจเด็ดขาด หน้านิ่วคิ้วขมวด ขบกัดฟัน เหงื่อไหลพรักๆ -ราวกับพี่แกสามารถควบคุมอณูขุมขนในร่างกายให้แสดงออกมาได้- ก็ไม่อาจล่วงเกินความมีมนุษยธรรมถูกปลูกฝังจากแม่มาตั้งแต่เด็ก
แซว: ว่ากันว่า Monty กับ Liz ตกหลุมรักคลั่งในกองถ่าย วางแผนจะแต่งงาน แต่เมื่อเธอขอให้เขาเกลี้ยกล่มสามีให้หย่า ทันใดนั้นบอกปัดเลิกรา นั่นไม่ใช่เรื่องของฉัน!
แซว2: โบกรถท่า American Standard เลียนแบบจาก It Happened One Night (1934)
Shelley Winters ชื่อเกิด Shirley Schrift (1920 – 2006) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ St. Louis, Missouri ครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจาก Austria เติบโตได้งานถ่ายแบบ ย้ายสู่ New York ร่ำเรียนการแสดงที่ The New School ไต่เต้าจากตัวประกอบภาพยนตร์ จนเริ่มมีชื่อเสียงจาก A Double Life (1947), The Great Gatsby (1949), Winchester 73 (1950), เข้าชิง Oscar ครั้งแรกเรื่อง A Place in the Sun (1951) แม้บทบาทนี้จะทำให้กลายเป็น Typecast แต่ก็โด่งดังจนกลายเป็นอมตะ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Night of the Hunter (1955), Lolita (1962), Alfie (1966), The Poseidon Adventure (1972), Pete’s Dragon (1977), และคว้า Oscar: Best Supporting Actress สองครั้งจาก The Diary of Anne Frank (1959) และ A Patch of Blue (1965)
รับบท Alice Tripp (ชื่อก็บอกว่า Trip ท่องเที่ยว/ทางผ่าน) หญิงสาวอวบๆ หน้าตาบ้านๆ ทำงานโรงงาน ไร้ซึ่งอนาคตเป้าหมายชีวิต นอกจากต่อสู้ดิ้นรนไปวันๆ กระทั่งเคลิบเคลิ้มตกหลุมรัก George Eastman เผลอพลาดพลั้งตั้งครรภ์ ทีแรกต้องการไปทำแท้งแต่ไม่สามารถหาหมอได้ เลยบีบคั้นให้เขาจดทะเบียนสมรสแต่งงานถูกต้องตามกฎหมาย นั่นเองก่อให้เกิดความตึงเครียดวุ่นวาย เพราะชายผู้นี้มองเธอก็แค่ทางผ่านเท่านั้นเอง
ก่อนหน้านี้ Winters เป็น Sex Symbol ประเภท ‘Blonde Bombshell’ เพราะต้องการแหวกตัวเองให้ออกจากภาพลักษณ์นั้น ทำการย้อมผมน้ำตาล แล้วแสร้งทำเป็นสาวโรงงาน แต่งตัวธรรมดาซอมซ่อ เฝ้ารอคอยผู้กำกับ Stevens เดินผ่านมา แวบแรกจดจำไม่ได้ พอสังเกตดีๆถึงกับตะลึงตกใจ
‘ฉันทำผิดอะไร?’ คือคำนิยามที่ผมมอบให้กับตัวละครนี้ โชคชะตากรรมของเธอเกิดขึ้นเพราะความอ่อนแอ เยาว์วัยต่อโลก ไร้เรี่ยวแรวขัดขืนปฏิเสธต่อต้าน จำยินยอมคล้อยตามน้ำตกหลุมรักใคร่ แต่ไม่นานเมื่อสันดานธาตุแท้ของเขาเริ่มเปิดเผย พยายามบอกปัดความรักผิดชอบ หญิงสาวกลายสภาพเป็นยัยเซิ้งผู้พยายามโวยวาย ตะเกียกตะกาย เรียกร้องสิทธิผลประโยชน์
แซว: ภาพถ่ายชุดว่ายน้ำด้านหลัง นั่นใช่ Shelley Winters (ตอนผมบลอน) หรือเปล่านะ?
Dame Elizabeth Rosemond Taylor (1932 – 2011) นักแสดงหญิง สัญชาติ British-American เกิดที่ London ในครอบครัวฐานะร่ำรวย พ่อเป็นนักขายงานศิลปะ แม่คืออดีตนักแสดงละครเวที ผลักดันให้ลูกไปคัดเลือกนักแสดงตั้งแต่เด็ก อายุ 9 ขวบ เซ็นสัญญากับ Universal Pictures ภาพยนตร์เรื่องแรก There’s One Born Every Minute (1942) แต่ขณะนั้นยังหาความโดดเด่นอะไรไม่ได้ กระทั่งค่อยๆเริ่มมีชื่อเสียงจาก National Velvet (1944), Little Women (1949), รับบทผู้ใหญ่ Conspirator (1949), Father of the Bride (1950), A Place in the Sun (1951) ฯ
รับบท Angela Vickers สาวไฮโซผู้ไร้เดียงสา อ่อนเยาว์วัยต่อโลก พบเห็นความแปลกแตกต่างของ George โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักใคร่ ต้องการทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ พาไปพบครอบครัวจนพ่อ-แม่ ยินยอมรับได้ แต่เมื่อตัวตนธาตุแท้ได้รับการเปิดเผย เป็นลมล้มพับหมดสติ นี่ฉันทำผิดอะไรตรงไหน?
Taylor เคยให้สัมภาษณ์ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ตนถูกขอให้ทำการแสดง ไม่ใช่เป็นตัวของตนเองอย่างที่เคยตั้งแต่เด็กจนโต ค่อยๆเรียนรู้ปรับตัว ลองผิดลองถูก ความนงเยาว์ สง่างาม ค่อยๆฉายแววเจิดจรัสแสง ดวงตาสะท้อนความบริสุทธิ์ คำพูดออกมาจากใจ รอยยิ้มทำให้โลกทั้งใบละลาย … สดใสน่ารักแบบนี้ ทำไมพอแก่ตัวถึงได้กร้านโลกขนาดนั่นก็ไม่รู้นะ
แซว: แทบทุกช็อต Close-Up ใบหน้าของ Liz มันถูกทำให้เจิดจรัส ฟุ้งเฟ้อ พื้นหลังเบลอๆ ดูเป็นประกายแบบช็อตเปิดตัวนี้ ราวกับแสงสว่าง ตรงกันข้ามกับ Winters ที่เอาแต่อยู่ในเงามืดโดยสิ้นเชิง
ในหนังสืออัตชีวประวัติของ Shelley Winters เล่าถึงการทำงานของผู้กำกับ George Stevens ชอบที่จะหารือเรื่องราวของซีนนั้นๆ แต่จะไม่พูดถึงบทสนทนา หรือการแสดง (ให้เป็นหน้าที่ของนักแสดงเอง) จากนั้นซักซ้อมแล้วเริ่มถ่ายทำเทคแรก ส่งฟีล์มเข้าห้องแลปโดยทันที ระหว่างรอคอยการล้างเสร็จสิ้นก็จะมีการพูดคุยซักซ้อมฉากนั้นต่อ เมื่อฟีล์มพร้อมก็ฉายให้นักแสดงดู เพื่อชี้ให้เห็นอะไรเหมาะสม-ไม่เหมาะสม เพื่อปรับแก้และถ่ายทำเทคถัดไป
“He would discuss the scene, but not the lines, and would photograph the second or third rehearsal so the scene had an almost improvisatory quality.
Stevens would print the first take, then spend the next three hours minutely rehearsing the scene, then film it again. He explained to me that in this way he often got actors’ unplanned reactions that were spontaneous and human and often exactly right. And often when actors over intellectualize or plan their reactions, they aren’t as good”.
– Shelley Winters
ด้วยไดเรคชั่นดังกล่าว ค่อนข้างได้ผลอย่างสูงกับนักแสดงประเภทลองผิดลองถูก ยังขาดความมั่นใจ กำลังเรียนรู้ปรับปรุงตนเอง ซึ่งทั้ง Winters และ Taylor ต่างประทับใจการทำงานนี้มาก ผิดกับ Clift เรียกผู้กำกับว่าเป็นแค่ ‘craftsman’ ห่างชั้น ‘Professional’ อยู่มากโข
ถ่ายภาพโดย William C. Mellor (1903 – 1963) ตากล้องขอประจำของผู้กำกับ Stevens คว้า Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง A Place in the Sun (1951), The Diary of Anne Frank (1959)
สถานที่ถ่ายทำของหนังคือ คือ Paramount Studios ส่วนฉากภายนอกก็ Lake Tahoe, Echo Lake, Cascade Lake อยู่แถวๆ California ไม่ห่างไกลจาก Hollywood สักเท่าไหร่
งานภาพของหนัง มีลักษณะสะท้อนจิตวิทยา/สภาพทางจิตใจของ George Eastman หลักๆพบเห็นสองไดเรคชั่น
– เมื่ออาศัยร่วมฉากกับ Alice Tripp มักอาบด้วยความมืด มีสัมผัสของหนังนัวร์
– ตรงกันข้ามกับ Angela Vickers เอ่อล้นด้วยแสงสว่าง ระยิบระยับเป็นประกาย
George เดินทางมายังคฤหาสถ์/บ้านของลุง Charles Eastman ด้วยท่าทางสั่นๆ ลุกรี้ลุกรน กล้องถ่ายภาพห่างๆ ระดับต่ำกว่าสายตา นี่เป็นการสร้างระยะความสัมพันธ์ของตัวละคร รู้สึกเหมือนคนนอก แปลกแยก ที่นี่ยังไม่ใช่สถานที่ของเขา
รักแรกของ George เริ่มต้นขึ้นที่ทำงาน ผลิบานในโรงหนัง และออกดอกผลท่ามกลางความมืดมิด การจัดแสงฉากนี้งดงามทรงพลังมากๆ คอหนังรุ่นใหม่คงเกาหัว แม้งมองไม่เห็นอะไรสักกะนิด แต่ให้ลองครุ่นคิดว่าสมัยนั้นการกอดจูบนานเกิน 3 วินาที มันไม่มีทางผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code ด้วยวิธีการไม่ให้พบเห็นว่าริมฝีปากทั้งคู่ประกบกัน ผมละหัวเราะลั่น แม้เจ้าโว้ยครุ่นคิดได้ยังไง!
ช็อตนี้ถือว่างดงามที่สุดของหนังแล้ว เริ่มตั้งแต่ George บุกรุกเข้ามาในห้องของ Alice กล้องค่อยๆเคลื่อนมายังวิทยุตรงหน้าต่าง ขณะพวกเขาโถมทะยานเข้ากอดจูบร่วมรัก (แบบมืดมิด มองไม่เห็นอะไรนัก) แล้วอยู่ดีๆจากฝนตกฟ้ามืด กลายเป็นรุ่งเช้าสว่างไสว มันช่าง Fade In-Out ได้อย่างแนบเนียนเสียกระไร
สังเกตว่าฉากส่วนใหญ่ของ George กับ Alice มักปกคลุมด้วยความมืด Low Key เพื่อเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ที่ต้องปกปิดหลบซ่อนเร้นของทั้งคู่ ไม่สามารถเปิดเผยบอกต่อใคร
เกร็ด: บทเพลงที่ดังขึ้นในวิทยุคือ Out of Nowhere (1931) แต่งโดย Edward Heyman และ Johnny Green
การสนทนาครั้งแรกระหว่าง George กับ Angela เกิดขึ้นในห้องสนุกเกอร์ รายล้อมด้วยภาพวาดเกี่ยวกับการแข่งม้า นี่เป็นการสื่อความหมายถึงชีวิตที่ต้องต่อสู้ แข่งขัน หากต้องการคว้าชัย ครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาว ต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้ชนะเลิศอันดับหนึ่งเท่านั้น
สนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่สื่อนัยยะถึง Sex ได้อย่างตรงไปตรงมามากๆเลยนะ ซึ่งวินาทีที่ Angela ให้ความสนใจ George คือขณะที่เขาโชว์ลีลา แทงลูกขาวกระดอนรอบโต๊ะแล้วตบลูกสีลงหลุมพอดิบพอดี (เสื่อมๆก็ประมาณว่า ลีลาบนเตียงของหมอนี่ ระดับจ้าวโลกเลยละ!)
เกือบลืมว่านี่คือวันเกิดของ George เสียด้วย พอดิบพอดีพูดคุยกับ Angela ครั้งแรกแถมได้เลื่อนขั้น ราวกับการถือกำเนิดใหม่ โทรบอกแม่แท้ๆ ไม่ต้องวิตกกังวล ลูกกำลังอยู่ดีมีสุขในโลกใบใหม่แห่งความเพ้อฝัน
คู่ขนานกับการแทงสนุ๊ก Angela ฝั่งตรงข้าม Alice รับล่วงรู้ว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ทั้ง Sequence นี้เป็น Long Take จับจ้องแต่ใบหน้าของ George รับฟังบางสิ่งอย่างที่แฟนสาว พยายามพูดบอกสื่อเป็นนัยๆ (บอกตรงๆไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะไม่ผ่าน Hays Code)
การที่หนังไม่ถ่ายให้เห็นสีหน้า Alice คือความอาร์ทอย่างหนึ่งของผู้กำกับ เพื่อผู้ชมจะได้ไม่เกิดอารมณ์อ่อนไหว ผันแปร หดหู่ขึ้นทันทีในขณะนี้ เพราะลึกๆย่อมตระหนักขึ้นได้ว่า หมอนี่อาจไม่รับผิดชอบลูกในครรภ์ ทอดทิ้งเธอไว้เบื้องหลังแน่ๆ
อุปกรณ์ประกอบฉาก มีสองสิ่งที่เตะตาผมมากๆ
– กรอบสตั๊ฟผีเสื้อติดอยู่บนฝาผนัง นี่คงเป็นการสะท้อนตัวตนของ George พยายามเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อก้าวไปข้างหน้า ได้ใหม่ลืมเก่า ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง
– อีกสิ่งหนึ่งช็อตนี้อยู่ข้างๆ George แต่เมื่อเขาลุกขึ้นเดินมาปลอมประโลม Alice จะพบเห็นชัดเจน นั่นคือรูปปั้นพระเยซูคริสต์ ตำแหน่งอยู่ต่ำกว่ารูปปั้นสุนัข สื่อนัยยะถึง ศีลธรรม/มโนธรรม อันต่ำต้อยของหมอนี่ ไม่ได้ใครสนใจคิดจะรับผิดชอบเด็กในครรภ์ของแฟนสาวแม้แต่น้อย
น่าสงสารแทน Winters กอดจูบกับ Clift แต่มองอะไรไม่เห็นสักนิด ตรงกันข้ามกับ Taylor จัดเต็มไปเลยกับระยะ Extreme Close-Up (แต่ตอนพวกเขาจูบกัน เหมือนว่าจะมีอะไรมาบดบังไม่ให้เห็นชัดๆอยู่ดีนะ)
การเลือกช็อต Extreme Close-Up สำหรับฉากบอกรักของทั้งคู่ เพื่อเป็นการเน้นย้ำ สร้างความสำคัญ นี่คือเป้าหมาย ความเพ้อใฝ่ฝัน สุดที่รัก ต้องการจริงๆของพวกเขาทั้งสอง
ภาพวาดด้านซ้ายมือ แม้เห็นไม่ชัดนักแต่ชื่อเขียนไว้ด้านใต้ Ophelia (1852) ผลงานชิ้นเอกของ Sir John Everett Millais (1829 – 1896) จิตรกรสัญชาติอังกฤษ สังกัด Royal Academy of Art ได้แรงบันดาลใจจากบทละคร Hamlet ของ William Shakespeare
ใครเคยอ่าน/รับชม Hamlet น่าจะคุ้นเคยกับฉากนี้ที่ Ophelia จมน้ำฆ่าตัวตาย นี่ถือเป็นการพยากรณ์สิ่งเกิดขึ้นในฉากไคลน์แม็กซ์ของหนัง
ฉากนี้ก็เลื่องลือชามากๆ เพราะ Hays Code ไม่อนุญาตให้มีการพูดถึงเรื่องทำแท้ง แต่ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะสามารถรับรู้ถึงความตั้งใจของ Alice ที่มาหาหมอคนนี้ และที่น่าทึ่งก็คือพวกเขาต่างไม่พูดเอ่ยถึงมันแบบตรงๆ เบี่ยงเบน คดเคี้ยวเลี้ยงลดไปโน่นนี่นั่น แต่กลับมีความทรงพลังเอ่อล้นอย่างสุดๆเลย
“Every time I’ve seen that scene in a theater, every man in the audience groans and every woman weeps. George had taught me another lifelong acting lesson: don’t indulge yourself ? make the audience weep”.
– Shelley Winters
ฉากที่ทะเลสาป ถ่ายทำตอนเดือนตุลาคม ถ้าใครสังเกตดีๆจะพบเห็นหิมะปกคลุมอยู่ลิบๆไกลๆ น้ำหนาวเย็นยะเยือก ไม่ใช่ข้ออ้างของตัวละคร แต่เป็นนักแสดงบ่นหนาวชิบหาย แหวกว่ายอยู่ไม่ถึงนาทีก็ต้องรีบแจ้นกลับขึ้นมาเช็ดตัว
นอกจากแผ่นหลังสวยๆของ Liz เสียงนกน้ำลายดำ (Loon) หลอกหลอนได้ใจ!
เกร็ด: นกน้ำลายดำ พบได้มากในทวีปอเมริกาเหนือ ตัวขนาดใหญ่กว่าเป็ดเล็กกว่าหงส์เล็กน้อย ขณะบินมีการตีปีกคล้ายกับนกนางนวล มีเท้าเป็นพังผืดสำหรับการว่ายน้ำ มีท่าทางการว่ายน้ำเหมือนกับเป็ดและหงส์ กินปลาเป็นอาหารหลัก
ผมชื่นชอบการมีตัวตนของกระจกบานนี้มากเลยนะ เพราะมันสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละครออกมา ขณะที่ภายนอกทุกคนต่างสนุกหรรษา สวมเสื้อฮาวาย ห้อยคอด้วยดอกไม้ แต่กลับมีเพียง George ได้รับโทรศัพท์จากขุมนรก ทำให้เขาต้องหาข้ออ้างหลบหนีออกจากสรวงสวรรค์แห่งนี้
ในบรรดาภาพซ้อน/Cross-Cutting นี่เป็นช็อตที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง หลังจากเหตุการณ์เรือล่มในหนอง George ว่ายน้ำตะเกียกตะกายมาถึงฝั่ง ซ้อนกับต้นไม้ที่น่าจะตายแล้ว หลงเหลือเพียงกิ่งก้านไร้ใบ นี่สื่อความหมายถึงตัวเขาแบบตรงๆ ว่างเปล่า ไม่หลงเหลืออะไร ไร้ที่พึ่งพิง … ตายทั้งเป็น!
หลังจาก George ได้เข่นฆาตกรรม Alice สภาพของเขาเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นกลัว สั่นสะท้าน ครุ่นคิดยึดติดจนไม่สามารถระบายออกได้ ต่อให้อะไรๆเคลื่อนดำเนินไปก็ไร้ซึ่งความหมายสำหรับเขา แม้แต่เมื่อ Angelica ขับรถพาหนีไปไกล แต่ตำรวจกลับยังติดตามมาจ่ายใบสั่งจนพบ (บอกเป็นนัยว่าไม่มีทางหลบลี้หนีพ้น) สำหรับช็อตนี้ กระจกหน้ารถยนต์แบ่งพวกเขาออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน นี่แปลว่าสุดท้ายแล้วย่อมมิอาจครองคู่สมหวังอย่างแน่นอน
นี่เป็นฉากได้รับการยกย่องว่า เป็นลมล้มพับได้อย่างสมจริงที่สุด! เพราะการเลือกมุมสะท้อนภาพกระจก หมายความได้ถึง หมดเรี่ยวแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
ฉากในชั้นศาลของ George เมื่อเขาขึ้นให้การ สังเกตว่าหลายๆช็อตมีลักษณะใกล้-ไกล (Deep-Focus) และมักหันตำแหน่งทิศทางแตกต่างจากผู้อื่น
อย่างช็อตนี้ใบหน้าของเขาระยะประชิดครึ่งจอ ขณะที่ลูกขุนห่างไกลพบเห็นได้ 4-5 คน นี่ราวกับน้ำหนักของการให้การ ฟังไม่ขึ้น! และทิศทางใบหน้าหันตั้งฉาก ไอ้จอร์จตายแน่ตายแน่ไอ้จอร์จ
ตัดต่อโดย William Hornbeck (1901 – 1983) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ It’s a Wonderful Life (1946), A Place in the Sun (1951), Shane (1953), The Barefoot Contessa (1954), Giant (1956) ฯ
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ George Eastman ตั้งแต่โบกรถมุ่งสู่ California พบเจอตกหลุมรักสองสาว ซึ่งมักตัดสลับกันไปมา ไม่มีฉากไหนรถไฟชนกัน/พบเจอเผชิญหน้าแม้แต่ครั้งเดียว
พบเห็นบ่อยครั้งกับการซ้อนภาพ/Cross Cutting เพื่อรวบเร่งรัดการดำเนินเรื่องให้มีความกระชับ ต่อเนื่อง สื่อนัยยะความหมายบางอย่าง อาทิ
– การเดินทางมุ่งสู่ California ซ้อนภาพบนรถ+ท้องถนน
– ระหว่างการทำงานในโรงงาน ร้อยเรียง/ซ้อนภาพของ George->ปฏิทิน->สายพาน->Alice
– หลังจากโทรศัพท์หาแม่ George ยืนยันว่าไม่ได้เถลไถล แต่หลังจากนั้นภาพของเธอปรากฎซ้อนทับลูกชายกำลังเต้นรำกับ Angela (เป็นชู้นอกใจ Alice)
– ช่วงท้ายเมื่อกำลังจะถูกนำตัวไปนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า พบเห็นภาพซ้อนกับนาฬิกา (เวลาชีวิตกำลังหมดลง)
– และขณะกำลังเดินสู่ที่ประหาร ใบหน้าของ George ซ้อนกับ Angela เธอคือคนสุดท้ายในชีวิตที่ครุ่นคิดถึง
ฯลฯ
เพลงประกอบโดย Franz Waxman สัญชาติเยอรมัน ผลงานเด่นอาทิ Rebecca (1940), Sunset Boulevard (1950), A Place in the Sun (1951), Taras Bulba (1962) ฯ
บทเพลงของหนังมีความไพเราะ ทรงพลังมากๆ ได้ยินคลอประกอบแทบทั้งเรื่อง ช่วยสร้างบรรยากาศ ขับเน้นอารมณ์ตัวละคร เทียบแทนบทสนทนา ‘Expression’ ที่ออกมาจากภายใน
Main Theme เริ่มต้นด้วยสัมผัสอันน่าหวาดหวั่นสะพรึงกลัว แต่ตามมาด้วยอารมณ์หวานแหววโรแมนติก เพ้อใฝ่ฝัน โหยหาต้องการครอบครองบางสิ่ง แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ชีวิตจัดได้มีความสุขชั่วนิรันดร์
ผมมีความหลงใหลบทเพลง Blue Hawai’i แต่งโดย Leo Robin และ Ralph Rainger เป็นอย่างยิ่ง! ดังขึ้นในช่วงเวลาที่ George ไปพักร้อนบ้าน Angela พวกเขามีความสุขราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นเจ็ด ก่อนได้รับโทรศัพท์จากขุมนรก ฉุดคร่าตกลงมาจากฟากฟ้านภาลัย
An American Tragedy คือเรื่องราวโศกนาฎกรรมของบุคคลผู้มีความเพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยาน เรียนรู้ว่าชีวิตมิอาจตกหลุมรักหญิงสองคนพร้อมกัน ‘เหยียบเรือสองแคม’ อาศัยอยู่ได้สองโลก จำต้องเลือกข้างฝ่ายหนึ่งใด เป็นเหตุให้อีกฝั่งถูกทอดทิ้ง สูญเสียสละชีพ อันเนื่องจากความเห็นแก่ตัวของตนแท้ๆ
การเปลี่ยนมาใช้ชื่อหนัง A Place in the Sun ราวกับเป็นการตั้งคำถาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันควรมี ‘ที่ยืน’ ในสังคมหรือเปล่า? ในบริบทของชายหนุ่ม George เพื่อให้ได้ครองคู่ Angela เลยเข่นฆาตกรรม Alice คำตอบไม่ต้องถึงขั้นขึ้นโรงศาล ใครๆย่อมบอกได้ว่า เก้าอี้ไฟฟ้าเท่านั้นแหละ! แต่เมื่อเปรียบเทียบกับนัยยะแฝงซ่อนเร้น บุคคลผู้ทอดทิ้งอดีต ครอบครัว ทุกสิ่งอย่างในชีวิตไว้เบื้องหลัง แล้วดิ้นรนตะเกียกตะกายไขว่คว้าหาความสำเร็จ ประสบพบจนราวกับได้แต่งงานกับลูกคุณหนูไฮโซ ร่ำรวย มั่งมี ชนชั้นสูง คนเหล่านี้กลับไม่เคยถูกลงโทษทัณฑ์อันใด … มันจะสองมาตรฐานเกินไปไหม?
ผมว่าการเปรียบเทียบของหนังมัน ‘High Art’ เข้าใจยากไปเสียหน่อย รักสามเส้า = ความเพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยาน ใครคนหนึ่งต้องการยกระดับฐานะชนชั้น จากต่ำเป็นสูง ยากจนสู่มั่งมี ไร้ชื่อเสียงเรียงนาม-ได้รับยกย่องกล่าวขาน ถึงกระนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดดังกล่าวนี้วิพากย์สังคม สะท้อนข้อเท็จจริงอันน่าสะพรึงกลัว ‘American Dream’ คืออุดมคติแห่งมนุษยชาติจริงๆนะหรือ?
ตัวละคร George (Washington) เป็นคนประเภทไม่ยินยอมรับความจริง ‘โกหกตัวเอง’ จมปลักกับภาพมายา ฉันไม่ได้ฆ่า Alice ปากอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่สิ่งที่เขาครุ่นคิดถึงในใจกลับมีเพียง Angela ขนาดว่ากำลังเผชิญหน้าความตาย เวลาชีวิตกำลังหมดไป ห้วงสุดท้ายกลับยังคำนึงถึงแต่หน้าเธอ ไม่ขอเผชิญโลกความจริงอันโหดร้าย
แปลแบบโฉดๆหน่อย, ชาวอเมริกัน/บุคคลผู้จมปลักอยู่ในความเพ้อใฝ่ฝัน ไม่ต่างอะไรกับพวกโกหกตนเอง ปฏิเสธชาติกำเนิดอันต่ำต้อย โหยแสวงหาความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง ชื่อเสียงโด่งดัง ขนาดว่าใกล้ถึงวันลงโลง ยังปฏิเสธการเผชิญหน้า ยินยอมรับความจริงอันโหดร้าย
รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมหวนระลึกถึง Death of a Salesman (1951) นัยยะใจความเกี่ยวกับ การล่มสลายทางอุดมคติของสหรัฐอเมริกา เพิ่งเห็นว่าออกฉายปีเดียวกันเสียด้วย นี่แปลว่าตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศนี้ได้มีบางสิ่งอย่างเน่าเฟะเกิดขึ้นภายใน
เอาจริงๆผมไม่รู้เบื้องลึกหรอกนะว่าอะไรคือหนอนบ่อนไส้ภายในสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับวงการภาพยนตร์ช่วงทศวรรษนั้น มันมีการเกิดขึ้นของลัทธิล่าแม่มด McCarthyism ขับไล่ต้อน Blacklist บรรดาผู้ฝักใฝ่ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งบุคลากรเก่งๆของหนังเรื่องนี้ก็โดนจัดหนักทีเดียว
– หนึ่งในนักเขียนบท Michael Wilson ตอนหนังออกฉายยังรอดตัว แต่หลังจากนั้นพอถูกขึ้นบัญชีดำ ก็อพยพหนีภัยสู่ยุโรป
– Anne Revere ผู้รับบทแม่ของ George Eastman ชื่อของเธอถูกตัดจากเครดิตเพราะโดน Blacklist ไปก่อนหน้า ทั้งๆเคยคว้า Oscar: Best Supporting Actress ถือว่าเป็นยอดฝีมือ กลับทำให้เธอต้องรีไทร์ออกจากวงการไปเลย
ฯลฯ
ความเพ้อใฝ่ฝัน มันก็เป็นเพียงภาพลวงตาหนึ่งที่มนุษย์ปรุงปั้นแต่งสร้างขึ้น เพื่อให้ตนเองมีเป้าหมายชีวิต เลิกครุ่นคิดคำถามปรัชญา ฉันเกิดมาทำไม? เพื่ออะไร? ตายแล้วไปไหน? โลกทัศนคติของชาวตะวันตก ที่ปัจจุบันแพร่ขยายครอบงำไปทั่วทั้งโลกแล้วด้วยแนวคิดทุนนิยม/วัตถุนิยม เงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ คือบทพิสูจน์คุณค่าการเกิดมามีชีวิต … จริงๆนะหรือ?
หนังถ่ายทำเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 1949 วางโปรแกรมฉายปี 1950 แต่ความสำเร็จอันล้นหลามของ Sunset Boulevard (1950) ทำให้สตูดิโอ Paramount Pictures ไม่อยากให้ทั้งสองเรื่องในสังกัดชนกันเอง กลายเป็นคู่แข่งชิงรางวัล Oscar เลยเลื่อนฉาย 1 ปีเต็ม และเพิ่มเติมเวลาตัดต่อให้ผู้กำกับ Stevens
ด้วยทุนสร้าง $2.3 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาได้ $3.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $7 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จพอตัวทีเดียว
เข้าชิง Oscar 9 สาขา คว้ามา 6 รางวัล
– Best Picture
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Montgomery Clift)
– Best Actress (Shelley Winters)
– Best Writing, Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography, Black-and-White ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design, Black-and-White ** คว้ารางวัล
– Best Original Score ** คว้ารางวัล
รางวัล Best Picture ปีนี้ มีสองเรื่องที่ถูกจับตามองตัวเต็งคือ A Place in the Sun (1951) และ A Streetcar Named Desire (1951) แต่ผลลัพท์กลับพลิกล็อกถล่มทลายกลายเป็น An American in Paris (1951) นั่นสร้างความรวดร้าวฉานให้กับผู้สร้างทั้งสองเรื่อง สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของสถาบันนี้ไม่น้อย [แถมปีถัดมามอบรางวัลใหญ่ให้ The Greatest Show on Earth (1952)]
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ หลงใหลแทบทุกสิ่งอย่าง ไดเรคชั่น, ถ่ายภาพ, ตัดต่อ, เพลงประกอบ แต่ที่สุดคือการแสดงของ Shelly Winters ทำเอาผมน้ำตาซึมเลยละ ถ้าคู่แข่งปีนี้ไม่ใช่ Vivien Leigh จาก A Streetcar Named Desire (1951) เชื่อว่าต้องคว้า Oscar: Best Actress ได้แน่ๆ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่ต้องถึงขั้นลงลึกไปถึงอุดมคติอเมริกันชน แค่เรื่องความรักของหนุ่ม-สองสาว เป็นคุณจะครุ่นคิดตัดสินใจเลือกกระทำเช่นไร? รู้ตัวไหมว่าคำตอบนั้นถูกต้องเหมาะสมประการใด?
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศ ความตึงเครียด จิตสังหาร/ฆาตกรรม
คือเคมีในจอแรงมาก มอนตี้กับลิซ แต่ตอนนั้นคือตามที่ว่าค่ะ ลิซcrazy in loveมอนตี้มาก มอนตี้ก็หลงรักลิซมากเช่นกัน แต่เหมือนเราไปอ่านมาหรือดูสารคดีมอนตี้มาซักที่ค่ะ เขาบอกว่ามอนตี้รักลิซแค่ใจ ไม่physicalอ่ะค่ะ เลยไม่ต้องการเป็นคนรักในชีวิตจริงหรือแต่งงานกับลิซ ช่วงถ่ายหนังผู้ชายของมอนตี้ยังบอกว่ามอนตี้เองยังเอาจม.รักจากลิซจำนวนมากมายมาให้เขาอ่านกันขำๆอยู่เลย ลิซก็คงเข้าใจในภายหลังเลยอยู่สถานะเพื่อนสาวกับมอนตี้ตลอดไปค่ะ
ผมว่า Monty จริงจังกับชีวิตมากไป ส่วน Liz ก็อ่อนไหวกับชีวิตมากไป (เลยเปลี่ยนสามีบ่อยๆ) ครุ่นคิดได้แบบนี้ ถึงแต่งงานก็คงครองคู่ไม่ได้นาน เป็นเพื่อนกันเลยจะคบได้นานกว่า
จารย์นครดูไอคอนเฟสมอนตี้ฮิทช์คอกยังคะ แอบอยากอ่านรีวิวจารย์ค่ะ 😆 คือชอบความบาทหลวงมอนตี้แน่งน้อยเรื่องนี้มาก คิดดีไม่ได้เรยค่า 😘
I Confess ยังไม่ได้เขียนนะครับ อาจยังอีกนานเพราะหาโปรแกรมลงไม่ได้
รอเสมอค่าาาา 💪✌