A Star is Born

A Star Is Born (1976) hollywood : Frank Pierson ♥♥♡

ถึงบทเพลงขับร้องโดย Barbra Streisand จะมีความไพเราะอลังการสักเพียงไหน แต่เธอไม่สามารถโน้มน้าวให้เชื่อในตัวละคร หญิงสาวผู้กำลังไต่เต้าคว้าดาวดารา หรือสัมพันธ์พิศวาสกับ Kris Kristofferson ไปตกหลุมรักกันตอนไหน?

จุดเด่นและจุดด้อยของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ Barbra Streisand ไร้คำครหาในเสียงร้องอันทรงพลัง ไม่ย่อหย่อนไปกว่ารุ่นพี่ Judy Garland แต่ขณะเดียวกันถือเป็นการคัดเลือกนักแสดงที่ผิดพลาดมหันต์ (Miscast) ขนาดว่าโป๊เปลือยลงแช่อ่างอาบน้ำ กอดจูบร่วมรักกับ Kris Kristofferson ยังไร้ซึ่งสัมพันธ์เคมีที่บ่งบอกว่า ฉันรู้สึกรัก ห่วงใย สงสารเห็นใจ คือมันล่องๆลอยๆขาดจิตวิญญาณอันทำผู้ชมรู้สึกคล้อยตาม ราวกับว่าอารมณ์ทั้งหมดถูกโยกย้ายไปไว้ในบทเพลง นั่นไม่ทำให้หนังมีความต่อเนื่องลื่นไหลกลมกล่อมแม้แต่น้อย

วิวัฒนาการของ A Star Is Born เป็นสิ่งที่น่าสนใจทีเดียว นับตั้งแต่
– What Price Hollywood? (1932)
– A Star Is Born (1937) ฉบับนักแสดงหนัง Hollywood นำแสดงโดย Janet Gaynor, Fredric March, Adolphe Menjou
– A Star Is Born (1954) ฉบับหนังเพลง นำแสดงโดย Judy Garland, James Mason
– A Star Is Born (1976) ฉบับนักร้อง นำแสดงโดย Barbra Streisand, Kris Kristofferson

มันมีความน่าสนใจอะไรกันที่ทำให้ A Star Is Born ได้รับการสร้างใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดก็ฉบับ 2018 นำแสดงโดย Bradley Cooper ประกบคู่ Lady Gaga

ผมคิดว่าเพราะความคลาสสิกของเรื่องราว ที่ถือเป็นสัจธรรมความจริงของชีวิต เมื่อดาวดวงหนึ่งกำลังไต่ขึ้นเจิดจรัสบนฟากฟ้า ย่อมทำให้อีกดาราที่เคยทอแสงจ้า พลันมืดหมองหม่นเคลื่อนคล้อยลงตกดิน ชื่อเสียงความสำเร็จก็เช่นกัน หาใช่สิ่งจีรังยั่งยืน มีขึ้นก็ต้องมีลง สูง-ต่ำ รวย-จน ถ้ามิอาจยินยอมรับปรับตัวหรือเข้าใจ อาจพานพบเจอความผิดหวังเศร้าสลด เลวร้ายบัดซบคือโศกนาฎกรรมก่อนถึงเวลาอันควร

Frank Romer Pierson (1925 – 2012) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chappaqua, New York แม่ของเขา Louise née Randall เป็นนักเขียนนิยาย เรื่องราววัยเด็กเคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อัตชีวประวัติเรื่อง Roughly Speaking (1945) นำแสดงโดย Rosalind Russell, Jack Carson

หลังกลับจากเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียนต่อจบจากมหาวิทยาลัย Harvard ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวประจำนิตยสาร TIME และ Life ระหว่างนั้นก็หัดเขียนบทละครเวที ซีรีย์ Have Gun – Will Travel (1962), Naked City (1962-1963), Route 66 (1963), บทภาพยนตร์ Cat Ballou (1965), The Happening (1967), Cool Hand Luke (1967), Dog Day Afternoon (1975) ** คว้า Oscar: Best Original Screenplay, กำกับหนัง The Looking Glass War (1969), The Neon Ceiling (1971), และเรื่องประสบความสำเร็จสูงสุด A Star Is Born (1976)

ความสนใจของ Pierson คือการตีความใหม่ A Star is Born จากที่เคยเป็นหนังรักดราม่า, หนังเพลง Musical ให้กลายมาเป็นเรื่องราวของนักร้อง หนึ่งคือชายผู้เคยประสบความสำเร็จล้นหลาม กำลังค่อยๆตกต่ำทรามลงเพราะตนเอง ตรงกันข้ามกับหญิงสาวหน้าใหม่ในวงการ กำลังค่อยๆไต่เต้าขึ้นกลายเป็นดาวดาราเจิดจรัสบนฟากฟ้า

สำหรับนักแสดงนำหญิงหนึ่งเดียวที่ผู้กำกับให้ความสนใจ โด่งดังและมี Charisma ที่สุดในวงการขณะนั้นคือ Barbra Streisand ซึ่งก็ตอบตกลงแทบโดยทันที และขอเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของหนังด้วย (ได้เครดิตเป็น Executive Producer)

Barbara Joan ‘Barbra’ Streisand (เกิดปี 1942) นักร้อง นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน หนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถคว้า Emmy, Grammy, Oscar และ Tony Award ได้ครบทุกสถาบัน เกิดที่ Brooklyn ในครอบครัวชาว Jews แม่เป็นนักร้องเสียง Soprano จึงได้ลูกคอติดมา โตขึ้นเป็นนักร้อง นักแสดงละครเพลง Broadway ออกรายการโทรทัศน์, ภาพยนตร์เรื่องแรก Funny Girl (1968), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Way We Were (1973), A Star Is Born (1976), Yentl (1983), The Prince of Tides (1991) ฯ

รับบท Esther Hoffman Howard นักร้องสาวเสียงดี กำลังทำงานในผับแห่งหนึ่ง แต่วันนั้นถูกขัดจังหวะด้วยเสียงพูดคุยสนทนาของ John Norman Howard ไม่นานนักก็เกิดเรื่องทะเลาะวิวาท เป็นเหตุให้ต้องลากพาตัวเขาออกไปด้านหลัง ตามตื้อไม่เลิกจนเช้าวันใหม่ ลักพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาถึงงานแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้ง บ้าไม่หยุดกับพฤติกรรมขวางโลก แต่กลับค่อยๆเคลิบเคลิ้มตกหลุมรัก แต่งงาน และได้รับการผลักดันขึ้นเวทีคอนเสิร์ต แค่เพียงครั้งเดียวก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับจับตามองอย่างกว้างขวาง

ทรงผมหยิกฟูของตัวละคร ค่อนข้างดูพิลึกพิลั่นไม่ค่อยเหมาะกับ Streisand สักเท่าไหร่ เป็นที่นิยมเทรนด์แฟชั่นยุคสมัยนั้นก็จริง แต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายกลับหลุดโลกมาจากไหน มีนักวิจารณ์แซวว่า สงสัยเธอคงไม่รู้จักกางเกงยีนส์ ที่สาวๆไฟแรงสมัยนั้นนิยมสวมใส่กัน แต่จะมีชุดบ้าๆหน่อยก็ Superman พออยู่ในท้องทุ่งกว้างก็กล้าได้แบบไร้ยางอาย

เกร็ด: ในเครดิตช่วงท้าย จะมีข้อความขึ้นว่า “Miss Streisand’s clothes from… her closet”.

เพราะความที่ Streisand จัดว่าเป็น ‘Superstar’ ค้างฟ้าเรียบร้อยแล้วขณะสร้างหนังเรื่องนี้ ไม่เหมือนตอน Funny Girl (1968) ที่ยังหน้าใหม่ใสบริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความน่ารักน่าชัง แต่บทบาทใหม่นี้กลับมีความเย้ายียวน จัดจ้าน ร่าน และดูไม่เหมือนหญิงสาวผู้กำลังค่อยๆไต่เต้าไขว่คว้าดาวดาราบนฟากนภา เรียกว่าขาดความน่าเชื่อถือในตัวละครโดยสิ้นเชิง

แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นเห็นจะคือความสัมพันธ์ต่อผู้กำกับ จะทำอย่างนี้มันเรื่องของฉัน! Streisand ไม่เคยฟังคำทัดทาน ความคิดเห็น ร้องขอของ Pierson เลวร้ายสุดก็ตอนงานคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ภายหลังเขาจึงเขียนจดหมายแฉพฤติกรรมของเธอ ตีพิมพ์ลงนิตยสาร New West ชื่อเรื่อง My Battles with Barbra and Jon เป็นเหตุให้พวกเขาไม่เคยพูดคุยพบหน้า ร่วมงานกันอีกเลย

เผื่อใครอยากอ่านจดหมายเต็มๆ: https://afflictor.com/2014/12/19/i-look-at-barbra-shes-not-listening/

สำหรับนักแสดงชาย แรกๆเล็งกันไว้คือ Neil Diamond, Marlon Brando, ขณะที่ Streisand อยากได้ Elvis Presley ถึงขนาดตีตั๋วไปดูคอนเสิร์ต แล้วใช้เวลาหลังงานพูดคุยสนทนาต่อรอง แต่ผู้จัดการส่วนตัวกลับไม่ยินยอมพอใจในความข้ามหน้าข้ามตา (ไม่ยอมคุยผ่านเขาก่อน) สร้างข้อแม้อย่าง Elvis ต้องค่าตัวสูงสุด, มีชื่อขึ้นก่อนคนอื่น, สุดท้ายก็เลยต้องหานักแสดงคนใหม่

Kristoffer Kristofferson (เกิด 1936) นักร้อง นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brownsville, Texas พ่อเป็นทหารอากาศ ทำให้ช่วงชีวิตวัยเด็กต้องย้ายบ้านไปเรื่อยๆ ก่อนมาปักหลักที่ San Matero, California ชื่นชอบเล่นกีฬา แถมเรียนเก่งจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ได้ทุนเข้าศึกษาต่อ Oxford University ระหว่างนั้นก็เป็นนักร้อง นักดนตรี ตั้งใจว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จจะออกมาเขียนนิยาย ดิ้นรนอยู่สักพักจนประสบความสำเร็จล้นหลามกับบทเพลงแนว Country, สำหรับวงการภาพยนตร์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอตัว อาทิ Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974), The Sailor Who Fell from Grace with the Sea (1976), A Star is Born (1976), Convoy (1978), Heaven’s Gate (1980), Flashpoint (1984), Blade Trilogy ฯ

รับบท John Norman Howard นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง ‘Rock Star’ มีแฟนๆคลุ้มคลั่งนับพันหมื่นแสน รอคอยรับชมการแสดงแบบไม่ยอมหนีกลับไปไหน แต่พฤติกรรมสุดขั้วของชาวผู้นี้ สำมะเลเทน้ำเมา ดื่มเหล้าแทนของเหลว เสพโคเคน แถมยังชอบเย้ยฟ้าท้ากฎหมาย ไม่หวาดกลัวเกรงต่อสิ่งอันดราย ไม่เคยทำใครตายนับว่าเป็นบุญโข

ความบังเอิญที่ได้พบเจอ Esther Hoffman ครั้งแรกเริ่มจากรู้สึกผิด แต่ไม่นานก็ตกหลุมรักในน้ำเสียง ความสามารถ และบั้นท้ายสวย ต้องการผลักดันส่งเสริมให้เธอประสบพบเจอความสำเร็จ จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งรับรู้ว่าเป็นตัวถ่วง พยายามตีตนออกห่างแต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้าย…

แค่ภาพลักษณ์ไว้หนวดเครา ทรงผมแนวๆ มาดร็อคเกอร์ แทบจะกินขาดกับตัวละครนี้ คือเชื่ออย่างสนิทใจว่าหมอนี่ต้องมีชื่อเสียงโด่งดัง(ในทางเสียๆหายๆ)อย่างแน่นอน และพอพบเจอการกระทำอันคลุ้มคลั่งเสียสติ อึ้งทึ่งคิดได้ยังไง! เกินกว่าความที่มนุษย์มนาทั่วไปจะยินยอมรับได้จริงๆ

ในแง่ Passion กับ Streisand มันมีความลุ่มหลงใหลเป็นประกายหลบซ่อนเร้นอยู่ (ผิดกับ Streisand ที่แทบสัมผัสอะไรไม่ได้จากภายใน) และยิ่งเวลารวดร้าวทุกข์ทรมาน ผู้ชมจะรู้สึกสงสารเห็นใจ คงจะเป็นบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมสุดในชีวิตของ Kristofferson แล้วกระมัง

ถ่ายภาพโดย Robert L. Surtees ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติอเมริกัน ผู้คว้า Oscar: Best Cinematography ถึง 3 ครั้งจาก King Solomon’s Mines (1950), The Bad and the Beautiful (1952), Ben-Hur (1959) นอกจากนี้ยังมีผลงานอย่าง Quo Vadis (1951), The Graduate (1967), The Last Picture Show (1971), The Sting (1973) ฯ

งานภาพโดดเด่นมากในเรื่องการจัดแสงสี โดยเฉพาะทรงผมอันหยิกหยอยของ Streisand เมื่อถ่ายย้อนแสงหรือสาดสีลงไป ราวกับสุริยุปราคา (ดวงจันทร์บดบังแสงอาทิตย์) เปร่งรัศมีออร่าอันเจิดจรัสจ้า

สิ่งบ้าบอคอแตก เว่อวะรังอลังการ คืองานแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ท่ามกลางฝูงมหาชนกว่า 47,000+ คน ณ Sun Devil Stadium เมือง Tempe, Arizona ซึ่งทีมงานใช้การโฆษณาหลอกๆ อ้างว่าเป็นงานดนตรีของ Peter Frampton, Santana แถมเก็บค่าตั๋ว $3.5 เหรียญ ถูกคุ้มแบบนี้ไม่มาก็โง่แล้ว

ถ้าใครได้อ่านจดหมายของผู้กำกับ ‘My Battles with Barbra and Jon’ จะรู้ว่านี่เป็นงานที่เละเทะวุ่นวาย ไม่มีอะไรเตรียมพร้อมสักอย่าง แถมยังความเรื่องมากของ Streisand, Kristofferson, ไม่มีใครสามารถควบคุมฝูงชนปริมาณขนาดนั้นได้ สองชั่วโมงผ่านไปคอนเสิร์ตยังไม่เริ่มเสียที เสียงตะโกนดังกึกก้อง

“No more filming, no more filming!”

ไม่ยักรู้ว่า ผู้หญิง สามารถทำเหมือนบาทหลวง นำพิธีแต่งงานให้กับคู่รักหนุ่มสาวได้?, นี่อาจเป็นผมเองที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ความรู้สึกเหมือนเป็นการประชดประชันวงการศาสนา ทำไมต้องมีพิธีรีตองอย่างเป็นทางการ เพราะแค่นี้มีบุคคลที่สามเป็นสักขีพยาน ก็เพียงพอถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไม่ใช่หรือ?

แถมว่าเธอเป็นคนผิวสี ห้อมล้อมสองข้างกับหนุ่มสาวผิวขาว นี่สะท้อนกับวงโอรีโอ้ สองนักร้องผิวสีประกบตัวละครของ Streisand ตอนต้นเรื่อง, ส่วนตัวรู้สึกว่า การนำเสนอเช่นนี้มันมีนัยยะบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ เพราะทศวรรษนั้นกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของคนผิวสี กำลังอยู่ในช่วงเข้มข้นอย่างสุดๆ มีการโต้ตอบกันใช้กำลังอย่างรุนแรง พวกเห็นด้วยก็สุดโต่ง เห็นต่างก็ลอบสังหารกันเลย แทรกตัวละครผิวสีมาในลักษณะนี้ ไม่น่าใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่

คอนเสิร์ตระดมทุน American Indian Relief Fund, สร้างกระต๊อบกลาง Arizona, เสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร ฯ หลายครั้งมีลักษณะ อ้างอิงถึงชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียแดง ที่ถูกขับไล่ แทบสิ้นสูญหมดไปจากประเทศอเมริกา

นี่เช่นกันที่ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นการล้อเลียน เหยียดหยาม ประชดประชัน เพราะทำการเปรียบเทียบความป่าเถื่อนล้าหลังของชนเผ่าพื้นเมือง กับตัวตนของ John Norman Howard ที่กำลังค่อยๆตกต่ำหมดสิ้นสภาพ จนสุดท้ายถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง, ผิดกับ Esther Hoffman Howard ที่เมื่อได้มาพบเจอ John (ประมาณว่า Columbus พบเจอทวีปอเมริกา) อะไรๆในชีวิตของเธอจึงเจริญรุ่งโรจน์ขึ้นเรื่อยๆ

ตัดต่อโดย Peter Zinner (1919 – 2007) ยอดฝีมือสัญชาติ Austria ช่วงแรกๆในวงการเป็น Sound Editor มีผลงานอย่าง Quo Vadis (1951), Singin’ in the Rain (1952), The Band Wagon (1953), Gigi (1958) ต่อมากลายเป็นนักตัดต่อ ผลงานอมตะคือ The Professionals (1966), The Godfather (1972), The Godfather Part II (1974), The Deer Hunter (1978), An Officer and a Gentleman (1982) ฯ

เริ่มต้นเรื่องราวด้วยมุมมองของ John Norman Howard แสดงคอนเสิร์ต พบเจอหญิงสาว คอยช่วยเหลือผลักดัน จนเมื่อถึงจุดเปลี่ยนผลัดมือ เปลี่ยนไปนำเสนอด้วยมุมมองของ Esther Hoffman Howard จนกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิตของชายคนรัก

เนื่องด้วยโปรดิวเซอร์ของหนัง ไม่ค่อยชื่นชอบประทับใจตอนจบดั้งเดิม (และบทของ Pierson) สักเท่าไหร่ เพราะตัวละครตัดสินใจฆ่าตัวตาย เสียสละตนเองเพื่อคนรัก จึงกึ่งๆบีบบังคับให้ผู้กำกับทำการปรับเปลี่ยนแปลง กลายเป็นท้ายที่สุด ใช้ความคลุมเคลือไม่เปิดเผยชี้ชัดให้รู้ ตายเพราะฆ่าตัวตาย หรืออุบัติเหตุเฉยๆกันแน่

สำหรับเพลงประกอบ เครดิตของ Soundtrack คือ Roger Kellaway แทรกอยู่ประปราย ส่วนใหญ่เป็นเดี่ยวเปียโน บางครั้งประกอบ Orchestra เพื่อเติมเต็มห้วงอารมณ์แห่งความสุข เศร้า Love Scene ขณะหวานแหววโรแมนติก

ขณะที่บทเพลงขับร้อง น่าจะเป็น Original ทั้งหมด ผู้แต่งประกอบด้วย Paul Williams, Kenny Ascher, Rupert Holmes, Kenny Loggins, Leon Russell และ Barbra Streisand (ไม่ได้ร้องอย่างเดียวนะ เขียนเพลงเองด้วย)

ปกติแล้วหนังเพลงจะไม่ค่อยร้องสองเพลงติดๆต่อเนื่องกันทันที หลักๆคือเสียเวลา แต่เรื่องนี้ทำการแหกกฎนั้นไปเลย ควบคู่แทบจะตลอดเวลา
– เปิดตัว Esther เริ่มด้วย Queen Bee ต่อด้วย Everything
– ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกของ Esther เริ่มด้วย The Woman In The Moon ตามด้วย I Believe In
– ก่อนการเสียชีวิตของ John เริ่มด้วย Watch Closely Now ตามด้วย Lost Inside Of You
– ทิ้งท้ายของ Esther เริ่มด้วย With One More Look At You ต่อด้วย Watch Closely Now

Watch Closely Now แต่งโดย Paul Williams & Kenny Ascher ต้นเรื่องขับร้องโดย Kris Kristofferson ท้ายเรื่องน้ำเสียง Barbra Streisand
– ช่วงแรกคือการชักชวนให้ผู้ชมคอนเสิร์ต/ผู้ชมภาพยนตร์ จับตามองอย่างใกล้ชิด
– ช่วงท้ายจะสื่อถึง Esther ร้องขอให้ผู้ล่วงลับ John เฝ้าจับตามองตนจากโลกหน้า

บทเพลง Everything แต่งทำนองโดย Rupert Holmes, เนื้อร้องโดย Rupert Holmes & Paul Williams, ขับร้องโดย Barbra Streisand, ถือเป็นบทเพลงขายความสามารถแรกของตัวละคร Esther อันเป็นเหตุให้ John เกิดความลุ่มหลงใหลคลั่งไคล้ แต่แล้วเพื่อนคนหนึ่งก็เข้ามาขัดจังหวะ พูดเสียงดังจนชวนให้หงุดหงิดเสียสมาธิ จากเพลงเพราะๆกลายเป็นอะไรไปก็ไม่รู้

เลยนำเอาฉบับเต็มๆแบบไม่มีเสียงอื่นขัดมาให้รับฟังกัน

Evergreen หรือจะเรียกว่า Love Theme from A Star Is Born แต่งคำร้องโดย Paul Williams, ทำนอง/ขับร้องโดย Barbra Streisand, บทเพลงพรรณาความงามแห่งรสรัก ดั่งเก้าอี้นุ่มๆ อากาศยามเช้าอันคุกรุ่น ดอกกุหลาบภายใต้หิมะเดือนเมษา มันช่างไร้กาลเวลา และเขียวขจีชั่วนิรันดร์

บทเพลงนี้คว้า Oscar: Best Original Song ส่งให้ Streisand กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ทั้งยังต่อด้วย Grammy Award for Song of the Year แน่นอนว่าต้องไต่ขึ้นถึงอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100 เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ได้รับประกาศ Platinum (เกิน 1 ล้านก็อปปี้)

The Woman in the Moon แต่งคำร้อง/ทำนองโดย Paul Williams & Kenny Ascher, ขับร้องโดย Barbra Streisand, ถือเป็นบทเพลงแจ้งเกิดตัวละคร Esther ครั้งแรกบนเวที ยิ่งใหญ่เกินสดุดี ไต่เต้ากลายเป็นจันทราดวงใหญ่ ส่องสว่างเจิดจรัสจ้าบนฟากฟ้าโดยทันที

บทเพลงสุดท้ายของหนัง ขายความสามารถล้วนๆของ Barbra Streisand กลัวผู้ชมไม่อิ่มอกอิ่มใจ เลยควบสองบทเพลง With One More Look At You และ Watch Closely Now ใช้เพียง Super-Long Take เกือบๆ 10 นาที ถ่ายภาพระยะ Close-Up จับจ้องใบหน้าของ Streisand ไม่มีตัดต่อเปลี่ยนมุมกล้องสักครั้งเดียว

ผมรู้สึก Mix มากๆกับตอนจบเช่นนี้ เพราะหนังได้แปรสภาพจาก A Star is Born กลายเป็น A Star is Shining โดยมี Barbra Streisand คือจุดศูนย์กลาง ซึ่งก่อให้เกิดคำเรียกไม่ค่อยรื่นหูเท่าไหร่ Streisand-ivie

A Star is Born ฉบับนี้ ทำให้ผมเกิดความตระหนักขึ้นได้อย่างหนึ่ง ดาวดาราหาได้มีเฉพาะวงการบันเทิง/ภาพยนตร์/เพลงเท่านั้น จริงๆก็คือทุกอาชีพการงาน ล้วนต้องมีดาวรุ่งพุ่งแรงและดาวตกกำลังอับแสง สองสิ่งสะท้อนสวนทาง เพื่อให้เกิดความสมดุลในวัฏจักรชีวิต

เกิดอะไรขึ้นกับ John ที่ทำให้เขากลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติแตกขนาดนั้น? ความลุ่มหลงใหลในชื่อเสียง ความสำเร็จ เงินทอง วัตถุสิ่งของภายนอกมอมเมาให้เขาหลงคิดว่า นั่นคือสุขแท้จริงของความเป็นมนุษย์ จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสพบเจอรู้จัก Esther ถึงค่อยๆเรียนรู้ว่าทุกอย่างที่ตนเคยได้รับ มันช่างไร้คุณค่าความหมายโดยสิ้นเชิง อารมณ์รักต่างหากที่คือสุขแท้จริง ‘Evergreen’ เขียวขจีอยู่ภายในจิตใจชั่วนิรันดร์

แต่แท้จริงแล้วนั่นก็ยังไม่ใช่อีกนะครับ เพราะรักมากเลยยิ่งยึดติด เจ็บปวดรวดร้าวเมื่อพบเห็นอีกฝ่ายกำลังมีทิศทางชีวิตสวนกัน ตนเองกำลังได้ขึ้นสวรรค์ อีกฝ่ายเดินคอตกลงนรก แสนสาหัสมิอาจปลดปล่อยวาง ทุกข์ทรมานกลายเป็นบาดแผลร้าวลึกอยู่ภายในจิตใจ

สิ่งแตกต่างอย่างหนึ่งของ A Star is Born ฉบับนี้ คือการครุ่นคิดเข้าใจได้ของพระเอก ฉันคือดาวกำลังตกก็จริง แต่ใช่จะหมายถึงจุดจบแห่งชีวิต เมื่อสามารถปรับความเข้าใจคืนดีกันได้ ถ้าไม่ใช่เพราะโศกนาฎกรรม ก็มีโอกาสที่ John จะสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง Comeback หวนกลับมาประสบความสำเร็จโด่งดัง ในอีกรอบวัฏจักรถัดไปก็เป็นได้เหมือนกัน

ด้วยทุนสร้างประมาณ $6 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $80 ล้านเหรียญ สูงสุดอันดับ 3 ของปี (รองจาก Rocky และ To Fly!)

เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Cinematography
– Best Sound
– Best Music, Original Song Score and Its Adaptation or Best Adaptation Score
– Best Music, Original Song บทเพลง Evergreen (Love Theme from A Star Is Born) ** คว้ารางวัล

ขณะที่ Golden Globes Award เข้าชิง 5 รางวัล กวาดเรียบ
– Best Motion Picture – Comedy or Musical
– Best Actor in a Motion Picture – Comedy or Musical (Kris Kristofferson)
– Best Actress in a Motion Picture – Comedy or Musical (Barbra Streisand)
– Best Original Score – Motion Picture
– Best Original Song – Motion Picture บทเพลง Evergreen (Love Theme from A Star Is Born)

คงต้องถือว่า A Star is Born ฉบับนี้ มีทั้งรักทั้งเกลียด, ชื่นชอบบทเพลง การแสดงของ Kris Kristofferson น้ำเสียงร้อง Barbra Streisand แต่ผิดหวังกับไดเรคชั่น ความต่อเนื่อง เคมีคู่พระนาง และการแสดง(ที่ไม่ใช่ร้องเพลง)ของ Barbra Streisand

แนะนำกับผู้ชื่นชอบเรื่องราวของ A Star is Born, หลงใหลบทเพลง Rock, รักโรแมนติด โศกนาฎกรรม, นักแสดงนำ Barbra Streisand และ Kris Kristofferson ไม่ควรพลาด

จัดเรต R ในความคลุ้มคลั่ง เสียสติแตก

TAGLINE | “A Star is Born ฉบับของ Barbra Streisand ถึงบทเพลงจะไพเราะอลังการ แต่การแสดงของเธอกลับไร้จิตวิญญาณ”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: