A Touch of Zen (1971)
: King Hu ♠♠♠♠♠
(25/6/2017) Zen เป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นับถือแพร่หลายในแถบประเทศเอเชียตะวันออก (จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น) โดยคำว่าเซ็นเป็นการออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน 禅 อ่านว่า ฉาน มาจากภาษาบาลี ฌาน, นี่คือผลงาน Masterpiece แห่งชาวตะวันออก โดยปรมาจารย์ผู้กำกับหูจินเฉวียน (King Hu) ที่ต้องการนำเสนอว่า ความขัดแย้งทุกสิ่งอย่างในโลก สามารถยุติลงได้ด้วยการให้อภัยและปล่อยวาง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ฌาน (บาลี) หรือ ธยาน (สันสกฤต) หมายถึง ภาวะจิตสงบประณีต โดยมีสมาธิ(แน่วแน่)เป็นองค์ธรรมหลัก
เช่นกันกับ Zen หมายถึง การเพ่งสมาธิ ทำอารมณ์จิตใจให้แน่วแน่ด้วยความสงบ
ต้นกำเนิดของ Zen มาจากประเทศอินเดีย ซึ่งก็คือพุทธศาสนาจากพระโพธิธรรม หรือปรมาจารย์ตั๊กม้อ, ตามตำนานระบุว่า ท่านเกิดเมื่อราว ค.ศ. 483 (พ.ศ. 1026) เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าแผ่นดิน แคว้นคันธารราษฎร์ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่พระชันษายังเยาว์ทรงปราชญ์แตกฉานในคัมภีร์ของทุกศาสนา เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ พระองค์นั่งสมาธิจนเข้าฌานสมาบัติชั้นสูง หลังจากนั้นจึงไปศึกษาแสวงธรรมอยู่กับพระปรัชญาตาระเถระ ผู้เป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 27 แห่งนิกาย Zen (อ้างว่าสืบสายมาตั้งแต่พระมหากัสสปะในสมัยพุทธกาล) ได้รับการส่งต่อทางจิตเป็นสังฆปริณายกองค์ที่ 28 หลังจากนั้นได้จาริกจากอินเดียไปเมืองจีน เมื่อราว ค.ศ. 526 (พ.ศ. 1069) ถึงเมืองกวางตุ้ง เข้าเฝ้าจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ และไม่นานต่อมาได้ก่อตั้งอารามขึ้นในเมืองลั่วหยาง และสถาปนานิกายเซนขึ้นมาในประเทศจีนอีกด้วย
เกร็ด: จักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ เป็นฮ่องเต้ที่มีศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนามากที่สุดองค์หนึ่งของจีน พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีสังเวยบูรพชนด้วยอาหารมังสวิรัต ยกเว้นโทษประหารชีวิต จนได้รับการถวายพระนามเป็น ‘ฮ่องเต้โพธิสัตว์’ และยังมีพระสมัญญานามว่า ‘พระเจ้าอโศกแห่งแผ่นดินจีน’ เนื่องจากทรงปวารณาที่จะบำรุงพระศาสนา ประกาศพระสัทธรรม และถือศีลมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ ตามจริยาของพระเจ้าอโศกมหาราช
เกร็ด 2: พระโพธิธรรม ยังเป็นผู้สถาปนาวัดเส้าหลิน และเผยแพร่วิชามวยจีนในหมู่พระเณร จนมีชื่อเสียงจวบจนทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของ Zen จริงๆ เกิดจากการที่ยุคสมัยนั้นในจีน-อินเดีย มีหนังสือตำราคำสอน ที่ตีความพุทธศาสนาแตกต่างออกไปมากมาย จนไม่รู้ใครล่วงรู้ถูกผิด, ภิกษุฝ่ายมหายานกลุ่มหนึ่งจึงได้ตัดสินใจ ‘ทิ้งตำรา’ แล้วหันมา ‘อ่านธรรมชาติ’ ให้เกิดความรู้แจ้งในจิตใจด้วยตนเอง
แนวคิดของ Zen สามารถสรุปเป็นคำพูดปริศนาธรรมได้ 4 วลี
– “ไม่อิงหนังสือ” หมายถึง การแสดงออกถึงสัจธรรมแห่งชีวิต ความคิด และวิญญาณ ด้วยการไม่ยึดอิงกับตำราหลักตรรกะ เพื่อไปเสาะหาสัจธรรมความจริง
– “ไม่สอนโดยตรง” หมายถึง มิใช่มุ่งเอาแต่สอนสั่ง(ยัดเยียด)โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ อีกฝ่ายเป็นผู้รับเท่านั้น การถ่ายทอดหลักธรรม เรียกกันว่า ‘ส่งต่อโคมไฟ’ จะถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ความหมายแท้จริงมิได้อยู่ที่การรับส่ง แต่อยู่ที่วิธีการส่งทอดของผู้ส่งที่แสดงออกในรูปแบบต่างๆ ให้ผู้รับตื่นตัวรู้แจ้งเห็นธรรม
– “รู้แจ้งในใจ” หมายถึง ไม่เน้นความสำคัญของรูปแบบภายนอก แต่หันมาสำรวจจิตใจของตนเอง เพราะสมรรถนะแห่งความเข้าใจในสรรพสิ่งของเรา จะซ่อนฝังและบดถูกบดบังอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ
– “เห็นธรรมเป็นอรหันต์” คือ ไม่ใช่วิธีการคิดอย่างสลับซับซ้อนไปสัมผัสธรรม เห็นธรรม เพราะสัจธรรมมักแฝงฝังอยู่ในเหตุการณ์ธรรมดาๆที่สุด ผู้ฉลาดมองเห็นโลกทั้งใบในทรายเม็ดเดียว, สิ่งที่เคยอยู่ไกลสุดขอบฟ้า กลับอยู่ข้างกายตน และสิ่งที่เคยอยู่ในกำมือของตน แท้จริงคือความว่างเปล่า
สัญลักษณ์ศาสนา Zen คือวงกลมลายเส้นพู่กันจีน เป็นสัญลักษณ์ของความว่าง
เช่นกันกับต้นไผ่ คือสิ่งที่อยู่คู่กับนิกาย Zen มาเนินนานนับตั้งแต่เริ่ม อันเนื่องจากประเทศจีนและญี่ปุ่นนั้น มีต้นไผ่ค่อนข้างมากกว่าแถวประเทศอื่นๆ, เคยมีพระภิกษุผู้รู้ธรรมได้เปรียบเอาต้นไผ่ไว้อย่างน่าฟัง ว่ามีลักษณะเหมือนผู้ที่ถึงพุทธะ สามารถอยู่อย่างสามัญธรรมดาได้ในทุกสถานการณ์
“ต้นไผ่อ่อนพลิ้วตามสายลมก็จริงอยู่ แต่ต้นไม้นี้ก็มีความมั่นคงเหนียวแน่มากในแต่ละลำ ไม่ว่าจะเป็นไผ่ชนิดใดอย่างไร ต่างก็เหมือนกันหมด แต่เมื่อผ่าลำต้นของไผ่ออกแล้ว ปรากฏว่าไม่มีอะไรในกอไผ่นั้นเลย กลับเป็นแต่เพียงข้อปล้อง ช่วงกลางโล่ง”
ผมใช้เวลาค่อนข้างมากทีเดียวในการศึกษาทำความเข้าใจแนวคิด Zen เพื่อค้นหาความแตกต่างจากพุทธศาสนา ก็พบว่าแก่นแท้เนื้อหาสาระเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว เพียงแต่นำเสนอแนะวิธีการบรรลุหลุดพ้น เข้าถึงสัจธรรมของโลก ด้วยหลักการที่แตกต่าง อันเกิดจากวิวัฒนาการข้อบกพร่องของยุคสมัยเท่านั้น, กล่าวคือถ้าคุณเป็นชาวพุทธแล้วมีความสนใจแนวคิดของ Zen ก็สามารถมุ่งศึกษาไปทางนั้นได้เลยนะครับ ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนศาสนา นอกคอกนอกรีตหรืออย่างไร ซึ่งกับบางคน แนวคิดแบบ Zen ถือปฏิบัติได้ง่าย ตรงใจกว่าด้วยซ้ำ
โดยทั่วไปแล้ว คนทั่วไปมักจะติดยึดอยู่กับความคิดเชื่อดั้งเดิมของตน ทำให้โอกาสแห่งการรับรู้สัจธรรมใหม่ลดลงไปมาก, ความยิ่งใหญ่ของ Zen อยู่ที่การทลายป้อมปราการอันแน่นหนาทางความคิดนี้ลงไป ย้ำนักย้ำหนาคืออย่ายึดติดกับสิ่งใด จงทำให้ความคิดมีความอิสระไหลเลื่อน แปรเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เสมอ
reference: http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2011/04/Y10481367/Y10481367.html
reference: http://www.chatchawan.net/2013/02/what-is-zen/
reference: http://zentale.blogspot.com/2011/04/blog-post.html
King Hu, หูจินเฉวียน (1932 – 1997) ผู้กำกับ/เขียนบท/นักแสดงสัญชาติจีน ได้รับสมญานามว่า ‘บิดาแห่งภาพยนตร์จีนกำลังภายในยุคใหม่’, เกิดที่ปักกิ่ง สาธารณรัฐจีน ตอนเด็กๆมีความชื่นชอบหลงใหลในงิ้ว (Beijing Opera) โดยเฉพาะเรื่องที่มี Martial Arts ผสมอยู่ด้วย อาทิ ไซอิ๋ว ฯ ย้ายมาอยู่ฮ่องกงตอนอายุ 18 เริ่มทำงานเป็นนักวาดภาพออกแบบโฆษณา จัดพลัดพลูได้เป็นนักแสดงหนังเรื่องแรก Humiliation (1954) เซ็นสัญญากับ Shaw Brothers ในฐานะนักแสดง นักเขียนบท ผู้ช่วยผู้กำกับหนังเรื่อง The Love Eterne (1963), The Story of Sue San (1964) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Sons of the Good Earth (1965) และผลงานลำดับที่สองเป็นแนว Wuxia เรื่องแรก Come Drink with Me (1966)
สไตล์การกำกับของ King Hu รับอิทธิพลมาจากความหลงใหลในงิ้วปักกิ่ง ทำการปรับประยุกต์วิธีการให้กลายเป็นภาพยนตร์ มี 2-3 อย่างที่สามารถสังเกตได้ อาทิ
– นักแสดงจะลีลาวาทะที่คมคาย การเคลื่อนไหวที่พร้อมเพียงเป็นจังหวะ
– เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แม้จะแต่หน้าไม่เข้มเท่าแต่มีความสมจริง เรียกว่า Costume Period
– เพลงประกอบ ใครเคยฟังงิ้วก็จะรับรู้ได้ ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนล้วนๆ
ฯลฯ
นอกจากนี้ King Hu ยังมีความสนใจใน ปรัชญา(ขงจื้อ), ธรรมชาติ(Zen), ศาสนา(พุทธ) และการเมืองของประเทศจีน ฯ ได้ทำการผสมคลุกเคล้าเข้าไป ทำให้หนังมีความลึกซึ้ง ลึกล้ำ และอยู่เหนือกาลเวลา
หลังจาก King Hu สร้าง Come Drink with Me (1966) เสร็จแล้ว ตัดสินใจทิ้ง Shaw Brothers ออกเดินทางจากฮ่องกงสู่ไต้หวัน ร่วมกับ Sha Rongfeng ก่อตั้งสตูดิโอ Union Film Company โดยมี Dragon Inn เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ตามมาด้วย A Touch of Zen ที่ใช้เวลาถึง 3 ปีเต็มกว่าจะถ่ายทำเสร็จสำเร็จ
ดัดแปลงจาก Xiá Nǚ (แปลว่า จอมยุทธหญิง) ตอนหนึ่งของ Strange Stories from a Chinese Studio รวมเรื่องสั้นสุดคลาสสิกอมตะของจีน ที่มักเกี่ยวกับ คน ผี ปิศาจ เทพ ฯ โดยผูซงหลิง (Pu Songling) แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง ช่วงประมาณปี 1740 ประเมินกันว่ามีกว่า 500 เรื่อง ปัจจุบันคงหลงเหลือไม่เท่าไหร่ คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จักในชื่อ โปเยโปโลเย
เกร็ด: เราสามารถเปรียบ โปเยโปโลเย ได้กับ พันหนึ่ง/อาหรับราตรี ฉบับรวมเรื่องผี แต่เหมือนว่าความยิ่งใหญ่จะเทียบไม่ได้สักนิด
เกร็ด 2: คำว่า โปเยโปโลเย คือบทสวดมนต์ของธิเบต ชื่อภาษาสันสกฤตแปลเป็นไทยได้ว่า ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร/ปัญญาบารมี (อธิบายง่ายๆก็คือ คำสวดคาถาไล่ผี)
พื้นหลังของหนังอยู่ในสมัยราชวงศ์หมิง (1368–1644) กู้เสิ่งไจ (Gu Shengzhai) บัณฑิตหนุ่มผู้ชื่นชอบจับพู่กันเขียนหนังสือวาดภาพ มีชีวิตที่เรียบง่ายไร้ความทะเยอทะยาน แต่ด้วยความชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องราวบ้าน ทำให้ได้พบเจอกับจอมยุทธ์สาว หยางฮุ่ยชิง (Yang Hui-zhen) ที่กำลังหลบหนีการตามล่าของกลุ่มขันทีผู้ชั่วร้ายกลับกลอก ทั้งสองได้ร่วมมือกันทั้งด้านบุ๋นและบู๋ วางแผนต่อสู้ทวงคืนความยุติธรรม
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น หยางฮุ่ยชิง ตัดสินใจละทิ้งความวุ่นวายทางโลก หันหน้าพึ่งใบบุญพุทธศาสนา อาศัยอยู่วัดตุงหลิน (Donglin Temple) บนเทือกเขาหลูซาน (Lushan) กับหลวงจีนฮุ่ยหยวน (Huiyuan) แต่ยังไม่วายมีเรื่องต้องกลับลงเขามา เพื่อจัดการกับภาระสุดท้ายทางโลก ช่วยเหลือกู้เลิ่งไจให้รอดพ้นจากการถูกจับกุมของมารตนสุดท้าย ชูเซียนเฉิน (Hsu Hsien-Chen)
เกร็ด: ในประวัติศาสตร์จริงๆ หลวงจีนฮุ่ยหยวน ผู้ก่อตั้งวัดตุงหลิน บนเทือกเขาหลูซาน มณฑลเจียงซี เผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายจิ้นถู่จง ส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธ นิกายมหายานของอินเดียโบราณ มีชีวิตอยู่ช่วงระหว่างปี 334 – 416, ในหนังถือว่าเป็นตัวละครสมมติไปนะครับ
Chun Shih, ชุนชิห์ (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติ Taiwanese โด่งดังกับ Dragon Inn (1967) ทำให้กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงกับหนังแนว Wuxia มีผลงานร่วมกับ King Hu อีกหลายเรื่อง อาทิ A Touch of Zen (1971), Raining in the Mountain (1979), Legend of the Mountain (1979) ฯ
กู้เสิ่งไจ บัณฑิตที่ดำเนินชีวิตด้วยหลักการพอเพียง อายุกว่า 30 ปียังไม่ได้แต่งงานเป็นฝั่งฝา (หาคู่ไม่ได้ด้วย) มีอาชีพเป็นนักเขียนหนังสือและวาดภาพเสมือน, ความเฉลียวฉลาดถือรอบรู้เป็นเลิศ แต่กลับชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องคนอื่น อาศัยอยู่กับแม่เหมือนเด็กที่ยังไม่โต มองชีวิตมนุษย์เหมือนเกมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงท้าทาย แต่แท้จริงยังถือว่าอ่อนประสบการณ์ต่อโลกนัก
วาทะของกู้เสิ่งไจ อ้างอิงมาจากปราชญ์ดังหลายคน ผมเลือกประโยคที่น่าสนใจมาแนะนำ
– Why should a sighted man take a blind man’s advice?
– In troubled times, I choose safety over jostling for rank and fame.
– It’s better to be wary of ghosts…
– Know thyself and victory is thine.
– A woman’s empathy is her weakness.
ฉากที่กู้เสิ่งไจหัวเราะร่ากับชัยชนะที่ได้มาจากแผนการของเขา มันคือความผยองในความโง่เขลาของตนเอง แต่ไม่นาน(ด้วยสติปัญญาของตนเอง)ก็สามารถรับรู้สึกตัว นี่ไม่ใช่เรื่องตลกเลยนะ เพราะมันคือชีวิตมนุษย์ที่สิ้นสูญ ความตายมิใช่เรื่องน่าหัวร่อแม้แต่น้อย
การแสดงของชุนชิห์ ผมว่าลึกล้ำทรงพลังยิ่งกว่า Dragon Inn เสียอีก โดยเฉพาะสายตา-สีหน้า-เสียงหัวเราะ ที่ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาจากภายในได้อย่างชัดเจน, ช่วงแรกกับความชอบสอดรู้สอดเห็น สายตาเต็มไปด้วยความใคร่สงสัย, ขณะหัวเราะร่า ดวงตาก็อิ่มเอมสุขใจ, แต่พอตระหนักได้ถึงความจริง ร่างกายก็อ่อนล้าหมดเรี่ยวแรง ออกเดินอย่างระหองระแหง ราวกับจิตวิญญาณไม่อยู่กับเนื้อกันตัว, และสุดท้ายกับสิ่งที่ได้กลับมา สายตาก็ยินยอมรับเพียงพอแล้ว
Hsu Feng, สีว์เฟิง (เกิดปี 1950) นักแสดง/โปรดิวเซอร์ สัญชาติ Taiwanese เกิดที่กรุงไทเป เป็นลูกสาวคนโตในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน ทำให้ตอนอายุ 15 ต้องเริ่มออกหาเงินเพื่อจุนเจือครอบครัว ได้รับบทเล็กๆในหนังของ King Hu เรื่อง Dragon Inn (1976) จนได้รับบทนำในหนังเรื่องถัดมา A Touch of Zen และอีกหลายเรื่อง In The Fate of Lee Khan (1973), The Valiant Ones (1975), Raining in the Mountain (1979) ผลงานการแสดงอื่นที่โดดเด่น ถึงขนาดคว้ารางวัล Golden Horse Award: Best Actress มีถึง 2 เรื่อง Assassin (1976) และ The Pioneers (1980)
สีว์เฟิง รีไทร์จากวงการภาพยนตร์เมื่อปี 1981 แต่ก้าวขึ้นมาเป็นโปรดิวเซอร์ดูแลงานสร้างอยู่เบื้องหลัง มีผลงานที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง อาทิ Red Dust (1990), Five Girls and a Rope (1992), Farewell, My Concubine (1993) [หนังรางวัล Palme d’Or เรื่องแรกของประเทศจีน], Red Firecracker, Green Firecracker (1994), Temptress Moon (1996) ฯ นอกจากนี้ ยังเคยได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของเทศกาลหนังเมือง Berlin ปี 1994 และเทศกาลหนังเมือง Venice ปี 2004
จริงๆเราสามารถมองได้ว่า สีว์เฟิงรับบทบาทต่อจาก Dragon Inn เพราะทั้งสองเรื่องมีพื้นหลังคล้ายกันมาก โดยเรื่องนั้นตัวละครของเธอเป็นลูกสาวของนายพล Yu ที่ถูกฆ่าทรมานโดยขันทีโฉด ทำให้ต้องถูกขับไล่ลี้ภัยออกนอกประเทศ กับเรื่องนี้(เปลี่ยนสกุลเป็น Yang) เริ่มต้นมาถึงที่วัดตุงหลิน อาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ถึงสองปี แต่ก็ไม่รู้ทำไมถึงตัดสินใจกลับลงมาสู่โลก
หยางฮุ่ยชิง หญิงสาวที่มีวิทยายุทธใช้ได้ หลบซ่อนตัวอยู่ใน Fort Jinglu อดีตบ้านพักของนายพล Cheng Yuan ที่ปัจจุบันรกร้างไม่มีใครอาศัยอยู่ ซึ่งติดกับบ้านของกู้เสิ่งไจ, ด้วยน้ำใจที่แม่ของชายหนุ่มมีให้ต่อเธอ รำพันอยากให้แต่งงานกับลูกชาย แต่เพราะเธอไม่มีอะไรติดตัวจะตอบแทนได้ จึงได้ตัดสินใจมอบร่างกายให้กู้เสิ่งไจ ในค่ำคืนพระจันทร์เต็มด้วง ท้องและคลอดลูกส่งมอบให้เป็นทายาทตระกูลกู้
ฟังดูเป็นสิ่งที่บ้ามาก แต่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพื่อเป็นการตอบแทนกับที่กู้เสิ่งไจ (และแม่) ได้ช่วยเหลือให้เธอแก้แค้นสำเร็จ และยังคงมีชีวิตอยู่ บุญคุณนี้ทดแทนยังไงคงไม่หมด แต่เพราะเธอได้ตั้งสัจจะมั่นไว้ตั้งแต่แรก (ว่าหลังหมดธุระจากโลก จะบวชตัดละทางโลก) จึงไม่สามารถเป็นภรรยากับกู้เสิ่งไจได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็มอบบุตรชายให้สืบสกุลต่อไปได้
การแสดงของสีว์เฟิง เข้มแข็ง หนักแน่น ทรงพลังอย่างยิ่ง ผมสังเกตว่าเธอไม่เคยยิ้มเลยนะครับ คิ้วขมวดแทบจะตลอดเวลา แสดงว่าข้างในจิตใจเต็มไปด้วยความเคียดคับแค้น ต้องการล้างแค้นใจจะขาด แต่เพราะได้รับคำสั่งสอนแนะนำยับยั้งจากหลวงจีนฮุ่ยหยวน จึงยังสามารถควบคุมตัวเองให้มีสติอยู่ได้
ผมชอบสุดก็ตอนสีว์เฟิง ขับร้องเล่นขิม/จะเข้ ท่ามกลางแสงจันทร์ เพราะเป็นฉากที่สวยงามโรแมนติกมาก ผมเองก็คาดไม่คิดถึงว่าจะลงเอยด้วยการ…
Roy Chiao (1927 – 1999) นักแสดงสัญชาติจีน เกิดที่เซี่ยงไฮ้ อพยพมาเป็นนักแสดงที่ฮ่องกง เคยโกอินเตอร์รับบทตัวร้ายรองใน Indiana Jones and the Temple of Doom (1984) และปะทะ Jean-Claude Van Damme หนังเรื่อง Bloodsport (1988)
รับบทหลวงจีนฮุ่ยหยวน ผู้ก่อตั้งวัดตุงหลิน น่าจะบรรลุถึงอรหันตผลแล้ว เลือดที่ไหลจึงไม่ใช่สีแดงแต่เป็นสีทอง ด้วยเหตุนี้ผลกรรมของผู้ที่กระทำพระอรหันต์ตกเลือด จึงมุ่งตรงสู่ขุมนรกโดยทันที เห็นภาพกลับสี (Invert Colors) เห็นลูกน้องนึกว่าเป็นศัตรู แล้วกระโดดตกลงสู่พื้นดินเสียชีวิตด้วยตนเอง
ต้องถือว่า Roy Chiao ได้สร้างภาพลักษณ์ของหลวงจีนวัดเส้าหลิน วิทยายุทธเหนือล้ำ ให้กลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในหนังของ Shaw Brothers ในช่วงเวลาต่อๆมา ถึงขนาดบรูซ ลี ยังต้องอัญเชิญไปรับบทหลวงจีนวัดเส้าหลินไม่ได้เครดิตในหนังเรื่อง Enter the Dragon (1973)
สำหรับนักแสดงที่รับบทตัวร้าย ที่ต้องพูดถึงให้ได้คือ Han Ying-chieh รับบท ชูเซียนเฉิน (Hsu Hsien-Chen) กับคำพูดที่ว่า ‘A man cannot compromise.’ ลูกผู้ชายไม่สามารถประณีประณอมได้ เพื่อจับผู้ต้องหากระทำความผิดไปลงโทษ ไม่สนว่าจะต้องทำอย่างไร โกหกปลิ้นปล้อนหลอกลวง ทำร้ายพระสงฆ์เจ้าตกเลือก เพราะเหตุนี้โลกจึงมิอาจแบกรักให้อภัยกับชายผู้นี้ได้
ผมประทับใจการแสดงของ Han Ying-chieh ตั้งแต่ The Big Boss (1971) และก็ได้เห็นวนเวียนรับบทตัวร้ายอย่างต่อเนื่องใน Come Drink with Me (1966), Dragon Inn (1967) ฯ แต่ต้องถือว่าใน A Touch of Zen ตัวร้ายนี้เลวบัดซบ ให้อภัยไม่ได้ที่สุดแล้ว ผลกรรมก็ตามสมควรอย่างสาแก่ใจ
ถ่ายภาพโดย Hui-Ying Hua ตากล้องยอดฝีมือในตำนานของไต้หวัน ที่ได้ร่วมงานกับ King Hu ตั้งแต่ Dragon Inn (1967) และหนังเรื่องนี้ใช้เวลา 3 ปีเต็ม กับ Eastmancolor ฟีล์ม 70 mm จนสามารถคว้ารางวัล Technical Grand Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
ขอเริ่มจากช็อตแรกของหนังก่อนแล้ว, ผีเสื้อ/แมลง ติดกับหยากไย่ใยแมงมุม ก็เหมือนกับมนุษย์ที่ติดกับอยู่ในวงเวียนวัฏสังสาร ถ้าสามารถดิ้นหลุดได้ก็มีโอกาสถึงทางบรรลุหลุดพ้น
ฉากถัดมาก็พระอาทิตย์ขึ้น Lens Flare ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ภูเขา (หนักแน่น) ลำธาร (ชีวิต) ดอกหญ้า (ความธรรมดา/พื้นฐาน) ฯ จากนั้นจะเป็นภาพของ Fort Jinglu ที่เป็นซากปรักหักพัก มีนัยยะเป็นการแสดงทัศนะว่า โลกมนุษย์ใกล้ถึงกาลจบสิ้นถ้าไม่หันหน้าเข้าธรรมชาติ/ศึกษาหลักของ Zen
Fort Jinglu อดีตบ้านพักของนายพล Cheng Yuan มีสภาพปรักหักพัง เรียกได้ว่าเป็นบ้านผีสิง ตอนแรกที่กู้เสิ่งไจเดินเข้าไป พกตะเกียงไปด้วยเป็นแสงสว่างนำทางเล็กๆ การสำรวจความมืดประหนึ่งการค้นหาสัจธรรมความจริง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเดินสะดุดโน่นนี่นั่นไฟดับมองอะไรไม่เห็น คลำหาทางออกในความมืด … นี่กำลังพูดถึงมนุษย์ที่ไร้ศาสนาอยู่หรือเปล่าเนี่ย
กู้เสิ่งไจ ท่ามกลางต้นหญ้า เขาคือบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป ที่มีความอยากรู้อยากเห็น
เผชิญหน้ากับหยากไย่ใยแมงมุม แปลว่า กู้เสิ่งไจ ยังคงยึดติดกับโลกใบนี้อยู่สินะ
ผมจะข้ามๆไปบ้างนะครับ คงไม่เขียนถึงทุกฉาก (แต่ก็คงหลายฉากอยู่) กับที่ผมประทับใจที่สุด ค่ำคืนร่วมรักของ กู้เสิ่งไจ กับ หยางฮุ่ยชิง, ผมค่อนข้างเชื่อว่าหลายคนอาจไม่เข้าใจฉากนี้ เพราะมันมีแค่โถมกอดเข้าหากันแล้วก็ตัดไปกลางวันเลย … แค่นี้และครับตีความได้ว่า คนสองคนร่วมรักกัน ถ้ามีมากกว่านี้เชื่อว่าคงไม่ผ่านกองเซนเซอร์หัวโบราณของประเทศจีนแน่ๆ
มันจะมีวินาทีหนึ่ง ขณะที่ฟ้าแลบ/ฟ้าผ่า ก่อนที่ทั้งสองจะโถมตัวเข้าหากัน ใบหน้าของกู้เสิ่งไจ ฉายด้วยเงาของสิ่งที่มีลักษณะเหมือนกรง มีนัยยะว่า การกระทำนี้ (ร่วมรัก) ได้ทำให้ชายหนุ่มถูกคุมขังอยู่บนโลกใบนี้ถาวร ยังไม่สามารถหาทางออกหลุดพ้นได้ในชาตินี้
ไฮไลท์แรกของหนัง, ฉากต่อสู้ในป่าไผ่ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) และ House of Flying Daggers (2004) ความโดดเด่นของซีนนี้อยู่ที่การตัดต่อ เพราะมีการต่อสู้สองคู่ ทำให้ต้องตัดสลับไปมาโดยพร้อมเพียง และมีการปีนขึ้นต้นไผ่ กระโดดลงมา (แต่ยังไม่ถึงระดับบนยอดไผ่)
ต้นไผ่กับลัทธิ Zen ผมได้เกริ่นไปตั้งแต่ต้นแล้ว มีนิทานปริศนาธรรมหนึ่งมาเล่าให้ฟัง ลองไปคิดตีความหมายเอาเองนะครับ
เรียวกันเป็นพระที่เรียบง่าย รักธรรมชาติ ปลูกกระท่อมหลังน้อยอยู่บนภูเขา วันหนึ่งสังเกตเห็นต้นไผ่เล็กๆต้นหนึ่งงอกขึ้นมาภายในกระท่อม ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพลัดหลงเข้ามาอย่างไร ด้วยความตื่นเต้นต่อสิ่งที่ได้ค้นพบมาก ท่านได้เฝ้าถนอมดูแลต้นไผ่ต้นนั้นอย่างดี จนกระทั่งมันเติบโตขึ้นสูง จนหลังคากระท่อมจะเตี้ยเกินไปสำหรับมัน ในที่สุดเรียวกันก็ตัดหลังคาออกเป็นช่องเพื่อให้ยอดไผ่ได้งอกออกต่อไปได้ แทนที่จะรักษาหลังคาไว้แล้วตัดต้นไผ่ทิ้ง, การกระทำของหลวงพ่อเรียวกัน มีนัยยะสื่อถึงอะไรกัน?
ไฮไลท์ที่สอง, บ้านผีสิงภาค 2 ใน Fort Jinglu คราวนี้บุคคลที่ต้องต่อสู้กับเหล่าผีคือขันทีผู้ไม่มีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เมื่อลูกน้องคนสนิทรอบข้างต่างถูกฆ่าเสียชีวิตไปหมดจนเหลือตัวคนเดียว ก็ต้องทำใจสู้เสือ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
ผมเลือก 2 ช็อตที่เป็นการแพนกล้องต่อเนื่องกัน
– หนึ่งคือลำแสงสีทอง/สีอุ่น สาดส่องออกมาจากในบ้าน
– และสองแสงสีน้ำเงิน/สีเย็น ส่งตรงจากพระจันทร์
ระหว่างความเป็นกับความตาย ขันทีคนนี้ต้องเลือกเอาสักอย่าง, คือถ้าถอยหนีกลับไปทางพระจันทร์ คงพบแต่เรื่องอับอายขายหน้าขมขื่น แต่ถ้าบุกฝ่าตรงเข้าไปใน ก็อาจพบเจอกับปริศนาความจริงของสถานที่แห่งนี้
ไฮไลท์ที่สาม, การต่อสู้ระหว่างหลวงจีนกับชูเซียนเฉิน นี่น่าจะเป็นฉากที่ใช้เวลาถ่ายทำนานมากๆ เพราะต้องรอช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์สาดแสงในตำแหน่งที่เหมาะสม เพราะจะเห็นว่า
– ช็อตของบรรดาหลวงจีน มักจะมีมุมกล้องที่เห็นพระอาทิตย์สาดส่องตรงศีรษะ
– ขณะที่ตัวร้าย มุมกล้องจะหันหลังให้กับพระอาทิตย์ (ด้านตรงกันข้ามกับฝั่งหลวงจีน)
พระอาทิตย์ คือเป้าหมายปลายทาง หลักชัยของการหลุดพ้นหรือแสงแห่งธรรม, เราสามารถตีความได้ว่า
– ช็อตของหลวงจีน เห็นพระอาทิตย์อยู่ด้านหลัง มีความหมายถึง บุคคลที่บรรลุหลุดพ้น เห็นแสงแห่งธรรม
– ช็อตของตัวร้าย อยู่ตรงกันข้าม จึงหมายถึงยังห่างไกล มองไม่เห็น
ชูเซียนเฉิน จะถูกกลุ่มของหลวงจีนกระทำ 2 อย่าง คือ
1. ถอดเสื้อผ้าเห็นชุดภายใน หมายถึง การทำลายเปลือกภายนอกภาพมายา เพื่อให้เปิดเผยตัวตนที่อยู่ข้างใน
2. มัดด้วยเชือกสี่ด้าน ผู้กิเลสติดไว้กับเสาไม้ โดยหวังว่าจะสามารถหาทางดิ้นหลุดได้ด้วยตนเอง (ที่ต้อง 4 ด้าน คงคือวิธีจัดการกับกิเลส พรหมวิหาร ๔)
น่าเสียดายที่ทำถึงขนาดนี้แล้วก็ยังไม่รู้สึกนึกตัว คงมีแต่จอมมารอมนุษย์เท่านั้นถึงปฏิเสธต่อต้านแนวคิดของพุทธศาสนาได้ถึงเพียงนี้
ขอปิดท้ายด้วย Abstract Shot สามภาพสุดท้าย ถือว่าเป็นปริศนาธรรมของ Zen เลยนะครับ, หลวงจีนฮุ่ยหยวนนั่ง/ยืน โดยมีพระอาทิตย์ดวงกลมด้วยหลังสาดส่องเห็นแต่เงามืด
ภาพนั่งแล้วชี้นิ้ว (เหมือนจะชี้ไปที่วัดตุงหลิน) ปริศนาธรรมข้อนี้ ไม่ได้แปลว่า ให้มุ่งไปสู่หรือแนะนำให้หาหนทางหลุดพ้นนะครับ (เพราะถ้าชี้แนะนำให้หลุดพ้น ควรจะชี้ตรงไปที่พระอาทิตย์ ไม่ใช่ชี้ไปที่วัด) การชี้ของ Zen ไม่ได้แปลว่าเป็นการชี้ชักนำ แต่มีความหมายถึงวิธีการ (ย้อนกลับไปอ่านทำความเข้าใจ “ไม่สอนโดยตรง” ดูนะครับ)
ภาพ Invert Color ช็อตนี้ คือการคิด/มอง โลกในมุมกลับตรงกันข้าม ไม่ใช่เห็นผิดเป็นชอบแบบที่ชูเซียนเฉินกลายเป็น แต่คือ “ไม่อิงหนังสือ” สิ่งที่เรามองเห็นรับรู้อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่ให้ “รู้แจ้งในใจ”
และช็อตสุดท้ายของหนัง หลวงจีนยืนขึ้น “เห็นธรรมเป็นอรหันต์” เมื่อนั่งอยู่ประหนึ่งการกำลังครุ่นค้นหา แต่พอยืนขึ้นก็แปลว่าฉันได้ค้นพบทางออกของชีวิตแล้ว/เข้าถึงธรรม บรรลุ หลุดพ้น อรหัตมรรคผล
ตัดต่อโดย King Hu และ Wing Chin-chen, เดิมนั้นหนังแบ่งออกเป็น 2 ภาค ออกฉายปี 1970 และ 1971 (ตัดแบ่งตรงจบฉากต่อสู้ในป่าไผ่) รวมเวลาทั้งสองภาค 200 นาที แต่เนื่องจากได้เสียงตอบรับไม่ดีเท่าไหร่กับผู้ชมในฮ่องกง ผู้กำกับเลยตัดสินใจผนวกรวมตัดส่วนซ้ำออกจนเหลือ 187 นาที กลายเป็นภาพยนตร์ Wuxia ระดับ Epic ออกฉายที่เทศกาลหนังเมือง Cannes ถือว่ายาวมากๆสำหรับแนวนี้ แต่เสียงตอบรับดีเยี่ยมล้นหลาม
มุมมองของหนัง ถือได้ว่าเป็นของกู้เสิ่งไจทั้งหมด เริ่มต้นจากความสอดรู้สอดเห็น มุมกล้องหลายครั้งจะแทนสายตาและปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เห็น แต่ก็มี 2 ครั้งที่เป็นการย้อนอดีตของหยางฮุ่ยชิง และช่วงท้ายที่เธอได้ต่อสู้กับชูเซียนเฉิน แต่เราสามารถมองได้ว่า กู้เสิ่งไจ ยังคงอยู่ในบริเวณนั้นไม่ไกล แอบเฝ้ามองอยู่ห่างๆ
เชื่อว่าอาจมีหลายคนหลับสบายขณะรับชมหนังเรื่องนี้ และคิดว่า Zen ที่ดีต้องสามารถทำให้หลับฝันดี, จริงๆไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลยนะครับ เพราะหนังเน้นนำเสนอภาพให้เราเห็นมากกว่าการพูดพร่ำทำเพลงเรื่อยเปื่อย คือผู้ชมต้องสังเกตอากัปกิริยาของตัวละคร สายตา สีหน้า การเคลื่อนไหว แสดงออก และปฏิกิริยา ซึ่งล้วนแต่มีความชัดเจน สามารถอ่านได้ (ถ้าคุณอ่านเป็น) ด้วยเหตุนี้มันจึงมีความเชื่องช้าชวนหลับฝันดี
กระนั้นฉากการต่อสู้ต้องบอกว่า มีความรวดเร็วฉับไวขึ้นกว่า Come Drink with Me (1966) และ Dragon Inn (1967) เป็นอย่างมาก คงจะด้วยประสบการณ์และบทเรียนที่มีมากขึ้น ทำให้ King Hu สามารถปรับประยุกต์ พัฒนาต่อยอดเทคนิคของตัวเองให้มีความน่าสนใจยิ่งๆขึ้น
แต่ไฮไลท์ที่ King Hu แทรกเข้ามาในการตัดต่อ คือนำเสนอปริศนาธรรม ด้วยภาพ Abstract Shot, ตอนที่หลวงจีนใช้วิชาตัวเบา กระโดดเหาะลงมาแตะปลายยอดหญ้า (ตัวเองอยู่สู่กว่าคนสามัญ) จะมีการสโลโมชั่น และแทรก 3-4 ภาพเข้ามา อาทิ เขย่าต้นไผ่, เขย่าต้นหญ้า, แสงอาทิตย์สะท้อนผิวน้ำระยิบระยับ ฯ เหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นถึง ผู้บรรลุธรรมเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นฟ้า สะเทือนเลือนลั่นโลกา เพื่อปราบจอมมารของแผ่นดิน
เพลงประกอบโดย Wu Ta-chiang และ Lo Ming-tao, หนังจะไม่ได้มีแค่เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนบรรเลงเล่นบทเพลงงิ้วทั้งหมดแบบสองเรื่องก่อนอีกต่อไป ครานี้จะมีการร้องประสานเสียง และเสียงกระดิ่ง (หรือ Triangle) โดยเฉพาะฉากที่มีหลวงจีนช่วงท้ายของหนัง สร้างความขนลุกขนพองไม่น้อย
คล้ายกับเสียงสวดมนตร์ที่มีความขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง กอปรกับภาพสะท้อนแสงจากพระอาทิตย์ สวยงามราวกับปาฏิหารย์ ตัวร้ายในหนังเห็นแล้วแสบตา (เพราะเขาเป็นฝ่ายมืด/ฝ่ายอธรรม จึงมักทนมองเห็นแสงจ้าไม่ค่อยจะได้) ถือได้ว่าบทเพลงมีความสอดคล้องรับเข้ากับงานภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบ
กับคนที่เคยรับชม Dragon Inn มาก่อน จะรู้สึกว่าเรื่องราวแอบมีความต่อเนื่องกัน (อย่างจงใจก็ว่าได้) แม้ชื่อตัวละครจะเปลี่ยน แต่พื้นหลังอะไรหลายๆอย่างมีความคล้ายคลึงกันยิ่ง, เหล่าขันทีผู้โลภมาก ก็ไม่รู้มีความหวาดระแวง เกลียดแค้นอะไรกับศัตรูคู่อริมากขนาดนั้น เมื่อจัดการกับบิดาพ่อผู้นำตระกูลแล้ว ก็วางแผนฆ่าล้างยกโคตรทั้งครอบครัว สายเลือดนี้ถ้าไม่ตายหมดสิ้น ก็อย่างหวังสันติสุขจะเกิด (คงเพราะตัวเองเป็นขันทีไร้ผู้สืบทอดแน่นอน จึงมีแนวคิดความต้องการตัดน้ำตัดไฟตั้งแต่ต้นลม)
การที่หยางฮุ่ยชิง หนี้เข้ามาพึ่งพิงใบบุญของพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นในเมืองไทยละก็ ผมเชื่อว่าต่อให้เคียดแค้นเกลียดขี้หน้าอยากฆ่าให้ตายถึงขนาดไหน พอหนีไปบวชก็มักไม่มีใครคิดกล้ากระทำการอะไรรุนแรงกลัวบาปตกนรก (แต่อย่าสึกออกมานะ แค้นจะถูกชำระในเร็ววันทันที) กับหนังเรื่องนี้ เพราะดำเนินเกิดขึ้นในประเทศจีน ศรัทธาความเชื่อในศาสนาแม้จะคล้ายคลึงแพร่หลายแต่ไม่ได้มีค่านิยมเหมือนกับประเทศเรา เหตุการณ์ลักษณะนี้จึงกลายเป็น บวชเป็นพระแล้วไง? เคยทำความผิดอะไรมาก็ต้องชดใช้ให้สาสม พระควรที่จะอยู่ส่วนพระ คนก็อยู่ส่วนคน อย่ามายุ่งย่างก้าวก่ายซึ่งกันและกัน
ใจความแฝงต่อยอดจาก Dragon Inn เมื่อเจียงไคเช็กอพยพลี้ภัยหนีมาอยู่กรุงไทเป ไต้หวัน ห่างไกลสาธารณรัฐประชาชนจีนขนาดนั้นแล้ว ยังมีเหตุอันใดให้ทางการจีนต้องออกติดตามล่า ฆ่าล้างโคตรเผ่าพันธุ์กันอยู่อีก, การเปรียบเทียบของ King Hu ประหนึ่งว่า การกระทำของสาธารณรัฐประชาชนจีน คือบาปกรรมความชั่วร้ายระดับขั้นรุนแรงที่สุด กับคนที่ไม่หลงเหลือ ไม่ได้ต้องการย้อนกลับไปทำอะไรอีกแล้ว เหตุใดถึงยังกลับต้องถูกตามล่าเพื่อชดใช้กรรม เรื่องพรรค์นี้ปลดปล่อยให้อภัยกันไม่ได้เลยหรือไง
เป้าหมายสูงสุดของ Zen และพุทธศาสนาคือการหลุดพ้นออกจากวัฏสังสาร, การให้อภัย ขอโทษ อโหสิกรรม ถือว่าเป็นสาระสำคัญหนึ่ง ไม่ใช่แค่กับศัตรูหมู่มิตรมาร แต่ยังรวมถึงตัวเองที่อาจได้เคยกระทำกรรมอะไรไว้ในอดีต รับไม่ได้กับตัวเอง รู้สึกผิดพลาด ลงโทษตัวเอง … อภัยทานถือเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับเข้าใจตนเอง ซึ่งการสามารถกระทำเช่นนี้ได้ จักทำให้เราเรียนรู้จัก สัมผัส Zen (A Touch of Zen) และเข้าสู่วิถีของการหลุดพ้นได้
“อภัยทานัง อามิสทานัง ชินาติ”
แปลว่า “การให้อภัยทานย่อมชนะเสียซึ่งการให้ทั้งปวง”
คำว่า ทาน แปลว่า การให้, มีอยู่ 2 อย่างด้วยกันที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
1. การให้สรรพสิ่งของต่างๆ อย่างนี้เรียกว่า อามิสทาน ได้แก่ การให้วัตถุ เงินทองของมีค่า สิ่งของเครื่องใช้ อุปโภคบริโภค ฯ
2. การบอกธรรม ชี้เหตุชี้ผล ให้คนรับรู้ด้วยตนเองว่าอะไรดีอะไรชั่ว อย่างนี้เรียกว่า ธรรมทาน
ทานทั้งสองอย่างนี้มีผลต่างกัน อามิสทานให้ผลอย่างสูงก็แค่กามาวจรสวรรค์ ตามนัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ‘ทานัง สังคคโส ปาณัง’ การให้ทานย่อมเป็นปัจจัยบันไดไปสู่สวรรค์, แต่สำหรับ ธรรมทาน ให้ธรรมเป็นทานหรือให้อภัยทานก็ดี ทั้งสองประการนี้เป็นปัจจัยหนทางแห่งพระนิพพาน
อภัยทาน คือ การสละอารมณ์โกรธเป็นทาน ให้อภัย ไม่จองเวร พยาบาทให้ขาดออกจากใจ เป็นทานประเภทที่ไม่ต้องลงทุนด้วยวัตถุ เรียกว่า ปรมัตถทาน แต่ถือว่าเป็นทานประเภทสูงสุด, พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ‘ใครเป็นผู้มีอภัยทานประจำใจ คนนั้นก็เป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว’ คำว่า ปรมัตถบารมี คือบารมีสูงสุดที่จะทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงซึ่งกระแสของพระนิพพาน
reference: http://www.baanmaha.com/community/threads/48215-การให้อภัยทาน(ธรรมทาน)ย่อมชนะเสียซึ่งทานทั้งปวง
ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถตีความช่วงท้ายของหนัง เมื่อหลวงจีนฮุ่ยหยวนได้ยกโทษให้อภัยแก่ชูเซียนเฉิน ทั้งๆที่หมอนี่โฉดชั่วร้ายเลวทรามต่ำช้าปลิ้นปล้อนกลับกรอก นั่นทำให้เกิดสภาวะของการหลุดพ้น ถูกแทงแล้วเลือดเป็นสีทอง นี่มองได้ว่าเป็นการตีความการหลุดพ้น อรหัตผลของผู้กำกับ King Hu เป็นยังไงละครับ โคตรทะเยอทะยานเลยละ
ตอนที่หนังออกฉายครั้งแรกในปี 1971 ที่ฮ่องกงและไต้หวัน แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ชมเท่าที่ควร (น่าจะเพราะดูไม่รู้เรื่อง และหนังแบ่งออกเป็น 2 ภาค ยาวเกินไป) จนเมื่อภายหลังในปี 1975 เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Technical Grand Prize ซึ่งนับเป็นภาพยนตร์จากจีนเรื่องแรกที่ได้รับการยอมรับในสายตาชาวโลก จึงเริ่มได้รับความสำคัญในเวลาต่อมา
A Touch of Zen เป็นหนังที่ทำให้ผมเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้อย่างมาก เคยรับชมมาหลายรอบแล้วละ แต่เมื่อปีก่อนที่รู้สึกเฉยๆ คงเพราะอยู่ในช่วงกำลังมึนงงสับสนชีวิต ทำให้ไม่สามารถทำความเข้าใจหนังได้เท่าไหร่, กับรอบนี้ต้องบอกว่า ผมสามารถเข้าใจภาษาภาพยนตร์ของหนังได้แทบทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง มันอาจมีความ Abstraction ในความเข้าใจของคนชาวตะวันตก แต่กับชาวตะวันออกอย่างเราๆ เชื่อว่าหลายอย่างน่าจะพอเข้าใจได้ทันทีว่ามีนัยยะสื่อถึงอะไร ยิ่งกับชาวพุทธทั้งหลาย มันมีสิ่งที่ลึกซึ้งสวยงามยิ่งกว่า งานภาพ การตัดต่อ เพลงประกอบ และเรื่องราว นั่นคือจิตวิญญาณ เป้าหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต, ดูหนังเรื่องนี้จบ คุณอาจบรรลุแนวคิดเบื้องต้นของ Zen เลยก็เป็นได้
เกือบแล้วที่จะกลายเป็นหนังเรื่องโปรด ถ้าเพียงผู้กำกับ King Hu ไม่บ้าการเมืองและแฝงแนวคิดเสียดสีต่อต้านที่รุนแรงเยอะขนาดนี้ ก็คงได้เข้าเป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นของผมแน่
แนะนำกับคอหนังจีน ต่อสู้ฟันดาบ กำลังภายใน Wuxia, ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย ตากล้อง นักตัดต่อ, นักคิดนักปรัชญา Zen และพุทธศาสนา, ชื่นชอบผู้กำกับ King Hu, และนักแสดงดังอย่าง Chun Shih, Hsu Feng, Ying Bai ไม่ควรพลาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ชอบดูงิ้ว เห็นจังหวะการเคลื่อนไหวและเพลงประกอบของหนังแล้ว สัมผัสได้หรือเปล่าว่าหนังได้อิทธิพลมา
จัดเรต 13+ กับความรุนแรงของการต่อสู้ และความตาย
TAGLINE | “A Touch of Zen สัมผัสแห่งการหลุดพ้นของ King Hu ผลงานระดับ Masterpiece ที่สวยงาม ตราตรึง ลึกซึ้ง ไร้เทียมทาน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
A Touch of Zen (1971)
(20/1/2016) ผลงาน masterpiece ของปรมาจารย์หนังจีน King Hu ชื่อจีนคือ Xia nu เป็นหนังแนว Wuxia (ต่อสู้-กำลังภายใน) ตอนผมดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกบอกเลยว่าดูไม่รู้เรื่อง หนังยาวกว่า 3 ชั่วโมงเรื่องนี้ทำเอาผมสัปหงกอยู่หลายรอบ ตอนจบที่อะไรว่ะ บรรลุแล้วเหรอ มาดูครั้งล่าสุดนี่เข้าใจแล้วว่าหนังเล่าอะไร นี่เป็นหนังที่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องต่างจากหนังจีนทั่วๆไปในยุคนั้นอย่างชัดเจนมากๆ คงเพราะจุดนี้หลายสำนักจัดให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยอดเยี่ยมที่สุด
หนังเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1968 แต่มาได้ฉายเอาจริงๆก็ตอน 1970-1971 ได้ฉายใน Cannes Film Festival ปี 1975 และได้รางวัล Technical Grand Prize แต่ไม่ได้ Palme d’Or ในรอบ 100 ปีของวงการภาพยนตร์จีน นิตยสาร Times จัดอันดับหนังยอดเยี่ยม 4 เรื่อง ซึ่ง A Touch of Zen คือ 1 ในนั้น ช่วงท้ายของหนังที่เป็นฉากต่อสู้ในป่าไผ่ เป็นแรงบันดาลใจให้กับหนัง Crouching Tiger, Hidden Dragon ของ Ang Lee และ House of Flying Daggers ของ Zhang Yimou
นำแสดงโดยนักแสดงของประจำของ King Hu เริ่มจาก Shih Jun บุคคลิกของเขาคล้ายๆกับตัวละครที่เขาเล่นใน Dragon Inn มาก Hsu Feng ที่เล่นเป็นตัวเอกหญิง ตัวละครนี้มีความขัดแย้งในตัวเองชัดมาก เพราะเธอก้าวขาข้างหนึ่งไปในวิถี Zen แล้ว แต่การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทางดูแล้วเธอยังยึดติดทางโลกอยู่มาก ดูก็รู้ว่าเธอยังมีความโกรธ เคียดแค้น และต้องการล้างแค้นอยู่ตลอดเวลา อีกหนึ่งตัวละครที่ต้องพูดถึงเลยคือตัวร้าย Han Ying-chieh ที่เล่นเป็น Hsu Hsien-chen ช่วงท้ายๆนี่พี่แกผมชอบมากๆ เป็นนักสู้ที่เก่งที่สุดในเรื่อง และการแสดงของพี่แกสามารถหลอกหลวงจีนให้เข้าใจผิดได้ ซึ่งผมก็ถูกหลอกให้เข้าใจผิดเหมือนกัน อีกตัวละคร หลวงจีนที่เล่นโดย Roy Chiao คนนี้ดังนะครับ ได้เล่นหนังเรื่อง Indiana Jones and the Temple of Doom ด้วย
ถ่ายภาพโดย Hua Hui-ying ผมเชื่อว่าใครๆคงจำฉากพระอาทิตย์กับศีรษะของหลวงจีนได้ แต่หนังไม่ได้มีแค่นี้นะครับ ภาพวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม การค่อยๆเคลื่อนกล้องอย่างช้าๆ หรือตั้งกล่องไว้แล้วแพนกล้องไปมาให้เห็นบรรยากาศรอบๆ นี่เป็นเทคนิคที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ทำให้การถ่ายภาพของหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือการสร้างอารมณ์ให้กับการถ่ายแบบนั้น ฉากวิวทิวทัศน์ที่ดูแล้วผ่อนคลาย ฉากต่อสู้ที่ดูแล้วกดดัน การเล่นกับแสงและเงาทำให้เกิดความหวาดกลัว พิศวง
ตัดต่อโดย Wing Chin-chen และ King Hu ก็ตัดต่อด้วย ครึ่งแรกกับครึ่งหลังใช้เทคนิคต่างกันโดยสิ้นเชิงเลย ครึ่งแรกจะปล่อยให้ภาพเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ไม่ตัดหวือหวามาก แต่ครึ่งหลังเมื่อหนังเร่งความเร็วขึ้น การตัดต่อที่รวดเร็วฉับไว ฉากต่อสู้ที่สนุกมาก มุมมองการเล่าเรื่องก็เปลี่ยนไปด้วย จากที่ต้นเรื่องเป็นการเล่าผ่านมุมมองของพระเอก ช่วงกลางเป็นฝ่ายตัวร้าย และช่วงท้ายเป็นฝ่ายนางเอก เราต้องสังเกตหาเองนะครับว่าองก์ไหนใช้การเล่าเรื่องผ่านใคร เพราะหนังตัดต่อแบบไม่ง้อคนดูเลย เรื่องเวลาด้วย ถ้าสังเกตดีๆจะพบ Time Skip พอสมควร โดยเฉพาะนางเอกที่ไม่รู้นางไปท้องและคลอดลูกตอนไหน นั่นลูกของเธอกับพระเอกจริงหรือเปล่า มันมีจุดที่ทำให้เราสามารถตีความแบบนั้นได้นะครับ แต่จะใช่หรือไม่ ก็ไม่รู้เหมือนกัน
เพลงประกอบโดย Wu Ta-chiang และ Lo Ming-tao แค่การถ่ายแบบเคลื่อนกล้อง แพนกล้องอย่างเดียวไม่สามารถสร้างอารมณ์อะไรได้เลย ถ้าเสียงเพลงประกอบไม่ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นได้ เสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีน พิณ ขลุ่ย ปี่ กลองใหญ่ จัดเต็มมากๆ ฟังแล้วเหมือนบรรเลงของเครื่องดนตรีคลาสสิค ฉากต่อสู้เสียงตีกลองอลังการมากๆ เสียง chorus นี่สุดยอดมากๆ แถมจังหวะที่ chorus ดังขึ้นมา ถึงกับขนลุกก็หลายรอบทีเดียว
คงต้องพูดถึง Zen สักหน่อย ไม่รู้ผมเข้าใจถูกหรือเปล่านะ แต่นี่คือสิ่งที่ผมตีความจากหนัง Zen คือการปล่อยวาง ไม่ยึดติดต่อต่อการกระทำของตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ต่อประเทศ ในหนังนำเสนอเรื่องราวของตัวละครหนึ่งที่เป็น Cartographer เขาเป็นคนฉลาดแต่เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งๆที่ถ้าเขาไปสอบเป็นบัณฑิตคงสอบได้แน่ และได้เลื่อนขั้นสูงๆเงินเดือนดีๆ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ การได้ไปพบกับตัวละครต่างๆ ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย ทำให้เขาใคร่รู้ใคร่เห็น และอยากมีส่วนร่วม คงเพราะเขาแสวงหาความตื่นเต้นท้าทาย (ณ จุดนี้ผมคิดว่า พระเอกมองว่างานราชการเป็นงานที่น่าเบื่อ ไม่สามารถทำอะไรหรือตัดสินใจด้วยตัวเองได้) หนังใช้วิธีการนำเสนอครึ่งแรกคล้ายกับหนัง Mystery ค่อยๆไล่ภาพ แพนกล้อง ดนตรีจะเนิบๆ ผมเทียบกับหนังผี ที่ตัวละครมักจะค่อยๆเดินย่องๆเข้าไป สร้างบรรยากาศขนลุก และเมื่อผีมาก็ให้เราตกใจ … มันประมาณนี้เลยละครับ นานมากด้วย ไม่แปลกที่ผมดูครั้งแรกๆแล้วจะหลับเพราะเทคนิคนี้มันทำให้เรื่องดำเนินไปช้ามาก และทำให้หนังยาวเกินไปด้วย แต่เห็นว่าตอนหนังฉายแบ่งออกเป็น 2 ภาค ครึ่งแรกดูยืดๆก็คงเหตุผลนี้ อีกเหตุผลที่มองได้ (แบบแอบแถ) ก็คือนำวิถีของ Zen ให้กับคนดู คือ ไม่ต้องรีบ ใจเย็นๆ ปรับความรู้สึกให้ช้าลง เน้นการซึมซับ … เอิ่ม
ครึ่งหลัง เมื่อผ่านจุดๆหนึ่งไป หนังเร็วขึ้นมาก ฉากต่อสู้ตัดต่อเร็วได้ใจวัยรุ่นมาก แต่หนังก็เปลี่ยนมุมมองการเล่าไปเลย วิธีนี้มันมีข้อดีคือเราจะได้เห็นมุมมองของเรื่องราวที่เปลี่ยนไป แต่ความรู้สึกที่ผมได้มันแปลกๆนะ คือเราดูมาครึ่งเรื่องตัวเอกมันก็คนหนึ่ง แต่ครึ่งหลังบทบาทเขาจะค่อยๆจืดจางลงเรื่อยๆ จนหายไปเลย … ถึงตัวละครจะไม่โผล่มา แต่เราก็รู้ว่าเขาทำอะไรนะครับ เพราะหนังทิ้งประเด็นไว้ว่าเขาสามารถทำอะไรได้ และปล่อยให้คนดูจินตนาการต่อเองว่าเขาจะทำยังไง มุมมองที่เปลี่ยนไปทำให้เราเห็นเรื่องราวที่แตกต่าง หนังเรื่องนี้ผมมองว่ามี 3 มุมมอง จะแบ่งเป็น 3 องก์ก็ได้ ชัดเจนด้วย องก์แรกคือพระเอก องก์สองคือตัวร้าย และองก์สามคือนางเอก(และหลวงจีน)
แล้ว Zen มันเข้ามาตอนไหน หนังใช้พระอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของ Zen แนวคิดนี้น่าสนใจทีเดียว เชื่อว่าคนดูครั้งแรกๆไม่น่าจะเข้าใจแน่ๆ การจะเข้าถึง Zen ได้เราต้องมี Zen เป็นจุดหมาย เปรียบเหมือนการเดินทางไปหาแสงสว่าง ถ้าให้จุดกำเนิดแสงสว่างคือดวงอาทิตย์ ภาพสะท้อนศีรษะหลวงจีนกับพระอาทิตย์ ก็เปรียบเหมือนคนที่อยู่ปลายทางและกำลังคอยชี้นำทางให้ผู้เห็นอยู่… ณ จุดนี้คือความหมายที่ผมตีความได้จากชื่อหนัง A Touch of Zen นะครับ จะเข้าใจตรงกับที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอหรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน
แต่ก็ใช่ว่าผู้ได้สัมผัสของ Zen จะสามารถเข้าถึงได้ ช่วงท้ายของหนังพูดถึงจุดนี้ชัดเจนมากๆ ผมเกือบโดนหนังหลอกเหมือนกันว่า ตัวร้ายมันอาจจะกลับใจเพราะได้สัมผัส Zen ได้ แต่แบบนี้ก็ดีครับ นำเสนอแนวคิดนี้ก็น่าสนใจดี ไม่ผิดครับ ถ้าทางพุทธเราเปรียบก็คงเป็นบัวในตม ฉากสุดท้ายของหนัง ก็ไม่มีอะไรมาก เราเห็นฉากคล้ายๆกันนั้นมาหลายรอบแล้ว นั่นคือ Zen ในความหมายหนังและที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ
ดูรอบปัจจุบันถามว่าชอบไหม… ไม่ค่อยนะครับ ออก so-so มากกว่า คงเพราะหนังยาวไปหน่อย ดูแล้วเหนื่อย มีฉากเจ๋งๆมากมาย แต่ที่จะให้ชอบหรือหลงรักไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เรื่องราวแบบนี้ฝั่งตะวันตกดูไม่น่าจะเข้าใจได้มากเท่ากับคนดูฝั่งเอเชีย ชาวพุทธเราดูแล้วถ้านำไปคิดต่อก็จะได้อะไรๆพอสมควร ฉากที่ผมชอบที่สุดคือฉากหลังจากการต่อสู้กลางเรื่องจบ ตัวเอกหัวเราะให้กับชัยชนะในศึกนี้ที่เกิดจากมันสมองของเขา เดินไปหัวเราะไป นานพอสมควรเลย ฉากนี้ผมเห็นแล้วขนลุกเลย เมื่อพระเอกไปเจอกับศพของสหายฝั่งตน เมื่อนั้นเขาก็คิดขึ้นมาได้ทันทีว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาควรดีใจ จังหวะนี้มันเปะมากๆครับ เชื่อว่าคนดูน่าจะรู้ได้ตั้งแต่ที่ตัวเอกเริ่มหัวเราะว่า เอ็งมาหัวเราะทำซากอะไรกับชัยชนะที่แลกมาด้วยชีวิตคนนับร้อย ตอนดูผมลุ้นว่าพระเอกมันจะเข้าใจจุดนี้หรือเปล่า ณ จุดที่เขาเห็นและรู้สึก เป็นจังหวะที่ใช่เลยครับ คนจะดีหรือเลวมันแบ่งกันตรงนี้แหละ
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคนทุกคนนะครับ โตสักหน่อยก็ดีจะได้เข้าใจสิ่งที่หนังนำเสนอมากขึ้น และนี่ไม่ใช่หนังจีนทีมีการต่อสู้แบบ Theme หลักนะครับ มีอยู่นิดเดียวเอง ที่เหลือคือเทคนิค การเล่าเรื่อง และปรัชญา ดูเข้าใจไม่ยากแต่ต้องตั้งใจดูหน่อย ดูจบแล้วคิดต่อสักนิดจะได้อะไรแน่ ถือว่านี่เป็นหนังที่มีความตั้งใจดีในการสร้าง ต้องหามาดูนะครับ
คำโปรย : “A Touch of Zen หนังระดับ masterpiece ของผู้กำกับ King Hu หนังแฝงแนวคิด ปรัชญาและหลักศาสนา ผ่านการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง ภาพสวย เพลงประกอบเพราะ นี่คือหนึ่งในหนังจีนที่ดีที่สุดที่เคยสร้างมา”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : SO-SO
Leave a Reply