Accident (1967) : Joseph Losey ♥♥♥♡
อุบัติเหตุทางกายไม่นานเดี๋ยวก็หาย แต่ความเจ็บปวดทางใจจากการถูกทรยศหักหลัง เจ้าหญิงในอุดมคติกลับมีพฤติกรรมสำส่อน นั่นจักตราฝังความทรงจำไม่รู้ลืมเลือน, คว้ารางวัล Grand Prix (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
ในการร่วมงานระหว่างผู้กำกับ Joseph Losey และนักเขียน Harold Pinter ภาพยนตร์ Accident (1967) เป็นเรื่องที่มักถูกมองข้าม (คะแนน IMDB แค่ 6.8) อาจเพราะความเชื่องช้าน่าหลับ ลำดับเรื่องราวที่กระโดดไป-มา (นำเสนอด้วยวิธีย้อนอดีต Flashback) และเนื้อหาเกี่ยวกับการทรยศหักหลัง คบชู้นอกใจ มักมากในกามคุณ ไม่เห็นมันจะมีสาระอะไร
แต่ถ้าใครเคยพานผ่านประสบการณ์คล้ายๆเดียวกัน -ผมเองก็คนหนึ่งละ- หญิงสาวเคยชื่นชอบหลงใหล พยายามขายขนมจีบ เพ้อใฝ่ฝันอยากครอบครองรัก แต่เบื้องหลังเธอกลับ xxx กับเพื่อนที่เรารู้จัก วันหนึ่งเมื่อรับทราบความจริง จิตใจแตกสลาย ร่างกายหมดสิ้นเรี่ยวแรง
การถูกทรยศหักหลังจากเพื่อนฝูง เป็นสิ่งที่ผกก. Losey หมกมุ่นคลุ้มคลั่งมาตั้งแต่สมัยยังอยู่สหรัฐอเมริกา เมื่อครั้นถูกองค์กร House Un-American Activities Committee (HCUA) สั่งแบน Hollywood Blacklist ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ต้องอพยพหัวซุกหัวซุนสู่ประเทศอังกฤษ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวมันไม่ใช่ ‘Accident’ เรื่องราวในหนังก็เปิดกว้างในการตีความ(อุบัติเหตุครั้งนี้)เช่นกัน
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Nicholas Mosley, 3rd Baron Ravensdale, 7th Baronet (1923-2017) นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ เกิดที่ London เป็นบุตรของนักการเมือง Sir Oswald Mosley ผู้ก่อตั้ง British Union of Fascists ซึ่งสนับสนุนท่านผู้นำ Benito Mussolini ส่งบุตรชายเข้าศึกษายัง Eton College ตามด้วย Balliol College, Oxford จบสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ด้วยความเห็นต่างทางการเมืองกับบิดา จึงเข้าร่วมพรรคแรงงาน British Labour Party, เขียนนวนิยายเล่มแรก Spaces of the Dark (1951)
งานเขียนของ Mosley มักทำการสำรวจทางศีลธรรม (Morality) แฝงจิตวิทยา ผสมเข้ากับปรัชญา มักนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต รวมถึงการเผชิญหน้าความตาย มักมีโครงสร้างการดำเนินเรื่องซับซ้อน ชอบการเล่าย้อนอดีต (เพราะมันสามารถสะท้อนสภาวะทางจิตใจตัวละครได้เป็นอย่างดี)
สำหรับนวนิยาย Accident (1965) อาจไม่ใช่ผลงานประสบความสำเร็จนักของ Mosley แต่คือเรื่องสำคัญที่ทำให้เป็นรู้จักในวงกว้าง (เพราะได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์), เรื่องราวของอาจารย์สอนปรัชญา Stephen แอบคบหาลูกศิษย์สาว Anna นำเสนอในลักษณะย้อนอดีต (Flashback) เพื่อค้นหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงกระทำการเช่นนั้น โดยเล่าถึงความสัมพันธ์อันเหินห่างกับภรรยา Rosalind
เกร็ด: ในนวนิยายจะไม่มีการประสบอุบัติเหตุทางกาย รถชน หรือเสียชีวิต แต่ต้องการสื่อถึง ‘อุบัติเหตุทางความสัมพันธ์’ ที่ทำให้ตัวละครได้รับบาดเจ็บ(สาหัส)ทางจิตใจ
Although ‘Accident’ is not an autobiographical novel, it does draw on many of my own experiences and observations. It is an attempt to explore the psychological and emotional dynamics that drive human behavior, particularly in the context of power imbalances and complex desires. I hope that readers will find in the novel a deep and nuanced exploration of these themes, and a richly drawn cast of characters who grapple with the complexities of the human heart.
Writing ‘Accident’ was an intense and challenging experience. I wanted to create a story that would engage readers on multiple levels, both intellectually and emotionally. At the same time, I wanted to explore some of the most profound and difficult questions that we face as human beings: questions about power, desire, and the nature of the self. I believe that the novel is a powerful and insightful exploration of these themes, and one that has resonated with readers for decades.
Nicholas Mosley
Joseph Walton Losey III (1909-84) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ La Crosse, Wisconsin เป็นเพื่อนร่วมชั้นมัธยม Nicholas Ray, เข้าศึกษาต่อคณะแพทย์ Dartmount College ก่อนเปลี่ยนมาสาขาการละคอน จากนั้นเขียนบท/กำกับละครเวทีที่ New York City ตามด้วย Broadway เคยเดินทางสู่สหภาพโซเวียตช่วงปี ค.ศ. 1935 มีโอกาสร่ำเรียนภาพยนตร์จาก Sergei Eisenstein รวมถึงได้พบเจอ Bertolt Brecht และ Hanns Eisler, อาสาสมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, และกำกับหนังเรื่องแรก The Boy with Green Hair (1947)
ด้วยความสนิทสนมกับผู้คนฝั่งซ้าย เคยสมัครเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงสนิทสนม Bertolt Brecht และ Hanns Eisler ช่วงต้นทศวรรษ 50s จึงถูกแบน Blacklist จาก House Un-American Activities Committee (HUAC) ไม่มีเงิน ไม่งาน เลยต้องอพยพย้ายสู่กรุง London เมื่อปี ค.ศ. 1953 กำกับหนังอังกฤษเรื่องแรก The Sleeping Tiger (1954), สำหรับผลงานที่ทำให้กลายเป็นตำนานประกอบด้วย The Servant (1963), King and Country (1964), Accident (1967), The Go-Between (1971) และ Monsieur Klein (1976)
ช่วงระหว่างสรรค์สร้าง Modesty Blaise (1966) ผกก. Losey ขอความช่วยเหลือจาก Harold Pinter ในการปรับแก้ไขบทภาพยนตร์ (ไม่ได้รับเครดิต) ระหว่างนั้นมีโอกาสพูดคุยถึงนวนิยายที่เพิ่งจัดจำหน่าย Accident (1965) ต่างแสดงความชื่นชอบหลงใหล เลยเกิดความสนใจร่วมงานกันอีกครั้ง
[Accident] one of the most remarkable books I have ever read.
Harold Pinter
Harold Pinter (1930-2008) นักเขียนบทละคร/ภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรมเมื่อปี ค.ศ. 2005, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Servant (1963), Accident (1967), The Go-Between (1971), The French Lieutenant’s Woman (1981), The Trial (1993), Sleuth (2007)
ไม่ใช่เรื่องง่ายในการดัดแปลงนวนิยายที่มีโครงสร้างซับซ้อน แต่ก็คงวิธีการเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) แบบเดิมไว้ ที่สำคัญคือต้องปรับแก้ไขเนื้อหาให้มีความคลุมเคลือ ไม่ประเจิดประเจ้อ เพื่อได้รับการอนุมัติผ่านกองเซนเซอร์
- ความสัมพันธ์ระหว่าง Stephen และ Anna จะมีความคลุมเคลือ ไคลน์แม็กซ์ของหนังก็ยังดูก้ำๆกึ่งๆว่าพวกเขามีเพศสัมพันธ์กันหรือไม่ ผิดกับในนวนิยายจะมีความชัดเจนว่าพวกเขาเกินเลยเถิดกันมานานแล้วด้วย
- ตัวละคร Charley ที่เป็นแค่เพื่อนเก่าในนวนิยาย กลายมามีบทบาทสำคัญในภาพยนตร์ บุคคลในอุดมคติที่ Stephen ครุ่นคิดอยากเป็น แต่จิตสามัญสำนึกค้ำคอตนเองเอาไว้
- สำหรับ William ในนวนิยายคือเพื่อนร่วมงานของ Stephen แต่ฉบับภาพยนตร์กลายมาเป็นลูกศิษย์ แฟนหนุ่มของ Anna รวมถึงประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต (ในนวนิยายไม่มีเหตุการณ์อุบัติเหตุใดๆ)
- เพิ่มเติมตัวละครถ่านไฟเก่า Francesca ของ Stephen ไม่ได้พบเจอกันมากว่าสิบปี
It’s not an easy book to adapt because there’s a lot of introspection. You have to convey a lot through the visual, which means you have to invent scenes that are not there, and you have to invent scenes that are there in a different form in the book. It’s very much a visual poem, I think.
เกร็ด: ระหว่างกำลังมองหาเงินทุน โปรดิวเซอร์ Sam Spiegel แสดงความสนใจในโปรเจคดังกล่าว แต่ผู้กำกับ Losey เกิดความระแวดระวัง เพราะก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกัน รับรู้ว่าอีกฝ่ายต้องผลักดันให้กลายเป็นภาพยนตร์ทุนสูง รวมดารา ซึ่งจะทำให้ตนเองสูญเสียอิสรภาพในการสร้างสรรค์ … ซึ่งระหว่างคุยงานบนเรือยอร์ชก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ (คาดหวังให้ Richard Burton รับบทแสดงนำ) ด้วยเหตุนี้ผกก. Losey เลยหาวิธีบอกปัดอย่างแสบกระสันต์ โดยปกติเป็นคนไม่สูบบุหรี่ แต่เมื่อ Spiegel ยืนซิการ์ราคา £12 ปอนด์ (เทียบค่าเงินปี ค.ศ. 2021 อาจสูงถึง £175-200 ปอนด์) หยิบขึ้นมาดูดสองปุ้น ทำสีหน้าขยะแขยง แล้วเขวี้ยงขว้างลงทะเล สร้างความไม่พึงพอใจจนอีกฝ่ายถอนตัวออกไป
เรื่องราวของ Stephen (รับบทโดย Dirk Bogarde) อาจารย์สอนปรัชญาแห่ง Oxford University แอบชื่นชอบลูกศิษย์สาว Anna von Graz (รับบทโดย Jacqueline Sassard) แต่พยายามหักห้ามใจตนเอง เพราะแต่งงานมีบุตรแล้วสอง ภรรยาตั้งครรภ์(คนที่สาม)กำลังใกล้คลอด เลยถูกกระแนะกระแหนโดยลูกศิษย์อีกคน William (รับบทโดย Michael York) ถ้าอาจารย์ไม่สนตนจะขอจีบเอง
วันหนึ่ง Stephen ตัดสินใจชักชวน Anna และ William มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน ปรากฎว่าเพื่อนร่วมงาน Charley (รับบทโดย Stanley Baker) จับพลัดจับพลูเดินทางมาร่วมด้วย ในตอนแรกๆก็ไม่รู้สึกผิดสังเกตอะไร แต่ระหว่างมึนเมาก็พูดพร่ำเรื่อยเปื่อย ก่อนหลายวันถัดมาถึงค้นพบความจริงบางอย่างที่สร้างความตกตะลึง คาดไม่ถึง
Anna ตัดสินใจหมั้นหมายจะแต่งงานกับ William แล้วจู่ๆอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้คร่าชีวิตอีกฝ่าย ไม่ห่างจากบ้านของ Stephen ซึ่งได้เข้าช่วยเหลือหญิงสาว พามายังห้องนอน เมื่ออยู่สองต่อสอง จากนั้น …
Sir Dirk Bogarde ชื่อจริง Derek Jules Gaspard Ulric Niven van den Bogaerde (1912-99) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ West Hampstead, London บิดามาเชื้อสาย Flemish ส่วนมารดาคือนักแสดงเชื้อสาย Scottish ส่งบุตรชายไปอาศัยอยู่ Glasgow ก่อนได้ทุนเข้าเรียนการแสดง Royal College of Arts แต่จบมาทำงานเป็นเด็กเสริฟชา ส่งของ สแตนอิน จนกระทั่งได้เป็นตัวประกอบสตูดิโอ Associated Talking Pictures, ช่วงหลังสงครามได้เซ็นสัญญา Rank Organisation โด่งดังกับ The Blue Lamp (1950), Doctor in the House (1954), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Joseph Losey ตั้งแต่ The Sleeping Tiger (1954), The Servant (1963), Modesty Blaise (1966), King and Country (1964), Accident (1967), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Song Without End (1960), Victim (1961), Darling (1965), The Damned (1969), Death in Venice (1971), A Bridge Too Far (1977) ฯลฯ
รับบท Prof. Stephen สอนวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัย Oxford University อายุย่างเข้าสี่สิบ แต่งงานมีครอบครัว บุตรชาย-สาว พร้อมน้องคนเล็กในครรภ์ แต่นั่นทำให้ชีวิตจืดชืดน่าเบื่อหน่าย โหยหาบางสิ่งอย่างตื่นเต้นเร้าใจ ตกหลุมรักลูกศิษย์สาว Anna ทีแรกก็กลัวๆกล้าๆ จนกระทั่งพบเห็นการกระทำของเพื่อนสนิท Charley จึงมิอาจอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป
Bogarde ถือเป็นตัวเลือกแรก ตัวเลือกเดียวของผกก. Losey ไม่ต้องการใครอื่น (อย่าง Richard Burton) เพราะเคยร่วมงานกันมาหลายครั้ง เข้าใจศักยภาพที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกภายในผ่านภาษากาย ด้วยการขยับเคลื่อนไหวเพียงน้อยนิด และเอ่ยปากชื่นชมด้วยว่าอาจเป็นบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด
Bogarde understood the part thoroughly, he was very exact and imaginative. He can express a great deal with very little movement. He knew what he was doing and the result is one of the finest performances I have ever seen on film.
Joseph Losey
จริงอยู่ที่บทบาท Stephen เล่นน้อยได้มาก (น่าจะเป็นตัวละครพูดน้อยที่สุดของ Bogarde แล้วกระมัง) เน้นถ่ายทอดความรู้สึกผ่านทางสีหน้า พยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูดี ปกปิดบังตัวตนธาตุแท้จริง แต่จิตใจโหยหาเสรีภาพ ตกหลุมรัก Anna เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา Charley จนเกิดความขัดย้อนแย้งภายใน
ผิดกับภาพยนตร์ The Servant (1963) ที่เต็มไปด้วยความคลุมเคลือ ลึกลับซับซ้อน ท้าทายผู้ชมค้นหาตัวตนแท้จริง ผมรู้สึกว่า Stephen คาดเดาความต้องการไม่ยากเท่าไหร่ (คือสนแต่จะร่วมเพศสัมพันธ์ Anna) และที่น่าผิดหวังคือการเป็นอาจารย์สอนปรัชญา กลับฉกฉวยโอกาสกับ Anna จริงอยู่เราสามารถมองในแง่ของการปลดปล่อย เสรีภาพทางเพศ หรือนัยยะการล้างแค้นเอาคืน แต่มันก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกขมขื่น หมดสูญสิ้นศรัทธา (ต่อทั้งบทสรุปและตัวละคร)
Mr. Bogarde does a powerful job of revealing the strong and not too scrupulous feelings of a man who has grown old and sour in a profession he no longer likes, and who has become bitter about the shift of intellectual and social currents that he can’t change. With that acid tongue of his, that look of melancholy in his eyes and that cynical shrug of his shoulders, Mr. Bogarde makes his professor a man of profound disillusion and sadness.
นักวิจารณ์ Bosley Crowther จากนิตยสาร The New York Times
Sir William Stanley Baker (1928-76) นักแสดงสัญชาติ Welsh เกิดที่ Ferndale, Glamorgan วัยเด็กมีความสนใจเพียงฟุตบอลกับต่อยมวย แต่เป็นอาจารย์ที่ค้นพบความสามารถด้านการแสดง เมื่อตอนอายุ 14 ระหว่างงานโรงเรียน ไปเข้าตาแมวมองจาก Ealing Studios ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์ Undercover (1943) นั่นเองทำให้ตัดสินใจหันมาเอาดีด้านการแสดง เริ่มจากเป็นตัวประกอบละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ แจ้งเกิดกับ The Cruel Sea (1953), Knights of the Round Table (1953), Helen of Troy (1955), รับบทนำครั้งแรก Hell Drivers (1957), ร่วมงานขาประจำผกก. Joseph Losey อาทิ Blind Date (1959), The Criminal (1960), Eva (1962), Accident (1967)
รับบทอาจารย์สอนโบราณคดี Charley เพื่อนสนิทของ Stephen เป็นคนมีชื่อเสียง เคยออกรายการโทรทัศน์ แต่งงานกับภรรยา Laura มีบุตรร่วมกันสามคน แต่หลังจากพบเจอตกหลุมรัก Anna ก็ตัดสินใจทอดทิ้งครอบครัว ร่วมรักหลับนอน พักอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยไม่สนความถูกต้องเหมาะสม หรือศีลธรรมทางสังคม
ผกก. Losey เคยร่วมงานกับ Baker มาแล้วหลายครั้ง จึงรับรู้ศักยภาพด้านการแสดงของอีกฝ่ายเป็นอย่างดี มีความคลุมเคลือ ชอบพูดคำแฝงนัยยะซ่อนเร้น เต็มไปด้วยความน่าฉงนสงสัย แต่ผมรู้สึกว่าภาพลักษณ์พี่แกดูแก่เกินแกงไปนิด ไม่ค่อยเหมือนเสือผู้หญิงสักเท่าไหร่ (ตรงกันข้ามคือดูเหมือน Family Man เสียมากกว่า)
อาจเพราะว่าผกก. Losey ต้องการให้ผู้ชมคาดไม่ถึงกับตัวละครนี้ ชายที่มีภาพลักษณ์เหมือนมนุษย์ครอบครัว ประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดัง แต่กลับไม่สามารถควบคุมความต้องการ(ทางเพศ) หมกมุ่นมักมากในกามคุณ ซึ่งยังทำให้ฝ่ายหญิงดูต่ำตม ร่วมเพศสัมพันธ์กับคนพรรค์นี้เนี่ยนะ!
Jacqueline Sassard (1940-2021) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nice, เข้าสู่วงการตอนอายุ 17 จากแสดงนำภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน Guendalina (1957), ติดตามด้วย March’s Child (1958), Three Murderesses (1959, The Magistrate (1959), Violent Summer (1959), แต่ผลงานได้รับการจดจำสูงสุดคือ Accident (1967), Les Biches (1968) หลังแต่งงานกับนักธุรกิจ ก็ถอนตัวออกจากวงการ
รับบท Anna von Graz und Leoben นักศึกษาสาวจาก Austria กลายเป็นที่หมายปองของบุรุษ เธอตกหลุมรัก William แต่กลับแอบร่วมเพศสัมพันธ์กับ Charley เมื่อความทราบถึง Stephen จึงถูกตีตราผู้หญิงสำส่อน ถึงอย่างนั้นเขากลับฉกฉวยโอกาส กระทำสิ่งอัปลักษณ์พิศดารอย่างที่สุด
I saw this young Italian girl, whom I thought was very good, and I thought she would be very good for the part of Anna. Jacqueline was perfect for the role of Anna. She’s beautiful, but in a rather unconventional way. She has a face that is both sensitive and mysterious, which is exactly what I wanted for the part.
Josep Losey
การแสดงของ Sassard อาจไม่ได้โดดเด่นนัก แต่ความงามของเธอมีเสน่ห์ที่ลึกลับ น่าหลงใหล เต็มไปด้วยลับลมคมใน ซึ่งเหมาะกับตัวละคร Anna ที่กำลังจะแต่งงาน William ลับหลังร่วมเพศสัมพันธ์กับ Charley … หนังไม่ได้พยายามอธิบายเหตุผลว่าทำไมตัวละครถึงกระทำการดังกล่าว ซึ่งนั่นทำให้ผู้ชมมักเหมารวมว่าคือพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ ไม่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักศีลธรรมทางสังคม
แน่นอนว่าพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ใช่สิ่งที่สังคม(ยุคสมัยไหน)ให้การยินยอมรับ แต่มันก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าผิดอะไร? ค่านิยมยุคสมัยใหม่มีคำเรียกว่า ‘เสรีภาพทางเพศ’ เพศสัมพันธ์คือการค้นหาเป้าหมายชีวิต ความต้องการของตนเอง … หรือจะมองว่าเธอคือตัวแทนวัยรุ่น Swinging London ก็ได้เช่นกัน
Jacqueline Sassard, as Anna, has a certain clear, simple beauty and a manner of quiet sincerity that is effective enough. But one misses a depth of feeling that ought to come from a girl who is described as having suffered something terrible.
นักวิจารณ์ Bosley Crowther จากหนังสือพิมพ์ The New York Times
ถ่ายภาพโดย Gerry Fisher (1926-2014) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่กรุง London โตขึ้นได้เป็นพนักงานบริษัท Kodak, หลังอาสาสมัครทหารเรือช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าทำงานยัง Alliance Riverside Studios เริ่มจากเป็นเด็กตอกสเลท, ผู้ช่วยตากล้องที่ Wessex Films, ก่อนย้ายมา Shepperton Studios ควบคุมกล้อง Bridge on the River Kwai (1957), และได้รับโอกาสจากผู้กำกับ Joseph Losey ถ่ายทำภาพยนตร์ Accident (1967), The Go-Between (1971), Monsieur Klein (1976), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Aces High (1976), Highlander (1986), The Exorcist III (1990) ฯ
แม้หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มสี (Eastmancolor) แต่ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากหนังนัวร์ บรรยากาศอึมครึม (ประมาณ 1/4 ถ่ายทำตอนกลางคืน) ฉากกลางวันก็มักถ่ายในเงามืด อีกทั้งยังมีการปรับโทนสีให้มีความเข้มๆ และใช้เฉดน้ำเงินสร้างสัมผัสหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สั่นสะท้านทรวงใน เพราะเรื่องราวสะท้อนสภาวะทางจิตใจ ด้านมืดของตัวละคร (พบเห็น Stephen ตั้งแต่ฉากแรกจนสุดท้าย)
นอกจากบรรยากาศหนังนัวร์ หลายๆฉากในหนังยังมีกลิ่นอาย Impressionist อย่างฉากล่องเรือ วันอาทิตย์วุ่นๆ งานเลี้ยงที่บ้านของ Stephen (และ William) รวมกลุ่มดื่มเหล้า เตร็ดเตร่ เล่นกีฬา สนทนาฮาเฮ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ชวนให้ผมระลึกถึงโคตรหนังสั้น A Day in the Country (1946) ของผู้กำกับ Jean Renoir อยู่ไม่น้อยเลยละ
สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนัง ประกอบด้วย
- St. John’s College, Oxford
- Magdalen College, Oxford
- บ้านของ Stephen ตั้งอยู่ยัง Norwood Farm Hall สุดถนน Elveden Road ในย่าน Cobham, Surrey
- คฤหาสถ์ครอบครัวของ William ตั้งอยู่ยัง Syon House ณ Syon Park ในย่าน Brentford, Middlesex
LINK: https://www.bfi.org.uk/features/accident-locations-joseph-losey-dirk-bogarde
หนึ่งในลายเซ็นต์ของผกก. Losey คือช็อตแรกระหว่าง Opening Credit มักถ่ายทำแบบ Long-Take ซึ่งสำหรับ Accident (1967) เหมือนจะเล่นง่ายด้วยการตั้งกล้องแช่ภาพ แล้วค่อยๆขยับเคลื่อนเข้าใกล้บ้านของ Stephen ที่ Norwood Farm Hall แต่ไฮไลท์นั้นคือ ‘Sound Effect’ เสียงอุบัติเหตุรถชน แม้ไม่พบเห็นภาพเหตุการณ์ กลับสามารถจินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล
นี่เป็นการอารัมบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ว่ากันตามตรงไม่ใครพบเห็น Accident แต่เราสามารถครุ่นคิดจินตนาการทั้งเหตุการณ์ รวมถึงความสัมพันธ์เปรียบได้ดั่งรถไฟชนกัน ความรักสาม-สี่เส้าที่โคตรจะมักม่วน สร้างความปั่นป่วนทรวงใน ท้าทายหลักศีลธรรมประจำใจ
หลังจาก Stephen ให้ความช่วยเหลือ Anna ลากพาตัวออกมาจากรถ สีหน้าท่าทาง ปฏิกิริยาแสดงออกของเธอดูล่องลอย (ชุดที่สวมใส่ก็เต็มไปด้วยขนนกฟูฟ่อง) ไม่รับรู้ตนเอง ลักษณะคล้ายๆอาการ Post-traumatic stress disorder (PTSD) นั่นเพราะเพิ่งพานผ่านเหตุการณ์อันเลวร้าย อุบัติเหตุ ประสบการณ์เฉียดตาย จึงยังไม่สามารถควบคุมสติให้หวนกลับมาเป็นปกติ
แต่สังเกตจากการไม่บอกเล่าเรื่องราวของเธอกับตำรวจ รวมถึงมุมกล้องจับจ้องเรียวขา มันช่างเต็มไปด้วยความน่าพิศวง ลับลมคมใน เหมือนมีบางสิ่งอย่างที่เขาซุกซ่อนเร้นไว้
ผลงานของผกก. Losey มักเต็มไปด้วย ‘Mise-en-scène’ โดยเฉพาะการจัดวางตำแหน่ง ทิศทางมุมกล้อง ระยะใกล้-ไกล ขยับเคลื่อนไหวเข้า-ออก แสงสว่าง-ความมืดมิด อย่างฉากให้การกับตำรวจทั้งสอง
- นายตำรวจคนหนึ่งเดินเข้ามาระยะประชิดหน้ากล้อง Stephen นั่งลงตำแหน่งห่างออกไป ซึ่งหนึ่งในประโยคสนทนา “Yours is the only house from some distance”. สื่อถึงระยะห่างนี้กระมัง?
- ระหว่างที่สลับมุมกล้องมาฟากฝั่ง Stephen มันจะพอดิบดีที่ตำรวจไม่มีคำถามอะไร
- นายตำรวจคนที่ยืนอยู่ ย้ายตำแหน่งไปตรงประตู ลักษณะเหมือนปิดกั้นทางออก ต้องการต้อนให้จนมุม ด้วยคำถามว่าผู้เสียชีวิตมีเป้าหมายอะไรถึงเดินทางมายังบ้านหลังนี้?
- คำตอบตะกุกตะกัก ลิ้นพันกันของ Stephen นี่ไม่ใช่อาการเศร้าโศกเสียใจ แต่แอบบอกใบ้ถึงลับลมคมใน รับรู้อยู่แก่ใจว่า William เดินทางมาหาเพราะอะไร แต่ปฏิเสธให้การแก่ตำรวจ เพราะต้องการปกปิดบางสิ่งอย่างเอาไว้
- นี่เป็นช็อตเดียวของทั้งฉากที่ถ่ายติดเฉพาะ Stephen เพื่อให้ผู้ชมสังเกตปฏิกิริยาท่าทางอย่างใกล้ชิด เกิดความตระหนักถึงลับลมคมในของคำตอบดังกล่าว
ลีลาการนำเสนอภาพเหตุการณ์ย้อนอดีต (Flashback) จะมีการไล่เรียงชุดภาพดังต่อไปนี้ …
- เริ่มจาก Stephen ยืนจ้องมองเรียวขาของ Anna ขณะเดียวกันมือข้างหนึ่งจับตรงลิ้นชัก สัญลักษณ์ของการปกปิด ซุกซ่อนเร้น บางสิ่งอย่างภายในนั้นกำลังจะถูกเปิดเผยออกมา
- ตัดไปภาพเรียวขาของ Anna ชักกระตุก ปัดรองเท้าขาว
- ก่อนหน้านี้ที่ Stephen ให้ความช่วยเหลือ Anna รองเท้าของเธอเคยย่ำเหยียบใบหน้า William
- และจากใบหน้าเปื้อนเลือด William ราวกับสามารถฟื้นคืนชีพ มีรอยยิ้มอีกครั้ง (ในความทรงจำของ Stephen)
ภาพแรกของ Anna von Graz เดินผ่านลานกว้าง แวะเล่นกับแกะ ผมไม่แน่ใจว่าคือสัตว์สัญลักษณ์ราชวงศ์ ชนชั้นสูงหรือเปล่า เท่าที่ค้นพบข้อมูลคือตัวแทนอิสรภาพ ความสดใสร่าเริง ไร้กังวล (Carefree and Happy) บริสุทธิ์ผุดผ่อง สามารถเข้ากับคนอื่นโดยง่าย
ขณะที่บางเทพนิยาย Goat คือสัตว์เลี้ยงของซาตาน มักเกี่ยวกับตัณหา ราคะ ความต้องการทางเพศ (Sexual Desire) ซึ่งทั้งสามตัวละคร (Anna, William และ Stephen) ต่างหมกมุ่นมักม่วนในสิ่งๆเดียวกัน
ผมไม่คิดว่าใบหน้าของพวกเธอมีความละม้ายคล้ายกันหรอกนะ แต่การที่หนังสลับเปลี่ยนฉากด้วยการตัดภาพภรรยา Rosalind มายังลูกศิษย์สาว Anna นี่ก็ชัดเจนถึงความประทับใจของ Stephen พบเห็นทั้งสองคือบุคคลที่อยู่ในความสนใจ (Point-of-Interest) ต้องการอยากได้ ครอบครองเป็นเจ้าของ
ในห้องนั่งเล่น/อ่านหนังสือของคณะครูในมหาวิทยาลัย หนังจงใจนำเสนอให้มีความสงบ เงียบงัน บรรยากาศคร่ำครึ ช่างเต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่าย จนกระทั่ง Charley อ่านข้อความที่สร้างความตื่นเต้น ระริกระรี้ แต่กลับไม่มีใครกล้าแสดงความสนใจออกมาสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นสังเกตจากสีหน้าคณาจารย์ แทบทุกคนเหมือนพยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่างไว้ภายใน
A statistical analysis of sexual intercourse amoung students …
Charley
ซีเควนซ์การล่องเรือในลำธาร มันช่างมีความโรแมนติก/อีโรติก กระตุ้นราคะยิ่งนัก! เริ่มจากร้อยเรียงชุดภาพผ่านมุมมองสายตา Stephen พบเห็น William กำลังผลักดันเรือ จากนั้นจับจ้องเรือนร่าง Anna เลื่อนจากเรียวขามาถือหน้าท้อง คลอประกอบด้วยเสียงแซ็กโซโฟน … อยากยิ่งจะอดกลั้นฝืนทน เลยต้องแสร้งว่ากระโดดลงน้ำ!
นี่เป็นสองช็อตที่นำเสนอความแตกต่างระหว่างชาย-หญิง ตามบริบททางสังคมยุคสมัยนั้น
- ขณะที่ลูกศิษย์ชาย William ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมจาก Stephen แถมยังดื่มไวน์ ชวนกินเหล้า
- ตรงกันข้ามกับลูกศิษย์สาว Anna นั่งลงกับพื้น ส่วนอาจารย์ Stephen ยืนค้ำหัวโด่เด่ แสดงถึงอิทธิพล รวมถึงความต้องการควบคุม ครอบครอง เป็นเจ้าของอีกฝั่งฝ่าย … จะมองว่าเธอเป็นวัตถุทางเพศ ‘object of desire’ ก็ได้เช่นกัน
แวบแรกผมแอบนึกถึง Citizen Kane (1942) แต่ครุ่นคิดไปมาห้องครัว-สวนหลังบ้าน สามารถสื่อถึงภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ สิ่งที่แสดงออก-ความจริงถูกปกปิดซ่อนเร้น แค่การละเล่นโยนลูกบอลเข้า-ออก ผ่านหน้าต่าง ก็สามารถตีความได้ไกลโขทีเดียว
ระหว่างที่ทุกคนกำลังยืน-นั่ง-นอน ดื่ม-กิน พูดคุยเล่นอยู่สวนหลังบ้าน Charley ก็พร่ำเรื่องเล่าที่มีความล่อแหลม ลับลมคมใน ฟังดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ทั้งหมดล้วนคือเหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริงกับทั้ง Stephen และตัวของเขาเองอย่างตรงไปตรงมา
- ขณะที่ William และ Rosalind (ภรรยาของ Stephan) ไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงใดๆจากเรื่องเล่าดังกล่าว
- Stephan จะเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต เพราะมันสะท้อนความเพ้อฝันที่อยากกระทำ (ยังไม่ได้ตระหนักความสัมพันธ์ Charley กับ Anna
- และ Charley กับ Anna ต่างรับรู้ว่าเบื้องหลังความจริง!
นั่นรวมถึงการพูดถึงแมลงวัน แต่ทั้งๆ William ยืนกรานไม่พบเห็นสักตัว แต่มันคือสัญลักษณ์ของบุคคลที่เป็นส่วนเกิน สร้างความหงุดหงิดน่ารำคาญ นั่นเพราะบุรุษทั้งสามต่างครุ่นคิดอยากอยู่สองต่อสองกับ Anna (ใครอื่นเลยเปรียบดั่งแมลงวัน)
การถ่ายภาพถ่ายลอดใต้หว่างขา โดยปกติแล้วมักสื่อสัญลักษณ์ทางเพศ ในบริบทนี้ไม่ได้หมายความว่า Charley ใคร่สนใจอะไรกับ William (ที่ยืนอยู่ใต้หว่างขา) แต่เป็นการแสดงอำนาจ(ทางเพศ)ที่เหนือกว่า (เสียงเครื่องดนตรีฮาร์ป ก็ช่วยสร้างสัมผัสแห่งสรวงสวรรค์ ราวกับฉันคือเทพเจ้า ยิ่งใหญ่เหนือใครใต้หล้า)
นั่นเพราะ Charley เล่นอยู่ฟากฝั่งเดียวกับ Anna และภายหลังเปิดเผยว่าพวกเขายังเคยร่วมเพศสัมพันธ์ (การตีลูกเทนนิสใส่ฝ่ายหญิง สามารถตีความถึงการโจมตีทางเพศ(สัมพันธ์)ได้เช่นกัน) ขณะที่คู่แข่งทั้งสอง William กับ Stephen ทำได้เพียงหยอกล้อ เกี้ยวพา และตีโต้กลับมาเท่านั้น
มีช็อตมหัศจรรย์ที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น Stephen ชักชวน Anna ไปเดินเล่น ระหว่างเดินผ่านท้องทุ้ง จากแสงแดดที่เคยสว่างจร้า ค่อยๆปกคลุมด้วยเงามืด(จากก้อนเมฆ) ตอนถ่ายทำน่าจะโคตรๆบังเอิญ โชคดีอย่างสุดๆ แต่เราก็สามารถตีความนัยยะภาพนี้ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเธอที่เริ่มต้นสวยหรู กลับกำลังมุ่งสู่หายนะตอนจบ
ระหว่างอยู่ในป่าดงพงไพร Stephen ตัดสินใจเดินหลบใยแมงมุม ตรงกันข้ามกับ Anna ตรงเข้าหาแล้วทำลายมัน โดยไม่ใคร่สนอะไรทั้งนั้น นี่สามารถสะท้อนถึง …
- Stephen เป็นคนปฏิบัติตามขนบกฎกรอบ ไม่ชอบทำอะไรนอกคอก มักหลีกเลี่ยงปัญหา ปฏิเสธการเผชิญหน้า
- Anna ถือเป็นคนหัวขบถ ไม่ชอบอยู่ในกฎกรอบ พร้อมเผชิญหน้า กล้าท้าทาย กระทำทุกสิ่งอย่างตอบสนองความสนใจ ไม่ยินยอมการถูกควบคุมครอบงำโดยใคร
รั้วแห่งนี้ และมือที่ไม่สามารถเอื้อมสัมผัส คือสุดขอบเขตที่ Stephen ไม่สามารถก้าวข้ามผ่าน ออกสู่ทิวทัศน์ธรรมชาติ เสรีภาพของชีวิต เพราะมันคือกฎกรอบ สามัญสำนึกทางศีลธรรมที่ห้อมล้อมรอบ ฉุดเหนี่ยวรั้งความต้องการของเขาไว้ พยายามหักห้ามใจไม่ให้เกินเลยเถิดไปไกลกว่านี้
ตลอดทั้งซีเควนซ์ระหว่าง Stephen กับ Francesca แทบไม่พบเห็นพวกเขาขยับปากพูดคุยสนทนา (ได้ยินเหมือนเพียงเสียงบรรยายของทั่งคู่) ดนตรีแจ๊ส เสียงแซ็กโซโฟน สร้างสัมผัสโรแมนติก แต่ทุกสิ่งอย่างดูล่องลอยเหมือนฝัน อย่างฉากร้านอาหารล้วนถ่ายทำจากภายนอกหน้าต่าง (ไม่มีเข้าไปถ่ายภายในร้าน) เพื่อจะสื่อว่านี่เป็นเพียงช่วงเวลาหวนระลึกความหลัง ถ่านไฟเก่าคุกรุ่น แต่พวกเขาไม่มีทางกลับมาครองรักกันได้อีก
- อพาร์ทเม้นท์ของ Francesca ตั้งอยู่ยัง 40 Bedford Square, Bloomsbury ซึ่งอยู่ติดๆกับบ้านของผู้เขียนนวนิยาย Sir Anthony Hope Hawkins (1863-1933) เจ้าของผลงานดัง The Prisoner of Zenda (1894)
- ส่วนร้านอาหาร (Pub & Restaurant) ชื่อว่า The Admiral Codrington ตั้งอยู่ยัง 17 Mossop Street, London ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการ แต่มีการปรับปรุงร้านจนไม่หลงเหลือสภาพเดิมอีกต่อไป
เกร็ด: นักแสดงที่รับบท Francesca คือ Delphine Seyrig (1932-90) สัญชาติ Lebanese-French โด่งดังจากภาพยนตร์ Last Year at Marienbad (1961) ซึ่งคือหนึ่งในเรื่องโปรดของผกก. Losey ความงามของเธอประดุจรูปปั้น เทพธิดา ดูราวกับเธอคือผู้หญิงในอุดมคติของ Stephen (และผกก. Losey)
หลังดื่มด่ำกับการหวนระลึกความหลัง เมื่อกลับมาบ้าน Stephen ก็ได้พบเห็นภาพบาดตาบาดใจ เริ่มจากใครก็ไม่รู้เดินกำลังลงบันได เงามืดปกคลุมใบหน้าของเอาไว้ แต่ไม่นานก็เฉลยว่าคือ Charley นี่เขายังไม่กลับบ้านอีกหรือ?? จากนั้นพบเห็นอีกคน เรือนร่างเหมือนหญิงสาว ใช้เงาปกปิดใบหน้าเช่นกัน
ผมรู้สึกว่าการใช้เงาขณะนี้ดูไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไหร่ แต่ผกก. Losey อาจต้องการสร้างความลึกลับ คลุมเคลือ (เพราะคงมีคนดูไม่ออก ตระหนักไม่ได้แน่ๆว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น) จากนั้นถึงค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็ก แล้วปล่อยจินตนาการผู้ชมให้เตลิดเปิดเปิงไปไกล
ปฏิกิริยาของ Stephen เมื่อรับรู้ความจริงที่บังเกิดขึ้น คือเข้าห้องครัวไปทอดไข่ ซึ่งสามารถตีความได้หลากหลาย
- ตอกไข่/ไข่แตก คือบางสิ่งอย่างภายในจิตใจได้แตกสลาย พังทลาย, เมื่อลงกระทะเดือดปุดๆ เหมือนอารมณ์พลุกพร่าน เต็มไปด้วยความอัดอั้น ติดอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่าง Charley และ Anna ยังไม่รู้จะหาหนทางออกเช่นไร
- ผมมองไข่ คือสัญลักษณ์แทนเพศหญิง Anna เพราะหลังจากเทใส่จาน Charley กลับแย่งมารับประทานก่อน (คือได้ร่วมเพศสัมพันธ์ก่อน) จากนั้นถึงค่อยมาถึง Stephen กินได้แค่คำสองคำก็ทอดถอนหายใจ ไม่ใคร่อยากทานของเหลือผู้ใด (สื่อถึงอคติต่อผู้หญิงสำส่อน มองเป็นยัยตัวร้าย หมดสิ้นศรัทธา/ความรักต่อ Anna)
การสนทนาระหว่าง Stephen และภรรยา Rosalind สังเกตว่าพวกเขานั่งหันคนละฟากฝั่ง ทิศทางตรงกันข้าม บางครั้งก็ตัดสลับมุมมอง (ฝั่งบ้านพัก-ริมทะเลสาป) นั่นแสดงให้เห็นถึงความครุ่นคิดเห็นที่แตกต่าง ขณะกำลังซุบซิบนินทาความสัมพันธ์ Charley กับชู้รัก Anna
ความคิดเห็นของ Rosalind เต็มไปด้วยอคติ คำด่าทอ อารมณ์เกรี้ยวกราด ทั้งๆไม่ใช่เรื่องของตนเอง ไม่ได้รับรู้ตื้นลึกหนาบาง กลับตัดสินใจคนอื่นเพียงเปลือกภายนอก ไม่เคยเอาใจเขามาใส่ใจเรา! ขณะเดียวกันคำพูดของเธอล้วนจี้แทงใจดำ Stephen เพราะตัวเขาก็ไม่ได้ดีเด่นไปกว่า Charley และเช่นกันกับ Rosalind เหมือนด่าตัวเอง ไม่เคยรับรู้ว่าสามีก็มีพฤติกรรมเฉกเช่นเดียวกัน!
เกร็ด: Vivien Merchant (1929-82) นักแสดงที่รับบท Rosalind คือภรรยาของนักเขียนบท Harold Pinter
ระหว่างการสนทนากับภรรยา Rosalind จะมีการแทรกภาพอดีตซ้อนอดีต (Flashback within Flashback) เมื่อครั้น Stephen แวะเวียนไปเยี่ยมเยียน Laura (ภรรยาของ Charley) ขณะนั้นฝนตกพรำ พบเห็นเธอกำลังจัดสวน ภาพถ่ายผ่านม่านน้ำพุ และดอกไม้บาน … ราวกับว่าเธออาศัยอยู่ในโลกแฟนตาซีของตนเอง ไม่ได้ใคร่สนใจพฤติกรรม(คบชู้สู่สาว)ของสามี
William ชักชวน Stephen มาที่คฤหาสถ์ของครอบครัวที่ Syon House ร่วมละเล่นสองเกมที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม
- ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าชื่อเกมกีฬาอะไร แต่มีลักษณะคล้ายๆ Eton wall game (เกมประจำวิทยาลัย Eton College) เปลี่ยนมาทำการละเล่นภายใน (Indoor) สองฝ่ายต้องใช้กำลังพุ่งชนเพื่อแก่งแย่งลูกบอลที่ดูเหมือนหมอนข้าง และมี Stephen เป็นผู้รักษาประตู ปราการด่านสุดท้ายไม่ให้ลูกบอลมาถึงเส้นชัย
- ผมมองนัยยะฉากนี้คือการต่อสู้ภายในจิตใจ โดย Stephen คือตัวแทนศีลธรรม (SuperEgo) ที่คอยปกป้องไม่ให้สันชาติญาณ(Id, ลูกบอล)ก้าวข้ามผ่านเส้นประตู ได้รับชัยชนะในการแข่งขัน
- กีฬาภายนอก (Outdoor) ชื่อว่า Cricket จะไม่มีการปะทะใดๆ ฝ่ายหนึ่งโยนบอล อีกฝ่ายหนึ่งตีลูก ซึ่งเกมนี้ Stephen ไม่ได้ลงเล่น มีเพียง Charley เหมือนจะเป็นคนตีลูก
- นี่ย่อมสะท้อนถึงการแข่งขันเกี่ยวกับความรัก Charley แม้อายุมาก/แต่งงานแล้ว แต่ก็ยังพร้อมเป็นผู้เล่น ขณะที่ Stephen เพียงนั่งเหม่อมองอยู่ข้างสนาม
หลังจาก Stephen (นั่งอยู่บนเก้าอี้) รับรู้การหมั้นหมายระหว่าง William กับ Anna (นั่งอยู่บนพื้นหญ้า นี่ไม่ได้แสดงถึงวิทยฐานะหรือความต่ำต้อยด้อยค่า ผมมองว่าคือการยกย่อง ให้เกียรติ แทนการขอบคุณที่ทำให้ทั้งสองได้หมั้นหมาย) หนุ่ม-สาวจึงออกวิ่งไปจ้ำจี้ ส่วนเขาทำได้เพียงติดตามมาถึงบริเวณเส้นขอบสนาม ไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปไกลกว่านี้ Charley ที่นั่งด้านหลังเก้าอี้ก็เช่นเดียวกัน … หนุ่มใหญ่ทั้งสองไม่สามารถก้าวข้ามความสัมพันธ์กับ Anna ไปมากกว่าชู้รัก
หลังจากพยายามใช้กำลังกับ Anna แต่เธอกลับดิ้นรนขัดขืน เขาจึงเดินออกจากห้องอย่างขมขื่น กล้องถ่ายผ่านราวบันได แสดงถึงสภาพจิตใจที่ถูกควบคุมขัง ยังไม่สามารถฝืนเอาชนะข้ออ้างศีลธรรมที่ค้ำคอตนเองไว้
แต่ไม่ทันไรเขาก็เดินมาตรงราวบันได กล้องเลื่อนขึ้นถ่ายภาพมุมเงยเห็นเพดาน นี่คือช่วงเวลาที่เขาสามารถตัดสินใจก้าวข้ามผ่าน ดิ้นออกมาจากกรงขัง ไม่มีอะไรสามารถพันธนาการเหนี่ยงรั้ง ช่างหัวแม้ง! แล้วตัดสินใจเดินกลับเข้าห้องนอน เพื่อไป … ซึ่งคราวนี้อีกฝ่ายเหมือนจะยินยอมพร้อมใจ
การปีนป่ายข้ามกำแพง(กลับเข้ามหาวิทยาลัย)ครั้งนี้ของ Anna ไม่ได้สื่อถึงการก้าวข้ามอะไรใดๆ แต่เป็นการหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น หลังจากนี้เธอตัดสินใจเก็บข้าวของ แพ็กกระเป๋า เตรียมตัวออกเดินทาง ขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน Austria ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับผู้ชายเหล่านี้อีกต่อไป
ซึ่งหลังจาก Anna เดินลับหายไป ตัดภาพมาทารกน้อยที่เพิ่งคลอดของ Rosalind สามารถสื่อถึงการถือกำเนิด เริ่มต้นชีวิตใหม่ (ทั้ง Anna และ Stephen ต่างตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ ถึงเวลาแยกย้ายทางใครทางมัน)
เช่นกันกับเริ่มต้น-สิ้นสุดหนัง สลับสับเปลี่ยนกลางคืน-กลางวัน ภาพถ่ายบ้านพักของ Stephen ยัง Norwood Farm Hall และยังได้ยินเสียง ‘Sound Effect’ อุบัติเหตุ(รถชน)สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าในเชิงรูปธรรม-นามธรรม กายภาพ-จิตภาพ และจักคงตราฝังอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืมเลือน
แซว: หลายคนอาจจะตีความอุบัติเหตุคราวนี้ อาจเกิดจากเจ้าสุนัขที่เพิ่งวิ่งออกนอกเฟรมไป (นี่อาจคือสาเหตุเดียวกับตอนต้นเรื่อง ก็ได้กระมัง)
ตัดต่อโดย Reginald Beck (1902-92) สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ St. Petersburg, Russian Empire พออายุ 13 ครอบครัวถึงเดินทางกลับอังกฤษ, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เริ่มมีชื่อเสียงจากการตัดต่อ In Which We Serve (1942), Henry V (1944), Hamlet (1948), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Joseph Losey ตั้งแต่ The Gypsy and the Gentleman (1958), Eva (1962), Modesty Blaise (1966), Accident (1967), The Go-Between (1971) ฯ
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง/ความทรงจำของ Stephen ส่วนใหญ่คือการเล่าย้อนอดีต (Flashback) สำหรับทบทวนอดีต อธิบายเหตุผลของสิ่งที่เขากำลังจะกระทำในปัจจุบัน ตั้งแต่ได้ยินเสียงอุบัติเหตุ ให้ความช่วยเหลือ Anna พาเธอขึ้นห้อง ก่อนที่จะตัดสินใจฉกฉวยโอกาส … และเรื่องราวหลังจากนั้น
- อารัมบท,
- ค่ำคืนดึกดื่น Stephen ตื่นขึ้นมาหลังได้ยินเสียงอุบัติเหตุ ให้ความช่วยเหลือ Anna แล้วโทรศัพท์ติดต่อตำรวจ จากนั้นเริ่มหวนระลึกความทรงจำ
- แนะนำตัวละคร กิจวัตรประจำวัน
- กิจวัตรประจำวันของ Stephen กลางวันสอนหนังสือ ตกเย็นกลับบ้าน ยามว่างสนทนาเพื่อนร่วมงาน
- William ชักชวน Stephen ล่องเรือร่วมกับ Anna
- Stephen ชักชวน Willian และ Anna มารับประทานอาหารกลางวันที่บ้านวันอาทิตย์
- วันอาทิตย์ยุ่งๆ ณ บ้านของ Stephen
- ไม่เพียง William กับ Anna แต่ยังแขกไม่ได้รับเชิญ Charley ทำตัวเหมือนมีลับลมคมในบางอย่าง
- ดื่มเหล้า เตร็ดเตร่ เล่นกีฬา สนทนาฮาเฮ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
- สิ่งที่ถูกปกปิด ซุกซ่อนเร้น ได้รับการเปิดเผยออกมา
- Stephen เดินทางไป London ทีแรกเพื่อติดต่อธุระ แต่สุดท้ายกลับแวะเวียนไปหาคนรักเก่า Francesca
- เมื่อกลับมาบ้านพบเจอ William กับ Anna คาดเดาไม่ยากว่าเกิดอะไรขึ้น
- Stephen เดินทางไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้านของ William รับทราบข่าวการหมั้นหมายกับ Anna
- ปัจฉิมบท,
- ตัดกลับมาปัจจุบัน Stephen อยู่ในห้องนอนสองต่อสองกับ Anna ก่อนตัดสินใจฉกฉวยโอกาส
- วันถัดมา Anna ตัดสินใจเก็บข้าวของ เตรียมตัวเดินทางกลับ Austria
I use the flashback technique very deliberately because I think it gives a great deal of freedom. It allows you to go right inside the character’s mind and see what he’s thinking about. It also enables you to tell a story non-chronologically, which is very interesting. I’ve always felt that life is like a spiral and you’re always coming back to the same things over and over again. So the flashback technique is a way of showing that.
Joseph Loset
ปล. รับชมหนังในปัจจุบัน โครงสร้างการดำเนินเรื่องอาจไม่ได้มีความสลับสับซ้อนนัก ผู้ชมยุคสมัยนั้นเห็นว่าบ่นขรม เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำความเข้าใจการเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) ทำไมต้องทำให้ออกมาดูยุ่งยากวุ่นวายเพียงนี้
เพลงประกอบโดย Sir John Phillip William Dankworth (1927-2010) นักดนตรีแซ็กโซโฟน คาริเน็ต แต่งเพลงแจ๊ส และประกอบภาพยนตร์ เกิดที่ Woodford, Essex ในครอบครัวนักดนตรี ร่ำเรียนเปียโน ไวโอลินตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งอายุ 16 มีโอกาสรับฟังผลงานของ Benny Goodman, Charlie Parker เลยเกิดความสนใจแซ็กโซโฟนและดนตรีแจ๊ส เข้าศึกษายัง Royal Academy of Music, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอาสาสมัคร Royal Air Force เข้าร่วม RAF Music Services, หลังจากนั้นร่วมกับผองเพื่อนก่อตั้งวงดนตรี Johnny Dankworth and His Orchestra, ส่วนเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Saturday Night and Sunday Morning (1960), The Servant (1963), Darling (1965), Accident (1967) ฯ
แบบเดียวกับ The Servant (1963) งานเพลงของ Dankworth คละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย (Slow) Jazz มีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า เพื่อให้สอดคล้องการดำเนินเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ความที่เครื่องดนตรีฮาร์ป (Harp) มีเสียงนุ่มลึก เบาบาง กลมกลืนไปกับพื้นหลัง น้อยคนคงทันสังเกตฟัง เกิดความเข้าใจผิดว่ามีแต่ Sound Effect หรือเพียง ‘diegetic music’ ซึ่งสร้างบรรยากาศตึงเครียดได้เข้มข้นกว่า
สำหรับเสียงแซ็กโซโฟน สามารถเทียบแทนจิตวิญญาณของ Stephen เสียงลมหายใจลากยาวคืออาการโหยหา ใคร่อยากได้เธอมาครอบครอง แต่แล้วกลับประสบพบเจอเหตุการณ์พิลึกพิลั่น นำมาซึ่งความขัดแย้งภายใน ก่อนตัดสินใจกระทำการบางอย่าง โดยไม่สนห่าเหวอะไรอีกต่อไป
Accident (1967) พยายามนำเสนอข้ออ้าง เหตุผล คำอธิบายของ Prof. Stephen (ด้วยวิธีการเล่าเรื่องย้อนอดีต Flashback) ทำไมถึงตัดสินใจฉกฉวยโอกาสกับลูกศิษย์สาว Anna von Graz หลังเธอประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กระทำสิ่ง’ดูเหมือน’ขัดต่อหลักศีลธรรม ความถูกต้องเหมาะสมทางสังคม
Stephen ชายวัยกลางคนที่ถือว่ามีชีวิตสมบูรณ์แบบ แต่วันๆกลับรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหน่าย โหยหาสิ่งสร้างความตื่นเต้นท้าทาย ในตอนแรกเพียงแอบชื่นชอบลูกศิษย์สาว ไม่เคยคิดก้าวล่วงเลยเถิด เพราะถูกศีลธรรมทางสังคมค้ำคอ แต่เมื่อถูกกระตุ้น หยอกเย้า พบเห็น Charley เป็นต้นแบบอย่าง รวมถึงรับรู้พฤติกรรมสำส่อนทางเพศของ Anna นั่นคือจุดแตกหักที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมความต้องการ(ทางเพศ)ของตนเองได้อีก! … หนังใช้การเล่าเรื่องย้อนอดีต Flashback เพื่อนำเสนอสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ตัวละครกระทำการเช่นนั้น
ผู้ชมที่อยู่ฟากฝั่งอนุรักษ์นิยม ย่อมแสดงความคิดเห็นต่อพฤติกรรมของ Anna รวมถึง Charley และ Stephen ว่ามีความขัดแย้งต่อหลักศีลธรรม อ้างว่าขัดต่อกฎหมาย (เรื่องการคบชู้นอกใจ) โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างลูกศิษย์-อาจารย์ โคแก่กินหญ้าอ่อน คือสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม
แต่สำหรับฟากฝั่งเสรีชนมันมีความก้ำๆกึ่งๆ เยอะแยะถมไปที่เราจะตกหลุมรักคนมีเจ้าของ ครุ่นคิดอยากครอบครอง Anna ก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ บรรลุนิติภาวะ เธออาจมีปัญหาทางบ้าน โหยหาบุคคลพึ่งพักพิง(เสี่ยเลี้ยง)อย่าง Charley ขณะเดียวกันตกหลุมรัก William เลยหมั้นหมายแต่งงาน (ความรักกับเพศสัมพันธ์ถือเป็นคนละสิ่งอย่างกัน) … เหล่านี้คือสามารถเรียกว่า ‘เสรีภาพทางเพศ’ สิทธิในร่างกาย ฉันอยากร่วมเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้ และถือเป็นตัวแทนยุคสมัย Swinging London
ลองมองย้อนกลับทางฟากฝั่ง Stephen ปากอ้างว่ารักภรรยา แต่เมื่อมีโอกาสเดินทางไป London นัดพบเจออดีตคนรักที่ถ่านไฟเก่ายังคุกรุ่น พฤติกรรมดังกล่าวก็เลวร้ายพอๆกับความสัมพันธ์ Charley และ Anna แต่เมื่อมองในมุมมองบุรุษเพศ ข้ออ้างทางศีลธรรมเหล่านั้นกลับดูไม่ใช่สิ่งเลวร้ายสักเท่าไหร่ (นี่วิเคราะห์ในบริบทสมัยก่อนที่บุรุษยังถือเป็นช้างเท้าหน้า แอบซุกเมียยังไม่เลวร้ายเท่าภรรยาหลายใจ)
ชื่อหนัง Accident นอกจากจะสื่อถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์ ยังคืออุบัติเหตุของความสัมพันธ์สาม-สี่เส้า ถ้าเรียกแบบไทยๆคือ(อุบัติเหตุจาก)รถไฟชนกัน สามบุรุษตกหลุมรักหนึ่งหญิงสาว
- William ได้ความรัก แต่ต้องตกตาย
- Charley ร่วมเพศสัมพันธ์ แต่มิได้ครอบครองจิตใจ
- ส่วน Stephen ไม่ได้รับโอกาสอะไร แถมยังพยายามข่มขืนใจเธออีก ถึงอย่างนั้นกลับสามารถเติมเต็มความต้องการของตนเอง
การร่วมงานระหว่าง ผกก. Losey กับนักเขียน Pinter มักนำเสนอเรื่องราวที่สร้างปม Trauma ให้ตัวละคร ซึ่งสะท้อนประสบการณ์ตรง เมื่อครั้นถูกผองเพื่อนทรยศหักหลัง องค์กร House Un-American Activities Committee (HCUA) สั่งแบน Hollywood Blacklist ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ต้องอพยพหัวซุกหัวซุนสู่ประเทศอังกฤษเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
ชัดเจนมากๆกับตัวละคร Charley (คล้ายๆ Hugo Barrett เรื่อง The Servant (1963)) เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด เคยสนิทสนมชิดเชื้อ แล้ววันหนึ่งค้นพบว่าเป็นคนทรยศพวกพ้อง … ลัทธิล่าแม่มดของ HCUA มักใช้วิธีการบีบบังคับให้ชี้ตัวเพื่อนร่วมขบวนการ เพื่อตนเองจักได้รอดพ้นการถูก Blacklist ซึ่งผกก. Losey ก็โดนเพื่อน(เคย)สนิทชี้ตัว แต่เขาปฏิเสธให้การซักทอดต่อใคร
ตัวละคร Anna von Graz ผมรู้สึกว่าไม่แตกต่างจาก Charley เธอคือบุคคลที่ทรยศความรู้สึกของ Stephen ซึ่งการฉกฉวยโอกาสของเขา แง่มุมหนึ่งดูเหมือนการล้างแค้นเอาคืน … หรือก็คือผกก. Losey ครุ่นคิดอยากโต้ตอบกลับ HCUA แต่ก็ทำได้แค่ปู้ยี้ปู้ยำในสื่อภาพยนตร์เท่านั้นแล
ด้วยทุนสร้างประมาณ £300,000 ปอนด์ แม้จะสามารถคว้ารางวัล Grand Prize of the Jury (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่กลับไม่ได้รับความนิยมจากผู้ชมสักเท่าไหร่ ในอังกฤษทำเงินเพียง £40,010 ปอนด์ เรียกได้ว่าขาดทุนอย่างย่อยยับ
- Cannes Film Festival (Palme d’Or ปีนั้นตกเป็นของ Blow-Up (1966)
- คว้ารางวัล Grand Prize of the Jury เคียงคู่กับ I Even Met Happy Gypsies (1967)
- Golden Globe Award
- Best English-Language Foreign Film พ่ายให้กับ The Fox (1967) จากแคนาดา
- BAFTA Award
- Best British Film พ่ายให้กับ A Man for All Seasons (1966)
- Best British Actor (Dirk Bogarde)
- Best British Screenplay
- Best British Art Direction, Colour
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ High-Definition โดย BFI National Archive ร่วมกับ StudioCanal และ Optimum Releasing เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2013 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย StudioCanal และ Kino Lorber
ระหว่างรับชมผมไม่ได้ชื่นชอบหนังสักเท่าไหร่นะ รู้สึกว่ามันเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า แต่พอความจริงบางอย่างเปิดเผยออกมา มันก็ปลุกตื่น เจ็บแปลบทรวงใน คุ้นๆว่าตนเองเคยพานผ่านประสบการณ์คล้ายๆเดียวกัน เลยเกิดความหลงใหล ประทับใจขึ้นมาเล็กๆ
เรื่องราวของหนังมองผิวเผินเหมือนไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไร แต่ก็ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิดถึงความถูกต้องเหมาะสม ตั้งคำถามจิตสามัญสำนึกทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างครู-ลูกศิษย์ โคแก่กินหญ้าอ่อน เสรีภาพทางเพศของอิสตรี ทำไมเรามักอิจฉาริษยาคนพรรค์นี้?
จัดเรต 15+ (ในเครดิตหนังขึ้นเรตติ้ง 16+) กับเรื่องรักๆใคร่ๆ คบชู้นอกใจ ความสัมพันธ์ขัดแย้งต่อศีลธรรม
Leave a Reply