Alexander

Alexander (2004) hollywood : Oliver Stone ♥♥♥

ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์สุดอลังการ โดยผู้กำกับ Oliver Stone ชีวประวัติของ อเล็กซานเดอร์มหาราช นำแสดงโดย Colin Farrell, นี่เป็นหนังที่มีการตัดต่อใหม่หลายครั้งมาก ผมดูมาก็หลายรอบ หาได้รู้เรื่อง เข้าใจหนังแม้แต่น้อยว่าต้องการนำเสนออะไร มันดูเละเทะมั่วซั่วไปหมด จนกระทั่งได้เจอฉบับ Final Cut ความยาว 214 นาที ที่ใส่ทั้งหมดทุกสิ่งอย่างเข้ามา จึงทำให้พอเข้าใจหนังได้ในที่สุด

มีทั้งหมด 4 ฉบับ ที่พบเจอในปัจจุบัน (2016)
1. ฉบับฉายโรง ความยาว 175 นาที
2. Director’s cut ความยาว 167 นาที (ไฉนสั้นลง!)
3. Final Cut (2007) ฉบับความยาว 214 นาที ที่มีอะไรใช้ได้ก็ใส่เข้ามา
4. Ultimate Cut (2013) ความยาว 206 นาที (เอา Final Cut มาตัดส่วนที่ยืดยาด อืดอาดออกไป)

ว่ากันตามตรง คือหนังมันก็ไม่ได้มีคุณภาพดีเยี่ยม ขนาดคนทั่วไปจะอยากเก็บสะสมทุกฉบับหรอกนะครับ ควรจะแค่แบบ Peter Jackson ทำกับ Lord of the Ring/The Hobbit คือมีฉบับฉายโรง และฉบับ Director’s Cut แค่นี้ก็เหลือเฟือเพียงพอแล้ว, กระนั้นเพราะการทำ Home Video เป็น DVD/Blu-ray ของหนังเรื่องนี้ออกมา ปรากฎว่าขายดีเป็นเทน้ำเทน้ำ จนทำกำไรให้กับหนังได้ Warner Bros. จึงเข็นฉบับใหม่ออกมาขายแบบไม่แคร์ใคร (นี่จะเรียกว่ากระแส Cult ก็ได้นะ แต่หลายคนคงไม่รู้สึกว่าหนังเป็น Cult แน่ๆ)

ผมเคยดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เคยสมัยเช่าแผ่นมาดู (น่าจะ Director’s Cut) และวันก่อนได้ดู Final Cut, ตอนแรกผมไม่รู้ว่ามีฉบับอื่นด้วย (คิดว่ามีแค่ฉบับฉายโรงกับ Director’s Cut) เปิดดูเห็นเวลาก็แอบตกใจ คุ้นๆจำได้ว่า ตอนเช่าแผ่น CD มาดูเมื่อก่อน มันมีแค่ 3 แผ่น (น่าจะแค่ 3 ชั่วโมง) แต่นี่หนัง 3 ชั่วโมงครึ่ง เลยค้นหาข้อมูลดูจึงพบว่าปัจจุบัน (2016) หนังมีทั้งหมด 4 ฉบับตามที่กล่าวมา แม้ Oliver Stone จะบอกว่า คงไม่มีฉบับอื่นแล้ว แต่อนาคตใครจะไปรู้!

ถ้าคุณยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้มาก่อน ผมแนะนำอย่างยิ่งให้หา Final Cut มาดูนะครับ อย่าไปหาฉบับฉายโรงหรือ Director’s cut มาให้เสียเวลา คิดว่านี่คือฉบับที่อธิบายทุกสิ่งอย่างของหนังได้ครบถ้วน หมดสิ้น สมบูรณ์ที่สุดแล้ว จะได้ไม่ต้องไปมึนงง สับสนกับฉบับอื่นที่เชื่อว่าอาจจะดูไม่รู้เรื่อง (เพราะผมก็ดูไม่รู้เรื่อง), ส่วนกับคนที่เคยดูฉบับฉายโรงหรือ Director’s Cut มาแล้วไม่ประทับใจหนังเรื่องนี้เลย แนะนำให้ลองเสี่ยงหา Final Cut มาดูนะครับ ไม่แน่หนังอาจสร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งให้กับคุณก็เป็นได้, ส่วน Ultimate Cut นั่นเพื่ออะไรกัน! อย่าไปพูดถึงมันเลยนะครับ

อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งมาซีดอน (356-323 ปีก่อนคริสตกาล) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander III of Macedon) เป็นกษัตริย์กรีกจากแคว้นมาซิโดเนีย (Kingdom of Macedon) ผู้สร้างชื่อเสียงมากที่สุดของราชวงศ์อาร์กีด (Argead) เป็นผู้สร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคโบราณ, เกิดที่เมืองเพลลา (Pella) ตอนเหนือของมาซิโดเนีย ได้รับการศึกษาตามแบบกรีกดั้งเดิมภายใต้การกำกับดูแลของอริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญากรีกผู้มีชื่อเสียง สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจาก ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย (Philip II of Macedon) เมื่อปีที่ 336 ก่อนคริสตกาลหลังจากที่พระบิดาถูกลอบสังหาร

Statue of Alexander in Istanbul Archaeology Museum.

อเล็กซานเดอร์สวรรคตที่เมืองบาบิโลน ในปีที่ 323 ก่อนคริสตกาล เมื่อพระชนมายุเพียง 32 พรรษา ก่อนจะเริ่มแผนการรบต่อเนื่องในการรุกรานคาบสมุทรอาระเบีย ปีถัดจากการสวรรคตของอเล็กซานเดอร์ เกิดสงครามกลางเมืองทั่วไปจนอาณาจักรของพระองค์แตกเป็นเสี่ยงๆ, แม้ว่าราชบัลลังก์และจักรวรรดิของอเล็กซานเดอร์จะอยู่เพียงชั่วครู่ยาม แต่ผลกระทบจากการพิชิตดินแดนตะวันออกของพระองค์ส่งผลสืบเนื่องต่อมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ อเล็กซานเดอร์ถือเป็นหนึ่งในบุรุษผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกยุคโบราณ มีชื่อเสียงเลื่องลือในความสามารถทางการรบ ยุทธวิธี และการเผยแพร่อารยธรรมกรีกไปยังดินแดนที่ไม่เคยมีชาวยุโรปไหนย่างกรายเข้าไปมาก่อน

มีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับอเล็กซานเดอร์มหาราช สร้างขึ้นไม่มากนัก ที่ดังๆมีอยู่ 3 ฉบับ
– Sikandar (1941) หนัง bollywood นำแสดงโดย Prithviraj Kapoor
– Alexander the Great (1956) กำกับโดย Robert Rossen นำแสดงโดย Richard Burton
– Alexander (2004) กำกับโดย Oliver Stone นำแสดงโดย Colin Farrell

เหตุที่ผมเลือก Alexander ของ Oliver Stone ขึ้นมาวันนี้ คงเพราะเป็นฉบับที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง อลังการงานสร้าง ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยปัจจุบัน และหนังได้มาถ่ายทำที่เมืองไทย มีนักแสดงไทยร่วมด้วย จะไม่ให้พูดถึงได้ยังไง

Oliver Stone ผู้กำกับ นักเขียนบทและโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน ได้ Oscar: Best Director จากหนังสงครามเรื่อง Platoon (1986) และ Born on the Fourth of July (1989) จะว่าแนวการต่อสู้ สงครามและเรื่องราวชีวประวัติเป็นของถนัดของ Stone เลยก็ว่าได้, นอกจากนี้ผลงานดังๆอย่าง Wall Street (1987), JFK (1991), Nixon (1995), World Trade Center (2006) ที่เราสามารถมองเห็นสไตล์ของเขา เป็นแนวการเมือง ความขัดแย้ง และต่อสู้กับอะไรสักอย่างเสมอ เช่น รัฐ สงคราม การเมือง ผู้ก่อการร้าย ฯ

หลังจากสร้าง Any Given Sunday (1999) Stone ก็หายหน้าหายตาไปหลายปีไม่มีผลงานหนังใหม่ออกมา คงเอาเวลาไปศึกษา ค้นคว้า รวบรวมข้อมูล เพื่อสร้างหนังเรื่อง Alexander โดยเฉพาะ, ดัดแปลงสร้างเรื่องราวจากหนังสือ Alexander the Great เขียนโดย Robin Lane Fox นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Oxford ตีพิมพ์ตั้งแต่ยุค 70s, พัฒนาบทร่วมกับ Christopher Kyle และ Laeta Kalogridis ก่อนนำไปเสนอ Warner Bros. ออกทุนสร้างและจัดจำหน่าย

อเล็กซานเดอร์มหาราช มีนักแสดงหลายคนที่ได้รับข้อเสนอ อาทิ Russell Crowe, Heath Ledger, Tom Cruise ฯ แต่ไม่มีใครตกลงรับปาก บทจึงตกลงที่ Colin Farrell, ว่าไปเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ไม่ใช่เพราะ Farrell เป็นนักแสดงที่แย่ แต่ Charisma ของเขาไม่เพียงพอ คือถ้าพี่แกมีเล่นหนังประสบความสำเร็จหลายเรื่อง เป็นนักแสดงเกรด A ของ hollywood ผมว่าเขาก็อาจจะเหมาะสมกับบทนี้ แต่ความจริงไม่เลย Farrell ไม่ใช่นักแสดงยอดฝีมือ ชื่อเสียงความสำเร็จก็ปานกลาง ซึ่งเมื่อต้องรับบท อเล็กซานเดอร์มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ จึงไม่สามารถทำให้ผู้ชมเชื่อได้ว่า เขาเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่แม้แต่น้อย

หนังเรื่องนี้สร้างให้อเล็กซานเดอร์ มีปมโอดิปุส (Oedipus) ขาดความรักจากพ่อที่ไม่ค่อยเอาใจใส่ และแม่ที่มีความอิจฉาริษยา (เสี้ยมสอน ปลูกฝังสิ่งชั่วร้ายมากมาย) โตขึ้นเมื่อได้ครองราชย์ จึงหนีออกจากบ้านเกิด ออกเดินทางหนีไปให้ไกลจากบ้านให้มากที่สุด, เมื่อพ่อแม่ไม่รัก แต่มีเพื่อนคนหนึ่ง เฮฟีสเทียน (Hephaestion) ตั้งแต่สมัยเด็ก เป็นคนเดียวที่สามารถเอาชนะอเล็กซานเดอร์ได้ เข้าใจ ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น อเล็กซานเดอร์จึงมอบความรักให้ทั้งกายและใจ, ประเด็นชายรักชาย เป็นสิ่งที่ถูกต่อต้านมากขณะหนังฉาย ถึงขนาดมีการฟ้องร้องห้ามฉายในหลายประเทศ (ซึ่งก็มีบางประเทศไม่ได้เข้าฉาย หรือตัดบางฉากออกไป) ส่วนตัวรู้สึกว่า หนังมีคำอธิบายจุดนี้ไว้ชัดอยู่นะครับ ‘ความรักมีหลายรูปแบบ’ กับชายหญิงก็อย่างหนึ่ง กับเพื่อน พ่อแม่ พี่น้องก็อีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่ใครจะตีความไปไหน, ผมให้ข้อสังเกตหนึ่ง กับ Rosario Dawson ที่รับบท Roxana เราจะเห็นร่างเปลือยเปล่าของเธอในฉาก Sex Scene แต่กับ Jared Leto ที่รับบท Hephaestion หรือ Marie Meyer ที่รับบท Eurydice (คนใช้หนุ่มของอเล็กซานเดอร์) มีแค่ฉากกอดจูบ แต่ไม่มีถอดเสื้อผ้า

(สมัยนั้นจนถึงปีนี้ 2016 ประเด็นชายรักชาย ยังถือว่าเรื่องใหญ่ ถ้ามีการแสดงออกอย่างเด่นชัดในสื่อหรือหนังเรื่องไหน ก็ย่อมมีคนต่อต้านรับไม่ได้อยู่ คงต้องเป็นอีกทศวรรษหรือศตวรรษ กว่านี่จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปในสังคม)

ผมคิดว่า Stone ใช้ประเด็น ชายรักชาย เพื่อแสดงให้เห็นด้านอ่อนแอของ อเล็กซานเดอร์มหาราช, เพราะพระองค์คือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่มันจะเป็นไปได้ยังไงที่ไม่มีด้านมืดในตนเอง พระบิดา พระมารดาของพระองค์คือจุดอ่อน ผู้เสี้ยมสอน และชักใย อเล็กซานเดอร์อาจไม่ได้เกรียงไกร ถ้าไม่เพราะทั้งสองคอยผลักดันให้ออกห่าง

Val Kilmer ในบท ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย พระบิดาของอเล็กซานเดอร์, กับหนังเรื่องนี้ Kilmer ต้องเพิ่มน้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัม และใช้เวลาแต่งหน้าหลายชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อรับบท (แต่งหน้าจนแทบจำไม่ได้), ฟิลลิป เป็นกษัตริย์ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ว่าไปก็หนังแทบไม่ทำให้เราเห็นด้านดีของพระองค์เสียเท่าไหร่ (ก็น่ะ นี่หนัง Alexander ไม่ใช่ Phillip)

ขอเล่าวีรกรรมของท่านให้ฟังคร่าวๆนะครับ ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย ทรงเป็นกษัตริย์นักรบ ที่ทำสงครามเอาชนะนครรัฐต่างๆ ของกรีซโบราณได้หลายแห่ง ทั้ง ธีปส์, เอเธนส์ หรือสปาร์ตา โดยเฉพาะตอนที่สามารถยึดครองนครรัฐเอเธนส์ได้ ทำให้ชาวกรีกทั้งหลายเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อชาวมาซีโดเนียใหม่ จากที่เคยมองว่าเป็นเพียงชนเผ่าป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม, ซึ่งพระองค์เมื่อยึดครองได้แล้ว ก็ไม่ได้ทำลายสิ่งปลูกสร้างหรืออารยธรรมเก่าแก่ของชาวเอเธนส์ หากแต่ได้พยายามเรียนรู้และผสมรวมกันกับอารยธรรมของมาซิโดเนีย, ในการสงคราม พระองค์ได้ปรับปรุงยุทธวิธีการรบแบบใหม่ โดยใช้การผสมระหว่างกองทหารราบและกองทหารม้าเข้าไว้ด้วยกัน ใช้อาวุธแบบใหม่ คือ ทวนที่มีความยาวกว่า 5 เมตร โดยการใช้กองทหารตั้งแถวหน้ากระดานเดินบุกขึ้นหน้า และใช้ทวนยาวนี้พุ่งทะลุแทงข้าศึก ซึ่งรูปแบบการรบที่ใช้กันต่อมาอย่างยาวนานของกรีซโบราณ อีกทั้งยังประดิษฐ์หน้าไม้ที่มีอานุภาพยิงได้ระยะไกล และทะลวงเข้าถึงเกราะหรือโล่ของข้าศึกได้อีกด้วย

ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซีโดเนีย มีประสงค์ที่จะทำสงครามกับอาณาจักรเปอร์เซีย ที่เสมือนเป็นคู่สงครามกับชาวกรีกมาช้านาน แต่ประสงค์ของพระองค์มิทันได้เริ่มขึ้น ก็เสิ้นพระชนม์ลงเสียก่อนเมื่อเดือนตุลาคม 336 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 ปี จากการลอบสังหารด้วยมีดปักเข้าที่พระอุระของมือสังหารที่เดินตามหลังพระองค์ ในงานเฉลิมฉลองหนึ่ง (ในหนังถูกลอบสังหารด้านหน้า) ไม่มีใครทราบถึงสาเหตุของการลอบสังหารครั้งนี้ เพราะมือสังหารได้ถูกสังหารโดยทหารองครักษ์ก่อนที่จะได้มีการไต่สวนใดๆ ซึ่งมีการสันนิษฐาน ว่าอาจเป็นการว่าจ้างของกษัตริย์เปอร์เซีย

Angelina Jolie รับบท Queen Olympias พระมารดาของอเล็กซานเดอร์ เปรียบพระองค์ได้กับอสรพิษร้าย แฝงความชั่วร้าย ทั้งจิตใจ คำพูด และการกระทำ, หนังทำให้เรารู้สึกเหมือนว่า เธอคือคนที่อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง คอยผลักดันให้อเล็กซานเดอร์กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในปฐพี แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นไหมไม่มีใครรู้, Jolie อายุน้อยกว่า Farrell อีกนะครับ แต่ต้องมารับบทแม่-ลูก ให้ความรู้สึกแปลกๆนิดนึง แต่ด้วยสีหน้า คำพูด แววตาที่ดูชั่วร้ายจริงๆ นี่คงเป็นด้านมืดของเธอที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจตั้งแต่สมัยเด็ก เฉกเช่นเดียวกับ Maleficent (2014) เป็นแน่

สำหรับนักแสดงสมทบชื่อดัง อาทิ Anthony Hopkins ในบท Ptolemy (ตอนแก่), Christopher Plummer เล่นเป็น Aristotle อาจารย์สอนอเล็กซานเดอร์, Jonathan Rhys Meyers รับบท Cassander เป็นต้น

ถ่ายภาพโดย Rodrigo Prieto ชาว Mexican กับหนังเรื่องนี้ถือว่ามีความอลังการมาก ฉากในสนามรบต้นเรื่อง มีการใช้มุมมองของเหยี่ยว (Bird Eye View) ให้เราเห็นภาพรวมของกองทัพและการต่อสู้จากด้านบน นี่เหมือนเวลาเล่นเกมพวก Civilization, Age of Empire ที่เราสามารถควบคุมกองทัพได้จากมุมมองของบุคคลที่ 3 (ผมเรียกว่ามุมมองพระเจ้า) ซึ่งเมื่อการต่อสู้เริ่มต้นขึ้น หนังจะเคลื่อนเข้าไปนำเสนอมุมมองของบุคคลที่ 1 ระดับใกล้ชิด เห็นการต่อสู้ฆ่ากัน เลือดสาดกระเซ็น

ฉากภายในเมืองบาบิโลน สวยงาม อลังการ ประณีต วิจิตร ต้องชื่นชมทีมออกแบบ ว่าทำออกมาได้หรูหรา ตราตรึงมากๆ ดูกี่ครั้งผมก็ยังรู้สึกตื่นตาตื่นใจ แบบเดียวกับทหารมาซิโดเนียที่ได้พบเห็นความสวยงามภายในพระราชวังบาบิโลเนียครั้งแรก

ความงดงามของสถานที่ยังไม่ได้หมดเท่านี้ การเดินทางของอเล็กซานเดอร์ไปยังเมือง ประเทศต่างๆ ฉบับ Final Cut ทำให้เราเห็นสถานที่ 3-4 แห่ง ผมก็ไม่รู้ที่ไหนบ้างนะครับ คงเป็นเปอร์เซีย, เทือกเขาหิมาลัย, ป่าดงดิบอินเดีย ฯ การค้นพบอะไรใหม่ๆ สถานที่ ผู้คน วัฒนธรรม ฯ ที่แตกต่างกันในเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เป็นอะไรที่สร้างความตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย (ถ้าจำไม่ผิด ฉบับฉายโรงจะมีการตัดข้ามตอนอเล็กซานเดอร์ยึดเมืองต่างๆไปหลายฉากทีเดียว)

หนังมาถ่ายทำที่เมืองไทย 2 สถานที่
– ฉากที่แม่น้ำบีส์ (ที่อเล็กซานเดอร์กล่าวสุนทรพจน์ เพื่อให้กองทัพเดินทางต่อ แต่ไม่มีใครเห็นด้วย) ถ่ายที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่โขง อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี
– ฉากการสู้รบระหว่างกองทัพมาซิโดเนีย กับกองทัพอินเดีย ในป่าอินเดียของพระเจ้าเปารวะ ถ่ายทำที่สวนพฤกษศาสตร์ พุแค จังหวัดสระบุรี เป็นสถานที่ถ่ายทำเดียวกับฉากยุทธหัตถีในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท, มีนักแสดงชาวไทยเข้าร่วมฉาก 2 คน คือ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ในบทพระเจ้าเปารวะ และจรัล งามดี รับบทพระโอรสของพระเจ้าเปารวะ, สำหรับช้าง 30 เชือก ได้ใช้บริการของสมพาสน์ มีพันธุ์ ผู้เป็นเจ้าของ Ayutthaya Elephant Palace และ Royal Kraal อยู่ในเมืองหลวงเก่าทางเหนือของกรุงเทพ นำช้างจากอยุธยามายังสระบุรีเพื่อถ่ายทำ

ฉากสงครามช่วงท้าย หนังพยายามทำให้เราเห็นถึงความโหดร้ายรุนแรงป่าเถื่อนที่สุด ถึงขนาดต้องเปลี่ยนสีฟีล์มให้กลายโทนแดง เพื่อลดภาพความรุนแรงจากเลือด การฆ่าฟัน แขนขาขาด ฯ ว่ากันว่า Battle of Hydaspes (สงครามที่แม่น้ำเฌลัม) เป็นการต่อสู้นองเลือดที่สุดของอเล็กซานเดอร์ แม้ผลลัพท์จะได้ชัยชนะ (ในหนังเห็นเหมือนจะแพ้ แต่จริงๆชนะนะครับ) ก็ทำให้พระองค์ตัดสินใจหยุดไปต่อ เพียงพอแล้วสำหรับดินแดนฝั่งตะวันออก และออกเดินทางกลับบ้าน

ตัดต่อโดย Thomas J. Nordberg, Yann Hervé, Alex Marquez, หนังมันยาว เลยต้องช่วยๆกัน (แต่ไม่รู้ว่า ตัดต่อคนละฉบับหนังหรือเปล่านะ) การเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้เข้าใจยากมาก จะขอพูดถึงเฉพาะ Final Cut เท่านั้นนะครับ, หนังใช้มุมมองของ Ptolemy ตอนแก่ รับบทโดย Anthony Hopkins เล่าย้อนความทรงจำของตนเกี่ยวกับอเล็กซานเดอร์ ตั้งแต่เด็กจนโต แต่ใช่ว่าการเล่าจะดำเนินตามเวลาไปเรื่อยๆ หนังตัดสลับคู่ขนานระหว่างตอนเด็กกับตอนโตไปพร้อมๆกัน, ตอนเด็กไร้อำนาจ ค่อยๆโตขึ้น จนสุดท้ายจบที่เป็นกษัตริย์มีอำนาจ, ตอนโตเริ่มจากทำสงครามกับ ดาริอุสที่ 3 (Darius III) ที่เริ่มสร้างชื่อเสียงในช่วงแรกๆ ไปจนถึงสงครามกับพระเจ้าเปารวะ ที่อินเดีย การสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์

ลีลาการตัดต่อลักษณะนี้ ผมรู้สึกว่าซับซ้อนเกินไปมากๆ ขนาดหนังมีการขึ้นตัวอักษรบอกแล้วว่า เหตุการณ์นี้ที่ไหน ปีไหน แต่กับคนที่ไม่ได้สนใจตัวเลขและประวัติศาสตร์ คงไม่มีใครจดแล้ว แล้วแถมการใช้คำว่า 10 ปีถัดไป, 9 ปีถัดมา … นี่มันอะไรกัน มั่วซั่ว เละเทะ สับสนวุ่นวายไปหมด ผู้ชมทั่วไปจะไปจับใจความของการตัดต่อแบบนี้ได้อย่างไร, (แต่ผมก็เข้าใจได้ ว่าทำไมต้องตัดต่อแบบนี้) สิ่งที่ผมสังเกตเห็น การตัดต่อระหว่างวัยเด็กกับตอนโต มักจะมีเหตุการณ์หรืออะไรบางอย่างที่สอดคล้อง สะท้อนกันเสมอ เช่น ตอนเด็กคิดจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง กับฉากถัดมาตอนโต การคิดทำสิ่งนั้นย่อมเกิดขึ้นจริง

ส่วนตัวคิดว่า ถ้า Oliver Stone ไม่ลีลามาก ใช้การตัดต่อแบบดำเนินไปข้างหน้าล้วนๆเป็นเส้นตรง หรือถ้าจะเล่าย้อน ให้มีแค่ Ptolemy ตอนแก่ เล่าชีวประวัติของอเล็กซานเดอร์ ตั้งแต่เด็กจนโต เป็นเส้นตรงแบบนี้ โอเคกว่ามากๆเลย, หนังประวัติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องมีลีลา หรือเล่าเรื่องกระโดดไปเลยก็ยังได้ เพราะมันจะทำให้คนดูสับสนจนดูไม่รู้เรื่อง เพราะบทเรียนประวัติศาสตร์มันยากและน่าเบื่อ แต่ถ้าอ่านหรือดูไม่รู้เรื่อง ก็เหมือนว่ามันจะยากเกินไป จะมีใครสักกี่คนที่อยากอ่านหนังสือยากๆ แค่เห็นหนาๆก็เบือนหน้าหนีแล้ว อ่านไม่เข้าใจยิ่งแล้วกันไปใหญ่

เพลงประกอบโดย Vangelis ที่เคยทำเพลงให้ Chariots of Fire (1981) และ Blade Runner (1982), ผมได้ดูหนังแนว Historical Epic มาก็หลายเรื่องแล้ว ซึ่งสไตล์เพลงส่วนใหญ่มักประพันธ์แบบยุค Renaissance ที่ให้ความรู้สึกเก่าแก่ คลาสสิก แต่มีความสวยงามเลอค่าเลิศหรู, แต่หนังเรื่องนี้กลับใช้บริการของ Vangelis ที่ขึ้นชื่อเรื่องความ Modern (ดูอย่างเพลงประกอบ Blade Runner โลกอนาคต และ Chariots of Fire ที่โดดเด่นด้วยเสียงเครื่องดนตรีไฟฟ้า) ว่ากันตามตรง Vangelis ถือเป็นตัวเลือกที่ไม่ค่อยเหมาะเสียเท่าไหร่ แต่ผลลัพท์กลับทำได้ดีเกินคาด แต่ยังขาดความน่าจดจำไปเสียหน่อย

จุดเด่นแรกอยู่คือ เสียงเครื่องดนตรีที่แตกต่างออกไป ตามเมือง/ประเทศ ที่อเล็กซานเดอร์ยึดครองได้ เช่น เปอร์เซีย จะมีเสียงขลุ่ยพิณ, อินเดีย เน้นเสียงกลองให้จังหวะ ฯ ซึ่งนอกจากเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านแล้ว เรายังได้เห็นการแสดงท้องถิ่นของแต่ละประเทศอีกด้วย

ไฮไลท์ของเพลงอยู่ช่วงสงคราม ขณะที่อเล็กซานเดอร์ขี่ม้าท้าชนกับพระเจ้าเปารวะขี่ช้าง แล้วสัตว์ทั้งสองยกขาหน้าขึ้น (แบบในโปสเตอร์) เพลงประกอบเป็นเสียงคอรัส/โอเปร่า และเสียงกลอง รัวดังกระหึ่มขึ้น ผมขนลุกเลยละ นี่คือวินาทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของหนัง

ใจความของหนังชีวิตประวัติ คือการเล่าเรื่องผสมการตีความของผู้สร้าง เพราะไม่มีใครสมัยนี้เกิดทัน และหลักฐานประวัติศาสตร์หลายชิ้นได้ถูกทำลายไปแล้ว (ดังประโยคที่ขึ้นตอนท้ายของหนัง ที่ว่าห้องสมุดของ Alexandra ถูกเผาทำลายไปบางส่วน ซึ่งคนที่กระทำการเช่นนี้คือ Julius Caesar) หลายสิ่งอย่างต้องแต่งเติม เสริมเพิ่มเข้าไป ก็อยู่ในวิจาณญาณของผู้ชม ในความเชื่อ ความเข้าใจ จะชื่นชอบหรือรังเกียจ หนังประวัติศาสตร์แบ่งผู้ชมได้ชัดเจน

**การดูภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์ เราต้องเปิดใจให้กว้างมากๆ เพราะอาจมีหลายสิ่งที่ไม่ตรงกับความจริงหรือความเข้าใจของเรา ก็ให้พยายามทำความเข้าใจในมุมมองของหนังนะครับ ถ้าดูแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นการลบหลู่ มีความสมเหตุสมผล พอรับได้ ก็อย่าไปอคติอะไรกับหนังมากนัก

การสงครามของอเล็กซานเดอร์ ใช่ว่ารบชนะแล้วจากไปนะครับ พระองค์ได้นำอารยธรรม วัฒนธรรม ประเพณี การทูต การเมือง ภาษา ค้าขาย ความรู้ ทุกสิ่งอย่างของกรีก เผยแพร่ให้กับประเทศผู้แพ้ได้นำไปพัฒนาประเทศตัวเองต่อ จากที่เคยเป็นเมืองไร้อารยธรรม พัฒนาขึ้นกลายเป็นเมืองที่ทุกสิ่งอย่างจักเจริญขึ้นผิดหูผิดตา, ส่วนตัวคิดว่า นี่แสดงถึงวิสัยทัศน์ของอเล็กซานเดอร์ที่กว้างไกล และคือเหตุผลที่ทั่วโลกยกย่องว่าเป็น ‘มหาราช’ ไม่ใช่แค่การสงครามที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรไม่เคยพ่ายแพ้, นี่เป็นสิ่งที่คนสมัยก่อนตอนนั้นอาจจะไม่เข้าใจ ไม่เห็นคุณค่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัจจุบันมองย้อนไป ทุกสิ่งอย่างก็จักประจักษ์ ‘อเล็กซานเดอร์มหาราช ได้ช่วยพัฒนาโลกสมัยนั้นให้เจริญเร็วขึ้นนับเป็นศตวรรษ’

กระนั้นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด รบพุ่งไม่เคยพ่ายแพ้ใคร แต่กลับเสียท่าให้กับคนใน, การสวรรคตของอเล็กซานเดอร์ ว่ากันว่าเกิดจากการลอบวางยาพิษแบบเดียวกับในหนัง เป็นใครไม่ทราบได้ แบบเดียวกับ Julius Caesar ที่ผมเคยเล่าให้ฟังไปแล้ว นี่ถือเป็นเรื่องน่าเศร้า ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยนับไม่ถ้วน มีบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ดีที่สุด ก็ต้องมีคนที่เลวที่สุด ชั่วที่สุดด้วยเสมอ ไม่งั้นโลกจะไม่สมดุลกัน

ส่วนตัวก่อนที่จะได้ดูฉบับ Final Cut ผมไม่ชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ เหตุผลก็คือดูไม่รู้เรื่อง, กับ Final Cut คงเพราะคำอธิบายหลายๆอย่างที่กระจ่างชัดขึ้น ทำให้ดูหนังสนุก เข้าใจอะไรๆหลายอย่างได้ นี่ทำให้ผมรู้สึกพึงพอใจและชื่นชอบหนังขึ้นมา (มีความชื่นชอบในหนังแนวประวัติศาสตร์ อลังการงานสร้างเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว), กระนั้นก็ใช่ว่า หนังจะยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบอะไร ฉบับนี้ก็ยังคงมีความอืดอาดยืดยาด และการตัดต่อที่ลีลามากเกินไปของผู้กำกับที่แก้ยังไงคงไม่หาย ระดับ Oliver Stone น่าจะทำหนังออกมาได้ดีกว่านี้!

กระนั้นผมถือว่าหนังควรค่าที่จะไว้ใช้ศึกษา เรียนรู้ เป็นทางลัดของคนขี้เกียจอาจตำราประวัติศาสตร์ ที่พอจะมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน เริงรมณ์ แต่อย่าเชื่อทุกสิ่งอย่างในหนังนะครับ ฟังหูไว้หู อยากรู้โดยละเอียดค่อยไปศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง สำหรับคนอื่นๆ นี่เป็นความรู้ทั่วไป รู้ไว้ไม่เสียหาย

แนะนำกับคอหนังประวัติศาสตร์ สงครามสมัยก่อน ในยุคสมัยกรีก เปอร์เซีย อินเดีย ฯ นักออกแบบสถาปัตยกรรมโบราณ, ดีไซน์เนอร์เสื้อผ้าหน้าผม, อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ศึกษาวัฒนธรรม ประเพณี

จัดเรต 15+ กับความรุนแรงบ้าคลั่ง บ้าเลือดในช่วงท้ายที่ทำให้หนังต้องเปลี่ยนโทนสีภาพ

TAGLINE | “Alexander ฉบับของ Oliver Stone เป็นความทะเยอทะยานที่เต็มไปด้วยปัญหา แต่ Final Cut เหมือนจะพอรับได้ ดูดีที่สุดแล้ว”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: