A Star Is Born (1937) : William A. Wellman ♥♥♥♡
ต้นฉบับของ A Star Is Born ไม่ใช่หนังเพลงแต่เป็น Romantic Drama ที่มีความเข้มข้น ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ Hollywood สมัยนั้น, นำแสดงโดย Janet Gaynor กับ Fredric March โดยผู้กำกับ William A. Wellman (Wings-1927) เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 1 รางวัล
ถ้าเราดึงเอาบทเพลงใน A Star Is Born (1954) ออกไป สิ่งที่คงเหลือคือเนื้อเรื่องส่วนดราม่า นั่นคือสิ่งที่จะพบได้กับ A Star is Born (1937)
การรับชมหนังเรื่องนี้ในสมัยปัจจุบัน กาลเวลาได้กัดกร่อนทำลายคุณภาพของหนังไปมาก (สามารถหารับชมได้จาก Youtube เป็นหนังสาธารณะไปแล้ว) แต่เรายังสามารถพบความยิ่งใหญ่ที่คงเหลืออยู่ ซึ่งโดดเด่นไม่แพ้ฉบับของ Judy Garland แม้แต่น้อย มิเช่นนั้นตอนปีที่ฉายจะสามารถเข้าชิง Oscar ถึง 7 สาขาได้เช่นไร (ว่าไปเข้าจำนวนสาขาที่เข้าชิง มากกว่าฉบับ 1954 เสียอีกนะ)
มีนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เชื่อกันว่า หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคู่รักนักแสดง Barbara Stanwyck กับ Frank Fay เมื่อปี 1928, Fay เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว แต่งงานกับ Stanwyck หญิงสาวที่ตอนนั้นไม่มีใครรู้จัก (แต่มีชื่อเสียงอย่างมากในการแสดงละคร Broadway) นี่ทำให้เธอโด่งดังชั่วข้ามคืน จนได้เซ็นสัญญากับ Warner Bros. แต่หลังจากนั้นชีวิตของ Fay ตกต่ำลงเรื่อยๆ (ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคหนังพูดได้) ตรงกันข้ามกับ Stanwyck ที่ประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดทั้งสองหย่ากันในปี 1935
ตัวละคร Norman Maine นอกจาก Frank Fay ยังมีการคาดกันว่าได้แรงบันดาลใจจาก John Bowers นักแสดงชื่อดังที่ติดเหล้า และสุดท้ายฆ่าตัวตายจากการจมน้ำ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1936
ก่อนหน้า A Star is Born เคยมีหนังเรื่องราวคล้ายๆกันสร้างขึ้นก่อนหน้านี้ What Price Hollywood? (1932) โดยผู้กำกับ George Cukor ของสตูดิโอ RKO ชื่อเดิมของหนังคือ The Truth About Hollywood ดัดแปลงมาจากเรื่องราวของ Adela Rogers St. Johns ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของนักแสดงสาว Colleen Moore สามีที่เป็นโปรดิวเซอร์ขี้เมา John McCormick และการเสียชีวิตของ Tom Forman ที่ฆ่าตัวตายหลังจากสติแตกในกองถ่าย (nervous breakdown)
ผมยังไม่เคยดู What Price Hollywood? เลยบอกไม่ได้ว่าหนังคล้ายกันแค่ไหน แต่ดูจากเรื่องย่อ/แรงบันดาลใจ พบว่าคล้ายกันมากๆ ก็ไม่รู้บรรดานักเขียนของ A Star is Born ลอกหนังเรื่องนี้มาเลยหรือเปล่า (Hollywood สมัยนั้นทำแบบนี้กันเยอะนะครับ เอาพล็อตเดิมของหนังดีๆที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ มาสร้างใหม่ เปลี่ยนเรื่องราวเล็กน้อย ปัดฝุ่นนำมาฉายใหม่ เท่านี้ก็ขายได้แล้ว ไม่สนเรื่องลิขสิทธิ์) ซึ่งเมื่อ RKO รู้เข้าก็ออกมาโวยวาย อ้างว่าจะฟ้อง David O. Selznick โปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ แต่สุดท้ายไม่ได้ยื่นฟ้อง (อาจมีเบื้องหลังจ่ายค่าปิดปาก ที่ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวต่อสาธารณะ)
สำหรับผู้กำกับ ตอนแรกติดต่อ George Cukor แต่เพราะพล็อตคล้ายกับหนังของเขาเกินไปเลยบอกปัด แต่เจ้าตัวกลับมา remake หนังเรื่องนี้เมื่อปี 1954 เสียอย่างนั้น (ไม่เข้าใจเหมือนกัน!) สุดท้ายมาลงเอยที่ William A. Wellman ผู้กำกับหนังรางวัล Oscar เรื่องแรก Wings (1927)
นำแสดงโดย Janet Gaynor รับบท Esther Victoria Blodgett/Vicki Lester, Gaynor คือนักแสดงหญิงคนแรกที่ได้ Oscar: Best Actress จากหนังเรื่อง Sunrise (1927) คงไม่มีนักแสดงหญิงคนไหนในขณะนั้น ที่จะเหมาะสมกับบทบาทนี้เท่าเธออีกแล้ว (ซึ่งนี่ทำให้เธอได้เข้าชิง Oscar ครั้งที่สอง แต่ไม่ได้รางวัล) หญิงสาวบ้านๆ หน้าตาธรรมดา มีความเพ้อฝันต้องการเป็นดาวดารามีชื่อเสียงประสบความสำเร็จใน Hollywood แต่การจะได้มานั้นต้องแลกด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง รวมทั้งจิตใจของเธอด้วย
ที่มาของชื่อ Vicki Lester ได้รับคำอธิบายในหนังเรื่องนี้ เกิดจากการเล่นคำพ้องเสียงของชื่อกลาง Victoria เป็น Vicki ส่วน Esther ผันเป็น Lester, Chester, Vester, Fester ฯ
Fredric March รับบท Norman Maine, หนึ่งในนักแสดงชายที่ประสบความสำเร็จที่สุดใน Hollywood และ Broadway เป็นคนเดียวที่ได้ Oscar และ Tony Award อย่างละ 2 ครั้ง, ได้ Oscar: Best Actor จากหนังเรื่อง Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1931) และ The Best Years of Our Lives (1946) ส่วนหนังเรื่องนี้ได้แค่เข้าชิง, กับการรับบท Norman Maine ผมรู้สึกว่า March ดูหล่อไปสักนิด แต่การแสดงถือว่าสติแตก บ้าคลั่งได้ใจ (คงเพราะบทบาท Dr. Henry Jekyll กระมังที่ทำให้ได้รับบทนี้) ในฉากที่เข้าไปขัดจังหวะงานประกาศรางวัล Oscar พูดประโยคที่ว่า ‘But what about me?’ นี่เป็นประโยคที่ทรงพลังกว่า James Mason ที่พูดว่า ‘I need a job.’ เสียอีก
อีกสองนักแสดงนำที่ต้องพูดถึงคือ Adolphe Menjou รับบทเจ้าของสตูดิโอ Oliver Niles ที่เห็นใจ เข้าใจคู่พระนางที่สุดแล้ว, และ Lionel Stander รับบท Matt Libby ที่เลวได้บัดซบจริงๆ หมอนี่ไม่ให้โอกาสคนอื่น สนแต่ความสบายของตัวเอง (คงเพราะกรรมเวรที่ Maine ทำกับ Libby ไว้มากด้วยแหละ จึงเกิดมาเป็นคู่เวรคู่กรรม จองเวรจองกรรมกันได้ขาดนี้)
ถ่ายภาพโดย W. Howard Greene ด้วยฟีล์มสี Technicolor เรื่องแรกๆของโลก, งานภาพดูเก่ามากๆ และยังไม่มีใครทำ remaster นี่คือเหตุผลว่าทำไมคุณภาพหนังราวกับการแอบถ่ายลงแผ่น
ผมชอบช็อตที่ถ่าย Hollywood Walk of Fame ที่ซึ่งเคยได้ยินแต่ในข่าว นักแสดงชื่อดังประทับมือ ประทับเท้า เซ็นลายเซ็นต์ มันคือสถานที่แบบนี้นี่เอง และการเอามือเอาเท้าไปเหยียบทับกับนักแสดงคนโปรด ถือเป็นเรื่องปกติของคนที่มีความฝัน ต้องการเป็นดาวดาราแห่ง Hollywood ซึ่งตอนใกล้จบ Lester ได้กลับมาเห็นสิ่งนี้อีกครั้ง นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่เจ็บจี๊ดในใจ สะท้อนความฝัน ความสำเร็จกับการเสียสละได้เป็นอย่างดี
ตัดต่อโดย James E. Newcom กับ Anson Stevenson, มีการถ่ายกระดาษที่พิมพ์บทหนัง/Shooting Script ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรื่องราวจากกระดาษกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว, มีการใช้ Title Card/จดหมาย/พิมพ์ข้อความ เพื่ออธิบายรวบรัดเหตุการณ์ พื้นหลังของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น (มองได้เป็น Establish Shot รูปแบบหนึ่ง)
เพลงประกอบโดย Max Steiner นี่เป็นส่วนที่ผมไม่สามารถบอกได้ว่าดีไม่ดียังไง เพราะไม่ได้สดับเลย (คุณภาพเสียงแย่พอๆกับคุณภาพของภาพ) แต่ก็รู้สึกว่ามีความกลมกลืนไปกับหนังเป็นอย่างมาก และเหมือนว่าตอนต้นเรื่องขณะที่ Esther ขึ้นรถไฟออกจากบ้านเพื่อทำตามความฝัน เพลงที่ได้ยินคือ Auld Lang Syne ทำนองเข้ากับอารมณ์ขณะนั้นมากๆ
มีใจความส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ ที่ต่างจากฉบับปี 1954 คือจุดเริ่มต้นของความฝัน, Esther ในหนังเรื่องนี้เริ่มจากบ้านที่ … (ไหนก็ไม่รู้) ได้แรงผลักดันจากย่าที่ช่วยสนับสนุนค่าเดินทาง และคำพูดที่เป็นแรงบันดาลใจ เดินทางขึ้นรถไฟมุ่งสู่ Hollywood เพื่อทำตามความฝันให้สำเร็จ, ซึ่งตอนจบในขณะที่ Lester ท้อแท้สิ้นหวัง กำลังเตรียมตัวขนของกลับบ้าน ย่าเดินทางมาหาเพื่อให้เธอระลึกถึงสัญญาที่เคยให้กันไว้ กล้าที่จะก้าวเดินต่อไป, ส่วนที่ต่างนี้คือนางเอกได้แรงผลักดันในการเดินตามความฝันและก้าวเดินต่อจากที่บ้าน นี่เป็นสิ่งที่หนังยุคนั้นชอบใช้เป็นพื้นหลังเพื่อผลักดันตัวละคร (ผิดกับฉบับ 1954 ที่เพื่อนเก่าของ Lester เป็นคนผลักดันเธอในตอนจบ)
ด้วยทุนสร้าง $1.173 ล้านเหรียญ ไม่มีตัวเลขรายรับ แต่หนังทำเงินเกิน $2 ล้านเหรียญ ได้กำไรหลายแสนเหรียญ, เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Outstanding Production เป็นหนังภาพสีเรื่องแรกที่ได้เข้าชิง Oscar สาขานี้ แต่พ่ายให้กับ The Life of Emile Zola (1937)
– Best Directing
– Best Actor (Fredric March)
– Best Actress (Janet Gaynor)
– Best Assistant Director
– Best Writing (Screenplay)
– Best Writing (Original Story) ** ได้รางวัล
สมัยนั้นสาขาบทภาพยนตร์ จะมีบทดัดแปลงกับบทดั้งเดิม ซึ่งมีโอกาสที่หนังชิงบทดัดแปลง จะเข้าชิงสาขาดั้งเดิมได้ด้วย (ถ้าดัดแปลงมาจากบทหนังหรือเรื่องสั้นของผู้อื่น) ฟังดูแปลกดีนะครับ แต่ก็มีเกิดขึ้นลักษณะนี้หลายครั้งทีเดียว
หนังยังมอบรางวัลพิเศษ (Special Award) ให้กับ W. Howard Greene ตากล้องที่ถ่ายภาพสีออกมาได้อย่างสวยสด (สมัยนั้นยังไม่มีรางวัล Best Cinematography, Color เลยมอบรางวัลพิเศษให้)
คำพูดประโยคสุดท้ายของหนัง “Hello, everybody. This is Mrs. Norman Maine.” ได้รับการโหวตติดอันดับ 52 จาก The 100 Greatest Movie Lines โดยนิตยสาร Premiere เมื่อปี 2007
A Star Is Born มีการ remake มาแล้ว 2 ครั้งประกอบด้วย
– A Star is Born (1954) นำแสดงโดย Judy Garland กับ James Mason
– และ A Star is Born (1976) นำแสดงโดย Barbra Streisand กับ Kris Kristofferson
มีความพยายามจะ remake อีกครั้งเมื่อปี 2012 โดยผู้กำกับ Clint Eastwood อยากให้ Beyoncé Knowles รับบทนำ แต่จนแล้วจนรอดไม่สำเร็จ, ปี 2015 Bradley Cooper วางแผนที่จะแสดงนำและกำกับเอง โดยให้ Lady Gaga เป็นนางเอก ตอนนี้สถานะโปรเจคเป็นยังไงไม่สร้างทราบได้ แต่เชื่อว่าไม่นานคงต้องมีการสร้างใหม่เกิดขึ้นแน่
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แต่มันอดใจไม่ได้ที่ต้องเปรียบเทียบกับฉบับ 1954 ส่วนตัวชื่นชอบฉบับของ Judy Garland กว่ามาก, กาลเวลาได้ทำให้หนังเรื่องนี้ด้อยคุณภาพลง แต่ก็ยังมีความโดดเด่นในแนวทางของผู้กำกับ, การแสดงของ Janet Gaynor และ Fredric March รวมถึงตัวประกอบสบทบอย่าง Adolphe Menjou และ Andy Devine ได้สร้างสีสันให้กับหนังอย่างมาก
แนะนำกับคนชื่นชอบเรื่องราวของ A Star is Born ต้องการรับชมต้นฉบับ, แฟนๆของ Janet Gaynor, Fredric March, Adolphe Menjou ห้ามพลาดเลย
จัดเรต PG กับพฤติกรรมของพระเอก ขี้เมา ทะเลาะวิวาท และ…
Leave a Reply