Street of Shame

Street of Shame (1956) Japanese : Kenji Mizoguchi ♥♥♥♥

ผลงานเรื่องสุดท้าย Swan Song ของผู้กำกับ Kenji Mizoguchi ไม่ได้นำเสนอความน่าละอายของอาชีพโสเภณี แต่คือประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Post-Wars) มีสภาพไม่ต่างจากโสเภณี!

ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ต้องยินยอมศิโรราบต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ช่วงระหว่างปี 1945-52 มีทหารจากสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร ฯลฯ เข้ามาประจำการ ‘Occupation of Japan’ รวมๆแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน! วันว่างๆของพวกเขาเหล่านั้นก็มักออกท่องเที่ยว ดื่มกินตามผับบาร์ สถานบริการ ซ่องโสเภณี ทำให้กิจการเหล่านี้เฟื่องฟูจนถูกเพ่งเล็งว่าขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา ประเด็นคือลูกๆหลานๆชาวญี่ปุ่นนับหมื่นๆต้องกลายเป็นหญิงขายบริการ

แต่เหตุผลที่พวกเธอเหล่านั้นกลายเป็นโสเภณี ไม่ใช่เพราะอยากร่ำรวย มีเงินมีทอง หรือมองหาเสี่ยเลี้ยง แทบทั้งนั้นล้วนมีเหตุอันเป็นไป ติดหนี้ติดสิน ไม่มีอันจะกิน ถูกครอบครัวทอดทิ้ง … ยุคสมัยนั้นอาชีพโสเภณียังไม่ขัดต่อกฎหมาย แถมมีอุปสงค์ย่อมมีอุปทาน เช่นนั้นแล้วมันผิดอะไร?

ผู้กำกับ Kenji Mizoguchi ในวัยเพียง 58 ปี (ตอนนั้นยังไม่รับรู้ว่าป่วยโรคลูคีเมีย) หวนกลับสู่ภาพยนตร์แนวถนัด keikō-eiga ทำการวิพากย์วิจารณ์สภาพสังคมญี่ปุ่นสมัยนั้น โดยเฉพาะความพยายามออกกฎหมายต่อต้านการค้าประเวณี โดยไม่คำนึงประชาชนรากหญ้า นั่นคืออาชีพหนทางออกสุดท้ายของคนไม่มีอันจะกิน มัวแต่หมกมุ่นยึดติดกับศีลธรรมอันสูงส่ง (นั่นคือสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามไม่ใช่รึ?) สามารถสร้างความตื่นตระหนักรู้ให้ผู้ชมสมัยนั้น กลายเป็นผลงานทำเงินสูงสุด (ของ Mizoguchi) ทิ้งท้ายก่อนลาจากโลกนี้ไปอย่างปัจจุบันทันด่วน

แม้ถ้าเปรียบเทียบสามภาพยนตร์ชิ้นเอกของผู้กำกับ Mizoguchi อย่าง Ugetsu (1953), The Life of Oharu (1952), Sansho the Bailiff (1954) ผลงานเรื่องสุดท้ายนี้อาจดูไม่หวือหวา ขาดความน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะดำเนินเรื่องเพียงท้องถนนสถานขายบริการ/ย่านโคมแดง (Red Light district) แต่ต้องถือว่าเป็นการบันทึกลมหายใจเฮือกสุดท้ายของ Yoshiwara district ก่อนกฎหมายต่อต้านการค้าประเวณี (Prostitution Prevention Law หรือ Anti-Prostitution Law) จะถูกประกาศใช้วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1957 หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ และการจากไปของ Mizoguchi ไม่ถึงปีเท่านั้น!


Kenji Mizoguchi (1898-1956) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hongō, Tokyo บิดาเป็นช่างทาสีหลังคา พยายามจะทำธุรกิจขายเสื้อกันฝนในช่วง Russo-Japanese War (1904-05) แต่สงครามจบเร็วเกินไป ทำให้ติดหนี้สินท่วมหัว จำต้องขายพี่สาวทั้งสองเป็นเกอิชา, ช่วงวัยเด็กล้มป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเตียง หลังมารดาเสียชีวิตพี่สาวจึงรับไปเลี้ยงดูแล ใช้ชีวิตเติบโตอยู่ในซ่องโสเภณี พออาการเริ่มดีขึ้นได้เข้าเรียนศิลปะ Aoibashi Yoga Kenkyuko ขณะเดียวกันก็ค้นพบอีกความสนใจในอุปรากร ทำงานเป็นนักออกแบบตกแต่งฉากยัง Royal Theatre, Akasaka เข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะนักแสดงเมื่อปี 1920 สามปีให้หลังผันตัวเป็นผู้กำกับ Nikkatsu Studio ผลงานเรื่องแรก Ai-ni yomigaeru hi (The Resurrection of Love) สูญหายไปแล้ว

ภาพยนตร์ในยุคแรกๆของ Mizoguchi เป็นแนวตลาดทั่วๆไป น่าเสียดายผลงานกว่า 70 เรื่อง ช่วงทศวรรษ 20s-30s ได้สูญหายหมดสิ้น, เริ่มค้นพบสไตล์ลายเซ็นต์ตั้งแต่ปี 1936 มีคำเรียก keikō-eiga (แปลว่า tendency films) มักเกี่ยวกับการวิพากย์วิจารณ์สังคม (ในมุมฝั่งขวา) อาทิ Osaka Elegy (1936), Sisters of the Gion (1936), The Story of the Last Chrysanthemums (1939), The 47 Ronin (1941) ฯ

ภายหลังสงคราม (Post-Wars) แม้ในญี่ปุ่นจะมองว่าผลงานของ Mizoguchi มีความเฉิ่มเชย ล้าหลัง (old-fashion) แต่เมื่อนำออกฉายตามเทศกาลหนังต่างประเทศ กลับได้รับการยกย่องสรรเสริญ The Life of Oharu (1952), Ugetsu (1953), Sansho the Bailiff (1954) มีการเปรียบเทียบเคียง ‘Three Masters of Japanese Cinema’ ข้างกับ Yasujirō Ozu และ Akira Kurosawa

สำหรับผลงานเรื่องสุดท้าย 赤線地帯 (อ่านว่า Akasen Chitai, แปลตรงตัว Red-Light District) ดัดแปลงจากเรื่องสั้น 洲崎の女 (อ่านว่า Susaki no onna, แปลว่า Woman of Susaki) แต่งโดย Yoshiko Shibaki (1914-91) นักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่น มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากเรื่องสั้นคว้ารางวัล Akutagawa Prize เมื่อปี 1941 ถูกส่งตัวไป Manchuria เพื่อเขียนเรื่องราวชวนเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินจีน

เกร็ด: นวนิยายเล่มนี้ยังได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องในปีเดียวกัน Suzaki Paradise: Red Light (1956) กำกับโดย Yūzō Kawashima ออกฉายเพียง 4 เดือนให้หลัง (แสดงว่าเริ่มโปรดักชั่นในระยะเวลาใกล้ๆกัน)

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Masashige Narusawa (1925-2021) หนึ่งในนักเขียนขาประจำของผู้กำกับ Mizoguchi ตั้งแต่ The Woman in the Rumor (1954), Princess Yang Kwei Fei (1955), Tales of the Taira Clan (1955) และ Street of Shame (1956)


ในช่วงเวลาที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาไดเอท (National Diet of Japan) พยายามผลักดันกฎหมายต่อต้านการค้าประเวณี นำเสนอเรื่องราวของสาวๆ ทำงานอยู่ยัง Dreamland ย่านโคมแดง Yoshiwara District ในกรุง Tokyo

  • Yumeko (รับบทโดย Aiko Mimasu) ทำงานหาเงินเพื่อส่งเสียบุตรชายให้ได้ร่ำเรียน มีการศึกษา เมื่อเติบใหญ่จักได้กลายเป็นที่พึ่งพักพิง แต่ครั้งหนึ่งเขาแอบมาเยี่ยมเยียนแล้วพบเห็นมารดาประกอบอาชีพโสเภณี รู้สึกรังเกียจขยะแขยง เมื่อมีโอกาสพบเจอภายหลังก็แสดงพฤติกรรมต่อต้าน ไม่ยินยอมรับความเป็นแม่-ลูกอีกต่อไป … นั่นทำให้ Yumeko เกิดอาการคลุ้มคลั่ง สูญเสียสติแตก กลายเป็นคนบ้า!
    • ถือเป็นบทบาทไฮไลท์ในอาชีพของ Mimasu เจ้าของฉายา ‘mother-in-law actress’ (เพราะมักได้รับบทแม่สะใภ้/แม่สามี) คราวนี้รับบทมารดาผู้เสียสละทำงานโสเภณี แต่มีใบหน้าอิ่มเอมด้วยรอยยิ้ม อิ่มหฤทัย แต่พอไม่ได้รับการยอมรับจากบุตรชาย สายตาเหม่อลอย จู่ๆลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลง แสดงอาการสูญเสียสติแตก ทำเอาผู้ชมหัวใจแตกสลาย
  • Hanae (รับบทโดย Michiyo Kogure) เพราะสามีร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บปวดอิดๆออดๆ จนไม่สามารถทำการทำงาน แถมบุตรชายก็ยังเป็นเพียงทารกน้อย อาศัยอยู่ในบ้านเช่าโทรมๆสภาพปรักหักพัง ทำให้เธอยินยอมเสียสละตนเองเป็นโสเภณี … นั่นสร้างความรวดร้าวระทมใจให้สามี เคยครุ่นคิดฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้ง ถึงอย่างนั้น Hanae ก็ยังคงดื้อรั้น อย่างน้อยเราไม่เคยต้องไปขโมยของใคร ก่ออาชญากรรมอะไร ลำบากแค่นี้ไม่ได้ยากเย็นอะไร
    • ลุคใส่แว่นของ Kogure ทำให้ใบหน้าเปลี่ยนไปไม่น้อย (เหมือนจะแต้มไฝเสน่ห์ด้วยนะ) การแสดงก็ดูสงบเสงี่ยมเจียมตน (ไม่ได้ระริกระรี้เหมือนใครอื่น) สีหน้าอมทุกข์ทรมาน (แต่เวลาอยู่กับลูกค้าก็พยายามปั้นหน้าให้ดูมีชีวิตชีวา) แม้ชีวิตเต็มไปด้วยยากลำบาก แต่ไม่เคยยินยอมพ่ายแพ้ และปฏิเสธติดหนี้บุญคุณใคร (เป็นคนเดียวที่คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ Yasumi โดยไม่ต้องเอ่ยปากทวงถาม)
  • Yorie (รับบทโดย Hiroko Machida) เหมือนโชคดีที่กำลังจะได้แต่งงานใหม่ เพื่อนๆจึงจัดงานเลี้ยงอำลา แต่เธอกลับถูกสามีกดขี่ข่มเหง ใช้แรงงานอย่างหนัก แถมไม่ยินยอมจ่ายค่าตอบแทนใดๆ เลยตัดสินใจหวนกลับมาขายตัวยัง Dreamland อย่างน้อยอยู่ที่นี่ก็มีชีวิตอิสระ สามารถทำอะไรได้ตามใจ
  • Yasumi (รับบทโดย Ayako Wakao) สาวสวยอันดับหนึ่งของ Dreamland เข้าสู่วงการนี้เพราะบิดาทำธุรกิจล้มละลาย ถูกจับติดคุกติดตาราง บุตรสาวเลยต้องขายตัวชดใช้หนี้สิน เธอจึงพยายามเก็บหอมรอมริด มักให้เพื่อนๆหยิบยืมเงินพร้อมดอกเบี้ยราคาต่ำ นั่นรวมถึงลูกค้าที่มีความลุ่มหลงใหล ใช้มารยาลวงล่อหลอกจนหมดเนื้อหมดตัว ถึงขนาดเคยเกือบถูกเข่นฆาตกรรม โชคดีสามารถเอาชีวิตมาได้ ภายหลังนำเงินทั้งหมดมาซื้อกิจการร้านค้า หลบหนีออกจากวังวนแห่งโสเภณีได้สำเร็จ
    • ผมจดจำ Wakao ได้จาก Floating Weeds (1959) เป็นสาวสวยรวยเสน่ห์ เต็มไปด้วยเล่ห์มารยา สามารถลวงล่อหลอกหนุ่มๆให้ลุ่มหลงใหล แม้เต็มไปด้วยความน่าหมั่นไส้ ทำตัวเหมือนลูกคุณหนู แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจเก็บหอมรอมริด พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อออกไปจากวังวนโสเภณี
  • Mickey (รับบทโดย Machiko Kyo) แม้เพิ่งเข้ามาทำงานใน Dreamland แต่เหมือนหญิงสาวมากประสบการณ์ ท่าทางระริกระรี้ ใช้เงินอย่างไม่ยี่หร่า ติดหนี้ติดสินใครต่อใครไปทั่ว แท้จริงแล้วคือบิดาเป็นของเจ้าของธุรกิจ ฐานะมั่งคั่ง มีหน้ามีตาในสังคม เคยเดินทางมาพาตัวกลับ แต่เธอตอบปัดปฏิเสธ เพราะไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น ไร้ซึ่งเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามใจฉัน
    • ในบรรดาทีมนักแสดงชุดนี้ Kyo น่าจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดจาก Rashōmon (1950), Ugetsu (1953), Gate of Hell (1953) ฯลฯ พลิกบทบาทเล่นเป็น Miki ทำเอาผมอมยิ้มและส่ายหัว ละทอดทิ้งภาพลักษณ์คุณหนูผู้ทรงเกียรติจากผลงานเก่าๆได้อย่างแนบเนียน สนิทใจ ใครไม่สังเกตอาจจดจำใบหน้าเธอไม่ได้ด้วยซ้ำ ถือเป็นอีกการแสดงน่าจะเขวี้ยงขว้างรางวัลอะไรให้สักอย่าง
  • แถมท้ายอีกคนกับ Shizuko (รับบทโดย Yasuko Kawakami) เด็กสาวอายุสิบหกถูกมารดาส่งมาขายตัว เพื่อหาเงินกลับไปให้ที่บ้าน แรกเริ่มเป็นทำงานเป็นสาวใช้ทั่วไป แต่เพราะใบหน้าจิ้มลิ้ม เลยถูกจับแต่งหน้าทำผม กำลังต้องเรียนรู้จักหางาน เสียความบริสุทธิ์ เริ่มต้นอาชีพโสเภณี

ถ่ายภาพโดย Kazuo Miyagawa (1908-99) ตากล้องสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto ตั้งแต่อายุ 11 ชื่นชอบการวาดภาพน้ำหมึกจีน (sumi-e) ก่อนค้นพบความสนใจในภาพยนตร์ช่วงทศวรรษ 20s หลังเรียนจบ Kyoto Commercial School เข้าทำงานยังสตูดิโอ Nikkatsu เริ่มจากเป็นผู้ช่วยตากล้อง ผลงานเด่นๆ อาทิ Rashōmon (1950), Ugetsu (1953), Sansho the Bailiff (1954), Enjō (1958), Floating Weeds (1959), Odd Obsession (1959), Yojimbo (1961), Tokyo Olympiad (1965) ฯลฯ

Miyagawa ถือเป็นตากล้องคนสำคัญของผู้กำกับ Mizoguchi เพราะได้ช่วยพัฒนา ‘สไตล์ Mizoguchi’ มาถึงจุดสูงสุด ด้วยการสร้างบรรยากาศภาพถ่ายให้มีลักษณะคล้ายศิลปะ ‘ukiyo-e’ ภาพแห่งความล่องลอย (แปลว่า Floating World) โลกที่ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล สถานบันเทิง ซ่องโสเภณี แม้ทำให้เกิดความสุขสำราญกาย-ใจ แต่มันกลับไม่มีความจีรังยั่งยืนประการใด

พื้นหลังของหนังจะคือ Yoshiwara district ย่านโคมแดงชื่อดังตั้งแต่สมัย Edo Period ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1617 (ถ้าเป็นฉบับนิยายจะใช้ชื่อสมมติ Suzaki district ไม่มีอยู่จริง) แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าแทบทั้งหมดน่าจะถ่ายทำในสตูดิโอ Daiei Film (ยกเว้นภาพแรกของหนังที่ถ่ายมุมสูงกรุง Tokyo)

เกร็ด: Yoshiwara district ปัจจุบันกลายเป็นย่านที่พักอาศัยทั่วๆไปแล้วนะครับ ไม่ได้มีโสเภณี ซ่องทั้งหลายปิดกิจการตั้งแต่ประกาศกฎหมายต่อต้านการค้าประเวณี ค.ศ. 1957

ใครที่เป็นแฟนๆหนังผู้กำกับ Mizoguchi น่าจะมักคุ้นกับลีลาการแพนนิ่ง บางครั้งก็เคลื่อนเลื่อนกล้องให้มีลักษณะเหมือนแผ่นภาพขนาดยาว เลียนแบบจิตรกรรมม้วน (Scroll Painting) ซึ่งเคยเป็นความสนใจ (ของผู้กำกับ Mizoguchi) ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์

Opening Credit ถ่ายภาพจากบนตึกสูง ‘panoramic view’ ของกรุง Tokyo แพนนิ่งประมาณ 180 องศา เริ่มต้นจากแม่น้ำซูมิดะ (隅田川, Sumida-gawa) พานผ่านบริเวณ Yoshiwara district ไปสิ้นสุดถึงวัดเซ็นโซ (浅草寺, Sensōji หรือเรียกว่า Asakusa Kannon Temple)

ไม่ใช่ว่าหนังมีทุนเยอะหรือยังไงนะครับ ก็เหมือน Hollywood ที่สตูดิโอภาพยนตร์ใหญ่ๆ จะมีการสร้างเมืองจำลองขนาดย่อมๆไว้อยู่แล้ว เพียงแค่ตกแต่งสถานที่ และเล่นมุมกล้องสักเล็กน้อย ก็สามารถลวงหลอกตาผู้ชม ดูไม่แตกต่างจากสถานที่จริง

Dreamland เป็นชื่อที่น่าสนใจทีเดียว นอกจากจะสื่อถึงความสุขกระสันต์ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์/ความเพ้อฝันเมื่อมาใช้บริการโสเภณี ยังสามารถสื่อถึงญี่ปุ่นในอุดมคติของทหารอเมริกัน (ก็คล้ายๆที่พวกฝรั่งเรียกกรุงเทพว่า Bangcock นะครับ)

งานเลี้ยงอำลาของ Yurie เพื่อนๆแต่ละคนต่างมอบของขวัญ … ที่ดูอัปมงคลทั้งนั้น

  • Miki เป็นคนแรกที่มอบของขวัญ คูปองขึ้นรถฟรี พยากรณ์ล่วงหน้าว่าถ้าชีวิตคู่มีปัญหา ให้เดินทางกลับมายัง Dreamland … แน่นอนว่า Yurie ได้ใช้มัน
  • Yumeko มอบสำหรับถ้วยชามกระเบื้อง ของขวัญสำหรับคู่แต่งงานใหม่ แต่เพราะมันมีความเปราะบาง แค่ตกหล่นก็แตกหัก
  • Hanae มอบนาฬิกา บอกว่าไม่ให้ตื่นสายเวลาทำงาน แต่ผมเห็นคือเวลานับถอยหลังสำหรับการหย่าร้าง
  • Yasumi มอบเงินใส่บัญชีธนาคาร 500 เยน เพื่อใช้เป็นเงินเก็บสำหรับตั้งตัว … แต่ก็ไม่ต่างจากค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน

ก่อนจะสิ้นสุดฉากนี้ Yasumi ขับร้องบทเพลงแสดงความยินดีต่อการแต่งงาน (ของ Yurie) แต่โดยไม่รู้ตัวเธอขับขานบทเพลงนี้อีกครั้งเมื่อสูญเสียทุกสิ่งอย่าง คลุ้มบ้าคลั่ง กลายเป็นคนบ้า … ความสุข=ความทุกข์ เป็นสิ่งเคียงคู่กัน

I am a maiden of sixteen years born in Manchuria
Next March as the spring snow begins to thaw
And the flowers burst into bloom…
Welcoming the spring…
I will leave for the next village to wed my fiance…

ท่อนที่ขับร้องต่อช่วงท้าย
He’ll be waiting for me there…
They’ll welcome me with crashing gongs and beating drums…
When I arrive in my carriage festooned with flowers…

หลังจากแม่เล้าจ่ายค่าจ้าง ก็มาถึงฉากทวงเงิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสันดานธาตุแท้ของมนุษย์หลากหลายรูปแบบ

  • Yasumi คือผู้ให้กู้หนี้ยืมสิน เก็บดอกเบี้ยราคาถูก 10% (มั้งนะ) เลยมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย แสดงถึงคนเก็บหอมรอมริด รู้จักวางแผนการใช้เงิน
  • Miki ชอบที่จะติดหนี้ กู้เงิน ไม่เคยสนเรื่องชดใช้ ถ้ามีสิ่งใดสามารถจ่ายแทนก็เอาไปเลย แสดงถึงความเป็นคนไม่ยี่หร่าต่ออะไรใครทั้งนั้น
  • Yumeko เป็นคนผลัดวันประกันพรุ่ง ชอบการต่อรอง พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าตรงๆ (ไม่พร้อมชดใช้หนี้ทั้งหมดในคราเดียว)
  • ยังไม่ทันต้องทวงคืน Hanae ก็จ่ายเงินที่หยิบยืม พร้อมชำระดอก ถือว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต นอบน้อมถ่อมตน ไม่ชอบติดหนี้บุญคุณใคร

แซว: สำหรับ Yurie หนีหนี้(ของแม่เล้า)สูญหายตัวไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ซมซานกลับมา Dreamland

หนังเต็มไปด้วย mise-en-scène ของการจัดวางตำแหน่ง ยืน-นั่ง ใกล้-ไกล เสื้อผ้าสวมใส่ รายละเอียดพื้นหลัง ถ้าใครที่ชอบครุ่นคิดก็น่าจะเพลิดเพลินระดับหนึ่ง อย่างฉากนี้ที่บิดาของ Miki ต้องการพาตัวบุตรสาวกลับบ้าน

  • สังเกตว่าชุดคลุมที่เธอสวมใส่มีลวดลายราวกับซี่กรงขัง ช่วงแรกๆระดับศีรษะก็เท่ากัน แสดงถึงความพยายามของบิดาในการหว่านล้อม ยื่นข้อเสนอความเสมอภาคเท่าเทียม (แต่ตอนอยู่บ้างวางตัวราวกับเผด็จการ พยายามควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้บุตรสาวต้องทำโน่นนี่นั่น)
  • แต่หลังจากบิดาพูดบอกว่าเพิ่งแต่งงานใหม่ Miki ก็ลุกขึ้นยืนมองลงมาด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม นี่นะหรือบุคคลอ้างว่าเป็นผู้ดีมีสกุล ภรรยาเสียชีวิตยังไม่ครบปีกลับหาข้ออ้างมีเมียใหม่ นี่มันนิสัยจอมปลอมหลอกลวงชัดๆ ฉันเป็นโสเภณ๊ยังมีเกียรติ ศักดิ์ศรี สูงส่งกว่า!
  • ต่อจากนั้นถอดเสื้อคลุมนอกออก เปิดเผยชุดชั้นในสีขาว (แสดงถึงตัวตนธาตุแท้ มีความบริสุทธิ์ ตรงไปตรงมาต่อความต้องการของตนเอง) ทำท่าทางยั่วเย้า ชอบไม่ใช่เหรอโสเภณี จ่ายเงินฉันสิแล้วจะยินยอมให้ร่วมรักหลับนอน (Incest) นั่นทำให้บิดามิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป

การพบกันระหว่าง Yumeko กับบุตรชาย ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจมากๆ แต่ผมจะอธิบายแล้วเริ่มต้น-สิ้นสุดฉากนี้นะครับ

  • การเดินเข้าฉากของมารดา Yumeko ด้านหลังคือโรงงานอุตสาหกรรม (เหมือนจะกำลังก่อสร้าง) พบเห็นปล่องไฟสูงใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่น รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก/สหรัฐอเมริกา
  • ทางฝั่งของบุตรชาย สังเกตว่าเขาแอบโบกไม้โบกมืออยู่ด้านหลังรั้วลวดเหล็ก สะท้อนสภาพจิตใจตัวละครไม่ได้ใคร่อยากพบเจอมารดา เพราะก่อนหน้านี้รับรู้แล้วว่าเธอทำงานโสเภณี
  • และหลังจากบุตรชายพูดบอกไม่ยินยอมรับมารดา เขาออกวิ่งไปบนท้องถนนที่ไร้ผู้คน หนทางช่างยาวไกล เต็มไปด้วยเสาไฟฟ้า ไม่มีทางที่ Yumeko จะสามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคสมัยใหม่ได้ทัน

ทางฝั่งของ Yasumi มีลูกค้าประจำอยู่สองคนที่สลับกันมาใช้บริการ

  • หนึ่งคือเจ้าของร้านขายฟูก/เตียงนอน พบเจอครั้งแรกตอนมาส่งของอยู่ชั้นล่าง (ชนชั้นทำงาน) หยิบยืมเงินทองจากผู้คนมาปรนเปรอ Yasumi แต่พอรับรู้ว่าไม่สามารถชดใช้หนี้สินเลยหลบหนีหายตัว
  • อีกคนอยู่ในห้องชั้นสอง (ชนชั้นกลาง) เป็นพนักงานบริษัทอะไรสักอย่าง นี่ก็ไปกู้หนี้ยืมสินใครต่อใครมาเช่นกัน แต่พอถูกเธอปฏิเสธแต่งงาน กลับครุ่นคิดเข่นฆาตกรรม

ผมแอบเสียดายเล็กๆที่ผู้กำกับ Mizoguchi ไม่ได้ทำให้ตัวละครนี้ตกตายไปจริงๆ เพราะมันจะสอดคล้องเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Yumeko ได้อย่างกลมกล่อมเลยละ

  • Yumeko หลังสูญเสียบุตรชาย หัวใจแตกสลาย (ทางใจ) กลายเป็นคนบ้า (อยู่ชั้นล่าง)
  • Yasumi เพราะไปล่วงล่อหลอกเงินจากลูกค้า เลยถูกเข่นฆ่า (ทางกาย) เพราะความเคียดแค้น (อยู่ชั้นบน)

แต่การทำให้ Yasumi สามารถเอาตัวรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผมมองว่าเป็นความตลกร้ายของหนัง ‘ทำชั่วได้ดี’ หญิงสาวลวงล่อหลอกใครต่อใคร จากนั้นนำเงินที่ได้ไปซื้อกิจการร้านขายฟูก/เตียงนอน (ของลูกค้าที่หลบหนีหายตัวไป) แล้วนำกลับมาขายให้ลูกค้าประจำ Dreamland

ภาพสุดท้ายของหนังเป็นอะไรที่หลอกหลอนเอามากๆ เด็กสาว Shizuko กับการขายประเวณีครั้งแรก เธอคือตัวแทนคนรุ่นใหม่ อนาคตของประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลายเป็นขี้ข้าหมาอำนาจตะวันตก ตกเป็นทาสระบอบทุนนิยม (ที่สหรัฐอเมริกานำมาเผยแพร่) ผู้คนจักยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเงิน นั่นคือปฏิกิริยาเมื่อพบเห็นโลกแห่งความสิ้นหวัง ไม่อยากก้าวออกไปเผชิญหน้าความจริง!

โสเภณี สามารถตีความในสัญลักษณ์ถึงการยินยอมกระทำตามความต้องการของผู้อื่น (ไม่ใช่แค่การค้าประเวณีเท่านั้นนะครับ) เพื่อแลกผลตอบแทนบางสิ่งอย่าง ลักษณะดังกล่าวไม่ต่างจากขี้ข้าทาส ราชบริพาร เผด็จการปกครองประชาชน

ตัดต่อโดย Kanji Suganuma, มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Mizoguchi ตั้งแต่ The Woman of Rumour (1954) จนถึงเรื่องสุดท้าย Street of Shame (1956), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Tale of Zatoichi (1962), Zatoichi’s Vengeance (1966) ฯลฯ

หนังมีจุดศูนย์กลางคือ Dreamland ย่านโคมแดง Yoshiwara District ในกรุง Tokyo โดยจะร้อยเรียงเรื่องราวของสาวๆโสเภณี สลับสับเปลี่ยนกันไป สามารถแบ่งออกเป็น

  • แนะนำสถานที่ ตัวละคร
    • เริ่มจากร้อยเรียงภาพสถานที่ ตรอกซอกซอย พูดคุยกับเจ้าของร้าน และหัวหน้าสมาคมโสเภณี
    • Yumeko และ Yorie กำลังรับประทานอาหารเช้า
    • เจ้าของร้านมาส่งผ้านวมปูเตียง พอได้เงินมาปรนเปรอ Yasumi แต่พอเธอกลับขึ้นห้อง มีลูกค้าอีกคนกำลังเกี้ยวพาราสี
    • การมาถึงของ Miki ท่าทางระริกระรี้ ตามด้วย Hanae มาสายประจำ
  • กิจวัตรของสาวๆโสเภณี
    • บุตรชายของ Yumeko มาเยี่ยมเยียนมารดา พบเห็นภาพบาดตาบาดใจ
    • หลังเลิกงาน Hanae พาสามีและบุตรชายไปรับประทานอาหาร
    • Miki แก่งแย่งลูกค้าจาก Yorie โดยไม่สนอะไรทั้งนั้น
    • Yorie ตอบตกลงแต่งงาน เพื่อนๆต่างจัดงานเลี้ยงอำลา
    • Yumeko เดินทางกลับชนบทเยี่ยมเยียนบุตรชาย แต่เขาออกจากบ้านไปทำงานโรงงานผลิตของเล่น
  • ความวุ่นวายของสาวๆโสเภณี
    • สามีของ Hanae ครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ภรรยามาพบเห็นพอดี
    • Yasumi พบเจอกับสองลูกค้าคนสำคัญพร้อมกันในร้านอาหารแห่งหนึ่ง (รถไฟชนกัน)
    • Yorie กลับมายัง Dreamland เพราะถูกสามีใช้แรงงานอย่างหนัก
    • บิดาของ Miki ต้องการพาตัวกลับบ้าน แต่เธอบอกปัดปฏิเสธ
    • Yumeko นัดพบเจอกับบุตรชาย แต่กลับถูกเขาขับไล่ผลักไส ไม่ยินยอมรับมารดา
  • อนาคตของสาวๆโสเภณี
    • Yumeko สูญเสียสติแตก กลายเป็นบ้า
    • Yasumi เกือบถูกเข่นฆาตกรรมจากลูกค้าคนหนึ่ง แต่พอรอดชีวิตก็สามารถเริ่มต้นกิจการใหม่
    • และเด็กสาว Shizuko กับการขายตัวครั้งแรก

การแบ่งองก์ของหนังในภาพรวมทำได้ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละตัวละครมีลำดับเรื่องราวที่แตกต่างกันไป ถึงอย่างนั้นเรายังสามารถยึดตาม ‘โครงสร้าง 3 องก์’ (Three Act Structure) เริ่มจากการปูเรื่อง เผชิญหน้า และแก้ปัญหา ทั้งห้าตัวละครหลักล้วนดำเนินตามทิศทางดังกล่าว


เพลงประกอบโดย Toshiro Mayuzumi (1929-97) คีตกวีแนว Avant-Garde สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Yokohama, โตขึ้นเข้าเรียนสาขาดนตรี Tokyo National University of Fine Arts and Music เป็นลูกศิษย์ของ Tomojirō Ikenouchi และ Akira Ifukube, ด้วยความชื่นชอบดนตรีตะวันตก เลยไปศึกษาต่อยัง Conservatoire de Paris แล้วประพันธ์บมเพลง Symphony, Ballet, Opera, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Street of Shame (1956), Enjō (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Tokyo Olympiad (1965), The Bible… in the Beginning (1966) ฯ

แค่เพียงเสียงแรกที่ได้ยินจาก Opening Credit บทเพลงของ Mayuzumi ก็สร้างความประทับใจแรก ‘first impression’ ให้ผู้ชมโดยทันที! นี่ฉันดูหนังผีอยู่หรือไร? เต็มไปด้วยเสียงอันแปลกประหลาด (เครื่องดนตรีไฟฟ้า Theremin) สร้างบรรยากาศหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง สั่นสะท้านถึงทรวงใน รู้สึกไม่ปลอดภัย บางสิ่งอย่างชั่วร้ายกำลังย่างกรายเข้ามา

เกร็ด: เธรามิน (theremin) เป็นเครื่องดนตรีไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ที่ผู้เล่นจะทำการโบกมือไปมากลางอากาศเพื่อสร้างและควบคุมเสียง, ประดิษฐ์โดยวิศวกรชาวรัสเซีย Leon Theremin เมื่อปี ค.ศ. 1928 ได้ยินบ่อยครั้งในผลงานของ Ennio Morricone

การใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าในยุคสมัยนั้น ถือว่ายังเป็นเสียงแปลกใหม่ ‘avant-garde’ ไม่ค่อยมักคุ้นหู จุดประสงค์เพื่อสร้างความไม่รู้ อนาคตที่ไม่แน่นอน ดังซ้ำไปซ้ำมาในช่วงเวลาแห่งความท้อแท้สิ้นหวัง คอยตอกย้ำเตือนผู้ชม ไม่มีใครไหนอยากเป็นโสเภณี เป็นแล้วก็ไร้ซึ่งหนทางหลบหนี ครอบครัว/ลูกหลานไม่ให้การยินยอมรับ ยิ่งถ้าญี่ปุ่นออกกฎหมายห้ามขายค้าบริการ พวกเธอจะหาหนทางเอาชีวิตรอดต่อไปได้อย่างไร??

แต่ไหนแต่ไรมา โสเภณีเป็นอาชีพที่สังคมไม่ให้การยินยอมรับ โดยอ้างว่ากระทำสิ่งผิดศีลธรรมจรรยา กาเมสุมิจฉาจาร หญิงสาวเหล่านี้ก็มักลวงล่อหลอกบุรุษ ทำให้สามีนอกใจภรรยา หมกมุ่นมักมากอยู่ในกามคุณ สูญเสียทรัพย์สิน และอาจทำให้ครอบครัวแตกแยก

กาเมสุมิจฉาจาร เป็นศีลที่มีความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะองค์ประกอบที่ตัดสินว่าผิด อคมนียวตฺถุ (บุคคลต้องห้าม) คือเป็นผู้มีเจ้าของหวงห้าม ซึ่งประกอบด้วยชาย ๑๒ จำพวก หญิง ๒๐ จำพวก นั่นแปลว่าถ้าเจ้าของบุคคลนั้นยินยอมอนุญาต ไม่มีกฎหมายสั่งห้าม การค้าประเวณีก็หาได้ผิดศีลประการใด!

โสเภณี คือหนึ่งในอาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลก มันอยู่ยืนยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะมนุษย์เต็มไปด้วยตัณหาราคะ เมื่อเกิดอุปสงค์ก็ย่อมต้องมีอุปทานคู่กัน การไม่ยินยอมรับความจริง แสดงพฤติกรรมรังเกียจต่อต้าน นั่นแปลว่าเรากำลังยึดติดอยู่กับมโนคติไม่มีอยู่จริง คำลวงล่อหลอกของพวกผู้มีอำนาจ … อ่างอบนวด การพนัน ธุรกิจใต้ดินที่ยังผิดกฎหมายในบ้านเรา แทบทั้งนั้นเพราะเงินใต้โต๊ะ ส่งส่วยให้ผู้มีอิทธิพล สร้างผลประโยชน์/ความร่ำรวยได้มากกว่าการทำให้ถูกกฎหมาย มันไม่ใช่ข้ออ้างศีลธรรม จริยธรรม ภาพลักษณ์อันดีงามสังคมอีกต่อไปแล้วนะครับ!

กฎหมายต่อต้านการค้าประเวณี มองอย่างผิวเผินคือการสร้างความปลอดภัยให้สังคม เมื่อไร้ช่องทางทำมาหากิน ย่อมไม่มีใครอยากกระทำสิ่งผิดกฎหมาย ฟังดูถูกต้องและชอบธรรม! แต่ในความเป็นจริงนั้นยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เมื่อการค้าประเวณีเป็นสิ่งขัดต่อกฎหมาย มันจึงกลายเป็นธุรกิจใต้ดิน มีมูลค่ามากมายมหาศาล เพราะตัณหาของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งสามารถหักห้ามกันโดยง่าย ทั้งๆกรุงเทพฯควรได้ชื่อว่าเมืองปลอดโสเภณี แต่ไฉนฝรั่งกลับตั้งฉายา ‘Bangcock’

Mizoguchi เป็นเพียงหนึ่งในสองผู้กำกับ (อีกคนคือ Federico Fellini) ที่ผมรู้สึกว่ามีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงอาชีพโสเภณี (ไม่ใช่แบบ Jean-Luc Godard ที่เอาแต่มองอาชีพนี้ในเชิงสัญลักษณ์) เพราะตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ มีชีวิตอยู่ได้เพราะพี่สาวยินยอมขายตัวแลกเงิน มันจึงไม่ใช่อาชีพน่ารังเกียจขยะแขยง ตรงกันข้ามมองว่าคือการเสียสละที่ยิ่งใหญ่

ทัศนะของผู้กำกับ Mizoguchi ต่อกฎหมายต่อต้านการค้าประเวณี ปรากฎอย่างชัดเจนในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าไม่เห็นด้วยเลยสักนิด! เพราะมันคืออาชีพของบุคคลผู้อับจน หมดสิ้นหวัง ไร้หนทางออกในชีวิต อย่างน้อยยังทำให้มีข้าวกิน ไม่ต้องลักขโมย ไม่ต้องขอทาน และไม่ต้องถึงขนาดคิดสั้นฆ่าตัวตาย

แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สามารถครุ่นคิดตีความในทิศทางตรงกันข้าม ว่าโสเภณีคืออาชีพแห่งความสิ้นหวัง วังวนหายนะ สมควรต้องออกกฎหมายสั่งห้ามโดยเร็ววัน!

  • Yumeko พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อบุตรชาย แต่เขากลับไม่ยินยอมรับมารดาอีกต่อไป
    • สามารถสื่อถึงการไม่ยินยอมรับตนเองชาวญี่ปุ่น ทั้งอาชีพโสเภณี และความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง
    • บางคนอาจมองว่านี่คืออคติของผู้กำกับ Mizoguchi ต่ออาชีพโสเภณี แต่ผมเห็นการเสียสละของ Yumeko เทียบแทนถึงพี่สาวทั้งสอง ยินยอมขายตัวเพื่อเลี้ยงดูเขาให้เติบใหญ่
  • Hanae พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสามี (และทารกน้อย) แต่เขากลับครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย ยินยอมรับสภาพของตนเองไม่ได้
    • ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (โดยเฉพาะญี่ปุ่น) การที่ผู้หญิงทำงานหาเงิน เลี้ยงดูแลครอบครัว เป็นสิ่งที่ทำให้สูญเสียเกียรติ ศักดิ์ศรี แบบนี้ทำ Harakiri ฆ่าตัวตายดีกว่า
    • แม้พี่สาวทั้งสองของผู้กำกับ Mizoguchi จะให้การช่วยเหลือเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ แต่ทัศนคติของเขายังคง ‘บุรุษคือช้างเท้าหน้า’ เมื่อตอน Kinuyo Tanaka แสดงความต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก Directors Guild of Japan ทั้งๆเคยร่วมงานกันมาหลายครั้ง แต่เขากลับปฏิเสธต่อต้าน ไม่เชื่อว่าผู้หญิงสามารถเป็นผู้กำกับ เธอจึงพิสูจน์ด้วยการสร้างภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง และได้เป็นสมาชิกหญิงคนแรกของสมาคม
  • Yorie แม้ได้แต่งงานกับสามีใหม่ แต่กลับถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส เลยต้องซมซานกลับมา
    • ผมเปรียบเทียบสามีใหม่กับสหรัฐอเมริกา มักมองคนต่างสีผิว/ชาวญี่ปุ่นคือมนุษย์ต่ำต้อยด้อยค่ากว่า
  • Yasumi ใช้มารยาหญิงลวงล่อหลอก จนทำให้ลูกค้าทั้งสองต้องประสบเหตุอันเป็นไป คดโกงเงินบริษัท ธุรกิจล้มละลาย นั่นทำให้เธอเกือบถูกเข่นฆ่าตาย
    • เงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญในโลกสมัยใหม่/หลังสงคราม (Post-Wars) ใครสามารถตระหนักถึงคุณค่าของมัน ฉกฉวยคว้าผลประโยชน์ ก็มีแนวโน้มจะสามารถเอาตัวรอดปลอดภัย
    • ผมอ่านเจอว่าสมัยหนุ่มๆ ผู้กำกับ Mizoguchi เคยอาศัยอยู่กับแฟนสาวที่เป็นโสเภณี ไม่รู้มีปัญหาอะไรกันเธอจึงใช้มีดกรีดแผ่นหลังของเขากลายเป็นแผลเป็น และลงข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์
  • Mickey เพราะอคติต่อพฤติกรรมเห็นแก่ตัว/ความเผด็จการของบิดา จึงแสดงพฤติกรรมไม่ยี่หร่าอะไร กระทำสิ่งตอบสนองความใคร่ พึงพอใจส่วนบุคคล
    • ครอบครัว สามารถสร้างอิทธิพลให้ลูกหลาน ไม่ต่างจากผู้นำประเทศคือต้นแบบให้ประชาชน, หญิงสาวแสดงออกต่อต้านครอบครัว เช่นนั้นแล้วโสเภณีคืออาชีพที่สะท้อนพฤติกรรมของรัฐบาล/ชนชั้นผู้นำ
    • ผู้กำกับ Mizoguchi เต็มไปด้วยอคติต่อบิดาที่มีความเผด็จการ ชอบใช้ความรุนแรงกับมารดา และโดยเฉพาะหลังจากขายพี่สาวทั้งสองให้กลายเป็นเกอิชา จึงไม่เคยมองหน้ากันติดเลยสักครั้ง

และเด็กสาว Shizuko คือตัวแทนของอนาคต คนรุ่นใหม่ ในประเทศญี่ปุ่นที่มีสภาพไม่ต่างจากโสเภณี ขายตัวให้ชาติตะวันตก/สหรัฐอเมริกา ตกเป็นทาสระบอบทุนนิยม มันช่างเป็นเรื่องน่าอับอายขายขี้หน้า ที่ต้องส่งเสียงร้องเรียกหาลูกค้า ชักชวนมาใช้บริการ เปิดบริสุทธิ์ สูญเสียความเป็นมนุษย์

Street of Shame เป็นชื่อภาษาอังกฤษที่หลายคนรู้สึกว่าตรงดี แต่ผมกลับโคตรผิดหวังมากๆ เพราะมันเป็นการปลูกฝังโลกทัศน์ตั้งแต่ก่อนการรับชม ตีตราว่าโสเภณีเป็นอาชีพน่าอับอาย ถนนสายนี้ไม่สมควรได้รับการยกย่อง คือภาพยนตร์เปิดโปงวังวนแห่งหายนะ ทั้งๆเนื้อหาสาระคือความพยายามต่อต้านกฎหมายการค้าประเวณี ผู้กำกับ Mizoguchi พยายามตั้งคำถามว่าถ้าไม่มีอาชีพนี้ คนอีกนับหมื่นแสนจะทำงานอะไร หาเงินจากไหน รัฐบาลมีหนทางช่วยเหลือพวกบ้างหรือเปล่า? … เชื่อเถอะว่าไม่มีหรอกครับ เหมือนกฎหมายกัญชาเสรี ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุนทั้งนั้น

ระหว่างงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับ Mizoguchi ได้มอบหมาย Yoshikata Yoda ทำการพัฒนาบทภาพยนตร์ An Osaka Story (1957) ตั้งใจให้เป็นโปรเจคลำดับถัดไป แต่จู่ๆร่างกายอ่อนแอลง เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าล้มป่วยโรคลูเคียเมีย แล้วพลันด่วนเสียชีวิต! สตูดิโอ Daiei เลยมอบหมายผู้กำกับ Kozaburo Yoshimura ให้มาสานต่อโปรเจคนี้แทน


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice แต่ปีนั้นไม่มีการประกาศรางวัล Golden Lion (เพราะมีสองเรื่องได้รับผลโหวตคะแนนเท่ากัน คณะกรรมการเลยไม่ยอมแจกรางวัล) ถึงอย่างนั้นก็มีการมอบ Special Mention ให้กับภาพยนตร์หลายๆเรื่องรวมถึง Street of Shame (1956) ให้คำอธิบายว่า “For its poignancy”.

หนังเข้าฉายในญี่ปุ่น 18 มีนาคม ค.ศ. 1956 ได้ยินว่าประสบความสำเร็จจนกลายเป็นกระแสสังคม แต่แทนที่จะทำให้รัฐบาลล้มเลิกกฎหมายต่อต้านการค้าประเวณี กลับกลายเป็นแรงกระตุ้นให้อนุมัติผ่านอย่างปัจจุบันทันด่วน 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1956 และประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1957

ปล. ผู้กำกับ Mizoguchi ยังมีชีวิตอยู่ตอนที่กฎหมายต่อต้านการค้าประเวณี ผ่านการรับรองจากรัฐสภา นั่นทำให้เขาครุ่นคิดจะสร้างภาคต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำอะไรก็พลันด่วนเสียชีวิตจากไปก่อน

ผมไม่แน่ใจว่าหนังได้รับการบูรณะหรือยังนะ สามารถหาซื้อ/รับชมได้ทาง Criterion Collection แต่คุณภาพเพียง DVD รวมอยู่ใน Eclipse Series 13: Kenji Mizoguchi’s Fallen Women เกี่ยวกับหญิงสาวประกอบอาชีพโสเภณี Osaka Elegy (1936), Sisters of the Gion (1936), Women of the Night (1948) และ Street of Shame (1956)

ในบรรดา ‘Fallen Women’ ของผู้กำกับ Mizoguchi โดยส่วนตัวรู้สึกก่ำๆกึ่งๆระหว่าง Street of Shame (1956) และ The Life of Oharu (1952) บอกไม่ได้ว่าชื่นชอบเรื่องไหนมากกว่า (เพราะไม่ได้รับชม The Life of Oharu มาสักพักใหญ่ๆแล้ว) แต่ล้วนทำให้ผมเกิดตระหนักถึงอาชีพโสเภณี เข้าใจความทุกข์ยากลำบาก จริงอยู่พวกเธออาจได้รับความสุขกระสันต์ แต่นานวันย่อมหลงเหลือเพียงความแห้งเหี่ยว ตายด้าน

เอาจริงๆผมอยากจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงความทุกข์ยากลำบาก ไม่ใช่ทุกคนระริกระรี้อยากเป็นโสเภณี การที่สังคมตีตราพวกเธอเหล่านี้มันช่างน่ารังเกียจยิ่งนัก! อ้างศีลธรรมจรรยา ขัดต่อหลักศาสนา แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยตำหนิต่อว่าชาวนครโสเภณี นี่มันแสดงถึงความจอมปลอมของคนมีอำนาจได้อย่างชัดเจน … ก็เหมือนการพนัน ที่การจ่ายใต้โต๊ะมันได้ผลประโยชน์มากกว่าทำให้ถูกกฎหมาย

แต่ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่คงมิอาจอดรนทนรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะอคติต่อโสเภณี มันไม่ได้ทำให้โลกทัศน์ของสลิ่ม/คนฝั่งอนุรักษ์นิยมปรับเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ ตรงกันข้ามอาจเหมือนการออกกฎหมายของญี่ปุ่น กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา Anti-Prostitution ไปเสียอย่างนั้น … ชวนให้นึกถึงหลายๆข่าวในบ้านเรา มีคลิปผู้บังคับบัญชาใช้ความรุนแรงกับลูกน้อง แต่แทนที่จะสอบบุคคลกระทำผิด กลับพยายามสืบหาใครปล่อยคลิป โลกใบนี้มันช่างกลับตารปัตรเสียจริง!

จัดเรต 13+ กับอาชีพโสเภณี

คำโปรย | Street of Shame คือความละอายครั้งสุดท้ายของผู้กำกับ Kenji Mizoguchi ไม่ใช่ต่ออาชีพโสเภณี แต่ประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีสภาพราวกับโสเภณี!
คุณภาพ |
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: