Akira

Akira (1988) Japanese : Katsuhiro Otomo ♥♥♥♥♡

(19/6/2019) พลังและอำนาจ ไม่ควรตกอยู่ในเงื้อมมือของผู้ไม่รู้เห็นคุณค่า เพราะบุคคลนั้นมักนำไปใช้ในทางไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี สนองเพียงความต้องการพึงพอใจส่วนตน จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งย่อมมิอาจควบคุมอะไรได้ แล้วใครไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบผลกระทบติดตามมา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Akira ถือว่าเป็น ‘Landmark’ แห่งวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น ทุ่มทุนสูงสุดตลอดกาลขณะนั้น มีการสร้างสรรค์อะไรหลายๆอย่างไม่เคยบังเกิดขึ้นมาก่อน (พากย์เสียงก่อนเริ่มทำอนิเมชั่น, ใช้อัตราการแสดงภาพ 24 fps) และเปิดประตูอนิเมะ(สัญชาติญี่ปุ่น)สู่ระดับนานาชาติสากลเป็นครั้งแรก

ในบรรดาอนิเมชั่นสายมืดที่ถือเป็น Landmark ของประเทศญี่ปุ่น Akira (1988), Ghost in the Shell (1995), Neon Genesis Evangelion (1995-96) และ Perfect Blue (1997) เรื่องที่ผมมักหวนกลับมารับชมซ้ำบ่อยๆคือ Akira สาเหตุเพราะความละเอียดละออของงานอนิเมชั่น ผ่านตาดูไปกี่รอบๆก็ยังคงอึ้งทึ่งตราตะลึง ผู้สร้างต้องบ้าระห่ำสติแตกขนาดไหน ถึงสามารถสรรค์สร้างผลงานออกมาได้ละเมียดไมระดับนี้

แต่หลังจากค้นหาข้อมูลก็พบว่าผู้กำกับ Katsuhiro Otomo ไม่ได้ควบคุมงานสร้างแบบเดียวกับที่ Hayao Miyazaki แทบจะวาดภาพทุกเฟรมในผลงานของตนเอง นั่นเพราะอนิเมะ Akira รวมพลังสร้างขึ้นโดย 7 สตูดิโอ ตั้งชื่อว่า Akira Committee ประกอบด้วย Kodansha, Mainichi Broadcasting System, Bandai, Hakuhodo, Toho, Laserdisc Corporation และ Sumitomo Corporation ก็ว่าทำไมถึงสามารถรวบรวมงบประมาณได้สูงถึง ¥1.1 พันล้านเยน (=$9 ล้านเหรียญ)

หน้าที่ผู้กำกับของ Otomo เพียงสรุปเนื้อเรื่องราว วาดภาพ Storyboard แล้วส่งงานต่อให้ทีมออกแบบ นักอนิเมเตอร์ยังสตูดิโอต่างๆ เสร็จแล้วรอตรวจทานงานช่วงท้าย เห็นว่าสัปดาห์หนึ่งๆเดินทางไปสตูดิโออนิเมะแค่วันเดียวเท่านั้น ที่เหลือนั่งวาดมังงะเรื่องนี้ให้ทันเดทไลน์ตีพิมพ์รายสัปดาห์

นี่คือระบบการทำงานโดยทั่วไปของวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น (ยกเว้นไว้กับ Hayao Miyazaki และสตูดิโอ Ghibli) ผู้กำกับไม่ได้บุคคลมีความสำคัญที่สุดในโปรเจค (ใครเคยรับชมซีรีย์ Shirobako ก็น่าจะพอเข้าใจอะไรๆมากขึ้น) ถึงกระนั้น วิสัยทัศน์ งานศิลป์ สไตล์ลายเซ็นต์ และเนื้อหาสาระใจความสำคัญ ยังคงปรากฎพบเห็นอยู่ในผลงานนะครับ


Katsuhiro Otomo (เกิดปี 1954) นักวาดการ์ตูน กำกับอนิเมะ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tome, Miyagi ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ช่วงวัยเด็กชื่นชอบอ่านมังงะ แต่ครอบครัวค่อนข้างจะเข้มงวดกวดขัน เดือนหนึ่งอนุญาตให้ซื้อหนังสือการ์ตูนได้เพียงเล่มเดียวเท่านั้น มีความคลั่งไคล้ Astro Boy และ Tetsujin 28-go เอาเวลาว่างๆไปวาดรูปเลียนแบบ, พอขึ้นมัธยมก็เริ่มให้ความสนใจภาพยนตร์ ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้กำกับ เรียนจบมุ่งสู่ Tokyo ได้งานเขียนการ์ตูน แรกเริ่มมีผลงานหลากหลาย ขึ้นอยู่กับใครว่าจ้างอะไรก็ทำ จนกระทั่งมังงะ Dōmu: A Child’s Dream (1980-81) คว้ารางวัล Nihon SF Taisho Award เลยมีโอกาสผันตัวสู่วงการอนิเมะ เริ่มจากออกแบบตัวละคร (Character Design) ให้กับ Harmagedon: Genma taisen (1983)

ระหว่างกำลังเขียนมังงะ Fireball (1979) แม้ยังไม่เสร็จสิ้นดีแต่ได้รับการติดต่อจากบรรณาธิการ Young Magazine ที่เพิ่งเริ่มตีพิมพ์ได้ไม่นาน อยากให้เขียนมังงะเรื่องใหม่ให้นิตยสาร ตอบตกลงเพราะครุ่นคิดว่าคงเขียนไม่กี่ตอน

“I remember from the first meeting with the publisher for Akira that it would only be like ten episodes or something like that, so quite short and would be done quickly. So I really wasn’t expecting it to be a success at all when I started it”.

– Katsuhiro Otomo

Otomo เป็นแฟนตัวยงของสามปรมาจารย์ Osamu Tezuka, Shotaro Ishinomori และ Mitsuteru Yokoyama
– มังงะ Fireball (1979) สร้างขึ้นเพื่อเคารพคารวะ Astro Boy ของ Osamu Tezuka
– มังงะ Dōmu: A Child’s Dream (1980-81) อ้างอิงจาก Sarutobi Ecchan ของ Shotaro Ishinomori

นั่นทำให้ความตั้งใจของ Otomo สร้าง Akira เพื่อเคารพคารวะมังงะเรื่องโปรด Tetsujin 28-go (1956-66) ของ Mitsuteru Yokoyama สังเกตว่าตัวละครชื่อ Tetsuo หมายเลข 28 เช่นเดียวกับ Kaneda และ Colonel Shikishima

“What’s more, the grand plot for Akira is about an ultimate weapon developed during wartime and found during a more peaceful era. So the accidents and story develop around that ultimate weapon. If you know, Tetsujin 28-go then this is the same overall plot”.

พล็อตเรื่องย่อของ Tetsujin 28-go, ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างหุ่นยนต์รบ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ Prof. Kanade และ Prof. Shikishima แต่เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม โครงการจึงถูกระงับไปพร้อมการหายสาบสูญไปของหุ่นหมายเลข 28 หลายปีถัดมา Prof. Shikishima ได้นำกองทัพหุ่นยนต์ออกมาทำลายล้างเมือง หวังจะยึดครอบครองโลก แต่ถูกขัดขวางโดย Kaneda Shōtarō บุตรชายวัย 12 ขวบของ Prof. Kanade ที่ได้นำเอาหุ่นเหล็กหมายเลข 28 สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วออกมาต่อต้าน

เกร็ด: Tetsujin 28-go ได้รับการดัดแปลงเป็นอนิเมะมาแล้วหลายครั้ง
– Gigantor (1963–66) จำนวน 97 ตอน
– The New Adventures of Gigantor (1980-81) จำนวน 51 ตอน
– Tetsujin 28-go FX (1992-93) จำนวน 47 ตอน
– Tetsujin 28-go (2004) จำนวน 24 ตอน และภาพยนตร์ The Daytime Moon (2007)
– Tetsujin 28-go Gao! (2013-16) จำนวน 139 ตอน

มังงะ Akira เริ่มตีพิมพ์ลงนิตยสาร Weekly Young Magazine ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 1982 ได้รับความนิยมล้นหลามโดยทันที เพียงสองปีถัดจากนั้น ได้รับการติดต่อเพื่อดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น

ทีแรก Otomo ก็ไม่ได้มีความใคร่สนใจดัดแปลงอนิเมะสักเท่าไหร่ กระทั่งได้รับประสบการณ์ทำงานจาก Harmagedon และทดลองสร้างอนิเมะขนาดสั้นเรื่องแรก Construction Cancellation Order รวมอยู่ใน Neo Tokyo (1987) เลยยินยอมตอบตกลง ด้วยข้อเรียกร้องควบคุมส่วนความคิดสร้างสรรค์ด้วยตนเอง

เนื่องจากมังงะ Akira ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ดี Otomo จึงต้องเริ่มต้นครุ่นคิดตอนจบอย่างจริงจัง จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปมองหาเนื้อเรื่องราวที่สามารถดึงนำมาปรับใช้ แต่ก็พบว่ารายละเอียดมากเกินกว่า 2,000 หน้ากระดาษเข้าไปแล้ว สรุปจากคนที่เคยอ่านหนังสือการ์ตูนทั้ง 6 เล่ม อนิเมะนำจากครึ่งเล่มแรก+ครึ่งเล่มสุดท้าย เท่านั้นเองนะ!

จากคนที่เคยอ่านมังงะ Akira (1982-90) นอกจากจะมีการขยายเนื้อเรื่องราว อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม บางตัวละครยังได้รับบทสำคัญ ซึ่งถือว่าต่อเติมส่วนขาดๆเกินๆในอนิเมะ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น … แนะนำสำหรับผู้หลงใหลคลั่งไคล้อนิเมะเรื่องนี้ จะเต็มอิ่มหนำสำราญยิ่งขึ้นเมื่ออ่านมังงะ

วันที่ 16 กรกฎาคม 1988 เวลา 13:17 น. กรุง Tokyo ถูกระเบิดปรมาณูทำลายทุกสิ่งอย่างย่อยยับเยิน อีก 9 ชั่วโมงต่อมาก่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม เมืองหลวงสำคัญๆของโลกล้วนถูกทำลายย่อยยับเยิน และ 3 สัปดาห์ต่อจากนั้น ทุกประเทศได้ขอเจรจาสันติภาพเพื่อสงบศึก

31 ปีผ่านไป ค.ศ. 2019 ญี่ปุ่นสร้างเมืองใหม่ตั้งชื่อว่า Neo Toyko ท่ามกลางสภาพสังคมที่เลวร้าย จิตใจผู้คนเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ ได้มีกลุ่มวัยรุ่นซิ่งมอเตอร์ไซค์ป่วนเมือง นำโดย Shōtarō Kaneda วันหนึ่งขณะกำลังไล่ล่าแก๊งค์คู่อริ สมาชิกเพื่อนสนิท Tetsuo Shima ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกองค์กรลับจับตัวไปเข้าโครงการชื่อ Akira ด้วยความเป็นห่วงเพื่อนจึงพยายามติดตามค้นหา จับพลัดพลูเข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลโดยมี Kei หญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกันแนะนำให้ แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อพบเจอ Tetsuo ตัวตน/สภาพจิตใจ ปรับเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง


Shōtarō Kaneda (พากย์เสียงโดย Mitsuo Iwata) เด็กชายหนุ่มอายุ 16 ปี หัวหน้าแก๊งค์ The Capsules ชอบสวมใส่เสื้อโค้ท กางเกง และมอเตอร์ไซด์แต่งสีแดง มีนิสัยเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ไม่หวาดกลัวเกรงต่ออะไร แถมยังชอบให้การช่วยเหลือพรรคเพื่อนฝูง จนได้รับการนับหน้าถือตา เว้นเสียแต่ Tetsuo กลับเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา แต่นั่นก็ไม่ทำให้เขาย่นย่อท้อพ่ายแพ้ พยายามอย่างถึงที่สุดแม้ต้องเสี่ยงชีวิตเข้าแลกก็ตามที

เพราะความที่เป็นเด็กกำพร้า ถูกพ่อ-แม่ทอดทิ้งมาตั้งแต่ยังเล็ก จึงพยายามทำตัวเองให้เข้มแข็งแกร่ง เมื่อถูกกลั่นแกล้งจึงต่อสู้โต้ตอบ และชอบทำตัวเป็นฮีโร่ปกป้องผู้อื่น แม้ไม่มีความสามารถเหนือธรรมชาติใดๆเมื่อเทียบกับ Tetsuo แต่ด้วยใจไม่ย่นย่อท้อแท้ ต้องการช่วยเหลือพรรคเพื่อนฝูงจนถึงที่สุด แม้แต่สามเอสเปอร์ (หมายเลข 26-26-27) ยังซาบซึ้งในน้ำใจ ยินยอมให้ความช่วยเหลือนำพาออกมาจากรัศมีระเบิดช่วงท้าย

ถึงตัวละครนี้จะมีพฤติกรรมไม่น่าลอกเลียนแบบสักเท่าไหร่ แต่ก็ต้องยินยอมให้ในความรักเพื่อนพ้อง พร้อมทุ่มเทเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ถือว่ามีน้ำจิตน้ำใจดีงาม ถ้าไม่เพราะเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้ อนาคตคงสว่างสดใสสำหรับเขาอย่างแน่นอน

เกร็ด: ในมังงะสมาชิกแก๊งค์ The Capsules มีทั้งหมด 12 คน พบเห็นในอนิเมะแค่เท่านี้แหละ ไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆทั้งนั้น

Tetsuo Shima (พากย์เสียงโดย Nozomu Sasaki) อายุ 15 ปี มีหน้าผากกว้าง นิสัยอ่อนแอ มักนำพาความเดือดร้อนเข้าหาตนเอง พบเห็นโดย Kanade จึงให้การช่วยเหลือทุกครั้งครา กลายเป็นปมด้อยสร้างความอิจฉาริษยา ทำไมฉันยังเป็นได้แค่เด็กน้อย ไม่เติบใหญ่เข้มแข็งแกร่งเช่นนั้นสักที

ซึ่งเมื่อ Tetsuo ได้รับพลังพิเศษเหนือธรรมชาติ เกิดความลุ่มหลงระเริง ลืมตนเอง ใครทัดทานอะไรไม่รับฟัง ใช้พลังทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง สวมผ้าคลุมสีแดงครุ่นคิดว่าตนเองเป็น Superman กอบกู้โลก แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งมิอาจควบคุมตนเอง กลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด สูญเสียสติแตก ถึงระดับนี้แม้แต่ Kanade ก็ไม่สามารถให้การช่วยเหลือใดๆให้กลับคืนมาเป็นปกติดังเดิม

มันอาจไม่มีความน่าสงสารหลงเหลืออยู่ในตัว Tetsuo แต่ทุกพฤติกรรมแสดงออกของเขา มองได้คือการเรียกร้องความสนใจ เพราะชีวิตเติบโตมาไม่มีพ่อ-แม่ อ้างว้างโดดเดี่ยวเดียวดาย ต้องการพิสูจน์ตนเอง (ต่อ Kaneda) ว่าฉันสามารถดูแลตนเองได้ … แต่ก็ไม่เคยทำสำเร็จสักทีเดียว

เกร็ด: Tetsuo สามารถแปลได้ว่า Iron Man, มนุษย์เหล็ก ซึ่งชื่อตัวละครได้แรงบันดาลใจจาก Tetsuo Shikishima บุตรชายของ Dr. Shikishima จากมังงะเรื่อง Tetsujin-28

โปรดักชั่นของอนิเมะเรื่องนี้ เริ่มต้นจากการพากย์เสียงก่อน ถึงค่อยนำไปทำอนิเมชั่นให้ตัวละครสามารถขยับเคลื่อนไหวปากตรงกับถ้อยคำพูด ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น (ที่ญี่ปุ่นนิยมพากย์เสียงหลังโปรดักชั่นเสร็จสิ้น เพราะประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องเสียเวลามาทำขยับปากให้ตรง ปัจจุบันอนิเมะซีรีย์ส่วนใหญ่ก็ยังนิยมทำกันแบบนี้อยู่)

อัตราการแสดงภาพของอนิเมชั่นยุคสมัยนั้น โดยเฉลี่ยคือ 10-15 fps (ภาพต่อวินาที) และยังมีการเล่นลีลา ทิ้งแช่ภาพ ใช้เทคนิคเคลื่อน-ซูม เพื่อลดปริมาณโหลดงาน แต่ข้อเรียกร้องของผู้กำกับ Otomo ต้องการความสมจริงที่ 20-25 fps ซึ่งทำให้อนิเมะมีความลื่นไหล แลดูเป็นธรรมชาติกว่ากันมาก นี่ถือเป็นการเพิ่มโหลดการทำงาน จากควรแค่ 80,000+ ภาพต่อหนังทั้งเรื่อง เพิ่มสูงขึ้นเป็น 160,000+ เฟรม!

การใช้สีก็เช่นกัน โดยปกติยุคสมัยนั้นจะแค่ประมาณ 100-200 สี แต่เรื่องนี้มีปริมาณสูงถึง 327 รูปแบบสี (หมดไปกับการลงสีฉากกลางคืน) นี่มากกว่า 8-bit Color จำนวน 256 สี เสียอีกนะ!

งบประมาณของอนิเมะ หมดสิ้นเปลืองไปกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อย่างตึกระฟ้าทั้งหลายเหล่านี้ สังเกตดีๆจะมีการลงสีให้กับแสงไฟที่แทบจะไม่เหมือนกันเลย ทำให้ภาพออกมาแลดูมีความสมจริงมากๆ

รถแต่งของ Kanade ได้แรงบันดาลใจจาก Lightcycles ภาพยนตร์เรื่อง Tron (1982) ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับ Tron: Legacy (2010) มากกว่า สังเกตว่าล้อจะมีสายฟ้าฟาดออกมา และแสงไฟจากหลังรถเวลาขับขี่มันจะเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด ติดตามไปโดยติดๆ (ประมาณว่าขับรถเร็วกว่าแสง)

“In terms of Kaneda’s bike in Akira, the initial inspiration was the lightcycles from Tron designed by Syd Mead. However, they are wide, so I halved them and used that as an initial basis”.

– Katsuhiro Otomo

ความยียวนกวนประสาทของผู้กำกับ Otomo พบเห็นหลายครั้งทีเดียวกับการใช้ตัวอักษร (มีทั้งภาษาญี่ปุ่น, อังกฤษ) ปรากฎข้อความเป็นพื้นหลัง เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครนั้นๆ อย่างช็อตนี้สังเกตเห็นทันกันหรือเปล่า Kei วิ่งผ่านกราฟิตี้ข้างหลัง ‘Clown, Fuck You’ ร้ายกาจจริงๆ

สามเอสเปอร์หน้าเด็ก เบอร์ 25-26-27 ผมเคยเปรียบเทียบไว้กับประเทศโลกที่สาม ซึ่งถ้ารวมพลังกันย่อมสามารถต่อกรกับ(ประเทศ)มหาอำนาจได้ แต่ในมังงะไม่ได้มีแค่พวกเขา (อย่างน้อยถ้าไล่จากเบอร์หนึ่ง ก็จะมีหนูทดลอง 20 กว่าตนแล้วละ) นัยยะนี้เลยอาจไม่ถูกสักเท่าไหร่

การให้ตัวละครเด็ก ได้รับพลังพิเศษ แล้วส่งผลกระทบให้ใบหน้าเหี่ยวย่นแก่ชรา คงเพื่อสะท้อนถึง พลังและอำนาจ เมื่ออยู่ในเงื้อมมือใครก็ตาม ย่อมทำให้พวกเขาดูมีวัยวุฒิเกินวัย ถ้าใช้เป็นย่อมสามารถควบคุมได้ หลงระเริงเมื่อไหร่ย่อมกลายเป็นแบบ Tetsuo
– Takashi ถูกลักพาตัวตอนต้นเรื่อง เป็นคนพูดไม่ได้ แต่สามารถสื่อสารทางโทรจิต
– Masaru นั่งบนเก้าอี้ลอย (น่าจะเดินไม่ได้) และสามารถสื่อสารทางจิต
– Kiyoko หญิงสาวนอนอยู่บนเตียง (เหมือนจะเดินไม่ได้เช่นกัน) มีความสามารถพิเศษด้านโทรจิต และฝันถึงอนาคตได้อย่างแม่นยำ (น่าจะเป็นคนแข็งแกร่งสุดในกลุ่ม)

แซว: เอสเปอร์สามคนนี้ ทำให้ผมหวนระลึกนึกถึงสาม Precog จากเรื่อง Minority Report (2002) อยู่เล็กๆ

สังเกตกันออกไหมว่าคล้ายอะไร … เจ้าหญิงนิทราและคนแคระทั้งเจ็ด

ผมละทึ่งกับกิจกรรมรับน้องใหม่ของสามเอสเปอร์เสียจริง สร้างตุ๊กตาหมีขึ้นมาหลอกหลอน Tetsuo ชักนำพาไปยังห้อง Baby Room แค่ชื่อก็สะท้อนความไร้เดียงสาของผู้ครอบครอง พลังและอำนาจ … มวลมนุษยชาติยังไม่ถึงกาลเวลานำมันมาใช้อย่างจริงจัง

Tetsuo แม้มีพลังและอำนาจล้นฟ้า แต่เขาก็เป็นได้แค่พระราชายืนอยู่ตำแหน่งสูงสุดท่ามกลางเศษซากกองขยะ

สังเกตว่า ด้านหลังเสื้อแจ็กเก็ตสีแดงของ Kaneda มีรูปเม็ดยา ‘The Capsule’ ซึ่งไม่เพียงเป็นชื่อแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง แต่ยังสื่อสัญลักษณ์ถึงยารักษาอาการถูกถอดทิ้งขว้าง วิธีการของพวกเขาคือใช้กำลัง ความรุนแรง ต่อสู้ขัดแย้ง ระบายความอึดอัดคับข้องแค้นทางใจออกมา

สิ่งหนึ่งที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้กลายเป็นตำนาน เพราะสามารถพยากรณ์การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ค.ศ. 2020 ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ (ความตั้งใจจริงๆของ Otomo ต้องการสะท้อนกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ค.ศ. 1960)

การแข่งขันกีฬาของมวลมนุษยชาติ แท้จริงแล้วคือฉากหน้าเพื่อปกปิดบัง เก็บซ่อนเร้นเรือนอวัยวะร่างกายของ Akira เพราะเทคโนโลยีวิวัฒนาการยุคสมัยนั้น ไม่รู้จะนำมาศึกษาวิจัยอย่างไรดีให้ได้คำตอบสูงสุด เลยแช่แข็งไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิเกือบๆ 0 เคลวิน

แขน คืออวัยวะที่มนุษย์สามารถใช้ช่วยเหลือตนเอง (อย่าไปคิดอะไรเสื่อมนะครับ) การที่ Tetsuo สูญเสียแขนข้างขวา ย่อมสะท้อนถึงไร้ความสามารถเอาตัวรอดด้วยตนเอง ซึ่งเขาพยายามซ่อมแซม แต่มันกลับคือชวนสาเหตุให้เกิดการ ‘Berserk’ คลุ้มคลั่ง ลุกลามบานปลายไปส่วนอื่นๆของร่างกาย

อนิเมชั่นที่ถือว่าเป็น Masterpiece ของอนิเมะเรื่องนี้ คือช่วงขณะการกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดของ Tetsuo เมื่อไม่สามารถควบคุมพลังของตนเอง คือมันโคตรหลอกหลอน ขยะแขยง กล้ามเนื้อหนังมังสายืดหดขยาย เส้นเลือดปูดพอง ใบหน้ากลับกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ จู่ๆชักชวนให้ท้องไส้ปั่นป่วน มีความอัปลักษณ์พิศดารโดยแท้

ที่อนิเมชั่นฉากนี้ออกมาโคตรดูดี เพราะอัตราการแสดงภาพที่ 25 fps ทำให้การขยับเคลื่อนไหวแลดูมีความต่อเนื่องลื่นไหล ไม่ตะกุกตะกัก หรือต้องใช้เทคนิคอะไรอื่นมาปกปิดบัง

สิ่งสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ของ Tetsuo ผมของเรียกว่า ประกายแสงแห่งความหวัง (หรือจะมองว่านี่คือ Akira ที่หลงเหลืออยู่ของ Tetsuo ก็ว่าได้) ไม่ว่าโลกจะประสบพบหายนะเลวร้ายเช่นไร ชีวิตตราบยังมีลมหายใจก็ต้องต่อสู้ก้าวเดินต่อไป

เกร็ด: Akira แปลว่า ความสว่าง (Bright) ในบริบทของอนิเมะ คือพลังงานปริมาณมากมายมหาศาลที่อยู่ภายในตัวเรา ถ้าสามารถควบคุมได้ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่ก็จักเกิดการทำลายล้างย่อยยับเยิน

ตัดต่อโดย Takeshi Seyama, ขาประจำของสตูดิโอ Ghibli, Katsuhiro Otomo และ Satoshi Kon ผลงานเด่นๆ อาทิ My Neighbor Totoro (1988), Grave of the Fireflies (1988), Princess Mononoke (1997), Paprika (2006) ฯ

อนิเมะดำเนินเรื่องผ่านสามสี่ตัวละครหลักๆ ประกอบด้วย Kaneda, Tetsuo, Kei และ Colonel Shikishima ตัดสลับไปมา โดยมีจุดร่วมคือ Akira คือศูนย์กลางเรื่องราว
– Kaneda ไม่ได้สนใจในพลังของ Akira แต่ต้องการช่วยเหลือ Tetsuo ที่กำลังจะกลายเป็น Akira
– Tetsuo ได้รับพลังของ Akira แต่กำลังจะควบคุมตนเองไม่อยู่
– Kei คือตัวแทนคณะปฏิวัติ ต้องการสืบข้อมูลเกี่ยวกับ Akira เลยพานพบเจอ Kaneda
– Colonel Shikishima ผู้ต้องการควบคุมพลัง Akira เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง แต่เมื่อล้มเหลวเลยจำต้องหาวิธีทำลายล้างให้สิ้นซาก

การตัดต่อถือว่ามีความรวดเร็วฉับไวอย่างมาก ซึ่งช่วยเร้งเร้าอารมณ์ให้มีความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ (และโคตรโมเดิร์น) ด้วยความยาว 124 นาที มีถึง 2,212 ช็อต แต่ถึงอย่างนั้นผู้กำกับ Otomo กลับไม่ชื่นชอบเท่าไหร่ อธิบายเหตุผลแท้จริงเพื่อให้สามารถแบ่งซอยงานไปตามสตูดิโอต่างๆได้โดยง่าย

“There were just too many cuts. I think there were more than two thousand cuts in the end. That meant we didn’t have enough animators to do all the work. So each animator had way more work than they could do, so that meant they did a lot of overtime and had to make compromises in terms of animation quality. In addition, the studio had to outsource the animation abroad to reduce the costs and they weren’t very good”.


สำหรับเพลงประกอบ แรกเริ่มโปรดิวเซอร์แนะนำ Isao Tomita ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีสังเคราะห์ (Systhesizer) แต่ผู้กำกับ Otomo มองว่า ภาพยนตร์/อนิเมะไซไฟโลกอนาคตกับงานเพลงลักษณะนี้ มันของตาย ‘Too Obvious’ เกินไป เลยต้องการมองหาอะไรใหม่ๆ และด้วยความชื่นชอบส่วนตัวต่อกลุ่มดนตรี Geinoh Yamashirogumi เลยหาทางพยายามติดต่อไป

Shoji Yamashiro ชื่อจริง Tsutomu Ōhashi (1933) ครูสอนวิทยาศาสตร์ นักวิจัย งานอดิเรกคือแต่งเพลง ผู้ก่อตั้งกลุ่มดนตรี Geinoh Yamashirogumi ซึ่งเป็นการรวบรวมบุคคลมากมายจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ อาทิ หมอ, วิศวกร, นักข่าว, นักเรียน, นักธุรกิจ ฯ มาทำเพลงแบบไม่จำกัดแนวทาง

“The problem with this was that Yamashiro was not really a professional musician, as his actual job was as a schoolteacher. That meant nobody knew how to contact him. Eventually, I managed to meet with Yamashiro in person and asked him to do the music for Akira”.

Yamashiro สรรค์สร้างบทเพลงประกอบ Akira ออกมาในลักษณะที่ไม่มีใครคาดคิดถึง อย่างบทเพลง Kaneda’s Theme ใช้วงดนตรีพื้นบ้านบาหลี/อินโดนีเซีย Gamelan Jegog (แลดูคล้ายๆวงปี่พาทย์บ้านเรา) รับชมจากในคลิปเองก็แล้วกัน ที่น่าทึ่งคือทำนองโบราณ แต่ให้สัมผัสราวกับอยู่ยังโลกอนาคต (ที่เต็มไปด้วยความป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม)

Battle Against Clown สัมผัสทางอารมณ์ประมาณ Mad Max การต่อสู้ที่บ้าคลั่ง เสียสติแตก ก็ไม่รู้คับแค้นอะไรกันมาตั้งแต่ชาติปางไหน ต้องเข่นฆ่าเอาคืนกันให้ตาย ไม่เช่นนั้นเสียงลมหายใจคงมิอาจสงบลงได้

Character Song ของ Tetsuo คล้ายๆกับของ Kaneda ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านบาหลีเป็นหลัง แต่ให้สัมผัสเหมือนเหล็กกระทบกัน (Tetsuo แปลว่า มนุษย์เหล็ก) ซึ่งไฮไลท์อยู่นาทีที่ 4:00 เมื่อเสียง Da Da ดังขึ้น นั่นคือพลังในตัวได้ถูกปลุกตื่น

เสียงงึมงัม พึมพึม ที่เหมือนการสวดมนต์ มันช่างเต็มไปด้วยความหลอกหลอน สั่นสะท้าน ขนหัวลุกพอง พอนำไปใช้ในซีน Mutation ที่มีความน่ากลัว ขยะแขยง ทวีความรุนแรงคลุ้มคลั่งเพิ่มขึ้นหลายสิบร้อยเท่า ไปถึงขั้วหัวใจเลยละ!

ภาพยนตร์ไซไฟฝั่งตะวันตก หรือแนว Superhero ยุคสมัยนี้ มักมีลักษณะวีรบุรุษผู้กอบกู้โลก ปกป้องมวลมนุษยชาติให้พ้นภัยจากศัตรู ผิดกับอนิเมชั่นฝั่งญี่ปุ่น นำเสนอเรื่องราวของผู้ถูกกระทำ ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ หรือการปรับตัวภายหลังวันโลกาวินาศ … ว่าไปนี่เป็นสิ่งสะท้อนผลกระทบภายหลังความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง และการโดนทิ้งระเบิดปรมาณูลงฮิโรชิม่า นางาซากิ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถือเป็นตราบาป รอยแผลเป็นฝังรากลึกในใจ ตึกสูงใหญ่ระฟ้าถูกระเบิดทำลาย ราบเรียบเป็นหน้ากลองในชั่วพริบตาเดียว เฉกเช่นนั้นแล้วใครกันจะมีกระจิตกระใจเป็นฮีโร่ปกป้องโลก แค่จะดิ้นรนเอาตัวรอด ก็เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด

Akira คือภาพยนตร์อนิเมชั่นที่สะท้อนสภาพสังคมประเทศญี่ปุ่น ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการเปรียบเทียบพลังทำลายล้างอย่างตรงไปตรงมากับระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงฮิโรชิม่า นางาซากิ ทำให้ทุกสิ่งอย่างสูญสลาย พังทลาย ราบเรียบเป็นหน้ากลองในชั่วพริบตา

แม้เมืองจะถูกทำลาย ย่อมก่อร่างสร้างใหม่ได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี พบเห็นตึกระฟ้าขึ้นมากมายเต็มไปหมด แต่ถึงอย่างนั้นความเจริญกลับกระจุกตัวอยู่เพียงศูนย์กลาง คนชนชั้นล่างภาคพื้นดินถูกทอดทิ้งขว้างอย่างไร้การเยียวยา นี่ก็แปลว่าความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ สวนทางกับจิตสำนึกมโนธรรม/คุณค่าทางจิตใจมนุษย์นั้นจักค่อยๆตกต่ำทรามลงเรื่อยๆ

พลังและอำนาจ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำออกมาใช้ในปริมาณมากน้อยเพียงใด มุ่งหวังนำไปใช้ประโยชน์อันสร้างสรรค์ต่อมวลมนุษยชาติ หรือแสดงออกอย่างคนพาล Tetsuo Shima ผลลัพท์ก็จะกลายเป็นอย่างอนิเมชั่นเรื่องนี้ สนเพียงสนองความพึงพอใจส่วนตน ครุ่นคิดแต่จะทำลายล้างผลาญ กลายเป็นพระราชาแห่งธารกองขยะ และเมื่อมิอาจจะควบคุมตนเองได้ ค่อยๆกลายร่างสัตว์ประหลาด ไม่หลงเหลืออะไรให้น่าพิศมัยอีกต่อไป

เท่าที่ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ Otomo ไม่ได้สรรค์สร้างตัวละคร Tetsuo เพื่อต้องการสะท้อนสื่อถึงประเทศสหรัฐอเมริกาเลยสักนิดเลยนะ เป็นนักวิเคราะห์วิจารณ์ทีครุ่นคิดตีความกันไปเองอย่างเพ้อเจ้อ ตัวเขาสนเพียงแค่เรื่องราวของคนบ้าอำนาจ สุดท้ายย่อมพ่ายแพ้ภัยพาลตนเอง

ปมด้อยของ Tetsuo ถือว่าเป็นผลพวงจากสภาพแวดล้อมทางสังคม อาศัยอยู่ในโลกอนาคตรายล้อมด้วยตึกระฟ้า ความเจริญทางวัตถุมีมาก แต่คุณธรรมศีลธรรมตกต่ำทราม อยากเป็นคนดีแต่ไร้ซึ่งวิธี สุดท้ายเมื่อมีพลังและอำนาจ เลยใช้มันในทางสนองความต้องการแบบไม่สามารถควบคุมตนเอง

มนุษย์สมควรแล้วหรือที่จะได้ครอบครองเป็นเจ้าของ พลังและอำนาจ? จริงๆมันไม่ใช่เรื่องควรไม่ควรค่า แต่คือเมื่อได้รับมาแล้วสมควรทำอย่างไรกับมันมากกว่า ระหว่างฝึกฝนจิตใจให้มีสติสามารถควบคุมหยุดยับยั้งคิด หรือปล่อยปละละเลยสนองตัณหาความต้องการพึงพอใจส่วนตนเอง

ปัญหาคือนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มนุษย์ค่อยๆปล่อยปละละเลยตนเอง มากกว่าจะเรียนรู้จักการควบคุมสติ สาเหตุเพราะแนวคิด ‘อิสรภาพ’ ตรงกันข้ามกับ ‘กฎกรอบ’ ได้แพร่ขยายไปทั่วทุกสารทิศ ถ้าอนาคตยังคงมีทิศทางเช่นนี้ต่อไป เชื่อได้ว่าคงไม่แตกต่างจากโลก Dystopian ของ Neo Tokyo … ฉันอยากทำอะไรก็ทำ ไม่เห็นจำต้องควบคุมสติตนเอง ถ้าโลกก้าวไปถึงจุดๆนั้นเมื่อไหร่ เชื่อได้ว่าอารยธรรมมนุษย์คงใกล้ถึงกาลล่มสลาย


ก่อนหน้านี้ภาพยนตร์อนิเมชั่นสัญชาติญี่ปุ่น ถ้าจะเข้าฉายต่างประเทศมักถูกนำไปปู้ยี้ปู้ยำ ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น ยกตัวอย่าง Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) ถูกหั่นออกไปกว่า 30 นาที จน Hayao Miyazaki ประกาศกร้าวไม่ญาติดีกับ Harvey Weinstein ซึ่ง Akira (1988) ถือเป็นเรื่องแรกๆที่ได้เข้าฉายต่างประเทศแบบเต็มๆ

ด้วยทุนสร้าง ¥1.1 พันล้านเยน ในญี่ปุ่นถือว่าไม่ทำเงินเท่าไหร่ ¥1.5 พันล้านเยน แต่เมื่อค่อยๆได้ออกฉายต่างประเทศ รวมทั่วโลกถึงปัจจุบัน บางแหล่งข่าวว่า $49 ล้านเหรียญ และยอดขาย Home Video กลายเป็นกระแส Cult ติดตามมาอีกประมาณ $80 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามเกินคาดคิดหวัง

ตำนานของ Akira ไม่ใช่แค่ในวงการอนิเมชั่นเท่านั้น แต่ถือว่ายิ่งใหญ่เคียงข้าง 2001: A Space Odyssey (1968) และ Blade Runner (1982) ได้รับยกย่องหนึ่งใน ‘ภาพยนตร์’ แนวไซไฟยอดเยี่ยมที่สุดในโลก

ขณะที่อิทธิพลติดตามมา
– วงการอนิเมะ อาทิ Ghost in the Shell, Battle Angel Alita, Cowboy Bebop, Serial Experiments Lain ฯ
– วงการภาพยนตร์ Tetsuo: The Iron Man (1989), Dark City (1998), The Matrix (1999), The Dark Knight (2005), Inception (2010), Ready Player One (2018) ฯ
– วงการเกม อาทิ Snatcher, Metal Gear Solid, Final Fantasy VII, Half-Life, Deus Ex: Mankind Divided, Cyberpunk 2077 ฯ

สำหรับภาพยนตร์ Akira ฉบับ Hollywood ก็มีข่าวคราวมานานเกินกว่าทศวรรษแล้ว จนถึงปัจจุบัน 2019 น่าจะเข้าใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เพราะได้ตัวผู้กำกับ Taika Waititi วางโปรแกรมฉายปี 2021 แต่จะสำเร็จสมหมายได้รับชมกันไหม คุณภาพจะสู้ต้นฉบับ ยอดเยี่ยมกว่า Ghost in the Shell (2018), Alita: Battle Angel (2019) ได้หรือเปล่า คงต้องคอยติดตามลุ้นกัน

ความประทับใจแรกของผมต่อ Akira คืออาการตื่นเต้นรุกเร้าใจแบบดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ –” รับชมครั้งถัดๆมาจึงพยายามครุ่นคิดวิเคราะห์จนพอจะไขปริศนาเข้าใจ … หวนกลับมาครานี้ ตั้งใจเพื่อเสพงานศิลป์ ฟินกับอนิเมชั่น และบทเพลงประกอบอันเหนือชั้น ดูกี่ทีก็ไม่มีเบื่อเลย

ถ้าคุณโตพอ พร้อมรับความรุนแรง และชื่นชอบมังงะ Akira จะคือเรื่องที่ทำให้มุมมองต่อวงการอนิเมชั่นปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง! นี่ไม่ใช่เรื่องราวสำหรับเด็ก เหมาะกับผู้ใหญ่ที่สามารถเสพงานศิลป์ขั้นสูง ลุ่มหลงใหล Dystopia โลกอนาคตอันหมดสิ้นหวัง และยังสะท้อนถึงอดีต-ปัจจุบัน พลังและอำนาจ คือสิ่งที่ทำให้มนุษยชาติถดถอยลงสู่จุดตกต่ำ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุผล ทำไมพลังและอำนาจถึงไม่ควรตกอยู่ในเงื้อมมือคนพาล? ซึ่งอนิเมะเรื่องนี้ได้นำพาผู้ชมไปถึงจุดที่ทุกสิ่งอย่างถูกทำลายล้างย่อยยับเยิน … อย่าให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย ไม่ว่าจะประเทศไทยไหน

จัดเรต 18+ กับโลก Dystopia อาชญากรรม ความรุนแรง

คำโปรย | Akira คือแสงสว่างที่ส่องนำทางวงการอนิเมชั่นสู่ยุคสมัยใหม่
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | รักมาก


Akira

Akira (1988) : Katsuhiro Otomo

(21/3/2016) Akira แปลว่า สว่าง (bright) ในอนิเมะ Akira คือพลังที่มากมายมหาศาล เราสามารถตีความอนิเมะเรื่องนี้ได้หลากหลายมากๆ ทั้งในแง่ศาสนา, การใช้ชีวิต แต่ที่ผมสนใจก็คือ นี่อาจเป็นสาสน์ของญี่ปุ่นที่ส่งถึงอเมริกา เพื่อเตือนว่าบางสิ่งบางอย่างอย่าง (เช่น ระเบิดนิวเคลียร์) ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ควรใช้มันเพื่อนำทางสู่สันติ

นี่เป็นอนิเมะที่ดูยากเรื่องหนึ่ง ผมดูมาก็หลายรอบแต่ไม่ค่อยเข้าใจสาสน์ที่หนังพยายามสื่อออกมานัก ‘พลังอำนาจไม่ควรอยู่ในมือของคนที่ใช้มันเพื่อตอบสนองความต้องการของตน’ นี่คือความเข้าใจพื้นฐานที่น่าจะได้จากการดูแบบไม่คิดวิเคราะห์อะไรมาก แต่ความจริง มันลึกซึ้งกว่านั้นอีก ผมเปรียบความยากในการตีความอนิเมะเรื่องนี้พอๆกับ Solaris หรือ A Space Odyssey เพราะเราสามารถมองให้มันเป็นอะไรก็ได้ ตามความสนใจของคนที่ชม ผมไปอ่านเจอบทความวิเคราะห์ บ้างเปรียบ Akira คือพระเจ้า, การระเบิดตอนท้าย คือจุดสิ้นสุดของอารยธรรม, I Am Tetsuo คำพูดประโยคนี้คือ การเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล, นี่แหละครับที่เรียกว่าสุดยอดของหนังไซไฟ ไม่ใช่แค่เนื้อเรื่องที่ลึกล้ำ แต่การตีความยังหลากหลาย

ผู้กำกับ Katsuhiro Otomo ปีนี้ (2016) อายุย่าง 61 แล้ว Akira ถือเป็นการกำกับอนิเมะหนังใหญ่เต็มตัวเรื่องแรก ก่อนหน้านั้นเคยมีส่วนร่วมกำกับหนังสั้นเรื่องหนึ่งใน Neo Tokyo (1987) อีกผลงานที่ดังๆคือ Steamboy (2004) ที่กวาดรางวัลนับไม่ถ้วน แนวที่เขาชอบมากๆ คือไซไฟ ที่ต้องสร้างโลกของตนเองขึ้นมา ผมรู้สึกผู้กำกับที่มีผลงานในยุค 198x-199x มักจะวาดภาพโลกอนาคตเป็นแบบ dystopian (อารยธรรมที่ล่มสลาย-ตรงข้ามกับ utopia) เพราะสิ่งที่ดังๆในยุคที่พวกเขายังเด็กคือ ยาเสพติด, แก๊งค์นักเลง, สุรา-นารี เหตุที่มนุษย์หลงใหลในอบายมุขพวกนี้ในช่วงนั้น เพราะพวกผู้ใหญ่ต้องการลบภาพความทรงจำของสงครามที่โหดร้าย สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้เขาลืมความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้ เด็กที่โตมาและเห็นผู้ใหญ่เป็นแบบนี้ เมื่อถึงยุคของพวกเขา มันแน่นอนเลยว่าผลงานที่ออกมาจะสะท้อนแนวคิดโลกอนาคตที่เสื่อมโทรม ใกล้ถึงจุดล่มสลาย

จุดจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น คือ เมื่อถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูก มันคือจุดสิ้นสุดของญี่ปุ่นยุคเก่า ในหนังใช้ Akira ที่แปลว่าแสงสว่าง มันคือแสงที่ทำให้เกิดจุดสิ้นสุดของยุคสมัย, ผมเปรียบพลังของ Akira เหมือนกับระเบิดนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ควรเข้าไปสัมผัส ไม่ควรมีใครใช้พลังนี้เพื่อวัตถุประสงค์ใดๆทั้งสิ้น ผลกระทบของการถูกระเบิดนิวเคลียร์ ทำให้ญี่ปุ่นหันกลับมามองตัวเอง คนในชาติต่างร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูสิ่งที่สูญเสียไป แต่ใน Akira จะตรงกันข้าม เมื่อโลกถูกทำลาย ผู้คนกลับมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว คอรัปชั่น ยาเสพติด อยู่กันเป็นแก๊งค์ มั่วสุม ใช้ชีวิตไปวันๆอย่างไร้ค่า

เดิมนั้น Akira เป็นมังงะเขียนโดย Katsuhiro Otomo เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1982 ลงในนิตยสาร Young Magazine (Seinen รายสัปดาห์) เห็นว่า Otomo ไม่ได้มีความตั้งใจจะดัดแปลง Akira ให้กลายเป็นอนิเมะ แต่เพราะผู้สร้างชื่นชอบผลงานก่อนหน้าเรื่อง Harmagedon ที่ Otomo เขียนบท จึงยื่นข้อเสนอให้ดัดแปลง Akira จากมังงะเป็นอนิเมะ Otomo ยอมรับข้อเสนอโดยเขาต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ ภายหลังเขาได้ตัดสินใจกำกับด้วย เรื่องราวในอนิเมะจะดัดแปลงมาจากครึ่งแรกของมังงะมาเปะๆ ทั้งการออกแบบตัวละคร และฉากพื้นหลัง ส่วนครึ่งหลังจะมีโครงสร้างที่เขียนขึ้นใหม่ มังงะเขียนเสร็จปี 1990 (หลังหนังหนังฉาย 2 ปี) ตอนจบในอนิเมะไม่เหมือนมังงะนะครับ ใครอยากรู้ตอนจบต่างกันยังไงไปลองหาอ่านเอง

นี่ถือเป็นอนิเมะทุนสูงมากๆ เห็นว่าใช้ทุนสร้างไปถึง 1.1 พันล้านเยน (เทียบค่าเงินในปัจจุบันคงไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านเยน) เป็นการร่วมทุนสร้างของจากค่ายต่างๆ Kodansha, Mainichi, Bandai, Hakuhodo, Toho, Laserdisc และ Sumitomo ผลิตโดย Tokyo Movie Shinsha สาเหตุที่ใช้ทุนเยอะขนาดนี้ เพราะอนิเมะเรื่องนี้มีการ breakthrough ที่สำคัญมากๆ คือ มีการพากย์เสียงก่อนที่จะเริ่มทำอนิเมชั่น นี่เป็นอนิเมะเรื่องแรก(ไม่แน่ใจว่าของญี่ปุ่นหรือของโลก)ที่ทำแบบนี้ สมัยก่อนเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ ผู้สร้างมักจะทำอนิเมะจนเสร็จแล้วถึงมีการพากย์ภายหลัง แต่ใน Akira นักพากย์จะทำการให้เสียงโดยเห็นแค่ภาพร่างและ story board ที่เรียกว่า Animatic เท่านั้น และทีมงานจะไปทำให้ปากของตัวละครจะขยับตามคำพูดนั้นเปะๆ ทำให้ภาพมีความสมจริงมากๆ ซึ่งการทำแบบนี้เป็นการเพิ่มงานให้กับ animator อย่างมาก ต้องใช้ computer ช่วยเพื่อให้งานเสร็จตามกำหนด

ทีมพากย์นำโดย Mitsuo Iwata พากย์ Shōtarō Kaneda หมอนี่เสียงหล่อเหมือนพระเอกมากๆ ผลงานดังๆของเขา เช่น Ivankov (One Piece), Itsuki Takeuchi (Initial D) ด้วยความที่ Kaneda ถูกทิ้งตั้งแต่เด็ก ทำให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่นๆ เวลาเห็นใครถูกรังแกเหมือนที่ตนเคยถูกกระทำมา เขาก็จะเข้าไปช่วยเหลือเสมอ ในโลกยุค dystopian ผมเปรียบเขาคือฮีโร่เลยละ ไม่ว่าสิ่งนั้นเขาจะทำได้หรือไม่ แต่หลักการของเขาคือ เพื่อนกันต้องช่วยเหลือกัน ไม่เช่นนั้นจะให้ไปช่วยใคร

Nozomu Sasaki พากย์ Tetsuo Shima เสียงหมอนี่นักเลงสุดๆ ผลงานดังๆ เช่น Urameshi Yusuke-YuYu Hakusho, Mello-Death Note ตัวละคร Tetsuoเป็นอีกคนที่ถูกทิ้งมาแต่เด็ก แต่เขาได้รับการช่วยเหลือจาก Kaneda อยู่เรื่อยๆ แม้ว่า Kaneda จะไม่ต้องการอะไรตอบแทน แต่มันทำให้ Tetsuo รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กอมมือ ไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ เขาจึงต้องการพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็นว่า สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องรับการช่วยเหลือจากใคร, Tetsuo มีนิสัยเย่อหยิ่ง จองหอง อวดเก่ง ตัวละครนี้เปรียบได้เหมือนกับอเมริกาชัดมากๆ เด็กนิสัยไม่ดีแต่มีอำนาจเหนือคนอื่น ซึ่งพอ Tetsuo พบว่าตัวเองมีพลัง เขาก็ใช้มันเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง … คงไม่ต้องเปรียบนะครับว่ายังไง

ถ้าเปรียบ Tetsuo คืออเมริกา แล้ว Kaneda ละ ผมไม่อยากเข้าข้างญี่ปุ่นมากนะครับ แต่คิดว่าเราคงต้องมองให้เห็นแบบนั้น เพราะนี่เป็นอนิเมะญี่ปุ่น จะไม่ให้เขาเป็นพระเอกได้ยังไง, กระนั้นหลังสงครามโลก ญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีท่าทีรังเกียจอเมริกานะครับ เหมือนกับ Kaneda ที่พยายามจะช่วยเพื่อนของเขาทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ Tetsuo ถึงสุดท้ายจะช่วยไม่สำเร็จก็เถอะ

ส่วนเด็ก Esper หน้าแก่ 3 คนนั้น ผมรู้สึกคล้ายๆกับ A Space Odyssey ที่มี 3 ตัวละครใน Hibernate Capsule เปรียบเหมือนประเทศโลกที่ 3 ใน Akira ก็น่าจะความหมายเดียวกัน ประเทศเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ถ้าสามารถดึงเอาพลังแฝงที่ซ่อนไว้ออกมาได้ ส่วนนายพลกับด็อกเตอร์ ทั้งสองเป็นคนปลุกพลัง Akira ในตัว Tetsuo ขึ้นมา นั่นแสดงถึงพวกเขาคือชนวนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ในห้องประชุมที่มีแต่ผู้นำคอรัปชั่น เงินไม่ได้ทำให้คนมีอำนาจ นายพลทำการยึดอำนาจ และพยายามทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กระนั้นก็ไม่มีใครสามารถต่อกรกับมหาอำนาจ (Tetsuo) ได้ไม่ว่าจะกองทัพ หรือเด็ก Esper เลย สิ่งที่จัดการกับ Tetsuo ได้คือพลังอำนาจที่เหนือกว่า (พระเจ้า) หรือจะมองว่าเพราะเขาทำลายตัวเองก็ได้ (ไม่สามารถควบคุมพลังได้)

ถ้าใครเคยดู Blade Runner มาแล้ว จะรู้สึกคุ้นๆฉากใน Neo Tokyo มากๆ เพราะ Akira ถือว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก Blade Runner ด้วยนะครับ

เพลงประกอบโดย Shoji Yamashiro ถ้าบอกว่าหมอนี่คือนักวิทยาศาสตร์ คงไม่มีใครเชื่อแน่ ผมไม่รู้ Otomo ไปทำยังไงเข้าถึงได้ด็อกเตอร์คนนี้มาทำเพลงประกอบให้ สงสัยเป็นงานอดิเรกของเขากระมัง ผมรู้สึกเพลงประกอบ Akira มันประหลาดมากๆ ไม่รู้จะบรรยายยังไงดี ไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้มาก่อน คือถ้ามาฟังทีละเพลงมันไม่เพราะเลยนะครับ เพลงอะไรก็ไม่รู้ แต่เมื่อประกอบเข้ากับอนิเมะเรื่องนี้ มันเข้ากันเสียอย่างงั้น มีส่วนผสมของเครื่องดนตรีพื้นบ้าน, เครื่องดนตรี electronic, บ้างได้ยินเหมือนเสียงกระดิ่งกิ๊งๆแบบในวัด, บ้างได้ยินเหมือนคนกำลังท่องบทสวด, บ้างก็เสียงกรีดร้อง เสียงโหยหวนของคนใกล้ตาย ฯ เพลงประกอบประหลาดๆแบบนี้ คงสื่อถึงความเสื่อมโทรม เละเทะของโลกยุค dystopia ผมไม่คิดว่าจะมีใครแต่งเพลงแบบนี้ออกมาได้นะครับ

โลกยุค dystopia แบบใน Akira ผมคิดว่าผู้คนคงไม่เชื่อเรื่อง ‘ศาสนา’ กันแล้ว แต่ผู้กำกับกลับใส่เพลงประกอบ มีทั้งเสียงสวดมนต์ ที่ได้ยินแล้วได้บรรยากาศเหมือนอยู่ในวัด นี่มันอะไรกัน? … ในอนิเมะมีอยู่ลัทธิหนึ่งที่เห็นชัดเลยคือ ลัทธิ Akira ที่เชื่อเรื่องการกลับมาของผู้สร้าง คนที่เชื่อใน Akira เพราะคาดหวังให้เขาเอาพลังไปใช้เพื่อสร้างโลกใหม่ แต่พลังของ Akira มีแต่ทำลายเท่านั้น มีประโยคหนึ่งที่ผมเคยได้ยินมาจากที่ไหนสักที “การจะเริ่มต้นสร้างสิ่งใหม่ ต้องเริ่มจากทำลายของเดิม” (If you wanna build something new, you have to destroy the old first.) ผมไม่อยากตีความอนิเมะเรื่องนี้ไปทางศาสนามากนะครับ ขอเรียกว่า ‘ความเชื่อ’ แล้วกัน Akira คือ Cult Film (Cult คือ ลัทธิ ความเชื่อที่มีต่อบุคคลหรือสิ่งของ) ในโลกยุค dystopia นี่ไม่ใช่โลกที่ผู้คนจะมีชีวิตที่มีความสุข พวกเขาฝันถึงสวรรค์ paradise แต่ก็ได้แค่คิดไม่มีใครสามารถไปถึงได้ เพราะมันไม่เหลือใครหรือสิ่งที่จะสามารถพาความพวกเขาให้ไปถึงจุดนั้นได้อีกแล้ว ระเบิดนิวเคลียร์ (หรือ Akira) คือสิ่งที่ทำให้เกิดการล่มสลายของอารยธรรม ศาสนา และความเชื่อเก่า Akira กลายเป็นศาสดาคนใหม่ แต่มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยอมรับ ส่วนใหญ่คิดว่า Akira มันก็แค่เรื่องแต่งเพื่อให้ผู้คนมีความหวังว่าเป็นทางไปสู่สวรรค์ เพลงประกอบหนังที่จงใจใช้เหมือนเป็นเพลงศาสนา ก็เพื่อสะท้อนให้ผู้ชมเห็นว่า โลกที่ไม่มีศาสนาเหลืออยู่แล้วจะเป็นยังไง ความเชื่อที่มีอยู่มันไม่เพียงพอจะทำให้โลกดำเนินต่อไปได้ โลกที่ไม่มีศาสนาแต่ใช้เพลงประกอบที่เหมือนเพลงศาสนา มัน ironic ดีนะครับ

พลังของ Akira คืออะไรกันแน่? คำตอบนี้มีหลากหลายมากๆ ขึ้นอยู่กับมุมมองความเข้าใจของแต่ละคนนะครับ เราอาจจะมองแค่ Akira คือเด็กคนหนึ่งที่มีพลังมาก เขาตายไปเมื่อ 20 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์เก็บรักษาเขาไว้โดยการแยกชิ้นส่วนต่างๆ ซ่อนไว้ในห้องแช่แข็งที่อุณหภูมิ 0 Kelvin คิดได้แค่นี้ก็แสดงว่าเข้าใจเรื่องราวของหนังแล้ว แต่ถ้าอยากเข้าใจให้มากกว่านั้นอีก ในหนังมีคำอธิบายเปรียบเทียบพลังของเขากับจุดกำเนิดของจักรวาล ในช่วงต้นๆบทความนี้มีคนเปรียบ Akira คือพลังของพระเจ้า ผมเปรียบเทียบกับอาวุธนิวเคลียร์ที่อเมริกาทิ้งใส่ญี่ปุ่น ย่อหน้าล่าสุดเปรียบเหมือนสิ่งที่ทำให้เกิดการสิ้นสุดของอารยธรรม ศาสนาและความเชื่อเก่า… สรุปแล้วพลังของ Akira คืออะไรกันแน่? ไม่รู้สิครับ ทุกอย่างที่ผมเล่ามามันก็คือ Akira ทั้งหมดนะแหละ ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเชื่อแบบไหนก็ได้ เชื่อทุกอย่าง หรือไม่เชื่อสักอย่างเลยก็ได้ นี่แหละครับคือ Akira

นี่เป็นอนิเมะที่เราสามารถตีความอะไรจากมันได้หลากหลายมากๆนะครับ ไม่จำเป็นว่าคุณต้องมีความเห็นต่อหนังเหมือนผม มุมมองของผมอาจจะไม่ถูกเลยก็ได้ แต่แค่ได้คิดมันก็สนุกแล้วนะครับ ผมแนะนำคออนิเมะ คนที่ชอบหนังแนว dystopia โลกอนาคตที่ล่มสลาย คอไซไฟนี่ห้ามพลาด ดูแล้วได้คิดจนปวดหัวแน่ๆ จัดเรต R 18+ สำหรับความรุนแรง ทั้งภาพและเสียง

คำโปรย : “Akira นี่คือหนังอนิเมะที่คอหนังไซไฟ โลกอนาคต Dystopia ไม่ควรพลาด มันช่างแปลกประหลาด สวยงาม สมจริงและหลอนเข้ากระดูกดำ”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบLOVE

4
Leave a Reply

avatar
2 Comment threads
2 Thread replies
6 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
3 Comment authors
Oazsarujณ.คอน ลับแลเมโท Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
เมโท
Guest
เมโท

ผมบอกเลย นะ ผมดูเป็นร้อยรอบ ชอบมาก ในความลึกลับของงานภาพชวนให้สงสัยว่าทำไม และทำไม ท่อใหญ่ๆนี้คือลำเรียงอะไร มีอะไรข้างใน ทำไมต้องสร้างสุสานของเด็กดองAkira ทรงกลมใหญ่โต มโหราฬ แล้วเครื่องทำลองสมองคนคุณคิดได้ยังไง ทำไมกระปุกเซลล์ชิ้นส่วนของเด็กอากิร่า ถึงทำงานและปรากฎร่างอีกครั้ง เด็กสามคนนั้นสามารถปลุกขั้นมาได้เหรอ ประมาณนั้น ส่วนเนื้อเรื่องก็ดูเอาสนุกตามประเด็ก (อายุ 16-17เองตอนนั้น ตอนนี้ 49 ก็ยังติดตาม555+) พึ้งมาเข้าใจที่ ท่านแปลนี้ละครับ หาบทสรุปที่ใหนก็ไม่เจอ เพราะมันปรัญญาหรือเปล่า ที่ต้องดึงความหมายออกมาจากภาพ เจอแต่นิดเดียวเอง ไม่สะใจเลย คืออันนี้ได้ลึกลงไปอีกครับ ขอบคุณมากๆ ถึงแม้จะยังไม่หมด

Oazsaruj
Guest
Oazsaruj

อนิเมะว่าเยี่ยมแล้วมังงะยังเหนือกว่านั้นอีกหลายเท่า เช่นเดียวกับ Nausicaa ถ้าสองเรื่องนี้เอามาทำใหม่ให้มีเนื้อหาครบแบบมังงะ ผมว่าคงเอาไปเทียบกับ 2001: A Space Odyssey หรือ Blade Runner ได้สูงสี

%d bloggers like this: