A Separation

A Separation (2011) Iranian : Asghar Farhadi ♥♥♥♥♡

หนังอิหร่านเรื่องแรกที่คว้ารางวัล Oscar สาขา Best Foreign Language Film และ Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, หนังมีใจความเกี่ยวกับการเลือกของลูกสาววัย 11 ระหว่างพ่อและแม่ที่กำลังจะหย่าร้างกัน เธอต้องตัดสินใจว่าจะอยู่กับใคร, หนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถึงจะบอกว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับการเลือก แต่ตอนจบของหนังกลับเป็นปลายเปิด ไม่มีบทสรุปให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วลูกสาวเลือกใคร, กระนั้นสิ่งที่ผมอยากให้คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ทำก็คือ คิดหาคำตอบด้วยตนเองให้ได้ ว่าถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น จะเลือกฝั่งไหน ระหว่าง พ่อ แม่ หรือทางเลือกที่ 3 (ในหนังมันอาจไม่มีทางเลือกที่ 3 แต่ถ้าคุณคิดได้ก็ไม่ผิดที่จะมีนะครับ)

หนังเปิดเรื่องด้วย ชายหญิง (สามีภรรยา) กำลังขอให้ศาลตัดสิน หลังจากยื่นเรื่องฟ้องหย่าด้วยเหตุผลความขัดแย้งภายใน แม่ที่ต้องการไปต่างประเทศเพื่อหวังให้ลูกได้เรียนดีๆ ส่วนพ่อไม่ต้องการไปเพราะมีภาระต้องดูแลปู่ (พ่อของพ่อ) ที่เป็น Alzheimer, จบจากฉากนี้ ศาลยังไม่ได้ตัดสินให้ทั้งสองหย่ากัน แต่ทั้งคู่ก็แยกกันอยู่ แม่ย้ายออกไปอยู่กับครอบครัวของเธอ ส่วนลูกสาวเลือกอยู่กับพ่อ

เรื่องราวของหนังนำเสนอผ่านมุมมองของพ่อเป็นส่วนใหญ่ แต่เราจะเห็นลูกสาวซึ่งเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การกระทำของพ่ออย่างใกล้ชิด โดยมีแม่คอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ กับเหตุการณ์ที่พิสูจน์คุณค่าจริยธรรมของคน เพื่อตนเอง-เพื่อคนอื่น เมื่อถึงตอนจบพ่อและแม่หย่าร้างกันจริงๆ เด็กสาวจะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายไหน

Asghar Farhadi ผู้กำกับสัญชาติ Iranian ที่เริ่มมีผลงานในยุค 2000s ยังไม่มีชื่อเรียกยุคของผู้กำกับคนี้ แต่ด้วยสไตล์และวิธีการทำหนัง ผมถือว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับยุค New Wave ของอิหร่านหรือจะเรียกว่า Iranian Third Wave ก็ยังได้ (Abbas Kiarostami ถือเป็น Second Wave นะครับ), อายุอานามยังถือว่าน้อย (เกิดปี 1972) แต่ก็สามารถสร้างชื่อเสียงโด่งดังได้ในระดับนานาชาติ เคยได้รางวัล Silver Bear สาขา Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Berlin จากภาพยนตร์เรื่อง About Elly (2009) และหนังเรื่องถัดมา A Separation นับเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 5 ได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั่วโลก กวาดรางวัลนับไม่ถ้วน

สไตล์ของ Farhadi คือ สะท้อนสังคมและโครงสร้างชนชั้นในระบบ (Social & Structure), ด้วยความที่เขาเริ่มทำหนังเรื่องแรกปี 2003 จะถือได้ว่านำเสนออิหร่านยุคใหม่ (Modern Iran) ที่ยังมีความแตกต่างระหว่างชนชั้น เพศ แนวคิด ความเชื่อ จริยธรรมในสังคม, นี่ผมวิเคราะห์จากการดู A Separation เรื่องเดียวนะครับ (ปกติการวิเคราะห์สไตล์ของผู้กำกับ ควรที่จะได้เห็นผลงานของเขาอย่างน้อย 2-3 เรื่อง แล้วถึงจะมองเห็นจุดร่วมที่เป็นไสตล์) นี่แสดงถึงสไตล์ แนวคิดของ Farhadi ได้รับการนำเสนอออกมาชัดมากในหนังของเขา ซึ่งอิทธิพลก็ชัดเจนมากว่ามาจาก Abbas Kiarostami ไม่น้อยเลยละ

บทดั้งเดิมโดย Asghar Farhadi และ Mark Matcott เปิดเรื่องมาด้วยคำถาม คนสองคนกำลังจะหย่ากัน … ทำไม?, ผมเห็นจากหนัง 3 เรื่องของ Kiarostami ทุกเรื่องจะเริ่มต้นด้วยเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ คล้ายกันนี้ ไม่รู้คนทำหนังประเทศนี้ได้แนวคิดมาจากไหนกัน แต่ก็ดีครับ สร้างปริศนาตั้งแต่ต้นเรื่องแบบนี้ ทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกอยากรู้ อยากค้นหาคำตอบอย่างมาก

Leila Hatami รับบท Simin แม่/ภรรยา ที่ต้องการพาลูกไปเรียนต่างประเทศ หนังไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไม แต่คงเพราะทัศนคติของเธอต่อสังคมประเทศอิหร่านที่ยังปิดกั้นและมีข้อจำกัดด้านการศึกษา แม้เธอจะเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่าย ใจเย็น มีนิสัยโอนอ่อนผ่อนตาม แต่เพื่ออนาคตของลูกจึงต้องการทำทุกอย่างให้ดีที่สุด, Hatami น่าจะเป็นนักแสดงหญิงที่ดังมากๆคนหนึ่งใน Iran เห็นว่าพูดได้หลายภาษาด้วยทั้ง French, German และภาษาอังกฤษ ในปี 2014 ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินภาพยนตร์สายประกวดในเทศกาลหนังเมือง Cannes

Peyman Moaadi รับบท Nader พ่อ/สามี เขาเป็นคนเลือดร้อน เห็นแก่ตัว หยิ่งในศักดิ์ศรี แต่รักครอบครัว และต้องการทำทุกอย่างให้ครอบครัวมีความสุข การมีพ่อเป็น Alzheimer ที่แม้จะเป็นภาระ แต่เขาก็ไม่ยอมทอดทิ้ง เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณที่เคยเลี้ยงดูมา, Moaadi เริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนบทแล้วกลายเป็นนักแสดง ต้องถือว่าเป็นคนที่มี charisma สูง สามารถชักจูงให้เราเห็นว่า เขารักครอบครัวจริงๆ และยอมทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว โดยไม่สนว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด

มันน่าคิดนะ ว่าทำไมสองคนนี้ถึงแต่งงานกัน ทั้งๆที่แนวคิด อะไรๆตรงข้ามกันขนาดนี้, ผมไม่รู้การแต่งงานในอิหร่านยังเป็น คลุมถุงชน หรือมีพ่อสื่อแม่สื่ออยู่หรือเปล่า (ดูหนังมา 3 เรื่อง ยังไม่เห็นเรื่องพรรค์นี้เลย) เพราะถ้าเป็นอย่างที่ผมกล่าวมา มันคงไม่แปลกที่ทั้งสองจะแต่งงานกัน แบบไม่ได้รู้จักซึ่งกันและกัน ทำให้หลังจากมีลูกและใช้ชีวิตร่วมกันมานานหลายปี จึงเพิ่งจะเห็นและเข้าใจตัวตนแท้จริงของฝ่ายตรงข้าม

การที่ผมไม่เห็นแนวรักๆใคร่ๆ ในหนังของประเทศอิหร่านเลย นี่อาจวิเคราะห์ได้ว่า ประเทศนี้ผู้คนไม่มีความสนใจในหนังรักโรแมนติก, แล้วพื้นฐานมาจากอะไร? ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้อกำหนดทางศาสนาที่เคร่งครัดมากๆ ขนาดการถูกเนื้อต้องตัวระหว่างชายหญิง ยังถือเป็นเรื่องต้องห้าม นี่ทำให้ผู้คนไม่สามารถชื่นชมหรือแสดงออกซึ่งการแสดงความรักออกมาได้เลย หนังโรแมนติกจึงไม่สามารถสร้างได้ (หรือถ้าสร้าง ก็อาจถูกแบน) ด้วยเหตุนี้ จึงสังเกตได้ว่าหนังอิหร่านจะมีความ realism อยู่มาก หาไม่พบความ fantasy หรือ romance เสียเท่าไหร่

Sarina Farhadi รับบท Termeh ลูกสาวของ Simin และ Nader ในหนังเธออายุ 11 นะครับ (ตัวจริงตอนนั้นอายุ 12 แล้ว), เธอเป็นลูกสาวของผู้กำกับ Asghar Farhadi ที่แสดงหนังมาแล้ว 2 เรื่อง (เรื่องหนึ่งแม่กำกับ อีกเรื่องพ่อกำกับ) ปัจจุบันเธอน่าจะยังอยู่ในวัยเรียน แต่ไม่รู้จะยังเล่นหนังอีกไหม ก็แอบหวังว่าจะได้เห็นเธออีกนะครับ เป็นเด็กหญิงที่น่ารักมากๆคนหนึ่ง โตขึ้นมาคงสวยมากๆทีเดียว การแสดงของเธอถือว่าใช้ได้เลย ทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ถึงความสับสนอลม่านในจิตใจ, เด็กช่วงวัยนี้กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น (ผู้หญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นก่อนผู้ชาย ช่วงอายุ 11-12 ก็เริ่มมีเมนส์แล้ว) จึงเริ่มที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง สังเกต เรียนรู้ ทำความเข้าใจการกระทำของผู้ใหญ่ จะว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดของชีวิตผู้หญิงเลยก็ได้ ว่าโตขึ้นเธอจะเลือกเป็นแบบไหน, การเลือกของเธอในหนังเรื่องนี้ ระหว่าง พ่อหรือแม่ เป็นการเลือกว่า เธอจะดำเนินชีวิตเป็นแบบพ่อหรือเป็นแบบแม่, เอาจริงๆเด็กวัยนี้บางทีก็เลือกไม่ได้นะครับ เพราะเขาอยากมีทั้งพ่อและแม่ ต้องการเรียนรู้ ศึกษา เข้าใจ มุมหนึ่งอยากเป็นแบบพ่อ มุมหนึ่งอย่างเป็นแบบแม่ เด็กควรที่จะค่อยๆเรียนรู้ เลียนแบบ ค่อยๆคิด ไม่ใช่รีบตัดสินใจ

ผมดูหนังเรื่องนี้ได้ข้อคิดหนึ่งที่อยากเสนอแนะไว้ กับคุณสามีภรรยาที่ตั้งใจจะเลิกรากัน ถ้าเลือกได้ “อย่าหย่าร้างกันตอนลูกอายุระหว่าง 10-15” เด็ดขาดนะครับ นี่ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กที่สำคัญที่สุด ถ้าพ่อแม่เลิกกันช่วงนี้ เขาจะเกิดความสับสนไม่เข้าใจตนเอง และอาจโทษตัวเองว่ามีส่วนให้พ่อแม่เลิกกัน โตขึ้นมีแนวโน้มสูงมากๆที่จะกลายเป็นเด็กมีปัญหา, ถ้าจะเลิก ทนไปตอนลูกเข้ามหาลัย อายุ 16-17 เขาเข้าใจได้แน่ (อาจสนับสนุนด้วย) หรือถ้าเลิกก่อนเด็กจะเริ่มรู้เรื่อง ตอน 7-8 ขวบ เขาอาจจะมีปมเรื่องไม่มีพ่อหรือแม่ แต่จะไม่สับสนวุ่นวายชีวิตเหมือนตอนจดจำพ่อแม่ได้ แล้วอยู่ดีๆทั้งสองไม่ได้อยู่ด้วย

ถ่ายภาพโดย Mahmoud Kalari (The Wind Will Carry Us-1999) งานภาพเรื่องนี้ถือว่าใช้ได้เลยนะครับ มีวิธีการนำเสนอที่ผ่านการคิดมาเป็นอย่างดี ใช้ภาพ mid-shot เสียเป็นส่วนใหญ่, ฉากเปิดเรื่องที่เราจะเห็นแต่ สามี/ภรรยา โต้เถียงกันในศาล ทั้งสองอยู่เฟรมเดียวกัน ไม่มีตัดไปที่อื่น ไม่เห็นเจ้าหน้าที่ (แต่ได้ยินเสียง) นี่เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพของคนสองคน และทั้งสองก็เปรียบเสมือนกระจกที่เป็นด้านตรงข้ามซึ่งกันและกัน, ฉากจบของหนังก็มีลักษณะคล้ายๆกัน เราจะเห็น สามี/ภรรยา ยืนอยู่คนละฝั่งของเฟรม คนหนึ่งอยู่ด้านหน้า คนหนึ่งอยู่ด้านหลัง มองไปคนละทิศทาง มีประตูกระจกกันระหว่างทั้งสอง (มีรอยแตกที่กระจกด้วย)

หนังอิหร่านชอบถ่ายในรถมาก นี่อาจเป็นอีกหนึ่งอิทธิพลจาก Kiarostami นะครับ ที่เขาได้ชื่อเล่นเรียกว่า Car-Scene Master, การถ่ายในรถ ทำให้เราเห็นทัศนภาพของเมืองโดยรอบ (แม้จะไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ แต่ก็พอเห็นสภาพวิถีชีวิตของผู้คนได้บ้าง) ถ้าต้องการให้เห็นข้างหน้าจะถ่ายจากเบาะหลัง และถ้าต้องการให้เห็นคนขับ จะถ่ายจากเบาะข้างๆคนขับ

ตัดต่อโดย Hayedeh Safiyari นี่เป็นหนังที่ไม่ค่อยรู้เวลานะครับ การตัดต่อใช้ความรวดรัดและรวดเร็วแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ทำให้หนังมีความเร็วสูงมาก แต่ด้วยเวลา 122 นาที กลายเป็นอัดแน่นด้วยเนื้อหา, หนังใช้มุมมองของพ่อเป็นหลักในการเล่าเรื่อง เว้นแต่ช่วงตอนที่แม่บ้านรับจ้างมาทำงาน ที่เปลี่ยนไปใช้มุมมองของเธอ และตอนที่พ่อติดคุก จะใช้มุมมองของแม่, ผมสังเกตหลายๆฉากเราจะเห็นลูกสาว แอบอยู่ในซีนเสมอ เสมือนว่าเธอคอยแอบสังเกตพฤติกรรมของพ่อ-แม่อยู่ตลอดเวลา (ผมชอบมองหาเธอว่าแอบอยู่ตรงไหน มากกว่าดูสองตัวละครทะเลาะกันอีกนะครับ)

หนังไม่มีเพลงประกอบนะครับ นี่ทำให้หนังเครียดพอสมควร แต่ถือว่ามีความสมจริงมากๆ

ประเด็น Rashomon ของหนังเรื่องนี้ ผมว่าตีความได้ลึกซึ้งกว่าต้นฉบับเสียอีกนะ เพราะมันพ่วงเรื่อง ความเชื่อ-ศาสนา-กฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม เข้าไปด้วย (Rashomon จะขาดประเด็นเรื่องความเชื่อและศาสนาไป), ใน Rashomon นำเสนอว่ามนุษย์โกหกเพื่อปกปิดความจริงที่อยู่ในใจของตน ส่วน A Separation พวกเขาโกหกเพราะความต้องการเอาตัวรอด และเอาชนะผู้อื่น (Pride) ถือว่าพื้นฐานของการโกหกต่างกัน แต่ผลลัพท์ออกมาเหมือนกัน คือโกหกเพื่อให้ตนเองดูดีในสายตาของคนอื่น ซึ่งในชั้นศาล ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป

ส่วนตัวแล้วผมไม่เคยศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน แต่อ่านเจอว่า การโกหกถือเป็นสิ่งที่ร้ายแรงมาก และโทษของมันคือไฟนรกที่รออยู่หลังเสียชีวิต ซึ่งการสาบานใดๆก็ตามต่อหน้าคัมภีร์อัลกุรอานว่า ‘ฉันพูดจริงไม่ได้โกหก’ จึงถือเป็นเรื่องรุนแรงมากๆของมุสลิม ว่าไปก็ร้ายแรงกว่าโทษของการโกหกในชั้นศาลเสียอีกนะครับ เพราะเหตุนี้ ในศาลเราจึงเห็นแต่ละคนโกหกกันหน้าด้านๆแบบฉันไม่ผิดไว้ก่อน ซึ่งพอเอาคำสาบานเข้าท้า กลับมีความลังเลไม่แน่ใจ (เหมือนหมาเห่าใบตองแห้ง), นี่เป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างทึ่งนะครับ เพราะไม่คิดว่า คนอิสลามจะยังเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ มีความละอายต่อบาป ว่าไปอาจจะมากกว่าชาวพุทธเราอีกนะครับ

มีบทความหนึ่งที่ผมเคยพูดไว้ว่า กฎหมาย แท้จริงนั้นมันก็ลอกมาจากศาสนานะแหละ อย่างประเทศไทยนับถือพุทธศาสนา กฎหมายไทยก็จะได้อิทธิพล เลียนแบบมาจากพระไตรปิฏก โดยเฉพาะการชดใช้โทษ เช่น ฆ่าคนได้รับโทษการประหาร ก็จะเป็นแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ฆ่าเขายังไง ก็ตายแบบนั้น ฆ่าโดยตัดหัวตัดแขน ผู้กระทำผิดก็จะถูกตัดแขนตัดหัว (นี่เป็นกฎหมายไทยจริงๆในสมัยอโยธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นนะครับ), สำหรับอิหร่าน กฎหมายประเทศเขาก็คงได้อิทธิพล เลียนแบบมาจากคัมภีร์อัลกุรอาน เรื่องโทษประหารผมไม่รู้ แต่อย่างผู้ชายแตะตัวผู้หญิง หรือการที่ภรรยาแอบทำงานโดยสามีไม่รู้ ประเทศอื่นไม่มีกฎข้อนี้ แต่ประเทศนี้ ผิดทั้งหลักศาสนา และผิดกฎหมาย ต้องถูกลงโทษ (รู้สึกจะถูกปรับนะครับ ไม่ใช่โทษรุนแรง)

ผมขอสร้าง ‘ทฤษฎี Alzheimer’ ขึ้นมานะครับ ไม่รู้มีคนเคยวิเคราะห์ไว้หรือเปล่า แต่ถ้าหนังเรื่องไหนที่ผู้กำกับเก่งๆ แล้วใส่ตัวละครที่ป่วยเป็นโรค Alzheimer เข้ามา จะไม่ได้มีความหมายแค่ ‘ความจำเสื่อม’ อย่างเดียวนะครับ ผมเห็นมาหลายเรื่องแล้ว และมักจะมีแนวคิดคล้ายๆกัน
– คนที่เป็น Alzheimer ถือว่าเป็นคนที่ ‘มีภาระ’ ดูแลตนเองไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ต้องการความเอาใจใส่อยากมาก
– Alzheimer เป็นโรคเกี่ยวกับสมอง ความทรงจำ ที่มักจะจำอดีตไม่ได้ ไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร แสดงถึง สิ่งที่อยู่เบื้องหลังไม่ได้รับการจดจำ, อดีตทางประวัติศาสตร์ที่กำลังถูกลบเลือน, อะไรบางอย่างที่ค่อยๆจางหาย สูญหาย ไม่ได้รับการพูดถึงอีกต่อไป ฯ
– ผู้ป่วย Alzheimer ขั้นรุนแรงจะไม่สามารถทำอะไรด้วยตนเองได้ (บางทีเข้าห้องน้ำยังไม่รู้เลยว่าเข้าไปทำไม ต้องมีคนจับให้) เปรียบกับ คนหรือกลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง ไม่สามารถคิดทำอะไรด้วยตนเองได้ ต้องถูกสั่ง ทำตามที่กำหนดไว้เท่านั้น

สำหรับ A Separation ในมุมหนึ่งเราสามารถเปรียบได้ว่า ปู่เป็นภาระของพ่อ (คือเหตุผลที่ไปต่างประเทศไม่ได้) ที่ต้องเลี้ยงดูแล ช่วยเหลือ เพราะเขาช่วยเหลือตนเองไม่ได้, ในอีกมุมหนึ่ง ปู่เปรียบเสมือนชาวอิหร่าน ที่ถูกปิดหูปิดตา ไม่มีสิทธิ์มีเสียงทำอะไรได้นอกจากตามคำสั่งของรัฐ มองในมุมนี้จะเห็นว่าเหตุผลของพ่อที่ไม่ไปต่างประเทศ เพราะเขาเป็นคนอิหร่านและรักแผ่นดินบ้านเกิด จึงไม่อยากที่จะทิ้งประเทศของตนไปไหน

ประเด็นการเมืองในหนัง นี่เป็นอีกสิ่งที่ Kiarostami ปลูกฝังผู้กำกับรุ่นใหม่ของอิหร่านไว้ชัดเลย ว่าการทำหนังที่จะสร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติต้องมีประเด็นแฝง เรื่องส่วนตัวที่แทนด้วยตนเอง หน้าหนังเห็นอย่างหนึ่ง แต่ใจความลึกๆจะมีความตั้งใจอีกอย่างหนึ่ง, ผมคงต้องเกริ่นก่อนสักนิด สำหรับ Asghar Farhadi ระหว่างทำหนังเรื่องนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2010 เขาถูกแบนจากรัฐมนตรี Iranian Ministry of Culture and Islamic Guidance เพราะการไปกล่าวสุนทรพจน์ในเทศกาลหนังแห่งหนึ่ง ทำนองอยากเห็นผู้กำกับที่ถูกทางการแบนอย่าง Mohsen Makhmalbaf หรือ Jafar Panahi (ที่ถูกคุมขัง) ได้กลับมาสร้างหนังอีกครั้ง ซึ่งหลังจากที่ถูกแบน Farhadi ได้เข้าไปชี้แจงกับทางการ ว่าเป็นความเข้าใจผิด และยอมกล่าวคำขอโทษ จึงได้ยกเลิกการถูกแบนเมื่อเดือนตุลาคม 2010, เหตุการณ์พรรค์นี้เกิดขึ้นบ่อยในอิหร่านนะครับ กับผู้กำกับที่มีความเป็นศิลปินสูง จะไม่ใส่แสดงความเห็นของตนลงไปในหนังได้ยังไง, สำหรับ A Separation มองง่ายๆคือความต้องการที่จะพาครอบครัวออกไปจากประเทศนี้ ความคิดแทนด้วย Simin ที่อยากไปต่างประเทศ ในสังคมที่เปิดกว้างกว่า แต่ขณะเดียวกันก็มีบางสิ่งรั้งเขาไว้ นั่นคือ Nader ที่มีภาระทางบ้านต้องคอยดูแลปู่ที่ทำอะไรไม่ได้ ความขัดแย้งในครอบครัว ก็คือความขัดแย้งในความคิดของผู้กำกับ ว่าไปการที่ตัวละครในหนังพูดจาเข้าข้างตัวเองเพื่อเอาตัวรอดนั้น ไม่ใช่มาจาก Farhadi เองหรอกหรือ ที่ยอมกล่าวคำขอโทษเพื่อให้ตัวเองได้รับการยกเลิกการถูกแบนสร้างหนัง และการให้ลูกสาวแท้ๆของตนมารับบท ก็เปรียบเสมือน คนที่เป็นผู้ตัดสินว่าจะยังอยู่อิหร่าน หรือย้ายไปต่างประเทศ ก็คือเธอนะแหละต้องเป็นผู้เลือก (แต่ Sarina Farhadi ตัวจริงจะรู้ตัวหรือเปล่า นี่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ)

ชื่อหนังภาษา Persian جدایی نادر از سیمین‎‎ Jodaí-e Nadér az Simín แปลว่า The Separation of Nader and Simin (การแยกจากของ Nader และ Simin) ถ้าใช้ชื่อนี้ขายต่างประเทศคงยาวไป ชื่อหนังจึงย่อลงเหลือแค่ A Separation ที่แปลว่า การแยกจาก ซึ่งในบริบทของหนังสามารถแปลว่า การหย่าร้าง ได้เช่นกัน

นี่เป็นหนังที่สมคำร่ำลือจริงๆ คุ้มค่ากับทุกรางวัลที่หนังกวาดมา ที่สำคัญคือ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะเป็นหนังที่ตั้งคำถามกับการใช้ชีวิต ทัศนคติ เด็กสาวเติบโตขึ้นเธอจะเลือกเป็นแบบไหน พ่อที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี แม้ต้องทำสิ่งที่ผิดต่อหลักศีลธรรม หรือแม่ที่โอนอ่อนผ่อนตาม แม้ต้องทำตามคนอื่น แต่มีชีวิตอย่างสุจริต

สำหรับคำตอบของผม มีหลายกรณีหน่อยนะครับ เพราะผมเป็นผู้ชาย มุมมองส่วนตัวเลยจะเห็นต่างออกไป คำตอบของผมคือเลือกพ่อ เมื่อใดที่ต้องเอาครอบครัวเป็นเดิมพัน ผมจะเลือกที่ต่อสู้เอาชนะ ไม่ให้ตนเองและครอบครัวเสียประโยชน์ แม้มันอาจผิดต่อหลักอะไรหลายๆอย่าง ซึ่งพ่อแสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ไม่ยอมแพ้ ย่อมต้องมีโอกาส, แต่ถ้าผมลองสมมติตัวให้เป็นลูกผู้หญิงแบบในหนัง คิดว่าคือจะเลือกแม่จะดีกว่า เพราะเพศหญิงควรที่จะยึดมั่นในหลักศีลธรรมความถูกต้อง มีแม่เป็นแบบอย่างนั้นเหมาะสมแล้ว เธอควรที่จะโอนอ่อนผ่อนตาม ไม่ใช่ก้าวร้าวหรือใช้ความรุนแรงเหมือนพ่อ

สำหรับทางเลือกที่สาม นี่อาจไม่ค่อยเหมาะกับเด็กหญิงอายุ 11 ขวบเท่าไหร่ คือการไม่เลือกทั้งพ่อและแม่ นี่อาจดูแล้วเป็นไปไม่ได้ในหนัง แต่ว่ากันตามตรงมันก็มีทางออกแบบนี้นะครับ อาทิ โรงเรียนประจำ, สถานที่รับเลี้ยงเด็ก, พ่อ-แม่บุญธรรม, อยู่กับปู่ย่า ลุงป้า หรือทำอะไรโง่ๆก็อย่างหนีออกจากบ้าน ฯ นี่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดมองข้าม ไม่เห็นว่าจำเป็นต้องคิด แต่ผมอยากจะนำเสนอไว้ เพราะมันมีกรณี ถ้าเด็กไม่เลือก และพ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ ศาลจะตัดสินทางเลือกที่ 3 ให้อย่างที่ผมบอกไป กรณีนี้มีนะครับ ไม่ได้พูดกันเล่นๆ

ด้วยทุนสร้าง ที่ประเมินว่า $500,000 เหรียญ หนังทำรายได้ทั่วโลก $24.4 ล้านเหรียญ รางวัลที่ได้ น่าจะกวาดแทบทุกสถาบันในสาขา Best Foreign Language Film และงานประกาศรางวัล Oscar หนังยังได้เข้าชิงสาขา Best Writing, Original Screenplay (แพ้ให้กับ Midnight in Paris)

ในเทศกาลหนังเมือง Berlin หนังกวาด 3 รางวัลใหญ่
– Golden Bear ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสายประกวด
– Best Actor นักแสดงชายยอดเยี่ยม (มอบให้นักแสดงชายทุกคนในหนัง)
– Best Actress นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม (มอบให้นักแสดงหญิงทุกคนในหนัง)

ถึงนี่จะเป็นหนังที่ผมอยากแนะนำให้ทุกคนได้ดู แต่ใช่ว่าใครๆจะสามารถดูหนังเรื่องนี้ได้ ระดับความยากในหนังเรื่องนี้คือ Intermediate ด้วยเหตุผลที่หนังแทบทั้งเรื่องใช้การสนทนา ปะทะอารมณ์กันอย่างรุนแรงกับทั้งเรื่อง ซึ่งบางทีผู้ชมอาจฟังไม่ทัน คิดไม่ทัน ทำให้อรรถรสในการชมสะดุด ขาดตอน ไม่เข้าใจทั้งหมด, นี่เป็นปัญหาเรื่องประสบการณ์การดูหนังนะครับ กับคนที่ผ่านการดูหนังมาเยอะๆแล้ว นี่ไม่น่าจะเป็นปัญหาเท่าไหร่ กับคนที่ไม่ค่อยได้ดูหนัง คงต้องใช้ความพยายามสักนึก ถึงจะเริ่มเห็นความสวยงาม ทรงพลัง และความลึกซึ้งของหนัง

แนะนำอย่างยิ่งกับคนชื่นชอบหนังดราม่าน้ำดีมีคุณภาพ ดูแล้วได้คิด เครียด ปวดหัว ปวดตับ ปวดใจ, แฝงแนวคิดเรื่องศาสนา (ไม่แน่ใจว่า Shia Islam หรือ Sunni Islam) ความเชื่อและแนวทางปฏิบัติ แนะนำกับนักศาสนา นักกฎหมาย ตำรวจ ทนายความ ฯ, และคนอยากรู้จักประเทศอิหร่าน ในระดับ middle-class

จัดเรต 15+ กับความรุนแรงทางคำพูด การกระทำ

TAGLINE | “A Separation หนังดราม่าของอิหร่านที่เต็มเปี่ยมด้วยสุดยอดการแสดง และเนื้อเรื่องที่สะท้อนแนวคิด คุณค่าจริยธรรมของคน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
2 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

ดูจากลิสต์หนังโปรดของ ผกก. Asghar Farhadi น่าจะพอเดาอิทธิพลเชื่อมโยงส่งผลกับแนวทางหนังของเค้าได้พอดูเลย

Rashomon (1950, Akira Kurosawa)
La Strada (1954, Federico Fellini)
The Godfather (1972, Francis Ford Coppola)
Tokyo Story (1953, Yasujiro Ozu)
The Apartment (1960, Billy Wilder)
Three Colors Red (1994, Krzysztof Kieslowski)
Take the Money and Run (1969, Woody Allen)
Scenes From a Marriage (1973, Ingmar Bergman)
Taxi Driver (1976, Martin Scorsese)
Modern Times (1936, Charlie Chaplin)

ดูทรงแกชอบหนังชีวิต-ครอบครัว-คู่รัก(&คู่ร้าง) แต่สะท้อนภาพรวม /เป็นภาพย่อจำลอง /เปิดเปลือยอะไรหลายๆอย่างของสังคม
กับหนังลึกลับ สืบหาความจริง (แต่ไม่ใช่สืบสวนสอบสวนแบบนักสืบจับฆาตกร แต่เป็นแนวคนธรรมดาสามัญที่บังเอิญไปรับรู้รับเห็นบางสิ่งบางอย่างมากกว่า)
แน่นอนว่าแต่ละเรื่องๆ มีสไตล์และบรรยากาศเฉพาะตัวทั้งนั้น

%d bloggers like this: