Across the Universe (2007) : Julie Taymor ♥♥♥♡
The Beatles คือวงดนตรีชายล้วน จึงมักนำเสนอบทเพลงแห่ง ‘ความรัก’ ในมุมมองบุรุษ แต่ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Julie Taymor (Frida) เธอพยายามก้าวข้ามผ่านขอบเขตจำกัดนั้น ไม่สนเพศ อายุ เชื้อชาติ สีผิว หรือแม้แต่โลกความจริง-เพ้อฝัน ข้ามจักรวาลเพียงความจริงหนึ่งเดียวเท่านั้น
ครั้งแรกที่ผมรับชม Across the Universe (2007) ยังไม่ได้เป็นแฟนคลับ The Beatles ที่รับรู้จักมีเพียง Hey Jude พอได้ยินตัวละครชื่อ Jude ก็ตั้งหน้าตั้งตา ใจจดใจจ่อ เฝ้ารอคอย เชื่อว่าต้องได้ยินเพลงโปรดนี้อย่างแน่นอน แม้ต้องรอคอยจนช่วงท้ายก็ถือว่าโคตรคุ้มค่า
หวนกลับมารับชมรอบนี้ ผมรู้จักบทเพลงของ The Beatles เกือบๆครบหมดทุกอัลบัม ทั้งยังจากภาพยนตร์ 3-4 เรื่อง A Hard Day’s Night (1964), Help! (1965), Yellow Submarine (1968), Let It Be (1970) ซึ่งถือว่าจำเป็นมากๆ ถ้าคุณต้องการเข้าใจทุกสิ่งอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้
ความโดดเด่นของ Across the Universe (2007) คือการนำเสนอ ‘มุมมอง’ ต่อบทเพลงของ The Beatles ที่แตกต่างจากปกติทั่วไป ยกตัวอย่าง I Wanna Hold Your Hand ต้นฉบับมีท่วงทำนองสนุกสนาน รุกเร้าใจ แต่ผู้กำกับ Julie Taymor เลือกถ่ายทอดอารมณ์ซึมเศร้าสร้อย หวนโหยหา เจ็บปวดรวดร้าวใจ (อยากจะจับมือเธอแต่ก็ได้แค่จับจ้องมอง ความรู้สึกแบบบทเพลงในหนังน่าจะตรงกว่านะ)
แต่ปัญหาของหนังคือความมากเกินไป! ทั้งปริมาณบทเพลง (33-34 เพลง) ตัวละคร สัมพันธภาพแห่งรัก แทบทุกสิ่งอย่างคือ ‘Stereotype’ จนเนื้อเรื่องราวขาดความน่าติดตามสนใจ ไม่สามารถผสมผสานคลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างกลมกล่อม … ถึงอย่างนั้นแฟนพันธุ์แท้ The Beatles คงคลุ้มคลั่งไคล้ เพลิดเพลินไปกับบทเพลงโปรด และค้นหาจุดเชื่อมโยงสัมพันธ์ ‘Easter Egg’ ซ่อนเร้นเต็มไปหมด
Julie Taymor (เกิดปี 1952) ผู้กำกับภาพยนตร์ โอเปร่า ละครเวที สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Newton, Massachusetts ตั้งแต่เด็กมีความสนใจในละครเวที ตอนอายุ 10 ขวบเข้าร่วม Boston Children’s Theatre กลายเป็นนักแสดงอายุน้อยสุดของคณะ หลังเรียนจบมัธยมมุ่งสู่ Paris ร่ำเรียน L’École Internationale de Théâtre Jacques Lecoq วันว่างๆจึงมีโอกาสรับชมภาพยนตร์ของ Fellini, Kurosawa หวนกลับมาสหรัฐอเมริกาแสดงละครเวที จนได้รับโอกาสกำกับ ผลงานโด่งดังสุดคือฉบับ Broadway ของ The Lion King (1997), สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก Titus (1999) และแจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ Frida (2002)
จุดเริ่มต้นของ Across the Universe เกิดจากความครุ่นคิดของสองนักเขียนดูโอ้ Dick Clement และ Ian La Frenais ร่วมงานกันตั้งแต่กลางทศวรรษ 60s ซึ่งคือช่วงเวลาที่พวกเขาโปรดปรานมากสุด แต่เมื่อทุกสิ่งอย่างเคลื่อนเลยผ่าน อะไรๆค่อยๆถูกหลงลืมเลือน จึงต้องการนำเสนอเรื่องราว วิถีชีวิต ค่านิยมยุคสมัยนั้น The Beatles, สงครามเวียดนาม, วัยรุ่นหนีโลกด้วยการเสพกัญชา ฯลฯ ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์
ระหว่างพัฒนาบท Taymor ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับแฟนหนุ่มนักดนตรี Elliot Goldenthal เพื่อคัดเลือกบทเพลงของ The Beatles ที่จะนำมาใช้ประกอบหนัง รวมๆแล้วกว่า 33-34 บทเพลง ซึ่งก็ได้ทำการตีความใหม่ทั้งหมด
ช่วงทศวรรษ 1960s, เรื่องราวของชายหนุ่ม Jude (รับบทโดย Jim Sturgess) อาศัยอยู่ Liverpool ลักลอบขึ้นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก มุ่งสู่ New Jersey, สหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามค้นหาพ่อแท้ๆที่ทอดทิ้งไปตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ จับพลัดจับพลูพานพบเจอ Max (รับบทโดย Joe Anderson) นักศึกษา Princeton University เกิดความสนิทสนมชิดเชื้อ เลยกลายเป็นเพื่อนร่วมห้อง อาศัยอยู่ห้องเช่าของนักร้องหญิง Bohemian วัยกลางคน Sadie (รับบทโดย Dana Fuchs) ณ Greenwish Village
Lucy (รับบทโดย Evan Rachel Wood) มีความเป็นห่วงใยแฟนหนุ่ม Daniel อาสาสมัครทหารรับใช้ชาติยังสงครามเวียดนาม แต่เมื่อข่าวร้ายส่งมาถึง ร้องขอครอบครัวไปท่องเที่ยวพักผ่อนก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เลยมีโอกาสพบเจอ Jude ไปๆมาๆตกหลุมร่วมรักใคร่ ซึ่งพอพบเห็น Max ถูกบีบบังคับให้ต้องเกณฑ์ทหารโดยไม่สมัครใจ เข้าร่วมกลุ่มเดินขบวนต่อต้านสงคราม เป็นเหตุให้ทุกคนถูกจับกุมเข้าคุก ซึ่ง Jude โดนส่งตัวกลับประเทศ … แต่ด้วยรักและศรัทธา เขาจึงพยายามหาหนทางหวนกลับมา
James Anthony Sturgess (เกิดปี 1978) นักร้อง/แต่งเพลง นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Wandsworth, London หลังเรียนจบได้เป็นนักแสดงซีรีย์โทรทัศน์ กระทั่งแจ้งเกิดจากภาพยนตร์ Across the Universe (2007), ติดตามมาด้วย The Other Boleyn Girl (2008)
รับบท Jude ชายหนุ่มผู้ตัดสินใจทอดทิ้งบ้านเกิด Liverpool เพื่อแสวงโชคยังสหรัฐอเมริกา (การติดตามหาพ่อ ก็แค่ข้ออ้างหนึ่งเท่านั้น) ค่อยๆค้นพบความสนใจในการวาดรูป และตกหลุมร่วมรัก Lucy แต่เพราะความไม่เข้าใจเธอจึงทำให้ขัดแย้ง พลัดพรากแยกจากชั่วคราว แต่ก็ไม่มีอะไรพลัดพรากรักแท้ได้ชั่วนิรันดร์
เกร็ด: ชื่อ Jude ตั้งจากบทเพลง Hey Jude ซึ่งตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจเต็มๆจาก John Lennon พ่อทอดทิ้งแม่ไปตั้งแต่ยังเด็ก, ชื่นชอบการวาดภาพเปลือยของ Yoko Ono, ถูกจับขณะเดินประท้วงสงคราม ฯ
ภาพลักษณ์ของ Sturgess คือชายหนุ่มอ่อนวัยไร้เดียงสา ใสซื่อบริสุทธิ์ต่อโลก และมีความสุจริตในจิตใจ นั่นทำให้เมื่อตัวละครพานพบเห็นสิ่งเข้าใจผิด แสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธ ไม่ต่างอะไรกับเด็กน้อยเสียของเล่น (ทั้งๆไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงจังเลยสักนิด!)
Evan Rachel Wood (เกิดปี 1987) นักร้อง นักแสดง โมเดลลิ่งสัญชาติอเมริกัน เข้าสู่วงการตั้งแต่เด็ก จากซีรีย์ American Gothic (1995–96), ภาพยนตร์เรื่องแรก Digging to China (1998), ผลงานเด่นๆ อาทิ Thirteen (2003) Across the Universe (2007), The Wrestler (2008), The Ides of March (2011), ซีรีย์ Westworld (2016-) ฯ
รับบท Lucy หลังจากสูญเสียแฟนหนุ่มไปกับสงคราม ยังไร้เดียงสาเกินกว่ารับรู้ตัวจะแสดงออกเช่นไร เลยปล่อยตัวกายใจตกหลุมรัก Jude ขณะเดียวกันเมื่อพบเห็น Max ถูกบีบบังคับให้เกณฑ์ทหาร เกิดแรงผลักดันจาก Trauma ต้องการทำบางสิ่งอย่างให้สงครามบ้าๆนี้ยุติลง แต่นั่นสร้างความไม่เข้าใจต่อแฟนหนุ่มจนมีเรื่องให้ต้องแยกจากกัน
เกร็ด: ชื่อ Lucy ตั้งจากบทเพลง Lucy in the Sky with Diamonds
ผู้กำกับ Taymor น่าจะคัดเลือก Wood โดยดูจากหน้าตา ความสดใสเยาว์วัยเป็นหลัก ทั้งๆเธอมีทักษะฝีมือด้านการแสดงถือว่าใช้ได้ทีเดียว โดยเฉพาะฉากแสดงความกระอักกระอ่วนต่อการกระทำของแฟนหนุ่ม สีหน้าเต็มไปด้วยความผิดหวัง ท่าทางลุกรี้ลุกรน ไม่พึงพอใจอย่างมาก … คือหนังไม่ปล่อยให้การแสดงโดดเด่นไปกว่าเทคนิค/ไดเรคชั่นเล่าเรื่องอันน่าตื่นตระการตา
Joe Anderson (เกิดปี 1982) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการแสดง ถ่ายภาพ กีตาร์ และยิมนาสติก โตขึ้นเข้าเรียน Webber Douglas Academy of Dramatic Art จบออกมาได้เป็นนักแสดงละครเวที เจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Copying Beethoven (2006), Across the Universe (2007), สมทบ The Twilight Saga: Breaking Dawn – Part 2 (2012) ฯ
รับบท Max จากเคยเป็นนักศึกษา Princeton University ลาออกมาต้องการทำในสิ่งที่ตนสนใจ แต่กลับได้รับจดหมายสั่งให้ไปเกณฑ์ทหาร พยายามอย่างยิ่งจะหลบลี้หนีก็ไม่สำเร็จ หวนกลับมากลายเป็นหนึ่งในแกนนำต่อต้านสงครามเวียดนาม เป็นเหตุให้ถูกจับกุม ขณะกำลังจะใช้ความรุนแรงเข้าโต้ตอบ … โชคยังดีสามารถเอาตัวรอดมาได้
เกร็ด: ชื่อ Max ตั้งจากบทเพลง Maxwell’s Silver Hammer
ทีแรก Anderson ให้ความสนใจบท Jude แต่หลังจากอ่านบทเสนอตัวเองมีความเหมาะสมกับ Max มากกว่า ซึ่งก็ไม่ผิดเลย เป็นตัวละครที่โหยหาอิสรภาพ ไม่ชอบถูกใครบีบบังคับ/กักขัง พยายามดิ้นรนขัดขืน ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสนองความพึงพอใจส่วนตัวเท่านั้น
คู่รองของหนัง, Sadie (รับบทโดย Dana Fuchs) [จากบทเพลง Sexy Sadie] นักร้องหญิงวัยกลางคน สไตล์ Bohemian เจ้าของห้องเช่าของสองหนุ่ม ตกหลุมรักนักกีตาร์ผิวสี Jo-Jo (รับบทโดย Martin Luther McCoy) [จากบทเพลง Get Back] เข้าขากันดีบนเวที แต่ไม่รู้มีเรื่องอะไรให้เกิดความขัดแย้ง เป็นเหตุให้ต้องแยกทางกันชั่วครู่ แต่ช่วงท้ายก็หวนกลับมาหากัน … ถือว่าสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง Jude กับ Lucy ได้ตรงเผง!
Prudence (รับบท T.V. Carpio) [จากบทเพลง Dear Prudence] แม้ไม่พูดบอกออกมาตรงๆ แต่การร้องเพลง I Want to Hold Your Hand แล้วจับจ้องมองหญิงสาวคนหนึ่ง แสดงออกว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน โบกรถมาถึง New Jersey พานพบเห็นลุ่มหลงใหลในความแมนๆของ Sadie แต่เธอดันไปคล้องใจกับ Jo-Jo เลยตัดสินใจเข้าร่วมคณะละครสัตว์ของ Mr. Kite ได้แฟนสาวครองคู่สมใจอยากเสียที
ถ่ายภาพโดย Bruno Delbonnel สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Amélie (2001), A Very Long Engagement (2004), Inside Llewyn Davis (2013), Darkest Hour (2017) ฯ
สถานที่ถ่ายทำกว่า 70+ แห่ง นักเต้น 300+ คน เสื้อผ้า 5,000+ ชุด แล้วยังจะโมเดล ฉากแฟนซี CGI ฯ ทั้งหมดนี้เพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์สุดยิ่งใหญ่อลังการของผู้กำกับ Taymor นำพาผู้ชมดำดิ่งสู่โลกของ Psychedelic ผสมผสานความจริง+จินตนาการ แต่งแต้มด้วยเฉดสีสัน สวยเกินจริง
ตัดต่อโดย Françoise Bonnot (1939 – 2018) สัญชาติฝั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Z (1969), Army of Shadows (1969), The Tenant (1976), Missing (1982), Frida (2002) ฯ
ดำเนินเรื่องโดยมี Jude-Lucy คือจุดศูนย์กลางของหนัง และมีเรื่องราวคู่ขนานของ Sadie-Jojo ที่มักตัดสลับเคียงข้างไปด้วยกันเสมอ นี่รวมไปถึง Max-Prudence เป็นกระจกสะท้อนมุมมองคนโสด
หนังเริ่มต้นด้วย Jude หันหน้ามาขับร้องเพลง Girl เข้าหากล้อง ‘Breaking the Fourth Wall’ รำพันถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่เขาใฝฝันถึง ซึ่งเพราะหนังดำเนินไปข้างหน้าอย่างเดียว ซีนนี้ตัวละครน่าจะยังอยู่ Liverpool, ประเทศอังกฤษ
จริงๆแล้ว Jude มีแฟนอยู่แล้วคือ Molly (บทเพลง All My Loving) แต่เพราะเขากำลังตระเตรียมออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา พลัดพรากจากเช่นนี้ไม่ถือว่าเลิกราก็กระไรอยู่
ตรงกันข้ามกับ Lisa ที่ทำการตัดสลับคู่ขนาน (บทเพลง Hold Me Tight) เธออยู่สหรัฐอเมริกา กำลังเต้นกับแฟนหนุ่ม Daniel ในงาน Prom ซึ่งเขาอาสาสมัครทหาร กำลังจะพรากจากเธอไปสงครามเวียดนามชั่วนิรันดร์
สังเกตการการจัดโทนสีสันของทั้งสองซีน จะแตกต่างตรงข้ามกันเลยนะครับ สะท้อนถึง
– ที่อังกฤษ คือมุมมืดของ Jude ต้องการทอดละทิ้งทุกสิ่งอย่างไป
– สำหรับ Lisa สหรัฐอเมริกาคือประกายแสงสว่างแห่งความเพ้อใฝ่ฝัน
ซีนเปิดตัว Prudence เธออาศัยอยู่ Dayton, Ohio เป็นเชียร์ลีดเดอร์ สวมใส่เสื้อสีเขียวตัวอักษร W (น่าจะ Woman) ซึ่งคงสะท้อนรสนิยม ความชื่นชอบส่วนตัวมากกว่า
ขณะขับร้องเพลง I Wanna Hold Your Hand เดินอย่างสโลโมชั่น ไม่สนสองข้างทางที่หนุ่มๆกำลังซักซ้อมรักบี้ บดขยี้ ต่อสู้เพื่อเอาชนะอีกฝั่งฝ่าย … ก็เรื่องของพวกเอ็ง ฉันหาได้สนใจบุรุษแม้แต่น้อย
ไดเรคชั่นผู้กำกับ Taymor ชอบเล่าเรื่องคู่ขนาน ตัดสลับเหตุการณ์ มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม โดยมักสัมพันธ์เชื่อมต่อเนื่องอะไรสักอย่าง
– Prudence เพราะผิดหวังในรักที่โรงเรียน เธอจึงตัดสินใจโบกรถ ไปตายเอาดาบหน้า (ถ่ายจากฝั่งตรงข้ามถนน-ขวา)
– Jude มาถึงสหรัฐอเมริกา กำลังโบกรถเช่นกัน เพื่อเดินทางไป Princeton University (ถ่ายจากด้านข้างตัวละคร-ซ้าย)
แซว: ใครเคยรับชม Sans toit ni loi (1985) ของขุ่นแม่ Agnès Varda น่าจะคุ้นเคยซีนนี้ของ Prudence น่าจะเป็นการเคารพคารวะเลยละ
แซว 2: ช็อตที่ Jude ยกมือโบกรถ สังเกตดีๆจะมีป้าย Freedom แสดงถึงว่าเขามาถึงสหรัฐอเมริกาแล้วละ!
ท่อนหนึ่งในคำร้องบทเพลง Maxwell’s Silver Hammer
“Back in school again
Maxwell plays the fool again.”
ซีนนี้สะท้อนถึงตัวตนของ Max โดยคัทลอกจากบทเพลง มีนิสัยชอบทำอะไรไร้สาระ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นแบบไม่สนอะไร
การมาถึงของ Jo-jo นำเสนอเคียงคู่ตัดสลับความตายของ Daniel งานศพเหมือนกัน วงคอรัสขับร้องเพลง Let It Be สะท้อนผลพวงจากสงคราม ความขัดแย้ง ทำให้หนึ่ง(ถึงหลายๆ)ชีวิตดับสิ้นสูญ
ความน่าสนใจของซีนนี้ คืองานศพของคนขาว-ชาวผิวสี โดยผู้เสียชีวิตคือชายหนุ่ม-เด็กน้อย ทำพิธีภายนอก-ภายใน … เรียกได้ว่าตรงกันข้ามแทบทุกประการ
เมื่อแนะนำตัวละครครบแล้ว บทเพลง Come Together นำพาทุกคนพานพบเจอกันที่ห้องเช่าของ Sadie
เกร็ด: คำพูดของ Jude ที่ว่า She came in through the bathroom window. คือชื่อบทเพลง She Came In Through the Bathroom Window อัลบัม Abbey Road
บทเพลง I Want You (She’s So Heavy) ฉบับของ The Beatles ไม่ได้มีความคลุ้มคลั่งเสียสติแตกอย่างในหนังเลยนะ แค่ความต้องการหญิงสาวของ John Lennon แต่กลับถูกตีความใหม่ ล้อเลียนค่านิยมเกณฑ์ทหารของ Uncle Sam ผลลัพท์กลายเป็นอะไรที่เลวร้ายบัดซบ สงครามคือจุดจบของมวลมนุษยชาติ
ชาว LGBT น่าจะเข้าใจนัยยะการกระทำของ Prudence หลบซ่อนตัวในตู้เสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี (ต้องการปกปิดบังรสนิยมทางเพศของตนเอง) ซึ่งบทเพลง Dear Prudence ว่ากันว่า John Lennon แต่งขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจาก Prudence Farrow น้องสาวของนักแสดง Mia Farrow ระหว่างไปฝึกนั่งสมาธิที่อินเดียกับ Maharishi Mahesh Yogi ซึ่งเธอจริงจังกับมันมาก ขังตนเองอยู่ในห้องไม่ยินยอมออกไปไหน
ช่วงเวลาแห่งการทดลองยา LSD ก็มาถึง งานภาพก็จะมีความผิดแผกแปลกพิศดาร ย้อมสี ลงสารเคมี ทำให้ดูเหนือสภาวะความเป็นจริง ล่องลอยไป ขึ้นรถบัสออกเดินทาง ‘Beyond Bus’ บทเพลง I Am the Walrus
แล้วก็ถูกทิ้งขว้างกลางทาง แต่ก็ได้พานพบเจอคณะละครสัตว์ของ Mr. Kite ขับร้องเพลง Being for the Benefit of Mr. Kite! ซึ่งทั้ง Sequence ได้แรงบันดาลใจจาก Magical Mystery Tour (1967) ผสมๆกับอนิเมชั่น Yellow Submarine (1968)
ไอ้ตัวสีฟ้าๆ ศีรษะเหมือนไอ้จ้อน นั่นคือ Blue Meanies จากอนิเมชั่น Yellow Submarine (1968) เช่นเดียวกับมือขนาดใหญ่ๆ ชวนให้นึกถึงสมุนเอก GLOVE
ตัวละคร Jude ได้แรงบันดาลใจจาก John Lennon ซึ่งมีนิสัยหนึ่งคือ ชื่นชอบวาดรูปเปลือยของ Yoko Ono เธอไม่ได้ตะขิดตะขวงอะไร ศิลปินเหมือนกันเลยเข้าใจ
ฉากเพ้อฝันใต้น้ำ มีนัยยะเดียวกับ Yellow Submarine (1968) สะท้อนจิตใต้สำนึกตัวละคร และความกดดันที่ถาโถมเข้าใส่รอบทิศทาง
จากเคยรักคลั่งดั่งพายุเฮอร์ริเคน เมื่อมีเรื่องอะไรสักอย่างผิดใจ บาดหมาง เห็นต่าง แปรสภาพกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาต … ซึ่งฉากนี้ทำการตัดสลับคู่ขนานระหว่าง Jude-Lucy และ Sadie-JoJo
ผมชอบ Sequence นี้ที่สุดในหนังเลยนะ คู่รักขับร้องเพลง Oh! Darling ที่โดยปกติฟังดูหวานฉ่ำ แต่โดนคอมเมนต์สุดตีนแบบเห็นต่างตรงกันข้าม เห้ยแม้งจริงว่ะ!
เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”– สุนทรภู่, พระอภัยมณี
แซว: จะมีขณะที่ Sadie วิ่งหนีลงจากเวที ได้ยินเสียงใครสักคนพูดว่า Get Back นั่นคือชื่อเพลงในอัลบัม Let It Be
Strawberry Fields Forever แต่งโดย John Lennon เขียนขึ้นระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ How I Won the War (1967) ซึ่งเป็นแนวตลกต่อต้านสงคราม ความตั้งใจจริงๆไม่ได้เกี่ยวอะไรกับระเบิด/สงครามหรอกนะครับ ได้แรงบันดาลใจจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าชื่อ Strawberry Field ที่อยู่ใกล้ๆบ้านของ Lennon เมื่อเขายังเด็ก เคยแอบเข้าไปวิ่งเล่นสนุกสนาน
“There was something about the place that always fascinated John. He could see it from his window … He used to hear the Salvation Army band [playing at the garden party], and he would pull me along, saying, ‘Hurry up, Mimi – we’re going to be late’.”
– จากบทสัมภาษณ์ Mimi Smith น้าของ Lennon
ซึ่งหนังได้ทำการตีความบทเพลงนี้ใหม่ สะท้อนความขัดแย้งระหว่างคู่รัก Jude-Lucy เข้ากับการสู้รบสงครามเวียดนาม, ลูกสตรอเบอร์รี่ซ้อนทับกับระเบิด, น้ำ(สตรอเบอร์รี่)ไหลอาบ=เลือดไหลนอง
เกร็ด: John Lenno ถือว่า Strawberry Fields Forever คือบทเพลงยอดเยี่ยมที่สุดของ The Beatles
สถานที่ทะเลาะกันระหว่าง Jude-Lucy คือร้านซักผ้า ซึ่งจะมีช็อตแรกพบเห็นเครื่องปั่นกำลังหมุนวน สะท้อนถึงวัฏจักรชีวิตมีขึ้นมีลง จากเคยรักคลุ้มคลั่ง แปรสภาพสู่เกลียดเข้าไส้
ชีวิตทั้งสองกำลังอยู่ในรถไฟที่สวนทางกัน อดีตไม่สามารถหวนกลับมาบรรจบยังปัจจุบัน นั่นสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวระทมให้กับพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ระหว่างที่ Jude ขับร้องรำพันบทเพลง Across the Universe ออกเดินไปพบเห็นการประท้วงทำกำลังเริ่มใช้ความรุนแรง จะมีการตัดสลับกับ Sadie ขับร้องเพลง Helter Skelter เต็มไปด้วยอารมณ์แห่งความคลุ้มคลั่งวุ่นวาย แตกต่างตรงกันข้าม แต่เติมเต็มเรื่องราวของกันและกันได้อย่างลงตัว
ฉากโคตรหลอนสุดในหนัง ไม่แน่ใจรับอิทธิพลจาก Butoh Dance ของญี่ปุ่นหรือเปล่านะ ที่นิยมให้นักแสดงเปลือยเปล่า โบ๊ะแป้งขาว ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกจากภายในออกมา ซึ่งซีนนี้พวกเขา/เธอ ยืนอยู่บนผืนน้ำแล้วก็ทิ้งตัวลง สะท้อนความตายอันไร้ค่า ประกอบบทเพลง While My Guitar Gently Weeps
ซีนนี้ระหว่างขับร้องเพลง Happiness Is a Warm Gun เป็นวินาทีที่เจ๋งมากๆ ฉีดยาเข้าไปทำให้ล่องลอยขึ้นเหนือเตียงผู้ป่วย แม้เค้าจะบอกว่าคือมอร์ฟีน แต่ผมว่าแบบนี้มัน LSD ไม่ก็มาลีฮวนน่า (กัญชา) เสียมากกว่านะ!
มาถึงสักทีกับบทเพลงโปรดของผมที่รอคอยมาแสนยาวนาน Hey Jude คือคำเรียกของ Max ที่แม้อยู่คนละซีกโลก แต่ด้วยสายสัมพันธ์ที่ไม่มีวันตัดขาด (คงเขียนจดหมายส่งมานะ) ทำให้เกิดภาพสะท้อนซ้อนในกระจก เรียกร้องให้เพื่อนรัก หวนกลับสู่สหรัฐอเมริกา
ความโคตรเจ๋งของเพลงนี้ไม่ใช่ช็อตนี้นะครับ แต่คือท่อนเอื้อย หน่า นา น้า นา น้า นา เมื่อ Jude ตัดสินใจว่าจะหวนกลับไป เก็บข้าวของออกจากบ้าน พบเห็นชายคนหนึ่งทำการตีเคาะถังขยะเป็นจังหวะท่วงทำนอง และเด็กๆกรูกันเข้ามาห้อมล้อมพร้อมส่งขึ้นเรือ … มันเป็นสัมผัสที่ซึ้งซาบซ่านไปถึงขั้วหัวใจทีเดียว
ใครชื่นชอบ The Beatles ถ้าไม่รับรู้จักตำนานการแสดงครั้งสุดท้ายของวงบนดาดฟ้า Apple Corp. (ประกอบอัลบัม/ภาพยนตร์เรื่อง Let It Be) อย่าเรียกตัวเองเด็ดขาดว่าคือแฟนคลับ! ในเชิงสัญลักษณ์เป็นการแสดงออกสูงสุดกลับคืนสู่สามัญ เคยยิ่งใหญ่โด่งดังไกลทั่วโลก สุดท้ายก็ถึงเวลาวงแตกแยกจาก
แม้ตอน The Beatles เล่นบนดาดฟ้าตึก Apple Corp. จะไม่ใช่บทเพลงเดียวกับในหนัง Don’t Let Me Down และ All You Need Is Love แต่สองบทเพลงนี้ถือว่ายิ่งใหญ่อมตะ Top 5 ของวงเลยก็ว่าได้!
ก็นึกว่าหนังจบแล้ว แต่ยังแถมท้ายกับโคตรเพลง Psychedelic ชื่อ Lucy in the Sky with Diamonds (ชื่อย่อไม่เป็นทางการของบทเพลงนี้คือ LSD) พร้อมละเลงภาพย้อมสี จินตนาการสุดบรรเจิด ล่องลอยไปไกลราวกับภาพหลอน
เพลงประกอบโดย Elliot Goldenthal สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Alien 3 (1992), Interview with the Vampire (1994), Heat (1995), Michael Collins (1996), Frida (2002)**คว้า Oscar: Best Original Song
ขอเลือกบทเพลงตีความได้แตกต่างขั้วตรงข้ามกับต้นฉบับมากสุด I Wanna Hold Your Hand ขับร้องโดย T.V. Carpio ตราตรึงแบบคาดไม่ถึง
ส่วนซีนที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง Oh! Darling โต้กันระหว่าง Dana Fuchs (Sadie) และ Martin Luther McCoy (Jojo)ไม่ใช่แค่คำร้อง-คอมเมนต์ ล้อเลียนกันอย่างเจ็บแสบ ยังเสียงกีตาร์ที่แม้มิได้ผิดคีย์ แต่ใส่อารมณ์ขณะเล่นอย่างสุดเหวี่ยง โกรธ เกลียด เคียดแค้นอย่างถึงที่สุด!
บทเพลงส่วนใหญ่(ในยุคแรกๆ)ของ The Beatles มักเป็นแนวรักๆใคร่ๆ ฉันรักเธอ เธอรักฉันไหม อยากจับมือควงแขน แค่เห็นได้หน้าก็สุขสำราญใจ ฯลฯ แต่เราสามารถตีความแทบทุกบทเพลงด้วยมุมมองอื่น เปรียบเทียบบางสิ่งอย่าง ไม่น่าเชื่อจะสามารถคล้อยตาม มีความลงตัวเข้ากันได้ … ระดับสากลจักรวาลเลยละ!
ซึ่งหนังพยายามนำเสนอความรัก เป็นสิ่งไม่มีพรมแดนใดๆกีดขวางกั้น
– Jude เป็นชาวอังกฤษ, Lucy สัญชาติอเมริกัน
– Sadie หญิงผิวขาววัยกลางคน, Jo-jo ชายผิวสีหนีจากเหตุการณ์จราจล
– Prudence เธอเป็นเกย์ ชอบชื่นชอบเพศเดียวกัน
– Max รักตัวเอง พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้มีชีวิตรอด
– Daniel รักประเทศชาติ ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อส่วนรวม
ฯลฯ
ก็นี่เองแหละในความเชื่อชาวตะวันตก ‘ความรักชนะทุกสิ่งอย่าง’ ถ้ามนุษย์สามารถมอบความรู้สึกนี้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก สงคราม ความขัดแย้ง การเข่นฆ่ากันตาย คงหมดสูญสิ้น ดังบทเพลง All You Need Is Love ที่ John Lennon แต่งขึ้นในโอกาสพิเศษ ครั้งแรกที่ได้ถ่ายทอดสดการแสดงคอนเสิร์ต ออกอากาศผ่านสัญญาดาวเทียม 25 ประเทศ ผู้ชม 400 ล้านคน!
ช่วงที่หนังออกฉาย สอดพ้องการมาถึงของสงครามอิรัก (2003-11) ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับสงครามเวียดนามเมื่อทศวรรษ 60s – 70s ใจความ Anti-Wars จึงพบเห็นเด่นชัดพอสมควร การตายที่สูญเสียเปล่า คนรักต้องพลัดพรากจาก ไฉนเราไม่หันหน้าพูดคุย แสดงมิตรไมตรีจิตที่ดีต่อกัน โลกจักได้พานพบความสงบสันติสุข
น่าเสียดายที่พลังของภาพยนตร์ตั้งแต่ขึ้นสหัสวรรษใหม่ ไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมใดๆให้เกิดขึ้นในวิถีทางสังคม (นอกจากกระแสชั่ววูบวาบแล้วเงียบหาย) สาเหตุเพราะผู้ชมยุคสมัยนี้ มองเห็นเพียงความบันเทิงเริงอารมณ์ ดูหนังเพื่อความผ่อนคลาย เพลิดเพลินกายใจ ไม่ค่อยใช่สติปัญญาครุ่นคิดวิเคราะห์ตาม สูญเสียโอกาสพบเห็นคุณค่าซ่อนเร้นอยู่ใต้เนื้อหนังมังสา
สำหรับผู้กำกับ Julie Taymor ความสนใจของเธอคงไม่ใช่แค่ปรากฎการณ์ของ The Beatles แต่คือ ‘มุมมอง’ ต่อยุคสมัยที่สามารถสะท้อนถึงปัจจุบัน ต้องการให้ผู้ชมมองเห็น ‘วัฏจักรแห่งชีวิต’ ทุกสิ่งล้วนเวียนวน ความผิดพลาดหวนกลับมาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อไหร่มนุษย์จะเรียนรู้ เติบโต ครุ่นคิดเองได้ มีเพียงความรักเท่านั้นจะนำพาสงบสุขและสันติภาพ
ฉบับตัดต่อแรกความยาว 2 ชั่วโมง 20 นาที นำไปทดลองฉายปรากฎว่าเสียงตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จึงมีการเล็มโน่นนั่นจนเหลือ 133 นาที พึงพอใจที่สุดแล้วแต่ไม่ใช่กับโปรดิวเซอร์ แอบไปหั่นโน่นนี่นั่นออกอีกกว่าครึ่งชั่วโมง สร้างความไม่พึงพอใจต่อผู้กำกับอย่างมาก! ผลลัพท์สุดท้ายคนที่มีสิทธิ์ตัดสินใจคือ Amy Pascal (ตอนนั้นเป็น Co-Chairperson ที่ Sony/Columbia) เลือกเข้าข้าง Taymor เพราะสัมผัสได้ถึงการกระทำดังกล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามวิสัยทัศน์เพศหญิง
ถึงอย่างนั้นด้วยทุนสร้าง $70.8 ล้านเหรียญ ทำเงินรวมทั่วโลกได้เพียง $29.6 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับเยิน ปรากฎการณ์ของ The Beatles ได้จบสิ้นลงแล้วเช่นนั้นหรือ!
แบบฟลุ๊กๆ ได้เข้าชิง Oscar: Best Costume Design และ Golden Globes: Best Motion Picture – Comedy or Musical แต่ก็ไม่ได้ลุ้นรางวัลอะไรทั้งนั้น
ในรอบฉายพิเศษกับ Paul McCartney ผู้กำกับ Taymor หันไปถามความคิดเห็นจากอดีตสมาชิก The Beatles
Julie Taymor: “Was there anything you didn’t like?”
Paul McCartney: “What’s not to like?”
แม้ว่า Across the Universe จะเปิดมุมมองใหม่ๆในบทเพลงของ The Beatles แต่โดยส่วนตัวยังคงชื่นชอบต้นฉบับดั้งเดิมมากกว่า และภาพยนตร์เรื่องนี้มีอะไรหลายๆล้นเกินเลยไปเยอะ บางทีฉบับที่ถูกตัดต่อโดยโปรดิวเซอร์ ผลลัพท์อาจออกมาดูดีกว่านี้ก็เป็นได้
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า Across the Universe ขาดเสน่ห์ของ The Beatles คืออารมณ์ขัน ถ้าคุณเคยรับชม A Hard Day’s Night (1964), Help! (1965), Yellow Submarine (1968) จะรู้สึกว่าสี่เต่าเกรียน ต้องเคียงคู่กับความยียวนกวนบาทา เล่นลีลาสำเนียงเสียง Liverpudlian หยาบคายแบบสุภาพชน(คนอังกฤษ) … หลงเหลือเพียง Romance Musical ก็ไม่เป็นไร เพราะหนังคือมุมมองผู้กำกับ Julie Taymor เสียมากกว่า
แนะนำคอหนังแนว Romance Musical ชื่นชอบคลั่งไคล้ The Beatles ล่องลอยจากการเสพกัญชาในสไตล์ Psychedelic และแฟนๆผู้กำกับหญิง Julie Taymor ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความล่องลอยเรื่อยเปื่อยดั่งคนเสพยา โรแมนติกหวานเลี่ยน
Leave a Reply