A Star is Born

A Star Is Born (1954) hollywood : George Cukor ♥♥♥♥

สิ่งที่ฆ่าทั้ง Judy Garland และตัวละครในหนังเรื่องนี้ (James Mason) เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ใครๆก็รู้กันว่าคืออะไร แต่ไม่อยากพูดออกมาดังๆ ‘ชื่อเสียง ความสำเร็จ เงินทอง’ ความหลงใหลในโลกมายา รู้ทั้งรู้ว่าไม่จีรัง แต่ยังคงปรารถนา แสวงหา ต้องการมาครอบครองให้จงได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

นี่เป็นหนังที่ผมดูไปร้องไห้ไป เพราะรู้ว่าทุกวินาทีของ Judy Garland ในหนังเรื่องนี้ เธอต้องการที่จะเริ่มต้นใหม่ เป็นดาวดาราที่ทอแสงประกายเจิดจรัสจ้าอีกครั้ง แต่ทุกวินาทีนั้นเช่นกัน ที่จิตใจของเธอค่อยๆเคลื่อนคล้อยกลับเข้าไปสู่มุมมืดของตนเอง ชีวิตจริงมันน่าเศร้ากว่าหนังเสียอีกนะครับ

นับตั้งแต่ Judy Garland หมดสัญญากับ MGM ในปี 1950 (หลังอยู่ด้วยกันนานถึง 15 ปี) เลิกกับ Vincente Minnelli แต่งงานครั้งที่ 3 กับ Sidney Luft ในปี 1952 สามีต้องการให้เธอหวนคืนกลับมาแสดงภาพยนตร์ ติดต่อผู้กำกับ George Cukor ในเดือนธันวาคม 1952 เสนอโปรเจค remake หนังเรื่อง A Star is Born (1937) ซึ่งฉบับนั้นตอนแรก Cukor เคยปฏิเสธไปเพราะมีความคล้ายคลึงกับหนังเรื่อง What Price Hollywood? (1932) ที่เขาสร้างเองด้วย แต่ครั้งนี้ตอบรับทันทีเพราะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ได้กำกับหนังสีเรื่องแรกสักที (Technicolor) ทำเป็นหนังเพลงเรื่องแรก และได้ทำงานร่วมกันนักเขียนที่อยากร่วมงานมานานอย่าง Moss Hart และ Judy Garland ที่สร้างความสนเท่ห์ให้เขา

ในตอนแรก Cukor ต้องการให้นักแสดงนำชายคือ Cary Grant ที่เคยร่วมงานกันมากแล้ว 3 ครั้ง ซึ่ง Grant ทีแรกก็ตอบตกลงแล้ว แต่ภายหลังเมื่อแต่งงานกับภรรยา Betsy Drake จึงตัดสินใจไม่รับงานชั่วคราว (ซึ่งเขาปฏิเสธบทนำใน Roman Holiday และ Sabrina ในลักษณะเดียวกัน) ภรรยาของ Grant ครั้งหนึ่งเคยออกมาพูดว่า ‘Cary did not want to do it, because Judy Garland was a drug addict.’ นี่ทำให้ทั้ง Cukor ไม่พอใจอย่างยิ่งจนไม่คบหาเป็นเพื่อนอีก

นักแสดงคนอื่นๆที่ได้รับข้อเสนอ อาทิ Humphrey Bogart, Frank Sinatra, Richard Burton, Laurence Olivier แต่ Jack L. Warner โปรดิวเซอร์เจ้าของ Warner Bros. บอกปฏิเสธ, ครั้งหนึ่ง Cukor เดินทางไปหา Marlon Brando ที่กองถ่าย Julius Caesar (1953) เพื่อเสนอบทนี้ให้ Brando ถามกลับว่า ‘Why would you come to me? I’m in the prime of my life… If you’re looking around for some actor to play an alcoholic has-been, he’s sitting right over there’ แล้วชี้ไปที่ James Mason นี่ทำให้เขาได้รับบทนี้แทบจะโดยทันที

การแสดงของ Mason ต้องถือว่ายอดเยี่ยม(น่าจะ)ที่สุดในชีวิตของเขาเลยละ, คนส่วนใหญ่คงเกลียดขี้หน้าตัวละครนี้อย่างสุดๆ ทำอะไรแย่ๆไว้มาก แต่ถ้าคุณเข้าใจตัวละครนี้อย่างถ่องแท้ จะรู้สึกสงสารและเห็นใจอย่างมาก มันไม่มีทางออกอื่นเลยสำหรับคนประเภทนี้ นอกเสียจากตอนจบของหนัง เพราะสิ่งที่เรียกว่าศักดิ์ศรี (Pride) ถ้ามนุษย์คนไหนยอมที่จะกล้ำกลืนกิน เปลี่ยนแปลง หรือทำให้สูญสลาย นั่นหมายความว่า มนุษย์ผู้นั้นจักไม่มีตัวตนบนโลกอีกต่อไป

คุณเข้าใจ Norman Maine แบบใครกัน
– Oliver Niles (รับบทโดย Charles Bickford) เจ้าของสตูดิโอที่รู้จัก เข้าใจจิตใจของ Norman มายาวนานอย่างลึกซึ้ง
– Matt Libby (รับบทโดย Jack Carson) คนที่คอยแก้ข่าว ปิดข่าวให้กับ Norman แล้วปากบอกว่าเข้าใจหมอนี่อย่างลึกซึ้ง รู้ล่วงหน้าว่าคิดต้องการทำอะไรต่อไป

Niles: “You know, Libby, you missed a lot not knowing Norman Maine.”
Libby: “Not knowing him? I spent my life knowing him. I knew what he was gonna do before he did it. I knew him backwards.”
Niles: “You didn’t know him at all. He was quite a guy.”

Judy Garland แม้ก่อนหน้านี้จะมีชื่อฉาว ว่ามาถึงกองถ่ายช้า เบี้ยวงาน อารมณ์ฉุนเฉียว แต่ตอนเริ่มต้นหนังเรื่องนี้เธอสะอาดปลอดภัย (คือสามารถเลิกยาได้แล้ว สมองกำลังปลอดโปร่ง) ทุกวันช่างสดใสสนุกสนาน และเธอก็เต็มที่กับมัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลังถ่ายทำได้ 1-2 เดือน Warner Bros. ต้องการเปลี่ยนฟีล์มเป็น CinemaScope (Anamorphic Widescreen) นี่ทำให้ต้องเริ่มถ่ายทำทุกอย่างใหม่หมด ความเครียด ความกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านมา 9 เดือนไม่มีวี่แววว่าหนังจะถ่ายทำเสร็จ วันหนึ่ง Garland มาถึงกองถ่ายด้วยสภาพเมามาย (ด้วยยา) จิตแพทย์และหมอประกบติดตัวตลอดเวลา … โอ้

เพราะอะไรกันที่ทำให้เด็กสาวผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง โตขึ้นกลายเป็นหญิงสาวกร้านโลกที่ไม่เห็นคุณค่าของชีวิต?

ผมละไม่อยากตอบคำถามนี้เลย เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ใครๆหลายคนคงรู้อยู่แก่ใจ, สังคมของวงการมายา ที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยภาพลวงตา ในความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินทอง, ครั้งหนึ่งเมื่อตอนเรายังเด็กไร้เดียงสามีความฝัน ต้องการได้มาครอบครอง พอสำเร็จแล้วเกิดความรู้สึกหลงใหลยึดติด ต้องการมันอีกเหมือนยาเสพติดเลิกไม่ได้ แต่วันหนึ่งเมื่อถึงวัฏจักรของมัน มีขึ้นก็มีลง น้อยคนจะยอมรับได้ว่าสิ่งที่ตนเคยได้รับมานั้นเป็นเพียงภาพลวงตา จึงได้สร้างโลกของตนเองขึ้นมา หลอกตัวเองปลีกตัวเข้าไปอยู่ ด้วยสุรา นารี สิ่งเสพติด ฯ โชคดีคงหวนระลึกคิดได้ ออกมาหรือกลับไปยิ่งใหญ่ได้อีก โชคร้ายไม่กลายเป็นบ้า ก็ฆ่าตัวตาย

รู้ทั้งรู้ว่าโลกมายาเป็นแบบนี้ แต่ไม่ใครสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะมันคือวิถีของกิเลส ที่ต่อให้คนหนึ่งสามารถปล่อยวาง หลุดออกมาจากโลกใบนั้น ก็จะมีอีก 10 ดวงวิญญาณที่แสวงหาเดินเข้าไป รู้ทั้งรู้ว่าเบื้องหน้าคือปากเหว โอกาสรอดมีน้อย แต่ขอแค่ 1% ที่ประสบความสำเร็จ ก็เพียงพอเหลือเฟือแล้ว

Judy Garland คือผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากโลกมายาใบนี้ เพราะความที่เธอประสบความสำเร็จมาตั้งแต่เด็ก เติบโตในระบบสตูดิโอที่ไม่สนใจอะไรอื่นนอกจากเงินทอง, ตอนเธออายุ 20 ข้างกายต้องพึ่งพานักจิตวิทยาเพื่อช่วยรับมือกับความสมหวัง ผิดหวัง ความเครียดในชีวิต, แต่งงานกับผู้ชาย 5 คน (ที่คิดว่าเธอคงไม่เคยรักใครเลย ตัวเองอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารักคืออะไร) ค้นพบวิธีเดียวที่จะทำให้ตัวเองมีความสุข คือยาเสพติดที่ทำให้ล่องลอย ลืมเลือนความทุกข์ทุกสิ่งอย่าง ครั่งหนึ่งเธออาจจะคิดว่า ขออีกนิดน่ะ แต่ร่างกายคงเกินรับไหว, Ray Bolger เพื่อนนักแสดงใน The Wizard of Oz (1939) พูดประโยคหนึ่งในงานศพของเธอ “She just plain wore out.”

แม้ตัวละคร Esther Blodgett/Vicki Lester จะไม่ได้มีชะตากรรมแบบตัวจริงของเธอในตอนจบ แต่สิ่งที่ผู้ชมได้พบเห็นในหนัง คือจุดเริ่มต้น การเติบโต และความสำเร็จของคนๆหนึ่ง ที่แลกมาด้วยความตกต่ำ และจุดสิ้นสุดของคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็คือสามีของเธอ Norman Maine

ชีวิตของ Vicky Lester สวนทางกับ Norman Maine ทุกประการ
– Lester จากหญิงสาวไม่เป็นที่รู้จัก ค่อยๆได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ที่สุดคือได้รางวัล Oscar
– Maine จากพระเอกชื่อดังแห่งยุค ค่อยๆล้มเหลว ความนิยมลดต่ำ ตกอับ ตกงาน ติดคุก ที่สุดคือ…

นี่คือวัฎจักรของชีวิต และของดาวดารา ที่มีขึ้นสู่ท้องฟ้า (A Star is Born) ก็ต้องมีวันร่วงโรยรา (A Star is Death)

ถ่ายภาพโดย Sam Leavitt เจ้าของผลงาน Anatomy of a Murder (1959), Exodus (1960) ได้รางวัล Oscar: Best Cinematography จากหนังเรื่อง The Defiant Ones (1958)

หนังทั้งเรื่องผมสัมผัสถึงความอ้างว้าง ห่างไกลมากๆ มีการใช้ long-shot หลายครั้งเพื่อเก็บภาพมุมกว้าง ไม่มีช็อต Close-Up เลย ใกล้สุดคือ Medium-Shot ไม่รู้เป็นความจงใจของผู้กำกับ หรือเพราะความไม่ชำนาญในเทคโนโลยีถ่ายภาพแบบใหม่กันแน่

ความยอดเยี่ยมคือลีลาการเคลื่อนกล้อง ที่มีหลายครั้งเป็น long-take ในบทเพลงที่ Garland ร้องเล่นเต้นด้วยตนเอง เดินไปเดินมาแทบไม่เคยหยุดนิ่ง แล้วไม่มีตัดต่อใดๆ (เป็นเทคเดียวทั้งเพลง)

ตัดต่อโดย Folmar Blangsted ที่มีผลงานดัง Rio Bravo (1959), หนังเล่าเรื่องของ Vicky Lester และ Norman Maine คู่ขนานกันทั้งเรื่อง ในทิศทางที่สวยกัน

ในช่วงการตัดต่อ สืบเนื่องจากการถ่ายทำหนังล่าช้าไปมาก ทำให้ผู้กำกับ Cukor หนีไปพักร้อนที่ยุโรป แต่มี Sequence หนึ่งที่ตกหล่นหายไป ทำให้ต้องมีการถ่ายซ่อม ซึ่ง Roger Edens พี่เลี้ยงของ Garland ได้เข้ามาช่วยถ่ายทำเพลง Born in A Truck ที่ขาดหายไปให้

ฉบับตัดต่อแรกสุด หนังความยาว 196 นาที แม้จะได้รับเสียงตอบที่ดีล้นหลาม แต่ Cukor กับ Blangsted ตัดสินใจตัดหนังให้เหลือ 182 นาที ซึ่งก็ยังได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี แต่ Jack L. Warner ยังไม่พอใจเพราะหนังยาวเกิน 3 ชั่วโมง จะทำให้รอบฉายต่อวันลดลงมาก จึงแอบทำการตัดต่อหนังใหม่เหลือความยาว 154 นาที โดยที่ Cukor ไม่ได้รับรู้อะไรด้วยเลย ตัดออก 2 เพลงและฉากสำคัญๆ ซึ่งฉบับนั้น Cukor ได้กลับมาดูแล้วพูดว่า ‘รู้สึกเจ็บปวดอย่างยิ่ง’ (very painful to watch.)

หนังก็ออกฉายทั้งๆแบบนั้น เสียงตอบรับค่อนข้างแตก และก็ขาดทุนแบบสมน้ำหน้า ด้วยทุนสร้างกว่า $5 ล้านเหรียญ (ถือว่าสูงมากสมัยนั้น) หนังทำเงินในอเมริกาได้เพียง $6.1 ล้านเหรียญ

นับว่าเป็นความโชคร้ายของผู้ชม เพราะชะตากรรมของหนังเรื่องนี้ได้ถูกทิ้งๆขว้างๆ ไม่ได้รับการจดจำอยู่นาน แต่เพราะฐานแฟนๆของ Judy Garland ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามกาลเวลา ทำให้มีเสียงเรียกร้องอยากเห็นฉบับแท้จริงที่ Cukor ตัดต่อ แต่มันได้สูญหายไปแล้วอย่างถาวร, ในปี 1981 Ronald Haver ได้ทำการบูรณะฟีล์มหนังเรื่องนี้ ค้นพบฟุตเทจ ภาพถ่ายของหนังที่หายไป ในฉบับ restored ออกฉายปี 1983 ได้ความยาว 176 นาที ซึ่งมีการนำเสียงต้นฉบับที่ยังคงเก็บไว้อยู่ มาใส่เพิ่มพร้อมกับฟุตเทจที่ขาดหาย โดยใช้การแพน ซูมเข้าออก จากภาพนิ่งที่เหลืออยู่ กลายเป็นฉบับที่ใกล้เคียงกับที่ผู้สร้างต้องการมากที่สุด (ตอนผมดูก็ฉบับนี้นะครับ)

เพลงประกอบโดย Ray Heindorf ที่มีผลงานดังอย่าง Yankee Doodle Dandy (1942)

บทเพลงที่เป็นไฮไลท์ของหนังคือ The Man That Got Away แต่งโดย Harold Arlen คำร้องโดย Ira Gershwin ขับร้องโดย Judy Garland, ในบาร์แห่งหนึ่งหลังงานเลี้ยงเลิกรา นี่เป็นบทเพลงที่ทรงพลังมากๆ ตอนผมได้ยินครั้งแรกจดได้ว่าขนหัวลุกเลยละ คือ Garland ทุ่มสุดตัวทั้งแรงกาย แรงใจ พลังเสียง แบบว่ามีอะไรใส่มาทั้งหมด ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว

ฉากนี้มีถ่ายทำ 3 โลเคชั่น 3 ช่วงเวลา (แต่หลงเหลือรอดแค่ในหนังเท่านั้น) นับรวมประมาณ 40 กว่าเทค เพราะ Cukor ไม่ค่อยพอใจเรื่องการจัดแสงของฉากนี้สักเท่าไหร่ เพราะเขาต้องการ แสงอันนุ่มนวล ให้ความสัมผัสความประทับใจของบทเพลง และขณะ Garland เคลื่อนเข้าออกราวกับเป็นศูนย์กลางของแสงไฟ (low light levels, the impressionistic feeling of the musical instruments, Garland moving in and out of pools of light,)

เพลงนี้ติดอันดับ 11 จาก AFI’s 100 Years…100 Songs

กับอีกบทเพลงหนึ่งที่ต้องพูดถึง Someone at Last ผมเลือกเฉพาะ Soundtrack มาให้ฟังนะครับ เพราะฉากนี้ถือว่าจัดเต็มด้านการแสดงของ Garland มาก ที่มีการร้องเล่นเต้นไปรอบๆห้อง เอาทุกสิ่งอย่างรอบตัวมาทำเป็น Prop ประกอบการเต้น, นี่ถือเป็น Sequence ที่ผมชอบที่สุดด้วย คือวุ่นวายและบ้ามาก แถมถ่ายภาพ Long-take หมุนไปรอบๆห้อง แทบจะไม่มีการตัดเลย รับชมฉากนี้อึ้งทึ่งประทับใจ ถึงขนาดต้องปรบมือให้ ไม่อยากให้หยุดเต้นเลย

ใจความของหนังเรื่องนี้ ต้องการตีแผ่มุมมืดของ Hollywood ที่คนส่วนใหญ่ในยุคนั้นไม่ยอมรับ แต่แทบทุกคนรู้ๆกันอยู่ว่ามี พบเห็นได้ทั่วไป, จะว่ามันคือสิ่งต้องห้ามของยุคสมัยนั้น เพื่อหลอกล่อลวงหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ให้ลุ่มหลงใหล เกิดศรัทธาในวงการนี้ไม่ให้สั่นคลอน, กระนั้นเมื่อเรื่องลักษณะนี้เผยแพร่ออกไป ก็ใช่ว่าอะไรๆมันจะดีขึ้นนะครับ จริงอยู่วุฒิภาวะของคนมันสูงขึ้น แต่เราก็ยังพบเห็นเรื่องราวลักษณะนี้ได้อยู่ร่ำไปไม่เคยหมดสูญ ดังคำว่า ‘ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำรอยเสมอ’

หนังเข้าชิง Oscar 6 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Actor (James Mason)
– Best Actress (Judy Garland)
– Best Art Direction-Set Decoration, Color
– Best Costume Design, Color
– Best Music, Original Song ‘The Man that Got Away’
– Best Music, Scoring of a Musical Picture

ในปีนั้น Garland เป็นตัวเต็งสาขานักแสดงนำหญิง เพราะเธอเพิ่งคว้า Golden Globe Award: Best Actress มาด้วย กระนั้นเจ้าตัวไม่ได้ไปร่วมงาน เพราะเพิ่งคลอดลูก ขนาดว่ามีนักข่าวไปรอสัมภาษณ์อยู่หน้าห้องพักที่โรงพยาบาล แต่พอประกาศว่าผู้ชนะปีนั้นคือ Grace Kelly จากหนังเรื่อง The Country Girl นี่ถือเป็นความพ่ายแพ้ที่เลวร้าย อัปยศที่สุดของสถาบันนี้

ชัดเจนเลยว่า ทัศนคติของคนวงใน Hollywood สมัยนั้นเป็นยังไง พวกเขาต่อต้านคนที่ทำให้สถาบันนี้แปดเปื้อน ไม่ยอมรับตัวเองว่าคือสิ่งที่ทำให้หญิงสาวคนหนึ่งกลายเป็นเช่นนั้น โลกมายาเป็นสถานที่ของดวงดาวที่เจิดจรัสแสง ไม่ใช่ดวงดาวที่เต็มไปด้วยความมืดมิด กำลังอับแสง

นี่แหละครับชีวิตของ Judy Garland เธอวาดฝันที่จะกลับมายิ่งใหญ่ แต่ก็ถูกด้านมืดของโลกมายา Hollywood ตอบโต้กลับ จนสุดท้ายไม่ได้เป็นดั่งฝัน นี่เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าทุกคนในวงการรับรู้ว่ามีแต่ทำเป็นมองไม่เห็น มองข้าม ไม่สนใจ, ในสิ่งสวยงาม ย่อมต้องมีความอัปลักษณ์อยู่ ถ้าคุณจะเข้าไปอยู่ในโลกแห่งนี้ ต้องมองให้เห็นทั้งสองด้าน และจะปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ได้ ไม่เช่นนั้น …

ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้อย่างยิ่ง แม้ในใจจะเจ็บปวดรวดร้าว จุกแน่นในอกจนหายใจแทบไม่ออก ชีวิตของมนุษย์มันไม่ควรน่าเศร้าขนาดนี้ ยิ่งใน Hollywood ด้วยแล้ว ดาวดาราจรัสแสงควรที่จะเจิดจร้าจนมองไม่เห็นมุมมืดใดๆเลย แต่ดาวดวงนี้ของ Judy Garland มันมืดเสียยิ่งกว่าท้องฟ้าจนเห็นเด่นชัด ดึงดูดทุกสายตายิ่งกว่าดาวที่เจิดจรัสแสงเสียอีก

แนะนำกับผู้ชื่นชอบหนังเพลง ร้องเล่นเต้น, หลงใหลในวงการมายา Hollywood มีความฝันต้องการเป็นดาวดาราที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จ นี่คือหนังเรื่องที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนได้” เรียนรู้ จดจำฝังลึกไว้ในใจ ถ้าฉันทำได้ดั่งฝันแล้ว จะต้องไม่กลายเป็นแบบนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ชื่นชอบหลงใหลใน Judy Garland นี่คือหนังที่สุดการแสดงของเธอจริงๆ แฟนๆของ James Mason ต้องบอกว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

จัดเรต 13+ กับความขี้เมาและ Tragedy

TAGLINE | “A Star is Born ฉบับของ Judy Garland จะทำให้คุณไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่า นี่คือภาพยนตร์หรือชีวิตจริง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: