A Trip to the Moon

A Trip to the Moon (1902) French : Georges Méliès ♠♠♠♠♠

มันมีความจำเป็นบางอย่าง ที่นักวิจารณ์และคอหนังแทบทุกคนในโลกล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังสั้นเรื่องนี้จำเป็น “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นั่นเพราะความมหัศจรรย์ในจินตนาการอันล้ำลึกของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Georges Méliès ผู้ได้รับฉายาว่า ‘นักมายากลแห่งโลกภาพยนตร์’ ได้สร้างขึ้นนี้ มันล้ำยุคเหนือกาลเวลา

นี่เป็นภาพยนตร์ไซไฟที่ถือว่าเป็นเรื่องแรกของโลก ด้วยความยาวเพียง 14 นาที (=ฟีล์ม 1 ม้วน ความยาว 260 เมตร) นำแนวคิดดัดแปลงจากนิยายของ Jules Verne เรื่อง From the Earth to the Moon (1865), Around the Moon (1870) และนิยายของ H. G. Welles เรื่อง First Men in the Moon (1901) เป็นเรื่องราวเพ้อฝันของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ประดิษฐ์คิดค้นยานอวกาศที่สามารถบินขึ้นไปถึงดวงจันทร์ได้ ทีแรกก็ไม่มีใครเชื่อยอมรับ แต่เมื่อไปถึงพบเจอกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกและนำกลับมาเป็นหลักฐานให้ประจักษ์ ตอนจบจึงได้รับการยกย่องเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่โต

Marie-Georges-Jean Méliès หรือที่รู้จักในชื่อ Georges Méliès (1861 – 1938) เป็นชาว French-Dutch เกิดที่ Paris ตอนวัยหนุ่มเคยไปทำงานอยู่ที่ London แล้วได้มีโอกาสชมการแสดงของนักมายากล John Nevil Maskelyne เกิดความชื่นชอบหลงใหล ตั้งใจว่าชีวิตนี้จะต้องกลายเป็นนักมายากลให้ได้ แม้ครอบครัวจะไม่สนุบสนุน แต่มีหรือจะสามารถบังคับให้หยุดฝันได้ กลับไป Paris แอบเรียนวิชากับ Emile Voisin จนได้รับโอกาสแสดงครั้งแรกที่ Cabinet Fantastique of the Grévin Wax Museum

ในช่วงเวลา 9 ปี Méliès ได้สร้างมายากลใหม่กว่า 30 ชุด มีการผสมผสานเนื้อเรื่องการแสดง ทั้งมุกตลก Melodrama ฯ แบบที่เขาเรียนรู้จาก London เข้าไป ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ชมฝรั่งเศสอย่างมาก หนึ่งในการแสดงที่ได้รับการพูดถึงคือ Recalcitrant Decapitated Man ที่ได้ทำการตัดหัวนักแสดงออกจากร่าง แต่กลับยังพูดได้และสามารถต่อตัวกลับร่างเดิมได้

เมื่อประสบความสำเร็จมาก Méliès ก็สามารถซื้อโรงละครของตัวเอง Théâtre Robert-Houdin ผันตัวไปเป็นผู้กำกับอยู่หลังเวที เขียนบท วาดภาพ ออกแบบฉากเครื่องแต่งกาย และคิดค้นเทคนิคมายากลใหม่ๆ จนกระทั่งปี 1895 ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ประธานของสมาคม Chambre Syndicale des Artistes Illusionistes ของประเทศฝรั่งเศส

ค่ำคืนวันที่ 27 ธันวาคม 1895, Méliès ได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการฉายภาพยนตร์ตัวอย่าง Cinematographe ของสองพี่น้อง Lumière ทุกคนตื่นตาตื่นใจกับค่ำคืนนั้น แต่สิ่งที่ชายคนนี้เห็นคือ ‘อนาคต’ ต้องการที่จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในโรงละครของตน จึงออกทุนสนับสนุนเพื่อจัดซื้อสร้างเครื่องฉายภาพยนตร์เป็นจำนวนเงินกว่า 10,000₣ และได้นำมาออกฉายครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 1896

แต่มีเครื่องฉายอย่างเดียวก็ไม่พอ Méliès เริ่มต้นที่จะถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยตนเองเมื่อเดือนพฤษภาคม 1896 ก่อตั้งบริษัท Star Film Company ช่วงแรกๆสิ่งที่สร้างขึ้น เป็นการเลียนแบบสร้างใหม่/remake ผลงานของ Lumière brothers ที่มักนำเสนอเรื่องราวชีวิตประจำวันของผู้คน อาทิ กินข้าว เล่นไพ่ นอน ฯ ต่อมาครั้งหนึ่งเกิดอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำ เมื่อฟีล์มค้างหรืออะไรสักอย่าง ทำให้ภาพที่ออกมาเกิดการกระโดดไม่ต่อเนื่อง นั่นทำให้พวกเขาค้นพบเทคนิค Substitution Trick หยุดทุกการเคลื่อนไหวขณะถ่ายทำ แต่เทคนิคนี้ไม่ถือว่าใหม่อะไร เพราะ Thomas Edison ก็เคยได้นำเสนอมาแล้วในหนังเรื่อง The Execution of Mary Stuart (1895) กระนั้นสิ่งที่ Méliès ได้ต่อยอดขึ้นมา สร้างวิธีการเล่าเรื่องราวจนการเป็นสไตล์ของตนเอง

นับจากนั้น ภาพยนตร์ของผู้กำกับ Georges Méliès ก็เต็มไปด้วยทริคเทคนิคตระการตาใหม่ๆมากมาย บ้างค้นพบจากความบังเอิญ บ้างก็ประดิษฐ์คิดขึ้นมา กลายเป็นผู้ริเริ่มสร้าง Special Effect ต่างๆมากมายอย่างจริงจัง อาทิ
– เทคนิค Substitution Trick การที่อยู่ดีๆนักแสดงจะปรากฏตัวขึ้นมาหรือหายไป ใช้วิธีการสั่ง Cut แต่ให้ทุกคนหยุดนิ่งไม่ไหวติง แล้วนำนักแสดง/สิ่งของนั้นเข้าฉาก แล้วสั่ง Action นักแสดงเคลื่อนไหว กล้องถ่ายต่อ
– เทคนิค Time-Lapse Photography คือการตั้งกล้องบันทึกภาพไปเรื่อยๆ ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นผ่านไป แล้วไปทำการเร่งความเร็วหลังการถ่ายทำ จะได้ภาพการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติต่อเนื่อง
– เทคนิค Multiple Exposures คือการซ้อนภาพหลายๆชั้น โดยปกติถ้าซ้อนแค่สองภาพจะเรียกว่า Double Exposures แต่ Méliès สามารถซ้อนได้เป็นสิบๆชั้นไม่มีจำนวนจำกัด
– เทคนิค pseudo-Tracking Shot คนสมัยนี้คงรู้จักเทคนิคที่กล้องเคลื่อนไหวตามนักแสดง แต่สมัยแรกๆมันทำแบบนี้ไม่ได้เพราะกล้องถ่ายภาพมีขนาดใหญ่ หนัก เคลื่อนไหวไม่ได้ และต้องใช้คนหมุนฟีล์มตลอดเวลา, Méliès เคยพยายามที่จะทำให้กล้องเคลื่อนไหวแต่ก็ไม่ไหวล้มเหลว เขาเลยใช้การ’หลอก’ตาผู้ชม คือแทนที่กล้องจะเคลื่อน ก็เปลี่ยนเป็นนักแสดงหรือฉาก ทำให้เคลื่อนที่เข้ามาหาเอง
– เทคนิค Dissolve ขณะการเปลี่ยนภาพจากภาพหนึ่งเป็นอีกภาพหนึ่ง ใช้การค่อยๆเบลอภาพแรกให้จางหายไปพร้อมๆ กับให้ภาพซีนต่อไปค่อยๆปรากฎชัดเจนขึ้นแทน

นอกจากนี้
– Méliès ยังเป็นผู้กำกับคนแรกที่มีการใช้ Storyboard วางแผนก่อนการถ่ายทำ
– ฉากพื้นหลังใช้การวาดภาพที่มีความสมจริง เรียงซ้อนกันจนเห็นเป็นเลเยอร์มิติหลายชั้น
ฯลฯ

ด้วยเทคนิคลีลาต่างๆมากมายที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ทำให้ Georges Méliès ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘นักมายากลแห่งโลกภาพยนตร์’ เพราะสามารถทำให้ผู้ชมตื่นตะลึงในสิ่งที่เห็น ไม่เคยรับรู้คาดคิดมาก่อนในสมัยนั้น ว่านี่จะเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์สามารถทำได้

ผลงานภาพยนตร์สั้นของ Georges Méliès ว่ากันว่ามีกว่า 500+ เรื่อง ไม่มีใครรู้จำนวนที่แน่นอน (แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่รู้) สมัยนั้นเห็นว่าสร้างเฉลี่ยสัปดาห์ละเรื่อง! แต่เพราะการจัดเก็บฟีล์มยังไม่มีประสิทธิภาพพอ กว่าครึ่งสูญหายไฟไหม้หรือมีคุณภาพใช้ฉายไม่ได้แล้ว จะเหลือก็แต่ในคอลเลคชั่นส่วนตัวเหลือเก็บไว้ หรือที่มีผู้ชื่นชอบประมูลเก็บไว้ไม่กี่เรื่องเท่านั้น

ใครสนใจภาพยนตร์กึ่งๆ เกือบๆ ชีวประวัติของ Georges Méliès ไปหาหนังเรื่อง Hugo (2011) ของผู้กำกับ Martin Scorsese มารับชมดูนะครับ เรื่องนี้ไว้ผมจะเขียนบทวิจารณ์ให้วันหลัง

สำหรับผลงานของ Méliès ที่หลงเหลือถึงปัจจุบันและมีคุณภาพใช้ได้เลย นอกจาก A Trip to the Moon (1902) ก็มี
– The Haunted Castle (1986) นี่น่าจะคือหนัง Horror เรื่องแรกของโลก
– The Vanishing Lady (1896) นี่น่าจะคือหนังเรื่องแรกที่ใช้เทคนิค Substitution Trick
– The Four Troublesome Heads (1898) ใช้การซ้อนภาพ เห็นเฉพาะส่วนหัวของมนุษย์ 4 หัว
– The Infernal Cauldron (1903) เล่นกับไฟ ภาพสี
– The Impossible Voyage (1904) ได้แรงบันดาลใจ ดัดแปลงจากนิยายของ Jules Verne
– The Conquest of the Pole (1912) พล็อตเรื่องคล้ายๆ A Trip to the Moon แต่เปลี่ยนจากดวงจันทร์ไปขั้วโลกเหนือแทน
ฯลฯ

ทุกเรื่องหารับชมได้ทางอินเตอร์เน็ต ลองหาใน Youtube ดูนะครับ

ช่วงบั้นปลายชีวิตของ Georges Méliès นั้นน่าเศร้าไม่น้อย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ใกล้เข้ามา, ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับนายทุน, ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าสตูดิโอและทีมงาน ทำให้สุดท้ายต้องขายทิ้งทุกสิ่งอย่าง เลิกสร้างภาพยนตร์ไปเลย แล้วอาศัยทำงานอยู่ในสถานีรถไฟ Montparnasse, Paris เปิดร้านขายขนมและของเล่นเด็ก, เสียชีวิตเมื่อปี 1938 จากโรคมะเร็ง ด้วยวัย 76 โดยคำพูดสุดท้ายของเขาคือ

“Laugh, my friends. Laugh with me, laugh for me, because I dream your dreams.”

สำหรับ A Trip to the Moon เป็นหนึ่งในบรรดาหลายร้อยผลงานของ Méliès ที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จสูงสุดไม่ใช่แค่ในฝรั่งเศสเท่านั้น ขนาดว่าต่างประเทศมีการลักลอบทำ pirate แอบก็อปปี้ฟีล์มแล้วขนเพื่อไปฉายต่างประเทศ (นี่น่าจะเป็นการลักลอบแอบถ่าย/ทำฟีล์มเถื่อนครั้งแรกของโลก), ซึ่งบุคคลแรกที่กระทำการนี้ไม่ใช่ใครอื่นไกล Thomas Edison นั่นเอง

ในเวลา 14 นาที มีทั้งหมด 30 ฉาก นำเสนอในลักษณะเสมือนคนดูกำลังนั่งชมการแสดงละครเวที ส่วนใหญ่ตั้งกล้องไว้เฉยๆแต่ไม่มีเสียงพูด มีแค่ภาพเคลื่อนไหวและคำบรรยาย, ต้องบอกว่า Méliès ได้นำประสบการณ์องค์ความรู้ทุกสิ่งอย่างที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใส่ลงไป ใช้ทุนสร้างมหาศาลถึง 10,000₣ เวลาถ่ายทำถึง 3 เดือน

เกร็ด: Méliès ได้ร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วยนะครับ รับบทเป็นศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำคณะทัวร์กลุ่มนี้ เดินทางไปดวงจันทร์

มีช็อตหนึ่งขณะยานอวกาศ(ที่มีรูปลักษณะเหมือนกระสุนปืน) พุ่งตรงไปชนดวงจันทร์ นี่ถือเป็นฉากคลาสสิก Iconic ได้รับการจดจำมากที่สุดในโลกภาพยนตร์ และอาจคือเหตุผลที่ทำให้ใครๆสมัยนั้นอยากชมหนังเรื่องนี้ (เพราะมันเป็นอะไรที่แปลกประหลาดพิศดาร ไม่เคยมีใครเคยพบเห็นมาก่อน), ช็อตนี้ใช้เทคนิค pseudo-Tracking Shot กล้องไม่ได้เคลื่อนไปไหนนะครับ เป็นภาพ/ฉากที่จะเคลื่อนเข้าหากล้อง ส่วนขณะยานอวกาศปักทิ่มดวงตาของพระจันทร์ นั่นใช้การ Substitution Trick เปลี่ยนภาพทีละช็อต (ทำเป็นคล้ายๆ Stop-Motion)

ช็อตนี้มีนัยยะอะไร? ก่อนจะไปถึงจุดนั้นผมขอให้ข้อสังเกตหนึ่งก่อน

มีนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการเปรียบเทียบ/ล้อเลียนกลุ่มประเทศที่ใช้กำลังทหาร ข่มขู่ วางอำนาจกับประเทศเล็กๆ โดยเปรียบเทียบโลกกับดวงจันทร์ ที่เมื่อมีนักวิทยาศาสตร์ชาวโลกขึ้นไปถึง ก็ถูกโจมตีขับไล่ จนต้องหนีหัวซุกหัวซุนหาทางกลับโลก (เปรียบชาวดวงจันทร์ กับกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลสูงเหนือกว่า, นักวิทยาศาสตร์ชาวโลก คือประเทศที่ต่ำต้อยไร้อารยธรรม) มองจากใจความนี้ การสำรวจดวงจันทร์จึงมีเรื่องราวในเชิงเสียดสีล้อเลียน (Satire)

จากแนวคิดนี้เราสามารถมองได้ว่า ยานอวกาศที่มีรูปลักษณะเหมือนกระสุนปืน คือความทะเยอทะยาน (ประเทศเล็กๆ ที่เผชิญหน้ากับประเทศมหาอำนาจ) ต้องการที่จะท้าทายข้อจำกัดของตัวเอง ประจันหน้ากับผู้มีอำนาจอิทธิพลสูงเหนือกว่า, สังเกตว่าฐานปล่อยจรวดก็มีลักษณะเหมือนปืนใหญ่ นี่เป็นการตอบโต้มหาอำนาจของประเทศผู้ต่ำต้อยกว่า

ที่ต้องให้ดวงจันทร์มีหน้าตา (คล้ายๆกับหน้ามนุษย์) นี่เป็นการเปรียบเทียบความสูงส่ง ที่จริงๆแล้วก็มีหน้าตาเหมือนมนุษย์นะแหละ, การยิงเข้าที่ตาเลือดออก (ตา=วิสัยทัศน์) นี่แสดงถึงความมืดบอด มองข้าม ไม่สนใจของคนมีอำนาจสูงกว่า ที่ไม่เคยสนเอาใจใส่ เหลียวมามองประเทศต่ำต้อยกว่าเหล่านี้ ที่พอถูกท้าทายก็ใช้กำลังขับไล่ ไม่สนใจพูดคุยเจรจาต่อรอง ให้กลับไปสู่ดินแดนโลกของตน

ฉากท้ายๆตอนเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ จะเห็นว่ามีทาสคนหนึ่งที่เป็นชาวดวงจันทร์หลงตกลงมาด้วย เขาถูกคุมจับกุมคุมขังคาดว่าคงถูกรีดเค้นทรมาน แทนที่จะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติมนุษย์ต่างดาว โอ้! มนุษย์โลกเอ๋ย ทำไมถึงเห็นแก่ตัวอย่างนี้ โอ้! สงสารชาวดวงจันทร์ มีสถานะเหมือนเทวดาตกสวรรค์ จากสุขสบายมาทุกข์ยากลำบาก แล้วจะทนมีชีวิตต่อได้อีกนานสักเท่าไหร่เชียว

เราสามารถมองหนังเรื่องนี้ในมุมมองอื่นก็ได้นะครับ อาทิ ศาสตราจารย์ทั้งหกคน คือนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่นชอบการค้นพบค้นหาทดลองอะไรใหม่ๆ ถือว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะต่อต้านการรับรู้สิ่งนอกเหนือความเข้าใจของตน ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ดวงจันทร์เปรียบเสมือนองค์ความรู้สูงสุด ออกนอกกรอบความคิดดั้งเดิม(จากโลกมนุษย์) แต่ที่บนนั้น ณ ดวงจันทร์ พวกเขาก็ถูกขับไล่เหมือนกันจากพระเจ้า ราวกับได้ล่วงรู้ความลับของจักรวาล ให้รีบกลับไปสู่โลกดินแดนของตน

ความเว่อไร้สาระของหนัง ถูกเรียกว่า pataphysical film คือหนังลวงโลกเกินจริง ‘นำเสนอสิ่งเป็นไปไม่ได้ ด้วยทฤษฎีของความเป็นไปได้’ (aims to show the illogicality of logical thinking) ใครๆคงคิดได้นะครับ ว่าเรื่องราวเหตุการณ์ในหนังมันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงอยู่แล้ว แต่หนังนำเสนอด้วยเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง

ฟีล์มหนังเรื่องนี้มี 2 ฉบับ คือที่เป็นภาพขาว-ดำ และภาพสี นี่ไม่ได้เกิดจากการ Colorization นะครับ แต่เกิดจากการลงสีด้วยมือลงบนฟีล์มตรงๆเลย โดย Elisabeth Thuillier ที่ห้องแลปสีใน Paris นี่เป็นงานที่เสียเวลามาก ใช้ทีมงานประมาณ 200 คน มีสีที่ใช้ประมาณ 20 กว่าสี โดยแต่ละคนมีหน้าที่แค่ลงสีเดียวในทุกๆช็อต, เห็นว่ามีฟีล์มเพียง 60 ม้วนที่ผ่านกระบวนการนี้ และรู้สึกว่าจะสูญหายไปจนกระทั้งปี 1993 โชคดีมากๆที่ได้รับการค้นพบที่ Filmoteca de Catalunya คุณภาพค่อนข้างแย่แต่ได้รับการบูรณะเสียเวลาถึง 17 ปี ได้ออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Classic เมื่อปี 2010 ปัจจุบันสามารถหารับชมได้ทาง Youtube นะครับ

อิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องนี้ ค้นพบได้ในภาพยนตร์แทบทุกเรื่องในโลก กระบวนการคิด การทำงาน ความฝัน จินตนาการ แฟนตาซี ฯ ขนาดปรมาจารย์ผู้กำกับดังยุคสมัยแรกสุดของอเมริกา D. W. Griffith ให้คำพูดสั้นๆ กล่างถึงผลงานของ Méliès ว่า “I owe him everything.”

ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในมุมมองของนักดูหนังรุ่นใหม่ แค่ชื่นชอบไม่ได้มีความประทับใจอะไรมาก แต่รู้สึกทึ่งในความแปลกประหลาดพิศดารไม่เหมือนใคร แม้ภาษาหนังอาจจะเข้าใจยากเสียนิด -เพราะมันไม่ได้มีความสากลเหมือนภาพยนตร์สมัยนี้- แต่ไม่ใช่ดูไม่รู้เรื่องเสียทีเดียว ต้องพยายามอ่านภาษากายของการกระทำให้ออก ถึงจะสามารถเข้าใจเรื่องราวทุกสิ่งอย่างได้

แค่ 14 นาที ไม่ถือว่าเสียเวลามากไปกระมังสำหรับคนที่ยังไม่เคยรับชม จะเด็กผู้ใหญ่ เพศอะไร ทำงานอะไร ก็สามารถรับชมได้ทั้งนั้น ระหว่างดูก็ตระหนักสิ่งหนึ่งไว้ในใจ นี่มันภาพเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วนะ ยิ่งเห็นจะยิ่งขนลุก สร้างขึ้นมาได้อย่างไร

จัดเรตทั่วไป

TAGLINE | “A Trip to the Moon ของผู้กำกับ George Méliès ถือว่าได้ทำความฝันของมนุษย์ชาติให้กลายเป็นจริง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: