After the Storm

After the Storm (2016) Japanese : Hirokazu Kore-eda ♥♥♥♡

พ่อแบบนี้จะรับได้ไหม? ฉ้อฉล ติดการพนัน ดีแต่พูด ต่อหน้าอย่างลับหลังอีกอย่าง จมปลักอยู่กับอดีตที่แสนหวาน เพ้อฝันต่ออนาคตไม่มีวันมาถึง เมื่อมรสุมชีวิตลูกนี้พัดผ่านไป เลยไม่หลงเหลือเศษซากอะไรให้เขาพึ่งพิงได้อีก

ปกติแล้วหนังที่ใช้สภาพดินฟ้าอากาศ พายุ ลมฝน หรือหิมะ จำลองเปรียบเทียบสถานการณ์กับปัญหาชีวิตของมนุษย์ หลังผ่านพ้นมรสุมลูกใหญ่มักพบเจอความสว่างสดใส จริงๆหนังเรื่องนี้ก็มองได้ในลักษณะนั้น เพราะตัวละครสามารถตัดสินใจบางอย่างอันแน่วแน่นอน แค่ผลลัพท์มันคือความสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างราบเรียบเป็นหน้ากลอง

เกือบๆทศวรรษถัดจาก Still Walking (2008) ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นกึ่งๆภาคต่ออัตชีวประวัติของผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda ช่วงเวลาหลังจากพ่อเสียชีวิต หลงเหลือเพียงแม่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์เก่าๆคับแคบ ใช้เวลาช่วงบั้นปลายเฝ้ารอคอยความตายอย่างเงียบเหงาโดดเดี่ยว

ขณะที่ตัวละครของ Hiroshi Abe คือส่วนผสมของผู้กำกับ Kore-eda และจินตนาการถึงตัวตนตรงกันข้าม ถ้าตอนก่อนเข้าวงการเลือกทำตามความเพ้อฝันหลังจากได้รับรางวัลเกี่ยวกับผลงานเขียน โชคดีได้แม่เสี้ยมสั่งสอนชี้ชักนำมาให้รู้จักอดทนอดกลั้น เลยเอาตัวรอดมาได้จนถึงปัจจุบัน

“When I was 27 I won an honorable mention in a scriptwriting contest and got a television job as an assistant director. But I thought about quitting, believing I could make a living scriptwriting. My mother told me to give up the idea, since I had to eat. She told me I should be patient and keep working. So I tried to be patient and I’m glad now I did. If I had quit. I probably would have become like Ryota”.

คุณผู้หญิงท่านไหนที่กำลังครุ่นคิดว่า ‘การมีลูกจะทำให้สามีรักขึ้น’ นั่นเป็นทัศนคติเฉิ่มเชยล้าหลังมากๆ แฟชั่นโลกปัจจุบันนี้ผู้คนโหยหาความสะดวกสบายฉาบฉวย อะไรเป็นภาระหนักอึ้งหนี้ระยะยาวก็พยายามหาทางตัดหางปล่อยวัด ร้อยทั้งร้อยแม่หม้ายลูกติดที่ผมเคยจีบมา ถ้าไม่พลั้งพลาดก็ด้วยเหตุผลนี้แทบทั้งสิ้น

กับคุณผู้ชายก็เช่นกัน ทำตัวเxยกับเมียไว้เยอะ นี่ไม่ใช่โลกสมัยก่อนที่ผู้หญิงแต่งงานแล้วเลิกร้างราไม่ได้ ปัจจุบันเพราะความที่สามารถดูแลพึ่งพาตัวเองได้ เรื่องอะไรจะต้องมาอดกลั้นกับคนเห็นแก่ตัวไม่รู้จักโต ถึงจุดแตกหักเมื่อไหร่ก็แยกย้ายหย่าร้างปล่อยตามยถากรรม

Hirokazu Kore-eda (เกิดปี 1962) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ตอนเด็กอาศัยอยู่กับแม่ (ไม่มีพ่อ) มีพี่สาวสองคน ตอนหกขวบพบเห็นปู่เสียชีวิตด้วยอัลไซเมอร์เป็นอะไรที่ฝังใจมากๆ โตขึ้นวาดฝันเป็นนักเขียนนิยาย เข้าเรียนสาขาวรรณกรรมจาก Waseda University แต่ออกมาเลือกทำงานเป็นผู้ช่วยกำกับสารคดีโทรทัศน์อยู่ถึง 3 ปี ฉายเดี่ยวเรื่องแรก Lessons from a Calf (1991), แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Maborosi (1995) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ารางวัล Golden Osella ได้รับการจับตามองจากทั่วโลกโดยทันที

สไตล์ของ Kore-eda มีคำเรียก ‘Cine-Poems’ เรื่องราวสะท้อนความสัมพันธ์เข้ากับชุมชน/เมือง/ป่าเขาธรรมชาติ รับอิทธิพลจาก Yasujirō Ozu, Hou Hsiao-hsien ในความเชื่องช้า นุ่มนวล ลุ่มลึกซึ้ง ชอบสร้างสถานการณ์ข้อจำกัด ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ครอบครัว การมีตัวตน/สูญหาย และมุ่งค้นหาหนทางออกดีสุดของปัญหาที่ไม่มีคำตอบ, ผลงานเด่นๆ อาทิ After Life (1998), Nobody Knows (2004), Still Walking (2008), Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015), The Third Murder (2017), Shoplifters (2018) ฯ

Kore-eda สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ระหว่างรอคอยฤดูถ่ายทำของ Our Little Sister (2015) นำเรื่องราวจากความทรงจำและสมุดบันทึกแม่ (ที่พี่สาวจดไว้ตอนอยู่ในโรงพยาบาลก่อนเสียชีวิต) เริ่มพัฒนาบทตั้งแต่ปี 2013 คาบเกี่ยวไปพร้อมกับ Like Father, Like Son (2013) ทีแรกตั้งใจให้เป็นผลงานถัดไป แต่โชคชะตาก็ไม่มีอะไรแน่นอนเสมอ

Ryota Shinoda (รับบทโดย Hiroshi Abe) อดีตนักเขียนรางวัล ปัจจุบันทำงานนักสืบเอกชน ชื่นชอบเล่นพนันขันต่อ(กับชีวิต) จนตรอกหาเงินแทบไม่พอใช้ หลายครั้งใช้การ Blackmail ฉ้อฉลตลบหลังลูกค้า เพื่อจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรให้กับอดีตภรรยา Kyoko (รับบทโดย Yōko Maki) พบเจอหน้าลูกได้เพียงเดือนละครั้งเท่านั้น

ชีวิตของ Ryota มองมุมหนึ่งก็น่าเศร้า ขณะเดียวกันโคตรน่าสมเพศ เงินที่หามาได้แทนที่จะบริหารจัดการให้ดีกลับนำไปแทงจักรยาน เล่นปาจิงโกะ พอหมดตัวก็ขอยืมเพื่อนร่วมงานอีก ขาดสติยับยั้งชั่งใจ ไร้ซึ่งความรับผิดชอบในตนเองโดยสิ้นเชิง, นี่ต้องชม Abe ที่พอปล่อยเครารกๆก็มีสภาพเหมือนขอทานข้างถนน ดูพึ่งพาอะไรไม่ได้เท่าไหร่ สีหน้าท่าทางลุกลี้เหงื่อตกร้อนตัวตลอดเวลา น้ำเสียงคำพูดจาก็เต็มไปด้วยความเพ้อเจ้อ แต่ด้วยเหตุผลอะไรกันที่ทำให้กลายเป็นคนแบบนี้?

ขณะนั้นพายุลูกใหม่กำลังพัดขึ้นฝั่งเข้าญี่ปุ่น ตรงกับวันที่ Ryota จะมีโอกาสพบเจอหน้าลูกพอดิบพอดี เลยจงใจใช้เวลานี้พาไปเยี่ยมย่า Yoshiko (รับบทโดย Kirin Kiki) ตกเย็น Kyoko เดินทางมารับแต่ติดฝนหนักกลับไม่ได้ จำต้องค้างคืนแบบไม่เต็มใจนัก พยายามพูดคุยปรับความเข้าใจแต่สุดท้ายแล้วก็ไม่อาจหวนคืนดี แค่มีบางสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงไปในจิตใจพวกเขาเล็กๆ

Kirin Kiki กลับมารับบทแม่ (ก็รับบทแม่ทุกเรื่องละนะ!) นอกจากความลื่นไหลเป็นธรรมชาติในการแสดงแล้ว ครานี้ยังสามารถปรับตัวเข้ากับอพาร์ทเม้นท์หลังเล็กๆคับแคบ เดินไปมาอย่างคล่องแคล่วล่วงรู้ทุกซอกมุม ราวกับอาศัยอยู่มา 10-20 ปีจริงๆ

ลุคผมสั้นของ Yōko Maki ส่วนตัวชื่นชอบมากกว่า Like Father, Like Son (2013) เสียอีกนะ ดูมีความแก่นแก้วสาวมั่น กล้าคิดพูดแสดงความเป็นตัวของตนเองออกมา สายตาเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย เก็บกดคลุ้มคลั่ง ทำไมชีวิตฉันถึงตกหลุมกระไดพลอยโจรหมอนี่ก็ไม่รู้!

ถ่ายภาพโดย Yutaka Yamasaki ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติญี่ปุ่น ร่วมงานกับ Kore-eda มาตั้งแต่ After Life (1998) ทั้งยังเคยเป็นผู้ช่วยควบคุมกล้องเมื่อตอนถ่ายทำในญี่ปุ่นของ Babel (2006)

หลังจาก Our Little Sister (2015) ใช้ไดเรคชั่นถ่ายภาพเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว ‘Slow Life’ เรื่องนี้กลับสู่ ‘สไตล์ Ozu’ เน้นตั้งกล้องหยุดนิ่งไม่ไหวติง อาจเพราะการถ่ายทำในอพาร์ทเม้นท์หลังเล็กคับแคบ ยากนักจะให้กล้องขยับไปมาได้อย่างอิสระ

สังคมเมืองก็แบบนี้ แออัดคับแคบ ข้างของเครื่องใช้ทุกสิ่งอย่างก็ไม่รู้ยัดเข้าไปได้ยังไงกับห้องพื้นที่กระจิดริด, ช็อตแรกของหนังถ่ายให้เห็นความยากลำบากในการอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หลังนี้ แต่ก็น่าทึ่งที่แม่สามารถแทรกตัวหาวิธีนำนวมตากไว้ตรงระเบียง เข้ามาเก็บในห้องได้อย่างเหนือชั้น งานภาพก็จะมีลักษณะเหมือนถูกบีบอัด สองฝั่งซ้าย-ขวาถ้าไม่ชนผนังกำแพงก็มักมีเฟอร์นิเจอร์บดบัง

สไลเดอร์ปลาหมึก สถานที่แห่งความทรงจำวัยเด็กของ Ryota เคยแอบแม่มาหลบซ่อนตอนพายุเข้า (ถือว่าให้ปลาหมึกปกป้องจากภยันตรายมรสุม) ในค่ำคืนนี้ก็เป็นการหวนระลึกความหลังกับลูกชายของตนเอง แม้มันจะไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ถือว่าเป็นการแสดงความขัดแย้งหัวขบถ ทำในสิ่งที่ตนอยากทำ ปีนหอคอยก็เช่นกัน (ถ้าเปรียบปีนขึ้นหอคอยคือสู่จุดสูงสุดของชีวิต หลบซ่อนในตัวปลาหมึกใต้ทะเลลึกย่อมหมายถึงตกต่ำขีดสุด)

ผมชอบฉากกินไอศกรีมนี้เหลือเกินนะ เวลาแช่ไว้ในช่องฟรีส แล้วนำออกมาแล้วจะรับประทานทันที ก็ต้องใช้กำลังถูๆไถๆกันอย่างเมามัน นัยยะสื่อถึงบางสิ่งอย่างในชีวิตมันก็ดื้อรั้นแข็งกระด้างแบบนี้ ซึ่งก็คงสะท้อนถึงตัว Ryota ยังหลงคิดว่าจะสามารถหวนกลับคืนดีกับอดีตภรรยา (ทั้งๆที่ก็หย่าขาดกันแล้ว) ทำตัวไร้แก่นสานไปวันๆ พึ่งพาไม่ได้เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ถ้าสมัยก่อนคงเป็นสนามแข่งม้า ไม่ยักรู้เดี๋ยวนี้กลายมาเป็นสนามแข่งจักรยาน, การพนันขันต่อลักษณะนี้ ถือเป็นการฝากความหวัง เพ้อฝันให้กับผู้อื่น โดยที่ตนเองไม่ยอมจะลงทุนลงแรงอะไรเลย (นอกจากเงิน) เช่นนั้นแล้วชีวิตจะพบเจอความสำเร็จได้อย่างไร!

ลอตเตอรี่ก็เช่นกันนะครับ อ้างว่านั่นคือความฝันแม้งโคตรเพ้อเจ้อเลยว่ะ! ถ้าชีวิตอยากร่ำรวยเงินทอง ก็จงอย่าฝากความหวังให้กับผู้อื่นหรือโชคชะตาชีวิต เราควรต้องลงมือกระทำปฏิบัติ สร้างสรรค์ความสำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงกายใจของตนเอง

ผมเป็นคนไม่เล่นหวย และมีอคติต่อต้านรุนแรงต่อคนเล่นหวย ทำไมเราต้องฝากความหวังไว้กับโชคชะตา เงิน 40-80 บาท กินข้าวอิ่มได้เป็นมื้อๆ, เคยได้ยินคนบ้าหวยคุยกันไหมละครับ งวดนี้ออก 663 ฉันซื้อ 363 สลับกันนิดเดียวเอง! มันต้องใช้จินตนาการสูงส่งมากเลยนะถึงสามารถเข้าใจภาษาว่า 663 กับ 363 แม้งนิดเดียวยังไงว่ะ!

ลูกชายของ Ryota เป็นนักกีฬาเบสบอลที่ดันไม่ชอบตีลูก สื่อถึงการยังค้นหาเป้าหมายของตนเองยังไม่พบ ขณะที่พ่อพยายามยัดเยียดให้ซื้อรองเท้า เพื่อเสี้ยมสอนให้เขาเรียนรู้จักการก้าวเดินด้วยลำแข้งของตนเอง

ผมละทึ่งในความเฉลียวฉลาดแกมโกงของ Ryota เสียเหลือเกิน เพราะรู้ว่าสู้ราคาไม่ได้เลยแสร้งทำตำหนิ นี่ก็แบบตอน Blackmail ลูกจ้าง ถ้าไม่ถูกจับได้ก็หน้าไม่ละอาย แบบนี้เรียกว่ากะล่อนปลิ้นปล้อน ไว้เนื้อเชื่อใจอะไรไม่ได้

ผมก็ไม่รู้นะว่าหนังสือ The Empty Chair เป็นนิยายจริงๆเขียนโดย Kore-eda หรือเปล่า? แต่ถึงไม่รับรู้เนื้อหาภายใน แค่ชื่อเรื่องก็สื่อถึงความว่างเปล่าที่อยู่ภายในจิตใจของ Ryota ไร้ซึ่งหลักแก่นสาน ใช้ชีวิตเรื่อยเปี่อยไม่รู้จักพัฒนาปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่มีอะไรที่สามารถยึดถึอพึ่งพิงพาให้กับผู้อื่นได้

ลองตั้งชื่อไทยเล่นๆ คงประมาณ ‘เก้าอี้ที่ไร้จิตวิญญาณ’

ช็อตจบของหนังน่าสนใจทีเดียว, ร่มหลายคันที่พังเพราะลมพายุวางอยู่ตรงโคนต้นไม้ สื่อถึงความล้มเหลวในการต้านทานปัญหาชีวิตคู่ของ Ryota และการที่เขาเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามกับป้ายลูกศร นั่นแปลว่าอนาคตของหมอนี่คงยังไม่สามารถหวนกลับสู่วิถีทางถูกต้องเหมาะสมควรได้อย่างแน่นอน

แถมให้นิดนึงกับการสวมใส่เสื้อของพ่อ สะท้อนถึงการกระทำแสดงออกของ Ryota เรียกว่าแทบจะมีโชคชะตาชีวิตไม่แตกต่างอะไรกันเลย ดั่งลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

ตัดต่อโดย Hirokazu Kore-eda, ถึงหนังเริ่มต้นที่อพาร์ทเม้นท์ของแม่ แต่เรื่องราวดำเนินไปในมุมมองของ Ryota Shinoda นำเสนอความน่าสงสารปนสมเพศเวทนาของชายคนนี้ และไคลน์แม็กซ์เกือบๆครึ่งชั่วโมงสุดท้ายขณะติดพายุ กลุ่มตัวละครหลักๆก็จักขลุกขลิกกันอยู่บ้านแม่ มิสามารถหาทางหลบลี้หนีไปไหนพ้น

แบ่งหนังออกได้เป็นสามองก์
– แนะนำอพาร์ทเม้นท์แม่ และ Ryota แวะไปเยี่ยมเยือนถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ
– ชีวิตประจำวันของ Ryota ในการทำงานหาเงิน บ้าพนัน และเพ้อฝันเรื่อยเปื่อย
– ในค่ำคืนพายุพัดผ่าน วันนัดพบเจอลูกพอดิบพอดี หวนกลับไปพึ่งพาหาแม่ให้ช่วยเหลือ

ความพยายามของ Ryota ในการหวนคืนดีกับอดีตภรรยาที่อพาร์ทเม้นท์แม่ เริ่มจากให้มารับที่ห้อง -> ติดฝนอ้างแท็กซี่มาช้า -> อาบน้ำ Kyoko เล่นเกมเศรษฐีกับลูก -> Ryota พยายามพูดคุยคืนดีกับ Kyoko -> พอไม่สำเร็จ Ryota ขอให้แม่ช่วย -> พาลูกไปขลุกอยู่กับสไลเดอร์ปลาหมึก -> แม่สอบถาม Kyoko ถึงความเป็นไปได้จะคืนดี -> พ่อ-แม่-ลูก ท่ามกลางมรสุมชุ่มฉ่ำ

เพลงประกอบโดย Hanaregumi นักร้อง/นักดนตรี, เสียงผิวปากของพี่แกโดดเด่นใช่เล่น แทนคำร้องขณะเล่นกีตาร์ ลีลากวนๆ สะท้อนชีวิตเรื่อยเปื่อย ชิลๆ ไร้แก่นสานของพระเอก พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่

สำหรับชื่อหนังภาษาญี่ปุ่น Umi yori mo mada fukaku (แปลตรงๆว่า Deeper than the abyss of the sea) นำจากท่อนหนึ่งของบทเพลง Wakare no yokan (1987) [แปลว่า ลางร่ำลา] แต่งทำนอง Takashi Miki คำร้อง Toyohisa Araki ขับร้องโดย Teresa Teng หรือเติ้ง ลี่จวิน (1953 – 1995) นักร้องเพลงจีนสากลสัญชาติไต้หวัน ‘ราชินีเพลงจีน’ ผลงานอมตะคือ เถียนมี่มี่ และพระจันทร์แทนใจฉัน

เติ้ง ลี่จวิน ไม่ได้แค่ร้องเพลงภาษาจีนเท่านั้นนะ ยังมีญี่ปุ่น อังกฤษ อินโดนีเซีย (พลาดไทยไปได้ยังไง!) นำฉบับคาราโอเกะมาให้รับชมเลย แล้วก็จะอึ้งไปแปปหนึ่งช่วงท้าย เพราะเครดิตเป็นคนไทยทำคลิปนี้

เกร็ด: ถือเป็นครั้งที่สองถัดจาก Still Waking (2008) ของผู้กำกับ Kore-eda ใช้ท่อนหนึ่งของเพลงคือชื่อหนัง

สำหรับบทเพลง Beethoven: String Quartet No. 14 In C-Sharp Minor, Op. 131 ประพันธ์ปี 1826 เจ้าตัวเคยพูดบอกกับเพื่อนว่าให้นิยามบทเพลงนี้

“a new manner of part-writing and, thank God, less lack of imagination than before”.

ซึ่งหลังจากที่ Franz Schubert ได้รับฟังถึงกับเอ่ยปากว่า “After this, what is left for us to write?”

Ending Credit ชื่อเพลง Shinkokyû (แปลว่า Deep Breath, หายใจเข้าลึกๆ) แต่งโดย Takashi Nagazumi, เสียงกีตาร์นุ่มๆและน้ำเสียงทุกข์ร้าวระทมของ Hanaregumi ให้สัมผัสความหมดสิ้นหวัง สั่นสะเทือนหวิวๆหัวใจ ถึงเวลาที่สามี-ภรรยาต้องแยกจากกันชั่วนิรันดร์ มิอาจหวนกลับมาครองคู่รัก อาศัยอยู่ร่วมชายคากันได้อีกต่อไป หายใจเข้าลึกๆละ ทำใจให้ได้แล้วก้าวเดินต่อไป

ในมุมของผมมองว่า หนังเรื่องนี้พยายามโบ้ยความผิดทั้งหมดให้กับพ่อ เพราะทำตัวเยี่ยงนี้ ติดการพนัน ฉ้อฉลหลอกลวง เลยไม่แปลกที่ชีวิตจะประสบความล้มเหลวทุกสิ่งอย่าง หย่าขาดภรรยา ขาดแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายเรื่องใหม่ เพื่อนร่วมงานไม่ไว้ใจ ฯ

คือมันก็ไม่ถูกนะที่เราจะตัดสินโทษความล้มเหลวของคน เพียงแค่การกระทำแสดงออก ณ ปัจจุบันของเขา ทุกสิ่งอย่างล้วนมีจุดเริ่มต้นสาเหตุผลที่มาที่ไป ซึ่งหนังเรื่องนี้ไม่กล่าวถึงแม้แต่น้อย ทำไมพ่อถึงกลายเป็นแบบนี้?

ถึงเราสามารถมองว่านี่เป็นสิ่งที่ผู้กำกับ Kore-eda จงใจทิ้งไว้ให้ผู้ชมครุ่นคิดตีความเอาเอง นำเสนอปัจจุบันที่เป็นปัญหา อดีตผ่านมาแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ แต่นั่นจะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกชั่งใจระหว่างสงสาร-สมเพศ ใครมีฝั่งไหนมากกว่าก็จักพลอยรู้สึกต่อหนังในทิศทางนั้นเช่นกัน

กระนั้นประเด็นของหนังไม่ใช่การแสดงความรู้สึกสงสาร-สมเพศ แต่คือชักชวนให้ผู้ชมพยายามครุ่นคิดตาม ทำอย่างไรไม่ให้ตนเองตกหล่นอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ คำของภรรยาที่ถือว่าตรงสุดแล้ว พูดบอกปุ๊ปสามีเข้าใจทันที

“Why didn’t you try harder before?”

ถ้ามนุษย์เราไม่เคยพบเจอเรื่องร้ายๆ จะมีโอกาสรู้จักคุณค่าแท้จริงของความสุขได้เช่นไร? นี่เป็นแนวคิดที่ผมวนเวียนนำเสนอในบทความหนังของ Kore-eda มาหลายเรื่องแล้วทีเดียว สะท้อนเข้ากับตัวตนของผู้กำกับ บางสิ่งอย่างสูญเสียไปแล้วมิอาจหวนย้อนกลับคืนมาได้ ถ้าเพียงตอนนั้นฉันรู้ตัวและครุ่นคิดได้ ความรวดร้าวทุกข์ทรมานใจในปัจจุบันคงไม่เกิด

ใช่ว่าทุกคนในโลกนี้จะสามารถดำเนินชีวิตไปทิศทางที่ถูกต้องเสมอ แต่สิ่งสำคัญคือพอรับรู้ว่าผิดพลาดก็ต้องรีบแก้ไขปรับปรุงตัว ไม่ใช่เอ้อระเหยลอยชายจนลุกลามบานปลายใหญ่โตเกินแก้ไข ซึ่งเมื่อถึงจุดๆนั้นคงไม่มีใครสามารถช่วยเหลือคุณได้อีกแล้ว หนำซ้ำยังอาจโดนเฉดหัวถีบส่งจมมิดดินเสียด้วยซ้ำ หมาวัดก็ไม่หันเหลียวแล

เมื่อเทียบกับหลายๆผลงานของ Kore-eda ที่กลายเป็นตำนานไปแล้วอย่าง Nobody Knows (2004), Still Walking (2008) หรือแม้แต่ Like Father, Like Son (2013) เรื่องนี้ถือว่ามีประเด็นน่าสนใจน้อยกว่า และไดเรคชั่นของหนังสร้างความอึดอัดคับแคบไปสักนิด แต่คุณภาพสอดแทรกแนวคิดถือว่าจัดเต็มเช่นเคย เกิดประโยชน์แน่สำหรับใครๆที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆเดียวกันนี้

ส่วนตัวเลยแค่ชื่นชอบหนัง ไม่ได้เกิดความประทับใจอะไรมากมายเสียเท่าไหร่ หลงใหลสุดคือสีหน้าเย็นชาของ Yōko Maki นั่นมุมน่ารักสุดๆของเธอเลยนะเนี่ย

แนะนำคอหนังดราม่าครอบครัว, สามี-ภรรยา ที่ชีวิตพบเจออุปสรรคใกล้หย่าร้างรา, แฟนๆผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda และนักแสดง Hiroshi Abe, Yōko Maki, Kirin Kiki ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับนิสัยแย่ๆของพ่อ ไม่ควรลอกเลียนแบบตาม

TAGLINE | “After the Storm พายุลูกนี้ของ Hirokazu Kore-eda พัดพาความหวังสิ่งดีงามไปหมดเกลี้ยง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: