Accattone

Accattone (1961) Italian : Pier Paolo Pasolini ♥♥♥♥♡

ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pier Paolo Pasolini ได้รับการสนับสนุนผลักดันจาก Federico Fellini แต่พอได้เห็นฟุตเทจถ่ายทำมา พลันด่วนถอนตัวออกไปทันที, เรื่องราวของแมงดาหนุ่มเรียกตัวเองว่า Accattone วันๆเรื่อยเปื่อยไม่ทำอะไรนอกจากเกาะผู้หญิงกิน แถมบีบบังคับให้เธอขายตัวนำเงินมาถลุงเล่นพนันจนหมดตัว คนแบบนี้มีอะไรดี ไฉนพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

คำตอบที่ผมครุ่นคิดได้คือ กรรมสนอง, ชาติก่อนๆเคยแสดงความเห็นแก่ตัว กอบโกยโกงกินจากบุคคลที่ปัจจุบันกำลังสูบเลือดเนื้อของเราอยู่ ไม่มีหนทางหลบหลีกหนีได้พ้น ก็จนกว่าจะชดใช้หนี้กรรมหมดสิ้นหรือจบชีวิตตายจากกันไปข้างหนึ่ง

การครุ่นคิดแบบที่ว่าไปย่อหน้าก่อน จะทำให้คุณไม่รู้สึก ‘สงสาร’ คนเหล่านี้มากนัก เพราะพวกเขาล้วนทำตัวเองมาก่อนแทบทั้งหมดสิ้น แต่ถ้าอยากให้การช่วยเหลือก็ควรระวังไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่นมอบเงิน/สิ่งของ หรือพยายามพูดแนะนำสั่งสอน (เพราะพวกเขาจะไม่เห็นค่าของสิ่งที่คุณพยายามยัดเยียดให้) วิธีการคือต้องทำให้รับรู้ซึ้งทราบด้วยตนเอง นำพาไปให้พบเห็นตัวอย่างชีวิตที่ดีกว่า ระหว่างนั้นก็ค่อยๆปลูกฝังทัศนคติใหม่ๆ เช่นว่าเปิดภาพยนตร์เรื่องนี้ให้รับชม แล้วชวนครุ่นคิดวิเคราะห์ตาม มันน่าจะมีบางอย่างซึมเข้าไปในจิตวิญญาณบ้างแน่ๆ และหลังจากนั้นควรปล่อยอิสระให้เขา/เธอตัดสินใจกระทำแสดงออกด้วยตนเอง

คือมันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมเคยโดนมากับตัวเอง ในทิศทางตรงกันข้าม, แฟนสาวเพราะรักมากเลยเอ็นดูทะนุถนอมดั่งไข่ในหิน ขออะไรซื้อทุ่มให้ อยากทำอะไรก็ส่งเสริมสนับสนุน ศัพท์วัยรุ่นสมัยนี้คือสายเปย์ แต่เธอก็ไม่เคยฟังคำแนะนำร้องขอใดๆ ขัดขืนมันทุกสิ่งอย่าง จนถึงวันๆหนึ่งเมื่อไม่มีเงินแล้วขอ ‘ถ้าไม่ให้เราเลิกกัน’ นี่มันโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเราเอง

Accattone เป็นภาพยนตร์ที่จะทำให้ผู้ชมรวดร้าวทุกข์ทรมานใจกับโศกนาฎกรรมของเรื่องราว ด้วยไดเรคชั่นของ Neo-realism แม้ไม่ได้มีภาพโป๊เปลือยล่อนจ้อนแบบผลงานยุคหลังๆของ Pier Paolo Pasolini แต่ก็เล่นกับประเด็นอ่อนไหวของสังคม ขนาดว่าตอนฉายรอบปฐมทัศน์ที่อิตาลี ถูกวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง สมาชิกของ Neo-Fascist บุกเข้ามาก่อกวน ขว้างขวดหมึกใส่จอหนังจนเกิดการจราจล กองเซ็นเซอร์อิตาลีจึงสั่งถอดหนังออกจากทุกโรงภาพยนตร์

(ว่ากันว่าเหตุผลจริงๆที่กองเซ็นเซอร์ถอดหนังออก ไม่น่าใช่เพราะประเด็นอ่อนไหว แต่เพื่อไม่ให้เกิดจราจลต่อต้านจากพวก Neo-Fascist เสียมากกว่า)

Pier Paolo Pasolini (1922 – 1975) ผู้กำกับ กวี นักคิด นักเขียน สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Bologna, Kingdom of Italy เมืองแห่งนักการเมืองซ้ายจัด พ่อเป็นทหารเล่นพนันจนติดหนี้ติดคุกกลายเป็น Fascist ตัวเขาเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ชื่นชอบวรรณกรรมของ Dostoyevsky, Tolstoy, Shakespeare, Coleridge, Novalis เลยไม่ค่อยสนใจศาสนาสักเท่าไหร่ โตขึ้นเข้าเรียน Literature College หลงใหลในปรัชญา สุนทรียศาสตร์ และศิลปะที่เป็นรูปเป็นร่าง, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จับได้ใบแดงกลายเป็นทหาร ไม่ทันไรถูกคุมขังในค่ายกักกัน German Wehrmacht โชคดีสามารถปลอมตัวหลบหนีออกมาได้สำเร็จ แอบทำงานเป็นครูสอนหนังสือแล้วตกหลุมรักลูกศิษย์ชายคนหนึ่ง นั่นทำให้เขารู้ตัวเองครั้งแรกว่าเป็นเกย์

หลังสงครามโลกสิ้นสุดเข้าร่วมพรรค Italian Communist Party เพราะคาดหวังจะสามารถนำพาสิ่งใหม่ๆเข้ามาบริหารประเทศ แต่ช่วงฤดูร้อนปี 1949 ถูก Blackmail ให้ต้องถอนคำพูดไม่เช่นนั้นจะถูกขับออกจากงานสอนหนังสือ ถึงกระนั้นเขาก็ถูกไล่ออกอยู่ดีเพราะให้เด็กวัยรุ่นสามคนดื่มเหล้าเมามาย (ก่อนถึงวัย) ทั้งยังขอให้ช่วยตนเองให้ เมื่อเรื่องราวใหญ่โตเจ้าตัวก็ยืดอกยอมรับอย่างพึ่งพาย แล้วไถลสุนทรพจน์ไปว่าแสดงออกเช่นนั้นเกิดจาก ‘literary and erotic drive’

เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงโรม เริ่มจากเป็นครูสอนหนังสือ เขียนนิยายเรื่องแรก Ragazzi di vita (1955) ประสบความสำเร็จแต่ได้รับเสียงวิจารณ์ย่ำแย่เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวอนาจาร, ต่อมาตีพิมพ์บทกวีลงนิตยสาร Officina, ร่วมเขียนบทพูด Nights of Cabiria (1957), La Dolce Vita (1960) ของผู้กำกับ Federico Fellini จนได้รับการส่งเสริมผลักดันให้กำกับภาพยนตร์ ดัดแปลงจากนิยายสองเรื่องแรกของตนเอง Ragazzi di vita (1955) และ Una vita violenta (1959)

พัฒนาบทภาพยนตร์ โดยร่วมงานกับ Sergio Citti (1933 – 2005) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติอิตาเลี่ยน พี่ชายของ Franco Citti ที่เป็นนักแสดงนำของหนัง, เรื่องราวของ Vittorio ชอบให้คนอื่นเรียกตัวเองว่า Accattone (รับบทโดย Franco Citti) เลือกใช้ชีวิตเป็นแมงดา ปลุกปั้นหญิงสาว Maddalena ให้กลายเป็นโสเภณี หาเงินมาเลี้ยงดูปูเสื่อตนเอง แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเธอถูกตำรวจจับกุมคุมขัง ทำให้เขาสูญเสียรายได้ จำต้องเริ่มมองหาสาวคนใหม่จนได้พบเจอ Stella แต่กลับกลายเป็นว่าอยากทะนุถนอมเลี้ยงดูแลเธอแทน กับคนไม่เคยทำงานเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก มีหรือจะสามารถอดรนทนไหวกับงานกรรมกรแบกหาม ค่าแรงเพียงน้อยนิดเดียว สุดท้ายก็หวนกลับไปเป็นแบบเดิมคนจรจัด ระหว่างถูกตำรวจลากเข้าซังเต เลือกขโมยรถขับหนีซิ่งหลุดหัวโค้งศีรษะชนฟุตบาท ชาตะกรรมคงไม่ต้องคาดก็เดาได้ว่าจะสิ้นสุดลงเช่นไร

เกร็ด: คำว่า Accattone เป็นศัพท์แสลงอิตาเลี่ยน แปลว่า Vagabond (คนจร) หรือ Scrounger (ขอทาน) คำภาษาไทยตรงตัวสุดคือ แมงดา ที่ถ้าไม่ได้หมายถึงสัตว์น้ำทะเล จะคือชายผู้คุมซ่องโสเภณี, ให้หญิงสาว/ภรรยา หาเลี้ยงดูตนเอง

Franco Citti (1935 – 2016) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน น้องชายของผู้กำกับ/นักเขียน Sergio Citti เกิดที่ Fiumicino, Rome, เมื่อตอนอายุ 26 เข้าตา Pier Paolo Pasolini ชักชวนมาแสดงนำแจ้งเกิด Accattone (1961) จากนั้นก็ได้ร่วมงานกันอีกเรื่อยๆจนเป็นขาประจำ, ผลงานเด่นที่หลายคนอาจจดจำได้คือ The Godfather (1972) ในบท Calo ตัวละครที่ Sicily พูดว่า ‘In Sicily, women are more dangerous than shotguns’.

รับบท Vittorio ‘Accattone’ Cataldi ชายหนุ่มผู้เลือกชีวิตเป็นแมงดา แต่งงานแล้วมีลูกน่ารักแต่ไม่คิดหาเลี้ยงดูแลครอบครัวจนภรรยาหนีซบซานกลับบ้านเก่า ท่าเดินกร่างๆไม่ไกวแขน ปกเสื้อแบะออกให้กว้าง เชิดหน้าลอยตาไม่ค่อยแคร์ใคร อารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย ควบคุมตนเองไม่ค่อยอยู่ และเวลาเหน็ดเหนื่อยหมดสิ้นสภาพ ทิ้งตัวลงนอนบนเตียงราวกับซากศพ

ในมุมของผม มองว่า Accattone คือผลพลอยได้จากสงครามโลกครั้งที่ 2 โตพอรู้เรื่องระหว่างเกิดสงคราม ใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างทุกข์ยากลำบากในช่วง Great Depression (โรคระบาดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) กลายเป็นผู้ใหญ่เลยไม่คิดทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย อยากมีความสะดวกสบาย มักง่ายเข้าว่า พึงพอใจตัวเองคือสิ่งสูงสุด

การคัดเลือกนักแสดงของผู้กำกับ Pasolini มักใช้บริการมือสมัครเล่น ไม่ใช่เพราะต้องการความเป็นธรรมชาติตัวตนของพวกเขา (แบบที่หนังแนว Neo-realist นิยมทำกัน) แต่คือนำความไม่สมจริงของพวกเขา มาปั้นแต่งให้ดูขัดแย้งกับบริบทที่ควรเป็น ถึงกระนั้นก็มีหลายคน (อย่าง Citti ก็คนหนึ่ง) เมื่อแจ้งเกิดกับผลงานของ Pasolini มักสามารถไปต่อได้เองในวงการ จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง

สำหรับ Citti เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของ Pasolini (ในยุคแรกๆ) ชายผู้มีภาพลักษณ์เหมือนแมงดา วันๆทำตัวกร่าง แค่ท่าเดินก็กวนประสาท แถมชอบทำหน้าไม่รู้หนาวร้อนแคร์สื่อ และเวลาแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดโกรธออกมา มีความรุนแรงบ้าคลั่งเสียสติแตก (แบบจัดฉาก) นี่น่าจะคือบทบาทโดดเด่นสุดในชีวิตเลยกระมัง

Accattone มีผู้หญิงทั้งหมด 4 คนในหนัง
– อดีตภรรยาที่เคยแต่งงานมีลูก 2-3 คน (ไม่รู้ปริมาณแน่นอน) แต่เพราะ Accattone ไม่ยอมทำงานหาเลี้ยงดูแลครอบครัว เธอเลยหนีกลับบ้านพ่อ ให้(น่าจะ)พี่ชายปกป้องขับไล่ทุกครั้งที่อดีตสามีหวนกลับมาก่อความรังควาญ
– Maddalena (รับบทโดย Silvana Corsini) โสเภณีคนแรกของ Accattone เพราะได้รับอุบัติเหตุเจ็บขา ถูกตำหนิต่อว่าจนจำต้องออกทำงานยามค่ำคืน ทำให้โดนกลั่นแกล้งข่มขืนรุมทำร้าย ในตอนแรกยังไม่คิดเอาคืนแฟนหนุ่ม แต่หลังจากติดคุกและได้ยินว่าเขามีหญิงอื่น เลยกล้าพูดบอกความจริงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
– Stella (รับบทโดย Franca Pasut) สาวบ้านๆที่บังเอิญพบเจอโดย Accattone ปรนเปรอด้วยเสื้อผ้ารองเท้า จนได้ครองรักใคร่อยู่ด้วย จากนั้นทดลองส่งไปขายตัวแต่เธอทำไม่ได้ เขาเลยอาสาเลี้ยงดูทำงานแทน
– Nannina แม่หม้ายสาวลูกติด 5 คน เพราะสามีถูกจับติดคุก ด้วยความสงสารเห็นใจ Accattone จึงสงเคราะห์ให้ที่พักพิง แต่จะมีอะไรมากไปกว่านั้นไหมก็ไม่รู้เหมือนกัน

เกร็ด: หนังได้ Bernardo Bertolucci วัยละอ่อน ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ

ถ่ายภาพโดย Tonino Delli Colli (1923 – 2005) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Pasolini และ Sergio Leone ผลงานระดับตำนาน อาทิ The Gospel According to St. Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968),  Death and the Maiden (1990), Bitter Moon (1991), Life Is Beautiful (1997) ฯ

จริงๆเหตุผลที่ Fellini ถอนตัวเลิกสนับสนุนโปรเจคนี้ เพราะไม่ประทับใจฟุตเทจแรกๆที่ Pasolini นำมาเสนอ มีการจัดวางองค์ประกอบภาพที่ไม่สวยเอาเสียเลย ดูเหมือนผลงานย้อนยุคในช่วงแรกๆของ Neo-Realism (หนังของ Fellini จะมีการจัดวางองค์ประกอบภาพ มากด้วยรายละเอียด สวยงามทุกๆช็อตฉาก)

หลังจาก Fellini ถอนตัว Pasolini จำต้องหยุดถ่ายทำเพื่อเริ่มต้นค้นหาโปรดิวเซอร์/นายทุน สนับสนุนโปรเจคใหม่ จนได้ Alfredo Bini ที่มีความประทับใจในหลายๆผลงานนิยาย/บทกวี อาสาจัดหาทุนสร้างให้จนกลายเป็นขาประจำถึงเรื่อง Edipo Re (1967)

ความสนใจลายเซ็นต์ของ Pasolini รับอิทธิพลถ่ายภาพจาก Carl Theodor Dreyer และ Kenji Mizoguchi หลายครั้งจะพบเห็น Long Take กล้องเคลื่อนไหลติดตามตัวละครไปเรื่อยๆดั่งสายน้ำ (แซว: หนังของ Pasolini นักแสดงต้องเดินไปเดินมาเยอะมากๆ), ฉาก Close-Up จะมีทิศทาง มุมก้ม-เงย ร้อยเรียงโดยไม่สามารถจับต้องความต่อเนื่อง ฯ

อีกลักษณะเด่นของ Pasolini รับอิทธิพลจากจิตรกรรมยุคสมัย Italian Renaissance อาทิ ภาพวาด The Tribute Money ของศิลปิน Masaccio (1401 – 1428), อย่างช็อตแรกๆของหนัง สังเกตว่าจะมีการแบ่งแย่งคนหนึ่งยืน ฝูงชนที่เหลือนั่งเรียงรายจับกลุ่มจ้องมองสนทนา … ช็อตนี้อาจไม่เหมือนภาพวาดที่ผมนำมาเปะๆ แต่หลายๆฉากของหนังก็มักมีลักษณะนี้ คนหนึ่งแปลกแยกแตกต่าง ถูกห้อมล้อมรุมเร้าด้วยฝูงชนจำนวนมาก

ภาพวาด The Tribute Money (1425)

แม้ Pasolini จะเคยสร้างหนังศาสนาอย่าง The Gospel According to St. Matthew (1964) จนได้รับการยกย่องสรรเสริญก้องโลก แต่ตัวเขาเป็นพวกไม่นับถือศาสนา และลักร่วมเพศ (เป็นเกย์) เลยไม่แปลกที่จะต้องมีฉากนักแสดงเปลือยกาย (แต่เรื่องนี้ยังไม่เปลือยท่อนล่าง แค่ชุดว่ายน้ำ) ซึ่งถ้าสังเกตพื้นหลัง จะมีรูปปั้นทูตสวรรค์ ตั้งใจจะฆ่าตัวตายทั้งทีกลับเลือกสะพาน Ponte Sant’Angelo ที่มีทวยเทพเฝ้าอยู่ ผมมองเป็นการประชดประชัน ตายแบบนี้คงยังได้ขึ้นสวรรค์แน่แท้

แซว: กินอิ่มๆแล้วไปว่ายน้ำเนี่ย อาจถึงตายจริงๆนะครับ ผมเคยแค่กินอิ่มแล้วปั่นจักรยาน มันต้องเกร็งหน้าท้อง เกือบจะอ๊วกพุ่ง จุกเสียดทรมานมากๆ

นี่ก็เป็นอีกฉากหนึ่งที่สื่อตรงๆถึงความไม่สนใจในศาสนาของตัวละคร/ผู้กำกับ, เมื่อ Accattone เดินเรื่อยเปื่อยมาจนพบเห็นขบวนแห่งานศพ เดินนำโดยบาทหลวง ตัวเขาหยุดยืนหันมองแล้วเดินสวนทิศทางตรงข้ามแบบไม่แยแสสนใจ ผ่านเด็กชาย-หญิงที่ก็ยืนมองแต่ยกมือทำเครื่องหมายกางเขน แสดงความเคารพนึกถึงพระผู้เป็นเจ้า

คนไทยอาจไม่ค่อยเข้าใจฉากนี้เท่าไหร่ เปรียบเทียบตรงๆกับพระสงฆ์เดินบิณฑบาตตอนเช้า, คนที่เคารพศรัทธาในพุทธศาสนา โดยมารยาทก็จะหลบหลีกทาง แสดงอาการสำรวม ยกมือพนมไหว้ แต่กับคนที่ไม่ก็มักเดินผ่านแบบไม่แยแส เป็นที่น่าหงุดหงิดคับข้องใจสำหรับผู้พบเห็นเสียเหลือเกิน

ทำไมหนังของ Pasolini ชอบให้ตัวละคร เดิน เดิน เดิน เสียเหลือเกิน? การเดินเปรียบได้กับการออกค้นหา มุ่งสู่เป้าหมายปลายทาง ในที่นี้ย่อมสื่อถึง ‘walking life’ การดำเนินไปของชีวิต/เรื่องราวของหนัง ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นสภาพบ้านเมือง พื้นหลังประเทศอิตาลีในทศวรรษ 60s อันเต็มไปด้วยความเสื่อมทรุดโทรม ปรักหักพัง เวิ้งว้างว่างเปล่า (ดั่งชีวิตที่ไร้จุดหมายปลายทาง)

ฉากนี้นี่เต็มๆเลยละครับ Stella ตั้งใจจะเดินตรงเข้าโบสถ์ San Felice da Cantalice a Centocelle (Church of Saint Felix of Cantalice
at Centocelle) แต่กลับถูก Accattone ขัดขวางทางไว้ ใช้คำพูดหว่านล้อมเกลี้ยกล่อมจนเธอยอมติดตามเขาไป นี่ต้องเรียกว่าจอมมาร ซาตานแล้วกระมัง ถึงกล้าชักจูงเบี่ยงเบนชี้ชักนำคนอื่นให้เห็นผิดในลักษณะนี้!

ท่านอนของ Accattone ก็ดูเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อไหร่คุณรับชม Mamma Roma (1962) ผลงานถัดไปของ Pasolini จะรับรู้ว่านี่คือลายเซ็นต์ของผู้กำกับ ต้องการสื่อถึงภาพวาด Lamentation of Christ หรือชื่อเล่น The Dead Christ ผลงานของ Andrea Mantegna (1431 – 1506) จิตรกรสัญชาติอิตาเลี่ยน ในยุคสมัย Italian Renaissance

ท่านอนแห่งความตายของพระเยซูคริสต์ = พยากรณ์จุดสิ้นสุดของ Accattone ที่จะบังเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ภาพวาด Lamentation of Christ (ประมาณ 1475 – 1501)

ส่วนใหญ่คงคาดเดาได้ว่า จังหวะภาพซ้อนของ Accattone ขณะกำลังนอนหลับระส่ำระสายบนเตียง กับเดินอยู่ริมขอบสะพาน เป็นการแทนด้วยจินตนาการฝันถึงความตายของตนเอง แต่เชื่อว่าหลายคนอาจไม่รู้จุดจบของฝันอยู่ตรงไหน? คือตอนภาพ Tilt Up พบเห็นวิวทิวทัศน์ของเทือกเขา (ชายคนหนึ่งกำลังขุดหลุมฝังศพ)

เมื่อตื่นจากความฝัน จะมีชายคนหนึ่ง (ตำรวจ/สายตรวจ) ถือหนังสือพิมพ์เดินเข้ามา จับจ้องมอง Accattone เดินออกจากบ้าน แต่เหมือนว่าเขาจะเลิกทำงานแล้ว ตั้งใจหวนกลับไปเป็นแมงดา ร่วมกับเพื่อนอีกสามคนลากรถเข็นเพื่อจะใช้ขนเงิน (กำลังมองหาว่าจะขโมยของใคร)

จะมีภาพช็อตนี้ Close-Up สายตาของนายตำรวจ/สายสืบกวาดมองจากซ้ายไปขวา สื่อความถึงการจับจ้อง เฝ้าสังเกตพฤติกรรมแสดงออกของ Accattone ถือว่าอยู่ในข่ายกำลังจะถูกจับกุมตัว ซึ่ง Montage ช็อตจากนี้ ก็มักเป็นการแพนนิ่ง (สอดคล้องกับการกลอกสายตา) ของตัวละครเดินจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่งเสมอ

พบเห็นภาพช็อตนี้ ชวนให้หวนระลึกถึง Bicycle Thieves (1949) สภาพหมดสิ้นหวังของแมงดาทั้งสาม ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปกับชีวิตดี, แต่ผมเพิ่งมานึกได้ว่า พบเห็นช็อตลักษณะนี้ในหนังของ Charlie Chaplin เรื่องอะไรน้า??

กับคนที่ช่างสังเกต มันจะมีขณะที่ตัวละครหนึ่งเดินเข้ามานั่งข้างๆ แล้ว Accattone เงยหน้าขึ้นมอง มุมกล้องเหมือนว่าจะไม่ตรงกับทิศทางสายตา/ตำแหน่งที่ตัวละครเดินเข้ามา … นี่เป็นการสร้างสัมผัสบทกวี คล้ายๆกับ The Passion of Joan of Arc (1928) ของ Carl Theodor Dreyer นักแสดงไม่ได้หันเงยหน้า จับจ้องมองสบตาใครคนอื่น แต่ใช้ทิศทางมุมกล้องเป็นตัวกำหนดมอง

ตัดต่อโดย Nino Baragli (1925 – 2013) ยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Pasolini และ Sergio Leone อาทิ The Gospel According to Saint Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968) ฯ

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Accattone แทบทั้งหมด รวมถึงในความฝัน ด้วยเทคนิค Cross-Cutting ซ้อนภาพเพื่อให้เกิดสัมผัสแห่งจินตนาการ จบลงด้วยการแพนกล้องขึ้น (Tilt Up) ตื่นลุกจากที่นอน

การแทรกภาพสายตา กลอกไป-มาของตำรวจ/สายตรวจ นี่ไม่ใช่เปลี่ยนมุมมองเล่าเรื่องนะครับ แต่เป็นสร้างสัมผัสให้ผู้ชมรับรู้สึกถึง มีใครบางคนกำลังจับจ้องมอง Accattone เหมือนพวกแอบถ้ำมอง แค่ว่าคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เท่านั้นเอง (นี่แปลว่า ตำรวจในสายตาของ Accattone เปรียบเสมือนโจรผู้ชั่วร้าย)

สำหรับเพลงประกอบ ทั้งเรื่องตัดแบ่งเป็นท่อนๆจาก St Matthew Passion (1727) ประพันธ์โดย Johann Sebastian Bach เป็นแนว Passion Music หรือ Christian Music เรียบเรียงโดยอ้างอิงจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ซึ่งบทเพลงนี้นำจาก Gospel of Matthew บทที่ 26-27 บรรเลงด้วย 2 วงออเครสต้า คู่กับ 2 วงประสานเสียง มีความยิ่งใหญ่อลังการถึงที่สุด

ผมเองก็ไม่เคยฟังบทเพลงนี้หรอกนะ และมันก็ยาวเกือบๆ 3 ชั่วโมง เลยหมดความใคร่สนใจ ถึงได้รับการยกย่องว่าคือ Masterpiece แห่ง Sacred Music ก็เถอะ จะขอพูดถึงเท่าที่ได้ยินในหนังก็แล้วกัน

บทเพลงมักดังขึ้นระหว่างที่ตัวละครกำลังเดินเหินเรื่อยเปื่อย (ค้นหาเป้าหมายชีวิตที่ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า) ถูกกระทำชำเรา ใช้ความรุนแรง พบเจอสิ่งชั่วร้าย ฯ ราวกับเพื่อให้เกิดสัมผัสระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าในช่วงเวลาเวิ้งว้างว่างเปล่า ซึ่งผมมองว่านี่คือการประชดประชันล้อเลียนของผู้กำกับ มนุษย์เรามักคิดถึงบิดาผู้ให้กำเนิดเมื่อถึงตอนทุกข์ยากลำบาก เท่านั้นนะหรือ??

ดังเด่นชัดตอน Accattone กำลังนอนหลับฝัน บทเพลงมอบสัมผัสถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต จากนั้นตัดขวับเงียบลง ซ้อนภาพตัวเขากำลังเดินริมขอบสะพานแห่งความเป็น-ตาย, ทั้ง Sequence นี้จะไม่มีเพลงประกอบดังขึ้นเลย แต่เมื่อตื่นขึ้นจะหวนกลับมาได้ยินอีกครั้ง เรียกว่า Requiem น่าจะได้

จะมีครั้งหนึ่งของหนังที่ไม่ได้ใช้บทเพลง St Matthew Passion คือตอนร้านอาหารริมน้ำ เสียงเป่าแซ็กโซโฟน ดนตรี Jazz คงต้องการสร้างบรรยากาศของชีวิต สัมผัสของโลกมนุษย์ อันเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา

Accattone ถือเป็นตัวแทนของประเทศอิตาลีในยุคสมัยนั้น (ต้นทศวรรษ 60s หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) มีสภาพไม่ต่างจากแมงดา โสเภณี หัวขโมย อาชญากร ประชาชน/รัฐบาลเต็มไปด้วยความคอรัปชั่นคดโกงกิน ใช้พวกพ้องหมู่มากร่วมหัวเล่นงานบุคคลผู้อ่อนแอกว่าหรืออยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง ประสบพบสิ่งชั่วร้ายต่างๆมากมาย ไหนละพระเจ้าผู้ทรงธรรมในดินแดนใกล้ชิดติดสำนักวาติกัน จับต้องไม่ได้สักนิดราวกับหามีตัวตนไม่

ค่อนข้างชัดเจนทีเดียวว่าหนังเรื่องนี้มีลักษณะ Anti-Fascism และ Anti-Christian อคติของผู้กำกับ Pasolini ไม่เชื่อในอำนาจเผด็จการ หรือการมีตัวตนของพระผู้เป็นเจ้า/สิ่งเหนือธรรมชาติ เกิดกว่าความสามารถในการสัมผัสรับรู้มองเห็นของตนเอง

แม้ประเทศอิตาลีขณะนั้นจะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยสาธารณรัฐ แต่พรรคการเมืองประกอบด้วย Christian Democracy (DC), Italian Socialist Party (PSI), Italian Communist Party (PCI) ต่างฝ่ายพยายามสาดโคลนเทสีใส่ศัตรูคู่แข่ง สร้างอคติขัดแย้งให้กับประชาชน ใครขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลก็จะกดขี่ข่มเหง คอรัปชั่นโกงกิน ความโชคร้ายเลยตกกับคนชนชั้นล่าง กรรมกรแรงงาน (และคนที่ไม่ทำงาน) ให้มีชีวิตอย่างเหน็ดเหนื่อยหน่าย ทุกข์ยากลำบากแสนเข็น

การวัดความเจริญของประเทศ/คุณภาพชีวิต โดยปกติบรรดาสำนักสำรวจ/โพลส่วนใหญ่แล้ว มักคำนวณจาก GDP ตัวเลขนำเข้า-ส่งออก เงินเก็บจากภาษี ฯ แต่จริงๆแล้วสิ่งที่ควรใช้เป็นดัชนีชี้วัดคือ สถานะทางการเงินของคนชนชั้นล่าง/กรรมกรแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ปริมาณโสเภณี รายได้จากธุรกิจค้ามนุษย์/ผิดกฎหมาย สถิติอุบัติเหตุอาชญากรรม หรือแม้แต่ปีๆหนึ่งมาม่า/ปลากระป๋องขายได้เท่าไหร่ ถ้าปริมาณเพิ่มสูงมากแสดงว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ (คนไม่มีเงินซื้ออาหารการกิน จำต้องบริโภคสิ่งของราคาถูก ประหยัดค่าใช้จ่าย)

แต่ก็แน่ละสิ่งที่ผมกล่าวมามันวัดเป็นตัวเลขจับต้องได้เสียที่ไหน คือความรู้สึกของคน (ความเห็นส่วนตน) สภาพทั่วไปที่พบเห็นตามท้องถนน โสเภณี หัวขโมย อาชญากร ก็แบบหนังเรื่องนี้ ใช้วิธีนำเสนอถ่ายทอดสภาพสังคม ท้องถนนของประเทศอิตาลี สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ประเทศชาติ แม้จะเพียงแค่เศษเสี้ยวมุมหนึ่งระดับจุลภาค ก็สามารถใช้อธิบายความจริงมวลรวมมหภาคได้แทบทั้งหมด

ในความตั้งใจของ Pasolini สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการแยกตัวเองออกจากกลุ่ม Neo-realism แต่เพราะความคล้ายคลึงที่ดูยังไงก็ยังเหมือนอยู่ ด้วยพัฒนาการทางรูปแบบวิธีคิดจึงถูกเรียกว่า รุ่นสอง (Second-Generation) ของ Neo-realism อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ออกฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice ได้เสียงตอบรับที่รุนแรงแตกแยก เกิดการโต้เถียงถึงสามัญสำนึกของผู้กำกับ นักวิจารณ์มองไม่เห็นคุณธรรมจรรยาที่สอดแทรกอยู่ โดยเฉพาะเหตุผลการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำไมต้องนำเสนอสภาพสังคมอันเสื่อมโทรมเลวร้ายของประเทศอิตาลีต่อสายตาชาวโลก

สิ่งที่โดยส่วนตัวคลั่งไคล้สุดของหนัง คือท่าเดินสุดเก๋าเจ้งของ Franco Citti …. ไม่ใช่แล้ว!, คือพฤติกรรมแสดงออกของตัวละคร ชักชวนให้ครุ่นคิดตลอดเวลาว่า อะไรคือเหตุผลให้เขากลายเป็นเช่นนี้? มันจะมีวิธีการแก้ไขช่วยเหลือได้ไหม? และนัยยะแฝงสะท้อนถึงอะไรในประเทศอิตาลี?

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ศึกษาพฤติกรรมแสดงออกของตัวละคร ค้นหาข้อสรุปของตนเองให้ได้ว่าเพราะอะไร? ทำไม? มีวิธีการช่วยเหลือแก้ไขได้ไหม? และถ้าตัวเองกลายเป็น หรือตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะคล้ายๆกันนี้ ควรจะครุ่นคิดกระทำเช่นไร?

แนะนำคอหนัง Drama แฝงข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต, หลงใหลในบรรยากาศ Neo-realism, สนใจภูมิทัศน์ประเทศอิตาลี ในช่วงทศวรรษ 60s, แฟนๆผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini และนักแสดงนำ Franco Citti ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับพฤติกรรมของแมงดา หญิงสาวขายตัว เล่นการพนัน และบรรยากาศหนังอันตึงเครียด

TAGLINE | “Accattone ของผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini วิพากย์สภาพสังคมอิตาลีทศวรรษ 60s ได้อย่างเจ็บแสบกระสันต์”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: