Aguirre, the Wrath of God (1972) : Werner Herzog ♥♥♥♥♡
(15/11/2018) เป้าหมายคือการสำรวจค้นหา El Dorado นครทองคำที่ไม่รู้ตั้งอยู่บริเวณไหนของลุ่มแม่น้ำ Amazon โอกาสแห่งความสำเร็จช่างน้อยนิด แต่มนุษย์ก็ยังดื้อรัน ดิ้นดั้นด้น ต้องการไปถึงฝั่งฝัน เพื่ออะไร?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เมื่อตอนครั้งแรกที่ผมรับชม Aguirre, the Wrath of God (1972) ย้อนอ่านได้จากบทความด้านล่าง จักพบเห็นอคติ ไม่เข้าใจ เพื่ออะไร ไร้สาระ เสียเวลาดูชิบหาย! แต่แปลกเมื่อกาลเวลาผ่านไป พอครุ่นคิดถึงหนังเรื่องนี้มันเกิดความรู้สึกประหลาด อยากหวนกลับมาดูอีกสักครั้ง มันห่วยจริงจังดังเคยจดจำไว้เช่นนั้นนะหรือ
จริงๆยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมพอรับรู้ตนเองว่า ได้โยนขี่ใส่ไข่ไว้เยอะ ถ้าหวนกลับไปรับชมดูอีกรอบคงเอร็ดอร่อยกับรสชาติฝาดๆขมๆ เคลิบเคลิ้มคลั่งไคล้ทั้งน้ำตา ก็พยายามหาเวลา Revisit บทความเก่าๆอยู่เรื่อยๆ ถือเป็นบทเรียนวิวัฒนาการของตนเอง เก็บที่เคยเขียนไว้ด้วยเพื่อย้ำเตือนสติปัญญา
Aguirre, the Wrath of God คือภาพยนตร์ที่เอ่อล้นด้วยสัมผัสอันหลอกหลอน ขนลุกขนพอง ไม่ใช่ความตายที่น่ากลัว แต่คือเป้าหมายปลายทางอยู่แห่งหนไหน เหม่อมองไปข้างหน้าไม่พบเห็นอะไร ต่อให้พยายามต่อสู้ดิ้นรนฟันฝ่า เพ้อฝันว่าถ้ายังไม่ตายสักวันต้องถึงฝั่งฝัน แต่ถ้าสุดท้ายแล้วสถานที่แห่งนั้นมันไม่มีอยู่จริง ชีวิต ทุกสิ่งอย่าง ก็เท่ากับสูญเสียเปล่าหรอกหรือ?
Werner Herzog (เกิดปี 1942) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Werner Stipetić, Munich บ้านหลังเก่าถูกระเบิดถล่มพังทลายไร้ที่อยู่อาศัย ใช้ชีวิตเติบโตขึ้นด้วยความทุกข์ยากลำบาก ดิ้นรนทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเอาตัวรอด ได้รู้จักภาพยนตร์ครั้งแรกตอนอายุ 13 (ปีเดียวกับที่รู้จัก Klaus Kinski อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นต์เดียวกัน) ปีถัดมาตัดสินใจแน่วแน่ต้องการเป็นผู้กำกับ ศึกษาเรียนรู้วิธีถ่ายหนังจาก Encyclopedia, หลังเรียนจบมัธยมทำงานกะดึกโรงงานผลิตเหล็ก นำค่าแรงที่ได้ใช้เป็นทุนส่วนตัวออกท่องเที่ยวยุโรป แอฟริกาเหนือ บินไปสหรัฐอเมริกา ถ่ายทำสารคดี และภาพยนตร์เรื่องแรก Signs of Life (1968) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ารางวัล Silver Bear Extraordinary Prize of the Jury ได้รับการจับตามองโดยทันที
จุดเริ่มต้นของ Aguirre, the Wrath of God เกิดจากการหยิบยืมหนังสือประวัติศาสตร์จากเพื่อน แค่เพียงครึ่งหน้าที่อุทิศถึงนักสำรวจ Lope de Aguirre (1510 – 1561) สัญชาติ Spanish ผู้ได้รับฉายาว่า El Loco (แปลว่า The Madman) เกิดความสนใจขึ้นมาโดยทันที จินตนาการพล็อตเรื่องราว ใช้เวลาเพียงสองวันครึ่งก็ได้บทร่างแรกเสร็จสิ้น เห็นว่าส่วนใหญ่เขียนขึ้นระหว่างทริปเดินทางกลับ 200 ไมล์ (320 กิโลเมตร) ร่วมกับทีมฟุตบอล ทุกคนกำลังมึนเมา กระดาษหลายแผ่นเปียกโชกด้วยคราบอาหารจากการอ๊วกแตกอ๊วกแตน
เมื่อปี ค.ศ. 1560 นักสำรวจ/ล่าสมบัติชาว Spanish นำโดย Gonzalo Pizarro (รับบทโดย Alejandro Repullés) หลังจากยึดครองจักรวรรดิอินคา (Inca Empire) และเทือกเขา Andes ออกเดินมุ่งสู่ป่า Amazon ทางทิศตะวันออก เพื่อค้นหานครทองคำ El Dorado เมื่อเดินทางถึงจุดไม่สามารถไปต่อได้ มอบหมายให้ Don Pedro de Ursúa (รับบทโดย Ruy Guerra) ทำการสร้างแพล่องเรือ นำการสำรวจต่อไป และมี Don Lope de Aguirre (รับบทโดย Klaus Kinski) ทำหน้าที่รองผู้บัญชาการ
ระหว่างการล่องแพมีลำหนึ่งติดอยู่ในกระแสน้ำวน ไม่สามารถพายหนีเอาตัวรอดออกมาได้ Don Ursúa จัดส่งคนข้ามฝั่งไปช่วยแต่ไม่ทันกาล เช้าวันถัดมาพบเห็นพวกเขาถูกเข่นฆ่าเสียชีวิต (จากฝีมือชาวพื้นเมืองแถวนั้น) และอีกวันถัดมาน้ำขึ้นสูง แพที่สร้างไว้ถูกลักขโมยสูญหาย มองเห็นว่าภารกิจครั้งนี้คงไม่สำเร็จลุล่วงแน่แท้จึงออกคำสั่งให้เตรียมตัวเดินทางกลับ แต่ถูก Don Aguirre ก่อการกบฎ แล้วยก Don Fernando de Guzmán (รับบทโดย Peter Berling) ปราบดาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่ง El Dorado ออกทำการสำรวจหานครทองคำต่อไป
นำแสดงโดย Klaus Kinski ชื่อจริง Klaus Günter Karl Nakszynski (1926 – 1991) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Zoppot, Free City of Danzig (ปัจจุบันประเทศ Poland) พ่อคืออดีตนักร้องโอเปร่าแต่ไม่ประสบความสำเร็จเลยผันตัวมาเป็นเภสัชกร ย้ายมาอยู่ Berlin ปี 1931 อาศัยอยู่ในแฟลตเล็กๆ พออายุ 17 สมัครทหารสังกัด German Wehrmacht ออกรบเพียงสองวันถูกจับโดยทหารอังกฤษ เชลยค่ายกักกัน Camp 186 ที่ Berechurch Hall เมือง Colchester, Essex ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นนักแสดง รู้สึกว่าน่าจะเอาดีด้านนี้ได้ หลังสงครามจบหวนกลับเยอรมันออกทัวร์กับคณะ Offenburg ตามด้วยละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Morituri (1948), บทเล็กๆใน Doctor Zhivago (1965), For a Few Dollars More (1965), เริ่มมีชื่อเสียงระดับโลกจากการร่วมงานกับ Herzog ทั้งหมด 5 เรื่อง Aguirre: The Wrath of God (1972), Woyzeck (1978), Nosferatu the Vampyre (1979), Fitzcarraldo (1982) และ Cobra Verde (1987)
รับบท Don Lope de Aguirre ไม่ได้ต้องการเป็นใหญ่ผู้นำเหนือใคร แต่เปี่ยมด้วยอิทธิพล ลูกน้องต่างรักใคร่ เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพามุ่งสู่จุดหมายปลายทางได้สำเร็จสมปรารถนา ซึ่งแรกๆตอนก่อกบฎ Don Ursúa ส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย แต่เมื่อระยะทางและการเวลาเคลื่อนไหลตามสายน้ำ พวกเขาทุกคนจึงเริ่มรับรู้ตัว หมอนี่มันคนบ้าชัดๆ ชักนำพาสู่หายนะโดยแน่แท้
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของตัวละครนี้ คือนำพาลูกสาว Florés de Aguirre (รับบทโดย Cecilia Rivera) ออกเดินทางติดตามไปไหนไปด้วย แรกๆก็ชวนให้ฉงนว่าภรรยาของเขาคือใครอยู่ไหน ทำไมถึงพาลูกมาลำบาก แต่ช่วงท้ายจะมีการพูดบอกออกมาเอง คือเมื่อถึง El Dorado จะยกเธอให้เป็นมเหสี/ภรรยาของตนเอง ถือกำเนิดรัชทายาทที่มีความบริสุทธิ์จากสายเลือดตนเอง!
ตัวเลือกแรกหนึ่งเดียวของ Herzog คือ Kinski บุคคลที่เขาจดจำได้จากการเคยพบเจอรู้จักเมื่อหลายปีก่อนอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นต์หลังเดียวกัน หลังจากส่งบทไปให้ประมาณ 3-4 วันถัดมาโทรศัพท์หา กว่าจะคุยกันรู้เรื่องก็เกือบๆชั่วโมงเพื่อตบปากรับคำนำแสดง
“It took me at least a couple of minutes before I realized that it was Kinski who was the source of this inarticulate screaming. And after an hour of this, it dawned on me that he found it the most fascinating screenplay and wanted to be Aguirre.”
ความต้องการของ Herzog ให้ตัวละครนี้มีความสุขุม ลุ่มลึก ดูอันตราย ‘quieter, more menacing’ ขณะที่ Kinski อยากแสดงแบบก้าวร้าว คลุ้มคลั่ง ‘wild, ranting madman’ ซึ่งวิธีการที่ผู้กำกับใช้ จงใจสร้างความปั่นป่วนรำคาญ จนนักแสดงหงุดหงิดหัวเสีย ระบายความเลือดร้อนออกมาจนพอเริ่มเย็นลง ‘burn itself out’ การถ่ายทำถึงเริ่มต้นขึ้น
เค้าโครงหน้า กรามเหลี่ยมใหญ่ โหนกแก้มสูง และดวงตาสีฟ้าของ Kinski ช่างดูอันตราย เปี่ยมด้วยพิษสง ลึกๆเหี้ยมโหดร้าย ท่าเดินเป๋ๆ เสียงพูดแหบแห้ง (ใช้นักแสดงอื่นพากย์เสียงทับ) ทำให้ตัวละครนี้ราวกับผู้ไม่ปกติ ปีศาจจากขุมนรก พร้อมที่จะเข่นฆ่า ทำลายล้าง ระบายความคลุ้มคลั่ง อัดอั้นเหมือนระเบิดเวลา รอคอยการปะทุออกมา
แซว: เหตุที่ Kinski ไม่ได้พากย์เสียงทับตนเอง เพราะเขาเรียกร้องเงินเพิ่มอีก ประเด็นคือครึ่งหนึ่งของทุนสร้างหนัง ก็คือค่าตัวแสนแพงของพี่แกอยู่แล้ว
Aguirre ถือเป็นหนึ่งในการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Kinski ไม่เน้นบทพูด (มีความเป็น Minimalist) ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกทางสีหน้า ท่วงท่าทาง ชอบเดินเป๋ไปเป๋มา (ตั้งชื่อว่า Crab-Like เหมือนคนหลังค่อม) แรกๆดูเหมือนคนปกติ ช่วงท้ายก็ยังเหมือนเดิมนะแหละ แต่สถานการณ์มุมมองได้เปลี่ยนแปลงไป ใครๆเลยกล่าวว่าหมอนี่มันคนบ้า คลุ้มคลั่ง เสียสติแตกอย่างที่สุด
ผมคงไม่พูดเอ่ยถึงนักแสดงอื่น เพราะทุกคนอยู่ภายใต้ร่มเงาความคลุ้มคลั่งของ Kinski ไม่มีใครสามารถโดดเด่นเฉิดฉายเจิดจรัสกว่า มีความเป็นปกติ ‘Sanity’ อยู่ในตัวทั้งนั้น
ด้วยทุนสร้างจำกัด สถานที่ถ่ายทำห่างไกล เลยไม่มีใครไหนยอมเสี่ยงให้หยิบยืมกล้องถ่ายภาพ ด้วยเหตุนี้ Herzog เลยทำการลักขโมยจาก Munich Film School อย่างหน้าตาเฉย
“I don’t consider it theft. It was just a necessity. I had some sort of natural right for a camera, a tool to work with”.
– Werner Herzog
ถ่ายภาพโดย Thomas Mauch สัญชาติเยอรมัน เพื่อนสนิท/ขาประจำของ Herzog ร่วมงานกันตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก Signs of Life (1968), สำหรับเรื่องนี้ทั้งหมดถ่ายทำด้วยแสงธรรมชาติ และไม่มีการบันทึกเสียง (ใช้การพากย์ทับภายหลังการถ่ายทำ)
สถานที่ถ่ายทำคือป่าฝนแถวๆ Machu Picchu ต่อด้วยแม่น้ำ Amazon ในเขต Ucayali ล่องมาถึงหมู่บ้าน Urubamba, Peru ว่าจ้างชาวพื้นเมืองเป็นตัวประกอบ สร้างแพ และขนลากปืนใหญ่ ชุดเกราะ ม้า เก๋ง ใช้เวลาเตรียมการนานถึง 9 เดือน ถ่ายทำเรียงลำดับเพียง 5 สัปดาห์
เริ่มต้นด้วยภาพ Long Shot ถ่ายจากเทือกเขาอีกด้านหนึ่ง พบเห็นฝูงคนกำลังเดินเรียงเป็นเส้นตรงเลียบลงเขา ช็อตนี้แบ่งองค์ประกอบเป็นสองฝั่งข้าง ด้านหนึ่งคลุ้งไปด้วยหมอกหนา สัญลักษณ์ของความมืดมัว ไม่แน่นอน มองไม่เห็น คาดเดาอะไรไม่ได้ (คือดินแดนที่ตัวละครกำลังออกสำรวจเสาะแสวงหา ไม่รู้จะได้พบเจอหรือเปล่า)
การเริ่มต้นหนังเดินลงจากภูเขา สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์คือจุดสูงสุด สรวงสวรรค์ ดินแดนของพระเจ้า Mount Olympia ค่อยๆก้าวย่างกรายสู่ดินแดนแห่งความไม่รู้ ภาคพื้นดิน โลกมนุษย์ (หรือขุมนรก)
Gonzalo Pizarro y Alonso (1510 – 1548) นักสำรวจสัญชาติ Spanish น้องชายต่างมารดาของ Francisco Pizarro González (1471 – 1541) ผู้ยึดครองจักรวรรดิอินคา สำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1530
หลังจากถูกแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมือง Quito เมื่อต้นปี 1541 ได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับนครทองคำ El Dorado (บ้างเรียกว่า Land of Cinnamon, País de la Canela) จัดทีมสำรวจประกอบด้วยทหารสเปน 220 คน ชาวพื้นเมืองอเมริกัน/อินเดียแดง 4,000 คน มอบหมายให้ Francisco de Orellana เป็นรองผู้บัญชาการ เริ่มออกเดินทางกุมภาพันธ์ 1541 ผ่านเทือกเขา Andes ลัดเลาะมาถึงแม่น้ำ Coca และ Napo ผลลัพท์สุดท้ายหลงเหลือกลับสู่ Quito เพียงไม่ถึง 80 คน!
ก็ไม่รู้ว่ากระแสน้ำวนนี้เป็นการเตี้ยมขึ้น หรือแพติดกับอยู่บริเวณนั้นจริงๆ ดูจากกระแสอันเชี่ยวกราก บอกเลยว่าอันตรายเสี่ยงตายมากๆ นัยยะของฉากนี้คือตรงไปตรงมา ถึงชีวิตที่เวียนวน บางคนย่อมไม่สามารถหาหนทางหลุดออกจากวังน้ำ หมุนโคลงเคลงไปมาไม่รู้จักจบสิ้น
แต่ฉากถัดๆไปเช้าวันใหม่ตื่นขึ้น น้ำในลำธารขึ้นสูง และแพสูญหาย นั่นเกิดจากค่ำคืนก่อนหน้าเกิดพายุฝนฟ้าจัดหนักชุดใหญ่ ทำให้อุปกรณ์เข้าฉากเสียหายไม่น้อย ไม่ได้อยู่ในบทแต่ผู้กำกับเห็นเป็นโอกาส แต่งเติมเพิ่มเรื่องราวขึ้นทันที (ระหว่างรอการสร้างแพลำใหม่)
โลกทัศนคติของมนุษย์ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีผู้นำ/ปกครอง หรือกษัตริย์ เพื่อชี้นำทาง กำหนดเป้าหมาย ให้ทุกฝักฝ่ายดำเนินไป มีชีวิตอยู่ได้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องตลกกับการปราบดา Don Fernando de Guzmán ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่ง El Doraro จะให้ไปปกครองใคร พลเรือนมีแค่เนี้ย! เพ้อเจ้อไร้สาระสิ้นดี
เราสามารถมองว่านี่คือการสะท้อนเสียดสีในมุมจุลภาค จุดเริ่มต้นของกษัตริย์ ผู้นำมนุษย์ มักเลือกจากบุคคลผู้มีพละกำลังร่างกายใหญ่โต แข็งแกร่งที่สุด (นี่เป็นการประชดประชันเต็มๆเลยนะเนี่ย) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใครๆก็น่าจะบอกได้ว่า Don Guzmán ก็แค่หุ่นเชิดของ Aguirre เท่านั้นเอง
กษัตริย์นั่งอยู่ ข้างซ้ายมือคือบาทหลวง (ที่ปรึกษาด้านจิตวิญญาณ) ข้างขวาคือทหารเอก (ร่างกายแข็งแกร่งสุด) สังเกตว่าจบช็อตนี้ เหมือนทุกคนจะหันหน้าจับจ้องมองมาที่กล้อง ถ่ายรูปแชะ!
ชาวตะวันตกออกเดินทางสำรวจโลก ล่าอาณานิคม เพื่ออะไร?
1) ทรัพยากรในประเทศถูกใช้ไปแทบหมดสิ้น ออกค้นหาดินแดนสามารถส่งข้าวส่งน้ำเลี้ยงดูประชากรของตนเอง
2)
3)
…
สุดท้าย) ข้ออ้างในการเผยแพร่ศาสนา หลักคำสอนเรื่องพระเจ้า
บาทหลวงยื่นคัมภีร์ใบเบิ้ลให้กับชาวพื้นเมือง แล้วบอกว่า ‘This is the Word of God’ เขาหยิบมันขึ้นมาแนบหูฟัง ไม่เห็นได้ยินอะไร โยนทิ้งถูกกล่าวหากระทำการดูหมิ่น ทั้งๆมาดีกลับโดนทิ่มแทงเสียชีวิต … ใครกันแน่ที่ป่าเถื่อน!
ข้อดีของการเป็นกษัตริย์ คือได้กินอิ่มหน่ำก่อนใคร มีข้าราชบริพาร/คนใช้ ตักน้ำบริการให้ ถืออภิสิทธิ์ที่เหนือกว่าผู้อื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อประชาชนอดอยากหิวโหย ใครกันจะไปอดรนทน สนวิทยฐานะ ความถูกผิดเหมาะสมกันเล่า
ความน่าสนใจของฉากนี้ คือขณะ Don Guzmán กำลังรับประทานอาหาร เจ้าม้าที่อยู่ข้างๆเกิดพยศกระโดดโลดเต้นไปมา นี่เป็นการสะท้อนความต้องการของสมาชิกอื่นๆบนแพลำนี้ อยากจะก่อการกบฎ หนีเอาตัวรอด ทำไมต้องอดทนรอ หมอนี่มันก็มนุษย์เหมือนกันทำไมได้อภิสิทธิ์ชนเหนือกว่า
ความตายของ Don Guzmán น่าจะถูกคนในนี่แหละเข่นฆ่า สภาพขึ้นอืดลอยตุ๊บป่อง ไร้พื้นดินกลบฝังหน้า สะท้อนถึงกษัตริย์ที่ไร้แผ่นดินอยู่ ล่องลอยตามสายน้ำไปเรื่อยๆ
ในบทหนังดั้งเดิม จะมีการกล่าวถึงกลุ่มแรกที่ถูกส่งมาสำรวจก่อนคือ Francisco de Orellana แล้วสูญหายอย่างไร้ร่องรอย ปีกว่าๆถัดมา Ursúa และ Aguirre ถึงได้ออกเดินทางตามมา ค้นพบร่องรอย และเรือติดอยู่บนต้นไม้
สำหรับหนังไม่ได้มีการพูดอ้างถึง Orellana แต่ยังสามารถพบเห็นศพทหารสเปน เจอชุดเกราะระหว่างทาง และเรือบนต้นไม้ที่ถูกทำให้เข้าใจว่าคือภาพหลอกหลอนแทน
ตีความในมุมของหนัง เรือบนยอดไม้หมายถึงหายนะ ความตาย จุดสิ้นสุดถึงเป้าหมายไม่มีวันพบเจอไปถึงฝั่งฝัน ถือเป็นลางบอกเหตุที่ดี คนส่วนใหญ่มองเห็นก็จะถอยหลังกลับแล้ว หลงเหลือแต่พวกสุดโต่งจัดๆเท่านั้นยังไปต่อ
ช่วงท้ายของหนังพบเห็นอยู่สองครั้งที่กล้องถ่ายจากแพอีกลำ หมุนวนรอบ 360 องศากับแพหลัก นัยยะคงสื่อถึงความเห็นแก่ตัว โคจรรอบตนเองของมนุษย์ ไม่สนความเป็นตายชีวิตผู้อื่น
หลังจากมนุษย์บนแพตายเกือบหมด กลับกลายเป็นที่อยู่ของฝูงลิง นี่คงต้องการสะท้อนวิวัฒนาการถดถอยของมนุษยชาติ หมดสิ้น ไม่หลงเหลือซึ่งความเป็นคน แปรสภาพสู่สัตว์เดรัจฉาน
ว่ากันด้วยเรื่องของลิง, Herzog จ้างคนในท้องถิ่นช่วยกันจับ 400 ตัว จ่ายเงินครึ่งหนึ่งล่วงหน้าก่อนด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าผู้จับนำลิงไปขายต่อให้ใครสักคน กำลังเตรียมส่งไปยังสหรัฐอเมริกา ความร้อนถึงหูผู้กำกับรีบขับรถไปดักรอยังสนามบิน พอมาถึงก็แอบอ้างเป็นสัตว์แพทย์ต้องทำการฉีดวัคซีนก่อนส่งออกนอก พอนำขึ้นจิ๊บได้เท่านั้นแหละบึ่งหนีหายโดยทันที, ใช้เสร็จแล้วก็ปล่อยพวกมันหวนกลับคืนธรรมชาติป่าไป
เห็นว่าตอนจบดั้งเดิมในบทหนัง แพล่องลอยออกไปไกลถึงมหาสมุทร (ก็ไม่รู้ใครรอดบ้างนะ) จากนั้นถูกกระแสนน้ำวนฉุดรั้งกลับมาสู่แม่น้ำ Amazon และนกแก้วตัวหนึ่งส่งเสียงร้อง “El Dorado, El Dorado!”
ทีมงาน/นักแสดง/ตัวประกอบของหนัง มาจากหลายเชื้อชาติเผ่าพงศ์พันธุ์ ผู้กำกับบอกว่าพูดกัน 16 ภาษา แต่การถ่ายทำตกลงกันว่าใช้อังกฤษสื่อสาร ตั้งใจเช่นนั้นแต่เพราะงบเหลือน้อยนิดหลังการถ่ายทำ เลยต้องเริ่มจากทีมพากย์เยอรมัน แล้วใส่เสียง Sound Effect จนมีความสมจริงจัง กลับกลายเป็นต้นฉบับไปโดยปริยาย
ตัดต่อโดย Beate Mainka-Jellinghaus สัญชาติเยอรมัน ขาประจำของ Herzog ตั้งแต่เรื่องแรก Signs of Life (1968)
เรื่องราวของหนังดำเนินไปตามการเดินทางของทั้งหมู่คณะ ไม่เจาะจงว่าด้วยมุมมองใครคนใดหนึ่ง หลายครั้งแช่ภาพค้างทิ้งไว้ นักแสดงจับจ้องมองกล้อง (ดูยังไงก็เป็น Outtake) สร้างสัมผัสบางอย่างให้เกิดขึ้นระหว่างรับชม
ด้วยลักษณะ Minimalist ให้ภาพและการกระทำ เล่าเรื่องราวมากกว่าบทพูดสนทนา ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความเร่งรีบร้อนประการใดในการดำเนินเรื่อง มันอาจดูอืดอาด เชื่องช้า น่าเหนื่อยหน่าย แต่ผู้ชมจักค่อยซึมซับ ซาบซ่านถึงความหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สั่นสะท้านเข้ากระดูกดำ สร้างบรรยากาศหลอกหลอน จับจิตจับใจโดยแท้
เพลงประกอบโดย Popol Vuh วงดนตรีอิเล็กทรอนิก Avant-Garde, Krautrock, Progressive, Psychedelic, Rock ก่อตั้งโดย Florian Fricke เพื่อนสนิทร่วมวงสมัยเรียนของ Herzog เคยมารับเชิญเป็นนักเปียโน Signs of Life (1968) แต่การร่วมงานผู้กำกับ-ทำเพลง Aguirre, the Wrath of God (1972) คือเรื่องแรกและติดตามมาอีกหลายครั้ง
ลักษณะของบทเพลงมีคำเรียกว่า ‘Hypnotic Music’ เครื่องดนตรีหลักๆคือ Moog Synthesizer และ Mellotron/Choir-Organ (ลักษณะเหมือนเปียโน แต่สามารถหมุนปรับความถี่ได้เสียงที่แตกต่างออกไป) สร้างสัมผัสอันหลอนๆ ลอยล่องเหมือนก้อนเมฆ ลมหนาวพัดโชยบาดผิว ความเย็นยะเยือกเข้าแทรกซึม เกิดอาการสั่นสะท้านขึ้นภายในจิตใจ
สัมผัสของบทเพลง Aguirre ยังสามารถจินตนาการได้ถึงโลกแห่งความเพ้อฝัน สรวงสวรรค์ สิ่งเหนือธรรมชาติ ดินแดนที่อยู่เหนือผืนแผ่นดินมนุษย์ ระหว่างกล้องกำลังค่อยๆ Tilt Down ลงมา ช่างมีความลึกลับ หมอกหมองมัว มองไปข้างหน้าไม่พบเห็นอะไร เป้าหมายชีวิตอยู่ตรงไหน ใครกันจะตอบได้
Andean Pan Flute เครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวแอนดีส (กลุ่มประเทศที่อยู่ติดกับเทือกเขา Andres) เสียงอันแหบๆแห้งๆสะท้อนเข้ากับตัวละคร Aguirre (ที่เสียงพากย์ ก็แหบๆแห้งๆเช่นกัน) ยืนฟังอยู่ใกล้ขนาดนี้ แสดงถึงอารมณ์สุนทรียะ เพลิดเพลินเริงใจ ดูเป็น’ปกติ’ ผิดจากโดยทั่วไปของชายผู้นี้ ที่มักเต็มไปด้วยความคลุ้มคลั่งบ้าบอเสียสติแตก
เท่าที่หาข้อมูลได้ เพลงนี้ชื่อ Valicha เป่าโดยชายพื้นบ้านจนๆสติสตางค์ไม่ค่อยดี ขี้ขลาดหวาดกลัวและชอบวิ่งหนี ต้องให้ Kinski เข้าไปตีสนิทใกล้แบบนี้แหละถึงถ่ายทำออกมาได้
ช่วงท้ายของบทเพลง Popol Vuh นำไปต่อยอดนิดหน่อย แทรกเสียงบางอย่างซ้อนเข้ามา คงแทนด้วยการแปรสภาพตัวละครให้หวนกลับสู่ความปกติของเขา (ที่ถือว่าผิดปกติในมุมคนอื่น)
มนุษย์เกิดมาทำไม? คำถามปรัชญาชีวิตที่ครุ่นคิดให้ตายคนส่วนใหญ่ก็ตอบไม่ได้ เหมือนการเดินทางครั้งนี้ล่องลอยแพไปเรื่อยๆไม่รู้จุดจบสิ้น นครทองคำ/สรวงสวรรค์ที่ฝันใฝ่ มีอยู่ขึ้นจริงตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างหรือเปล่าก็มิอาจตอบได้
สำหรับบางคนเกิดมา ช่วงชีวิตนี้ไม่ว่าอย่างไรต้องไปให้ถึงฟากฝั่งฝัน ครุ่นคิดค้นหาพบเจอคำตอบจงได้เท่านั้น ถึงเป็นที่พึงพอใจ ใครอื่นช่างมันไม่แคร์ โลกต้องหมุนรอบตัวฉันแต่เพียงผู้เดียว!
เท่าที่ผมอ่านประวัติของผู้กำกับ Herzog ช่วงวัยรุ่นหนุ่มเคยหันเข้าหาคริสตศาสนา นับถือคาทอลิกอย่างเคร่งครัด แต่แค่เพียงไม่กี่ปีเท่านั้นประกาศตัวเป็น ‘Atheist’ เลิกเชื่อถือในพระเจ้าโดยสิ้นเชิง
The Wrath of God, ความกริ้วโกรธของพระเจ้า หนังเรื่องนี้เป็นการเปรียบเทียบเข้ากับพฤติกรรมตัวละคร Aguirre บุคคลผู้เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด คลุ้มคลั่ง เสียสติแตก ก้าวล้ำเส้นขอบเขตคนปกติ ไม่มีมนุษย์หน้าไหนจะสามารถต่อกร รับมือ เผชิญหน้ากับความสุดโต่งของเขาได้ คือต้องระดับ ‘พระเจ้า’ เท่านั้นถึงสามารถเทียบเคียง
“I am the wrath of God. Who else is with me?”
– Don Lope de Aguirre
ถ้าพระเจ้ามีจริง ทำไมถึงสรรค์สร้างดินแดนป่าเขา Amazon เต็มไปสัตว์ป่า โรคร้าย คนเถื่อน ไร้ซึ่งอารยะธรรม? คำตอบในทัศนะผู้กำกับ Herzog ตามคำโปรยของหนัง
“On this river, God never finished his creation”.
พูดง่ายๆก็คือ Herzog ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง โดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า ‘พระเจ้าทรงสถิตอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง’ แล้วดินแดนแห่งนี้ละ ตรงไหนที่ท่านหลบซ่อนตัวอยู่ ค้นหาอย่างไรก็ไม่พบเจอ เฉกเช่นนั้นมันจะเป็นสัจธรรมความจริงไปได้เช่นไร!
El Doraro, นครทองคำ เป้าหมายแห่งความเพ้อใฝ่ฝันของคณะเดินทาง เปรียบเทียบได้กับสรวงสวรรค์ อาณาจักรของพระเจ้า สถานที่ที่ไม่รู้มีอยู่จริงหรือเปล่า ได้ยินเพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้าง เชื่อเถอะว่าคงไม่มีใครไปได้ได้ถึงอย่างแน่นอน
นอกจากแนวคิดเชิงปรัชญา, ต่อต้านคริสต์ศาสนา, ใจความของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมองได้ถึงการท้าทายศักยภาพของมนุษย์ เราสามารถไปได้สุดๆถึงสักเพียงไหน ต่อการทำงาน/เดินทาง/อุดมการณ์เป้าหมาย บางครั้งมองอะไรไม่เห็นข้างหน้า แต่ยังคิดจะหลับหูหลับตา ดื้อดึงรั้นหัวชนฝา หรือเพียงพอแล้วแค่นี้แหละถอยดีกว่า ก็อยู่ที่ว่าตัวเราเป็นคนมีโลกทัศน์ ลักษณะนิสัยเช่นไร
ในเยอรมันตะวันตก เพราะความที่สถานีโทรทัศน์ร่วมทุนสร้าง หนังจึงได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์พร้อมๆวันเดียวกับฉายโทรทัศน์ เรื่องอะไรใครจะยอมเสียเวลาออกจากบ้าน, ถึงกระนั้นพอนำออกฉายต่างประเทศ ได้รับความนิยมกระแสกลายเป็น Cult Film ฉายในกรุงปารีสถึง 15 เดือน! ประสบความสำเร็จล้นหลามในเม็กซิโก, เวเนซูเอล่า, แอลจีเรีย และมาถึงสหรัฐอเมริกาปี 1977
อิทธิพลของหนังพบเห็นได้เด่นชัดเจนกับ Apocalypse Now (1979) ของผู้กำกับ Francis Ford Coppola
“Aguirre, with its incredible imagery, was a very strong influence. I’d be remiss if I didn’t mention it”.
– Francis Ford Coppola
นอกจากนี้ก็ The Mission (1986), Predator (1987), The Blair Witch Project (1999), The New World (2005), Valhalla Rising (2008), The Revenant (2015) ฯ
คงต้องถือว่าคือ ‘แนวคิด’ คือสิ่งที่ทำให้โดยส่วนตัวชื่นชอบคลุ้มคลั่งไคล้ จริงๆก็ครุ่นได้มาสักพักใหญ่แล้วก่อนหวนกลับมานับชมดูรอบนี้ กระนั้นก็ยังมีหลากหลายความประทับใจ ถ่ายภาพ เพลงประกอบ ยกตนเป็นกษัตริย์ปกครองใคร? ไล่ลิงจากแพมีประโยชน์อะไร? ทุกความไร้สาระคือสารัตถะแห่งชีวิต พบเห็นสัจธรรมจักไม่ทำให้เราหมกมุ่นยึดติด … มันอาจฟังดูขัดย้อนแย้งกันเอง แต่นี่แหละคือเหตุผลที่ผมรักหนังเรื่องนี้มากๆ ประทับใจสุดๆเลย
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” พยายามตั้งคำถามและค้นหาคำตอบให้ได้ว่า เราเป็นคนประเภทไหน?
– Lope de Aguirre เป้าหมายปลายทางจะมีอยู่จริงหรือไม่ ฉันก็ยังคงดั้นดิ้นด้นต่อไปให้ถึงฝั่งฝัน
– Don Pedro de Ursúa เมื่อล่วงรับรู้แล้วว่าคงไปไม่ถึงปลายทางแน่แท้ ยินยอมพ่ายแพ้ หวนกลับไปสู่เป้าหมายมองเห็นเด่นชัดเจนดีกว่า
– Don Fernando de Guzmán อะไรก็ได้ตามสะดวก ขอแค่ให้ฉันมีชีวิตสะดวกสบาย ท้องอิ่มหนำเป็นพอ
– บาทหลวง Gaspar de Carvajal ยังไงก็ได้เช่นกัน แต่เลือกฝั่งฝ่ายชัดเจน เข้าข้างผู้เข้มแข็งแกร่งกว่า (และนับถือในพระเจ้า)
คนเราสมัยนี้มีโลกทัศนคติประการหนึ่ง ถ้ารู้จักตั้งมั่น ทุ่มเท พยายาม ล้มแล้วลุก ไม่ย่นย้อท้อแท้ต่ออุปสรรคขวากหนาม สักวันหนึ่งความสำเร็จสมหวังก็จักมาถึง, เอาจริงๆนี่ไม่ใช่ความคิดถูกต้องเสมอไปนะครับ เพราะมีผู้ชนะย่อมต้องมีผู้แพ้ ประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว ชาตินี้คุณอาจทำอะไรไม่ถึงฝั่งฝันสักสิ่งอย่างเลยก็ได้!
แต่มีอย่างหนึ่งที่ทำไปเถอะ ไม่มีสูญ ชาตินี้อาจมิได้รับผลตอบแทน แต่อนาคตข้างหน้าต่อๆไป ยังไงก็ย่อมส่งผลย้อนกลับคืนสนอง นั่นคือ ‘ความดีงาม’ ตั้งมั่นในศีล ฝึกสมาธิ จักเกิดปัญญา แล้วฝั่งฝันแห่งนิพพาน จักอยู่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่หรอก
จัดเรต 18+ กับความหลอกหลอน ขนลุกขนพอง ถึงเป้าหมายปลายทางที่อาจไม่มีอยู่จริง
คำโปรย | “Aguirre, the Wrath of God ความเกรี้ยวกราดของ Klaus Kinski ชักนำพา Werner Herzog ไปสู่ฝั่งฝันและกลายเป็นตำนาน”
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | รักมาก!
Aguirre, the Wrath of God (1972)
(2/3/2016) ถ้าคุณคิดว่า The Revenant (2015) เป็นหนังที่สร้างยากมากๆแล้ว ผมขอแนะนำให้ไปหา Aguirre, the Wrath of God หนังของผู้กำกับชาวเยอรมัน Werner Herzog มาดูนะครับ นี่เป็นหนังที่มีกระบวนการสร้างที่บ้ามากๆ เข้าไปถ่ายกันในป่าอเมซอนจริงๆ นักแสดงใส่ชุดเกราะหนักอึ้ง ขนปืนใหญ่ ลากเกวียน ขี่ม้า แบกเกี้ยว ปีนเขา สร้างแพล่องแม่น้ำ นี่ยังไม่รวมอุปกรณ์หนังอาทิ กล้องถ่ายภาพ ฉาก อุปกรณ์บันทึกเสียง ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้อาจดูยิ่งใหญ่ แต่ผมมองว่าชะตากรรมของหนังไม่ต่างกับตอนจบในหนัง ที่สุดท้ายแล้วทำไปเพื่ออะไรกัน?
หนังเรื่องนี้ตอนออกฉายไม่ได้รับคำตอบรับที่ดีนักในเยอรมัน แต่ในระดับโลก นี่เป็นหนังที่เปิดประตูสู่ cult film ที่สำคัญ Entertainment Weekly จัดอันดับ 46 หนัง cult film ยอดเยี่ยมของโลก ตามมาด้วยอันดับ 19 ใน The 100 Best Films Of World Cinema ของนิตยสาร Empire และนิตยสาร Sight & Sound ติดอันดับ 91 จุดที่ได้รับการยกย่องคือความพยายามในการสร้าง และผลลัพท์ กับบรรยากาศ ความรู้สึกที่ต้องไปถ่ายในสถานที่จริงเท่านั้นถึงจะสัมผัสได้
ผู้กำกับ Werner Herzog เขาเป็นคนที่ถ้าต้องการทำอะไรสักอย่าง ต้องทำให้สำเร็จ ผมดูหนังเรื่องนี้จบแล้วคิดว่า หมอนี่มันต้องอีโก้จัดแน่ๆ ผมไม่รู้ Alejandro González Iñárritu จะรู้จัก Herzog หรือเปล่า แต่ถ้าให้เปรียบกัน สองคนนี้คล้ายกันครับ กับคำว่า “art film” ของทั้งสอง ไม่แคร์หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในขั้นตอนการสร้าง สิ่งที่จะใช้ตัดสินผลงาน คือผลลัพท์ของหนังต่างหาก ผู้ชมจะรู้สึกยังไง สัมผัสได้กับสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอหรือเปล่า
บทหนัง Herzog ได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ Lope de Aguirre ที่เพื่อนเขาให้มา ตั้งภาพตัวละคร Aguirre เรื่องราวผจญภัยไปในสถานที่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน เขาเริ่มพัฒนาบทในขณะกำลังเดินทาง 200 miles บนรถบัสของทีมฟุตบอลของเพื่อน ที่ทุกคนกำลังเมา เห็นว่าในกระดาษที่ร่างบทมีเปียกโชกไปด้วยคราบเศษอาหาร บางแผ่นสูญหายเพราะถูกโยนทิ้งไปเพราะโดนอ๊วกใส่ แต่ใช่ว่าเขาจะจำบทร่างที่ปลิวหายไปได้นะ (คงเพราะเขาก็คง “เมา” อยู่ด้วยละ) ร่างบทแรกเสร็จใช้เวลา 2 วันครึ่งเท่านั้น
บทหนังของ Herzog มักจะไม่มีบทพูด เขาไม่ชอให้ตัวละครพูดอะไรเว่นเวิ้มากมาย มีแค่แนวคิดและสิ่งที่จะนำเสนอ ในหลายครั้งที่บทพูดของตัวละครเกิดขึ้นตอนเช้าก่อนวันถ่ายทำ นักแสดงไม่เคยต้องซ้อมบท แค่รู้ว่าจะต้องทำอะไร บางทีก็พูดสด หรือไม่ก็ตัดบทพูดทิ้งไปเลย การถ่ายทำก็ใช้การเรียงลำดับตามเวลา เพราะเชื่อว่าจะทำให้นักแสดงได้เข้าใจความต่อเนื่องทางอารมณ์ของตัวละคร
Klaus Kinski เป็นตัวเลือกแรกของ Herzog ทั้งสองเคยเจอกันตอนที่ Kinski ยังเป็นดาราหน้าใหม่ เขาเช่าห้องพักของญาติ Herzog ตอนที่เจอกันครั้งแรก Herzog บอกว่า Kinski เป็นคนที่น่ากลัวมากๆ เพราะดวงตาและโครงหน้าที่ดูเหมือนคนบ้า นิสัยเลือดร้อนเหมาะกับบท Aguirre มาก อันนี้ผมละเห็นด้วยสุดๆเลย หน้าพี่แกมันเถื่อนสุดๆ หลังจากที่ Kinski อ่านบทก็ตบปากรับคำ ระหว่างถ่ายทำ แนวทางที่ Kinski อยากเล่นนั้นคือ ป่าเถื่อนและโผงผาง “wild, ranting madman” แต่ Herzog อยากได้แบบเงียบครึมโหดลึก “quieter, more menacing” ซึ่งก่อนจะเริ่มถ่ายทำทุกครั้ง Herzog จะยั่วโมโหให้ Kinski โกรธ หงุดหงิด แสดงออกมาจนเขาหมดแรง “burn itself out” แล้วถึงเริ่มถ่ายทำให้ได้ตามที่เขาต้องการ
ว่ากันว่ามีครั้งหนึ่งที่ Kinski โมโหมาก เพราะทีมงานเล่นไพ่เสียงดังกวนสมาธิเขา จึงยิงปืนใส่ทีมงานจนนิ้วขาด และเขาหนีเข้าป่าไป วิธีที่ Herzog แก้ปัญหาคือ เขาใช้ปืนจ่อ Kinski ขู่ว่าจะยิง บังคับให้กลับมาแสดง ตอนหนังฉาย Herzog ปฏิเสธข่าวลือนี้นะครับ และ Kinski กับ Herzog ก็ยังกลับมาร่วมงานกันอีกหลายเรื่อง จริงหรือเปล่าไม่รู้แต่มูลข่าวมาจากทีมงานที่สร้างหนัง ก็น่าจะเป็นไปได้อยู่ ผมคิดว่าทั่งสองเป็นคู่มวยที่เข้ากันที่สุดแล้ว นักแสดงบ้าๆ เจอกับผู้กำกับที่โคตรบ้า ฮะๆๆ
ตากล้องโดย Thomas Mauch หนังเรื่องนี้ไปถ่ายทำกันที่ Peruvian rainforest ล่องเรือบนแม่น้ำอเมซอน และ Machu Picchu ใน Peru ฉากตอนเปิดเรื่องมีการถ่ายภาพที่เด่นมากๆ เราจะเห็นคณะเดินทางในชุดเต็มยศ สวมเสื้อเกราะเดินเรียงแถวยาวจากภูเขาลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่งนี่เป็นฉากที่ผมดูแล้วรู้สึกทรมานมาก ไม่รู้หนังเรื่องนี้อ้างอิงประวัติศาสตร์แค่ไหน หรือแค่เอาชื่อ El Dorado มาอ้าง การลากปืนใหญ่ แบกเกี้ยว ลากเกวียนในป่าดิบแบบนี้ มันบ้ามากๆ ดูไร้สาระสุดๆ
ฉากล่องแม่น้ำก็เหมือนกัน ทีมงานต้องสร้างแพขึ้นมาเอง และต้องลอยได้ บรรทุกคนได้ ผมดูยังไงแพนั่นมันก็ไม่ปลอดภัยสักนิด (มันค่อยๆจมด้วย) แถมการป้องกัน… มันจะไปป้องกันอะไรได้ ถ้าเกิดแพคว่ำมาหรือชนโขดหิน เจอน้ำเชี่ยวๆ ตกไปนี่ก็ตายจริงแน่ๆ นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่เข้าใจเลย เพื่อแลกกับงานศิลปะ เอาชีวิตคนนับสิบนับร้อยมาเสี่ยงชีวิตกันแบบนี้ ดูแล้วมันจะมีค่าได้อย่างไร!
เห็นว่า Herzog ไปขโมยกล้อง 35mm มาใช้นะครับ จะเปิดกล้องแล้วไม่มีกล้องถ่าย คงเพราะไม่มีใครกล้าให้พี่แกเช่ากล้องเพื่อไปถ่ายทำในป่าแน่ๆ เขาเลยไปขโมยกล้องจาก Munich Film School ตอนหนังเสร็จออกมาให้สัมภาษณ์แบบว่า ตัวเองไม่ได้ขโมย แค่ยืมไปใช้ …
ตัดต่อโดย Beate Mainka-Jellinghaus สิ่งที่ผมต้องชื่นชมมากๆคือการสร้างบรรยากาศของหนัง การเล่าเรื่องที่ค่อยๆเปิดเผยและนำเสนอแนวคิดของผู้คนต่อสถานการณ์ต่างๆ เราจะเริ่มเห็นความบ้าคลั่งของ Aguirre ที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ กับเป้าหมายที่ไม่รู้ว่ามีจริงไหม ขณะเดียวกันคนที่ยังสามารถไปกับเขาได้กลับลดลงเรื่อยๆ หลายครั้งที่ปล่อยให้คนดูคิดไปเองว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างแพที่ติดน้ำวนอยู่ เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา (ไม่มีใครรู้) หรือ Ursúa ตายเพราะอะไร ไม่มีใครรู้เหมือนกัน เหมือนหนังจะทิ้งปริศนาไว้ แต่ไม่ต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นก็เข้าใจได้ว่าทำไมถึงมีชะตากรรมแบบนั้น
เพลงประกอบโดย Popol Vuh นี่คือสิ่งที่เด่นที่สุดของหนัง เสริมความบ้าคลั่งให้ไปถึงจุดสูงสุด เสียงดนตรีประกอบ มีส่วนผสมหลายๆอย่างที่ผมไม่คุ้นหูเท่าไหร่ ใน wikipedia อธิบายว่ามีลักษณะคล้ายเพลงสะกดจิต “hypnotic music” เครื่องดนตรีที่ใช้คือ choir organ ที่ใช้ในโบสถ์ เห็นว่าใช้ใน 1 เพลงใช้การเปิดเทปซ้อนเสียงกัน 3 เทป มิน่าฟังยังไงก็รู้สึกแปลกๆ เสียง keyboard เครื่องดนตรี electronic เลือกเสียงทุ่มต่ำๆที่ลากยาว บรรยากาศแบบนี้มันหลอนๆ เยือกเย็นไปถึงเบื้องลึกของหัวใจ ผมอยากให้ดูฉากเปิดเรื่อง เห็นบรรยากาศและความบ้าคลั่งของหนังเรื่องนี้ ดู 5 นาทีนี้จบแล้วถ้าคิดว่าทนดูหนังเรื่องนี้ได้ให้ลองหามาดูเลยนะครับ
ทุนสร้างหนัง ประมาณ US$370,000 โดย 1 ใน 3 เป็นค่าตัวของ Kinski คนเดียว ใช้เวลาถ่ายทำ 5 สัปดาห์ เตรียมงานอยู่ 9 เดือน นักแสดงในหนังมาจากหลายสัญชาติ (16 ชาติ) ในกองถ่ายจึงใช้ภาษาอังกฤษคุยกัน ตอนถ่ายทำ Herzog ตั้งใจจะให้หนังพูดภาษาอังกฤษเพราะจะได้ขายต่างประเทศได้ แต่ที่สุดท้ายใช้การพากย์ทับภาษาเยอรมันในขั้นตอน post-production เห็นว่าตอนพากย์เสียง Kinski ขอค่าตัวเพิ่ม Herzog ไม่มีเงินจ่ายเลยไปจ้างนักพากย์คนอื่นมาทับเสียงของ Kinski ในราคาที่ถูกกว่า
สิ่งที่ต้องถือว่าหนังประสบความสำเร็จกับกระบวนการถ่ายทำแบบนี้ คือความสมจริง เราจะรู้สึกตัวละครมันบ้า และบ้าจริงๆ งานภาพที่สวยงาม (ก็แน่ละถ่ายจากสถานที่จริง ใช้แสงธรรมชาติ) บรรยากาศ โดยเฉพาะเพลงประกอบที่เข้ากับโทนของหนังอย่าไม่น่าเชื่อ เราสามารถเปรียบเทียบความบ้าของตัวละครได้กับหนังเรื่อง Apocalypse Now ซึ่ง Aquirre เราจะรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าใครมันบ้าที่สุด แต่คนที่สามารถไปกับเขาจนถึงจุดสุดท้ายได้นั้น (มีหรือเปล่า) แล้วเราจะได้เห็น El Dorado ไหม (ไปลุ้นเอง)
ถึงหนังจะดูสวยงาม สมจริง แต่ไม่มีอะไรในหนังเรื่องนี้ที่ผมชอบเลย ไม่ใช่ว่าผมดูหนัง cult ไม่เป็นนะครับ แต่ทุกครั้งที่ดูหนังผมจะมองเห็นเบื้องหลังของมันด้วย กระบวนการสร้างหนัง ถ้าเราสามารถวิเคราะห์หาวิธีว่า หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นมาด้วยเทคนิคอะไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง มันจะยิ่งทำให้เราหลงรักและเข้าใจมากขึ้นว่าผู้สร้างต้องการอะไร กับหนังอย่าง Aguirre หรือ The Revenant เพื่องานศิลปะ ผู้กำกับทั้งสองเลือกนำทีมงานไปสู่สถานการณ์ที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอย่างไร้ความประณีประนอม ผลลัพท์มันอาจจะออกมาสุดยอด คนดูทึ่ง บรรยากาศสมจริง ดิบเถื่อน แต่แค่คิดว่าต้องแลกกับอะไรมาบ้างมันทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดแทนทีมงาน มันอาจจะมีค่าต่อคนในยุคสมัยหนึ่ง แล้วยังไงต่อละครับ… ภูมิใจ? … คำตอบของผมคือ ไร้ค่า
อิทธิพลของหนังเรื่องนี้ ที่เด่นๆเลยก็คือ Apocalypse Now โดย Francis Ford Coppola ชื่นชม Aguirre ว่ามีภาพหนังที่สุดยอดมาก และเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญสุดๆที่ไม่พูดถึงไม่ได้ “Aguirre, with its incredible imagery, was a very strong influence. I’d be remiss if I didn’t mention it.” นอกจากนี้ยังมีหนัง The Blair Witch Project (1999) หนังของ Nicolas Winding Refn เรื่อง Valhalla Rising (2008) ที่ทำเพื่อคารวะ Aguirre โดยเฉพาะ
ผมไม่ค่อยอยากแนะนำหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่ถ้าคนที่อยากลอง มันจะมีหนังที่ยิ่งกว่า The Revenant อีกเหรอ ลองไปหาหนังของผู้กำกับ Werner Herzog ดูนะครับ ผมได้ยินว่ามีเรื่องหนึ่ง บ้าไม่แพ้กัน Fitzcarraldo หนังดำเนินเรื่องในป่าดงดิบ ชายคนหนึ่งต้องการย้ายเรือ (steamship) จากแม่น้ำสายหนึ่งไปอีกสายหนึ่ง แค่คิดก็ไม่น่าเป็นไปได้ ไว้ผมจะหามาลองทนดูนะครับ จัดเรตหนัง R 18+ อย่าเอาความบ้าคลั่งนี้ให้เด็กดูเลย ผู้ใหญ่ดูยังรู้สึกคลั่ง เด็กดู… จินตนาการไม่ออกว่าจะเป็นยังไง (น่าจะดูไม่รู้เรื่อง)
คำโปรย : “Aguirre, the Wrath of God หนังอาจจะสวยงาม สมจริงและดูยิ่งใหญ่ แต่แลกมาด้วยกับการเสี่ยงตายที่ไร้สาระ มีนักแสดงสุดบ้า Klaus Kinski ต่อกรกับผู้กำกับโคตรบ้า Werner Herzog เป็นมวยคู่ที่สมศักดิ์ศรีสุดๆ”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : WASTE
หาดูเรื่องนี้ได้จากที่ไหนหรอครับ
หาดูเรื่องนี้ได้จากที่ไหนหรอครับ ในไทยมีแผ่นขายหรือเปล่า
เมืองไทยไม่น่ามีนะครับ หาดูออนไลน์ไม่น่ายาก