A Time to Love and a Time to Die (1958) hollywood : Douglas Sirk ♥♥♥♥

ดัดแปลงจากนวนิยายของ Erich Maria Remarque ผู้แต่ง All Quiet on the Western Front (1928) นำเสนอผ่านมุมมองนายทหารเยอรมัน/นาซี ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีโอกาสลาพักสามสัปดาห์ พบเจอหญิงสาวเคยรู้จัก ตกหลุมรัก ตัดสินใจแต่งงาน แล้วใช้ชีวิตครองคู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะเมื่อเขาหวนกลับไปแนวหน้านั้น…

I am going to write a madly enthusiastic review of Douglas Sirk’s latest film, simply because it set my cheeks a fire. And enthusiastic I shall be.

Jean-Luc Godard

ถึงคางของผมจะไม่ลุกเป็นไฟ แต่จิตใจก็ระทมทวย A Time to Love and a Time to Die (1958) เป็นภาพยนตร์ที่จะทำให้ผู้ชมลุ่มร้อนทรวงใน คาดเดาได้อยู่แล้วว่าตอนจบจะลงเอยเช่นไร (สปอยตั้งแต่ชื่อหนัง!) แต่พอถึงเวลานั้นเข้าจริง แม้งเอ้ย เจ็บปวดรวดร้าวเกินทนไหว

จริงๆแล้วนวนิยายของ Erich Maria Remarque มีชื่อว่า Zeit zu leben und Zeit zu sterben (1954) แปลตรงตัว A Time to Live and a Time to Die แต่ฉบับแปลภาษาอังกฤษ และหนังเรื่องนี้เปลี่ยน Live เป็น Love ซึ่งสามารถตั้งคำถามถึง Live to Love (มีชีวิตเพื่อความรัก) หรือ Love to Live (มีความรักเพื่อมีชีวิต) เป็นการละเล่นความหมายของสองคำได้น่าสนใจ … Godard ยกให้เป็นชื่อหนังยอดเยี่ยมตลอดกาล (Greatest Film Title of All Time)

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมหวนระลึกถึงอีกผลงานชิ้นเอกของ Douglas Sirk เรื่อง All That Heaven Allows (1955) ที่คู่รักเต็มไปด้วยความหวาดระแวง วิตกจริต มิอาจอดรนทนต่อเสียงซุบซิบนินทาของบุคคลรอบข้าง … กลับตารปัตรกับ A Time to Love and a Time to Die (1958) หนุ่ม-สาวมีเวลาครองคู่อยู่ร่วมเพียงสามสัปดาห์ พวกเขาจึงไม่อาจสนเสียงหมูหมาไก่กา หรือแม้แต่เครื่องบินทิ้งระเบิดตูมตาม ยื้อๆยักๆกันอยู่แค่สัปดาห์แรก หลังจากนั้นก็พยายามใช้เวลาหลงเหลือให้คุ้มค่ามากที่สุด!


Douglas Sirk ชื่อจริง Hans Detlef Sierck (1897 – 1987) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Hamburg, German Empire ช่วงวัยรุ่นมีความชื่นชอบละครเวที แต่เข้าเรียนกฎหมายยัง Munich University มีเรื่องให้ย้ายมหาวิทยาลัยมาเป็น University of Jena ตามมาด้วย Hamburg University เปลี่ยนสู่คณะปรัชญา ประวัติศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ที่นี่ทำให้มีโอกาสรับฟังคำบรรยายทฤษฎีสัมพันธภาพของ Albert Einstein จากนั้นมีโอกาสเข้าร่วมโปรดักชั่น Deutsches Schauspielhaus มุ่งมั่นเอาดีด้านการละคร ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่ใช่น้อย

แม้ตัวเขาจะไม่ได้มีเชื้อสาย Jews แต่ตัดสินใจอพยพสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1937 เพราะภรรยากำลังถูกเพ่งเล็ง ได้เซ็นสัญญากับ Columbia Pictures จนกระทั่งทศวรรษ 50s ย้ายสังกัดมา Universal-International สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1955), Written on the Wind (1956), A Time to Love and a Time to Die (1958), และ Imitation of Life (1959)

สไตล์ของ Sirk มีลักษณะ Melodrama มักเกี่ยวกับผู้หญิง ‘woman film’ นำเสนอมุมมองที่อ่อนไหว น่าสงสารเห็นใจ ปัญหาภายในครอบครัว ด้วยเทคนิคที่ดูไม่ค่อยสมจริงสักเท่าไหร่ เลยทำให้นักวิจารณ์สมัยนั้นมองข้ามไม่สนใจ บ้างเรียกว่า ‘bad taste’ แต่กลับประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม, เป็นนักวิจารณ์ฝรั่งเศสของ Cahiers du cinéma เริ่มต้นจาก Jean-Luc Godard พบเห็นคุณค่า และกลายเป็นอิทธิพลสำคัญต่อยุคสมัย French New Wave


ตั้งแต่อพยพย้ายมาสหรัฐอเมริกา ผู้กำกับ Sirk ก็แทบไม่เคยหวนกลับบ้านเกิดที่เยอรมัน เขาสูญเสียบุตรชาย Klaus Detlef Sierck (1925–44) ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งสอง ขณะอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น! จีงเต็มไปด้วยอคติอย่างรุนแรงต่อ Adolf Hitler สรรค์สร้างภาพยนตร์ต่อต้านนาซี อาทิ Hitler’s Madman (1943), Summer Storm (1944) ฯ

เมื่อปี 1954, ผู้กำกับ Sirk มีโอกาสรับรู้จัก Erich Maria Remarque ชื่อเดิม Erich Paul Remark (1898-1970) นักเขียนนวนิยาย สัญชาติ German ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา หลบหนีนาซีมาตั้งแต่ปี 1939, เพราะความประทับใจในนวนิยายเรื่องล่าสุด Zeit zu leben und Zeit zu sterben (1954) พูดคุยจนเกิดความสนิทสนม สามารถโน้มน้าว Remarque ตอบตกลงร่วมดัดแปลงบท และมารับเชิญปรากฎตัวในหนัง (บทบาท Professor Pohlmann)

I found him an extraordinarily understanding and capable man. He knew what he wanted to do with my book.

Erich Maria Remarque กล่าวถีง Douglas Sirk

ขอเล่าถีงประวัติของ Remarque เมื่อตอนอายุ 18 อาสาสมัคร German Imperial Army เข้าร่วมรบ Western Front ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนี่ง ได้รับบาดเจ็บจนถูกปลดประจำการ มันคือประสบการณ์ที่เลวร้าย บรรยายไว้ในนวนิยาย All Quiet on the Western Front (1928) ซี่งการมาถีงของนาซี ผลงานทุกเล่มของเขาโดน Joseph Goebbels ตีตราว่าไม่รักชาติ ‘unpatriotic’ ถูกแบน ห้ามซื้อ-ขาย ต้องทำลายทิ้งจากทุกห้องสมุด และเมื่อปี 1938 ยังโดนถอดถอนสัญชาติเยอรมัน เลยต้องอพยพหนีสู่สหรัฐอเมริกา

เมื่อปี 1943, นาซีได้จับกุมน้องสาวของ Remarque ชื่อ Elfriede Scholz ที่อาศัยอยู่เยอรมันร่วมกับสามี และบุตรสองคน ระหว่างการไต่สวนถูกตัดสินความผิดข้อหา ‘undermining morale’ และผู้พิพากษายังประกาศต่อสาธารณะว่า

Your brother is unfortunately beyond our reach – you, however, will not escape us.

ผู้พิพากษา Roland Freisler

ครอบครัวของ Scholz ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดหัว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1943 แต่กว่า Remarque จะรับรู้เรื่องราวดังกล่าวก็หลังสงครามโลกสิ้นสุด เขาจีงเขียนนวนิยาย Der Funke Leben (1952) [ชื่อภาษาอังกฤษ Spark of Life] และ Zeit zu leben und Zeit zu sterben (1954) [ชื่อภาษาอังกฤษ A Time to Love and a Time to Die] เพื่ออุทิศมอบให้แก่เธอ


เรื่องราวดำเนินขึ้นช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1944 ณ Eastern Front ขณะกองทัพทหารนาซี กำลังเคลื่อนถอยทัพออกจากสหภาพโซเวียต, Ernst Graeber (รับบทโดย John Gavin) นายทหารหนุ่มได้รับอนุญาตให้ลาพักระยะเวลาสามสัปดาห์ แต่เมื่อกลับมาบ้านปรากฎว่าหลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง ระหว่างกำลังออกติดตามหาที่อยู่ใหม่ของครอบครัว พบเจอเพื่อนสาวสมัยเด็ก Elizabeth Kruse (รับบทโดย Liselotte Pulver) แม้มีความคิดเห็นแตกต่างกันบ้าง ความรักกลับค่อยๆเบิกบาน จนทั้งสองตัดสินใจแต่งงาน ครองคู่อยู่ร่วม แม้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

ช่วงระหว่างการออกติดตามหาครอบครัวของ Ernst ได้มีโอกาสพบเจอเพื่อนสมัยเรียน Oscar Binding (รับบทโดย Thayer David) ที่สามารถไต่เต้าจนกลายเป็นหัวหน้าเขต (district leader) พามาที่อพาร์ทเมนท์ส่วนตัว อวดอ้างความเป็นอยู่เลิศหรูสุขสบาย (ผิดกับประชาชนทั่วไปที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน มีชีวิตอย่างแร้งแค้นยากจน) ต้องการให้ความช่วยเหลือเพื่อนเก่าแก่ … แต่เอาเข้าจริงเหมือนไม่ได้ช่วยอะไรสักเท่าไหร่

ส่วนบิดาของ Elizabeth เพราะครั้งหนึ่งเคยแสดงความคิดเห็นไม่พึงพอใจทหารนาซี จึงถูก Gestapo จับกุมตัวส่งไปยังค่ายกักกัน เป็นตายไม่มีใครสามารถบอกได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง Ersnt ได้รับจดหมาย เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ (ของ Gestapo) และได้รับกล่องบุหรี่บรรจุขี้เถ้า ไม่มีคำอธิบายอะไรไปมากกว่านั้น

หลังสิ้นสุดระยะเวลาลาพัก Ernst ก็จำต้องเดินทางกลับสู่แนวหน้า Eastern Front ครั้งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลเชลยชาวรัสเซีย แต่เขากลับตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่าง…


John Gavin ชื่อจริง Juan Vincent Apablasa (1931-2018) นักแสดง ประธาน Screen Actors Gulid (1971-73) และนักการทูตประจำ Mexico (1981-86), เกิดที่ Los Angeles, บิดาเชื้อสาย Chilean, มารดาเป็นชาว Mexican, โตขึ้นเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ Latin American จาก Stanford University, อาสาสมัครทหารเรือในช่วง Korean War (1950-53) ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นที่ปรึกษาโปรดิวเซอร์ Bryan Foy สรรค์สร้างภาพยนตร์ เลยได้รับคำชักชวนเข้าร่วม Universal-International แม้ตอนแรกจะบอกปัดแต่ถูกบิดาเร่งเร้า พร้อมค่าตัวที่มิอาจปฏิเสธได้ ภาพยนตร์เรื่องแรก Raw Edge (1956), แจ้งเกิดโด่งดังกับ A Time to Love and a Time to Die (1958), ทำให้มีโอกาสสมทบ Imitation of Life (1959), Spartacus (1960), Psycho (1960), Thoroughly Modern Millie (1967) ฯ

รับบท Ernst Graeber นายทหารหนุ่ม หล่อ หลังจากรับใช้ชาติมาสองปี เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับคำสั่งที่ไม่ค่อยมีมนุษยธรรม เมื่อเดินทางกลับบ้านไม่พบเจอใคร ก็พยายามอย่างยิ่งจะออกติดตามหา จนกระทั่งพบเจอ ตกหลุมรัก Elizabeth เลยเปลี่ยนความสนใจ ต้องการทุ่มเททำทุกสิ่งอย่างเพื่อเธอ นั่นเองทำให้เขาค้นพบแสงสว่าง ตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิต แต่ผลกรรมที่เคยทำไว้ต้นเรื่อง ก็หวนย้อนกลับมาคืนสนองตอนท้าย

ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับ Sirk คาดหวังว่าจะได้นักแสดงมีชื่ออย่าง Paul Newman หรือขาประจำ Rock Hudson แต่สตูดิโอกลับเลือกหน้าใหม่ในวงการ ยังไม่เคยมีผลงานเด่นดัง John Gavin เพราะต้องการใบหน้า(นักแสดง)ที่มีความสดใหม่ ให้เป็นตัวแทนของคนทั่วๆไป แม้จะมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย ผลลัพท์กลับออกมาดีเยี่ยมอย่างคาดไม่ถึง!

การแสดงของ Gavin น่าประทับใจพอสมควรเลยละ ดูลื่นไหล เป็นไปอย่างธรรมชาติ (แต่ก็ไม่ใช่สมจริงจังอย่างพวก Method Acting) เหมือนชายหนุ่มที่ยังผ่านโลกมาไม่มาก ช่วงแรกๆดูสับสน วิตกกังวล กระทั่งค้นพบเป้าหมาย เรียนรู้จักโลกกว้าง เลยตัดสินใจพุ่งทะยานไปข้างหน้า ด้วยการทำสิ่งซื่อตรงต่อหัวใจของตนเองเท่านั้น … ซึ่งนั่นกลายเป็นสาเหตุให้บังเกิดโศกนาฎกรรม

แม้ว่าหนังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในสหรัฐอเมริกา แต่ชื่อเสียงของ Gavin ก็โด่งดังพลุแตก ถูกจับตามองจากผู้กำกับดังมากมาย มีแนวโน้มจะกลายเป็นดาวดาราดวงใหม่ของ Universal-International แต่สุดท้ายแล้วเหมือนพี่แกจะค้นพบความสนใจอื่นเมื่อก้าวผ่านวัยกลางคน


Liselotte Pulver ชื่อจริง Lilo Pulver (เกิดปี 1929) นักแสดงสัญชาติ Swiss เกิดที่ Bern, Switzerland หลังเรียนจบเดินทางสู่กรุง Berlin เข้าเรียนการแสดงยัง Bern University of Applied Sciences ตามด้วยละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Swiss Tour (1949), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Uli, der Knecht (1954), โด่งดังระดับนานาชาติกับ A Time to Love and a Time to Die (1958), A Global Affair (1964), The Nun (1966) ฯ

รับบท Elizabeth Kruse บุตรสาวของ Dr. Kruse ที่ครั้งหนึ่งเคยแสดงความคิดเห็นไม่พอใจนาซี เลยถูก Gestapo (หน่วยข่าวกรองของนาซี) จับกุมตัวส่งไปค่ายกักกัน เธอได้แต่เฝ้ารอคอยอย่างหวาดระแวง วิตกจริต จนกระทั่งพบเจอ Ernst แม้ตอนแรกจะจดจำกันไม่ได้ แสดงความคิดเห็นไม่ลงรอยกันหลายครั้ง แต่ความรักก็ค่อยๆเบิกบานสะพรั่ง ใช้ชีวิตอย่างสุขอุรากับช่วงเวลาเล็กๆที่หลงเหลือ

นักแสดงที่ถูกคาดหมายไว้ตอนแรกคือ Marianne Koch ซึ่งก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Sirk เรื่อง Interlude (1957) แต่สตูดิโอกลับเลือก Liselotte Pulver ที่พอมีชื่อเสียงในเยอรมัน แต่ยังไม่คุ้นหน้าตาผู้ชมอเมริกัน (ด้วยเหตุผลเดียวกับ John Gavin)

บทบาท Elizabeth ถือว่ามีความท้าทายค่อนข้างมาก เพราะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง วิตกจริต เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนทางอารมณ์ไม่ค่อยได้ การแสดงของ Pulver เลยดูค่อนข้างฝืนธรรมชาติไปนิด สุดเหวี่ยงไปสักหน่อย แต่นั่นอาจเป็นความตั้งใจน้อยๆของผู้กำกับ Sirk เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสความผิดปกติของตัวละครได้อย่างชัดเจน (ถ้าคุณเคยรับชมผลงานอื่นๆของผู้กำกับ Sirk อาจไม่รู้สึกติดขิดตะขวงกับการ Over-Acting สักเท่าไหร่)

ขณะที่ Gavin ถือว่าได้แจ้งเกิดใน Hollywood, สำหรับ Pulver เหมือนถูกอกถูกใจฝั่งยุโรปมากกว่า โดยเฉพาะบรรดาผู้กำกับ French New Wave ได้มีโอกาสร่วมงาน Jacques Becker, Jacques Rivette, Henri Decoin ฯ และเคยได้เข้าชิง Golden Globe Award: Best Supporting Actress จากผลงานเรื่อง A Global Affair (1964)


ถ่ายภาพโดย Russell Metty (1906-78) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เริ่มจากผู้ช่วยห้องแลป Standard Film Laboratory ในสังกัด Paramount Pictures ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ จากนั้นออกมาเป็นช่างภาพของ Universal Studios และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Douglas Sirk ผลงานเด่นๆ อาทิ Bringing Up Baby (1938), Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1956), Written on the Wind (1956), Imitation of Life (1959), Spartacus (1961)**คว้า Oscar: Best Cinematography, Color

The angles are the director’s thoughts. The lighting is his philosophy.

Douglas Sirk

โดยปกติแล้ว ‘สไตล์ Sirk’ นิยมถ่ายทำในสตูดิโอ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้คือครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผู้กำกับ Sirk ได้เดินทางกลับ Germany เลยสามารถเลือกสถานที่จริง ซึ่งยังคงสภาพปรักหักพัง (แม้ว่าสงครามจะพานผ่านมาเป็นทศวรรษ แต่ก็ใช่ว่าประเทศผู้พ่ายแพ้ จะสามารถฟื้นตัวได้เร็วขนาดนั้น) โดยปักหลักอยู่ยัง Grafenwöhr, Bavaria (อยู่ฝั่ง West German) ส่วนฉากภายในถ่ายทำที่ Spandau Studios ในกรุง Berlin

ไม่ใช่ว่ากระแสนิยมของ Technicolor เสื่อมถดถอยลงนะครับ แต่ภาพยนตร์ที่มีสเกลงานสร้างขนาดใหญ่ มักให้ความสนใจกับ CinemaScope เพราะอัตราส่วน 2.35:1 สามารถมอบประสบการณ์รับชมที่กว้างกว่า ใหญ่กว่า เต็มอิ่มกว่า และเทคโนโลยีสี Eastmancolor มอบความสด คมเข้ม เจิดจรัสกว่า (แต่มันสร้างปัญหาสีตก เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านมากกว่าเช่นกัน!)

มุมกล้องในหนังของผู้กำกับ Sirk แม้จะถ่ายทำยังสถานที่จริงก็ยังคงมีทิศทาง ไดเรคชั่น สไตล์ลายเซ็นต์ไม่แตกต่างจากในสตูดิโอสักเท่าไหร่ คือมักถ่ายจากด้านหน้า มุมมองเหมือนละครเวที ซิทคอม Soap Opera, โดดเด่นเรื่องการจัดแสง สีสัน และเงามืด สร้างบรรยากาศที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก/ปรัชญาของผู้สร้าง


พื้นหลังของ Opening Credit นำเสนอภาพฤดูกาลที่ผันแปรเปลี่ยนจาก หน้าร้อน -> ฤดูฝน -> หิมะตก ดำเนินในช่วงเวลาเพียงนาทีกว่าๆ นี่ถือเป็นการสะท้อนไดเรคชั่นของหนังที่จะมีการไล่เรียง ชีวิต/เรื่องราวความรัก ดำเนินไปทีละลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน ผันแปรเปลี่ยนเหมือนฤดูกาล(แห่งชีวิต) ในระยะเวลาสองชั่วโมงกว่าๆนี้

สีชมพูของดอกซากุระ (Cherry Trees) ยังพบเห็นอีกครั้งตอนกลางเรื่อง คือสัญลักษณ์ธรรมชาติชีวิต (Nature of life) เบ่งบานในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งสามารถสื่อถึงการเกิด-ตาย ที่เต็มไปด้วยความงดงาม และเจ็บปวดรวดระทม (จากการร่วงหล่น สูญเสีย)

องก์แรกของหนังจะสร้างความหนาวเหน็บให้ผู้ชม ไม่ใช่แค่หิมะปกคลุม แต่ยังเฉดสีสัน (color palette) ที่มีเพียงน้ำเงิน-ขาว และเรื่องราวที่สะท้อนความเหี้ยมโหดร้ายของทหารนาซี ต่อให้ไม่อยากจะเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

จริงอยู่ว่า ชาวเยอรมันไม่สามารถหาข้ออ้าง ฉันไม่รู้ ฉันไม่ได้ทำ ทุกคนล้วนคือผู้รับผิดชอบจากการยินยอมให้นาซีขึ้นมาเรืองอำนาจ ปกครอง บริหารประเทศ แต่เราต้องอย่าเหมารวมชาติพันธุ์ ตีตราว่าชาวเยอรมันทั้งหมดมีจิตใจเลวทรามต่ำช้า เพราะพวกเขาก็คือมนุษย์เหมือนกับเรา เลือกได้คงไม่มีใครอยากทำอะไรเช่นนั้น ลองจินตนาการถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว คิดหรือว่าจะสามารถต่อสู้ขัดขืน แล้วหลบหนีเอาตัวรอดโดยไม่สร้างภาระให้คนเบื้องหลัง/ครอบครัวเผชิญหน้าชะตากรรม

ช็อตเล็กๆสะท้อนทัศนคติของทหารนาซี คือมุมกล้องถ่ายลอดหว่างขา ในขณะที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เชลยรัสเซียขุดหลุมสำหรับฝังศพตนเอง เมื่อถูกกราดยิงประหารชีวิต สื่อถึงการมองชนชาติอื่นอย่างดูถูกเหยียดหยาม ต่ำต้อยด้อยค่ากว่าชาติพันธุ์ของตน

การขุดหลุมฝังศพตนเอง คือสำนวนหมายถึง การกระทำที่นำพาหายนะกลับสู่ตนเอง, สามารถสะท้อนอะไรหลายๆของชาวเยอรมัน พฤติกรรมทหารนาซี รวมไปถึงตัวละคร และเรื่องราวของหนัง โดยเฉพาะการประหารชีวิตครั้งนี้ พวกเขาล้วนจักได้รับผลกรรมตอบสนองไม่ช้าที

ขณะที่ชนชั้นระดับผู้บัญชาการ ได้รับการตอบแทนวอดก้าหรู เพลิดเพลินไปกับการมีอำนาจ (ค่าตอบแทนสำหรับภารกิจเข่นประหารเชลยสงคราม) แต่บรรดานายทหาร ชนชั้นล่าง กลับมีปฏิกิริยาขื่นขม อมทุกข์ทรมาน ไม่มีใครรู้สึกอภิรมณ์เริงใจกับการกระทำดังกล่าว และมีคนหนึ่งถึงขนาดยินยอมรับตนเองไม่ได้ ตัดสินใจเป่าขมองฆ่าตัวตาย ถูกบันทึกไว้เพียงอุบัติเหตุจากการใช้อาวุธ (คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นการให้เกียรติผู้ตาย แต่ผมครุ่นคิดว่ามันคือการไม่ยินยอมรับความจริง!)

โกนหนวดเครา คือสัญลักษณ์ของการปลดเปลื้องภาระ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ เริ่มต้นใช้ชีวิต(วันหยุด)ด้วยความหวัง เปี่ยมล้นพลังใจ ต่อจากนี้จะได้พักผ่อนคลาย ทอดทิ้งความว้าวุ่นวาย(ของสงคราม)ไว้เบื้องหลัง

การได้รับโอกาสลาพัก กลับไปหาคนรัก/ครอบครัว ถือเป็นความหวัง กำลังใจของชีวิต แต่ยังไม่ทันเริ่มต้นออกเดินทาง หนึ่งในผู้บังคับบัญชา (มุมกล้องเงยขึ้น) จับจ้องมองลงมายังนายทหาร (มุมกล้องก้มลง) ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งลาพักของคนของบางกลุ่ม โดยไม่ใคร่อธิบายเหตุผลอะไรใดๆทั้งนั้น … นั่นถือเป็นการทำลายโอกาสและความหวัง ขัดย้อนแย้งกับเสบียงที่มอบให้เพื่อเป็นการสร้างภาพของท่านผู้นำ

เมื่อกลับมาถึงเมืองบ้านเกิด Verden เดินพานผ่านโรงแรมแห่งหนึ่ง สถานที่มักคุ้นเคยของ Ernst พบเห็นม้าสตั๊ฟยังคงตั้งโชว์อยู่หน้าร้าน แต่ครุ่นคิดไปมานี่คือสัญลักษณ์ของความตาย ลางบอกเหตุร้าย (ม้าเป็นสัตว์ที่ชอบวิ่ง แข่งขัน แต่สภาพดังกล่าวหลงเหลือเพียงในความทรงจำ) ก่อนก้าวเดินต่อไปอีกนิด จะหลงเพียงเศษซากปรักหักพัก!

มันช่างเป็นเก้าอี้ที่ขวางหูขวางตายิ่งนัก! ลักษณะ/ตำแหน่งการจัดวางของมันดูเหมือนคอก กรงขัง สามารถสะท้อนถึงสภาพจิตใจตัวละคร เมื่อพบเห็นเพียงเศษซากปรักหักพัง มีความบีบคั้น เจ็บปวด บ้านของฉันอยู่แห่งหนไหน? จะมีใครหลงเหลือรอดชีวิตอยู่หรือไม่?

Ernst เข้าไปในบ้านหลังหนึ่งที่ยังพอมีสภาพความเป็นบ้านอยู่บ้าง พบเจอชายคนหนึ่งพร้อมภาพสะท้อนบนกระจก สามารถสื่อถึงจิตใจ(ของชายคนนั้น)ที่แตกสลาย สูญเสียความเป็นตัวตนเอง ครอบครัว ทรัพย์สิน ไม่มีอะไรหลงเหลืออะไรนอกจากลมหายใจ

แต่ชายคนนี้ก็เวียนวนอยู่แถวนี้ คอยให้ความช่วยเหลือ Ernst เก็บพัสดุ จดหมาย จดจำทุกรายชื่อบนประตูบ้าน มอบความหวังให้ใครต่อใคร นั่นคงเป็นสิ่งที่เขารู้สึกว่าทำให้ตนเองยังมีชีวิตอยู่ กระมัง!

เปียโน คือสัญลักษณ์ของอารยธรรม ความศิวิไลซ์ ฟังแล้วเกิดความบันเทิงเริงใจ ไพเราะเสนาะหู แต่ด้วยสภาพปรักหักพัง แถมส่งเสียงโหยหวน ราวกับกำลังกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด นั่นสื่อถึงสภาพสังคมที่พังทลาย สูญเสียอารยธรรม สงครามไม่ใช่สิ่งสุนทรียะที่สร้างความบันเทิงให้ชนชั้นล่าง

ช่วงครึ่งหลังจะมีอีกฉากที่พบเห็นเปียโน (ในคฤหาสถ์ของ Oscar Binding) ซึ่งระหว่างที่กำลังเล่นเพลง จะมีการพูดคุยถึงความเพลิดเพลินในการทรมานนักโทษ ค่ายกักกัน สื่อนัยยะตรงกันข้ามกับช็อตนี้ … สงครามคือความบันเทิงของชนชั้นผู้นำ

หลังจากที่ Ernst เดินทางมาถึงบ้านของตนเอง ครุ่นคิดว่าอาจยังมีใครบางคนติดอยู่ภายใต้ ก่อนพบว่าแค่เพียงเสียงแมวร้อง เขาจึงทรุดนั่งลงตำแหน่งที่ท่อน้ำห้อมล้อมกรอบ แล้วสายตรวจเข้ามาขอดูเอกสาร (คงจะตรวจสอบว่าได้รับการลาหรือหนีทหาร) สังเกตว่าสองคนนั้นยืนอยู่ตำแหน่งนอกรอบท่อ ในลักษณะการวางอำนาจ ออกคำสั่ง ควบคุมครอบงำ

นี่เป็นช็อตที่สะท้อนการบริหารจัดการของนาซี ที่กลุ่มชนชั้นล่างจะต้องอยู่ภายในกฎกรอบ ไม่ได้รับอิสรภาพ แต่ขณะที่ชนชั้นสูงจะมีอำนาจ สามารถควบคุมครอบงำ ชี้นิ้ว ออกคำสั่ง มีสิทธิ์ทำอะไรใครก็ได้ทั้งนั้น (ถ้าทำผิดกฎ)

Alma ภาษาสเปน แปลว่า Soul, จิตวิญญาณ (ผมจำมาจาก Persona (1966)) แม้พล็อตเล็กๆนี้จะคือนายทหารคนหนึ่งติดตามหาภรรยา แต่แท้จริงแล้วมันสามารถสื่อถึง(จิตวิญญาณของ)ประเทศเยอรมัน ในอดีตเคยอวบอิ่ม อุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อพบเจอหลายวันให้หลังกลับมีสภาพซูบผอม บอบบาง แทบไม่หลงเหลือสภาพ(ความเป็นเยอรมัน)จากอดีตเลยสักนิด!

แซว: ไม่รู้ทำไมพบเห็นฉากนี้ผมนึกถึง ขาหมูเยอรมัน (Schweine Haxe) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเยอรมันจริงๆนะครับ! พวกเขาชอบกินขาหมูมากๆ และเป็นประเทศแรกที่เริ่มต้นแปรรูปไส้กรอก

ในหลุมหลบภัยทุกคนต่างเต็มไปด้วยอาการหวาดกลัว นำเสนอด้วยการที่กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อน แพนนิ่ง นำเสนอปฏิกิริยาผู้คน มือสั่นๆ โอบอุ้มกล่องใส่เงิน หยิบรูปภาพขึ้นมาจับจ้องมอง แม่ชีอธิษฐานขอพร ฯ

หนึ่งในนั้นที่ดูน่าสนใจคือการการเล่นหมากรุก ซึ่งสะท้อนถึงเกมสงคราม (ระหว่าง สัมพันธมิตร vs. อักษะ) มือสั่นๆที่หยิบเคลื่อนเดินหมาก พอดิบพอดีกับการมาถึงของเครื่องทิ้งระเบิด (เปิดเกมรุก) ได้อย่างพอดิบพอดี!

Ernst ต้องการมอบเสบียงที่ได้มาให้กับ Elizabeth แต่เธอกลับเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเขาต้องการซื้อใจ นี่ฟังดูละม้ายคล้ายพล็อตหนึ่งในภาพยนตร์ Written on the Wind (1956) แม้ไม่ได้ด้วยแก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับเพชรพลอย เสื้อผ้าเลิศหรู แต่ในยุคสมัยสงคราม เสบียงกรังเหล่านี้ถือเป็นสิ่งล้ำค่า ยิ่งกว่าอัญมณีสิ่งข้าวของอื่นใด!

เฉกเช่นเดียวกับอีกหลายฉากต่อไปนี้ที่ Elizabeth เข้าใจความหมายการขอแต่งงานของ Ernst ว่าสนเพียงผลประโยชน์ เงินทอง ค่าตอบแทนของรัฐ (ในฐานะสามีภรรยา) ไม่ใช่เพราะความรัก หรือต้องการอยู่เคียงคู่อยู่ร่วมจนวันตาย

ช็อตนี้ไม่ใช่ว่าจักรยานแฝงนัยยะอะไรนะครับ แต่คือล้อที่หมุนสามารถสื่อถึงวัฏจักรชีวิตที่กำลังดำเนินไป นั่นเพราะ Ernst เริ่มบังเกิดความรู้สึกดีๆต่อ Elizabeth แต่งตัวคราวนี้ตั้งใจจะไปพบเจอหญิงสาว (แม้เมื่อค่ำคืนจะมีเรื่องขัดแย้ง โต้ถกเถียงเรื่องเสบียงกรังก็เถอะ)

แต่ก่อนจะได้จีบหญิงสาวต่อนั้น Ernst บังเอิญพบเจอเพื่อนเก่าสมัยเรียน Oscar Binding ที่กลายเป็นหัวหน้าเขต อาศัยอยู่คฤหาสถ์หรู ภายในเต็มไปด้วยสัตว์สตั๊ฟ และสะสมงานศิลปะมากมาย (คงนำจากการปล้นเสบียง ยึดเอาของประชาชน) ถือเป็นสถานที่ที่สะท้อนความคอรัปชั่นของชนชั้นผู้นำนาซีได้เป็นอย่างดี

ส่วนในห้องน้ำมีเฉดสีแดง-น้ำตาล ซึ่งเข้ากับเครื่องแบบหัวหน้าเขตของ Oscar ราวกับสีของเลือดที่แปดเปื้อน เจือจาง ถูกชำระล้างแต่ทำอย่างไรก็ไม่ขาวสะอาด (ต่อให้ใช้เครื่องสบู่หรูหราราคาแพงก็เถอะ) หลงเหลือคราบเกราะกรัง กลิ่นติดตัว ส่งกลิ่นเหม็นฉุนไปทั่ว

ท่ามกลางสงคราม ความตาย เศษซากปรักหังพัก แต่ก็ยังมีดอกไม้ที่สามารถเบ่งบาน ออกดอกสะพรั่ง เปรียบดั่งการพบเจอ ตกหลุมรักของหนุ่ม-สาว แม้ในช่วงเวลาอันเลวร้าย ก็ไม่มีสิ่งไหนสามารถกีดกั้นขวาง สั่งห้ามความรู้สึกที่มีให้ต่อกัน

พื้นหลังคือแม่น้ำ และพบเห็นเรือเล็กอีกลำ สามารถสื่อถึงการออกเดินทางครั้งใหม่ของคู่รัก ต่อจากนี้จะมีเราสอง พายเรือ ล่องสู่ธารธาราแห่งชีวิตไปด้วยกัน

เพื่อนทหาร/ผู้หมวด ต่างให้การส่งเสริมสนับสนุน ช่วยเหลือ Ernst เพื่อให้ได้มีช่วงเวลาแห่งความทรงจำที่ดีที่สุดในชีวิต ถึงขนาดยินยอมมอบเครื่องแบบนายพลให้สวมใส่ แต่หลังจากส่งชายหนุ่มออกไป สีหน้าทุกคนกลับเปลี่ยนแปลง กลับตารปัตรตรงกันข้าม หมดสิ้นความครึกครื้นเครง ตัดไพ่อย่างน่าเบื่อหน่าย … นั่นเพราะสำหรับพวกเขาแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวได้หมดสูญสิ้นไป ไม่หลงเหลือโอกาสและความหวัง ปัจจุบันต้องทนทุกข์ทรมานอย่างขืนขม (แต่มันก็เป็นความสุขเล็กๆของพวกเขา ที่ได้เห็นคนหนุ่มมีความสุข ก่อนหวนกลับไปเผชิญหน้าความตาย)

Hotel Germania แค่ชื่อก็บอกใบ้ถึงนัยยะของสถานที่แห่งนี้ เทียบแทนด้วยประเทศเยอรมัน แนวคิดคล้ายๆภาพถ่ายที่ผมอธิบายไป ในตอนแรกมีความเลิศหรู ไฮโซ ดินแดนของผู้ดีมีสกุล (แทนถึงยุคสมัย German Empire) แต่หลังจากเสียงสัญญาณเดือนเครื่องบินทิ้งระเบิด (การมาถึงของสงครามโลก) ทุกคนอพยพลงชั้นใต้ดิน บริการพยายามพูดบอกทุกคนว่าสถานที่แห่งนี้ปลอดภัย แต่ไม่ทันไรทุกสิ่งอย่างก็พังทลาย ราบเรียบเป็นหน้ากลอง (สะท้อนสภาพเยอรมันขณะนั้น)

แซว: ในฉากห้องใต้ดิน จะพบเห็นนักร้องขึ้นไปนั่งบนถังเบียร์ … ประเทศนี้ก็เลื่องลือชาทั้งเบียร์และไวน์นะครับ

เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนสมรส สูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง บังเอิญได้รับการรักษาจากบิดาของ Elizabeth จึงแสร้งทำเป็นมองไม่เห็น ไม่สนใจ ไม่ตรวจสอบ ยินยอมให้พวกเขาได้รับโอกาสแต่งงานถูกต้องตามกฎหมาย

ตัวละครนี้สามารถสื่อแทนหน่วยราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ(เยอรมัน) ต่างเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ รับรู้พฤติกรรมชั่วร้ายของระบอบนาซี แต่ก็มิอาจต่อต้านขัดขืน จำต้องก้มหัวทำตามคำสั่งเจ้านาย เพราะอย่างน้อยตนเองก็มีเงินเดือน ได้รับเสบียงกรัง ท้องอิ่ม ครอบครัวปลอดภัย ยุคสมัยนั้นแค่นี้ก็เพียงพอแล้วละ

เมืองไทยเรามีความเชื่อ แมวดำวิ่งตัดหน้าจะประสบเหตุร้าย การเดินตัดหน้าขบวนแห่ศพก็ไม่น่าต่างกันสักเท่าไหร่ ซึ่งอีกไม่นานต่อจากนี้ Ernst ก็จะต้องวิ่งหลบหนีเครื่องบินทิ้งระเบิดที่มาตอนกลางวันแสกๆ เพื่อติดตามหา Elizabeth ลุ้นระทึกว่าเธอจะเอาตัวรอดได้สำเร็จหรือเปล่า

แซว: เมื่อเสียงเตือนภัยดังขึ้น ทุกคนต่างวิ่งหลบหนีเข้าหลุมหลบภัย ทอดทิ้งให้เกวียนและม้า ประสบโชคชะตากรรมของตนเอง

แซว2: หนังจงใจถ่ายให้เห็นป้ายพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับขบวนแห่ศพ ราวกับจะสื่อว่านี่คือพิพิธภัณฑ์แห่งความตาย

ระหว่าง Ernst กำลังเฝ้ารอคอย Elizabeth หลังจากขนข้าวของสำคัญๆออกจากอพาร์ทเม้นท์ที่กำลังลุกไหม้ ภาพช็อตนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกระจกสะท้อนความต้องการ (และก็มีกระจกจริงๆอยู่ด้วยนะครับ) หญิงสาวและทารกฝั่งขวาของภาพ คือความเพ้อใฝ่ฝันของชายหนุ่ม (และภรรยา) เมื่อแต่งงานกันแล้วก็อยากจะมีทายาทสืบสกุล ของขวัญคล้องคอใจ

ค่ำคืนนั้น หนุ่ม-สาวหลับนอนในเศษซากปรักหักพังของพิพิธภัณฑ์ พบเห็นกองหนังสือ ภาพถ่าย รูปปั้นแขนขาด ฯลฯ เหล่านี้สะท้อนสภาพปรักหักพังทางอารยธรรมของชนชาติเยอรมัน

พิพิธภัณฑ์คือสถานที่เก็บบันทึกประวัติศาสตร์ สิ่งสำคัญๆของชาติบ้านเมือง เมื่อมันถูกทำลาย สภาพปรักหักพัง ก็สื่อถึงการสูญเสียอัตลักษณ์(ความเป็นชาติ) อารยธรรมล่มสลาย

ผมแอบเซอร์ไพรส์เล็กๆกับการ Cameo ของ Klaus Kinski โคตรนักแสดงสัญชาติเยอรมัน ในบทบาทเจ้าพนักงาน Gestapo อยู่ชั้นใต้ดิน ปกคลุมไปด้วยเงามืดมิด (สะท้อนถึงหน่วยงานลับ องค์กรใต้ดินที่ทำการขุดคุ้ย เปิดโปงบุคคลผู้กระทำสิ่งขัดแย้งต่ออุดมการณ์นาซี) โดยเฉพาะใบหน้าโหดๆของพี่แก ดูโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย สร้างความหวาดระแวงอย่างรุนแรงให้ผู้ชม

เกร็ด: ช่วงแรกๆในอาชีพการงานของ Kinski (ทศวรรษ 50s-60s) ยังคงทุ่มให้ความสนใจกับการแสดงละครเวทีมากกว่า ผลงานภาพยนตร์เป็นตัวประกอบเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ได้เล่นหนังระดับนานาชาติอยู่หลายเรื่อง อาทิ Doctor Zhivago (1965), For a Few Dollars More (1965), กว่าจะได้รับการจดจำระดับนานาชาติจริงๆก็เมื่อร่วมงานผู้กำกับ Werner Herzog เรื่อง Aguirre: The Wrath of God (1972), Nosferatu the Vampyre (1979), Fitzcarraldo (1982) ฯลฯ

คือหญิงสาว+ทารก คนเดียวกับที่พบเห็นในฉากก่อนหน้านะแหละครับ กำลังเข้าพิธีจุ่มศีล เพื่อลบล้างบาปกำเนิดที่อาจติดตัวมาจากปางก่อน … นี่เป็นฉากสะท้อนความเชื่อ ศรัทธาศาสนาของผู้กำกับ Douglas Sirk ที่พอพบเห็นอยู่บ้างในผลงานเก่าก่อน แต่จะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆในภาพยนตร์เรื่องท้ายๆ (โดยเฉพาะ Imitation of Life (1959) มีกล่าวถึงความตายเยอะมากๆ)

สังเกตว่ามุมกล้องจะเงยขึ้นพอสมควรเลยละ เพื่อให้เห็นถึงไม้กางเขน ศรัทธาต่อพระเป็นเจ้าที่อยู่เบื้องบนสรวงสวรรค์

บัานหลังใหม่หลบซ่อนอยู่ด้านหลังเศษซากปรักพักพัง ความเป็นจริงคงยากที่จะถูกมองข้าม แต่หนังใช้เป็นสัญลักษณ์บ้านในอุดมคติของคู่รัก (พัฒนาการจากอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์(ที่ไม่ใช่ของตนเอง) -> หลับนอนตามท้องถนน -> ราวกับมีบ้านของตนเอง) หรือจะมองว่าคืออนาคตของเยอรมันหลังสงครามสิ้นสุดก็ได้เช่นกัน

เฉดสีของฉากนี้คือขาว-เทา แสงสว่าง-เงามืด แทบไม่พบเห็นสีสันที่มีความจัดจ้าน สามารถสื่อถึงความบริสุทธิ์ ว่างเปล่า เพียงภาพแห่งความทรงจำประดับบนผนัง รอคอยให้ผู้อยู่อาศัยใหม่แต่งแต้ม ลงสีสัน วาดฝันอนาคต(ถ้ามี) ย่อมสร้างความอบอุ่น ให้บ้านหลังนี้สิ้นจากบรรยากาศทุกข์เศร้าโศก

และถ้าสังเกตช็อตที่ผมนำมานี้ ตะเกียงสีเขียว (สีของธรรมชาติ ใบไม้ต้นหญ้า) Elizabeth เคยกล่าวไว้ว่า เห็นแล้วเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สบายตา (เป็นสีที่พบเห็นน้อยครั้งมากๆในหนัง) ส่วนโถสีน้ำเงินด้านหลังไม่น่าจะมีความหมายอะไร (ก่อนหน้านี้จะเห็นสีฟ้ากับถังใส่น้ำ แค่นั้นเอง)

ค่ำคืนสุดท้ายของคู่รัก ต่อให้ฟ้าถล่มดินทลาย พวกเขาปฏิเสธใช้เวลาหลบซ่อนตัวอยู่ยังหลุมหลบภัย ปิดผ้าม่าน กอดกันแน่น ไม่ยินยอมลาจากไปไหน แต่สุดท้ายหนังใช้การ Cross-Cutting เมื่อค่ำคื่นเคลื่อนผ่านไป ซ้อนกับภาพการเดินแถวของทหาร ตระเตรียมตัวขึ้นรถไฟ

การเลือกเทคนิค Cross-Cutting ในเสี้ยววินาทีนี้ เพื่อสร้าง’ภาพจำ’การอยู่ด้วยกันสุดท้ายของคู่รัก … เอาจริงๆมันจะเป็นภาพตื่นตอนเช้า แต่งตัว หรือกำลังออกจากบ้านก็ได้ (ถ้าไม่อยากร่ำลาที่สถานีรถไฟ) แต่หนังเลือกช็อตนี้แทนการร่ำลาจาก เพราะต้องการให้เป็นภาพสุดท้ายที่จักอยู่ในความจำระหว่างตัวละคร (และผู้ชม)

ช็อตสุดท้ายของ Elizabeth ยืนอยู่ในสถานีด้านหลังหน้าต่าง (แต่ถูกระเบิดทำลายจนเหลือเพียงผนังกำแพงและเศษกระจก) พื้นด้านหลังของเธอคือท้องฟากฟ้า (สะท้อนอนาคตของเธอที่ยังคงมีชีวิตอีกยาวไกล) แต่กลับมีคานไม้บดบังด้านหน้า ให้ความรู้สึกเหมือนรั้ว กรงขัง แบ่งแยกระหว่างความเป็น-ตาย มองไม่เห็นกันและอีกต่อไป

หนึ่งในนายทหารที่ยังรอดชีวิตมาจากต้นเรื่อง แต่กลับมาตกม้าตายโง่ๆเพียงเพราะถังเบียร์ ถูกระเบิดลูกหลงหล่นใส่ จากไปอย่างไม่มีใครคาดคิดถึง! นัยยะของฉากนี้สื่อถึงความพ่ายแพ้อย่างหมดสิ้นรูปของนาซี ทหารเยอรมัน แม้แต่ความสุขเล็กๆ(ที่จะได้ดื่มเบียร์)ก็ยังถูกฟ้าดินลงทัณฑ์ … ถือเป็นอีกหนึ่งลางบองเหตุตอนจบของหนัง!

ช็อตสุดท้ายของหนัง (ไม่นับ Closing Credit) Ernst พยายามเอื้อมหยิบจดหมาย(ของภรรยา) แต่มันไกลเกินไขว่คว้า และเขาก็กำลังหมดสิ้นเรี่ยวแรง หลงเหลือเพียงภาพสะท้อนบนพื้นผิวน้ำ ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงทุกสรรพสิ่งอย่างในการสงครามนี้ เพื่ออะไร? ใครได้ประโยชน์? นาซีพ่ายแพ้สงคราม ชาวเยอรมันถูกทั่วโลกตีตราว่าเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย ตึกรามบ้านช่องพังทลาย อนาคตสูญสลาย ความหวังล่องลอยไป กลายเป็นความอัปยศของชาติพันธุ์ คนรุ่นหลังจะยินยอมรับบรรพบุรุษ ประวัติศาสตร์ชั่วร้ายนี้ได้อย่างไร!

ตัดต่อโดย Theodore John Kent (1901-86) สัญชาติอเมริกัน ในสังกัด Universal Studios ผลงานเด่นๆ อาทิ The Invisible Man (1933), Show Boat (1936), My Man Godfrey (1936), The Wolf Man (1941), Letter from an Unknown Woman (1948), Father Goose (1964) ฯ

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองตัวละคร Ernst Graeber ตั้งแต่ก่อนถึงหลังได้รับคำสั่งลาพัก ระยะเวลาสามสัปดาห์ เดินทางกลับบ้าน พบเจอ ตกหลุมรัก แต่งงานกับ Elizabeth Kruse ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโต เปลี่ยนแปลง ค้นพบคุณค่าชีวิต และความเป็นมนุษย์

  • วันสุดท้ายก่อนได้รับคำสั่งลาพักของ Ernst
    • ถูกสั่งให้เป็นเพชรฆาต เข่นฆาตกรรมเชลยชาวรัสเซีย
  • ช่วงเวลาของการติดตามค้นหา
    • เมื่อกลับมาถึงสถานที่ที่เคยเป็นบ้าน หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง
    • ออกติดตามหาตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งมาพบเจอกับ Elizabeth และไปหลบภัยด้วยกัน
  • ความรักที่กำลังเบ่งบานระหว่าง Ernst กับ Elizabeth
    • พบเจอเพื่อนร่วมรุ่นที่ปัจจุบันกลายเป็นหัวหน้าเขต อาสาให้ความช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง (แต่เอาเข้าจริงก็แทบไม่ได้ช่วยอะไร)
    • แต่เป็นเพื่อนทหารที่เพิ่งพบเจอ แนะนำสถานที่ดินเนอร์สุดหรู มอบเครื่องแบบยศสูงให้สวมใส่ แม้สุดท้ายจะถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด แต่ก็เป็นค่ำคืนสุดแสนประทับใจ
  • การแต่งงานครองรัก
    • ทั้งสองไปจดทะเบียนสมรส แม้มีปัญหาเกี่ยวกับบิดาของ Elizabeth ที่ถูก Gestapo จับกุมตัวไป แต่ก็ได้รับความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ อนุมัติการแต่งงานของพวกเขา
    • บ้านที่อยู่อาศัยถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายย่อยยับ แต่แม้อาศัยหลับนอนข้างถนนก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับคู่รัก
  • ก่อนที่จะพลัดพรากจาก
    • Elizabeth ได้รับหมายเรียกจาก Gestapo แต่ Ernst แอบตัดสินใจไปแทน แล้วพบว่าเป็นเพียงแจ้งข่าวการเสียชีวิตของบิดา พร้อมขี้เถ้าใส่ในกล่องบุหรี่
    • โชคชะตานำพาให้ Elizabeth พบเจอบ้านหลังใหม่ ได้รับความเอ็นดูจากเจ้าของ เติมเต็มความต้องการของกันและกันในค่ำคืนสุดท้าย
  • วันแรกของการหวนกลับไปแนวรบตะวันตก
    • ราวกับผลกรรมติดตามสนอง ถูกสั่งให้เข่นฆ่าเชลยชาวรัสเซียอีกครั้ง แต่ครานี้ตัดสินใจที่จะ…

การดำเนินเรื่อง ‘สไตล์ Sirk’ จะใช้เทคนิค Cross-Cutting ทุกครั้งระหว่างการเปลี่ยนฉาก เพื่อสร้างความต่อเนื่องที่ลื่นไหลราวกับสายน้ำ แม้ซีนนั้นจะมีเพียงภาพช็อตเดียวก็ตาม เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ล่องลอยไป ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเวลาเคลื่อนพานผ่านนานสักเท่าไหร่ … หนังของ Sirk ให้ความรู้สึกเหมือนไม่ยาว แต่รายละเอียดยิบๆย่อยๆ เยอะโคตรๆ

สังเกตว่าหนังมีการดำเนินไปของเรื่องราวอย่างเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน ไม่มีความเร่งรีบร้อน ‘Step-by-Step’ ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็ก นั่นรวมถีงความสัมพันธ์หนุ่ม-สาว ที่ค่อยๆพัฒนาอย่างไม่เร่งรีบร้อน แต่ถ้ามองที่ระยะเวลา(ของความสัมพันธ์)จะรู้สีกค่อนข้างกระชั้น เพียง 3 สัปดาห์เท่านั้นเอง

รับชม A Time to Love and a Time to Die (1958) ทำให้ผมตระหนักถีงทฤษฎีสัมพันธภาพยนตร์ หนังรักส่วนใหญ่มีความยาว 90-120 นาที แต่ระยะเวลาในเรื่องราวล้วนมีความแตกต่างออกไป บ้างหลักวัน บ้างหลักเดือน บางเรื่องเป็นปีๆกว่าจะได้ครองคู่แต่งงาน ซี่งล้วนมอบสัมผัส/การรับรู้เวลา (perception of time) ที่ไม่เท่ากัน! เฉกเช่นนั้นแล้วความรักในสามสัปดาห์ (ของหนังเรื่องนี้) จึงมีค่าเทียบเท่าชั่วกัลปาวสาน


เพลงประกอบโดย Miklós Rózsa (1907-95) คีตกวีสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest (ขณะนั้นคือประเทศ Austria-Hungary) มีมารดาเป็นนักเปียโน และลุงเล่นไวโลินให้กับ Budapest Opera เลยเริ่มเล่นเปียโนและวิโอล่าตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แสดงอัจฉริยภาพแต่งเพลงตอน 8 ขวบ, เข้าศึกษาดนตรีที่ University of Leipzig ก่อนย้ายไป Leipzig Conservatory เพื่อเอาจริงจังด้านการประพันธ์จาก Hermann Grabner แล้วเริ่มเขียนบทเพลงคลาสสิก Concerto, Symphony, เมื่อย้ายมา London ได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Knight Without Armour (1937), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Four Feathers (1939), The Thief of Bagdad (1940), To Be or Not to Be (1942), Double Indemnity (1944), The Lost Weekend (1945), Spellbound (1945), A Double Life (1947), เมื่อเซ็นสัญญากับ M-G-M เลื่องลือชาในโคตรภาพยนตร์แนว Historical Epic อาทิ Quo Vadis (1951), Lust for Life (1956), Ben-Hur (1959), King of Kings (1961), El Cid (1961) ฯลฯ

(ตัวหน้า คือเรื่องที่คว้ารางวัล Oscar: Best Music ทั้งหมด 3 ครั้ง)

แม้ว่าโดยปกติแล้ว ‘สไตล์ Sirk’ จะนิยมเลือกใช้บทเพลงคลาสสิกมีชื่อ รวบรวมมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ แต่สำหรับ A Time to Love and a Time to Die (1958) ผมคาดคิดว่าผู้กำกับ Sirk ต้องการ Original Score ที่สามารถสร้างโลกส่วนตัวให้คู่รัก เพราะพวกเขาไม่สนใจภัยพิบัติภายนอกใดๆ ต่อให้บ้านพังทลาย โลกล่มสลาย ตราบมีเธอเคียงชิดใกล้ ฉันไม่กลัวห่าเหวอะไรทั้งนั้น!

ถึงขนาดขอหยิบยืม Rózsa จากสตูดิโอ M-G-M เพราะเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถสรรค์สร้างท่วงทำนองยิ่งใหญ่ อลังการ กระหึ่มด้วยออเครสต้า (แทนโลกภายนอกที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม) และยังสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก สภาพจิตใจของตัวละครออกมา (แทนโลกส่วนตัวของคู่รัก)

ท่ามกลางซากปรักหักพัง เสียงเครื่องบินทิ้งระเบิด ชีวิต-ความตายอยู่ไม่ไกลสักเท่าไหร่ แต่บทเพลง Main Theme ของ A Time to Love and a Time to Die (1958) กลับไร้สัมผัสของหายนะเหล่านั้น ราวกับนี่คือโลกส่วนตัวที่มีเพียงเราสอง ครองคู่รัก อิ่มเอิบ อบอุ่นกาย-ใจ ไม่มีสิ่งชั่วร้ายใดๆสามารถย่างกราย ทำลายช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ไปได้

A Time to Love and a Time to Die (1958) นำเสนอเรื่องราวความรัก ในสถานการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ (ภายใต้การปกครองของพลพรรคนาซี ที่มีความเข้มงวด เรื่องมากอย่างที่สุด!) แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถหยุดยั้บยั้งเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ ความต้องการครองคู่แต่งงานของหนุ่มสาว แม้แต่เสียงระเบิด หรือความตาย ก็มิอาจทำลาย ‘รักนิรันดร์’

I find this film beautiful because the two leading characters manage, by shutting their eyes with a kind of passionate innocence to the bombs falling around them in Berlin, to get deeper into themselves than anyother characters in a film before them.

Jean-Luc Godard

โดยปกติแล้วเรื่องราวความรักในภาพยนตร์เกี่ยวกับสงคราม มักนำเสนอแง่มุมการพลัดพราก สูญเสีย หรือผลกระทบต่อร่างกาย-จิตใจ แต่สำหรับ A Time to Love and a Time to Die (1958) ใช้สงครามคือเหตุผลของความรัก

Remarque is saying that if it weren’t for the war this would be eternal love. Sirk issaying if it weren’t for the war this would not be love at all.

Rainer Werner Fassbinder กล่าวถึง A Time to Love and a Time to Die (1958)

ในมุมมองของผู้แต่งนวนิยาย Erich Maria Remarque ซึ่งโกรธรังเกียจ ต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) สรรค์สร้างนวนิยายเรื่องนี้เพื่อนำเสนอผลกระทบ ความโฉดชั่วร้าย ทำให้หนุ่มสาว ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย ต้องพลัดพรากแยกจาก เกิดการสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สิน ร่างกายและจิตใจ

แต่สำหรับผู้กำกับ Douglas Sirk แม้จะมีอคติอย่างรุนแรงต่อนาซี แต่มุมมองของเขาถ้าไม่มีสงคราม หนุ่ม-สาวก็อาจไม่ได้พบเจอ ตกหลุมรัก พลัดพรากจาก เฉกเช่นเดียวกับตนเอง ถ้าไม่เพราะสงครามคงไม่อพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกา สรรค์สร้างภาพยนตร์ Hollywood ประสบความสำเร็จ ได้รับการเคารพยกย่องขนาดนี้ ซึ่งถือเป็น ‘A Time to Love’ หรือ ‘A Time to Live’ ช่วงเวลาแห่ง ‘การมีชีวิต’ ใช้มันอย่างคุ้มค่าทุกวินาที

นอกจากประเด็นความรัก หนังยังนำเสนอวิถึชีวิตชาวเยอรมันในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ชมสมัยนั้น ไม่ใช่(ชาวเยอรมัน)ทุกคนจะโฉดชั่วร้ายอย่างที่ใครเข้าใจกัน แม้แต่เยอรมันด้วยกันเองยังมีการแบ่งแยกชนชั้น ตามบรรดาศักดิ์ ชุดสวมใส่ เหรียญประดับหน้าอก ขณะที่ฝ่ายเห็นต่างต่อต้าน ต้องหลบซ่อนตัว หนีหัวซุกหัวซุน มีชีวิตด้วยความหวาดระแวง กลัวว่าถ้าถูกจับส่งตัวไปค่ายกักกัน โชคชะตากรรมอาจหลงเหลือเพียงเศษฝุ่นผุยผง

เหตุการณ์ตอนจบเป็นการสะท้อนมุมมองมนุษย์โลกยุคสมัยนั้น ต่างเหมารวมชาวเยอรมันว่าโหดโฉดชั่วร้าย ตัวอันตราย ต้องเข่นฆ่าให้ตาย ทั้งๆที่พระเอกเพิ่งจะให้ความช่วยเหลือเชลยชาวรัสเซีย แต่กลับยังถูกตีตราสัตว์ประหลาด! จริงอยู่เราสามารถมองถึงกรรมสนองกรรม (จากตอนต้นเรื่องที่เขาเคยเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์) แต่หลังจากตัวละครพานผ่านประสบการณ์แห่งรัก ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ผู้ชมย่อมรู้สึกว่าจุดจบดังกล่าว มันช่างเจ็บปวด รวดร้าวระทม เข้าใจหัวอกมนุษย์ร่วมโลกเดียวกันมากขึ้น


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่มีข่าวลือว่าอาจใช้งบประมาณสูงถีง $5 ล้านเหรียญ (ผู้บริหารของ Universal ออกมาปฏิเสธด้วยตนเองว่าไม่มีทางที่สตูดิโอจะใช้จ่ายเงินสูงขนาดนั้น!) ในสหรัฐอเมริกาทำเงินเพียง $1.6 ล้านเหรียญ แต่ที่ฝรั่งเศสกลับได้รับความนิยมล้นหลาม (ไม่รู้เพราะจากบทความวิจารณ์ของ Jean-Luc Godard หรือเปล่านะ) มียอดจำหน่ายตั๋วสูงถีง 2.8 ล้านใบ น่าจะคืนทุน(ต่อให้ $5 ล้านก็เถอะ)ได้อย่างเหลือเฟือ!

ช่วงปลายปี หนังได้เข้าชิง Golden Globe สองสาขาและมีลุ้นอีกรางวัลฝ่ายเทคนิคจาก Oscar

  • Academy Award
    • Best Sound
  • Golden Globes Award
    • Best Promising Newcomer – Male (John Gavin) ** คว้ารางวัล
    • Best Film Promoting International Understanding

จนถีงปัจจุบันหนัง(น่าจะ)ยังไม่ได้รับการบูรณะ แต่คุณภาพ Blu-Ray ของ Master of Cinema แทบไม่ต้องมีอะไรให้ปรับแก้ไข สแกนได้ละเอียด คมชัดเจน มอบสัมผัสการรับชมที่แตกต่างออกไปเลยละ (ยังไม่ได้เป็นส่วนหนี่งของ Criterion Collection แต่เชื่อว่าไม่น่ารอกันนาน)

แม้ช่วงแรกๆของหนังจะมีความเยิ่นยาวนานไปนิด แต่หลังจากหนุ่ม-สาวพบเจอ ตกหลุมรัก ตัดสินใจแต่งงาน กลับกลายเป็นว่าไม่อยากรีบร้อนให้การลาพักสิ้นสุด สิบนาทีสุดท้าย(เมื่อถูกส่งกลับไปแนวหน้า) ผู้ชมจะเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น สั่นสะพรีง นาทีสุดท้ายแอบชื้นใจขี้นบ้าง แต่แล้วแม้งเอ้ย!

สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดของหนังคือความไม่ยี่หร่าของตัวละคร ต่อทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้าง ไม่ว่าจะผู้ดูแลบ้านสุดเนี๊ยบ สัญญาณเตือนภัยดังขึ้น หรือได้ยินเสียงเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้ามาใกล้ ต่างยังคงไม่หวาดกลัวเกรง สนเพียงความรัก โลกทั้งใบมีเพียงเราสอง มันช่างเป็นอุดมคติแห่งโรแมนติก หนึ่งในเรื่องราวความรักน่าประทับใจที่สุดเท่าที่เคยรับชมมา!

แนะนำคอหนังรักโรแมนติก โศกนาฎกรรม ในช่วงระหว่างการสงคราม, นักประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือคนอยากซีมซับบรรยากาศช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, นักตัดต่อ นักเรียนภาพยนตร์ ศีกษาการลำดับเรื่องราวและ Mise-en-scene, แฟนๆนักแต่งเพลง Miklós Rózsa ห้ามพลาดเลยละ!

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศสงคราม ความตึงเครียด โศกนาฎกรรม

คำโปรย | A Time to Love and a Time to Die ช่วงเวลาสั้นๆของการมีชีวิตนั้น Douglas Sirk ใช้มันอย่างคุ้มค่าทุกวินาที
คุณภาพ |
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: