A Thousand and One Nights

A Thousand and One Nights (1969) Japanese : Eiichi Yamamoto ♥♥♥♡

พระเจ้าแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น Osamu Tezuka กล่าวไว้ว่า อนิเมชั่นคือสื่อสำหรับคนทุกเพศวัยไม่จำกัดแค่เด็ก สร้างไตรภาค Animerama ตั้งใจขายความบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ผลงานแรกดัดแปลงเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านอาหรับราตรี คลุกเคล้าด้วยงานศิลป์อันมีสไตล์ ตัดต่อบ้าคลั่งสุดเร้าใจ และมึนเมาไปกับดนตรี Psychedelic Rock

รับชมตัวอย่างอนิเมชั่นเรื่องนี้ก่อนเลยนะครับ ชอบไม่ชอบค่อยว่ากันอีกที ความแนวลักษณะนี้ไม่ใช่ทุกคนจะดูได้แน่นอน

Osamu Tezuka (1928-1989) ศิลปิน นักเขียนมังงะ อนิเมชั่น โปรดิวเซอร์ หมอและนัก activist เกิดที่ Osaka เป็นผู้บุกเบิกเทคนิค สร้าง และให้คำนิยามประเภทอนิเมชั่นขึ้นใหม่ จนได้รับฉายาว่า ‘บิดาแห่งมังงะ’ บ้างเรียกว่า ‘พ่อทูนหัวของมังงะ’ และที่สุดคือ ‘พระเจ้าแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น’ ความยิ่งใหญ่ของ Tezuka ได้รับการยกย่องเปรียบเทียบเท่ากับนาย Walt Disney ผู้บุกเบิกวงการอนิเมชั่นแห่ง Hollywood

เริ่มต้นจากนักวาดการ์ตูน 鉄腕アトム (Tetsuwan Atomu?) หรือที่แปลว่า Mighty Atom เริ่มเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1952-68 ตีพิมพ์ลงใน Shōnen Kobunsha รายสัปดาห์ รวมได้ 23 เล่ม เรื่องราวการผจญภัยของ Android หุ่นยนต์เด็กที่ชื่อ Atom (เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษจะใช้ชื่อ Astro) ดัดแปลงเป็นอนิเมชั่นซีรีย์เรื่องแรกที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในญี่ปุ่น และครั้งแรกที่ส่งฉายต่างประเทศทั่วโลก ฉายต่อเนื่องยาวนานถึง 4 ปี ทั้งหมด 193 ตอน โดยตอนสุดท้ายฉายในวันสิ้นปี 31 ธันวาคมปี 1966 เรตติ้งสูงถึง 40% ของจำนวนประชาชนทั้งหมดของญี่ปุ่นที่มีโทรทัศน์ขณะนั้น

ความสำเร็จจากวงการโทรทัศน์ ทำให้ Tezuka สนใจสร้างอนิเมชั่นสำหรับผู้ชมเฉพาะกลุ่มมากขึ้น มองตัวอย่างนิตยสาร Playboy ของอเมริกา และยุคสมัยภาพยนตร์ Japanese New Wave นำเสนอเรื่องราวต้องห้าม ตั้งคำถามศีลธรรม วับๆแวมๆภาพโป๊เปลือย ไฉนแล้วการ์ตูนสองมิติจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แค่ว่าฉายในโทรทัศน์คงไม่เหมาะสมแน่ โรงหนังจึงเป็นสถานที่แห่งเดียว

แนวคิดดังกล่าวเลยพัฒนากลายมาเป็น Animerama ก็ไม่ได้ตั้งใจจะแค่สามเรื่องไตรภาค แต่ความนิยมมันสิ้นสุดตรงนั้นพอดี
– A Thousand and One Nights (1969) ประสบความสำเร็จล้นหลามทั้งคำวิจารณ์และรายรับในญี่ปุ่น แต่ต่างประเทศไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่
– Cleopatra (1970) เสียตอบรับปานกลาง คืนทุนเกือบไม่ได้
– Belladonna of Sadness (1973) ขนาดว่ารัดเข็มขัดสุดๆแล้ว แต่สุดท้ายก็จบสิ้นล้มละลาย

ด้วยความตั้งใจให้ออกมาคุณภาพยอดเยี่ยมที่สุด ดึงตัว Eiichi Yamamoto (เกิดปี 1940) ผู้กำกับอนิเมชั่นยอดฝีมือ Astro Boy, Kimba the White Lion และทีมงานแนวหน้าของสตูดิโอ Mushi Productions ว่ากันว่ารวมๆแล้วกว่า 60,000 คน (ฟังดูเว่อเกินไม่น่าเป็นไปได้!)

เรื่องราวของ Aladdin (หลายฉบับแปลจะใช้ Aldin) คนขายน้ำจนๆเดินทางสู่กรุง Baghdad พบเจอทาสสาวสวย Mirium ตกหลุมรักชักนำพาหลบหนีไปด้วยกัน ร่วมรักหลับนอนในคฤหาสถ์ของ Suleiman โดยไม่รู้ตัวพวกเขาถูกคุมขังไว้ก่อนได้รับการช่วยเหลือจาก Kamhakin กับ 40 โจร(และหญิงสาวผมแดง Mardia) จากคำชี้นำของหัวหน้าตำรวจคอรัปชั่น Badli ที่ต่อมาส่งตัว Aladdin ขังคุกทรมานเอาตัวรอดมาได้หนึ่งปีถัดมา ออกติดตามหาคนรักจึงได้พบว่าเธอเสียชีวิตจากไปแล้ว

Mirium คลอดทารกสาวชื่อ Jallis สิบห้าปีผ่านไปเติบโตขึ้นเป็นสาว ได้รับการชักนำจาก Jinn สองตนนำพาให้พบเจอตกหลุมรัก Aslan ออกติดตามหากันและกันแต่ก็ถูก Badli ไล่ล่าจับกุมตัวได้ แยกทั้งสองออกจากกัน (ไม่ต่างอะไรกับตอน Aladdin กับ Mirium) ขณะนั้น Aladdin กลายเป็นมหาเศรษฐีร่ำรวยในชื่อ Sinbad หวนกลับมา Bagdad เพื่อกลายเป็นพระราชา สร้างหอคอย Tower of Babel สูงเสียดฟ้า เกือบที่จะล่วงเกิน Jallis แต่โชคชะตานำพาให้เขาพ่ายแพ้อำนาจความรักที่ไม่มีสิ่งใดแลกเปลี่ยนได้ สุดท้ายอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

Aladdin (พากย์เสียงโดย Yukio Aoshima นักแสดง/ผู้กำกับ/เขียนนิยาย และกลายมาเป็นผู้ว่าการรัฐโตเกียวเมื่อ 1995-99) ว่าไปมีความคล้ายคลึงกับนักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส Jean-Paul Belmondo ไร้ซึ่งความหล่อแต่มากด้วยเสน่ห์ลีลา นิสัยคนกวนๆ ปลิ้นปล้อนกะล่อน ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน พบเจอตกหลุมรักแรกพบ Mirium ไม่มีเงินแต่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเธอ เจ็บปวดรวดร้าวเมื่อต้องทุกข์ทรมานพลัดพราก จดจำฝังลึกจนเมื่อโชคชะตานำพาให้กลายเป็น Sinbad และพระราชากรุง Bagdad ใช้อำนาจในทางไม่รู้ผิดชอบ ค้นหาว่ามีอะไรในโลกนี้ไม่สามารถซื้อหาครอบครองได้ด้วยวัตถุ

Mirium และ Jallis (พากย์เสียงโดย Kyōko Kishida นักแสดงหญิงชื่อดังจาก Woman in the Dunes) สองแม่ลูกต่างเกิดเป็นทาส จึงไม่สามารถครุ่นคิดกระทำการอะไรได้ด้วยตนเอง แต่ทั้งสองกลับมีหัวใจเรียกร้องในสิ่งเดียวกัน คือโหยหาในความรักแท้ชั่วนิรันดร์ ไม่ว่าอะไรก็มิอาจแปรเปลี่ยนผันได้

สำหรับตัวร้าว Badli (พากย์เสียงโดย Hiroshi Akutagawa นักแสดงสมทบมากฝีมือ) จากลูกกระจ็อกของหัวหน้าตำรวจ รับหน้าที่ทำภารกิจสกปรกมากมายให้เจ้านาย ไต่เต้าจนเป็นหัวหน้า กะล่อนปลิ้นปล้นทรยศหักหลัง ประจบสอพลอจนได้กลายเป็นมือขวากษัตริย์ อีกนิดเดียวเท่านั้นก็จะเอื้อมถึงมงกุฎราชา แต่ความฝันพลันมลายเพราะเคยข่มขืน Madia แถมฆาตกรรมพ่อของเธอ Kamhakim ฝังใจเจ็บไม่รู้ลืม

การออกแบบตัวละครนี้จมูกโด่ง (แบบ Pinocchio แสดงถึงนิสัยกะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวง) คางแหลม (เชื่อถือไม่ได้) ด้วยตาเปี่ยมไปด้วยเลศนัย สีผิวซีดเซียว Teal/เขียวนกเป็ดน้ำ (ดูเป็นตัวร้ายสุดๆ)

ด้วยข้อจำกัดมากมายในการสร้างอนิเมชั่นสมัยนั้น ทั้งเงินทุนและระยะเวลาการสร้าง ผู้สร้างจึงต้องลดปริมาณงานให้เหลือน้อยที่สุด แต่ยังคงไว้ซึ่งเรื่องราว รายละเอียดที่ครบถ้วน วิธีที่ Tezuka มอบหมายให้ Yamamoto ได้กลายเป็นอิทธิพลมากๆต่อคนทำอนิเมชั่นยุคถัดมา ด้วยคำเรียก ‘cinematic’ แทนที่จะต้องวาดรายละเอียดทั้งหมด หรืออนิเมชั่นการเคลื่อนไหวที่สมจริง ก็ใช้เพียง Key Animation แล้วนำมาเรียงต่อๆกันโดยไม่ทำอนิเมชั่น เฉพาะบางฉากที่ต้องการความลื่นไหลเป็นธรรมชาติเท่านั้นถึงทุ่มกำลังและเวลาลงไป

เริ่มต้นมากับการเดินเท้าของ Aladdin มุ่งสู่กรุง Bagdad เล่นลีลาด้วยการย่ำเดินอยู่กับที่ ใช้มุมกล้อง โทนสี แสงเงา สร้างสไตล์ให้เกิดสัมผัสเคลื่อนไหว พร้อมเพลงประกอบที่ครั้งแรกหลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก คิดว่าไม่เข้าแต่เดี๋ยวสักพักจักเริ่มชินจะรับรู้ว่ามันเจ๋งมากๆ

Sex Scene ระหว่าง Aladdin กับ Milliam ใช้เปลวไฟที่ลุกโชติช่วงด้านหลังคือสัญลักษณ์ของเพลิงราคะ ดอกกุหลาบแดงแทนด้วยความบริสุทธิ์แรกแย้มของหญิงสาว ตอนกำลังกอดจูบเรือนร่างของเธอเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มเลือดหมู (สีของไฟ/ราคะ) ลีลาของการสอดใส่จะเป็นภาพลายเส้นจะเคลื่อนไหลเข้าไป มุ่งสู่หนทางออกคือไคลน์แม็กซ์ พบเห็นพวกเขาล่องลอยบนพรมสีน้ำเงินเหนือดอกกุหลาบแดง (ความสุขที่เหนือกกว่า Sex?)

เพื่อประหยัดงบประมาณและถือเป็นความ Stylish อย่างหนึ่ง หลายครั้งพบเห็นแค่ภาพนิ่งสไลด์ขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา อย่างช็อตนี้ขณะ Aladdin ออกติดตามค้นหา Milliam มีทั้งหมดสี่ภาพค่อยๆปรากฎขึ้น บ่งบอกว่าระหว่างทางได้พบเจอพูดคุยกับใครบ้าง มาแต่เสียงอนิเมชั่นไม่ต้องสิ้นเปลืองกำลังและเวลา

เมื่อรับทราบข่าวคราวว่าหญิงคนรักเสียชีวิตจากไปแล้ว แม้เต็มไปด้วยความเคียดแค้นแต่ในที่สุด Aladdin ยินยอมปล่อย Badli เพราะถึงฆ่าหมอนี่ตายเธอก็ไม่หวนกลับมามีชีวิต นี่เป็นข้อคิดคติสอนใจที่คลาสสิกจริงๆ

ไดเรคชั่นของฉากนี้ ทั้งสองต่อสู้กันท่ามกลางทะเลสาย พบเห็นสายลมฝุ่นควันดำ(และเสียงลม)พัดผ่าน แทนความหวิวๆรวดร้าวใจของ Aladdin หลังสูญเสียคนรัก ทำออกมามืดๆหม่นๆไม่ค่อยสวยเท่าไหร่แต่นัยยะความหมายใช้ได้ทีเดียว

Aladdin ออกค้นหาเป้าหมายชีวิตใหม่หลังจากสูญเสียคนรัก เริ่มจากพยายามปล้นทรัพย์สมบัติล้ำค่าของ Kamhakim กับ 40 โจร แรกมาคือทองมากมายเท่าที่จะแบกไหว ต่อมาคือหญิงสาวผมแดง Madia พร้อมกับม้าไม้บินเหาะข้ามทวีปตั้งใจหนีไปร่วมกับเขา แต่สุดท้ายกลับติดเกาะนางพญาหญิงล้วน พวกเธอมีเป้าหมายเดียวคือแสวงหาความสุขจากผู้ชาย สูบเลือดสูบเนื้อสูบวิญญาณ หมกมุ่นอยู่กับ Sex สำราญจนกลายเป็นเหยื่ออันโอชาของพวกเธอ

ฉากการร่วมรักระหว่าง Aladdin กับราชินีแห่งเกาะหญิงล้วน มีความโคตรอาร์ทอย่างยิ่ง! ใช้โทนสีชมพูออกม่วง (Pink Film) เคลื่อนไหวด้วยภาพร่างขอบเงา เรือนร่างแขนขาคลอเคลียนัวเนีย แนบนิดชิดเชื้อ จนแทบจะกลายเป็นวัตถุเนื้อเดียวกันแยกเกือบไม่ออก (อะไรแขนอะไรขา)

สาระข้อคิดของฉากนี้คือหญิงสาวมีค่ากว่าเงินทอง และ Sex ไม่ใช่สิ่งสำคัญสุดในชีวิต

หลบหนีจากเกาะหญิงล้วนได้ขึ้นเรือที่ดันไปลักขโมยไข่ของรักของห่วงของนกแดง (ไม่รู้ฟินิกส์หรือเปล่านะ) อับปางมาติดเกาะดันเจอยักษ์กินคนสามตา สองสัตว์ใหญ่ต่อสู้กันยังไม่ทันมีผลแพ้ชนะ กลับถูกผืนแผ่นดินบางสิ่งใหญ่กว่าบีบทับกลืนกินโดยไม่รู้ตัว … เข้าสำนวน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

นี่ยังคงวนเวียนอยู่ในการค้นหา อะไรคือสิ่งสำคัญเลอค่าที่สุดในชีวิตและโลกใบนี้?

โชคชะตาจับพลัดจับพลูนำพาให้ Aladdin พบเจอกับเรือวิเศษ สามารถโลดแล่นเนรมิตทุกสิ่งได้ดั่งใจปรารถนา นั่นทำให้ต่อไปเขาแปรสภาพกลายเป็น Sinbad ผู้พิชิตเจ็ดคราบสมุทร

ไม่ใช่แค่ฉากแล่นเรือที่มีการผสมผสานภาพถ่ายมหาสมุทรจริงๆเข้ากับอนิเมชั่น ถ้าใครสังเกต Establish Shot ของกรุง Bagdad นั่นเป็นโมเดลจำลองปั้นใช้การถ่ายภาพแทนวาดรูปเช่นกัน นี่ช่วยลดระยะเวลาการวาดภาพพื้นหลังลงได้มาก โดยเฉพาะทะเลนี่ของยากเลยนะ ได้ความติสต์เพิ่มเข้ามาอีก

ฉบับที่ผมรับชมเรียกสองตนนี้ว่า Imps แต่ผมคิดว่าคือ Jinn, Djinn, Genie แปลว่าผีหรือปีศาจ มีความสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ตามใจชอบ (Shapeshifter) ทั้งยังมีพลังสามารถเสกสรรพสิ่งให้เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปได้

ความหมกมุ่นในเรื่อง Sex ของ Jinn สองตนนี้ แต่งงานอยู่กันมากว่า 500 ปีไม่รู้จักเบื่อ แต่พวกเขาก็ได้แปรสภาพกลายเป็นกามเทพที่ช่วยเหลือ Jallis กับ Aslan ให้ได้พบเจอตกหลุมรักและครองคู่ในที่สุด

หอคอยบาเบล (Tower of Babel) เป็นเรื่องปรัมปราในหนังสือปฐมกาล (11:1-9) ประกอบด้วยคำอธิบายว่าทำไมประชากรโลกถึงพูดหลากหลายภาษา เชื่อว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีจุดมุ่งหมายให้สูงถึงสวรรค์ แต่เพราะนั่นก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นมนุษยชาติกลายเป็นความหยิ่งผยองคิดท้าทายพระเจ้า ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงบันดาลให้เกิดสายฟ้าผ่าทำให้หอคอยพังลง

นัยยะของหนัง Aladdin ที่กลายเป็นพระราชาสั่งให้สร้างขึ้นสูงเสียดฟ้า เพื่อพิสูจน์อำนาจของตนเองจะสามารถยิ่งใหญ่ได้ถึงขนาดไหน ทั้งยังกดขี่ข่มเหงแสดงความบาดใจต่อผู้คนนานับประการ สุดท้ายทุกสิ่งอย่างที่สร้างมาจึงพลังทลายสูญสิ้นย่อยยับเยินจนไม่หลงเหลืออะไร

ในค่ำคืนที่ Aladdin กำลังจะหลับนอนกับ Jallis ถูก Jinn ดลบันดาลนำพาให้ Aslan ปรากฎตัวขึ้นที่ห้องนอน ด้วยความอิจฉาตาร้อนเพราะอยากได้เธอมาครอบครอง (ตอนนั้นยังไม่รู้ว่า Jallis คือลูกสาวแท้ๆของตนเอง) พยายามพูดจาโน้มน้าวต่างๆนานาให้ชายหนุ่มยินยอมถอดถอนความรักจากหญิงสาว ตั้งใจยกทรัพย์สินเงินทองมีค่า ตำแหน่งพระราชา ขู่จะฆ่ารันฟันแทง สังเกตว่าสีตัวของเขาเจือจางเลือนลางผิดกับสองคู่รักยังคงปกติสดใส วินาทีนั้นครุ่นคิดขึ้นมาได้ สิ่งสำคัญล้ำค่าที่สุดในโลกอยู่ภายในจิตใจของเราเอง ยินยอมรับความพ่ายแพ้ อำนวยอวยพรให้พวกเขาทั้งสองโชคดี

ความทะเยอทะยานของ Badli เป้าหมายปลายทางคือการได้ขึ้นเป็นราชาผู้ปกครองกรุง Bagdad มันช่างใกล้แค่เอื้อมคว้ามงกุฎ สุดท้ายได้แค่แตะต้องแต่มิอาจครอบครองสวมใส่ ถูกธนูของ Madia ปักอก ชดใช้กรรมชั่วที่เคยก่อไว้

ชุดของ Madia มักจะเปิดหน้าอกข้างหนึ่งเสมอ นั่นสะท้อนถึงครึ่งหนึ่งเป็นคนจิตใจดี แต่อีกครึ่งถูกครอบงำด้วยอดีต/กระทำการชั่วร้าย (ว่าไปเหมือน Two-Face เลยนะ) ความตายของเธอถูกงูรัดกัดคอ (ที่ตั้งของศีรษะ) หมดสิ้นความเพ้อฝันทะเยอทะยาน

อนิเมะเริ่มต้น-สิ้นสุดที่ Aladdin แม้จะเป็นตัวละครหลักแต่ระหว่างนั้นก็ไม่ได้มีแค่เรื่องราวของเขาเพียงอย่างเดียว เพราะนิทานอาหรับราตรีประกอบด้วยเรื่องสั้นมากมาย ถูกนำมารวบรวมร้อยเรียงผสมผสานเข้าด้วยกัน ทำให้มีหลายๆมุมมองเหตุการณ์ที่ได้รับการนำเสนอ กระนั้นอย่างน้อยสุดเราสามารถแบ่งออกได้เป็นสี่องก์
– เรื่องราวความรักระหว่าง Aladdin กับ Milliam
– ภายหลังการสูญเสีย Aladdin ขโมยของโจร, ติดเกาะหญิงล้วน, หลบหนีพบเจอยักษ์สามตา, ได้เรือวิเศษท่องโลก
– 15 ปีถัดไป รักครั้งใหม่ระหว่าง Aslan กับ Jallis, ขณะที่ Aladdin กลายเป็น Sinbad เดินทางมาฉกแย่งชิงบัลลังก์ราชายังกรุง Bagdad
– เมื่อ Aladdin กลายเป็นพระราชา สร้างหอคอย Tower of Babel และได้ค้นพบความจริงทุกสิ่งอย่าง

นอกจากมุมมองของ Aladdin เท่าที่ผมสังเกตเห็นก็จะมี Badli และ Jinns ทั้งสอง (เป็นกามเทพจับคู่ให้กับ Aslan กับ Jallis) แต่ต้องถือว่าทั้งหมดเป็นเรื่องราวการผจญภัยของหนุ่มขายน้ำ เพื่อค้นหาทรัพย์สมบัติมีค่าที่สุดใต้หล้า

เพลงประกอบโดย Isao Tomita (1932 – 2016) หนึ่งในผู้บุกเบิก Electronic Music และ Space Music กับ Animerama ทำเพลงให้เพียงสองเรื่อง A Thousand and One Nights (1969) กับ Cleopatra (1970)

ร่วมงานกับวง Rock ชื่อ The Helpful Soul ประพันธ์เพลงที่มีกลิ่นอายของ Psychedelic Rock เหมือนคนเมายาที่กำลังเล่นดนตรีร็อค ล่องลอยโหยหวนบ้าคลั่งเพี้ยนๆเสียสติแตก, Aldin’s/Aladdin’s Theme ขณะกำลังเดินทางมุ่งสู่/ออกจาก Bagdad ใช้กลองสร้างจังหวะ ลีดกีตาร์ไฟฟ้าด้วยลีลาเร้าใจ และเสียงร้องไล่ระดับจากทุ้มต่ำไปสูงแหลมปี๊ด ถึงสรวงสวรรค์เลยกระมังนะ

มันมาคลุ้มคลั่งกับสองบทเพลงสุดแนวนี้ The Dance of the Bandits กับ The Torture กลองลงเป็นจังหวะ เน้นๆกับกีตาร์ลีด และเสียงร้องอันคลุ้มคลั่งจากการถูกทรมาน ชะนีร้องหาผัว หลอกหลอนเข้ากระดูกดำ

A Thousand and One Nights เริ่มต้นที่ความบริสุทธิ์ของหนุ่ม-สาว พบเจอตกหลุมรักใคร่ดั่งกามเทพกำหนดไว้ ครองคู่ร่วมรักเป็นสัจธรรมชีวิต แต่ก็อีกเช่นกันถึงภัยพิบัติอันตรายคุกคามจากภายนอก อันทำให้เกิดการพลัดพรากแยกจากดับสูญสิ้น นานวันยิ่งเต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมาน คับข้องเคืองแค้นเพราะไม่มีอะไรเป็นได้ดั่งใจ จึงพยายามแสวงหาด้วยลำแข้งและโชคชะตา ไต่เต้าไขว่คว้าให้ได้มาครอบครองทุกสิ่งอย่างจนเมื่อถึงจุดสูงสุด (ทั้งรูปธรรม/นามธรรม) ก็อาจทำให้คนๆนั้นค้นพบว่า ต่อให้มีอำนาจล้นฟ้าก็มิได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าสิ่งที่เรียกว่าความรัก

หลายๆเรื่องราวของนิทานอาหรับราตรี ชักชวนให้ตั้งคำถาม อะไรคือสิ่งสำคัญเลอค่าที่สุดในโลก? คำตอบมิใช่ทรัพย์สินสมบัติเงินทอง สิ่งของเลิศหรูหายากนอกกาย แต่คือจิตใจความรู้สึก คุณความดีงามที่อยู่ภายใน ความรักอบอุ่น และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไมตรีแบ่งปันกับเพื่อนมนุษย์ เหล่านี้เป็นมิอาจซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือใช้กำลังบีบบังคับ สิ่งนามธรรมต้องแลกด้วยนามธรรม อยากได้ความรักจากผู้อื่นก็ต้องแบ่งปันความรักของตนเอง

การพังทลายของหอคอย Tower of Babel สะท้อนถึงที่สุดแล้วของ Aladdin เมื่อเคยตกต่ำและไต่เต้าขึ้นสูงเสียดฟ้า ทำให้เกิดความเข้าใจสัจธรรมของโลก ชีวิตไม่ใช่สิ่งจีรัง เลิกหลงทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงต่ำ เพียงพอแล้วที่จะอยู่กึ่งกลางเรื่อยเปื่อยไร้ตัวตน ก็แค่นี้แหละคนเรา

จริงอยู่ว่า A Thousand and One Nights (1969) คือภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของโลก มีความโป๊เปลือย Erotic เป็นที่ตั้ง แต่ประเทศญี่ปุ่นขณะนั้นยังไม่มีระบบจัดเรตติ้ง และตอนส่งออกฉายอเมริกาล่าช้าเพราะพากย์เสียงทับ เลยถูกตัดหน้าโดย Fritz the Cat (1972) พลาดการเป็นอนิเมะเรต X เรื่องแรก(ของอเมริกา)ไปโดยปริยาย

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบในสไตล์ ลีลาตัดต่อ เพลงประกอบ และความซับซ้อนของเรื่องราว แฝงคติข้อคิดสอนใจหลากหลาย แต่เพราะความยาวเกินไปสักหน่อยสร้างความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าให้มากยิ่งทีเดียว

เมื่อเทียบกับ Belladonna of Sadness (1973) เรื่องนั่นผมหลงใหลในไดเรคชั่นอันคลุ้มคลั่งรุนแรง พบเห็นระดับความ Cult และประสบการณ์ของผู้กำกับที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยทีเดียว

แนะนำกับคออนิเมชั่นสำหรับผู้ใหญ่, ชื่นชอบนิทานพื้นบ้านอาหรับราตรี, ศิลปิน จิตรกร หลงใหลงานศิลปะ Avant-Garde, คอเพลง Psychedelic Rock และแฟนๆอนิเมชั่นของ Osamu Tezuka กับ Eiichi Yamamoto ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ ภาพโป๊เปลือย ความรุนแรง การข่มขืน ทรยศหักหลัง

TAGLINE | “A Thousand and One Nights ค่ำคืนอันคลุ้มคลั่งของ Osamu Tezuka พันปีผ่านพ้นไปคงไม่ถูกหลงลืมเลือนง่ายๆแน่”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: