Agantuk (1991) : Satyajit Ray ♥♥♥♥♡
Swan Song ของผู้กำกับ Satyajit Ray เมื่อครอบครัวหนึ่งได้รับจดหมายลึกลับ อ้างว่าเป็นญาติที่สูญหายตัวไปกว่า 35 ปี ต้องการแวะเวียนมาพักอาศัย เป็นคุณจะตกลงปลงใจเชื่อ ยินยอมให้บุคคลแปลกหน้า (Agantuk แปลว่า The Stranger) เข้ามาค้างแรมในบ้านหรือเปล่า? “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ร้อยทั้งร้อยของชาวเมืองยุคสมัยนี้ คงไม่มีใครเปิดประตูห้องให้ ความครุ่นคิดแรกคือขโมยกะโจร ต้องไม่ใช่บุคคลมาดีอย่างแน่นอน!, แต่สำหรับคนต่างจังหวัด ผมว่าอาจจะยัง 50-50 พอมีมิตรไมตรีจิตให้คนแปลกหน้า ถ้าดูภายนอกแล้วพอน่าเชื่อถือ หรือถูกโฉลกโชคชะตาอยู่บ้าง
ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เกิดขึ้นเพราะค่านิยมใน ‘วัตถุ’ เมื่อเรามีเงินทอง สิ่งข้าวของมีค่า มักเกิดความหมกมุ่น ยึดติด กลัวการสูญเสีย นั่นเองจึงสร้างผนังกำแพง ประตู ลงกลอน กักขังตนเองอยู่ภายใน หลงเชื่อว่านั่นคือความปลอดภัย แต่แท้จริงแล้วถ้าขโมยกะโจรมันมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ตู้เซฟในธนาคารยังงัดได้ นับประสาอะไรแค่กุญแจบ้านหลังหนึ่ง
ผมอดไม่ได้ที่ต้องยกย่องสรรเสริญผู้กำกับ Satyajit Ray ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า! ไม่ใช่ด้วยเทคนิคตื่นตระการตาแบบสมัยยังมีเรี่ยวแรงแข็งขัน แต่คือแนวความคิดที่โคตรลุ่มลึก เฉียบคมคาย ผลงานเรื่องสุดท้าย Agantuk เรียกว่าเป็นการประมวลทุกสิ่งในชีวิต และใช้ความเรียบง่าย ‘Minimalist’ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงามทรงคุณค่ายิ่ง
“In this film, I have said all that I wanted to say. I don’t think I need to say anything else now”.
– Satyajit Ray
Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)
ภาพยนตร์ในยุคบั้นปลายของ Ray เริ่มนับจาก Ghare Baire (1984) ที่ระหว่างถ่ายทำเกิดอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) ตั้งแต่นั้นเลยไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า ขาดความกระฉับกระเฉงในการทำงาน ด้วยเหตุนี้ผลงานจึงมุ่งเน้นแนวความคิด ใช้สติปัญญา ปรัชญา ประมวลผลประสบการณ์ชีวิต มากกว่าเน้นความตื่นตระการตาในเทคนิค
Agantuk (1991) สร้างจากเรื่องสั้น Atithi (แปลว่า The Guest) ที่ผู้กำกับ Ray เขียนให้นิตยสารเด็ก Sandesh ตีพิมพ์เมื่อปี 1981 ซึ่งการดัดแปลงบทภาพยนตร์นั้นแสนง่ายดาย เพราะต้นฉบับมีรายละเอียดครบถ้วนอยู่แล้ว ปรับแก้ไขเพียงเล็กน้อย เพิ่มเติมอะไรๆอีกนิดหน่อย แค่เพียงคืนเดียวก็สำเร็จเสร็จสิ้น
พื้นหลังปี 1990, Anila Bose (รับบทโดย Mamata Shankar) ได้รับจดหมายลึกลับจากชายแปลกหน้า อ้างว่าคือลุง Manomohan Mitra (รับบทโดย Utpal Dutt) ที่สูญหายตัวออกจากบ้านไปนานกว่า 35 ปี เมื่อครั้นเธอยังตัวเล็กๆจดจำอะไรแทบไม่ได้ เพราะเป็นญาติคนเดียวหลงเหลืออยู่ จึงต้องการแวะเวียนมาพักอาศัย ด้วยข้ออ้าง ‘ความมีน้ำใจ’ ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอินเดียแต่โบราณมา ถึงอย่างนั้นสามี Sudhindra (รับบทโดย Deepankar De) กลับเต็มไปด้วยความใคร่ฉงนสงสัย เพราะอะไร ทำไม ขโมยกะโจรหรือเปล่า คนแบบนี้ไม่น่ามาดีแน่!
เกร็ด: ถ้าบวกลบเลข ปีที่ลุง Manomohan Mitra ออกจากบ้านคือ ค.ศ. 1955 ซึ่งคือปีแรกที่ผู้กำกับ Satyajit Ray สร้างภาพยนตร์ Pather Panchali (1955) มันจะมีความสอดคล้องอะไรกันหรือเปล่านะ??
Utpal Dutt (1929 – 1993) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Barisal, Bengal Presidency, โตขึ้นเรียนจบวรรณกรรมภาษาอังกฤษ เกียรตินิยม University of Calcutta แต่ความสนใจคือละครเวที เริ่มต้นเป็นนักแสดงในโรงละครอังกฤษ Shakespeareana Theatre Company ต่อมาร่วมก่อตั้ง Indian People’s Theatre Association จนมีโอกาสรู้จักผู้กำกับ Satyajit Ray มาตั้งแต่ตอนนั้น, สำหรับภาพยนตร์มีทั้งภาษาฮินดี เบงกาลี อาทิ Bhuvan Shome (1969), Gol Maal (1979), Rang Birangi (1983), Agantuk (1991), Padma Nadir Majhi (1993) ฯ
รับบท Manomohan Mitra ชายลึกลับผู้อ้างว่าคือลุงของ Anila Bose เป็นคนเฉลียวฉลาดรอบรู้ อัธยาศัยดี มีมิตรไมตรี สุภาพชน โน้มน้าวใจผู้อื่นเก่ง มากมายด้วยเรื่องเล่า เข้ากับเด็กๆได้ง่าย, เรื่องราวค่อยๆเปิดเผยว่าเขาคือนักมานุษยวิทยา ชื่นชอบการท่องเที่ยวผจญภัย เคยใช้ชีวิตอยู่กับชนเผ่าพื้นเมืองอินเดีย สามารถกินเนื้อสรรพสัตว์ได้ทุกชนิด
ผมไม่ขอเล่าถึงสาเหตุผลการกลับมาบ้านครั้งนี้ของ Manomohan Mitra แล้วกันนะครับ เก็บไว้เป็นเซอร์ไพรส์ระหว่างรับชมหนัง ดูสิว่าคุณจะคาดเดาออกหรือเปล่าว่าทำไม?
คนที่รับชมภาพยนตร์อินเดียมาระดับหนึ่ง จะจดจำภาพลักษณ์ของ Utpal Dutt ในมาดนักแสดงตลก ทีแรกผมก็เอะใจเล็กๆว่ามามุกไหน แต่ผู้กำกับ Ray ดูเหมือนจะล่วงรู้จักตัวตนของ Dutt สนิทสนมกันเป็นอย่างดี เลยเข้าใจความสามารถอันลุ่มลึกล้ำในการสร้างแรงดึงดูด แค่เพียงเรื่องเล่าธรรมดาๆทั่วไป ปั้นน้ำเสียง สีหน้า สายตา สร้างความสนใจไม่ใช่แค่เด็กๆหรือผู้ใหญ่ แต่ยังผู้ชมสามารถจินตนาการเห็นภาพนั้นได้อย่างชัดเจน
คงไม่ผิดอะไรจะตีความว่าตัวละครนี้ คือตัวตายตัวแทนของผู้กำกับ Ray แต่ส่วนใหญ่จะในเชิงนามธรรม อาทิ
– ตัวละครเป็นนักมานุษยวิทยา ศึกษากำเนิด วิวัฒนาการเผ่าพันธุ์มนุษย์, ซึ่งในฐานะผู้กำกับ ผลงานของ Ray ส่วนใหญ่คือการค้นหาอัตลักษณ์ตัวตน วิวัฒนาการทางสังคมของชาวอินเดีย
– Manomohan Mitra เป็นคนมากด้วยเรื่องเล่า แต่ก็ไม่ค่อยมีเงินสักเท่าไหร่ เอาตัวรอดจากการเขียนหนังสือ/บทความ แค่เพียงพอสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้, ภาพยนตร์ของ Satyajit Ray ก็คือเรื่องเล่าประเภทหนึ่ง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำเงินสักเท่าไหร่ แต่ก็เพียงพอให้มีผลงานต่อเนื่องติดตามมาได้อยู่เรื่อยๆ
– เคยเพ้อฝันเป็นจิตรกร แต่ล้มเลิกความตั้งใจเพราะพบเห็นงานศิลปะที่ตนเองไม่สามารถก้าวข้ามผ่าน, ชีวิตจริงของผู้กำกับ Ray เคยวาดฝันเป็นนักเขียน/จิตรกร แต่ก็ล้มเลิกความตั้งใจเพราะครุ่นคิดว่าตนเองคงทำดีกว่าพ่อไม่ได้ เลยเปลี่ยนมาสร้างภาพยนตร์แทน
ฯลฯ
Dipankar De (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Jamshedpur, Jharkhand, เข้าสู่วงการจากบทบาทสมทบ Seemabaddha (1971) ติดตามด้วย Jana Aranya (1976) จนกลายเป็นขาประจำยุคหลังของผู้กำกับ Ray และได้ร่วมงานสามผลงานสุดท้าย
รับบท Sudhindra Bose พ่อ/สามี ผู้เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ไม่อยากเชื่อมั่นใจในชายแปลกหน้า เพราะยุคสมัยนี้คนดีหายาก ครุ่นคิดมองทุกสิ่งอย่างในแง่ร้ายไปหมด ทีแรกพยายามโน้มน้าวภรรยาให้บอกปัด แต่ก็ค่อยๆยินยอมเปิดใจรับเมื่อพานพบเจอ แม้จะทำบางสิ่งอย่างไม่น่าอภิรมณ์เท่าไหร่สักเท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็ยังมีจิตสำนึกรู้จักผิดชอบชั่วดี
ผู้ชมปัจจุบันส่วนใหญ่ก็คงแบบตัวละครนี้ จดหมายลึกลับมาพร้อมความวิตกจริตใหญ่ยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนค่านิยมมนุษย์ยุคสมัยนั้น-นี้ หาความบริสุทธิ์จริงใจจากเพียงถ้อยคำพูดหรือภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้อีกต่อไป แต่การจะสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ไม่ยินยอมเรียนรู้จักตัวตนของอีกฝ่าย นั่นก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมสักเท่าไหร่
การแสดงของ De อาจไม่มีอะไรให้พูดถึงนัก เพราะเมื่อถึงจุดๆหนึ่งจะถูกกลืนกินโดย Utpal Dutt และบรรดานักแสดงรับเชิญ ที่มาร่วมท้าพิสูจน์ความจริง แต่การแสดงออกขณะรู้สำนึกผิด ฉันไม่น่าทำอะไรให้มันเกินเลยเถิดขนาดนั้น นั่นออกมาจากความรู้สึกภายในจริงๆ ผู้ชมย่อมสัมผัสได้เช่นกัน
Mamata Shankar (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Kolkata, พ่อ-แม่เป็นนักเต้นชื่อดัง แถมมีศักดิ์เป็นหลานของ Ravi Shankar, เริ่มต้นเข้าสู่วงการภาพยนตร์จาก Mrigayaa (1976), Kharij (1982), ร่วมงานสามเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Ray และระหว่างนั้นก่อตั้งคณะ Mamta Shankar Dance Company ออกเดินทางไปเปิดการแสดงทั่วโลก
รับบท Anila Bose แม้ไม่เคยคาดคิดถึงจะได้รับจดหมายจากลุง Manomohan Mitra แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ไม่ผิดอะไรที่จะลองเสี่ยง ซึ่งแค่เพียงแรกพานพบก็รู้สึกถูกชะตา (น่าจะโดยสันชาตญาณทางสายเลือดกระมัง) พยายามอย่างยิ่งจะโน้มน้าวใจสามีให้คล้อยตาย แต่ของแบบนี้มันต้อง’เชื่อ’ด้วยตัวตนเองถึงจะแน่ใจ
บทบาทของ Shankar ถือว่ามีสีสันและจิตวิญญาณมากกว่า Dipankar De แม้เธอจะไม่ได้เอ่ยปากแสดงความครุ่นคิดเห็นใดๆระหว่างสนทนา แต่บทเพลงและการเข้าร่วมเต้นช่วงท้าย นั่นสะท้อนถึงการเปิดอก ยินยอมรับ สำหรับผู้หญิงมักง่ายดายกว่าผู้ชายในการเข้าถึงตัวตนของใครๆ
Robi Ghosh Dastidar (1931 – 1997) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal หลังเรียนจบจาก Asutosh College ได้ทำงานยัง Bankshall Court แต่เกิดความเบื่อหน่าย ผันมาเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Ahoban (1959), เข้าตาผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Abhijan (1962), Mahapurush (1965), โด่งดังสูงสุด Goopy Gyne Bagha Byne (1968), Hirak Rajar Deshe (1980)
รับบท Ranjan Rakshit นักแสดงผู้มีความสนใจอยากรับรู้เรื่องราวของ Manomohan Mitra เลยเร่งรีบเดินทางมาหาตั้งแต่ค่ำคืนแรก สนทนากันอย่างออกรสชาดแต่ในที่สุดก็ยินยอมพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลุงคนนี้กำลังเล่นละครตบตาอยู่หรือเปล่า
ภาพลักษณ์ของ Ghosh เป็นคนตลก ดูไม่เฉลียวฉลาดมากนัก ซึ่งหนังจงใจจับจ้องถ่ายใบหน้าของเขาขณะผิดคิว เอ๋อเหรอ คาดไม่ถึงกับคำตอบ พยายามดิ้นรนฝืนทนอยู่สักพัก แต่พอความแตกก็ศิโรราบโดยดี พบเจอบุคคลที่มีชั้นเชิง/เฉลียวฉลาดกว่า แน่นอนว่าย่อมไม่สามารถติดตามไล่ทัน
Dhritiman Chatterjee ชื่อจริง Sundar Chatterjee (เกิดปี 1945) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Kolkata, West Bengal, โตขึ้นร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ความหลงใหลด้านการแสดงเลยเปลี่ยนมาเป็นนักแสดงละครเวที ได้รับคัดเลือกแสดงนำ Pratidwandi (1970) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Agantuk (1991), Black (2005), Kahaani (2012), Pink (2016) ฯ
รับบท Prithwish Sen Gupta เพื่อนของ Sudhindra ไม่แน่ใจว่าเป็นนักจิตวิทยาหรือเปล่า พยายามตั้งข้อคำถามส่วนตัวมากมาย เพื่อล้วงลึกไปถึงความเชื่อ ศรัทธา อุดมการณ์ สุดท้ายเพราะไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ เลยเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด เพราะทุกสิ่งอย่างล้วนทิ่มแทงย้อนกลับใส่ตัวตนเอง เลยโบ้ยบ้ายได้ข้อสรุป คนแบบนี้ไม่สมควรสมัครคบหา
ผมมีความประทับใจการแสดงของ Chatterjee มาตั้งแต่ Pratidwandi (1970) ในความดื้อรั้น ดุดัน หัวชนฝา ทุกสิ่งอย่างต้องให้ได้ดั่งใจตนเท่านั้น เรื่องนี้เพิ่มความทรงภูมิด้วยการไว้หนวดเครา ภาพลักษณ์แลดูเฉลียวฉลาดศาสตราจารย์ เพราะเย่อยิ่งถือมั่นในตนเองสูง เมื่อพานพบนักปราชญ์ผู้รู้จริง วินาทีรู้ตัวเองว่าพ่ายแพ้ เลยพูดแทงใจดำสวนกลับไปอย่างไม่ไว้หน้า
การระเบิดของ Chatterjee ถือเป็นสีสันมากๆ (แบบเดียวกับ Pratidwandi) สะท้อนความ ‘กบในกะลา’ ของมนุษย์ รับล่วงรู้จักสิ่งต่างๆเพียงน้อยนิด แต่กลับลุ่มหลงงมงาย เพ้อเจ้อไปว่าตนเองเข้าใจทุกสิ่งอย่าง เมื่อมิสามารถหาคำตอบในหลายปริศนา ก็ให้ข้อสรุปที่แสนปัญญาอ่อนสิ้นดี
ถ่ายภาพโดย Barun Raha จากเคยเป็นผู้ช่วยตากล้อง Joi Baba Felunath (1979) เลื่อนขึ้นมาเป็นได้รับเครดิตถ่ายภาพตั้งแต่ An Enemy of the People (1989)
งานภาพของหนังมีความเรียบง่าย ‘Minimalist’ เพราะแทบทั้งหมดถ่ายทำภายในบ้าน ส่วนใหญ่จึงคือมุมกล้อง ขยับเคลื่อนไหล จัดแสง-สี ตำแหน่งทิศทางของนักแสดง, ซึ่งผู้กำกับ Ray ขณะนั้นป่วยหนัก อยู่ไม่ห่างถังอ๊อกซิเจน ให้คำแนะนำทีมงาน/นักแสดง ผ่านการใช้เสียงเท่านั้น
อารัมบท เมื่อ Sudhindra พยายามเกลี้ยกล่อมให้ภรรยาล้มละเลิกความตั้งใจ ตอบปฏิเสธจดหมายลึกลับฉบับนั้นไป ตัวเขาจะยืนค้ำหัวเธอ สะท้อนถึงความเป็นใหญ่ภายในบ้าน
Anila ทำคุกกี้รูปหัวใจ นัยยะคงคือต้องการเผยแพร่ความรักให้กับทุกคน ซึ่งสะท้อนตัวตน จิตวิญญาณของเธอ อยากที่จะล่วงรับรู้พบเจอชายแปลกหน้าอ้างว่าเป็นลุงใจจะขาด … นั่นทำให้สามีแม้ต่อต้านหัวชนฝา ก็ยังต้องยินยอมคล้อยตามในบางส่วน
Opening Credit ของหนังค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เพราะหลังจากขึ้นตัวอักษรที่เป็นชื่อหนัง มีการปรับโฟกัสให้พบเห็นภาพเบลอๆ สะท้อนเข้ากับความทรงจำของ Anila ที่มีต่อลุง มันช่างยาวนานห่างไกล ครุ่นคิดเท่าไหร่ก็พบเห็นเพียงภาพเลือนลางนี้เท่านั้น
การมาถึงของลุง Manomohan Mitra เชิญให้มานั่งเก้าอี้ตัวที่พ่อเคยนั่งเมื่อตอนอารัมบท สะท้อนถึงในฐานะ เป็นผู้ใหญ่ในบ้าน พูดคุยสนทนาคร่าวๆ ดื่มโค้กให้รู้สึกซาบซ่านหัวใจ
Anila โทรศัพท์บอกสามี Sudhindra ว่าลุงแปลกหน้ามาถึงบ้านแล้ว สังเกตว่า
– ภาพพื้นหลังของ Anila ไม่แน่ใจว่าเทพองค์ไหน แต่ถือว่าสะท้อนตัวตนของเธอย่างแน่นอน
– สำหรับ Sudhindra ด้านหลังของเขาคือครึ่งสว่าง-ครึ่งมืด สะท้อนท้อนถึงความเชื่อครึ่ง-ไม่เชื่อครึ่ง
ภาพวาดผนังถ้ำที่ตัวละครพูดถึงน่าจะ Cueva de Altamira (Cave of Altamira) พบเจออยู่ที่ Santillana del Mar, Cantabria ประเทศสเปน ได้รับการประเมินอายุ 36,000 ปี (ยุค Upper Paleolithic) ค้นพบโดย Marcelino Sanz de Sautuola เมื่อปี ค.ศ. 1879 และจดทะเบียนมรดกโลกปี ค.ศ. 1985
ภาพวาดผนังถ้ำที่ค้นพบ จะเต็มไปด้วยสรรพสัตว์น้อยใหญ่มากมาย แต่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดของถ้ำนี้คือวัวกระทิง (Bison) ก็มีหลายตัวเหมือนกันนะ ผมพยายามหาที่ใกล้เคียงสุดกับภาพวาดประกอบหนัง
กระทิง เป็นสัตว์ที่ชอบใช้ศีรษะพุ่งชน ก็เหมือนตัวละคร Manomohan Mitra (และผู้กำกับ Ray) มีชีวิตแบบ ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่ได้ใคร่สนใจอนาคตสักเท่าไหร่
การเดินทางท่องโลกของ Manomohan Mitra ช่างสอดคล้องคู่ขนานกับคนเล่น Parasailing ซึ่งคงจะผูกเชือกติดกับรถบรรทุกแล่นไป (คล้ายๆการเล่น Wake Board แต่เปลี่ยนจากบนน้ำมาเป็นกลางอากาศ)
หลายครั้งที่ Manomohan Mitra เล่านิทานให้เด็กๆรับฟัง จะหันมาสบตากล้อง ‘Breaking the Fourth Wall’ คงเพื่อเป็นการสนทนากับผู้ชมไปด้วยในตัว
สิ่งที่ตัวละคร(และผู้กำกับ Ray) ถือว่ามีความน่าสนเท่ห์ มหัศจรรย์ที่สุด เล่าผ่านตัวละครนี้ก็คือ ดวงอาทิตย์และพระจันทร์ ทั้งๆมีขนาดแตกต่างลิบลับ แต่มองจากพื้นโลกกลับแลดูใกล้เคียง และบางกาลเวลาสามารถซ้อนทับกันสนิท โอกาสเช่นนั้นมันเป็นไปได้อย่างไร
Manomohan Mitra แรกพบเจอครั้งแรกกับ Sudhindra Bose จากภาพสะท้อนในกระจก นัยยะถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงตัวตนของอีกฝ่าย เริ่มต้นเลยโยน Passport คงอยากรู้ใจจะขาดว่าฉันคือลุงแท้ๆของภรรยาหรือเปล่า แต่ก็พูดตอกย้ำเตือน นั่นหาใช่สิ่งพิสูจน์สายเลือก/คุณค่าความเป็นคนไม่!
เทคนิคที่ผู้กำกับ Ray ใช้สร้างความสนใจในเรื่องเล่า หรือขณะกล่าวสุนทรพจน์ของ Manomohan Mitra คือกล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อน/ซูมเข้าไปหาใบหน้าตัวละคร สร้างความจดจ่อให้กับผู้ชม และสะท้อนถึงความเข้มข้นของเนื้อหา กำลังมุ่งเข้าสู่สาระใจความสำคัญ
Peril at End House (1932) ชื่อไทยเหตุปริศนาที่บ้านเอนด์เฮาส์ นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แต่งโดย Agatha Christie (1890 – 1976) ผมไม่เคยอ่านเลยบอกไม่ได้ว่ามีองค์ประกอบที่ตัวละครครุ่นคิดถึงหรือเปล่า (เรื่องนี้ยังไม่เคยสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยนะครับ) แต่สะท้อนความลึกลับ พิศวง ที่ลุงพูดถึงเมื่อตอนจบฉากก่อนหน้าได้อย่างลงตัวเลยละ
เพราะครุ่นคิดบางอย่างขึ้นมาได้ Sudhindra เลยเดินทางออกไปหาชายชราคนหนึ่ง ซึ่งมีปัญหาการได้ยิน เรื่องวุ่นๆชวนขบขัน เพราะการพูดคุยไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ สะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวของโลกยุคสมัยนี้ ทำให้มนุษย์พยายามปิดกั้นตนเอง ไม่ค่อยสื่อสารกับใครอื่นจากภายใน สนเพียงภาพลักษณ์ เปลือกนอก หลอกตัวเองไปวันๆ
การที่จู่ๆใส่ฉากร้อง-เล่น เครื่องดนตรี Tampura (แนวคิดคล้ายๆหนังของ Marx Brothers) ทำให้เกิดความพักผ่อนคลายชั่วขณะ ก่อนการโหมกระหน่ำเข้าใส่ของพายุลูกใหญ่
ระหว่างการสนทนาอย่างออกรสกับ Prithwish Sen Gupta จะมีครั้งหนึ่งที่ตัวละครหยิบลูกบิด/รูบิค ขึ้นมาหมุนเล่น สะท้อนการกำลังขบคิดแก้ไขปริศนา
ผมบังเอิญโหลดหนังมาสองฉบับเลยพบเห็นความแตกต่างระหว่าง Widescreen ของ Shermaroo และฉบับอัตราส่วนดั้งเดิมของ Criterion Collection (อัตราส่วน 4:3) มันทำให้ความสำคัญของลูกบิด/รูบิค แตกต่างกันออกไปเลยนะ!
สังเกตบางคำตอบของ Manomohan Mitra พยายามเบี่ยงเบนด้วยลีลา (เพราะมันสะท้อนมุมมองของผู้กำกับ Ray ด้วยอีกคน) เช่น ถูกถามเรื่องความเชื่อในพระเจ้า พี่แกฮัมร้องเพลง เลี่ยงไม่ตอบซะงั้น!
ทุกครั้งที่การสนทนากำลังออกออกรสชาดเข้มข้น ตัวละครจะลุกขึ้น เดินวนไปวนมารอบห้อง ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่เห็นพ้องก็จักยืนเผชิญหน้า พยายามข่มขวัญศัตรู ยกตำแหน่งตนเองให้สูง/เท่าเทียม ซึ่งวินาทีแห่งความพ่ายแพ้ Prithwish Sen Gupta ยืนล้วงกระเป๋า เท้าสะเอว ชี้หน้าด่า ควักบุหรี่ขึ้นมาสูบ เรียกว่าหมาจนตรอบโดยแท้
เมื่อสิ้นสุดการโต้เถียง Sudhindra และ Anila ต่างตระหนักได้ทันทีว่าตนเองกระทำสิ่งผิดพลาด เสียมารยาท ไม่สมควรแต่ประการใด ความหนาวเหน็บและมืดมิดจึงเข้ามาปกคลุมพวกเขาในค่ำคืนนั้นโดยทันที และจบสิ้นลงด้วยช็อตนี้ น่าจะนาฬิกาหมุน สะท้อนถึงวันเวลาที่จะได้อยู่ร่วมกับ Manomohan Mitra ใกล้หมดสิ้นลงไป
คุณลุงขี้งอน เพราะค่ำคืนนั้นถูกจี้แทงใจดำ เจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสเลยตัดสินใจหลบหนีออกมา และงดอาหารมื้อเช้า-กลางวันอีกต่างหาก แต่ลึกๆผมมองว่า คงอยากพิสูจน์ใจของครอบครัวนี้เหมือนกันว่า จะติดตามมาหาตนเองหรือเปล่า (ไม่งั้นคงไม่ตระเตรียมการแสดงชุดพิเศษไว้ให้พวกเขาหรอกนะ)
ช็อตนี้น่าสนใจเดียว Deep-Focus เพียงใบหน้าของ Manomohan Mitra ขนาดใหญ่เท่าสามสมาชิกครอบครัว Bose สะท้อนถึงการตระหนักได้ถึงความสำคัญของลุง ต้องการเรียกร้องให้หวนกลับบ้าน ยินยอมรับความผิดพลาดทุกประการที่ก่อไว้
Koli, Kori, Kol ชนเผ่าเก่าแก่ที่สุดในอินเดีย ว่ากันว่าเป็นส่วนผสมของ Negrito และ Australoid อพยพมาอยู่แถวๆ Madhya Pradesh ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีภาษาถิ่น Kolarian หรือ Munda ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 200,000 คน
ลักษณะการเต้นรำของชาว Kols ฝ่ายชายร้อง-เล่น ตีกลอง เปล่าขลุ่ย, ฝ่ายหญิงจับมือกันแน่น ยืนเรียงแถวหน้ากระดาน โยกไปมาโดยพร้อมเพรียง สะท้อนความสัมพันธ์ที่เป็นปึกแผ่น (ตรงกันข้ามกับความเห็นแก่ตัวของคนยุคสมัยปัจจุบัน ที่ต่างตัวใครตัวมันไม่สนใจใครอื่น) ท่วงท่าลีลาก็แสนเรียบง่าย ธรรมดา ซ้ำไปซ้ำมา คนเพิ่งเคยเห็นก็สามารถจดจำรำตามแทบจะโดยทันที ซึ่งการเข้าไปร่วมวงของ Anila นั่นคือตัวตนแท้จริงของเธอ สามารถเปิดใจรับเรียนรู้อะไรใหม่ๆได้โดยง่าย (เธอจึงสามารถเปิดรับลุงคนนี้ ได้ตั้งแต่ยังไม่เคยพบหน้าคาดตา)
เริ่มต้น Manomohan Mitra มาถึงโดยรถแท็กซี่ที่มีกระโปรงหลัง แต่ขากลับเมื่อเขาได้ทำภารกิจบางอย่างเสร็จสิ้น รถคันนี้ไร้ซึ่งสัมภาระใดๆ แถมยังทอดทิ้งกระเป๋าใบโปรดไว้เป็นของต่างหน้า
ตัดต่อโดย Dulal Dutta ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray ร่วมงานมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955), หนังดำเนินเรื่องโดยมีลุง Manomohan Mitra เป็นจุดหมุน
– อารัมบท, ส่งจดหมายมาก่อนล่วงหน้า
– แรกพบเจอ พูดคุย รับประทานอาหาร ซื้อใจหลานชาย Satyaki พานพบปะ Sudhindra (ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง)
– เผชิญหน้านักแสดง Ranjan Rakshit
– ฝันร้ายของ Anila ทำให้ Sudhindra ต้องออกเดินทางไปหาทนาย
– เผชิญหน้านักจิตวิเคราะห์ Prithwish Sen Gupta
– การหนีไปของลุง ทำให้ครอบครัว Bose ต้องออกติดตามตัวจนพบเจอ
เพลงประกอบโดย Satyajit Ray, แรกเริ่มต้น Opening Credit ใครกันนะกำลังเดินทางโดยรถไฟใกล้จะมีถึง ท่วงทำนองเต็มไปด้วยลึกลับพิศวง (ผสมกันระหว่างเครื่องดนตรีตะวันตก+พื้นบ้านอินเดีย) จากนั้นเมื่อลุงกำลังเล่านิทานให้เด็กๆฟัง ช่างมีความมหัศจรรย์น่าลุ่มหลงใหล ช่วงท้ายเมื่อความขัดแย้งบานปลายถึงขีดสุด บรรยากาศแห่งความหนาวเหน็บ สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ
Bajilo Kaharo Bina (แปลว่า Whose Veena is it that rings out?) แต่งโดย Rabindranath Tagore ขับร้องโดย Shramana Guha Thakurta, บทเพลงรำพันถึงเสียงเครื่องดนตรี Veena ที่ดังล่องลอยมา ใครกันหนาคือผู้บรรเลง ทำให้จิตใจของฉันสั่นหวั่นไหว ล่องลอยไปไกลถึงความทรงจำเมื่อครั้นวันวาน
เกร็ด: Veena คือเครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดีย ประเภทดีด ทำจากไม้ ตกแต่งด้วยทองเหลืองหรือโลหะ มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร เป็นรูปทรงกลมคอกว้างมีขนาดใหญ่ ด้านปลายจะแกะสลักเป็นรูปหัวมังกร สายที่ใช้ดีดทำจากโลหะมีระดับเสียง 8 ระดับ ผู้บรรเลงอาจนั่งไขว่ห้าง หรืออาจนั่งบรรเลงกับพื้นก็ได้, Veena ถือเป็นสัญลักษณ์ของ Saraswati เทพเจ้าที่ชาวฮินดูเคารพศรัทธา เรียกว่าเทพเจ้าแห่งความรู้
“The crux of the matter is that all these experiences have led you to conclude that urban civilization is a big facade.True civilization is the one found amongst forest dwellers”.
– Manomohan Mitra
ยุคสมัยนี้ ผู้คนมองความศิวิไลซ์ คือนวัตกรรมที่ก้าวล้ำยุคสมัย เมืองใหญ่ต้องเต็มไปด้วยตึกระฟ้า เศรษฐกิจมั่งคั่ง ประชาชนมั่งมี แต่แทบทั้งนั้นไม่มีใครพูดถึงคุณภาพชีวิต จิตใจ คุณความดีงาม หรือความสุขที่เกิดขึ้นจากภายใน
แนวคิดของผู้กำกับ Ray อาจดูสุดโต่งแต่นั่นคือข้อเท็จจริงที่ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง โลกยุคสมัยนี้หมดสิ้นแล้วซึ่งความศิวิไลซ์ ผู้คนส่วนใหญ่แสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว ละโมบโลภมาก ลุ่มหลงใหลในวัตถุ สิ่งข้าวของ เงินทอง อำนาจ ยศศักดิ์ศรี และมีความเชื่อเฉพาะสิ่งที่ตามองเห็นเท่านั้น
ปัญหาดังกล่าว คนส่วนใหญ่คงโบ้ยความผิดไปที่วิวัฒนาการความเจริญของโลก ทำให้มนุษย์มีความละโมบโลภเห็นแก่ตัว แต่จริงๆแล้วนั่นก็แค่อิทธิพลส่วนหนึ่งเท่านั้น สาเหตุผลหลักๆล้วนอยู่ที่ตัวเราเอง ปล่อยกายใจให้หมกมุ่นยึดติดในสิ่งที่เป็นวัตถุและไม่วัตถุ ลุ่มหลงใหลล่องลอยบนภาพมายา จนมองไม่เห็นสัจธรรมความจริงหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน
ความเรียบง่าย ธรรมดาสามัญ และรู้จักการอยู่ร่วมธรรมชาติ นั่นเป็นสิ่งที่ผู้กำกับ Ray มองว่าคืออุดมคติ วิถีทางอันเหมาะสม จะทำให้มวลมนุษยชาติสามารถหวนกลับสู่ความยิ่งใหญ่ ศิวิไลซ์ ที่ไม่ใช่ความเจริญทางวัตถุ แต่คือจิตใจ จักได้รับการพัฒนาให้มีความเพียงพอดี ลดละความละโมบโลภ เห็นแก่ตัว มองเห็นสิ่งทรงคุณค่าหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน แสดงออกด้วยมิตรไมตรีอันดีต่อกัน แล้วโลกมันจะน่าอยู่ยิ่งกว่าปัจจุบันนั้น-นี้ เป็นไหนๆ
สิ่งเกิดขึ้นตอนจบของหนัง นั่นเรียกว่าผลตอบแทนของความมีน้ำใจไมตรี กล่าวคือไม่ใช่แค่พ่อ-แม่-ลูก ครอบครัว Bose ต้องการพิสูจน์ชายแปลกหน้าคนนี้คือลุงแท้ๆหรือเปล่า? ในมุมกลับตารปัตร Manomohan Mitra ก็ต้องการค้นหาคำตอบเช่นกันว่า Anila Bose คือหลานสาวแท้ๆของตนเองไหม? เติบโตขึ้นมีนิสัยเช่นไร กล้าเสี่ยงต้อนรับคนแปลกหน้าโดยไม่คาดหวังผลตอบแทน นั่นถือเป็นสิ่งงดงาม ทรงคุณค่า หาได้ยากยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันนั้น-นี้ และรอยยิ้มอันเบิกบานจากใจ มีมูลค่าสูงกว่าเงินทอง สิ่งข้าวของ หรือคำพูดขอบคุณเป็นไหนๆ
หนังได้เสียงตอบรับดีล้นหลามทั้งการออกฉายในอินเดีย และต่างประเทศ ติดอันดับ 2 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Cahiers du Cinéma
ตั้งแต่ปี 1989 ที่ Akira Kurosawa โน้มน้าว Martin Scrorsese รวมหัวกับ Ismail Merchant สร้างแคมเปญเพื่อให้ Academy of Motion Picture Arts and Sciences มอบรางวัล Honorary Award ให้กับ Satyajit Ray จนได้รับการประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 1961
ผู้กำกับ Ray มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร India Today
“This comes as a sort of climax to my career. Because for a film-maker, an Oscar is like a Nobel prize”.
– Satyajit Ray
เพราะร่างกายทรุดโทรมไร้เรี่ยวแรง ไม่สามารถออกเดินทางไปไหนได้อีก ช่วงระหว่างพิธีเลยมีการถ่ายทอดสดข้ามทวีป และได้ Andrey Hepburn นักแสดงคนโปรดของ Ray เป็นผู้ประกาศรางวัลให้
และเพียง 24 วันหลังจากได้รับ Honorary Award ผู้กำกับ Satyajit Ray ก็ลาจากโลกนี้ไปวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1992 สิริอายุ 70 ปี
Agantuk ไม่ใช่แค่ผลงานที่ชื่นชอบ แต่ถึงระดับคลั่งไคล้ ลุ่มหลงใหล เพราะผมสามารถคาดเดาตอนจบได้ว่าชายแปลกหน้าผู้นี้มีเป้าหมายอะไร นั่นทำให้ทุกเรื่องราว เหตุการณ์ คือบทเรียนสอนใจตัวละครและผู้ชม ลดละความเห็นแก่ตัว เรียนรู้จักการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน น้ำใจไมตรี และถ้าเป็นไปได้ หวนกลับคืนสู่ธรรมชาติสามัญ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงยุคสมัยนี้คงไม่มีใครเปิดประตูต้อนรับคนแปลกหน้ากันแล้ว แต่บทเรียนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แสดงออกด้วยไมตรีจิต นั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ให้ด้วยความเต็มใจ และอย่าไปคาดหวังผลตอบแทนใดๆ
จัดเรต 13+ กับอคติที่รุนแรงของบางตัวละคร
Leave a Reply