À propos de Nice

À propos de Nice (1930) French : Jean Vigo, Boris Kaufman ♥♥♥♥♡

ระหว่างกำลังร้อยเรียงภาพเมือง Nice, France รวมถึงเทศกาล Nice Carnival (Carnaval de Nice) จู่ๆมีการแทรกภาพจระเข้ หญิงสาวเปลือยกาย ชายทาครีมกันแดดสีดำ หลากหลายสิ่งอัปลักษณ์ปรากฎแวบขึ้นมา เพื่อจะสื่อว่าเปลือกภายนอกที่ดูวิจิตรงดงาม อาจซุกซ่อนเร้นสิ่งชั่วร้ายบางอย่าง

À propos de Nice แปลว่า About Nice หรือ Regarding Nice กล่าวถึงเมืองนีซ (Nice), จังหวัด Alpes-Maritimes ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ถือเป็นส่วนหนึ่งของ French Riviera ติดทะเล Mediterranean และเชิงเทือกเขา French Alps ได้รับสมญานาม Nice la Belle แปลว่า ‘นิซที่งดงาม’ นอกจากทิวทัศน์สวยงามตา ยังมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ ภูมิอากาศอบอุ่นแบบ Mediterranean เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีผู้มาเยี่ยมเยือนมากที่สุดของฝรั่งเศส (รองจากกรุง Paris)

เกร็ด: ผมเคยเขียนถึงภาพยนตร์อีกเรื่องที่มีพื้นหลังเมือง Nice, France นั่นคือ Bay of Angels (1963) กำกับโดย Jacques Demy, นำแสดงโดย Jeanne Moreau, บันทึกภาพชายหาดสวยๆ Baie des Anges (Bay of the Angels) แต่เต็มไปด้วยบ่อนคาสิโน เดี๋ยวรวย-เดี๋ยวจน เล่นชนะก็อารมณ์ดี พ่ายแพ้อัปลักษณ์ยิ่งกว่าผี

หลังจากที่ผมได้รับชม ‘city symphony’ มาปริมาณหนึ่ง ก็ครุ่นคิดว่าหนังแนวนี้น่าจะหมดสิ้นความแปลกใหม่ แต่แล้ว À propos de Nice (1930) กลับสร้างความโคตรๆประหลาดใจ ด้วยวิธีแทรกภาพที่สะท้อนความครุ่นคิดเห็น ลายเซ็นต์ศิลปิน (Cinéma Vérité) สัมผัสถึงอารมณ์เกรี้ยวกราด อึดอัดอั้นของผู้กำกับ Jean Vigo ทำไมโลกใบนี้มันช่างจอมปลอม หลอกลวง มีแต่คนสร้างภาพภายนอกให้ดูดี จิตใจกลับวิปริตพิศดาร

In this film, by showing certain basic aspects of a city, a way of life is put on trial. It is a portrait of a society so lost in its escapism that it sickens you and makes you sympathetic to a revolutionary solution.

Jean Vigo

Jean Vigo (1905-34) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris, บิดา Miguel Almereyda เป็นผู้ฝักใฝ่ Anarchist ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆซ่อนๆด้วยชื่อปลอม Jean Sales อาศัยหลับนอนห้องใต้หลังคาที่เต็มไปด้วยแมว (แบบเดียวกับภายในเรือ L’Atlante) หลังจากบิดาโดนจับกุม (แล้วเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี ค.ศ. 1917) ถูกส่งไปโรงเรียนประจำ ทำเรื่องเสียๆหายๆบ่อยครั้ง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1922 ถึงค่อยมีโอกาสหวนกลับหามารดาที่กรุง Paris

ตั้งแต่เด็ก Vigo มีความสนใจในศิลปะ วรรณกรรม และภาพยนตร์ โตขึ้นเคยทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้องสตูดิโอ Franco Film แต่เพราะร่างกายอิดๆออดๆ ล้มป่วยวัณโรค (น่าจะเพราะแมวในห้องใต้หลังคา) จึงย้ายไปปักหลักอาศัยอยู่ Nice ซึ่งระหว่างพักรักษาตัว Espérance sanatorium ณ Font-Romeu พบเจอ ตกหลุมรัก แต่งงานกับ Elisabeth ‘Lydou’ Lozinska และได้ค่าทำขวัญจากพ่อตา $250 เหรียญ นำไปซื้อกล้องมือสองเพื่อเตรียมใช้ถ่ายทำหนังสั้นเรื่องแรก

ผกก. Vigo มีความลุ่มหลงใหลผลงานของ Dziga Vertov ช่วงปี ค.ศ. 1929 เมื่อได้ยินข่าวคราวว่านำหนังมาฉาย ณ กรุง Paris จึงรีบออกเดินทางไปหา แต่กลับพบเจอน้องชายคนเล็ก Boris Kaufman ซึ่งถูกส่งมาร่ำเรียนยัง University of Paris หลังจากพูดคุยถูกคอ รับชมสองสามผลงาน เกิดความชื่นชอบประทับใจ จึงชักชวนร่วมออกเดินทางสู่ Nice เพื่อร่วมสร้างโปรเจคหนังสั้น À propos de Nice (1930)

He [Vigo] came to Paris, called me up, and asked me to show him some of my films. Then he invited me to come down to Nice with him to make a satire on the futility of idle existence. We spent a few weeks in Nice shooting the film, which was called À propos de Nice. It was a very difficult shoot, but it was also a very rewarding experience. I learned a lot from Vigo, and I made a lifelong friend.

Boris Kaufman

Boris Abelevich Kaufman (1906-80) ตากล้องสัญชาติ Russian เกิดที่ Białystok, Grodno Governorate ขณะนั้นคือส่วนหนึ่งของ Russian Empire (ปัจจุบันคือประเทศ Poland), ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เป็นน้องชายคนเล็กของ Dziga Vertov (ชื่อจริง Denis Kaufman) และ Mikhail Kaufman, พี่ชายทั้งสองตัดสินใจส่งน้องมาร่ำเรียนยัง University of Paris จากนั้นถ่ายทำหนังสั้น The March of the Machine (1927), 24 heures en 30 minutes (1928) เข้าตาผู้กำกับ Jean Vigo ร่วมงานขาประจำ À propos de Nice (1930), Zéro de conduite (1933), L’Atalante (1934), จากนั้นไปโกอินเตอร์ On the Waterfront (1954) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography (Black-and-White), Baby Doll (1956), 12 Angry Men (1957), Splendor in the Grass (1961), The Pawnbroker (1964) ฯลฯ

ในบทสัมภาษณ์ของ Kaufman เล่าว่าหนังมีการตระเตรียมแผนงานล่วงหน้าพอสมควร แต่รายละเอียดต่างๆล้วนเกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำ เต็มไปด้วยการดั้นสด (Improvised) ปรับเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์จริง

The structure of the film evolved from the shooting itself. We would often improvise and would sometimes let ourselves be surprised by the screen when the rushes came to us. The ideas continually developed. It was very much improvised.

Many inspirations were dictated by what we actually found. We didn’t set up anything, you know. We took the life as it was. One of the most amazing things to us was the cemetery of Nice, which was in a very rococo style. It permitted us to film the statuary, which was very expressive. In the case of where a child was buried, there was a statue of a mother tearing her hair and breasts. And we actually found a way of using parallel montage to relate the people on the Promenade des Anglais with the statuary in the cemetery.

Boris Kaufman

เกร็ด: À propos de Nice (1930) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวที่ใช้เครดิตร่วมกำกับ Jean Vigo & Boris Kaufman จากนั้นถึงแบ่งแยกบทหนังโดย Jean Vigo และถ่ายภาพโดย Boris Kaufman


ผกก. Vigo ไม่ได้ต้องการนำเสนอหนังในเชิง ‘travelogue’ เป้าหมายคือการเสียดสีล้อเลียน (Satire) บรรดาชนชั้น Upper Class (หรือ Bourgeoisie) ด้วยการร้อยเรียงภาพความหรูหราสุขสบาย จับจ่ายฟุ่มเฟือย ทิ้งเงินลงบ่อนคาสิโน กิจกรรมคาร์นิวัลสุดเหวี่ยง แล้วตัดสลับภาพความยากจน ผู้คนอาศัยอยู่ในสลัม หรือสรรพสิ่งเชิงสัญลักษณ์ที่มีความอัปลักษณ์ พบเห็นแล้วเกิดความตระหนักถึงบางสิ่งไม่ชอบมาพากล

แม้จะเป็นเครือญาติของ Dziga Vertov & Mikhail Kaufman แต่การถ่ายภาพของ Boris Kaufman ไม่เคยได้รับการเสี้ยมสอน/อิทธิพลใดๆจากพี่ชายทั้งสอง ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดจากการลองผิดลองถูก ไม่จำกัดตนเองอยู่ภายใต้กฎกรอบ ‘unchained cinema’ เริ่มด้วยถ่ายทำจากเฮลิคอปเตอร์ (Bird’s Eye View), นั่งรถเข็นเคลื่อนไปตาม Baie des Anges (Bay of the Angels), เพราะไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำในคาสิโน เลยสร้างโมเดลจำลองขึ้นมาล้อเลียน ฯ การทำงานของหนังดูไม่แตกต่างจากกองโจร (guerrilla unit)

สำหรับเทคนิคภาพยนตร์ของการถ่ายภาพ ถือว่ามีความหวือหวา แปลกตาระดับหนึ่ง แทบทั้งหมดล้วนเกิดจากการดั้นสด (improvised) พบเห็นอะไรน่าสนใจก็บันทึกภาพเก็บไว้ เครื่องบินแล่นผ่านก็แพนนิ่งกล้องติดตาม, สาวๆเต้นมันส์ๆก็เลยถ่ายแบบสโลโมชั่น, เอียงหมุนกล้อง (Dutch Angle), มุมก้ม-เงย, แอบถ่าย, ซ้อนภาพ, เคลื่อนติดตาม ฯ มอบสัมผัสที่ดูละม้ายคล้ายการกรีดตาของ Un Chien Andalou (1929) เพื่อเปิดเผยสิ่งที่ถูกปกปิด ซุกซ่อนเร้นภายใน

(ผกก. Vigo หลงใหลคลั่งไคล้ Un Chien Andalou (1929) อย่างมากๆๆ เคยกล่าวยกย่องว่าเป็น ‘true social cinema’ นำเสนอภาพแฟนตาซี/เหนือจริง ที่สะท้อนสภาพความเป็นไปของสังคมได้อย่างเฉียบแหลมคม)

Vigo’s camera is like a scalpel, cutting through the surface of Nice to reveal the truth that lies beneath.

นักวิจารณ์ André Bazin กล่าวเปรียบเทียบการถ่ายภาพของ À propos de Nice (1930)

ภาพถ่ายทางอากาศ (Aerial Shot) จากเฮลิคอปเตอร์ (Bird’s Eye View) มองผิวเผินคือลักษณะของ ‘Establishing Shot’ เพื่อแนะนำสถานที่พื้นหลังของหนัง Nice, France ขณะเดียวกันยังสามารถสื่อถึงมุมมองที่เป็นเพียงเปลือกภายนอก ทุกสิ่งอย่างขนาดเล็กจิ๋ว ไม่พบเห็นรายละเอียดใดๆ

เพราะไม่มีบ่อนคาสิโนแห่งหนไหนอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำ ผกก. Vigo จึงสร้างโมเดลจำลอง ขบวนรถไฟ ตุ๊กตากลายเป็นชิป เพื่อเสียดสีล้อเลียนสิ่งที่ถือเป็นภาพจำเมือง Nice สถานที่แห่งการละลายทรัพย์ … คล้ายๆปอยเปต บ่อเต็น ลาสเวกัส ฯ

คลื่นกระทบชายฝั่ง เป็นภาพที่ให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ พบเห็นหลายต่อหลายครั้งจนรู้สึกเหมือนถูก(คลื่นน้ำ/พลังงานบางอย่าง)กระแทกกระทั้นภายใน

  • ภาพของคลื่นซัดกระทบชายฝั่ง ดูรุนแรง บ้าคลั่ง สามารถสื่อถึงอารมณ์ของผกก. Vigo ภายในเต็มไปด้วยความอัดอั้น เกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจต่อบางสิ่งอย่าง
  • สะท้อนสถานะของมนุษย์ (Human Condition) ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน ดำผุดดำว่าย ตะเกียกตะกาย หาหนทางขึ้นฝั่งเพื่อเอาตัวรอดปลอดภัย
  • เนื่องจากคลื่นมีพลังงานมาก สามารถซัดพา ทำลายล้าง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมจึงมองว่าสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ ‘การปฏิวัติ’ ได้ด้วยกระมัง

ช่วงต้นเรื่องจะมีการถ่ายภาพมุมเงยต้นปาล์ม สัญลักษณ์ของเมือง Nice (กระมังนะ) แต่ตอนท้ายเรื่องมุมเงยเหมือนกัน แต่เปลี่ยนเป็นป่องควันโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับเผาไม้เชื้อเพลิงอะไรบางอย่าง, สองสิ่งนี้อาจดูไม่ได้มีความละม้ายคล้ายคลึง แต่วิธีการนำเสนอ(ด้วยมุมเงยเหมือนกัน)เป็นการบอกใบ้ความสัมพันธ์บางอย่าง … ผมครุ่นคิดว่าผกก. Vigo ต้องการเปรียบเทียบถึง

  • ต้นปาล์ม มีความงดงาม เป็นหน้าเป็นตา สัญลักษณ์เบื้องหน้าของเมือง Nice
  • ป่องควันโรงงานอุสาหกรรม คือสิ่งหลบซ่อนอยู่เบื้องหลัง สถานที่คนทำงานงกๆ เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด

ขณะเดียวกันลักษณะของต้นปาล์มและป่องควัน ช่างดูเหมือนลึงค์ (อวัยวะเพศชาย) ตั้งโด่เด่ สูงเฉียดฟ้า แทนความเย่อหยิ่ง ทะเยอทะยาน หมกมุ่นมักมากของมนุษย์ รวมถึงแก่นแท้เมือง Nice ก็เฉกเช่นเดียวกัน

การนำเสนอภาพศิลปินกำลังลงสีรูปปั้น ตระเตรียมงานเทศกาลคาร์นิวัล สามารถสื่อนัยยะตรงๆถึง ‘เบื้องหลัง’ สิ่งที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยมีโอกาสพบเห็น (นอกเสียจากเมื่อเตรียมงานเสร็จ กำลังเดินขบวนแห่) หรือจะมองว่าถูกปกปิดซ่อนเร้นก็ได้เช่นกัน

และอีกช็อตรอยยิ้มรูปปั้น มันช่างดูมีลับเลศนัย คงเป็นความตั้งใจผกก. Vigo เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดความเอะใจ ฉงนสงสัย เคลือบแอบแฝงอะไรหรือเปล่า?

ผมเพิ่งรับชม In Spring (1929) ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน จึงยังจดจำนัยยะของการหมุนเอียงกล้อง (จากภาพปกติหมุนสู่มุมเอียง) เพื่อสื่อถึงการเปลี่ยนแปลง ผันแปรฤดูกาล (จากหิมะกลายเป็นใบไม้ผลิ)

ซึ่งสำหรับ À propos de Nice (1930) เหมือนจะมีทิศทางกลับกัน คือเริ่มจากภาพมุมเอียง (Dutch Angle) หมุนกลับสู่มุมมองปกติ ส่วนนัยยะก็เพื่อสร้างสัมผัสผิดปกติ รู้สึกเหมือนบางสิ่งอย่างเคลือบแอบแฝง ปกปิดซ่อนเร้น เต็มไปด้วยลับลมคมใน … ตึกสวยๆเหล่านี้ ผมคาดเดาว่าภายในน่าคือโรงแรม บ่อนคาสิโน กระมังนะ!

ไม่ใช่เรื่องแปลกของศิลปินที่จะบันทึกภาพของตนเอง แต่การมีสองช็อต (Vigo & Kaufman) กลับเคลือบแฝงนัยยะซ่อนเร้นบางอย่าง

  • ภาพแรกคือตากล้อง Boris Kaufman ถ่ายระดับสายตา ติดท้องทะเล ผู้คนเดินผ่านไปมา ไม่มีอะไรให้ปกปิดบัง
    • ‘เบื้องหน้า’ ภาพภายนอกพบเห็นของเมือง Nice ทิวทัศน์สวยงามตา
  • น่าจะคือผู้กำกับ Jean Vigo หลบซ่อนอยู่ในผ้าคลุม ถ่ายมุมเงยติดอาคารด้านหลัง
    • บางสิ่งอย่างถูกปกปิด ซุกซ่อนเร้นอยู่ ‘เบื้องหลัง’

นี่เป็นสองช็อตที่อยู่ติดๆกัน แต่เคลือบแฝงนัยยะที่สะท้อนเข้ากับใจความของหนัง

  • หญิงสาวนั่งหลบมุมอยู่ข้างต้นเสา พยายามยกมือขึ้นมา ใช้หมวกปกปิดบังใบหน้า เหมือนไม่ต้องการพบเจอใคร (จริงๆอาจจะไม่ต้องให้ตนเองติดกล้อง)
  • ส่วนชายสูงวัย ล้วงผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาวางบนโต๊ะ ท่าท่างก็ดูสบายๆ เปิดเผย ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิด

กล้องถ่ายภาพหญิงสาวคนหนึ่งนั่งอยู่ตรงเก้าอี้ จากนั้นมีสลับเปลี่ยนชุดแต่งกาย (นัยยะของกิ้งก่าเปลี่ยนสี ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ภาพนอกไปตามกาลเวลา) แล้วจู่ๆภาพสุดท้ายกลับกลายเป็นภาพเปลือยกาย ย่อมสร้างความตกอกตกใจ ฉงนสงสัย มันมีอะไรเคลือบแอบแฝงอยู่หรือเปล่า?

ร่างกายที่เปลือยเปล่า สามารถสื่อถึงตัวตนแท้จริง สิ่งที่มนุษย์มักปกปิดบังซ่อนเร้นอยู่ภายใน แม้หญิงสาวคนนี้ไม่ได้มีหน้าตาขี้เหร่ รูปร่างอัปลักษณ์ แต่ยุคสมัยนั้นการเปลือยกายในที่สาธารณะ ยังเป็นสิ่งที่สังคมมิอาจยินยอมรับ แถมยังตีตราว่าร้าย ยัยโสเภณี ไม่รู้จักมารยาทผู้ดี ไร้ศักดิ์ศรีสกุลนา

ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าภาพชายนอนอาบแดด แล้วโบ๊ะผิวสีดำแฝงนัยยะอะไร แต่การตัดไปภาพจระเข้ที่ก็นอนอาบแดดอยู่ริมบ่อน้ำ นั่นคือการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมา มนุษย์=จระเข้ สัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้ล่า มีความดุร้าย ชอบล่อหลอกเหยื่อให้ตายใจ จากนั้นฉีกกัดเนื้อหนัง กลืนกินเหยื่อทั้งๆยังมีลมหายใจ (พฤติกรรมของจระเข้ สามารถสะท้อนสันดานธาตุแท้ของคนชนชั้น Upper Class)

หลังจากร้อยเรียงภาพเบื้องหน้า ชายทะเลสวยๆ ผู้คนร่ำรวย ก็ถึงเวลาปรับเปลี่ยนมายังเงามืดเบื้องหลัง รายล้อมรอบด้วยอาคารสูงใหญ่ บดบังวิสัยทัศน์ แสงอาทิตย์สาดส่องลงมาไม่ถึงด้วยซ้ำ นั่นคือบริเวณสลัม พบเห็นความยากจน การต่อสู้ดิ้นรน พื้นถนนสกปรกโสมม … ช่างมีความแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง!

ระหว่างที่กลุ่มเด็กๆกำลังละเล่นเกมคล้ายๆเป่ายิงฉุบ (แต่มีมากกว่าค้อน-กรรไกร-กระดาษ) จู่ๆก็ปรากฎภาพมือเด็กชายมีนิ้วขาดแหว่ง (ไม่รู้ป่วยโรคเรื้อนหรือเปล่านะ) นี่คือภาพความอัปลักษณ์ที่แม้พบเห็นเพียงเสี้ยววินาที กลับสร้างความตื่นตกอกตกใจ นี่ฉันตาไม่ฝาดใช่ไหม ทำให้ตระหนักถึงความผิดปกติบนโลกใบนี้/ภาพยนตร์เรื่องนี้ มันต้องมีลับเลศนัยอะไรบางอย่าง

จะว่าไปเกมการละเล่นของเด็กๆ สามารถล้อกับสารพัดกิจกรรมของผู้ใหญ่ที่พบเห็นก่อนหน้านั้น อาทิ เล่นการพนัน, แล่นเรือ, เปตอง, แข่งรถ ฯ สะท้อนความแตกต่างระหว่างเบื้องหน้า-หลัง ฐานะร่ำรวย-ยากจน สถานะชนชั้นสูง-ต่ำ

Nice Carnival (Carnaval de Nice) หนึ่งในสี่เทศกาลคาร์นิวัลมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก (อีกสามแห่งก็คือ Brazillian Carnival, Venetian Carnival และ Mardi Gras) มักจัดขึ้นช่วงระหว่างกุมภาพันธ์-มีนาคม (ระยะเวลา 2 สัปดาห์) ตามจดหมายเหตุบันทึกว่ามีการเริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 1294 สำหรับเฉลิมฉลองตามปฏิทินคริสเตียน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1873 ถึงเริ่มมีขบวนแห่ รูปปั้น สวมหน้ากาก จัดงานประกวด ฯลฯ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่าล้านๆคนในปัจจุบัน

ในขณะที่ Nice Carnival พบเห็นขบวนแห่สุดยิ่งใหญ่ ผู้คนมากมาย สนุกสนานครื้นเครง หนังจงใจนำเสนอต่อด้วยภาพขบวนแห่งานศพ ญาติมิตรสวมชุดดำไว้ทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ … เป็นการเปรียบเทียบที่สุดโต่งไม่น้อย นั่นเพราะผกก. Vigo ล้มป่วยวัณโรคมานาน เขาจึงไม่ค่อยยินดีกับสุขจอมปลอม เลยเปรียบเทียบสองเหตุการณ์นี้เข้าด้วยกัน

เทศกาลคาร์นิวัลอาจดูยิ่งใหญ่ จุดขายการท่องเที่ยว นำพาความเจริญ เศรษฐกิจมั่งคั่ง! แต่ขณะเดียวกันมันยังเต็มไปด้วยความฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง หนึ่งในซีนที่สร้างความละเหี่ยใจให้กับผมอย่างมากๆ พบเห็นหญิงสาวกำลังเก็บดอกไม้จากสวน แล้วมันกลับถูกเขวี้ยงขว้างในขบวนพาเรด ตกหล่นลงพื้นถนน เจ้าสุนัขดอมดมแล้วคาบขึ้นมา … ดอกไม้ที่ร่วงหล่น ถูกย่ำเหยียบ จักสูญสิ้นความงดงามโดยพลัน!

ภาพที่กลายเป็น ‘iconic’ ของหนัง คือกลุ่มสาวๆกำลังโยกเต้นเริงระบำ สนุกสนานไปกับงานเทศกาลคาร์นิวัลอย่างสุดเหวี่ยง เมาปลิ้น ดิ้นจนไม่สนห่าเหวอะไรใครทั้งนั้น! แรกๆก็อาจดูสวยงามตา แต่พอกล้องถ่ายมุมเงยสูงขึ้นเรื่อยๆ(จนวับแวมกางเกงใน)พร้อมฉายภาพสโลโมชั่น ผู้ชมก็น่าจะเริ่มรู้สึกถึงความอัปลักษณ์ มันจะมากเกินเลยเถิดไปไหม … ผมว่ายุคสมัยนั้น นี่อาจเป็นภาพที่สังคมยินยอมรับไม่ได้ ยิ่งเห็นกางเกงในวับแวบ (แบบท่าเต้นเพลง Can-Can) คงเต็มไปด้วยอคติรุนแรง ไม่ต่างจากภาพหญิงสาวนั่งเปลือยกายก่อนหน้านี้

การที่มุมกล้องค่อยๆเงยสูงขึ้นเรื่อยๆ ผมมองว่าต้องการสะท้อนถึงอนาคตที่สังคมมนุษย์จะค่อยๆให้ค่า (สโลโมชั่นคือการเน้นย้ำ เพิ่มความสำคัญ) กับอิสรภาพ การปลดปล่อย หลบหลีกหนี (Escapist) กิจกรรมสร้างความบันเทิงเหล่านี้ จักได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยกย่องเทิดทูนราวกับพระเป็นเจ้า … เป็นคำพยากรณ์ที่ถูกเผงเลยทีเดียว!

À propos de Nice

ระหว่างที่สาวๆกำลังเริงระบำอย่างสโลโมชั่น จะมีการแทรกภาพรูปปั้น ทูตสวรรค์ นางฟ้า (เป็นความขัดแย้งระหว่างภาพเคลื่อนไหว-รูปปั้นสงบนิ่ง) ถ่ายทำยังสุสาน Tombeau Des Époux Fauchon Pouillot นอกจากนัยยะการเปรียบเทียบถึงอนาคต กิจกรรมเหล่านั้นอาจได้รับการยกย่องเทิดทูน ไอดอลไม่ต่างจากพระเจ้า! ผมยังแอบรู้สึกว่าต้องการสื่อถึง(พระเจ้ายัง)เอือมละอา ดินแดนแห่งนี้ไม่ต่างจากเมืองคนบาป Sodom and Gomorrah

ซีเควนซ์สุดท้ายของหนังน่าจะคือหลังงานคาร์นิวัล เมื่อต้องเอารูปปั้น ขยะทั้งหลายมาเผาทำลาย แต่ภาพถ่านหิน กองเพลิง และป่องควัน สามารถสื่อถึงความตาย จุดจบของมนุษยชาติ และวันสิ้นโลกาวินาศได้เช่นกัน

ในส่วนของการตัดต่อ (ไม่มีเครดิต คาดว่าน่าจะโดยผกก. Vigo) หนังถือว่าไม่มีเนื้อเรื่องราว หรือทิศทางดำเนินเรื่อง (non-narrative) แต่ใช้เมือง Nice, France คือจุดศูนย์กลาง แล้วทำการแปะติดปะต่อ ร้องเรียงชุดภาพเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งพอสามารถแบ่งหมวดหมู่ได้ดังต่อไปนี้

  • อารัมบท, นำเข้าสู่เมือง Nice, France พบเห็นภาพถ่ายจากเบื้องบน ตัดสลับหาดทราย ต้นไม้ และบ่อนคาสิโน
  • ยามเช้า, พนักงานตระเตรียมเปิดร้านอาหาร คนงานกำลังเตรียมงานคาร์นิวัล
  • ยามสาย, ผู้คนมากมายยัง Baie des Anges (Bay of the Angels) ตามด้วยกิจกรรมล่องเรือ แข่งรถ เปตอง ฯ
  • ยามบ่าย, สาวๆไฮโซลงจากรถ แล้วไปนั่งกินลมชมวิวริมชายหาด
  • ยามเย็น, พบเห็นคนยากไร้ อาศัยอยู่ในสลัม เด็กๆวิ่งเล่น เป่ายิงฉุบกันอย่างสนุกสนาน
  • ยามค่ำ, ดินเนอร์ของบรรดาชนชั้นสูง พร้อมการเริงระบำอย่างหรูหรา
  • วันงานเทศกาลคาร์นิวัล Nice Carnival (Carnaval de Nice)
    • พบเห็นขบวนแห่อลังการ สาวๆเต้นระบำกันอย่างสนุกสนาน
    • ตามด้วยภาพขบวนแห่งานศพ มาถึงยังสุสาน พบเห็นรูปปั้นทูตสวรรค์ ถ่ายภาพป่องควัน และทุกสิ่งอย่างมอดไหม้ในกองเพลิง

ลีลาการตัดต่อของผกก. Vigo มีความจำเพาะที่สามารถแยกตนเองออกจากกลุ่ม ‘soviet montage’ หลายครั้งมักแทรกภาพซ้ำๆ คลื่นกระทบหาดทราย ต้นปาล์ม-ป่องควัน หญิงสาวเต้นระบำ ฯ เหล่านี้ไม่ใช่แค่ซุกซ่อนนัยยะเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังทำการเสียดสีล้อเลียน (Satire) และบางครั้งพยายามเปรียบเทียบถึงบางสิ่งอย่าง

ไฮไลท์คือการแทรกภาพสิ่งอัปลักษณ์ จระเข้ หญิงสาวเปลือยกาย ชายทาครีมกันแดดสีดำ ฯ ปรากฎขึ้นมาเพียงแวบเดียวเท่านั้น! ครั้งแรกๆอาจไม่ทันสังเกต แต่บ่อยครั้งย่อมเริ่มรู้สึกเอะใจ เกิดความฉงนสงสัย เหมือนว่ามันต้องมีลับลมคมใน เคลือบแฝงอะไรบางอย่าง ซึ่งเป้าหมายของผกก. Vigo ไปไกลกว่าที่พบเห็นในหนังอย่างมากๆ ต้องการสะท้อนสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งลับเล่ห์ลมคมในเหล่านี้

The aim of the social documentary is achieved when it succeeds in revealing the hidden meaning of a gesture, when it shows up the hidden beauty or the grotesqueness of an ordinary-looking individual. The social documentary must lay bare the mechanism of society by showing it to us in its purely physical manifestations.

And it must do this so forcefully that the world we once looked at with such indifference now appears to us in its essence, stripped of its falsehoods. The social documentary must rip the blinkers from our eyes.

Jean Vigo กล่าวถึงเหตุผลการแทรกภาพสิ่งอัปลักษณ์ ปรากฎขึ้นมาเพียงแวบเดียว!

โดยปกติสำหรับหนังเงียบ ผมมักไม่ค่อยกล่าวถึงบทเพลงประกอบ (Music Accompany) เพราะส่วนใหญ่เป็นการตีความขึ้นใหม่ หาใช่ความตั้งใจของผู้สร้าง สำหรับ À propos de Nice (1930) ก็เฉกเช่นเดียวกัน แต่ผมรับชมฉบับของ Michael Nyman แล้วเกิดความหงุดหงิดหัวเสียอย่างมากๆ แม้มีความไพเราะ ท่วงทำนองติดหู ใช้เพียงแอคคอร์เดียนบรรเลง แต่กลับไม่สามารถจับต้องอารมณ์ขันของหนังได้เลยสักนิด! กล่าวคือบทเพลงก็บรรเลงไป ไม่สนห่าเหวภาพเหตุการณ์ใดๆ


นีซ (Nice) เมืองที่มีความหรูหรา สะอาดสะอ้าน ภูมิอากาศอบอุ่น ท้องฟ้าคราม ทะเลแสนงาม เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อนช่วงวันหยุดฤดูหนาว แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นเพียงการสร้างภาพ เปลือกภายนอก เพราะสถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยบ่อนคาสิโน แถมเบื้องหลังยังซุกซ่อนสลัม ผู้คนมากมายต้องหาเช้ากินค่ำ ต่อสู้ดิ้นรน ไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ด้วยความชื่นมื่นอย่างที่ใครๆพบเห็น

The city of Nice is a microcosm of modern society, with all its contradictions and tensions. The rich and the poor, the old and the young, the workers and the bourgeoisie, all come together in Nice, but they do not live together in harmony.

The film shows the city as a place of pleasure and excitement, but also as a place of poverty and exploitation. It is a film about the beauty and the ugliness of modern life, and it is a film that challenges us to think about the world around us.

Jean Vigo

จุดประสงค์ของหนังแนว ‘city symphony’ มักชักชวนให้ผู้ชมมองหาแก่นแท้ (essence) หรือจิตวิญญาณของเมืองนั้นๆ ด้วยการสังเกตจากภาพภูมิทัศน์ ประเพณีวัฒนธรรม กิจวัตรประจำวัน รวมถึงวิถีชีวิตผู้คน แต่สำหรับ À propos de Nice (1930) ยังมีการแทรกใส่อารมณ์ผู้สร้าง สัมผัสได้ถึงความอัดอั้น เกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจต่อสภาพความเป็นอยู่อย่างรุนแรง!

อารมณ์ศิลปินของผู้สร้าง (auteur) ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้องได้จากลูกเล่นลีลา วิธีการนำเสนอ ไม่ใช่แค่ภาพเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งที่ดูอัปลักษณ์เท่านั้นนะครับ อย่างการปรากฎภาพเดิมๆซ้ำๆ (หรือที่มีรูปลักษณะคล้ายๆกัน) ตัดต่อเดี๋ยวช้า-เดี๋ยวเร็ว กวัดแกว่งกล้อง ภาพสโลโมชั่น ถ่ายมุมเอียง ก้ม-เงย ฯ แทบจะทุกเทคนิคภาพยนตร์ ล้วนเคลือบแอบแฝงนัยยะที่เป็นสไตล์ลายเซ็นต์ (Cinéma Vérité)

ความเกรี้ยวกราดของผกก. Vigo คือสิ่งที่สะสมมาตั้งแต่เมื่อครั้นยังเป็นเด็ก เคยต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆซ่อนๆ บิดาถูกไล่ล่าเพราะความเห็นต่างทางการเมือง รวมถึงอาการป่วยวัณโรค ร่างกายเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน ฯ ล้วนทำให้เขามองโลก(ในแง่ร้าย)ด้วยมุมที่แตกต่าง พบเห็นความอัปลักษณ์ จอมปลอม ผู้คนสวมหน้ากาก สร้างภาพหลอกหลวง พยายามปกปิดพฤติกรรมคอรัปชั่น ซุกซ่อนความโฉดชั่วร้ายไว้ภายใน

สำหรับเมืองนีซ (Nice) ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนสามารถหลบหนีจากโลกความจริง (escapist) ละทอดทิ้งความเหน็ดเหนื่อย ชีวิตที่ต้องอดรนทนทุกข์ยากลำบาก เดินทางมาท่องเที่ยว พักผ่อนคลาย ไม่ต้องสนใจห่าเหวอะไร แต่ในมุมมองผกก. Vigo นั่นคือการหลอกตนเอง ละเลยสภาพความเป็นจริง เพราะสถานที่แห่งนี้ก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่

In À propos de Nice, Jean Vigo shows us a city that is a trap, a place where people come to escape from reality, but where they only find more of the same.

นักวิจารณ์ André Bazin

ขณะที่ À propos de Nice (1930) นำเสนออารมณ์เกรี้ยวกราด ความอึดอัดอั้นของผกก. Vigo ที่สะสมอยู่ภายใน ผลงานเรื่องถัดไป Zéro de conduite (1933) เป็นการปะทุระเบิดโดยใช้การปฏิวัติของเด็กๆ สะท้อนความเพ้อฝันที่อยากพบเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับมหภาค (แต่สังคมยุคสมัยนั้นยังไม่สามารถยินยอมรับ หนังจึงถูกแบนห้ามฉาย กลัวทำลายความมั่นคงของรัฐ)


หนังฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1930 ณ โรงภาพยนตร์ Théâtre du Vieux-Colombier ในกรุง Paris เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ค่อนข้างผสมๆ เพียงชื่นชมแนวคิดใหม่ๆ วิธีการวิพากย์สังคม แต่รบกวนจิตใจเกินไป

À propos de Nice (1930) is not an easy film to watch. It is a film that is full of sadness and anger, and it is a film that will stay with you long after you have seen it. However, it is also a film that is important and necessary. It is a film that reminds us of the importance of social justice, and it is a film that challenges us to think about the world around us.

นักวิจารณ์ James Agee จากนิตยสาร The Nation

À propos de Nice (1930) is a harsh and uncompromising look at the dark side of human nature. The film is a series of impressionistic sketches of Nice, showing the city as a playground for the rich and a slum for the poor. The rich are seen gambling, yachting, and lounging on the beaches, while the poor are seen working in the factories, living in crowded slums, and begging in the streets.

The film is technically very well done, but its social commentary is heavy-handed and its message is depressing. It is not a film for the faint of heart.

นักวิจารณ์ Mordaunt Hall จาก The New York Times

อิทธิพลของ À propos de Nice (1930) มีมากล้นต่อบรรดาผู้กำกับ French New Wave อาทิ Jean-Luc Godard, François Truffaut, Jacques Rivette, Agnès Varda, Chris Marker ฯ

À propos de Nice (1930) was a revelation for me. It was the first time I saw a film that was so visually striking and so emotionally powerful. It showed me what cinema could be. It showed me that cinema could be used to express the truth about the world, and it inspired me to become a filmmaker.

Jean-Luc Godard

My favorite directors are Jean Vigo, Robert Bresson, and Jacques Tati. I admire Vigo’s use of montage, Bresson’s simplicity, and Tati’s humor.

François Truffaut

À propos de Nice (1930) is a film that has everything: poetry, humor, social commentary, and a beautiful use of montage. It’s a great inspiration to me, and I think it’s one of the most important films ever made.

Agnès Varda

ไม่ได้มีการระบุใน DVD/Blu-Ray ฉบับของ Criterion ว่าภาพยนตร์ À propos de Nice (1930) ได้รับการบูรณะแล้วหรือไร แต่คุณภาพก็ถือว่ายอดเยี่ยม (น่าจะแค่แสกนใหม่) รวบรวมอยู่ใน Boxset ชื่อว่า The Complete Jean Vigo พร้อมกับอีกสองเรื่อง Zéro de conduite (1933) และ L’Atalante (1934)

ถ้าผมมีโอกาสรับชม À propos de Nice (1930) เมื่อหลายปีก่อน คงยังไม่สามารถทำความเข้าใจรายละเอียดเล็กๆที่ปรากฎแวบขึ้นมา เพราะมันต้องใช้ประสบการณ์ การช่างสังเกต และรู้จักขบครุ่นคิดวิเคราะห์ เทียบไม่ได้กับ L’Atalante (1934) ที่มีความเรียบง่าย ตราตรึง ตรงถึงจิตวิญญาณ … แต่การรับชมหนังในปัจจุบันได้สร้างความก้ำๆกึ่งๆ บอกเลยว่าเลือกไม่ได้ À propos de Nice (1930) >= หรือ <= L’Atalante (1934) ต่างแสดงถึงอัจฉริยภาพ และความเป็นศิลปินของผกก. Vigo

ในบรรดา ‘city symphony’ ผมมีความหลงใหลคลั่งไคล้ À propos de Nice (1930) ไม่น้อยไปกว่า In Spring (1929) และถ้านับเฉพาะช่วงทศวรรษ 20s-30s ต้องถือว่าอยู่ในระดับ Top 3 อีกเรื่องก็คือ Regen (1929)

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | À propos de Nice เป็นเมืองที่ภายนอกดูวิจิตรงดงาม แต่ซุกซ่อนเร้นสิ่งอัปลักษณ์ไว้มากมาย
คุณภาพ | วิจิศิป์
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: