Ace in the Hole (1951)
: Billy Wilder ♥♥♥♥
Kirk Douglas รับบทนักข่าวขี้เมา ถูกถีบส่งจากเมืองใหญ่มาจมปลักอยู่ที่ดินแดนไกลปืนเที่ยง Albuquerque, New Mexico คาดหวังสักวันจะได้ไต่เต้ากลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ ใช้โอกาสนี้ด้วยการทำข่าวชายคนหนึ่งติดอยู่ใต้ถ้ำดินถล่ม กำลังรอคอยการช่วยเหลือ แต่กลับกลายเป็น The Big Carnival ผู้คนจากทั่วประเทศหลั่งไหลแห่เดินทางมาให้กำลังใจเชียร์ … เพื่อ!, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
นี่เป็นภาพยนตร์ที่นักวิจารณ์ทั้งเกลียดและชื่นชอบ กล่าวคือ หนังตีแผ่ความไร้จรรยาบรรณของนักข่าวได้อย่างเจ็บแสบ สมจริงจังที่สุด ทำให้ภาพลักษณ์ของสื่อสารมวลชนป่นปี้ย่อยยับเยิน แต่เพราะคุณภาพยอดเยี่ยมระดับสมบูรณ์แบบ มันเลยกลายเป็นที่ชื่นชอบ คลั่งไคล้ เหนือกาลเวลา
แต่เท่าที่ผมอ่านบทวิจารณ์จากหลายๆสำนัก ต่างพูดถึงปัญหานี้ว่าเกิดจากจรรยาบรรณของนักข่าวล้วนๆ มองข้ามสาเหตุต้นตอที่แท้จริง นั่นคือสามัญสำนึก สันดานของมนุษย์ ‘ถ้าไม่มีเหยื่อ แร้งมันจะมาจิกกัดกินได้อย่างไร’ ถ้าคนเราบริโภคข่าวอย่างมีสติครุ่นคิดใตร่ตรองด้วยวิจารณญาณ ย่อมน่าจะครุ่นคิดกันได้ หาใช่แห่กันไปไทยมุง ทำพรือ! นี่ไม่ใช่เรื่องของมโนธรรม หรือความเห็นอกเห็นใจ แต่คือการ ‘เกาะกระแส’ อยากเด่นอยากดังมีส่วนร่วม
คือมันก็ไม่ผิดอะไรที่คนเราอยากเสือก เสนอหน้า ดิ้นรนเข้าไปส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญๆ แต่เมื่อมองในมุมสายตาคนนอก พวกเขาเหล่านั้นต่างคือ’ทาส’ของสิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยม ทำหน้าเหลอหลา จักได้ป่าวประกาศให้โลกได้รับรู้จักการมีตัวตนของตนเอง
Samuel ‘Billy’ Wilder (1906 – 2002) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austria-Hungary เกิดในครอบครัวชาว Jews ที่ Sucha Beskidzka (ในอดีตคือ Germany ปัจจุบันคือประเทศ Poland) มีความชื่นชอบสนใจในวัฒนธรรมอเมริกัน โตขึ้นอพยพย้ายมาอยู่อเมริกาในปี 1933 เปลี่ยนชื่อเป็น Billy เริ่มต้นทำงานใน Hollywood ด้วยการเป็นนักเขียน มีผลงานดังคือ Ninotchka (1939) หนังแนว Screwball Comedy โดยผู้กำกับชาวเยอรมัน Ernst Lubitsch นำแสดงโดย Greta Garbo, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคือ The Major and the Minor (1942) อีกสองปีถัดมามีผลงานฮิตเรื่องแรก Double Indemnity (1944) ตามมาด้วย The Lost Weekend (1945) หนึ่งในสิบเอ็ดเรื่องแรกที่คว้ารางวัล Grand Prix (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sunset Boulevard (1950), Sabrina (1954), Some Like It Hot (1959), The Apartment (1960) ฯ
เมื่อเดือนเมษายน 1949 ที่เมือง San Marino, California เด็กหญิงสาวอายุ 3 ขวบ Kathy Fiscus พลัดตกลงไปในหลุมลึก แต่การช่วยเหลือเป็นไปอย่างเชื่องช้ากินเวลาหลายวัน ผู้คนนับพันเดินทางมาเพื่อเป็นกำลังใจ แต่สุดท้ายก็ไม่ทันกาลเสียแล้ว นี่เป็นเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า ‘landmark event in American television history.’
หลังเสร็จจาก Sunset Boulevard (1950) ผู้กำกับ Wilder ก็เล็งโปรเจคนี้ต่อโดยทันที ร่วมกับ Walter Newman กับ Lesser Samuels พัฒนาบทภาพยนตร์ ซึ่งพวกเขาก็ได้ค้นพบอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1925 นักสำรวจถ้ำ W. Floyd Collins ติดอยู่ใต้ดินถล่มที่ Sand Cave, Kentucky ทำข่าวโดย William Burke Miller ประจำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Louisville Courier-Journal กลายเป็นข่าวโด่งดังระดับชาติ แม้สุดท้ายจะช่วยเหลือไม่ทันกาล แต่ก็เพียงพอให้คว้ารางวัล Pulitzer Prize สาขา Reporting
Chuck Tatum (รับบทโดย Kirk Douglas) นักข่าวหนุ่มถูกขับไล่ออกจากหนังสือพิมพ์ 11 แห่ง ด้วยพฤติกรรมยากเกินให้อภัย ลากรถเสียมาถึง Albuquerque, New Mexico ปักหลักอยู่ที่นี้เพื่อหาทางไต่เต้ากลับคืนสู่ความสำเร็จ ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Albuquerque Sun-Bulletin วันหนึ่งระหว่างกำลังเดินทางไปทำข่าว ล่างูหางกระดิ่ง (Rattlesnake Hunt) บังเอิญได้รับทราบเรื่องราวของ Leo Minosa (รับบทโดย Richard Benedict) ชายหนุ่มท้องถิ่นที่ติดฝังอยู่ในถ้ำ เห็นเป็นโอกาสดีถ่ายรูปส่งบทความไปให้บรรณาธิการ ไม่นานผู้คนจากทั่วทุกสารทิศแห่กันมาให้กำลังใจ กลายเป็นข่าวดังระดับชาติ
Kirk Douglas ชื่อจริง Issur Danielovitch (เกิดปี 1916) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Amsterdam, New York ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจาก Russia แม้ฐานะยากจนแต่ได้ทุนเข้าเรียน American Academy of Dramatic Arts รุ่นเดียวกับ Betty Joan Perske (ชื่อเดิมของ Lauren Bacall) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสมัครเป็นทหารเรือ ประจำเรือดำน้ำ USS PC-1137 ปลดประจำการเพราะได้รับบาดเจ็บ ได้รับคัดเลือก New Male Talent โดยผู้กำกับ Hal Wallis แสดงภาพยนตร์ The Strange Love of Martha Ivers (1946), ได้รับการจดจำในมาดชายถึก (Tough Guy) เรื่อง Champion (1949), Ace in the Hole (1951), The Bad and the Beautiful (1952), 20,000 Leagues Under the Sea (1954), Lust for Life (1956), Path of Glory (1957), Spartacus (1960) ฯ
ทั้งชีวิตเข้าชิง Oscar: Best Actor สามครั้งแต่ไม่เคยได้รางวัล Academy เลยต้องมอบ Honorary Award ให้เมื่อปี 1996 ในวโรกาสครบรอบ 50 ปีที่ทำงานอยู่ในวงการภาพยนตร์
รับบท Chuck Tatum นักข่าวขี้เมามากประสบการณ์ ผู้เต็มไปด้วย ‘Passion’ มากล้นเกินกว่าใครจะยินยอมรับได้ ความไร้จรรยาบรรณของเขาไม่ใช่การทำให้หัวข้อข่าวบังเกิดขึ้น แต่คือการบิดเบือน ครอบงำ คอรัปชั่น และพยายามยื้อซื้อเวลาให้ยาวนานที่สุด โดยไร้ซึ่งศักดิ์ศรี แถมยังเหยียดหยามเกียรติผู้อื่น กระนั้นเมื่อถึงจุดๆหนึ่งเมื่อกำลังพบเจอความล้มเหลว พยายามดิ้นรนเฮือกสุดท้ายก็สายเกินแก้ไข จมปลักอยู่ในหลุมเดียวกับหัวข้อข่าวของตนเอง
Douglas ขณะนั้นเซ็นสัญญาผูกขาดอยู่กับ Warner Bros. ได้รับการยืมตัวด้วยค่าจ้าง $150,000 เหรียญ แม้หนังจะไม่ทำกำไร แต่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของอาชีพ เพราะได้สร้างตัวละครที่มีมิติ เต็มเปี่ยมด้วย ‘passion’ อันกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว นอกเหนือมาดถึกบึกบึน (มีโชว์กล้ามด้วย)
นักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert ให้ข้อสังเกตลีลาการพูดของตัวละครนี้ ช่างสำบัดสำนวนยิ่งนัก เหมือนภาษาเขียน/บทกวี ที่มีสัมผัส จังหวะ ต่อเนื่องกัน
“I can handle big news and little news. And if there’s no news, I’ll go out and bite a dog.”
หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง Lookout Point Trading Post บนถนนสาย U.S. Route 66, ทางตะวันตกของ Gallup, New Mexico เสร็จสิ้นแล้วก็มอบให้เจ้าของที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป, สำหรับตัวประกอบ ก็ใช้บริการชาวเมือง Gallup น่าจะหลายพันคน ค่าจ้างชั่วโมงละ 75 Cents ตกวันละประมาณสิบชั่วโมง ถ้าเอารถมาด้วยจ่ายเพิ่มวันละ 3 ดอลลาร์
สำหรับฉากในถ้ำ สร้างขึ้นที่ Melrose Avenue, Paramount Studio ค่าก่อสร้างมูลค่า $30,000 เหรียญ
ถ่ายภาพโดย Charles Lang เจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Cinematography สูงสุดที่ 18 ครั้ง (เท่ากับ Leon Shamroy) คว้ามา 1 รางวัลจาก A Farewell to Arms (1932), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sabrina (1954), Some Like It Hot (1959), The Magnificent Seven (1960), One-Eyed Jacks (1961), How the West Was Won (1962), Charade (1963) ฯ
หนังมีความโดดเด่นในเรื่องการจัดองค์ประกอบ เลือกตำแหน่งภาพ และหลายครั้งเป็น Long-Take ยาวๆ กล้องมีการเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ (แทบทั้งหมดเป็นการฉายเดี่ยวของ Douglas)
จัดว่าเป็นหนังนัวร์ (film noir) เพราะเรื่องราวเป็นการตีแผ่ด้านมืด ความชั่วร้ายที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์ออกมา และผู้ชมจะพบเห็นพระเอกปรากฎอยู่ทุกฉากทุกซีน
นี่เป็นมุมกล้องถ่ายจากด้านบนเขา เห็นการจัดการ ปริมาณฝูงชนทั้งหมด ชวนให้ขนลุกซู่ทีเดียว กับเหตุการณ์แค่เนี้ยนะ กลายเป็น Carnival/The Circus โด่งดังระดับชาติไปแล้ว
ช็อตสุดท้ายของหนัง นี่เป็นการพยากรณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตัวละคร เลือกวางกล้องบนพื้นเงยขึ้นนิดๆ แล้วตัวละครตุปัดตุเป๋แล้วมาทรุดตัวล้มลง เห็นใบหน้าเต็มจอ ไม่ต้องขยับกล้องไปไหนอีกเลย
ตัดต่อโดย Arthur P. Schmidt ขาประจำของ Wilder ใช้มุมมองของ Chuck Tatum ทั้งหมดขณะอยู่ที่ Albuquerque ตั้งแต่มาถึงและจากไป
หนังมีการพยากรณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทั้งคำพูดและภาษาภาพยนตร์ ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นคำทำนายที่ถูกต้องยิ่งกว่าใบ้หวย ซึ่งถ้าคุณเลือกเชื่อตามที่ตัวละครบอกตั้งแต่แรก ก็แทบไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์สร้างความประหลาดใจให้เกิดขึ้นเลย กระนั้นถ้าคุณมีความลังเลใจไม่อยากจะเชื่อ คงมีแต่ความอึ้งทึ่งตกตะลึง มนุษย์เราเป็นได้ขนาดนี้เลยหรือนี่!
เพลงประกอบโดย Hugo Friedhofer สัญชาติอเมริกัน เชื้อสาย Germany ผลงานเด่น อาทิ The Best Years of Our Lives (1946), Joan of Arc (1948), Vera Cruz (1954), An Affair to Remember (1957), One-Eyed Jacks (1961) ฯ
เริ่มต้น Opening Credit กระหึ่มด้วยทำนองเพลงมีลักษณะหมดสิ้นหวัง นำพาตัวละครลงสู่ขุมนรกตายทั้งเป็น นี่มองได้เป็นการพยากรณ์เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน, ลักษณะของบทเพลงโดยรวม เป็นการเติมเต็มช่วงขณะที่ตัวละครไม่ได้มีการพูดคุย ให้สัมผัสที่สะท้อนอารมณ์นัวร์ของตัวละครออกมา
บทเพลง We’re Coming, Leo แต่งโดย Jay Livingston กับ Ray Evans
Ace in the hole เป็นสำนวนแปลว่า ไม้ตาย/ไพ่ตาย บางสิ่งอย่างที่การันตีชัยชนะ, จุดเริ่มต้นน่าจะมาจาก Poker มักจะมีไพ่ใบหนึ่งที่หมอบคว่ำอยู่ เรียกว่า ‘Hole Card’ ซึ่งรอบโต๊ะก็ต้องวัดดวงกันว่านั่นไพ่อะไร ซึ่งส่วนมากมักคือ Ace ไพ่ที่มีค่าสูงสุดของเกมนี้
สำหรับหนังเรื่องนี้ ไม่เห็นมีใครเล่น Poker กันสักเกม แต่สามารถให้ความหมายแบบตรงตัว
– Ace แปลว่า เด็ดดวง
– in the hole คืออยู่ในหลุม/ถ้ำ ถูกฝังอยู่
รวมแล้วแปลว่า มีบางสิ่งที่เป็นทีเด็ด ฝั่งติดอยู่ในถ้ำ ถ้าสามารถขุดขึ้นนำออกมาใช้ได้ ก็จะมีมูลค่ามากมายมหาศาลเหมือนขุมทองคำ
นี่เช่นกันสะท้อนถึงตัวตนของ Chuck Tatum นักข่าวมากด้วยฝีมือและประสบการณ์ แต่ทำตัวสำมะเลเทเมา ไร้ซึ่งจรรยาบรรณในอาชีพของตนเอง ด้วยเหตุนี้เลยถูกขับไสไล่ถีบส่งจนตกต่ำ ราวกับถูกฝังไว้ในถ้ำหลุม in the Hole (ถึงกายไม่ได้ฝังอยู่ แต่จิตวิญญาณของเขาติดอยู่ข้างในนั้น) ถ้าการครั้งนี้สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ ทั้ง Leo Minosa และ Tatum ก็จะได้หวนกลับคืนสู่โลกแห่งแสงสว่างของตนเอง
แต่ของแบบนี้ไม่ต้องใช้การพยากรณ์โดยผู้ทรงความรู้ก็สามารถคาดเดาได้ เพราะความเห็นแก่ตัว คอรัปชั่นของ Tatum ทำให้โชคชะตากรรมหวนคืนกลับสนองสู่ตนเอง นั่นทำให้เขาสูญเสียสิ้นความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง จิตวิญญาณได้ถูกกลบฝังตายไปพร้อมกับ Leo เพียงเพราะความดื่มด่ำหลงระเริง เมามายมากเกินไปกับชื่อเสียงความสำเร็จ จนมองข้ามสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ การยังมี ‘ชีวิต’ ของมนุษย์
กระนั้น Tatum ก็มีสถานะเพียงเหยื่อตนหนึ่งของสังคม เพราะผู้ร้ายตัวจริงก็คือเหล่าผู้บริโภคในโลกสมัยทุนนิยม ที่ต่างหลงใหลยึดติดในชื่อเสียง (เงินทอง) ความสำเร็จ ต้องการมีชื่อเสียง หน้าตาในสังคม กอบโกยโดยไม่รู้จักเผื่อแผ่ แสวงหาแต่ผลประโยชน์พึงพอใจส่วนตนเท่านั้น
โลกยุคสมัยนี้ มนุษย์ต่างมีค่านิยมความ ‘เห่อ’ ต้องการที่จะเร็วแรง วิ่งแข่งขันให้เข้าเส้นชัยก่อนผู้อื่น เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นคนเฉิ่มเฉยตกยุคล้าหลัง, สมัยเรียนผมเคยที่จะวิ่งตามนะ แล้วก็สะดุดล้มหลายครั้ง เจ็บตัวจนรู้สึกพอแล้วละ แต่ก็ไม่ได้ยกธงขาวยอมแพ้ เลือกเดินช้าๆแบบมั่นคงดีกว่า เพราะสิ่งที่จะก้าวไปกับเราด้วยคือสติรู้เท่าทัน นั่นเกิดเป็นความสุขที่อิ่มเอิบล้นภายในจิตใจ ถึงช้ากว่าแต่ก็ไม่เห็นเหนื่อยหอบอะไร ยังไปต่อได้อีกแสนไกล
สำหรับ Ace in the Hole ถ้าสร้างด้วยผู้กำกับชาวอเมริกัน การันตีว่าตอนจบย่อมต้องลงเอย Happy Ending พระเอกเสมือนว่าได้รับโอกาสครั้งที่ 2 (Second Chance) สามารถแก้ไขปรับปรุงตนเอง ทุ่มเทเสียสละกายใจจนประสบความสำเร็จ แต่เพราะผู้กำกับ Billy Wilder เป็นชาว Austrian จึงไม่ถูกกำหนดกฎกรอบด้วยแนวคิดของ Hollywood แถมก่อนอพยพมา เคยพบเห็นความโหดร้ายของสงคราม(โลกครั้งที่ 1) จึงปฏิเสธ American Dream สร้างภาพยนตร์ด้วยการสะท้อนด้านตรงกันข้าม เมื่อมีประสบความสำเร็จก็ต้องสามารถพบเจอความล้มเหลว ผลงานของเขาหลายๆเรื่องมุ่งเน้นนำเสนอขายจุดนี้ ที่มักมีความรุนแรงเจ็บปวด สะท้อนเสียดสีสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา รวดร้าวรานอย่างถึงที่สุด
ด้วยทุนสร้าง $1.8 ล้านเหรียญ ทำเงินได้เพียง $1.3 ล้านเหรียญ ขาดทุนกว่าเท่าตัว, สตูดิโอ Paramount คาดว่าเป็นเพราะชื่อหนังไม่น่าดึงดูด เลยมีการลักลอบเปลี่ยนเป็น The Big Carnival ออกฉายซ้ำ โดยที่ผู้กำกับ Wilder ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ แต่ก็ทำเงินเพิ่มได้อีกนิดหน่อยยังไม่คืนทุน ซึ่งผลงานถัดไป Stalag 17 (1953) ทำกำไรได้พอสมควร ถูกนำมากลบความเสียหายของหนังเรื่องนี้
หนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้าสองรางวัล
– International Award
– Best Score
เข้าชิง Oscar สาขาเดียง ไม่ได้รางวัล
– Best Writing, Story and Screenplay
แม้จะไม่ค่อยมีใครพูดถึงหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่แล้วในปัจจุบัน แต่ด้วยคุณค่าอันเหลือล้นกลายเป็นความคลาสสิก ‘เหนือกาลเวลา’ มิได้มีความเก่าเชยล้าสมัยแม้แต่น้อย แถมเรื่องราวลักษณะนี้ยังพบเห็นได้อยู่เรื่อยๆในปัจจุบัน
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ในไดเรคชั่นของ Billy Wilder กล้าที่จะจบแบบไม่แคร์ Hollywood สะท้อนเสียดสีจิตสำนึก จรรยาบรรณของมนุษย์ได้อย่างเจ็บแสบ กลายเป็นความเจ๋งโคตรๆแบบไม่เหมือนใคร
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” พยายามแยกแยะทำความเข้าใจให้ได้ว่า ความรู้สึกขื่นขมในปาก หรือความปั่นป่วนท้องไส้ ระหว่างการรับชมหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร? เมื่อหาคำตอบได้ ก็พยายามตัดเตือนตนเอง อย่าให้กลายเป็นส่วนหนึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์บางสิ่งอย่างขึ้นในชีวิต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักข่าว ผู้ทำงานสื่อสารมวลชนทั้งหลาย ครุ่นคิดตาม ค้นหา ‘จรรยาบรรณ’ ของตัวเองให้พบเจอ, แฟนๆผู้กำกับ Billy Wilder นักแสดงนำ Kirk Douglas ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับการกระทำที่ขาดจิตสำนึกของตัวละคร
ดูทรง โดน SNUB Oscar แน่ๆ (ผู้ชนะปีนั้น An American in Paris)
ไปอยู่แก๊งเดียวกันกับพวก Citizen Kane, High Noon, Sunset Boulevard, Double Indemnity, Anatomy of a Murder, ฯลฯ ได้เลย