A Scanner Darkly (2006) hollywood : Richard Linklater ♥♥♥♡

ดัดแปลงจากนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของ Philip K. Dick นำประสบการณ์หลังหย่าร้างภรรยา (คนที่สี่) เสพติดยาจนเริ่มเห็นภาพหลอน ยังดีที่เข้ารักษาตัวในสถานบำบัดได้ทัน แต่เพื่อนของเขาหลายคนอาจไม่โชคดีเช่นนั้น, หนังมีความเป็น ‘สไตล์ Linklater’ มากไปนิด แต่ก็มืดหม่นและเจ็บจี๊ดถึงทรวงใน

‘สไตล์ Linklater’ คือการเดิน-คุย นักแสดงมักสนทนาอย่างปัญญาชน ต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์ถึงอาจสามารถทำความเข้าใจอะไรๆ ซึ่งในบริบทหนังเรื่องนี้ผมรู้สึกว่ามันเยิ่นเย้อมากเกินไปนิด เพราะสมองของตัวละครกำลังจะค่อยๆถูกบ่อนทำลายโดยยาเสพติด พวกเขา(และผู้ชม)จึงไม่มีความกระตือรือล้นสักเท่าไหร่ในการรับฟังเสวนาวิชาการ

แต่ก็ดูเหมือน Linklater พยายามนำเอาสไตล์ของตนเอง ‘เดิน-คุย’ มาทำการเสียดสีล้อเลียน สร้างความตลกขบขัน หัวเราะหึๆ ผ่อนคลายจากบรรยากาศอันตึงเครียดของเรื่องราว แต่คงไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึง Dark Comedy ดังกล่าว

และแม้หนังจะพยายามดัดแปลงอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับ แต่ก็มีหลายปมประเด็นถูกปล่อยทิ้งขว้าง ไม่ได้รับคำตอบ สร้างความสับสน ฉงนสงสัยให้ผู้ชม ทางทีดีแนะนำให้หานวนิยายอ่านก่อนล่วงหน้า (หรือหลังดูหนังจบก็ได้เหมือนกัน) เพื่อเติมเต็มความเข้าใจ และพบเห็นอัจฉริยภาพของ Philip K. Dick โคตรนักเขียนนวนิยายไซไฟแห่งครึ่งหลังศตวรรษที่ 20th


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Philip Kindred Dick (1928-82) นักเขียนนวนิยายไซไฟชื่อดัง เกิดที่ Chicago, Illinois พร้อมน้องสาวฝาแฝด แต่เธอเสียชีวิตเมื่อตอนอายุได้หกสัปดาห์, หลังครอบครัวหย่าร้างอาศัยอยู่กับมารดา เริ่มสนใจการอ่าน-เขียน ตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถม และค้นพบความชื่นชอบเรื่องราวไซไฟจากนิตยสาร Stirring Science Stories, ช่วงระหว่างร่ำเรียน University of California, Berkeley แม้ไม่สำเร็จการศึกษา แต่ก็เข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์วิชาประวัติศาสตร์, ปรัชญา, จิตวิทยา และสัตววิทยา

ตั้งแต่ปี 1951 ขณะอายุ 22 ปี เริ่มเขียนผลงานแรก เรื่องสั้นไซไฟ Roog (1951) นำเสนอผ่านมุมมองของสุนัข ครุ่นคิดว่าถังขยะคือแหล่งอาหารชั้นเลิศ ไม่เข้าใจทำไมเจ้านายถึงชอบนำอาหารไปเก็บไว้นอกบ้าน และครุ่นคิดว่าพนักงานเก็บขยะคือหัวขโมยจากโลกใบอื่น

แม้ผลงานเรื่องแรกจะไม่ได้การตีพิมพ์ แต่เขาได้รับโอกาสตีพิมพ์เรื่องสั้นอื่นๆลงนิตยสาร Planet Stories, If และ and The Magazine of Fantasy and Science Fiction ตามด้วยนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรก Solar Lottery (1955), ผลงานเด่นๆอื่นๆ อาทิ The Man in the High Castle (1962)**คว้ารางวัล Hugo Award: Best Novel, Do Androids Dream of Electric Sheep? (1968), Ubik (1969) ฯ

เมื่อปี 1971, Dick หย่าร้างภรรยา(คนที่สี่) Nancy Hackett หลังจากเธอย้ายออกจากบ้านที่ Santa Venetia, California ทำให้เขาหันมาพึ่งแอมเฟตามีน (amphetamine) เคยพยายามฆ่าตัวตายด้วยการเสพยาเกินขนาด (แต่ก็ยังสามารถรอดชีวิตมาได้) ขณะที่บ้านหลังใหญ่พอหลงเหลือตัวคนเดียว ก็เลยรับขอทาน/คนไร้บ้านมาพักอยู่อาศัย พัวพันกับอาชญากร พบเห็นพฤติกรรมแปลกๆ(ของคนติดยา)มากมาย

[M]y wife Nancy left me in 1970 … I got mixed up with a lot of street people, just to have somebody to fill the house. She left me with a four-bedroom, two-bathroom house and nobody living in it but me. So I just filled it with street people and I got mixed up with a lot of people who were into drugs.

Philip K. Dick

ช่วงปี 1972, เมื่อรู้สึกว่าอาการติดยาเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขอความช่วยเหลือจากโครงการ X-Kalay เพื่อช่วยบำบัดรักษาอาการ พอสามารถลดละ เลิกเล่นยาสำเร็จเมื่อปี 1974

Drug misuse is not a disease, it is a dicision, like the decision to step out in frount of a moving car. You would call that not a disease but an error in judgment.

ระหว่างการพักฟื้นก็เริ่มครุ่นคิดเขียนนวนิยาย A Scanner Darkly จากประสบการณ์ตรงเป็นกึ่งอัตชีวประวัติ (Semi-autobiographical) แต่บรรณาธิการเสนอแนะให้นำเสนอในเชิงไซไฟ โลกอนาคต เลยจำต้องเปลี่ยนแปลงพื้นหลัง (ดำเนินเรื่องมิถุนายน 1994) และเพิ่มองค์ประกอบ(ไซไฟ)อย่างกล้อง Webcam, โทรศัพท์มือถือ, Scramble Suit ฯ

Dick ใช้เวลาเขียน A Scanner Darkly เพียงสองสัปดาห์ แต่กว่าจะแก้ไขปรับปรุงแล้วเสร็จยาวนานถึง 3 ปี (ตีพิมพ์ปี 1977) เพราะทุกครั้งที่หวนระลึกถึงเหตุการณ์เคยเกิดขึ้น มันทำให้เขาเจ็บปวด ทุกข์ทรมานใจ บางวันก็ร่ำร้องไห้ออกมาอย่างไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงอุทิศนวนิยายให้ผองเพื่อน คนรู้จักที่ไม่สามารถเอาชนะอาการเสพติดยา

สำหรับชื่อนวนิยาย A Scanner Darkly ได้แรงบันดาลใจจากวลีในคัมภีร์ใบเบิ้ล Through a glass, darkly ซึ่งสื่อถึงการมองเข้าไปในกระจก/ด้านมืดของตนเอง จะทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริง(ของตนเอง)

For now we see through a glass, darkly; but then face to face: now I know in part; but then shall I know even as also I am known.

King James Version, 1 Corinthians 13:12

เกร็ด: A Scanner Darkly (1977) เป็นหนึ่งในสามนวนิยายขายดีที่สุดของ Philip K. Dick และได้รับการยกย่องว่าคือหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดอีกด้วย

สำหรับการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้ช่วงต้นทศวรรษ 90s ผู้กำกับ Terry Gilliam เคยแสดงความสนใจ แต่ไม่เคยมีการพัฒนาอะไรเป็นรูปเป็นร่าง, ต่อมาช่วงปลายทศวรรษ 90s นักเขียน Charlie Kaufman ได้รับมอบหมายจากผู้กำกับ Emma-Kate Croghan สัญชาติ Australian พยายามพัฒนาบทร่างอยู่หลายฉบับ แต่กลับไม่เป็นที่พึงพอใจจนโปรเจคถูกล้มพับไป (Kaufman ผันตัวไปเขียนบท Being John Malkovich (1999) จนโด่งดัง)


Richard Stuart Linklater (เกิดปี 1960) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Houston, Texas ช่วงวัยเด็กชื่นชอบเล่นฟุตบอล เบสบอล ขณะเดียวกันก็มีความสามารถด้านการเขียน เคยคว้ารางวัล Scholastic Art and Writing Award, ช่วงระหว่างทำงานยังแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ Gulf of Mexico เก็บเงินซื้อกล้อง Super-8 ก่อนย้ายมา Austin, Texas เข้าเรียนภาพยนตร์ Austin Community College จากนั้นร่วมก่อตั้ง Austin Film Society เมื่อปี 1985 ร่วมกับเพื่อนสนิท Lee Daniel สรรค์สร้างหนังสั้น Woodshock (1985) และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก It’s Impossible to Learn to Plow by Reading Books (1988)

แรกเริ่ม Linklater มีความสนใจดัดแปลงนวนิยายอีกเล่มของ Philip K. Dick เรื่อง Ubik (1969) แต่เพราะไม่สามารถติดต่อขอลิขสิทธิ์ และเจ้าเองก็ยังครุ่นคิดไม่ตกว่าจะนำเสนอออกมาเช่นไร “couldn’t quite crack it” จนกระทั่งรุ่นน้องนักแสดง Wiley Wiggins ระหว่างถ่ายทำ Waking Life (2001) แนะนำนวนิยาย A Scanner Darkly (1977) อ่านแล้วมีความลุ่มหลงใหล ใคร่สนใจ ต้องการใช้วิธีนำเสนอแบบเดียวกับ Waking Life ซึ่งสามารถควบคุมงบประมาณไม่ให้เกิน $10 ล้านเหรียญ (ผิดกับภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องอื่นๆของ Dick ที่มักทุ่มทุนมหาศาล)

หลังจาก Linklater พัฒนาบทเสร็จสิ้น นำไปเสนอต่อ Laura Leslie และ Isa Hackett สองบุตรสาว และเป็นผู้จัดการสินทรัพย์/ลิขสิทธิ์นวนิยายของบิดา Philip K. Dick เพื่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลง แม้ในตอนแรกพวกเธอจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับฉบับการ์ตูน (cartoon version) แต่เมื่ออ่านบท พูดคุย รับฟังวิสัยทัศน์ที่ต้องการซื่อตรงต่อต้นฉบับนวนิยาย เลยได้รับคำตอบตกลงในที่สุด

‘A Scanner Darkly’ is one of our father’s most personal stories because much of it is based on his own experiences. For this reason, it was especially important to us that it be done with all of the right intentions. His struggle with drug abuse is well documented, and he (and we) have witnessed many casualties along the way. The novel is filled with his humor and his own tragedies, and Richard’s screenplay managed to capture these key elements.

Laura Leslie และ Isa Hackett (สองบุตรสาวของ Philip K. Dick)

หนึ่งในข้อตกลงของการดัดแปลงนวนิยายเรื่องนี้ คือช่วงเวลาของหนัง (นวนิยายดำเนินเรื่องปี 1994) จึงขอให้มีความใกล้เคียงปัจจุบันมากที่สุด เลยขึ้นข้อความต้นเรื่องว่า 7 ปีต่อจากนี้ ซึ่งก็คือ ค.ศ. 2013


เรื่องราวของ Fred (รับบทโดย Keanu Reeves) ทำงานเป็นสายลับนอกเครื่องแบบ แทรกซึมเข้าไปในองค์กรค้ายารายใหญ่ โดยใช้ชื่อ Bob Arctor ซึ่งกำลังถูกสอดส่อง จับตามองโดยกล้องสอดแนมที่ทันสมัย (โดยไม่รับรู้ตัวว่า ตนเองกำลังสอดแนมตนเอง) เป้าหมายแท้จริงคือ James Barris (รับบทโดย Robert Downey Jr.) หัวโจ๊ก/พ่อค้ายารายใหญ่ที่มีพฤติกรรมหวาดระแวง พร้อมใส่ร้ายป้ายสี Bob เพื่อให้ตนเองหลุดรอดพ้นจากการถูกหมายจับกุม

เหตุผลที่ Fred ไม่รับรู้ตนเองว่าคือ Bob Arctor เพราะเขาเสพติดยาชื่อว่า ‘Substance D’ มากจนไปทำลายสมองซีกหนึ่ง เป็นเหตุให้เมื่อสวมบทบาทเป็นใครคนใดคนหนึ่ง ก็จะหลงลืมอีกตัวตนไปโดยสิ้นเชิง ผิดกับหัวหน้า Hank ปลอมตัวเป็น Donna Hawthorne (รับบทโดย Winona Ryder) เล่นละครตบตาว่าชื่นชอบการเล่นยา หลังจากแทรกซึมเข้าไปในองค์กรดังกล่าวก็พบว่า Bob ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆกับกลุ่มค้ายา (เป็นเพียงเจ้าของบ้านที่เลือกรับคนไม่ดูตาม้าตาเรือก็เท่านั้น) หลังเสร็จสิ้นภารกิจ (จับกุมตัว James Barris ได้สำเร็จ) จึงหาหนทางช่วยเขาให้เข้าศูนย์บำบัด New-Path แต่มันก็เกือบสายเกินเยียวยา (เพราะเสพมากจนเกือบสูญเสียสมองซีกนั้นไปแล้ว)


Keanu Charles Reeves (เกิดปี 1964) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Beirut, Lebanon มารดาเป็นคนอังกฤษ, บิดาชาวอเมริกันเชื้อสาย Chinese-Hawaiian ทอดทิ้งครอบครัวไปเมื่อตอนอายุ 3 ขวบ, อาศัยอยู่กับแม่เติบโตยัง Sydney, ตามด้วย New York City, แต่งงานใหม่ผู้กำกับ Paul Aaron ทำให้เขามีโอกาสคลุกคลีวงการภาพยนตร์ เคยชื่นชอบกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็ง เกือบจะได้เล่นทีมชาติแต่ตัดสินใจเป็นนักแสดงดีกว่า เริ่มมีชื่อเสียงจากแฟนไชร์ Bill and Ted, Point Break (1991), My Own Private Idaho (1991), Bram Stoker’s Dracula (1992), Little Buddha (1993), Speed (1994), ล่าสุดโด่งดังจาก Matrix Trilogy

  • Fred สายลับนอกเครื่องแบบที่เชื่อว่าตนเองมีบุตรสาวสองคน ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า Hank ให้สอดแนม Bob Arctor จากกล้องที่แอบติดตั้งไว้ (โดยไม่รู้ตัวว่าชายคนนั้นก็คือตนเองนะแหละ)
  • Bob Arctor เจ้าของบ้านหลังหนี่งที่ถูกภรรยาทอดทิ้งขว้าง เลยอุปการะ/อนุญาตให้ใครอื่นเข้ามาพักอาศัย หนี่งในนั้นคือ James Barris ชักชวนให้เสพติด Substance D โดยไม่รู้ตัวเริ่มไม่สามารถแยกแยะตัวตน มองเห็นภาพหลอน เคยครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตาย ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากแฟนสาว Donna พาเข้าศูนย์บำบัดได้ทันท่วงที
  • Bruce ชื่อใหม่ของตัวละครหลังเข้าศูนย์บำบัด สามารถลดละเลิกการเสพยา แต่ยังอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัว เลยถูกส่งมาทำงานฟาร์ม ก่อนค้นพบความจริงบางอย่างของสถานที่แห่งนี้

ในตอนแรกผู้กำกับ Linklater มีความลังเลเล็กๆว่า Reeves อาจบอกปัดบทนี้เพราะเพิ่งเล่นหนังไซไฟ Matrix Trilogy แต่เมื่อเขาได้อ่านบทก็ตอบตกลงทันที เพราะสนใจในลักษณะสองบุคลิกภาพของตัวละคร

While I was playing Arctor I learned about Fred, and when I was playing Fred I learned a bit about Arctor. They both definitely feel differently about themselves internally. There were days where it was confusing, but I got a lot of enjoyment out of the experience of playing those scenes and figuring it out

Keanu Reeves

การแสดงที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของ Reeves มักคือบทบาทที่ทำให้ผู้ชมรู้สีกสงสารเห็นใจตัวละคร (empathy) ฉันไม่ได้อยากกระทำสิ่งชั่วร้าย แต่บริบทรอบข้างล้วนบีบบังคับให้ต้องเป็นไป ซี่งทั้ง Fred และ Bob Arctor ว่ากันตามตรงแทบไม่มีอะไรแตกต่าง (ในบุคลิก/การแสดง) ยกเว้นเพียงหน้าที่การงาน สวม-ไม่สวมชุด scramble suit นอกนั้นก็เต็มไปด้วยความสับสน มีนงง หวาดระแวงสิ่งต่างๆรอบข้าง มันเกิดอะไรขี้นกับตัวฉัน?

เอาจริงๆนี่เป็นบทบาทที่น่าฉงนมากๆ เพราะการแสดงของ Reeves แทบไม่นำเสนอความผิดปกติทางกายภาพของตัวละคร (ยกเว้นตอนเริ่มเห็นภาพหลอน) จนกระทั่งข้อมูลทางการแพทย์เปิดเผยว่า สมองซีกหนี่งได้ถูกทำลายจนถีงขั้นวิกฤต จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างเร่งด่วน ผู้ชมจีงค่อยตระหนักว่าชายคนนี้มีอาการป่วยที่รุนแรง (และกำลังจะลงแดง) … มันอาจสะท้อนว่า คนป่วยไม่รับรู้ตนเองว่าป่วย/คนสองบุคลิกไม่รับรู้ตนเองว่ามีสองบุคลิก ฟังดูเป็นสิ่งน่าสะพรีงกลัวยิ่งนัก


Robert John Downey Jr. (เกิดปี 1965) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan เป็นบุตรของผู้กำกับ/นักแสดง Robert Downey Sr. สอนให้เขาสูบกัญชาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เลยไม่แปลกที่พอเติบโตขึ้นจะพัวพันกับยาเสพติดถึงครึ่งค่อนชีวิต, เริ่มมีผลงานการแสดงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ Pound (1970) แต่กว่าจะเริ่มมีชื่อเสียงจริงๆก็เมื่อเป็นสมาชิก Brat Pack เล่นหนังวัยรุ่น Tuff Turf (1985), Weird Science (1985), Less Than Zero (1987), ได้รับคำชมล้นหลามจาก Chaplin (1992) เข้าชิง Oscar: Best Actor, Tropic Thunder (2008) ลุ้นรางวัล Oscar: Best Supporting Actor และกลายเป็น ‘Iconic’ แห่ง MCU ในบทบาท Iron Man

รับบท James Barris พ่อค้ายาที่จับพลัดจับพลูมาอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกับ Bob Arctor, คงเพราะเสพยามานาน จีงเริ่มเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดมาก ถีงขนาดวางแผนใส่ร้ายป้ายสี Bob สร้างหลักฐานปลอมเพื่อให้ตนเองหลุดรอดพ้นจากการตกเป็นผู้ต้องสงสัย แต่เพราะกล้องสอดแนมติดอยู่รอบบ้าน ตำรวจจีงสามารถจับกุมตัวได้อย่างง่ายดาย

ในบรรดานักแสดงที่ประวัติเคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ชื่อของ Downey Jr. ค่อนข้างจะโด่งดังในช่วงขณะนั้น (ต้นทศวรรษ 2000s) เห็นว่าเพิ่งละเลิกถาวรได้ไม่นาน กำลังรอคอยโอกาส เป็นตัวเลือกเหมาะสมกับบทบาทนี้มากๆ

I thought it was probably the strangest script I’ve ever read. But I knew Keanu was doing it and Richard was directing it, and I thought, ‘these guys are pretty smart and know a good role. I wonder how this will turn out.’

Robert Downey Jr.

Downey Jr. หลังอ่านบทมีความลังเลใจอยู่เล็กๆ เพราะรู้สีกว่ามันมีความแปลกประหลาดมากๆ แต่ก็เชื่อในเพื่อนนักแสดงและผู้กำกับ นำประสบการณ์(ที่เคยเสพยา)มาปรับใช้ จนดูเหมือนเล่นเป็นตัวของตนเอง เพิ่มเติมคือพฤติกรรมหวาดระแวง วิตกจริต คลุ้มบ้าคลั่งเกินกว่าเหตุ ไม่มีใครสามารถคาดเดาว่าหมอนี่กำลังครุ่นคิด/ต้องการกระทำสิ่งใดกันแน่


Winona Laura Horowitz (เกิดปี 1971) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Winona, Minnesota บิดามีเชื้อสาย Jewish, หนี่งในพ่อทูนหัวของเธอคือ Philip K. Dick, วัยเด็กชื่นชอบการอ่าน แต่พอโตขี้นตัดสินใจเข้าเรียน American Conservatory Theater, San Francisco จากนั้นส่งวีดิโอไปออดิชั่น ได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Lucas (1986), เริ่มโด่งดังจาก Beetlejuice (1988), Edward Scissorhands (1990), Bram Stoker’s Dracula (1992), The Age of Innocence (1993), Little Women (1994)

รับบท Hank หัวหน้าของ Fred ปลอมตัวเป็น Donna Hawthorne แฟนสาวของ Bob Arctor แสดงความสนใจเพียงเสพยา แต่ลักลอบสังเกตพฤติกรรมของสมาชิกในบ้านหลังนี้ โดยมีเป้าหมายหลักคือ James Barris ขณะที่ Bob หลังรู้จักกันมาสักพักก็ตระหนักว่าคือผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้มีจิตใจชั่วหยาบช้า หลังเสร็จสิ้นภารกิจจีงหาหนทางให้ความช่วยเหลือ คาดหวังว่าเขาจะสามารถเอาชนะภัยตนเองได้สำเร็จ

Ryder เป็นนักแสดงที่ได้รับการจับตามองว่าจะเป็นดาวดาราดวงถัดไป แต่ชีวิตของเธอก็มีปัญหาส่วนตัวมากมาย ตั้งแต่ความสัมพันธ์กับ Johnny Depp ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์สร้างความวิตกจริต กระวนกระวาย และช่วงปี 2001-02 ถูกจับข้อหาลักขโมย ระหว่างนั้นเครียดหนักหันไปพี่งพายาเสพติด กลายเป็นช่วงขาลงทั้งชีวิตและอาชีพการงาน

บทบาทในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่าช่วยปลุกตื่นตัวเธอเองให้ตระหนักถีงความผิดพลาดในอดีต เล่นเป็นทั้งสาวติดยา (สวย ร่าน สนเพียงสนองตัณหา) และหัวหน้าที่ต้องช่วยเหลือชายคนรัก (เป็นห่วงเป็นใย โหยหาอาลัย) แม้ไม่ได้มีความโดดเด่น แต่ก็สร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม น้อยคนจะคาดคิดถีง (มองว่าเป็นการหักมุมก็ได้เช่นกัน)


Woodrow Tracy Harrelson (เกิดปี 1961) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Midland, Texas โตขึ้นเข้าเรียนที่ Hanover College จบ Bachelor of Arts สาขาละครเวทีและภาษาอังกฤษ เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงซิทคอม ภาพยนตร์เรื่องแรก Wildcats (1986), เริ่มมีชื่อเสียงจาก White Men Can’t Jump (1992), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Indecent Proposal (1993), Natural Born Killers (1994), The Hunger Games Series, Now You See Me Series, War for the Planet of the Apes (2017) เคยเข้าชิง Oscar มาแล้วสามครั้งจาก The People vs. Larry Flynt (1996), The Messenger (2009), Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (2017)

รับบท Ernie Luckman หนี่งในสมาชิกที่อาศัยอยู่ในบ้านของ Bob Arctor เป็นคนอีกคนที่เสพยาหนัก แต่เป็นคนซื่อตรงไปตรงมา มักถูกลวงล่อหลอกโดย James Barris ทำให้เกิดการต่อสู้/ขัดแย้งอยู่บ่อยครั้ง วันหนี่ง(เหมือนเสพยาเกินขนาด)จู่ๆล้มพับลงนอนกับพื้น รอดตายอย่างหวุดหวิด แต่มันอาจไม่มีครั้งหน้าถ้ายังฝืนตนเองอยู่อย่างนี้

บทบาทของ Harrelson ถือเป็นสีสันของหนังที่คอยตบมุก ตีหน้าเซ่อ ใสซื่อบริสุทธิ์ มักถูกลวงล่อหลอกโดยตัวละครของ Downey Jr. ให้ต้องมีความขัดแย้ง ไม่ลงรอย แตกต่างขั้วตรงข้าม (Luckman จะมีความไร้เดียงสา, ขณะที่ Barris เต็มไปด้วยความกะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวง)

Luckman has an innocence about him, even though he’s kind of crazy and messed-up in so many ways. It’s interesting that he’s the only one who’s not pretending—at least that’s the way I believed it and played it.

Woody Harrelson

ถ่ายภาพโดย Shane F. Kelly ขาประจำอีกคนของผู้กำกับ Richard Linklater เริ่มร่วมงานกันตั้งแต่ A Scanner Darkly (2006)

โดยปกติแล้วหนังของ Linklater จะให้อิสระนักแสดงในการดั้นสด (Improvised) ระหว่างการถ่ายทำ แต่เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากนวนิยายที่มีบทสนทนาเขียนไว้โดยละเอียด วิธีการของเขาเลยต้องเปลี่ยนมาเป็นซักซ้อม (Rehearsals) สองสัปดาห์ (ก่อนเริ่มถ่ายทำ) ขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้นักแสดงปรับเปลี่ยนบทพูดให้เข้ากับสไตล์ตนเอง ผลลัพท์จึงเป็นส่วนผสมของ ต้นฉบับนวนิยาย+บทดัดแปลงของLinklater+ขัดเกลาโดยนักแสดง

หนังใช้เวลาโปรดักชั่น 23 วัน (รวมตัดต่อแล้วเสร็จใน 6 สัปดาห์) ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล Panasonic AG-DVX100 โดยปักหลักอยู่ Austin, Texas และมีบางฉากภายนอกถ่ายทำยัง Anaheim, California

เอาจริงๆแล้วหนังจะถ่ายทำแบบ Waking Life (2001) ไม่ต้องสนสถานที่ การจัดแสง-เงา เฉดโทนสี บันทึกภาพนักแสดงให้นักอนิเมเตอร์ใช้อ้างอิงวาดภาพสู่ Animation แต่ความละเมียดไมในการทำงานของ Kelly และต้องการลดงาน (ของนักอนิเมเตอร์) ทุกอย่างเลยถูกทำให้ออกเหมือนถ่ายภาพยนตร์ทั่วๆไปเรื่องหนึ่ง

แซว: Robert Downey Jr. ใช้ประโยชน์จากการที่หนังจะถูกนำไปดัดแปลงเป็น Animation ด้วยการเขียนบทพูดของตนเองลงกระดาษ PostIT! แปะรอบสถานที่ถ่ายทำ สำหรับอ่าน/เผื่อลืมขณะกำลังเข้าฉาก (แล้วนักอนิเมเตอร์ ก็จะลบรายละเอียดเหล่านั้นออกภายหลัง)

สำหรับฉากในบ้านของ Bob Arctor เอาจริงแล้วสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ในสตูดิโอก็ยังได้ แต่ผู้กำกับ Linklater ตัดสินใจมองหาบ้านจริงๆกว่า 60 หลัง ก่อนพบเจอที่ Eric Circle อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ Southeast Austin ซึ่งเจ้าของบ้านคนเก่าจงใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างรกๆไว้แบบที่เห็นในหนัง ทีมงานแทบไม่ต้องปรับปรุงอะไรก็สามารถใช้ถ่ายทำได้เลย

ในส่วนของอนิเมชั่น ร่วมงาน Bob Sabiston อดีตนักวิจัยจาก MIT ผู้พัฒนาโปรแกรม Rotoshop (ใช้แนวคิดเดียวกับเครื่อง Rotoscope แต่เปลี่ยนมาทำบนคอมพิวเตอร์ ด้วยการนำเข้าภาพถ่าย/คลิปวีดีโอ แล้วศิลปินวาดเส้น ใส่ลวดลาย ลงสีสัน เลียนแบบการขยับเคลื่อนไหวของภาพถ่าย/คลิปวีดีโอนั้นๆ) ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Graphic Novel ที่มักเต็มไปด้วยรายละเอียด ความสมจริง ใกล้เคียงโลกความจริง (แต่ใช้ลายเส้นของภาพวาด)

แม้หนังจะใช้โปรแกรมอนิเมชั่นเดียวกับ Waking Life (2001) แต่การทำงานนั้นแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง! เพราะผลงานเก่าสามารถว่าจ้างศิลปิน 30+ คน วาดภาพที่มีสไตล์/งานศิลป์ แตกต่างกันไปโดยไม่มีปัญหาอะไร (เพราะเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในความฝัน และบุคคลผู้สนทนาปรับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆไม่ซ้ำกัน), ผิดกับ A Scanner Darkly ที่มีการดำเนินของเรื่องราวอย่างชัดเจน จำเป็นต้องควบคุมคุณภาพให้มีรายละเอียด ลายเส้น โทนเฉดสีสัน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด (มีเพียง scramble suit ที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา)

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อศิลปินใหม่ที่ว่าจ้างเข้ามา ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนโปรแกรม และปรับลายเส้น/งานศิลป์ให้มีทิศทางเดียวกัน ทำให้โปรเจคล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่วางแผนฉายกันยายน 2005 บานปลายมาถึงพฤษภาคม 2006 (รวมถึงงบประมาณบานปลายจาก $6.7 ล้านเหรียญ สู่ $8.7 ล้านเหรียญ)

ผมถือว่า scramble suit คือไฮไลท์การทำอนิเมชั่นของหนัง มันอาจจะแค่วาดภาพผู้คนแล้วใช้ Visual Effect ในการสลับสับเปลี่ยนไปมา แต่นัยยะของเจ้าชุดนี้คือความไร้ลักษณ์ สูญเสียตัวตน แม้จิตวิญญาณจะยังอยู่ภายใน (บุคคลที่สวมใส่) แต่ภายนอกกลับกลายเป็นใครก็ไม่รู้ ผันแปรเปลี่ยน (split personality) สู่อนันตภาพ

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า Animation ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ (กว่าภาพยนตร์คนแสดง Live-Action) คือการนำเสนอภาพหลอน จินตนาการครุ่นคิดของตัวละคร ผลกระทบจาก Substance D โดยเฉพาะแมลงสาบ (ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้า Robert Downey Jr. สวมชุดแมลงสาบในโลกความจริง มันจะออกมาพิศดารขนาดไหน)

อีกหนึ่งภาพหลอนที่อาจทำให้ใครหลายคนถึงกับสะดุ้งโหยง สั่นสะท้านทรวงใน แต่ผมกลับนึกถึงบทเพลงเชียร์ สับปะรด (มีตารอบตัว รอบตั้ว รอบตัว, มีตัวลายตา ลายต้า ลายตา, ฮูลล้า ฮุลลา, สับปะรด! สับปะรด!!)

หลายคนอาจสงสัยว่าดอกไม้สีฟ้าที่ตัวละครค้นพบช่วงท้าย มันคือภาพหลอนหรืออย่างไร? แต่เท่าที่ผมหาอ่านจากเรื่องย่อนวนิยาย พบว่านั่นคือดอกไม้จริงๆ (ไม่ใช่ภาพหลอน) สามารถนำไปสกัด/แปรรูป ส่วนผสมหนึ่งของ Substance D หรือที่เจ้าของฟาร์มแห่งนี้เรียกว่า ‘ดอกไม้แห่งอนาคต’

นั่นหมายความว่าผู้แต่ง Philip K. Dick ซ่อนเร้นนัยยะว่าสถานบำบัด X-Kalay (ที่เขาเคยเข้ารักษาตัวแห่งนี้) อาจมีการซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่าง ข้ออ้างบำบัดรักษาผู้ป่วยติดยามันก็แค่ภาพลักษณ์ภายนอก แท้จริงแล้วสถานที่แห่งนี้ … ก็แล้วแต่จะไปครุ่นคิดตีความกันเอาเองนะครับ

I saw death rising from the earth from the ground itself in one blue field.

Bruce

ตัดต่อโดย Sandra Adair (เกิดปี 1952) ขาประจำผู้กำกับ Richard Linklater ร่วมงานกันตั้งแต่ Dazed and Confused (1993) และได้เข้าชิง Oscar: Best Edited จากเรื่อง Boyhood (2014)

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Bob Arctor, Fred และ Bruce ทั้งสามคือตัวละครเดียวกันแต่พวกเขามีความเข้าใจในตนเองที่แตกต่างออกไป

  • Bob ใช้ชีวิตอยู่กับผองเพื่อนในบ้านหลังใหญ่ เสพติดยา และกำลังเริ่มเกิดภาพหลอน
  • Fred เข้าใจว่าตนเองเป็นสายลับ มีหน้าที่สอดแหนมบ้านของ Bob Arctor
  • Bruce คือบุคคลผู้สูญเสียความทรงจำในอดีต ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สถานบำบัด กำลังค่อยๆเริ่มต้นเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

โดยเรื่องราวจะนำเสนอสลับไปมาระหว่างมุมมองของ Bob และ Fred ก่อนช่วงท้ายเมื่อตัวละครถูกนำส่งเข้าสถานบำบัด ถึงค่อยเปลี่ยนมาเป็น Bruce (โดยมีอดีตเจ้านาย/แฟนสาว คอยให้กำลังใจอยู่ห่างๆ)

เราสามารถแบ่งเรื่องราวออกตามความรุนแรงของยาเสพติด ได้ทั้งหมด 4 ระยะ

  • ระยะเริ่มต้น: แนะนำตัวละคร Fred/Bob รวมไปถึงผองเพื่อน James Barris, Ernie Luckman และ Charles Freck
  • ระยะหวาดระแวง: ตั้งแต่ James ซื้อจักรยาน, รถเสียกลางทาง, นึกว่าขโมยเข้าบ้าน
  • ระยะภาพหลอน: เมื่อเสพยาหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นภาพหลอนแมลงสาบ ร่วมรับกับหญิงสาว (ที่ก็ไม่รู้ว่าใคร)
  • ระยะรุนแรง/ทำลายระบบประสาท: ถึงขั้นลงแดง จำต้องส่งสถานบำบัด ค่อยๆฟื้นฟูอาการ แต่ก็ได้รับผลกระทบต่อร่างกายอย่างร้ายแรง

ลึกๆผมรู้สึกเสียดายที่ผู้สร้างยึดถือมั่นใน ‘สไตล์ Linklater’ มากเกินไปนิด คือถ้าเลือกตัดทอนการสนทนายาวๆออกไปบ้าง จะทำให้หนังมีความกระชับ รวบรัด ไม่เยิ่นเย้อยืดยาวจนน่าเบื่อหน่าย ยกตัวอย่างฉาก Fred กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้คน, หรือ Charles Freck เห็นภาพจินตนาการของ James Barris ฯ มันไม่ได้มีความจำเป็นเลยสักนิด!

เพลงประกอบโดย Graham Eric Reynolds (เกิดปี 1971) นักเปียโน/แต่งเพลง ผู้นำวง Golden Arm Trio และ Golden Hornet ปักหลักอาศัยอยู่ Austin, Texas ซึ่งมีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Richard Linklater ตั้งแต่ปี 2003, ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานหนังสั้น Live from Shiva’s Dance Floor (2003), ติดตามด้วยภาพยนตร์ A Scanner Darkly (2006) และอีกๆหลายผลงานต่อจากนั้น

นี่เป็นโปรเจคที่ไม่ได้มีความเร่งรีบร้อนอะไร ใช้เวลาสรรค์สร้างนานถึงปีครึ่ง (เพราะต้องรออนิเมชั่นกว่าจะทำเสร็จ) เห็นว่าทุกกระบวนการทำในบ้าน/ห้องนอนของ Reynolds เขียนเอง เล่นร่วมกับ Golden Arm Trio ไม่ได้ใช้การสังเคราะห์เสียงเลยนะครับ ทั้งหมดล้วนเล่นลีลาเครื่องดนตรี และแทรกใส่ Sound Effect เพื่อสร้างสัมผัสเหมือนฝัน เหนือจินตนาการ พบเห็นภาพหลอน

งานเพลงของหนังล้วนดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ให้ความรู้สึกพิษวง ชวนสับสน วาบหวิวภายใน เหมือนตัวละครที่เริ่มแยกแยะอะไรๆไม่ค่อยออก เกิดความหวาดระแวง พบเห็นภาพหลอน กว่าจะรับรู้ตัวเองได้ว่าร่างกายมีความผิดปกติ อะไรๆก็อาจสายเกินแก้ไข

Little Blue Flowers เป็นบทเพลงที่มีความน่าสนใจไม่น้อย ดังขึ้นช่วงท้ายเมื่อตัวละครค้นพบดอกไม้สีน้ำเงิน งอกเงยอยู่บนพื้นดินใต้ต้นข้าวโพด ขณะที่เสียงประสานไวโอลินกำลังเคลื่อนคล้อยดำเนินไป เชลโลกลับค่อยๆคืบคลานอยู่ภายใต้ แทรกตัวขึ้นมาจนเด่นดังชัด และกลมกลืนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งเดียวกัน (ใช้เสียงเชลโล่แทนดอกไม้สีน้ำเงิน บางสิ่งอย่างชั่วร้ายซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใต้)

แซว: จะว่าไปโปสเตอร์หนัง บานเกล็ดก็สีน้ำเงิน ซุกซ่อนเร้นตัวละครทั้งหลายอยู่เบื้องหลัง

You know, if it wasn’t for drugs, our dad would still be writing today, instead of dying in 1982

Laura Leslie และ Isa Hackett (สองบุตรสาวของ Philip K. Dick)

A Scanner Darkly นำเสนอลักษณะทางกายภาพ-ชีวภาพ ผลกระทบต่อร่างกาย-จิตใจ ของผู้ใช้ยาเสพติด (ซึ่งก็คือตัวตนเองของ Philip K. Dick) ทั้งจากมุมมองภายนอก/บุคคลที่สาม (Fred มองผ่านกล้องสอดแนม) และภายในตนเอง/บุคคลที่หนึ่ง (ผ่านเรื่องราวของ Bob Arctor) พานผ่าน 4 ระยะอาการป่วย เริ่มต้น-หวาดระแวง-เห็นภาพหลอน-ทำลายระบบประสาท

ในมุมมองของ Dick พฤติกรรมเสพยาคือ ‘การตัดสินใจ’ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครบีบบังคับ ขึ้นอยู่กับอยากรู้อยากลอง เชื่อว่ามันสามารถทำให้เราหลบหนี (Escapist) ค้นพบความสุข เข้าใจสัจธรรมของโลกใบนี้ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนคือคำโป้ปด หลอกลวง เพราะไม่มีอะไรได้มาโดยปราศจากมูลค่าความสูญเสีย ซึ่งผลกระทบ/อันตรายจากศัตรูตนนี้ มันช่างเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย รุนแรง แสนสาหัสเกินไปจริงๆ

This has been a novel about some people who were punished entirely too much for what they did. They wanted to have a good time, but they were like children playing in the street; they could see one afther another of them being killed — run over, maimed, destroyed — but they continued to play anyhow.

Philip K. Dick

เมื่อตอนผมรับชม Dazed and Confused (1993) อ่านเจอเกร็ดหนังว่า ทุกคนในกองถ่ายล้วนเสพปุ้น ดื่มเบียร์ เมากัญชา ก็ไม่ได้เอะใจอะไร (เพราะเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นยุคสมัยนั้น) แต่พอมาถึงภาพยนตร์เรื่องนี้เลยค่อยครุ่นคิดตระหนักขึ้นได้ นี่ย่อมคือสิ่งที่ผู้กำกับ Richard Linklater เคยพานผ่าน ประสบพบเห็นมากับตัวแน่ๆ และสังเกตว่านักแสดงหลายคน Robert Downey Jr. หรือ Winona Ryder ล้วนเคยมีประสบการณ์/ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดมาทั้งนั้น

นั่นทำให้ลึกๆผมรู้สึกว่า A Scanner Darkly (2006) คือการไถ่โทษ ‘redemption’ ของผู้กำกับ Linklater (และทีมงาน/นักแสดงหลายๆคน) ที่ช่วงชีวิตหนึ่งเคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สำนึกแล้วว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ โชคดีไม่ได้หมกมุ่นเอาจริงจัง สามารถลดละเลิกก่อนร่างกาย/จิตใจจะเริ่มปฏิเสธต่อต้าน หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนสอนใจคนรุ่นใหม่ ครุ่นคิดให้ดี มีสติก่อนตัดสินใจลิ้มลองสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายเหล่านี้


ดั้งเดิมหนังมีกำหนดออกฉายกันยายน 2005 แต่ความล่าช้าในการทำอนิเมชั่น กว่าจะสำเร็จเสร็จสรรพก็ทันฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สายการประกวดรอง Un Certain Regard เมื่อปี 2006

ด้วยทุนสร้าง $8.7 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $5.5 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลก $7.7 ล้านเหรียญ หนังแนวนี้ยากที่จะได้ทุนคืน, ขณะที่เสียงตอบรับถือว่าค่อนข้างดี ส่วนใหญ่ชื่นชมในความแปลกใหม่ของ Animation ดึงดูดความสนใจเหมือนการสะกดจิต แต่ปัญหาส่วนใหญ่ล้วนจากไดเรคชั่นผู้กำกับ Linklater ตัวละครพูดคุยมากเกินไปจนน่าเบื่อหน่าย

[A Scanner Darkly] may be more fun to think about than he is to experience. We’re watching other people freak out, but the film is maddening to sit through because their freak-outs never become ours.

Owen Gleiberman เขียนลงนิตยสาร Entertainment Weekly

แม้ผมจะชื่นชอบเนื้อเรื่องราว ความแปลกในอนิเมชั่น และโคตรประทับใจหลายๆความคิดสร้างสรรค์ (โดยเฉพาะ scramble suit) แต่ก็รู้สึกว่าไดเรคชั่น ‘สไตล์ Linklater’ ค่อนข้างมีปัญหากับหนัง จริงๆคือถ้าตัดต่อให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อยืดยาว ภาพรวมอาจกลมกล่อมลงตัวได้มากกว่านี้

เอาจริงๆถ้าหนังมันไม่พูดมากเกินไป ผมก็อยากจัดให้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวที่กำลังอยากลิ้มลองรสชาติชีวิต ครุ่นคิดเสพยาเสพติด (หรือใครมีเพื่อนติดยา ลองเอาไปรับชมดูนะครับ) เรื่องราวของ A Scanner Darkly นำเสนอผลกระทบ(ของยา)ต่อสมองได้อย่างเจ็บจิ๊ดถึงทรวงใน

จัดเรต 18+ กับความหวาดระแวง คลุ้มบ้าคลั่งของคนติดยา

คำโปรย | A Scanner Darkly มีความเป็น ‘สไตล์ Linklater’ มากไปนิด แต่ก็มืดหม่นและเจ็บจี๊ดถึงทรวงใน
คุณภาพ | มืดหม่น
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: