A Streetcar Named Desire

A Streetcar Named Desire (1951) hollywood : Elia Kazan ♥♥♥♥

Vivien Leigh ขึ้นรถรางมุ่งสู่ตรอกซอยแห่งราคะ พบเจอ Marlon Brando ในคราบของสัตว์ป่าดิบเถื่อน ที่มองเห็นตัวตนแท้จริงของกันและกัน ระเบิดความโกรธเกลียดเคียดแค้นอย่างรุนแรงสมจริง ด้วยเทคนิค Method Acting ครั้งแรกของวงการภาพยนตร์

เพราะมันเป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ กับการแสดงที่โคตรสมจริงของ Marlon Brando โอบรับเอาทุกสิ่งอย่างของตัวละคร สวมใส่เข้าไปในตนเองถึงระดับจิตวิญญาณ ผู้คนสมัยนั้นจึงเกิดความหวาดหวั่นกลัวเกรง มันจะมากเกินไปหรือเปล่า! นั่นเป็นเหตุให้ Brando พลาดรางวัล Oscar: Best Actor ไปให้กับ Humphrey Bogart จากเรื่อง The African Queen (1951) แบบไม่ค่อยน่าให้อภัยนัก [แต่หลายคนอาจยอมให้ เพราะเป็น Oscar ตัวแรกตัวเดียวของ Bogart]

แต่ขณะที่นำหญิง, สมทบชาย-หญิง ต่างคว้า Oscar สาขาการแสดงไปครองได้หมด (เป็นครั้งแรกที่มีภาพยนตร์คว้าสาขาการแสดงได้ถึง 3 รางวัล อีกเรื่องหนึ่งคือ Network) หลงเหลือเพียง Brando กลายเป็นแกะดำ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเมื่อพูดถึง A Streetcar Named Desire แทบไม่ค่อยมีใครจดจำ Vivien Leigh, Kim Hunter หรือแม้แต่ Karl Malden

ผมเองเมื่อกาลเวลาผ่านไป จดจำภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แค่ Marlon Brando เช่นกัน ขณะรับชมเห็นเครดิตของ Vivien Leigh ก็แอบตกใจ ไฉนลืมเลือนนักแสดงที่โคตรตราตรึงกับ Gone With the Wind (1939) ไปเสียได้ แถมเธอยังเป็นตัวละครหลักดำเนินเรื่องด้วยนะ! (คิดว่าเพราะตัวละครของ Leigh เอาแต่หลบอยู่ในเงามืด ไม่ค่อยเห็นใบหน้าชัดๆแบบภาพสีของวิมานลอย เวลาผ่านไปหลงลืมเลือนก็คงไม่แปลกอะไร)

รวมๆแล้วสิ่งที่ A Streetcar Named Desire ได้รับการยกย่องยิ่งใหญ่ คือด้านการแสดง ถือว่าเป็นหนังรวมดารา Ensemble Cast ที่มีความยอดเยี่ยม ทรงพลัง สมบูรณ์แบบที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก

ดัดแปลงจากบทละครเวที A Streetcar Named Desire (1947) แต่งโดย Thomas Lanier ‘Tennessee’ Williams III (1911 – 1983) นักเขียนบทละคร (Playwright) สัญชาติอเมริกัน ได้รับการยกย่องเคียงคู่กับ Eugene O’Neill และ Arthur Miller ว่าเป็น ‘สามนักเขียนบทละครดราม่า ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอเมริกันในศตวรรษ 20’ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Glass Menagerie (1944), Cat on a Hot Tin Roof (1955), Sweet Bird of Youth (1959)

เกร็ด: ผลงานที่เป็น Masterpiece ของนักเขียนบทละครทั้งสาม ประกอบด้วย
– Tennessee Williams เรื่อง A Streetcar Named Desire
– Eugene O’Neill เรื่อง Long Day’s Journey into Night
– Arthur Miller เรื่อง Death of a Salesman

ต้นฉบับละครเวที Broadways กำกับโดย Elia Kazan นำแสดงโดย Jessica Tandy, Marlon Brando, Karl Malden, Kim Hunter เปิดการแสดงที่ Ethel Barrymore Theatre รอบปฐมทัศน์วันที่ 3 ธันวาคม 1947 สิ้นสุดธันวาคม 1949 รวมแล้ว 855 รอบการแสดง คว้ารางวัล Pulitzer Prize for Drama และ Tony Award for Best Actress in a Play (Jessica Tandy)

ด้วยความนิยมอย่างสูง Laurence Olivier จึงติดต่อขอลิขสิทธิ์ไปเกิดการแสดงที่ West End, London นำแสดงโดยภรรยาของเขาขณะนั้น Vivien Leigh สมทบด้วย Bonar Colleano, Renee Asherson

เหมือนจะเป็น Tennessee Williams ที่เมื่อได้รับการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์จากโปรดิวเซอร์ Charles Feldman ท้าทายและชักชวน Elia Kazan ให้มาเป็นผู้กำกับ ทีแรกเจ้าตัวว่าจะบอกปัดปฏิเสธ แต่เมื่อมองเป็นความท้าทายใน Hollywood เลยตบปากรับคำโดยทันที

Elia Kazan ชื่อเดิม Elias Kazantzoglou (1909 – 2003) ผู้กำกับสัญชาติ Greek-American เกิดที่ Constantinople, Ottoman Empire (ปัจจุบันคือ Istanbul, Turkey) ตอนอายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่อเมริกา โตขึ้นเข้าเรียน Williams College ตามด้วย Yale School of Drama และ Juilliard School กลายเป็นนักแสดงอาชีพอยู่ถึง 8 ปี เข้าร่วม Group Theatre แสดง-กำกับละครเวที Broadway ประสบพบเจอความสำเร็จมากมาย สู่วงการภาพยนตร์กับ A Tree Grows in Brooklyn (1945) ผลงานเด่นๆ อาทิ Gentleman’s Agreement (1947), A Streetcar Named Desire (1951), Viva Zapata! (1952), On the Waterfront (1954), East of Eden (1955), Splendor in the Grass (1961) ฯ

ปี 1947, Kazan ร่วมกับ Robert Lewis และ Cheryl Crawford ก่อตั้ง Actors Studio โดยมี Lee Strasberg เป็นผู้อำนวยการ ได้นำเอาทฤษฎี Method Acting เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน โดยนำแนวคิดมาจาก Konstantin Stanislavski ผู้ฝึกสอนการแสดงสัญชาติรัสเซีย ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ อาทิ James Dean, Montgomery Clift, Karl Malden ฯ

Kazan เป็นผู้กำกับที่ได้รับการกล่าวถึงว่าคือ Actor’s Director เพราะมีความรู้เชี่ยวชาญด้านการแสดง สามารถชี้ชักนำด้วยวิธีการที่ทำให้นักแสดงถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกออกมาจากภายในของตัวละคร ได้อย่างทรงพลังและสมจริง

ปัญหาใหญ่ของการดัดแปลงบทละคร A Streetcar Named Desire คือเรื่องราวที่มีความหมิ่นเหม่ล่อแหลม โปรดิวเซอร์ Feldman เคยนำโปรเจคไปเสนอหาทุนสร้างต่อ Darryl F. Zanuck ของสตูดิโอ Fox ถูกบอกปัดเพราะคิดว่าหนังคงไม่ผ่านกองเซนเซอร์ได้ออกฉายแน่ๆ, ซึ่งหลังจาก Warner Bros. ยินยอมออกทุนสร้างให้ มีข้อแม้คือต้องให้บทได้รับการอนุมัติผ่านจาก Production Code เสียก่อน

เห็นว่ากว่า 60+ จุดที่กองเซนเซอร์จี้จุดบอกให้ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่างจากฉบับละครเวที นี่ยังไม่รวมตอนตัดต่อหนังเสร็จ นำไปทดลองฉายก็ยังถูกขอให้เล็มหลายๆฉากออกไปอีก, ซึ่งจุดใหญ่ๆที่สูญหายไป อาทิ
– สิ่งบ่งชี้ชัดเหตุผลที่อดีตสามีเด็กของ Blanche ฆ่าตัวตาย เพราะถูกภรรยาจับได้ว่าลักลอบเป็นชู้กับผู้ชาย (Homosexual)
– ฉากที่ Stanley ข่มขืน Blanche (ตอนท้ายที่ภรรยาของ Stanley กำลังรอคลอดลูก) นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ตอนจบเธอเสียสติแตกกลายเป็นบ้า
– ตอนจบ Stella เมื่อเห็นสภาพของ Blanche จิตใจล่องลอยไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่ก็เมื่อ Stanley คุกเข่าอ้อนวอนร้องขอ เธอจึงยินยอมให้อภัยเขา และต่างพากันเดินกลับเข้าบ้าน

(เห็นว่าตอนจบของหนัง ผู้กำกับจงใจแฝงนัยยะ ‘รับไม่ได้’ ต่อการเซ็นเซอร์อันเรื่องมากชิบหายของ Hollywood)

เกร็ด: Desire Street มีอยู่จริงนะครับ ณ เมือง New Orleans, Louisiana ตั้งชื่อตาม Désirée Gautier Montrieul ลูกสาวของเจ้าของฟาร์มและที่ดินบริเวณดังกล่าว, สำหรับรถราง (Streetcar) ที่ชื่อ Desire Line ก็มีอยู่จริงเช่นกัน วิ่งรับส่งจาก Canal Street ถึง Bourbon เปิดให้บริการช่วงปี 1920 – 1948 แต่หลังความสำเร็จของละครเวที ทำให้เจ้าของกิจการสายนี้ร่ำรวยขึ้นมา เลยเปลี่ยนมาใช้รสเมล์โดยสารแทน

เรื่องราวของ Blanche DuBois (รับบทโดย Vivien Leigh) เดินทางจาก Auriol, Mississippi (เมืองสมมติ) สู่ New Orleans เพื่ออาศัยอยู่กับน้องสาว Stella (รับบทโดย Kim Hunter) ที่ได้แต่งงานกับ Stanley Kowalski (รับบทโดย Marlon Brando) แต่ห้องเช่าของพวกเขามีสภาพโกโรโกโส ผิดกับฐานะเดิมของตนเอง แต่จะทำยังไงได้เพราะ Blanche ก็ไม่หลงเหลือใครแล้วทั้งนั้น สามีฆ่าตัวตาย บ้านที่ดินกำลังถูกยึด ขณะที่ตัวเธอสติสตางค์ไม่ค่อยเต็มเท่าไหร่

ขณะที่ Blanche เหมือนพยายามจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ Stanley กลับขุดคุ้ยอดีต ทำให้เธอต้องหวนระลึก หวาดระแวงถึงเหตุการณ์ไม่ค่อยอยากจดจำนัก ขนาดว่าตกหลุมรักเกือบจะได้แต่งงานกับ Harold ‘Mitch’ Mitchell (รับบทโดย Karl Malden) แต่เมื่ออดีตได้รับการเปิดเผย เธอจึงกลายเป็นคนไม่สะอาดบริสุทธิ์เพียงพอสำหรับเขา และเหตุการณ์บางอย่างต่อจากนั้น ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้หญิงสาวสูญเสียสิ้นสติสมประดี

Vivien Leigh ชื่อเดิม Vivian Mary Hartley (1913 – 1967) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Darjeeling, Bengal Presidency, British India พออายุ 6 ขวบ ครอบครัวส่งเด็กหญิง Vivian กลับอังกฤษ เพื่อเรียนรู้จักวิถีของผูดีอังกฤษอย่างแท้จริง แต่เพื่อนคนเดียวที่มีคือรุ่นพี่ Maureen O’Sullivan ในโรงเรียนหญิงล้วน เข้าชมรมการแสดงรับบทผู้ชาย (เพราะมองว่ามีความท้าทาย) โตขึ้นเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art กลายเป็นนักแสดงละครเวที West End, รู้จักพบเจอกับ Laurence Olivier กลายเป็นชู้รักตอนภาพยนตร์เรื่อง Fire Over England (1937), โด่งดังระดับตำนานกับ Gone With the Wind (1939) ฯ

รับบท Blanche DuBois อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ จากครอบครัวฐานะร่ำรวย เรียกว่าลูกคุณหนูคงไม่ผิด ติดความหรูหราฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือย นิสัยเอาแต่ใจ เคยมีสามีแต่กลับฆ่าตัวตาย สูญเสียที่พึ่งพิง ชีวิตแทบไม่หลงเหลืออะไร เร่ร่อนมาพึ่งใบบุญน้องสาว Stella ก็หวังว่าอดีตจะไม่ได้หวนกลับมาทำร้ายตนเอง แต่ที่ไหนได้!

ผมคิดว่าแล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดมองเอาเลย
– Blanche คือหญิงสาวผู้น่าสงสารเห็นใจ เพราะความโดดเดี่ยวอ้างว้างลำพัง ทำให้เธอตัดสินใจทำบางอย่างที่สังคมมิอาจยินยอมรับ มิอาจปรับตัวเองจากสังคมไฮโซที่เคยอาศัยอยู่ สู่ความโลโซปากกัดตีนถีบ แถมถูก Stanley ขุดคุ้ยอดีตจนสูญเสียโอกาสเริ่มต้นใหม่
– Blanche คือหญิงสาวโรคจิตที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่งวิปริตผิดมนุษย์ มิสามารถปล่อยวางตัณหาราคะ ทำให้หมกหมุ่นอยู่ในความยึดติด ดื้อรั้นพยายามทำทุกอย่างเพื่อสนองความสุข/ปลอดภัย/พึงพอใจส่วนตน

เดิมนั้นบทนี้ผู้กำกับอยากได้ Jessica Tandy จากต้นฉบับ Broadway ที่สามารถคว้า Tony Award: Best Actress มาครองได้ แต่เพราะ Warner Bros. ต้องการนักแสดงเป็นที่รู้จักมากกว่า ซึ่งขณะนั้น Tandy ถือว่า no-name ในวงการภาพยนตร์ ขณะที่ Vivien Leigh โด่งดังกลายเป็นตำนานไปแล้ว และยังแสดงนำในฉบับ West End กำกับโดย Laurence Olivier เป็นตัวเลือกที่สตูดิโอยินยอมรับได้ทันที

การแสดงของ Leigh ติดมาจากละครเวทีแบบเต็มๆเลย ทั้งน้ำเสียงลีลา คำพูดสายตา ท่าทางการเคลื่อนไหว มันคงสมบูรณ์แบบอยู่แล้วในความคิดของเธอ ซึ่งผมก็ว่าใช่ถ้าแสดงละครเวที แต่มันดูปั้นแต่ง หยาบกระด้าง ไม่เป็นธรรมชาตินักเมื่ออยู่ในภาพยนตร์ หรือเทียบกับความลื่นไหลของ Brando เวลาสนทนากัน ราวกับพวกเขาพูดคนละภาษาสำเนียง

ชีวิตจริงของ Leigh เหมือนว่าขณะนั้นเริ่มอาการป่วย Bipolar เพราะความทุ่มเทบ้ามากในบทบาทนี้ ทำให้เริ่มแยกแยะตัวเองไม่ออกจากตัวละคร Blanche DuBois จนต้องเลิกกับ Olivier เมื่อปี 1960 หาที่พึ่งพิงใหม่ไม่ได้เพราะอายุเริ่มมาก เสียชีวิตจากไปเมื่อ 1967 สิริอายุเพียง 53 ปี

เกร็ด: Leigh เป็นนักแสดงมีชื่อที่สุดในหนัง เลยได้ค่าตัวสูงสุด $100,000 เหรียญ (สถิติมากสุดของนักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษขณะนั้นด้วย) มากกว่าหน้าใหม่ Brando ได้ค่าจ้าง $75,000 เหรียญ

Marlon Brando Jr. (1924 – 2004) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ผู้ทรงอิทธิพลสุดในวงการภาพยนตร์ เกิดที่ Omaha, Nebraska, ตั้งแต่เด็กมีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง คือการเลียนแบบพฤติกรรมของเพื่อนๆ และสามารถแสดงออกมาเช่นนั้น ‘in character’ ได้ตลอดเวลา โตขึ้นมุ่งสู่ New York เข้าเรียนการแสดงที่ Erwin Piscator’s Dramatic Workshop มีอาจารย์คือ Stella Adler ที่ได้นำเอาทฤษฎีของ Stanislavski มาสั่งสอน ปรับประยุกต์เป็นสไตล์ของตนเอง มีผลงาน Broadway หลายเรื่อง กระทั่งได้รับเลือกให้แสดงใน A Streetcar Named Desire จึงมีโอกาส Debut กับภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด

รับบท Stanley Kowalski สามีของ Stella ทำงานเป็นกรรมกรในโรงงานแห่งหนึ่ง ตอนสงครามโลกครั้งที่สองเคยเป็นวิศวกร ประดับยศจ่าสิบเอก (Master Sergeant) อารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย ชอบใช้กำลังรุนแรง มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับภรรยาบ่อยครั้ง

คำนิยามที่ Blanche กล่าวขานถึงคือสัตว์ป่า ‘Ape’ นั่นสร้างความโกรธเคือง คับข้องแค้นใจมากๆ แอบไปสืบทราบจนล่วงรู้ความจริงทั้งหมด รับไม่ได้ที่หล่อนเป็นพวกลวงโลกสวย กระแดะ โอ้อวดดี จึงพูดถากถางตำหนิต่อว่าเสียๆหายๆ มองโลกในแง่ร้ายถึงขีดสุด จนทำให้เธอกลายเป็นบ้าเสียสิ้นสติแตกไปเลย

(คือถ้าเป็นในฉบับละครเวที ครั้งสุดท้ายนั้น Stanley เหลืออดแบบรับไม่ได้จริงๆ เลยตัดสินใจข่มขืนกระทำชำเรา จนเธอกลายเป็นบ้า นี่เป็นไคลน์แม็กซ์ที่รุนแรงกว่ามากๆเลยนะ)

ชีวิตวัยเด็กของ Brando พบเห็นพ่อแม่ของตนเองเป็นพวกขี้เมาติดเหล้า ทะเลาะเบาะแว้งขึ้นเสียงใช้ความรุนแรงต่อกันบ่อยครั้ง แต่ไม่นานเพื่อฟื้นสติก็คืนดีต่อกัน เป็นอย่างนี้บ่อยครั้งจนเขาต้องหาวิธีระบายความอัดอั้นคับแค้นผ่านการแสดง กล้าที่จะโอบรับด้านมืดนี้ของตัวละคร แล้วปลดปล่อยออกมาประดุจสัตว์ป่าเดรัจฉาน

เสื้อฟิตๆ แค่ดึงก็ฉีกขาด หยาดเหงื่อเปียกโชกโชน บางครั้งก็มอมแมมเปรอะเปื้อน กล้ามซิกแพ็ก (เห็นว่า Brando เข้าฟิตเนส เล่นกล้ามอย่างบึกบึน เพื่อเวลาถอดเสื้อจะได้…) ทั้งหมดนี้สะท้อนความดิบเถื่อนติดดินของตัวละคร เหมือนสัตว์ป่าที่ถ้าถูกจับขังกรง มันจะพยายามตะเกียกตะกาย ดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อหาทางออกสู่อิสรภาพ

Kim Hunter ชื่อเดิม Janet Cole (1922 -2002) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Detroit, Michigan เข้าสู่วงการจากหนังนัวร์เรื่อง The Seventh Victim (1943), รับบทนำครั้งแรก A Matter of Life and Death (1946), เพราะเป็นได้แสดงต้นฉบับละครเวที Broadway เรื่อง A Streetcar Named Desire เลยได้รับชักชวนให้กลับมารับบทเดิมในฉบับภาพยนตร์

น่าเสียดายที่หลังผลงานเรื่องนี้ Hunter ถูกตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ไม่ได้มีผลงานต่อเนื่องในทศวรรษ 50s แต่ก็หวนกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งกับแฟนไชร์ Planet of the Apes (1968)

รับบท Stella น้องสาวของ Blanche ที่หนีออกจากบ้านตอนครอบครัวกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต พบเจอแต่งงานกับ Stanley อาศัยอยู่ด้วยกันในห้องเช่าโลโซเล็กๆ แม้พวกเขามีเรื่องให้ทะเลาะเบาะแว้งบ่อยครั้ง แต่ก็สามารถคืนดีไม่นานต่อจากนั้น มองเป็นความตื่นเต้นเล็กๆที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

แต่เมื่อพี่สาว Blanche เดินทางมาขอพึ่งพิงใบบุญ น้องเป็นตัวแทนของความสงสารเห็นอกเห็นใจ พยายามให้การช่วยเหลือต่างๆนานา ปฏิเสธฟังคำสามีที่รับรู้ข้อเท็จจริงมา อาจเพราะเข้าใจว่าชีวิตมันไม่ได้เลิศหรูหราขนาดนั้น ตัวเองรับได้กับสภาพโลโซที่อยู่แบบนี้ แต่ไม่ใช่กับพี่สาวอย่างแน่นอน นั่นทำให้ตอนจบเมื่อเธอเห็น Blanche ถูกจิตแพทย์พาตัวไป รับไม่ได้กับสามี ต่อให้ร้องเรียกขนาดไหนก็ไม่เอาแล้วคนเห็นแก่ตัวแบบนี้

การแสดงของ Hunter มีทั้งมุมอ่อนไหวและเกรี้ยวกราดไม่พอใจ แต่คงไม่มีใครหลงหลืมขณะเดินลงบันไดด้วยท่าทาง แววตาสุดเซ็กซี่เย้ายวน ราวกับว่าตัวเองมีแต้มต่อ ค่ำคืนถัดมานอนเกือบเปลือยอยู่บนเตียงด้วยใบหน้าเป็นสุขยิ้มกริ่ม แสดงว่าลึกๆแล้วมีความเร่าร้อนโคตรรุนแรงสะสมอยู่ในใจ จึงต้องการคนเถื่อนๆแรงๆแบบนี้ ปฏิเสธความหรูหราไฮโซสร้างภาพจับต้องไม่ได้

Karl Malden ชื่อเดิม Mladen George Sekulovich (1912 – 2009) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดนที่ Chicago, Illinois, พ่อ-แม่เป็นชาว Bosnian Serb อพยพจาก Bosnia and Herzegovina ตั้งแต่เด็กพูดได้แต่ภาษา Serbian จนเข้าโรงเรียน ได้เป็นนักร้องประจำโบสถ์ Orthodox Church ทั้งยังเก่งกีฬาบาสเกตบอล เข้าชมรมการแสดงจนชื่นชอบหลงใหล โตขึ้นออกจากบ้านมุ่งสู่ Indiana เรียนการแสดงกับ Goodman School กลายเป็นนักแสดงละครเวที มุ่งตรงสู่ Broadway เข้าร่วมกับ Group Theatre รู้จักกับ Elia Kazan เลือกมารับบทใน A Streetcar Named Desire แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ I Confess (1953), On the Waterfront (1954), One-Eyed Jacks (1961), Patton (1970) ฯ

รับบท Harold ‘Mitch’ Mitchell เพื่อนสนิทของ Stanley ที่พอพบเจอ Blanche พลันตกหลุมรัก ก็เกือบจะได้อยู่กินแต่งงานเป็นฝั่งฝาร่วมกัน แต่ถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดด้วยข้อเท็จจริงบางอย่าง แม้ตอนแรกไม่ยอมรับแต่กลับไปสืบค้นหาความจริง พอเข้าใจก็เลยต้องปฏิเสธ เพราะอดีตของเธอมันแปดเปื้อนมากเกินกว่าจะรับได้

ชาย-หญิง ถ้าตกหลุมรักกันจริงๆ อดีตเป็นมายังไงก็ควรต้องยอมรับได้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ? นี่แปลว่า Mitch อาจไม่ได้รัก Blanche จริงๆ แค่ลุ่มหลงใหลในความงามมายายามวิกาล แต่เขาก็รู้สึกผิดอย่างมากเมื่อเห็นอดีตคนรักกลายเป็นบ้าเสียสติ

สายตาแห่งความลุ่มหลงใหลของ Malden ชักชวนให้ผู้ชมเคลิบเคลิ้มหลงคิดไปว่า เขาอาจยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ถูกเปิดเผย สีหน้าเต็มไปด้วยความเสียดาย รวดร้าวทุกข์ทรมานแทน และยิ่งพอเห็นเธอเป็นบ้าก็โกรธเกลียดเจ็บแค้นยิ่ง (ช่วงท้ายนี้ไม่ค่อยสมจริงเท่าไหร่ น่าจะบีบน้ำตาไปเลยให้รู้ว่าเจ็บปวด)

ถ่ายภาพโดย Harry Stradling Sr. ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นอาทิ Mr. & Mrs. Smith (1941), Suspicion (1941), The Picture of Dorian Gray (1945), My Fair Lady (1964), Funny Girl (1968), Hello Dolly! (1969) ฯ

ในฉบับละครเวที Broadway ทั้งเรื่องมีเพียงฉากเดียว คือห้องเช่าโกโรโกโสของ Kowalski ณ French Quarter, New Orleans, สำหรับภาพยนตร์ ได้เพิ่มฉากอื่นๆเข้าไป อาทิ สถานีรถไฟ Blanche มีโอกาสขึ้นรถ Streetcar, โรงงาน/สถานที่ทำงานของ Stanley, ร้านอาหารริมน้ำในค่ำคืนเดทของ Mitch กับ Blanche ฯ

ใครช่างสังเกตหน่อยจะพบว่า เพดานในห้องเช่าของ Kowalski จะมีความสูงไม่เท่ากันทั้งเรื่อง ช่วงท้ายๆราวกับจะต่ำเตี้ยลง ราวกับตัวละครกำลังถูกบีบ กดดัน/กดทับ สะท้อนสภาพสภาวะทางจิตใจออกมา

ด้วยสัมผัสของ Film Noir (พบเจอ Blanche อยู่ทุกฉากของหนังด้วย) โดดเด่นกับการเล่นแสงเงาที่อาบฉาบใบหน้าของตัวละคร สื่อความหมายบางสิ่งอย่างออกมา เช่นว่า บางครั้งเรื่องราวที่พูดคุยสนทนากันอยู่ บ่งบอกถึงความชั่วร้ายด้านมืดของตัวละคร มักเป็นเหตุให้ต้องหันหน้า/ออกเดินไปสู่มุมมืดอับแสง

อย่างช็อตนี้ เมื่อ Blanche พบเจอกับ Stella ครั้งแรกของหนัง เงามืดอาบบริเวณหน้าผากของเธอ สะท้อนถึงความไฮโซหัวสูงที่แม้จะกำลังตำหนิต่อว่าน้องสาวอาศัยอยู่สถานที่โกโรโกโสแบบนี้ แต่ตัวเองกลับมีสถานะไม่แตกต่างกัน

ผมชื่นชอบฉากเดินลงบันไดของ Stella มากๆเลยนะ เต็มไปด้วยความเริดเชิด กระหยิ่มยิ้ม กระหายร่านรัก เพราะจะแม้ถูกสามี Stanley ทุบตีทำร้าย ก็รู้ตัวว่าสักเวลาเขาต้องร้องขอคืนดี ด้วยเสียงเรียกอ้อนขอเหมือนเด็ก “Stella! Hey, Stella!” ประโยคนี้ติดอันดับ 45 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes

พญาราชสีห์ที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด กลายเป็นลูกแมวน้อยในอ้อมอกของหญิงสาว นั่งลงคุกเข่าแบบนี้สะท้อนถึงวัยเด็กที่ขาดความอบอุ่น Brando คงจินตนาการพื้นหลังตัวละคร ไม่ต่างจากชีวิตจริงของเขามากนัก ถึงภายนอกเข้มแข็ง แต่ก็มีบางช่วงเวลาอ่อนไหว อ่อนโยน อ่อนแอเช่นนี้

แค่แสงจากไม้ขีดไฟ ก็สามารถทำให้ใบหน้าที่เคยอาบด้วยความมืดมิด สว่างจ้าขึ้นโดยทันที, ฉากนี้ยังมีนัยยะสื่อถึง Mitch อาสาที่จะเป็นแสงสว่าง จุดไฟแห่งชีวิตใหม่ให้กับ Blanche

ยังมีอีกนัยยะเล็กๆที่ผมเพิ่งค้นพบไม่นาน บุหรี่มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ แทนสัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย ถ้าส่งให้หรือผู้หญิงขอนำไป Smoke ก็จินตนาการเอาเองแล้วกันว่าสื่อถึงอะไร

ไดเรคชั่นของช็อตนี้แอบเจ๋งอยู่ หลังจาก Blanche พร่ามอะไรไม่รู้มาสักพักตรงริมน้ำ เธอเดินย้ายตำแหน่งมาถึงจุดนี้ ภาพจะเคลื่อนติดตามจนเห็นตะเกียงโดดเด่นชัดมาก ทีแรกนึกว่าจะสื่อความถึงอะไร แต่ไปๆมาๆหญิงสาวเงยหน้าจ้องมอง และพูดแฝงนัยยะบางอย่างถึงมัน

ไม่ต้องไปสงสัยมากก็ได้ว่าทำไม ริมสระน้ำ/ทะเลสาบ ถึงเต็มไปด้วยหมอกควัน เพราะฉากนี้ถ่ายทำในสตูดิโอ มันเลยไม่ค่อยสมจริงนัก การใส่ควันเข้าไปสร้างสัมผัสเหมือนความเพ้อฝันหวาน (ที่หญิงสาวไม่ค่อยได้พบเจอนักในชีวิตจริง)

ตำแหน่ง/ทิศทาง การเคลื่อนไหวของนักแสดง คงอ้างอิงจากละครเวทีมาเยอะอยู่ มีนัยยะสื่อความหมายบางสิ่งอย่าง, ช๋็อตนี้ ตัวละครหันกันคนละทิศทางตรงกันข้าม สะท้อนถึงพวกเขามีความเห็นไม่ตรงกัน มองหน้าจ้องตาไม่ติดแล้ว (แถมยังอยู่คนละห้อง ในระดับตื้น-ลึก ต่างกันด้วย)

เรียกว่า Queen Blanche คงไม่ผิดอะไร นี่คือตอนหลังจากผิดหวังในรักกับ Mitch จนเกิดความละเมอเพ้อ นำองค์ทรงเครื่องประดับของตนเองมาสวมใส่ วาดฝันถึงเจ้าหญิงในความมืด แต่เมื่ออยู่ดีๆแสงไฟสว่างขึ้น ตื่นขึ้นพบเจอโลกแห่งความจริงที่แสนโหดร้าย

วินาทีที่ฟางเส้นสุดท้ายของ Blanche ขาดสะบั้น เธอเกิดอาการชักดิ้นชักงอ ลงไปล้มกลิ้งกองกับพื้น หนังเลือกมุมภาพที่เห็นเธอนอนกลับหัว 180 องศา กลับตารปัตรชีวิตจริง <> ความฝัน, ในจิตใจของเธอขณะนี้คงเกิดความขัดแย้งถึงขีดสุด มิอาจแบ่งแยกได้ออกแล้วระหว่างโลกความจริงกับความฝัน … ผมคิดว่าอาการจิตเวทนี้น่าจะคือ Bipolar Disorder อารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ปกติ-ซึมเศร้า

ประโยคนี้ติดอันดับ 75 จากชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes

“I have always depended on the kindness of strangers.”

นี่เป็นประโยคที่อาจทำให้ผู้ชมหลายคนรู้สึกสงสารเห็นใจ Blanche เป็นที่สุด การมาพึ่งใบบุญของน้องสาว Stella ทำให้เธอพบแต่คนแปลกหน้าจิตใจชั่วร้าย ทั้ง Stanley (กาย) และ Mitch (ใจ)

ตัดต่อโดย David Weisbart ขาประจำของสตูดิโอ Warner Bros. ผลงานเด่นอาทิ Mildred Pierce (1945), Night and Day (1946), Johnny Belinda (1948) ฯ

หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Blanche DuBois ตั้งแต่เดินทางโดยรถไฟถึงเมือง New Orleans จบที่ถูกพาออกจากบ้านไปไหนไม่รู้โดยจิตแพทย์

ถึงจะไม่มีภาพย้อนอดีต Flashback ปรากฎขึ้นมา แต่ใช้การพูดเอ่ยเล่าถึง และหลายครั้งเป็นเสียง Sound Effect, เสียง Echo เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความทรงจำบางอย่างอันเลวร้ายของหญิงสาว (หลายครั้งพอเธอได้ยิน จะเกิดอาการวิงเวียนโยกตัวคล้ายจะเป็นลม)

ฉบับดั้งเดิมที่ออกฉายปี 1951 เห็นว่าความยาว 122 นาที หลายฉากถูกเล็มตัดออกด้วยฝีมือกองเซนเซอร์สมัยนั้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเมื่อปี 1993 สตูดิโอ Warner Bros. มีออกฉบับ Re-Release/Restoration ความยาว 125 นาที ใส่คืนหลายๆฉากที่อธิบาย/เติมเต็มเรื่องราวของหนังเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นส่วนต่างที่ไม่มาก แต่หลายคนที่มีโอกาสรับชมทั้งสองฉบับต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ราวกับหนังคนละเรื่อง!, นี่ผมก็บอกไม่ได้ว่ามีอะไรแตกต่างเปลี่ยนแปลงไป แต่ก่อนรับชมตรวจสอบความยาวของหนังดูเสียก่อนแล้วกัน

เพลงประกอบโดย Alex North นี่คือผลงานเรื่องแรก ก่อนกลายเป็นขาประจำของ Kazan และตำนานนักแต่งเพลงที่เข้าชิง Oscar ถึง 15 ครั้ง แต่ไม่เคยได้สักรางวัล

สิ่งที่ North ได้สร้างสรรค์ขึ้นนี้จนกลายเป็นตำนานบทใหม่ของวงการ คือการสร้างเพลงประกอบที่ไม่ได้มีความเยิ่นยาวเว่อๆแบบ Miklós Rózsa (ตอน Ben-Hur เขียน Soundtrack ความยาว 3-4 ชั่วโมง) แต่มีท่วงทำนองสั้นๆ เต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราว และมีความ Modern ด้วยทำนอง Jazz ผสมผสานเข้าไป

Main Title ถึงความยาวแค่ 1:24 นาที แต่เต็มไปด้วยรสชาติสีสัน ความบ้าคลั่งวุ่นวาย สับสนอลม่าน และเสียงแซกโซโฟนให้สัมผัสของชีวิต มีความแรดร่านจัดจ้าน

บทเพลง Four Deuces เริ่มต้นด้วยเสียงสุดเซ็กซี่เย้ายวนของของทรัมเป็ต ตามด้วยเปียโนนุ่มๆคลอเบาๆ และแซกโซโฟน บอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิต ที่น่าเคลิบเคลิ้มหลงใหลเสียเหลือเกิน

เกร็ด: Soundtrack ของหนัง ได้รับการจัดอันดับ 19 ชาร์ท AFI’s 100 Years of Film Scores

A Streetcar Named Desire เป็นเรื่องราวที่สะท้อนสภาพสังคมอเมริกา ในยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถานะของประเทศขณะนั้นแม้จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ชนะสงคราม แต่เพราะการมาถึงของยุคสมัย Great Depression ทำให้ผู้คนจำนวนมากตกงาน สูญเสียบ้านที่อยู่อาศัย รวมๆกันอยู่ในห้องเช่าเหมือนสลัม วาดเพ้อฝันถึงความร่ำรวย แต่จมปลักอยู่ในจินตนาการจนแทบกลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติ

ตัวละคร Blanche DuBois คือเจ้าหญิงที่ไม่เคยพานพบความยากลำบากในชีวิต มีคนคอยบำเรอรับใช้มาโดยตลอด แต่เมื่อทุกสิ่งรอบข้างกายค่อยๆสูญเสียหายพังทลาย จนสุดท้ายไม่หลงเหลือใครแม้แต่คนรัก พยายามขายตนเอง ค้นหาที่พึ่งสุดท้าย กลายเป็นคนยากจนแต่ก็ยังติดความหรูหรา เพ้อมโนคลั่งยังต้องการหวนคืนกลับไปสู่สรวงสวรรค์ เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างภายนอกกับภายใน สุดท้ายมิสามารถแยกแยะออก ความจริงความฝันกลายเป็นสิ่งเดียวกัน

Stanley Kowalski คือกรรมกรชนชั้นล่าง ที่ยึดถือมั่นในความจริงเท่านั้น ปฏิเสธต่อต้าน Blanche ที่มีแต่ความเพ้อฝันหวาน มองไม่เห็นสภาพที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ กลายเป็นภาระของเขาที่ต้องหาเลี้ยงดูทั้งๆก็ไม่ใช่หน้าที่ ไหนจะลูกที่กำลังเกิดอีก เงินได้มาจะเพียงพอหรือเปล่า จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเฉดหัวให้ออกจากบ้าน หรือกลายเป็นบ้าไปเสียเลยก็ดี

Stella Kowalski จากนางฟ้าเบื้องบน หล่นลงสู่พื้นพสุธาเบื้องล่าง ยินยอมคลุกโคลนเลนกลายเป็นกระยาจก พบรักกับสัตว์ป่าเถื่อนเพราะความเร้าร้อนรุนแรง แต่ก็ยังคงสภาพจิตใจอันดีงามเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่แปรเปลี่ยน ต้องการช่วยเหลือพี่สาวให้สามารถปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงที่เป็นอยู่ แต่ก็มิอาจทำอะไรได้มากเพราะตัวเธออยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง ต้องเลือกสักอย่างว่าจะเอาสวรรค์หรือนรก

สิ่งที่ A Streetcar Named Desire สะท้อนออกมาคือ ‘แรงขับเคลื่อนของความต้องการ’ เหมือนที่ตัวละคร Mitch Mitchell ต้องการความรักจาก Blanche เพ้อฝันถึงการแต่งงาน แต่เขามิอาจเลือกอดีตที่แปดปดเปื้อน แม้จะมีความน่าหลงใหลคลั่งไคล้ยิ่ง สุดท้ายก็ได้เพียงแค่สงสารเห็นใจ มิอาจทำแก้ไขกระทำอะไรให้เกิดได้

Sex คือแรงขับเคลื่อนของทุกสิ่งมีชีวิต ที่ถ้ามีความมั่นคงย่อมสามารถทำให้กงล้อเคลื่อนหมุนต่อเนื่อง การเดินทางราบรื่นถึงเร็ว แต่เมื่อใดขาดตกบกพร่องสูญหายไม่ได้รับการเติมเต็ม ก็จะพบเจอแต่ปัญหาสะดุดโน่นนี่นั่นมากมาย, Blanche DuBois เคยมีความสุขสะดวกสบาย แต่เริ่มจากรับไม่ได้ที่สามีเป็นเกย์ สูญเสียเขาไปทำให้ชีวิตเริ่มสะดุด ขายตัวก็ได้แต่ความพึงพอทางกาย ถูกบอกเลิกจาก Mitch ทุกข์ทรมานใจแสนสาหัส และฟางเส้นสุดท้ายคือถูก Stanley กระทำชำเรา เมื่อหมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง ชีวิตของ Blanche จึงหยุดนิ่งมิอาจเคลื่อนต่อไปไหนได้

ความรุนแรงเป็นปัญหาสังคมที่น่าหวาดหวั่นวิตกยิ่ง ตบจูบมันอาจเร้าอารมณ์ทางเพศได้มากก็จริง แต่ถ้าต่อเนื่องนานไปเมื่อถึงจุดหนึ่งก็มักเริ่มเสื่อมเฉื่อยชา คิดเล็กคิดน้อยวิตกจริต สักพักทนไม่ได้เกิดเป็นความขัดแย้ง หนุ่ม-สาว ตบตีแย่งผัวเมียก็เรื่องของมัน แต่พ่อ-แม่ ตบกันให้ลูกดู ปลูกฝังความรุนแรง กลายเป็นวัฎจักรไม่รู้จักจบสิ้น

‘มนุษย์ทุกคน มีความรุนแรงแฝงอยู่ในจิตใจ’ นี่เป็นคำพูดไม่ผิดอะไรต่อคนที่ยังว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏสังสาร แต่เราควรที่จะหาทางควบคุม ป้องกัน มิให้ความรุนแรงนั้นถูกถ่ายทอดส่งต่อไปยังผู้อื่น คนรอบข้างใกล้ตัว หรือลูกหลานเหลน เด็กๆที่มองเราอยู่ เล็กๆน้อยๆคิดพูดกระทำอะไร โดยไม่ตั้งใจก็อาจติดตัวพวกเขาไปแล้ว

แต่ถ้าคุณมีทัศนะแบบ Stanley Kowalski ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย การยอมรับแนวคิดนี้ย่อมหมายถึง ต้องมีสภาพทางอารมณ์เหมือนกับเขา คือใช้อารมณ์รุนแรงฉุนเฉียวในการแสดงออก เกรี้ยวกราดในสิ่งเล็กๆน้อยๆ ปฏิเสธความเพ้อฝัน ไร้ซึ่งน้ำใจไมตรี

มิไม่ใช่ว่ามนุษย์เราควรเลือกกึ่งกลางระหว่างแบบ Stella หรอกหรือ เพ้อฝันแต่สามารถอยู่กับความจริง ชื่นชอบความรุนแรงแต่ยังมีจิตใจเมตตาอารี, ก็ไปลองหาเอาเองแล้วกันนะครับ ‘ความสมดุลของชีวิต’ เพ้อฝัน-ความจริง รุนแรง-นุ่มนวล เห็นแก่ตัว-เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯ แต่บางอย่างผมว่า เลือกข้างไปเลยน่าจะโอเคกว่าเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายนะ

เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ามา 2 รางวัล
– Special Jury Prize มอบให้ Elia Kazan
– Volpi Cup for Best Actress (Vivien Leigh)

ด้วยทุนสร้าง $1.8 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $8 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม , เข้าชิง Oscar 12 สาขา คว้ามา 4 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Motion Picture
– Best Director
– Best Actor (Marlon Brando)
– Best Actress (Vivien Leigh) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Karl Malden) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Kim Hunter) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Screenplay
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Art Direction – Set Decoration, Black-and-White ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design, Black-and-White
– Best Music, Score of a Dramatic or Comedy Picture
– Best Sound Recording

เรื่องที่คว้ารางวัลใหญ่ปีนั้นคือ An American in Paris แอบเกินความคาดหมายนิดๆ เพราะรางวัลอื่นๆ A Place in the Sun ของผู้กำกับ George Stevens กวาดมาเยอะจนกลายเป็นเต็งหนึ่ง แต่กลับพ่ายภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปอย่างน่าเสียดาย

สองนักแสดงหญิงที่ได้รางวัลของหนัง Vivien Leigh และ Kim Hunter ต่างไม่มีใครเข้าร่วมงานประกาศ
– Greer Garson ขึ้นรับรางวัลแทน Leigh
– และ Betty Davis รับแทน Hunter

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ หลงใหลในโปรดักชั่น ไดเรคชั่น การแสดง และความลึกล้ำซับซ้อนของเรื่องราว แต่ติดที่ความรุนแรงบ้าคลั่ง มันมากล้นเสียจนสติแตกเกินไปนิด และยิ่งได้ความโคตรสมจริงของ Marlon Brando ทำให้ผมไม่ชอบขี้หน้าตัวละคร Stanley Kowalski ขึ้นมาจับใจเลยละ

แนะนำกับคอหนังคลาสสิก Drama มีกลิ่นอาย Film Noir สะท้อนด้านมืดจิตใจมนุษย์, จิตแพทย์ นักจิตวิทยาทั้งหลาย ศึกษาสภาวะทางจิตของตัวละคร, วงการแสดงที่ต้องการศึกษารู้จัก Method Acting, แฟนๆผู้กำกับ Elia Kazan รู้จักนักเขียน Tennessee Williams และคลับของนักแสดง Marlon Brando, Vivien Leigh ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความรุนแรงทั้งหลายทั้งปวง

TAGLINE | “A Streetcar Named Desire ความปรารถนาของผู้กำกับ Elia Kazan ถูกระบายออกด้วยความบ้าคลั่งของ Marlon Brando ซึมซับเข้าสู่ Vivien Leigh จนเสียสติแตก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: