
A Room with a View (1985)
: James Ivory ♥♥♥♡
ดัดแปลงจากนวนิยายของ E. M. Forster (Howards End, A Passage to India) นำเสนอวิวทิวทัศน์แห่งความรัก ชักชวนเชื่อให้ตอบกลับความรู้สึกของหัวใจ แม้ขัดแย้งขนบสังคมประเทศอังกฤษก็ช่างหัวมันประไร แจ้งเกิดนักแสดงยังสาวสวย Helena Bonham Carter แถมด้วยบทบ้าๆบอๆของ Maggie Smith และ Daniel Day-Lewis
ผู้แต่งนวนิยาย E. M. Forster (1879-1970) เป็นเกย์ที่ไม่ได้ปกปิดเพื่อนฝูง แต่ก็ไม่เคยเปิดเผยรสนิยมทางเพศออกสู่สาธารณะ (เพราะสังคมยุคสมัยนั้นยังไม่สามารถยินยอมรับ กลัวจะนำความเสื่อมเสียสู่วงศ์ตระกูล) พัฒนาเรื่องราวของ A Room with a View (1908) มองผิวเผินเกี่ยวกับความรักหนุ่ม-สาว การตัดสินใจเลือกบุคคลที่ใช่ สนองความต้องการของหัวใจ ซึ่งนั่นสามารถเหมารวมถึงความรักหลากหลายสีสัน LGBTQIAN+ ได้ด้วยเช่นกัน
ผู้กำกับ James Ivory และคู่ขาโปรดิวเซอร์ Ismail Merchant ต่างก็เป็นเกย์ที่เคยปกปิดความสัมพันธ์ (แต่เมื่อสังคมเปิดกว้างขึ้น พวกเขาเลยไม่ต้องซุกซ่อนเร้นรสนิยมทางเพศอีกต่อไป) ต้องถือว่ามีความเข้าใจในธาตุแท้ตัวตน รสนิยมของ E. M. Forster เมื่อลิขสิทธิ์เปิดกว้าง ทำการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ถึง 3 เรื่อง! (จากนวนิยายทั้งหมด 6 เรื่อง) ประกอบด้วย A Room with a View (1985), Maurice (1987) และ Howards End (1992)
A Room with a View (1985) ไม่ใช่หนังเกย์นะครับ เพียงแค่มีอยู่ฉากหนึ่งที่อาจสร้างความตกตะลึง เชื่อว่าคงทำให้หลายๆคนถึงกับอ้าปากค้าง เป็นวิวทิวทัศน์ที่สนองตัณหาราคะของ Merchant Ivory โคตรๆเลยละ! ใช้ภาพนี้อธิบายแทนเลยก็แล้วกัน

โดยส่วนตัวบอกไว้ก่อนว่าไม่ค่อยชื่นชอบหนังเรื่องนี้นัก เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการ’ชวนเชื่อ’เรื่องความรัก ใช้คำพูดสวยหรูฟังดูดี สร้างค่านิยมให้ผู้ชมกระทำสิ่งตอบสนองตัณหา ตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ แล้วพยายามทำให้ฝั่งตรงข้ามอัปลักษณ์จนมิอาจยินยอมรับ … นั่นคือแนวคิดเสรีนิยม ขวาจัดสุดโต่ง มากเกินเพียงพอดี (คนฝั่งซ้ายรับชมหนังเรื่องนี้ น่าจะรังเกลียดขยะแขยงเข้ากระดูกดำเลยละ!)
แต่ผมก็มีความเพลิดเพลินในสัมผัสของ ‘Impressionist’ เคลิบเคลิ้มกับทิวทัศน์ ภาพถ่ายสวยๆ บทเพลงคลาสสิกสุดไพเราะ เหมือนได้ไปท่องเที่ยวพักผ่อนยังประเทศอิตาลี (มีกลิ่นอายของ Call Me By Your Name (2017) อยู่เล็กๆนะ) เรื่องราวโรแมนติก กุ๊กกิ๊ก คอมเมอดี้กวนๆ ยียวนกวนประสาทความเป็นผู้ดีอังกฤษ
และที่โคตรประทับใจสุดๆก็คือนักแสดง Helena Bonham Carter น่ารักน่าชังสุดๆ (ก่อนยังไม่หลุดโลกเหมือนปัจจุบัน) โดยเฉพาะความป้ำๆเป๋อๆของ Dame Maggie Smith และความเจ้าระเบียบ จู้จี้จุกจิกของ Sir Daniel Day-Lewis (คนอื่นๆก็ใช่ย่อยนะ Judi Dench, Rosemary Leach, Simon Callow, Denholm Elliott ฯลฯ) เป็นชุดนักแสดง (Ensemble Cast) ขยันกันขโมยซีน อมยิ้มไม่ยอมหุบ
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Edward Morgan Forster (1879-1970) นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ เกิดที่ Marylebone, Middlesex บิดาเป็นสถาปนิก เสียชีวิตโรคปอดบวมตอนบุตรชายอายุได้ 2 ขวบ มารดาจึงพาไปอาศัยอยู่ยัง Rocks Nest ใกล้กับ Stevenage Hertfordshire (บ้านที่เป็นแรงบันดาลใจเขียนนวนิยาย Howards End) ช่วงระหว่างศึกษาอยู่ King’s College, Cambridge ได้เป็นสมาชิกชมรม Apostles ถกเถียงปรัชญา ตั้งคำถามเกี่ยวกับศีลธรรม ซึ่งต่อมารวมกลุ่มกันในชื่อ Bloomsbury Group
หลังเรียนจบปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับสอง) Forster ออกเดินทางท่องเที่ยว-ทำงานยังหลายๆประเทศในยุโรป ซึ่งระหว่างพักอาศัยอยู่ Florence, Italy ช่วงหน้าหนาวปี 1901-02 บังเกิดความครุ่นคิดเขียนนวนิยายเรื่องแรก นำเสนอเรื่องราวรักสามเส้าระหว่าง Lucy Honeychurch, Miss Bartlett และ George Emerson (หญิงสอง-ชายหนึ่ง) แต่เมื่อกลับมาประเทศอังกฤษ พัฒนานวนิยายอีกเรื่อง Where Angels Fear to Tread (1905) จนแล้วเสร็จตีพิมพ์จัดจำหน่าย
หลังเสร็จจาก Where Angels Fear to Tread (1905) ก็กลับมาปรับปรุงเรื่องของ Lucy Honeychurch เพิ่มเติมตัวละคร Cecil Vyse, Mr. Emerson, Reverend Beebe, มารดาของ Lucy และพี่ชาย Freddy แต่เพราะยังหาข้อสรุปไม่ได้ เลยหันไปพัฒนานวนิยายอีกเรื่อง The Longest Journey (1907) จนแล้วเสร็จตีพิมพ์จัดจำหน่าย
และท้ายที่สุดนวนิยาย Lucy ก็ได้พัฒนากลายเป็น A Room with a View นำเสนอเรื่องราวรักสามเส้าระว่าง Lucy Honeychurch กับ George Emerson และ Cecil Vyse (หญิงหนึ่ง-ชายสอง) แล้วเสร็จตีพิมพ์จัดจำหน่ายปี 1908 อาจไม่ใช่ผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของ Forster แต่ได้รับคำชมว่ามีความละมุน อ่อนโยน พิถีพิถันที่สุด
Forster admits may not be his best, but which he says may very well be his nicest.
James Ivory
Forster มีความหึงหวงนวนิยายของตนเองมากๆ ไม่ยินยอมมอบลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นสื่ออื่น เมื่อปี 1946 สตูดิโอ 20th Century Fox เคยยื่นข้อเสนอ $25,000 เหรียญ สำหรับนวนิยาย A Room with a View แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ แม้มีการเสนอเงินทุนมากกว่านี้ก็ยังคงส่ายหัวชนฝน
กระทั่งการเสียชีวิตของ Forster เมื่อปี 1970 ลิขสิทธิ์นวนิยายทั้งหมดตกเป็นของ King’s College (เพราะเจ้าตัวไม่ได้แต่งงาน หรือตั้งทายาทดูแลกองมรดก) ช่วงปีแรกๆผู้จัดการลิขสิทธิ์ยังคงบอกปัดบรรดาผู้กำกับดัง Joseph Losey, Ismail Merchant & James Ivory, Waris Hussein ต้องการเคารพความต้องการของผู้เขียน, สิบปีให้หลังเมื่อศาสตราจารย์ Bernard Williams ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการทรัพย์สินคนใหม่ ด้วยความชื่นชอบในสื่อภาพยนตร์ จึงพร้อมเปิดกว้างให้บรรดาผู้ที่มีความสนใจเข้ามาพูดคุย แสดงวิสัยทัศน์
เกร็ด: ในชีวิตของ E. M. Forster มีผลงานบทกวี เรื่องสั้น แต่เขียนนวนิยายเพียง 5+1 เรื่อง ประกอบด้วย Where Angels Fear to Tread (1905), The Longest Journey (1907), A Room with a View (1908), Howards End (1910), A Passage to India (1924) และ Maurice เขียนขึ้นระหว่างปี 1913–14 ตีพิมพ์หลังเสียชีวิต ค.ศ. 1971 (เพราะไม่ต้องการเปิดเผยต่อสาธารณะว่าตนเองเป็นเกย์)
James Ivory (เกิดปี 1928) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Berkeley, California โตขึ้นเข้าเรียนวิจิตรศิลป์ University of Oregon School of Architecture and Allied Arts ติดตามด้วยปริญญาโทสาขาภาพยนตร์ University of Southern California School of Cinematic Arts, ระหว่างนั้นได้รู้จัก/ตกหลุมรักโปรดิวเซอร์สัญชาติอินเดีย Ismail Merchant ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ Merchant Ivory Production ตั้งแต่ปี 1964-2005 รวมเวลา 44 ปี เป็นคู่ขา(คู่รัก)ที่ร่วมงานกันยาวนานสุดในวงการภาพยนตร์ (บันทึกโดย Guinness World Records), เข้าชิง Oscar: Best Director สามครั้งไม่เคยได้รางวัล A Room with a View (1985), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) แต่ช่วงบั้นปลายเพิ่งมาคว้า Oscar: Best Adapted Screenplay จาก Call Me by Your Name (2017)
หลังกลับจากถ่ายทำ Heat and Dust (1983) ที่ประเทศอินเดีย Merchant & Ivory ได้รับการติดต่อจาก Prof. Bernard Williams เข้าไปพูดคุยที่ King’s College, Cambridge ชักชวนดัดแปลงนวนิยายของ E. M. Forster เพราะเห็นว่าพวกเขาเคยพยายามไล่ล่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ และน่าจะเป็นโปรดิวเซอร์-ผู้กำกับ มีความเหมาะสมที่สุดแล้วกระมัง
ในตอนแรก Prof. Williams อยากให้ดัดแปลงนวนิยาย A Passage of India แต่พวกเขาพร้อมใจกันบอกปัดปฏิเสธ เพราะว่า Heat and Dust (1983) เป็นโปรเจคที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมาก (เพิ่งกลับจากอินเดีย จะรีบร้อนกลับไปอีกทำไม) ความสนใจขณะนั้นของ Ivory กำลังหลงใหลประเทศอิตาลี เลยขอเลือก A Room with a View (1908) มาสร้างภาพยนตร์ก่อนใครเพื่อน
มอบหมายหน้าที่ดัดแปลงบทภาพยนตร์ให้ Ruth Prawer Jhabvala (1927-2013) นักเขียนนวนิยาย/บทภาพยนตร์ เกิดที่ Cologne, Germany บิดามีเชื้อสาย Jewish ทำให้ต้องอพยพครอบครัวสู่อังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งสอง, เข้าศึกษาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ Queen Mary College, แต่งงานกับสามีชาวอินเดีย Cyrus Jhabvala ย้ายมาปักหลัก New Delhi จนมีบุตรสาวสามคน ระหว่างเป็นแม่บ้านก็เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก To Whom She Will (1955), จนกระทั่ง The Householder (1960) ได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์โดย Merchand Ivory ทำให้มีความสนิทสนม กลายเป็นเพื่อนสนิท ร่วมงานขาประจำ
ผลงานเด่นๆของ Ruth Prawer Jhabvala อาทิ Heat and Dust (1983), A Room with a View (1986), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) ฯ
นอกจากเรื่องราวดัดแปลงจากนวนิยาย Ruth Prawer Jhabvala ยังนำรายละเอียดเล็กๆน้อยๆอ้างอิงจาก The Lucy Novels: Early Sketches for “A Room with a View” (1977) ของ Oliver Stallybrass ที่ทำการรวบรวมเบื้องหลัง จดบันทึก รวมถึงฉบับร่างแรกและร่างสองของ A Room with a View (1908) เพื่อให้เห็นพัฒนาการความคิดของผู้เขียนที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป
พื้นหลัง ค.ศ. 1907 ยุคสมัย Edwardian (1901-10), เรื่องราวของ Lucy Honeychurch (รับบทโดย Helena Bonham Carter) ออกเดินทางร่วมกับลูกพี่ลูกน้อง Charlotte Bartlett (Maggie Smith) มาท่องเที่ยวพักผ่อนยัง Florence, Italy พำนึกอาศัยอยู่โรงแรม Pensione Bertolini แต่ห้องของพวกเธอได้วิวติดถนน ทำให้ Charlotte บ่นพึมพรำจนเข้าหู Mr. Emerson (รับบทโดย Denholm Elliott) และบุตรชาย George Emerson (รับบทโดย Julian Sands) เลยอาสาสลับเปลี่ยนห้องพัก ได้ทิวทัศน์ฝั่งเมืองงดงามตา
วันถัดมาระหว่าง Lucy แอบ Charlotte ออกท่องเที่ยวในเมือง Florence ได้พบเห็นเหตุการณ์การต่อสู้ ความรุนแรง นั่นแทบทำให้เธอเป็นลมล้มพับ ได้รับความช่วยเหลือจาก George เล่นแง่เล่นงอนอยู่สักพัก พวกเขาต่างบังเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นภายใน, อีกวันถัดมาระหว่างออกท่องเที่ยวยังชนบทนอกเมือง Fiesole จู่ๆชายหนุ่มก็ฉวยโอกาสโอบกอดจุมพิต โดยที่หญิงสาวไม่ทันตั้งตัวเตรียมใจ
เมื่อ Lucy เดินทางกลับ Surray, England ก็ได้หมั้นหมายกับ Cecil Vyse (รับบทโดย Daniel Day-Lewis) แต่โชคชะตาก็ทำให้เธอพบเจอ Mr. Emerson และบุตรชาย George แม้พยายามผลักไส ตีตนให้ออกห่าง สุดท้ายแล้วเรื่องของความรักก็มิอาจต่อต้านทานเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ
Helena Bonham Carter (เกิดปี 1966) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Islington, London เมื่อตอนอายุห้าขวบ พบเห็นมารดาแสดงอาการสติแตก (nervous breakdown) ต้องรักษาตัวอยู่หลายปี ส่วนบิดาหลังผ่าตัดเนื้องอกกลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก แต่โชคดีที่ครอบครัวมีฐานะ เลยไม่ต้องทนทุกข์ยากลำบากในการใช้ชีวิต, ด้วยความที่เป็นเด็กเฉลียวฉลาด สอบได้เกรด A ทุกวิชา สามารถสอบเข้าเรียนต่อ King’s College, Cambridge แต่ตอนสัมภาษณ์บอกว่าอนาคตอยากเป็นนักแสดง ทางมหาวิทยาลัยกลัวเธอจะดรอปเรียนเลยปฏิเสธรับเข้าศึกษา จากนั้นได้รับโอกาสแสดงโฆษณา, ตัวประกอบซีรีย์ A Pattern of Roses (1983), เล่นบทน้ำครั้งแรก Lady Jane (1986), แจ้งเกิดโด่งดัง A Room with a View (1985), Howards End (1992), The Wings of the Dove (1997), Fight Club (1999), ขาประจำ(อดีต)สามี Tim Burton ตั้งแต่ Big Fish (2003), Charlie and the Chocolate Factory (2005), Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street (2007), Alice in Wonderland (2011), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ แฟนไชร์ Harry Potter (2007-11) บทบาท Bellatrix Lestrange, The King’s Speech (2010), Les Misérables (2012) ฯลฯ
รับบท Lucy Honeychurch หญิงสาวอายุ 19 ปี มีความแก่นแก้ว ร่าเริงสดใส หลงใหลในดนตรี บทกวี และกีฬาเทนนิส ทั้งยังชื่นชอบการท่องเที่ยว ไม่ชอบอยู่ภายใต้กฎกรอบ ครอบครัว ทนฟังเสียงซุบซิบนินทาของผู้คนในสังคม แม้ตอบตกลงหมั้นหมาย Cecil Vyse แต่จิตใจยังคงละเมอเพ้อถึงจุมพิตแรกกับ George Emerson พยายามพูดบอกตนเองว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่ถูกต้องเหมาะสม จนแล้วจนรอดก็มิอาจอดรนทน ท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้เสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ
แซว: นามสกุลตัวละครนี้ Honeychurch มาจากสองคำที่มีความตรงกันข้าม ซึ่งสามารถสื่อถึงชายหนุ่มสองคนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันเธอ
- Honey = น้ำผึ้ง สามารถสื่อถึงน้ำรัก รสชาติหวานฉ่ำ ชักชวนให้ George Emerson มารุมตอม
- Church = โบสถ์ สถานที่แห่งความเคร่งครัด ด้วยขนบกฎกรอบ ข้อปฏิบัติ เหมือนชายเจ้าระเบียบ Cecil Vyse
ผมไม่เคยรับชมผลงานของ Bonham Carter ก่อนกลายเป็นยัยเซิ้งหลังครองรักกับ Tim Burton มาก่อนเลยนะ! เห็นแล้วบอกเลยว่าคาดไม่ถึงอย่างรุนแรง มีความสวยสาว น่ารักน่าชัง ดั่งคำเรียก ‘English Rose’ ไม่ใช่แค่ดอกไม้ประจำชาติอังกฤษ แต่สามารถถึงเด็กหญิงหรือผู้สาวที่มีความงดงามตามธรรมชาติ
She was very quick, very smart, and very beautiful. Like Lucy as a young lady with a quantity of dark hair and a very pretty, pale, undeveloped face.
James Ivory กล่าวถึง Helena Bonham Carter
น่าเสียดายที่นอกจากภาพลักษณ์ และอุปนิสัยแก่นแก้ว ดื้อรั้น เอาแต่ใจ บทบาทนี้เมื่อเทียบกับตัวละครอื่นๆที่พยายามแก่งแย่งขโมยซีนความโดดเด่น ภาพรวมเลยดูจืดชืด ขาดสีสัน ธรรมดาทั่วไป (ดอกกุหลาบเมื่ออยู่ท่ามกลางดอกกุหลาบ ย่อมไม่มีความโดดเด่นประการใด)
แซว: น่าจะเพราะการเป็น Typecast เล่นบทบาท ‘English Rose’ อยู่เกือบๆทศวรรษ สร้างความเบื่อหน่ายขีดสุดให้ Bonham Carter เลยปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้กลายเป็นยัยเซิ้งโรคจิต กลับตารปัตรบุคลิกมาจนถึงปัจจุบัน
Julian Richard Morley Sands (เกิดปี 1958) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Otley, West Riding of Yorkshire เป็นบุตรคนที่สามจากพี่น้องห้าคน เมื่อโตขึ้นตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มได้บทสมทบ Oxford Blues (1984), The Killing Fields (1984), โด่งดั่งชั่วข้ามคืนกับ A Room with a View (1985) จนได้รับโอกาสจาก Hollywood แต่กลับเลือกปักหลักอยู่อังกฤษ เลยไม่ค่อยมีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ ผลงานเด่นๆ อาทิ Warlock (1989), Naked Lunch (1991), Leaving Las Vegas (1995), The Medallion (2003) ฯ
รับบท George Emerson ชายหนุ่มผู้เงียบขรึม ผิดกับบิดา Mr. Emerson ชอบพูดพร่ำเรื่อยเปื่อย แต่ต่างเป็นคนรักอิสรภาพ ครุ่นคิดรู้สึกอะไรก็พูดบอก แสดงออกมาตรงๆ ไม่ชอบอ้อมค้อมปกปิดบังตนเอง, George แรกพบเจอตกหลุมรัก Lucy Honeychurch แม้เธอจะพยายามผลักไส ขับไล่ให้ออกห่าง แต่เขาก็ยังหาโอกาสกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการจากภายใน
ผู้กำกับ Ivory ค้นพบ Sands จากบทบาทช่างภาพ The Killing Fields (1984) ไม่รู้เหมือนกันว่าไปเข้าตายังไง ฝีไม้ลายมือก็ไม่ได้มีความโดดเด่นสักเท่าไหร่ นอกจากการเล่นหูเล่นตา ท่าทางขรึมๆ หล่อเซ็กซี่ รูปร่างดี อวัยวะเพศใหญ่
แม้เป็นผลงานที่ทำให้ Sands โด่งดั่งชั่วข้ามคืน แต่บทบาทนี้ผมไม่รู้สึกเลยว่ามีความโดดเด่นน่าจดจำเลยสักนิด! ดูหมกมุ่น มักมาก สนเพียงแต่จะครอบครอง กอดจูบหญิงสาว โดยใช้คำพูดหวานเลี่ยน อ้างความรักทำให้หัวใจฉันเต้นแรง บังเกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นภายใน … ถ้าคุณได้ยินใครพูดแบบนี้พยายามหลบหลีกหนีไปให้ไกลเลยนะครับ คนแบบนี้มักไม่ได้มีความมั่นคงจริงใจต่อใคร ส่วนมากก็เพลย์บอย จิ๊กโกโล่ (แต่ถ้าคุณเป็นพวกชอบความตื่นเต้นเร้าใจ ไม่ต้องการผูกมัด ก็ตามสบายเลยนะ!)
นักวิจารณ์ฝั่งตะวันตกเหมือนจะประทับใจตัวละครนี้อย่างมากๆ เพราะการแสดงออกแต่ละอย่างที่คาดไม่ถึง มักขัดต่อขนบกฎกรอบทางสังคมยุคสมัยนั้น จึงถูกมองเป็นตัวแทนของเสรีชน คนหัวก้าวหน้า ขวาจัดสุดโต่ง สนเพียงอิสรภาพในการใช้ชีวิต
Dame Margaret Natalie Smith (เกิดปี 1934) นักแสดง ‘Triple Crown of Acting’ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Ilford, London มารดามีเชื้อสาย Scottish พบรักบิดาบนขบวนรถไฟสาย Glasgow-London, เมื่ออายุ 16 ตัดสินใจลาออกจาก Oxford High School เพื่อเข้าเรียนการแสดงยัง Oxford Playhouse กลายเป็นนักแสดงละครเวที เข้าตา Laurence Olivier ชักชวนมาเข้าร่วมคณะ National Theatre Company ติดตามด้วย Royal National Theatre, สำหรับภาพยนตร์เริ่มมีชื่อเสียงจาก Nowhere to Go (1959), Othello (1965), The Prime of Miss Jean Brodie (1969) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Actress, California Suite (1978) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress, A Private Function (1984), A Room with a View (1985), The Lonely Passion of Judith Hearne (1987), Gosford Park (2001), แฟนไชร์ Harry Potter (2001-11) รับบท Prof. Minerva McGonagall, Downton Abbey (2019) ฯลฯ
รับบท Charlotte Bartlett ลูกพี่ลูกน้องของ Lucy เป็นเหมือนผู้ปกครอง คอยช่วยเหลือดูแล ให้คำปรึกษาเวลาประสบปัญหา แต่เธอมักมีความหมกมุ่นในอะไรบางอย่าง ไม่สามารถปลดปล่อยวางจากการครุ่นคิด รู้สึกผิด ทำให้หลายครั้งดูป้ำๆเป๋อๆ กะเล่อกะล่า จนใครๆต่างพูดว่า ‘poor Charlotte’
แม้ผมรู้สึกว่า Smith อายุแก่เกินตัวละครไปนิด (บทบาทนี้น่าจะแค่หญิงวัยกลางคน อายุมากกว่า Bonham Carter ไม่กี่ปี) แต่ต้องชมในจริตอันจัดจ้าน ความดื้อด้าน หัวรั้น เต็มไปด้วยความหมกมุ่น ครุ่นคิดทำผิดอะไรก็ตีหน้าเซ่อซ่า ปากพูดว่าสำนึกผิดแต่จิตใจไม่เคยรับรู้สึกอะไร … ภาษาไทยสมัยนี้มีคำเรียก ‘มนุษย์ป้า’ ก็ใกล้เคียงตัวละครอยู่นะ
หลายคนอาจขำกลิ้งกับความดื้อด้านของ Smith ตั้งแต่ฉากแรกๆที่หมกมุ่นยึดติดกับวิวห้องพัก (และครึ่งหลังกับฉากเงินๆทอนๆ) แต่ผมหัวเราะจนท้องแข็งเมื่อตอนเธอเข้าฉากร่วมกับ Judi Dench ที่รับบทเป็นนักเขียนนวนิยาย Eleanor Lavish ผู้เต็มไปด้วยความสอดรู้สอดเห็น คารมเฉียบคมคาย ฝ่ายหนึ่งพูดอะไรก็ไม่รู้ อีกฝ่ายพยายามแสร้งว่ารับรู้ เล่น-หยอด-ตบมุก เข้าขากันอย่างสุดๆ
เกร็ด: Dame Maggie Smith และ Dame Judi Dench เป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่เริ่มเข้าวงการละครเวที ทั้งสองมีผลงานภาพยนตร์ร่วมกันอีก 4 เรื่อง Tea with Mussolini (1999), Ladies in Lavender (2004), The Best Exotic Marigold Hotel (2011) และ The Second Best Exotic Marigold Hotel (2015)
Sir Daniel Michael Blake Day-Lewis (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Kensington, London เป็นบุตรของนักกวี Cecil Day-Lewis (1904 – 1972) กับแม่ประกอบอาชีพนักแสดง Jill Balcon (1925 – 2009) ความสนใจในวัยเด็กมีเพียงสามอย่าง เกี่ยวกับงานไม้ การแสดง และตกปลา, ก่อนโตขึ้นตัดสินใจเลือกเป็นนักแสดงละครเวทีที่ National Youth Theatre ฝึกหัดอยู่หลายปีจนได้รับโอกาสเข้าเรียน Bristol Old Vic ภายใต้ John Hartoch, เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากบทสมทบเล็กๆ Gandhi (1982), แจ้งเกิดโด่งดังกับ My Beautiful Laundrette (1985), A Room with a View (1985), จากนั้นครุ่นคิดแนวทาง Method Acting ของตนเอง สวมบทบาทเป็นตัวละครตลอดการถ่ายทำตั้งแต่ My Left Foot (1989) จนคว้า Oscar: Best Actor ได้เป็นครั้งแรก, โกอินเตอร์ข้ามมาฝั่ง Hollywood ในผลงาน The Last of the Mohicans (1992), The Age of Innocence (1993), Gangs of New York (2002), คว้า Oscar ตัวที่สองจาก There Will Be Blood (2007) และตัวที่สาม Lincoln (2012)
รับบท Cecil Vyse คู่หมั้นของ Lucy Honeychurch เป็นคนเจ้าระเบียบ หล่อเนี๊ยบ ทึ่มๆทื่อๆ ขยับเคลื่อนไหวเหมือนหุ่นยนต์ ไม่ชอบการโอนอ่อนผ่อนปรน รับฟังความคิดเห็นผู้อื่นใด หรือกระทำสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจส่วนตน ส่วนเรื่องของความรักก็ดูเคอะๆเขินๆ ไร้เดียงสา ถูกตีตราว่าสนเพียงครอบครองเป็นเจ้าของ ไม่สามารถปรับตัว ทำความเข้าใจหัวอกของผู้อื่น
ผู้กำกับ Ivory มีความประทับใจ Day-Lewis จากการแสดงละครเวที Another Country ถึงขนาดให้เลือกระหว่าง George Emerson กับ Cecil Vyse ซึ่งเจ้าตัวเลือกบทบาทที่มองว่ามีความท้าทายกว่า และให้ความเห็นตัวละครนี้ว่า
the sort of person you imagine you might be in your worst nightmares.
Daniel Day-Lewis กล่าวถึงตัวละคร Cecil Vyse
แต่ผมมีความโคตรๆๆประทับใจตัวละครนี้อย่างมากๆ Day-Lewis ไม่ได้แค่พยายามแย่งซีนด้วยการสร้างเอกลักษณ์โดดเด่น แต่ยังใส่ความรู้สึกที่จับต้องได้ เมื่อถูกบอกเลิกก็สามารถสัมผัสถึงความเจ็บปวดรวดร้าวภายใน ช่างดูน่าสงสารเห็นใจ ใครบอกชายคนนี้ไม่ได้รัก Lucy สนเพียงครอบครองเป็นเจ้าของ ไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงตนเอง บุคคลผู้นั้นมองโลกด้านเดียว โคตรเห็นแก่ตัวสุดๆ
เอาจริงๆ Cecil Vyse สมควรเป็นอย่างที่ George Emerson ว่ากล่าวไว้ เป็นตัวแทนชาวอังกฤษที่ยึดถือมั่นในขนกฎกรอบ ธรรมเนียมประเพณี ไม่สามารถโอนอ่อนผ่อนปรนต่อสิ่งใดๆ แต่การแสดงของ Day-Lewis สร้างมิติให้ตัวละครจับต้องได้มากกว่าที่ควรเป็น ทำให้ผมเชื่อว่าเขาสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงตนเอง ด้วยความรักที่จักมั่นคง ซื่อสัตย์ จริงใจ … ผิดกับการแสดงของ Julian Sands ที่(คนละชั้นกับ Day-Lewis)ดูหมกมุ่น มักมาก สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการของหัวใจ มันช่างจอมปลอม หลอกลวง สักวันอาจต้องเลิกราหย่าร้าง นอกใจกันอย่างแน่นอน!
เมื่อตอนหนังเข้าฉายสหรัฐอเมริกา รอบปฐมทัศน์ของ My Beautiful Laundrette (1985) พอดิบพอดีวันเดียวกับ A Room with a View (1985) ซึ่งบรรดานักวิจารณ์ที่รับชมภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง ต่างตกตะลึง อึ้งทึ่งกับนักแสดงโนเนม Daniel Day-Lewis ในบทบาทที่แตกต่างกันสุดขั้ว เชื่อมั่นมากๆว่าอนาคตชายหนุ่มคนนี้ต้องก้าวไกลแน่ๆ
ถ่ายภาพโดย Tony Pierce-Roberts (เกิดปี 1945) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำของ Merchant Ivory ผลงานเด่นๆ อาทิ A Room with a View (1986), Mr. and Mrs. Bridge (1990), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) ฯ
งานภาพของหนังอาจไม่ได้มีลูกเล่นลีลา เทคนิคหวือหวา แต่ทำออกมาให้มีกลิ่นอายเหมือนภาพวาด Impressionist ด้วยการเลือกมุมกล้อง/วิวทิวทัศน์ ที่มีความระยิบระยับ สวยงามตา
หนังใช้เวลาถ่ายทำ 10 สัปดาห์ ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฏาคม ค.ศ. 1985 โดยทำการเดินทางไปยังสถานที่จริงทั้งหมด ประกอบด้วย
- ประเทศอิตาลี (ถ่ายทำ 4 สัปดาห์)
- ฉากภายใน Pensione Bertolini ถ่ายทำที่ Villa di Maiano
- ห้องพักของ Lucy ถ่ายทำที่ Quisisana e Ponte Vecchio
- วิวห้องพักแรก Via dei Girolami
- วิวห้องพักหลัง Via de Bardi
- จัตุรัส Piazza della Signoria
- จัตุรัส Piazza Santa Croce
- ฉากภายในโบสถ์ Basilica di Santa Croce
- ประเทศอังกฤษ (ถ่ายทำ 6 สัปดาห์)
- บ้านของตระกูล Honeychurch ถ่ายทำที่ Foxwold House, Brasted Chart
- บ้านของตระกูล Vyse ถ่ายทำที่ Linley Sambourne House, South Kensington
- งานหมั้นหมายถ่ายทำที่ Emmetts Garden, Sevenoaks
- Saint Mary’s Church, Chiddingstone
ภาพวาดเหล่านี้เป็นผลงานของ Folco Cianfanelli (เกิดปี 1959) จิตรกรชาวอิตาเลี่ยน เกิด-เติบโต-ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ยังเมือง Florence ร่ำเรียนวาดภาพจากบิดา ส่งไปประกวดคว้ารางวัลมากมาย จนได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานตั้งแต่อายุ 14 ถือเป็นบุคคลสำคัญ ความภาคภูมิใจของชาว Florence เลยก็ว่าได้
แต่ละภาพวาดย่อมแฝงนัยยะความหมายบางอย่าง แต่ผมคงไม่วิเคราะห์ทั้งหมด เอาเท่าที่รู้สึกว่าน่าสนใจ
- A Room with a View ปรากฎขึ้นพร้อมภาพที่มีลักษณะกรอบหกเหลี่ยม ห้อมล้อมรอบด้วยลวดลายอันสลับซับซ้อน ส่วนภายในนั้นมีนกสองตัว น่าจะเพศผู้-เมียกำลังพรอดรัก
- นี่เป็นภาพที่สื่อนัยยะของชื่อหนัง A Room with a View ไม่ได้หมายถึงแค่วิวภายนอกหน้าต่าง แต่ยังทิวทัศน์ภายในจิตใจ สวยงามที่สุดก็คือความรัก (ระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสอง)
- Helena Borham Carter (รับบท Lucy Honeychurch) มาพร้อมภาพกินรี หญิงสาวสยายปีก รำแพนหาง มีความงดงาม และไร้ซึ่งกรอบห้อมล้อม
- แสดงถึงความงดงามและอิสรภาพในการเลือกตัดสินใจของหญิงสาว
- Julian Sand (รับบท George Emerson) ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าศีรษะสัตว์อะไร ดูเหมือนแพะ แต่ครุ่นคิดว่าอาจจะเป็น Faun (มนุษย์แพะ) สัตว์ในเทพปกรณัมโรมัน ท่อนบนจากศีรษะลงไปถึงเอวเป็นมนุษย์แต่มีเขาและหูของแพะ อาศัยอยู่ในป่า ห่างไกลจากเมือง แต่มักช่วยบอกทางแก่มนุษย์ที่กำลังพลัดหลงทาง
- สังเกตจากลวดลายของใบไม้ สามารถสื่อถึงธรรมชาติ อิสรภาพในการธำรงชีวิต แม้มีกรอบห้อมล้อมแต่ก็ไม่อึดอัดคับแคบ เพียงพอดีกับรายละเอียดอื่นๆของภาพวาด
- Daniel Day-Lewis (รับบท Cecil Vyse) ห้อมล้อมกรอบสี่เหลี่ยม พื้นภายในดำมืดมิด นกคอยาวสองตัว ถือจับแจกันคนละฟากฝั่ง
- สัตว์คอยาวมักสื่อถึงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน มือจับแจกันคือการยึดติดกับบางสิ่งอย่าง ห้อมล้อมด้วยกฎกรอบสี่เหลี่ยมอันคับแคบ และสีดำสีของความมืดมิด โฉดชั่วร้าย




หลายคนอาจไม่ได้ทันสังเกตว่าภาพแรกและช็อตสุดท้ายของหนัง นำเสนอวิวภายนอกหน้าต่างของโรงแรม Pensione Bertolini แต่สลับมุมจากพื้นถนนตรอกซอกซอย มาเป็นทิวทัศน์ท้องฟากฟ้าเมือง Florence ซึ่งยังสะท้อนสภาวะทางจิตใจตัวละครได้อีกด้วย
- ตอนต้นเรื่อง Lucy ยังถือว่าชีวิตมืดแปดด้าน ไม่เคยพบเห็นความสวยงามจากทิวทัศน์ภายนอก หรือเรียนรู้จักความรัก (สิ่งสวยงามภายในจิตใจ)
- ช่วงท้ายหลังจาก Lucy เข้าใจเรื่องของความรัก (พบเห็นสิ่งสวยงามที่อยู่ภายในจิตใจ) ตัดสินใจหนีตาม George และสามารถพบเห็นทิวทัศน์แห่งอิสรภาพ


ความหมกมุ่นในวิวห้องพักของ Charlotte สามารถสื่อถึงการยึดติดในความครุ่นคิด ‘มุมมอง’ ของตนเอง เชื่อว่าสิ่งนั้นถูก สิ่งนี้ผิด ไม่สามารถโอนอ่อนผ่อนปรน ปรับเปลี่ยนแปลงโลกทัศนคติตนเอง หรือถ้าเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนผิดพลาด ก็มักมิอาจยินยอมรับความจริง ยังคงดื้อรั้นดึงดัน จนกว่าถูกต้อนให้จนมุมถึงแสร้งว่าไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น … มนุษย์ป้าโดยแท้!

เครื่องหมายคำถามที่ปรากฎสองครั้งในหนัง ล้วนอยู่ในสถานที่ที่สร้างความฉงนสงสัยให้ตัวละคร (และผู้ชม) ว่ามันมีนัยยะหมายความอะไรซ่อนเร้นอยู่หรือเปล่า?
- บนจานอาหาร แสดงถึงการเลือกบริโภค สนใจแต่สิ่งที่อยากรับประทาน (ลักษณะของเสรีชน) เศษหลงเหลือเกลี่ยเป็นเครื่องหมายคำถาม นี่ไม่ใช่มารยาทบทโต๊ะอาหารที่เหมาะสม แต่มันผิดอะไรที่จะทำแบบนี้?
- ด้านหลังรูปภาพ (ของใครก็ไม่รู้ละ) ชักชวนให้ตั้งคำถามว่ามันมีอะไรซุกซ่อนเร้นอยู่ ‘ข้างหลังภาพ’ หรือเปล่า? และการที่จู่ๆ George เดินเปิดประตูเข้ามาในห้องแล้วพลิกกลับรูปอีกด้าน (ให้เห็นฝั่งที่เป็นภาพถ่าย) สะท้อนทัศนคติที่แตกต่างตรงกันข้าม (ระหว่างตระกูล Emerson กับ Honeychurch) ครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก ไม่เหมือนชาวอังกฤษทั่วไป


ลำแสงสว่างยามเช้าสาดส่องผ่านหน้าต่าง เข้ามาในห้องพักบนเตียงนอนของ Lucy ตำแหน่งกึ่งกลาง(หัวใจ)พอดิบพอดี ซึ่งสามารถสื่อถึงการที่ตัวละครคือบุคคลอยู่ระหว่างสองฟากฝั่ง จักเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกซ้ายหรือขวา George หรือ Cecel ยังคงนอนอยู่หรือลุกขึ้นมาชื่นชมทิวทัศน์เช้าวันใหม่

ก่อนการชกต่อยสู้กันที่จัตุรัส Piazza della Signoria จะมีการร้อยเรียงรูปปั้นที่มีลักษณะ … ดูจากภาพเอาเองละกันนะครับ ถืออาวุธ พร้อมต่อสู้ กระทำร้ายอีกฝั่งฝ่าย (ในสภาพเปลือยเปล่าล่อนจ้อน)
ชาวอิตาเลี่ยน เลื่องลือชามากๆในการพูดบอก-แสดงออกความรู้สึกนึกคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ชอบส่งเสียงดัง ตะโกนโหวกเหวก ไม่พึงพอใจอะไรก็ด่าพ่อล่อแม่ ชกต่อยกระทำร้ายร่างกาย เรียกว่าเต็มไปด้วย ‘passion’ เป็นปกติสามัญในชีวิตประจำวัน
แซว: ใครเคยรับชมฟุตบอลยูโร 2020 (แต่จัดปี 2021) น่าจะสังเกตเห็นพฤติกรรมทีมแชมป์อิตาลีชุดนี้ ทุกคนใส่อารมณ์ ขึ้นเสียงดัง แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา คนที่ไม่เคยพบเห็นอาจรู้สึกว่าป่าเถื่อน ไร้อารยะธรรม แต่นั่นคือวัฒนธรรมธาตุแท้ของพวกเขาเลยละ สามารถกดดันทีมคู่แข่ง และสร้างพลังใจให้ตนเอง เมื่อรู้ว่าผิดถูกตำหนิก็พร้อมปรับปรุงตัวโดยทันที!




หลังจากพานผ่านเหตุการณ์คาดไม่ถึงที่จัตุรัส Piazza della Signoria ทั้งสองยืนสนทนาอยู่บริเวณริมสันเขื่อน มองเห็นธารน้ำกำลังล้นฝั่ง George พูดบอกออกมาว่าหัวใจกำลังเต้นสั่นระริกรัว มีบางสิ่งภายในปรับเปลี่ยนแปลงไป ต้องการโน้มตัวเข้าไปจุมพิต Lucy แต่เธอกลับไม่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอันใด (เพราะยังไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ ยังคงห้อมล้อมตนเองด้วยบริบทกฎกรอบทางสังคม)
ธารน้ำล้นเขื่อน สามารถแทนความรู้สึกที่เอ่อล้นออกมาจากภายใน หรือคือ George เกิดอาการตกหลุมรัก Lucy เพียงแต่หญิงสาวยังไม่เข้าใจเรื่องพรรค์นี้เท่านั้นเอง


George ปีนป่ายขึ้นไปบนต้นไม้ (ทำตัวเหมือนลิง) จากนั้นส่งเสียงตะโกนโหวกเหวก ประกาศกึกก้องให้โลกรับรู้ว่าตนเองกำลังตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง
- แง่มุมหนึ่ง การกระทำดังกล่าวช่างดูสิ้นคิด ไร้สาระ เหมือนสัตว์เดรัจฉานที่ไม่อาจควบคุมตนเอง สนแต่เพียงกระทำสิ่งตอบสนองกิเลสตัณหา อารมณ์ ความต้องการทางเพศ
- ในอีกแง่มุมหนึ่ง นี่คือความโรแมนติก อิสรภาพในการพูดบอก-แสดงออก ไม่จำเป็นต้องปกปิดซุกซ่อนเร้น ได้กระทำสิ่งตอบสนองเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ ตายไปก็ไม่มีอะไรให้ต้องสูญเสียใจ

สถานที่ที่ George จู่โจมเข้าไปขโมยจุมพิต Lucy ในนวนิยายคือท้องทุ่งดอกไวโอเล็ต (Violet) แต่หนังถ่ายทำนอกฤดูกาลจึงจำต้องเปลี่ยนมาเป็นท้องทุ่งข้าวบาร์เลย์ (Barley) ซึ่งมันคงละนัยยะความหมายเลยนะ!
- ดอกไวโอเล็ต คือสัญลักษณ์ของบริสุทธิ์ จริงใจ ซื่อสัตย์ รักนิรันดร์ (Everlasting Love)
- ซึ่งสีม่วง ยังสามารถมองเป็นสัญลักษณ์ของ LGBTQIAN+ ได้ด้วยเช่นกัน
- ทุ่งข้าวบาร์เลย์ ธัญพืชตระกูลหญ้า สำหรับใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน ในทางศาสนาหมายถึงการตื่นขึ้นของจิตวิญญาณ (Spiritual Awakening)
- อาจจะสื่อถึงธรรมชาติชีวิต และวินาทีแห่งการขโมยจุมพิตทำให้ Lucy บังเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นภายใน
Lucy เป็นหญิงสาวที่เติบโตขึ้นภายใต้ขนบกฎกรอบ ถูกครอบงำด้วยธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคม จึงไม่สามารถรับรู้เข้าใจพฤติกรรมแสดงออก/ภาษากายของ George (เมื่อตอนริมสันเขื่อน) แต่หลังจากโดนขโมยจุมพิต เลยเริ่มตระหนักถึงอาการสั่นไหว ความรู้สึกภายในจิตใจของตนเอง

ทะเลสาปศักดิ์สิทธิ์ (The Scared Lake) แม้มีลักษณะเป็นบ่อน้ำเล็กๆ แต่รายล้อมรอบด้วยแมกไม้ พืชพันธุ์เขียวขจี หลบซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางผืนป่า ช่างเป็นวิวทิวทัศน์งดงามตา เป็นสถานที่สำหรับ …
- จุมพิตแรกระหว่าง Cecil กับ Lucy โดยฝ่ายชายเอ่ยปากขออนุญาต แล้วหญิงสาวก็เปิดผ้าคลุมศีรษะยื่นหน้ามาจุมพิต แต่ติดที่แว่นตาทำให้การจูบครั้งนี้ช่างจืดชืด ไร้รสชาติ ไม่มีความน่าจดจำเลยสักนิด!
- พบเห็นอีกครั้งคือสามหนุ่มประกอบด้วย Freddy (น้องชายของ Lucy) ชักชวน George และ Mr. Beebe มาลงเล่นอาบน้ำ แต่ไปๆมาๆพวกเขาก็วิ่งไล่กวด ไม่รู้จะขัดจรวดกันหรือไร แลดูละม้ายคล้ายกินรีเล่นน้ำ (สลับเพศก็พอใช้ได้)
- ระหว่างที่ Cecil, Lucy และมารดา (ของ Lucy) บังเอิ้ญเดินผ่านมา พบเห็นสามหนุ่มเปลือยผ้าวิ่งไล่จับ สร้างความอับจนใจให้ทั้งสองฝั่งฝ่าย ยกมือขึ้นปิดแทบไม่ทัน

The Battle of San Romano ชุดภาพวาดสไตล์ Italian Renaissance ของ Paolo Uccello (1397-1475) จิตรกรชาว Florentine นำเสนอการรบพุ่งในยุทธการ Battle of San Romano (ค.ศ. 1432) ระหว่างกองทัพ Florentine vs. Sienese มีอยู่ทั้งหมด 3 ภาพวาด (ตั้งใจจะให้เป็น Triptych) ประกอบด้วย
- Niccolò Mauruzi da Tolentino at the Battle of San Romano (1438–40) ภาพสีฝุ่นผสมสีน้ำมันบนแผ่นไม้ป๊อปล่า (ไม้ทิวลิป) ขนาด 182 × 320 cm จัดแสดงอยู่ที่ National Gallery, London
- Niccolò Mauruzi da Tolentino unseats Bernardino della Carda at the Battle of San Romano (1435–55) ภาพวาดสีฝุ่นบนไม้ ขนาด 182 × 320 cm จัดแสดงอยู่ที่ Galleria degli Uffizi, Florence
- The Counterattack of Michelotto da Cotignola at the Battle of San Romano (1455) ภาพวาดบนไม้ ขนาด 182 × 317 cm จัดแสดงอยู่ที่ Musée du Louvre, Paris
ภาพที่เป็นพื้นหลังของช็อตนี้ก็คือ Niccolò Mauruzi da Tolentino at the Battle of San Romano (1438–40) ดูแล้วคงสื่อนัยยะถึงการเผชิญหน้าระหว่างสองฝั่งฝ่าย/ศัตรูของหัวใจ Cecil Vyse vs. พ่อ-ลูก Emerson แต่จะว่าไปช็อตนี้ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายสำนวนไทย ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ เสียกว่า!

นี่เป็นช็อตที่ทั้งสามตัวละครหลัก Cecil, Lucy, George กำลังยืน-นั่ง-นอน รักสามเส้า ตำแหน่งคนละทิศคนละทาง แสดงถึงความแตกต่าง ไม่ลงรอยกันและกัน แต่หนุ่มๆทั้งสอง (คนหนึ่งอ่านหนังสือ-อีกคนเล่นกีฬาเทนนิส) ต่างพยายามกระทำสิ่งถนัดเพื่อเรียกร้องความสนใจจากหญิงสาว (ซึ่งเหมือนจะเอาหมด เล่นเทนนิสไปพร้อมกับรับฟังการอ่านหนังสือ)
ความน่าขบขันของฉากนี้คือนวนิยายที่ Cecil กำลังอ่านออกเสียงอยู่นั้น ดันเป็นผลงานชิ้นใหม่ของ Eleanor Lavish (รับบทโดย Judi Dench) ซึ่งพรรณาเรื่องราวความรักระหว่าง George กับ Lucy เมื่อครั้งพวกเขาอาศัยอยู่ Florence, Italy

หลังจากได้รับฟังเรื่องราวจากนวนิยาย UNDER A LOGGIA ทำให้ George บังเกิดอารมณ์นึกครึ้ม หาจังหวะลับตา Cecil แล้วถาโถมเข้าไปโอบกอดจูบ Lucy อย่างดื่มด่ำเร่าร้อน เพราะครุ่นคิดว่าถ้าเธอไม่รักคงไม่เล่าเรื่องดังกล่าวให้ใครอื่น (แต่นั่นคือความเข้าใจผิดของ George เพราะว่า Lucy ไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ใคร แต่เป็น Eleanor รับรู้พบเห็นหรืออาจรับฟังมาจาก Charlotte)

คำโกหกของ Lucy (นั่ง-ยืน-แล้วยกมือปิดสองหู ด้านหลังชนชั้นวางหนังสือ = ความคร่ำครึ หัวโบราณ ยังคงยึดติดกับขนบกฎกรอบทางสังคม) ในการบอกเลิกรา George จักมี Charlotte เป็นประจักษ์พยานยืนอยู่ตรงทางออก (เพื่อไม่ให้เขากระทำการอันไม่เหมาะสมควร) ซึ่งหลังจากชายหนุ่มไม่สามารถโน้มน้าวใจเธอได้สำเร็จ เขาก็เดินตรงออกไปด้วยความหงุดหงิดหัวเสีย
He’s the sort who can’t know anyone intimately, least of all a woman. He doesn’t know what a woman is. He wants you for a possession, something to look at, like a painting or an ivory box. Something to own and to display. He doesn’t want you to be real, and to think and to live. He doesn’t love you. But I love you. I want you to have your own thoughts and ideas and feelings, even when I hold you in my arms.
George Emerson
นี่เป็นฉากบอกเลิกราที่จอมปลอม ลวงหลอกตนเอง ผมไม่รับรู้สึกถึงอารมณ์ร่วมใดๆ นั่นอาจเพราะการแสดงออกของ Lucy ดูเหมือนกลเกม การละเล่น เรียกร้องความสนใจ ขณะที่คำพูดของ George ก็โคตรจะเห็นแก่ตัว หลงตนเอง เอาดีเข้าตัว โบ้ยความชั่วให้คนอื่น


คำโกหกของ Lucy (เริ่มจากถือสองขวดเหล้า เดินจากห้องนั่งเล่นไปเก็บยังห้องสมุด แล้วตระเตรียมตัวขึ้นไปชั้นบน แสดงถึงจิตใจที่ผันแปรเปลี่ยน ทำเหมือนเป็นเรื่องเล่นๆไม่จริงจัง) ในการบอกเลิกรา Cecil พยายามสรรหาข้ออ้างฟังไม่ขึ้นบอกว่าเขาไม่ดีพอ … สิ่งสุดท้ายที่ Cecil ขอทำให้ในฐานะอดีตคู่หมั้น คือจุดไฟตะเกียง (ส่งมอบแสงสว่าง/ความอบอุ่นในจิตใจมอบให้เธอ) จากนั้นจับมือร่ำลา และขณะที่หญิงสาวเดินขึ้นบันได (ทำตัวเย่อหยิ่ง วางตัวหัวสูงส่ง) ชายหนุ่มกลับนั่งลงสวมรองเท้า (สภาพจิตใจตกต่ำ หมดสิ้นหวัง) บรรยากาศเต็มไปด้วยความมืดมิด เศร้าสลดหดหู่
ไดเรคชั่นของ Sequence นี้รวมถึงโคตรการแสดงของ Daniel Day-Lewis ทำให้ผมรู้สึกว่า Cecil มีความรักจริงๆต่อ Lucy ถ้าเธอเลือกจะพูดคุย สนทนาเปิดอก เชื่อว่าเขาย่อมสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่ยัยนี่นอกจากไม่มีใจให้ ยังใช้คำลวงล่อหลอก กะล่อนปลิ้นปล้อน ทำเหมือนเป็นเรื่องเล่นๆ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ … เป็นฉากที่ทำให้ผมเริ่มไม่ชอบขี้หน้า Lucy แต่โคตรสงสารเห็นใจ Cecil


นี่เป็นฉากที่ไม่มีนัยยะเชิงสัญญะซ่อนเร้นอยู่เลยสักกะนิด! หลงเหลือเพียงคำพูดพร่ำ เทศนาเสี้ยมสอนสั่ง ชักชวนเชื่อจากสุนทรพจน์ของ Mr. Emerson ว่าความรักคือสิ่งสำคัญสูงสุด ครุ่นคิดรู้สึกอย่างไรก็เปิดเผยบอกออกมา อย่าไปปกปิด ซุกซ่อนเร้น หรือทำการหลอกลวงตนเอง จงทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ … เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Lucy ก็มิอาจอดกลั้นฝืนทน ร่ำไห้ระบายทุกสิ่งอัดอั้นภายในออกมา
เห็นการเปรียบเทียบที่ผมกล่าวไปไหมเอ่ย? นี่เป็นฉากที่ไม่มีนัยยะเชิงสัญญะ = สุนทรพจน์ของ Mr. Emerson กล่าวว่าครุ่นคิดรู้สึกอะไรก็เปิดเผยบอกออกมา

ตัดต่อโดย Humphrey Dixon (เกิดปี 1944) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำของ Merchant Ivory เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Guru (1969) ก้าวขึ้นมามีผลงานเด่นๆ อาทิ Heat and Dust (1983), A Room with a View (1986), Mr. and Mrs. Bridge (1990), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Lucy Honeychurch เริ่มจากเมื่อครั้นเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนยัง Florence, Italy ได้พบเจอตกหลุมรัก George Emerson แล้วเดินทางกลับ Surrey, England เพื่อหมั้นหมาย Cecil Vyse แต่แล้วโชคชะตาก็นำพาให้ George เดินทางมาอังกฤษ เธอจึงต้องตัดสินใจเลือกว่าจะแต่งงานครองคู่อยู่ร่วมกับใคร?
- Lucy in Italy (George)
- Lucy และ Charlotte เดินทางมาถึง Pensione Bertolini และเรื่องวุ่นๆของวิวทิวทัศน์
- เดินท่องเที่ยวเมือง Florence ทำให้ Lucy พบเจอเหตุการณ์ความรุนแรงไม่คาดฝัน
- ขึ้นรถม้ามาท่องเที่ยวยังชนบท Fiesole เกิดเหตุการณ์ George ขโมยจูบ Lucy
- Lucy in England (Cecil)
- Cecil ประกาศหมั้นหมายกับ Lucy
- Cecil บังเอิญพบเจอ Mr. Emerson เลยชักชวนสองพ่อลูกมาเช่าบ้านพักอาศัยในช่วงสุดสัปดาห์
- เรื่องวุ่นๆป่วนๆ รักสามเส้าระหว่าง Lucy กับ George และ Cecil
- คำโป้ปดของ Lucy ตัดสินใจขับไล่ George บอกเลิกรากับ Cecil
- และการตัดสินใจของ Lucy ต้องการหลบหนีเสียงซุบซิบนินทาไปยังกรีซ แต่ก่อนถึงสถานีรถไฟดันพบเจอกับ Mr. Emerson โน้มน้าวจนเธอยินยอมใจอ่อน ตอบรับรัก George แล้วหนีตามกันไป
ในส่วนของข้อความ (Title Card) ที่ปรากฎแทรกคั่นระหว่างฉาก บางครั้งก็มาเป็นคำบรรยาย (Subtitle) คือชื่อตอนนำจากต้นฉบับนวนิยาย (เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนหนังมีการแบ่งออกเป็นตอนๆ) แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ บางช่วงไม่ขึ้นข้อความใดๆ ใช้คนละชื่อเลยก็มี ผมทำตัวหนาเอาไว้เฉพาะข้อความที่มีปรากฎเห็นตรงกัน
- Part One
- Chapter I: The Bertolini (มาเป็นป้ายชื่อโรงแรม)
- Chapter II: In Santa Croce with No Baedeker
- Chapter III: Music, Violets, and the Letter “S”
- Chapter IV: Fourth Chapter
- Chapter V: Possibilities of a Pleasant Outing
- Chapter VI: The Reverend Arthur Beebe, the Reverend Cuthbert Eager, Mr. Emerson, Mr. George Emerson, Miss Eleanor Lavish, Miss Charlotte Bartlett, and Miss Lucy Honeychurch Drive Out in Carriages to See a View; Italians Drive Them (มาเป็น Subtitle)
- Chapter VII: They Return
- Part Two
- Chapter VIII: Medieval
- Chapter IX: Lucy As a Work of Art
- Chapter X: Cecil as a Humourist
- Chapter XI: In Mrs. Vyse’s Well-Appointed Flat
- Chapter XII: Twelfth Chapter
- Chapter XIII: How Miss Bartlett’s Boiler Was So Tiresome (มาเป็น Subtitle)
- Chapter XIV: How Lucy Faced the External Situation Bravely
- Chapter XV: The Disaster Within
- Chapter XVI: Lying to George
- Chapter XVII: Lying to Cecil
- Chapter XVIII: Lying to Mr. Beebe, Mrs. Honeychurch, Freddy, and The Servants
- Chapter XIX: Lying to Mr. Emerson
- Chapter XX: The End of the Middle Ages
และมีอยู่ 4 ข้อความที่มีการปรับเปลี่ยน ไม่ได้ใช้ชื่อจากนวนิยาย
- In Santa Croce with no Baedeker ระหว่าง Lucy เที่ยวชมเมือง Florence ประมาณบทที่ 4-5
- Home เมื่อตอน Lucy เดินทางกลับอังกฤษประมาณบทที่ 8
- Officially engaged การหมั้นหมายระหว่าง Lucy กับ Cecil ประมาณบทที่ 10
- “UNDER A LOGGIA” – A romance set in Italy (มาเป็น Subtitle) แทนบทที่ 14-15
เพลงประกอบโดย Richard Robbins (1940-2012) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Merchant Ivory ผลงานเด่นๆ อาทิ Heat and Dust (1983), A Room with a View (1985), Maurice (1987), Mr & Mrs Bridge (1990), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) ฯ
เกินกว่าครึ่งของเพลงประกอบหนัง เรียบเรียงจากบทเพลงคลาสสิกเลื่องชื่อดังที่หลายๆคนอาจมักคุ้นหู อาทิ
- Giacomo Puccini: O mio babbino caro จากอุปรากร Gianni Schicchi (1917-18)
- Giacomo Puccini: Chi il bel sogno di doretta จากอุปรากร La Rondine (1917)
- Victor Herbert: อุปรากร Mademoiselle Modiste (1905)
- Carmen: Habanera (1875)
- Ludwig van Beethoven: Piano Sonata No. 21 in C Major, Op. 53 “Waldstein”, II. Introduzione: Adagio molto
- บรรเลงโดย Lucy
- Wolfgang Amadeus Mozart: Piano Sonata No. 8 in A Minor, K. 310 – I. Allegro maestoso
- บรรเลงโดย Lucy
- Franz Schubert: Piano Sonata No. 4 in A minor, Op. 164, D 537
- บรรเลงโดย Lucy
เริ่มต้นที่ The Pensione Bertollini ซึ่งทำการเรียบเรียง Puccini: O mio babbino caro (ภาษาอิตาเลี่ยน แปลว่า Oh my dear Papa) โดยตัดเสียงร้องขับร้องโซปราโน แต่ยังคงมอบสัมผัสโหยหวน คร่ำครวญ ครุ่นคิดถึงชายคนรัก ร่ำร้องขอบิดาอยากแต่งงาน ถ้าไม่ได้ครองคู่อยู่ร่วมจักขาดใจตายโดยพลัน … หนังใช้บทเพลงนี้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอิตาลี สถานที่แห่งความทรงจำของหญิงสาว ได้พบเจอชายหนุ่มทำให้หัวใจของเธอสั่นระริกรัว โดยไม่รู้ตัวนั่นคืออาการของคนกำลังมีความรัก
O mio babbino caro, mi piace, è bello, bello, Vo’ andare in Porta Rossa a comperar l’anello! Sì, sì, ci voglio andare! E se l’amassi indarno, andrei sul Ponte Vecchio, ma per buttarmi in Arno! Mi struggo e mi tormento! O Dio, vorrei morir! Babbo, pietà, pietà! Babbo, pietà, pietà! | Oh my beloved father, I love him, I love him, I’ll go to Porta Rossa, To buy our wedding ring! Oh yes, I really love him! And if you still say no, I’ll go to Ponte Vecchio, And throw myself below! My love for which I suffer, At last, I want to die! Father, I beg, I beg! Father, I beg, I beg! |
In the Piazza Signoria บทเพลงที่สร้างบรรยากาศลึกลับ ชวนพิศวง ราวกับกำลังจะมีเหตุการณ์บางสิ่งอย่างขึ้นยังจัตุรัส Piazza della Signoria ว่าไปท่วงทำนองคัทลอกเลียนแบบเรียบเรียงใหม่จากบทเพลง Beethoven: Symphony No. 7 แต่เอามาแค่ท่อนฮุคพอหอมปากหอมคอเท่านั้นนะครับ
The Embankment บทเพลงดังขึ้นหลังจาก Lucy และ George พบเห็นเหตุการณ์คาดไม่ถึงยังจัตุรัส Piazza della Signoria แล้วพวกเขายืนสนทนาอยู่บริเวณริมสันเขื่อน พูดบอกออกมาว่าหัวใจกำลังเต้นสั่นระริกรัว มีบางสิ่งภายในปรับเปลี่ยนแปลงไป … นี่เป็นบทเพลงที่แอบเปิดเผยความรู้สึกภายในของชายหนุ่ม-หญิงสาว มีความระยิบระยับ ค่อยๆไล่ระดับ ฟังแล้วเหมือนหัวใจกำลังเบ่งพองโต ซึ่งก็คือการถือกำเนิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’
ฉากจุมพิตท่ามกลางทุ่งไวโอเล็ตข้าวบาร์เลย์ ได้ยินบทเพลง Puccini: Chi il bel sogno di doretta จากอุปรากรสามองก์ La Rondine (The Swallow) (1917) ฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย Dame Kiri Te Kanawa ร่วมกับ London Philharmonic Orchestra รวมอยู่ในอัลบัม Verdi & Puccini (1983)
เกร็ด: บทเพลง Puccini: O mio babbino caro ก็เลือกใช้ฉบับขับร้องโดย Dame Kiri Te Kanawa จากอัลบัมเดียวกันนี้นะครับ
Chi il bel sogno di doretta (Who could say about Doretta’s dream) คือบทเพลงที่ตัวละครในอุปรากรครุ่นคิดประพันธ์ขึ้น เรื่องราวของหญิงสาวสวย Doretta ปฏิเสธคำขอแต่งงานของพระราชา เพราะในอดีตเคยตกหลุมรักนักเรียนหนุ่ม เลยต้องการทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจเท่านั้น!
Chi il bel sogno di Doretta potè indovinar? Il suo mister come mai come mai fini Ahimè! un giorno uno studente in bocca la baciò e fu quel bacio rivelazione: fu la passione! Folle amore! Folle ebbrezza! Chi la sottil carezza d’un bacio così ardente mai ridir potrà? Ah! mio sogno! Ah! mia vita! Che importa la ricchezza se alfine è rifiorita la felicità! O sogno d’or poter amar così! | Who could say About Doretta’s dream; Its mystery, how did it ever, How did it ever end? Ooh-wee! One day, a student Kissed her on the mouth, And that kiss was A revelation: It was sheer passion! Mad love! Mad intoxication! The subtle caress Of such an ardent kiss, Who could ever describe it? Ah! My dream! Ah! My life! Who cares about wealth If in the end flourishes Pure bliss! Oh golden dream, to be able to love like that! |
The Sacred Lake เป็นบทเพลงที่มอบสัมผัสอันละมุน นุ่มนวล สอดคล้องวิวทิวทัศน์พบเห็น ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ หนุ่มๆถอดเสื้อผ้า เปลือยกายล่อนจ้อน วิ่งโทงเทง กระโดดลงเล่นสระน้ำ (ชวนให้นึกถึงกินรีเล่นน้ำ อยู่เล็กๆ) บรรดาเก้งกวางทั้งหลาย อย่าลืมหยิบทิชชู่มาเช็ดน้ำ(ลาย)กันด้วยละ
A Room with a View นำเสนอวิวทิวทัศน์/มุมมองความรัก พานผ่านสายตาของ Lucy Honeychurch พบเห็นชายหนุ่มสองคนที่ลักษณะแตกต่างขั้วตรงข้าม
- George Emerson ผู้รักอิสรภาพในการครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก กระทำสิ่งต่างๆด้วยสันชาติญาณ สนองอารมณ์ความรู้สึก ตามเสียงเพรียกเรียกร้องจากหัวใจ มองความรักคือการให้เกียรติ เสมอภาคเท่าเทียม พร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลง เป็นทุกสิ่งอย่างตามใจเธอ
- Cecil Vyse หนุ่มเจ้าระเบียบ ยึดถือมั่นในขนบกฎกรอบ ธรรมเนียมประเพณี กระทำสิ่งต่างๆด้วยเหตุผล ทึ่มทื่อซื่อตรง ไร้ความโอนอ่อนผ่อนปรน ไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงตนเอง มองความรักคือการควบคุม ครอบงำ ราวกับวัตถุสิ่งข้าวของชิ้นหนึ่ง
ชายหนุ่มทั้งสองยังเป็นกระจกสะท้อนอะไรหลายๆอย่าง
- George คือตัวแทนชาวอิตาเลี่ยน ดินแดนแห่งเสรีภาพที่ผู้คนสามารถครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก โดยไม่ปกปิด/ซุกซ่อนเร้นความรู้สึกไว้ภายใน นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของความรักนะครับ (แบบที่ชายคนขับรถม้า โอบกอดจูบน้องสาวโดยไม่ใคร่สนคนเบื้องหลัง) เมื่อโกรธรังเกลียดไม่พึงพอใจใคร ก็พร้อมต่อสู้ชกต่อยกระทำร้ายร่างกาย (เหมือนเหตุการณ์กลางจตุรัส Piazza della Signoria) เรียกว่าเต็มไปด้วย ‘passion’ อันน่าพิศวงหลงใหล
- Cecil คือตัวแทนชาวอังกฤษ ยุคสมัยนั้นยังยึดถือมั่นในขนบกฎกรอบ ธรรมเนียมประเพณี ทุกสิ่งอย่างต้องมีพิธีรีตอง จะจุมพิตต้องพูดขออนุญาต ก่อนแต่งงานยังต้องมีงานหมั้นหมาย เชิญแขกเหรื่อมารับฟังเสียงซุบซิบนินทา ฯลฯ ถือว่าเต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่าย
เรื่องราวของ A Room with a View พยายามชี้ชักนำผู้อ่าน/ผู้ชม ชวนเชื่อให้มองการแสดงออกของ George คือสิ่งถูกต้องเหมาะสม ความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ เมื่อชายหญิงพบเจอแล้วบังเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นภายใน ไม่จำต้องใคร่สนอะไรใครอื่น แค่กระทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจก็เท่านั้น
ถ้าคุณมีความครุ่นคิดเห็นด้วยสอดคล้องกับหนัง ให้รับรู้ตัวไว้นะครับว่านั่นคือมุมมองอันสุดโต่ง ขวาจัด! ทัศนคติของเสรีชน ปัจเจกบุคคล คนหัวก้าวหน้า ที่มักไม่สนคุณค่าสิ่งต่างๆนอกจากผลประโยชน์ สนองความพึงใจ อะไรที่ไม่ขัดแย้งกับตนเอง เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าสิ่งที่ฉันครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก มีความถูกต้องเหมาะสมที่สุด
อะไรที่มันสุดโต่งเกินไป มักทำให้เรามืดบอดกับอีกฝั่งฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้าม อย่างตัวละคร Cecil Vyse จริงอยู่ชายคนนี้ถูกนำเสนอให้ดูทึ่มทื่อ เจ้าระเบียบ หัวโบราณ อนุรักษ์นิยม ไร้ความน่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่เขาจะเป็นเช่นนั้นตลอดไปเลยหรือ? ไม่ใช่ว่าความรักจักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายใน เช่นนั้นแล้ว Cecil (ถ้ามีความรักจริงๆต่อ Lucy) ก็น่าจะสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงตนเองได้สิครับ!
A Room with the View ไม่ใช่แค่ความสวยงามของชุมชนเมือง/ชนบท เมื่อเหม่อมองออกไปหน้าต่าง แต่ยังรวมถึงทัศนียภาพภายในจิตใจมนุษย์ ซึ่งสิ่งงดงามที่สุดมักพบเห็นจากสองบุคคล (ยุคสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องชาย-หญิงเท่านั้นนะแล้วครับ ชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือจะเพศอื่นก็ได้เช่นกัน) นั่นก็คือวิวทิวทัศน์แห่งความรัก
ถ้านวนิยาย/ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยผู้กำกับชายแท้ๆหรือหญิงแท้ๆ ผมค่อนข้างเชื่อว่าจะไม่รุนแรงสุดโต่งขนาดนี้! แต่เพราะทั้ง E. M. Forster และ James Ivory ต่างมีรสนิยมรักร่วมเพศ พวกเขาจึงพยายามพูดบอก-แสดงออก ทัศนะคติในเรื่องความรักของตนเองอย่างตรงไปตรงมา เต็มไปด้วยอารมณ์ราคะ ‘passion’ ทำไมต้องอ้อมค้อม เล่นลีลา ยื้อยักชักช้า แล้วเมื่อไหร่จะได้เสพสุขสมหวัง ขึ้นสู่สรวงสวรรค์สักที!
ด้วยทุนสร้าง £2.3 ล้านปอนด์ (=$3 ล้านเหรียญ) เสียงตอบรับถือว่าดีล้นหลาม ‘universal acclaim’ ฉายรอบปฐมทัศน์ ‘Royal Premiere’ ตั้งแต่ปลายปี 1985 แต่ออกฉายวงกว้างกลางปี 1986 (เลยได้ลุ้นรางวัล Oscar ต้นปี 1987), รายงานรายรับทั่วโลกประมาณ $21 ล้านเหรียญ ถือว่าทำกำไรคืนกลับมาหลายเท่าตัว!
- Academy Award เข้าชิง 8 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
- Best Picture พ่ายให้กับ Platoon (1986)
- Best Director
- Best Supporting Actor (Denholm Elliott)
- Best Supporting Actress (Maggie Smith)
- Best Adapted Screenplay ** คว้ารางวัล (Ruth Prawer Jhabvala ไม่ได้มาร่วมงาน James Ivory เลยขึ้นรับรางวัลแทน)
- Best Cinematography
- Best Art Direction ** คว้ารางวัล
- Best Costume Design ** คว้ารางวัล
- Golden Globe Award เข้าชิง 3 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
- Best Motion Picture – Drama
- Best Director
- Best Supporting Actress (Maggie Smith) ** คว้ารางวัล
- British Academy Film Awards เข้าชิง 14 จาก 12 สาขา คว้ามา 4 รางวัล
- Best Film ** คว้ารางวัล
- Best Direction
- Best Actress (Maggie Smith)** คว้ารางวัล
- Best Actor (Simon Callow)
- Best Actor (Denholm Elliott)
- Best Supporting Actress (Judi Dench) ** คว้ารางวัล
- Best Supporting Actress (Rosemary Leach)
- Best Adapted Screenplay
- Best Cinematography
- Best Costume Design
- Best Editing
- Best Original Score
- Best Production Design** คว้ารางวัล
- Best Sound
แม้โดยส่วนตัวจะไม่ค่อยชื่นชอบภาพยนตร์’ชวนเชื่อ’เรื่องความรัก ที่สุดโต่งจนไม่เห็นหัวอีกขั้วตรงข้าม แต่ก็มีความประทับใจในหลายๆองค์ประกอบของหนัง วิวทิวทัศน์สวยๆ เพลงคลาสสิกเพราะๆ โดยเฉพาะรวมทีมนักแสดงชาวอังกฤษ Helena Bonham Carter, Maggie Smith, Daniel Day-Lewis, Judi Dench ฯลฯ ใครเป็นแฟนๆพวกเขาเหล่านี้ห้ามพลาดเด็ดขาด!
แนะนำคอหนังรัก โรแมนติก สามเส้า (Love Triangle) คอมเมอดี้ล้อเลียนสังคมอังกฤษ ตามสไตล์ Merchant Ivory, หลงใหลภาพยนตร์แนว Impressionist ชื่นชมความงดงามของ Florence, Italy, ชื่นชอบนวนิยายของ E. M. Forster และสมาชิก LGBTQIAN+ ลองหาหนังเรื่องนี้มารับชมดูนะครับ
จัดเรต pg กับวิวหนุ่มๆอาบน้ำล่อนจ้อน
Leave a Reply